Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ไข้เลือดออก..ฤดูกาลแห่งโศกนาฏกรรม ยุงลายกัดคน(ป่วย..เป็นไข้)เลือดออกตาย แต่แพทย์ผู้รักษาเป็นจำเลย?




เครดิตภาพจาก https://www.cityub.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2254%3A-4-&catid=7%3A2011-04-04-04-07-48&Itemid=47


นำมาฝากครับ ...


ไข้เลือดออก..ฤดูกาลแห่งโศกนาฏกรรม.

ยุงลายกัดคน(ป่วย..เป็นไข้)เลือดออกตาย แต่แพทย์ผู้รักษาเป็นจำเลย...?


หน้าห้องไอซียู... แม่ของเด็กหญิง เดินไปมาอย่างกระสับกระส่าย นางบ่นกับญาติว่า

"ทำไม ไปหาหมอไม่รู้กี่ครั้ง หมอไม่รู้ว่าเป็นไข้เลือดออก มารู้ ก็จวนแย่แล้ว"

"ถ้าลูกชั้นเป็นอะไร ฉันจะฟ้องหมอ ฟ้องโรงพยาบาล...."

นางเอ่ยถึงชื่อคลินิก และโรงพยาบาล ที่ไม่สามารถบอกได้ว่าลูกสาวเป็นโรคไข้เลือดออก ..



โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่สร้างความสับสนให้กับทั้งแพทย์และคนไข้มากที่สุด ด้วยอาการที่เริ่มต้นด้วยลักษณะเช่นเดียวกับไข้หวัดธรรมดา ไปจนถึงไข้หวัดใหญ่ หรืออาจมีอาการไข้อย่างเดียวนำมาก่อน โดยไม่มีการออกอาการเฉพาะใดๆ

ในวันแรกๆ หมอทั้งร้อยคน หากตรวจวินิจฉัยตามตำราย่อมแยกออกแทบไม่ได้ ต้องอาศัยการติดตามคนไข้ว่าหากรักษาแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น นัดตรวจ ติดตามดูอาการอื่นๆที่จะปรากฏร่วมเช่น คลื่นไส้อาเจียน จนถึงปวดท้อง (ซึ่งก็คล้ายกับไข้หวัดลงกระเพาะลำไส้ อยู่ดี)ในระยะนี้ บางทีก็จะชวนสงสัยได้ยาก แม้รัดแขนก็อาจไม่สามารถบ่งได้ว่าเป็นไข้เลือดออก

กว่าจะมีอาการ “จำเพาะ” ของกลุ่มไวรัสนี้ก็ เช่นเกร็ดเลือดต่ำ มีจุดเลือดออก หรือมีเลือดออกที่ต่างๆในร่างกาย ก็เป็นระยะท้ายๆ ที่มักมีอาการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก แต่ยังโชคดีที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นไข้เด็งกี่ (Dengue Fever)แล้วกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ โดยไม่เข้าสู่สภาวะช๊อก ที่เรียกว่า เด็งกี่ช๊อกซินโดรม (Dengue Shock Syndrome- DSS) ที่เป็นเหตุให้เสียชีวิต

ทำให้แพทย์ต้องเฝ้าใกล้ชิดในไอซียู แก้ปัญหา ช๊อกและ ต่อสู้กับกลไกเลือดออกไม่หยุด ด้วยการที่สมดุลน้ำเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว รวมถึงให้เกร็ดเลือด (ซึ่งหาได้ยาก-แม้ กาชาดเองหรือรพ.ใหญ่ๆในกรุงเทพ ที่จะพอเหมาะเข้ากันได้กับคนไข้ ซ้ำยังต้องใช้ปริมาณมหาศาล และอาจหาไม่ได้เลยในรพ.ต่างจังหวัด)

ขณะช๊อกคนไข้ต้องการน้ำเพื่อพยุงความดัน แต่หากกระบวนการช๊อกหยุด น้ำที่ให้เพื่อแก้อาการช๊อกเป็นลิตรๆ ที่กู้ให้หัวใจไม่ล้มเหลวตายในระหว่างช๊อก จะพร้อมใจกันกลับเข้าเส้นเลือดจนท่วมท้นปอดหัวใจ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เป็นเหตุให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้โดยง่าย  (แม้จะมีแพทย์จะเฝ้าอยู่ข้างเตียง ก็ไม่อาจแก้ปัญหาได้ทัน) ไม่รวมถึงการมีเลือดออกในสมองและอวัยวะต่างๆ ที่ถึงจะให้เกร็ดเลือดไปก็อาจไม่ทำงาน โดยโรคเอง ด้วยซ้ำ

ทั้งนี้รวมถึงในระดับโรงเรียนแพทย์อาทิ จุฬา ศิริราช รามา เอง ก็เคยมีเสียชีวิตในลักษณะนี้มาแล้วทั้งสิ้น


ปัญหาของโรคนี้ ในสังคมเมื่อเกิดขึ้นแล้วคือ

1. “ทำไมหมอไม่บอกตั้งแต่แรกว่าเป็นไข้เลือดออก”

การวินิจฉัยช่วงแรกเป็นได้ยาก อาการไม่โดยเฉพาะ เนื่องจาก ไปยืมอาการของโรคอื่นๆเช่นไข้หวัด มาปะปนกันไปหมด หมอผู้เชี่ยวชาญเอง ก็ลำบากที่จะตัดสินใจว่าเป็นโรคนี้ในวันแรกๆของการป่วยโดยเฉพาะ ซึ่งอาการส่วนใหญ่อาจกลายไปเป็นโรคอื่นๆ ทำให้กว่าหมอจะให้การวินิจฉัย ได้ก็เมื่อมีอาการเฉพาะปรากฎ เป็นข้อจำกัดของโรค (ซึ่งหลายครั้ง คนไข้ก็จะแย่แล้ว...)


2. “การวินิจฉัยวันแรกๆโดยเจาะเลือดไม่ได้หรือ”

ขอเรียนว่ายากครับ โรคที่เกี่ยวกับไข้หวัดธรรมดาที่เกิดจากไวรัส กับไวรัสเด็งกี่นั้นเป็นกลุ่มแบบพี่น้องกัน ถึงแม้เจาะเลือดธรรมดาที่ทำกันทั่วไปนั้น อาจแยกจากกันไม่ได้
การดูเกร็ดเลือดระยะแรกก็อาจไม่ต่ำ อาจทำให้เข้าใจผิดว่าไม่ได้เป็น (ทั้งที่อีก1-2วันถึงออกอาการว่าเป็น)
การเจาะเลือดที่เฉพาะกว่าคือการตรวจ ภูมิต่อไวรัส เด็งกี่ เรียกว่าเด็งกี่ไตเตอร์ ซึ่งทำได้เฉพาะใน โรงเรียนแพทย์ หรือโรงพยาบาลใหญ่ๆ ใช้เวลาหลายวัน บางทีผลกลับมา ซึ่งคนไข้กว่า90% หายจากอาการก่อนแล้ว ยกเว้นกรณีอาการร้ายแรง หรือ ช๊อก จึงจะทันได้ใช้ประโยชน์


3.”คนไข้ที่เป็นแล้วต้องเลือดออก ช๊อกถึงตายทุกคนหรือไม่ ”

อันนี้ตอบได้ว่าไม่มาก แต่มีความสำคัญ ตัวเลขจากกรมควบคุมโรค ดูย้อนหลังเป็นดังนี้ครับ

ปีพศ. ป่วย(คน) ตาย (คน) อัตราป่วยเสียชีวิต(%)
2550 62,999 90 0.14%
2549 42,456 59 0.14%
2548 44,725 82 0.18%
2547 37,316 49 0.13%
2546 62,526 78 0.13%


สังเกตว่าในประเทศไทย ในรอบ4ปี มีป่วย เพิ่มขึ้น และตายเพิ่มขึ้น
การเสียชีวิตจะมาหลังอาการช๊อก ป็นส่วนใหญ่ นั่นแปลว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ ช๊อก และตาย ประมาณ 0.13-0.18% หรือ 1-2ต่อ 1,000 คนป่วย ซึ่งนับว่ามาก โดยต้องไม่ลืมว่า ส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ช๊อกนี้ แพทย์ต้อง”เฝ้า” ปรับสมดุลของสารน้ำ และเลือดจนกลับมาปกติ และความน่าทึ่งของโรคนี้คือ ยามช๊อกนั้นผู้ป่วยดูใกล้ความตาย เด็กๆเหนื่อยแน่น ซึม ทุรนทุราย รายมีเพียงเส้นบางๆขั้นกับมัจจุราช แต่ตอนหาย “เด็กกลับสดใสร่าเริงในวันถัดกันราวกับไม่เคยป่วยมาก่อน”


4.”คนไทย..ป่วยกันมากน้อยเพียงใด”

จากข้อมูลเบื้องต้น เห็นว่า ปี 2550 นั้นมีคนป่วย 62,699 คนจาก 60ล้านคน เป็นสัดส่วน 1ต่อ 1000 คน ประชากร ซึ่งถือว่าเยอะมาก แสดงว่ามีคนป่วยด้วยไข้เลือดออก เฉลี่ยถึงวันละ 170 คน หากในความจริงไม่ใช่เช่นนั้น เพราะเดือนระบาดหนักๆนั้น อาจมากถึง 2 เท่าทีเดียว



5.”ปีนี้ สถานะการณ์ไข้เลือดออกจะเป็นอย่างไร”

ขอให้ลองดูข้อมูลจาก กรมควบคุมโรคอีกครั้งจะพบว่า ปีนี้ เริ่มมาต้นปี ถึง 10 พค. 51 (19สัปดาห์)ป่วยไปแล้ว 13,943 ราย ตายไปแล้ว 16 ราย มากกว่าทุกปีที่มีสถิติมาเทียบ และมากกว่าปีก่อน 1.7 เท่า (2550 มค.-พค.ป่วย 8,094 และตาย 9 คน ที่เดือนเดียวกัน) นั่นแปลว่า สถานการณ์ปีนี้รุนแรงมาก ตั้งแต่ต้นปี ทั้งที่ยังไม่เข้าวาระ”ระบาดทางคลินิก ” ซึ่งจะรุนแรงในช่วง พค.-สค.ของทุกปี

มีความเชื่อกันว่ายุงลาย ทำให้โรคระบาดมากขึ้น เพราะสิ่งแวดล้อมโลก เช่นภาวะ โรคร้อน ฤดูกาล ภูมือากาศ เปลี่ยนแปลง สับสน หากหยุดยั้งไม่ได้ การเจ็บป่วยโรคนี้ในปีนี้อาจเป็นถึง เกือบ 2 เท่า คนตายอาจต้องมากตามไปด้วย แปลว่า ต้องมีครอบครัวผู้ได้รับความเสียใจมากขึ้น และแพทย์ก็จะต้องถูกเป็นจำเลยมากขึ้น...จากพฤติกรรมของยุง และสิ่งแวดล้อมอย่างไม่ต้องสงสัย...

ที่น่าสังเกตคือวงรอบความรุนแรง คล้ายเป็น 4 ปีครั้ง เพราะการนำโรคจาก ”ยุงลาย” ที่ทุกท่านทราบดี


6.”โศกนาฏกรรม จากยุงลาย” ยุงลายนั้นทำให้เกิดโศกนาฏกรรม ใน 2 ด้าน คือ

1.ระดับครอบครัว ที่ต้องสูญเสียบุตรหลาน ปีนี้คาดว่า ลูกหลาน น่ารักของท่าน อาจกว่าร้อยคนต้องถูกส่งไปสังเวยโศกนาฏกรรมนี้ ขณะที่อีกกว่า 6 หมื่นคนต้องเจ็บป่วย หยุดงานไปจนถึงนอน รพ. ขาดรายได้ ขาดเรียน ขาดงาน ..ตีมูลค่าความเสียหายไม่ได้

2.ระดับรัฐ ต้องเสียค่ารักษาจากงบประมาณของรัฐ อีกหลายสิบล้านบาท เพิ่มภาระงาน โรงพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมอ พยาบาล และซ้ำร้าย เป็นโรคที่มีกลไกเข้าใจยาก ผู้ที่สูญเสียที่มิได้เตรียมใจย่อมเป็นทุกข์ ก่อให้เกิดประโยค ตอนต้นของบทความนี้ และ“ในยุคที่การฟ้องร้องมากมาย
เป็นเช่นนี้ ญาติผู้ป่วยย่อม โกรธ เสียใจ ผิดหวัง นำไปสู่กระบวนการดังกล่าวได้โดยง่าย สัมพันธภาพ ผู้ป่วยและแพทย์ภาครัฐที่เปราะบาง ยอมหวั่นไหว สัญชาติญาณ การรักตน รักครอบครัว กลัวการฟ้องร้อง อาจทำให้แพทย์ต้องรั่วออกจากระบบที่ขาดแคลนกว่า 2,000 คน ไปอีกหรือไม่ กระทรวงสาธารณสุขเจ้าภาพจะเตรียมแก้ไขปัญหาเพื่อคุ้มครองประชาชนอย่างไร?? กองทุนต่างๆ การไกล่เกลี่ย เยียวยา สังคม และดูแลบุคลากรของท่าน พร้อมหรือไม่..


หากถามว่าจะแก้ไขได้อย่างไรต้องย้อนกลับไปดูกระแสร์พระราชดำรัสว่า
“โครงการปราบยุงลายคั่งค้างมานานแล้ว และอันตรายยังมีอยู่มาก อยากให้ปราบปรามอย่างจริงจัง อันตรายจากโรคไข้เลือดออกจะได้ทุเลาลง ”* พระราชทาน ณ วังไกลกังวล สค.2542
แสดงความห่วงใยของในหลวง ในสถานการณ์ และแสดงแนวทางการแก้ไขชัดเจน...



ส่วนวิธีการทั้งหลาย นั้นผมขออนุญาตไม่กล่าวถึงครับ เพราะมีการรณรงค์ทั่วไปหมดแล้ว ท่านหาอ่านได้ไม่ยาก และหากต้องการความรู้เพิ่มเติม และสถิติการป่วยและตายทุกสัปดาห์ อ่านได้จาก https://dhf.ddc.moph.go.th/ ครับ ทางกระทรวงสาธารณสุขโดยคุณหมอ กิตติ ปรมัตถผล ท่านทำไว้ดีมาก

บทสรุปคือ “อย่าปล่อยให้ฆาตกร (ร้อยศพ) ลอยนวล”   ก่อนโศกนาฏกรรมบทใหม่จะเริ่มบรรเลง
และท้ายสุดบุคคลในครอบครัวที่ท่านรัก ..ประชาชน และบุคคลากรการแพทย์กลับต้องเป็นผู้สูญเสีย...

