Group Blog
 
All Blogs
 
สมเด็จโต (ตอนต้น) เรื่องเล่าจากอดีต

เรื่องเล่าจากอดีต

สมเด็จโต (๑)

พ.สมานคุรุกรรม

ในบรรดาพระภิกษุสงฆ์ที่มีชื่อเสียงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ท่านที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่เคารพบูชาอย่างยิ่งของมหาชนทั่วไป คงไม่มีท่านผู้ใดเกิน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พฺรหฺมรังษี เป็นแน่ ซึ่งในปัจจุบันพระเครื่องสมเด็จ ก็เป็นที่นับถือของนักนิยมพระเป็นอย่างสูง และคาถาชินบัญชร ของท่านก็มีผู้นิยมสวดกันแทบทุกบ้านเรือน

ส่วนประวัติของท่านนั้นมีอยู่หลายสำนวน ซึ่งก็แตกต่างคลาดเคลื่อนกันไป มากบ้างน้อยบ้าง ทั้งวันเดือนปีเกิดบางแห่งก็ว่า วันพุธเดือน ๖ ปีวอก อีกแห่งหนึ่งว่า วันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๕ ปีวอก มารดาชื่อ นางงุด บ้าง นางเกตุ บ้าง ถิ่นที่อยู่อาศัยของมารดาเดิมอยู่เมืองกำแพงเพชร ต่อมาย้ายมาอยู่ เมืองพิจิตร อีกเล่มหนึ่งว่าอยู่ ตำบลท่าอิฐ อำเภอบ้านโพธิ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ เมื่อบรรพชาเป็นสามเณรที่ วัดใหญ่ เมืองพิจิตร บ้าง วัดระฆัง บ้าง และอุปสมบทที่วัดตะไกร เมืองพิษณุโลก บ้าง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม บ้าง ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ ที่เป็นตำนานเล่าสืบต่อ ๆ กันมา แม้แต่วันมรณภาพ ซึ่งบ้างก็ว่าเป็นเดือนห้า ปีวอก บางรายก็ว่า เป็นวันเสาร์ แรม ๒ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอก แต่ตรงกันที่ จุลศักราช ๑๒๓๔ เป็นปีที่ ๕ ในรัชกาลที่ ๕ แห่งบรมราชวงศ์จักรี ตรงกับวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๑๕ อายุ ๘๔ ปี ซึ่งวันทาง สุริยคตินั้นเป็นที่รับรองกันอยู่ในปัจจุบัน เพราะมีการสร้างพระสมเด็จร้อยปีวัดระฆัง เมื่อ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๕ ซึ่งถือว่าเป็นวันครบ ๑๐๐ ปีแห่งการมรณภาพของท่าน

ดังนั้นเมื่อนับย้อนหลังไปถึงวันเกิดของท่าน ก็ควรจะเป็น พ.ศ.๒๓๓๑ หรือ จ.ศ.๑๑๕๐ เป็นปีที่ ๗ ในรัชกาลที่ ๑ แต่กลับไม่ตรงกับประวัติของท่าน ที่ว่าเกิดในรัชสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรี เพราะฉะนั้นถ้าพิจารณาอีกครั้ง ที่ว่าท่านมรณภาพเมื่อ อายุ ๘๔ ปี ก็น่าจะไม่ถูกต้องเหมือนกัน เพราะเมื่อเทียบระยะเวลาตั้งแต่เริ่มรัชกาลที่ ๑ จนถึงปีที่ ๕ ของรัชกาลที่ ๕ ก็เป็นเวลา ๙๑ ปีแล้วและไม่ทราบว่าจะมีท่านผู้ใดได้ชำระประวัติของท่านให้ถูกต้องสมบูรณ์แล้วหรือยัง

