Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

โรงพยาบาลต้นแบบ...โรงพยาบาลบ้านแพ้ว !? ที่มา hfocus

โรงพยาบาลต้นแบบ...โรงพยาบาลบ้านแพ้ว !?

Thu, 2020-03-12 18:26 -- hfocus

โรงพยาบาลบ้านแพ้ว โรงพยาบาลรัฐแห่งเดียวในประเทศไทยที่ออกนอกระบบราชการ และบริหารงานในรูปแบบองค์การมหาชน (กึ่งรัฐกึ่งเอกชน) เริ่มต้นจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 หรือเรียกกันทั่วไปว่า "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ประเทศไทยอยู่ในสภาพใกล้ล้มละลาย รัฐบาลจำเป็นต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ จึงปฏิรูประบบบริการสุขภาพเพื่อรองรับเงื่อนไขการกู้เงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) โดยให้โรงพยาบาลรัฐออกนอกระบบราชการ คาดหวังจะลดภาระด้านงบประมาณแผ่นดิน และเพิ่มประสิทธิภาพ รัฐบาลยุคนั้นโดยการผลักดันของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เลือกโรงพยาบาลบ้านแพ้ว เป็นโรงพยาบาลนำร่องต้นแบบของโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ

หลังจากพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) พ.ศ.2543 มีผลใช้บังคับ โรงพยาบาลบ้านแพ้วจึงเริ่มต้นทดลองการบริหารงานในระบบใหม่ ตั้งวัตถุประสงค์เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร ประชาชนมีสุขภาพดีเจ็บป่วยน้อยลง ลดการพึ่งพางบประมาณแผ่นดิน ปัจจุบันผ่านการดำเนินงานมาแล้ว 20 ปี สมควรแก่เวลาที่จะประเมินว่าการบริหารของ โรงพยาบาลบ้านแพ้วในรูปแบบนี้ สามารถตอบวัตถุประสงค์ได้ครบถ้วน และควรนำไปใช้เป็นต้นแบบหรือไม่

โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็นโรงพยาบาลขนาด 323 เตียง ตั้งอยู่ในจังหวัดสมุทรสาคร มีโรงพยาบาลสาขา 9 แห่ง เป็นสาขานอกเขตอำเภอบ้านแพ้วที่รับผิดชอบอยู่ถึง 6 แห่ง ได้แก่ ศูนย์แพทย์และทันตกรรม ในศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ศูนย์ล้างไตทางช่องท้องสาขาเจริญกรุงและเทิดไท โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (สาขาพร้อมมิตร) กรุงเทพมหานคร ส่วนใหญ่ให้บริการแก่ข้าราชการ และผู้ป่วยโครงการพิเศษของกองทุนสุขภาพต่างๆ

ปัจจุบันโรงพยาบาลบ้านแพ้วสามารถหารายได้ได้เองเพียงส่วนหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ยังต้องพึ่งพารายได้จากงบประมาณแผ่นดิน ปี 2561 มีรายได้จากงบประมาณแผ่นดินมากกว่า 1,100 ล้านบาท (เป็นงบประมาณจากรัฐบาลโดยตรง 113 ล้านบาท และงบประมาณที่ผ่านกองทุนสุขภาพต่าง ๆ มากกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมีรายได้จากกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการประมาณ 600 ล้านบาท) มากกว่าโรงพยาบาลรัฐอีกสองแห่งในจังหวัดเดียวกันที่มีขนาดใหญ่กว่าคือ 602 เตียง และขนาดใกล้เคียงกันคือ 309 เตียง แต่มีรายได้จากงบประมาณแผ่นดินเพียง 1,000 และ 500 กว่าล้านบาท ตามลำดับ

ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ โดยหากเทียบค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลทั้งหมดต่อประชาชนในเขตรับผิดชอบ โรงพยาบาลบ้านแพ้วมีค่าใช้จ่ายในการดูแลประชาชนหนึ่งคนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงพยาบาลรัฐอีกสองแห่งในจังหวัดเดียวกันประมาณ 3 เท่า หรือหากเทียบค่าใช้จ่ายต่อจำนวนผู้ป่วยก็ยังมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า โดยสูงเป็น 2.8 เท่าต่อผู้ป่วยหนึ่งคน และสูงเป็น 1.4 เท่าต่อการมารับการบริการหนึ่งครั้ง โดยเฉพาะผู้ป่วยกลุ่มข้าราชการสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโรงพยาบาลรัฐอีกสองแห่งถึง 1.5-2.7 เท่าต่อการมารับการบริการหนึ่งครั้ง

เปรียบเทียบประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล ได้แก่ การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคต้อกระจก ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ และศักยภาพในการให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยใน (CaseMix Index: CMI) ก็ไม่ได้แตกต่างจาก รพ.รัฐในระดับเดียวกัน เช่นกัน ด้านความพึงพอใจของผู้มารับบริการ โรงพยาบาลบ้านแพ้วได้รับร้อยละ 83.60 ขณะที่โรงพยาบาลระดับจังหวัดทั่วประเทศได้ร้อยละ 81.32 รักษาบุคลากรไว้ในระบบได้น้อยกว่าโรงพยาบาลรัฐ โดยโรงพยาบาลบ้านแพ้วมีอัตราคงอยู่ร้อยละ 88.87 ขณะอัตราการคงอยู่ของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขคือ ร้อยละ 95.31

โรงพยาบาลบ้านแพ้วยังไม่สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ของการออกนอกระบบ เพราะไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ต้องพึ่งพางบประมาณแผ่นดินเป็นส่วนใหญ่ และพึ่งพามากกว่าโรงพยาบาลรัฐทั่วไป แม้จะดูเสมือนว่าได้รับงบประมาณโดยตรงใกล้เคียงหรือน้อยกว่าเล็กน้อย แต่กลับมีรายได้จากงบประมาณที่ผ่านกองทุนต่างๆ มากกว่า โดยเฉพาะกองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่เป็นรายได้หลัก โรงพยาบาลต้องหารายได้ผ่านกองทุนนี้จากผู้ป่วยนอกเขตรับผิดชอบ และเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐทั่วไป ทั้งที่กองทุนนี้สำหรับโรงพยาบาลรัฐเองก็เป็นกองทุนที่มีค่าใช้จ่ายต่อคนสูงที่สุดอยู่แล้ว กระทั่งรัฐบาลและกรมบัญชีกลางมองว่าเป็นภาระต่องบประมาณ ต้องวางมาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้น หากโรงพยาบาลบ้านแพ้วไม่มีรายได้จากกองทุนนี้ หรือมีในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับโรงพยาบาลรัฐอื่นๆ แล้ว ผลประกอบการน่าจะขาดทุน

ยังไม่สามารถแสดงประสิทธิภาพในการบริหารได้แตกต่างหรือโดดเด่นจาก รพ.รัฐอื่นๆ แม้จะใช้ค่าใช้จ่ายโดยรวม ค่าใช้จ่ายต่อประชาชนในเขตรับผิดชอบ และค่าใช้จ่ายต่อจำนวนผู้ป่วย สูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ แต่ประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลไม่แตกต่างกัน สร้างความพึงพอใจให้กับผู้มารับบริการได้ใกล้เคียงกัน แต่สร้างความพึงพอใจให้กับผู้ให้บริการของโรงพยาบาลเองได้น้อยกว่าพอสมควร