“เริ่มจัดการ ยุงลาย ในบ้านท่าน .. เสียวันนี้เถอะครับ”

ด้วยความปรารถนาดี
นาวาอากาศเอก(พิเศษ) นพ. อิทธพร คณะเจริญ
ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา



DOWNLOAD ตำราการรักษาไข้เลือดออก ทั้งเล่ม พร้อม power point ได้ที่นี่

https://dhf.ddc.moph.go.th/project/student/Pagiranaka.zip





แถม เวบความรู้เกี่ยวกับ ไข้เลือดออก


ไข้เลือดออก เวบหมอชาวบ้าน
https://www.doctor.or.th/article/detail/1647

ไข้เลือดออก เวบ doctormeflood
https://www.infoaid.org/doctormeflood/doctorme/disease/12715

อาการและการรักษาโรคไข้เลือดออก เวบกระทรวงสาธารณสุข   
https://healthy.moph.go.th/index.php/2012-03-26-04-30-53/118-2012-06-25-02-16-13

แนวทางวินิจฉัยและรักษา โรคไข้เลือดออก กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข
https://www.dms.moph.go.th/imrta/images/pdf_cpg/2548/04.pdf


โรคไข้เลือดออก (Dengue and Dengue Hemorrhagic Fever) - สคร.๑๐
https://dpc10.ddc.moph.go.th/maesai/BODY_/link%20%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AF/dengue.pdf

Dengue.pdf จาก คณะแพทย์จุฬา
https://www.med.cmu.ac.th/HOME/file/5509Dengue.pdf

ไข้เลือดออกเด็งกี - วิกิพีเดีย
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B5

โรคไข้เลือดออก
https://www.siamhealth.net/public_html/Disease/infectious/dhf.htm#.UPun5JyBM80

กลุ่มโรคไข้เลือดออก สำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง
https://dhf.ddc.moph.go.th/index.html







โรคไข้เลือดออก

โรคไข้เลือดออก คือ โรคติดเชื้อซึ่งมีสาเหตุมาจาก ไวรัสเดงกี่ (Dengue virus) อาการของโรคนี้มีความคล้ายคลึงกับโรคไข้หวัดในช่วงแรก จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าใจคลาดเคลื่อนได้ว่าตนเป็นเพียงโรคไข้หวัด และทำให้ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องในทันที โรคไข้เลือดออกมีอาการและความรุนแรงของโรคหลายระดับตั้งแต่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงเกิดภาวะช็อกซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิต
    สถานการณ์ไข้เลือดออกในประเทศไทย  รายงานตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 6 ตค. 2558 (สัปดาห์ที่ 39)
จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออก 86,460 ราย  จำนวนผู้ป่วยตาย 86 ราย  สูงกว่าปีที่แล้ว 182.91%
อัตราป่วยตาย (ร้อยละ) 0.10 ราย   สูงกว่าอัตราป่วยตายย้อนหลัง 4 ปีที่แล้ว (ร้อยละ 0.08-0.09 ราย)
จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ (คาดว่าในปี 2558 จะมีประมาณ 60,000-70,000 ราย)

การติดต่อ
ไวรัสเดงกี่ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกสามารถมีชีวิตรอดและเพิ่มจำนวนภายในตัวของยุงลาย
ยุงลายที่เป็นพาหะนี้มีชื่อว่า Aedes aegypti เมื่อยุงลายตัวเมียบินไปกัดคนที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก โดยเฉพาะช่วงที่มีไข้สูง เชื้อไวรัสแดงกีจะเพิ่มจำนวนในตัวยุงประมาณ 8-10 วัน (เชื้อไวรัสแดงกี่จะไปที่ผนังกระเพาะและต่อมน้ำลายของยุง) เมื่อยุงกัดคนก็จะแพร่เชื้อสู่คน เชื้อจะอยู่ในร่างกายคนประมาณ 2-7 วัน จึงเริ่มทำให้เกิดอาการ
ยุงลายชอบออกหากินในเวลากลางวันตามบ้านเรือน และโรงเรียน ชอบวางไข่ตามภาชนะที่มีน้ำขัง เช่นยางรถยนต์ กะลา กระป๋อง จานรองขาตู้กับข้าว แต่ไม่ชอบวางไข่ในท่อน้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง
พบการระบาดมากที่สุดในฤดูฝน
ช่วงอายุของคนที่พบว่าป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมากที่สุด คือ คนอายุ 10-14 ปี รองลงมาคือ อายุ 15-24 ปี และ อายุ 5-9 ปี ตามลำดับ ส่วนช่วงอายุ 0-4 ปี และมากกว่า 25 ปี จนถึง 65 ปี เป็นช่วงอายุที่พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวนน้อยที่สุด

อาการ
ส่วนใหญ่คนที่ได้รับเชื้อไวรัสเดงกีเป็นครั้งแรกมักไม่มีอาการ หรืออาจมีเพียงไข้สูง ปวดกระดูก ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และเบื่ออาหารเท่านั้น แต่ในคนที่ติดเชื้อนี้เป็นครั้งที่ 2 โดย เฉพาะเชื้อนั้นเป็นเชื้อที่ต่างสายพันธุ์กับครั้งแรก ผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงถึงช็อกได้ โดยอาการของโรคไข้เลือดออกแบ่งได้เป็น 3 ระยะคือ ระยะไข้ ระยะช็อก และระยะพักฟื้น
    ระยะไข้ หรือระยะที่ 1 ในระยะนี้ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หน้าแดง อาจมีจุดเลือดออกตามผิวหนัง หรือมีเลือดออกบริเวณอื่นๆ เช่น เลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนมีเลือดปน ถ่ายอุจจาระสีดำ เป็นต้น โดยอาการจะเป็นอยู่ประมาณ 2 - 7 วัน
    ระยะช็อก หรือระยะที่ 2 ขณะที่ไข้ลดลง ผู้ป่วยจะมีอาการทรุดลงคือ ซึมลง กระสับกระส่าย เหงื่อออก ปลายมือปลายเท้าเย็น ชีพจรเต้นเร็วและเบา ปัสสาวะน้อย ในบางรายมีอาการปวดท้องมาก ท้องโตขึ้น หายใจหอบเหนื่อย เนื่องจากมีน้ำรั่วออกจากหลอดเลือดเข้าสู่ช่องเยื่อหุ้มปอดและช่องท้อง บางรายมีเลือดออกมากเช่น เลือดออกในทางเดินอาหารทำให้อุจจาระสีดำ หรืออาเจียนเป็นเลือด หรือมีเลือดกำเดาไหล ผู้ป่วยในระยะนี้อาจมีอาการช็อก ความดันโลหิต (เลือด) ต่ำ และถึงแก่ชีวิต (ตาย) ได้ ซึ่งระยะนี้ใช้เวลาประมาณ 1 - 2 วัน แต่ในบางราย ผู้ป่วยมีอาการไม่มาก หลังจากไข้ลง ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นจากระยะที่ 1 เข้าสู่ระยะที่ 3 เลย
    ระยะพักฟื้น หรือระยะที่ 3 ผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้น โดยรับประทานอาหารได้มากขึ้น ชีพจรเต้นช้าลง ความดันโลหิตกลับมาสู่ปกติ ปัสสาวะออกมากขึ้น ในบางรายอาจมีผื่นเป็นวงขาวๆบนพื้นสีแดงตามผิวหนังโดยเฉพาะที่ขาทั้ง 2 ข้าง ผื่นมักไม่คันและไม่เจ็บ

แพทย์วินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้จาก “ อาการ “ โดยเฉพาะอาการไข้สูง โดย ไม่มีอาการไอ น้ำมูก เจ็บคอ หรือท้องเสียร่วมด้วย ร่วมกับมีประวัติโรคไข้เลือดออกของคนที่อาศัยอยู่บริเวณเดียวกัน หรือมีการระบาดของโรคในขณะนั้น โดยเฉพาะหากแพทย์ตรวจพบตับโต และกดเจ็บร่วมด้วย แพทย์จะทำการทดสอบที่เรียกว่า “Tourniquet test” โดยใช้เครื่องวัดความดันโลหิตรัดแขนทิ้งไว้ประมาณ 5 นาที หากมีจุดเลือดออกบริเวณแขนมากกว่า 10 จุดต่อ 1 ตารางนิ้ว แสดงว่าผลการทดสอบให้ผลบวก ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการวินิจฉัยโรคนี้
นอกจากนี้ หากส่งตรวจเลือด ซีบีซี (CBC) จะตรวจพบเกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวค่อน ข้างต่ำ และความเข้มข้นของเลือดสูง เพียงเท่านี้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ในบางรายหากอาการ ผลการตรวจร่างกาย และผลเลือดเบื้องต้นดังกล่าว ไม่สามารถให้การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกได้ ในปัจจุบันในบางโรงพยาบาลสามารถส่งเลือดเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันต้านทานต่อเชื้อไวรัสเดงกีได้ ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยโรคนี้แม่นยำขึ้น

โรคไข้เลือดออกมีวิธีรักษาอย่างไร?
ในปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาโรคไข้เลือดออกโดยตรง หากอาการไม่รุนแรงโรคนี้จะหายได้เอง ดังนั้นการรักษาที่มีจึงเป็นเพียงการรักษาตามอาการ และการรักษาภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ต่างๆที่อาจเกิดขึ้น
ในระยะไข้ หากผู้ป่วยอาการไม่รุนแรง ยังพอรับประทานอาหารได้บ้าง รู้สติดี ไม่ซึม แพทย์จะให้ยาลดไข้ ยาผงเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำจากไข้สูง และจากการรั่วของน้ำออกนอกหลอดเลือด และให้สังเกตอาการที่บ้าน จากนั้นจะนัดผู้ป่วยมาติดตามอาการที่โรงพยาบาลเป็นระยะๆ
แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น ปวดท้องมาก ปัสสาวะออกน้อย กระสับกระส่าย ซึมลง หรือมือเท้าเย็น แพทย์จะให้เฝ้าสังเกตอาการและดูแลรักษาที่โรงพยาบาลโดยเฉพาะ เพื่อการเฝ้าระวังภาวะช็อกและเลือดออก ซึ่งนอกจากการตรวจวัดชีพจร และความดันโลหิตอย่างใกล้ ชิดแล้ว แพทย์จะเจาะเลือดเพื่อตรวจความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะๆ เพื่อเฝ้าระวังการรั่วไหลของน้ำออกนอกหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ผู้ป่วยมีความดันโลหิตต่ำลง และเข้าสู่ระยะช็อกได้ โดยเฉพาะในช่วงที่ไข้เริ่มลดลง ซึ่งใช้เวลาผ่านพ้นระยะนี้เป็นเวลา 24 - 48 ชั่วโมง จากนั้นผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะพักฟื้นซึ่งเป็นระยะที่ปลอดภัย
ในระยะพักฟื้นนี้ ผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารได้มากขึ้น ปัสสาวะออกมากขึ้น ชีพจรและความดันโลหิตปกติ

เมื่อไรจะให้กลับบ้าน
    ไม่มีไข้ 24 ชั่วโมงโดยที่ไม่ได้รับยาลดไข้ ผู้ป่วยอยากอาหาร
    ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างชัดเจน
    ความเข้มของเลือดคงที่
    3วันหลังจากรักษาภาวะช็อค
    เกล็ดเลือดมากกว่า 50000
    ไม่มีอาการแน่ท้องหรือแน่หน้าอกจากน้ำในท้องหรือช่องเยื่อหุ้มปอด



ข้อสำคัญของไข้เลือดออก
    ให้สงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออกในผู้ที่มีไข้เฉียบพลัน ไข้สูง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
    หากตับโตจะช่วยสนับสนุนว่าเป็นไข้เลือดออก
    ยาลดไข้ไม่ได้ทำให้ระยะเวลาที่เป็นไข้ลดลง การให้ยาไม่ถูกต้องอาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน ยาลดไข้ที่ใช้มีเพียงชนิดเดียว คือ ยาพาราเซตามอล (paracetamol) ห้ามใช้ยา แอสไพรินและไอบูโปรเฟน เพราะอาจส่งเสริมให้เกิดภาวะเลือดออกมากขึ้น
    ช่วงที่วิกฤตคือช่วงที่ไข้เริ่มลง หากเกล็ดเลือดต่ำลง ร่วมกับความเข้มข้นของเลือดเพิ่มขึ้นก่อนไข้ลง ให้สงสัยว่าจะเกิดช็อค
    หากเลือดมีความเข้มข้นมากขึ้น 20% แสดงว่ามีการรั่วของพลาสม่า จำเป็นต้องได้รับน้ำเกลืออย่างเหมาะสม แต่ การให้น้ำเกลือก่อนที่ จะมีการรั่วของพลาสม่าไม่เกิดประโยชน์
    การให้น้ำเกลือจะให้เท่ากับพลาสม่าที่รั่ว โดยดูจากความเข้มของเลือดและปริมาณปัสสาวะที่ออก ถ้าให้น้ำเกลือมากเกินไปอาจจะเกิดน้ำท่วมปอด

วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก
การผลิตวัคซีนกำลังอยู่ในขั้นพัฒนา คาดการณ์ว่าจะสำเร็จและใช้ได้ในอนาคตอันใกล้

การป้องกัน
แม้ว่าในปัจจุบันกำลังมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ แต่ก็ยังไม่มียาที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี่ได้ ดังนั้นคำตอบที่ดีที่สุดของโรคไข้เลือดออกในปัจจุบันนี้ คือ การป้องกันไม่ให้เป็นโรคโดยการควบคุมยุงลายให้มีจำนวนลดลง ซึ่งทำได้โดย การควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ การกำจัดลูกน้ำและตัวเต็มวัย และป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด
วิธีป้องกันไข้เลือดออกที่ได้ผลดี และยั้งยืนต้องเป็นแบบบูรณการโดยการร่วมมือของทุกฝ่าย
ทั้งนี้การป้องกันทำได้ 3 ลักษณะ คือ
1. การป้องกันทางกายภาพ ได้แก่
- ปิดภาชนะเก็บน้ำด้วยฝาปิด เช่น มีผาปิดปากโอ่งน้ำ ตุ่มน้ำ ถังเก็บน้ำ หรือถ้าไม่มีฝาปิด ก็วางคว่ำลงหากยังไม่ต้องการใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้กลายเป็นที่วางไข่ของยุงลาย
- เปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้สดบ่อยๆ อย่างน้อยทุกๆ 7 วัน
- ปล่อยปลากินลูกน้ำลงในภาชนะเก็บน้ำ เช่น โอ่ง ตุ่ม อ่างบัวและตู้ปลา ภาชนะละ 2-4 ตัว
- ใส่เกลือลงน้ำในจานรองขาตู้กับข้าว เพื่อควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยใส่เกลือ 2 ช้อนชา ต่อความจุ 250 มิลลิลิตร พบว่าสามารถควบคุมลูกน้ำได้นานกว่า 7 วัน

2. การป้องกันทางเคมี ได้แก่
- เติมทรายทีมีฟอส ซึ่งเป็นสารเคมีที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้และรับรองความปลอดภัย
- การพ่นสารเคมีหรือยากันยุงเพื่อกำจัดยุงตัวเต็มวัย มีข้อดีคือ ประสิทธิภาพสูง แต่ข้อเสียคือ มีราคาแพง และเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง จึงต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญในการฉีดพ่นและฉีดเฉพาะเมื่อจำเป็นเท่านั้น เพื่อป้องกันความเป็นพิษต่อคนและสัตว์เลี้ยง ควรเลือกฉีดในเวลาที่มีคนอยู่น้อยที่สุดและฉีดพ่นลงในแหล่งที่คาดว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง เช่น ท่อระบายน้ำ กระถางต้นไม้ เป็นต้น
- การใช้สารเคมีเพื่อกำจัดยุงในบ้านเรือน ที่ใช้กันมี 2 ชนิด คือ ยาจุดกันยุง และสเปรย์ฉีดไล่ยุง โดยสารออกฤทธิ์อาจเป็นยาในกลุ่มไพรีทรอยด์ (Pyrethroids), ดีท (DEET, diethyltoluamide) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สารเคมีไม่ว่าจากยาจุดกันยุงหรือสเปรย์ฉีดไล่ยุง ก็มีความเป็นพิษต่อคนและสัตว์ ดังนั้นเพื่อลดความเป็นพิษดังกล่าวควรจุดยากันยุงในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ล้างมือทุกครั้งหลังจากสัมผัส ส่วนยาฉีดไล่ยุงจะมีความเป็นพิษมากกว่า ดังนั้นห้ามฉีดลงบนผิวหนัง และควรปฏิบัติตามวิธีใช้ที่ระบุข้างกระป๋องอย่างเคร่งครัด

3. การปฏิบัติตัว ได้แก่
- นอนในมุ้ง หรือในห้องที่มีมุ้งลวด เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ทั้งกลางวันและกลางคืน
- หากไม่สามารถนอนในมุ้งหรือในห้องที่มีมุ้งลวดได้ ควรใช้ยากันยุงชนิดทาผิวซึ่งมีสารสำคัญที่สกัดจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันตะไคร้หอม (oil of citronella), น้ำมันยูคาลิปตัส (oil of eucalyptus) ซึ่งมีความปลอดภัยสูงกว่ามาทาหรือหยดใส่ผิวหนังใช้เป็นยากันยุง แต่ประสิทธิภาพจะต่ำกว่า DEET

เครดิต อ้างอิง ..

https://www.facebook.com/dengue.infection

https://www.ไข้เลือดออก.com

https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/102/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%81/

https://www.thaivbd.org

https://www.ato.moph.go.th

https://www.thaivbd.org/n/researchs/view/87

“””””””””””””””””””””””

ไข้เลือดออก..ฤดูกาลแห่งโศกนาฏกรรมยุงลายกัดคน(ป่วย..เป็นไข้)เลือดออกตาย แต่แพทย์ผู้รักษาเป็นจำเลย?

