Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

ข้อเท็จจริงเรื่องการทำแท้งในประเทศไทย ... ทำแท้ง กฏหมาย แพทยสภา




ข้อเท็จจริงเรื่องการทำแท้งในประเทศไทย

การทำแท้งหรือการยุติการตั้งครรภ์ เป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันอย่างมากทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายต่อต้าน

ในฝ่ายสนับสนุน

เห็นว่าควรเป็นสิทธิของผู้ตั้งครรภ์ ในการที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้ กรณีที่เป็นการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ เพราะหากปล่อยไว้จนคลอดออกมาจะเกิดปัญหาสังคมตามมา หรือไปทำแท้งกับหมอเถื่อนที่ไม่ใช่แพทย์จนเป็นอันตรายต่อชีวิตของหญิงที่ตั้งครรภ์ได้ (แม้ทำแท้งอย่างถูกต้องโดยแพทย์ก็เป็นอันตรายได้เช่นกัน)

ในฝ่ายต่อต้าน

คำนึงถึงด้านศีลธรรมในเรื่องการทำลายชีวิตที่เกิดมาแล้วในครรภ์นั้น ถือว่าเป็นการฆ่าคนคนหนึ่งเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นบาปขั้นร้ายแรงอย่างหนึ่ง และคำนึงถึงสิทธิของชีวิตที่ได้อุบัติขึ้นแล้วควรจะได้เกิดมาเป็นคนคนหนึ่งต่อไป

บางประเทศในยุโรปได้มีกฏหมายทำแท้งเป็นการเฉพาะให้ทำได้โดยความสมัครใจของหญิงตั้งครรภ์ โดยไม่มีเงื่อนไขในเรื่องเหตุผลของการทำแท้ง เพียงกำหนดอายุครรภ์ที่จะทำแท้งได้เท่านั้น เช่น ไม่เกิน 12 สัปดาห์หรือไม่เกิน 28 สัปดาห์ ที่เรียกว่า การทำแท้งเสรี ในประเทศดังกล่าวจึงอาจมีชาวต่างชาติมาขอทำแท้งในประเทศนั้นได้ กรณีที่ในประเทศของตนเองไม่สามารถทำแท้งได้


สำหรับประเทศไทย การทำแท้งเป็นการกระทำผิดกฏหมายอาญา ยกเว้นตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฏหมายอาญา ที่ให้ทำได้โดยแพทย์และความยินยอมของหญิงตั้งครรภ์ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

1. การตั้งครรภ์นั้นเป็นปัญหาต่อสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์

2. การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการกระทำผิดอาญาหรือการถูกข่มขืน


ในทางการแพทย์ปัญหาสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์นั้นคำนึงถึงสุขภาพจิตร่วมด้วย(ยังมีข้อสงสัยว่าการกำหนดดังกล่าวกระทำเกินกว่าที่กฎหมายข้างต้นกำหนด)

การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์และกรณีที่ทราบว่าทารกในครรภ์มีหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการรุนแรงหรือเป็นโรคพันธุกรรมรุนแรง แม้ไม่เป็นอันตรายต่อหญิงตั้งครรภ์ก็อาจทำแท้งได้ โดยอาศัยเหตุที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิต ได้แก่ ความเครียดอย่างรุนแรง ซึ่งโดยข้อบังคับแพทยสภาได้กำหนดให้มีการประเมินและให้คำแนะนำจากแพทย์อีกท่านหนึ่งที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้งร่วมประเมินและรับรองด้วย

ในทางปฏิบัติสำหรับกรณีที่ทราบว่าทารกในครรภ์นั้นจะมีหรือเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการหรือเป็นโรคพันธุกรรมรุนแรง แพทย์อาจพิจารณาทำแท้งได้ ได้แก่ หญิงตั้งครรภ์ป่วยเป็นหัดเยอรมันในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการรุนแรง ตรวจน้ำคร่ำพบว่ามีความผิดปกติทางพันธุกรรม ได้แก่ เป็นเด็กปัญญาอ่อนดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) เป็นโรคเลือด เช่น ธาลัสซีเมียขั้นรุนแรง (อย่างไรก็ตามมีข้อพึงพิจารณาว่าผู้พิการตามตัวอย่างดังกล่าวก็สามารถมีพัฒนาที่ดีได้ และโรคเลือดธาลัสซีเมียปัจจุบันก็อาจรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก)เป็นต้น

