Group Blog
 
All Blogs
 

เสรีไทยสายสื่อสาร

บันทึกจากอดีต

เสรีไทยสายสื่อสาร
พ.สมานคุรุกรรม

จากบันทึกของ พลเอก หลวงหาญสงคราม ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ กองทัพพายัพ ในสงครามมหาเอเชียบูรพา ซึ่งเป็นผู้นำในการติดต่อกับกองทัพจีน เพื่อร่วมมือกันขับไล่กองทัพญี่ปุ่นให้ออกจากประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗ นั้น ได้ระบุไว้ว่าในคณะผู้ติดต่อระหว่าง กองพลที่ ๓ ของไทย กับ กองพลที่๙๓ ของจีน ที่ชายแดนด้านสหรัฐไทยเดิมนั้น มีนายทหารคนสนิทคือ ร้อยโท สมาน วีระไวทยะ. ผู้บังคับหมวดสื่อสาร กองทหารสื่อสารกองพลที่ ๓ ร่วมเดินทางไปด้วยทุกครั้ง ในตำแหน่งนายทหารคนสนิทของผู้บัญชาการกองพล และเป็นผู้จดบันทึกการประชุมอีกด้วยทุกคราว

ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็น พันตรี ควง อภัยวงศ์ ซึ่งเป็นนายทหารสื่อสาร แล้ว แผนการที่จะติดต่อกับกองทัพจีนทางด้านกองทัพพายัพ ก็ต้องยุติลง พลตรี หลวงหาญสงคราม ได้ย้ายไปเป็นผู้บัญชาการกองพลอิสระที่ ๓๗ ตั้งอยู่ที่นครราชสีมา และ ร้อยเอก สมาน วีระไวทยะ ก็ได้ย้ายไปเป็น ผู้บังคับกองร้อยสื่อสาร กองพลอิสระที่ ๓๗ ด้วยเช่นกัน

พันเอก สมาน วีระไวทยะ ได้เล่าถึงการปฏิบัติงานคราวนี้ ไว้ในหนังสือที่ระลึกงาน พระราชทานเพลิงศพ พลเอก หลวงหาญสงคราม เมื่อ ๑๒ มีนาคม ๒๕๑๒ ไว้ดังนี้


เมื่อกระผมได้ไปรายงานตัว กับผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึง ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓๗ แล้ว กระผมก็ได้รับคำสั่งจากท่าน พลตรี หลวงหาญสงคราม ผู้บัญชาการกองพล(อิสระ) ๓๗ ว่า

“…….ให้ไปปฏิบัติงานร่วมกับพวกเสรีไทยที่มาจากอังกฤษและอเมริการในกรุงเทพฯ โดยให้ไปรายงานตัวกับ พันโท ขุนสุรพลพิเชษฐ ผู้อำนวยการสื่อสารที่กรุงเทพ แล้วเข้าปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง…”

กระผมได้ไปรายงานตัวตามคำสั่งเมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗ ก็ได้รับคำสั่งจากผู้อำนวยการสื่อสาร ให้เข้าปฏิบัติงานประจำอยู่กับหน่วยสื่อสารพิเศษ ของกองบัญชาการพิเศษ(ใต้ดิน) ในฐานะเป็นนายทหารฝ่ายการข่าวสื่อสาร และนายทหารฝ่ายระหัส

กระผมได้ไปทำงานอยู่กับหน่วยงานพิเศษเรียกว่า กองบัญชาการผสมไทย-อังกฤษ และ ไทย-อเมริกัน (FORCES 136 & MISSION 207) ซึ่งหน่วยงาน ๑๓๖ (SEAC COMMAND) นี้ตั้งอยู่ที่บ้านถนนศรีอยุธยา แต่หน่วยงาน ๒๐๗ ตั้งอยู่ที่ซึ่งดูเหมือนจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบันนี้ (พ.ศ.๒๕๑๒)

และหน่วยงานของกระผมนี้เรียกได้ว่าเป็นหน่วยงานลับจริง ๆ คือเป็นทั้งสถานีวิทยุลับที่ใช้เครื่องรับ-ส่งวิทยุชนิดที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งกระผมเองเป็นนายทหารสื่อสาร ยังไม่เคยเห็นมีใช้ที่ไหนแม้ในกองทัพญี่ปุ่น เครื่องวิทยุก็มีมากมายหลายชนิด ทั้งใช้ไฟฟ้า ใช้เครื่องทำไฟชนิดน้ำมันเบนซินและไอน้ำ นอกนั้นยังมีการปกปิดการทดลองเครื่อง ทั้งออกอากาศและไม่ออกอากาศ

สำนักงานตั้งอยู่ที่บ้าน พลตรี หม่อมหลวง จวง เสนีวงศ์ กลางสวนลึกในตรอก เล็ก ๆ ของซอยองครักษ์ (บางกระบือ) ภายในบ้านที่ใช้เป็นสำนักงานและสถานีลับนี้ มีอาวุธทุกชนิด ล้วนแต่เป็นของใหม่ซึ่งคนไทย-ทหารไทยยังไม่เคยใช้ทั้งนั้น เช่น ปืนคาร์ไบน์ ปืนกลมือเสจนท์ เอมทรี ฯลฯ และอื่น ๆ เตรียมสู้ตาย ภายในบ้านก็ดัดแปลงเป็นที่ต่อต้าน ต่อสู้ และที่หลบภัยอย่างมั่นคง ประกอบกับมีรั้วสังกะสีสูงมาก ซึ่งไม่มีผู้ใดอาจปีนเข้าไปได้ รอบบ้านก็เป็นบริเวณสวนกว้างขวาง เต็มไปด้วยท้องร่องและมูลดิน กว้างใหญ่เกินกว่าที่ใครจะกระโดดข้ามได้ เมื่อประกอบกับการดัดแปลงทำเป็นมูลดินป้องกันกระสุนไว้ตามขอบรั้วโดยรอบแล้ว ก็เป็นป้อมที่แข็งแรงเราดี ๆ นี่เอง ยิ่งกว่านั้นภายในรั้วสังกะสียังขึงสายไปแรงสูงไว้ด้วย

กระผมได้ชื่อระหัสว่า “ ดริลล์ (DRILL) “ ซึ่งจะแปลเป็นไทยได้หลายอย่าง แต่เขาให้เข้าใจว่าเป็นชื่อผ้าชนิดหนึ่ง เพราะสายงานของกระผมนั้นมีชื่อสถานีเป็นผ้าบ้าง แพรบ้าง สักหลาดบ้าง ทั้งนั้น ทำงานติดต่อกับ กัลกัตตา ซีลอน (ลังกา) ฟิลิปินส์ และอื่น ๆ เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นในประเทศไทย พม่า ญวน ลาว สิงคโปร์ มลายู อินโดนีเซีย บอเนียว ฯลฯ ทำงานตลอด ๒๔ ชั่วโมง และติดต่อกับสถานีวิทยุลับในทุกจังหวัดของประเทศไทย ติดต่อเรื่องการรับส่งอาวุธ และสิ่งของจากหน่วยบัญชาการอเมริกันทั้งหมด เครื่องบิน เรือดำน้ำ ทิ้งร่ม ฯลฯ แม้กระทั่งการมาทิ้งยาที่ท้องสนามหลวง เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ ซึ่งกระผมลืมจดวันที่เดือนเอาไว้

กระผมทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๗ จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๘ ก็ย้ายหน่วยไปปฏิบัติงานประจำ อยู่กับกองพลที่ ๓๗ (อิสระ) นครราชสีมา (โคราช ในค่ายสุระนารีปัจจุบัน) โดยตั้งสถานีวิทยุลับที่บ้านพักเดิมของกระผม (บ้านพักนายทหารสื่อสาร) ทำงานในพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด

นอกจากการรับส่งข่าวลับแล้ว ยังต้องคอยรับของที่ส่งจากทางอากาศ และรับนายทหารอังกฤษ อเมริกัน ออสเตรเลีย และคานาเดียน นิวซีแลนด์ ที่มากระโดดร่มลงในพื้นที่ของกองพล ๓๗ ซึ่งมีมากด้วยกัน ทั้งที่โคราช ชัยภูมิ ขอนแก่น และที่อื่น ๆ

ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงครามราบคาบแล้ว ท่าน พลเอก หลวงหาญสงคราม (ขณะนั้นเป็น พลตรี) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการ กองอำนวยการสันติภาพ ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ที่ตึกขาวข้างสนามเสือป่า ตรงข้ามวัดเบญจมบพิตร ตอนนั้นกระผมย้ายเข้ามาสังกัดอยู่ในกรมจเรทหารบก และต่อมาได้ไปทำหน้าที่นายทหารติดต่อ ประจำกองทหารอังกฤษในประเทศไทย

แล้วท่านก็ถูกส่งไปทำงานประจำอยู่ที่สำนักงานนายทหารติดต่อ จังหวัดนครปฐม ภายใต้ความอำนวยการของ พลโท หลวงหาญสงคราม อีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นเรื่องราวนอกขบวนการเสรีไทยแล้ว ท่านได้รับราชการต่อมาจนได้เลื่อนยศเป็น พันเอก และได้ถึงแก่กรรมเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๒๘

ในคราวที่กองทัพไทยเตรียมต่อสู้ กับกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยนี้เอง ได้มีทหารสื่อสารอีก ผู้หนึ่ง มีบทบาทสำคัญในการป้องกันพระนคร ท่านผู้นี้คือ พันตรี ชาญ อังศุโชติ ท่านได้เขียนไว้ในเรื่อง การปฏิบัติภารกิจของกองพลรักษาพระนคร ซึ่งได้ตัดตอนมา ดังนี้

หลังจาก จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้พ้นอำนาจทางการเมืองและการทหาร ในกลางปี พ.ศ.๒๔๘๗ แล้ว กรมบัญชาการกองทัพใหญ่ ได้ปรับปรุงการจัดกองพลที่ ๑ ให้มีสภาพเป็นกองพลรักษาพระนคร ตั้งอยู่ที่สวนพุดตาลในเขตพระราชฐาน (ใกล้พระที่นั่งพิมานเมฆ และ อภิเศกดุสิต) กับให้หน่วยทหารบกที่มิได้ขึ้นตรงต่อกองพลที่ ๑ ส่วนที่อยู่ในพระนคร รวมทั้ง โรงเรียนนายร้อยทหารบก มาร่วมปฏิบัติการทางยุทธวิธี ผู้บัญชาการกองพลคือ พลตรี วีรวัฒน์ วีรวัฒนโยธิน พันเอก สนิท ไทยานนท์ เป็นเสนาธิการกองพล และตัวท่านเป็นฝ่ายเสนาธิการ

ภารกิจของหน่วยนี้ นอกจากการประสานงานกับฝ่ายทหารและคณะผู้ต่อต้านญี่ปุ่นชั้นผู้ใหญ่แล้ว ผู้บัญชาการกองพลและนายทหารฝ่ายเสนาธิการ ต่างได้รับมอบให้แยกย้านกันสดับตรับฟัง ข่าวการเคลื่อนไหวของฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อเตรียมการที่จะขัดขวาง หากว่าฝ่ายญี่ปุ่นจะเข้ายึดครองการบริหาร และเพื่อดำเนินการขับไล่ทหารญี่ปุ่นให้ออกนอกประเทศไทย ร่วมกับฝ่าย สัมพันธมิตรภายในประเทศ และฝ่ายสัมพันธมิตรที่จะเข้ามาจากต่างประเทศ ในเมื่อได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชา

การดำเนินการต่าง ๆ บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เปิดเผย เช่นการสร้างป้อมตามถนนสายสำคัญ ๆ ในพระนคร โดยใช้เงินราชการลับ ที่เบิกตรงมาจากกองบัญชาการต่อต้านญี่ปุ่น โดย พันตรี ชาญ อังศูโชติ กับนายทหารฝ่ายการเงิน ไปเบิกรับจากกระทรวงการคลัง และการฝึกซ้อมทหารพร้อม ๆ กับเวลาที่ทหารญี่ปุ่นทำการฝึกซ้อมในพระนคร เป็นต้น ส่วนงานที่เป็นความลับ มีผู้ทราบความเคลื่อนไหวน้อย เช่น

การส่งนายทหารนายสิบ แทรกซึมเข้าไปทำหน้าที่รับใช้ ที่บ้านพักของนายทหารญี่ปุ่นชั้นผู้ใหญ่ เพื่อสืบทราบความเคลื่อนไหวต่าง ๆ นับตั้งแต่ตัวแม่ทัพคือ พลโทนากามูรา ลงมา เรื่องนี้ปรากฏผลว่านายทหารที่กองพลรักษาพระนคร คัดเลือกส่งออกไปปฏิบัติหน้าที่ สามารถรายงานข่าวกรองที่เป็นประโยชน์แก่การต่อต้านเป็นอันมาก ผู้ที่ไปปฏิบัติงานนี้ทำได้แนบเนียนมากและได้ผลดี ไม่ปรากฏว่าฝ่ายญี่ปุ่นจับได้แม้แต่รายเดียว

การส่งนายทหารแทรกซึมไปในหมู่พ่อค้าชาวจีน ซึ่งบางรายก็ให้ความร่วมมือ ในการข่าวกรองด้วยความเต็มใจ บางรายก็ให้ข่าวโดยการพลั้งเผลอหรือไม่ตั้งใจ ชาวจีนบางคนร่วมมือกับญี่ปุ่นก็มี การเลือกเฟ้นเป้าหมายที่จะเข้าไปติดต่อ ต้องทำอย่างรอบคอบมาก ผลของงานนี้ทำให้ผู้บังคับบัญชาชั้นสูง ทราบความเคลื่อนไหวของชาวญี่ปุ่นในประเทศไทย จากฝ่าย พลเรือนอีกทางหนึ่ง

การสร้างสนามบินลับที่ตำบลบางพูน จังหวัดปทุมธานี เพื่อให้ทหารสัมพันธมิตรโดดร่มลงมา เพื่อเตรียมเข้าตีสนามบินดอนเมือง และการป้องกันสนามบินน้ำ เป็นต้น พันตรี ชาญ อังศุโชติ ได้รับนโยบายจากผู้บัญชาการกองพลรักษาพระนคร ให้จัดสร้างโรงเรือนขึ้นเป็นอาคารแบบโรงเลี้ยงไก่และสุกร กองรักษาการณ์ สถานีวิทยุสนาม ที่พักยานยนต์ โดยเงินราชการลับที่ได้เบิกรับ จากกองบัญชาการต่อต้านญี่ปุ่น

การจัดตั้งหน่วยพิเศษ กองพลรักษาพระนคร ได้คัดเลือกนายสิบพลทหารทุกหน่วยทหารต่าง ๆ ในพระนคร รวมประมาณ ๒๕๐ คน มีลักษณะกล้าหาญ เสียสละ และเก็บความลับได้ จัดตั้งเป็นหน่วยพิเศษขึ้นที่พระที่นั่งนงคราญสโมสร (บริเวณวังสวนสุนันทา) ใกล้ที่ตั้งของกองพลรักษาพระนคร หน่วยพิเศษนี้มีการรักษาความปลอดภัยอย่างกวดขันมาก ภารกิจของหน่วยพิเศษเท่าที่ทราบ พอสรุปได้ คือ

การฝึกใช้อาวุธ ที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งร่มหรือนำมาส่งให้ โดยเรือดำน้ำ สัมพันธมิตร เช่น ปืนต่อสู้รถถัง ปืนกลมือ เครื่องยิงและลูกระเบิดขว้าง กับระเบิด และเครื่องค้นหากับระเบิด การตรวจค้นและการทำลายวัตถุระเบิด การจู่โจมเข้าจับกุมฝ่ายตรงข้ามคนสำคัญ และระวังป้องกันอันตรายให้แก่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และบุคคลสำคัญของรัฐบาล การป้องกันอันตรายให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งชาวต่างประเทศและคนไทย

การหาข่าว ทหารในหน่วยพิเศษได้รับการฝึกในการหาข่าว โดยแทรกวึมเข้าไปในหน่วยราชการ และชุมนุมชนระดับต่าง ๆ กองพลรักษาพระนครจัดรถจักรยานให้

เป็นกองหนุนเคลื่อนที่เร็ว ทหารในหน่วยพิเศษได้รับจ่ายจักรยาน และมีข่ายการสื่อสาร โดยใช้วิทยุที่มีใช้ในกองทัพบกไทยในขณะนั้น สามารถติดต่อกันได้รวดเร็วตลอดเวลา

