Group Blog
 
All Blogs
 

สามก๊กเปรัยบเทียบ (๑)

สามก๊กเปรัยบเทียบ (๑)


พระเจ้าเลนเต้


สามก๊กมีหลายฉบับ หลายสำนวน ส่วนใหญ่ก็ยึดแนวเดิมจากภาษาจีน
ที่แปลครั้งแรก โดย คณะของท่านเจ้าพระยา พระคลัง(หน)

ต่อมาผู้มีความรู้ภาษาจีนในสมัยหลัง ได้แปลขึ้นมาบ้าง
ก็คล้อยตามฉบับเก่าบ้าง ขัดแย้งบ้าง

ถ้าเรามีหลาย ๆสำนวนเอามาเปรียบเทียบกันดู
น่าจะได้ความรู้มากกว่าจะอ่านทีละเล่ม

ดังตัวอย่างที่จะยกมาให้พิจารณา
ท่านอื่นจะค้นคว้ามาบ้าง ก็น่าจะเป็นเครื่องประเทืองปัญญา
สำหรับผู้ที่สนใจ สามก๊ก มิใช่น้อยครับ.

ฉบับหลวงมีความว่า





ต่อ



สามก๊กฉบับนายทุนกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า



สามก๊กฉบับวนิพกว่าไว้ดังนี้



สุดท้าย




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2555    
Last Update : 28 สิงหาคม 2555 8:15:14 น.
Counter : 1549 Pageviews.  

บันทึกจากสามก๊ก

บันทึกจากสามก๊ก

ในยามที่อาการเจ็บหลังจากการนั่งพิมพ์คอมพ์ ยังคงค้างอยู่ ทำให้ไม่สามารถจะทนพิมพ์เสนอเรื่องชุด อะไรก็ได้ และ บันทึกของผู้เฒ่า ดังที่ได้ทำเป็นประจำมา ชุดละ ๓๐ กว่าตอนได้ นอกจากการอ่านกระทู้ของเพื่อน และตอบไปบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้มีเวลาว่างมาก

จึงหันไปขุดคุ้ยหนังสือเก่ามาอ่านเพื่อรำลึกความหลัง เช่น กะดึงทอง รายเดือน ฟ้าเมืองไทย รายสัปดาห์ สยามอารยะ รายเดือน ซึ่งได้เลิกกิจการไปแล้วทั้งสามราย และเจ้าเก่า คือ ทหารสื่อสาร รายสะดวก ที่ยังอยู่เป็นรายปี

ก็ได้พบว่า ในยุค พ.ศ.๒๕๓๓ เป็นต้นมาที่ได้เริ่มอ่าน สามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เพื่อนำมาเรียบเรียงลงใน นิตยสารทหารสื่อสาร นั้น สามารถทำเป็นบันทึกได้หลายตอน และทำเรื่อยมาตามโอกาส ซึ่งเป็นคนละแนวกับ สามก๊กฉบับลิ่วล้อ

จนกระทั่งกลายมาเป็น สามก๊ก ฉบับอัศวิน ฉบับฮูหยิน ซึ่งได้นำมาวางใน ไร้สังกัด หมดแล้ว และฉบับฮ่องเต้ ที่ยังไม่ได้นำมาลง

ดังนั้นเพื่อเป็นการพักผ่อนให้หายเจ็บหลัง จึงจะขอก็อปปี้สามก๊กเหล่านั้น มาวางแทน เรื่องที่จะต้องเขียนใหม่ ต่อไป

บันทึกจากสามก๊ก มีอยู่หลายตอน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ท่านที่สนใจ ลองติดตามอ่าน ดังชื่อตอนต่อไปนี้

๑.เฒ่าผู้น่าเวทนา
๒.นักรบไร้ชื่อ
๓.จุมโพ่ชะตาขาด
๔.สองนางในยุทธนาวี
๕.นางผู้พลิกผันการรบ
๖.เหยื่อรายสุดท้าย
๗.มหาอุปราชจอมโหด
๘.วาระสุดท้ายของสองเจ้าเมือง
๙.วาระสุดท้ายของจอมคน

ท่านผู้อ่านพอจะเดาได้ไหมครับว่า ชื่อเรื่องเหล่านี้หมายถึงตัวละครผู้ใดในสามก๊ก ท่านที่พอจะทราบลองทายดู

แล้วสุดท้ายจะมาเฉลยครับ.






 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 3 กรกฎาคม 2553 5:43:01 น.
Counter : 537 Pageviews.  

นางผู้พลิกผันการรบ (บันทึกจากสามก๊ก)

บันทึกจากสามก๊ก

นางผู้พลิกผันการรบ

“ เทพารักษ์ “

ในสงครามหลายครั้งหลายหน ที่โจโฉเป็นผู้นำทัพนั้น บางครั้งก็ชนะ บางครั้ง ก็แพ้ แต่ไม่มีครั้งใดที่ต้องแพ้อย่างยับเยิน ด้วยความประมาทของแม่ทัพ เหมือนครั้งที่ไปตีเมือง อ้วนเซียครั้งแรกเลย ในนิยายอิงพงศาวดารเรื่องสามก๊ก มีความพอสรุปได้ว่า

เมื่อครั้งที่โจโฉยกกองทัพสิบเจ็ดหัวเมือง เข้ามาตีเมืองลกเอี๋ยงเพื่อกำจัดตั๋งโต๊ะมหาอุปราชผู้หยาบช้านั้น เตียวสิ้วเจ้าเมืองอ้วนเซียไม่ได้เข้าร่วมขบวนการด้วย โจโฉจึงจดจำไว้ ครั้นตนเองได้เป็นมหาอุปราชของพระเจ้าเหี้ยนเต้ มีอำนาจว่าราชการแผ่นดินโดยเด็ดขาดแล้ว จึงจัดแจงทหารสิบห้าหมื่นยกทัพไปตีเมืองอ้วนเซีย ให้ทัพหน้าแบ่งเป็นสามกอง ตั้งค่ายอยู่ที่แม่น้ำหยกซุย

เตียวสิ้วก็ปรึกษากับกาเซี่ยงผู้เป็นกุนซือ ว่าจะแก้ไขประการใด กาเซี่ยงก็ว่า

“…….โจโฉยกทหารมาครั้งนี้ประมาณยี่สิบหมื่น แล้วทหารเอกที่มีฝีมือเป็นอันมาก เราจะออกรบด้วยบัดนี้ เห็นจะเสียทีแก่โจโฉเป็นมั่นคง จำเราจะออกไปเข้าเกลี้ยกล่อมด้วยโจโฉโดยดี จึงจะไม่เสียเมือง……”

เตียวสิ้วก็เห็นชอบด้วย จึงให้กาเซี่ยงออกไปหาโจโฉที่ค่าย แจ้งว่าเตียวสิ้วจะขออ่อนน้อมยอมเข้าด้วยโจโฉ มิได้คิดจะต่อสู้ โจโฉเห็นว่ากาเซี่ยงพูดจาน่าฟังดูจะเป็นคนมีสติปัญญา จึงชวนให้ทำราชการกับตน จะตั้งให้เป็นที่ปรึกษา กาเซี่ยงก็ตอบว่า

“…….ครั้งข้าพเจ้าทำราชการอยู่ด้วยลิฉุย ลิฉุยทำการหยาบช้าต่อแผ่นดิน ความร้ายก็พลอยมีอยู่กับข้าพเจ้า ด้วยข้าพเจ้ายังมิได้มีความชอบแก้โทษก่อน ซึ่งมหาอุปราชจะตั้งข้าพเจ้าเป็นที่ปรึกษานั้น พระคุณหาที่สุดมิได้ แต่เตียวสิ้วนั้นได้มีคุณแก่ข้าพเจ้า เตียวสิ้วมิได้มีผู้ใดเป็นที่ปรึกษา ข้าพเจ้าจะขออยู่ทำราชการด้วยเตียวสิ้ว ก็เหมือนอยู่ในมหาอุปราช……..”