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-05-2008&group=4&gblog=38

โรคไข้เลือดออก... ( นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง )

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=30-10-2015&group=4&gblog=116





Create Date : 17 พฤษภาคม 2551
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2562 14:35:23 น. 14 comments
Counter : 2315 Pageviews.  

 

นำมาฝาก


//www.siamrath.co.th/UIFont/NewsDetail.aspx?cid=97&nid=14742

เคล็ดลับพิชิตยุงลาย แบบไร้สารเคมี

ข่าววันที่ 27 พฤษภาคม 2551 แหล่งข่าวจาก สยามรัฐ



ยุงลาย อีกหนึ่งตัวการสำคัญที่คร่าชีวิตชาวไทยมาแล้วนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ก็อาจจบชีวิตเพราะยุงลายได้เช่นกัน ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลของ สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2550 – 10 พฤษภาคม 2551 พบผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศแล้ว 13,943 ราย เสียชีวิต 16 ราย โดยมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณอาทิตย์ละ 1,000 ราย ซึ่งนับว่าสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา และสูงกว่าปี 2550 ถึงร้อยละ 72 โดยภาคกลางมีผู้ป่วยมากที่สุด 8,094 ราย รองลงมาคือภาคใต้ 2,373 ราย ภาคเหนือ 2,155 ราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1,321 ราย ส่วน กทม. พบผู้ป่วย 1,966 ราย และที่น่ากลัวไปกว่านั้นจากสถิติพบว่าโรคไข้เลือดออกมีปริมาณเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ จากที่เมื่อก่อนมักจะเกิดขึ้นเฉพาะในเด็กเล็กเท่านั้น และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่มีการร่วมกันป้องกันที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคมของทุกๆ ปี ซึ่งถือเป็นช่วงที่ไข้เลือดออกจะระบาดสูงที่สุด

สัญญาณอันตรายจากหน้าฝนปีนี้มาเร็วกว่าทุกปี เราทุกคนควรหามาตรการเตรียมพร้อมรับมือในการยับยั้งและกำจัดบ่อเกิดของยุงลาย ที่พร้อมคร่าชีวิตเราได้ทุกเมื่อหากไม่ระวัง โดยในการอบรม อาสาสมัครสาธารณสุขเรื่องโรคไข้เลือดออก ซึ่งจัดขึ้นในงานสัปดาห์รณรงค์โรคไข้เลือดออก 2551 โดย กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเร็วๆ นี้ ดร. สีวิกา แสงธาราทิพย์ นักวิชาการสาธารณสุข สถาบันโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ได้มาร่วมบรรยายในหัวข้อ “วิธีการควบคุม และกำจัดยุงลาย” โดยได้เปิดเผยถึง 5 กลเม็ดในการพิชิตยุงลายในบ้านได้อย่างง่ายดาย และไร้สารเคมีด้วย ปิด เปลี่ยน ปล่อย ทำ คว่ำและเท ว่า

เริ่มที่วิธีแรก คือ การปิดฝาภาชนะเก็บน้ำทุกชนิดให้มิดชิดอยู่เสมอ เพราะภาชนะเก็บกักน้ำก็คือแหล่งเพาะพันธุ์อันดับต้น ๆ เลยก็ว่าได้ ซึ่งการปิดสามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น ปิดฝาหรือใช้ผ้าตาถี่ ๆ คลุมให้มิดชิด

ส่วนวิธีที่สอง คือ การเปลี่ยนน้ำในแจกันดอกไม้ ขวดหรือภาชนะที่ใส่ไม้ประดับต่าง ๆ ที่ต้องแช่น้ำทิ้งไว้เป็นสัปดาห์ ส่วนบางบ้านมีจานรองขาตู้กับข้าวถ้าไม่สะดวกเปลี่ยนน้ำก็สามารถเติมเกลือแกง 2 ช้อนชา หรือใส่น้ำสายชู 2 ช้อนชา เพราะถ้าน้ำเปรี้ยวยุงลายจะไม่ชอบวางไข่ หรือสามารถใส่ชันผงแทนการใส่น้ำก็ได้ หรือวิธีที่ง่ายที่สุดคือการเทน้ำเดือดลงไปทุก ๆ 7 วันก็สามารถช่วยฆ่าลูกยุงลายได้เหมือนกัน

วิธีที่สาม คือการปล่อย ปลากินลูกน้ำอย่าง ปลาหางนกยูง หรือปลาสอด โดยใส่เฉพาะตัวผู้อย่างเดียว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการขยายพันธุ์ ใส่ลงในภาชนะที่ไม่สามารถปิดฝาได้อย่างในห้องน้ำ ห้องส้วม อ่างบัว หรือใส่ทรายกำจัดลูกน้ำที่มีขายอยู่ทั่วไปในอัตรา 1 กรัมต่อน้ำ 10 ลิตร ทรายกำจัดลูกน้ำอาจมาในรูปแบบของถุงชา หรือใช้ผ้าขาวบางในการห่อแบบหลวม ๆ

วิธีที่สี่ คือ การทำ ด้วยการใช้สวิงช้อนลูกน้ำทิ้ง หรือใช้พืชผักสมุนไพรต่าง ๆ ในการป้องกัน อย่างเช่น มะกรูด โดยการใช้ลูกมะกรูดมาคลึงจนมีน้ำมันออกมาแล้วโยนลงในบ่อเก็บน้ำ น้ำมันของมะกรูดจะมีกลิ่นฉุนทำให้ยุงไม่มาวางไข่ นอกจากนั้นยังมีพืชผักสมุนไพรอีกมากมายในการไล่ยุง อาทิ ใบยูคาลิปตัส กระเทียม สาระแหน่ ตะไคร้ ใบแมงลัก ซึ่งพืชเหล่านี้สามารถนำมาปลูกเป็นพืชผักสวนครัวที่นำมาบริโภคในครัวเรือนได้อีกด้วย

วิธีสุดท้าย คือ การคว่ำและการเทน้ำขังออกจากภาชนะต่างๆ ที่ไม่ใช้แล้วและปล่อยวางทิ้งไว้โดยมีน้ำขัง อาทิ จานรองกระถางอาจใช้ทรายก่อสร้างช่วยดูดซับน้ำ, ยางรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้อาจมีน้ำขังอยู่ หรือวัสดุอื่นที่น้ำฝนสามารถขังได้ อาทิ ขวดพลาสติกต่าง และถุงขยะต่างๆ และการช่วยกันสำรวจตรวจสอบและเทน้ำจากต้นไม้ที่สามารถเก็บกักน้ำได้อย่างซากต้นมะพร้าว ต้นไผ่ เพียงเท่านี้ก็ไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อคนในบ้านได้

นอกจากนั้นแล้ว ดร.สีวิกา ยังทิ้งท้ายเกี่ยวกับการพิชิตยุงลาย และโรคไข้เลือดออกไว้อย่างน่าสนใจว่า

“เราควรช่วยกันป้องกันอย่าให้ลูกยุงลายเกิด อย่าให้ยุงลายกัด ป้องกันอย่าให้ป่วย และเมื่อป่วยแล้วก็ต้องรีบรักษาอย่าให้ตาย และเป็นพาหะไปยังคนอื่นๆ”




โดย: หมอหมู วันที่: 28 พฤษภาคม 2551 เวลา:19:46:12 น.  

 

มีผู้ตั้งกระทู้ถามเกี่ยวกับ ไข้เดงกี่ ..

//www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L6811739/L6811739.html#14
ผมเป็นไข้เดงกีครับอันตรายถึงเสียชีวิตรึเปล่าครับ

เป็นมา 3 วันเเล้วไข้ยังไม่ลดเลย วันนี้วัดได้ 39 ครับ กลัวมากเเต่ต้องทำงานอยู่ครับ Y Y

จากคุณ : Lord_Yoshiki - [ 19 ก.ค. 51 12:55:11 ]


จขกท.อย่าเพิ่งตกใจค่ะ
คุณเข้าใจถูกแล้วค่ะ
"ไข้เดงกี่ ไม่ใช่ ไข้เลือดออก"
แต่จะอธิบายยังไงดีล่ะ
มันก็เป็นการติดเชื้อในกลุ่มเดียวกันแหละ
แต่เป็นระดับความรุนแรงที่ต่างกัน
และไม่จำเป็นว่าเป็นไข้เดงกี่แล้ว จะต้องเดินหน้าไปเป็นไข้เลือดออกเสมอไป

ไข้เดงกี่ = Dengue fever
ไข้เลือดออก = Dengue hemorrhagic fever
ไข้เลือดออกที่ช็อค = Dengue hemorhagic shock
พูดง่ายๆ เป็นพี่น้องกันค่ะ

ถ้าไข้เดงกี่ก็คือ ยังไม่มีเกล็ดเลือดต่ำ ไม่มีความเข้มข้นเลือดเปลี่ยนแปลง
คือยังไม่เข้าสู่ภาวะของไข้เลือดออก
และไม่ใช่ว่าคนที่เป็นไข้เดงกี่ จะกลายเป็นไข้เลือดออกทุกคน
ในผู้ใหญ่ที่อาการดี ไม่จำเป็นต้องนอนรพ.ค่ะ
โดยเฉพาะคนที่พูดจารู้เรื่อง ดูแลตนเองได้ดีอย่างจขกท.
หมอจะนัดดูอาการเป็นรายวันค่ะ
เพราะในระยะที่เป็นไข้เดงกี่นี้ ยังไม่มีการรักษาอื่นนอกจากให้กินยาลดไข้
การให้น้ำเกลือถือว่าไม่จำเป็นในระยะนี้ค่ะ

ส่วนมากหมอจะไม่บอกว่าเป็นไข้เดงกี่ค่ะ เพราะอธิบายยากจริงๆ
จะว่าเป็นไข้เลือดออกก็ไม่เชิง แต่ก็ต้องดูแลใกล้ชิดเพราะอาจเป็นไข้เลือดออกได้

จากคุณ : ฟ้าหมาดฝน - [ 19 ก.ค. 51 16:57:38 ]





ความคิดเห็นที่ 12

จขกท.อยู่บ้านกับใครคะ ?
ถ้ามีอาการเปลี่ยนแปลงสามารถไปรพ.ได้หรือเปล่าล่ะคะ
ก็ต้องสังเกตอาการกันเป็นระยะ
ส่วนมากผู้ใหญ่ไม่ค่อยน่าห่วงเท่าเด็กๆ
แต่ก็ควรดูอาการอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะวันที่ 3-4 ของไข้
ซึ่งเป็นวันที่ไข้เริ่มลด
ถ้าเป็นไข้เลือดออกจริงก็จะมีความดันโลหิตต่ำ
กระสับกระส่าย ปากแห้งคอแห้ง และหมดสติได้

แต่ถ้าคิดว่าที่บ้านไม่มีคนดูแล บ้านไกลรพ.
จะไปคุยกับคุณหมอเรื่องนอนสังเกตอาการในรพ.ก็ได้ค่ะ

จากคุณ : ฟ้าหมาดฝน - [ 19 ก.ค. 51 17:11:00 ]



เห็นว่าคำตอบของคุณ ฟ้าหมาดฝน ตอบได้ชัดเจน แล้วก็เป็นปัญหาที่คงคาใจอีกหลาย ๆ คน เลยนำมาลงไว้ให้อ่านกัน ..

ขอบคุณ คุณฟ้าหมาดฝน ไว้ ณ ที่นี้ ด้วยนะครับ ...


โดย: หมอหมู (หมอหมู ) วันที่: 19 กรกฎาคม 2551 เวลา:18:51:52 น.  

 

//www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9530000028943


ไข้เลือดออกเริ่มส่งสัญญาณระบาด ม.ค.-ก.พ. ป่วยเกือบ 4,000 ราย เสียชีวิตแล้ว 3 ราย

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

1 มีนาคม 2553 12:14 น.

สาธารณสุขเตือน ประชาชนระวังโรคไข้เลือดออก ปีนี้มีสัญญาณโรคอาจจะระบาด พบผู้ป่วยในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์รวมกว่า 3,700 ราย เสียชีวิต 3 ราย จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมาร้อยละ 38 พบผู้ป่วยอายุมากกว่า 14 ปีมากขึ้น ใน กทม.พบเกือบร้อยละ 60 เน้นย้ำให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุก 7 วัน


นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ในปีนี้สภาพอากาศร้อนเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา สิ่งที่น่าห่วงคือโรคไข้เลือดออก ซึ่งมีสาเหตุจากยุงลาย มีข้อมูลการศึกษาทางวิชาการพบว่าขณะนี้ตัวลูกน้ำยุงลายจะกลายเป็นตัวยุงเร็ว กว่าอดีตที่ใช้เวลาประมาณ 7 วัน ก็เหลือประมาณ 5 วัน จะทำให้ปริมาณยุงตัวโตเต็มวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

จาก การวิเคราะห์สถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในปี 2553 พบว่าโรคมีสัญญาณอาจเกิดการระบาดในปีนี้ได้ โดยในช่วงเดือนมกราคมจนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2553 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเข้ารักษาในโรงพยาบาลสะสมรวม 3,757 ราย เฉลี่ยวันละ 85 ราย เสียชีวิต 3 ราย

มากที่สุดในภาคกลางมีร้อยละ 55 ของผู้ป่วยทั้งหมด รองลงมาคือที่ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ น้อยที่สุดคือที่ภาคเหนือ พบทั้งในเมืองและชนบท โดยสถิติผู้ป่วยใน 2 เดือนแรกปีนี้สูงกว่าช่วงเดียวกันในปี 2552 ถึงร้อยละ 49 ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งหมด 2,511 ราย

เป็นที่น่าสังเกตว่าผู้ที่ป่วยเป็นไข้เลือดออกในปีนี้ พบทุกกลุ่มอายุ แต่มีแนวโน้มพบในเด็กอายุมากกว่า 14 ปีขึ้นไปมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม.พบมากถึงร้อยละ 60

ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ดำเนินการป้องกันโรคตั้งแต่เนิ่นๆก่อนถึงฤดูกาลระบาดทุกปีคือช่วงเดือน พฤษภาคม-ตุลาคม เพื่อป้องกันคนไม่ให้ป่วยให้ได้มากที่สุด

โดยให้ทุกพื้นที่ช่วยกันลดจำนวนยุงลายให้เหลือน้อยที่สุด ด้วยการประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือประชาชนทุกหลังคาเรือน ช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งที่อยู่ในบ้านเช่นตามแจกันไม้ประดับ น้ำหล่อขาตู้ ต้องเปลี่ยนน้ำทิ้งทุก 7 วัน และแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายรอบๆบ้าน เช่นที่จานรองกระถางไม้ประดับ รวมทั้งทำลายภาชนะที่อาจเป็นแหล่งให้น้ำขังได้เช่น กระป๋อง กล่องโฟม กะลามะพร้าว ยางรถยนต์ นอนในมุ้งหรือในห้องที่มีมุ้งลวด

ให้ทุกพื้นที่เฝ้าระวังโรค หากมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก ให้ดำเนินการสอบสวนโรคและควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด และพ่นสารเคมีรอบบ้านผู้ป่วยรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร กำจัดยุงลายที่มีเชื้อให้หมดโดยเร็วที่สุด เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดโรค นายแพทย์ไพจิตร์กล่าว



แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

ด้าน นายแพทย์มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกรักษาให้หายได้ หากมารับการรักษาเร็ว โดย อาการทั่วไปของโรคนี้ที่เกิดในเด็กและผู้ใหญ่จะไม่แตกต่างกัน กล่าวคือ มีไข้สูงมาก กินยาแล้วไข้ไม่ลด อาจมีจุดเลือดออกเล็กๆ สีแดงที่ผิวหนังกระจายตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน

แต่ในผู้ใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตามาก มักเป็นรุนแรงกว่าเด็ก และจะมาพบแพทย์ช้า เนื่องจากไม่คิดว่าตัวเองป่วยเป็นไข้เลือดออก มักจะไปซื้อยากินเองก่อนเมื่อรู้สึกมีไข้ หรือไม่สบายตัว ทำให้อาการหนัก

รวมทั้งมักใช้ยาที่มีฤทธิ์แรงทั้งแก้ปวดและลดไข้ ทำให้ระคายเคืองและมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร โดยเฉพาะในผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูงหากเป็นไข้เลือดออกก็ยิ่งทำให้อาการหนักมากขึ้น


นายแพทย์มานิตกล่าวต่อว่า ตามปกติทั่วไปหลังจากมีอาการไข้ แล้วไข้เริ่มลดลง แสดงว่าอาการดีขึ้น แต่หากป่วยเป็นไข้เลือดออก ในระยะที่ไข้ลดลง จะเป็นช่วงที่มีอันตรายมาก

ขอให้ประชาชนสังเกตว่าหากระยะที่ไข้ลดลง แต่ผู้ป่วยยังมีอาการซึม อ่อนเพลีย มีอาการปวดท้อง แม้จะรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ กินอาหารได้ก็ตาม จะต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากไม่ไปพบแพทย์ภายใน 10-12 ชั่วโมง อาจเกิดอาการช็อค มีอาการตับวาย ไตวายแทรกซ้อน จนเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสเด็งกี่ที่ทำให้เกิดไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ซึ่งในประเทศไทยถือว่าโรคไข้เลือดออกเป็นโรคประจำถิ่น มีครบทุกสายพันธุ์ หากติดเชื้อสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่ง จะทำให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานสำหรับสายพันธุ์นั้นได้ตลอดชีวิต แต่ป้องกันสายพันธุ์อื่นได้ไม่เกิน 1 ปี

ดังนั้นคนคนหนึ่ง ยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์ที่เหลือได้ และการติดเชื้อครั้งที่ 2 นี้ มักเกิดอาการที่รุนแรงมากกว่าการติดเชื้อครั้งแรก

ดังนั้น แม้ว่าเคยเป็นไข้เลือดออกมาก่อนก็สามารถเป็นซ้ำได้หากไม่ได้ป้องกันยุงลาย กัด หรือไม่ได้กำจัดลูกน้ำ และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่เป็นภาชนะใส่น้ำ หรือภาชนะที่มีน้ำขังในบ้านและบริเวณรอบบ้าน



โดย: หมอหมู วันที่: 2 มีนาคม 2553 เวลา:15:16:37 น.  

