รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ **กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผม ทาง e-wallet ครับ** **ผมขอสงวนสิทธิการเป็นเจ้าบ้านของ blog ลบข้อเขียนใดๆ ก็ได้ใน blog นี้ตามที่ผมเห็นสมควร**
Group Blog
 
<<
เมษายน 2554
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
6 เมษายน 2554
 
All Blogs
 
กลไกการทำงานเรื่อง การเผลอ

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัว ซึ่งไม่จำเป็นต้องไปเหมือนใคร หรือ เหมือนในตำราเล่มใด ผมเขียนขึ้นเพื่อเป็นความรู้สำนักนักภาวนาที่เดินตามแบบที่ผมแนะนำไว้ใน blog นี้เท่านั้น

ผมได้เขียนเรื่องเผลอไว้หลาย ๆ ที่ใน blog นี้ แต่เมื่อยังมีท่านที่ไม่เข้าใจ ผมจึงนำมาเขียนอีกครั้งหนึ่งในที่นี้

*****
1.. อาการเผลอเกิดได้อย่างไร

อาการเผลอเกิดเมื่อ.จิตรู้.ที่ยังเป็นดวงอยู่ที่ยังถูกครอบด้วยเปลือกแห่งอวิชชาไหลเข้าไปใน.มโนทวาร.ด้วยแรงดึงดูดของ.ตัณหา.

การไหลเข้าไปในมโนทวารนี้ จะเป็นการที่จิตไปสร้างขันธ์ขึ้น เช่น การสร้าง สัญญาขันธ์/สังขารขันธ์/วิญญาณขันธ์ ซึ่งเป็นการทำงานของอวิชชาในปฏิจจสมุปบาท (อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดสังขาร) ถ้าพูดภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ เมื่อคิดก็จะเผลอ เมื่อติดใจในการกระทบสัมผัสในอายตนะใดอายตนะหนึ่งก็จะเผลอ

2..จะแก้อาการเผลอได้อย่างไร

จากข้อ 1 จะเห็นว่า เหตุแห่งการเผลอจะมี 2 อย่างคือ

A..เปลือกอวิชชาที่หุ้มห่อจิตรู้ไว้ ทำให้จิตรู้เป็นดวงวัตถุ คล้าย ๆ กับ แก๊สที่ถูกอัดใส่ลูกโป่ง ทำให้ตัวแก๊สเป็นวัตถุด้วยลูกโป่ง

B.. ตัณหาที่เป็นแรงดึงดูดให้จิตรู้ในข้อ A ไหลเข้าไปในมโนทวาร

การแก้การเผลอ ก็คือต้องแก้ที่ต้นเหตุครับ ซึ่งจะมี 2 ระดับ คือ

ระดับที่ 2.1 เป็นการแก้ขั้นต้น คือต้องสร้างสัมมาสติ สัมมาสมาธิ เพื่อต่อต้านแรงดึงดูดของ.ตัณหา.ที่มีผลต่อจิตที่มีเปลือกอวิชชาครอบงำอยู่ ถ้าสัมมาสติ สัมมาสมาธิ มีกำลังกล้าแข็งขึ้น แรงดึงดูดของตัณหาจะอ่อนแอลงไปเองตามธรรมชาติที่มันต้านกันอยู่เป็นสัดส่วนผกผัน กล่าวง่าย ๆ ก็คือ เมื่อฝ่ายใดมากขึ้น อีกฝ่ายจะลดลง

ระดับที่ 2.2 เป็นการแก้ขั้นปลายซึ่งเป็นขั้นเด็ดขาด คือ การทำลายเปลือกอวิชชาที่หุ้มห่อจิตรู้ให้แตกออก เมื่อเปลือกอวิชชาแตกออก จิตรู้จะแผ่กว้างกระจาย ไร้สภาพการเป็นดวง แต่จะกระจายออกครอบคลุม.มโนทวาร.แทน ซึ่งในลักษณะเช่นนี้ จิตรู้จะไม่มีทางไหลเข้าไปในมโนทวารได้อีกเลย เพราะความเป็นก้อนวัตถุของตัวจิตได้สลายไปแล้ว เปรียบคล้าย ๆ กับลูกโป่งแตกที่ตัวแก๊สกระจายฟุ้งออกไม่รวมตัวเป็นกลุ่มก้อน

3..ลักษณะอาการของข้อ 2.1 เป็นอย่างไร

เมื่อนักภาวนาฝึกฝน.อย่างถูกต้อง.ในการเพิ่มกำล้งของสัมมาสติ สัมมาสมาธิ กำลังจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นอย่างสะสมอันเป็นนิสัยประจำตัวของนักภาวนาไป แต่การเพิ่มขึ้นนี้ จะเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ และช้ามาก ๆ เพิ่มทีละนิด ทีละนิด จนนักภาวนาอาจไม่สังเกตว่ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นกับตนเอง