สำหรับกรณีที่เป็นข่าวเกิดขึ้นและอาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยเปิดโอกาสให้มีการทำแท้งได้เช่นเดียวกับประเทศที่มีกฏหมายทำแท้งเสรีแล้วหรือ คือ กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โรงพยาบาลและแพทย์ผู้ดูแลการตั้งครรภ์ ประกอบด้วย สูตินรีแพทย์และรังสีแพทย์ ในความผิดฐานละเมิดไม่สามารถตรวจว่าเด็กที่จะคลอดออกมามีความพิการของแขนและขาข้างหนึ่ง ทำให้เสียโอกาสในการที่จะพิจารณายุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้งจึงให้จำเลยทั้ง 3 ชดใช้เป็นเงิน 12 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย โดยศาลอ้างข้อบังคับของแพทยสภาว่าให้ทำได้

โดยข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายความพิการรุนแรง ที่แพทย์จะให้ข้อมูลและพิจารณาตัดสินใจทำแท้งได้ในประเทศไทย (ยกเว้นจะไปทำแท้งในประเทศที่มีกฏหมายทำแท้งเสรีเท่านั้น) เนื่องจากความพิการดังกล่าวสามารถฟื้นฟูได้

ทั้งการตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง(อัลตร้าซาวด์)ในอายุครรภ์ 18 สัปดาห์ รังสีแพทย์ได้ตรวจพบว่ามีแขนขา ศีรษะ ลำตัวอวัยวะสำคัญต่อการมีชีวิตของทารกมีครบถ้วนอย่างสมบูรณ์แล้ว คำนวณตามขนาดแล้วใกล้เคียงกับอายุครรภ์จึงวินิจฉัยว่าทารกมีชีพปกติตามอายุครรภ์ ชื่งไม่ได้หมายความว่าเด็กจะไม่มีความพิการที่อาจไม่สามารถตรวจพบได้เช่นกรณีดังกล่าว

ทั้งกรณีนี้มารดาอายุ 33 ปีเคยคลอดบุตรปกติ 2 คน ไม่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีข้อบ่งชี้ต้องได้รับการตรวจติดตามด้วยคลื่นความถี่สูงอีกครั้งแต่อย่างใด ทั้งระหว่างติดตามในช่วงการฝากครรภ์ทารกมีการเจริญเติบโตเหมาะสมจนคลอดได้ปกติ ในทางมาตรฐานทางการแพทย์เป็นการประกอบวิชาชีพที่ดีที่สุดแล้วสำหรับสูตินรีแพทย์และรังสีแพทย์ การที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานละเมิดดังกล่าวอาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อสังคมได้ว่าความพิการดังกล่าวเกิดจากการที่แพทย์ให้การดูแลไม่ถูกต้อง และ การทำแท้งในประเทศไทยไม่อนุญาตให้ทำแท้งได้ในกรณีดังกล่าว และแพทย์พึงให้การดูแลฝากครรภ์ตามมาตรฐานที่ดีที่สุดต่อไปโดยเฉพาะการทำอัลตร้าซาวด์ตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ชึ่งไม่ใช่ทารกทุกรายต้องได้รับการตรวจครับ


ด้วยความปรารถนาดีจาก

นายแพทย์สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์
ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา

.......................................................


ทำแท้ง กฏหมาย แพทยสภา

การทำแท้ง หรือการยุติตั้งครรภ์เป็นปัญหา ทั้งทางสังคม ทางการแพทย์ และทางกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อน และหลากหลายในประเด็นต่างๆ ที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงการต่างๆ อยู่อย่างต่อเนื่อง. ล่าสุดได้มีข่าวใหญ่ที่ได้มีการจับกุมแพทย์คนหนึ่งสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการทำแท้งที่คลินิกส่วนตัว ซึ่งทันทีที่มีการจับกุม แพทยสภาก็ได้ดำเนินการตรวจสอบ และพิจารณาในเรื่องจริยธรรมของแพทย์ ดังกล่าวทันที.

