Group Blog
 
All Blogs
 

สิ่งสุดท้าย




สารบัญ

คนมีครู

ตนรักสวน

คนอยากดัง

ชีวิตบนถนน

เพื่อนเก่า

เพื่อนแท้

เรื่องของเพื่อน

เรื่องของสุขา

เรื่องในซอย

บุญรักษา




 

Create Date : 02 มีนาคม 2560    
Last Update : 2 มีนาคม 2560 18:36:50 น.
Counter : 1195 Pageviews.  

เล่าเรื่องสามก๊ก

เล่าเรื่องสามก๊ก ของ เล่าเซี่ยงชุน

เจียวต้าย

ผมเป็นคนสนใจนิยายอิงพงศาวดารจีน เรื่องสามก๊ก มาตั้งแต่เริ่มโตเป็นหนุ่ม และได้อ่านสำนวนต่าง ๆ ของผู้เรียบเรียงหลายท่านที่แตกต่างกันไป ต่อมาจึงได้หาซื้อฉบับหลวงของท่าน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) มาอ่านอย่างเอาจริงเอาจัง เมื่อใกล้จะเกษียณอายุราชการ ซึ่งผมได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า จะเอาการเขียนหนังสือ ซึ่งเป็นงานรองในทางราชการ และเป็นงานอดิเรกของส่วนตัว มาทำเป็นงานหลักแทนงานราชการที่จะต้องยุติลง

ขณะนั้นผมอ่านสามก๊กไปหลายเที่ยวแล้ว เพื่อค้นหาพฤติกรรมของตัวละครที่ผมสนใจ ว่าเขาเริ่มต้นเข้ามาในเรื่อง ตั้งแต่ตอนไหน แล้วไปสิ้นสุดลงตอนไหนอย่างไร แล้วก็บันทึกไว้ว่า ตัวละครนั้นอยู่ในหน้าไหนของฉบับท่านเจ้าพระยา แล้วไปต่อหน้าไหน แล้วไปสิ้นสุดอย่างไร จนหน้าหนังสือเก่าแก่นั้นเลอะเทอะไปหมด

แต่ผมกลับสนใจตัวละครเล็ก ๆ ที่มีความสำคัญต่อเรื่องสามก๊กอันยิ่งใหญ่เพียงเล็กน้อย คือ ฮัวหยง ที่ถูก กวนอู ฆ่าตายในพริบตาเดียว เรื่องราวของเขาปรากฏอยู่เพียง ๒-๓ หน้าเท่านั้น แต่กวนอูมีชื่อเสียงโด่งดังต่อไปอีกตั้งค่อนเรื่อง

ต่อมาก็สนใจ บังเต๊ก ในตอนท้าย ๆ ที่อาสาจะไปปราบกวนอูผู้ยิ่งใหญ่ในยุทธจักรมากว่าสามสิบปีแล้ว โดยการแบกโลงไปท้ากวนอูถึงเมืองเกงจิ๋ว แม้ว่าลงท้ายก็ต้องพ่ายแพ้แก่กวนอู แต่ก็ได้ฝากรอยแผลไว้ให้กวนอูได้รำลึกถึงฝีมือ ที่ออกปากว่าทัดเทียมกัน ซึ่งไม่มีนักรบคนไหนทำกับกวนอูอีกด้วย

อีกคนหนึ่งคือ ตันก๋ง ผู้มีบุญคุณอย่างยิ่งแก่ โจโฉ ในตอนต้น และถูกโจโฉสั่งประหารชีวิตในตอนท้าย ผมอ่านด้วยความสะเทือนใจว่าเขาเป็นผู้ที่ ทำคุณบูชาโทษ โดยแท้ เหมือนนิทานอีสปเรื่อง ชาวนากับงูเห่า ที่ลงท้ายว่า ทำคุณแก่สัตว์ร้าย ให้โทษดังนี้แลหนอ

สุดท้ายในช่วงนั้นคือ นางเจ๋าซือ ซึ่งเสน่ห์ของนางเป็นเหตุให้ โจโฉ ซึ่งยึดครองเมืองของข้าศึกได้แล้ว กลับต้องพ่ายแพ้อย่างยับเยิน ต้องสูญเสียไพร่พลไปเป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งลูก หลาน และนายทหารองครักษ์ทีซื่อสัตย์ ไปอย่างน่าเสียดาย

ซึ่งตัวละครที่ยกมานี้ ในสมัยนั้นไม่มีผู้เขียนถึงเลย ผมจึงลงมือเรียบเรียงพฤติกรรมของเขาเหล่านั้น โดยให้ชื่อว่า สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ในนามปากกา “เล่าเซี่ยงชุน” และในปีสุดท้ายที่จะเกษียณอายุราชการ ก็ได้เริ่มลงพิมพ์ในวารสารเสนาสารของ สำนักงานเลขานุการกองทัพบก เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๓๔ เป็นชุดแรกในชีวิต

และจากนั้นผมก็ค้นคว้าหาตัวละครเล็ก ๆ ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักชื่อ มาเรียบเรียงส่งให้วารสารของทหารเหล่าต่าง ๆ ติดต่อกันมาจนเกษียณอายุใน ตุลาคม ๒๕๓๕ เรื่อยไปอีกหกปี ได้สามก๊กฉบับลิ่วล้อประมาณเกือบ ๒๐๐ ตอน จนเลยออกไปถึงตัวที่ไม่ใช่ลิ่วล้อ เช่น ฮูหยิน และ ฮ่องเต้ และนักรบที่มีชื่อเสียง และได้ลงพิมพ์ในวารสารของทหารทั้งหมด กว่าสิบชื่อ

ในระหว่าง พ.ศ.๒๕๓๕ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๗ ได้มีเพื่อนของลูกชายคนหนึ่งได้อ่านเรื่องนี้แล้วเสนอว่า เขาจะขอเอาไปพิมพ์รวมเล่ม โดยสำนักพิมพ์ คณาธร ซึ่งเขาทำงานอยู่ ผมก็รีบอนุญาตด้วยความดีใจ แต่แล้วสำนักพิมพ์นี้ก็ได้เลิกกิจการไป โดยยังไม่ได้พิมพ์สามก๊กฉบับลิ่วล้อ ของ เล่าเซี่ยงชุน เขาก็ขอโทษที่ไม่สามารถจะทำให้สำเร็จเป็นรูปเล่มได้ แต่ยืนยันว่าเรื่องนี้ขายได้แน่นอน ขอให้ผมพยายามต่อไป

