Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

7 ความเข้าใจผิดของคนไทยต่อการบริบาลที่ห้องฉุกเฉินของรัฐ .. นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า

 
 
7 ความเข้าใจผิดของคนไทยต่อการบริบาลที่ห้องฉุกเฉินของรัฐ


https://www.facebook.com/somsak.tiamkao/posts/1595967217191488

คนเราเมื่อเจ็บป่วย ก็จะเกิดความรู้สึกไม่สบาย เจ็บปวด ทรมาน จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยต้องไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล ถ้าเป็นมานาน ค่อยเป็นค่อยไป ก็จะรับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล แต่ถ้ามีความรู้สึกไม่สบายมาก หรืออาการเป็นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หรือเจ็บป่วยนอกเวลาราชการ ก็จะไปรับการบริบาลที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล ซึ่งในช่วงหลังๆ นี้มีปัญหาระหว่างผู้ป่วย ญาติ และทีมสุขภาพ ที่เป็นข่าวในสื่อต่าง ๆ มากขึ้น ผมมานั่งคิด ไตร่ตรองว่าทำไมถึงเกิดปัญหามากขึ้นกว่าในอดีตมาก ก็พบว่าสาเหตุหนึ่งน่าจะเกิดจากการที่คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยยังมีความเข้าใจผิด ลองติดตามดูครับ

1. ทุกโรงพยาบาลต้องมีห้องฉุกเฉิน

ซึ่งดูผิวเผินการที่มีห้องฉุกเฉินในทุกโรงพยาบาลก็น่าจะดี เป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนยามเจ็บป่วย สามารถมารับการรักษาได้ทันที แต่ถ้าเรามานั่งคิดอย่างละเอียด การเปิดบริการด้านการรักษาพยาบาลห้องฉุกเฉินนั้น อาจเกิดผลเสียก็ได้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ล่าช้าออกไป เข้าถึงการรักษาที่ต้องได้รับล่าช้าออกไป เพราะเสียเวลาในการรักษาที่ห้องฉุกเฉินในพื้นที่นานเกินไป

ผมยกตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน กรณีผู้ป่วยเป็นโรคอัมพาตเฉียบพลัน จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง และต้องเข้าถึงการรักษาให้เร็วที่สุด แต่ถ้าผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ซึ่งไม่มีความพร้อมทั้งด้านแพทย์ผู้ให้การรักษาและเครื่องมือ อย่างน้อยก็เสียเวลาประมาณ 30 นาที ส่งผลให้โอกาสการได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด กรณีเป็นโรคอัมพาตชนิดสมองขาดเลือดน้อยลงไป แต่ถ้ามีระบบการนำส่งผู้ป่วยด้วยรถพยาบาลฉุกเฉินที่รวดเร็วแทนการมีห้องฉุกเฉิน ก็จะสามารถทำให้ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ก็จะเข้าถึงระบบการรักษาได้รวดเร็ว และเป็นการใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ ลดภาระด้านค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ได้อย่างมาก รวมทั้งการสร้างพฤติกรรมการใช้บริการนอกเวลาราชการที่เหมาะสมมากขึ้น

ปัจจุบันทุกโรงพยาบาลต้องเปิดบริการห้องฉุกเฉินนั้น ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากมาย อาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีก็ได้ ถ้ามีการประเมินความคุ้มค่า ความจำเป็นในการมีห้องฉุกเฉินของทุกโรงพยาบาลรัฐ

 

2. เมื่อมีการเจ็บป่วยนอกเวลาราชการต้องไปรักษาที่ห้องฉุกเฉิน 

ประเด็นนี้เป็นปัญหาที่พบมากที่สุด คือ เจ็บป่วยไม่ว่าจะมีอาการอะไร รุนแรงหรือไม่รุนแรง ผู้ป่วยก็จะเลือกไปตรวจรักษาที่ห้องฉุกเฉินแทนที่จะรอรับการตรวจที่แผนกผู้ป่วยผู้ป่วยนอกในเวลาราชการ ด้วยเหตุผลคือคือ เร็วกว่า คนน้อยกว่า หรือไม่มีเวลาช่วงกลางวัน จึงมาตรวจนอกเวลาราชการเร็วกว่า

ที่ถูกต้องแล้วการบริบาลที่ห้องฉุกเฉินนั้นต้องเป็นกรณีที่มีภาวะอันตราย เร่งด่วนถึงกับชีวิต ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทันเวลา ชื่อห้องฉุกเฉิน ก็คือ Emergency Room คือ ภาวะที่ฉุกเฉินเท่านั้น แต่ในมุมมองของประชาชน คือ เจ็บป่วยใด ๆ ก็อยากรักษาอย่างเร็ว สะดวก จึงมารับบริการที่ห้องฉุกเฉิน ทำให้ข้อมูลด้านการรับบริการของทุกห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลรัฐนั้น ให้บริการการรักษาที่เป็นกรณีฉุกเฉินจริงเพียงส่วนน้อย และส่วนมากก็ไม่ฉุกเฉินที่มารับบริการ การเข้าใจผิดประเด็นนี้ทำให้ผู้ป่วยที่เป็นกรณีฉุกเฉินจริง ๆ อาจได้รับการรักษาที่ล่าช้าออกไป ไม่ทันเวลา ส่งผลเสียต่อผู้ป่วยฉุกเฉินจริง ๆ

 

3. เมื่อผู้ป่วยมาโรงพยาบาลต้องได้รับการตรวจเสมอ

ประเด็นนี้ผมก็อยากทำความเข้าใจกับทุกคนให้ดีครับ ว่าการตรวจรักษาที่เหมาะสมนั้น ต้องตรวจให้ตรงกับแพทย์ที่มีความถนัด ความสามารถในการรักษาโรคนั้น ๆ เช่น เป็นภาวะมองเห็นไม่ชัดเจนมานานเป็นเดือน แต่เพิ่งมาหาหมอวันนี้ตอน 2 ทุ่ม ก็ต้องการให้หมอตรวจประเมิน รักษาเลย ซึ่งกรณีแบบนี้การรักษาที่เหมาะสม คือ เจ้าหน้าที่จะนัดให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตาในภายหลัง แต่ผู้ป่วยก็ไม่เข้าใจ ต้องการให้ตรวจตอนนี้ ถ้าไม่ตรวจให้ก็ไม่พอใจ อาจเกิดการร้องเรียนขึ้นได้