 
//www.thaiclinic.com/dhf.html

ไข้เลือดออก Denque hemorrhagic fever)


สาเหตุ

เกิดจากไวรัสชนิดหนึ่ง ชื่อ Denque virus มีตัวยุงลาย (Aedes aegypti)เป็นพาหะของโรค อาการ

พบบ่อยในเด็กต่ำกว่า 15 ปี โดยเฉพาะช่วงอายุ 2-8 ปี

อาการสำคัญ 4 ประการคือ

1. ไข้สูงลอย : ไข้ 39-40, มักมีหน้าแดง, โดยมักไม่ค่อยมีอาการน้ำมูกไหลหรือไอ เด็กโตอาจมีอาการปวดเมื่อยตามตัว และปวดศีรษะ อาการไข้สูงมักมีระยะ 4-5 วัน

2. อาการเลือดออก : เลือดกำเดาไหล, เลือดออกตามไรฟัน, เลือดออกในกระเพาะ โดยจะมีอาการอาเจียนเป็นเลือด หรือ ถ่ายดำ, จุดเลือดออกตามตัว

3. ตับโต

4. ความผิดปกติของระบบไหลเวียนเลือด หรือ ช็อค
: มักจะเกิดช่วงไข้จะลดโดย ผู้ป่วยจะมีอาการกระสับกระส่ายมือเท้าเย็น รอบปากเขียว อาจมีอาการปวดท้องมาก ก่อนจะมีอาการช็อค ชีพจรเบาเร็ว ความดันต่ำ


การรักษา

1. ให้ยาลดไข้, เช็ดตัวลดไข้ ยาลดไข้ที่ควรใช้คือ Paracetamol ไม่ควรใช้ยาจำพวกแอสไพริน เนื่องจากจะทำให้เกร็ดเลือดผิดปกติ และระคายกระเพาะอาหาร

2. ให้สารน้ำชดเชย เนื่องจากผู้ป่วยมักมีภาวะขาดน้ำ เนื่องจากไข้สูง เบื่ออาหาร และอาเจียน ในรายที่พอทานได้ให้ดื่มน้ำเกลือแร่บ่อยๆ ในรายที่ขาดน้ำมาก หรือ มีภาวะเลือดออก เช่น อาเจียนหรือ ถ่ายเป็นเลือดต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำทางเส้นเลือด

3. ติดตามดูอาการใกล้ชิด ถ้ามีอาการปวดท้อง ปัสสาวะน้อยลง กระสับกระส่าย มือเท้าเย็น โดยเฉพาะในช่วงไข้ลด ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

4. ตรวจนับจำนวนเกร็ดเลือดและความเข้มข้นของเลือดเป็นระยะเพื่อใช้พิจารณาปริมาณการให้สารน้ำชดเชย


การป้องกัน

1. ควบคุมยุงลาย โดยให้สุขศึกษากับประชาชนให้กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ส่วนใหญ่มักเป็นภาชนะเก็บน้ำในบ้าน เช่น โอ่งน้ำ, ถ้วยรองขาตู้กันมด แจกันดอกไม้ หรือนอกบ้าน เช่น จานรองกระถางต้นไม้, ยางรถยนต์

2. ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด ยุงลายที่เป็นพาหะไข้เลือดออก เป็นยุงตัวเมีย มักชอบกัด เวลากลางวัน


ส่วนวัคซีนไข้เลือดออกขณะนี้อยู่ในขั้นค้นคว้าทดลอง



โดย พญ.ดารารัตน์ สัตตวัชราเวช กุมารแพทย์



โดย: หมอหมู วันที่: 2 มีนาคม 2553 เวลา:19:29:32 น.  

 
คดีล่าสุด ๒๘ธค๕๕ ...

L13120106 จดหมายจากเพื่อนแพทย์ จากข่าวที่แพทย์จ.ระยองถูกญาติคนไข้ฟ้อง และน้ำพวงหรีดมาไว้หน้ารพ. น้องถั่วเหลือง (38 - 28 ธ.ค. 55 12:25)

//www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L13120106/L13120106.html



ศูนย์ข่าวศรีราชา - พ่อ-แม่-ญาติพี่น้อง นักเรียนหญิง ม.4 โรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพฯ นำพวงหรีดดำวางหน้าโรงพยาบาลระยอง หลังข้องใจสาเหตุการตาย และมาตรฐานการรักษา ด้านรองผู้อำนวยการเผย พร้อมนำเรื่องเสนอผู้อำนวยการพิจารณาเยียวยา พร้อมตั้งกรรมการสอบทีมพยาบาล และแพทย์

วันนี้ (24 ธ.ค.) เมื่อเวลา 08.30 น. ที่โรงพยาบาลระยอง นายกิติรัช และนางพรรณี อุดานนท์ บิดา-มารดา น.ส.อชิรญา อุดานนท์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดนวลนรดิศ กรุงเทพมหานคร พร้อมญาติพี่น้องแต่งกายชุดดำเดินถือพวงหรีดข้อความว่า “ไว้อาลัยแด่แพทย์ และทีมงานสุขภาพโรงพยาบาลระยอง” พร้อมภาพถ่ายของ น.ส.อชิรญา ซึ่งเสียชีวิตจากการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลระยองได้เพียง 3 วัน เดินเข้าไปภายในอาคารผู้ป่วย ท่ามกลางความสนใจของผู้ป่วย และเจ้าหน้าที่พยาบาล ก่อนจะนำพวงหรีดไปวางไว้ที่ด้านหน้าโรงพยาบาลระยอง

หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่พยาบาลได้นำญาติผู้เสียชีวิตเข้าพบ พญ.สมบัติ ชุติมานุกูล รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ เพื่อพูดคุยถึงข้อคับข้องใจ และมาตรฐานการรักษาพยาบาล รวมทั้งข้อเรียกร้องให้โรงพยาบาลเยียวยา และชดใช้ค่าเสียหาย

นายกิติรัช กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ บุตรสาวมีอาการป่วย และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเพชรเกษม 2 กรุงเทพฯ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้เลือดออก และนัดเจาะเลือด แต่ให้กลับมาพักที่บ้านก่อน หลังจากนั้น 3 วัน บุตรสาวเริ่มมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน จึงพาไปที่โรงพยาบาลศิริราช แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้เลือดออก แต่ผลเกล็ดเลือดเกิน 1 แสน 1 หมื่นเซลล์ ถือว่ายังปกติ และไม่เป็นอันตราย ซึ่งแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่ต้องเฝ้าระวังอาการแทรกซ้อน เช่น เลือดออกบริเวณทางเดินอาหาร เลือดกำเดา ปวดท้อง

“วันที่ 17 ธันวาคม ผมนำบุตรสาวมารักษาที่โรงพยาบาลระยอง เนื่องจากมีอาการเลือดกำเดาไหล และปวดท้อง โดยมี นพ.สุกิจ บรรจงกิจ แพทย์เจ้าของไข้เป็นผู้ให้น้ำเกลือ เจาะเลือด และให้นอนรอดูอาการ จนวันที่ 18 ธันวาคม บุตรสาวถ่ายเป็นสีดำ มีกลิ่นเหม็นคาวเลือด ปวดท้องตลอดเวลา ขณะที่เจ้าหน้าที่พยาบาลกลับแจ้งว่าต้องอดทน และไม่ดูอาการ กระทั่งบุตรสาวช็อกหมดสติ จึงรีบนำเข้าห้องไอซียู ซึ่งแม้แพทย์จะพยายามปั๊มหัวใจ แต่ไม่สามารถยื้อชีวิตไว้ได้ และเสียชีวิตในเวลา 02.44 น. วันที่ 19 ธันวาคมที่ผ่านมา”

นายกิติรัช กล่าวว่า ตนและญาติพี่น้องคาดหวังกับโรงพยาบาลระยอง เพราะเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ได้มาตรฐาน มีเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย แต่กลับไม่สามารถช่วยชีวิตบุตรสาวได้ จึงจำเป็นต้องร้องขอความเป็นธรรม

ด้าน พญ.สมบัติ กล่าวว่า หลังรับเรื่องแล้วจะนำเสนอ นพ.นฤทธิ์ อ้นพร้อม ผู้อำนวยการโรงพยาบาล พร้อมตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่อเจ้าหน้าที่พยาบาลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแพทย์เจ้าของไข้ ทีมงานสุขภาพ และเจ้าหน้าที่ห้องไอซียูว่าให้การดูแลตามมาตรฐานหรือไม่ โดยจะให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย ส่วนเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาค่าเสียหายจะเสนอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ บิดา-มารดา และญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตพอใจ พากันแยกย้ายกลับไป






ระยอง..สสจ.ร่วม ผอ. รพ. แจง รักษาไข้เลือดออกเต็มที่

ผอ. รพ. โต้รักษา ตามมาตรฐานแล้วแต่ ผู้ป่วยเสียชีวิต เพราะเป็นไข้เลือดออก ชนิดรุนแรง

จากกรณีที่ น.ส. อชิรญา อุดานนท์ อายุ 15 ปี นักเรียน ม. 4 โรงเรียนวัดนวลนรดิศ เขตภาษีเจริญ กทม. เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออก หลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลระยอง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา ญาติไม่พอใจในการรักษา เรียกร้องให้มีการตรวจสอบมาตรฐานการรักษา และเยียวยา ความสูญเสีย ที่เกิดขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าว ทำให้กระทรวงสาธารณสุข ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริง พร้อมทั้งเชิญแพทย์สภาราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ราชวิทยาลัยกุมารเวชกรรม ร่วมตรวจสอบมาตรฐานการรักษา เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้ง 2ฝ่าย พร้อมทั้ง ประสาน กทม. ควบคุมไข้เลือดออกที่เขตภาษีเจริญ ที่เป็นต้นตอเชื้อไข้เลือดออก

วันนี้(25 ธค)เวลา 16.30 น. นายแพทย์ กฤษณ์ ปาลสุทธิ์ สาธารณสุขจังหวัดระยอง นายแพทย์นฤทธิ์ อ้นพร้อม ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลระยอง พร้อมทีม แพทย์ที่ให้การดูแลผู้เสียชีวิต ประกอบด้วย อายุรแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา กุมารแพทย์ และพยาบาล ร่วมแถลงข้อเท็จจริง การรักษา น.ส. อชิรญา

นายแพทย์นฤทธิ์ อ้นพร้อม กล่าวว่า ทีมแพทย์ พยาบาล ได้ดูแล รักษา ผู้ป่วย ตามมาตฐาน และแพทย์ เจ้าของไข้ ก็เป็นแพทย์ ที่เก่ง และมีความรับผิดชอบสูงที่สุด คนหนึ่งเท่าที่ตนเคยพบมา ซึ่ง การเสียชีวิต ของ น.ส. อชิรญา แพทย์ และพยาบาล ทีมงาน ต่างก็ เสียใจ ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น แต่ต้องยอมรับว่า ไข้เลือดออก เป็น โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ที่มีความรุนแรง ในคนไข้แต่ละคน ไม่เท่ากัน ผู้เสียชีวิตรายนี้ เป็นผู้ป่วยไข้เลือดออกที่มีอาการรุนแรง ซึ่งกำลังรอผลอยู่ว่าเป็นเชื้อขนิดไหน แต่ก็ขอยืนยันว่า ทีมแพทย์ และพยาบาลที่ดูแล ผู้ป่วย ให้การรักษา อย่างเต็มที่ และเป็นกรณีพิเศษ เมื่อพบว่า มีเลือดออก ก็ ฉีดยาชนิดพิเศษ ซึ่งที่ รพ. ไม่มี ต้องไปซื้อมา เข็มละ 3.5หมื่นบาท ฉีดไป 2 เข็ม และให้สารน้ำ แก้ไขภาวะช๊อก ส่วนเรื่องเกล็ดเลือด ที่ญาติเข้าใจว่า พอโรงพยาบาลไม่มี ก็หาคนมาบริจาคให้ แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่เจาะเลือด ซึ่งเป็นปัญหา ในเรื่องของการสื่อสาร ที่อาจทำให้ญาติเข้าใจผิด ความจริง เราต้องการเกล็ดเลือดมาเติมให้ผู้ป่วย ไม่ใช่เลือด เนื่องจากเลือดเรามีเต็มคลังแล้ว เพราะช่วงที่ผ่านมา มีวันสำคัญหลายครั้ง มีผู้มาบริจาคเลือด จนล้นคลัง ทำให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่ได้เปิดรับบริจาคเลือดเพิ่มเติม เกล็ดเลือดที่มีอยู่จึงหมดอายุ (หลังเจาะเลือดเกล็ดเลือดมีอายุ5วัน ) เมื่อรู้ว่าเกล็ดเลือดไม่มี เราก็ติดต่อโรงพยาบาลใกล้ที่สุด เพื่อขอรับเกล็ดเลือดมาให้ผู้ป่วย แต่เนื่องจาก ผู้ป่วย เป็นไข้เลือดออกชนิดที่รุนแรง จึงเสียชีวิต

ด้านนายแพทย์ ธวัชชัย กมลธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ประจำพื้นที่ จังหวัดระยอง กล่าวว่า ผู้ป่วยรายนี้เป็นไข้เลือดออกชนิดที่มีอาการรุนแรงและพบได้น้อยมาก เบื้องต้นได้รับรายงานว่าทีมแพทย์ที่ให้การดูแลประกอบด้วยอายุรแพทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาและกุมารแพทย์ พยาบาลซึ่งให้การดูแลตามแนวทางการรักษาไข้เลือดออก แต่อย่างไรก็ตามตนจะตรวจสอบที่รพ.ระยองในบ่ายวันนี้ และกระทรวงสาธารณะสุขได้ประสานสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกที่เขตภาษีเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้เสียชีวิตอาศัยอยู่ และเกิดการติดเชื้อดังกล่าว ส่วนการพิจารณาเรื่องการเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตจะพิจารณาตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ตามขณะนี้ประเทศไทยพบผู้ป่วยไข้เลือดออกได้ตลอดปี และพบได้ทุกวัย ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในปี 2555 ตั้งแต่ 1 ม.ค.55 - 18 ธ.ค.55 ทั่วประเทศมีรายงานผุ้ป่วยไข้เลือดอออกสะสม 71299 ราย เสียชีวิต 78 ราย ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2554 อัตราป่วยตายร้อยละ 0.11 โดยพบอัตราป่วยสูงสุด ที่ภาคกลาง พบ 136.15 ต่อแสนประชากร รองลงมาคือภาคใต้พบ 124.22 ต่อแสนประชากร..000...