โจโฉก็มิได้ว่าประการใด วันรุ่งขึ้นกาเซี่ยงจึงพาเตียวสิ้วไปคำนับโจโฉ แล้วเชิญให้ยกทหารเข้าไปตั้งอยู่ในเมืองอ้วนเซีย โจโฉก็ยินดีจึงให้ทหารตั้งค่ายรายล้อมรอบกำแพงเมือง ส่วนตนเองพานายทหารคนสนิท เข้าพักในที่รับรองของเตียวสิ้วในเมือง ตามคำเชิญของเตียวสิ้ว ซึ่งจัดการเลี้ยงดูอย่างดี โจโฉก็พักอยู่หลายวัน

เตียวสิ้วมีอาชื่อเตียวเจ ซึ่งได้ถึงแก่ความตายไปแล้ว เหลือแต่อาสะใภ้ชื่อนาง เจ๋าซือ ซึ่งยังมีอายุไม่มาก มีรูปงามกิริยามารยาทเรียบร้อย เป็นที่เล่าลือกันจนรู้ถึงโจโฉ วันหนึ่งโจโฉดื่มสุราพอเมาได้ที่ดี ก็ใช้ให้โจอันบิ๋นหลานชายไปรับนางเจ๋าซือมาพบ นางก็ต้องมาตามคำสั่งของแม่ทัพใหญ่ ที่เจ้าเมืองยอมอ่อนน้อม โจโฉเห็นนางนั้นงามก็มีความยินดี ถามชื่อแซ่แล้วก็ว่านางรู้จักตนหรือไม่ นางเจ๋าซือก็ตอบว่า

“…..ข้าพเจ้ามิได้รู้จักท่าน ได้ยินข่าวเล่าลือว่าท่านเป็นมหาอุปราช ซึ่งข้าพเจ้าได้มาพบท่านครั้งนี้ ก็เป็นบุญของข้าพเจ้า…….”

โจโฉจึงทวงบุญคุณว่า

“……เพราะเราเห็นแก่เจ้า เราจึงยอมให้เตียวสิ้วมาเกลี้ยกล่อม หาไม่เราจะฆ่าเตียวสิ้วแลญาติพี่น้องเสียให้สิ้น…….”

นางเจ๋าซือก็คำนับแล้วว่า ซึ่งมหาอุปราชยกโทษไว้นั้นคุณหาที่สุดมิได้ โจโฉเลยรวบรัดเอาว่าตนจะเลี้ยงนางเป็นภรรยา แล้วจะพาไปอยู่ที่เมืองฮูโต๋ นางจะขัดข้องหรือไม่ นาง เจ๋าซือจึงว่าตามแต่จะเมตตา โจโฉจึงพานางเข้าไปนอนอยู่ด้วยกันในที่พัก จนกระทั่งรุ่งเช้า นาง เจ๋าซือจึงบอกว่า

“……..ซึ่งจะอยู่ในเมืองนี้ ความครหานินทาก็จะมีเป็นอันมาก ประการหนึ่ง เตียวสิ้วรู้ก็จะมีความแหนงท่าน…….”

โจโฉก็เห็นชอบด้วย รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งจึงพานางเจ๋าซือออกไปอยู่ในค่าย แล้วสั่งเตียนอุยนายทหารองครักษ์ ให้รักษาประตูที่พักอย่าให้ใครเข้าออกได้ เว้นแต่จะสั่งด้วยตนเองเท่านั้น และโจโฉก็อยู่กับนางเจ๋าซือจนมิได้ออกว่าราชการ ทั้งไม่คิดจะยกกลับไปเมืองฮูโต๋ด้วย

ในฉากพิศวาสขาดใจตอนนี้ ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เล่าไว้ในสามก๊กฉบับนายทุน ตอน โจโฉนายก ฯ ตลอดกาล ว่า

ครั้นหญิงนั้นมาถึงไต่ถามได้ความว่า ชื่อเจ๋าซือเป็นภรรยาเตียวเจ้นั้นจริง พอได้คุยกันโจโฉก็เริ่มพูดจาแทะโลม ฝ่ายนางเจ๋าซือนั้นก็เป็นไก่แก่แม่ปลาช่อน เป็นหม้ายผัวตายมานาน ได้มาพบโจโฉผู้มีตำแหน่งถึงนายกรัฐมนตรี และได้มาพูดจากันในลักษณะสนิทสนมเป็นกันเอง นางก็เกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าโจโฉนี้น่าเอ็นดูอยู่ไม่น้อย และตำแหน่งนายกฯ นั้นก็ดูช่างสมกับผู้ชายที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่แบบโจโฉ ยิ่งทำให้น่ารักยิ่งขึ้นไปอีก แล้วเรื่องมันก็เป็นไปอย่างว่า

อันโจโฉนั้นเป็นคนขนาดนายกรัฐมนตรี ฉะนั้นความลับในเรื่องส่วนตัวจึงมีได้ยาก เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำให้บุคคลที่อยู่ในตำแหน่ง เป็นบุคคลสาธารณะ บุคคลที่อยู่ในตำแหน่งเช่นนี้ ถึงแม้ว่าจะมิได้ทำอะไรจริง ก็มีคนคอยหาข่าวเอาไปลือกันสนุก จะเท็จจริงอย่างไรก็ช่าง เอาแต่ความสนุกเพลิดเพลินของผู้ลือนั้นเป็นประมาณ แต่สิ่งที่โจโฉทำไปคราวนี้นั้น เป็นความจริง ฉะนั้นภายในเวลาไม่ช้าไม่นาน ข่าวก็แพร่สะพัดไปทั่วเมืองอ้วนเซียว่า ท่านนายกฯโจโฉนั้นมีอะไร ๆ กันอยู่กับนางเจ๋าซือรูปงาม แม่หม้ายของเตียวเจ้

ส่วนท่าน ยาขอบ ก็บรรยายไว้ใน สามก๊กฉบับวณิพก ชุด เตียนอุยผู้ถือศพเป็นอาวุธ ไว้อย่างน่าอ่านว่า

แล้วผู้ยิ่งใหญ่ก็โอ้โลมปฏิโลมแสดงอำนาจ ที่มือตัวเหมือนกับเป็นผู้กำอำนาจในแผ่นดินไว้ พร้อมทั้งกล่าวขู่ไปในตัวเสร็จว่า ได้ข่าวว่าแม่ม่ายสาวผู้นั้นเป็นหญิงรูปงามดอก ตนจึงเห็นแก่การที่เตียวสิ้วเข้ามาอ่อนน้อม หากหาไม่แล้วเมืองอ้วนเสียสักหยิบมือเท่านี้ บุกเข้ามาฆ่าเตียวสิ้วเสียเมื่อใดก็ได้ ม่ายงามเจ๋าซืออาสะใภ้ของเตียวสิ้ว ก็เท่ากับลูกไก่อยู่ในกำมือของโจโฉ ยอมเป็นคู่ร่วมภิรมย์สมสู่ในราตรีนั้นเอง

ครั้นแล้วเมื่อได้ฟอนสวาทต่อกัน ตอนจนใกล้จะรุ่งเช้านางเจ๋าซือก็กล่าวแก่โจโฉว่า ซึ่งจะภิรมย์สมสู่ต่อกันอยู่ในเมืองฉะนี้ จะเป็นที่อัปยศ ด้วยคนทั้งปวงตระหนักในฐานะของนางดี ฉะนั้นขอให้พากันไปให้พ้นหูพ้นตาชาวอ้วนเสีย เสียเถิด โจโฉเห็นด้วยกับคำของม่ายงาม จึงพานางเจ๋าซือออกไปอยู่เสียกับกองทัพของตนนอกเมือง

