รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
 
พฤศจิกายน 2553
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
282930 
 
22 พฤศจิกายน 2553
 
All Blogs
 

อย่าใช้จิต

มีพุทธพจน์ 2 เรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติ อ่านดูก็ง่าย ๆ แต่ถ้ามองให้ลึกลงไป
จะบอกท่านได้ว่า ท่านเข้าใจการปฏิบัติได้ตรงอยู่หรือไม่

หมายเหตุ พุทธพจน์ เขียนจากความทรงจำ ดังนั้นจะไม่ตรงกับพุทธพจน์ทุกตัวอักษร

************
ขอนอบน้อมแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

**ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเจริญสมาธิเถิด เมื่อจิตตั้งมั่น เธอจักเห็นธรรมตามความเป็นจริง**
***จิตมีธรรมชาติที่ประภัสสร แต่ที่เศร้าหมองเพราะอุปกิเลสจรมา***

************

จากพุทธพจน์ 2 เรื่องที่นำมาเสนอข้างต้น ผมจะแยกแยะให้ท่านเห็นภาพตามลำดับไป

1..ธรรมชาติของจิตนั้นประภัสสร ซึ่งหมายว่า ดีอยู่แล้ว สดใสอยู่แล้ว เป็นอย่างนี้อยู่แล้ว แต่ที่เศร้าหมองเพราะมีสิ่งเข้ามาที่เรียกว่า อุปกิเลส

ถ้าจะเปรียบทางโลกให้เข้าใจ ให้เห็นภาพ ขอให้นึกถึง ดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ที่เปล่งแสงสว่างสดใส นี่คือธรรมชาติของเขา แต่ที่เราอยู่บนโลกใบนี้ บางครั้งเห็นดวงอาทิตย์สดใสบ้าง บางครั้งก็เห็นดวงอาทิตย์มัวซัวบ้าง บ้างครั้งก็ไม่เห็นเลยในตอนกลาววัน นี่เพราะสภาพท้องฟ้าที่มีเมฆ หมอก มาบดบังดวงอาทิตย์

ถ้าเราจะให้ดวงอาทิตย์ส่องแสงสดใส เราต้องจัดการเรื่องเมฆ หมอก ไม่ใช่ไปจัดการดวงอาทิตย์

2..ในการทำงานของจิตใจนั้น ถ้าท่านอยู่ในสภาพที่ปรกติ คือ
**มีความรู้สึกตัวอยู่ เฉยๆ สบาย ๆ ไม่เครียด ไม่ต้องมีความอยากจะรู้อะไร ไม่ต้องคิดอะไรในสมอง** นี่คือสภาพที่เป็นปรกติของจิตใจของท่าน ที่ผมเน้นย้ำมาตลอด มันจะสดใส ราบเรียบ เปรียบดังดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงสดใสทันที

แปลว่า ในขณะนั้นที่ท่านเป็นอย่างนี้ จิตใจท่านดีอยู่แล้วตามธรรมชาติของเขา

เพียงแต่ท่านยังไม่เข้าใจ ยังมองไม่ออกเท่านั้นเอง !

3..แต่ถ้าท่านมีความเครียด / มีความอยากที่จะรู้สภาวะธรรม / มีการใช้ความคิดในสมองขึ้นมา จิตใจที่ราบเรียบสดใสในข้อ 2 จะไม่ราบเรียบทันที มีความขุ่นมัวขึ้นทันที มีการกระเพื่อมของพลังงานไปมา ถ้าท่านปฏิบัติจนเห็นจิตตัวเองได้แล้ว ท่านจะเห็นสิ่งเหล่านี้เป็นพลังงานที่ปรากฏตัวขึ้นในจิตใจของท่าน และถ้าท่านสังเกตตนเอง ตาที่เคยเห้นภาพแบบ panorama ที่เป็นอยู่ในขณะที่จิตใจปรกติที่ไม่ีมีอะไรนั้นจะหดแคบลงทันที

เมื่อถึงตอนนี้ จะมีสิ่งที่เป็นไปได้อยู่ 2 เหตุการณ์ คือ

3.1 ถ้ากำลังสัมมาสมาธิของท่านตั้งมั่นอยู่ จิตท่านจะเห็นพลังงานเหล่านี้ทีมันกระเพื่อมอยู่
และเห็นพลังงานนี้มันแปรเปลี่ยนไปมาเป็นไตรลักษณ์ นี่คือ ปัญญาที่เกิดขึ้นแก่ท่าน
ว่า พลังงานเหล่านี้ มันไม่ใช่ท่าน มันไม่ใช่ของท่าน ท่านยังรู้สึกว่า จิตใจยังดีอยู่ สบาย ๆ ได้ดีอยู่