ครั้งหนึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรนัดว่าจะส่งเครื่องบิน มาทิ้งยาให้ที่ท้องสนามหลวง ในวันที่ ๑๖ มิถุนายน ๒๔๘๘ หน่วยพิเศษได้รับคำสั่งให้เป็นหน่วยเก็บยา บังเอิญเนื่องจากอุปสรรคบางประการ จึงได้มีการเลื่อนวันทิ้ง มาเป็นวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๔๘๘ และการทิ้งยาและเวชภัณฑ์ในวันนั้น สัมพันธมิตรดำเนินการอย่างอาจหาญและเปิดเผยมาก ไม่มีการปิดบังแต่อย่างใด ทำให้ฝ่ายไทยเราเกิดความเข้าใจผิดกันเอง ระหว่างหน่วยพิเศษกองพลรักษาพระนคร ภายใต้การนำของ พันตรี ชาญ อังศุโชติ กับกองพันทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ และหน่วยสารวัตรทหาร ความลับจึงแตก และทำให้ฝ่ายญี่ปุ่นรู้แน่ว่า คนไทยได้ประสานงานกับสัมพันธมิตร เตรียมที่จะดำเนินการกับฝ่ายญี่ปุ่นแล้ว บรรยากาศในพระนครได้เพิ่มความตึงเครียดขึ้น

นอกจากนี้ยังได้คัดเลือกนายสิบพลทหาร ที่มีความเข้าใจเรื่องการค้าขาย ไปเช่าร้านขายอาหารที่เชิงสะพานเทเวศร์ (สี่เสา) จัดให้ขายข้าวแกง ส่วนภายในร้านได้จัดเป็นรังปืนกล มีอาวุธกระสุน และเครื่องสื่อสาร พร้อมที่จะรับมือกับทหารญี่ปุ่นเมื่อโอกาสมาถึง ร้านค้าแห่งนี้ได้รายงานการเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่น ให้กองพลรักษาพระนครทราบเสมอ

ที่บริเวณใกล้อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กองพลรักษาพระนครได้เช่าบ้านหลังใหญ่ มีบริเวณกว้างขวาง ดัดแปลงเป็นรังปืนกลขนาดใหญ่ใต้พื้นดิน มีปืนต่อสู้รถถัง ปืนกลหนักหลายกระบอก มีกระสุน และเครื่องรับส่งวิทยุสนามพร้อม รังปืนกลแห่งนี้ ก่อนที่สงครามจะยุติลง นายทหารต่างประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร ได้เคยมาตรวจดู เพราะอยู่ในชัยภูมิสำคัญ ใกล้ที่ตั้งกองบัญชาการกองทัพญี่ปุ่น และอยู่ใกล้ชุมทางสำคัญที่จะสกัดการเคลื่อนย้ายกำลังจากดอนเมืองเข้า พระนคร หรือจากพระนครออกไปสนามบินดอนเมืองได้

แต่สงครามก็ได้สงบลงเสียก่อน ที่จะได้ใช้ป้อมนี้ให้เป็นประโยชน์ ทำให้สงวนชีวิตของทหารทั้งสองฝ่ายไว้ได้ ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ของฝ่ายญี่ปุ่นและไทย ไม่ถึงกับขาดสะบั้นไปโดยสิ้นเชิง

พันตรี ชาญ อังศุโชติ ก็จบบทความเรื่อง การปฏิบัติภารกิจของกองพลรักษาพระนคร ในนิตยสารทหารสื่อสาร ฉบับ มกราคม ๒๕๓๕ ลงแต่เพียงนี้

ท่านผู้เขียนได้สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ ประจำกองพันทหารสื่อสารที่ ๒ ต่อมาได้เป็นผู้บังคับหมวดสื่อสาร โรงเรียนทหารสื่อสาร กองทหารสื่อสารที่ ๕ และกองทหารสื่อสาร กรมป้องกันต่อสู้อากาศยาน ตามลำดับ

ท่านได้ย้ายไปรับราชการในกองบัญชาการตำรวจภูธร และตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ - ๒๕๐๓ ได้รับพระราชทานยศ นายพลตำรวจตรี เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๒ และได้รับพระราชทานยศ พลโท เมื่อรับราชการในกองบัญชาการทหารสูงสุด ใน พ.ศ.๒๕๑๔

ท่านครบเกษียณอายุราชการเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๗ เคยเป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยแห่งรัฐ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ และเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔.

#############




 

Create Date : 29 เมษายน 2560    
Last Update : 29 เมษายน 2560 7:29:58 น.
Counter : 1402 Pageviews.  

เสรีไทยสายพายัพ

บันทึกจากอดีต

เสรีไทยสายพายัพ

พ.สมานคุรุกรรม

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ นั้น ถึง พ.ศ.๒๔๘๔ สงครามได้ลุกลามมาถึงประเทศไทย โดยกองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดสมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และปัตตานี ซึ่งต่อมาได้ตกลงเป็นมหามิตรกัน แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดลง โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้ยอมแพ้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยไม่มีเงื่อนไข เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๘ ประเทศมิได้เป็นฝ่ายแพ้ไปด้วย

ในคราวนั้นได้มีทหารของกองทัพไทย เข้าร่วมเดินสวนสนาม ด้วยเครื่องแบบอันเก่าแก่ และอาวุธปืนเล็กยาว แบบ ๖๖ ที่ล้าสมัย กว่าอาวุธประจำกายของสมาชิกเสรีไทยเป็นอันมาก แสดงให้เห็นว่าทหารไทยนั้นยังมีเกียรติ ในฐานะเป็นทหารของชาติอยู่เช่นเดิม

อาจจะเป็นด้วยการแสดงออก ของกองทัพไทยที่จำเป็นต้องร่วมเป็นมหามิตร กับกองทัพญี่ปุ่นด้วยความจำเป็นบังคับ และได้พยายามที่จะปลดแอกอันนั้น อย่างเต็มความสามารถ ก็เป็นได้

เมื่อเหตุการณ์ได้ล่วงเลยมาหลายสิบปี จึงมีผู้เปิดเผยถึงการดำเนินการต่อต้านญี่ปุ่น จากขบวนการต่าง ๆ ทั้งนอกประเทศและในประเทศ เป็นลำดับมา ซึ่งเรื่องที่จะนำมาเล่านี้เป็นวีรกรรมของนายทหารไทยท่านหนึ่ง ที่ได้บันทึกไว้ด้วยตนเอง ท่านผู้นั้นคือ พลเอก หลวงหาญสงคราม (พิชัย สุวรรณไศละ)

ในสงครามอินโดจีนท่านมียศเป็นพันโท ตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลพายัพ สังกัดกองทัพบูรพา ซึ่งมี พันเอก หลวงพรหมโยธี เป็นแม่ทัพ และเพื่อนสนิทของท่านคือ พันโท หลวงบูรณสงคราม เป็นเสนาธิการกองทัพ ได้เข้าร่วมรบทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถยึดแคว้นหลวงพระบางได้ทั้งหมด เมื่อกรณีพิพาทยุติลง ประเทศไทยได้รับดินแดนส่วนนี้คืนมา จึงได้ตั้งเป็นจังหวัดล้านช้าง โดยแบ่งออกเป็น ๒ อำเภอ คือ อำเภออดุลเดชจรัส และ อำเภอหาญสงคราม เพื่อเป็นเกียรติแก่ท่านด้วย แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลง สี่จังหวัดที่ได้มาคราวนั้น ก็ต้องคืนเจ้าของเดิมไปหมด

ในสงครามมหาเอเซียบูรพา ขณะที่ท่านดำรงยศเป็น พันเอก ในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ ๔ สังกัดกองทัพพายัพ ซึ่งมี พลโท หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) เป็นแม่ทัพ และ พันเอก จอน บูรณสงคราม เป็นรองเสนาธิการกองทัพ ได้เคลื่อนกำลังเข้าไปในสหรัฐไทยใหญ่ หรือรัฐฉานเมื่อ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๘๕ สามารถยึดเมืองเชียงตุงได้เมื่อ ๒๖ พฤษภาคม ๒๔๘๕ และคืบหน้าไปจนถึงแม่น้ำหลวย