ดังนั้นอยากบอกว่าการมาที่โรงพยาบาลนั้น อาจไม่จำเป็นต้องได้รับการตรวจทุกครั้งก็ได้ครับ แต่ผู้ป่วยจะได้รับการแนะนำให้เข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม โปรดเข้าใจประเด็นนี้ด้วย

 

4. ทุกโรงพยาบาลสามารถรักษาได้ทุกโรค

ต้องเข้าใจใหม่ว่าห้องฉุกเฉินจะสามารถแก้ไขปัญหาเบื้องต้น เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ได้สามารถให้การรักษาจนหาย หรือได้คำตอบว่าเป็นโรคอะไร ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลก็มีความสามารถแตกต่างกันในการให้การรักษา ขึ้นกับระดับของโรงพยาบาล ความพร้อมของแพทย์และทีม

ดังนั้นการที่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินนั้น ไม่ได้ทำให้ผู้ป่วยหายได้ทั้งหมด ไม่สามารถให้การรักษาได้ทุกกรณี แต่จำเป็นต้องให้การนัดหมายมารักษาต่อเนื่อง หรือส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ต่อไป

 

5. เมื่อมารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉิน ก็ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์รอไม่ได้จะต้องตรวจเลย เพราะเข้าใจว่าตนเองฉุกเฉิน

ผู้ป่วยและญาติจะมีความเข้าใจว่าถ้าเจ็บป่วยก็จะมาโรงพยาบาล เมื่อมาถึงโรงพยาบาลก็ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การเจ็บป่วยที่ต้องมารักษาที่ห้องฉุกเฉินนั้น ก็ต้องเป็นภาวะฉุกเฉินจริง ๆ แต่ที่เป็นจริงในปัจจุบัน คือ มากกว่าครึ่งที่มารับการรักษาที่ห้องฉุกเฉินนั้นไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน ดังนั้นเมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉินจริง ๆ มารับบริการ แพทย์ก็ต้องให้การตรวจรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินก่อนผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน จึงดูเสมือนการบริการที่ไม่เป็นไปตามลำดับการมารับบริการ หรือรอนานกรณีไม่ฉุกเฉิน ก็จะมีการเรียกร้องขอตรวจก่อน เพราะอ้างว่าฉันมาก่อน ทั้งที่จริง ๆ แล้ว อาการที่มานั้นไม่ได้ฉุกเฉินเลย เรื่องนี้อยากให้สังคมเข้าใจด้วยครับว่า ถ้าไม่ฉุกเฉิน แล้วมาใช้บริการห้องฉุกเฉิน ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้ป่วยฉุกเฉินนะครับ

 

6. ใครมาก่อนต้องได้รับการตรวจก่อน

ซึ่งดุผิวเผินก็น่าจะถูกต้อง แต่เนื่องจากผู้ป่วยที่มารับการรักษาในห้องฉุกเฉินนั้นมีทั้งที่ฉุกเฉินจริง ๆ ตามเกณฑ์การประเมินทางการแพทย์ กับไม่ฉุกเฉิน ดังนั้นระบบจะมีการคัดกรอง และประเมินความจำเป็นเร่งด่วน มีการจัดลำดับความเร่งด่วนของผู้ป่วยแต่ละราย

กรณีที่ไม่เร่งด่วนอาจต้องให้รอตรวจหลังสุด จึงใช้เวลารอคอยนาน ตรงนี้อยากให้ทุกคนเข้าใจด้วย เพราะจริงแล้วห้องฉุกเฉินไม่ควรให้การบริการต่อผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินนั้น แต่ในระบบการบริการของวัฒนธรรมไทย ยังมีการเอื้ออาทรต่อผู้มารับบริการ ดังนั้นถ้าไม่ด่วนก็อยากให้รอด้วยนะครับ

 

7. การตรวจที่แผนกผู้ป่วยนอกรอนาน มารับบริการที่ห้องฉุกเฉินดีกว่า เร็วกว่าเยอะ

ความคิดนี้เกิดขึ้นเยอะมาก ขอบอกว่าเป็นการคิดที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง การใช้บริการผิดที่ ผิดวัตถุประสงค์ย่อมก่อให้เกิดผลเสียต่อระบบบริการสุขภาพทั้งหมด เป็นการคิดที่เห็นแก่ตัวมากครับแบบนี้ ใครที่เคยคิด เคยทำ หรือกำลังจะคิดแบบนี้ ผมขอร้องให้เลิกครับ โปรดเคารพกติกาของสังคม สังคมไทยต้องเป็นสังคมที่มีระเบียบ มีแนวคิดในการพัฒนาเพื่อส่วนรวม ไม่ใช่คิดเอาเปรียบคนอื่น ๆ หรือคิดแบบตามสบาย ตามใจ คือไทยแท้ แบบนี้ไม่ได้ครับ ต้องแก้ไขเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมครับ

เมื่อเราลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของห้องฉุกเฉินออกไป ผมเชื่อมั่นว่า การบริการที่ห้องฉุกเฉินสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินย่อมได้รับการบริการรักษาที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน เรามาเริ่มตั้งแต่วันนี้เลยครับ ไม่ด่วน ไม่ฉุกเฉินให้รอรักษาแบบผู้ป่วยนอกในวันเวลาราชการครับ แต่ถ้าด่วน ก็ต้องรีบไปเลยครับ ห้องฉุกเฉิน หรือใช้บริการ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 หรือ application FAST TRACK เรียกรถพยาบาล


***************************************




https://www.facebook.com/thaimedcouncil/photos/a.1532175813713985/2104653913132836/?type=3&theater

เชื่อมั๊ย..ร้อยละ 60 ของผู้ป่วยในห้องฉุกเฉิน (ER) คือผู้ป่วยไม่ฉุกเฉิน!!

ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการ ER ถึง 35 ล้านครั้งต่อปี การที่มีผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินอยู่เกินครึ่ง ส่งผลให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จนอาจทำให้พิการ หรือบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิต

และการมีผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินจำนวนมาก ยังส่งผลให้ ER แออัด หมอและพยาบาลต้องทำงานเกินกำลัง จึงเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังคนไข้ทุกคน

โดยเฉพาะคิวการรักษา!