3.2 ถ้ากำลังสัมมาสมาธิของท่านไม่ตั้งมั่น แรงดึงยึดเกาะของตัณหาจะทำให้จิตลูกโป่งไปเกาะติดกับพลังงานเหล่านี้ และท่านจะไม่เห็นพลังงานเหล่านี้ และ ท่านจะรู้สึกว่าหนัก รู้สึกว่าเครียดขึ้นมาทันที

ขอให้ท่านเปรียบกับพุทธพจน์ทั้ง 2 ข้างบน ท่านจะเห็นว่า นี่คือสิ่งที่เป็นจริงตามพุทธพจน์

4..ปัญหาที่เกิดขึ้นกับมือใหม่ในการปฏิบัติคือการไม่สามารถตีความหมายพุทธพจน์ออกมาเป็นแนวการปฏิบัติได้อย่างตรงทาง

4.1 เมื่อจิตใจท่านดีอยู่แล้ว ถึงแม้เป็นมือใหม่ก็เถอะ ท่านไม่ต้องไปทำอะไรอีกให้จิตมันสงบ
เพราะว่า จิตสงบอยู่แล้ว จิตมันดีอยู่แล้ว จิตไม่มีอะไรมารบกวนอยู่แล้ว แต่ถ้าท่านไปทำอะไรซิ กลับเป็นการไปใช้จิต ไปยุ่งกับจิต ไปทำให้จิตมันกระเพื่อม แทนที่จะสงบกลับไม่สงบทันที อาการนี้ก็คล้ายกับการกวนน้ำใสให้ขุ่น

เมื่อจิตท่านดีแล้ว ท่านสมควรฝึกสัมมาสมาธิ โดยการรักษาสภาพจิตที่ดีนี้ไว้ และให้จิตไปรับรู้อาการทางกาย (ดิน ลม ไฟ) ที่เป็นการรู้ได้อาการเหล่านี้เอง เช่น การเดินจงกรม การรู้สึกถึงลมหายใจ การทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันของท่าน หรือกล่าวอีกเป็นภาษาพระก็คือ การมีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ นั่นเอง เมื่อท่านฝึกอย่างนี้ จะทำให้จิตของท่านตั้งมั่นได้
ซึ่งการฝึกแบบนี้ ผมได้อธิบายไว้หลายที่ใน blog นี้แล้ว ท่านที่ติดตามอ่านมาคงทราบวิธีฝึกแล้ว ผมจะไม่เขียนซ้ำอีกในบทนี้

4.2 แต่ถ้าจิตใจของท่านยังไม่ดี มันมีอะไรกระเพื่อมอยู่ภายใน จิตท่านขุ่นมัว ไม่ยอมสดใสสักที ถ้าท่านเป็นอย่างนี้ซิ ท่าน.จำเป็น.ต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้.จิตท่านกลับมาสงบ สดใส.โดยเร็วที่สุด ซึ่งเทคนิคแบบนี้ ก็มีหลายวิธีด้วยกัน สุดแต่ใครจะถนัดอย่างไหน ก็ยกมาใช้ได้เลย แต่ถ้าจิตกลับมาสดใสใหม่แล้ว ก็สมควรหยุดได้แล้ว ไม่ต้องทำอีก แต่ท่านควรกลับไปฝึกข้อ 4.1 เสมอ ๆ เพื่อให้จิตตั้งมั่นให้ได้อย่างมั่นคง ซึ่งถ้าจิตท่านตั้งมั่นได้อย่างมั่นคงแล้ว มันจะเกิดเหตุการณ์ตามข้อ 3.1 ขึ้นมา และถ้ายิ่งตั้งมั่นมากเท่าใด เหตุการณ์ข้อ 4.2 จะยิ่งเกิดได้ยากแก่ท่านขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่เกิดขึ้นอีกเลย

การทำจิตให้สงบตั้งมั่นนั้น ที่นิยมกันมาก ๆ ก็จะมีการใช้คำบริกรรม และ การรับรู้ลงไปที่กายเพียงอย่างเดียว

