Group Blog
 
All Blogs
 

ประวัติศาสตร์ต่อจากราชวงศ์จิ้น

ประวัติศาสตร์ ต่อจากราชวงศ์จิ้น

เรื่องที่สืบต่อจากสามก๊ก


เรื่องที่สืบต่อจากสามก๊ก

จากคำนำขององค์การค้าคุรุสภา ผู้จัดพิมพ์นิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่อง สามก๊ก
ได้บอกว่า ต่อไปเป็นเรื่อง ไซจิ้น ตั้งจิ้น น่ำซ้อง ซึ่งเป็นเรื่องของราชวงศ์จิ้น
ราชวงศ์ซอ ราชวงศ์ชี ราชวงศ์หลียง และราชวงศ์ตั้น
(พ.ศ.๘๐๘-๑๑๓๒)

เป็นเวลาถึง ๒๒๔ ปี มีผู้ทราบเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ พอจะเล่าสู่กันอ่านประดับสติปัญญาบ้างไหมครับ

ถ้ามีก็ขอบคุณมากครับ.




ความคิดเห็นที่ 3

ราชวงศ์ซอ หรือราชวงศ์ซ่ง นั้นก่อตั้งโดยหลิวอิ้ว ครับ

หลิวอิ้วเป็นจริงๆนับไปนับมาก็มีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ฮั่นเหมือนกัน เพราะย้อนกลับไปสัก 23 รุ่น บรรพบุรุษของหลิวอิ้วก็เป็นพี่น้องกับหลิวปังหน่ะครับ โดยสายสกุลของหลิวอิ้วจะสืบทอดมาจากฉู่อ๋อง หลิวเจียว (แต่ตำแหน่งฉู่อ๋องนั้นหายไปแล้วเมื่อสิ้นสุดราชวงศ์ซีฮั่น บรรพชนของหลิวอิ้วเป็นเป็นชาวบ้านธรรมดามาหลายร้อยปีก่อนเขาจะเกิด)

ตัวหลิวอิ้วนี้ เกิดมาในตระกูลขุนนางภูธรเล็กๆในราชสำนักตงจิ้นครับ วัยเด็กถือว่าลำบากมาก เพราะบ้านของเขาไม่ใคร่มีฐานะเท่าใด บิดาก็เป็นขุนนางระดับนายกองในท้องที่เท่านั้น และตายตั้งแต่หนุ่ม หลิวอิ้วอาศัยญาติพี่น้องของบิดาเลี้ยงแบบถูไถๆยังชีพไปวันๆ พอโตเป็นหนุ่มเนื่องจากไม่มีความรู้ และบ้านเมืองอยู่ในกลียุค เขาก็เลยไปสมัครเป็นทหารเลวในท้องที่บ้านเกิดหน่ะครับ

หลังจากทำราชการอยู่หลายปี หลิวอิ้วก็ไปเป็นลูกน้องของ หลิวเหลาจื่อ ที่เป็นขุนนางระดับนายทหารในยุคนั้นครับ ช่วงปลายราชวงศ์ตงจิ้นนั้น ราชสำนักอ่อนแอมาก จักรพรรดิสกุลสุมาแทบจะไร้อำนาจ มีพวกขุนศึกภูธรตั้งตัวเป็นอิสระปกครองท้องที่ของตนเองตามใจชอบเต็มไปหมด หลิวเหลาจื่อก็เป็นขุนศึกคนหนึ่งที่ตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ในแถบเจียงสูหน่ะครับ ด้วยความที่หลิวอิ้วเป็นคนกล้าหาญ เก่งในทางบู๊และมีสติปัญญา เขาเลยเป็นที่โปรดปราณของหลิวเหลาจื่อมาก และก้าวหน้าในราชการขึ้นเป็นลำดับ จนหลิวเหลาจื่อถูกหวนเสวียนบีบให้ฆ่าตัวตายเพราะรบแพ้ในปี ค.ศ.402 หลิวอิ้วเลยแยกวงออกมาเป็นเอกเทศของตัวเอง

ในช่วงนี้เอง ราชสำนักจิ้นมีขุนศึกคนหนึ่งที่มีอำนาจมากระดับล้นฟ้า ชื่อว่า หวนเสวียน ครับ (แกเป็นลูกของหวนเหวินหน่ะนะ) หวนเสวียนนั้นเชื้อไม่ทิ้งแถวบิดา มักใหญ่ใฝ่สูง และอยากจะเป็นจักรพรรดิเสียเอง แต่ติดที่พวกขุนศึกทั่วแผ่นดินไม่ได้ชอบขี้หน้าเขาเลย หวนเสวียนเลยต้องอาศัยจักรพรรดิสกุลสุมาเชิดหากินไปเรื่อยเปื่อย จนในที่สุดหวนเสวียนก็คิดเอาเองว่า บารมีของตนถึงขนาดแล้ว น่าจะได้ฤกธิ์ทำตนตามมติฟ้า ขึ้นเป็นจักรพรรดิเองให้รู้แล้วรู้รอดในปี ค.ศ. 404 ครับผม

แต่หวนเสวียนคาดการณ์ผิด เพราะไม่มีใครเล่นด้วยกับเขา พวกขุนศึกทั่วแผ่นดินลุกขึ้นต่อต้านเขาครับ สุดท้ายหวนเสวียนก็ถูกรุมกินโต๊ะจากทุกทิศทางจนแตกพ่ายและถูกฆ่าตายในที่สุด

ในปี ค.ศ.405 เมื่อหวนเสวียนถูกกำจัด เหล่าขุนศึกทั่วแผ่นดินก็แย่งชิงอำนาจกันอีกรอบครับ หลิวอิ้วเห็นว่าเป็นโอกาส เขาก็เลยยกกำลังพลเข้าไปพิทักษ์จักรพรรดิจิ้นอันตี้ที่เจี้ยนคัง
จากนั้นมาหลิวอิ้ว ก็เล่นมุขเดียวกับโจโฉหรือสุมาเจียวแลครับ อาศัยจักรพรรดิสกุลสุมาเป็นหุ่นเชิด ค่อยๆปราบขุนศึกคู่แข่งทั้งหลายในแผ่นดิน สร้างสมบารมีให้ตนเองเรื่อยๆ ใช้เวลาประมาณ 14 ปี จนมาสำเร็จในปี ค.ศ.419 หลิวอิ้วก็บีบให้จักรพรรดิจิ้นก่งตี้สละราชสมบัติทั้งน้ำตา และตั้งตัวเป็นจักรพรรดิซ่งหวู่ตี้ ใช้ชื่อราชวงศ์ว่าซ่งหน่ะครับ


ราชวงศ์ซ่งแซ่หลิว หรือหลิวซ่ง นั้น ถือเป็นราชวงศ์แรกของฝ่ายใต้ ในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ ครับ จริงๆผมคิดว่าหลิวซ่งนั้นแข็งแกร่งและมีอาณาเขตกว้างใหญ่ที่สุดในบรรดาราชวงศ์ฝ่ายใต้ทั้ง 4 เลย เพราะหลิวซ่งรวมภาคใต้เป็นปึกแผ่นได้หมดเกลี้ยง ดินแดนตั้งแต่ทางใต้ของหวงเหอลงไปจรดทะเลหนานไห่เป็นอาณาเขตของหลิวซ่งทั้งหมด ถ้าหลิวอิ้วอายุยืนกว่านี้ เจาอาจจะยกทัพข้ามหวงเหอพิชิตภาคเหนือคืนมาจากพวกเซียนเปยได้หมดสิ้นก็ได้ เพียงแต่ว่าหลิวอิ้วอายุไม่ยืนพอ เลยทำการไม่สำเร็จ

จากคุณ : อุ้ย (digimontamer)
เขียนเมื่อ : 16 พ.ย. 55 20:42:56










ความคิดเห็นที่ 4

1. จักรพรรดิซ่งหวู่ตี้ หรือ หลิวอิ้ว สวรรคตในปี ค.ศ.422 ครับ หลังจากเป็นจักรพรรดิได้ 3 ปี โอรสของเขาคือ หลิวอี้ฟุ ก็ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน นักประวัติศาสตร์ให้นามแต่งตั้งของพระองค์ว่า จักรพรรดิส้าวตี้ พระองค์ครองราชสมบัติแค่ 1 ปี ครับ ตลอดรัชสมัยนั้นพระองค์ปกครองอย่างอ่อนแอและไม่ค่อยสนใจราชกิจ พวกขุนนางไร้สามารถได้ตำแหน่งใหญ่โตเต็มราชสำนัก สุดท้ายพระองค์เลยโดนเหล่าขุนนางนำโดย ตานเต้าจี๋, หวางหง, และ เซี่ยฮุย ก่อกบฎ ยกทัพเข้าไปจับกุมตัวพระองค์คาพระตำหนัก และบีบให้สละราชสมบัติไปในที่สุด ก่อนจะโดนเนรเทศไปชนบท และถูกนักฆ่าที่สวีเซียนจื้อขุนนางอีกคนที่รวมหัวกันถอดพระองค์จากราชสมบัติจ้างมา ลอบปลงพระชนม์ไปในปี 429 ครับ

2. เมื่อจักรพรรดิส้าวตี้ถูกปลดจากราชสมบัติ พวกขุนนางก็หันไปตั้ง องค์ชายหลิวอี้หลง พระอนุชาของจักรพรรดิส้าวตี้ขึ้นครองราชย์แทนในปี ค.ศ.424 นักประวัติศาสตร์ให้นามแต่งตั้งของพระองค์ว่า จักรพรรดิเหวินตี้

จักรพรรดิเหวินตี้นั้นเป็นจักรพรรดิที่ครองราชย์นานที่สุดของหลิวซ่งครับ คือตั้งแต่ปี 424-453 (30 ปี) ตลอดรัชกาลพระองค์ถือว่าปกครองอย่างเข้มแข็งครับ แม้จะมีเละเทะไปบ้าง แต่ก็ทำให้หลิวซ่งเข้มแข็งและรุ่งเรือง ทว่าก็ต้องเผชิญกับการรุกรานของราชวงศ์เป่ยเว่ยทางเหนืออยู่เป็นเนืองนิจ

3. จักรพรรดิเหวินตี้สวรรคตเพราะถูกพระโอรสคือ หลิวส้าวปลงพระชนม์ในปี 453 ครับ และหลิวส้าวก็ตั้งตนเป็นจักรพรรดิแทน แต่อยู่ได้แค่ไม่กี่วันก็โดนหลิวจวิ้นเข้ามายึดอำนาจ หลิวส้าวก็ถูกสำเร็จโทษไป

4. จักรพรรดิองค์ต่อมาคือ จักรพรรดิเซียวหวู่ตี้ หรือหลิวจวิ้น ครับ หลังจากเขายึดอำนาจจากหลิวส้าวแล้ว ก็กวาดล้างขุมกำลังเดิมๆของพวกหลิวส้าวจนหมด และขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน แต่ทว่าตลอดรัชกาลต้องเผชิญกับการก่อกบฎจากญาติติโกโหติกาทั้งหลายเป็นเนืองนิจ พระองค์ครองราชได้ 10 ปี จนถึงปี ค.ศ. 464 ก็สวรรคต

5. จักรพรรดิองค์ต่อมาคือ จักรพรรดิเฉียนเฟยตี้ หรือ หลิวจือเหย่ ครับ จักรพรรดิองค์นี้เข้าขั้นนิสัยวิปริต ชอบทรมาณคน สั่งประหารขุนนางเพียงเพราะเหม็นขี้หน้า เป็นพวกรักร่วมเพศแบบวิตถาร เนื่องจากทรงปกครองแบบโหดร้ายและมั่วซั่ว เลยถูกพวกขุนนางลอบสังหารในปี ค.ศ.465 ครับผม

6. พอจักรพรรดิเฉียนเฟยตี้ถูกลอบปลงพระชนม์แล้ว พวกขุนนางก็พร้อมใจกันยกให้ หลิวอวี่ ที่เป็นโอรสองค์หนึ่งในจักรพรรดิซ่งเหวินตี้ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน นักประวัติศาสตร์ให้นามพระองค์ว่า จักรพรรดิซ่งหมิงตี้ ครับ
แรกๆจักรพรรดิหมิงตี้ก็ทรงปกครองดีอยู่ พยายามใช้ขุนนางดี ห่างขุนนางถ่อย แต่คงเป็นเวรเป็นกรรมของราชวงศ์นี้ เพราะพอปกครองไปนานๆ จักรพรรดิก็ชักจะไม่ไว้ใจขุนนาง และขุนนางก็หาทางเลื่อยบัลลังก์จักรพรรดิครับ ราชวงศ์ซ่งก็เข้าวงเวียนเดิมคือ จักรพรรดิและขุนนางถือมืดหันมาจ่อกัน แย่งอำนาจกันเองเละเทะ สุดท้ายพระองค์ป่วยและสวรรคตในปี ค.ศ. 472 ทิ้งรัชทายาท หลิวอวี้ เอาไว้ในวัยเพียง 8 ชันษา

