Group Blog
 
All Blogs
 
ตอนที่ ๑๗ คนไม่กลัวตาย

ยอดคนแผ่นดินเหม็ง

ตอนที่ ๑๗ คนไม่กลัวตาย

“ เล่าเซี่ยงชุน “

ฝ่าย ไฮ้สุย ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ เมื่อได้ทราบข่าวคำตัดสินให้ประหารชีวิต หลีซุนเอี๋ยง จาก ไฮ้หยง ไฮ้อัน ก็ตกใจ รีบหนีผู้คุมไปในเวลากลางคืน ถึงที่ประหารเห็นศพหลีซุนเอี๋ยงนอนกลิ้งอยู่ ก็เข้าไปกอดศพร้องไห้ร่ำไรรำพันว่า ท่านถึงแก่ความตายทั้งนี้เพราะข้าพเจ้า ไฮ้สุย ร้องไห้จนสลบไปหลายครั้ง คนสนิททั้งสองต้องเข้าประคองช่วยแก้ไขอยู่จนยามสามจึงค่อยฟื้นได้สติ ก็รีบออกจากที่นั้นจะไปเฝ้า พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ โดยไม่ฟังคำทัดทานของ ไฮ้อัน ไฮ้หยง ที่ว่าเป็นเวลาดึกแล้วจะมีความผิด

ไฮ้สุยไปถึงโรงกลองข้างพระราชวัง ซึ่งทำไว้สำหรับตีเมื่อมีเหตุใหญ่ ไฮ้สุยก็บอกกับเจ้าพนักงานผู้รักษากลอง ว่ามีการสำคัญเกิดขึ้นจะขอตีกลอง พูดแล้วก็ตีกลองขึ้นโดยเจ้าพนักงานห้ามไม่ทัน จึงถามว่ามีราชการสำคัญสิ่งใด ไฮ้สุยก็เล่าความที่ตนได้ลักจดหมายเหตุของหลีซุนเอี๋ยง จนเป็นเหตุให้ต้องพระราชอาญาถึงแก่ชีวิต แล้วว่าหลีซุนเอี๋ยงเป็นคนดีไม่ควรที่จะตาย ตนเองมาตีกลองทั้งนี้ปรารถนาจะให้เสด็จออก จะได้ถวายบังคมลาตายตามหลีซุนเอี๋ยงไป เจ้าพนักงานผู้รักษากลองว่าความแต่เพียงเท่านี้ จะรอให้ถึงพรุ่งนี้เช้าจึงกราบทูลไม่ได้หรือ มิใช่ความร้อนรนอะไรนัก ไม่ควรจะมาตีกลอง จะแกล้งให้ตนพลอยมีความผิดด้วย ว่าแล้วก็คุม ตัวไฮ้สุยไว้

ในขณะนั้นพระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้จวนจะเสด็จเข้าที่บรรทม ได้ยินเสียงกลองก็ ตกพระทัยไม่ทราบว่ามีเหตุร้ายอะไร จึงรับสั่งให้ขันทีออกมาดู ขันทีก็กลับไปกราบทูลตามที่เจ้าพนักงาน เล่าเรื่องที่ไฮ้สุยได้แจ้งมาทุกประการ ฮ่องเต้ก็ขัดเคืองเป็นอันมาก ตรัสว่าไฮ้สุยกวนจู้จี้หาความไม่รู้แล้ว และพระองค์ก็เสด็จออกในทันใดนั้น กับรับสั่งให้เอาตัวไฮ้สุยเข้าไปเฝ้า

ฮ่องเต้ก็ทรงมีพระกระทู้ถามว่า เดิมตัวฟ้องกล่าวโทษใจเสี่ยงไม่มีพยาน โทษผิดเราก็ยกให้แล้ว เดี๋ยวนี้มาตีกลองด้วยเหตุอะไรอีก ไฮ้สุยก็กราบทูลว่า

“……..ความที่ข้าพเจ้าฟ้องกล่าวโทษใจเสี่ยงเป็นการจริง หลีซุนเอี๋ยงเป็นคนจดหมายเหตุ ต้องรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิตทั้งนี้ เพราะมีความประมาท ข้าพเจ้าจึงลักเอาจดหมายเหตุมาได้ จะขอตายตามกัน ขอพระองค์จงโปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าตายด้วยเถิด…….”

