Ortho knowledge for all @ Do no harm patient and myself @ สุขภาพดี ไม่มีขาย ถ้าอยากได้ ต้องสร้างเอง

อุบัติเหตุที่รอวันเกิด ในทุกโรงพยาบาลทั่วไทย ...โดย ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ (กรรมการแพทยสภา)

สุขภาพหรรษา : “อุบัติเหตุที่รอวันเกิด” ในทุกโรงพยาบาลทั่วไทย

 

เมื่อปี 2550 เกิดอุบัติเหตุสายการบินวันทูโกตกที่ภูเก็ต ยังผลให้มีผู้โดยสารพร้อมลูกเรือเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

คำถามที่ตามมาภายหลังคือ “อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินตก” มีสมมติฐานมากมาย อาทิ สภาพอากาศไม่ดี ความบกพร่องทางกายภาพของเครื่องบิน การนำร่องมีปัญหา หรือแม้แต่ “สมรรถภาพของนักบิน!” ทำให้องค์กรที่ควบคุมความปลอดภัยทางการบินนานาชาติต้องยื่นมือเข้ามาสอบสวน เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง อันจะนำไปสู่คำตอบของคำถามที่ว่า “อุบัติเหตุครั้งนี้สามารถป้องกันมิให้เกิดขึ้นได้หรือไม่?”

นอกจากนี้ศาลฝรั่งเศสยังยื่นมือเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการระบุตัวผู้ต้องรับผิดชอบต่อเหตุการณ์เลวร้ายครั้งนี้ ที่แม้จะเกิดขึ้นในประเทศไทยแต่เพราะมีผู้โดยสารชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตร่วมด้วย จึงเป็นที่มาของการรับคำฟ้องจากญาติผู้เสียชีวิตดังกล่าว จนในที่สุดเมื่อไม่นานมานี้ก็มีคำตอบออกมาว่า ... “อุบัติเหตุครั้งนี้เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ หนำซ้ำยังเป็นอุบัติเหตุที่รอวันเกิดขึ้น!!”

ทั้งนี้ ในคำพิพากษาอาศัยข้อเท็จจริงจากผลสอบสวนว่า “เครื่องบินตกเพราะความผิดพลาดในการตัดสินใจนำเครื่องลงจอดท่ามกลางสภาพอากาศที่เลวร้าย” แต่ทว่าความผิดพลาดต่อการตัดสินใจที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์นี้มีต้นเหตุที่แท้จริงคือ “นักบินทำงานเกินชั่วโมงที่กำหนดไว้ต่อสัปดาห์ ทำให้ร่างกายเหนื่อยล้า จิตใจมีความเครียดสะสม ซึ่งเป็นผลจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ”

ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันเฉพาะหน้าที่ต้องตัดสินใจ จึงทำได้ไม่ดีพอ...และสิ่งที่น่าตระหนกอันเป็นเหตุให้ศาลเพิ่มโทษขึ้นไปอีกคือ ผู้บริหารของสายการบินกลับปฏิเสธข้อเท็จจริงว่า...นักบินไม่ได้ทำงานหนักหรือเกินกำหนด! ด้วยความพยายามแก้ไขเอกสารบันทึกชั่วโมงการปฏิบัติงานเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงนี้เอาไว้ใต้พรม...

แต่ในที่สุดเมื่อความจริงถูกเปิดเผยว่า “มีการละเมิดกฎแห่งความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร” ผู้บริหารสายการบินจึงถูกตัดสินให้ต้องโทษจำคุก!!