เพราะว่านี่คือ #ห้องฉุกเฉิน (ER) ลำดับการรักษาในห้องนี้จึงไม่เรียงตามลำดับก่อนหลัง! หรือพูดง่ายๆ คือ มาก่อนอาจต้องรอนาน และต้องรักษาทีหลัง?? จนกลายเป็นดราม่าในโลกโซเชียล บ่อยครั้ง

เพราะหมอมีความจำเป็นต้องให้การรักษากับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตที่มา ER เป็นอันดับแรก

“คุณเคยไป ER ตอนกลางคืนด้วยสาเหตุเหล่านี้ไหม?” หนีรถติด ขี้เกียจลางานตอนกลางวัน ขอใบรับรองแพทย์ ไม่อยากรอคิวนาน รวมทั้งปวดหัวเป็นไข้ และเล็บขบ ฯลฯ

ที่คนไข้ส่วนใหญ่ทำแบบนี้ อาจเป็นเพราะคิดว่า ER เปิดบริการเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่คนไข้

ขอยืนยันว่านี่คือ ความเข้าใจผิด ที่เราทุกคนสามารถช่วยกันเปลี่ยนแปลงได้

ยังมีดราม่าใน ER อีกเรื่องหนึ่ง คือ หมอเวรไม่รีบรักษา มัวแต่อยู่หน้าจอเล่นเฟสบุ๊คหรือเล่นเกมส์?

นั่นเพราะคนไข้ยังไม่ทราบว่า ปัจจุบันประเทศไทยแก้ปัญหาการขาดแคลนหมอเฉพาะทางฉุกเฉินในพื้นที่โรงพยาบาลอยู่ห่างไกล ด้วยการใช้ระบบให้คำปรึกษาด้านการแพทย์ฉุกเฉินทางไกล (Emergency Telemedicine)

เป็นระบบการสื่อสารระหว่างหมอเวรเฉพาะทางฉุกเฉินของโรงพยาบาลระดับสูง (รุ่นพี่) กับหมอเวรห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (รุ่นน้อง) ผ่านหน้าจอ ที่ช่วยให้คนไข้ฉุกเฉินเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว ทันท่วงที อย่างเท่าเทียมกัน ลดอัตราตายและพิการ ..ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรืออยู่ไกลในผืนแผ่นดินไทย ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตก็ใกล้หมอผู้เชี่ยวชาญได้เหมือนกัน

อยากให้ผู้ป่วยที่ไป ER ทุกคนพึงตระหนักว่า ในบางครั้งที่เราต้องเสียเวลารอตรวจรักษา หมอเวรห้องฉุกเฉินอาจกำลังช่วยยื้อชีวิตของผู้ป่วยอีกคนอยู่ก็ได้

ดังนั้น..ทุกนาทีที่คุณต้องรอ จึงเป็นการให้โอกาสหมอได้ต่อลมหายใจคนอื่น

“ ไม่ป่วยฉุกเฉิน ไม่ใช้ห้องฉุกเฉิน ช่วยต่อชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต “


ด็อกเตอร์ซีรี่ส์ ep.6 #ฉุกเฉินฉุกเฉินกว่า

https://www.facebook.com/pg/thaimedcouncil/photos/?tab=album&album_id=2103349176596643

ปัญหาเดิม .. ผ่านไป ยี่สิบปี ก็ยังเหมือนเดิม หรือบางที อาจหนักหนาขึ้น ? ... ก็คงต้อง "ขอความร่วมมือ" ถ้าไม่เร่งด่วนจริง ๆ ก็มาในวันเวลาราชการเถอะครับ นอกเวลาราชการ มีหมอมีเจ้าหน้าที่น้อย ให้เขาเธอเหล่านั้น เก็บแรง ไว้คอยดูแลรักษาผู้ป่วยที่ฉุกฺเฉินจริง ๆ ดีกว่านะครับ เพราะ วันหนึ่ง ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูแลอย่างรวดเร็วอาจเป็น ตัวเราเอง หรือ ญาติมิตรใกล้ชิดของเรา
 
ปล. มีหนังสือเวียนจากหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข แจ้งว่า " ถ้าผู้ป่วย "คิดว่า" ฉุกเฉิน ก็ให้ถือว่าเป็น ภาวะฉุกเฉิน " ช่วยลดปัญหาหนึ่งแต่กลับไปทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา .. ( ฉุกเฉินทางการแพทย์ ซึ่งอาจไม่เหมือนกับที่คนทั่วไป คิดว่า ฉุกเฉิน )
 

ถม

เจ็บป่วยไปห้องฉุกเฉิน... ตามมาตรฐาน ก็ยังต้อง " รอ " ^_^

 

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=16-01-2018&group=27&gblog=31

7ความเข้าใจผิดของคนไทยต่อการบริบาลที่ห้องฉุกเฉินของรัฐ

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=26-01-2018&group=27&gblog=32

รพ.ชลบุรีจัดระบบคัดกรองห้องฉุกเฉิน คนไข้-หมอปลอดภัย ลดเจ็บ ตาย 2P Safety

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=16-09-2017&group=15&gblog=83

infographic 9ข้อควรรู้เรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=06-06-2017&group=7&gblog=216

 




Create Date : 26 มกราคม 2561
Last Update : 23 มิถุนายน 2562 20:34:04 น. 1 comments
Counter : 1799 Pageviews.  

 
‘ปฏิรูปห้องฉุกเฉิน’ ปัจจุบันที่เป็นอยู่และอนาคตที่ท้าทาย
Sun, 2020-04-26 20:35 -- hfocus
https://www.hfocus.org/content/2020/04/19125

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรานา 2019 หรือโรค โควิด-19 ความตระหนกแพร่เร็วกว่าไวรัส ประชาชนอีกมากยังรู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร ขณะที่ผู้ติดเชื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกวัน โรงพยาบาล แพทย์ พยาบาล ยา เวชภัณฑ์จะเพียงพอหรือไม่?

ถ้าผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงระดับหลักหมื่นหรือหลักแสนคน ระบบสาธารณสุขของไทยจะรับมือได้หรือ? แน่นอน ผู้คนจะนึกถึงห้องฉุกเฉินที่แออัดไปด้วยผู้ติดเชื้อ เราอยากให้ทำใจนิ่งๆ ก่อน และโฟกัสที่ ‘ห้องฉุกเฉิน’ เพราะมันเป็นส่วนสำคัญในการกอบกู้ชีวิตคน ไม่ว่าจะในสถานการณ์ปกติหรือไม่ปกติเช่นที่เป็นอยู่

นิยามของห้องฉุกเฉินหรือ emergency room ในความเข้าใจของคุณคืออะไร?