ฮ่องเต้ก็ตรัสว่าจะมาให้เราอนุญาตอย่างไร ชีวิตของตัวตามใจจะเห็นดี ไฮ้สุยก็กราบทูลอีกว่า

“……..ข้าพเจ้าเป็นข้าของพระองค์ ชีวิตของข้าพเจ้าเป็นของพระองค์ พระองค์ จะให้ตายเมื่อไรก็ได้ ไม่เลือกว่าเวลาใด ครั้นข้าพเจ้าจะตายเสียโดยลำพัง ความติเตียนก็จะมีในข้าพเจ้า ว่าคบคิดกับหลีซุนเอี๋ยงเอาความเท็จมิจริงมาฟ้องหากล่าวโทษใจเสี่ยง ครั้นหลีซุนเอี๋ยงตายร้อนตัวกลัวความผิด ฆ่าตัวตายตามกันไป ข้าพเจ้ากลัวความนินทาดังนี้ จึงได้กราบทูลให้พระองค์อนุญาต ถ้าพระองค์โปรดแล้วข้าพเจ้าจะถวายบังคมลาตายต่อหน้าพระที่นั่ง…….”

ฮ่องเต้ได้ทรงฟังไฮ้สุยพูดจาแข็งแรงไม่กลัวตาย จึงตรัสเอาใจว่าหลีซุนเอี๋ยงมีความผิด เพราะรักษาธรรมเนียมของตัวไว้ไม่ได้ต้องตาย ตัวท่านมีข้อผิดอะไรจะมาให้เราอนุญาตให้ตาย เราบังคับไม่ได้ ไฮ้สุยก็ยืนยันความเดิมว่า

“………..ข้าพเจ้าผิดเพราะลักจดหมายเหตุของเขามา เจ้าของจดหมายเหตุจึงได้ตาย ข้าพเจ้าประกอบด้วยบ้วนหงี อันเป็นคนประทุษร้ายต่อมิตร จะอยู่ไปในแผ่นดินก็เป็นที่ติเตียนแก่คนทั้งหลาย ความผิดของลิซุนเอี๋ยง ซึ่งรักษาธรรมเนียมของตัวไว้ไม่ได้ พระองค์ประหารชีวิตเสียก็ควร และซึ่งพระองค์ได้ทรงทราบเรื่องใจเสี่ยง ก็เพราะหลีซุนเอี๋ยงจดหมายไว้ ความดีมีอยู่ดังนี้…..”

พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ได้ทรงฟังก็ได้พระสติขึ้น จึงตรัสถามว่าท่านจะให้เราทำอย่างไร ไฮ้สุยกราบทูลว่า

“……….พระองค์เป็นฮ่องเต้เสียง คือแปลว่าเป็นที่ยิ่งแห่งมนุษย์ อาจจะทราบการดีและร้ายทุกประการ ขอพระองค์จงวางพระธรรมเนียมลงไว้ กษัตริย์และขุนนางภายหลังจะได้ถือเอาเป็นตัวอย่าง ข้าพเจ้าเป็นข้าของพระองค์ จะกราบทูลชี้แจงออกไปอย่างไรได้ แต่เพียงขอถวายบังคมลาตายเท่านั้น……….”