เมื่อกำลังของสัมมาสติสัมมาสมาธิมีกำลังมากขึ้น ขอให้นักภาวนาสังเกตตนเองว่า อาการเผลอที่เกิดจะค่อย ๆ ลดสั้นลง เช่น เดิมเคยเผลอสัก 3 ชั่วโมงแล้วก็รู้สึกตัวได้อีกครั้ง แล้วก็เผลออีกนาน ๆ เมื่อกำลังสัมมาสติเพิ่มมากขึ้น การเผลอก็จะลดลงอย่างช้า ๆ เช่น จาก 3 ชั่วโมง ก็ลดลง เช่นสมมุติว่า 2 ชั่วโมงครึ่ง พอฝึกต่อไปอีก ก็จะลดลงอีก เช่นลดลงเหลือ 2 ชั่วโมง ยิ่งฝึกก็ลดลงอีก เช่นเหลือ 1 ชั่วโมง...ครึ่่งชั่วโมง..20นาที..15นาที..10นาที..5นาที..1นาที..30วินาที..10วินาที..1วินาที

ที่ผมยกตัวอย่างมาให้เห็นภาพ คือการลดลงของการเผลอ นักภาวนายังมีเผลอเสมอเพียงแต่ว่าเวลาที่เผลอจะสั้นมาก ๆ การไม่มีเผลอเลย.เป็นไปไม่ได้.ครับ ในระยะนี้

นี่คือผลของการภาวนาที่ถูกทาง

ผมจะเน้นให้ท่านเห็นว่า กำลังสัมมาสตินั้นเป็นปรปักษ์กับตัณหา ดังนั้นในการฝึกฝน ท่านอย่าไปสร้างตัณหาขึ้นที่จิตใจ เพราะถ้าท่านสร้างตัณหา ก็จะกลับเป็นว่า ท่านไปสร้างสิ่งที่ตรงข้ามกับสัมมาสติ ถ้าท่านทำอย่างนี้ ผลในการพัฒนาก็จะไม่เกิดขึ้นครับ นี่คือสิ่งที่นักภาวนาไม่เข้าใจเป็นอันมาก เพราะการฝึกที่ตรงในการสร้างสัมมาสติ ผลมักจะช้ามาก เป็นเดือน ๆ เป็นปี ๆ ไม่ทันใจ ก็เลยคิดว่า ไม่ได้ผล แล้วก็ไปลงมือสร้างตัณหาให้จิตไปเกาะกับอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อให้จิตนิ่ง พอจิตนิ่งได้ กลับเข้าใจว่า นี่คือดี นี่คือถูกต้อง แต่ในความเป็นจริง การฝึกให้จิตนิ่งแบให้จิตมีการเกาะกับอะไรนี้จะใช้ได้เฉพาะในตอนฝึกเท่านั้น ถ้าเลิกฝึกแบบนี้เมื่อใด ในชีวิตจริง นักภาวนาผู้สร้างตัณหาก็จะเผลอนาน อย่างไร้การปรับปรุง เพราะไม่มีกำลังของสัมมาสติที่ไปลบล้างกำลังของตัณหานั้่นเอง

ผมเน้นอีกครั้งนะครับว่า ในระดับนี้ ท่านต้องมีเผลอ เพราะธรรมชาติเป็นอย่างนี้ แต่เมื่อฝึกได้ผล การเผลอต้องมีแต่เวลาจะสั้น ๆ ไม่ยาวนานครับ และจะค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไปตามการพัฒนาการของกำลังสัมมาสติ ถ้าท่านฝึกแล้วได้ผลแห่งการลดลงของเวลาเผลอ นี่แสดงว่า ท่านกำลังมีการพัฒนาแล้วครับ

4..ทำไมไม่ให้เผลอ

ที่จริงการฝึกไม่ใช่ไม่ให้เผลอนะครับ แต่การฝึก เราต้องการสัมมาสติ สัมมาสมาธิต่างหาก แล้วผลของสัมมาสติ สัมมาสมาธินี่แหละครับที่ไปต้านแรงของตัณหา เมื่อตัณหาอ่อนแรงลงมากเท่าใด การเผลอก็จะลดลงมากเท่านั้น ซึ่งจะตรงกับในสติปัฏฐานสูตรในพระไตรปิฏกว่า อาตาปี สัมปชาโน สติมา คือ การให้มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ

ท่านจะเห็นได้ว่า การฝึกนั้น ไม่ใช่เน้นที่การเผลอ แต่ที่ตรงก็เป็นการเน้นที่การมีสติสัมปชัญญะ ขอให้ท่านนักภาวนาทำความเข้าใจให้ดีในเรื่องนี้ เพราะถ้าเข้าใจเป้าหมายผิดไป การปฏิบัติก็อาจจะผิด เพราะไปเข้าใจว่า ไม่ให้เผลอ แล้วก็พยายามทำอะไรเข้าในการฝึกเพื่อไม่ให้เผลอ แต่ที่จริง ๆ ไม่ใช่อย่างนั้นครับ