ผมจึงเอามาส่งให้สำนักพิมพ์ดอกหญ้าพิจารณา เขาก็รับเอาไว้พิจารณา แต่สองปีแล้วก็ยังไม่ทราบผล ผมก็เอาไปส่งให้สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ อ่านดูบ้าง ถึง พ.ศ.๒๕๔๐ ทางนี้บอกว่าเรื่องน่าสนใจ แต่คงอีกนานกว่าจะถึงคิว ก็เลยเอามาส่งให้ สำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น เมื่อ เมษายน ๒๕๔๐

ประพันธ์สาส์น พิจารณาเรื่องนี้อยู่ประมาณ ๕ เดือน จึงได้เรียกไปทำสัญญา และดำเนินการพิมพ์ออกวางตลาด เมื่อ ตุลาคม ๒๕๔๑ เป็นจำนวน ๓ เล่ม รวมทั้งหมด ๕๓ ชุด ๑๐๙ ตอนโดยรวมทั้ง ฉบับลิ่วล้อ ฉบับอัศวิน ฉบับฮูหยิน และฉบับฮ่องเต้

นั่นคือความสำเร็จครั้งแรกของ สามก๊ก ฉบับของ “เล่าเซี่ยงชุน” ซี่งนับเป็นความสำเร็จที่ผมภูมิใจที่สุดในชีวิตการเขียนหนังสือมาเป็นเวลาถึง ๕๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๑

และยังได้รับการพิมพ์รวมเล่มต่อมาอีก คือ อวสานสามก๊ก พ.ศ.๒๕๔๖ และ ปกิณกะ สามก๊ก พ.ศ.๒๕๔๗

แต่การเรียบเรียงสามก๊ก ก็ยังมิได้ยุติเพียงแค่นั้น ผมยังคงหาแง่มุมต่าง ๆ ในสามก๊กมาเขียนส่งสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ต่อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะครบรอบ ๖๐ ปีของการเขียนหนังสือ และได้ขุดค้นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ในสามก๊กของท่านเจ้าพระยาพระคลัง(หน) จนหมดสิ้นสมุดไทแล้ว

เวลานี้จึงพยายามรวบรวมสามก๊กทั้งหมดมาวางไว้ในบล็อก เพื่อจะได้อยู่ยั่งยืนถาวรต่อไปในอนาคต สำหรับผู้ที่จะเข้ามาศึกษาเรื่องสามก๊ก จะได้รับทราบข้อเขียนอีกแง่มุมหนึ่ง จาก”เล่าเซี่ยงชุน”นักเขียนระดับลิ่วล้อ คนหนึ่งในบรรณพิภพอันกว้างใหญ่ไพศาลนี้.

##############




 

Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2560    
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2560 14:56:32 น.
Counter : 767 Pageviews.  

มหาชัยก็ไปฟรี

บันทึกของคนเดินเท้า

มหาชัยก็ไปฟรี

เทพารักษ์

เมื่อรถประจำทางสีครีมแดงสาย ๓ ที่มีป้ายว่า รถเมล์ฟรีเพื่อประชาชน ได้แล่นเข้ามาจอดที่ป้ายหน้าซอยสวนอ้อย และมีผู้โดยสารก้าวลงมาสองสามคน ผู้ที่รออยู่ก็กรูกันเบียดบันไดรถขึ้นไปแทนอีกห้าหกคนรวมทั้งตัวผมเองด้วย

เวลานี้รถเมล์ฟรีไม่ได้แน่นอย่างธรรมดาแล้ว แต่แน่นมากขึ้น เพราะไม่ใช่วันหยุดราชการ และเป็นเวลาที่คนโดยสารกำลังจะไปทำงาน เด็ก ๆ จะไปโรงเรียน และทุกคนต่างพากันคอยรถเมล์ฟรี เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาล ที่ตั้งใจจะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเป็นส่วนใหญ่

รถสายนี้ออกจากสถานีขนส่งกรุงเทพสายเหนือ หลังสวนจตุจักรไปปลายทางวงเวียนใหญ่ เมื่อมาถึงหน้าโรงพยาบาลวชิระแล้วก็ไปสนามหลวง ข้ามสะพานพระปกเกล้า คู่ขนานกับสะพานพระพุทธยอดฟ้า ผ่านวงเวียนเล็กไปวงเวียนใหญ่ แล้วก็อ้อมไปจอดที่ถนนเจริญนคร

ผมยืนเบียดกับผู้โดยสารทั้งหลาย ที่ผลัดเปลี่ยนกันขึ้นลงตลอดระยะทาง โดยไม่สามารถจะหาเก้าอี้นั่งได้ แต่ก็ไม่ได้ลำบากอะไร เพราะรู้ตัวว่าเป็นผู้ที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือในระดับสาม ถัดจากเด็กและสตรี จนถึงป้ายวงเวียนใหญ่ผมจึงลงจากรถเมล์ แล้วเดินขึ้นสะพานลอยสำหรับคนข้ามไปทางฝั่งตรงข้าม เมื่อลงจากสะพานลอยก็ถึงสถานีรถไฟวงเวียนใหญ่พอดี

สถานีรถไฟนี้เป็นสาขาของสถานีรถไฟกรุงเทพ เพียงแต่ไม่มีรางทอดจากหัวลำโพง ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาเท่านั้น เป็นสถานีซึ่งเปิดใช้มาเก่าแก่มาก จากวงเวียนใหญ่ปลายทางคือจังหวัดสมุทรสาคร หรือมหาชัย ซึ่งอยู่คนละฝั่งของแม่น้ำแม่กลอง กับสถานีบ้านแหลม หรือท่าฉลอม ดังที่มีเนื้อร้องอยู่ในเพลงอมตะที่ทุกคนรู้จักนั่นเอง

จากสถานีบ้านแหลม ปลายทางก็คือจังหวัดสมุทรสงคราม ที่มีตลาดน้ำอัมพวาอันมีชื่อเสียงโด่งดัง และมีหิ่งห้อยเป็นสัญลักษณ์อันสำคัญ ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาพักค้างคืน กันไม่ขาดสาย แทบทุกฤดูกาล

หน้าสถานีรถไฟมีป้ายผ้าผืนใหญ่แขวนประกาศมีความว่า รัฐช่วยคนไทย ขึ้นรถไฟฟรี
และที่หน้าห้องขายตั๋ว ก็มีประกาศติดไว้ว่า รถไฟฟรีเพื่อประชาชน โดยไม่มีเจ้าหน้าที่ขายตั๋วอยู่ข้างใน
กับมีใบปลิวที่เหมือนกับสถานีหัวลำโพง คือมีข้อความว่า