ประวัติโดยสังเขปของท่านก็คือ เมื่ออายุได้ ๗ ปี เริ่มเรียนหนังสือ
อายุ ๑๓ ปี บรรพาชาเป็นสามเณร
อายุ ๑๘ ปี สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ในรัชกาลที่ ๑ รับสามเณรโต ไว้อุปถัมภ์บำรุง และส่งไปพำนักอยู่กับสมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดมหานิพพานนาราม หรือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ในปัจจุบัน
อายุ ๒๑ ปี อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และจำพรรษาอยู่ที่วัดมหานิพพานนาราม ตามเดิมจนเปลี่ยนเป็นรัชกาลที่ ๒
อายุ ๔๙ ปี เปลี่ยนเป็นรัชกาลที่ ๓
อายุ ๕๔ ปี มารดาถึงแก่กรรม
อายุ ๖๕ ปี เป็นพระราชาคณะที่ พระธรรมกิติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ใน รัชกาลที่ ๔
อายุ ๖๗ ปี เป็นที่ พระเทพกวี
อายุ ๗๘ ปี เป็นที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ถึงมรณภาพที่ศาลาใหญ่ วัดบางขุนพรหมใน ขณะที่ไปดูการก่อสร้างหลวงพ่อโต วัดนี้ได้รับขนานนามว่า วัดอินทรวิหาร เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐

จากบันทึกของ มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) ในหนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์ เทพ สาริกบุตร เมื่อ ๙ มกราคม ๒๕๓๗ มีความนำและ เนื้อเรื่องเป็นทำนองร่าย ดังจะได้ยกมาบางตอน เช่น

เพราะเจ้าประคุณองค์นี้เป็นที่ฦๅชาปรากฏ เกียรติศัพท์เกียรติคุณเกียรติยศ ขจรขจายไปหลายทิศหลายแคว มหาชนพากันสรรเสริญออกเซ็งแซ่กึกก้องซ้องสาธุการ บ้างก็บ่นร่ำรำพรรณประสาขาน ประกาศรุ่นกล่าวถึงบุญคุณสมบัติจริยสมบัติของท่าน เป็นนิตยกาลนานมา ทุกทิวาราตรีมิรู้มีความจืดจาง

ดังนั้น จึงมีชาวบ้านไปหา นายพร้อม สุดดีพงศ์ บ้านอยู่ตลาดไชโย เมืองอ่างทองให้เดินทางลงมากรุงเทพ ฯ เข้าไปหา พระมหาสว่าง ( ม.ล.สว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ) ที่วัดสระเกษ เพื่อขอให้เล่าเนื้อความตามที่อยากรู้ พระมหาสว่างจึงพาคนเหล่านั้นข้ามฟากไปวัดระฆัง ขึ้นยังกุฏิ เจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช้าง) อายุ ๘๘ ปี ซึ่งเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดกับ สมเด็จพระพุทธาจารย์ (โต) วัดระฆัง ตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก ๆ ชั้นเหลน

เจ้าคุณพระธรรมถาวร ก็เล่าถึงความหลังให้ฟังหลายสิบเรื่อง ล้วนแต่เป็นเรื่องน่าควรคิดพิศวงมาก ลงท้ายท่านจึงบอกว่า อันญาติวงศ์พงษ์พันธุ์และภูมิสถานบ้านเดิมนั้น เจ้าของท่านได้ให้ช่างเขียนไว้ที่ฝาผนังโบสถ์วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม พระนคร พระมหาสว่างกับนายพร้อม จึงนมัสการลาท่านเจ้าคุณ ข้ามฟากกลับมาหา ท่านพระครูสังฆรักษ์ เจ้าอธิการวัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม แล้วขออนุญาตดูภาพเรื่องราวของสมเด็จพระพุทฒาจารย์ (โต) ซึ่งท่านพระครูสังฆรักษ์ ก็เต็มใจจึงนำพาลงไปในโบสถ์พร้อมกัน แล้วเปิดหน้าต่างประตูให้ดูได้ตามปรารถนา

เราจะได้ตามไปดูภาพเขียนเหล่านั้น ว่ามีเรื่องราวเป็นอย่างไร

.......................(๒)..........................