การมีสติสัมปชัญญะที่แข็งแรง ก็จะสร้างผลคือต้านแรงของตัณหา เมื่อตัณหาไร้เรี่ยวแรง ทุกข์ก็ลดลงไปเรื่อย ๆ ตามกำลังของตัณหาที่ไร้เรี่ยวแรง

เมื่อเกิดญาณปัญญาในระดับต่อมา เปลือกอวิชชาที่ครอบจิตถูกทำลาย เมื่อนั้น จิตก็แผ่กว้่างไพศาล ความเผลอก็ไม่มีอีกครับ

***
ผมหวังว่า บทความนี้ จะทำให้ท่านนักภาวนาเข้าใจเรื่องของการเผลอมากขึ้นว่าธรรมชาติของเขาเป็นอย่างไร และจะจัดการมันได้อย่างไร


Create Date : 06 เมษายน 2554
Last Update : 29 มกราคม 2555 15:05:31 น. 14 comments
Counter : 1380 Pageviews.

 
อนุโมทนาสาธุครับ


โดย: shadee829 วันที่: 6 เมษายน 2554 เวลา:14:32:23 น.  

 
สาธุคะ เรียนถามอาจารย์คะว่า อาการเผลอ กับอาการเหม่อนั้นเหมือนกันหรือไม่คะ

ขณะดูทีวีเวลาที่รู้สึกสนุกหรือหัวเราะ ตื่นเต้นไปกับรายการในทีวี แล้วรู้สึกเย็นๆจากลมที่พัดหรือแอร์ที่เปิด แบบนี้ตอนที่เราสนุกกับรายการที่ดูนี้ถือว่าเป็นการเผลอหรือไม่คะ


โดย: ์Nim IP: 124.121.37.244 วันที่: 6 เมษายน 2554 เวลา:21:33:08 น.  

 
เหม่อ นี่เป็นการเข้าไปในความคิด หรือบางอาจารย์เรียกว่าหลงคิด เช่นพวกอกหักนี่จะเหม่อเก่งเพราะหลงเข้าไปในความคิดตลอด
อาการเหม่อเป็นอย่างหนึ่งของอาการเผลอ

อาการเผลอ นอกจากจะหลงคิดแล้ว ยังมีอาการจิตไหลไปเกาะกับอายตนะต่างๆ อีกอย่างด้วย

ดูทีวีแล้วสนุกไปกับทีวีที่ดู นี่คือการหลงเข้าไปในความคิดแล้วครับ หรือ ภาษาวัยรุ่นสมัยนี้เรียกว่า .อินกับหนัง. แต่ถ้าตอนดูแล้วรู้สึกลมเย็น ๆ พัดมาโดนกาย ในช่วงที่รู้สึกถึงลมเย็นนั้น ในขณะนั้นจิตหลุดออกมาแล้วจากการหลงคิด ขอให้สังเกตดูว่า พอเรารู้สึกว่าลมเย็นมาโดนตัวปั๊นหนึ่ง แล้วก็กลับไป.อินกันหนังอีก. นี่คือ อาการที่จิตหลุดออกมานิดหนึ่งตอนรู้สึกลมเย็นกระทบกายนั้น แล้วก็กลับหลุดการ.อินกับหนัง.ใหม่อย่างรวดเร็ว

ในการปฏิบัติในชีวิตประจำวันนั้น อย่าได้ถึงกับ.เคร่งเครียด.ว่าต้องไม่.อินกับหนัง.อยู่ตลอด ถ้าอย่างนี้เครียดไปครับ ขอให้รู้สึกตัวอย่างผ่อนคลาย จะอินกับหนังไปบ้าง จะรู้สึกตัวบ้าง มันก็จะเป็นอย่างนี้ สลับไปสลับมาอยู่เสมอ แต่เมื่อเราฝึกไปมาก ๆ เข้า ความรู้สึกตัวมันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เองครับ แต่ทั้งนี้อย่าลืมว่า ทำอะไรอย่าได้เครียดเป็นอันขาด เพราะความเครียด ไม่ก่อให้เกิดผลดีแก่การปฏิบัติเลย

ถ้าใครที่ดูเห็นความคิดได้แล้ว จะเห็นได้ชัดว่า เวลาเราเครียด จะมีพลังงานปรากฏขึ้นบริเวณศรีษะ พลังงานนี้ไม่ใช่สิ่งดี นอกจากจะทำให้การปฏิบัตไม่ได้ดีแล้ว ยังทำให้ร่างกายแย่ไปด้วย



โดย: นมสิการ วันที่: 7 เมษายน 2554 เวลา:6:34:49 น.  