การทำแท้งนั้นสามารถกระทำได้โดยถูกกฎหมาย ในบางกรณีตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งบัญญัติไว้ดังนี้

มาตรา 301 หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือ ยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 302 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นยินยอมต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

มาตรา 305 ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าว ในมาตรา 301 และมาตรา 302 นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์และ
(1) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของ หญิงนั้น หรือ
(2) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 276 มาตรา 277 มาตรา 282 มาตรา 283 หรือมาตรา 284
ผู้กระทำไม่มีความผิด

ขณะนี้มีร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญามาตรา 305 ที่เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำลังรอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอยู่ โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมให้แพทย์สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้เพิ่มจากเดิมอีก โดยได้บัญญัติให้ชัดเจนว่า สามารถกระทำได้เพื่อสุขภาพจิตของมารดา และ เพื่อสุขภาพของทารกในครรภ์ด้วยซึ่งเป็นกรณีที่หลายๆฝ่ายเห็นว่า ควรได้รับการยกเว้นให้กระทำได้ เพราะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย ซึ่งเป็นหญิงที่ตั้งครรภ์แล้วมีปัญหา แต่ขณะที่กำลังรอร่างกฎหมายฉบับนี้อยู่ แพทยสภาก็ได้มีข้อบังคับของแพทยสภาในเรื่องการยุติการตั้งครรภ์ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แล้วดังนี้

ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วย
หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์
ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 (3) (ฎ) และด้วยความเห็นชอบของสภานายกพิเศษตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย คณะกรรมการแพทยสภาออกข้อบังคับ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ข้อบังคับนี้เรียกว่า "ข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2548"Ž

ข้อ 2 ข้อบังคับนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 3 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น จะกระทำได้เมื่อหญิงตั้งครรภ์นั้นยินยอม

ข้อ 4 แพทย์ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อบังคับนี้ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามกฎหมาย

ข้อ 5 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 (1) แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
(1) เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางกายของหญิงตั้งครรภ์ หรือ
(2) เป็นกรณีที่จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากปัญหาสุขภาพทางจิตของหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งจะต้องได้รับการรับรอง หรือเห็นชอบจากผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ อย่างน้อยหนึ่งคน

ในกรณีที่หญิงนั้นมีความเครียดอย่างรุนแรง เนื่องจากพบว่าทารกในครรภ์ มีหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะมีความพิการอย่างรุนแรง หรือเป็นหรือมีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคพันธุกรรมอย่างรุนแรง เมื่อหญิงนั้นได้รับการตรวจวินิจฉัยและการปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์ (Genetic counseling) และมีการลงนามรับรองในเรื่องดังกล่าวข้างต้นโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่มิใช่ผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยหนึ่งคน ให้ถือว่าหญิงตั้งครรภ์นั้นมีปัญหาสุขภาพจิตตาม (2)

ทั้งนี้ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่าหญิงนั้นมีปัญหาสุขภาพทางกายหรือทางจิต และต้องมีการบันทึกการตรวจและวินิจฉัยโรคไว้ในเวชระเบียนเพื่อเป็นหลักฐาน

ข้อ 6 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามมาตรา 305 (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น ต้องมีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงอันควรเชื่อได้ว่า หญิงตั้งครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 305 (2) แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ข้อ 7 การยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อ 5 และข้อ 6 ต้องกระทำในสถานพยาบาลดังต่อไปนี้
(1) โรงพยาบาลหรือหน่วยงานของรัฐที่ให้บริการรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน หรือสถานพยาบาลเวชกรรมที่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล ทั้งนี้โดยสามารถปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ได้ตามความเหมาะสม
(2) คลินิกเวชกรรมตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล โดยสามารถปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ที่อายุครรภ์ไม่เกินสิบสองสัปดาห์

ข้อ 8 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อบังคับนี้จะต้องทำรายงานเสนอต่อแพทยสภา ตามเงื่อนไขและระยะเวลาในแบบฟอร์มที่แพทยสภากำหนด

ข้อ 9 ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้กระทำการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับนี้ ให้ถือว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมผู้นั้นประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่รักษามาตรฐานในระดับที่ดีที่สุด

ข้อ 10 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ปฏิบัติเกี่ยวกับการยุติการตั้งครรภ์ทางการแพทย์ตามข้อบังคับนี้ ให้ถือว่าได้กระทำตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ประกาศ ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2548
นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
นายกแพทยสภา


ขอให้แพทย์ที่ตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย โปรดปฏิบัติตามข้อบังคับของแพทยสภาโดยเคร่งครัด.