ภาพเขียนที่ผนังโบสถ์วัดอินทรวิหารเหล่านั้น เริ่มด้วย เมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองว่างว่างไม่มีคน มีแต่ขุนนางขี่ม้าออก เขียนวัดบางลำภูบนติดกับเมืองกำแพงเพชร เขียนบางขุนพรหม เขียนรูปเด็กอ่อนนอนหงายแบเบาะอยู่มุมโบสถ์วัดบางลำภู เขียนรูปนางงุดกกลูก เขียนรูปตาผล เขียนรูปอาจารย์แก้วกำลังกวาดลานวัด เขียนรูปนายทองนางเพียรนั่งยองยองยกมือทั้งสองไหว้พระอาจารย์แก้ว เขียนรูปพระอาจารย์แก้วกำลังพูดกับตาผลบนกุฏิ เขียนรูปเรือเหนือจอดที่ท่าบางขุนพรหม

เขียนรูปเมืองพิจิตร เจ้าเมืองพิจิตรกำลังมีงาน เขียนรูปวัดใหญ่ในเมืองพิจิตร รูปท่านพระครูใหญ่ เขียนรูปสามเณรโตเรียนหนังสือ สามเณรโตทดลองวิชาที่เรียนจากท่านพระครูใหญ่วัดใหญ่ เขียนบ้านเรือนตาผล ยายลา นางงุด

เขียนท่าวัดเมืองไชยนาทบุรี จรเข้ขึ้นทางหัวเรือ เขียนคนหัวเรือนอนหลับ เขียนคนที่สองตกใจตื่นลุกขึ้นยงโย่ฉุดคนหัวเรือให้ถอยเข้ามาเพื่อพ้นปากจรเข้ เขียนคนแจวคนที่สามนั่งไขว่ห้างหัวเราะ เขียนคนบนบ้านสามแม่ลูกยายเหนี่ยวรั้งกันขึ้นบ้านเรือน กระเตงกระต่องกระแต่งเพื่อหนีจรเข้ เขียนตาผลนายเรือออกมายืนตัวแข็งอยู่ที่อุเรือ เขียนรูปสามเณรโตเรียนคัมภีร์กับท่านพระครูจังหวัด วัดเมืองไชยนาทบุรี

เขียนรูปสมเด็จพระวันรัต เขียนรูปอาจารย์แก้ว เขียนรูปวัดตะไกร เขียนบ้านเจ้าเมือง เขียนคนมาช่วยงานทั้งทางน้ำทางบก เขียนพวกขบวนแห่นาค เขียนรูปท่านนิวัติออกเป็นเจ้านาค เขียนพวกเต้นรำทำท่าต่าง ๆ เขียนคนพายเรือน้ำเป็นคลื่น

เขียนรูปพระสังฆราช(มี) เขียนรูปท่านเข้าไปไหว้ลา เขียนรูปวัดระฆัง เขียนรูป พระบรมมหาราชวัง รูปฉันในบ้านตระกูลต่าง ๆ รูปพระสังฆราชนาค

เขียนรูปบ้านพระยาโหรา รูปเสมียนตราด้วง รูปสมเด็จพระสังฆราช(นาค) รูปพระเทพกวี(โต) รูปวัดอินทรวิหาร รูปวัดกัลยาณมิตร รูปเด็กแบกคัมภีร์ในงานฉลองวัดทั้งสอง และรูปป่าพระพุทธบาท รูปป่าพระฉาย รูปพระอาจารย์เสม รูปพระอาจารย์รุกขมูล รูปเมืองเขมร รูปสู้เสือที่ทางไปเมืองเขมร รูปเจ้าเขมร ฯลฯ

พระมหาสว่างจึงให้นายพร้อมจดจำภาพเหล่านั้นไว้ แล้วท่านจะช่วยแปลความหมาย โดยอาศัยพงศาวดารเทียบนิยายนิทานต่าง ๆ ตามที่ผู้เฒ่าผู้แก่บอกเล่าสืบกันมา แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราว ประวัติของท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุทธาจารย์ (โต) ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๓ เป็นต้นมา