ท่านได้เลื่อนยศเป็นพลตรี เมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๔๘๕ และได้เป็นผู้บัญชาการ กองพลที่ ๓ ส่วนสหรัฐไทยใหญ่นั้น ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อเป็น สหรัฐไทยเดิม เมื่อ ๓๐ สิงหาคม ๒๔๘๖

ประมาณปลายเดือน มกราคม ๒๔๘๗ พลโท จิระ วิชิตสงคราม แม่ทัพพายัพ คนใหม่ ได้สั่งให้ท่านกับ พันเอกหลวงเกรียงเดชพิชัย ผู้บัญชาการกองพลที่ ๔ ไปพบที่เมืองพยาค และสั่งการให้ส่งเชลยทหารจีนไปพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ ของจีน ซึ่งตั้งประจันหน้ากันอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ เพื่อความสัมพันธไมตรี ยุติการรบโดยไม่เป็นศัตรูกันต่อไป เพราะจีนกับไทยมิได้มีสาเหตุโกรธเคืองอะไรกัน การที่ประเทศไทยจะต้องเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นก็เนื่องด้วยสถาณการณ์บังคับ เราจะส่งผู้แทนของเราไปพบกับผู้บัญชาการทหารจีน เพื่อปรับความเข้าใจและเพื่อผูกมิตรกันต่อไป

ท่านจึงกลับมาจัดการ ให้หาธงขาวเขียนภาพจับมือไขว้ ให้ ร้อยตำรวจโท ธานี สุนทรกิจ ซึ่งเป็นล่าม เขียนหนังสือเป็นภาษาจีน มีใจความตามที่กล่าวข้างต้น และจัดจ่านายสิบหนึ่งนาย กับพลทหารจีนที่เป็นเชลยสามนาย กับเสบียงอาหารพอกินได้สองวัน เดินทางไปยังเมืองมะ พร้อมด้วยนายทหารฝ่ายเสนาธิการ นายทหารคนสนิท และหน่วยคุ้มกัน เพื่อสมทบกับ พันโท ประยูร สุคนธทรัพย์ ผู้บังคับการกองพันทหารราบ ที่ยึดเมืองมะ และรักษาชายแดนแม่น้ำลำ ให้ร่วมเดินทางไปยังเมืองลา และส่งชุดเชลยศึกผู้ติดต่อ ให้ลุยข้ามน้ำไปยังฝั่งเขตแดนจีน และให้ผู้บังคับกองพันทหารราบ จัดหมู่รับข่าวไว้ที่ชายฝั่งแม่น้ำลำ แล้วคณะของท่านก็เดินทางกลับ

ประมาณเดือน กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗ ก็ได้รับข่าวตอบจากผู้บัญชาการกองพล ๙๓ ของจีนว่า ได้รับหนังสือและยินดีที่จะพบปะ กับผู้แทนทหารไทย ให้รีบส่งไปจะคอยรับที่เมือง เชียงล้อ ริมฝั่งแม่น้ำลำ ท่านจึงจัดเจ้าหน้าที่ทหารไทยส่งไปเป็นครั้งแรก คณะนี้ประกอบด้วย พันเอก หลวงไกรนารายณ์ เสนาธิการกองพลที่ ๓ เป็นหัวหน้าคณะกับฝ่ายเสนาธิการอีก ๒ คนคือ พันโท แสวง ทัพภะสุต พันตรี กระจ่าง ผลเพิ่ม และร้อยโท สมาน วีระไวทยะ นายทหารคนสนิท สุดท้ายคือร้อยตำรวจโท ธานี สาทรกิจ ล่ามภาษาจีน เดินทางไปพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓

ต่อมาท่านได้รับรายงานจากหัวหน้าคณะว่า

ทางผู้บัญชาทหารจีนได้จัดการต้อนรับเป็นอย่างดี ก่อนข้ามแม่น้ำลำได้จัดการปลดอาวุธของเราเอง เมื่อขี่ม้าลุยน้ำเข้าไปยังฝั่งเขตแดนจีน ซึ่งฝ่ายทหารจีนได้เตรียมตั้งอาวุธ ปืนกลป้องกัน เมื่อข้ามฝั่งไปแล้วมีทหารจีนมาจูงม้าไปยังที่พักซึ่งได้เตรียมเอาไว้ พอหยุดพักหายเหนื่อยก็เริ่มทำการประชุม ฝ่ายเราได้เสนอตามหัวข้อที่ได้กล่าวมาแล้ว ฝ่ายทางทหารจีนก็แสดงความพอใจหยุดรบ และเป็นมิตรกันต่อไป ทั้งสองฝ่ายตกลงจะส่งข่าวให้ทราบทุก ๑๕ วัน กับจะนัดพบกันเมื่อใดจะบอกล่วงหน้าให้ทราบภายใน ๗ วัน

เมื่อประชุมเสร็จก็พอดีรับประทานอาหารกลางวัน ทางฝ่ายจีนเป็นผู้จัด มีอาหารหลายอย่างเช่นเดียวกับภัตตาคารแถวเยาวราช แต่ไม่มีสุราและบุหรี่ เพราะขาดแคลน ระหว่าง รับประทานอาหารก็มีการสนทนา เกี่ยวกับเหตุการณ์ภายในประเทศ เพื่อให้ทางฝ่ายจีนเห็นใจ พอรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ ได้ขอปืนไรเฟิลสำหรับไว้ยิงสัตว์ ๑ กระบอก ผ้าลายสองสีกากีแกมเขียวสำหรับตัดเสื้อกางเกง ๑ พับ รองเท้าหุ้มข้อสีดำตามเบอร์ที่กำหนด ๕ คู่ และยาควินนินสำหรับแก้ไข้เป็นจำนวนพอสมควร และสุรากับบุหรี่ ในคณะที่ประชุมเป็นจำนวนพอสมควร เมื่อได้ร่ำลากันแล้ว ฝ่ายเราก็ได้ข้ามแม่น้ำกลับมายังที่พัก

เมื่อท่านได้รับรายงานละเอียดจากผู้แทนคณะนี้แล้ว ก็รีบส่งไปยังผู้บัญชาการทหารสูงสุดทันที ต่อมาในขณะที่ท่านอยู่ที่กองบัญชาการ กองพลที่ ๓ ณ วัดปางฮุง พันโท ประยูร สุคนธทรัพย์ ก็ได้ส่งหนังสือที่ พันโทหม่อมหลวง ขาบ กุญชร ส่งผ่านทหารจีนข้ามแม่น้ำมา มีความว่า ได้เข้ามาในประเทศจีน และพยายามมาที่ชายแดนระหว่างประเทศจีนกับประเทศพม่า เพื่อต้องการพบกับทหารไทย ให้รีบจัดนายทหารไปทำการติดต่อ

ท่านจึงได้ส่งหนังสือฉบับนี้ ไปให้ผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วนัดพบกับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ และจัดชุดผู้แทนทหารไทย โดยมี พันเอก หลวงเดชปฎิยุทธ รองผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ เป็นหัวหน้าคณะไปกับนายทหารที่เคยไปชุดที่แล้ว ไปที่เมืองเชียงล้อ เมื่อปลายเดือน กุมภาพันธ์ ๒๔๘๗ พันเอกหลวงเดชปฎิยุทธ ได้กลับมารายงานว่า

ได้มอบสิ่งของที่ทางฝ่ายทหารจีนต้องการ กับส่งข่าวคราวในประเทศ เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่น ให้กับผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ เขาแสดงความดีใจและขอบคุณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

ส่วนเรื่อง พันโทหม่อมหลวง ขาบ ฯ นั้น ได้มาที่เมืองเชียงรุ้ง และเมืองเชียงล้อ แต่ทหารจีนไม่ยอมให้พบกับทหารไทย และได้กลับไปแล้ว