พฤติการณ์ที่โจโฉปฏิบัติไป เป็นที่ปวดร้าวในใจเตียวสิ้วอย่างสาหัส บ้านเมืองก็ยกให้แล้ว ดูรึ ยังดูหมิ่นกันอย่างร้ายแรง ในทางขนบประเพณีของจีน เตียวสิ้วผู้ไม่คิดสู้โจโฉมาตั้งแต่ต้น บัดนี้ก็คิดสู้เพื่อเกียรติศักดิ์ของตนเอง และวงศ์ตระกูล

ส่วนสำนวนจาก สามก๊กฉบับแปลใหม่ ของ วรรณไว พัธโนทัย บรรยายว่า

โจโฉพิศดูเห็นนางช่างงามจับใจ จึงถามชื่อแซ่

สาวงามตอบว่า “ ข้าพเจ้าเป็นภรรยาเตียวเจ ชื่อเจ๋าซือ “

โจโฉถามว่า “ ฮูหยินรู้จักข้าพเจ้าไหม “

เจ๋าซือตอบว่า “ ข้าพเจ้าได้ยินชื่อของพระคุณท่านมาช้านานแล้ว วันนี้เป็นบุญที่ได้มาพบตัวจริง เป็นโอกาสให้ข้าพเจ้าได้แสดงคารวะ ต่อพระคุณท่านอย่างใกล้ชิด “

โจโฉจึงว่า “ ข้าพเจ้าเห็นแก่ฮูหยินดอกหนา จึงยอมให้เตียวสิ้วเข้ามา สวามิภักดิ์ หาไม่แล้วข้าพเจ้าจะสังหารเตียวสิ้วเสีย และจะสับรากสับกิ่งให้หมดสิ้น “

เจ๋าซือกระทำคำนับแล้วว่า “ ข้าพเจ้ารู้ดีว่า ข้าพเจ้านี้เป็นหนี้ชีวิตอยู่กับพระคุณท่าน ข้าพเจ้าสำนึกในพระเดชพระคุณหาที่สุดมิได้ “

โจโฉพร่ำพูดต่อไปว่า “ ข้าพเจ้าได้เห็นฮูหยิน เหมือนหนึ่งได้เห็นสวรรค์ชั้นฟ้า แต่ยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งข้าพเจ้าปรารถนายิ่งกว่านี้ นั่นคือขอฮูหยินโปรดอยู่กับข้าพเจ้าที่นี่เถิด ข้าพเจ้าจะพาฮูหยินเข้าไปยังพระนครฮูโต๋ แล้วฮูหยินก็จะเห็นเองว่า ข้าพเจ้าได้เลี้ยงดูยกย่องฮูหยินไว้ในที่อันควรเพียงใด ไม่ทราบว่าฮูหยินจะว่าอย่างไรในเรื่องนี้ “

เจ๋าซือกระทำคำนับขอบพระเดชพระคุณโจโฉอีกครั้งหนึ่ง

และคืนนั้นนางก็อยู่หลับนอนกับโจโฉ

เจ๋าซือฉะอ้อนกับโจโฉว่า “ ถ้าข้าพเจ้าอยู่ที่นี่นานไป เตียวสิ้วคงจะกินแหนงแคลงใจ ทั้งความครหานินทาก็จะเกิดมากขึ้นด้วย “

โจโฉว่า “ ถ้าเช่นนั้นขอเชิญฮูหยินไปอยู่กับข้าพเจ้าในค่ายนอกเมืองเถิด”

วันรุ่งขึ้นโจโฉจึงพาเจ๋าซือไปอยู่ด้วยกัน ณ ค่ายนอกเมือง สั่งให้เตียนอุย อยู่รักษาประตู และสั่งห้ามบุคคลภายนอกเข้าข้างในโดยโจโฉมิได้อนุญาตเป็นอันขาด

นานวันเข้าเรื่องก็รู้ถึงหูเตียวสิ้ว จึงหากาเซี่ยงมา
ปรึกษาว่าจะทำประการใด จึงจะแก้แค้นโจโฉได้ กาเซี่ยงจึงวางแผนให้ทหารของเมืองอ้วนเซีย ไปตั้งกองอยู่หว่างค่ายทหารของโจโฉ อ้างว่าเพื่อมิให้ทหารหนี โจโฉก็ไม่ขัดข้อง เตียวสิ้วจึงเรียกเฮาเฉียนายทหารเอก เข้ามาปรึกษาว่าตนจะคิดจับตัวโจโฉ เกรงอยู่แต่เตียนอุยซึ่งรักษาประตูนั้น มีกำลังเป็นอันมากจะทำการมิสะดวก

เฮาเฉียก็รับอาสาว่า

“……ข้าพเจ้ามีกำลังแบกเหล็กได้ห้าร้อยชั่ง เดินทางได้วันละเจ็ดพันเส้น ขอให้คิดอ่านเอาทวนสองเล่มซึ่งเตียนอุยถืออยู่นั้นมาเสียได้แล้ว ถึงเตียนอุยจะมีกำลังสักเท่าใด ข้าพเจ้าก็จะสู้ได้ ขอให้ท่านเชิญเตียนอุยมากินโต๊ะ เสพสุราเมาแล้วกลับไปก็จะนอนหลับอยู่ ข้าพเจ้าจะปลอมเข้าไปลักเอาทวนสองเล่มมาให้ได้ ท่านจึงคิดทำการต่อไป อย่าได้กลัวเตียนอุยเลย…….”

เตียวสิ้วก็ทำตามแผนการนั้น โดยให้กาเซี่ยงไปเชิญเตียนอุย มากินเลี้ยงที่ค่ายของตน และหลอกล่อให้เสพสุราจนเมาหนัก ครั้นกลับมารักษาการณ์ที่หน้าที่พักของโจโฉ ก็เลยลงเอนอิงพิงฝาหลับอยู่หน้าประตู เฮาเฉียก็แอบเข้าไปลักเอาทวนสองเล่ม หนักถึงร้อยหกสิบชั่งมาได้พอถึงเวลาสองยาม ทหารของเตียวสิ้วก็ลอบเข้ามาเผาค่ายของโจโฉ เพลิงนั้นก็ติดสว่างขึ้นรอบค่าย

โจโฉกำลังเสพสุราเพลิดเพลินอยู่กับนางเจ๋าซือ ก็มิได้ตกใจสั่งให้ทหารช่วยกันดับไฟเสีย แต่กลับมีเสียงประทัดดังขึ้นเป็นสัญญาณ แล้วทหารของเตียวสิ้วก็บุกเข้ามาอื้ออึง โจโฉจึงร้องเรียกเตียนอุยให้ช่วย เตียนอุยก็ตกใจตื่นขึ้น มิทันได้สวมเกราะทั้งอาวุธคู่มือก็หายไป จึงฉวยดาบของทหารเลวมาต่อสู้กับข้าศึก แต่ฆ่าไปเท่าไรก็มีเพิ่มเข้ามากลุ้มรุมรบมิได้หมด จนดาบนั้นหักสบั้นไปกับมือ ตนเองก็ถูกอาวุธของข้าศึกทั่วกาย จึงใช้พละกำลังของตนฉวยเอาศพของทหารข้าศึก ฟาดข้าศึกที่ดาหน้าเข้ามาตายไปอีกหลายคน ทหารของเตียวสิ้วก็ขยาดถอยออกไปให้ห่าง แล้วก็ระดมยิงเกาทัณฑ์ปักติดเตียนอุยทั่วกาย ยืนตายพิงประตูที่พักของโจโฉจังก้าอยู่ ทหารข้าศึกไม่ทันรู้ก็ไม่กล้าบุกเข้าถึงตัว