หากนำแนวทางของโรงพยาบาลบ้านแพ้วไปใช้ โดยให้โรงพยาบาลของรัฐทุกแห่งออกนอกระบบราชการ รัฐบาลอาจต้องเพิ่มงบประมาณให้กับระบบบริการสุขภาพของประเทศอีกอย่างน้อย 1.4 เท่าหรือ 1.6 แสนล้านบาท (ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่รัฐให้การสนับสนุนกองทุนสุขภาพ 4 แสนล้านบาทต่อปี) แต่ก็ยังไม่น่าจะเพียงพอ เนื่องจากโรงพยาบาลอื่น ๆ อาจไม่สามารถแสวงหารายได้จากผู้ป่วยนอกเขตรับผิดชอบของตน ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ผู้ป่วยโครงการพิเศษของกองทุนต่างๆ เช่น ผู้ป่วยตรวจสุขภาพ ฟอกไต ผ่าตัดต้อกระจก ได้มากเหมือนที่โรงพยาบาลบ้านแพ้วทำ เพราะเมื่อทุกโรงพยาบาลต้องออกนอกระบบและหารายได้เอง ทุกแห่งก็ต้องพยายามดึงผู้ป่วยกลุ่มนี้ไว้กับตน เนื่องจากเบิกค่ารักษาพยาบาลได้คุ้มค่ามากกว่า

นอกจากนี้ โรงพยาบาลแต่ละแห่งต้องแข่งขันเพื่อหารายได้ ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่าย ทั้งการตั้งหน่วยบริการนอกเขตรับผิดชอบหรือหน่วยบริการเคลื่อนที่สำหรับให้บริการนอกเขต การโฆษณาประชาสัมพันธ์ การซื้อเครื่องมือทางการแพทย์ราคาแพงหรือตั้งศูนย์การแพทย์ด้านต่างๆ ไว้เพื่อสร้างภาพลักษณ์และการแข่งขัน แม้ระบบเดิมจะใช้วิธีมองภาพรวมแล้วเลือกซื้อและจัดตั้งศูนย์การแพทย์ไว้เฉพาะบางโรงพยาบาลตามความเหมาะสม แล้วทำงานประสานกันเป็นเครือข่าย เป็นต้น แต่หากใช้วิธีให้เพียงบางโรงพยาบาลเท่านั้นออกนอกระบบ ก็จะไม่ยุติธรรมกับโรงพยาบาลที่ไม่ได้ออกนอกระบบและประชาชนในเขตรับผิดชอบ เพราะจะถูกดึงรายได้ไป ทำให้มีทุนในการให้การบริการแก่ผู้ป่วยในเขตตนลดน้อยลง

ระบบบริการสุขภาพของไทยแม้ที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จพอสมควร ทุกคนมีหลักประกันสุขภาพ สถานบริการครอบคลุมทุกพื้นที่ คุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น แต่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้โรงพยาบาลรัฐมีประสิทธิภาพ ประชาชนพึงพอใจ ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากขึ้น เป็นสิ่งที่ดีและควรดำเนินต่อไป มีผู้เชี่ยวชาญได้เสนอไว้หลายวิธี ได้แก่ การปรับปรุงโรงพยาบาลรัฐให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยไม่ต้องออกนอกระบบ การให้โรงพยาบาลเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพประชาชนมากขึ้น กระจายอำนาจไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งการให้โรงพยาบาลรัฐออกนอกระบบ

แต่วิธีการให้โรงพยาบาลรัฐออกนอกระบบราชการ โรงพยาบาลที่เป็นต้นแบบนำร่องควรจะพัฒนาจนประสบความสำเร็จตอบสนองวัตถุประสงค์ต่างๆ ได้ครบถ้วนก่อน ไม่เช่นนั้นหากนำมาใช้ นอกจากจะไม่สามารถตอบสนองวัตถุประสงค์แล้ว ยังอาจสร้างปัญหาใหม่ขึ้นมา

เขียน : นพ.ภีศเดช สัมมานันท์ และ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา




Create Date : 12 มีนาคม 2563
Last Update : 12 มีนาคม 2563 21:55:12 น. 0 comments
Counter : 1056 Pageviews.  

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณhaiku, คุณโอน่าจอมซ่าส์, คุณnewyorknurse


ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]