ในยุคของจักรพรรดิหมิงตี้นี้ มีขุนศึกคนหนึ่งที่โดดเด่นก้าวพุ่งแรงขึ้นมาครับ เขาคือ เซียวเต้าเฉิง ที่สามารถฝ่ามรสุมความไม่ไว้วางใจระหว่างจักรพรรดิและขุนนาง กระโดดจากขุนพลประจำเขตทหารเล็กๆ มาเป็นนายทหารใหญ่ได้แบบเต็มภาคภูมิ และเป็นหนึ่งในคนที่จักรพรรดิหมิงตี้ไว้วางพระทัย

7. หลิวอวี้ก็ขึ้นสืบราชสมบัติเป็นจักรพรรดิโฮ่วเฟยตี้ครับ แต่แน่นอนว่ายุวกษัตริย์อย่างพระองค์อยู่รอดได้ไม่นาน ท่ามกลางกระแสชิงอำนาจที่ดุเดือด และคนที่ลงมือก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เซียวเต้าเฉิงนั่นเอง เขาปลดและสำเร็จโทษจักรพรรดิโฮ่วเฟยตี้ในปี ค.ศ. 477 และหันไปตั้งพระอนุชาของจักรพรรดิโฮ่วเฟยตี้คือ หลิวจุ้น ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทน

8. หลิวจุ้น ก็โดนเซียวเต้าเฉิงเชิดเป็นจักรพรรดิชุนตี้ในปี 477 ครับ แต่แน่นอนว่าเขาไร้อำนาจใดๆ พวกขุนศึกหลายคนที่ภักดีต่อราชวงศ์ซ่ง (หรืออยากชิงอำนาจเอาไว้แข่งกับเซียวเต้าเฉิงก็เป็นได้) เช่น เสิ้นโหย่วจือ ก็พยายามก่อการช่วยพระองค์ปราบเซียวเต้าเฉิงครับ แต่เนื่องจากเสิ่นโหย่วจือเขี้ยวลากดินไม่พอ เลยโดนคนเขี้ยวใหญ่กว่าเช่น เซียวเต้าเฉิงกำจัดไป

คราวนี้เซียวเต้าเฉิงก็ตั้งหน้าตั้งตาแผ่ขยายอิทธิพลอย่างเต็มที่ครับ โดยมามุขเดียวกับพวก โจโฉ, สุมาเจียว และหลิวอิ้วเลย ค่อยๆกำจัดคนที่ภักดีต่อจักรพรรดิซ่งไปทีละรายสองราย อวยยศตัวเองให้ใหญ่ขึ้นเทียบเคียงจักรพรรดิเรื่อยๆ หาคนของตนมาใส่ในราชสำนักจนเต็มไปหมด และแล้วในปี ค.ศ. 479 เซียวเต้าเฉิงเห็นว่ากรุยทางเรียบเป็นถนนลาดยางแล้ว ก็จับจักรพรรดิชุนตี้ไปสำเร็จโทษ และตั้งตนเป็นจักรพรรดิฉีเกาตี้ เปลี่ยนราชวงศ์จากซ่งเป็นฉีนับแต่นั้นมา

แก้ไขเมื่อ 17 พ.ย. 55 06:31:38

จากคุณ : อุ้ย (digimontamer)
เขียนเมื่อ : 16 พ.ย. 55 21:09:44










ความคิดเห็นที่ 5

เซียวเต้าเฉิงนั้นเป็นใครมาจากไหน ?

ตามประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่า บรรพชนของเซียวเต้าเฉิงนั้นก็เป็นเพื่อนกับจักรพรรดิสกุลหลิวนั่นแลครับ เพราะสกุลเซียวของเซียวเต้าเฉิงสืบทอดเชื้อสายมาจาก เซียวเหอ เพื่อนและลูกน้องคู่ใจของหลิวปังนั้นแล (คนกันเองจริงๆ)

บิดาของเขา เซียวเฉิงจื้อ ก็เคยเป็นข้ารับใช้ในราชสำนักหลิวซ่งมาก่อนครับ และเมื่อเซียวเต้าเฉิงที่เกิดในปี ค.ศ.426 เติบโตขึ้น เขาก็เจริญตามรอยบิดา เข้าเป็นทหารเช่นกัน และก้าวหน้ามาเป็นลำดับ ท่ามกลางยุคสงครามที่ขุนทหารเปลี่ยนถ่ายกันเป็นว่าเล่นเพราะไม่ตายในสนามรบก็โดนพิษการเมืองตายในคุก เซียวเต้าเฉิงนั้นนับว่าดวงดีครับ เพราะจับพลัดจับผลูได้มารับใช้ หลิวอวี่ และพอหลิวอวี่ขึ้นเป็นจักรพรรดิหมิงตี้ในปี 465 เซียวเต้าเฉิงก็พลอยได้ดิบได้ดีตามไปด้วยครับ

จักรพรรดิซ่งหมิงตี้นั้น จริงๆสมัยเป็นแค่อ๋องพระองค์อุปนิสัยน่าคบ แต่พอเป็นจักรพรรดิแล้วอำนาจบังตา เห็นใครก็คิดว่าจะมาแย่งอำนาจไปหมด ตลอดรัชกาลนั้น นอกจากส่งทหารไปทำศึกต่อต้านพวกเซียนเปยทัวปาเป่ยเว่ยแล้ว ก็ยังทำสงครามในราชสำนัก กำจัดทั้งขุนนาง พระญาติพระวงศ์ หรือใครก็ตามที่น่าสงสัยไม่เลือกหน้า แต่เซียวเต้าเฉิงที่โดนสงสัยมาหลายครา กลับรอดมาได้อย่างฉิวเฉียดครับ เรียกว่านอกจากแกจะเก่งแล้วยังเฮงอีกต่างหาก

พอจักรพรรดิหมิงตี้สวรรคตในปี 472 พวกพระญาติที่เก่งๆในสกุลหลิวก็ตายไปหมดแล้ว เหลือแต่พวกไม่เอาไหน ไร้อำนาจ หรือไม่ก็เด็กอมมือทั้งสิ้น เซียวเต้าเฉิงเลยสบายแฮ ได้กุมอำนาจคอยเชิดจักรพรรดิโฮ่วเฟยอย่างสนุกสนาน ค่อยๆสานต่อแผนการจนยึดอำนาจจากสกุลหลิวได้หมดจรด และกลายเป็นจักรพรรดิฉีเกาตี้ในปี 479 ครับ

จักรพรรดิฉีเกาตี้ครองราชย์ได้ไม่นาน ก็สวรรคตในปี ค.ศ.482 ครับผม

จากคุณ : อุ้ย (digimontamer)
เขียนเมื่อ : 16 พ.ย. 55 21:20:28










ความคิดเห็นที่ 6

ราชวงศ์ฉีนั้นเป็นราชวงศ์ที่ 2 ของราชวงศ์ฝ่ายใต้ แต่ยังคงใช่เจี้ยนคังเป็นราชธานีเช่นเดิมครับ ในยุคนี้ราชสำนักเป่ยเว่ยทางเหนือเข้มแข็งมาก ราชวงศ์ฝ่ายใต้เสียดินแดนเหนือแม่น้ำไหวเหอไปจนหมดเกลี้ยงแล้ว แต่ก็เป็นยุคที่พุทธศาสนากำลังเริ่มจะรุ่งเรืองในดินแดนใต้พอดีครับ

ต่อจากจักรพรรดิฉีเกาตี้ ก็คือ จักรพรรดิฉีหวู่ตี้ หรือ พระนามคือ เซียวเจ๊อะ ครับ

จักรพรรดิหวู่ตี้นั้นครองราชย์ตั้งแต่ปี 482-493 นับเป็นเวลา 11 ปีที่ดีพอสมควรสำหรับราชวงศ์สั้นๆอย่างฉี เพราะในยุคนี้ราชสำนักฉีและเป่ยเว่ยได้ลงนามในสนธิสัญญาต่อกัน ทำให้ฉีไม่มีสงครามจากภายนอกหน่ะครับ จักรพรรดิหวู่ตี้นั้นทรงพยายามจะฟื้นระบบขุนนางแบบขงจื้อขึ้นมาในราชสำนักฝ่ายใต้ ทรงพยายามจะชำระกฎหมายและกฎมณเฑียรบาลต่างๆให้มีความยุติธรรมมากขึ้น แต่ช่วงเวลาในรัชกาลของพระองค์สั้นไป เลยไม่ค่อยจะเห็นอะไรเป็นรูปธรรมนักครับ

เมื่อจักรพรรดิหวู่ตี้สวรรคตในปี 493 นั้น พระองค์ยังไม่ได้แต่งตั้งรัชทายาทขึ้นมาแทน หนานอ๋อง เซียวจางเหมา หน่ะครับ (เซียวจางเหมา ไท่จื่อ ป่วยและสวรรคตไปก่อนจักรพรรดิหวู่ตี้จะสวรรคตไม่นาน) ลูกชายของเซียวจางเหมาคือ เซียวจ้าวหยี ยึดอำนาจขึ้นเป็นจักรพรรดิแทนครับ

อันตัวเซียวจ้าวหยีนั้น เป็นพระนัดดาคนโปรดของจักรพรรดิหวู่ตี้ครับ เพราะเขาเป็นคนตั้งใจเล่าเรียน นิสัยสุภาพเรียบร้อย และสติปัญญาดี แต่นั่นเป็นสิ่งหลอกลวงทั้งสิ้น เพราะพอลับหลังจักรพรรดิหวู่ตี้ เซียวจ้าวหยีเป็นอันธพาลตัวยง หยาบช้าและขี้โกหกเป็นที่สุด พอเขาขึ้นเป็นจักรพรรดิก็กระทำการชั่วร้ายหลายประการ ทั้งกำจัดคนที่ไม่ชอบ เกณฑ์สาวๆเข้าวังเป็นสนม ตั้งพวกเพื่อนชั่วเป็นขุนนางกุมอำนาจครับ

เมื่อเห็นว่าจักรพรรดิองค์ใหม่กระทำการชั่วช้านั้น ขุนนางใหญ่อย่างเซียวซีเหลียน และเซียวหลวน ก็พยายามทูลทัดทาน แต่เซียวจ้าวหยีถือตัวไม่ฟังใครครับ สุดท้ายสองขุนนางเลยสมคบกันจับตัวเซียวจ้าวหยีสำเร็จโทษเสีย และหันไปตั้งน้องชายของเซียวจ้าวหยีคือ เซียวจ้าวเหวิน ขึ้นเป็นจักรพรรดิแทนในปี 494

เซียวจ้าวเหวินก็ได้สองขุนนางแซ่เดียวกัน สนับสนุนให้ขึ้นเป็นจักรพรรดิครับ นักประวัติศาสตร์ให้พระนามว่า ไห่หลิงอ๋อง (เพราะครองราชย์สั้นจนไม่มีพระนามแต่งตั้ง หุหุ) แต่เขานั่งบัลลังก์ได้แค่ 1 เดือน เซียวหลวนก็อ้างว่าสุขภาพของเซียวจ้าวเหวินไม่ดี ทำงานหนักเดี๋ยวตายคาราชสมบัติคงจะไม่งาม อย่ากระนั้นเลย เซียวหลวนในฐานะขุนนางที่ดีควรจะช่วยผ่อนผันภาระของเจ้านาย เซียวหลวนเลยปลดเจ้านายอย่างเซียวจ้าวเหวินทิ้ง ยอมเสียสละสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิ หุหุ

เซียวหลวนขึ้นเป็นจักรพรรดิฉีหมิงตี้ในปี 494 นั่นเองครับ เซียวหลวนนั้นนับญาติไปนับญาติมา เขาเป็นหลานอาของเซียวเต้าเฉิง (จักรพรรดิเกาตี้) หน่ะครับ แต่เนื่องจากบิดาของเซียวหลวนคือ เซียวเต้าเซิง (พี่ชายของเซียวเต้าเฉิง) ป่วยตายไปแต่ยังหนุ่ม แถมแม่ของเซียวหลวนก็ตายตามอีก เซียวหลวนเลยตกอยู่ในความอุปการะของเซียวเต้าเฉิงผู้เป็นอาต่อมา และก้าวหน้าในราชการเป็นลำดับแลครับ