***
กล่าวโดยสรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ ในการปฏิบัติ
A.ถ้าจิตดีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปทำอะไรให้จิตมันสงบก่อน แต่ให้ฝึกสัมมาสมาธิได้ทันที
B.ถ้าจิตยังไม่ดี ไม่สดใส มีอะไรค้างคาภายใน ให้ทำให้จิตสงบ จิตให้สดใสให้ได้ก่อน เมื่อสงบแล้วก็หยุดทำ แล้วมาฝึกสัมมาสมาธิต่อได้ทันที




 

Create Date : 22 พฤศจิกายน 2553
14 comments
Last Update : 29 มกราคม 2555 15:11:50 น.
Counter : 1057 Pageviews.

 

กิจกรรม ครั้งที่ 2 ในวันอาทิตย์ 19 ธันวาคม 2553

ท่านที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรม กรุณาเข้าไปลงชื่อได้ในหน้ากิจกรรม

 

โดย: นมสิการ 22 พฤศจิกายน 2553 8:21:21 น.  

 

เมื่อจิตว่าง สงบ เย็น ตั้งมั่นดีแล้ว สังเกตห้องที่กระเพื่อมไหว ตามลมหายใจปกติ บางขณะเกิดเวทนาปวดไหล่จะรู้สึกได้ชัดเป็นอาการตุ๊บๆจนล้าแล้วสักพักจึงคลายไป เนื่องจากรู้สึกว่ามันเป็นแค่เวทนา ที่เกิดขึ้นและมันหายไป อันที่จริงหลังจากออกจากสมาธิก็ยังเป็นอยู่ เมื่อจิตกลับนิ่งว่างเปล่าพิจารณากายที่นั่ง ก้นที่ติดพื้นรับรู้การนั่งแบบมีความรู้ตัวจากศรีษะถึงพื้นที่นั่ง ให้จิตตื่นตัวต่อการรับรู้ มันว่างเปล่า เฉยๆ แต่เหมือนมีอะไรลอยอยู่แถวใบหน้า
แต่แรกๆก็รู้สึก เพียงแต่สังเกตุได้ไม่ชัดเพราะเหมือนมันลอยแถวๆหน้าอกขึ้นมาก่อน อันนี้คืออะไรคะ

 

โดย: cakecode 22 พฤศจิกายน 2553 9:45:04 น.  

 

มันยากตรงที่จะปล่อยนี่ละครับ เพราะปกติมักจะชินกับการที่จะยึด
ช่วงที่ผมหัดปล่อยใหม่ๆต้องใช้กำลังอย่างมากในการต่อสู้กับตัณหาความอยากในการปฏิบัติ พอปล่อยวางใจได้แล้วรู้สึกว่าเบาขึ้นเยอะเลย รู้ถึงอารมณ์ที่ปล่อยสบายๆว่าเป็นอย่างไร ถึงแม้ว่าจะเกิดไม่ตลอดก็ตาม

ถึงตอนนี้จะมีความอยากในระหว่างการปฏิบัติในบางครั้งบางคราวก็ไม่หนักเหมือนแต่เก่า ยังพอรับมือได้

 

โดย: virut IP: 172.22.1.146, 203.185.129.38 22 พฤศจิกายน 2553 9:51:13 น.  

 

ตอบคุณ cakecode
1. การนั่งแล้วปวดใหล่ แสดงว่า ยังมีการเกรงของร่างกายอยู่
ลองพิจารณาปรับการเกร็งดู

2. พลังงานที่ลอยอยู่ตรงหน้า ถ้ามันนิ่ง ๆ อยู่ไม่กระเพื่อม มันคือ จิตรู้
แต่ถ้ามันกระเพื่อม เกิดแล้วแปรเปลี่ยนไปมา มันคือ จิตปรุงแต่ง

ข้อสังเกต ถ้าเป็นจิตรู้ ให้สังเกตเบา ๆ อย่าได้จ้องว่า พลังงานนี้มันแคบหรือแผ่กว้าง แต่ใหม่ ๆ มักจะแคบ แต่ถ้าใจเราสบายๆ และผ่อยคลายดีมาก ๆ มันจะแผ่กว้าง ให้รักษาใจที่สบาย ๆ นี้ไว้เสมอๆ ในชีวิตประจำวัน แต่ถ้ามันไม่ยอมกว้าง ก็อย่าไปบังคับแต่อย่างไร ถึงวันหนึ่ง เมื่อปฏิบัติถึงที่มันจะกว้างออกไปเอง

 

โดย: นมสิการ 22 พฤศจิกายน 2553 12:32:10 น.  

