กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
กุมภาพันธ์ 2567
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
2526272829 
space
space
17 กุมภาพันธ์ 2567
space
space
space

ปัญญา ชี้นำเข้ามาและเดินหน้าในทางสายกลาง  


 
235ปัญญา ที่ชี้นำ ให้เข้ามา และเดินหน้าไปในทางสายกลาง  
 

     ตอนนี้ขอโยงมาสู่ธรรมสำคัญ  คือ  เรื่องทางสายกลาง และความไม่ประมาท เป็นการขอพูดในเรื่องธรรมที่โยง กับ สังเวชนียสถานที่ได้ไป  คือ  
 
        - ตอนแสดงธรรมจักรที่ป่าอิสิปตนะฯ ได้แก่  หลักทางสายกลาง
 
        - ตอนมาถึงที่ปรินิพพาน  ณ  กุสินารา ได้แก่หลักความไม่ประมาท  ธรรมเหล่านี้โยงกันหมด
 
     ก่อนจะพูดสองหลักสองเรื่องนั้น   ก็ขอยกตุ๊กตาขึ้นมาก่อน
 
     เมื่อเรามาประเทศอินเดีย  ก็ได้เห็นแล้วว่า  ประเทศอินเดียนี้รกรุงรัง สกปรก ไม่เป็นระเบียบแค่ไหน แต่ท่านมหาสุทินบอกว่า คนอินเดียนี่ไม่เป็นโรคเส้นประสาท และอยู่สุขสบายดี
 
     หันมาดูอีกด้านหนึ่ง คือ  ฝรั่ง ประเทศฝรั่งมีความเจริญ มีความเป็นระเบียบ สังคมเขามีความก้าวหน้า มีเทคโนโลยีทันสมัย เขาจัดสรรสิ่งทั้งหลายและสังคมให้เรียบร้อยได้พอสมควร  แต่พร้อมกันนั้น ก็มีปัญหาโรคจิต และโรคประสาทอะไรต่างๆ มาก
 
     ทั้งสองสังคมมีทั้งข้อดี และข้อเสียของตนเอง  สองอย่างนี้เป็นทางเลือกว่า อันไหนดีกว่ากัน  เราควรจะเอาอย่างไหน อย่างใดอย่างหนึ่งหรืออย่างไร
 
     พระพุทธศาสนาบอกว่า มันไม่ใช่ทางเลือก  ที่จะต้องเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง  เราสามารถทำสิ่งที่ดีกว่านี้ได้  สองอย่างนี้น่าจะเป็นสุดโต่งสองทางมากกว่า   มันเป็น ที่สุด ๒ อย่าง มากกว่าจะเป็นทางเลือก   ในแง่ของชาวพุทธ เราจะไม่ยอมถ้ามันยังมีส่วนเสียอยู่
 
     ในส่วนอินเดียที่ใจสุขสบาย  แต่สกปรกรกรุงรัง อย่างนี้เราคงจะไม่เอา เรายังไม่ยอม ส่วนฝรั่งที่ว่ามีความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เป็นต้น แต่จิตใจคร่ำเครียดมีทุกข์มาก เราก็ไม่เอาเหมือนกัน
 
     ชาวพุทธเราถือว่า คนเราพัฒนาได้ มันต้องมีดีกว่านี้   แสดงว่าทั้งสองทางนี้คงผิด มีอะไรที่มันพลาดได้
 
     ก็ต้องถามว่า แล้วอะไรคือความพอดี  ที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้  ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา แปลว่า  ทางสายกลาง ก็คือทางแห่งความพอดี  พอดีมีความหมายอย่างไร หรือทางสายกลางมีความหมายอย่างไร
 
     “ทางสายกลาง”  ไม่ใช่หมายความว่า เขาอยู่กันสองฝ่าย เราก็ไป อยู่กึ่งกลางระหว่างสองฝ่ายนั้น บางคนคิดว่าอย่างนั้น  มีอยู่สองฝ่าย เราก็อยู่ตรงกลาง เรียกว่าสายกลาง
 
     พวกหนึ่งกินเหล้ามากๆ  พวกหนึ่งกินน้อยๆ  เราก็กินกลางๆ  อย่างนี้หรือเรียกว่าทางสายกลาง  ถ้าหากว่ามีแต่คนทำชั่ว พวกหนึ่งทำชั่วมาก  พวกหนึ่งทำชั่วน้อย  เราก็เลยทำชั่วกลางๆ
 
     อย่างนี้ไม่ใช่ทางสายกลาง  แต่เป็นครึ่งๆกลางๆ  ไม่เป็นมัชฌิมาปฏิปทาในพระพุทธศาสนา
 
     ดังนั้น   ต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดว่า ทางสายกลาง นั้น ไม่ใช่ไปอยู่กึ่งกลางระหว่างสองฝ่าย แต่ต้องมีหลักการที่แน่นอนชัดเจน ทางสายกลางมีหลักการอย่างไร เป็นเรื่องที่สำคัญ
 