ส่วนพระยาทิพโกษา (สอน โลหะนันท์) นั้น ท่านเล่าว่าเมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) มรณภาพนั้น ท่านมีอายุประมาณเจ็ดขวบ ขณะที่ท่านเรียบเรียงประวัตินี้เป็นเวลาหลังจากสมเด็จได้มรณภาพไปแล้ว ๖๑ ปี ท่านจึงมีอายุประมาณ ๖๘ ปี ท่านได้สรุปท้ายเรื่องไว้ว่า

ข้าพเจ้าผู้เรียบเรียงเรื่องราวของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) นี้ ได้ทรงจำและเสาะสางสืบค้นฉบับตำรับกะรุ่งกะริ่ง และได้อาศัยพึ่งพิงท่านผู้หลักผู้ใหญ่ผู้สูงอายุ เล่ากล่าวสืบ ๆ มา จนติดอยู่ในสมองของข้าพเจ้า และได้ถือเอาคำของเจ้าคุณพระธรรมถาวร (ช้าง) ผู้มีอายุยาว ๘๘ ปีบ้าง อนุมัติดัดแปลงบ้าง ประมาณบ้าง สันนิษฐานบ้าง วิจารณ์บ้าง เทียบศักราชในพงศาวดารบ้าง บรมราชประวัติแห่งรัชสมัยบ้าง พอให้สมเหตุผล ให้เป็นต้นเป็นปลาย พิจารณาในรูปภาพที่ฝาผนังโบสถ์วัดอินทรวิหารบ้าง เห็นว่าสมเหตุสมผลแล้วจึงเขียนลง แต่คงไม่คลาดจากความจริง ถ้าว่าไม่ได้ยินกับหู ไม่ได้รู้กับตา มากล่าวเล่าสู่กันฟัง คล้ายกับเล่านิทาน เหมือนเล่าเรื่องศรีธนนชัย เรื่องไกรทอง เรื่อง ขุนช้างขุนแผน เรื่องอะไรทั้งหมดที่เรียกว่านิทานแล้ว ธรรมดาต้องมีต่อ มีเติม มีตัด ไม่ให้ขัดลิ้นขัดหูแต่ไม่ผิดหลักแห่งความจริง เพราะสิ่งที่จริงมีปรากฏ เป็นพยานของคำนั้น

ถ้าจะถือว่าหนังสือแต่งใหม่ก็ดีเหมือนกัน ถ้าท่านเห็นถ่องแท้ว่าผิดพลาด โปรดฆ่ากาแต้มแต่งตัดเติมได้ ให้ถูกต้องเป็นดี

ต่อมา นายเทพย์ สาริกบุตร ได้จัดพิมพ์ขึ้นโดยไม่ทราบปีที่พิมพ์ ท่านได้ลงท้ายไว้ว่า บันทึกประวัติของเจ้าพระคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ฉบับของมหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา ซึ่งเป็นฉบับที่รวบรวมโดย ม.ล.พระมหาสว่าง เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ได้รวบรวมขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๓ ตามคำโคลงท้ายนี้

ประวัติคัดข้อย่อ คำขาน
สมเด็จพระพุฒาจารย์ เจอดไว้
โต นามชื่อเดิมจาน จารึก เรื่องมี
เชิญอ่านเชิญฟังได้ ถ่องแท้แปลความ ฯ

ลงมือที่สิบห้า กรกฏ
วันที่สามกันย์หมด แต่งแก้
พ.ศ.ล่วงกำหนด สองสี่เจ็ดตรี
เดือนหนึ่งมีเศษแท้ สิบเก้าวันตรง ฯ

ได้จัดพิมพ์ขึ้นตามข้อความเดิมในต้นฉบับทุกประการ โดยมิได้แก้ไขในเรื่องศักราชวันเดือนปี เลย

และหนังสือฉบับนี้เอง ที่ทายาทได้นำมาพิมพ์เป็นอนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพของท่าน ตามที่ได้กล่าวข้างต้น หากท่านผู้อ่านต้องการทราบความโดยละเอียดพิศดาร ซึ่งมีความยาวถึง ๑๐๓ หน้าแล้ว กรุณาไปค้นหาอ่านได้ที่ หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร ห้อง ๒๑๔ ในวันเวลาราชการ แต่ถ้าท่านไม่มีเวลาว่าง ก็น่าจะต้องรออ่านเรื่องราวบางส่วนในตอนหน้า


.............. (๓)....................


ประวัติของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังโฆสิตาราม จากหนังสืออนุสรณ์ งานพระราชทานเพลิงศพ อาจารย์เทพ สาริกบุตร เมื่อ ๙ มกราคม ๒๕๓๗ โดย มหาอำมาตย์ตรี พระยาทิพโกษา มีความว่า

นางงุดมารดา และนายผลผู้เป็นตา นางลาผู้เป็นยาย เป็นชาวกำแพงเพชร ในรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้พากันลงเรือบรรทุกสินค้าทางเหนือมาขายที่บางขุนพรหม โดยอาศัยจอดเรืออยู่ที่ท่าน้ำหน้าบ้านนายทองนางเพียน ซึ่งเป็นชาวเหนือด้วยกัน ขายของหมดแล้วก็ซื้อของทางใต้กลับไปขายเมืองเหนือ ตั้งแต่นครสวรรค์ขึ้นไปจนถึงกำแพงเพชร เมื่อมีเงินทองพอสมควรจึงปลูกบ้านเป็นเรือนแพสองหลัง แลซื้อที่ดินเหนือบ้านนายทองขึ้นไปสักสี่วาเศษ ปลูกโรงขึ้นเพื่อเป็นที่พักและเก็บสิ่งของที่เป็นสินค้า จะได้ขนไปค้าขายโดยสะดวก

ขณะนั้นนางงุดได้มีครรภ์อยู่ เมื่อครบกำหนดคลอด ท่านได้บรรยายไว้ว่า

นางงุดปั่นป่วนครรภ์เป็นสำคัญ รู้กันว่าจะคลอดบุตร จึงจัดแจงห้องนางงุดให้เป็นที่คลอดบุตรโดยฉับไว บนเรือนที่ปลูกใหม่บางขุนพรหมนั้น ครั้นได้ฤกษ์งามยามดี นางงุดก็คลอดบุตรเป็นชายพีลำสัน หมู่ญาติมิตรก็ได้มาพร้อมกัน ช่วยอภิบาลบำรุงรักษาพยาบาล ฯ

วาระนั้นเป็นปลายรัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี มารดาก็ตั้งชื่อทารกว่าหนูโต มีรูปลักษณะพิเศษคือ กระดูกแขนเป็นท่อนเดียว และมีปานดำอยู่กลางหลัง จึงมีคนทักทายไปต่าง ๆ นา ๆ นางงุดมารดาจึงพาเด็กชายโตไปถวายเป็นบุตรท่านอาจารย์แก้ว วัดบางลำภูบน ท่านก็ยินดีรับไว้แต่ให้นางงุดมารดาเลี้ยงดูต่อไป จนอายุเด็กเจริญขึ้นได้สามเดือนจึงทำการโกนผมไฟ แล้วไว้จุกตามธรรมเนียมโบราณ การค้าขายของนางงุดแลนายผลผู้บิดาก็เจริญขึ้นตามลำดับ ท่านร่ายไว้ว่า

ครั้นจัดการทำบุญให้ทานเสร็จแล้ว พักผ่อนพอหายเหนื่อย จึงจัดสรรพสินค้าเมืองปักษ์ใต้ได้เต็มระวางแล้ว จึงออกเรือไปเมืองเหนือ จำหน่ายแล้วก็จัดรองสินค้าเมืองเหนือมาจำหน่ายในบางกอก กระทำพานิชกรรมสัมมาอาชีวะอย่างนี้เสมอมา ก็บันดาลผลให้เกิดหมุนพูลเถา มั่งคั่งสมบูรณ์ขึ้นหลายสิบเท่า พ่อค้าแม่ค้าทั้งปวงก็รู้จักมักคุ้นมากขึ้นเป็นลำดับมา ตาผลยายลานางงุด จึงได้ละถิ่นฐานทางเมืองกำแพงเพชรเสีย ลงมาจับจองจำนองที่ดินเหนือเมืองพิจิตร ปลูกคฤหสถานตระหง่านงามตามวิสัย มีเรือนอยู่หอนั่งครัวไฟ บันไดเรือนบันไดน้ำโรงสี โรงกระเดื่องโรงพักสินค้าโรงเรือ รั้วล้อมบ้านประตูหน้าประตูหลังบ้าน ได้ทำบุญให้ทานที่วัดใหญ่ในเมืองพิจิตรนั้น จึงได้มีความชอบชิดสนิทกับท่านพระครูใหญ่ วัดใหญ่นั้น มีธุระปะปังอันใดก็ได้สังสรรไปมา ทายกแจกฎีกาไม่ว่าการอะไร มาถึงแล้วไม่ผลัก ยินดีรักในการบุญการกุศล เลยเป็นบุคคลมีหน้าปรากฏในเมืองพิจิตรสืบไป ฯ