รถไฟฟรีเพื่อประชาชน สนองนโยบายรัฐบาล ๖ มาตรการ ๖ เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน
การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม เปิดให้ประชาชนใช้บริการรถไฟเชิงสังคม (PSO) ทั่วประเทศ โดยรัฐบาลจ่ายเงินชดเชยรายได้ มีวันละ ๑๖๔ ขบวน ประกอบด้วย รถชานเมือง รถธรรมดา รถท้องถิ่น และรถรวม ซึ่งพ่วงตู้โดยสารชั้นสามล้วน ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ ถึงวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๒

แสดงว่าฟรีทั้งขบวน เพราะรถไฟขบวนนี้เป็นรถชั้นสามล้วน เป็นรถดีเซลมีสี่โบกี้ เป็นชั้นสามสามโบกี้ มีชั้นสองโบกี้เดียว เมื่อยังไม่ฟรีก็ไม่มีใครตีตั๋วชั้นสองเลยสักเที่ยวเดียว คราวนี้เลยฟรีหมดทั้งสี่โบกี้

ขณะที่ผมไปถึงนั้นเป็นเวลาที่รถจากมหาชัยเข้าเทียบชานชลาพอดี เที่ยวนี้มีคนพอสมควร ขบวนที่เช้ากว่านี้น่าจะแน่นมากกว่านี้ก็ได้ เพราะมีคนที่เดินทางมาเช้าเย็นกลับเพื่อทำงาน หรือเรียนหนังสือในกรุงเทพใช้บริการกันอย่างมากมายทุกวัน ความช่วยเหลือของทางการในครั้งนี้ คงเป็นที่โมทนาสาธุการ จากประชาชนผู้มีรายได้น้อยเป็นอย่างมาก แล้วเมื่อหมดกำหนดเวลาแล้ว อาจจะมีขบวนการเรียกร้องให้ต่อเวลาอีกก็ได้

ผมเองก็เคยเดินทางไปเที่ยวมหาชัย หรือสมุทรสงครามกับเพื่อน หลายครั้งหลายหน ตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ตั้งแต่ค่าโดยสารสามบาทเจ็ดบาท จนถึงปัจจุบันขึ้นเป็นสิบบาท ในระยะทางที่ยาวไกล จนผมกระดากที่จะใช้บัตรข้าราชการลดครึ่งราคา แต่มาคราวนี้จะได้ขึ้นฟรี ก็ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจมาเสียด้วย เพราะเพียงแต่อยากทราบข้อมูล หลังจากที่ได้ไปดูที่สถานีสามเสนและบางซื่อ ตามที่เคยเล่ามาแล้วเท่านั้น

ก็เลยอาฆาตไว้ว่าจะต้องชวนเพื่อนไปสุดอากาศเค็ม ๆ ที่มหาชัยให้ได้ในเร็ว วัน นี้

รถขบวนนี้จอดอยู่ประมาณยี่สิบนาที ก็จะออกจากวงเวียนใหญ่ กลับไปมหาชัยอีก ระยะทางจากกรุงเทพมหานคร ถึงสถานีมหาชัยจะยาวเท่าไรไม่ทราบ แต่มีสถานีรายทางถึง ๑๖ สถานี ใช้เวลาเดินทางเกือบชั่วโมง ผมเคยจดชื่อสถานีมาเขียนเป็นบทกลอนไว้ด้วย

ออกจาก วงเวียนใหญ่ ไป ตลาดพลู
วัดจอมทอง ได้รู้ จักแห่งหน
ผ่าน วัดไทร ใกล้ วัดสิงห์ ไม่วิ่งวน
เลยไปจน บางบอน การเคหะ

จาก รางโพธิ์ โผล่ สามแยก ไป พรมแดน
เข้าสู่แคว้น ทุ่งสีทอง มองเปะปะ
กลายเป็นทุ่งหญ้าเขียวหมดไม่ลดละ
เห็นแล้วจ้ะ บางน้ำจืด วืดไปเลย

ผ่าน คอกควาย วัดโคกขาม ถึง บ้านขอม
กลิ่นพยอมโชยมาใกล้ใช่ไหมเอ่ย
ถึง บางจาก ไม่เยี่ยมเยือนเหมือนอย่างเคย
นั่งเฉยเฉย ถึง มหาชัย ดูใกล้จัง

ชั่วโมงเดียวได้มาชิดติดทะเล
ลมถ่ายเททิ้งความทุกข์สุขสมหวัง
ได้คลายร้อนผ่อนพักเพียงลำพัง
คนเคยนั่งรถไฟเก่าหายเหงาเอย.

และคงจะได้มีโอกาสมาทบทวนความหลังอีก ในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน.

#############

จากคุณ : เจียวต้าย - [ 21 ส.ค. 51 07:56:49 ]




 

Create Date : 04 พฤศจิกายน 2559    
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2559 9:03:11 น.
Counter : 1037 Pageviews.  

สองนางในยุทธนาวี

บันทึกจากสามก๊ก

สองนางในยุทธนาวี

“ เทพารักษ์ “

ท่านผู้อ่านวรรณคดีไทยจากพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก คงไม่มีผู้ใดไม่รู้จักตอน โจโฉแตกทัพเรือเป็นแน่ เพราะเป็นหนังสือเรียนในชั้นมัธยมศึกษาอยู่หลายสิบปี แล้วยุทธนาวีที่มีชื่อเสียงโด่งดังในครั้งกระนั้น มีสตรีมาเกี่ยวข้องด้วยหรือ ท่านอาจจะถาม แน่ละถ้าไม่มีสตรีสองพี่น้องที่จะกล่าวถึงนี้มาเป็นต้นเหตุ ก็คงจะไม่เกิดสงครามครั้งนั้นขึ้นเป็นแน่ นางคือใคร มีชื่อแซ่ว่ากระไร ฉบับของท่านเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เขียนไว้ ดังนี้

ขงเบ้งเห็นจิวยี่กับโลซกทุ่มเถียงกันมิได้ตกลง ก็นั่งยิ้มฟังอยู่ จิวยี่จึงว่าท่านหัวเราะข้าพเจ้าหรือ

ขงเบ้งจึงว่า ซึ่งข้าพเจ้าหัวเราะทั้งนี้มิได้เยาะท่าน กลั้นยิ้มโลซกมิได้ เพราะมิได้รู้จักลักษณะผิดแลชอบ มีแต่ปากก็เถียงท่าน