     ทางสายกลาง นั้น มีหลักพื้นฐานอยู่อย่างหนึ่ง ก่อนที่จะพูดถึงหลักอื่นๆ ก็คือว่า ในทางสายกลางนี้  จะเห็นว่าสัมมาทิฏฐิ  ความเห็นชอบ หรือปัญญาเห็นชอบ เป็นข้อต้น ตรงนี้แหละสำคัญ  เป็นตัวให้หลัก   พื้นฐานคือ  ต้องมีปัญญา  ต้องมีความรู้  ต้องเข้าใจถูกต้อง  แต่ยังมีข้อปลีกย่อยที่เป็นองค์ประกอบอื่นๆ อีก ในระบบที่เป็นทางสายกลางนี้
 
     ตอนนี้   ขอให้เป็นข้อสังเกตเบื้องต้นก่อนว่า  ปัญญาเห็นชอบ หรือความเข้าใจถูกต้องนี้  เป็นพื้นฐาน หรือเป็นตัวกำหนดที่สำคัญของทางสายกลาง
 
     จะขอยกตัวอย่างหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องทางสายกลาง ในชีวิตประจำวัน เช่น เรื่องการกินอาหาร
 
     การกินอาหารให้ถูกต้องก็เป็นเรื่องทางสายกลางเหมือนกัน คือ การกินพอดี
 
     กินพอดี  ที่เป็นทางสายกลางนั้น วัดได้อย่างไร  เอาอะไรเป็นเกณฑ์วัด ถ้าเห็นอันนี้แล้ว ก็เป็นตัวอย่างของทางสายกลางแบบง่ายๆ
 
     กินพอดี  คนจำนวนมากเอาอะไรเป็นเกณฑ์ในการกิน ขอให้สังเกตดู เขาจะใช้ความอร่อยเป็นเกณฑ์  คนที่ยังไม่มีการศึกษา ยังไม่ได้ฝึกฝนพัฒนา ไม่มีโยนิโสมนสิการ ไม่มีความรู้จักคิดพิจารณา  ก็จะกินตามอร่อย
 
     เพราะว่า  เมื่อกินนั้นลิ้นเป็นผู้เสพรส  เป็นผู้ได้รับสัมผัส  ก็จะได้เวทนาคือความอร่อยหรือไม่อร่อย  เขาต้องการเสพแต่รสอร่อย และปฏิเสธรสที่ไม่อร่อย  เพราะฉะนั้น  ความอร่อยหรือไม่อร่อยก็จะเป็นเกณฑ์วินิจฉัยในการกิน  ถ้ามันไม่อร่อยก็ไม่กิน  ถ้าอร่อยก็กิน ยิ่งอร่อยก็ยิ่งกิน อร่อยมากก็ยิ่งกินให้มาก
 
     เมื่อเราเอาความอร่อยเป็นเกณฑ์ในการกินแล้ว จะเกิดผลอะไรขึ้น คือ ยิ่งอร่อยมากก็ยิ่งกินมาก เมื่ออร่อยมาก กินมาก ก็จะมีผลคือ  เฉพาะหน้าในปัจจุบัน  กินจนพุงกางกระทั่งอึดอัด อาหารไม่ย่อย  ลุกไม่ขึ้น ระยะยาวก็คือ กินจนกระทั่งเสียสุขภาพ อ้วนเกินไป เป็นโรคไขมันในเส้นเลือด หรือเป็นโรคอะไรต่างๆ หลายอย่าง ซึ่งคุณหมอทราบดีว่า กินอาหารที่เอารสอร่อยเป็นเกณฑ์จะมีผลร้ายอย่างไร
 
     อีกอย่างหนึ่ง เมื่อกินเพราะรสอร่อย ก็เลยไม่คำนึงว่ามันมีโทษ หรือมีคุณแค่ไหนอย่างไร ไม่คำนึงถึงคุณค่าของอาหาร ว่าอาหารนี้จะเป็นโทษต่อร่างกายไหม อาหารนี้จะมีสารพิษสารเคมีปนไหม ปรุงแต่งกลิ่นสีรสอะไรหรือเปล่า  ไม่ได้คำนึงถึงโทษภัย เอาแค่เสพรสอร่อย ในที่สุดกลายเป็นว่ากินอาหารแพง สิ้นเปลืองมาก โก้เก๋ดีเยี่ยมตามค่านิยม  แต่ร่างกายทรุดโทรมเป็นโรค
 