อำนาจ กุสลานันท์ พ.บ.น.บ., น.บ.ท.,ว.ว. (นิติเวชศาสตร์)
ศาสตราจารย์คลินิก
เลขาธิการแพทยสภา


 .........................................


แถม ...

อันตรายจากการทำแท้งไม่ปลอดภัย ...

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=24-02-2009&group=4&gblog=73


ทำแท้ง ปัญหาที่ยังไร้ ทางออก ....

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cmu2807&month=18-01-2009&group=4&gblog=67



Create Date : 11 มกราคม 2553
Last Update : 28 ธันวาคม 2561 21:38:59 น. 6 comments
Counter : 500 Pageviews.  

 
สุขสันต์วันจันทร์อันแสนผ่อนคลายนะค้าบ


โดย: ผมชอบกินข้าวมันไก่ วันที่: 11 มกราคม 2553 เวลา:16:53:21 น.  

 


โดย: ริวคิ-mawin-maji-minic วันที่: 11 มกราคม 2553 เวลา:17:02:06 น.  

 
แพทมาส่งเสียงทักทายคุณหมอค่ะ สบายดีมั้ยคะ




โดย: ตัวp_box วันที่: 11 มกราคม 2553 เวลา:17:58:06 น.  

 

มีผู้ตั้งกระทู้ในห้องสวนลุม ผมเลยนำมาเก็บไว้ เผื่อมีคนสงสัยเหมือน จขกท.

//www.pantip.com/cafe/lumpini/topic/L8921092/L8921092.html

ไปอ่านบล๊อกของหมอหมูแล้วงง ใครอ่านแล้วเข้าใจบ้าง vote [ถูกใจ] [แจ้งลบ]

https://www.bloggang.com/viewblog.php?id=cmu2807&date=11-01-2010&group=4&gblog=80

สำหรับ กรณีที่เป็นข่าวเกิดขึ้นและอาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยเปิด โอกาสให้มีการทำแท้งได้เช่นเดียวกับประเทศที่มีกฏหมายทำแท้งเสรีแล้วหรือ คือ กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โรงพยาบาลและแพทย์ผู้ดูแลการตั้งครรภ์ ประกอบด้วย สูตินรีแพทย์และรังสีแพทย์ ในความผิดฐานละเมิดไม่สามารถตรวจว่าเด็กที่จะคลอดออกมามีความพิการของแขนและ ขาข้างหนึ่ง ทำให้เสียโอกาสในการที่จะพิจารณายุติการตั้งครรภ์หรือทำแท้งจึงให้จำเลยทั้ง 3 ชดใช้เป็นเงิน 12 ล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย โดยศาลอ้างข้อบังคับของแพทยสภาว่าให้ทำได้

ทางหมอตรวจพลาด หรือตรวจเจอว่าเด็กไม่สมบูรณ์และได้แจ้งทางพ่อแม่เด็กแล้วแต่ตัดสินใจไม่ทำ แท้งกันแน่ ถ้าอ่านฉบับเต็มของทางบล๊อก เหมือนว่า หมอตรวจพบ แต่ถ้าอ่านตามศาลตัดสิน เหมือนว่า หมอตรวจพลาดคือไม่พบความพิการ ญาติเลยมาฟ้องศาล

จากคุณ : พียอร์น้อยต่อยเตะ [FriendFlock] [Bloggang]
เขียนเมื่อ : 25 ก.พ. 53 00:17:55 [แก้ไข]


คำตอบ ...