 

ผมเสริมนิดเรื่องจิตรู้ที่มันโผล่ขึ้นมาที่ใบหน้า

ถ้าเราฝึกหัดและมีความเครียด ไม่ผ่อนคลาย จิตรู้ทีมันโผล่มาที่หน้า มันจะรวมตัวกันเป็นก้อนพลังงาน ที่นักภาวนาจะรู้สึกได้ว่ามันเป็นก้อนโผล่ขึ้นมา
การรวมตัวเป็นก้อนแบบนี้ มันจะมีผลเสียต่อนักภาวนาได้ เช่น รู้สึกที่ไม่สบาย
ที่อธิบายไม่ได้ว่า ไม่สบายอย่างไร และกลางคืน ก็อาจนอนไม่หลับเลย มันจะตื่นโผล่งอยู่แบบนี้ นี่เพราะว่า ไม่ผ่อนคลายในการปฏิบัติได้ดีพอ แต่ถ้าทำอย่างไร มันก็ไม่รู้สึกไม่สบายอยู่นั้นแหละ ให้เลิกฝึกสัก 1 อาทิตย์ พลังงานนี้ก็จะค่อย ๆ จางหายไป ทีนี้เวลาฝึกใหม่ ก็รักษาไว้อย่าให้เครียด ให้ฝึกแบบผ่อนคลาย สบาย ๆ ให้มาก ๆ พลังงานนี้จะมาเกิดใหม่ แต่ทีนี้มันจะจาง ๆ สบาย ๆ แต่จะไม่รวมตัวเป็นก้อนกระจุก

 

โดย: นมสิการ 22 พฤศจิกายน 2553 12:37:38 น.  

 

ตอบคุณ virut
ก่อนการฝึก ถ้ามีความอยาก ก็ปล่อยมันไป ทีนี้เวลาฝึก
สมควรฝึกแบบผ่อนคลาย ๆ เฉย ๆ สบาย ๆ อย่าให้มีความอยากก็แล้วกันครับ
การควบคุมจิตให้ผ่อนคลาย เฉยๆ สบาย ๆ นี่เป็นลักษณะของสติสัมปชัญญะเช่นกัน ถ้าเราฝึกแบบผ่อนคลายได้ บ่อย ๆ ก็เท่ากับเราเจริญสติสัมปชัญญะเหมือนกันครับ

 

โดย: นมสิการ 22 พฤศจิกายน 2553 12:41:44 น.  

 

พอผมอ่านบทความเกี่ยวกับการปฏิบัติที่สบายๆผ่อนคลาย เช่นอ่านใน blog นี้ จิตใจมันรู้สึกผ่อนคลายสบายๆลงไปเองครับ ซึ่งก็แปลกมาก

 

โดย: virut IP: 172.22.1.146, 203.185.135.196 22 พฤศจิกายน 2553 13:31:03 น.  

 

ใช่เลยค่ะ ดิฉัน จะรู้สึกไม่สบายแบบบอกไม่ถูก นอนหลับๆ ตื่นๆ กลางคืนมาสัก2-3วันแล้ว ดิฉันจะหยุดพักก่อนค่ะ แต่ในชีวิตประจำวันก็จะทำจิตใจให้ผ่อนคลายและมีสติ
เพราะอาการที่ดิฉันเป็นเป็นตอนนั่งสมาธิก่อนนอน เดี๋ยวนี้ดิฉันไม่ได้คำบริกรรมเพื่อดึงจิตให้เป็นสมาธิ มีส่วนไหมค่ะ

 

โดย: cakecode 22 พฤศจิกายน 2553 16:41:37 น.  