 
สวัสดีครับ คุณนมสิการ ผมขอเรียนถามการปฏิบัติดังนี้ครับ
1. ผมปฏิบัตินั่งภาวนาก่อนนอนโดยกำหนดรู้อย่างผ่อนคลายถ้าควบคุมไม่ดีมันทำไมรู้สึกหลงง่ายจังครับ?
พอรู้สึกว่ากายเบาใจเบาไม่มีอะไรสักพัก เช่นหูที่เคยได้ยินอะไรชัด ๆ ก็ได้ยินเบาจาง ๆ ต่อมาก็เกิดการเผลอ(หรือเปล่าไม่ทราบอธิบายไม่ถูก)บางทีรู้สึกว่ากาย(หรือเปล่าไม่ทราบเพราะตอนนั้นไม่รู้สึกว่ามีรั้วรอบกายอยู่แบบชัดนัก)มันลอย เคว้งคว้าง โอนเอนไปมาควบคุมไม่ได้ รู้สึกเคลิ้ม ๆ เหมือนง่วงหลับไม่รู้สึกตัวเลย พอกลับมารู้สึกตัวอีกที คลับคลายว่างีบหลับไปแว็บหนึ่งชั่วกระพริบตาครั้งหนึ่ง(แต่จริงนั่งภาวนานนานตั้ง 1 ชั่วโมง)
อาการที่สัมผัสได้นี่ถือว่าเป็นการเผลอหรือเปล่าครับ แล้วการแก้ไขควรทำอย่างไรครับ

2. ปฏิบัติตามกฏ 3 ข้อมาได้ระยะหนึ่งแล้ว แต่รู้สึกว่าเราไม่ได้พัฒนาไปไหนเลยแต่กลับถอยหลังเข้าคลองไปเสียอีก เช่น การนั่งภาวนาแต่ก่อนนั่งได้เป็นชั่วโมง(รู้สึกตัวอย่าเลิกนั่งภาวนาเองโดยอัตโนมัติ) แต่เดี่ยวนี่นั่งภาวนาได้สั้นลงเกิดรู้สึกว่ากายใจไม่คงที่ ไม่ผ่อนคลายเลย ความคิดต่าง ๆ มันไหลเข้ามาต่าง ๆ นา ๆ ทำไมละวางไม่ัทัน ก็อาการหวั่น ๆ ในการปฏิบัติเล็ก ๆ ขอรบกวนแนะนำวิธีแก้ไขด้วยครับ
(แต่ยอมรับว่าสัมผัสถึงการที่ใจหลุดไปคิดได้เร็วขึ้น ละวางความคิดได้ไวช้าแล้วแต่สถานการณ์แต่โดยรวมก็ละได้เร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนครับ)


ขอบคุณครับ


โดย: หนุ่ม IP: 61.19.90.30 วันที่: 7 เมษายน 2554 เวลา:9:45:01 น.  

 
1. นั่้นคือเผลอไปครับ ไม่ต้องไปแก้ใขอะไร แต่ให้ฝึกต่อไปเรื่อย ๆ ครับ มันจะดีขึ้นเอง

2.ถ้าคุณไปกดมันในการนั่งสมาธิ มันก็นิ่งเพราะจิตถูกกดไว้ แต่พอคุณปล่อยมันทำงานเป็นอิสระ จิตมันก็ทำงาน ม้นจะเป็นอย่างนั้นครับ คล้าย ๆ กับว่า ทำไมภาวนาไม่ดี ที่เป็นแบบนี้ เพราะคุณคิดเองเข้าใจเองว่า การภาวนาดีต้องแบบจิตถูกกดไว้

(แต่ยอมรับว่าสัมผัสถึงการที่ใจหลุดไปคิดได้เร็วขึ้น ละวางความคิดได้ไวช้าแล้วแต่สถานการณ์แต่โดยรวมก็ละได้เร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนครับ)
^
นั่่นแหละครับ จะเป็นอย่างนี้

เราภาวนาไม่ใช่ให้จิตไปถูกกดไว้ แต่ให้จิตเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่ของเขาอย่างเต็มที่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ผมขอเน้นย้ำว่า ถ้าจิตมันเข้าไปยึดอะไรไว้ เช่นการครุนคิดเรื่องกลุ้มใจ ขอให้ทำอะไรก็ได้ ให้มันหลุดจากการยึดให้เร็วที่สุดที่คุณจะทำได้ (เช่นการหายใจ ที่ผมเขียนไว้ข้างล่างนี้ )

แต่ถ้าจิตมันจะเต็นดิสโก้โน่นนี่ แต่ไม่จับยึดอะไรไว้ถาวร นี่มันทำงานของมันแล้ว จิตกำลังเดินทางไปเพื่อการรู้เห็นตามธรรมชาติ
พอมันคุ้นกับแบบนี้ คุณก็นั่งสมาธิไม่ได้นานแล้วครับ เพราะมันขัดกันระหว่างการกดจิตกับการปล่อยจิตให้เป็นอิสระ