อัจฉรา วิเศษศรี จ.ระยอง

//77.nationchannel.com/home/318212/







โดย: หมอหมู วันที่: 28 ธันวาคม 2555 เวลา:13:52:49 น.  

 

จดหมายจากเพื่อนแพทย์ จากข่าวที่แพทย์จ.ระยองถูกญาติคนไข้ฟ้อง และน้ำพวงหรีดมาไว้หน้ารพ
//pantip.com/topic/13120106/page2


ปกติไม่เคย login เลย ครั้งนี้อุตสาหะมาก พิมพ์ในมือถือด้วย ช่วยอ่านด้วยนะครับ เพิ่มเติมจากท่านอื่นๆด้านบน และคำถามที่เจอบ่อยๆ

1. ไข้เดงกี (Dengue fever) คือโรคติดเชื้อเดงกีไวรัส ทำให้มีอาการไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก

2. ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever) ประกอบด้วยเกณฑ์วินิจฉัย 4 ข้อ ที่ต้องมีครบ ดังนี้

2.1 ไข้นาน 2 ถึง 7 วัน

2.2 มีหลักฐานของการมีเลือดออกง่าย เช่น รัดแขนมีจุดเลือดขึ้น มีจุดเลือดออกตามตัว อาเจียนหรือถ่ายเป็นเลือด ทั้งนี้ การรัดแขนแล้วมีจุดเลือดออกไม่ได้แปลว่าเป็น และการรัดแล้วไม่มีจุด ก็ไม่แปลว่าไม่เป็น

2.3 เกร็ดเลือดต่ำ คือ น้อยกว่า 100,000

2.4 มีการรั่วของสารน้ำออกนอกหลอดเลือด ดูจาก ค่าความเข้มข้นเลือดเพิ่มขึ้น หรือมีน้ำในช่องปอด ช่องท้อง
3. ไข้เลือดออกที่มีภาวะช็อก (Dengue shock syndrome) คือ ข้อ 2 ด้านบน (ต้องมีครบ) ร่วมกับอาการของระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว เช่น ความดันโลหิตต่ำ

4. อาการ จะแบ่งเป็น 3 ระยะ

4.1 ระยะไข้ กินเวลา 2-7 วัน

4.2 ระยะวิกฤต สารน้ำจะรั่วออกนอกหลอดเลือด ทำให้ขาดน้ำ นับตั้งแต่เมื่อไข้ลง จน 24-48 ชั่วโมงต่อมา เพราะฉะนั้นตอนทีไข้ ไม่ใช่ช่วงอันตราย

4.3 ระยะฟื้นฟู สารน้ำจะไหลกลับเข้าหลอดเลือด เพราะฉะนั้น ถ้าให้น้ำไว้มากเกิน น้ำจะท่วมปอดได้ตอนนี้

ระยะนี้จะมีผื่นขึ้นได้ นั่นแปลว่าหายแล้ว
5. แนวทางการรักษาเมื่อสงสัย คือ มีไข้ ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก
5.1 ไข้น้อยกว่า 72 ชั่วโมง ให้รักษาตามอาการ แนะนำติดตามอาการหลังมีไข้ 72 ชม.
5.2 ไข้ตั้งแต่ 72 ชม. พิจารณาเจาะเลือด ถ้าผลเลือดคิดถึงไข้เลือดออก พิจารณาตามอาการ ถ้า...
5.2.1 กรณี่มีภาวะขาดน้ำเล็กน้อย (ซึ่งเป็นคนไข้ส่วนใหญ่) รักษาตามอาการ และนัดติดตามอาการทุกวัน เพื่อประเมินภาวะขาดน้ำ จนไข้ลง 24-48 ชั่วโมง
นั่นคือ ส่วนใหญ่ หายได้เองจากการประคับประคองตามอาการ
5.2.2 รับไว้รักษาในโรงพยาบาล เมื่อมีข้อบ่งชี้ เช่น มีเลือดออกในอวัยวะสำคัญ มีภาวะช็อค มีน้ำในช่องปอดหรือท้อง
กรณีโรงพยาบาลเอกชน ส่วนหนึ่ง (ไม่ใช่ทั้งหมดนะครับ) คือ ไม่อยากมีปัญหากับญาติ

6. รักษาตามอาการ หมายถึง ให้ยาลดไข้ หลีกเลี่ยงยาแอสไพริน และยาที่อาจมีผลต่อตับ ผู้ปกครองสังเกตอาการของระยะวิกฤตซึ่งตรงกับวันที่ไข้ลง

7. รักษาแบบผู้ป่วยใน โดยการให้สารน้ำ ปรับไม่ให้มากหรือน้อยเกินไป

กรณีเกร็ดเลือดต่ำ พบว่าการให้เกร็ดเลือดอาจไม่ได้ประโยชน์นัก เพราะมักถูกทำลายไปอย่างรวดเร็วในร่างกาย แต่...โรงพยาบาลมักพยายามหามาให้ เพราะอย่างน้อยคิดว่าน่าจะดีกว่าไม่ให้เลย

8. สรุป ไม่ได้จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลทุกราย แต่จำเป็นต้องมาตรวจติดตามสม่ำเสมอ, ไม่มียารักษาจำเพาะ, การให้สารน้ำทางหลอดเลือดมากหรือน้อยเกินไปก็ไม่ดี, การให้เกล็ดเลือดยังไม่พบหลักฐานยืนยันประโยชน์ที่เหนือกว่าไม่ให้

โพสโดย ... มูสิกทันต์
29 ธันวาคม 2555 เวลา 01:40 น






โดย: หมอหมู วันที่: 20 มกราคม 2556 เวลา:15:21:29 น.  

 

เรื่องเล่า "โรคไข้เลือดออก" เพราะทุกคนควรรู้ความจริง!
//pantip.com/topic/13126811


หลังจากอ่านกระทู้แนะนำ เรื่องปัญหาโรคไข้เลือดออก
พบว่า มีคนจำนวนมากที่ยังไม่รู้จักโรคนี้ดีพอ และไม่ทราบแนวทางการรักษา
พบว่า ส่วนใหญ่เรื่องของหมอและคนไข้ เกิดจากความไม่เข้าใจกัน
กระทู้นี้ผมจะขอเล่า เรื่องโรคไข้เลือดออกสำหรับประชาชน เพราะว่าท่านควรรู้ความจริง
ผมจะขอให้ภาษาง่ายๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และไม่ได้ลงลึกระดับวิชาการ

อันดับแรกสิ่งที่ทุกคนควรทราบคือ โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี
พบมากในแถบบ้านเราที่มีอากาศร้อนชื้น พบมากในฤดูฝนที่มียุงชุกชุม มีแอ่งน้ำน้ำขังให้ยุงเพาะพันธุ์
โดยยุงตามบ้านเป็นพาหะของเชื้อ เมื่อถูกยุงกัดเชื้อก็จะเข้าสู่ร่างกายของเรา

อาการของโรคนี้ไม่มีความจำเพาะเจาะจงนะครับ (อาการคล้ายกลุ่มอาการติดเชื้อไวรัสทั่วไป)
ในช่วงแรก 1-3วันแรก อาการ คือ มีไข้สูง อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามร่างกาย
(จะเห็นว่า ไม่ได้แตกต่างจากโรคไข้หวัด หรือโรคติดเชื้อทั่วๆไปสักเท่าไร ช่วงแรกจึงวินิจฉัยแยกกันยาก)
ต่อมาบางคนก็จะหายไข้ไปเอง คือ โรคนี้มีไข้ได้ตั้งแต่ 2-7วัน
แต่บางคนก็ไม่หาย (ซึ่งบอกไม่ได้ว่าใครบ้าง) ก็จะเพลียมาก กินข้าวไม่ได้ คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลวได้

ลักษณะเด่นๆ คือ ไข้จะสูงมาก กินยาหรือเช็ดตัวก็จะลดลงแค่เล็กน้อย
อาจพบผื่นจุดเลือดออก (บางคนก็ไม่มี) และเมื่อไวรัสทำให้เกร็ดเลือดต่ำลง ก็จะพบอาการเลือดออกได้มากขึ้น
เช่นผื่นจุดเลือดออก เลือดกำเดาไหล ---- ถ้ารุนแรงมากๆ ก็อาจถ่ายดำ เลือดออกในทางเดินอาหารหรืออวัยวะสำคัญ

จะเห็นว่า โรคนี้อาการไม่จำเพาะเลย ช่วง 1-3วันแรกวินิจฉัยแยกจากโรคอื่นยาก
ความรุนแรงมีตั้งแต่ เป็นไข้เล็กน้อยแล้วหายเอง (ส่วนใหญ่เป็นแบบนี้; และบางทีไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเป็นไข้เลือดออก)
จนถึงไข้สูงลอยหลายวันอ่อนเพลียมาก จนรุนแรงถึงขั้นภาวะไหลเวียนเลือดล้มเหลว หรือเลือดออกรุนแรง
"ซึ่งบอกไม่ได้ว่าอาการที่รุนแรงนั้นจะเกิดกับใคร" คนที่เกร็ดเลือดต่ำลงบางคนก็หายเป็นปกติ บางคนก็อาการรุนแรง

เจาะเลือดจะทราบไหมว่าเป็นไข้เลือดออก?????????
คำตอบคือ 1-2วันแรก ผลเลือดอาจปกติ จนถึงบอกได้ว่าน่าจะ ติดเชื้อไวรัส (จึงไม่จำเป็นต้องเจาะทุกราย)
ตั้งแต่วันที่3 อาการจะชัดขึ้น ผลเลือดจะช่วยการวินิจฉัยมากกขึ้น และอาจต้องนัดมาเจาะเลือดเป็นระยะๆถ้าไข้ไม่ลง

พยากรณ์โรค: บอกไม่ได้ว่าใครจะเป็นไข้ธรรมดา หรืออาการรุนแรง หรือเสียชีวิต

โดยทั่วไปพิจารณาตามอาการ ถ้าอ่อนเพลียมากกินไม่ได้จนขาดน้ำมากๆเสี่ยงต่ออาการช็อค ก็ควรอยู่รพ.
หรือเกร็ดเลือดต่ำกว่าแสน หรือแนวโน้มที่จะต่ำมาก หรือมีเลือดออกรุนแรงก็ควรนอนรพ.
"จะเห็นว่า ไม่ได้จำเป็นต้องนอนรพ.ทุกราย และการนอนรพ.ไม่ได้รับประกันว่าสามารถช่วยชีวิตได้ทุกคน"!!!!!!!!!!!!!!
ในรายที่อาการไม่มาก พอกินได้ ใกล้รพ. เกร็ดเลือดไม่ต่ำมาก สามารถนัดมาดูอาการเป็นระยะๆได้
คนส่วนใหญ่อาการจะค่อยๆดีขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งหายเป็นปกติโดยไม่ต้องนอนรพ.



การรักษา: "ไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี" "เป็นโรคที่หายเอง โดยการรักษาแบบประคับประคอง"!!!!!!!!!!!!!!!
การรักษาแบบประคับประคองคือ รักษาเพื่อคงชีพจร ความดัน ไม่ให้ต่ำเกินไป และเฝ้าวังระยะช็อคกับภาวะแทรกซ้อน
จนกระทั่งระยะอันตรายผ่านพ้นไป อาการดีขึ้น ไม่มีไข้ กินข้าวได้ ชีพจรปกติ ผู้ป่วยสดชื่น

ทำไมถึงไม่ให้น้ำเกลือในผู้ป่วยทุกราย?????
เพราะผู้ป่วยโรคนี้ที่อาการมาก จะมีการสูญเสียน้ำออกจากเส้นเลือด โดยน้ำดังกล่าวจะคั่งอยู่ที่ปอด
ที่ท้อง หรืออวัยวะภายในต่างๆ ทำให้อาการแย่ลง (เช่น น้ำคั่งในเนื้อปอด)
การให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดโดยไม่จำเป็น (เช่น ในรายที่ความดันและชีพจรยังดี) จะยิ่งทำให้อาการแย่ลงไปอีก
"ดังนั้น จึงขอให้น้ำเกลือในรายที่จำเป็น เพื่อคงความดันและชีพจรให้ปกติ"


อย่างที่กล่าวแล้วว่าการนอนรพ. ไม่ได้เป็นการรับประกันว่าจะไม่รุนแรง หรือสามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยไข้เลือดออกได้ทุกราย
ดังนั้นต้องศึกษาวิจัยต่อไปว่าทำไมผู้ติดเชื้อไวรัสเดงกีบางคนหายเอง บางคนรุนแรงจนเสียชีวิต
ณ เทคโนโลยีปัจจุบัน ยังไม่สามารถทำนายได้ว่าใครบ้างที่อาจเสียชีวิตจากโรคนี้
(อยากให้ประเทศไทยส่งเสริมการพัฒนาคนด้านการวิจัยโรคตรงนี้ให้มากขึ้นเนาะ)

"ทั้งนี้ทั้งนั้น อยากให้ตระหนักว่า โรคนี้เป็นโรคที่ป้องกันได้โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง"
เมื่อไม่ถูกยุงกัดก็จะไม่เป็นโรค พอเข้าฤดูฝนอย่าปล่อยให้มีน้ำขัง ใช้ทรายอะเบตก็ได้
ติดต่ออนามัย หรือ อบตใกล้บ้านท่านเลยครับ เขาจะมาฉีดไล่ยุงให้
อย่ารอให้เป็นโรคเลยครับ ไม่ว่าโรคใดๆการป้องกันนั้นดีที่สุด!!!!!!



สรุป สำหรับหลายคนที่ไม่ชอบอ่านยาวๆ

(1) โรคไข้เลือด คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวัสเดงกี โดยมนุษย์ติดเชื้อไวรัสนี้จากการกัดของยุงบ้าน
(2) โรคนี้ช่วงแรกอาการไม่จำเพาะ ผลเลือดช่วงแรกมักปกติ ถ้าไข้สูงลอยนาน 2-7วัน ต้องติดตามอาการ และหรือตรวจเลือดเป็นระยะๆ
(3) ความรุนแรง มีตั้งแต่ไข้ธรรมดา ไข้อ่อนเพลียกินไม่ได้ มีไข้และเกร็ดเลือดต่ำ จนถึงรุนแรงมาก เช่น ชีพจรต่ำความดันตก เลือดออกรุนแรงเป็นต้น
(4) ใครบ้างที่ควรนอนรพ. : คนไข้ที่มีอาการมากและอยู่ไกลรพ. กินไม่ได้ขาดน้ำอ่อนเพลียมาก หรือมีแนวโน้มจะเลือดออกรุนแรงเช่นเกร็ดเลือดต่ำ
(5) การรักษา: ปัจจุบันไม่มียาฆ่าเชื้อไวรัสเดงกี; "ส่วนใหญ่หายเอง" จึงรักษาประคับประคับจนกว่าจะหาย (ปกติไม่เกิน 7วัน) ติดตามอาการ เฝ้าระวังระยะอันตรายและภาวะแทรกซ้อน รักษาแก้ไขภาวะแทรกซ้อนเป็นเคสๆไป
(6) ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกมีการเสียน้ำ โดยรั่วออกจากเส้นเลือดไปคั่งตามอวัยวะต่างๆ เช่น น้ำคั่งในปอด การให้น้ำเกลือโดยไม่จำเป็นจะทำให้อันตราย; ดังนั้น ขอให้น้ำเกลือเฉพาะเมื่อต้องการประคับประคองชีพจรและความดัน
(7) พยากรณ์โรค: ณ เทคโนโลยีปัจจุบัน ยังทำนายไม่ได้แน่ชัด ว่าผู้ป่วยคนใดจะมีอาการรุนแรงมากจนเสียชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยหลายคนแม้เกร็ดเลือดต่ำแต่ก็ไม่มีเลือดออกและอาการหายเป็นปกติได้; ดังนั้นเกร็ดเลือดต่ำก็ไม่ได้ฟันธงว่าจะต้องเสียชีวิต ต้องอาศัยการศึกษาวิจัยต่อไปว่าทำไม "บางคนเป็นน้อย บางคนเป็นมาก"
(8) การจัดการกับไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือ การป้องกัน!!!!!! โดยการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงครับ ; เชื่อว่าทั้งอนามัย อบต หน่วยงานรัฐต่างๆยินดีช่วยเหลือให้เรื่องนี้เต็มที่ครับ


ทั้งนี้อยากให้ทุกคนตระหนักว่า "ป้องกันโรค ดีกว่ามารักษาภายหลัง"
เนื่องจากไม่มีอะไร 100% หรอกครับ
ไม่มีใครกล้าการันตีได้ว่าทุกคนทุกโรคต้องหายและจะไม่มีใครเสียชีวิตเลย


โพสโดย ... HengKung
29 ธันวาคม 2555 เวลา 21:31 น.