อันที่จริงด้วยชื่อของมัน เราสามารถเข้าใจได้ทันทีโดยไม่ต้องอ้างอิงตำราการแพทย์ให้ยุ่งยาก แต่คุณรู้หรือไม่ว่า ร้อยละ 60 ของผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินกลับไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน คุณอาจถามต่อว่า แล้วยังไง?

เมื่อห้องฉุกเฉินเป็นสถานที่สำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องการการกู้ชีวิต แพทย์และพยาบาลต้องทำงานอย่างรวดเร็ว แม่นยำ เพื่อยืนขวางระหว่างผู้ป่วยกับความตาย หาก 100 คนในห้องฉุกเฉินมีผู้ป่วยทั่วไปที่สามารถรอรับการรักษาปกติได้ถึง 60 คน ไม่เพียงปัญหาความแออัดเท่านั้น มันยังหมายความว่าทรัพยากร-แพทย์ พยาบาล ยา เวชภัณฑ์ และเวลา จะถูกดึงไปใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ พร้อมกับเพิ่มความเสี่ยงให้แก่ผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ 40 คนที่เหลือ

เกิดเป็นคำพูดแบบขำปนขมในหมู่บุคลากรสาธารณสุขว่า ER ที่ควรย่อมาจาก Emergency Room แต่จริงๆ แล้วมันคือ Everything Room

แรกเริ่มเดิมที

ศาสตร์การแพทย์มีมานานนับพันปี หากว่ากันตามประวัติศาสตร์ตะวันตกก็สามารถถอยไปได้ประมาณเกือบ 500 ปีก่อนคริสตกาล ชาวกรีกที่ชื่อ ฮิปโปเครติส ถูกยกย่องให้เป็นผู้ให้กำเนิดวิชาแพทย์ คำปฏิญาณอันเป็นจริยธรรมของแพทย์ ที่เขาสร้างขึ้นยังคงถูกใช้สำหรับบัณฑิตแพทย์จนถึงปัจจุบัน

แต่ระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินยังอ่อนเยาว์อยู่มาก มันเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2300 หรือราวๆ กลางศตวรรษที่ 18 เมื่อนายแพทย์ Dominique-Jean Larrey เริ่มนำส่งทหารที่บาดเจ็บจากสงคราม หลังจากนั้นระบบการแพทย์ฉุกเฉินก็พัฒนาต่อเนื่อง อาจพูดได้ว่ามันเกิดและเติบโตด้วยสงคราม มุ่งช่วยเหลือทหารที่บาดเจ็บจากการสู้รบมากกว่าใช้กับประชาชน

ในส่วนของประเทศไทย ระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีมาก่อนปี 2537 ในช่วงต้น การนำสู่ผู้บาดเจ็บยังทำโดยมูลนิธิต่างๆ ก่อนที่ภาครัฐจะเข้ามาจัดระบบ ปี 2532 กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สร้างอาคาร EMS ที่โรงพยาบาลราชวิถีสำหรับเป็นศูนย์กลางด้านการฝึกอบรมและการบริหารระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน มีการพัฒนาขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งเกิด พ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 พร้อมกับมีการตั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เพื่อพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งในด้านกำลังคนที่ต้องมีหลักสูตรรองรับการผลิตและขึ้นทะเบียนตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) การกำกับมาตรฐานครุภัณฑ์และอุปกรณ์ และเงินอุดหนุนบริการและพัฒนาระบบสนับสนุน โดยมีเป้าหมายสำคัญให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทหลักเฉพาะบริการกู้ชีพ

มุมมองและประสบการณ์ของแพทย์ฉุกเฉิน

ทว่า 12 ปีนับจากมีกฎหมายการแพทย์ฉุกเฉิน บุคลากรและระบบยังคงเผชิญอุปสรรคหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงในเชิงกายภาพและวาจาที่เกิดขึ้นในไทยและในต่างประเทศ ปัญหาการขาดแคลนบุคลากร ปัญหาความปลอดภัยของรถฉุกเฉิน เป็นต้น

นพ.เอกภักดิ์ ระหว่างบ้าน

นพ.เอกภักดิ์ ระหว่างบ้าน นายแพทย์ชำนาญการ สาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.อุดรธานี หัวหน้าศูนย์สั่งการ 1669 ประจำจังหวัดอุดรธานี เล่าผ่านประสบการณ์ของตนว่า มีปัญหาอยู่ 3 ด้านคือด้านตัวบุคลากรในโรงพยาบาล ด้านนโยบายของรัฐบาล และด้านของประชาชน

“ในส่วนนโยบายจากส่วนบน ถ้าเป็นสมัยก่อนเขาก็ยังไม่เข้าใจคำว่าฉุกเฉิน และคนส่วนใหญ่ที่เคยเรียนด้านฉุกเฉินมาก็ไม่ใช่หมอซึ่งเขาเล็งเห็นว่าห้องฉุกเฉินมีความสำคัญ แต่มันก็ค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอนแรกเจ้าหน้าที่ยังติดปัญหาว่าสมัยก่อนเวลาเราเรียนคำว่าฉุกเฉินจะแบ่งเป็นพาร์ตๆ เช่น สาขาอายุรกรรมก็จะมีภาวะฉุกเฉินของเขา สาขาศัลยกรรมก็มีภาวะฉุกเฉินของเขา ซึ่งคำว่าฉุกเฉินของเขาแยกไปตามโรค เช่น เบาหวาน ความดันในภาวะฉุกเฉิน มันไม่ใช่ฉุกเฉินจริงๆ ในนิยามของเรา

“นิยามของคำว่าฉุกเฉินก็คือวิกฤตต่อชีวิต เช่น ระบบหายใจ ระบบลำเลียงเลือด ความรู้สึกตัวไม่ผ่านเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ รองลงมาจะเป็นพวก urgency คือเร่งด่วนเฉยๆ คนไข้ไม่เข้าใจว่าฉุกเฉินจริงๆ คืออะไรและไม่เข้าใจการปฐมพยาบาลเบื้องต้นและไม่เข้าใจว่าเมื่ออยู่ในภาวะฉุกเฉินประเทศไทยมีระบบรองรับอย่างไร ต้องติดต่อใคร เรายังไม่มีการประชาสัมพันธ์ที่ดี”