จักรพรรดิหมิงตี้พอขึ้นครองราชย์แล้ว พระองค์ก็พยายามทำนุบำรุงแผ่นดินหน่ะครับ แต่เพราะพระองค์ได้ราชสมบัติมาแบบไม่ค่อยโสภาเท่าไหร่ ทางเป่ยเว่ยเลยเอาเป็นเหตุ ให้ส่งกองทัพบุกอาณาจักรฉีถึง 2 ครั้งในปี 495 และ 497 ครับ ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับฉีค่อนข้างมาก โดยที่หนักสุดคือในปี 497 ที่ฉีต้องเสียเมืองสำคัญในแถบหว่านหยางไป ทำให้ดินแดนทางต้นแม่น้ำไหวเหอหลุดมือไปหมด และทำให้แคว้นจิงโจวตกอยู่ในอันตรายครับ

จักรพรรดิหมิงตี้ทรงล้างอายด้วยการโทษว่า การพ่ายแพ้นี้เพราะเชื้อพระวงศ์ไม่สามัคคีช่วยกันรบ เลยป้ายความผิดให้พระญาติในสายของจักรพรรดิเกาตี้ครับ พวกอ๋องสกุลเซียว 10 พระองค์เลยโดนจักรพรรดิหมิงตี้จับประหารบูชายันต์ความผิดในการเสียหว่านหยางเสียเลย

จักรพรรดิหมิงตี้สวรรคตในปี 498 ครับ และเป็นช่วงปีที่เละเทะของฉี เพราะเหล่าขุนศึกก่อการกบฎกันเต็มแผ่นดิน และรัชทายาทคือ เซียวเป่าจวนก็ขึ้นครองราชย์แทนเป็น ตงหุนโหว (คือครองราชย์สั้นมาก ไม่มีพระนามแต่งตั้ง เลยใช้ตำแหน่งเก่าเรียกแทน หุหุ)

เซียวเป่าจวนนั้น เพียรพยายามจะปราบพวกขุนศึกที่ก่อกบฎทั้งแผ่นดินให้สงบครับ แต่เนื่องจากต้าฉีแหลกสลายลุกเป็นไฟแล้ว เขาพยายามอย่างไรก็ไร้ผล ปราบคนนี้เดี๋ยวก็มีคนโน้นขึ้นมาใหม่ สุดท้ายก็โดนพวกกบฎสกุลเซียวเหมือนกันฆ่าตายในปี 501

ในปี 501 นั้น เซียวเป่าหรง น้องชายของเซียวเป่าจวนก็ก่อกบฎขึ้นมา โดยมีเซียวเอี่ยน ขุนศึกใหญ่ช่วยสนับสนุนครับ กองทัพของเซียวเอี่ยนถล่มเซียวเป่าจวนเสียเละ และช่วยหนุนให้เซียวเป่าหรงขึ้นเป็นจักรพรรดิฉีเหอตี้ในปี 501

แต่เซียวเป่าหรงนั้นไม่มีอำนาจอะไรเลยครับ และต้าฉีก็แตกเป็นเสี่ยงๆจนไม่มีใครสนใจจักรพรรดิลอยๆอย่างเขาอีก เซียวเอี่ยนเห็นว่าให้เซียวเป่าหรงเป็นจักรพรรดินานไป ก็เปลืองเวลาเปล่าๆ เลยจัดการปลดเขาทิ้งในปี 502 และตั้งตัวเป็นจักรพรรดิเหลียงหวู่ตี้ เปลี่ยนราชวงศ์จากฉีเป็นเหลียงแทนในปี 502 นั้นแล

จากคุณ : อุ้ย (digimontamer)
เขียนเมื่อ : 16 พ.ย. 55 21:50:44








 

Create Date : 17 พฤศจิกายน 2555    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2555 9:06:12 น.
Counter : 2572 Pageviews.  

ประวัติศาสตร์ราชวงศ์จิ้น (ภาคผนวก)

ภาคผนวก

ประวัติศาสตร์ราชวงค์จิ้น

ราชวงศ์จิ้นมีฮ่องเต้สืบราชสมบัติต่อเนื่องมา 4 องค์ถ้านับเฉพาะไซจิ้น-จิ้นตะวันตก และ 15องค์ถ้ารวมตงจิ้น-ราชวงศ์จิ้นตะวันออก ด้วยครับ

กล่าวคือ เมื่อสิ้นสุดสามก๊กแผ่นดินถูกรวมเป็นหนึ่งโดยตระกูลสุมา สุมาเอี๋ยน(จิ้นอู่ตี้)สถาปนาราชวงศ์ไซจิ้นขึ้น และตั้งเมืองหลวงอยู่ที่นครลั่วหยาง เมืองหลวงเดิมของวุยก๊ก เกิดความสงบสุขอยู่ราว25ปีเท่ารัชสมัยของจิ้นอู่ตี้

เหตุที่ทำให้ล่มสลายก็เพราะ

1) เนื่องจากราชวงศ์นี้สถาปนาจากการสนับสนุนของขุนนางชั้นสูงของวุยก๊กเดิม ซึ่งช่วยกันปลดฮ่องเต้ตระกูลโจออก และสนับสนุนตระกูลสุมาขึ้นมาแทนที่ จึงจำเป็นต้องเอื้อประโยชน์ตอบแทนโดยให้สิทธิพิเศษแก่ขุนนางเหล่านั้น ตำแหน่งสำคัญๆถูกจัดสรรให้กับคนตระกูลขุนนางนั้นๆ คนที่มีความสามารถแต่ตระกูลต่ำจะถูกกีดกันออกไปไม่ให้มีอำนาจ เกิดการแบ่งชนชั้นในสังคมอย่างมาก

ขุนนางตระกูลเหล่านั้นเมื่อกุมอำนาจก็มีการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างมากมาย ประชาชนอยู่อย่างแร้นแค้นในขณะที่ชนชั้นสูงใช้ชีวิตฟุ้งเฟ้อ เศรษฐกิจของอาณาจักรจึงแย่ลงๆ รากหญ้าไม่ให้การสนับสนุนขุนนาง เมื่อมีศึกจากภายนอกอาณาจักรจึงล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว

2) เนื่องจากสมัยวุยก๊ก เหล่าเชื้อพระวงศ์ไม่มีอำนาจ ราชวงศ์จึงถูกขุนนางต่างตระกูลยึดอำนาจลงได้ง่ายๆ จิ้นอู่ตี้เห็นดังนั้นจึงคิดสถาปนาเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง 8องค์ไปเป็นอ๋องปกครองดินแดนต่างๆ เพื่อให้เป็นหูเป็นตาคอยควบคุมขุนนางต่างตระกูลมิให้สร้างสมอำนาจมากเกินไป แต่ฮ่องเต้องค์ต่อมาคือ จิ้นฮุ่ยตี้มีปัญญาทึบมากจนประวัติศาสตร์กล่าวว่า พระองค์อาจจะเป็นปัญญาอ่อน จึงไม่สามารถควบคุมเหล่าอ๋องทั้งแปดได้ อ๋องเหล่านี้ต่างยิ่งฉ้อฉนและชิงอำนาจกันเองเพื่อหวังจะเป็นใหญ่และควบคุมฮ่องเต้ ทำให้เกิดสงครามกลางเมืองยาวนานถึง 16ปี ประชาชนล้มตายเป็นแสนๆ ตัวฮ่องเต้เองก็ถูกวางยาพิษปลงพระชนม์ เศรษฐกิจย่ำแย่ดิ่งลงเหวยิ่งทำให้อาณาจักรอ่อนแอยิ่งขึ้น

3) นับตั้งแต่สมัยสามก๊กจวบจนสมัยไซจิ้น เกิดการขาดแคลนแรงงานอย่างมากเพราะประชากรสูญเสียไปในสมัยสามก๊กหลายล้านคน ชนกลุ่มน้อยต่างๆแถบภาคเหนือและภาคตะวันตก (พวกซงหนูเผ่าต่างๆ) จึงถูกกวาดต้อนเข้ามาในอาณาจักรเพื่อเป็นแรงงาน(ต่างด้าว)ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรและปศุสัตว์ แรงงานเหล่านี้ยิ่งถูกกดขี่ยิ่งกว่าชาวจีน ถูกรีดภาษีอย่างหนักเพื่อตอบสนองความฟุ่งเฟ้อของเหล่าขุนนางชั้นสูง

ในที่สุดก็เกิดการต่อต้าน หัวหน้าผู้ก่อการเชื้อสายซงหนูประกาศตั้งตนเป็นอิสระและตีชิงดินแดนแถบตะวันตกของราชวงศ์จิ้นตั้งเป็นอาณาจักรฮั่น(เพราะตัวหัวหน้าแซ่เล่าและตั้งเมืองหลวงอยู่ในดินแดนจ๊กก๊กเดิม แต่กินพื้นที่กว้างขวางกว่ามาก) โดยที่กองทัพจิ้นไม่สามารถปราบปรามได้ จากเหตุผลสองข้อแรกที่กล่าวข้างต้น ต่อมานครลั่วหยางยังถูกตีแตก ฮ่องเต้จิ้นหวยตี้(รัชกาลที่3)ถูกจับและถูกประหารในเวลาต่อมา เหล่าขุนนางจึงต้องรีบตั้งฮ่องเต้องค์ใหม่คือจิ้นหมิ่นตี้(รัชกาลที่4)และย้ายเมืองหลวงหนีมาอยู่ฉางอาน ประชาชนและขุนนางจำนวนมากหนีภัยมาอยู่ดินแดนทางใต้แม่น้ำแยงซี ทำให้กำลังของราชวงศ์ไซจิ้นยิ่งอ่อนแอ เมื่อทัพฮั่นตีชิงดินแดนต่อ นครฉางอานจึงถูกโอบล้อมได้อย่างง่ายๆ

สุมารุ่ย อ๋องที่ปกครองดินแดนทางใต้(ดินแดนง่อก๊กเดิม) ซึ่งมีอำนาจมากที่สุดในขณะนั้น(เพราะได้ทั้งประชากรและขุนนางที่มีความสามารถที่หนีภัยลงมาทางใต้ และพื้นที่นี้ไม่ได้รับผลกระทบจากศึกแปดอ๋องในช่วงเวลาก่อนหน้า) ลังเลที่จะไปช่วยฮ่องเต้ซึ่งถูกทัพฮั่นล้อมไว้ในนครฉางอาน ในที่สุดฉางอานก็แตก จิ้นหมิ่นตี้ ฮ่องเต้องค์สุดท้ายของไซจิ้นจึงถูกจับเป็นเชลยและถูกสังหารในที่สุด ราชวงศ์ไซจิ้นจึงถึงกาลปาวสาน สิริรวมอายุราชวงศ์ได้ 51ปี มีฮ่องเต้ปกครอง 4องค์

สุมารุ่ยผู้มีอำนาจสูงสุดจึงต้องยอมรับตำแหน่งฮ่องเต้อย่างเสียมิได้(แต่ใจยินดี) และตั้งราชวงศ์ตงจิ้น(จิ้นตะวันออก) โดยใช้นครเจี้ยนคัง (เมืองหลวงเดิมของง่อก๊ก)เป็นนครหลวง อาณาจักรจีนเหนือแม่น้ำแยงซีจึงตกเป็นของชนกลุ่มน้อย เหลือพื้นที่ที่คนจีนปกครองเฉพาะดินแดนตอนใต้แม่น้ำแยงซี

ประวัติศาสตร์จึงเรียกยุคต่อจากนี้ว่า ยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ มีการทำศึกชิงอำนาจกันวุ่นวายกันทั้งทางเหนือและใต้อีกสองร้อยกว่าปี จนในที่สุดสุยเหวินตี้ตั้งราชวงศ์สุยและรวบรวมแผ่นดินจีนขึ้นเป็นหนึ่งเดียวได้อีกครั้งหนึ่ง รายละเอียดอยู่ใน พงศาวดารไซจิ้น

ปล. ในความเห็นส่วนตัว ประวัติศาสตร์ช่วงนี้ของจีนใกล้เคียงกับแว่นแคว้นหนึ่งในยุคปัจจุบันอย่างมาก หากทุกคนในสังคมไม่ช่วยกัน ปล่อยให้แว่นแคว้นดังกล่าวย้อนรอยตามไซจิ้น มิอาจคาดเดาได้เลยว่าอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นเช่นไร



จากคุณ : adept - [ 13 มิ.ย. 52 21:45:13 ]




 

Create Date : 14 มิถุนายน 2552    
Last Update : 14 มิถุนายน 2552 6:22:58 น.
Counter : 4148 Pageviews.  