แล้วท่าน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) ก็บรรยายความต่อไปว่า

ในขณะเมื่อเตียนอุยยังรบสู้อยู่นั้น โจโฉจึงขึ้นม้าพาโจอันบิ๋นกับทหาร ประมาณเก้าคนสิบคน หนีออกข้างหลังค่ายได้ ฝ่ายทหารโจโฉซึ่งอยู่ต่างค่ายนั้น แตกกระจัดกระจายหนีข้ามแม่น้ำหยกซุยไปได้บ้าง เหล่าทหารเตียวสิ้วนั้นฆ่าฟันทหารโจโฉล้มตาย ครั้นรู้ว่าโจโฉหนีออกไปข้างหลังค่าย จึงชวนกันยกติดตามไป เอาเกาทัณฑ์ยิงถูกโจอันบิ๋นตกม้าตาย โจโฉนั้นถูกเกาทัณฑ์แห่งหนึ่ง ม้าซึ่งโจโฉขี่นั้นมีกำลังมาก ถูกเกาทัณฑ์สามดอกมิได้ล้ม โจโฉขับม้าหนีไปถึงแม่น้ำหยกซุยแต่ผู้เดียว ทหารเตียวสิ้วเอาเกาทัณฑ์ยิงระดมไปถูกจักษุม้าล้มลงตาย

พอโจงั่งผู้บุตรโจโฉมาพบโจโฉเข้า จึงเอาม้านั้นให้บิดาขี่ พอทหารเตียวสิ้วยิงเกาทัณฑ์มาถูกโจงั่งตายอยู่ริมฝั่ง โจโฉหนีไปพบทหารซึ่งแตกมาเป็นอันมาก ก็พากันรีบหนีไป

บทเรียนที่มีราคาแพงครั้งนี้ โจโฉต้องสูญเสียทั้งบุตรและหลาน และทหารเลวอีกมากมาย แต่ก็ไม่เสียใจเท่ากับการที่ต้องเสียนายทหารองครักษ์ผู้ซื่อสัตย์เลย โจโฉจึงให้แต่งโต๊ะรินสุราเซ่นเตียนอุย แล้วกล่าวแก่ทหารว่า ถึงบุตรกับหลานเราตาย ก็มิเสียดายเท่าเตียนอุยเลย

ส่วนนางเจ๋าซือแม่ม่ายเจ้าเสน่ห์ ผู้เป็นต้นเหตุที่ทำให้ฝ่ายชนะ กลายเป็นฝ่ายแพ้นั้น ก็ไม่ปรากฎว่าเป็นตายร้ายดีประการใด คงหายสูญไปจากสามก๊กตั้งแต่นั้นด้วยเช่นกัน.

###########


นิตยสารทหารสื่อสาร
พฤษภาคม ๒๕๓๔




 

Create Date : 25 มิถุนายน 2553    
Last Update : 25 มิถุนายน 2553 21:05:15 น.
Counter : 1278 Pageviews.  

เหยื่อรายสุดท้าย (บันทึกจากสามก๊ก)

บันทึกจากสามก๊ก

เหยื่อรายสุดท้าย

“ เทพารักษ์ “

ในประวัติการรบของ กวนอู พี่น้องร่วมสาบานของเล่าปี่ และเตียวหุย แห่งจ๊กก๊กนั้น ตั้งแต่ได้ง้าวยาวสิบเอ็ดศอก หนักแปดสิบสองชั่ง มาเป็นอาวูธคู่มือแล้ว ก็มีทหารเอกของข้าศึก ต้องมอดม้วยลงด้วยคมง้าวนี้นับสิบราย และไม่มีใครสามารถจะยืนสู้อยู่ได้เกินสามเพลงเลย ตลอดเวลาสามสิบปีที่อยู่ในสมรภูมิ นอกจากข้าศึกคนสุดท้ายของเขา ที่หาญเข้ามาต่อกรด้วยง้าวเหมือนกัน และทนทานอยู่ได้ถึงร้อยเพลง ข้าศึกผู้นั้นชื่อ บังเต๊ก

เดิมบังเต๊กเป็นทหารเอกของม้าเฉียว ทายาทเมืองเสเหลียง ต่อมาม้าเฉียวไปเข้าเป็นพวกเล่าปี่ แต่บังเต๊กกลับพลัดไปเข้าเป็นพวกโจโฉ จึงอยู่ฝ่ายตรงข้ามกัน เมื่อโจโฉแห่งวุยก๊กร่วมมือกับซุนกวนแห่งง่อก๊ก รบกับกวนอูที่เมืองเกงจิ๋ว ด่านหน้าของเมืองเสฉวน บังเต๊กก็ขออาสาเป็นทัพหน้าของโจโฉ ยกไปรบกับกวนอูที่เมืองอ้วนเซีย ด้วยความตั้งใจว่าจะเอาชนะให้จงได้

บังเต๊กจึงให้ต่อโลงขึ้นมาใบหนึ่ง แล้วเชิญชาวบ้านพวกเพื่อนพ้อง มาเลี้ยงโต๊ะก่อนจะยกทัพออกจากเมืองไปทำศึกสงคราม และยกโลงมาตั้งไว้ต่อหน้าคนทั้งปวง แล้วบังเต๊กก็ชูจอกเหล้าขึ้นประกาศว่า

“ พระเจ้าวุยอ๋องมีคุณแก่เรา บัดนี้เราจะอาสาไปทำการสงครามกับกวนอู ครั้งนี้ก็เป็นที่สุดอยู่แล้ว ถ้ากวนอูไม่ตายเราก็จะตายเป็นมั่นคง “

แล้วบังเต๊กก็เรียกนางลิซีผู้เป็นภรรยามาสั่งว่า

“ ถ้าเราหาบุญไม่ บังโฮยบุตรชายของเรานี้มีลักษณะดี จงอุตส่าห์เลี้ยงไว้ จะได้ไปรบกับกวนอูแทนตัวเรา “

และเมื่อจะเคลื่อนขบวนทัพนั้น บังเต๊กก็ประกาศสัจจะแก่ทหารทั้งปวงว่า

“ ถ้าเราตาย ท่านจงเอาใส่โลงนี้มาถวาย ถ้าเราฆ่ากวนอูตาย จงตัดเอาศรีษะ กวนอู ใส่โลงมาถวาย “

พฤติกรรมของบังเต๊กนี้ คงจะไม่ค่อยมีผู้ใดยกย่องนัก ท่าน ยาขอบ แห่งสามก๊กฉบับวนิพก จึงเขียนไว้ในตอน กวนอู เทพเจ้าแห่งความสัตย์ซื่อ แต่เพียงว่า

ทัพกวนอูผ่านแนวต้านทานของฝ่ายโจโฉมา ราวกับน้ำเหนือรุด ถึงกับล้อมเมืองอ้วนเสียไว้ได้ และขยี้ทหารเอกที่โจหยินส่งออกรบเสียหมดทุกคน โจหยินจึงบอกไปถึงโจโฉ ๆ ให้ทหารเอกคนหนึ่งชื่อบังเต๊ก ซึ่งอาสารบกวนอูโดยต่อโลงไปเสร็จ ว่าถ้ากวนอูไม่ตายตัวเองก็คงตาย บังเต๊กเป็นคนฝีมือดีคู่ควรของกวนอู ได้รบกันถึงร้อยเพลง ได้เอาเลือดของกวนอูออกได้

แม้แต่ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช แห่งสามก๊กฉบับนายทุน ตอน โจโฉ นายก ฯ ตลอดกาล ก็เล่าไว้นิดเดียวเหมือนกันว่า