ซึ่งท่านก็ได้รายงานไปทางกองบัญชาการทหารสูงสุดเพื่อทราบ ต่อมาประมาณกลางเดือนมีนาคม ๒๔๘๗ ท่านได้รับคำสั่งจากผู้บัญชาการทหารสูงสุด ให้จัดคณะนายทหารซึ่งมีผู้บัญชาการกองพลที่ ๓ คือตัวท่านเองเป็นผู้แทนของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และให้ พันเอก เนตร เขมะโยธิน เป็นเสนาธิการ ไปประชุมกับผู้แทนกองทัพจีน ซึ่งเป็นการประชุมที่สำคัญเกี่ยวกับการวางแผน เพื่อขับไล่กองทัพญี่ปุ่นให้ออกจากประเทศไทย และให้นัดหมายวันและตำบลที่จะนัดพบ ให้เป็นการแน่นอน ท่านจึงให้ล่ามเขียนหนังสือนัดพบ ไปยังผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ ทันที และได้รับตอบมาว่าให้ไปพบกันที่เดิม ในวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๘๗

ถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๔๘๗ พันเอก เนตร เขมะโยธินได้เดินทางมาถึง กองบัญชาการกองพลที่ ๓ และได้แจ้งคำสั่งของผู้บัญชาการทหารสูงสุดให้ทราบ แล้วก็เตรียมหัวข้อที่จะเจรจากับผู้แทนกองทัพจีนต่อไป

คณะผู้แทนทหารไทย ที่จะเดินทางไปปฏิบัติงานพิเศษและสำคัญอย่างยิ่งคราวนี้ ซึ่งนอกจากหัวหน้าคณะและเสนาธิการแล้ว ก็มีพันโทกระจ่าง ผลเพิ่ม พันโท แสวง ทัพภะสุต ร้อยโท สมาน วีระไวทยะ และ ร้อยตำรวจโท ธานี สาทรกิจ ได้ออกเดินทางจากกองบัญชาการ กองพลที่ ๓ เมื่อเช้าวันที่ ๑ เมษายน ๒๔๘๗ จากวัดปางฮุง เมืองเชียงตุง ผ่านหนองกัง เมืองมะ ตรงไปยังเมืองลา พักค้างหนึ่งคืน เช้าวันที่ ๒ เมษายน จึงเดินทางต่อไปถึงชายป่าริมแม่น้ำลำ และข้ามลำน้ำไปถึงที่รับรองและประชุมของจีน ซึ่งสร้างด้วยไม้ไผ่หลังคามุงแฝก ภายในกว้างประมาณ ๖ x ๘ เมตร สร้างเป็นโต๊ะและมีม้านั่งหันหน้าเข้าหากัน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำมีความร่มเย็นสบาย

เมื่อคณะของเราได้พบปะผู้แทนทหารจีน ซึ่งมี พลตรี ลิววิเอ็ง ผู้บัญชาการกองพลที่ ๙๓ เป็นหัวหน้าในฐานะผู้แทน จอมพล เจียงไคเช็ค กับเสนาธิการคือ พันตรี ลีเต้ฉ่าย กับ พันตรี โฮ้วซองเซา ฝ่ายเสนาธิการ และนายบุญศรี รัตนตัน ลูกจีนที่เคยอยู่ในเมืองไทย ทำหน้าที่ล่ามภาษาไทยของฝ่ายจีน ได้ทำการเคารพกันเรียบร้อยแล้ว ฝ่ายเราก็ได้มอบของฝากให้แก่ผู้แทนฝ่ายจีน ซึ่งเขาดีใจและขอบคุณผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเราเป็นอย่างดี

การประชุมได้กระทำกันเป็นสองตอน คือตอนเช้าพอเที่ยงวันก็หยุดรับประทานอาหาร เสร็จแล้วเริ่มประชุมต่อไปจนเกือบพลบค่ำในวันนั้น ฝ่ายจีนได้จัดอาหารเช่นที่กล่าวแล้ว ในการประชุมครั้งแรก ส่วนฝ่ายเราได้จัดสุราและบุหรี่ มาทำการเลี้ยงดูตามที่ได้ตกลงกันไว้ นับว่าเป็นการต้อนรับและเลี้ยงดู คณะของเราอย่างดียิ่ง

ผลของการประชุมเมื่อสรุปแล้วคงได้ความว่า ทั้งสองฝ่ายได้ปรับความเข้าใจกันในเรื่องต่าง ๆ และตกลงในหลักการที่จะไม่เป็นศัตรูต่อกัน พลตรี ลิววิเอ็งได้ให้คำมั่นแก่เราว่า จะนำข้อความทั้งหมดที่เราเจรจากันนี้ รายงานตรงไปยังจอมพลเจียงไคเช็ค เพื่อดำเนินงานทางด้านการเมือง และแผนการณ์ทางทหารร่วมมือกันต่อไป โดยขอกำลังทางอากาศช่วยกำลังทางพื้นดิน ส่วนทางพื้นดินนั้นมีกำลังเพียงพอแล้ว กับขอร้องให้ทางฝ่ายจีนนำเรื่องนี้ ติดต่อกับฝ่ายสหรัฐอเมริกาและอังกฤษให้ทราบด้วย

เมื่อการประชุมและการเลี้ยงเสร็จสิ้นลงแล้ว คณะของเราก็อำลากลับ โดยพลตรีลิววิเอ็งกับคณะได้มาส่งจนถึงริมฝั่งแม่น้ำลำ ในคืนวันนั้นเอง

หลังจากนั้นประมาณปลายเดือน เมษายน ๒๔๘๗ ท่านก็ได้รับหนังสือจากผู้แทนทหารจีน ขอให้ฝ่ายไทยเตรียมจัดคณะผู้แทน ทางฝ่ายการเมืองและการทหาร เพื่อเดินทางไปประชุมวางแผนการณ์กับจอมพลเจียงไคเช็ค ที่นครจุงกิง โดยทางฝ่ายจีนจะจัดเครื่องบินมารับ ที่สนามบินเชียงรุ้งในมณฑลยูนนาน ส่วนการเดินทางบกจากเมืองเชียงล้อ ไปเมืองเชียงรุ้งนั้น ทางฝ่ายจีนจะจัดขบวนม้ามาคอยรับไป โดยให้ทั้งหมดปลอมเป็นทหารจีน เพื่อมิให้ทหารของเขาเกิดสงสัย

จอมพล ป. พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้กำหนดตัวผู้แทนไว้ดังนี้
พลตำรวจเอก หลวงอดุลเดชจรัส เป็นหัวหน้าคณะ
พลโท ประยูร ภมรมนตรี เป็นผู้แทนฝ่ายการเมือง
พลตรีหลวงหาญสงคราม กับ พันเอก เนตร เขมะโยธิน เป็นผู้แทนฝ่ายทหาร และ พันโท เอกศักดิ์ ประพันธโยธิน ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยเวสป๊อยต์ เป็นนายทหารติดต่อกับกองทัพจีนที่นครจุงกิง

ทั้งนี้ให้เตรียมตัวไว้ให้พร้อม เมื่อทางกองทัพจีนกำหนดวันไปเมื่อใด ให้สามารถปฏิบัติการได้ทันที ในระหว่างรอคอยนั้น การปะทะกันด้วยอาวุธระหว่างกองทัพไทยกับกองทัพจีน ได้สงบเงียบไป แต่มีบางครั้งเมื่อทหารญี่ปุ่นได้ส่งหน่วยทหารไปตรวจแนวหน้า ทางด้านเมืองยาง และเมืองเชียงล้อ ก็ต้องเล่นละครตบตาญี่ปุ่นว่า ฝ่ายเรากับฝ่ายจีนยังมีการสู้รบกันอยู่

แต่เหตุการณ์ทางการเมืองภายในประเทศไทย ได้เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลซึ่งมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ตกลงใจเสนอใบลาออก เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๔๘๗ เนื่องจากรัฐบาลแพ้คะแนนเสียงในสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการรับรองพระราช กำหนดบางฉบับ และนายควง อภัยวงศ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแทน

เพื่อเห็นแก่ประเทศชาติที่จะไม่ให้ทหารต้องเกิดรบกันเอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงเสียสละลาออกจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด และลาออกจากทางทหารทุกตำแหน่ง เพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลใหม่บริหารงานของประเทศต่อไป และรัฐบาลใหม่ได้แต่งตั้งให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน กับได้เลิกตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร สูงสุด และแต่งตั้งแม่ทัพใหญ่คือ พลเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา กับรองแม่ทัพใหญ่คือ พลโท หลวงสินาดโยธารักษ์

แผนการที่จะส่งคณะผู้แทนรัฐบาลและผู้แทนทางการทหาร ไปเจรจากับสัมพันธมิตรที่นครจุงกิงจึงเป็นอันยุติลง และทางฝ่าย นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็ได้ดำเนินการต่อไปในด้านอื่น