ตอนที่ ๒๒ สิ้นวงศ์จิ้น (จบบริบูณ์)

คนชั่วแผ่นดินจิ้น

ตอนที่ ๒๒ สิ้นวงศ์จิ้น

“ เล่าเซี่ยงชุน “

พระเจ้าเลียดเต้เมื่อได้ครอบครองแผ่นดินไต้ฮั่นแล้ว ก็ปรารภถึงความหลังครั้งที่ได้ยกกองทัพไปตีเมืองลกเอี๋ยง ไม่สำเร็จดังปรารถนา แตกยับกลับมาให้มีความละอายไม่รู้หาย หมายจะไปแก้แค้นให้จงได้ จึงมีหนังสือรับสั่งให้เจียเล็กยกกองทัพไปตีเมืองลกเอี๋ยง เพื่อจะดูใจ เจียเล็กว่ายังซื่อตรงเสมออยู่เหมือนแต่ก่อนหรือไม่ เจียเล็กก็มีหนังสือกราบทูลว่า ซึ่งมีรับสั่งให้ยกกองทัพไปตีเมืองลกเอี๋ยงนั้น อย่าได้ทรงวิตกเลย ตนจะขอรับราชการสนองพระเดชพระคุณ ไปทำการสงครามให้สำเร็จดังพระราชประสงค์ พระเจ้าเลียดเต้ทรงทราบก็มีพระทัยยินดี

แล้วเจียเล็กก็ยกทหารสี่สิบหมื่น เดินทางไปตีเมืองเซียงเอี๋ยงก่อน แล้วก็เลยไปถึงเมืองกังไส เจ้าเมืองเห็นว่าจะสู้ไม่ได้ ก็เก็บรวบรวมทรัพย์สิ่งของทองเงินครอบครัวบุตรภรรยา พาขุนนางกับทหารหนีออกจากเมืองไป เจียเล็กก็เข้ายึดเมืองได้โดยสะดวก เมื่อจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้วก็เตรียมที่จะไปตีเมืองลกเอี๋ยง แต่พอดีเข้าฤดูร้อนเกรงไพร่พลทหารจะอิดโรยมาก และจะเกิดเจ็บไข้ขึ้น จึงหยุดพักกองทัพอยู่ก่อน แล้วทำหนังสือบอกข้อราชการไปยังเมืองภูเกียเสีย

พระเจ้าเลียดเต้ได้ทราบความแล้ว ก็ปรึกษาขุนนางว่าจะได้ผู้ใดเป็นแม่ทัพ ยกเพิ่มเติมไปช่วยเจียเล็ก เล่าเอี๋ยวพระราชบุตรเลี้ยงของพระเจ้าฮั่นฮ่องเต้ จึงทูลอาสาด้วยมีความพยาบาทพวกแซ่สุมา ช้านานมาแล้ว ฮ่องเต้ก็มีพระทัยยินดี รับสั่งให้เล่าเอี๋ยวยกทหารสิบหมื่น ไปเมืองกังไส

เมื่อรวมกำลังกันแล้วเจียเล็กก็ยกให้เล่าเอี๋ยนเป็นทัพหลวง ตนเองเป็นทัพหน้า ยกไปตีเมืองลกเอี๋ยงราชธานีของแผ่นดินไซจิ้น ให้เตียปินอยู่รักษาเมืองกังไสและเมืองเซียงเอี๋ยงด้วย กองทัพของไต้ฮั่นยกมาถึงเมืองลกเอี๋ยงแล้วก็ตั้งค่ายไว้ห่างประมาณสามสิบลี้

พระเจ้าเฮาฮวยเต้ฮ่องเต้ของไซจิ้น ก็ให้สุมาอวดมหาอุปราช ยกทหารออกมาสู้รบ ป้องกันเมือง ก็พ่ายแพ้มีความเสียใจจนเป็นลมตาย แต่ฝ่ายไต้ฮั่นล้อมเมืองลกเอี๋ยงอยู่สองเดือนก็ยังเข้าเมืองไม่ได้ พระเจ้าเลียดเต้ก็ให้อองหนีคุมทหารอีกสิบห้าหมื่นมาช่วย ก็ยังไม่สำเร็จ เจียเล็กจึงมีหนังสือไปถึงเตียปินที่เมืองกังไส ให้มาช่วยอีกแรงหนึ่ง

เมื่อเตียปินคุมทหารจากเมืองกังไสมาถึงแม่น้ำลกวุย เห็นเรือรบจอดอยู่เป็นอันมาก คิดว่าคงจะมีการเตรียมพาพระเจ้าเฮาฮวยเต้ หนีไปเมืองกังตั๋งเป็นแน่ จึงขับทหารเข้าโจมตีแย่งชิงเรือรบได้ เอาไฟเผาเสียสิ้น แล้วจึงมาหาเจียเล็กที่ค่าย เจียเล็กก็ปรึกษากับเตียปินหาทางที่จะตีหักเข้าเมืองลกเอี๋ยง เตียปินก็คิดหาหนทางหลายประการ จนในที่สุดก็เข้าเมืองได้

พระเจ้าเฮาฮวยเต้ก็ให้เจ้าพนักงานรวบรวมทรัพย์สมบัติ ขึ้นเกวียนหนีออกทางประตูเมืองด้านหลัง ไปถึงริมแม่น้ำลกซุย ก็เห็นเรือรบถูกเผาไหม้หมดสิ้นแล้ว พอจะหนีไปทางอื่นทหารของไต้ฮั่นก็ตามมาทัน จับพระเจ้าเฮาฮวยเต้กับขุนนางผู้จงรักภักดีสี่คนที่ตามไปด้วย ใส่กรงขังขึ้นเกวียนกลับมาส่งให้อองหนี แม่ทัพอองหนีจึงสั่งให้อูเอียนอานคุมทหารพาพระเจ้าเฮาฮวยเต้ ไปส่งที่เมืองภูเกียเสียโดยเร็ว

ฝ่ายเล่าเอี๋ยวกับเจียเล็ก ก็นำทหารบุกตลุยฆ่าฟันทหารไซจิ้น เข้าไปถึงในเขตพระราชวัง ค้นหาก็ไม่พบฮ่องเต้มีผู้บอกว่า อูเอียนอานจับตัวได้ และอองหนีสั่งให้พาไปถวาย พระเจ้าเลียดเต้ที่เมืองภูเกียเสียแล้ว เล่าเอี๋ยวจึงให้ทหารเที่ยวจับเจ้านายแซ่สุมา ในพระราชวัง และที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ในเมืองนอกเมือง ได้ตัวมาแล้วก็ประกาศว่า

“…….เมืองลกเอี๋ยงนี้เมื่อครั้งแผ่นดินสามก๊ก ขงเบ้งยกกองทัพมาทางเขากิสานถึงหกครั้ง ก็ตีไม่ได้ เกียงอุยยกกองทัพมาทางกงหวนถึงเก้าครั้ง ก็ตีเมืองลกเอี๋ยงไม่ได้ เรายกทัพมาแต่ครั้งเดียวตีเมืองลกเอี๋ยงได้ ซึ่งเราพูดทั้งนี้ใช่จะอวดอ้างว่าดีกว่าท่านแต่ก่อนนั้นหาไม่ ขงเบ้ง เกียงอุย ท่านทั้งสองนี้สติปัญญาดีกว่าเรามากนัก แต่ว่าเมื่อครั้งสุมาอี้ สุมาสู สุมาเจียว ซึ่งเป็นปู่และบิดาของเจ้าเหล่านี้เป็นคนดี จึงรักษาเมืองลกเอี๋ยงไว้ได้ ไม่ให้เป็นอันตรายด้วยฝีมือ และสติปัญญาข้าศึก ครั้งนี้เพราะพวกเจ้าเป็นคนไม่ดี ทำให้บ้านเมืองเป็นจลาจลต่าง ๆ คนเช่นพวกเจ้าถึงจะเอาไว้ก็ไม่มีประโยชน์แก่แผ่นดิน……..”

แล้วก็สั่งให้ทหารเอาตัวไปประหารเสียทั้งสิ้น และก็สั่งให้เผาพระราชวังเสียด้วย จากนั้นเล่าเอี๋ยนก็ยกทหารของตนไปตีเมืองเซียงอานต่อไป เจียเล็กก็ยกทหารของตนกลับเมือง เซียงเอี๋ยง ส่วนพระเจ้าเฮาฮวยเต้ฮ่องเต้ของไซจิ้นนั้น พระเจ้าเลียดเต้ฮ่องเต้ของไต้ฮั่นทรงเลี้ยงไว้พร้อมด้วยขุนนางสี่คนที่ตามไปด้วย

ต่อมาพระเจ้าเลียดเต้แกล้งประจาน พระเจ้าเฮาฮวยเต้ให้ได้อาย ขุนนางสามนายฝ่ายไซจิ้นคือ เฮงจุ้น โซเมี้ยน และโกจ๊อ ก็ลุกขึ้นต่อสู้กับขุนนางฝ่ายไต้ฮั่น ฆ่าพวกไต้ฮั่นตายไปสามคน และจะปลงพระชนม์พระเจ้าเลียดเต้ด้วย แต่ไม่สำเร็จถูขุนนางพวกไต้ฮั่นจับตัวได้ พระเจ้า เลียดเต้จึงรับสั่งให้ประหารชีวิตทั้งหมด รวมทั้งพระเจ้าเฮาฮวยเต้ด้วย เมื่อพระเจ้าเฮาฮวยเต้สิ้นพระขนม์นั้นชันษาได้สามสิบปี อยู่ในราชสมบัติหกปี

ขุนนางของไซจิ้นอีกคนหนึ่งคือ ซินเมี้ยน วันนั้นป่วยอยู่บ้าน ขุนนางไต้ฮั่นทูลว่าต้องประหารชีวิตเสียด้วย พระเจ้าเลียดเต้ก็ตรัสว่า

“………ซินเมี้ยนอายุก็มากแล้ว เขามีความกตัญญูหายากนัก เอาไว้เถิดอย่าฆ่าเสียเลย ถึงขุนนางทั้งสามซึ่งเอาไปฆ่าเสียนั้น เขาก็มีความกตัญญูต่อเจ้านาย เรายังนึกเสียดายอยู่…”

แล้วก็มีรับสั่งให้หาตัวซินเมี้ยนเข้ามาเฝ้า ตรัสว่า

“…….เจ้านายของตัวคิดทำร้ายเราเมื่อเวลากินโต๊ะ บัดนี้ก็ดับสูญไปแล้ว ท่านจงอยู่ทำราชการในเราเถิด จะเลี้ยงให้เป็นที่มียศศักดิ์…….”

ซินเมี้ยนทูลว่า

“……..ซึ่งไต้อ๋องทรงเมตตาจะชุบเลี้ยงนั้น พระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ ตัวข้าพเจ้าก็ชราถึงห้าสิบเศษแล้ว จะขอรักษาชื่อว่าเป็นข้าเจ้าแผ่นดินไซจิ้น ไปกว่าจะสิ้นชีวิต…..”

พระเจ้าเลียดเต้ก็มิได้ตรัสประการใด ซินเมี้ยนก็ถวายบังคมลากลับมาที่อยู่ วันหนึ่งพระเจ้าเลียดเต้คิดจะลองใจซินเมี้ยน จึงให้ขุนนางกรมวังเอาป้านสุรายาพิษไปให้ซินเมี้ยน แล้วให้บอกว่า จะยอมทำราชการในแผ่นดินไต้ฮั่น หรือถ้าไม่ยอมก็ให้กินสุรายาพิษซึ่งให้มานี้ ตามแต่จะเลือกเอาอย่างหนึ่ง ซินเมี้ยนก็พูดว่า

“……..มีรับสั่งโปรดจะชุบเลี้ยงให้ข้าพเจ้ามียศนั้น รับไม่ได้อายแก่เทพยดาและมนุษย์ ธรรมดาเกิดมาในโลกแล้วคงจะตายเป็นเที่ยง ไม่เร็วก็ช้าอยู่ในตายเหมือนกัน ซึ่งให้เลือกเอาข้างยศและข้างตายนั้น ข้าพเจ้าขอเลือกเอาข้างตายแล้ว ไม่อยากได้ลาภและยศในแผ่นดิน ไต้อั่น จะขอตายไปเป็นข้าพระเจ้าแผ่นดินไซจิ้น ซึ่งประทานสุรายาพิษมา มิให้ร่างกายขาดออกจากกันนั้น พระคุณหาที่เปรียบมิได้……..”