     ดังนั้น  การใช้รสอร่อยเป็นเกณฑ์ในการกินจึงไม่ถูกต้อง อันนี้คือ การกินตามชอบใจไม่ชอบใจ ซึ่งเป็นหลักเดียวกัน คือ หลักที่ว่าประสบการณ์เข้ามาทางตา หูจมูก ลิ้น กาย  ก็เอาเวทนาเป็นตัวตัดสิน  วินิจฉัยด้วยความรู้สึกคือเวทนา  ถ้าเป็นสุขเวทนา คืออร่อย ก็ชอบใจ  เมื่อชอบใจก็กิน  ถ้าเป็นทุกขเวทนา คือไม่อร่อย ก็ไม่ชอบใจ  เมื่อไม่ชอบใจ ก็ไม่กิน  นี่เรียกว่า กินด้วยตัณหา
 
     มีวิธีกินอีกอย่างหนึ่ง คือ อย่างน้อย  คนที่มีการศึกษาจะเริ่มถามตัวเองว่า ที่เรากินนี้เพื่ออะไร อะไรเป็นวัตถุประสงค์ของการกินอาหาร
 
     เมื่อใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญดูก็จะเริ่มรู้ว่า ที่เรากินนี้ก็เพื่อให้ร่างกายดำรงอยู่ได้ เพื่อให้ร่างกายนี้ มีกำลังแข็งแรงสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งคำตอบอย่างรวบรัดก็คือ เพื่อสุขภาพนั่นเอง
 
     วัตถุประสงค์ของการกิน  ก็คือ ให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดีแล้ว  ต่อจากนั้นก็จะมีอย่างอื่นตามมาอีก  เช่นของพระบอกว่า พฺรหฺมจริยานุุคฺคหาย  เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์   หมายความว่า เพื่อเกื้อหนุนการดำเนินชีวิตที่ดีงามประเสริฐ  เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามมรรคได้  คือเพื่อว่าเราจะได้อาศัยร่างกายนี้  ไปดำเนินชีวิตที่ดีงาม  ศึกษาเล่าเรียน  พัฒนาชีวิต  ทำคุณประโยชน์สร้างสรรค์สิ่งดีงามมีคุณค่าต่อไป
 
     พอเราหาจุดหมายของการกินได้ว่า  อยู่ที่เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงมีสุขภาพดี  ว่านี้คือความต้องการที่แท้จริงของชีวิต พอเรากำหนดตัวนี้ได้  นี่คือเรารู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติหรือรู้ธรรม ก็เป็นปัญญา
 
     พอเกิดตัวปัญญาก็มี สัมมาทิฐิ คือความเห็นชอบ  ที่รู้เข้าใจความมุ่งหมายของการกินอย่างถูกต้อง  แล้วความเข้าใจในจุดมุ่งหมายนี้  จะเป็นตัวปรับให้เกิดความพอดีในการกินได้ทันที คือกินตามความต้องการของร่างกาย  กินเพื่อสนองความต้องการของชีวิต  เพื่อให้มีสุขภาพดี
 
        ๑. มันจะจํากัดปริมาณในการกินให้ได้ผลแก่สุขภาพ ไม่ให้เป็นการทำลายสุขภาพ เพราะเรารู้ว่า ถ้าเรากินมากไป อาหารอร่อยก็จริง  แต่มันจะไม่ย่อย เป็นโทษแก่ร่างกาย เราก็ไม่กินเกินปริมาณนั้น  เราก็จํากัดปริมาณในการกินได้  ปริมาณก็พอดีขึ้นมา
 
        ๒. ในด้านประเภทของสิ่งที่กิน ตัวปัญญาที่รู้ความมุ่งหมายของการกิน ก็จะมาเป็นตัวปรับตัวจัด ให้เราเลือกกินสิ่งที่มีคุณค่าเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย การกินที่พอดีก็เกิดขึ้นด้วยปัญญาที่รู้เข้าใจความมุ่งหมายของการกิน
 
     การปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายที่เราเกี่ยวข้องในชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน ด้วยท่าทีแห่งปัญญา เริ่มตั้งแต่การรับประทานอาหารไปทีเดียวนี้  เป็นโยนิโสมนสิการ ที่สำคัญในการศึกษา คือ การฝึกฝนพัฒนา ชีวิตของตน
 
     เพราะฉะนั้น  หลักปฏิบัติเบื้องต้นอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา จึงได้แก่ โภชเนมัตตัญญุตา  (ความรู้จักประมาณในการบริโภค หรือการกินพอดี) ซึ่งทางพระถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก
 