ต้องเรียบเรียง เหตุการณ์ นิดหน่อย ก่อน ...เผื่อคนที่ไม่ได้ติดตาม ..

จากข่าว ก็ตัดมาที่สำคัญ ...


ศาล พิเคราะห์แล้วเห็นว่า บันทึกเวชระเบียนของโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 กระทั่งคลอดบุตร ไม่ปรากฏว่ามีการระบุให้โจทก์กลับมาอัลตราซาวด์ซ้ำ รวมถึงไม่ระบุถึงความพิการของทารกในครรภ์ ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยอธิบาย ผลดี ผลเสีย ของบุตรในครรภ์ให้โจทก์ที่ 1 ทราบ ทั้งที่ควรตรวจถึงความพิการของทารกในครรภ์ เพื่อแจ้งให้โจทก์มีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าจะรักษาอย่างไร เป็นความผิดฐานประมาทเลินเล่อ ละเว้นหน้าที่ที่ต้องระวัง อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง

" ขณะที่หากตรวจพบความพิการ การยุติครรภ์ในกรณีที่ไม่ขัดศีลธรรมสามารถทำได้ตามมติของแพทยสภา " แต่ต้องขึ้นอยู่กับตัวผู้ป่วย ประกอบคำแนะนำของแพทย์ สำหรับจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นคู่สัญญากับโจทก์โดยตรง ก็ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 - 3 ด้วย



จากคำตัดสินของศาล ทางแพทยสภา จึงออกมาชี้แจงว่า

" สำหรับประเทศไทย การทำแท้งเป็นการกระทำผิดกฏหมายอาญา ยกเว้นตามมาตรา 305 แห่งประมวลกฏหมายอาญา ที่ให้ทำได้โดยแพทย์และความยินยอมของหญิงตั้งครรภ์ ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ

1. การตั้งครรภ์นั้นเป็นปัญหาต่อสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์

2. การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการกระทำผิดอาญาหรือการถูกข่มขืน "



การ ที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดฐานละเมิดดังกล่าว อาจสร้างความเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อสังคมได้ว่าความพิการดังกล่าวเกิดจากการ ที่แพทย์ให้การดูแลไม่ถูกต้อง และ การทำแท้งในประเทศไทยไม่อนุญาตให้ทำแท้งได้ในกรณีดังกล่าว "



คำตัดสินของศาล ก็คือ

" ไม่มีข้อมูลบันทึกเวชระเบียน ไม่ปรากฏว่ามีการระบุให้โจทก์กลับมาอัลตราซาวด์ซ้ำ รวมถึงไม่ระบุถึงความพิการของทารกในครรภ์ "

" ฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่เคยอธิบาย ผลดี ผลเสีย ของบุตรในครรภ์ให้โจทก์ที่ 1 ทราบ ทั้งที่ควรตรวจถึงความพิการของทารกในครรภ์ เพื่อแจ้งให้โจทก์มีสิทธิที่จะตัดสินใจว่าจะรักษาอย่างไร เป็นความผิดฐานประมาทเลินเล่อ ละเว้นหน้าที่ที่ต้องระวัง อันเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง "




ไม่ได้มีอะไรขัด แย้งกับคำตัดสินของศาล เลยครับ .. . เป็นการชี้แจง ให้ประชาชนเข้าใจว่า ในกฏหมายระบุไว้อย่างนี้ ... ก็เท่านั้นเองครับ ..

จากคุณ : หมอหมู [FriendFlock] [Bloggang]
เขียนเมื่อ : 25 ก.พ. 53 18:06:42 [แก้ไข]




แถม คำตอบของหมอก้อนหิน ..