พูดแล้วก็ยกป้านสุราขึ้นจะกิน ขุนนางก็ยึดมือไว้แล้วบอกว่า รับสั่งให้มาลองใจดอก ไม่ใช่จะให้ตายจริง แล้วก็กลับมาทูลให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าเลียดเต้ก็ทรงสรรเสริญว่า

“…….ในเมืองลกเอี๋ยงขุนนางที่ใจซื่อสัตย์มีมาก ไม่ควรที่บ้านเมืองจะยับเยินเลย เป็นทั้งนี้ก็เพราะพวกแซ่สุมาเกิดอิจฉากันขึ้นเอง จึงได้พิบัติเป็นอันตรายต่าง ๆ ท่านทั้งหลายจะทำราชการแล้ว ให้ตั้งใจจงรักภักดีมีความกตัญญูซื่อสัตย์มั่นคง เหมือนขุนนางทั้งสี่ที่เป็นข้าเจ้าแผ่นดินไซจิ้นนั้นเถิด…….”

แล้วก็พระราชทานเงินทองแก่ซินเมี้ยน แต่ซินเมี้ยนก็รับไว้นิดหน่อย พอเป็นเสบียงเลี้ยงชีวิตกันไปกับบ่าวไพร่สองสามคนเท่านั้น

ต่อมาพวกไซจิ้นตีเมืองเซียงอานคืนจากเล่าเอี๋ยวได้ ก็เชิญสุมาเงียบมาอยู่ที่เมืองเซียงอาน ยกขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน มีพระนามว่าพระเจ้าเมี้ยนเต้ ทรงปกครองแผ่นดินไซจิ้นอยู่ที่เมืองเซียงอานได้สามปี เล่าเอี๋ยนก็กลับมาตีเมืองอีก คราวนี้ไม่มีนายทหารผู้ใดจะออกไปต่อสู้ได้ พระเจ้าเมี้ยนเต้จึงยอมอ่อนน้อมยอมสามิภักดิ์ต่อเล่าเอี๋ยว จึงถูกส่งตัวมาให้พระเจ้าเลียดเต้ที่เมืองภูเกียเสีย พระเจ้าเลียดเต้ก็รับเลี้ยงไว้ในฐานะเจ้าประเทศราช แต่อยู่มาได้ครึ่งปีก็ขัดใจพระเจ้าเลียดเต้ จึงถูกประหารชีวิตไปอีก

ฝ่ายสุมาหยวนเป็นที่จินอ๋องอยู่เมืองกังตั๋ง เมื่อพระเจ้าเมี้ยนเต้สิ้นพระชนม์แล้ว ขุนนางก็ยกขึ้นเป็นฮ่องเต้ ทรงพระนามว่าพระเจ้าตงจงหงวนฮ่องเต้ แล้วทรงตรัสถามขุนนางทั้งปวงว่า จะตั้งเมืองหลวงที่ไหน ขุนนางกรมโหร จึงกราบทูลว่า

“……..ข้าพเจ้าพิจารณาดูฤกษ์บน และชัยภูมิแผนที่ตามตำรา เห็นชะตาราศรีเมืองหลวงผุดขึ้นที่ตำบลเกียนเงียบแขวงเมืองกังตั๋ง ควรจะยกไปตั้งเป็นเมืองหลวงที่ตำบลนั้น…..”

พระเจ้าตงจงหงวนฮ่องเต้จึงมีรับสั่ง ให้เจ้าพนักงานไปสร้างเมืองขึ้นใหม่ตามที่ โหรกราบทูล ประกอบด้วยป้อมกำแพงมั่นคงแข็งแรง มีทั้งสวนดอกไม้และพระตำหนักน้อยใหญ่ ครั้นทำเมืองใหม่เสร็จแล้วก็ตั้งการพิธีใหญ่ เชิญเสด็จพระเจ้าตงจงหงวนฮ่องเต้ไปประทับ และตั้งนามเมืองว่าเมืองเกี้ยนคัง เปลี่ยนนามแผ่นดินจากเดิมที่อยู่เมืองลกเอี๋ยงทางทิศตะวันตก เรียกว่าไซจิ้น เป็นชื่อใหม่เรียกว่าตั้งจิ้น คือย้ายเมืองหลวงไปอยู่ข้างทิศตะวันออก

ในครั้งนั้นแผ่นดินจีนก็กลับแบ่งเป็นสามก๊กอีกครั้ง คือแผ่นดินตั้งจิ้น แผ่นดินไต้ฮั่น และแผ่นดินฮวนเฮงโนก๊ก ต่างก็เป็นอิสระแก่กัน มีเรื่องราวเกี่ยวข้องต่อไปอีกยืดยาว ไม่รู้จักจบสิ้น

พระเจ้าเลียดเต้แห่งไต้ฮั่น ครองราชสมบัติอยู่สิบแปดปี ก็สิ้นพระชนม์เมื่ออายุ สี่สิบแปดปี พระเจ้าตงจงหงวนฮ่องเต้แห่งตั้งจิ้น เสวยราชย์ได้หกปี ก็สิ้นพระชนม์เมื่ออายุสี่สิบเจ็ดปี และพระเจ้ามกเต้อยู่ในราชสมบัติยี่สิบห้าปี สิ้นพระชนม์เมื่ออายุหกสิบปี

ส่วนบุคคลสำคัญในเรื่องนี้ ก็มีชีวิตโลดแล่นต่อไป ในยุทธจักรอีกนาน จนสุดท้ายเล่าเอี๋ยนได้เป็น พระเจ้ากวงฌ้อฮ่องเต้ และเจียเล็กได้เป็น พระเจ้าเกียนเผงฮ่องเต้

นิยายอิงพงศาวดารจีน ที่เล่าถึงคนชั่วในแผ่นดินจิ้น หรือแซ่สุมาซึ่งสืบเชื้อแถวมาจากสุมาเอี๋ยน ผู้พิชิตแผ่นดินสามก๊ก จึงยุติลงโดยบริบูรณ์ แต่เพียงนี้.

#########




 

Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2552 8:52:14 น.
Counter : 1122 Pageviews.  

ตอนที่ ๒๑ เปลี่ยนบัลลังก์

คนชั่วแผ่นดินจิ้น

ตอนที่ ๒๑ เปลี่ยนบัลลังก์

เล่าเซี่ยงชุน “

อยู่มาวันหนึ่งมีชายคนหนึ่ง เดินทางมาจากด่านบูเจียงกวน ซึ่งเป็นอาณาเขตของแผ่นดินไซจิ้น พาแม่ลูกสองคนมาหาเจียเล็กที่เมืองเซียงซัน ชายคนนั้นก็เอาหนังสือของ เล่าคุน ซึ่งเป็นนายด่านมาให้ เจียเล็กเปิดหนังสือออกอ่านมีความว่า

“……ข้าพเจ้าเล่าคุนขอคำนับมายังท่าน ฮูฮั่นเจียงกุนไตโตตก ด้วยเดิมนางเฮงสีผู้มารดา และบิดาของท่าน เป็นคนรู้จักชอบพอกับข้าพเจ้ามาแต่ก่อน บิดาท่านถึงแก่กรรมเสียแล้ว นางเฮงสีกับเจียเฮาอยู่ที่เมืองก๊วงฮั่น ได้ความลำบากยากจนก็คิดสงสาร จึงได้ไปรับมาเลี้ยงไว้หลายปี อยู่มาทราบว่าท่านเข้าทำราชการในแผ่นดินไต้ฮั่น อาสาทำศึกสงครามติดพันอยู่ ครั้นจะส่งมารดาและน้องของท่านมาในขณะนั้น ก็ไม่เห็นมีคราวว่างจึงได้งดไว้ บัดนี้ทราบว่าท่านออกมาอยู่เมืองเซียงซัน เป็นปกติแล้ว จึงให้เตียหยูพามาส่ง……….”

เจียเล็กอ่านหนังสือแล้วก็มีความยินดี ให้เตียหยูพามารดาเข้ามาหา เจียเล็กก็ คุกเข่าลงคำนับมารดาแล้วร้องไห้ นางเฮงสีกับเจียเฮาก็ร้องไห้ ครั้นวายความโศก ต่างคนต่าง พูดจาไต่ถามทุกข์สุขกันตามธรรมเนียม ที่พลัดพรากจากกันมาตั้งแต่เจียเล็กยังเป็นเด็กน้อย อายุเพียงเก้าขวบ แล้วเจียเล็กก็ให้บุตรภรรยาออกมาคำนับมารดา แล้วก็จัดที่อยู่ให้มารดากับน้องชายอยู่ตามสมควร

เจียเล็กก็จัดของที่ดีมีราคาต่าง ๆ กับเงินทองรวมหกเล่มเกวียน ให้เตียหยูที่พามารดามาส่งเล่มเกวียนหนึ่ง ฝากไปขอบคุณเล่าคุนห้าเล่มเกวียน กับหนังสือฉบับหนึ่งมอบให้ เตียหยูเอาไปให้เล่าคุน และจัดคนคุมเกวียนไปส่งจนถึงด่านบูเจียงกวน เล่าคุนรับหนังสือของ เจียเล็กตอบขอบคุณ ที่เลี้ยงดูมารดากับน้องชายมาหลายปี และลงท้ายว่า ถ้ามีกิจธุระอะไรจงบอกมาให้ทราบด้วย อย่าได้เกรงใจเลย ควรจะสงเคราะห์ได้ก็จะช่วยตามกำลัง

อยู่มาเล่าคุนก็ทำหนังสือให้ม้าใช้ ถือมาให้เจียเล็กฉบับหนึ่งมีความว่า

ตัวท่านเดิมก็เกิดในแผ่นดินไซจิ้น ชอบแต่เข้าทำราชการในพระเจ้าเฮาฮวยเต้ จึงจะควร ซึ่งท่านเข้าทำราชการในเล่าง่วนไฮ้นั้น ถึงจะได้เป็นที่มียศศักดิ์ และจะประพฤติให้ดีอย่างไร เขาก็คงเรียกว่าเป็นขบถ จงมาทำราชการในพระเจ้าเฮาฮวยเต้ด้วยกันเถิด

เจียเล็กอ่านทราบความแล้ว จึงมีหนังสือตอบ มอบให้ผู้ถือหนังสือ นำกลับไปให้เล่าคุน มีความว่า

ซึ่งท่านมีหนังสือมาตักเตือนสตินั้น ขอบใจแล้ว ถึงข้าพเจ้าเกิดในแผ่นดินไซจิ้น ก็จริง แต่ไม่มีผู้ใดชุบเลี้ยง จึงได้ไปอยู่กับพระเจ้าแผ่นดินไต้ฮั่น พระเจ้าแผ่นดินไต้ฮันยกย่องแต่งตั้งให้มียศและอำนาจ ครั้นจะกลับใจไปทำราชการอยู่กับพระเจ้าแผ่นดินไซจิ้น ก็เป็นคนปราศจากกตัญญู เห็นจะกลับใจไปไม่ได้แล้ว ต้องทำราชการในแผ่นดินไต้ฮั่นไปกว่าจะสิ้นชีวิต ซึ่งท่านว่าเขาจะเรียกเป็นขบถนั้น จะพิเคราะห์ดูให้ดี ถ้าเป็นข้าประทุษร้ายต่อเจ้า ซึ่งได้อุปถัมภ์ชุบเลี้ยงมีพระเดชพระคุณนั้น จะเรียกว่าเป็นขบถก็ควร นี่ข้าพเจ้าไม่ได้ทรยศต่อพระเจ้าแผ่นดินไต้ฮั่นซึ่งได้มีพระคุณเลย จะเรียกว่าเป็นขบถอย่างไร

เล่าคุนแจ้งในหนังสือของเจียเล็กว่ามา ก็เห็นจริงด้วย

ฝ่ายเล่าชองเมื่อยกไปครั้งนั้น แต่บรรดาหัวเมืองรายทางมีใจครั่นคร้าม ด้วยได้กิตติศัพท์ว่า เล่าง่วนไฮ้ให้เล่าชอง คุมกองทัพไปบรรจบกับเจียเล็ก ยกมาตีเมืองลกเอี๋ยง ก็ไม่อาจ ออกมาสู้รบต้านทาน ด้วยกลัวอำนาจเจียเล็กอยู่ กองทัพเล่าชองจึงยกล่วงเลยเข้าไปได้จนตีด่านฮูกวนแตก และมาถึงด่านบูเจียงกวน เล่าคุนก็ไม่สามารถต้านทานได้ ต้องทิ้งด่านเข้าไปเฝ้าพระเจ้าเฮาฮวยเต้ที่เมืองลกเอี๋ยง กราบทูลความซึ่งเล่าชองกับอองหนียกทัพมาตีด่านแตกไปสองแห่งแล้ว ฮ่องเต้ก็ตกพระทัยมาก ให้สุมาอวดจัดกองทัพออกไปต่อสู้ป้องกันพระนคร