โลซกจึงว่า เหตุไฉนท่านจึงหัวเราะเยาะเรา ว่ามิได้รู้จักลักษณะสิ่งใด

ขงเบ้งจึงว่า อันจิวยี่ว่ากล่าวซึ่งจะไปนบนอบโจโฉนั้น เราเห็นด้วย

โลซกจึงว่า เหตุใดท่านจึงมาเจรจาดังนี้เล่า

ขงเบ้งจึงว่า อันโจโฉนั้นมีปัญญาความคิดสุขุมนัก รู้จัดแจงทหารในการสงครามก็ชำนาญกว่าคนทั้งปวง แลอ้วนเสี้ยว อ้วนสุดนั้น มิได้รู้จักกำลังสงครามว่าหนักแลเบา องอาจถือว่าตัวดีต่อสู้ โจโฉ ก็ถึงแก่อันตราย เล่าปี่นายเรานั้นก็ถือทิฐิมานะขืนต่อสู้โจโฉ ก็ได้ความเดือดร้อนจนพลัดมาอยู่เมืองกังแฮ อันจิวยี่เป็นคนมีความคิด จะผ่อนผันให้ไปคำนับโจโฉ ประสงค์จะรักษาบุตรภรรยา แลอาณาประชาราษฎรให้เป็นสุขนั้นเห็นควรอยู่

โลซกก็โกรธจึงว่า ท่านว่าทั้งนี้เหมือนจูงมือเราไปให้คุกเข่าคำนับโจโฉ อ้ายศัตรูแผ่นดิน ควรแล้วหรือ

ขงเบ้งจึงว่า ท่านอย่าโกรธเราเลย ซึ่งจะไปคำนับโจโฉนั้นเรามิให้ลำบาก จำเพาะแต่ตัวต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปเจียวหรือ ถึงตัวท่านมิไปก็ได้เหมือนกัน ด้วยอุบายอันหนึ่งของเรา จะให้เอาแต่คนสองคนลงเรือลำหนึ่งข้ามไปหาโจโฉ โจโฉก็จะพาทหารร้อยหมื่นเลิกทัพกลับไปดอก

จิวยี่จึงถามว่า ซึ่งท่านจะให้แต่คนสองคนข้ามไป ก็อาจสามารถจะให้โจโฉเลิกทัพไปนั้นฉันใด จงว่าให้แจ้งก่อน

ขงเบ้งจึงบอกว่า เมื่อเรายังอยู่เขาโงลังกั๋งนั้น แจ้งว่าโจโฉได้ทำปราสาทไว้แห่งหนึ่งอยู่ริมแม่น้ำเจียงโหเป็นที่สบาย แล้วจัดเอาผู้หญิงที่รูปงามมาไว้เป็นอันมาก ด้วยมีน้ำใจกำเริบในมาตุคามอยู่

ความตอนนี้ท่าน ยาขอบ วนิพกผู้ยิ่งใหญ่ในการเล่าเรื่องสามก๊ก ได้พรรณาไว้ในชุด จิวยี่ ผู้ถ่มน้ำลายรดฟ้า ไว้อย่างนุ่มนวลชวนให้เคลิ้มตามว่า

อันว่าปราสาทประกาศบุญนั้น ตระการพิศดารฉันใดหรือ จึงเกริกก้องบันลือไปถึงโงลังกั๋งแดนวิเวก ก็เพราะการก่อสร้างนั้นกระทำด้วยวิธีการ ซึ่งมหาราชที่เรืองตบะเดชะบาง พระองค์เท่านั้นดอก ที่ได้เคยทรงกระทำ………

ใหญ่หลวงกว้างขวางในรูปุระตระหง่านสามหลัง แต่มีสะพานยาวเฟื้อย เชื่อมสัมพันธ์ให้หอทั้งสามนั้นเป็นหลังเดียวกัน และโดยหมายใจจะให้ปรากฎไปว่า ยากที่ใครใดจะอาจทำขึ้นมาแข่งบุญได้เสมอเหมือนอีก…..

โจโฉคนน้ำใจกำเริบเสิบสาน มีปรารถนาความเป็นกษัตริย์ซ่อนอยู่ในหัวใจลึก ก็ให้ประดิษฐ์รูปหงส์กับมังกร อันเป็นเครื่องสูงสำหรับเฉพาะบุคคลในวรรณะกษัตริย์พึงใช้ขึ้นไว้ ปราสาททั้งหมดได้ชื่อตามหลังกลาง ซึ่งโจโฉขนานนามว่า “ ปราสาทนก(ยูง)สัมฤทธิ์ อีกสองข้างคือมังกรหยก กับหงส์ทอง ตามลักษณะนามสัตว์สำคัญ ที่ประดิษฐานอยู่เหนือยอดนั้น…….

ดังนั้นโดยบัญชาของดยุกแห่งเว่ย์ นางงามตามแขวงเมืองต่าง ๆ ก็ถูกกว้านพามาสู่ปราสาทนี้มีจำนวนมากหลาย แต่ความงามของบรรดาอิสตรีที่ถูกนำมาปรนเปรอบำเรอกามอยู่ในปราสาทนั้น ก็มิได้ทำให้หัวใจของศัตรูแผ่นดินผู้นั้นสงบ กลับดิ้นรนกระวนกระวายเพราะไฟแห่งราคะ ยิ่งถูกพัดกระพือให้แก่กล้าอยู่เป็นนิตย์ ก็ใฝ่ฝันคร่ำครวญอยุ๋แต่ว่า ทำไฉนจึงจักได้ผู้หญิงซึ่งมีเสียงโจษจันกันว่า เป็นยอดงามของบรรดาหญิงในภาคอาคเนย์อีกสองคน เข้ามาเชยชมให้สมปรารถนาตัว และกุลสตรีทั้งสองนั้นก็ได้ข่าวว่า เป็นชาวกังตั๋งนี่เอง…….

ต่อจากนี้เป็นเนื้อความใน สามก๊กคลาสสิค ของ วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์

จิวยี่กล่าวว่า จะใช้สองคนนั้นเป็นผู้ใดกันจึงจะถอยทัพโจโฉได้

ขงเบ้งกล่าวว่า แคว้นกังตั๋งให้สองคนนี้ไป ประดุจต้นไม้ใหญ่ที่ใบร่วงล่องลอยไปเพียงใบเดียว หรืออุปมาดั่งยุ้งข้าวที่ลดน้อยไปเพียงเมล็ดเดียว และโจโฉแม้นได้ไป ก็คงต้องปิติยินดีแล้วรีบถอยทัพกลับไป

จิวยี่ก็ถามอีกว่า จริงดังว่าหรือ ที่จะใช้สองคนนั้น เป็นผู้ใดกัน

คราวนี้เป็นเนื้อความใน สามก๊กฉบับแปลใหม่ ของ วรรณไว พัธโนทัย

ขงเบ้งตอบว่า ที่กังตั๋งมีพี่น้องสองสาวผู้พี่ชื่อ ไต้เกี้ยว ผู้น้องชื่อ เสียวเกี้ยว เป็นบุตรีของ เกี้ยวกง พี่น้องสองสาวนี้งามจนกระทั่งห่านป่าได้เห็นก็เต้นเร่า ปลาในน้ำได้เห็นก็หลงชมจนจมน้ำตาย เมื่อแสงจันทร์ต้องหน้าเธอแม้ดอกไม้ก็ได้อาย

โจโฉถึงกับตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า ความปรารถนาข้อแรกของเขาคือ พิชิตดินแดนภายในทะเลทั้งสี่ให้ได้ แล้วจัดตั้งมหาอาณาจักรขึ้น

ข้อที่สอง คือต้องเอาสองสาวไต้เกี้ยวและเสียวเกี้ยวในกังตั๋ง มาไว้เป็นนางบำเรอในปราสามนกยูงทองแดงให้จงได้ เพื่อความสุขสำราญในบั้นปลายของชีวิต

โจโฉพูดว่าถ้าสำเร็จประสงค์ทั้งสองประการนี้แล้ว ถึงจะตายก็ไม่เสียดายเลย

การที่โจโฉทุ่มกำลังตั้งร้อยหมื่น ลงมาตีเมืองใต้นี้ก็หวังจะได้สองสาวนี้ไปเท่านั้นเอง ไฉนท่านจึงไม่ไปหาเกี้ยวกง เอาทองพันตำลึงไปซื้อลูกสาวสองคนนั้นส่งไปให้โจโฉ เมื่อโจโฉได้นางงามทั้งสองไปแล้ว ก็ย่อมสมใจทุกประการ คงจะต้องยกทัพกลับไปเป็นแน่

จิวยี่ถามว่า ซึ่งท่านว่าโจโฉต้องการสองสาว ไต้เกี้ยวและเสียวเกี้ยวนั้น ท่านเอาที่ไหนมาพูด

ขงเบ้งตอบว่า โจสิดลูกชายคนเล็กของโจโฉ ซึ่งมีสมญานามว่า จื่อเจี้ยน เป็น กวีเอก ได้แต่งคำประพันธ์ตามบัญชาของพ่อ ให้ชื่อว่า บทสดุดีปราสาทนกยูงทองแดง ซึ่งในคำประพันธ์นี้แสดงชัดว่า โจโฉต้องการเป็นฮ่องเต้ และสาบานว่าจะต้องเอาสองสาวไต้เกี้ยวและ เสียวเกี้ยว มาไว้เป็นนางบำเรอให้จงได้

จิวยี่ถามว่า ท่านยังพอจำคำประพันธ์นั้นได้หรือไม่

ขงเบ้งตอบว่า ข้าพเจ้าชอบคำร้อยกรองอันไพเราะเพราะพริ้ง ของคำประพันธ์นั้นมาก จึงอุตส่าห์จำไว้ขึ้นใจทีเดียว

จิวยี่จึงว่า ถ้าเช่นนั้นขอท่านกรุณาว่าให้ข้าพเจ้าฟังหน่อยเถิด

ขงเบ้งจึงร่ายคำประพันธ์ ดังต่อไปนี้

ขอให้กูเป็นใหญ่ในโลกนี้
ได้นั่งที่ปราสาทหาดเจียงโห
ได้เห็นผังวังกว้างขวางจริงโอ
ได้เห็นเมืองใหญ่โตมโหฬาร
กูจะสร้างประตูชัยไว้บนผา
กูจะสร้างหอฟ้ามหาศาล
สร้างสวรรค์บนดินถิ่นสำราญ
ให้งามตาทุกด้านทุกสิ่งอัน
ณ ริมฝั่งเจียงโหโอ่อ่าเหลือ
สวนลูกไม้แลอเคื้อเกื้อสุขสรรพ์
ซึ่งหอสูงซ้ายขวาน่าอัศจรรย์
สองนามนั้นมังกรหยกกับหงส์ทอง
กูจะไว้ยอดหญิงแห่งกังตั๋ง
เจ้างามดั่งหยาดฟ้ามาทั้งสอง
ทั้งไต้เกี้ยวเสียวเกี้ยวเหนี่ยวใจปอง
จะประคองเคียงข้างทุกวันคืน

จิวยี่ได้ฟังดังนั้นก็ว่า ขงเบ้งไม่รู้หรือว่า นางไต้เกี้ยวผู้พี่นั้นเป็นภรรยาซุน
เซ็ก พี่ชายของซุนกวนที่เสียชีวิตไปแล้ว และนางเสียวเกี้ยวผู้น้องก็เป็นภรรยาจิวยี่เอง

ขงเบ้งก็ทำเป็นตกใจ รีบคำนับแล้วว่าตนไม่รู้เลย ซึ่งว่ากล่าวทั้งนี้ผิดหนักหนา ขอให้ยกโทษด้วยเถิด แท้จริงขงเบ้งรู้อยู่เต็มอกแล้ว แต่แกล้งนำมาพูดเพื่อให้จิวยี่โกรธ และมีความแค้นพอที่จะทำสงครามกับโจโฉ ซึ่งก็ได้ผลเพราะจิวยี่ประกาศว่า อ้ายโจโฉศัตรูเฒ่าคนนี้ ตนจะไม่ขอเหยียบแผ่นดินร่วมเลย ไม่ใครก็ใครต้องตายกันไปข้างหนึ่ง

แต่คำพูดของขงเบ้งนั้นก็มิได้ยกมากล่าวหลอกลวง โดยไม่เป็นความจริง เพราะเมื่อโจโฉจัดทัพเรือเสร็จเรียบร้อยแล้ว ลงไปตรวจดูเห็นว่าไม่มีสิ่งใดบกพร่อง ก็ให้จัดโต๊ะเลี้ยงดูนายทหารทั้งหมดประมาณสามร้อยเศษ ขณะนั้นเป็นเวลากลางคืนเดือนหงาย โจโฉมีความสบายใจจึงเสพสุราจนถึงสองยาม มีอาการมึนเมา ลุกขึ้นกล่าวให้โอวาท แล้วก็เลยระบายความในใจ ตามฉบับหลวงท่านว่า

…….แม้ได้เมืองกังตั๋งก็จะมีความยินดีอยู่หน่อยหนึ่ง ด้วยแต่ก่อนนั้นเรารู้จักกับนางเกียวก๊กโล แลนางเกียวก๊กโลมีบุตรหญิงสองคน รูปร่างงามกว่าหญิงทั้งปวง เราคิดพอใจอยู่ แต่ว่าเผอิญให้พลัดไปเป็นภรรยาซุนเซ็กคนหนึ่ง เป็นภรรยาจิวยี่คนหนึ่ง เมื่อเราไปรบได้เมืองกิจิ๋วนั้น เราให้สร้างเมืองใหม่ทำปราสาทไว้ริมแม่น้ำเจียงโห ครั้งนี้ถ้าเราได้เมืองกังตั๋ง เราจะพาหญิงสองคนนี้ไปอยู่ ณ ปราสาทเมืองกิจิ๋ว จะได้ปรนนิบัติเราให้เป็นที่ชอบใจ กว่าจะสิ้นชีวิต……..