 

อาการนี้ ไม่เกี่ยวกับการไม่ใช้คำบริกรรมครับ
แต่เป็นที่ว่า การภาวนาที่เคร่งตึงเกินไป จนเครียด ผมเคยเป็นมาก่อน
ผมนอนไม่หลับไป 7 วันทีเดียว
ถ้าจิตรู้มันตั้งเด่นสง่าเกินไป มันก็เป็นอย่างนี้เสมอ

วิธีแก้ไข
1..หยุดทำในรูปแบบสักพักเช่น 7 วัน แต่ในชิวิตประจำวันให้ดำเนินไปตามปรกติ คือ ทำกิจวัตรประจำวันที่รู้สึกสบาย ๆ และปล่อยวาง

2..เมื่อกลับมาฝึกใหม่หลังจากหยุดฝึกในรูปแบบไปแล้ว ผมแนะนำก็คือ ให้มองไปไกล ๆ ครับ การมองไปไกล ๆ แบบไม่จ้องอะไร จะช่วยผ่อนคลายได้มาก แล้วจิตรู้ที่เกิด เขาจะเกิดแบบจาง ๆ เบา ๆ นั่นคือธรรมชาติที่ดีสำหรับนักภาวนา

ผ่อนคลาย ผ่อนคลาย เฉยๆ สบาย ๆ ...คาถานี้นึกไว้เสมอ ๆ แล้วจะภาวนาได้ดี ได้ก้าวหน้าเร็วกว่า

 

โดย: นมสิการ 22 พฤศจิกายน 2553 18:49:31 น.  

 

ผมแนะนำอย่างหนึ่ง ก่อนนอนอย่าไปนั่งทำสมาธิเลยครับ
แต่ให้ใช้รู้สึกตัวที่สบาย ๆ ดีกว่า รู้สึกไปเรื่อยๆ จนหลับไปเอง
อาจใช้วิธีการกอดหมอนข้าง แล้วรู้สึกแถวหน้าอกมันกระเพื่อ่มๆ ก็ได้
นี่เป็นการรู้ลมที่มีลักษณะของการสั่่นไหวครับ

ถ้าไปทำสมาธิก่อนนอน คนมักชอบหลับตา พอหลับตาปุ๊บ
จิตรู้ไปรวมปั๊บแถวใบหน้า ทีนี้นอนไม่หลับเลยครับ

 

โดย: นมสิการ 22 พฤศจิกายน 2553 18:53:15 น.  

 

คุณ virut กำลังเริ่มปรับสภาพตัวเองแล้วครับ ให้รู้สึกแบบสบาย ๆ ผ่อนคลายนี้ไปเรื่อย ๆ บ่อย ๆ ถ้าสามารถรู้สึกได้ดีด้วยในชิวิตประจำวัน นี่จะดีมากครับ นี่คือ ผลการปฏิบัติ เดียวผมจะเขียนเรื่องผลการปฏิบัติให้อ่านอีกเรื่อง รอสักนิดครับ

 

โดย: นมสิการ 22 พฤศจิกายน 2553 18:55:33 น.  

 

คุณ cakecode
ผมเพิ่มเติมสำหรับกรณีของคุณ

อาการที่คุณเล่ามา นั่นคือ จิตรู้รวมตัวและมีพลังมากกว่าเดิม
แต่คุณไม่สามารถปรับตัวเองให้ผ่อนคลายได้มากพอ ทำให้เกิดพลังงาน
ค้างแบบนั้นไป

ในช่วงการหยุดฝึกฝนในรูปแบบ ในชีวิตประจำวัน พออาการพลังงานค้างมันปรับตัวลดลงไป ผมขอให้คุณสังเกต
จิตรู้แถวใบหน้าใหม่ว่า ลักษณะมันจะจาง ๆ ลงแต่รู้ได้อยู่เป็นอย่างไร
สภาพจิตใจที่เป็นแบบนี้ มันผ่อนคลายอย่างไร แล้วเวลาไปฝึกใหม่อีกครั้ง ก็
ฝึกด้วยการผ่อนคลายแบบเดียวกันนี้ ถ้าคุณจับอาการผ่อนคลายตัวลงไปได้
ขอให้ฝีกด้วยอาการแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อย่าได้คาดหวังอะไร แล้วผลลัพธ์จะออกมาดีเองครับ

 

โดย: นมสิการ 22 พฤศจิกายน 2553 19:01:12 น.  

 

ขอบคุณมากค่ะสำหรับคำแนะนำชี้แนะ ขออนุโมทนาบุญด้วยค่ะ

 

โดย: cakecode 23 พฤศจิกายน 2553 9:24:30 น.  

 

ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท
ที่อาจมีสิ่งผิดกฏหมายใส่เข้ามาใน blog

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน

 

โดย: นมสิการ 29 มกราคม 2555 15:28:33 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.