สำหรับตัว พลตรี หลวงหาญสงคราม ซึ่งเป็นผู้บันทึกเรื่องนี้ ได้ย้ายไปเป็นเสนา ธิการกองทัพพายัพ ซึ่งขณะนั้น พลโท พระวิชัยยุทธเดชาคณี เป็นแม่ทัพ และกองบัญชาการกองทัพพายัพ ได้ตั้งอยู่ที่จังหวัดเชียงราย ริมแม่น้ำกก จึงได้รับมอบหมายให้ดำเนินการป้องกันหน่วยทหารของกองทัพทุกหน่วย ไม่ให้ถูกกองทัพญี่ปุ่นซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดลำปาง ปลดอาวุธได้เป็นอันขาด จนถึงวันที่ ๖ มกราคม ๒๔๘๘ จึงได้รับคำสั่งให้ย้ายไปประจำกรมเสนาธิการทหาร อันเป็นที่ตั้งปกติ เมื่อได้รายงานตัวต่อท่านรองแม่ทัพใหญ่แล้ว ท่านจะให้ไปดำรงตำแหน่งพลาธิการทหารเป็นอัตราพลโท แทน พลตรี หลวงบูรณสงคราม ซึ่งเป็นเพื่อนกัน จึงขอให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น ถึงแม้จะมีอัตราต่ำกว่าก็ยินดี

พลตรี หลวงหาญสงคราม จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๓ และ ผู้บัญชาการกองพลที่ ๓๗ ซึ่งมีหน้าที่วางแผนและอำนวยการฝึก พลพรรคใต้ดินในภาค อีสาน กับช่วยเหลือและป้องกันเชลยศึกฮอลันดาและอินโดนีเซีย ที่สนามบินในจังหวัดอุบล ราชธานี กับป้องกันการปลดอาวุธของทหารญี่ปุ่น ซึ่งได้ดำเนินการอยู่จนถึง ๑๖ สิงหาคม ๒๔๘๘ กองทัพญี่ปุ่นก็ได้ยอมแพ้แก่กองทัพสัมพันธมิตร โดยไม่มีเงื่อนไข สงครามมหาเอเซียบูรพาจึงได้สิ้นสุดยุติลง โดยมิได้เสียเลือดเนื้อทั้งฝ่ายไทยและญี่ปุ่น

บันทึกของท่าน พลตรีหลวงหาญสงคราม ก็ได้จบลงเพียงเท่านี้ แต่ท่านยังได้รับราชการต่อมา จนได้รับพระราชทานยศเป็น พลเอก เมื่อ ๗ กรกฎาคม ๒๔๙๓ ตำแหน่งสุดท้าย เป็น รองจเรทหารทั่วไป ท่านเกษียณอายุราชการเมื่อ ๑ มกราคม ๒๕๐๐ และถึงแก่อนิจกรรมเมื่อ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๑

##################

ถนนนักเขียน ห้องสมุดพันทิป
W3438626
๒๖ เมษายน ๒๕๔๘




 

Create Date : 28 เมษายน 2560    
Last Update : 28 เมษายน 2560 6:13:20 น.
Counter : 1260 Pageviews.  

ความหลังของผม

ฉากชีวิต

ความหลังของผม

“ เพทาย “

ในปี พ.ศ.๒๕๓๙ นี้ ทางราชการกำหนดให้มีการฉลอง กาญจนาภิเษก ครบรอบ ๕๐ ปีการครองสิริราชสมบัติของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ตั้งแต่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๘ ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๕๓๙

ผมจึงอยากจะเล่าความหลังของตนเอง ด้วยความสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณของในหลวง ซึ่งทรงเป็นศูนย์รวมดวงใจของคนไทยทั้งชาติบ้าง ดังนั้นชื่อตอนนี้
จึงควรจะเป็น "ในหลวงกับความหลังที่ฝังอยู่ในใจของทหารสื่อสารคนหนึ่ง" มากกว่า

เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้เสด็จพระราชดำเนินนิวัติประเทศไทย พร้อมด้วย สมเด็จพระอนุชาเจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช นั้น ผมยังมีอายุไม่ถึงสิบขวบ เป็นนักเรียนชั้นประถมของโรงเรียนดำเนินศึกษา ซึ่งตั้งอยู่ข้าง
โรงเรียนนายร้อยทหารบก ปัจจุบันเป็นโรงเรียนทหารแผนที่ ตรงข้ามกับสนามมวยเวที
ราชดำเนิน อันเป็นเส้นทางที่จะเสด็จพระราชดำเนินผ่าน จากพระตำหนักจิตรลดาระโหฐาน ไปยังพระบรมมหาราชวัง ผมจึงได้เฝ้าชมพระบารมีอยู่ที่ริมถนนราชดำเนินนอก ใต้ร่มมะขามใหญ่หน้าโรงเรียน และยังจำภาพที่ทั้งสองพระองค์ทรงประทับบนรถม้าพระที่นั่งได้อยู่จนทุกวันนี้

เมื่อถึง พ.ศ.๒๔๙๗ ผมเป็นนักเรียนนายสิบทหารสื่อสาร อยู่ หมวด ๑ กองร้อยที่ ๑ ซึ่งสถานที่นั้นเป็นกองการสื่อสารในปัจจุบัน ได้รับคำสั่งให้ขนหินละเอียดใส่เกวียนไปโรยบนถนนสองข้าง กองบัญชาการ กรมการทหารสื่อสาร หลังเก่า ไปจนถึง
หน้าอาคารพิพิธภัณฑ์ในปัจจุบัน ซึ่งขณะนั้นเป็นห้องส่งกระจายเสียงของสถานีวิทยุ จส.๑
โดยไม่เคยได้ทราบเลยว่าจะมีบุคคลสำคัญท่านใด มาเยี่ยมกรมการทหารสื่อสาร เพราะ ยังเป็นนักเรียนใหม่ ยังไม่ได้รับแจกเครื่องแบบปกติ มีเพียงกางเกงขาสั้นสีกากี และ
เสื้อคอกลมสีขาว เท่านั้น

ต่อมาอีกสามสิบกว่าปี จึงได้รับทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรกิจการ ของสถานีวิทยุกระจายเสียง จส.๑ ซึ่ง พ.ท.การุณ เก่งระดมยิง เป็นผู้ดำเนินการและ พล.อ.ไสว ไสวแสนยากร ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก กับ พล.ต.หลวงกำจัดปัจจามิตร เจ้ากรมการทหารสื่อสาร
เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ดังปรากฎภาพอยู่ในนิตยสารทหารสื่อสาร ฉบับที่ ๕ ของปีที่ ๕ จึงได้พยายามเรียกร้องให้ ทหารสื่อสารเห็นความสำคัญของอาคารประวัติศาสตร์ หลังนี้ ตลอดมา

ครั้นผมได้ไปช่วยราชการทาง สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๗ ขาวดำ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๓ ถึง พ.ศ.๒๕๑๕ ในตำแหน่งพนักงานกล้อง ก็จะต้องมีหน้าที่ในการถ่ายทอดรายการต่าง ๆ นอกสถานที่ ก็ได้มีโอกาสเป็นพนักงานกล้องในพระราช
พิธีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินหลายต่อหลายครั้ง

เช่นถ่ายทอดการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยือนต่างประเทศ เมื่อ
พ.ศ.๒๕๐๔ ซึ่งจะต้องถ่ายทอดทั้งเวลาเสด็จ ฯ ไป และเสด็จ ฯ กลับ ณ ห้องรับรอง
ของท่าอากาศยานกรุงเทพทุกครั้ง ซึ่งเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก เพราะเจ้าหน้าที่
ไม่อนุญาตให้ตั้งกล้องในห้องรับรอง พื้นที่ตั้งกล้องริมหน้าต่างด้านนอกนั้นก็จำกัด และมี
กระจกหน้าต่างกั้นหน้าเลนส์อยู่อีก ถ้าหันกล้องผิดมุม ก็จะเห็นแต่เงาสะท้อนจากลานบิน
เข้ามาแทนภาพที่ปรากฎภายในห้อง แล้วยังมีผู้ตามเสด็จ ฯ เดินผ่านหรือยืนบังหน้าต่าง
นั้นอีกด้วย ภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรม
ราชินีนาถ จึงถ่ายทอดออกไปอย่างกระท่อนกระแท่นเต็มที