ในที่สุดซุนกวนก็ตัดสินใจรบกับโจโฉ และด้วยความสามารถของจิวยี่ แม่ทัพใหญ่ ของกังตั๋ง กับขงเบ้งเสนาธิการจอมวางแผนของเล่าปี่ ก็สามารถเอาชนะกองทัพร้อยหมื่นของโจโฉได้อย่างเด็ดขาด ตัวโจโฉเองกระเซอะกระเซิงหนีตาย ไปกับลิ่วล้อที่เหลืออยู่เพียงไม่ถึงสามสิบคน ด้วยอิทธิพลจากชื่อของนางแซ่เกียวทั้งสองพี่น้อง ที่ไม่รู้ว่าเป็นบุตรีของ เกี้ยวกง ซึ่งเป็นบิดาหรือ นางเกียวก๊กโล ซึ่งเป็นมารดากันแน่

และโดยที่เจ้าตัวไม่ได้ออกมาแสดงบทบาท ในเรื่องสามก๊กทุกสำนวน แต่ประการใดเลย.

#########




 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2558    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2558 16:07:17 น.
Counter : 480 Pageviews.  

วาระสุดท้ายของจอมคน

บันทึกจากสามก๊ก

วาระสุดท้ายของจอมคน

“ เทพารักษ์ “

จอมคนในที่นี้ก็คือท่านมหาอุปราช ของพระเจ้าเหี้ยนเต้ในนิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก ผู้มีชื่อว่า โจโฉ นั่นเอง โจโฉถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ.๗๖๓ อายุได้หกสิบหกปี ดังนั้นโจโฉคงจะเกิดเมื่อ พ.ศ.๖๙๗ และเมื่อพระเจ้าเลนเต้ขึ้นครองราชย์สืบราชวงศ์ฮั่น โจโฉเพิ่งจะมีอายุเพียงสิบสามปีเท่านั้น ต่อมาเมื่อถึงรัชสมัยของพระเจ้าเหี้ยนเต้ โจโฉก็มีอายุได้สามสิบหกปี หลังจากที่มหาอุปราชตั๋งโต๊ะและลิ่วล้อทั้งหลายถูกปราบราบคาบไปหมดสิ้นแล้ว โจโฉก็ได้เป็นมหาอุปราชแทน และเป็นอยู่จนถึงวาระสุดท้าย เป็นเวลาประมาณสามสิบปี

สาเหตุที่จะทำให้โจโฉเจ็บป่วยและถึงแก่ความตายนั้น เป็นเพราะซุนกวนยกทัพไปตีเมืองเกงจิ๋ว แล้วจับกวนอูประหารชีวิตเสีย และเอาศรีษะใส่หีบส่งมาให้โจโฉ เป็นการปัดสวะให้พ้นจากความรับผิดชอบของตน

ซึ่งสามก๊กฉบับท่าน เจ้าพระยาพระคลัง(หน) ได้บรรยายไว้ว่า

โจโฉได้เปิดหีบขึ้นเห็นหน้ากวนอูยังเป็นปกติ เหมือนเมื่อยังเป็นอยู่นั้น โจโฉหัวเราะเย้ยแล้วว่า

“ กวนอูยังไม่อยู่ไม่มาหาเรา บัดนี้ยังแต่ศรีษะเปล่าอุตส่าห์มาหาเรา “

ว่ายังมิทันจะขาดคำ แลเห็นศรีษะกวนอูมีปากอ้า ตาเหลือกกลอกไปมา โจโฉตกใจล้มลง ขุนนางทั้งปวงก็ตกใจเข้าอุ้มโจโฉให้นั่งขึ้น โจโฉสิ้นสมประดีนิ่งไปครู่หนึ่ง จึงค่อยได้สติคืนสมประดีมา จึงว่าแก่ขุนนางทั้งปวงว่า กวนอูคนนี้ศักดิ์สิทธิ์นัก เหมือนหนึ่งเทพดาลงมาจากขั้นฟ้า ทหารซุนกวนได้ยินโจโฉว่าดังนั้น จึงเล่าเนื้อความซึ่งกวนอูไปเข้าลิบอง ด่าซุนกวนหักคอลิบองเสียนั้น ให้โจโฉฟังทุกประการ

โจโฉได้ยินดังนั้นก็กลัวยิ่งกว่าแต่ก่อน จึงสั่งให้เอาไม้หอมต่อหีบใส่ศรีษะกวนอู แล้วให้แต่งเครื่องเซ่นตามบรรดาศักดิ์ขุนนางผู้ใหญ่ แล้วเชิญศรีษะกวนอูไปฝังไว้ริมประตูเมือง ลกเอี๋ยงข้างทิศทักษิณ โจโฉแลขุนนางทั้งปวงก็ตามไปส่งสักการะศพ โจโฉจึงสั่งให้ตกแต่งฝังตามอย่างผู้นั่งเมืองเกงจิ๋ว แล้วจารึกอักษรลงไว้ว่า ที่ฝังศพเจ้าเมืองเกงจิ๋ว แล้วแต่งขุนนางให้ไว้รักษา

ตั้งแต่นั้นมาโจโฉก็ป่วย นอนหลับตาลงเมื่อใด ให้เห็นกวนอูเมื่อนั้น ตื่นขึ้นก็ปวด ศรีษะเป็นกำลัง ครั้นให้หมอเข้ามารักษา หมอมานวดทายาจนสิ้นความรู้ โรคนั้นก็ไม่หาย ขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อยทั้งปวงเห็นดังนั้น ก็เป็นทุกข์หนัก ที่ปรึกษาคนหนึ่งจึงแนะนำให้หาหมอฮัวโต๋มารักษา

จากนี้ สามก๊กฉบับนายทุน ตอน โจโฉ..นายก ฯ ตลอดกาล ของท่านอาจารย์ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็ได้บรรยายต่อไปว่า

โจโฉได้ยินกิตติคุณของหมอฮัวโต๋ก็เกิดเลื่อมใส ให้คนรีบเดินทางทั้งกลางคืนกลางวันไปรับหมอฮัวโต๋มา ครั้นหมอฮัวโต๋มาถึงแล้วก็ตรวจอาการโจโฉ แล้วบอกว่าโจโฉเป็นโรคใน ศรีษะ แต่หมอฮัวโต๋นั้นเป็นศัลยแพทย์ เอะอะก็จะผ่าตัดเสียเรื่อยไป หมอฮัวโต๋บอกแก่โจโฉว่า จะรักษาด้วยยานั้นไม่หายแน่ ถ้าจะให้หายต้องผ่าศรีษะชำระโรคภายในให้หมด