โดย: หมอหมู วันที่: 20 มกราคม 2556 เวลา:15:38:00 น.  

 

//www.thaihealth.or.th/healthcontent/news/32424

สธ. ห่วงไข้เลือดออกระบาด พบยอดป่วย-ตายปี 55 พุ่ง
โดย tapana kamta | วันที่ 7 มกราคม 2556

ไทยมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 74,250 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 116 ต่อประชากร 1 แสนคน เสียชีวิตมี 79 ราย คิดเป็นอัตราการตาย 0.12 ต่อประชากร 1 แสนคน พบทุกจังหวัด



เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 56 นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึง สถานการณ์ของประเทศไทยที่ยังพบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลในปี 2555 ของกรมควบคุมโรค พบว่า ไทยมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 74,250 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 116 ต่อประชากร 1 แสนคน เสียชีวิตมี 79 ราย คิดเป็นอัตราการตาย 0.12 ต่อประชากร 1 แสนคน พบทุกจังหวัด

โดยภาคกลางพบผู้ป่วยมากที่สุดคือ 30,562 ราย เสียชีวิต 30 ราย และหากแยกเป็นจังหวัดพบผู้ป่วยมากที่สุดที่กรุงเทพคือ 9,569 ราย เสียชีวิต 10 ราย

ทั้งนี้หากเทียบกับปี 2554 ที่มีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกทั่วประเทศ 68,386 ราย เสียชีวิต 62 ราย จะพบว่าปี 2555 มีผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น คาดว่าในปี 2556 นี้สถานการณ์การระบาดอาจจะมากขึ้น จึงได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศดำเนินการควบคุมป้องกันโรคตั้งแต่ต้นปี เพื่อลดการป่วยและการเสียชีวิตของประชาชนโดยให้จับตาพื้นที่ประสบภัยแล้งเป็นพิเศษ เนื่องจากที่เก็บกักน้ำของประชาชนส่วนใหญ่ไม่มีฝาปิด

ด้าน นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันไข้เลือดออกมีแนวโน้มพบในผู้ใหญ่มากขึ้นในปี 2555 พบผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ป่วยประมาณร้อยละ 52.44 ของผู้ป่วยทั้งหมด และประชาชนมักเข้าใจผิดว่าอาการของไข้เลือดออกในผู้ใหญ่จะไม่รุนแรง จึงชะล่าใจไม่ไปพบแพทย์ ทำให้ได้รับการรักษาล่าช้าหรือไม่ทันการณ์ จนทำให้เกิดการเสียชีวิต ส่วนเด็กที่ป่วยหรือมีไข้สูงผู้ปกครองมักจะรีบพาไปพบแพทย์

ทั้งนี้อาการป่วยไข้เลือดออกในผู้ใหญ่ที่แพทย์พบส่วนใหญ่จะไม่แตกต่างจากเด็กมากนัก แต่ในผู้ใหญ่มักจะไม่มีจุดเลือดออกสีแดงใต้ผิวหนัง และที่น่าห่วงคือหากเกิดไข้เลือดออกในผู้ใหญ่ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หรือผู้สูงอายุ จะทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ได้ตั้งวอร์รูมเพื่อเฝ้าระวังประเมินและติดตามสถานการณ์ของโรคดังกล่าว โดยประสานการทำงานกับ กทม. รวมทั้งเผยแพร่ความรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออก และร่วมมือกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า สาเหตุของโรคไข้เลือดออก เกิดมาจากยุงลายบ้านกัด รองลงมาคือยุงลายสวน อาการผู้ป่วยไข้เลือดออกจะมีไข้สูงอย่างเฉียบพลันติดต่อกันตั้งแต่ 2-7 วันขึ้นไป หน้ามักจะแดง อ่อนเพลีย มีเลือดออกตามผิวหนังหรือเลือดกำเดาไหล จะไม่มีอาการไอหรือมีน้ำมูกหากไม่ได้เป็นโรคไข้หวัดไปพร้อมกัน ต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะเกร็ดเลือดและความเข้มข้นของเม็ดเลือดแดง เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะรักษาแบบประคับประคองตามอาการ



โดย: หมอหมู วันที่: 20 มกราคม 2556 เวลา:15:38:35 น.  

 


คิดถึงแล้วจะไม่พลาด ดูแลรักษาโรคไข้เลือดออก

ไข้เลือดออกส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง ส่วนน้อยที่อาการรุนแรงจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตจากสภาวะช็อก เลือดออกรุนแรงได้ เกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่กลุ่มอายุที่เกิดสูงสุดคือ 15 – 24 ปี (29%) รองลงมา 10 – 14 ปี (23%) และ 25 – 34 ปี(12 %)

ในปีนี้สถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกคาดว่าจะสูงที่สุดในรอบ 5 ปี ลักษณะเช่นนี้เป็นทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี(โรงพยาบาลเด็ก) ได้ให้คำแนะนำแก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องเพื่อป้องกันความรุนแรงของโรคที่จะเกิดขึ้น และลดการระบาดของโรค ดังนี้

1. ไข้สูงลอย หน้าแดง กินยาลดไข้ ไข้ไม่ลดลงเป็นปกติ สักพักไข้ขึ้นสูงอีก ให้นึกถึงไข้เลือดออก มีไข้เกิน 2 วันต้องรีบไปพบแพทย์

2. ไข้เลือดออกระยะไข้สูงเกิน 2 วัน แพทย์จะต้องเจาะเลือดดูปริมาณเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ความเข้มข้นของเลือด และนัดตรวจติดตามพร้อมเจาะเลือดซ้ำเพื่อเฝ้าระวังระยะวิกฤติของโรค ที่จำเป็นต้องรับไว้รักษาในโรงพยาบาลและการดูแลอย่างใกล้ชิด

3. ไข้เลือดออก มีไข้สูงลอย ปวดศีรษะ บางรายปวดกระบอกตา ปวดเมื่อยตามตัว ปวดกระดูก อาจมีอาการเลือดออก ต้องกระตุ้นให้กินอาหารอ่อน ย่อยง่าย ถ้ากินไม่ได้เพราะเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ให้ดื่มนม น้ำผลไม้ หรือน้ำเกลือแร่ เพื่อลดอาการขาดน้ำ (ห้ามดื่มน้ำเปล่าเพราะจะทำให้สมดุลเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ) เช็ดตัวเพื่อช่วยลดไข้ ทำบ่อยๆ จะได้สบายตัว

4. ผู้ป่วยที่มีไข้สูง ถ้าไม่มีประวัติ หรือตรวจไม่พบอาการเลือดออก แพทย์ต้องรัดแขน เพื่อหาจุดเลือดออกเพื่อเป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยโรคไข้เลือดออก

5. ถ้าไข้สูง 2 – 4 วัน แล้วไข้ต่ำลงหรือไม่มีไข้ แต่อาการไม่ดีขึ้น ยังอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง อาเจียน ตัวเย็น กระสับกระส่าย เป็นอาการของไข้เลือดออกระยะช็อก ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล

6. ไข้เลือดออก ผู้ป่วยอาจมีอาการเลือดออก เช่นเลือดกำเดาไหล เลือดออกตามไรฟัน อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายเป็นเลือด หรือถ่ายดำ บางรายมีประจำเดือนมามาก หรือมีปัสสาวะเป็นเลือด เป็นสีดำ หรือสีน้ำตาลเข้ม ต้องรีบไปโรงพยาบาลเพื่อแพทย์จะได้พิจารณาให้เลือดทดแทน

7. ผู้ป่วยไข้เลือดออก อาจเกิดภาวะช็อกซึ่งจะเกิดขึ้นในระยะไข้ลง หรือไข้ต่ำลง เพราะมีน้ำเหลืองรั่วออกนอกเส้นเลือด ทำให้เลือดข้น การไหลเวียนเลือดของร่างกายผิดปกติ

8. ผู้ป่วยไข้เลือดออกที่ช็อกส่วนใหญ่จะมีอาการซึม แต่ยังมีสติดี (อย่าเข้าใจผิดว่าผู้ป่วยช็อกจะหมดสติ หรือมีอาการชัก) พูดได้ เดินได้แต่ดูอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร บางรายอาจมีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ต้องรีบพามาโรงพยาบาล

9. ไข้เลือดออก ไข้สูง ต้องเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา น้ำอุ่นหรืออาบน้ำอุ่น กินยาพาราเซตามอลได้ แต่ต้องให้ในประมาณที่เหมาะสมเมื่อมีไข้สูงจริงๆ และไม่ให้ถี่กว่า 4 – 6 ชั่วโมง ห้ามให้ยาลดไข้สูง(เช่นยากลุ่มแอสไพริน ยาแก้ปวดข้อชนิดต่างๆ)ทั้งยากินและยาฉีด เพราะไม่ปลอดภัยอาจทำให้เลือดออกในกระเพาะอาหารและมีผลต่อตับได้

10. ไข้เลือดออก ระยะอันตรายคือระยะไม่มีไข้หรือไข้ต่ำๆ ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถดื่มน้ำหรือกินอาหารได้เพียงพอ จำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำทดแทน แต่ในรายที่ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน และกินได้เพียงพอไม่จำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ไข้เลือดออกยังไม่มียารักษา มีแต่การรักษาตามอาการเท่านั้น

11. ถ้าในบ้านหรือเพื่อนบ้านหรือคนในชุมชนมีคนเป็นไข้เลือดออก เมื่อมีผู้ป่วยที่มีไข้สูง ต้องนึกถึงไข้เลือดออกเสมอ

12. บ้านน่าอยู่ ไม่มียุงลาย ไม่มีไข้เลือดออก กำจัดยุงลายโดย 5 ป 1 ข ดังนี้ ปิดฝาภาชนะที่มีน้ำขังเปลี่ยนน้ำแจกันทุกสัปดาห์ ปล่อยปลาหางนกยูงในอ่างบัว ปรับสิ่งแวดล้อมโดยเก็บภาชนะทิ้งไม่ให้มีแหล่งน้ำขัง ปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ขัดโองน้ำ ภาชนะใส่น้ำเพื่อกำจัดไข่ยุงลาย

13. ยุงลายแพร่พันธุ์แบบทวีคูณ ครั้งละ 100 – 200 ฟอง ช่วงเป็นลูกน้ำทำลายง่าย เทน้ำทิ้งลดยุงลายไปเท่าตัว

14. ไข้เลือดออกเกิดจากยุงลายเป็นพาหะเท่านั้น ยุงลายชอบอยู่ในบ้านและรอบบ้าน ชอบกัดดูดเลือดคนเวลากลางวัน แต่ยุงลายปรับตัวกัดกลางคืนได้ถ้ากลางวันยังไม่ได้ดูดเลือด

15. ยุงลายบินได้ไกล 50 เมตร แต่คนมีไข้สูงสามารถนำพาตัวเองทีมีไวรัสในกระแสเลือดไปไกลมากกว่ายุง จึงทำให้โรคไข้เลือดออกแพร่พันธุ์จากคนที่ไปตามที่ต่างๆที่มียุงลาย เมื่อคนนั้นโดนยุงลายกัด ยุงนั้นก็จะแพร่เชื้อต่อไปทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก

16. ยุงลายชอบไข่ในน้ำใสนิ่ง คือน้ำที่คนเก็บไว้ใช้ เช่นในห้องน้ำ ในแจกันดอกไม้ ในภาชนะรองตู้กับข้าว ในถาดรองกระถางต้นไม้ ในอ่างบัว ในภาชนะใส่น้ำให้สัตว์เลี้ยง หรือในรางระบายน้ำบนหลังคา

17. ยุงลายไม่ไข่ในท่อระบายน้ำ น้ำสกปรก น้ำคลำ คู คลอง หนองบึง แม่น้ำ แหล่งเก็บน้ำขนาดใหญ่

18. แหล่งแพร่เชื้อในชุมชนอาจเป็นแหล่งน้ำขัง กองขยะที่มีภาชนะที่มีน้ำขัง กองยางเก่า ร้านขายลูกน้ำ ร้านขายดอกไม้ ร้านขายโอ่ง อ่าง กระถางต้นไม้ ร้านขายยางรถยนต์

19. วัด โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์เด็กเล็ก ตลาดสด สถานีขนส่ง สวนสาธารณะ พื้นที่รกร้างว่างเปล่า อาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่สำคัญในชุมชน ต้องช่วยกันสำรวจและกำจัดยุงลายรวมถึงแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

20. สัญญาณอันตรายของไข้เลือดออก คือไข้ลงแล้วมีอาการเพลีย อาการทั่วไปไม่ดีขึ้น ยังเบื่ออาหารบางรายมีอาการปวดท้องมาก อาเจียน มีเลือดออก กระสับกระส่าย ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล

ขอขอบคุณข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และปรึกษาทางโทรศัพท์สายด่วนไข้เลือดออกได้ที่ 089 2042255 (พยาบาล) หรือ 089 2045522(แพทย์)


ด้วยความปรารถนาดีจาก นายแพทย์สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา



โดย: หมอหมู วันที่: 11 กรกฎาคม 2556 เวลา:14:41:03 น.  

 


ฤดูไข้เลือดออกมาแล้ว
***************

ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี่ นำโดยยุงลาย จะพบมากในฤดูฝน โดยทั่วไปจะมีการระบาดใหญ่ ปีเว้นปี หรือปีเว้นสองปี ในปีนี้คาดว่าจะมีการระบาดใหญ่เพราะตั้งแต่ต้นปีมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 2-3 เท่าตัว ดังนั้น ในฤดูฝนนี้จะมีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก และจะพบมีการเสียชีวิตเกิดขึ้นด้วย

โดยทั่วไปพบได้บ่อยในวัยเด็ก แต่ในระยะหลังนี้กับพบในผู้ใหญ่มากขึ้น โรคไข้เลือดออกมีระยะฟักตัว 3-5 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้สูงลอย กินยาลดไข้ ไข้จะลงชั่วคราวและขึ้นสูงใหม่อยู่ตลอด อาการไข้จะคงอยู่ประมาณ 4 วัน ผู้ป่วยจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยมีอาการหวัด ไอ อาการจะรุนแรงจากการขาดน้ำและมีเลือดออกในระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น อาเจียนเป็นเลือด มีจุดเลือดออกตามผิวหนัง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 ถึงวันที่ 5 ในรายที่รุนแรงจะมีอาการช็อกจากการขาดน้ำในร่างกาย

ดังนั้น ในฤดูฝนปีนี้ ผู้ป่วยเด็กหรือผู้ใหญ่ที่มีอาการไข้สูง คลื่นไส้อาเจียน ควรพบแพทย์และโดยทั่วไปจะให้กินน้ำสารเกลือแร่เพิ่มขึ้น ในรายที่กินไม่ได้ จำเป็นต้องให้น้ำเกลือเพื่อชดเชยและป้องกันการขาดน้ำที่จะเข้าสู่ภาวะช็อกและเป็นอันตรายได้ ผู้ป่วยที่สงสัยเป็นไข้เลือดออกทุกรายไม่ควรกินยาลดไข้ต้านอักเสบที่ลงท้ายด้วยเฟน (Fen หรือยาลดไข้สูงรวมทั้งแอสไพริน) เพราะจะทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้นให้กินยาในกลุ่มพาราเซตามอลได้เท่านั้น

ปัจจุบันไม่มียารักษาจำเพาะและไม่มีวัคซีนในการป้องกันโรค การศึกษาวิจัยการระบาดของโรค การพัฒนาวิธีการตรวจวินิจฉัย และวัคซีนในการป้องกันโรค ควรได้รับการสนับสนุนเพราะโรคดังกล่าวเป็นปัญหาในประเทศไทยมายาวนานกว่า 50 ปี แต่งบประมาณในการวิจัยดังกล่าวมีจำนวนน้อยมาก ทุนวิจัยมหาวิทยาลัยแห่งชาติ น่าจะเป็นวิธีหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพงานวิจัยดังกล่าว การป้องกันที่ดีที่สุดจึงเป็นการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด ยุงลายจะเป็นยุงที่แพร่พันธุ์ได้ดีในน้ำสะอาด โดยแหล่งที่มีการระบาดโรคหรือมีผู้ป่วย ควรแจ้งให้หน่วยงานสาธารณสุขพ่นยา เพื่อทำลายยุงที่เป็นพาหะ

นอกจากนี้ จะต้องช่วยกันลดแหล่งแพร่พันธุ์โดยการกำจัดให้มีภาชนะที่มีน้ำขัง

ศ.นพ.ยง ภู่วรรณ
ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
รพ.จุฬาลงกรณ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Cr.หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน 2556 ปีที่ 36 ฉบับที่ 12878 หน้า 10 คอลัมน์ พบแพทย์จุฬา



โดย: หมอหมู วันที่: 18 กรกฎาคม 2556 เวลา:15:04:36 น.  