ฮ่องเต้จึงทรงพระดำริว่าไฮ้สุยเห็นจะยอมตายไม่เสียดายแก่ชีวิตจริง ถ้าไม่ตามใจก็เห็นจะตายแน่ เสียดายคนเช่นนี้หายากนัก ด้วยรักธรรมเนียมมากกว่าชีวิต จึงตรัสว่าซึ่งเราฆ่าหลีซุนเอี๋ยงนั้นก็ไม่ผิด ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ลิซุนเอี๋ยงมีความดีในแผ่นดิน ต้องเลี้ยงบุตรภรรยา เมื่อยังมีชีวิตอยู่เคยได้เบี้ยหวัดเงินเดือนอย่างไร ต้องสงเคราะห์ให้แก่บุตรอย่างนั้น แล้วให้ทำการศพตามยศอย่างขุนนางผู้ใหญ่ ตรัสแล้วก็เสด็จขึ้น

ฝ่ายบุตรภรรยาและญาติพี่น้องของหลีซุนเอี๋ยง ครั้นรู้ว่าหลีซุนเอี๋ยงต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิต ก็พากันมาร้องไห้เศร้าโศกอยู่ที่ศพ แต่ก็ไม่กล้าจะเก็บศพไป ด้วยเป็นธรรมเนียมผู้มีความผิดต้องโทษถึงตายแล้ว แม้นไม่โปรดอนุญาตจะเก็บศพเอาไปไม่ได้ ต้องทิ้งประจานไว้

จนไฮ้สุยซึ่งได้รับสั่งให้เป็นผู้ดูแลกำกับการทำศพลิซุนเอี๋ยง นำเจ้าพนักงานจัดหีบศพและเครื่องแห่ตามตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่มาถึง แล้วเล่าเรื่องที่ตนได้ตีกลองร้องทุกข์ กับได้อ่านหนังสือข้อรับสั่งซึ่งโปรดในการศพ และพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือน แก่บุตรภรรยาผู้ตายให้ฟังจนสิ้น บุตรภรรยาของผู้ตายก็ผินหน้าจำเพาะพระราชวัง ถวายบังคมพระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ด้วยความยินดี

ไฮ้สุยก็ไต่ถามว่าศพนี้จะทำการฝังที่นี่หรืออย่างไร บุตรภรรยาก็ว่าเดิมหลีซุนเอี๋ยงรับราชการก็ได้อยู่เรือนหลวง บัดนี้ถึงแก่กรรมแล้วครอบครัวก็ต้องกลับไปอยู่บ้านเดิม ครั้นจะฝังศพไว้ที่นี่ เมื่อถึงกำหนดเซ่นไหว้ศพ ทางไกลไปมาลำบาก จะขอรับศพไปฝังไว้ ณ ตำบลบ้านเก่าตามเดิม แต่จะขอฝากศพไว้ที่เรือนหลวง ต่อเตรียมการเสร็จแล้วจึงจะรับศพไป

ไฮ้สุยก็ว่าผู้อื่นที่เขาเข้ารับราชการแทน ในตำแหน่งของหลีซุนเอี๋ยงจะมาอยู่ต่อไป ถ้าบุตรได้ทำราชการจึงจะเอาไว้ได้ แต่ครั้นจะให้เข้ารับราชการขณะนี้ ก็ยังเป็นเด็กหนุ่มอ่อนแก่ความนัก จงเอาศพไปพักไว้ที่บ้านของตนก็ได้ จัดการเสร็จแล้วเมื่อไรจึงจะรับศพไป บุตรภรรยาก็มีความยินดี เอาศพหลีซุนเอี๋ยง ใส่หีบหลวงที่พระราชทาน แล้วก็แห่ไปไว้ ณ บ้านไฮ้สุย และบุตรภรรยาก็พากันไปอยู่ดูแลศพที่บ้านไฮ้สุยด้วย