บังเต๊กนั้นได้ออกรบกับกวนอูตัวต่อตัวสองครั้ง ครั้งแรกนั้นรบกันด้วยเพลงอาวุธบนหลังม้าถึงร้อยเพลง ก็มิแพ้ชนะกันต่างคนต่างล่าทัพกลับเข้าค่าย หนที่สองได้พบกันอีก บังเต๊กเอาเกาทัณฑ์ยิงถูกกวนอูบาดเจ็บที่ไหล่ กวนอูต้องถอยทัพกลับเข้าค่าย ตั้งแต่นั้นมาบังเต๊กไปท้าทายกวนอู ก็มิได้ออกมารบด้วยอีก แต่ถอยค่ายขึ้นไปอยู่บนเนินเขาที่สูง

ตรงข้ามกับ สามก๊กฉบับแปลใหม่ ของ วรรณไว พัธโนทัย ได้บรรยายไว้โดยละเอียดละออว่า

บังเต๊กให้เคลื่อนทัพ และให้ทหารตีกลองโห่ร้องอื้ออึงอึกทึกตลอดทาง จนกระทั่งเข้าใกล้เมืองอ้วนเสีย ขณะนั้นกวนอูนั่งอยู่ในค่าย ม้าเร็วเข้ามารายงานว่า

“ บัดนี้โจโฉให้อิกิ๋มเป็นแม่ทัพ คุมทหารฝีมือดียกมาเจ็ดกอง บังเต๊กเป็นกองหน้า แบกโลงศพมาด้วย แล้วกล่าวคำอวดโตโอหัง จะรบให้รู้เป็นรู้ตายกับท่าน ขณะนี้ทัพหน้าอยู่ห่างจากเมืองประมาณสามสิบลี้ “

กวนอูได้ฟังดังนั้นโมโหหนวดกระดิก ใบหน้าเปลี่ยนสีทันที พูดว่า

“ ยอดนักรบทั้งหลายในใต้ฟ้านี้ เมื่อได้ยินกิตติศัพท์ของเรา ไม่มีใครสักคนที่จะไม่สยบหัว นี่อ้ายบังเต๊ก อ้ายคนต่ำช้าสารเลว บังอาจมาดูถูกเราถึงเพียงนี้เชียวหรือ กวนเป๋งเจ้าจงคุมทหารไปตีเมืองอ้วนเสีย พ่อจะไปพิฆาตอ้ายคนโอหังนั้นให้สมแค้นเอง “

กวนเป๋งจึงว่า “ ท่านพ่ออย่าเอาความยิ่งใหญ่ของเขาไท่ซาน ไปวัดกับก้อนหินเลย ข้าพเจ้าขออาสาไปลองฝีมือกับบังเต๊กแทนเถิด “

กวนอูจึงว่า “ เจ้าจะลองดูก่อนก็ตามที เราจะยกตามไปด้วย “

แล้วกวนอูคว้าง้าวขึ้นม้าออกจากค่าย นำทหารไปรับศึกบังเต๊กทันที สองฝ่ายตั้งทัพประจันหน้ากัน กองทัพเมืองวุยตั้งธงผืนใหญ่ เขียนอักษรว่า บังเต๊กเมืองลำอั๋น ตัวบังเต๊กสวมเสื้อครุยเขียว ทับด้วยเกราะเงิน ถือง้าวขี่ม้าขาว ออกมายืนอยู่หน้าทัพ มีทหารห้าร้อยติดตามมา กับมีทหารแบกโลงศพมาด้วย

กวนเป๋งเห็นเช่นนั้นก็ตะโกนด่าบังเต๊กว่า “ อ้ายโจรทรยศนาย “

บังเต๊กหันไปถามทหารว่า “ อ้ายบ้านั่นเป็นใคร “

ทหารตอบว่า “ กวนเป๋งบุตรบุญธรรมของกวนอู “

บังเต๊กจึงตวาดไปว่า “ กูได้รับสั่งจากวุยอ๋อง ให้มาเอาหัวพ่อมึง มึงเป็นแต่ลูกเล็กเด็กน้อย กูไม่อยากฆ่าให้เสียมือ จงไปเรียกพ่อมึงออกมาสู้กันดีกว่า “

กวนเป๋งได้ฟังดังนั้นก็โกรธนัก ควบม้าเข้ารบกับบังเต๊ก
ทันที รบกันอยู่สามสิบเพลง ยังไม่รู้แพ้รู้ชนะต่างฝ่ายต่างก็อ่อนเพลีย จึงถอยกลับเข้าค่าย

ตอนนี้ลองอ่านสำนวนจากฉบับหลวงของท่าน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) บ้าง ท่านได้รจนาไว้ว่า

กวนอูก็ยกทัพรีบตามกวนเป๋งออกไป กวนเป๋งครั้นเห็นกวนอูมาจึงบอกว่า ข้าพเจ้ารบกับบังเต๊กได้สามสิบเพลง ยังไม่เอาชัยชนะได้ บังเต๊กก็ล่าทัพไป กวนอูก็เร่งทหารเข้าประชิดค่ายบังเต๊กไว้ แล้วจึงร้องว่า เราชื่อกวนอู ท่านจงเร่งเอาชีวิตมาให้แก่เราเถิด

บังเต๊กครั้นได้ยินดังนั้นจึงออกมาร้องว่า พระเจ้าวุยอ๋องใช้ให้เรามาเอาศรีษะท่าน ถ้าท่านไม่เชื่อก็แลมาดูแต่โลงนี้เถิด แม้กลัวความตายก็ให้เร่งลงจากม้ามานบนอบแก่เรา เราจะช่วยเอาชีวิตไว้

กวนอูจึงว่า เอ็งว่านั้นกูเห็นเกินไปไม่สมควร กูจะฆ่ามึงเหมือนฆ่าหนูน้อยเสียตัวหนึ่ง กูคิดเสียดายคมง้าวของกู กวนอูว่าดังนั้นแล้วก็ขับม้าถือง้าวเข้ารบกับบังเต๊ก รบกันได้ร้อยเพลงเศษก็ยังมิได้แพ้ชนะกัน ฝ่ายทหารทั้งปวงกลังบังเต๊กจะแพ้ จึงให้ตีม้าล่อเป็นสำคัญให้ถอยไป กวนเป๋งเห็นว่าบิดาชรากลัวจะเสียที ก็ให้ตีม้าล่อล่าทัพ ต่างคนต่างก็กลับไป

ฝ่ายบังเต๊กมาถึงค่ายแล้ว จึงว่าแก่ทหารทั้งปวงว่า เขาเล่าลือมาว่ากวนอูมีฝีมือ เราพึ่งได้เห็นวันนี้เขาดีจริง

ฝ่ายกวนอูครั้นกลับมาถึงค่ายแล้ว จึงว่ากับกวนเป๋งว่า บังเต๊กนี้เขาก็ดีอยู่ ในกระบวนง้าวมีฝีมือพอทันกันกับเรา กวนเป๋งจึงว่าแก่บิดาว่า ถึงมาตรว่าท่านจะต่อรบฆ่าบังเต๊กเสีย ถ้าชนะก็เหมือนชนะผู้หญิง ถ้าขุกแพ้แก่มันก็จะเสียเกียรติยศของพระเจ้าฮันต๋ง หาควรไม่ กวนอูจึงว่า ถ้าเรามิฆ่าอ้ายบังเต๊กเสียได้ ก็หาหายความแค้นไม่ เจ้าอย่าว่าดังนี้เลย

และ สามก๊กฉบับคลาสสิก ของ วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ ก็บรรยายไปอีกทางหนึ่งว่า

พังเต็ก (บังเต๊ก) กลับมาถึงค่าย พูดกับบรรดานายทหารว่า กวนอูเป็นยอดบุรุษจริง ๆ วันนี้จึงเพิ่งยอมเชื่อว่าว่ายอดเยี่ยมทีเดียว