ที่นี้ปัญหาหนึ่ง คือ ความผ่อนคลาย ถ้าคุณรู้สึกว่า จิตมันเต็นดิสโก้มากไป รู้สึกไม่ดี ไม่ไหว จะผักผ่อนคลายก็ได้ ผมแนะนำดังนี้ครับ

ให้หายใจเข้าแรงๆ ยาวกว่าปรกตินิดหน่อย พอหายใจสักพัก คุณจะรู้สึกดีขึ้นมาก ไม่ต้องนั่งสมาธิเลยครับ แค่หายใจอย่างนี้ไม่กี่ที

จากทีผมพบมา พอเราฝึกไประยะหนึ่ง มันจะเกิดอาการอย่างที่คุณเล่ามา จิตมันเต็นดิสโก้ตลอด คิดไม่หยุด คล้าย ๆ ฟุ้งซ่าน แต่ต่างจากฟุ่งซ่าน ตรงทีว่า เราเห็นมันคิด การคิดนั้นไม่ใช่เราคิด แต่เป็นความคิด

ผมขอให้คุณสังเกตอะไรสักอย่าง พอจิตมันคิดเอง พอมันหยุดคิดและพอมันคิดสลับกันอย่างนี้ คุณสังเกตเห็นได้ไหมว่า ความคิดนั้นมันเกิดอยู่ที่หนึ่งแถว ๆ ศรีษะ ถ้าความคิดหยุดไป บริเวณที่ความคิดที่เคยเกิดแล้วดับไป มันจะเป็นความว่าง ถ้าคุณสังเกตเห็นความว่างที่ความคิดเกิดดับนั้นได้ นี่จะเป็นผลดีแก่คุณต่อไปในอนคต

***
พอคุณรู้ว่าจิตไปรู้อย่างโน้นอย่างนี้ตลอด รู้ไม่หยุด นี่คือการรู้ทุกข์ ที่ไม่มีการจับยึดแล้วครับ เราฝึกไปเพื่อไม่ให้จิตไปจับยึดกับอาการกายใจ


โดย: นมสิการ วันที่: 7 เมษายน 2554 เวลา:11:13:23 น.  

 
อ้างถึงประโยคที่ว่า "ผมขอให้คุณสังเกตอะไรสักอย่าง พอจิตมันคิดเอง พอมันหยุดคิดและพอมันคิดสลับกันอย่างนี้ คุณสังเกตเห็นได้ไหมว่า ความคิดนั้นมันเกิดอยู่ที่หนึ่งแถว ๆ ศรีษะ ถ้าความคิดหยุดไป บริเวณที่ความคิดที่เคยเกิดแล้วดับไป มันจะเป็นความว่าง"
สังเกตุได้ครับแม้กระทั่งยามใช้ชีวิตปกติ จะชัดเจนตอนขาออกที่ความคิดมันหายไปจะรู้สึกชาเบา ๆ ภายในหัว ไม่คงที่แว๊บ ๆ วุ๊บ ๆ วิ๊ง ๆ เต้นไปแผ่ว ๆ ในหัว แต่ขาเข้าไม่ค่อยรู้สึกชัดเท่าไหร่(ขาเข้าคือจากเริ่มกำหนดรู้อย่างผ่อนคลายจนเข้าถึงความว่าง)
ลองปฏิบัติตามที่คุณนมสิการแนะนำเรื่องการหายใจยาว ๆ ไล่ความคิดฟุ้งซ่าน รู้สึกว่าดีขึ้นครับอาการปวดตุ๊บ ๆ เป็นสมองที่โปร่งโล่งไปเลย
รู้สึกโล่งใจครับว่ามาถูกทางแล้วที่เหลือขึ้นกับความเพียรทำแล้วครับ ขอบคุณคุณนมสิการมากครับที่นำเสนอแนวทางการปฏิบัติให้เข้าใจได้ง่าย เป็นภาษาไทยที่ไม่ต้องตีความ


โดย: หนุ่ม IP: 61.19.90.30 วันที่: 7 เมษายน 2554 เวลา:11:44:21 น.  

 
1..ความว่างที่พบในบริเวณที่ความคิดเกิดและดับ อย่าไปจ้องมันนะครับ ขอให้เป็นลักษณะที่ว่า เห็นบ้างไม่เห็นบ้างก็ได้ในระยะนี้ แล้วต่อ ๆ ไป พอกำลังสัมมาสติมากขึ้น มันจะค่อย ๆ ชัดขึ้นเอง ทีละนิด ทีละนิด ให้เป็นไปอย่างช้า ๆ และจะเห็นได้ตลอดเวลาเมื่อฝึกไปมาก ๆ จนชำนาญมาก ๆ ถ้าไปจ้องมัน เดียวจะปวดหัวหนักเลยครับ

2..การฝึกด้วยกฏ 3 ข้อนี้จะใช้กับการหายใจยาว ๆ อย่างนี้ก็ได้นะครับ
หายใจด้วยความผ่อนคลาย ไม่ต้องคิดถึงอะไร ไม่ต้องอยากรู้อะไร หายใจยาว ๆ กว่าปรกตินิดหน่อย ด้วยความผ่อนคลาย

3..ที่คุณไม่โล่งนั้น อาจเป็นว่า คุณมีอะไรเครียดเกินไปหรือไม่ เช่นเรื่องงาน เรื่องครอบครัว หรือ เรื่องการฝึก ให้ใช้ข้อ 2 ได้เสมอ ๆ ไม่มีข้อเสียอะไรครับ ทำให้สดชื่นดีด้วยซ้ำไป


โดย: นมสิการ วันที่: 7 เมษายน 2554 เวลา:12:33:18 น.  