ดูเหมือนโจทย์สำคัญประการหนึ่งคือ ประชาชนไม่รู้ว่าอะไรคือฉุกเฉิน ซึ่ง นพ.เอกภักดิ์ ให้มุมมองที่น่าสนใจว่า เบื้องต้นรัฐและบุคลากรสาธารณสุขต้องละวางอคติ การเห็นคนที่ตนรักเจ็บปวดจากความป่วยไข้ตรงหน้า มันย่อมฉุกเฉินเสมอ แต่แพทย์มีหน้าที่คัดแยกและสื่อสารกับญาติ คำว่า คัดแยก เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญ เขากล่าวเพิ่มว่า ระบบการคัดแยกของไทยขณะนี้ถือว่าอยู่ระดับสากลเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่การคัดแยกอาจมีลักษณะ over triage หรือ under triage

over triage คือคัดกรองผิดพลาดว่าเป็นเคสฉุกเฉิน ในกรณีนี้ก็เพียงแค่สิ้นเปลืองทรัพยากรไปบ้าง ในกรณี under triage คือคัดกรองผิดพลาดว่าเป็นเคสไม่ฉุกเฉิน แต่จริงๆ แล้วฉุกเฉิน จุดนี้ความสูญเสียหมายถึงชีวิตผู้ป่วย

ห้องฉุกเฉิน รพ.อุดรธานี

ปัญหา 4 ข้อที่ห้องฉุกเฉินเผชิญอยู่

ก่อนหน้าปี 2559 การคัดแยกผู้ป่วยในแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉินของไทยมีถึง 5 ระบบ คงไม่ต้องบอกว่าความหลากหลายของเกณฑ์การคัดแยกสร้างปัญหาหรือไม่ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ.) จึงได้วางเกณฑ์เพื่อใช้เป็นระบบเดียวกันไว้ 5 ระดับ โดยเรียงจากระดับไม่เร่งด่วนขึ้นไป ดังนี้ non-urgent, urgent, semi-urgent, emergent และ resuscitation

ถึงกระนั้น การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินก็ยังเผชิญปัญหาคือการขาดแคลนบุคลากรหรือเจ้าหน้าที่ในการคัดแยก บุคลากรมีประสบการณ์หรือทักษะความรู้ในการคัดแยกต่างกัน สถานที่คัดแยกไม่เหมาะสม ระบบคัดแยกภายในโรงพยาบาลไม่ตรงกัน เครื่องมือคัดแยกยังยุ่งยาก และผู้รับบริการไม่เข้าใจการคัดแยก อุปสรรคตรงนี้ สพฉ. ได้มีข้อเสนอแนะเพื่อการแก้ไขออกมา แต่เรื่องใหญ่ขนาดนี้ ไม่ง่ายที่จะทำคนเดียว

ห้องฉุกเฉินจึงเป็นวาระสำคัญที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ สพฉ. เห็นพ้องกันว่าถึงเวลาต้อง ‘ปฏิรูป’

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้ร่วมพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในระยะแรก ที่ถือเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคนหนึ่งในการขับเคลื่อนการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน เคยให้สัมภาษณ์กับ HFocus (ชี้ห้องฉุกเฉินต้องเป็นระบบปิด ใครก็เข้าไม่ได้ ต้องมีการคัดกรอง ลดภาระหมอ EP) ว่า

“ในระบบที่ถูกต้อง ห้องฉุกเฉินจะต้องเป็น Close system คือระบบปิด ใครก็เข้าไม่ได้ ต้องมีการคัดกรอง คือต้องมีจุดคัดกรองก่อนว่าไปห้องไหน ไปห้องสีเขียว ห้องเร่งด่วน หรือห้องฉุกเฉิน ควรมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำอยู่หน้าห้องฉุกเฉินเพื่อป้องกันไม่ให้ใครเข้ามาได้ ห้องฉุกเฉินต้องเหมือนกับห้องผ่าตัดที่ไม่สามารถให้คนภายนอกเข้ามาได้ ขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญกับประเด็นการสื่อสารกับญาติที่รออยู่ด้วย อย่างที่โรงพยาบาลระยองจะมีการสื่อสารด้วยวงจรปิดแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างไรอยู่ เช่นกำลังตรวจคลื่นหัวใจ กำลังส่งไปเอกซเรย์”

นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

ปัจจุบัน สธ. ได้ของบประมาณผ่านสำนักงานปลัด สธ. เพื่อพัฒนาห้องฉุกเฉินจำนวน 151.5 ล้านบาท เพื่อนำร่องในโรงพยาบาลศูนย์ 21 แห่งในกรุงเทพและบางจังหวัด ปรับเปลี่ยนห้องฉุกเฉินให้แบ่งออกเป็น 2 ห้องตามระดับวิกฤติของผู้ป่วย และก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2563 จะเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลนำร่องเป็น 34 แห่ง และเพิ่มอีกเป็น 119 แห่งภายในปี 2564

หากจะสรุปสถานการณ์ปัญหาห้องฉุกเฉินเวลานี้ มีอยู่ 4 ประเด็นหลักคือ

1.ความแออัดของจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทั้งฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉิน

2.การขาดผู้เชี่ยวชาญ

3.มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

4.ขาดระบบข้อมูลห้องฉุกเฉินที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน

5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปห้องฉุกเฉินของ สพฉ.

ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า ทาง สพฉ. ได้จัดทำแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฉบับที่ 3.1 พ.ศ.2562–2564 (ปรับปรุงจากแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ฉบับที่ 3 พ.ศ 2560-2564) ซึ่งมีการกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ 5 ด้านเพื่อปฏิรูปห้องฉุกเฉิน แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นมาฟังข้อมูลเบื้องต้นกันก่อน

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ให้ข้อมูลว่า ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว มีผู้เข้ามาใช้บริการห้องฉุกเฉินปีละ 35 ล้านครั้ง แต่เป็นคนไข้ฉุกเฉินประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ ขณะที่มีการโทรมายังหมายเลข 1669 ปีละประมาณ 6 ล้านครั้ง ใน 6 ล้านครั้งมีการออกปฏิบัติการฉุกเฉินเพิ่มขึ้นจากหลักแสนกลายเป็นหลักล้าน โดยในปี 2562 ที่ผ่านมามีการออกปฏิบัติการ 1.8 ล้านครั้ง แสดงว่าการโทรมา 6 ล้านครั้ง จำนวนหนึ่ง ไม่ได้ออกปฏิบัติการ เป็นเพียงการให้คำแนะนำ และแนวโน้มของจำนวนการเข้าถึงบริการก็เพิ่มขึ้น

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา

“เราเคยทำวิจัยว่า กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้ 1669 อย่างไร ตัวเลขอยู่ประมาณ 86 เปอร์เซ็นต์ส่วนเนื้อเรื่องความพึงพอใจมีอยู่ที่ประมาณ 80 กว่าเปอร์เซ็นต์เหมือนกัน แต่กลุ่มที่ไม่พอใจมีอยู่ประมาณ 14-15 เปอร์เซ็นต์ ไปดูกลุ่มที่ไม่ชอบใน 14 เปอร์เซ็นต์ เขาบอกว่าโทรไปแล้วถามเยอะ คุยนาน ตอบช้า สิ่งเหล่านี้มันมีเหตุผลว่าทำไมต้องถามเยอะ เราเจอปัญหาว่าคนโทรไม่รู้ว่าเราอยู่ไหนก็ต้องถามเรื่องสถานที่และเวลา ทั้งผู้ปฏิบัติงานทั้งหมดไม่ใช่องค์กรเดียว แต่เป็น multi agency และส่วนใหญ่ทำด้วยจิตอาสา ท้องถิ่นเองก็ยังไม่พร้อมที่จะลุกขึ้นมาทำ ภาพรวมคือเราทำงานบนความขาดขาดแคลน เป็นการบริหารทรัพยากรที่เรามีอยู่อย่างจำกัดให้เพียงพอ”

โดยยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ชี้แจงรายละเอียดว่า ยุทธศาสตร์ที่ 1 คือเรื่องมาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉิน เช่น เรื่องหน่วยปฏิบัติการเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการฉุกเฉิน ซึ่งมีการเคลื่อนไหวอยู่พอสมควรอย่างการออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินเรื่องหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินที่พูดถึงอำนาจหน้าที่ขอบเขตความรับผิดชอบ ซึ่งจะต้องมีกฎหมายลูกตามออกมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ ทั้งยังมีการจัดระบบระเบียบหน่วยปฏิบัติการใหม่ที่เดิมทีเขียนไว้ไม่ชัด โดยให้แบ่งเป็นประเภทอำนวยการกับประเภทปฏิบัติการแพทย์

“ประเภทอำนวยการก็คือศูนย์รับแจ้งเดิมทีมีแค่ 1669 เฉยๆ แต่แบบใหม่จะมี 3 ระดับคือระดับพื้นฐาน ระดับสูง และระดับที่ปรึกษา เรากำลังขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ ส่วนเรื่องของหน่วยปฏิบัติการแพทย์จะมีหน่วยพื้นฐานระดับสูงและระบบเฉพาะทาง ซึ่งระบบเฉพาะทางนี้จะพัฒนาไปเป็นระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่มีความก้าวหน้าทันสมัยมากขึ้น

“เฉพาะทางหมายถึงอะไร เช่นการเคลื่อนย้ายทางอากาศหรือการเคลื่อนย้ายคนไข้ที่มีภาวะทางสมอง หัวใจ ซึ่งในกรณีที่ยังไม่พ้นภาวะฉุกเฉินจะส่งต่อระหว่างโรงพยาบาลชุมชนมาโรงพยาบาลจังหวัดมาที่โรงพยาบาลศูนย์ก็ต้องมีมาตรฐานของการปฏิบัติการฉุกเฉินเกิดขึ้นซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ

“ในเรื่องรถบริการฉุกเฉินที่ สพฉ. ทำตอนนี้ก็มีทั้งรถของท้องถิ่นรถของมูลนิธิและรถของหน่วยงานของรัฐ ตอนนี้มีกลุ่มใหม่เกิดขึ้นคือรถเอกชน เราพยายามที่จะนำทั้งหมดนี้มาบูรณาการกันเพื่อให้เกิดการควบคุมกำกับให้มีมาตรฐานทั้งเรื่องหน่วย ตัวคน และรถ ซึ่ง สพฉ. กำลังพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินหรือ Thailand EMS accreditation ถือว่าเราใช้เวลาพอสมควรที่จะเซตพวกนี้ขึ้นและอยู่ระหว่างการดำเนินการ”

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นเรื่องบุคลากรที่ยังขาดแคลน ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ยกตัวอย่างกรณี นักปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ หรือ paramedic competency ทาง สพฉ. กำลังเสนอเรื่องนี้ไปยังคณะกรรมการโรคศิลปะ ให้รับนักฉุกเฉินการแพทย์เป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ ซึ่งผ่านคณะกรรมการโรคศิลปะแล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินการออกเป็นกฎหมายเพื่อตั้งสภาวิชาชีพ จะเป็นการเพิ่มศักยภาพของผู้ปฏิบัติการในระดับมืออาชีพเพิ่มขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น สพฉ. กำลังจะออกข้อบังคับใหม่ซึ่งจะทำให้ระยะเวลาการเรียนเป็นนักฉุกเฉินการแพทย์สั้นลง แต่มีประสิทธิภาพเท่ากัน โดยแนวทางอาจจะเป็นการนำผู้ที่จบปริญญาตรีตรีสาขาใดก็ได้มาเรียนเพิ่ม 2 ปี ก็จะเป็นการเพิ่มจำนวนมืออาชีพในกลุ่มนี้เร็วขึ้น

“สิ่งที่ต้องทำต่อคือต้องหาที่ลงให้เขา ตอนนี้ก็กำลังเจรจากับ ก.พ. (สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน) เพื่อให้กำหนดมาตรฐานคุณวุฒิตำแหน่งให้สามารถกำหนดตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้”