ครั้นโจโฉถามว่าจะผ่าอย่างไร หมอฮัวโต๋ก็ตอบว่า จะให้กินยาสลบไม่รู้สึกตัวผ่าแล้วก็จะเย็บหัวสมองคืนอย่างเก่า โจโฉไม่เชื่อแต่หมอยืนยันว่า ได้ผ่ากวนอูมาแล้วเป็นผลสำเร็จ โจโฉก็ว่าผ่ากวนอูนั้นผ่าที่ไหล่ พอจะเข้าใจเชื่อถือได้ แต่ผ่าสมองนั้นยังไม่เชื่อ เพราะหมอฮัวโต๋เป็นศัลยแพทย์ที่ก้าวหน้าเกินเวลาไปตั้งพันปี การผ่าสมองเพิ่งมาทำกันได้ในปัจจุบัน เมื่อเร็ว ๆ นี้เอง แต่ก็ยังไม่แน่นอนนัก โจโฉขณะนั้นเป็นคนป่วยหนักด้วยโรคปวดศรีษะอย่างแรง อารมณ์หงุดหงิดอยู่ตามประสาคนป่วย เมื่อได้ยินหมอฮัวโต๋เอ่ยถึงชื่อกวนอู ก็ฉุนเฉียวขึ้นมาพาลสงสัยว่า หมอฮัวโต๋จะเป็นพวกเล่าปี่ มาแกล้งลวงฆ่าให้ตาย เพราะโจโฉเคยถูหมอประจำราชสำนัก พยายามวางยาพิษมาครั้งหนึ่งแล้ว โจโฉจึงโกรธหมอฮัวโต๋เป็นอันมาก สั่งให้เอาไปจำคุกไว้

ตัวโจโฉเองนั้นโรคในศรีษะก็เจ็บปวดมากขึ้น แทบจะทนไม่ไหว ขณะเดียวกันก็วิตกว่าเมืองกังตั๋งกับเมืองเสฉวน จะยกทัพมาทำอันตราย พอดีซุนกวนมีหนังสือมาจากเมืองกังตั๋ง โจโฉเปิดออกดู ในหนังสือมีใจความว่า

ข้าพเจ้าซุนกวนสามิภักดิ์มาพึ่งบุญท่าน อนึ่งบรรดาหัวเมืองทั้งปวงก็ขึ้นแก่ท่านสิ้นแล้ว ยังแต่เมืองเสฉวน เมืองตังฉวน ขอให้ท่านยกทัพไปตีเล่าปี่เถิด เห็นจะได้โดยสะดวก

โจโฉก็หัวเราะ จึงว่าแก่ที่ปรึกษาทั้งปวงว่า ซุนกวนจะลวงให้เราเหยียบกองไฟ ที่ปรึกษาคนหนึ่งจึงว่า

“……แผ่นดินพระเจ้าเหี้ยนเต้ก็ร่วงโรยมาช้านานแล้ว ครั้งนี้อาศัยบุญท่านก็บริบูรณ์มั่งคั่ง ราษฎรทั้งปวงได้พึ่งโพธิสมภาร อยู่เย็นเป็นสุข แล้วมีความรักใคร่ยินดีต่อท่านนัก ซุนกวนนี้ก็ถ่อมตัวเข้ามาเป็นข้าท่าน สมควรแล้วที่จะเป็นเจ้าแผ่นดิน……..”

โจโฉได้ฟังดังนั้นก็หัวเราะอีก แล้วจึงว่า

“…….เราทำนุบำรุงพระเจ้าเหี้ยนเต้มา แผ่นดินก็ราบคาบ ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขมาช้านานเพราะเรา เราก็ได้เป็นใหญ่หาขุนนางผู้ใดเสมอไม่แล้ว เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดินเคียงพระเจ้าเหี้ยนเต้นั้นไม่สมควร เราจะทำแต่พอเหมือนจิวบูอ๋อง ซึ่งทำการไว้ให้แก่ลูกชาย……”

สุมาอี้จึงทูลว่า

“……ซุนกวนสิยอมเข้ามาเป็นข้าท่านแล้ว ควรท่านจะตั้งให้ซุนกวนเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ให้เป็นฝักฝ่ายข้างเรา จะได้สกัดทัพเล่าปี่ไว้……..”

โจโฉก็เห็นชอบด้วย จึงให้แต่งตราตั้งซุนกวนเป็นเจ้าเมืองเกงจิ๋ว แล้วจึงให้ทหารคุมตราตั้งออกไปมอบเมืองเกงจิ๋วให้ซุนกวน ในฐานะที่ตีเมืองเกงจิ๋ว และสังหารกวนอูได้สำเร็จ

หลังจากนั้นอาการป่วยของโจโฉ ก็กำเริบกล้าขึ้น เห็นแต่ปีศาจของบุคคลที่ ตนได้ปลิดชีวิตมาตั้งแต่หนุ่ม ได้ยินแต่เสียงหญิงชายร้องไห้เซ็งแซ่ จนนอนไม่เป็นอันหลับ กระสับกระส่ายอยู่ทุกคืน ขุนนางก็แนะนำให้หาหมอผีมาทำพิธีปัดรังควาน โจโฉก็ทอดใจใหญ่ปลงว่า เป็นกรรมมาถึงตนแล้ว ไม่มีใครจะช่วยได้ แล้วก็เรียกขุนนางและนายทหารผู้ใหญ่ มาฝากฝังภรรยาทั้งหลาย และบุตรชายทั้งสี่คน โดยย้ำว่า

“……..เห็นแต่โจผีพี่เอื้อย เป็นคนหนักแน่นมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดหลักแหลม พอที่จะตั้งให้เป็นใหญ่แทนตัวเราได้ เราหาบุญไม่แล้ว ท่านจงอนุเคราะห์ตั้งไว้ ให้ว่าราชการแทนเราสืบไปเถิด………”

คราวนี้ก็ถึงฉากสุดท้ายของโจโฉ ซึ่ง สามก๊กฉบับคลาสสิก ของ วิวัฒน์ ประชาเรืองวิทย์ ก็ได้เขียนเล่าไว้ว่า