 
ขอบคุณคะ อ.นมสิการ เพราะสงสัยมาตลอดว่าถ้าดูหนังดูทีวี ก็เกรงว่าจะทำให้หลุดออกจากการเจริญสติ หลังๆมานี้ก็ดูน้อยลง(ความอยากดูคงลดลงด้วยคะ)

ที่อ.นมสิการบอกว่า "ขอให้รู้สึกตัวอย่างผ่อนคลาย จะอินกับหนังไปบ้าง จะรู้สึกตัวบ้าง มันก็จะเป็นอย่างนี้ สลับไปสลับมาอยู่เสมอ"
ทำให้ได้แนวทางในปฏิบัติตนในชีวิตประจำวันที่ชัดเจนมาก ขอบพระคุณอาจารย์มากคะ

- เรียนถามอ.คะว่า ขณะว่างๆหรือล้างจานได้ยินเพลงเก่าๆสมัยยังเด็กๆในหัวโผล่ขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจไปนึกถึง..เมื่อได้ยินก็รู้แต่ไม่ได้ร้องตาม .. แบบนี้เรียกว่าดูความคิดได้แล้วหรือไม่คะ

- เกือบทุกครั้งเวลาเจริญสติรู้กาย จะปรากฏอาการยุบยิบไหวๆที่บริเวณผิวบนใบหน้าและหนังศีรษะ ตอนนี้ชินรู้สึกเฉยๆกับสภาวะแบบนี้แล้ว

- มีสภาวะที่เพิ่งเิกิดเร็วๆนี้ คือเมื่อเจริญสติตามรูปแบบ จะรู้สึกอุ่นๆสบายๆโปร่งโล่งๆที่ในบริเวณท้ายทอยและหลังศีรษะ แล้วรู้สึกมีความสุข ไม่ทราบว่าสภาวะหลังนี้จะทำให้เกิดอาการติดสุขหรือไม่คะ

ขอบพระคุณคะ


โดย: Nim IP: 115.87.51.117 วันที่: 7 เมษายน 2554 เวลา:22:13:02 น.  

 
- เรียนถามอ.คะว่า ขณะว่างๆหรือล้างจานได้ยินเพลงเก่าๆสมัยยังเด็กๆในหัวโผล่ขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจไปนึกถึง..เมื่อได้ยินก็รู้แต่ไม่ได้ร้องตาม .. แบบนี้เรียกว่าดูความคิดได้แล้วหรือไม่คะ

>>>>> การเห็นความคิดได้นั้น จะมีลักษณะของการเห็นได้จริง ๆ คล้าย ๆ กับเป็นก้อนอะไรสักอย่าง (ขอให้นึกถึง ไอของกาต้มน้ำ ที่มันพุ่งออกจากกาน้ำเดือด แต่มันจะเห็นแป็บเดียวเท่านั้น ) อย่างนี้คือการเห็น

ถ้ายังไม่ใช่ที่บอกไว้ ก็ยังไม่ใช่การเห็นความคิดครับ เพียงแต่อยู่ในสภาวะที่ความคิดมันโผล่ขึ้นมาแล้วรู้สึกตัวได้อยู่ จิตไมไหลตามเข้าไปในความคิด

******
- เกือบทุกครั้งเวลาเจริญสติรู้กาย จะปรากฏอาการยุบยิบไหวๆที่บริเวณผิวบนใบหน้าและหนังศีรษะ ตอนนี้ชินรู้สึกเฉยๆกับสภาวะแบบนี้แล้ว

>>>> นี่เป็นพลังงานที่่มันสะสมมากขึ้น อันเกิดจากการฝึกฝนครับ ไม่เป็นอันตรายอะไร บางครั้ง พลังงานนี้ ก็จะไปปรากฏที่อื่นตามอวัยวะต่าง ๆ ได้ด้วย

*************

- มีสภาวะที่เพิ่งเกิดเร็วๆนี้ คือเมื่อเจริญสติตามรูปแบบ จะรู้สึกอุ่นๆสบายๆโปร่งโล่งๆที่ในบริเวณท้ายทอยและหลังศีรษะ แล้วรู้สึกมีความสุข ไม่ทราบว่าสภาวะหลังนี้จะทำให้เกิดอาการติดสุขหรือไม่คะ