การรบครั้งนี้เล่าชองและอองหนีเสียกลฝ่ายลกเอี๋ยง ต้องแตกพ่ายเสียทหารเลวไปสี่หมื่น ทหารโทยี่สิบสองคน ทหารเอกสองคน เสียเสบียงอาหารเครื่องสาตราวุธมากนัก ต้องกลับมาอยู่ที่เมืองเพงเอี๋ยง และทำหนังสือไปแจ้งความแก่พระเจ้าฮั่นฮ่องเต้ ขอกองทัพมาเพิ่มเติม แต่เวลานั้นจะเข้าฤดูฝนฮ่องเต้จึงยังยับยั้งไว้ก่อน

ส่วนเจียเล็กกับเตียปิน ซึ่งยกกองทัพไปตีเมืองเซียงเอี๋ยงนั้น เจ้าเมืองกลัวอำนาจไม่อาจสู้รบ ก็อพยพครอบครัวหนีไป เจียเล็กเข้าเมืองได้โดยสะดวก ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อไพร่พล เมื่อตั้งเจ้าเมืองคนใหม่ และจัดการบ้านเมืองเรียบร้อยแล้ว กลับมาเมืองเซียงซันจึงได้ข่าวว่า เล่าชองเสียทัพยับเยินมา เจียเล็กก็สรรเสริญเตียปินว่าคาดการข้างหน้าถูกต้องดีนัก เตียปินก็บอกว่า

“…….ข้าพเจ้าอยากจะให้เล่าชองทำการศึกเมืองลกเอี๋ยง สำเร็จดังปรารถนา จะได้หายความพยาบาทในท่าน เล่าชองแตกหนีมาดังนี้คงมีความละอาย จะก่อการพยาบาทในท่านมากขึ้น……..”

เจียเล็กก็มิได้ว่าประการใด คงคอยฟังข่าวเล่าชองอยู่ ว่าจะทำประการใดต่อไป

แต่อีกไม่นานพระเจ้าฮั่นฮ่องเต้ ก็ประชวรลง หาหมอมารักษาพระโรคก็ไม่ถอย พระอาการมากขึ้นทุกวัน จึงเรียกขุนนางผู้ใหญ่มาสั่งเสียว่า

“……เราป่วยครั้งนี้อาการโรคคงจะไม่รอด ท่านจงเห็นแก่เราช่วยเอาเป็นธุระให้มาก เราวิตกถึงการแผ่นดินกลัวจะไม่เรียบร้อย ด้วยเจียเล็กซึ่งออกไปอยู่เมืองเซียงซันนั้นสำคัญนัก ถ้าตัวเรายังมีชีวิตอยู่แล้ว เจียเล็กก็ไม่ประทุษร้ายเลยเป็นอันขาด ถ้าเราตายว่าไม่ถูก ถึงกระนั้นที่เจียเล็กจะคิดร้ายก่อนนั้น เห็นจะไม่เป็น ถ้าฝ่ายเราทำเขาก่อนเจียเล็กคงจะสู้รบ ที่ไหนจะยอมตาย แม้นพวกเรากับเจียเล็กมีสามัคคีรสต่อกัน เรียบร้อยเป็นปกติดีอยู่แล้ว ข้าศึกศัตรูภายนอกนั้นเราไม่วิตก ด้วยเจียเล็กเป็นเหมือนกำแพงกั้นอยู่ เราวิตกแต่การข้างใน ด้วยขุนนางต่างคนก็ถือเจ้านายของตัวทั้งนั้น ถ้าเราหาบุญไม่แล้ว กลัวจะเกิดหยุกหยิกชิงสมบัติกันขึ้น…….”

ครั้นอยู่มาได้อีกสองวัน พระเจ้าฮั่นฮ่องเต้ก็สวรรคต ชันษาได้หกสิบเจ็ดปี เมื่อตั้งตัวเป็นฮั่นอ๋องอยู่สามปี เป็นฮ่องเต้สามปี พระเจ้าฮั่นฮ่องเต้มีพระราชโอรสอยู่เจ็ดองค์ แต่ล้วนต่างมารดากันทั้งนั้น แต่มารดาได้ตายเสียตั้งแต่เล่าง่วนไฮ้ยังไม่ได้เป็นฮั่นอ๋อง เหลืออยู่แต่ นางอูเอียนสีฮองเฮา มารดา เล่าหงี บุตรองค์ที่สี่ ส่วนเล่าชองเป็นบุตรองค์ที่สาม และเล่าเอี๋ยนเป็นบุตรเลี้ยง ขุนนางก็ยก เล่าฮัว ฮ่องไทจือพระราชโอรสองค์ใหญ่ ขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระเจ้าบุ้นเต้

เมื่อออกประกาศให้หัวเมืองในแผ่นดินไต้ฮั่น ได้ทราบทั่วกันแล้ว ประมาณสิบหกวัน ขุนนางสี่คนที่เป็นข้าคนสนิทของพระเจ้าบุนเต้ ก็เห็นว่าเจ้านายของตนอ่อนกำลังนัก ก็คิดหาหนทางที่จะกำจัดเล่าชองและเล่าเอี๋ยว ซึ่งมีกำลังเข้มแข็งเสียก่อน แต่ฮ่องเต้ยังไม่ทรงเชื่อ จึงไปปรึกษากับเล่าเสงและเล่าคิม ทั้งสองก็ว่าอย่าไปเชื่อคำผู้อื่นให้ทรงพระวิตกไปเลย ขุนนางทั้งสี่นั้นจึงจับขุนนางแซ่เล่าทั้งสองไปฆ่าเสีย อ้างว่าเป็นพวกเล่าชอง ฮ่องเต้ก็ตรัสว่าทำดังนี้แล้วเล่าชองรู้จะมิโกรธคิดทำร้ายพระองค์หรือ ขุนนางนั้นก็แนะให้ยกกองทัพไปกำจัดเล่าชองเสียก่อนที่จะรู้ตัว

แต่มีพรรคพวกของเล่าชองในเมืองหลวง นำความไปบอกเล่าชองเสียก่อน เล่าชองจึงให้เล่าชังผู้บุตรยกกองทัพ มาดักโจมตีกองทัพจากเมืองหลวงแตกพ่ายไป แล้วยกทหารเข้าเมืองภูเกียเสีย แล้วเล่าชังก็จับพระเจ้าบุ้นเต้ปลงพระชนม์เสีย และให้ทหารเที่ยวไปจับขุนนางทั้งสี่คนกับครอบครัวสมัครพรรคพวก ประมาณแปดร้อยคนเศษ มาฆ่าเสียหมดสิ้น

ขุนนางทั้งปวงในเมืองภูเกียเสีย ก็เชิญเล่าชองเข้าไปในเมืองเพื่อมอบราชสมบัติให้ แต่เล่าชองบอกว่าเล่าหงีควรจะได้เป็นอยู่ ให้เล่าหงีครองราชสมบัติเถิด เล่าหงีก็ไม่รับว่าเล่าชองเป็นพี่ ทั้งมีกำลังอำนาจมาก สมควรเป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว ขอให้เล่าชองครอบครองบ้านเมืองให้เป็นที่เกรงขามแก่นานาประเทศ ราษฎรจะได้อยู่เย็นเป็นสุข

เล่าชองจึงยอมรับ จุนนางทั้งปวงก็ถวายพระนามว่า พระเจ้าเลียดเต้ แล้วฮ่องเต้ก็ตั้งเล่าหงีเป็นที่ฮ่องไทตี๋รัชทายาท ตั้งนางอูเอียนสีมารดาเล่าหงีเป็นฮองไทเฮา ตั้งเล่าชังให้เป็นผู้ว่าราชการทหารทั้งแผ่นดินฮั่น กับตั้งขุนนางตามตำแหน่งต่าง ๆ แล้วก็ออกหมายประกาศไปทั่วแผ่นดิน เรื่องการยกฮ่องเต้องค์ใหม่ขึ้นครองราชสมบัติ และกำหนดการจะฝังศพพระเจ้าฮั่นฮ่องเต้ ให้ทราบทั่วกัน

ฝ่ายเจียเล็กได้ทราบความทั้งหมดแล้ว ก็ปรึกษากับเตียปินว่า

“……..บัดนี้เล่าชองได้เป็นเจ้าแผ่นดินขึ้นแล้ว มีตราประกาศให้เจ้าเมืองใหญ่น้อยเข้าไปช่วย ทำการฝังพระศพพระเจ้าฮั่นฮ่องเต้นั้น พระเจ้าแผ่นดินใหม่กับเราก็ไม่ชอบกัน จะคิดอย่างไรดี แม้นเข้าไปถ้าพระเจ้าเลียดเต้คิดทำร้ายเราจะมิเสียเปรียบหรือ……..”

เตียปินก็ว่า

“……..พระเจ้าฮั่นฮ่องเต้เป็นเจ้านาย ได้ชุบเลี้ยงท่านมาแต่ก่อน จนได้มีอำนาจถึงเพียงนี้ หัวเมืองทั้งปวงย่อมรู้อยู่ทั้งนั้น การฝังพระศพเป็นข้อสำคัญใหญ่หลวงนัก ท่านไม่ไปแล้วก็จะเป็นที่ติเตียนแก่คนทั้งปวง ว่าท่านเป็นคนปราศจากความกตัญญู…….”

เจียเล็กถามว่าถ้าเข้าไปแล้วถูกทำร้าย จะแก้ไขอย่างไร เตียปินว่าเป็นธุระของตนเอง เจียเล็กก็ว่าถ้าทำร้ายตนไม่ได้ ก็จะทำร้ายเตียปินดอกกระมัง เตียปินก็ว่าอย่าวิตก เมื่อขงเบ้งไปอยู่เมืองกังตั๋ง จิวยี่คิดฆ่าวันละร้อยครั้งยังทำไม่ได้

แล้วเจียเล็กกับเตียปินก็แต่งตัวตามยศขุนนาง ไปเมืองภูเกียเสียมีทหารติดตามพอควรแก่ตำแหน่ง ครั้นเวลาพระเจ้าเลียดเต้เสด็จออกว่าราชการ ก็มิได้แสดงความอาฆาตแต่ประการใด เมื่อถึงกำหนดฝังพระศพพระเจ้าฮั่นฮ่องเต้ เจ้าพนักงานจัดแจงตกแต่งตามแบบกษัตริย์ จนเสร็จสิ้นพิธีแล้ว เจียเล็กก็พาทหารรีบออกจากเมืองหลวง กลับไปเมืองเซียงซัน โดยมิได้กราบทูลลาฮ่องเต้

ครั้นพวกหัวเมืองทั้งหลายรวมทั้งเตียปิน เข้าเฝ้ากราบทูลลากลับบ้านเมือง ฮ่องเต้จึงตรัสถามเตียปินว่า เจียเล็กไปข้างไหนเสีย จึงไม่เข้ามาพร้อมกับพวกหัวเมือง เตียปินทูลว่า

“……..เมื่อขณะฝังพระศพนั้น ม้าใช้รีบมาแจ้งความว่าเมืองเซียงซันเกิดศึก เจียเล็กจะเข้ามาทูลก็ไม่มีช่อง ด้วยเป็นการวุ่นวายอยู่ เจียเล็กทำการฝังพระศพเสร็จแล้ว จึงรีบ กลับไปเมืองเซียงซัน ให้ข้าพเจ้าอยู่กราบถวายบังคมลาแทน ……”

พระเจ้าเลียดเต้ได้ฟังก็เสียพระทัย ด้วยไม่สมที่คาดหมายไว้ว่า จะกำจัดเจียเล็ก หลังงานพระศพเรียบร้อย และทรงพระดำริว่า เตียปินคนนี้มีสติปัญญาเป็นที่ปรึกษาของเจียเล็ก แม้นพระองค์จะฆ่าเสียก็ได้ แต่เจียเล็กรู้แล้วก็คงจะเป็นขบถขึ้น จำจะต้องคิดเอาใจดีต่อไว้ คอยหาช่องโอกาสไปเบื้องหน้า จึงตรัสแก่เตียปินว่า

“………ทุกวันนี้ท่านไว้วางตัวเหมือนขงเบ้ง ซึ่งเป็นอาจารย์ของเล่าปี่อย่างนั้นเจียวหรือ……”

เตียปินทูลว่า

“…….ข้าพเจ้าสติปัญญาน้อย ไม่ควรไต้อ๋องจะเอาไปเปรียบกับท่านแต่ก่อน ซึ่งข้าพเจ้าทำราชการอยู่กับเจียเล็กทุกวันนี้ ก็ได้ช่วยคิดป้องกันข้าศึกศัตรู ไม่ให้ล่วงล้ำเข้ามาเบียดเบียนราชอาณาเขต ไพร่บ้านพลเมืองจะได้ทำมาหากินเป็นสุข ทั้งไต้อ๋องจะเจริญอยู่ในสิริราชสมบัติยืนยาว…….”