 
ไข้เลือดออกปีนี้น่ากลัวมาก ป่วยมาก เสียชีวิตมาก : แถลงข่าวจากองค์กรหลักทางวิชาการของแพทยสภา คือ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ประชาชนเข้าใจ เตรียมป้องกัน และรีบมารักษาทันท่วงที เพื่อลดความเสียหายถึงตาย และพิการจากโรคนี้ครับ :โปรดแชร์ด้วยนะครับ


ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ เตือนภัย การระบาดของโรคไข้เลือดออกเดงกีในผู้ใหญ่

ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ เตือนประชาชนระวังภัยไข้เลือดออกเดงกีระบาดในผู้ใหญ่ โดยในปีนี้พบผู้ป่วยเพิ่มจำนวนสูงมากขึ้นหลายเท่า พร้อมเผยแนวทางทางการวินิจฉัยและการรักษาไข้เดงกีและไข้เลือดออกเดงกีในผู้ใหญ่ ย้ำปีพ.ศ. 2556 ให้แพทย์ทั่วประเทศเฝ้าระวังสังเกตอาการผู้ป่วยให้ถี่ถ้วน

ศ.นพ.เกรียง ตั้งสง่า ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ทำหน้าที่ให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคต่างๆ และมีวิธีการป้องกันโรคอย่างเหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การลดภาระความเจ็บป่วยจากโรค รวมถึงลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพให้กับประชาชน และในขณะนี้ได้เกิดการระบาดของโรคไข้แดงกีและไข้เลือดออกแดงกีในผู้ใหญ่ ทำให้ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ฯ ต้องออกมาประกาศเตือนประชาชนและแจ้งข่าวสารไปยังแพทย์ทั่วประเทศให้เตรียมรับสถานการณ์และหมั่นเฝ้าสังเกตอาการของผู้ป่วยที่เข้ามารักษาที่คลินิกหรือโรงพยาบาลให้มากที่สุด

ซึ่งโดยปกติแล้วประเทศไทยเป็นพื้นที่ที่มีอุบัติการณ์การเกิดโรคบ่อยโดยเฉพาะในชุมชนเมือง แต่ในปี 2556 นี้ ไข้เดงกีและไข้เลือดออกแดงกี มีแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอาจเกิดมาจากการขยายตัวของประชากร การเกิดชุมชนเมืองใหญ่ รวมทั้งการเดินทางอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ทำให้การกระจายของยุงลายที่นำเชื้อไวรัสเดงกีหลายซีโรทัยพ์หรือบุคคลที่นำเชื้อนี้ไปด้วยในระยะที่มีอาการป่วย

ในประเทศไทยโรคไข้เลือดออกพบได้ตลอดทั้งปีแต่พบได้บ่อยในช่วงฤดูฝน และการระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทยมักมีการระบาดปีเว้นสองปีแต่พบว่าในระยะหลังกลับพบว่ามีการระบาดไม่มีแบบแผนแน่นอนซึ่งเป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

ศ.พญ.อุษา ทิสยากร นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย ที่ปรึกษาคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดลและที่ปรึกษากรมควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานครกล่าวถึงสถิติและสถานการณ์ปัจจุบันในการระบาดของโรคไข้เลือดออกเดงกีในประเทศไทยว่า

ในปีพ.ศ. 2556 นี้ พบจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเดงกี เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากเมื่อเปรียบเทียบกับการระบาดของโรคไข้เลือดออกเดงกีในปีที่ผ่านๆมา

โดยมีจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกเดงกีในบางเดือนเพิ่มขึ้น 2 – 3 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อนๆ

โดยกลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 10-14 ปี (29.98%) รองลงมา เป็นผู้ป่วยอายุ 15-24 ปี (25.39%) และผู้ป่วยอายุ 7-9 ปี (12.51%)

ภาคที่มีอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกเดงกีสูงสุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือรองลงมาเป็น ภาคใต้ ภาคเหนือและภาคกลาง ตามลำดับ

โดยพาหะนำโรคไข้เลือดออกเดงกีคือยุงลาย ดังนั้นการป้องกันโรคจึงต้องอาศัย การควบคุมการแพร่พันธุ์ยุงลายและป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เนื่องจากในขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเด็งกี ที่นำออกมาใช้กับประชากรทั่วไป

ศ.นพ.ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร เลขานุการและอนุกรรมการร่างแนวทางการวินิจฉัยไข้เดงกีและไข้เลือดออกเดงกีในผู้ใหญ่ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัส dengue ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ คือ DEN-1, DEN-2, DEN-3, DEN-4 ที่นำโดยยุงลายในปัจจุบันโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออกพบเพิ่มขึ้นทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาสมุทรแปซิฟิกและในตอนกลางและตอนใต้ของทวีปอเมริกา

ทั้งนี้เด็กเป็นกลุ่มที่มีการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้บ่อยที่สุดและมีอัตราการตายสูงโดยเฉพาะในช่วงอายุ 5-9 ปี

ในปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกไม่จำเป็นต้องเป็นเด็กเสมอไป ผู้ใหญ่และวัยรุ่น ก็เป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งการติดเชื้อในผู้ใหญ่แม้ว่าจะมีเปอร์เซ็นต์น้อยกว่าเด็ก (ประมาณร้อยละ 20-40) แต่ก็จะมีจำนวนผู้ป่วยใหญ่มีจำนวนสูงขึ้นมากในช่วงที่มีการระบาดของโรค

สำหรับผู้ใหญ่ที่มีโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออกโดยทั่วไป มีอาการ/อาการแสดงและการดำเนินโรคคล้ายกับที่พบในเด็ก แต่ผู้ป่วยบางรายมีอาการมากและมักต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลเช่น มีเลือดออกผิดปกติ บางรายอาจมีภาวะช็อกร่วมด้วย

ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการเพียงเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามตัว และอาการป่วยหายเองได้โดยไม่ได้รับการวินิจฉัยหรือไม่มีอาการของการติดเชื้อ ผู้ใหญ่มักพบว่าเป็นไข้เดงกีมากกว่าไข้เลือดออก แต่ในรายที่เป็นไข้เลือดออกมักพบได้บ่อยในวัยรุ่น ผู้ใหญ่อายุน้อย อาการแสดงคล้ายที่พบในผู้ป่วยเด็ก และผู้ป่วยไข้เลือดออกอาจมีอาการหนักเนื่องจากได้รับการรักษาที่ล่าช้าและผู้ใหญ่ส่วนมากจะไปพบแพทย์ช้าไปจนเมื่อมีอาการมากแล้ว จึงทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ผู้ใหญ่ยังมีโรคประจำตัวมากกว่าในเด็ก เช่น โรคแผลกระเพาะอาหารที่ทำให้อาการเลือดออกมีความรุนแรงเพิ่มขึ้น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ ที่ทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น

ดังนั้นการจัดทำแนวทางการดูแลรักษาผู้ใหญ่ที่มีโรคไข้เดงกีและไข้เลือดออกจึงมีความสำคัญเพราะจะช่วยให้แพทย์ที่ดูแลรักษาผู้ป่วยให้การวินิจฉัย การรักษาได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสม

ศ.นพ.สมิง เก่าเจริญ ประธานคณะอนุกรรมการร่างแนวทางเวชปฏิบัติและการจัดการความรู้ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกีและการเฝ้าระวัง จะต้องมีการสังเกตจากผู้ป่วยที่มีอาการไข้เฉียบพลันร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น มีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตาปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดกระดูก และมีผื่น นอกจากนี้ผู้ป่วยจะมีไข้เฉียบพลันและไข้สูงลอย 2-7 วัน มีภาวะเลือดออกอย่างน้อยมี tourniquet test ให้ผลบวกร่วมกับอาการเลือดออกอื่น ๆ และมีจำนวนเกร็ดเลือดน้อยกว่า/เท่ากับ 100,000 ตัว/ลบ.มม.และเกิดภาวะเลือดข้นขึ้น ตับโตมักกดเจ็บ มีการเปลี่ยนแปลงในระบบไหลเวียนโลหิต หรือมีภาวะช็อก ซึ่งการป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี

ในขณะนี้ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสาธารณสุขจังหวัดเร่งฉีดพ่นยาในบริเวณพื้นที่ๆ เกิดการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะในพื้นที่ ที่มีผู้ป่วยในระยะ 500 –1,000 เมตร รอบๆ บ้านและหมั่นปิดฝาโอ่ง เทน้ำในภาชนะที่ไม่ใช้แล้วทิ้งเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่พันธุ์ของยุงลาย โดยเป็นการป้องกันในเบื้องต้นในขณะนี้

ทั้งนี้ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี จึงขอให้ประชาชนทั่วไปเฝ้าระวังด้วย หากมีอาการป่วยในเบื้องต้น ให้รีบพบแพทย์ทันที




โดย: หมอหมู วันที่: 19 สิงหาคม 2556 เวลา:14:15:54 น.  

 
https://www.facebook.com/photo.php?fbid=572931909434286&set=a.570485129678964.1073742138.100001524474522&type=1&permPage=1

"จากไข้เลือดออก ..ถึงชีวิตเด็กน้อย..ใครควรร่วมรับผิดชอบ ยุง หมอ ครู อบต. หรือ ผู้ปกครอง"

คนไข้ ไอซียู เตียง 9 ชื่อ เด็กหญิงมัจจาพร อายุ 13 ปี

ป้ายหน้าเตียงเขียนว่า Dengue hemorrhagic fever ( โรคไข้เลือดออก)

เด็กหญิงนอนนิ่งบนเตียง ซึม ไม่พูดไม่จา หน้าแดงก่ำ ตามีจุดเลือดออก แขน ขา มีจุดเลือดออกเห็นเป็นจุดเล็กๆ สีแดง กระจายอยู่ทั่ว สายเสียบจากจมูก เข้าไปที่กระเพาะอาหาร เห็นเลือดสีแดงสดๆ ภายในสาย

พยาบาลกำลังใช้น้ำเย็น ฉีดเข้าไปในกระเพาะอาหาร ผ่านท่อที่เสียบจมูก และดูดเอาน้ำที่กระเพาะอาหารออกมา การทำเช่นนี้เรียก Gastric lavage หมายถึงการล้างกระเพาะอาหาร เพื่อห้ามเลือด

หมอสมัย เจาะเลือดที่ข้อพับแขนของเธอ ส่งตรวจดูการแข็งตัวของเลือด ความเข้มข้นของเลือด และเกร็ดเลือด หมอถอนหายใจ เมื่อคลำชีพจรเด็กหญิง พบว่าเบาเร็ว ความดันโลหิตต่ำ เด็กหญิงมัจจาพรกำลังอยู่ใน “ระยะช๊อก”ของโรคไข้เลือดออก

"ให้เลือด และเกร็ดเลือดเลยนะครับ" หมอสั่ง

หน้าห้องไอซียู...

นางลัดดาผู้เป็นแม่ของเด็กหญิงมัจจาพร เดินไปมาอย่างกระสับกระส่าย นางบ่นกับญาติว่า

"ทำไม ไปหาหมอไม่รู้กี่ครั้ง หมอไม่รู้ว่าเป็นไข้เลือดออก มารู้ ก็จวนแย่แล้ว"

เป็นเช่นนั้นจริง โรคไข้เลือดออกนั้น บางทีตรวจไม่รู้ หมอให้การวินิจฉัย เมื่อคนไข้จะแย่แล้ว

"ถ้าลูกชั้นเป็นอะไร ฉันจะฟ้องหมอ ฟ้องโรงพยาบาล...." นางเอ่ยถึงชื่อคลีนิก และโรงพยาบาล ที่ไม่สามารถบอกได้ว่าเด็กหญิงมัจจาพรเป็นโรคไข้เลือดออก

เห็นลูกนอนซึมไม่พูดไม่จา มีเลือดออกจากกระเพาะอาหารตลอด หัวใจนางเต้นรัว ด้วยความกลัวผสมความโกรธ...ดวงตาเอ่อน้ำ

ภาพลูกพร่าเลือน...เมื่อห้าวันก่อน

ครูประจำชั้นพาเด็กหญิงมัจจาพรกลับบ้านตอนกลางวันบอกว่า

"หลังเข้าแถว มัจจาพรตัวร้อนมากค่ะคุณแม่ ครูเช็ดตัวให้ก็ยังไม่ดีขื้น ให้กินยาพาราเซ็ทตามอลลดไข้แล้ว ก็ยังตัวร้อน เลยเอามาส่งบ้านนะคะ เผื่อคุณแม่จะพาไปหาหมอ"

นางลัดดารีบพาลูกไปหาหมอกิตติที่คลีนิก ตอนเที่ยงครึ่ง หมอถามเด็กหญิงมัจจาพรว่า

"เป็นไงลูก หนูไอ มีน้ำมูก เจ็บคอมั้ย"

เด็กหญิงบอกว่า "ไม่ค่ะ"

"ปวดเมื่อยเนื้อตัวไหม"

"ไม่ค่ะ ปวดหัวอย่างเดียว"

หมอวัดไข้ บอกว่า "ไข้สูงนะคุณแม่ สี่สิบองศาเซลเซียส" หมอใช้หูฟังตรวจปอด ตรวจหัวใจ

"เอ้า! อ้าปากหน่อยลูก" หมอเอาไม้กดลิ้น กดลิ้น ดูคอ แล้วบอกว่า

"คอแดงนิดหน่อยนะครับคุณแม่ น่าจะเป็นไข้หวัดใหญ่"

นางลัดดาฟังก็สบายใจ หมอถามต่อว่า

"ไข้สูงมาก คุณแม่จะให้ลูกฉีดยามั้ย "

"ฉีดก็ดี หมอ ใกล้สอบแล้วด้วย"

"อย่าลืมเวลาลูกตัวร้อน ให้เช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา จะช่วยลดไข้ได้นะครับ อย่าให้ลูกกินน้ำแข็งน้ำเย็นนะครับคุณแม่ ให้กินแต่ข้าวต้ม ถ้าสองสามวันยังตัวร้อนอยู่ อาจต้องพามาหาหมอใหม่" หมอกิตติบอก

นางลัดดาพยักหน้า ในใจคิดว่า "หมอคงอยากให้ป่วย จะได้พาลูกมาหาหมออีก"
หมอฉีดยาเสร็จ จ่ายยาให้มากินที่บ้าน นางลัดดาพาลูกกลับบ้าน

ถึงบ้านเด็กหญิงมัจจาพรไข้ลง กินข้าวต้มได้มาก ทำให้นางลัดดาสบายใจ พอตกดึก เด็กหญิงไข้สูง ปวดหัวมาก อาเจียนหลายครั้ง นางรีบเอายาที่หมอให้ ให้ลูกกิน ลูกจึงหลับได้

เช้ามา ตัวลูกยังร้อนจัด กินอะไรไม่ลงเลย นางลัดดายังคงใจเย็น ให้ลูกกินยา แต่ตกบ่าย เด็กหญิงอาเจียนหลายครั้ง ตกเย็น นางจึงพาไปหาหมอกิตติอีก