ผมงงตรงที่บอกว่า "ทำให้เสียโอกาสในการยุติการตั้งครรภ์มากกว่า"
เพราะว่า การพิการแขนหรือขาของทารก มิได้เป็นข้อบ่งชี้ในการยุติการตั้งครรภ์ตามกฎหมายไทยนะครับ

เพราะข้อบ่งชี้ในการยุติการตั้งครรภ์ (ทำแท้ง) คือ

1. การตั้งครรภ์นั้นเป็นปัญหาต่อสุขภาพของผู้ตั้งครรภ์ เช่น แม่เป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วรุนแรง ถ้าหากปล่อยให้คลอด อาจจะหัวใจวายเสียชีวิตระหว่างคลอดได้ ก็จะยุติการตั้งครรภ์ครับ

2. การตั้งครรภ์นั้นเกิดจากการกระทำผิดอาญาหรือการถูกข่มขืน

3. ทารกในครรภ์มีความพิการอย่างรุนแรง รุนแรงในที่นี้หมายถึง คลอดออกมาแล้วก็ไม่สามารถอยู่ได้นาน หรือตายในครรภ์ เช่น พิการแบบไม่มีกระโหลกศีรษะ ไม่มีศีรษะ

ส่วนเรื่องสุขภาพจิตของมารดา ผมมองว่าเป็นข้ออนุโลมที่ไม่น่าจะอนุโลม

ไม่งั้นหมอที่ทำแท้งเถื่อนอาจจะอ้างว่า เพราะทารกในครรภ์ส่งผลต่อสุขภาพจิตของมารดา ก็เลยอ้างว่าตัวเองทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย

แก้ไขเมื่อ 25 ก.พ. 53 00:49:08

จากคุณ : หมอก้อนหิน [FriendFlock] [Bloggang]
เขียนเมื่อ : 25 ก.พ. 53 00:43:33 [แก้ไข]



โดย: หมอหมู วันที่: 25 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:18:11:04 น.  

 
//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1306503863&grpid=&catid=19&subcatid=1904

วงเสวนาชี้"ทำแท้งเสรี"เกิดยากเหตุข้อจำกัดทางวัฒนธรรม

วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 08:30:58 น.


เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ที่ห้อง 207 ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) นักมานุษยวิทยาศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จัดสัมนาวิชาการเรื่อง "มิติทางเพศของการทำแท้ง เรือนร่างผู้หญิงกับวัฒนธรรมไทย:"

โดยนางสุชาดา ทวีสิทธิ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เรื่องการทำแท้งในสังคมไทยเป็นเรื่องที่สังคมให้การวิพากษ์วิจารณ์กันมาก เพราะยังไม่ยอมรับ การทำแท้งที่เกิดขึ้นจึงเป็นการลักลอบทำแบบผิดกฏหมาย ส่วนการทำแท้งที่กฎหมายอนุญาตนั้นจะทำได้ต่อเมื่อผู้หญิงถูกข่มขืน หรือเด็กที่เกิดมาอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายของแม่


ทั้งนี้ การทำแท้งในสังคมไทยผู้หญิงจะถูกแรงกดดันจากสังคม เพราะโครงสร้างของสังคมไทยส่วนใหญ่มองว่าเป็นเรื่องของบาป บุญ คุณ โทษ ผู้หญิงทำแท้งยังต้องถูกสังคมแบบที่ชายเป็นใหญ่วิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นแม่ใจยักษ์ทำร้ายลูกตัวเอง ทั้งที่ความเป็นจริงเรื่องการตั้งครรภ์ในสภาวะที่ยังไม่พร้อมนั้นผู้ชายควรจะมีส่วนรับผิดชอบในความผิดที่ตัวเองมีส่วนร่วมก่อขึ้นด้วย


"การทำแท้งในสภาพความเป็นจริงควรจะเป็นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลที่ดำเนินการได้ เพราะความพร้อมในการตั้งครรภ์ของผู้หญิงแต่ละคนมีปัจจัย ขีดจำกัดที่ไม่เหมือนกัน บางคนท้องตั้งแต่อยู่ในวัยเรียนไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ บางคนแต่งงานแล้วไม่มีความสามารถที่จะเลี้ยงดูลูกได้ เหตุผลแท้จริงที่ผู้หญิงตัดสินใจทำแท้งนั้น แต่ละคนจึงมีปัจจัยที่ไม่เหมือนกัน การที่หมอจะตัดสินใจทำแท้งให้กับผู้หญิงควรจะมองให้มากกว่ามิติที่กฎหมายกำหนด" นางสุชาดากล่าว