ไฮ้สุยนั้นเมื่อจัดการศพหลีซุนเอี๋ยงเรียบร้อยแล้ว เห็น หลีซิวอิ๋ม บุตรชายซึ่งมาอยู่ที่บ้านปรนนิบัติศพบิดา ดูท่วงทีกิริยาน่ารัก อายุก็รุ่นราวคราวเดียวกันกับ นางไฮ้กิมโก บุตรสาวของตน จึงคิดจะยกให้เป็นสามีภรรยากัน ก็ปรึกษากับ นางเตียเกงฮวย ผู้ภรรยาว่าเราคิดจะแต่งบุตรหญิงของเราให้อยู่กินกับกับหลีซิวอิ๋ม เจ้าจะเห็นอย่างไร นางเตียเกงฮวยเสียเจียะ ฮูหยินตอบว่าดีแล้ว แต่ต้องดูไปก่อน คิดหาซินแสมาสอนหนังสือให้เรียนรู้ให้มากก่อนจึงจะดี ไฮ้สุย ว่าเขาก็รู้อยู่บ้างแล้ว ภรรยาก็นิ่งอยู่

เมื่อไฮ้สุยได้จัดการศพและครอบครัวของหลีซุนเอี๋ยงเรียบร้อยแล้ว ก็คิดถึงคดีความที่ตนฟ้องร้อง เงียมซง ซึ่งยังมิได้รับการชำระ จึงเข้าไปเฝ้าฮ่องเต้ กราบทูลขอให้ไต่สวนตัดสินความที่ปรากฎในจดหมายเหตุ ให้เป็นแบบอย่างสำหรับแผ่นดินต่อไป

พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้มิรู้ที่จะบ่ายเบี่ยงแก้ไข ให้ความเรื่องเงียมซงทำผิดเงียบไปได้ จึงตรัสว่าความเรื่องนี้ต้องชำระให้ได้ความจริง ถ้าจริงดังจดหมายเหตุ เงียมซงก็มีข้อผิด ถ้าไม่จริงตัวท่านก็ต้องเป็นโทษ ฟ้องหาเขาอย่างไรก็ต้องรับอาญาอย่างนั้น

ไฮ้สุยกราบทูลว่าเดิมความสองเรื่องคือ เล่าตังหยง และ ฮั่วจิ้น เศรษฐีนั้น เมื่อครั้งที่ตนเป็นที่เอ๋ซุนอ้านออกไป ก็ได้ของสำคัญไว้ คือหนังสือของเงียมซงมีไปถึงเล่าตังหยง ฮั่วจิ้นเศรษฐีเนือง ๆ แล้วก็กราบทูลความที่ได้จัดการไปแล้ว ถวายให้ทรงทราบทุกประการ

ฮ่องเต้จึงตรัสว่าเมื่อแรกกลับมาถึง ทำไมจึงไม่บอกให้รู้ ไฮ้สุยกราบทูลว่าตนเห็นทั้งสองคนนั้นเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินจึงกำจัดเสีย การเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ราษฎรในเมืองทั้งสองก็มิได้เดือดร้อนเหมือนแต่ก่อน จึงมิได้กราบทูลให้เป็นที่กวนพระทัย แล้วไฮ้สุยก็ถวายหนังสือของเงียมซงที่เก็บมาให้ฮ่องเต้ทอดพระเนตร กับได้ย้ำถึงเรื่องอีกสามเรื่องที่ปรากฎในจดหมายเหตุ และเรื่องที่เกิดขึ้นภายใหม่ในเร็ว ๆ นี้ แต่ยังมิได้ลงในจดหมายเหตุ คือเรื่อง เงียมซือพวน บุตรเงียมซง ตีภรรยาของผู้ขายสุราตาย ให้ทรงทราบทุกประการ

ฮ่องเต้จึงมีรับสั่งให้ขุนนางผู้หนึ่งซึ่งมิได้เป็นตุลาการ เป็นผู้สืบให้ได้ความจริง ถ้าเห็นแก่หน้ากันจะเป็นโทษ ไฮ้สุยก็ดีใจกราบทูลว่าความเรื่องนี้ถ้าชำระได้จริง เบี้ยหวัดเงินเดือนที่โปรดพระราชทานให้แก่บุตรภรรยาหลีซุนเอี๋ยง ก็ไม่เสียเปล่า