“ส่วนที่อยู่ในโรงพยาบาลของรัฐก็ต้องเรียนว่ามีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ มีความพยายามมากมายตั้งแต่เรื่องการขอขึ้นค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงดูดและจูงใจบุคลากรให้อยู่ในภาครัฐ ผมไม่พูดคำว่าไหลหรือไม่ไหล เอกชนเองก็พยายามดีดตัวเพื่อหนี เรียกว่าเอาราคามาสู้ แต่สำหรับผมในเรื่องประเด็นของแพทย์คนที่กำกับเรื่องนี้คือวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นกลไกของแพทยสภา จากเดิมมีแค่หลักสิบหลักร้อยตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 700 กว่าคนและมีเป้าในอีก 10 ปีข้างหน้าจะต้องเป็น 1,500 คน ผมคิดว่าถ้าถึง 1,500 คนไม่ว่าจะอยู่ภาครัฐและเอกชนน่าจะเพียงพอในการเคลื่อนระบบฉุกเฉินไปได้”

ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือกลไกสนับสนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกฎหมาย กองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน และการวิจัย ซึ่งอยู่ระหว่างการขับเคลื่อน แต่ยังมีข้อจำกัดคือกองทุนได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ แต่ในเชิงทิศทางถือว่ามาถูกทางแล้ว

ยุทธศาสตร์ที่ 4 คือการพัฒนาศักยภาพและการมีส่วนร่วม สพฉ. ได้เดินหน้าพัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของการปฏิรูปประเทศ ต่อไปนี้ศูนย์รับแจ้ง 1669 จะไปอยู่ที่ท้องถิ่นระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด โดยปัจจุบันนี้ดำเนินแล้ว 8 แห่ง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร สงขลา อุบลราชธานี มหาสารคาม สระแก้ว ลำพูน พัทลุง และชุมพร มีเป้าหมายว่าจะทำทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังทำความร่วมมือกับสภาวิชาชีพอย่างวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย สภาการพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหากำไรต่างๆ

ยุทธศาสตร์สุดที่ 5 คือภาคประชาชน การสื่อสารสาธารณะ สพฉ. พยายามทำในหลายมิติมาก เช่น การรับรู้ภาวะฉุกเฉิน ซึ่งกำลังขับเคลื่อนผ่านโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904 โดยการให้ความรู้ประชาชนให้มีความรู้เรื่องการปฐมพยาบาลและการใช้เครื่อง AED (Automted External Defibrillator หรือเครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ) เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ในการดูแลตัวเองเรื่องต้นก่อนที่ทีมฉุกเฉินจะไปถึง

สปสช. แนวร่วมและแรงหนุน

ด้านสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ดูแลสวัสดิการด้านสุขภาพคนไทยกว่า 48 ล้านคน ได้ปรึกษาหารือกับทางกระทรวงสาธารณสุข เล็งเห็นความจำเป็นในการปฏิรูปห้องฉุกเฉิน จึงมีการออกประกาศตามข้อ 10 วรรคสองของข้อบังคับมาตรา 7 กำหนดเพิ่ม ‘เหตุสมควรอื่นเพื่อลดความแออัดในห้องฉุกเฉินและเพิ่มคุณภาพในการใช้บริการนอกเวลาราชการ’ เพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) และผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและได้รับบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยกำหนดเงื่อนไขการจัดบริการนอกเวลาราชการเฉพาะหน่วยบริการเฉพาะที่มีศักยภาพตามแนวทางบริการฉุกเฉินคุณภาพ โดยแยกจัดบริการเป็น 2 ห้องตามมาตรฐานคือห้องฉุกเฉินคุณภาพเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและเจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีแดงและสีเหลือง) และห้องฉุกเฉินไม่รุนแรงเพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) และที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลา พร้อมแยกระบบข้อมูลบริการนอกเวลาราชการ

การดำเนินการข้างต้นสอดคล้องกับข้อเสนอแนะของ สปสช. โดย นพ.การุณย์ คุณติรานนท์ รองเลขาธิการ สปสช. ที่มีอยู่ 3 ข้อ ได้แก่ การพัฒนาระบบบริการที่มีมาตรฐาน การสร้างระบบสนับสนุนที่มีมาตรฐาน และการพัฒนาและธำรงรักษากำลังคน

นพ.การุณย์ คุณติรานนท์

ในส่วนการสร้างระบบสนับสนุนจะมี 2 หลักคือการพัฒนาอาคารสถานที่และการเชื่อมโยงข้อมูลด้านการแพทย์ฉุกเฉิน ส่วนด้านการพัฒนาและธำรงรักษากำลังคนจะมีการค่าตอบแทนเป็น 4,400 บาทต่อเวรสำหรับแพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน การวางแผนเพิ่มอัตราการผลิตพยาบาลเวชปฏิบัติฉุกเฉินและค่าตอบแทนเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข (พ.ต.ส.) ส่วนสุดท้ายคือการเพิ่มอัตราการผลิตนักปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ พร้อมทั้งผลักดันให้มีใบประกอบโรคศิลปะและกำหนดตำแหน่งในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ สพฉ. วางไว้

นอกจากนี้ สปสช. จะมีการจ่ายชดเชยค่าบริการสาธารณสุขนอกเวลาราชการในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการนี้ ซึ่งเริ่มไปเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยในปีงบประมาณ 2563 มีโรงพยาบาลร่วมนำร่องจำนวน 34 แห่ง ซึ่งผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย

“สปสช.มีนโยบายสนับสนุนการปฏิรูปห้องฉุกเฉินตามข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุขเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับบริการที่มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้ห้องฉุกเฉินเป็นพื้นที่ดูแลเฉพาะรับผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตและผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินเร่งด่วนเท่านั้น ขณะเดียวกันเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงและผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับบริการนอกเวลาราชการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากช่วยลดความแออัดในห้องฉุกเฉินแล้วยังลดความขัดแย้งระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยและญาติในความเห็นที่ไม่ตรงกันกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน” นพ.การุณย์ เคยกล่าวกับ HFocus

จุดนี้ต้องเติมข้อมูลเรื่องการพัฒนาอาคารสถานที่ เพราะผู้อ่านอาจสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการปฏิรูปห้องฉุกเฉินอย่างไร

ขณะที่ นพ.เอกภักดิ์ อธิบายว่า เดิมทีโรงพยาบาลเป็นของราชการโครงสร้างอาคารต่างๆ ไม่รองรับกับระบบสมัยใหม่จึงต้องมีการปรับแต่งเปลี่ยนแปลง เช่น แนวทางการรักษาของต่างประเทศ รถฉุกเฉินจะต้องเข้า-ออกตามช่องทางที่กำหนด เพื่อให้การลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินมีประสิทธิภาพ เป็นต้น

อนาคตที่แสนท้าทาย

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ยังเพิ่มเติมมาตรการที่จะต้องพัฒนาต่อในอนาคต นั่นก็คือระบบอำนวยการทางการแพทย์ฉุกเฉิน เขาขยายความว่า

“คำว่าการแพทย์ฉุกเฉินหลายคนจะคิดถึงเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล แต่ความจริงแล้วคำว่าการแพทย์ฉุกเฉินคือตั้งแต่เกิดเหตุ มีคนไปโทรแจ้ง มีคนไปรับที่จุดเกิดเหตุ นำคนไข้ไปส่งห้องฉุกเฉิน แล้วเลยไปถึงห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลหรือส่งต่อ เพราะฉะนั้นระบบการแพทย์ครอบคลุมทั้งในและนอกโรงพยาบาล ดังนั้น ส่วนที่สำคัญคือถ้าแพทย์ฉุกเฉินทำงานแต่ในห้องฉุกเฉินก็จะเป็นแบบตั้งรับแบบเดิม แต่เราพยายามพัฒนากลุ่มแพทย์ฉุกเฉินให้มีความเฉพาะทางขึ้นไปอีก ให้เป็นแพทย์อำนวยการฉุกเฉินในการดูเคสฉุกเฉินนอกโรงพยาบาลว่าสมควรเข้าโรงพยาบาลไหน

“เดิมทีเมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น โทรเรียกศูนย์ ศูนย์ส่งรถไป รถก็นำส่ง มันจะเป็นเพียงแค่การขนส่งแต่ระบบใหม่ที่ควรจะต้องพัฒนาก็คือต้องมีแพทย์คอยคุมการปฏิบัติงานของหน่วยหรือของทีมที่ออกไปปฏิบัติงานทั้งที่อยู่ในศูนย์รับแจ้งและที่จุดเกิดเหตุ แบบนี้อาจจะรักษาที่จุดเกิดเหตุแล้วจบเลยก็ได้ ไม่ต้องพามาที่ห้องฉุกเฉิน แต่ว่าหมอเป็นคนสั่งหรือหมออาจเห็นว่าโรงพยาบาลนี้คนไข้แน่น ไปอีกโรงพยาบาลหนึ่งที่มีศักยภาพใกล้เคียงกันและรับคนไข้เฉพาะทางได้ตรงจุด เรื่องนี้ สพฉ. กำลังทำและนำร่องในเขตสุขภาพที่ 6 7 และ 1 สิ่งเหล่านี้จะทำให้กลไกมีประสิทธิภาพสูงขึ้น”

นอกจากนี้ ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็กำลังส่งผลต่อการแพทย์ฉุกเฉินในอนาคต โดยเฉพาะบทบาทของภาคเอกชน ร.อ.อัจฉริยะ อธิบายว่า เวลาพูดถึงภาคเอกชนสามารถแยกได้เป็น 2 ส่วนคือองค์กรที่ไม่แสวงกำไร เช่น มูลนิธิและสมาคมต่างๆ กับส่วนที่เป็นโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่เราจะมาพิจารณากัน

“ส่วนของโรงพยาบาลเอกชนในอดีตมีบทบาทเข้ามาช่วยในระบบการแพทย์ฉุกเฉินไม่มาก เพราะเป็นการสมัครใจ ไม่ทำก็ได้ แต่ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมามีกฎหมายและมติ ครม. เรื่องโครงการฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ ทำให้โรงพยาบาลเอกชนทุกแห่งต้องเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ แต่ส่วนใหญ่เป็นการตั้งรับคือคนไข้ฉุกเฉินเข้าโรงพยาบาลเอกชนแล้วไม่เสียค่าใช้จ่ายถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินวิกฤต

“บทบาทในอนาคตควรจะเป็นอย่างไรผมเรียนว่าเราคงไม่สามารถไปบังคับให้โรงพยาบาลเอกชนมาทำเป็นหน่วยฉุกเฉินได้ แต่ผมเชื่อว่าจะเกิดเทรนด์ใหม่คือระบบบริการฉุกเฉินสำหรับเอกชนที่แสวงหากำไร อาจจะมีบริษัทเอกชนที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำ ambulance service ซึ่งก็คงต้องเข้ามาอยู่ในระบบมาตรฐานเดียวกันกับระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ทำไมตลาดนี้กำลังจะโต หนึ่ง เพราะจำนวนคนเพิ่มขึ้น คนแก่ขึ้นเรื่อยๆ เวลาเจ็บป่วยไม่สบายไปหาหมอ เขาอาจจะนั่งไม่ได้ เขาอาจต้องการรถนอนแต่รถนอนที่อยู่ในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน ก็ไม่เพียงพอที่จะให้บริการกลุ่มนี้ทำให้อาจมี private ambulance service เกิดขึ้น”

ปัจจุบัน แม้จะยังไม่มีกฎหมายรองรับ แต่ธุรกิจประเภทนี้ก็เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งทาง สพฉ. ได้ทำการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการกำกับดูแลมาตรฐาน คำถามที่ท้าทายต่อจากนี้ก็คือจะมีการดึงบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินออกจากระบบรัฐหรือไม่ ร.อ.นพ.อัจฉริยะ ตอบว่า

“ถ้ามันโฟลว์เป็นระบบเดียวกันคงไม่กระทบ แต่ถ้ามองว่าตัว public emergency service ต้องเป็นภาครัฐเท่านั้น อันนี้กระทบแน่ คนจะไหลออกไปเพราะได้เงิน และเป็นราคาที่ตกลงกัน ขณะที่ราคาที่รัฐจ่าย 350 บาทถึง 500 บาท ซึ่งต่างกันมาก ตรงนี้คงต้องมากำหนดกลไกพอสมควรในการควบคุม”

ทั้งหมดนี้เป็นแนวทางปฏิรูปห้องฉุกเฉินที่กำลังดำเนินไป เพื่อให้การบริการประชาชนมีประสิทธิภาพ พร้อมกันนั้น สถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทั้งการเป็นสังคมผู้สูงอายุ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 การมีบทบาทเพิ่มขึ้นของภาคเอกชน เป็นต้น และนี่เป็นความท้าทายที่หน่วยงานด้านสาธารณสุขต้องเร่งรับมือ

เขียน : กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล



โดย: หมอหมู วันที่: 13 เมษายน 2564 เวลา:22:02:39 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]