แต่มีอยู่ครั้งหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ ได้เสด็จ ฯ ผ่านหน้าต่างที่ว่านี้ และทรงทอดพระเนตรเห็นกล้องที่อยู่นอกหน้าต่าง กำลังปรากฎไฟแดงออกอากาศอยู่ จึงมีพระมหากรุณาธิคุณ ผินพระพักตร์มาแย้มพระโอษฐ์ ให้ประชาชนทางบ้านได้ชื่นชมพระบารมี อย่างน่าปลื้มปิติเป็นที่สุด

การเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนคร โดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ครบ ๓ รอบ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๖ ซึ่งได้เคยเล่า
ไว้หลายครั้งแล้ว ด้วยความซาบซึ้งตรึงใจเป็นอย่างยิ่ง

และเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วย สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาท และ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ทุกพระองค์ มาทอดพระเนตรกิจการของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๗ ขาว
ดำ ซึ่ง พล.ต.ประสิทธิ์ ชื่นบุญ ผู้อำนวยการ และ พ.อ.การุณ เก่งระดมยิง หัวหน้า
ฝ่ายเทคนิค ได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายรายงานต่าง ๆ จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย
ซึ่งเรื่องนี้ ได้ปรากฎอยู่ในหนังสือที่ระลึก วันสถาปนาสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ต่อมา
อีกหลายปีในขณะที่ผมได้ร่วมอยู่ในคณะผู้จัดทำด้วย

การเสด็จพระราชดำเนิน ทรงตรวจพลสวนสนามขบวนยานยนต์ ของทหารสามเหล่าทัพ ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในการพระราชพิธีฉลอง รัชดาภิเษก ครบ
รอบ ๒๕ ปี การครองสิริราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔
ซึ่งผมต้องออกจากบ้านตั้งแต่ตีสี่ ไปประจำกล้องบนเครนสูงที่มุมถนนประชาธิปไตย ข้าง
โรงเรียนสตรีวิทยา เสร็จพิธีแล้วก็ต้องกลับมาทำงานที่กรมการทหารสื่อสารต่อ โดยไม่
ได้กลับไปพักผ่อนนอนหลับ แต่ก็มีความอิ่มใจจนไม่ง่วงเหงาหาวนอนอ่อนเพลียแต่อย่างใด

สำหรับการเสด็จพระราชดำเนินทรงตรวจพลสวนสนามของทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ซึ่งมีเป็นประจำทุกปีนั้น มีอยู่ปีหนึ่งผมเป็นพนักงานกล้องที่ตั้งอยู่บนลาน
พระบรมรูปทรงม้า เป็นกล้องขาวดำรุ่นแรก ๆ วางอยู่บนขาสามขาและมีลูกล้อสามล้อซึ่ง
เคลื่อนที่ไปด้วยความยากลำบาก เพราะกล้องมีน้ำหนักมาก และพื้นคอนกรีตนั้นลาดเทลง
มาทางท่อระบายน้ำ สมัยนั้นพนักงานกล้องแต่งเครื่องแบบปกติคอพับมีผ้าผูกคอ สวมหมวก
หนีบ จึงจะสามารถเข็นกล้องผ่านเขต ที่เจ้าหน้าที่สารวัตรทหารกำหนด เข้าไปใกล้พลับ
พลาที่ประทับได้ เพราะมีเล็นส์ซูมอันเดียวติดอยู่กับกล้อง บนแคร่สูงข้างเสาไฟฟ้า ตัวผม
ปฎิบัติงานด้วยตนเองเพียงคนเดียว เพราะสารวัตรทหารไม่ให้ผู้ช่วยเข็นกล้อง และลาก
สาย ซึ่งเป็นพลเรือนแต่งเครื่องแบบของสถานีเข้าไปด้วย

ผมถ่ายเพลินไปจนใกล้เวลาที่จะเสด็จพระราชดำเนินกลับ ถอยหลังคืนที่เก่าไม่ไหว เพราะกล้องไถลลงไปติดอยู่ข้างทางเท้า ขบวนรถยนต์พระที่นั่ง ที่ออกจาก
ประตูสวนอัมพร เพื่อรอรับเสด็จที่หน้าพลับพลา จึงแล่นข้ามสายกล้องไปทั้งหมด ๕ - ๖ คัน ความจริงสายนั้นก็ใหญ่ เกือบเท่าข้อมือผมแต่ก็ทำให้กล้องขัดข้อง ไม่สามารถถ่ายต่อไปได้ ขณะนั้น ร.อ.สุพจน์ แสงสายัณห์ ยังคงเป็นเจ้าหน้าที่เทคนิคของช่อง ๗ ขาวดำ ควบคุมการถ่ายทอดอยู่ ท่านเห็นใจผมที่ได้ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่แล้ว จึงไม่ได้ลง
โทษหรือตำหนิติเตียน ในการที่ผมได้ทำให้สายกล้องชำรุดไปตั้งหลายเมตร

และอีกครั้งหนึ่ง ผมได้มีโอกาสเข้าไปถ่ายทอดการแสดงดนตรี ของวงดนตรี อ.ส. ในบริเวณพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ซึ่งบรรเลงสดออกอากาศทางสถานี
วิทยุ อ.ส.ในวันศุกร์ ผมได้เป็นพนักงานกล้องหนึ่งในสองกล้องที่ถ่ายทอด โดยตั้งอยู่ทาง
ด้านซ้ายของหน้าเวที จึงสามารถมองเข้าไปเห็น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรง
ดนตรีอยู่ข้างหลืบเวทีด้านขวาได้ถนัด โดยที่กล้องทั้งสองไม่ได้ถ่ายภาพพระองค์ท่าน ออก
อากาศไปเลย แต่ก็เป็นบุญตาของผม และติดอยู่ในใจจนบัดนี้

จนถึง พ.ศ.๒๕๒๗ ครบรอบ ๖๐ ปีของทหารสื่อสารมีการจัดทำหนังสือที่ระลึกเป็นพิเศษ ผมซึ่งเป็นผู้หนึ่งที่อยู่ในคณะผู้จัดทำ ก็ได้รับหน้าที่ให้ไปติดต่อกับสำนักพระราชวัง เพื่อขอพระราชทานพระบรมราโชวาท สำหรับทหารสื่อสารในวาระอันสำคัญ
นี้ ผมต้องไปติดต่อในพระบรมมหาราชวังหลายครั้ง กว่าจะได้รับพระราชทาน พระบรม ฉายาลักษณ์ และพระบรมราโชวาท อัญเชิญขึ้นไว้ในหน้าต้น ๆ ของหนังสือเล่มนั้น

ครั้นมาถึง พ.ศ.๒๕๓๐ ซึ่งตรงกับวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมายุ ครบ ๕ รอบ และผมได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้ช่วยบรรณาธิการ นิตยสารทหารสื่อสารฉบับปรับปรุงใหม่ เป็นฉบับแรกของผมซึ่งมีหน้าที่ทำงานทุกอย่างแทนบรรณาธิการ ก็มีความคิดที่จะได้พระบรมฉายาลักษณ์ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงเครื่องแบบทหารบก ขณะที่กำลังทรงใช้เครื่องวิทยุสื่อสารด้วย

ผมจึงขยายความคิดนี้ ออกไปยังเพื่อนพ้องทั้งหลาย ที่เป็นช่างภาพ ทั้งภาพนิ่ง ภาพยนต์ และโทรทัศน์ แต่ก็ไม่มีผู้ใดจะหามาให้ได้ จนกระทั่ง คุณวิฑูรย์ สายสุจริตกุล เจ้าหน้าที่ของฝ่ายข่าว สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ ได้ทราบจึงติดต่อ
กับกิจการภาพยนต์ส่วนพระองค์ ค้นหาภาพตามที่ต้องการมาประดับหน้าปก นิตยสารทหาร
สื่อสาร ฉบับที่ ๑ ปีที่ ๔๐ ซึ่งออกในวัน ทหารสื่อสาร ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๐ ไว้เป็นศิริ
มงคลในการที่ได้พลิกฟื้นคืนชีวิตมาอีกวาระหนึ่ง ซึ่งเป็นความสำเร็จ ที่ผมภาคภูมิใจมากที่
สุด ในการทำนิตยสารของเหล่าทหารสื่อสาร

ทั้งหมดนั้นก็คือความทรงจำรำลึก ถึงความหลังของทหารสื่อสารเล็ก ๆ คนหนึ่ง ที่ไม่เคยได้มีโอกาสใกล้ชิดเบื้องยุคลบาท แต่มีโอกาสได้เห็นพระราชพิธีอันยิ่งใหญ่ คือ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระราชพิธีรัชดาภิเษก และพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีผู้ถวายพระราชสมัญนามว่า "พระภัทรมห่าราช" ซึ่งมีความหมายว่า พระมหาราชาผู้ทรงคุณอันประเสริฐ พระองค์นี้


ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน.