>>> นี่เป็นพลังงานสะสมอย่างหนึ่ง ถ้ามีความสุข รู้สึกดี ก็ดีแล้วครับ
การติดสุขนี่จะมีลักษณะที่ว่า อยากได้ มีการนึกถีงสิ่งนั้น ๆ อยู่

แต่ถ้าสิ่งนั้นเกิดแล้วมีเรามีความสุข แต่ไม่ได้คิดถึงมัน ไม่ได้อยากได้มัน แต่ยังมีความรู้สึกตัวที่เป็นธรรมชาติสบาย ๆ ทำงานทำหน้าที่ของเราไปตามปรกติ ขอให้เป็นอย่างนี้ครับ

*****


โดย: นมสิการ วันที่: 8 เมษายน 2554 เวลา:5:20:06 น.  

 
กราบขอบพระคุณ อ.นมสิการ มากคะ
ทำให้เข้าใจ คำว่า"การเห็นความคิด" ที่ชัดแจ้งมาก

จากที่ตนเองเข้าใจผิดมาตลอด คือไปเข้าใจผิดว่า เห็นความคิดที่เป็นเรื่องราว หรือเสียงของความคิดภายในที่ได้ยิน

ดังนั้นการเห็นความคิดตามที่อาจารย์กล่าวนั้น ก็คือต้นกำเนิดของความคิดใช่หรือไม่คะ ..
อาการแบบนี้จะคล้ายกับที่เวลาที่กำลังจะโกรธและรู้สึกถึงพลังงานที่ปั่นหรือพุ่งขึ้นมาในหัวที่เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที (เคยมีอาการแบบนี้ 2 ครั้งแล้วคะ) หรือไม่คะ

กราบขอบพระคุณมากคะ






โดย: Nim IP: 182.53.93.246 วันที่: 9 เมษายน 2554 เวลา:19:02:22 น.  

 
1..ดังนั้นการเห็นความคิดตามที่อาจารย์กล่าวนั้น ก็คือต้นกำเนิดของความคิดใช่หรือไม่คะ ..

>> ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจของคำว่า ต้นกำเนิดให้ตรงกันเสียก่อน
ที่ผมเข้าใจ คำว่า ต้นกำเนิด คือ แหล่งเกิด หรือ แหล่งผลิด
เช่น หมีแพนด้า ต้นกำเนิดคือประเทศจีน
แม้น้ำเจ้าพระยา ต้นกำเนิดคือ จังหวัดนครสวรรค์

ส่วนความคิดนั้น ต้นกำเนิด ก็คือ จิต ครับ จิตเป็นตัวสร้างความคิดขึ้นมา
การเห็นความคิดได้ยังไม่ใช่เห็นต้นกำเนิดของความคิด ถ้าเห็นตัวจิตได้นั้นแหละ จึงจะเห็นต้นกำเนิดของความคิด

2..อาการแบบนี้จะคล้ายกับที่เวลาที่กำลังจะโกรธและรู้สึกถึงพลังงานที่ปั่นหรือพุ่งขึ้นมาในหัวที่เกิดขึ้นเพียงเสี้ยววินาที (เคยมีอาการแบบนี้ 2 ครั้งแล้วคะ) หรือไม่คะ

>> ต้องเห็นด้วยนะครับ ถึงจะใช่ว่าการเห็นความคิด ถ้ายังไม่เห็นก็ยังไม่ใช่
ความรู้สึกโกรธนั้น คนธรรมดาก็รู้สึกถึงได้ แต่คนธรรมดายังไม่เห็น

ผมไปอ่านเรื่องนี้
//www.pantip.com/cafe/religious/topic/Y10428580/Y10428580.html#40
ผมตอบไว้ทีความเห็นที่ 42

คนเขียนเขาอธิบายไว้ นั้นคือสภาพที่เห็นความคิด
เรื่องการเห็นความคิด เห็นอารมณ์ของตนเองเป็นพลังงาน อธิบายไป คนก็ไม่เข้าใจ แต่พอเห็นด้วยตนเองเพียงครั้งเดียว จะร้องอ๋อทันที เป็นอย่างนี้เอง


โดย: นมสิการ วันที่: 9 เมษายน 2554 เวลา:19:59:14 น.  