ฝ่ายกวนอูกลับมาถึงค่ายปรารภกับกวนเพ้ง (กวนเป๋ง) ว่า วิชาเพลงง้าวของพั่งเต็กมีความเชี่ยวชาญ นับว่าสมเป็นศัตรูคู่ต่อสู้ของข้าทีเดียว กวนเพ้งพูดขึ้นว่า อันคำธรรมดาสามัญกล่าวว่า ไอ้ลูกโคเพิ่งเกิดใหม่มิเกรงกลัวเสือ ท่านพ่อมาตรแม้นจะสังหารไอ้คนผู้นี้ มันก็เพียงไพร่พลเล็ก ๆ แห่งแคว้นไซเกียง (ชื่อชนเผ่าเล็กทิศตะวันตก) เท่านั้น แต่ถ้าเกิดมีการผิดพลาด ซึ่งมิใช่เรื่องที่ท่านลุงฝากฝังเอาไว้ กวนอูกล่าวว่า ข้ามิสังหารไอ้คนผู้นี้ไฉนจะชำระความแค้นได้ ข้าตัดสินใจเด็ดขาดแล้ว เจ้าไม่ต้องพูดมาก

เหตุการณ์ต่อจากนั้น วรรณไว พัธโนทัย เล่าไว้ว่า

วันรุ่งขึ้นกวนอูขึ้นม้านำหน้าทัพออกรบอีก บังเต๊กก็เคลื่อนทหารออกมารบ ทั้งสองฝ่ายตั้งทัพประจันหน้ากัน แล้วกวนอูกับบังเต๊กขับม้าออกมาหน้าทหารพร้อมกัน และเข้ารบกันโดยไม่ต้องพูดจาปราศรัยใด ๆ ทั้งสิ้น รบกันได้ห้าสิบกว่าเพลง บังเต๊กชักม้าหนีกลับ กวนอูรีบควบม้าไล่ตาม กวนเป๋งเกรงกวนอูจะเสียกล รีบขับม้าตามไปด้วย

กวนอูร้องตะโกนด่าบังเต๊กว่า

“ อ้ายมหาโจร มึงอย่าแกล้งทำเป็นหนีเลย คนอย่างกูน่ะหรือจะกลัวมึง “

อันบังเต๊กแกล้งทำเป็นเสียที ขณะถอยหนีก็เอาง้าวพาดตักไว้ แล้วลอบชักเกาทัณฑ์ออกมาจะยิง กวนเป๋งตาไวเห็นบังเต๊กขึ้นเกาทัณฑ์ก็ร้องตะโกนลั่นว่า

“ อ้ายมหาโจร มึงเก่งจริงอย่าใช้เกาทัณฑ์สิ “

ขณะที่กวนอูเขม็งตาจ้องไปนั้น บังเต๊กปล่อยลูกเกาทัณฑ์มาแล้ว กวนอูหลบไม่ทันลูกเกาทัณฑ์แล่นเข้าปักไหล่ซ้ายของกวนอู กวนเป๋งเข้ากันเอาตัวบิดากลับเข้าค่าย

ตั้งแต่นั้นบังเต๊กก็หมดโอกาสที่จะเอาชนะกวนอูได้ เพราะอิกิ๋มแม่ทัพใหญ่กลัวว่าบังเต๊กจะมีความชอบเหนือตน จึงห้ามไม่ให้บังเต๊กออกรบอีก กวนอูจึงมีเวลารักษาแผลเกาทัณฑ์จนหาย และอิกิ่มยังสั่งให้ย้ายค่าย ไปตั้งกลางทุ่งในหุบเขาจันเค้า ซึ่งขณะนั้นเป็นฤดูฝน เมื่อฝนตกติดต่อกันหลายวัน น้ำในแม่น้ำซงกั๋งก็เอ่อสูงขึ้นทุกที จนไหลบ่าเข้ามาท่วมค่ายของบังเต๊กและอิกิ๋ม อย่างรวดเร็ว สูงถึงหกศอก จนทหารหนีไม่ทันจมน้ำตายไปก็มาก ที่เหลือก็แยกย้ายกันไปอาศัยที่ดอนอยู่ ไม่เป็นหมู่หมวด

กวนอูจึงยกทหารลงเรือ เข้าโจมตีค่ายของอิกิ๋มและบังเต๊ก อิกิ๋มนั้นยอมแพ้แต่โดยดี ส่วนบังเต๊กต่อสู้อย่างทรหด จนเหลือแต่ตัวคนเดียว จึงถูกจับตัวได้เช่นกัน

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สรุปผลของการรบครั้งนี้ไว้ว่า

บังเต๊กนั้นโชคร้าย มีแม่ทัพใหญ่ที่มิได้เป็นใจด้วย มิหนำซ้ำคอยขัดขวางเกรงว่า บังเต๊กจะได้ดี ด้วยอิกิ๋มแม่ทัพใหญ่นั้นเป็นคนโลเลขาดความกล้าหาญ และคอยกีดกันมิให้บังเต๊กได้ปฏิบัติการเต็มความสามารถ เผอิญเป็นเคราะห์ดีของกวนอูที่เกิดน้ำท่วมในสมรภูมิ ค่ายกวนอูตั้งอยู่บนเนินเขาจึงมิต้องเดือดร้อน กวนอูก็จัดเตรียมเรือไว้เป็นจำนวนมาก แต่ค่ายของฝ่ายโจโฉนั้นตั้งอยู่ในทุ่ง จึงต้องรับความเดือดร้อนมากเพราะน้ำท่วม

กวนอูเห็นได้ทีก็ให้ทหารลงเรือมาตีเอาค่ายฝ่ายโจโฉ และจับอิกิ๋มแม่ทัพใหญ่ไว้ได้โดยละม่อม กวนอูให้เอาตัวไปจำคุกไว้จนกว่าจะเสร็จการศึก ส่วนบังเต๊กนั้นได้ต่อสู้กับศัตรูเป็นสามารถ ชักชวนพวกพ้องให้สู้ตาย บังเต๊กนั้นก็ต่อสู้จนเหลือแต่ตัวคนเดียว โดดลงเรือน้อยลำหนึ่ง มือหนึ่งแจว อีกมือหนึ่งถืออาวุธคงต่อสู้ต่อไป แต่จิวฉองทหารของกวนอูเอาเรือเกยเรือบังเต๊กล่ม และจับตัวบังเต๊กได้

บังเต๊กนั้นถึงจะถูกจับตัวได้แล้ว ก็มิได้แสดงกิริยาสะทกสะท้านหรืออ่อนน้อมต่อกวนอู ๆ จึงให้เอาตัวไปฆ่าเสีย โจโฉต้องสูญเสียทหารเอกที่มีใจซื่อสัตย์ กล้าหาญ และฝีมือยอดเยี่ยมไปอีกคนหนึ่ง

นั่นคือฉากสุดท้ายของบังเต๊ก นักรบที่มีฝีมือคู่ควรกับกวนอู ผู้มีชื่อเสียงเกรียงไกร ในยุทธภูมิสามก๊กมานานถึงสามสิบปี และเขาก็ไม่ได้ตายด้วยคมง้าว ของเจ้ายุทธจักรแห่งเสฉวน แต่ตายด้วยความซื่อสัตย์ ที่ไม่ยอมค้อมหัวให้แก่ศัตรู ด้วยความผิดหวังอย่างยิ่ง ที่ไม่ได้ใช้โลงศพซึ่งอุตส่าห์ลากมาด้วย ใส่ร่างของตนกลับไปถวายวุยอ๋อง สมดังปณิธาณที่ตั้งไว้แต่แรก

ส่วนกวนอูผู้พิชิตเขาในครั้งนี้ ก็ไม่รอดเช่นกัน สุดท้ายต้องหนีกองทัพของซุนกวน ไปจนตรอกอยู่ที่เมืองเป๊กเสีย และถูกจับตัวไปประหารชีวิต ในเวลาอีกไม่นานเหมือนกัน.