ย้อนกลับมาใกล้ตัวเรา แต่เปลี่ยนจากงานสายการบิน เป็นงานด้านการช่วยชีวิตผู้ป่วย พบว่า พล็อตเรื่องของสองเหตุการณ์นี้คล้ายกันอย่างมาก แต่มีผลสรุปต่างกันราวฟ้ากับเหว เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ภาระงานของบุคลากรสาธารณสุขไทยทั้งแพทย์และพยาบาลนั้น ถือว่าหนักหนาสาหัสมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆของโลก

 

ทั้งเนื่องจากนโยบายทางการเมืองและการขาดความเอาใจใส่ในการดูแลด้านสุขภาพของตนเอง ผลทำให้แม้อัตราการเกิดน้อยลง แต่กลับมีปริมาณครั้งของการเจ็บป่วยที่ต้องไปรับการรักษาในโรงพยาบาลสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายความว่านโยบายป้องกันโรคของรัฐล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

ทั้งนี้ ดูได้จาก ตัวเลขการเข้ารับการรักษาเฉพาะแบบผู้ป่วยนอกปีละมากกว่า 300 ล้านครั้งและเพิ่มขึ้นทุกๆปี (ทั้งๆที่ประชากรไทยลดลงเรื่อยๆ เหลือเพียง 60 ล้านคนเศษ แสดงว่าแต่ละปีเฉลี่ยแล้วคน 1 คนเข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกปีละ 4-5 ครั้ง หรือไป รพ.เดือนเว้นเดือนนั่นเอง)

ในขณะที่บุคลากรทั้งแพทย์และพยาบาลมีการเพิ่มในอัตราที่จำกัดกว่ามาก จึงไม่น่าแปลกต่อข่าวความไม่พอใจในการรับการรักษาพยาบาลทั้งเรื่อง รอนานและคุณภาพการรักษา และตามมาด้วยการกระทบกระทั่งและความรุนแรงที่แพทย์พยาบาลถูกกระทำ จนนำไปสู่ปัญหาการฟ้องร้องและความสัมพันธ์ที่แย่ลง

ผลการสำรวจจำนวนชั่วโมงการทำงานบุคลากรสาธารณสุขในภาครัฐที่ทำขึ้นล่าสุดเมื่อต้นปี 2562 พบว่า แพทย์พยาบาล 60-70% ต้องทำงานต่อเนื่องกันเกิน 24 ชม.โดยไม่ได้พักผ่อน และหากเทียบเคียงชั่วโมงการทำงานมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่หลายประเทศตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ จะพบว่า แพทย์พยาบาลไทยส่วนใหญ่ล้วนต้องทำงานเกินชั่วโมงทำงานมาตรฐานดังกล่าวไม่น้อยกว่า 2-3 เท่า

หรือพูดให้เห็นภาพชัดขึ้นคือ ทุกวันนี้ในโรงพยาบาลรัฐใช้เงินจ้างแพทย์หรือพยาบาล 1 คนต่อเดือน แต่ “บังคับ” ให้ทำงานเสมือน 2–3 แรง!! ...

แล้วแบบนี้จะไปพูดถึง “ความปลอดภัยของผู้ป่วย” ได้อย่างไร ในเมื่อผู้ที่ต้องปฏิบัติงานยังไม่มีความปลอด ภัยในตัวเองเลย...ผลการสำรวจเรื่องมาตรวัดความสุข มีบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศนับหมื่นคนตอบกลับมาว่า ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 ทำงานแบบไม่มีความสุข

 

ผลการสำรวจเรื่องความผิดพลาดในการรักษา พบว่าอย่างน้อย 60-70% ยอมรับว่ามีหรือเคยพบเห็นความผิดพลาดเกิดขึ้นในโรงพยาบาลที่ปฏิบัติงานอยู่...ทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้ในทุกโรงพยาบาลล้วนมี “อุบัติเหตุที่รอวันเกิดขึ้น” อยู่ทุกวัน และที่สำคัญคือ “อุบัติเหตุนี้เป็นสิ่งที่ป้องกันหรือแก้ไขได้ แต่กลับถูกละเลยไม่มีใครกล้าหาญพอที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขที่สาเหตุ”...

หรือเพราะทุกครั้งที่มีการเรียกร้องให้กำหนดชั่วโมงมาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับบุคลากรสาธารณสุขขึ้นมา ก็จะตามมาด้วยคำถามว่า “แล้วจะหาใครมาทำงาน?” แต่ไม่มีใครถามว่า “แล้วความปลอดภัยของผู้ป่วยนั้น ใครกันแน่ที่ต้องรับผิดชอบ”

อุบัติเหตุสายการบินวันทูโก จบลงด้วยคำพิพากษาที่เสมือนเป็นคำสั่งเตือนมายังผู้บริหารสายการบินทั่วโลก แต่อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในระบบสาธารณสุขไทย ยังจบลงด้วยพล็อตนิยายอมตะอันไม่เคยเปลี่ยนแปลง

คือการตั้งกรรมการสอบผู้ปฏิบัติงาน การเล่นข่าวผ่านสื่อ และปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำซาก โดยไม่เคยมีการแก้ปัญหาที่สาเหตุแต่อย่างใด...