หมอตรวจแบบเดิม เขาบอกว่า "เป็นโรคไวรัสลงกระเพาะนะครับคุณแม่ จึงอาเจียนมาก ถ้าเพลีย อาจต้องให้น้ำเกลือ "

"เพลียไหมลูก" เธอถามเด็กหญิง เด็กหญิงสั่นหัว เธอคงกลัวเข็มให้น้ำเกลือ

"เดี๋ยวหมอจะฉีดยาแก้อาเจียนให้นะครับ ถ้ายังไม่อยากให้น้ำเกลือ ผมจะจัดน้ำเกลือแห้งไป ให้หสมน้ำให้ลูกดื่มแทนน้ำนะครับ"

"ตัวยังร้อนตลอดเลยนะหมอ" นางบ่นให้หมอฟัง

"ครับ ต้องกินยาแก้ไข้ทุกสี่ชั่วโมง" หมอกิตติบอก

ฉีดยาแก้อาเจียนแล้ว กลับมาบ้าน ลูกหยุดอาเจียน ให้กินยาแก้ไข้ทุกสี่ชั่วโมง ตัวร้อนบ้างเย็นบ้างสลับกัน ตกดึกเด็กหญิงมัจจาพรตัวร้อนมาก อาเจียน

นางพาลูกมาโรงพยาบาลอำเภอใกล้บ้าน ตอนตีสอง

หมอหน้าตาเด็กๆ มาตรวจถามว่า "เป็นไข้มากี่วัน"

"สามวันนี้แล้ว" นางลัดดาบอก

"อาการเป็นไข้หวัดนะแม่" หมอคนนั้น “หาว”หลังจากเอาหูฟังที่หน้าอก เด็กหญิงมัจจาพรพอเป็นพิธี

"ฉีดยาแก้ไข้หน่อยนะ" เขาบอกนางลัดดา

ลูกดูซึมลง ไม่อยากพูดอะไร หรือเพราะว่ามันดึกมาก นางคิด

"ต้องนอนโรงพยาบาลไหมหมอ" นางถาม

"โอ๊ย! ไม่ต้องหรอก กลับไปเดี๋ยวก็ไข้ลง" หมอว่า อย่างเห็นเป็นเรื่องเล็ก

ฉีดยาเสร็จ พยาบาลหน้าตาอาวุโส สั่งว่า "คุณแม่ ถ้าไม่ดีขื้น พรุ่งนี้เช้ามาลูกมาตรวจใหม่นะ"
พาลูกกลับบ้าน ลูกนอนไม่ได้ ดิ้นไปมาเอามือกดท้อง บอกว่าปวดท้อง ได้แต่บอกลูกว่า

"อดทนหนู อดทน รอตอนเช้านะ"

รุ่งเช้า นางลัดดาพาลูกไปโรงพยาบาลใกล้บ้านที่เดิม เด็กหญิงอาเจียนเป็นเลือดจางๆ มีเลือดกำเดาออกจมูก นางลัดดารีบ เอาน้ำแข็งประคบตรงดั้งจมูกให้ลูก
เด็กหญิงบ่นปวดท้องมาก เมื่อไปถึงโรงพยาบาล คราวนี้หมอผู้อำนวยการโรงพยาบาลตรวจเอง เขาถามว่า

"เป็นไข้มากี่วัน"

"3-4วัน ตัวร้อนตลอด อาเจียน กินอะไรไม่ได้เลยหมอ"

"รีบให้น้ำเกลือ" หมอสั่งเสียงร้อนรน หมอเอามือกดที่ชายโครงขวา และเด็กหญิงมัจจาพรสะดุ้งเกร็งสุดตัว

"โอ๊ย! เจ็บ"

หมอจับแขนขาพินิจพิจารณา บอกนางลัดดาว่า

"มีจุดเลือดออกตามแขนขา ตับก็โต หมอสงสัยเป็นไข้เลือดออก ต้องเจาะเลือดตรวจด่วน"

"ไข้เลือดออก" นางลัดดาร้อง รู้สึกโกรธ รู้ว่าไข้เลือดออกเป็นโรคร้ายแรงมาก

"เมื่อคืนก็พามา บอกเป็นไข้หวัด แขนก็ไม่รัดดู" นางพูดเสียงดัง รู้สึกโกรธหมอหน้าอ่อนๆ เมื่อคืนจนเลือดขึ้นหน้า นางรู้เหมือนคนอื่นๆที่ว่า ... ไข้เลือดออกวินิจฉัยโดยการรัดแขนดูจุดเลือดออก

"ไข้เลือดออกมันวินิจฉัยยากนะครับคุณแม่ กว่าจะวินิจฉัยได้อาการชัด ก็มักจะเป็นมากแล้ว" หมอผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอ ตอบเสียงสุภาพ

"แล้วทำไมไม่รับลูกชั้นไว้รักษาตั้งแต่เมื่อคืน" นางยังโกรธจัด หมอผู้อำนวยการไม่ตอบ ...

เขารู้ หมอใหม่ๆบางทีขาดประสบการณ์ และความระแวดระวัง แต่จะไปพูดได้อย่างไร เพราะตอนเขาเป็นหมอใหม่ ก็เป็นเช่นนี้ กว่าจะเป็นหมออาวุโสที่มีความชำนาญ ก็ผ่านบทเรียนต่างๆ จากคนไข้มามากต่อมาก

รีบรับเด็กหญิงไว้ในโรงพยาบาล ให้น้ำเกลือ เจาะเลือดสองกระบอก พอตกตอนบ่าย เด็กหญิงอาเจียนตลอด มีเลือดกำเดาออกมาก หมอผู้อำนวยการมาดูอาการ

"ผลเลือดบอกว่า เป็นไข้เลือดออกอย่างแรง ต้องรีบไปโรงพยาบาลจังหวัดตอนนี้เลย ให้หมอผู้เชี่ยวชาญที่โน้นดูแล"

มองลูกที่นอนกระสับกระส่าย ริมฝีปากแดงจัดแตกแห้ง หน้าแดงก่ำ เลือดกำเดากรังสองจมูกแล้วรู้สึกโมโหจนมือไม้สั่น

"แล้วทำไม ไม่ให้ไปโรงพยาบาลจังหวัดแต่เช้า" นางต่อว่า

หมอโรงพยาบาลอำเภอ เอารถโรงพยาบาลมาส่ง มาถึงโรงพยาบาลจังหวัด หมอที่นั่นวิ่งวุ่น บอกว่า ลูกสาวของนางเป็น ไข้เลือดออกในระยะช๊อก และรับตัวเข้าไอซียูทันที

หมอสมัย กุมารแพทย์ หรือหมอเด็กประจำโรงพยาบาลจังหวัด เอาท่อออกซิเจนซึ่งเป็นท่อเล็กๆ สวมรูจมูกเด็กหญิงมัจจาพร เจาะเลือดจากปลายนิ้วของเด็กหญิงทุกหนึ่งชั่วโมง เพื่อตรวจดูความเข้มข้นของเลือด ให้เลือดหมดถุงแล้ว เขาสั่งให้พลาสมา (น้ำเหลือง) ต่อ เพื่อรักษาความดันโลหิต ไม่ให้ตกลงไปอีก

หน้าตาหมอค่อนข้างกังวล ในระยะช๊อกนี้ ธรรมชาติให้ โอกาสหมอรักษาเด็กหญิงมัจจาพรเพียงสองวัน ถ้ารักษาช๊อกไม่ได้ เด็กหญิงมัจจาพรอาจจะ“เสียชีวิต” ได้

หมอหน้าตาเป็นปกติ แต่ใจกังวล...

ช่วงนี้ ไข้เลือดออกเริ่มระบาดอีก เชื่อกันว่า เพราะอุณหภูมิของโลกร้อนขื้น ทำให้ยุงลายเพาะพันธุ์เพิ่มจำนวน

อาทิตย์ที่แล้ว เด็กหญิงปุ๋ย อายุ 9 ขวบ หน้าตาน่ารัก ก็เสียชีวิตไป หลังจากเป็นไข้เลือดออกในระยะช๊อก เกร็ดเลือดต่ำมาก มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร และออกในสมอง ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงของโรคนี้

เด็กหญิงปุ๋ยเป็นหนัก เพราะมารดาไปซื้อยา "แอสไพริน" แก้ไข้มาให้กินหลายครั้ง โดยไม่รู้ว่า ยานี้ทำให้อาการไข้เลือดออกเป็นมากขื้น เกิดตกเลือดในอวัยวะต่างๆ
อาการที่บ่งว่าคนไข้โรคไข้เลือดออกจะแย่ คือ เลือดออกจำนวนมากตามอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย และมีอาการชัก

สองวันต่อมา...

พยาบาลบอกหมอสมัย ที่มานอนห้องไอซียูเพื่อเฝ้าดูอาการของเด็กหญิงมัจจาพรอย่างเป็นห่วง

"หมอ ลาวาจ (lavage) แล้วไม่มีเลือด" น้ำเสียงพยาบาลแสดงความยินดี

รายงานเช่นนี้...แสดงว่า เลือดที่ออกในกระเพาะอาหารหยุดแล้ว

หมอสมัยเจาะดูความเข้มข้นของเลือดอีก จาก 60 เปอร์เซ็นต์ ลดลงมาเหลือ 55
(คนปกติ ความเข้มข้นของเลือด 35-45 เปอร์เซ็นต์)

"ให้น้ำเกลือช้าลง" หมอบอก เมื่อความเข้มข้นของเลือดลดลง...แปลว่าเด็กหญิงกำลังอยู่ในระยะฟื้น...จะพ้นภาวะช๊อก ถ้าให้น้ำเกลือมากไปในระยะนี้ จะทำให้ปอดบวม และหัวใจวายได้

ความเข้มข้นของเลือดเด็กหญิงลดลง จาก 55 เป็น 50 เป็น 45 และ 40 หมอสั่งให้ยาขับน้ำปัสสาวะ เพื่อป้องกันหัวใจวาย

เด็กหญิงมัจจาพรพ้นขีดอันตรายแล้ว

นางลัดดาเข้ามาดูลูกอย่าง..ยินดี เมื่อพยาบาลห้องไอซียูบอกว่า

"อาการเด็กหญิงมัจจาพรพ้นขีดอันตรายแล้วนะคะ" ฟังพยาบาลบอก ถึงนางดีใจ นางก็ไม่ยิ้ม ไม่ขอบคุณ ความแค้นเคืองว่า เพราะหมอทำให้ลูกนางเป็นหนักขนาดนี้...ยังมีอยู่เต็มอก

ขึ้นชื่อว่าหมอ ก็เป็นพวกเดียวกัน คนหนึ่งทำผิด คนอื่นๆก็ต้องรับผิดด้วย...นางคิด

นางไม่รู้หรอกว่าหมอสมัยและพยาบาล ต้องอดตาหลับขับตานอน เพื่อเฝ้าเด็กหญิงมัจจาพร “อย่างใกล้ชิดและทุ่มเท”เพียงใด

ออกจากห้องไอซียู ไปอยู่ตึกกุมารเวช หนึ่งวัน หมอบอกหายดีแล้ว ให้กลับบ้านได้
นางลัดดารู้สึกสบายใจขื้นมามาก ขณะฟังพยาบาลสอนสุขศึกษาว่า

"คุณแม่คะ ไข้เลือดออกนี้เป็นโรคที่รุนแรง และยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้ได้ สิ่งสำคัญ ก็คือ อย่าให้ยุงลายกัด ยุงลายนี้มันกัดตอนกลางวัน เด็กหญิงมัจจาพรอาจได้รับเชื้อไข้เลือดออกมาจากยุงลายที่โรงเรียนหรือที่บ้าน ตอนนี้ ทางโรงพยาบาลได้ส่งนักวิชาการสุขศึกษาไปช่วยปราบยุงที่โรงเรียน ส่วนที่บ้าน คุณแม่ควรจะปราบยุงลายที่ร้ายกว่าเสือดังนี้นะคะ
ป้องกันอย่าให้ยุงลายกัด โดยการติดตั้งมุ้งลวด หรือใช้ยากันยุง
กำจัดและทำลายยุงลาย ตัวนำเชื้อโรคไข้เลือดออก เนื่องจากยุงพวกนี้ ชอบวางไขในน้ำนิ่งที่สะอาด ดังนั้น ภาชนะที่ขังน้ำสะอาด ควรมีฝาปิด อย่าให้น้ำขังในกระป๋อง กะลา ขาโต๊ะกับข้าว แจกัน
มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไปช่วยกำจัดยุง และนำทรายอะเบส ทรายพิเศษไปโรยใส่น้ำขัง เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลายนะคะ คุณแม่"

จูงมือลูกกลับบ้าน มองลูกที่ร่างกายผ่ายผอมด้วยความสงสาร นางลัดดาคิดว่า

"ดีนะ ที่ลูกหายป่วย ถ้าไม่หาย หรือเป็นอะไรไป แม่จะเอาเรื่องหมอและพยาบาลที่รักษาลูกมัจจาพรทุกคน"

"นินฺทาย นปฺปเวเธยฺย น อุณฺณเมยฺย ปสํสิโต ภิกฺขิ โลภํ สห มจฺฉริเยน โกธํ เปสุณิยญฺจ ปนุเทยฺย ....นินทาและสรรเสริญเป็นโลกธรรม คือของมีอยู่ประจำโลก ซึ่งจะเกิดขื้นทุกระดับ ไม่ว่าเป็นปุถุชน หรือ อริยบุคคล ภิกษุ ไม่ควรหวั่นไหวกับการสรรเสริญนินทา ปุถุชนธรรมดาก็เช่นกัน"
หมอพยาบาลก็เช่นกัน

=============================
จากหนังสือ 108 คนไข้ I.C.U.
โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข
ตีพิมพ์ วันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2545
สำนักพิมพ์สนุกอ่าน
============================
(ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต ไม่เกี่ยวกับเนื้อเรื่อง)


โดย: หมอหมู วันที่: 27 สิงหาคม 2556 เวลา:14:31:48 น.  

 
ไข้เลือดออก ... ( นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง )
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=30-10-2015&group=4&gblog=116

ไข้เลือดออก..ฤดูกาลแห่งโศกนาฏกรรม ยุงลายกัดคน(ป่วย..เป็นไข้)เลือดออกตาย แต่แพทย์ผู้รักษาเป็นจำเลย?
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-05-2008&group=4&gblog=38

ไวรัสโคโรนา2012 (MERS , เมอร์ส) นำมาฝาก (ไม่ได้เขียนเอง ^_^)
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=19-06-2015&group=4&gblog=110

ไวรัส ซิกา โรคไข้ซิกา (Zika Fever) นำมาฝาก (ไม่ได้เขียนเอง ^_^)
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=29-01-2016&group=4&gblog=118

ไวรัส อีโบล่า EBOLA ... ระบบเฝ้าระวัง ของบ้านเรา ห่วยจริงหรือ ?
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=25-11-2014&group=4&gblog=105

จากไข้หวัดใหญ่ MEXICO ถึงไข้หวัดใหญ่ 2009 .... บทเรียนสาธารณสุขไทย
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=21-05-2009&group=4&gblog=76

ข้อมูลสำคัญ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และ สถานการณ์ล่าสุด ... แถม เวบน่าสนใจ
https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=25-11-2009&group=4&gblog=79

ชิคุนกุนยา ... ที่กำลังระบาด ในภาคไต้ ...
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-05-2009&group=4&gblog=75

ตาแดง
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=16-09-2014&group=4&gblog=103




โดย: หมอหมู วันที่: 29 มกราคม 2559 เวลา:21:42:47 น.  

 
ไข้เลือดออก ... ( นำมาฝาก ไม่ได้เขียนเอง )
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=30-10-2015&group=4&gblog=116

วัคซีนโรคไข้เลือดออก .. นำมา เล่าสู่กันฟัง ..
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=28-01-2017&group=4&gblog=127

ไข้เลือดออก..ฤดูกาลแห่งโศกนาฏกรรม ยุงลายกัดคน(ป่วย..เป็นไข้)เลือดออกตาย แต่แพทย์ผู้รักษาเป็นจำเลย?
https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=17-05-2008&group=4&gblog=38


โดย: หมอหมู วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2560 เวลา:21:14:48 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]