ต่อมาเมื่อสิ้นแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นปีที่สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ได้ขึ้นเถลิงถวัลย์ราชย์ ปราบดาภิเษกเปลี่ยนปฐมบรมจักรีพระองค์แรก และย้ายพระมหานครมาข้ามฝั่งตะวันออกแห่งกรุงธนบุรี ตรงหัวแหลมระหว่างวัดโพธิ์กับวัดสลัก เป็นวัดเก่ามากทั้งสองวัด ทรงขนานนามพระนครใหม่ว่า กรุงเทพพระมหานคร ฯ

สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ กรุงเทพ ฯ ทรงตั้งเจ้าพระยาสุรสีห์ น้องชาย เป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ามหาสุรสีหนาท กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ทรงตั้งพระมเหสีเดิมเป็น สมเด็จพระ อมรินทรามาตย์ ทรงตั้งพระราชโอรสที่ ๔ อันมีพระชนมพรรษาได้ ๑๖ พระพรรษา เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอนุรักษ์เทเวศร์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้าภาคิเณยราช กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ฝ่ายพระราชวังหลังรับพระราชบัญชา ฯ

ขณะนั้นเด็กชายโตมีอายุได้เจ็ดปี บ้านเมืองสงบเรียบร้อยเป็นปกติแล้ว นางงุดจึงได้นำหนูโตเข้าไปถวายพระครูใหญ่เมืองพิจิตร ให้เป็นศิษย์เรียนหนังสือไทยหนังสือขอม และกิริยามารยาท ขนบธรรมเนียมการวัดการบ้านการเมือง การโยธาการเรือนการค้าขาย เลขวิธี จนอายุได้สิบสามปี จึงได้ทำการโกนจุกเมื่อเดือนหก และพอถึงเดือนแปดในปีวอกนั้นเอง ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดใหญ่เมืองพิจิตร ได้ร่ำเรียนวิชาการต่าง ๆ จากท่านพระครูอุปัชฌาย์ ทั้งพุทธศาสตร์แลไสยศาสตร์อยู่สองปีก็เจนจบ คล่องแคล่วชำนิชำนาญ ใช้ได้ดังประสงค์ทุกประการ สามเณรโตก็กราบเรียนท่านพระครูผู้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ ขอเรียนคัมภีร์พระปริยัติธรรมต่อไป ท่านอาจารย์ก็แนะนำให้ไปเรียนกับพระครูจังหวัด วัดเมืองไชยนาทบุรี โยมผลและโยมงุดมารดาจึงพาสามเณรไปฝากกับพระครูที่เมืองไชยนาทดังประสงค์

เมื่อสามเณรโตได้ร่ำเรียนมาได้สามปี อายุได้สิบแปด ก็จบถึงแปดชั้นบาลี จึงมีความกระหายจะล่องลงมาร่ำเรียนในสำนักราชบัญฑิตนักปราชญ์หลวงบ้าง จึงกราบลาท่านพระครูเจ้าคณะเมืองไชยนาท และไปบอกตาผลยายลานางงุดมารดาที่เมืองพิจิตร ตาผลกับแม่งุดก็พาสามเณรโตมาฝากกับพระอาจารย์แก้ว วัดบางลำภูบน