โจโฉบัญชาให้ผู้รับใช้คนสนิทเข้ามา ให้นำเอาเครื่องหอมมีชื่อ ที่ตลอดชีวิตตนเก็บซ่อนเอาไว้ ประทานแบ่งให้บรรดาอนุภรรยา พลางสั่งเสียว่า ภายหลังที่ข้าตายไปแล้ว พวกเจ้าต้องหมั่นฝึกฝนงานสตรี รู้จักทอไหม ประดิษฐ์รองเท้าเอาไปขาย เพื่อจะได้เงินเลี้ยงชีพตนเอง และบัญชาให้บรรดาอนุภรรยาส่วนใหญ่ ให้ไปพำนักอยู่ที่ปราสาทตั้งเชี๊ยกไท้ แต่ละวันให้จัดพิธีคารวะเซ่นไหว้ และจะต้องบัญชาให้หญิงคณิกา แสดงขับร้องมโหรีและนำอาหารขึ้นถวาย

และมีคำบัญชาสั่งเสียให้ไปที่จังหวัดเจียงเต็ก ทางนอกเมืองกั้งบู้เซี้ย ให้ก่อสร้างสุสานฮวงซุ้ยหลอกเจ็ดสิบสองแห่ง ห้ามมิให้คนรุ่นหลังรู้ว่า ข้าฝังอยู่ที่ใด เพราะเกรงจะมีคนไปขุดเอาขึ้นมา ครั้นสั่งเสียเป็นที่เรียบร้อย ก็ถอนหายใจเสียงยาว ๆ หนึ่งครั้ง น้ำตาไหลประดุจฝนตก อีกสักครู่ก็ขาดใจตายลง

ส่วนปัญหาที่ว่าโจโฉเป็นโรคอะไรแน่นั้น สามก๊กฉบับนายแพทย์ ของหมอพัตร ให้อรรถาธิบายไว้ว่า โรคที่น่าจะเป็นสาเหตุคร่าชีวิตโจโฉ เห็นจะได้แก่โรคเนื้องอกในสมอง และ ชี้แจงให้ทราบอย่างละเอียดว่า

เนื้องอกในสมองมี ๒ ชนิด ได้แก่เนื้องงอกชนิดธรรมดา และเนื้องงอกชนิดร้ายแรงหรือมะเร็ง แต่ไม่ว่าจะเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดา หรือมะเร็ง ก็ทำให้ซี้บ้องเซ็กได้อย่าง(ไม่)สบาย เหมือนกัน ต่างกันแต่ตายเร็วตายช้าเท่านั้น

อาการป่วยของโจโฉ เข้าได้กับอาการของโรคเนื้องงอกในสมองหลายอย่าง ตามที่กล่าวไว้ในพงศาวดาร โจโฉมีอาการปวดศรีษะอย่างร้ายแรงจนนอนไม่หลับ บางครั้งหลับแล้วยังตื่นขึ้น เนื่องจากความเจ็บปวด นอกจากนั้นยังเห็นผีเห็นสางมากมาย ซึ่งถ้าจะอนุโลมว่าเป็นอาการประสาทหลอน ก็คงจะพอรับฟังได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจนัก หมอฮัวโต๋ยังบอกว่า โจโฉเป็นโรคลมเสียดแทงในศรีษะ ต้องผ่าตัดเข้าไปชำระโรคจึงจะหาย

แล้วท่านก็สรุปยืนยันว่า โจโฉตายด้วยโรคเนื้องอกในสมอง อย่างแน่นอน

ต่อจากนั้น วรรณไว พัธโนทัย ได้กล่าวไว้ใน สามก๊กฉบับแปลใหม่ ว่า

สิ้นเสียงสั่ง โจโฉถอนพระทัยยาว น้ำตาไหลดุจฝนหลั่ง ครู่หนึ่งก็ขาดใจตาย สิริชนมายุ ๖๖ ปี ขณะนั้นเป็นฤดูใบไม้ผลิ ปีที่ยี่สิบห้า ศักราชเจี้ยนอัน คนภายหลังได้แต่งกลอน รำลึกถึงโจโฉไว้ว่า

ยืนอยู่เมืองเงียบกุ๋นครุ่นรำลึก ชายชาญศึกเกิดริมน้ำจังใหญ่
คนเหนือคนมีอิทธิ์ฤทธิไกร จักหาใครเทียบได้ที่ใดมี
เป็นทั้งคนใจบุญสุนทรทาน เป็นทั้งยอดอันธพาลชาญชัยศรี
เป็นนักธรรมล้ำเลิศทางพาที เป็นทั้งจอมอสุรีคับโลกา
มีปัญญาสามารถทั้งบุ๋นบู๊ แสนรอบรู้สารพัดในโลกหล้า
ฝีมือรบเกริกก้องพสุธา สถาปนาเวียงวังได้ดั่งใจ
คนนี้คือโจโฉโตใหญ่นัก แสนจงรักฮ่องเต้จะหาไหน
จึงเข้ายึดแผ่นดินทั่วถิ่นไซ้ ตั้งตัวใหญ่เป็นอ๋องครองนภา

และท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้สรุปไว้ในที่สุดว่า

เมื่อโจโฉมีนโยบาย ที่จะรวบรวมแผ่นดินจีนให้เป็นปึกแผ่น โจโฉก็มุ่งหน้าดำเนินนโยบายนั้นอย่างไม่ท้อถอย มิให้ความสุขหรือทุกข์หรือเหตุใด เข้ามาเป็นอุปสรรคกีดขวางได้ โจโฉถือว่าตนอยู่ในฐานะทำราชการให้แก่พระเจ้าเหี้ยนเต้ เป็นหลักไปตลอดชีวิต ถวายการยกย่องและสักการะ ตามควรแก่ฐานะตลอดมา แม้ว่าพฤติการณ์และพระราชอัธยาศัยของพระเจ้าเหี้ยนเต้ บางกรณี น่าจะทำให้โจโฉเปลี่ยนความคิดได้ โจโฉก็ไม่ยอมเปลี่ยน

ซึ่งหมายถึงความจงรักภักดีของโจโฉ ที่มีต่อฮ่องเต้อย่างมั่นคงมาตลอดชีวิต แต่ตรงกันข้ามกับโจผีบุตรชายคนโต เมื่อได้ขึ้นเป็นอ๋องแทนบิดาไม่เท่าไร ในปีต่อมาก็ได้ถอดพระเจ้าเหี้ยนเต้ออกจากราชบัลลังก์ แล้วสถาปนาตนเองขึ้นเป็นฮ่องเต้แทน ทรงพระนามว่าพระเจ้าอ้วยโซ่ แล้วจึงให้จารึกกุฏิฝังศพโจโฉใหม่ ทรงพระนามว่าพระเจ้าไทล่อฮูฮ่องเต้ เป็นปฐมกษัตริย์ราชวงศ์ วุย มาตั้งแต่บัดนั้น

ก็เป็นอันจบสิ้นชีวิตอันโลดโผนพิศดาร ของมหาอุปราชที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุด ในยุคสามก๊ก ลงแต่เพียงนี้.

###########




 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2558    
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2558 15:56:40 น.
Counter : 413 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.