นางสุชาดากล่าวอีกว่า การที่หลายฝ่ายมีข้อถกเถียงกันว่าประเทศไทยควรจะมีกฎหมายให้มีการทำแท้งเสรีขึ้นให้เหมาะสมกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป เหมือนกับในต่างประเทศ อย่างประเทศกัมพูชา จีน เวียดนามที่กฎหมายให้สิทธิผู้หญิงทำแท้งได้

อาจต้องมีการหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง ให้กลายเป็นกระแสสังคมได้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันเพื่อหาข้อสรุป เพราะประเทศไทยยังมีข้อจำกัดทั้งในมิติของวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนา อย่างผู้หญิงที่นับถือศาสนาอิสลามจะมองว่าการทำแท้งนั้นขัดต่อหลักของศาสนา การทำความเข้าใจในเรื่องการทำแท้งกับผู้หญิงที่นับถือศาสนาอิสลามจึงเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลานาน


ด้าน พญ.เบญจพร ปัญญายง จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาแม่วัยเยาว์ตั้งครรภ์และคลอดบุตรนั้นเป็นเรื่องที่น่าห่วง เนื่องจากวัยรุ่นตั้งครรภ์มีแน้วโน้มเพิ่มสูงขึ้น อย่างตัวเลขในปี 2552 มีวัยรุ่นหญิงอายุ 15 ปี ตั้งครรภ์ไม่พร้อมสูงถึง 10,000 คน และน่าห่วงเด็กทารกที่เกิดขึ้นจากแม่วัยเยาว์นั้นสุขภาพจะไม่แข็งแรง น้ำหนักน้อยไม่ได้มาตรฐาน เด็กทารกบางคนมีน้ำหนักเพียง 500 กรัม และเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ทั้งที่น้ำหนักเด็กทารกอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานควรอยู่ที่ 2,500 กรัม


"ส่วนอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงที่ไปทำแท้งนั้นจะอยู่ประมาณ 30 คนต่อปี เนื่องจากไม่รู้เท่าทันถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากการทำแท้ง นอกจากนี้มีเด็กวัยรุ่นและผู้หญิงที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อมโทรศัพท์มาปรึกษาเกี่ยวกับการทำแท้งประมาณ 200 คนต่อเดือน หากนับรวมกับผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมและไม่กล้าโทรศัพท์มาปรึกษาตัวเลขจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่น่าห่วงสะท้อนถึงการหาทางออกไม่ได้ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์" พญ.เบญจพรกล่าว


พญ.เบญจพรกล่าวว่า การสอนเรื่องเพศศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนให้รู้ถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกต้องเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ หากไม่มีการให้ความรู้เรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ที่ถูกต้องเพิ่มเติมด้วยแล้ว ตัวเลขการเสียชีวิตของผู้หญิงที่ไปทำแท้งจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะผู้หญิงที่ไปทำแท้งแบบผิดกฎหมายจะไม่รู้ถึงผลกระทบจากการทำแท้ง




โดย: หมอหมู วันที่: 30 พฤษภาคม 2554 เวลา:14:41:13 น.  

 


//www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1306591464&grpid=&catid=19&subcatid=1904

พบหญิงอายุต่ำ20ปี คลอดลูกกว่า 1.5แสนคนต่อปี!! ภาระรัฐต้องจ่าย 300ล้านดูแลสาวทำแท้ง

วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 เวลา 03:59:15 น.


จากกรณีข่าวการสัมมนาเกี่ยวกับมิติทางเพศของการทำแท้งที่มีการหารือถึงแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมสามารถทำแท้งได้อย่างถูกกฎหมายซึ่งโอกาสความเป็นไปได้นั้นเกิดขึ้นได้ยาก ขณะที่ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของวัยรุ่นที่นับวันจะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น อย่างสถิติในปี 2552 มีวัยรุ่นหญิงอายุ 15 ปี ตั้งครรภ์ไม่พร้อมสูงถึง 10,000 รายต่อปีและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น


ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม น.ส.ณัฐยา บุญภักดี ผู้ประสานงานมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพหญิง กล่าวว่า คงจะเป็นเรื่องยากที่จะผลักดันให้การทำแท้งในประเทศไทยเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็มีการหารือถึงการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งให้เข้ากับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