 
ในภาพยนต์คาวบอยที่นานมาแล้ว จะเป็นหนังเรื่องคาวบอยและอินเดียนแดง เวลาพวกอินเดืยนแดงจะส่งสัญญาณบอกกันว่ามีผู้บุกรุก สมัยนั้นยังไม่มีโทรศัพย์ เขาก็จะก่อไฟที่มีควันแล้วใช้ผ้ามาปิดควันไฟไว้ พอเขายกผ้าขึ้นมา 1 ครั้งก็จะมีควันไฟลอยขึ้นมา 1 กลุ่ม แล้วเขาก็ปิดผ้าไว้อีก แล้วก็ยกผ้าออกเพื่อปล่อยควันไฟอีก ทีนี้ก็จะเป็นข้อตกลงกันระหว่างกัน เช่นว่า ถ้ามีควันไฟ 3 กลุ่ม ก็จะแปลว่า มีผู้บุกรุกมาแล้ว

เมื่ออินเดียนแดงที่อยู่ที่เผ่า เห็นควันไฟ 3 กลุ่มลอยขึ้นมาจากสายสืบ เขาก็จะรู้ว่ามีผู้บุกรุก

การเห็นควันไฟจะคล้าย ๆกับการเห็นความคิด คือมันเป็นพลังงานวูบขึ้นมาเป็นก้อน แล้วคนเราก็แปลพลังงานที่วูบมาเป็นก้อนว่า เป็นความโกรธ
ก็จะคล้ายๆ กับที่เผ่าอินเดียนแดงเห็นควันไฟแล้วแปลภาษาควันไฟว่ามีผู้บุกรุก
อ่านเรื่องนี้ประกอบ https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=namasikarn&month=05-2010&date=28&group=8&gblog=22


โดย: นมสิการ วันที่: 9 เมษายน 2554 เวลา:20:20:19 น.  

 
ขอบพระคุณมากคะ อ. นมสิการ อ่านแล้วเข้าใจได้ชัดเจนมากคะ โดยเฉพาะตัวอย่างเรื่องอินเดียนแดง สาธุๆคะ


โดย: Nim IP: 182.53.93.246 วันที่: 9 เมษายน 2554 เวลา:22:37:03 น.  

 
ผมจำเป็นต้องปิดการเขียนของท่านผู้อ่าน เนื่องจากกฏหมายอินเตอร์เนท
ที่อาจมีสิ่งผิดกฏหมายใส่เข้ามาใน blog

ท่านที่จะสนทนา หรือ ถามคำถาม ขอให้ส่ง email ถึงผมได้ที่
asknamasikarn@gmail.com

หรือสำหรับสมาชิก pantip จะส่งมาทางหลังไมค์ก็ได้เช่นกัน


โดย: นมสิการ วันที่: 29 มกราคม 2555 เวลา:15:16:32 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะ VIP Friend
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

นมสิการ
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 142 คน [?]




หลักปฏิบัติ ...รู้สึกตัว ผ่อนคลาย เฉย ๆ สบาย ๆ

มากกว่า 20 ปีที่ไปหลงทำสมถภาวนาแบบสมาธิแบบฤาษีโดยที่ไม่รู้จักกับคำว่า อะไรคือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ผลที่ได้คือความสงบขณะกำลังนั่งสมาธิจนตัวนิ่งแข็งเป็นก้อนหิน แต่ผลข้างเคียงตามมาก็คือการเป็นคนเจ้าโทสะอย่างรุนแรงขณะเวลาไม่ได้นั่งสมาธิ และ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน....

จนได้พบกัลยณมิตรแดนไกล ที่ได้ชักนำให้มารู้จักวิธีปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน จนได้พบกับพระอาจารย์ในสายหลวงพ่อเทียน ที่ผมได้เรียนการปฏิบัติจากท่าน จนเข้าใจว่า สัมมาสติ สัมมาสมาธิ คืออะไร แล้วลงมือฝึกฝน การปฏิบัติก็รุดหน้าและได้ลิ้มรสสิ่งบริสุทธิในจิตใจอันเป็นผลจากการปฏิบัติด้วยเวลาเพียง 5 ปี

ธรรมปฏิบัติจากฆราวาสเขียนเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ยากในสังคมไทย ผมรู้ได้จากที่เขียนใน blog ผมได้พบกับการก่อกวนใน blog การเขียนเหน็บแนม กระแหนะกระแหน ตำหนิการการปฏิบัติที่ผมเขียนใน blog ว่าผิดทาง เขียนแบบคาดเดาเอา ไม่รู้จริง ให้ผมหยุดเขียนแนวนี้ได้แล้ว และไปโมทนาสาธุแนะนำการปฏิบัติสมาธิแบบฤาษีให้กับผมอีกว่านี่คือทางที่ถูกต้อง ...

บทความใน blog จึงเกิดขึ้นมา เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ในการภาวนา
แก่ผู้อื่นที่กำลังเดินทางในสายแห่งอริยมรรคนี้

เมื่อท่านได้เข้ามาอ่านข้อเขียนใน blog กรุณาอย่าได้เชื่อผมจนกว่า ท่านได้ทดลองปฏิบัติแล้วและพิสูจน์ด้วยตัวท่านเอง

**กรุณา .อย่า.ได้บริจาคเงินให้ blog ผมทาง e-wallet ครับ **

******
บทความต่าง ๆ ใน blog นี้
ขอสงวนสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ห้ามนำไปดัดแปลง ลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

****
New Comments
Friends' blogs
[Add นมสิการ's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friend


 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.