ฝ่าย นางเงียมเคงหลินกุยฮุย รู้ว่ามีรับสั่งให้สืบความเรื่องเงียมซง ก็มีความวิตกกลัวว่าถ้าได้ความจริงแล้วบิดาเลี้ยงของตนจะมีโทษ จึงเข้าไปเฝ้าฮ่องเต้กราบทูลขอให้ทรงพระเมตตาแก่บิดาของตน อย่าให้ได้ความอายแก่เขาเลย ฮ่องเต้ว่าไม่ได้ บิดาของเจ้าทำการขัดขวางแผ่นดิน นี่หากว่าไฮ้สุยเป็นคนไม่กลัวตายจึงได้รู้ หาไม่ความติเตียนนินทาและการเดือดร้อนก็จะมีในแผ่นดินของเรา นางเงียมเคงหลินกุยฮุยก็ไม่รู้จะทูลประการใด ถวายบังคมลากลับมาที่อยู่ แล้วมีหนังสือแจ้งเรื่องให้เงียมซงทราบ

ฝ่ายขุนนางที่ได้รับสั่งก็สืบได้ความจริงดังคำฟ้องทุกข้อ ก็เข้ามากราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ทรงขัดเคืองเป็นอันมาก จึงให้หาตัวเงียมซงเข้ามาแล้วว่า ตัวท่านเราเห็นว่าเป็นผู้ใหญ่ได้ใช้สอยรับราชการมาช้านาน สำคัญว่าเป็นคนดีมีความเมตตาแก่อาณาประขาราษฎร เราก็ได้ชุบเลี้ยงถึงขนาดยิ่งกว่าขุนนางทั้งปวง ไม่ควรเลยที่จะทำให้ราษฎรเดือดร้อน

เงียมซงก็กราบทูลรับสารภาพว่า ตนมีความผิดจริงสุดแล้วแต่จะโปรด ฮ่องเต้จึงให้ขุนนางเจ้าพนักงานปรึกษาโทษเงียมซง พวกขุนนางที่ปรึกษากฎหมายก็กราบทูลให้ถอดออกเสียจากที่ใจเสี่ยง แล้วเนรเทศให้ออกไปอยู่ต่างหัวเมืองหกเดือน พอเข็ดหลาบแล้วให้กลับเข้ามารับราชการ ในตำแหน่งที่ดังเก่าสนองพระเดชพระคุณต่อไป

ฮ่องเต้จึงมีรับสั่งลงโทษเงียมซงตามที่ขุนนางกราบทูล และให้เนรเทศไปอยู่ที่ เมืองฮุนหนำ กับพระราชทานรางวัลแก่ เล่าปึงหมง ตุลาการคนตรง และตรัสติเตียน ตั้นเท่งเง็ก กับ กวยซิวกี ตุลาการที่เอนเอียงเป็นอันมาก สุดท้ายได้พระราชทานฉลองพระองค์สีแดงลายมังกรใหญ่ ชื่อ ไต้อั้งเผ่า ให้เป็นรางวัลแก่ไฮ้สุยด้วย

ผลของการทำความดีและความชั่ว จึงปรากฎทันตาเห็น ดังนี้.

##########








































Create Date : 28 กันยายน 2551
Last Update : 28 กันยายน 2551 8:07:13 น. 2 comments
Counter : 1352 Pageviews.

 
นาน ๆ จะได้แวะมาเยี่ยมคุณลุงซะที ช่วงนีวุ้นๆ ครับ รายงานต้องทำอีกหลายอัน ภาษาไทย ผมไม่กลัวเลย แต่ต้องทำเป็นภาษาอังกฤษนี่สิครับ เหนือ่ยๆๆๆ

คุณลุงสบายดีนะครับ


โดย: dinkun (กริชครับผม ) วันที่: 30 กันยายน 2551 เวลา:11:59:13 น.  

 
ผมยังสบายดีครับ

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมในบล็อกครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 3 ตุลาคม 2551 เวลา:9:47:05 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.