ฝ่ายพระอาจารย์แก้วเมื่อเห็นเวลาฤกษ์ดีแล้ว จึงได้นำพาสามเณรโตไปฝาก พระโหราธิบดี พระวิเชียร กรมราชบัณฑิต ให้ช่วยแนะนำสั่งสอนสามเณรให้มีความรู้ดี ในคัมภีร์พระปริยัติธรรมทั้งสามปิฎก ท่านทั้งสองก็รับและสอนตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา จนเวลาได้ล่วงไปหนึ่งปี

พระชนมายุกาลแห่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ย่างขึ้นได้ ๒๘ พรรษา โดยจันทรคตินิยม อายุสามเณรโตก็ได้ ๑๘ ปีบริบูรณ์ ในเดือนห้า ศกนั้น ฯ


...................(รอต่อตอนจบ)...................

มุมประวัติศาสตร์ ห้องสมุดพันทิป
๔ มิถุนายน ๒๕๕๑


Create Date : 14 กันยายน 2550
Last Update : 7 มิถุนายน 2551 6:56:45 น. 8 comments
Counter : 866 Pageviews.

 
มาอ่านค้าบ


โดย: ข้าวโพด IP: 121.55.242.19 วันที่: 9 มีนาคม 2551 เวลา:16:06:53 น.  

 
เชิญครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 10 มีนาคม 2551 เวลา:9:52:42 น.  

 
ขอบคุณครับ


โดย: ข้าวเหนียวนึ่ง IP: 89.211.73.189 วันที่: 11 มกราคม 2552 เวลา:7:14:15 น.  

 
อ้าว...คุณแอบเข้ามาตั้งสี่เดือนแล้ว
ผมเพิ่งเห็นวันนี้เอง ขออภัยด้วยครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 2 พฤษภาคม 2552 เวลา:6:50:23 น.  

 
วัดใหญ่เมืองพิจิตร คือวัดไหนคะ


โดย: ดอกไผ่บาน IP: 118.172.143.6 วันที่: 9 มีนาคม 2553 เวลา:14:37:39 น.  

 
ขออภัย ผมไม่ทราบจริง ๆ ครับ
ท่านว่ามา ผมก็บันทึกไปตามนั้นครับ


โดย: เจียวต้าย วันที่: 9 มีนาคม 2553 เวลา:19:27:47 น.  

 
ผมเพิ่งเริ่มศึกษาเรื่องราวของสมเด็จโตเมื่อ ๓ วันที่ผ่านมานี้เอง จากที่เคยทราบเรื่องราวของท่านมาบ้างผ่านทางคุณพ่อผม แต่ผมเองก็ไม่เคยสนใจใส่ใจที่จะตั้งใจฟัง ด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ

อยู่ๆมานั่งศึกษาค้นคว้าอย่างจริงๆจังๆ เมื่อ ๓ วัน ๔ คืนที่ผ่านซึ่งก่อนหน้านี้ก็คิดว่าจะไปหาที่ไหน พยายามค้นคว้าจากหลายๆเวปก็ทราบแค่ทั่วๆไป แต่ได้มาอ่านของคุณเจียวต้ายแล้ว มีรายละเอียดลงลึกมากกว่าที่ผมได้อ่านมา จึงขอขอบคุณเรื่องราวดีๆ ที่สำคัญต่อคนไทย และต่อแผ่นดิน ที่คุณได้นำมาเสาะหามาเล่าสู่กันฟังนะครับ มีประโยชน์และน่าติดตามมากครับ

ขอบคุณครับ

วิท นาวิน


โดย: ขอบคุณครับ IP: 27.55.6.238 วันที่: 14 ตุลาคม 2556 เวลา:21:51:25 น.  

 
หว่าผมจะมาเห็นข้อความของคุณก็เป็นเวลาที่ผ่านไป ๒ ปีแล้วครับ
แต่ก็ยินดีท่กที่ข้อเขียนชิ้นนี้มีประโยชน์แก่ผู้อ่านครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 20 กรกฎาคม 2558 เวลา:5:56:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.