##########




 

Create Date : 19 ตุลาคม 2559    
Last Update : 19 ตุลาคม 2559 11:14:04 น.
Counter : 1392 Pageviews.  

หนังสือที่น่าสนใจ (๑) สิ่งที่ยังเหลืออยู่

หนังสือที่ระลึก

ผมได้เคยเขียนคำนำในหนังสือแจก พ.ศ.๒๕๔๔ ชื่อ จากดินคืนสู่ดิน ซึ่งได้นำมาวางใน ห้องไร้สังกัดเมื่อไม่นานมานี้แล้ว มีความว่า
.......................ตามปกติคนไทยเราจะถืออายุ ครบรอบนักษัตรเป็นสำคัญ เริ่มตั้งแต่ครบ ๒ รอบ ๓ รอบ ๔ รอบ พอครบ ๕ รอบหรือ ๖๐ ปี ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะย่างเข้าสู่ความชรา จากนั้นก็เป็น ๖ รอบ ๗ รอบ และ ๘ รอบ หรือ ๙๖ ปี ซึ่งนับว่าเฒ่าชะแรแก่ชราอย่างแท้จริง และไม่ค่อยมีใครอยู่เกินไปกว่านี้
สำหรับผมซึ่งมีเค้าว่าจะตายตั้งแต่อายุ ๕๐ ปีนั้น คิดว่าอยู่ถึง ๖๐ ปี ก็นับว่าเก่งแล้ว แต่ก็ดันเลยมาอีกหลายปี จึงคิดว่ารอบละ ๑๐ ปี อย่างฝรั่งจะดีกว่า
เมื่อได้ตัดสินใจ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๑ ว่าจะนำเอาต้นฉบับหนังสืองานศพ มาทำเป็นหนังสือที่ระลึกครบรอบอายุ ๗๐ ปีแล้ว ก็เฝ้าคอยว่าจะยังมีลมหายใจอยู่ จนถึง พ.ศ.๒๕๔๔ หรือเปล่าเพราะความไม่แน่ใจในชีวิตที่เป็นอนิจจัง
ในที่สุดก็มาถึงวันที่ท่านได้อ่าน จากดินคืนสู่ดิน จนได้ ถ้าผมและท่านยังมีลมหายใจอยู่ต่อไป ก็อาจจะได้อ่าน ยังไม่ถึงวันลา หรือ ก่อนจะถึงวันลา และต่อไปก็คงจะถึง สิ่งที่ยังเหลืออยู่ ซึ่งเป็นเล่มสุดท้ายจริง ๆ
และผมก็จะลาท่านไปด้วยหนังสือเล่มนั้น ซึ่งคงไม่นานเกินรอ................................

ต่อจากนั้น ผมก็ได้อยู่มาอีก ๕ ปี ถึง พ.ศ.๒๕๔๙ มีรายได้จากหนังสือที่พิมพ์ในปีนั้น คือ เปาบุ้นจิ้น.....ผู้ทรงความยุติธรรม นับเป็นเล่มที่ ๘ จึงตัดสินใจพิมพ์หนังสืองานศพที่ได้ตั้งใจไว้จนสำเร็จ เป็นรูปเล่มชื่อ สิ่งที่ยังเหลืออยู่ นั่นเอง และคิดว่าถ้าตายเมื่อใด ก็จะได้ใช้เป็นหนังสือแจกงานศพ โดยที่ทายาทจะไม่ต้องเปลืองเงินค่าพิมพ์อีก แต่ถ้ายังไม่ตายมีชีวิตอยู่ถึงอายุ ๘๐ ใน พ.ศ.๒๕๕๔ ก็จะแจกในงานทำบุญวันเกิดก่อน ที่เหลือก็เก็บเอาไว้แจกในงานที่ผมไม่ได้เป็นผู้แจกเองต่อไป
แล้วผมก็ยังอยู่มาจนถึงวันนี้ อีกไม่กี่เดือนก็จะครบวันเกิด ผมก็คิดถึงเพื่อนในห้องไร้สังกัด ที่ได้สนทนาปราศรัยติดต่อสื่อสารกันมาเป็นเวลาหลายปี และทุกท่านก็มีความปรารถนาดีต่อผม และให้กำลังใจที่จะอยู่เขียนอะไรต่ออะไรให้อ่านกันอีกนาน ๆ ว่าเมื่อไรท่านจะได้อ่านหนังสือที่ระลึกเล่มนี้เสียที
ผมจึงเกิดความคิดในครั้งสุดท้ายนี้ว่า ผมจะส่งหนังสือเล่มดังกล่าวให้เพื่อนที่สนใจ แทน ส.ค.ส.๒๕๕๔ ก่อนที่ผมจะหยุดเขียนหนังสือโดยสิ้นเชิง เพราะเหตุใดก็ตาม
จึงนำมาบอกเล่าให้ทราบ โดยทั่วกัน.


หนังสือ “สิ่งที่ยังเหลืออยู่” นี้ เนื้อหาเป็นเรื่องส่วนตัวของผมล้วน ๆ ตามประเพณีของหนังสืองานศพ ในครึ่งเล่มแรก แต่ไม่มีส่วนที่ผู้ใกล้ชิดเขียนคำไว้อาลัย เพราะยังไม่ได้ตายจริง แต่ถึงตายไปแล้ว ก็ได้ขอร้องครอบครัวไว้แล้วว่า อย่าได้ขอให้ใครเขียนคำไว้อาลัยเลย เพราะผมไม่ใช่คนดีวิเศษที่มีคุณค่าอะไร เป็นแต่เพียงปุถุชนคนธรรมดา ที่บางครั้งก็ดี บางครั้งก็เลว เท่านั้น
ส่วนครึ่งหลัง ก็เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิต ที่เติบโตจากเด็กทารกมาจนแก่เฒ่า ได้ตั้งความหวังไว้อย่างไร และได้ผลสำเร็จหรือล้มเหลวอย่างไร รวมถึงภาพครอบครัวเพียงเล็กน้อย ให้เห็นหน้าตาของเจ้าของหนังสือ และครอบครัว สุดท้ายเป็นผลงานการเขียนที่ได้รับการตีพิมพ์จำหน่ายในวงการหนังสือ ตั้งแต่ต้นจนสุดท้าย ซึ่งตรงกับชื่อหนังสือ “สิ่งที่ยังเหลืออยู่” แค่นั้นเอง
ด้วยคติที่ยึดถือไว้ประจำใจ บนแผ่นปกด้านหลังที่ว่า
มาจากไหน........................ไม่รู้
จะไปไหน..........................ไม่รู้
และจะมีท่านผู้ใดสนใจจะอ่านบ้าง...........................ก็ไม่รู้ เหมือนกันครับ.

##############


๑.





๒.





๓.





๔.





๕.





๖.





๗.





๘.








๙.




๑๐.









 

Create Date : 10 พฤศจิกายน 2558    
Last Update : 10 พฤศจิกายน 2558 18:02:50 น.
Counter : 855 Pageviews.  

ครั้งเดียวในชีวิต

ครั้งเดียวในชีวิต

จากนิตยสารสยามอารยะ ฉบับ ตุลาคม ๒๕๓๘

หน้าปก



หน้าแรก



หน้า ๒



หน้า ๓




ภาพประกอบ ๑



ภาพประกอบ ๒



ภาพสุดท้าย




 

Create Date : 15 มิถุนายน 2555    
Last Update : 15 มิถุนายน 2555 7:58:49 น.
Counter : 2339 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.