############




 

Create Date : 24 มิถุนายน 2553    
Last Update : 24 มิถุนายน 2553 20:19:01 น.
Counter : 1577 Pageviews.  

วาระสุดท้ายของสองเจ้าเมือง

บันทึกจากสามก๊ก

วาระสุดท้ายของสองเจ้าเมือง

เทพารักษ์

เจ้าเมืองปักเป๋งมีชื่อว่า กองซุนจ้าน เป็นเพื่อนกับ เล่าปี่ ตั้งแต่เล่าปี่ยังเป็นเจ้าเมืองเพงง้วนก๋วน ครั้งนั้นกองซุนจ้านได้พาเล่าปี่ไปร่วมกับกองทัพกู้ชาติของ โจโฉ ซึ่งมี อ้วนเสี้ยว เป็นแม่ทัพด้วย เมื่อกองทัพจับฉ่ายนี้ไม่ประสบความสำเร็จในการชับไล่ ตั๋งโต๊ะ มหาอุปราชคนแรกของพระเจ้าเหี้ยนเต้ ต้องแยกย้ายกันกลับเมืองแล้ว กองซุนจ้านก็แยกทางกับเล่าปี่ กลับมาปกครองบ้านเมืองของตนดังเดิม

อยู่มาไม่นานก็ได้รับหนังสือเชิญจากอ้วนเสี้ยว ให้ยกทหารไปช่วยกันตีเมืองกิจิ๋ว ถ้าสำเร็จแล้วจะแบ่งสมบัติให้ครึ่งหนึ่ง แต่กองซุนจ้านยังไม่ทันได้ยกพลไป อ้วนเสี้ยวก็ได้ครองเมืองกิจิ๋วเรียบร้อยไปแล้ว กองซุนจ้านจึงให้น้องชายไปทวงสมบัติที่ว่าจะแบ่งให้ อ้วนเสี้ยวก็บอกว่า กองซุนจ้านไม่ได้ทำอะไรเลย จะมาเอาส่วนแบ่งได้อย่างไร น้องชายก็ต้องกลับมามือเปล่า มิหนำซ้ำยังถูกอ้วนเสี้ยวทำอุบายดักฆ่าตายเสียในระหว่างเดินทางกลับอีกด้วย

กองซุนจ้านจึงยกทหารไปรบอ้วนเสี้ยวเป็นการแก้แค้น แต่ก็สู้อ้วนเสี้ยวไม่ได้ ดีแต่ จูล่ง และเล่าปี่กับน้องร่วมสาบานทั้งสองมาช่วยไว้ จึงรอดกลับมาถึงเมืองปักเป๋งได้

ต่อมาอีกนานพอควร อ้วนเสี้ยวก็ยกทัพมาตีเมืองปักเป๋งบ้าง การสงครามคราวนี้ สามก๊กฉบับนายทุน ตอนโจโฉ..นายก ฯ ตลอดกาล ของท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้กล่าวไว้ไม่ถึงบรรทัดว่า

อยู่มาวันหนึ่งโจโฉเชิญเล่าปี่มากินโต๊ะที่บ้าน ขณะที่เลี้ยงกันอยู่นั้นมีรายงานด่วนเข้ามาว่า อ้วนเสี้ยวได้ยกกองทัพ ไปตีเมืองของกองซุนจ้านแตก

ส่วน ยาขอบ ผู้ร่ายสามก๊กฉบับวนิพก ตอน เล่าปี่ผู้พนมมือให้แก่ชนทุกชั้น ได้ขยายความว่า อ้วนเสี้ยวนักเลงโตฝ่ายเหนือกำลังแผลงฤทธิ์ กำเริบขึ้นหนักมือ ยกมาขยี้กองซุนจ้านผู้ครองปักเป๋งสำเร็จ ตัวกองซุนจ้านเสียชีวิตสิ้น ทั้งบุตรภรรยา

แต่คุณวรรณไว พัธโนทัย กล่าวไว้ในสามก๊กฉบับแปลใหม่ว่า

ขณะเสพสุราอาหารกันนั้น ทหารเข้ามารายงานว่า ซึ่งโจโฉสั่งให้ หมันทองไปสืบข่าวอ้วนเสี้ยวนั้น บัดนี้หมันทองกลับมาแล้ว โจโฉจึงเรียกตัวเข้ามาพบ หมันทองรายงานว่า บัดนี้กองซุนจ้านเสียทีแก่อ้วนเสี้ยวแล้ว

เล่าปี่ซึ่งขณะนั้นได้ช่วยโจโฉปราบลิโป้ มีความชอบมาก โจโฉจึงพาเข้ามาเฝ้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ ที่เมืองหลวง พอฮ่องเต้ทราบว่า เป็นพระญาติพระวงศ์ระดับพระเจ้าอา ก็ปูนบำเหน็จรางวัล โดยแต่งตั้งให้เป็นเจ้ากรมวัง ขณะนั้นได้ร่วมโต๊ะกินเลี้ยงอยู่กับโจโฉ ก็ตกใจถึงอันตรายที่เพื่อนเก่าได้รับ จึงถามข่าวคราวจากผู้ที่เข้ามารายงาน ก็ได้ความจากที่หมันทองรายงานเพิ่มเติมว่า

“ กองซุนจ้านรบพุ่งกับอ้วนเสี้ยว เสียทัพหลายครั้ง จึงสั่งให้สร้างกำแพงรอบเมือง และให้สร้างหอคอยสูงสิบชั้น กวาดเสบียงอาหารสามสิบหมื่นถังเข้าไว้ในเมือง เกณฑ์ทหารรักษาหน้าที่เชิงเทินอย่างเข้มแข็ง ขณะนั้นหัวเมืองขึ้นของกองซุนจ้าน ถูกกองทัพอ้วนเสี้ยวตีแตกระส่ำระสาย จึงมีใบบอกขอให้กองซุนจ้านยกไปช่วย กองซุนจ้านตอบไปว่า ทหารของเราซึ่งอยู่แนวหลัง ก็กำลังคอยให้ผู้อื่นมาช่วยอยู่ มิได้มีใจสู้รบแล้ว จึงไม่สามารถจะยกไปช่วยได้ ด้วยเหตุนี้แลเมื่ออ้วนเสี้ยวยกทัพมา ทหารหัวเมืองซึ่งขึ้นแก่กองซุนจ้าน จึงผละไปเข้ากับอ้วนเสี้ยวเป็นอันมาก “

จากสามก๊กฉบับคลาสสิก ของคุณวิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ ก็เสริมว่า

“ กำลังฝ่ายกองซุนจ้านจึงร่อยหรอลงไปทุกที และแต่งหนังสือใช้ให้คนถือมายังเมืองฮูโต๋ของเรา หวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือ แต่คาดมิถึงในระหว่างกลางทาง ถูกทหารของอ้วนเสี้ยวจับได้ ต่อมากองซุนจ้านมีหนังสือไปถึงเตียวเอี๋ยน โดยนัดหมายให้จุดไฟเป็นสัญญาณ ช่วยกันทั้งภายนอกภายใน แต่โชคร้ายผู้ถือหนังสือก็ถูกฝ่ายอ้วนเสี้ยวจับได้อีก ฝ่ายอ้วนเสี้ยวจึงได้ใช้แผนกลซ้อนกล ยกทัพออกไปนอกเมือง จุดไฟเป็นสัญญาณหลอกล่อ กองซุนจ้านเข้าใจผิดคิดว่าเป็นไปตามแผนการ จึงออกรบด้วยตนเอง ทหารฝ่ายอ้วนเสี้ยวที่ดักซุ่มอยู่ ดาหน้าเข้าประหัตประหาร ทั้งทหารทั้งม้าล้มตายเกือบครึ่งกว่า กองซุนจ้านต้องนำทหารพ่ายศึกถอยร่นเข้าเมือง “

สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน) ได้สรุปบทโศกนาฏกรรมของกองซุนจ้าน ในตอนสุดท้ายว่า

กองซุนจ้านนั้นหนีกลับเข้าเมืองได้ อ้วนเสี้ยวจึงให้ทหารขุดอุโมงค์เข้าไปทะลุขึ้นในเมือง แล้วให้จุดเพลิงเผาเมืองขึ้น กองซุนจ้านเห็นจวนตัวเข้าดังนั้น ก็ฆ่าบุตรภรรยาเสียสิ้น ตัวนั้นเชือดคอตาย แลอ้วนเสี้ยวก็ได้ทหารของกองซุนจ้านไว้เป็นอันมาก

ชีวิตของกองซุนจ้าน ที่ได้ยกมาจากหนังสือสี่ห้าเล่ม ผู้มีเพื่อนเป็นนักรบชั้นยอดอย่าง เล่าปี่ กวนอู เตียวหุย และ จูล่ง แต่ไม่ได้รวบรวมไว้เป็นกำลังของตน จึงถึงกาลสิ้นสุดลงตั้งแต่ตอนต้น บ้านเมืองยังไม่ได้แบ่งเป็นสามก๊กเสียด้วยซ้ำ.


และข่าวที่มาพร้อมกับข่าววาระสุดท้าย ของกองซุนจ้าน เจ้าเมืองปักเป๋งผู้มีคุณแก่เล่าปี่มาแต่หนหลัง ก็คือข่าวที่ว่า อ้วนสุด น้องของอ้วนเสี้ยว ที่ได้ถือกรรมสิทธิ์ตราหยกสำหรับฮ่องเต้ ซึ่ง ซุนเซ็ก บุตรชายคนโตของ ซุนเกี๋ยน ได้เอามาจำนำของทหารไปแก้แค้นแทนบิดา แล้วอ้วนสุดได้ยึดเอาไว้นั้น กำลังยกพลจากเมืองลำหยง ไปสมทบกับอ้วนเสี้ยวที่เมืองกิจิ๋ว

เล่าปี่เห็นได้ทีที่จะปลีกตัวออกไปจากเมืองหลวง จึงขอกองทัพจากโจโฉจำนวนห้าหมื่นอ้างว่าจะไปสกัดกั้นอ้วนสุด ไม่ให้ไปรวมกับอ้วนเสี้ยว แม้โจโฉจะสำนึกได้ทีหลังว่า เหมือนปล่อยเสือเข้าป่าหรือปล่อยจรเข้ให้ลงน้ำ จึงใช้เคาทูให้ไปตามตัวกลับ แต่เล่าปี่ก็ไม่ยอมกลับ และไปตั้งหลักอยู่ที่เมืองชีจิ๋ว

เมื่อได้ทราบข่าวว่าอ้วนสุดยกขบวน มาถึงแดนเมืองชีจิ๋ว เล่าปี่กับกวนอูและเตียวหุย น้องร่วมสาบาน ก็ยกพลออกไปสกัดไว้ เตียวหุยได้รบกับกิเหลงซึ่งเป็นกองหน้าได้สิบเพลง ก็ตวาดด้วยเสียงอันดัง ม้าของกิเหลงตกใจทรุดถอยหลังออกไป เตียวหุยได้ทีจึงแทงกิเหล็งตกม้าตาย

เล่าปี่ก็ยกพลไปล้อมอ้วนสุดไว้ สำนวนของสามก๊กฉบับแปลใหม่ว่า ทัพซ้ายและทัพขวาของเล่าปี่ตลุมบอนฆ่าฟันทหารของอ้วนสุด ล้มตายเกลื่อนแผ่นดิน เลือดไหลนองท้องธาร ที่เหลือตายก็แตกตื่นกระเจิดกระเจิงไป

อ้วนสุดคิดจะหนีกลับไปเมืองฉิวฉุน พวกโจรรู้เข้าก็เข้าตีกระหน่ำซ้ำเติมสกัดกั้นไว้ อ้วนสุดจำต้องหนีไปหยุดทัพที่เมืองกังเต๋ง เหลือไพร่พลอยู่เพียงพันเศษ ล้วนแต่สิ้นกำลัง จะรบก็ไม่ไหวจะหนีก็ไม่พ้น

ยามนั้นอากาศร้อนจัด อาหารในกองทัพใกล้จะหมดสิ้น เหลือข้าวสาลีอยู่เพียงสามสิบโตว แต่ฉบับคลาสสิกว่า สามสิบฮก เฉลี่ยแบ่งให้พวกทหาร แต่คนในครัวไม่พอรับประทาน ส่วนใหญ่ต้องอดอาหารไปตาม ๆ กัน

อ้วนสุดตำหนิว่า ข้าวหยาบไปกลืนไม่ลง จึงมีบัญชาให้คนครัวหาน้ำผึ้งมาดื่มแก้กระหาย คนครัวกล่าวว่า น้ำผึ้งไม่มี มีแต่น้ำเลือด อ้วนสุดนั่งอยู่ที่เตียง ร้องด้วยเสียงอันดังคำเดียว แล้วพลัดตกลงมาที่พื้น กระอักโลหิตเป็นสายถึงแก่ความตาย ชนรุ่นหลังประพันธ์บทกวีไว้ว่า

ปลายยุคราชวงศ์ฮั่น การรบครบสี่ทิศ
อ้วนสุดมิควรกำเริบเสิบสาน
ไม่คิดถึงบรรพบุรุษเคยเป็นขุนนางใหญ่
ทำตัวโดดเดี่ยวกระหายเป็นฮ่องเต้
ยโสโอ้อวดครองราชย์ลัญจกร
ปลิ้นปล้อนอ้างอิงลิขิตสวรรค์
กระหายหมายลิ้มน้ำผึ้งอันไม่สมควรได้
จึงต้องรากเลือดตายบนเตียวเดียวดาย.

บทกวีบทนี้ ฉบับแปลใหม่ เขียนไว้ต่างกัน แต่ดูจะเป็นกลอนแปดที่ถูกต้องกว่าดังนี้

ราชวงศ์หั้นวันท้ายใกล้สิ้นสุด
เหล่าอาวุธกระทบแว่บแปลบกรุงศรี
อ้ายอ้วนสุดตัวร้ายขายความดี
ตั้งพิธียกตนเป็นเจ้าไท
ถือว่ามีตราหยกปกแผ่นดิน
คุยทั่วถิ่นฟ้าโปรดประทานให้
ขอน้ำผึ้งกินหน่อยค่อยชื่นใจ
จึงตักษัยไร้ญาติอยู่กลางดง

ครั้นอ้วนสุดตายแล้ว อ้วนอิ้นผู้เป็นหลานเอาศพใส่โลง แล้วนำครอบครัวของอ้วนสุด กับตราแผ่นดินหยก ไปยังเมืองโลกั๋ง ฝ่ายชีจิ๋วเป็นเจ้าเมืองโลกั๋ง จับตัวฆ่าเสียทั้งหมด แลค้นได้ตราหยก จึงรีบนำไปให้โจโฉที่พระนครฮูโต๋

ชีวิตของอ้วนสุด น้องชายชองอ้วนเสี้ยว ผู้ยิ่งใหญ่ในภาคเหนือ ก็ถึงวาระสุดท้ายอย่างไม่ค่อยสวยงามกังนี้.

#############




 

Create Date : 24 มิถุนายน 2553    
Last Update : 24 มิถุนายน 2553 20:11:37 น.
Counter : 623 Pageviews.  

1  2  3  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.