พระเจ้าเลียดเต้ได้ทรงฟังก็มิรู้ที่จะตรัสประการใด ต้องทำพระทัยดีตรัสว่า

“……..ท่านจงตักเตือนสั่งสอนเจียเล็ก ให้ช่วยกันรักษาเขตแดนบ้านเมืองของพระเจ้าฮั่นฮ่องเต้ไว้ อย่าให้เป็นอันตรายได้…….”

เตียปินก็ทูลว่า

“…….เจียเล็กมีใจสัตย์ซื่อสุจริต คิดถึงพระเดชพระคุณพระเจ้าฮั่นฮ่องเต้ ซึ่งได้ทรงชุบเลี้ยงมาให้เป็นเจ้าเมืองใหญ่มียศศักดิ์ บัดนี้ไต้อ๋องได้ราชสมบัติสืบต่อมา เจียเล็กก็ตั้งใจสนองพระเดชพระคุณ ทำนุบำรุงไปกว่าจะสิ้นชีวิต……..”

แล้วเตียปินก็กราบถวายบังคมลากลับมาเมืองเซียงซัน เล่าความซึ่งได้เฝ้าพระเจ้าเลียดเต้ให้ฟังทุกประการ เจียเล็กก็ยินดีสรรเสริญว่า เตียปินประกอบด้วยสติปัญญามากนักไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน แล้วถามเตียปินว่าการในแผ่นดินสิ่งอะไรจะเป็นใหญ่ ให้ถาวรยั่งยืน เป็นที่รักใคร่แก่คนทั้งหลาย เตียปินก็บอกความไว้อย่างละเอียด ดังนี้

ประการหนึ่งตงฉิน คือความยุติธรรม เมื่อผู้เป็นอิสระในบ้านใดเมืองใดตั้งอยู่ในยุติธรรมแล้ว ก็เป็นที่เย็นใจแก่ขุนนางและอาณาประชาราษฎร ซึ่งอยู่ในอาณาจักร ยุติธรรมนั้นคือตั้งจิตเป็นกลาง ไม่อิจฉาพยาบาท ไม่มีมารยาสาไถย ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ไม่เบียดเบียนผู้น้อยให้เกินธรรมเนียมประเพณีไป ประพฤติสิ่งใดก็แต่การอันควร จะตัดสินข้อคดีของราษฎร ก็ตามแบบอย่างกฎหมายบ้านเมือง มิได้เห็นแก่ญาติและมิตร บุตรภรรยาที่รักใคร่ ถือว่าเป็นบุคคลแล้วก็มีความเจ็บร้อน ความยากความแค้นเหมือนกันทั้งหมด เมื่อผู้ใดทำชอบก็ยกยอให้บำเหน็จรางวัลไปตามชอบ ผู้ใดผิดก็กระทำโทษานุโทษไปตามการ มิได้เพิ่มมิได้ลดด้วยความรักและความชัง เมื่อผู้มีอิสระประพฤติดังนี้แล้ว ก้เป็นที่สรรเสริญทั่วไปแก่คนทั้งหลาย

ผู้ซึ่งจะเป็นขุนนางข้าราชการ ถ้าประพฤติอยู่ในยุติธรรมมั่นคงในสันดานแล้ว ก้เป็นที่ไว้วางใจแห่งเจ้านาย ราษฎรทั้งหลายก็สรรเสริญ เป็นความเจริญแก่ผู้นั้น

ถ้าเศรษฐีและพ่อค้าราษฎร อยู่ในยุติธรรมมีเมตตา ไม่คิดเบียดเบียนประทุษร้ายแก่กันและกันแล้ว ก้เป็นที่เชื่อถือแก่ลูกค้านานาประเทศทั้งปวง ที่จะมาค้าขายให้สมบูรณ์ มั่งมีทรัพย์สมบัติขึ้นทุกเดือนทุกปี

ประการหนึ่งความสัจ ถ้าผู้เป็นอิสรภาพตั้งอยู่ในสุจริต กล่าวคำสิ่งใดออกไปแล้วโดยสัจธรรม เป็นที่ถือมั่นแก่ขุนนางและราษฎรทั้งหลาย ว่าเจ้านายของเรากล่าวสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้ว ไม่เป็นคำสองเลย การอันนี้ก้เป็นที่สรรเสริญนิยมยินดีแก่คนทั้งหลาย เมื่อผู้เป็นขุนนางตั้งอยู่ในสัจสุจริตซื่อตรงแล้ว ก้เป็นที่เชื่อถือแก่ราษฎรทั้งปวง หรือเศรษฐีและพ่อค้าราษฎร ตั้งอยู่ในสัจสุจริตซื่อตรงด้วยกันทั้งสิ้นแล้ว ก็เป็นที่ไว้ใจแก่ทรัพย์สมบัติ ซื้อขายเกี่ยวข้องค้างเกินกัน ระงับเสียซึ่งถ้อยความทั้งปวงได้

ประการหนึ่งความสุภาพ เมื่อผู้เป็นอิสระขึ้นแล้ว ประกอบด้วยความสุภาพ ไม่กำเริบด้วยอิสริยยศ ก็เป็นที่งดงามยืดยาว ถ้ากำเริบด้วยอิสริยยศไว้ภาคไว้ภูมิ มีเครื่องตกแต่งมากต้องใช้ผู้คน ประกอบยศให้ได้ความเดือดร้อนลำบากแก่ไพร่ ถ้าผู้เป็นขุนนางกำเริบเย่อหยิ่งแล้ว ก็มักเป็นอันตรายแก่ตัวผู้นั้นเอง ถ้าประพฤติสุภาพแล้ว ก้เป็นที่รักใคร่แก่เจ้านายของตัวและคนทั้งหลาย ผู้ที่เป็นราษฎรประพฤติการเย่อหยิ่งให้เกินภาคภูมิแล้ว ก็มักมีภัยได้ความเจ็บและความทุกข์ร้อนแก่ตัวต่าง ๆ ถ้าประพฤติเป็นสุภาพแล้ว จะไปที่ใดก็มีคนเมตตาเอ็นดู

ประการหนึ่งความละอาย ซึ่งเป็นที่ห้ามแห่งความโลภ ความหลง และความโกรธ ที่บังเกิดขึ้นในสันดาน จะระงับหยุดยั้งลงได้ก็เพราะความละอาย

ความสี่ข้อนี้ถ้าผู้ใดประพฤติได้แล้ว ถึงตัวจะตายไป ความสรรเสริญก็ติดชื่อเสียง ปรากฎอยู่ไม่รู้สิ้นสุด

เจียเล็กได้ฟังเตียปินอธิบายออกให้กระจ่าง ก็สรรเสริญว่าเตียปินรู้แบบอย่างการดีและชั่ว เสมอกับคนที่ดีมีปัญญาแต่ก่อน

ซึ่งความที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น แม้เวลาจะผ่านไปนับพันปี ก็ยังคงความจริงอยู่ ในทุกแผ่นดิน จนทุกวันนี้.

##########




 

Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2552 9:03:51 น.
Counter : 664 Pageviews.  

ตอนที่ ๒๐ ทำดีมีคนชัง

คนชั่วแผ่นดินจิ้น

ตอนที่ ๒๐ ทำดีมีคนชัง

“ เล่าเซี่ยงชุน “

เจียเล็กจัดการปกครองเมืองคือเต๊กเรียบร้อยแล้ว ก็เดินทัพไปตีเมืองเซียงซัน เจ้าเมืองก็แต่งทหารออกมาสู้รบได้พักเดียว ก็ขอเจรจาด้วยโดยให้เงียบเฮงนายทหาร ออกมาบอกกับเจียเล็กว่า ขอให้ยกกองทัพกลับไป อย่าให้ราษฎรเดือดร้อน จะแบ่งเขตแดนเมืองเซียงซันให้กึ่งหนึ่ง เตียปินก็ว่าเมืองเซียงซันเหมือนอยู่ในเงื้อมมือแล้ว ชอบที่จะอ่อนน้อมเสียโดยดีจึงจะควร

แต่ เงียบเฮงมิได้เจรจาโดยสุจริต ได้ซ่อนมีดเหน็บมาในถุงเท้า เมื่อเข้าใกล้เจียเล็กก็ชักมีดออกมาจะแทง เตียปินคอยระวังอยู่แล้วจึงเอากระบี่ฟันเงียบเฮงตายทันที แล้วก็ตัดศรีษะเงียบเฮงเสียบปลายมีดเหน็บ เอาไปชูให้ทหารและขุนนางบนเชิงเทินเห็น ทหารของเมืองเซียงซันก็พากันคิดย่อท้อใจ ไม่เป็นอันสู้รบ ลงท้ายเจ้าเมืองก็พาครอบครัวหนีออกจากเมืองไป ทหารของเจียเล็กก็ตามไปจับเอาตัวมาประหารเสีย

ขุนนางและนายทหารเมืองเซียงซัน ก็พากันออกมาอ่อนน้อม ยอมเข้าด้วยเจียเล็ก แล้วเชิญเข้าไปในเมืองเอาบัญชีไพร่พลทหาร และทรัพย์สินสิ่งของทองเงินมามอบให้ เจียเล็กก็ปูนบำเหน็จรางวัลแก่นายทหารผู้ใหญ่ผู้น้อยตามสมควร แล้วกำชับสั่งทหารมิให้กระทำข่มเหงราษฎรให้ได้ความเดือดร้อน ตั้งทำมาหากินเรียบร้อยอยู่เป็นปกติตามภูมิลำเนา

ฝ่ายหัวเมืองที่ขึ้น กับเมืองเซียงซัน ได้ยินข่าวว่าเจียเล็กฝีมือเข้มแข็ง มีไพร่พลทหารมาก ทั้งที่ปรึกษาก็มีสติปัญญาลึกซึ้ง ต่างคนก็พากันมาอ่อนน้อมยอมเป็นเมืองขึ้น ถึงสิบห้าเมือง ราษฎรทั้งหลายพูดกันว่า เจียเล็กยกกองทัพมาตีหัวเมืองทั้งสองครั้งนี้ ได้ง่ายดายเปรียบเหมือนผ่าไม้ไผ่ แตกออกแต่ปล้องเดียวก็ตลอดไปได้ทั้งลำ มีคำสรรเสริญฝีมือและสติปัญญา เจียเล็กและเตียปินฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป

เจียเล็กจึงปรึกษาเตียปิน และนายทหารทั้งปวงว่า

“…….เราตีได้เมืองคือเต๊ก เมืองเซียงซัน สมความปรารถนาแล้ว จะต้องบอกเข้าไปเมืองภูเกียเสีย ให้พระเจ้าแผ่นดินทราบจึงจะควร………”

นายทหารก็ห้ามว่า

“…….ท่านจะบอกเข้าไปทำไม นิ่งเสียดีกว่า ถึงโดยว่าพระเจ้าแผ่นดินทรงขัดเคืองก็จะทำอะไรเราได้ ไพร่พลทหารของท่านมีมาก ทั้งอาณาเขตก็ใหญ่กว้าง มั่งคั่งด้วยผู้คนและเสบียงอาหาร โดยจะคิดตั้งตัวเป็นใหญ่กับเขาบ้างก็ไม่มีผู้ใดกีดขวาง…….”

เจียเล็กก็ว่า

“…….ซึ่งจะทำเช่นท่านทั้งปวงว่านี้ไม่ชอบ เราจะเป็นคนอกตัญญูไป ด้วยพระเจ้าแผ่นดินมีพระเดชพระคุณมาก เราตั้งตัวขึ้นได้ ก้เพราะพระเจ้าฮั่นฮ่องเต้ชุบเลี้ยง เมื่อเรายกกองทัพมาครั้งนี้เล่า ก็เกณฑ์ทหารมาให้ถึงสิบหมื่น จะต้องบอกเข้าไปให้ทรงทราบ…….”