แต่ยังไม่สามารถาหาข้อสรุปได้ เพราะยังมีข้อติดขัดในหลายเรื่อง อาทิ จารีตวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนาของคนในสังคม รวมทั้งความเชื่อเรื่องบุญ บาป ของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีส่วนในการรักษาและให้บริการการทำแท้ง ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ส่วนใหญ่ไม่มีใครกล้าที่รับทำแท้ง

ส่วนการทำแท้งในประเทศไทยที่กฎหมายให้การรองรับนั้นมีอยู่ 3 กรณี คือ 1.ผู้หญิงที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศแล้วตั้งครรภ์ 2.กรณีที่มีความจำเป็นต้องทำเนื่องจากสุขภาพของผู้หญิงนั้นหากปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไปแล้วจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของหญิง และ 3.เด็กหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีแล้วตั้งครรภ์


น.ส.ณัฐยากล่าวอีกว่า จากงานวิจัยเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ไม่พร้อมของผู้หญิงไทยพบว่า ร้อยละ 45 ของผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ไม่พร้อมตัดสินใจที่อยากจะทำแท้งและในจำนวนนี้เมื่อไม่สามารถทำแท้งได้ตามกฎหมายก็ต้องแอบไปทำแท้งผิดแบบผิดกฎหมาย ซึ่งมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้หญิงทั้งเรื่องติดเชื้อในกระแสเลือด มดลูกทะลุ ผู้หญิงหลายคนโชคร้ายก็ถึงขั้นเสียชีวิต

นอกจากนี้ จากตัวเลขผู้หญิงที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ที่มาคลอดลูก โดยกระทรวงสาธารณสุขรวบรวมไว้เมื่อปี 2553 มีจำนวนถึง 150,000 คน

ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อม เพราะผู้หญิงที่คลอดลูกอายุไม่เกิน 20 ปี ส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงวัยเรียนและหลายคนเมื่อตั้งครรภ์ก็ต้องเสียสิทธิทางการเรียนไปโดยปริยาย แม้กฎหมายจะเปิดโอกาสให้วัยรุ่นที่ตั้งครรภ์สามารถไปเรียนหนังสือได้ แต่ในความเป็นจริงก็ไม่มีวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์กล้าไปเรียนหนังสือ

นอกจากนี้ จากข้อมูลของมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพหญิง ยังพบด้วยว่า ภาครัฐต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลผู้หญิงที่ไปทำแท้งเถื่อนรายละ 10,000-15,000 บาท ซึ่งต่อปีภาครัฐจะต้องจ่ายค่าดูแลรักษาผู้หญิงที่ไปทำแท้งประมาณ 300 ล้านบาท


ผู้ประสานงานมูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพหญิง กล่าวด้วยว่า ในหลายๆ ประเทศที่กำลังพัฒนาก็มีกฎหมายทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย อาทิ กัมพูชา เวียดนาม หรืออย่างประเทศเนปาล ก็มีกฎหมายเกี่ยวกับการทำแท้งที่มีความก้าวหน้ามาก โดยกฎหมายระบุว่า ผู้หญิงเนปาลที่มีอายุครรภ์ไม่เกิน 3 เดือน มีสิทธิที่จะทำแท้งได้ หากอายุครรภ์เกิน 3 เดือนต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะยังไม่มีกฎหมายการทำแท้งอย่างปลอดภัย แต่แนวทางแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมที่สามารถทำได้ทันที คือ การให้ความรู้เกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์อย่างถูกต้อง รวมทั้งต้องมีบริการการคุมกำเนิดอย่างทั่วถึงให้เหมาะสมกับช่วงวัย และต้องสร้างบริการทางเลือกให้กับผู้หญิงที่ประสบปัญหาตั้งครรภ์ไม่พร้อม อาทิ บ้านพักฉุกเฉิน ศูนย์ให้คำปรึกษาที่เป็นมิตร




โดย: หมอหมู วันที่: 30 พฤษภาคม 2554 เวลา:14:42:42 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]