เมื่อไรเราจะมีอัศวินขี่ม้าขาวหรือรัฐบุรุษ ที่ทำทุกอย่างไม่ใช่เพื่อคะแนนเสียง แต่เพื่อป้องกันอนาคตที่ดีกว่าของระบบสาธารณสุขไทย.

ผศ.นพ.เมธี วงศ์ศิริสุวรรณ (กรรมการแพทยสภา)




Create Date : 08 ธันวาคม 2562
Last Update : 8 ธันวาคม 2562 16:19:32 น. 0 comments
Counter : 2716 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

หมอหมู
Location :
กำแพงเพชร Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 762 คน [?]




ผมเป็น ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือ อาจเรียกว่า หมอกระดูกและข้อ หมอกระดูก หมอข้อ หมอออร์โธ หมอผ่าตัดกระดูก ฯลฯ สะดวกจะเรียกแบบไหน ก็ได้ครับ

ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ เป็นแพทย์เฉพาะทางสาขาหนึ่ง ซึ่งเมื่อเรียนจบแพทย์ทั่วไป 6 ปี ( เรียกว่า แพทย์ทั่วไป ) แล้ว ก็ต้องเรียนต่อเฉพาะทาง ออร์โธปิดิกส์ อีก 4 ปี เมื่อสอบผ่านแล้วจึงจะถือว่าเป็น แพทย์ออร์โธปิดิกส์ โดยสมบูรณ์ ( รวมเวลาเรียนก็ ๑๐ ปี นานเหมือนกันนะครับ )

หน้าที่ของหมอกระดูกและข้อ จะเกี่ยวข้องกับความเจ็บป่วย ของ กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ข้อ และ เส้นประสาท โรคที่พบได้บ่อย ๆ เช่น กระดูกหัก ข้อเคล็ด กล้ามเนื้อฉีกขาด กระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน เป็นต้น

สำหรับกระดูกก็จะเกี่ยวข้องกับกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน กระดูกข้อไหล่ จนถึงปลายนิ้วมือ กระดูกข้อสะโพกจนถึงปลายนิ้วเท้า ( ถ้าเป็นกระดูกศีรษะ กระดูกหน้า และ กระดูกทรวงอก จะเป็นหน้าที่ของศัลยแพทย์ทั่วไป )

นอกจากรักษาด้วยการให้คำแนะนำ และ ยา แล้วยังรักษาด้วย วิธีผ่าตัด รวมไปถึง การทำกายภาพบำบัด บริหารกล้ามเนื้อ อีกด้วย นะครับ

ตอนนี้ผม ลาออกจากราชการ มาเปิด คลินิกส่วนตัว อยู่ที่ จังหวัดกำแพงเพชร .. ใช้เวลาว่าง มาเป็นหมอทางเนต ตอบปัญหาสุขภาพ และ เขียนบทความลงเวบ บ้าง ถ้ามีอะไรที่อยากจะแนะนำ หรือ อยากจะปรึกษา สอบถาม ก็ยินดี ครับ

นพ. พนมกร ดิษฐสุวรรณ์ ( หมอหมู )

ปล.

ถ้าอยากจะถามปัญหาสุขภาพ แนะนำตั้งกระทู้ถามที่ .. เวบไทยคลินิก ... ห้องสวนลุม พันทิบ ... เวบราชวิทยาลัยออร์โธปิดิกส์ หรือ ทางอีเมล์ ... phanomgon@yahoo.com

ไม่แนะนำ ให้ถามที่หน้าบล๊อก เพราะอาจไม่เห็น นะครับ ..




New Comments
[Add หมอหมู's blog to your web]