เตียปินก็บอกว่า ท่านจะบอกเข้าไปนั้นก็ควรแล้ว แต่ตัวท่านอย่าเข้าไปเลยเป็นอันขาด เจียเล็กได้ฟังก็เห็นด้วย จึงทำหนังสือฉบับหนึ่ง มอบให้ม้าใช้ถือไปเมืองภูเกียเสีย พนักงานก็นำขึ้นถวายให้พระเจ้าฮั่นฮ่องเต้ทอดพระเนตร หนังสือนั้นมีความว่า

ซึ่งโปรดให้ข้าพเจ้ายกกองทัพไปตีเมืองคือเต๊ก เมืองเซียงซันนั้น ด้วยอำนาจบารมีของไต้อ๋องปกแผ่รักษาไป ข้าพเจ้าและไพร่พลทแกล้วทหารทั้งปวง ก็ปราศจากอันตราย ตีได้เมืองคือเต๊กเมืองเซียงซันโดยสะดวก ได้ทหารขึ้นใหม่ยี่สิบหมื่น เสบียงสามร้อยห้าสิบหมื่นหาบ เมืองขึ้นสามสิบสองหัวเมือง บัดนี้ข้าพเจ้ายังซ้อมหัดทแกล้วทหารเตรียมการอยู่ ถ้าเสร็จแล้วเมื่อไร จึงจะยกกองทัพไปตีเมืองลกเอี๋ยง สนองพระเดชพระคุณต่อไป

พระเจ้าฮั่นฮ่องเต้ได้ทรงทราบแล้ว ก็ตรัสชมเจียเล็กว่า

“…….มีฝีมือเข้มแข็ง ประกอบด้วยสติปัญญา ถ้าเรามีบุตรและหลาน ได้เช่นเจียเล็กนี้สักคนหนึ่ง ก็จะดีทีเดียว…….”

ขณะนั้นราชบุตรและราชนัดดาของฮ่องเต้เฝ้าอยู่ด้วย ครั้นได้ฟังต่างก็แลดูตากัน มีความอดสูนึกอายใจ พวกขุนนางกังฉินที่มีความอิจฉาเจียเล็ก จึงกราบทูลว่า

“……..ดูท่วงทีเจียเล็กเห็นจะไม่กลับมา เหมือนฮั่นสินตั้งแข็งอยู่เมืองเจ๋ ทิ้งไว้นานไม่ได้ ด้วยราษฎรในเขตที่เจียเล็กตีได้ มีใจรักใคร่นับถือเจียเล็กมาก แล้วก็ได้เตียปินผู้ประกอบด้วยสติปัญญาไว้เป็นที่ปรึกษา คงจะมีใจกำเริบคิดเป็นใหญ่ขึ้น ต้องเอาเข้ามาไว้เสียในเมืองหลวงจึงจะชอบ…….”

พระเจ้าฮั่นฮ่องเต้ก็ทรงทักท้วงว่า

“…….ทำอย่างนั้นไม่ได้ เมื่อครั้งพระเจ้าฮั่นโกโจซึ่งเป็นปฐมวงศ์ กษัตริย์แผ่นดินฮั่นนั้น ทรงเคลือบแคลงระแวงพระทัยในฮั่นสิน เมื่อฮั่นสินมีความเสียใจจึงคิดเตลิดไปต่าง ๆ พระเจ้าฮั่นโกโจก็ประหารชีวิตฮั่นสินเสีย มีคำติเตียนมาจนทุกวันนี้ อนึ่งเมื่อครั้งนั้นพระเจ้าฮั่นโกโจ ทำสงครามกับฌ้อปาอ๋องคนเดียว ศึกอื่นไม่มี ครั้นฮั่นสินคิดกำจัดฌ้อปาอ๋องเสียได้แล้วก็สิ้นศึกสงคราม พระเจ้าฮั่นโกโจได้เป็นใหญ่อยู่แต่ก๊กเดียว ถึงฆ่าฮั่นสินเสียก็ไม่เป็นไร ด้วยแผ่นดินราบคาบแล้ว…….”

พระเจ้าฮั่นฮ่องเต้ก็ทรงตรัสต่อไปว่า

“…….. เดี๋ยวนี้หัวเมืองทั้งปวง ต่างคิดตั้งตัวเป็นใหญ่อยู่ทั้งนั้น เรายังจะต้องทำศึกสงครามมากมายนัก แม้นเจียเล็กเป็นเหมือนเช่นท่านว่าแล้ว หาตัวที่ไหนจะมา เขาก็เป็นคนมีสติปัญญา เห็นอย่างฮั่นสินเป็นแบบอย่างอยู่ ถ้าไม่มาแล้ว ความกระดากกระเดื่องมัวหมองในใจคงจะมีขึ้น คิดเอาใจออกหากจากเราไปเข้ากับข้าศึกเสียแล้ว การที่เราคิดไว้จะมิขัดข้องไปหรือ เจียเล็กจะมาหรือมิมาก็ตาม ต้องเอาใจไว้เพิ่มยศศักดิ์ขึ้นอีกจึงจะดี…….”

แล้วฮ่องเต้ก็ทรงแต่งตั้งให้เจียเล็กเป็น ผู้สำเร็จราชการฝ่ายทหารทั้งแผ่นดินไต้ฮั่น และทำหนังสือยกความชอบกับตราตั้ง และเครื่องยศเหมือนอย่างเจ้า แต่งข้าหลวงคุมไปพระราชทานเจียเล็กที่เมืองเซียงซัน แล้วสั่งเกณฑ์ทหารห้าหมื่น มอบให้ เล่าชอง พระราชโอรสองค์โต กับอองหนี ยกกองทัพไปช่วยเจียเล็กตีเมืองลกเอี๋ยงต่อไป

เมื่อข้าหลวงมาถึงเมืองเซียงซัน ก็เอาหนังสือรับสั่งและตราตั้งกับเครื่องยศ ให้ เจียเล็กคำนับรับเอามาอ่าน มีความว่า

ซึ่งเจียเล็กอาสาไปตีเมืองคือเต๊กและเมืองเซียงซันได้นัน้น มีความชอบมากนัก ไม่เสียทีที่เป็นชายชาติทหาร บัดนี้รับอาสาจะไปตีเมืองลกเอี๋ยงก็ดีแล้ว เราได้ให้เล่าชองกับอองหนี คุมทหารห้าหมื่นยกกองทัพไปด้วย จะได้ช่วยกันตีเมืองลกเอี๋ยงให้จงได้

เมื่อเล่าชองกับอองหนียกกองทัพมาถึงเมืองเซียงซัน เจียเล็กก็ออกมารับเข้าไปในเมือง แล้วก็จัดโต๊ะมาเลี้ยงดูกัน เล่าชองก็บอกว่า

“…….ท่านบอกว่าจะเข้าไปตีเมืองลกเอี๋ยง จึงรับสั่งให้ข้าพเจ้ากับอองหนีออกมาช่วย ท่านจะให้เราทำอย่างไร ก็จะทำตามสั่ง……..”

เจียเล็กจึงพูดว่า

“…….ตัวข้าพเจ้าเป็นข้า พระเจ้าฮั่นฮ่องเต้ทรงพระเมตตาชุบเลี้ยง จึงได้เป็นที่มียศศักดิ์ ท่านเป็นพระราชบุตรก็เหมือนกับเป็นนาย ชอบแต่ท่านใช้ข้าพเจ้าจึงจะควร อองหนีนั้นเล่าแต่ก่อนก็เป็นแม่ทัพ ข้าพเจ้าได้อยู่ในบังคับบัญชา เหมือนเป็นนายข้าพเจ้ามาแต่ก่อน…..”

เล่าชองกับอองหนีได้ฟังดังนั้น เห็นไปว่าเจียเล็กพูดประชดก็โกรธ เล่าชองจึงถามว่า ท่านจะไปตีเมืองลกเอี๋ยงเมื่อไร เจียเล็กว่า เดิมตนคิดจะไปตีเมืองเซียงเอี๋ยงก่อน เมื่อทั้งสองนายกลับมาถึงที่พักแล้ว ก็พูดกันว่า

“…….เจียเล็กเที่ยวตีบ้านเมืองได้เขตแดนออกไปกว้างใหญ่ มีไพร่พลทหารมาก เข้าใจว่าไม่มีผู้ใดเสมอเหมือน ทำความชอบโปรดปรานได้เป็นที่มียศศักดิ์ เราไปพูดโดยความจริง กลับประชดเยาะเย้ยให้เสียอีก เพราะถือว่าการซึ่งจะไปตีเมืองลกเอี๋ยงครั้งนี้ ถ้าผิดจากเขาแล้ว ที่ไหนคนอื่นจะตีได้ จึงพูดยักเยื้องว่าจะไปตีเมืองเซียงเอี๋ยงเสียก่อน เมื่อเขายังไม่ไปก็ตามแต่ ใจเราจะต้องไปตีเอาเมืองลกเอี๋ยงให้จงได้ ให้เห็นฝีมือเสียสักหน่อย……..”

เล่าชองกับอองหนีปรึกษาเห็นพร้อมกันแล้ว จึงไปหาเจียเล็กแล้วพูดว่า

“……ท่านจะไปตีเมืองเซียงเอี๋ยงก่อนก็ตามใจ แต่ข้าพเจ้ากับอองหนีจะต้องไปตีเมืองลกเอี๋ยงตามรับสั่ง…….”

เจียเล็กก็ว่าตามแต่ท่านจะเห็นควรเถิด เล่าชองกับอองหนีก็ลาเจียเล็กยกกองทัพไป เจียเล็กจึงพูดกับเตียปินว่า ดูกิริยาเล่าชองกับอองหนีมึนตึงไปไม่เหมือนแต่ก่อน เตียปินก็ว่า

“……..ข้าพเจ้าตรองเห็นการแล้วว่า คงมีคนอิจฉาท่าน จึงได้ห้ามไว้ไม่ให้เข้าไปในเมืองภูเกียเสีย เห็นจริงด้วยหรือไม่ ถ้าเข้าไปแล้วคงจะไม่มีความสุข เหมือนเข้าไปหาปากเสือ แต่ที่ตรงพระเจ้าฮั่นเต้นั้นไม่สู้เป็นไรดอก แต่ใจขุนนางเจ้านายทั้งปวงไม่ยั่งยืน คิดอิจฉาหาโทษใส่ต่าง ๆ พระเจ้าฮั่นฮ่องเต้หรือจะทนคนมากไปได้……..”

เจียเล็กก็ว่า

“……..เมื่อข้าพเจ้าอาสาออกมาก็คิดไว้ ถ้าตีเมืองทั้งสองได้สมความปรารถนาแล้ว ไม่กลับเข้าไป การครั้งนี้มีรับสั่งให้เล่าชองกับอองหนีออกมาช่วยราชการทัพ ก็อยู่ในบังคับเรา บัดนี้กลับจะไปตีเมืองลกเอี๋ยงตามอำเภอใจ ครั้นจะขัดขวางไว้เขาก็เป็นพระราชบุตร จึงต้องตามใจ ท่านเห็นว่าเล่าชองกับอองหนีจะตีเมืองลกเอี๋ยงได้หรือไม่…….”

เตียปินบอกว่า

“…….เล่าชองอองหนีไปด้วยกำลังมานะ ถือตัวว่ามีฝีมือและสติปัญญาดี ข้าพเจ้าเห็นไม่สำเร็จ เมื่อเล่าชองกับอองหนียกกองทัพไปนั้น หัวเมืองทั้งปวงจะมีใจครั่นคร้ามมาก ด้วยรู้ว่าเล่าชองอองหนีมาสมทบกับกองทัพท่าน การก็คงจะเลยล่วงเข้าไปได้จนถึงเมืองลกเอี๋ยงโดยสะดวก เล่าชองอองหนีคงสำคัญใจเชื่อดีว่า เข้าไปได้เพราะอำนาจของตัว ถ้าเกิดประมาทขึ้นแล้ว มีแต่จะเสียถ่ายเดียว………”

แล้วเตียปินก็ย้ำแก่นายทหารทั้งหลายว่า ตนเห็นว่าทั้งสองนายนั้น ไปตีเมืองลก เอี๋ยงไม่สำเร็จแน่ ท่านทั้งปวงจงคอยดูเถิด ถ้าผิดปากเราไปแล้วก็อย่านับถือ

############
















 

Create Date : 16 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 16 กุมภาพันธ์ 2552 5:21:25 น.
Counter : 602 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.