     พอพระใหม่บวชเข้ามา  ก็จะต้องฝึกตนให้มีโภชเนมัตตัญญุตา  ด้วยการพิจารณา “ปฏิสังขา-โย” คือ รับประทานอาหาร  ตลอดจนใช้ปัจจัย ๔ ทุกอย่างด้วยการพิจารณา   รู้ตระหนักในความมุ่งหมาย   เพื่อคุณค่าที่แท้จริงของการบริโภคใช้สอยนั้น เรียกว่าปัจจเวกขณะ
 
     พระในสมัยโบราณ  ก่อนจะบวช เวลามาอยู่วัด ยังไม่ทันบวช จะต้องท่องบทปฏิสังขา-โย ซึ่งเป็นบทพิจารณาปัจจัย ๔ มี ๔ บท เช่น บทพิจารณาอาหาร แปลว่า:
 
     เราพิจารณาโดยแยบคายแล้ว คือ โยนิโสมนสิการนี่แหละ  จึงบริโภคอาหาร ว่าเราบริโภคอาหารนี้  มิใช่เพื่อมุ่งเอร็ดอร่อย  สนุกสนาน  มัวเมา  โก้เก๋อวดกัน  เป็นต้น  แต่รับประทานเพื่อยังชีวิตให้เป็นไป  เพื่อให้ร่างกายเป็นอยู่ได้  เพื่อบำบัดความหิว  เพื่อให้อยู่ผาสุก  เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ คือเพื่อเกื้อหนุนการดำเนินชีวิตที่ดีงามประเสริฐ  หมายความว่า  เราจะได้อาศัยร่างกายนี้ดำเนินชีวิตที่ดีงามได้
 
     อันนี้เป็นการฝึกพระตั้งแต่ต้น ให้กินด้วยปัญญา  ไม่ใช่กินด้วยตัณหา  การกินเพื่อหวังรสอร่อยอย่างเดียวเป็นตัณหา   แต่ถ้ากินด้วยปัญญาพิจารณาเพื่อให้บรรลุจุดหมายที่แท้ของการกิน   ก็เป็นการใช้โยนิโสมนสิการ
 
     สำหรับมนุษย์ปุถุชน   เรายอมรับว่าเขายังมีตัณหาอยู่  การกินเพื่อรสอร่อย จึงยังต้องมี แต่ขอให้เอาหลักโภชเนมัตตัญญุตามาช่วยบ้าง  เพื่อจะได้ปรับชีวิตให้สมดุลมากขึ้น  อย่างน้อยก็มีสติควบคุมให้การกินนั้นไม่เกิดโทษ
 
     ๑. ไม่เกิดโทษต่อชีวิตของตนเอง ไม่เสียสุขภาพ แต่กลับช่วยให้มีสุขภาพดี
 
     ๒. ทำให้ประหยัดไปได้ในตัว พร้อมทั้งผลดีหลายอย่างที่ตามมา เช่น
 
         - สุขภาพร่างกายของเรา ก็จะดี
 
         - ภาวะด้านเศรษฐกิจของเรา ก็ดีขึ้นด้วย
 
         - ทำให้การเบียดเบียนกันในสังคม ลดน้อยลง
 
         - การทำลายทรัพยากรธรรมชาติจะลดไปด้วย
 
     การฝึกหรือศึกษาในขั้นทั่วๆ ไปนี้  ไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก  ขอให้ตั้งท่าทีไว้เพียง ๒ ข้อ ก็พอ คือ
 
        ๑) ในฐานะปุถุชน  การกินเพื่ออร่อยก็ยังมี   แต่ต้องถือเอาการกินเพื่อจุดหมายที่แท้จริง คือเพื่อสุขภาพดีเป็นพื้นฐานก่อน คือการกินเพื่อให้มีสุขภาพดีต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง และต้องให้ได้ก่อน   ส่วนการกินเพื่ออร่อยให้เป็นส่วนเสริม
 
        ๒) ด้วยการกินที่ถูกต้อง เพื่อสุขภาพดีนี้ อาหารก็จะเป็นเครื่องเกื้อหนุนช่วยให้เราสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม และทำการสร้างสรรค์อย่างอื่นที่เป็นจุดหมายอันสูงขึ้นไป ตรงตามชื่อของมันที่เรียกว่าเป็น ปัจจัย คือ ไม่ใช่ให้การเสพรสอาหารกลายเป็นจุดหมายของชีวิต
 
     นี่เป็นตัวอย่างของการดำเนินชีวิต ที่เรียกว่าเป็น ทางสายกลาง เริ่มตั้งแต่การกินพอดี
 
     จะเห็นว่า  ทางสายกลาง หรือการดำเนินชีวิตที่พอดีนั้น ต้องมีปัญญาที่เห็นชอบว่ากินเพื่ออะไรเป็นเครื่องชี้นำ  พอเข้าใจแค่นี้การปรับให้พอดีก็เกิดขึ้น
 
     ทางสายกลางเกิดขึ้น  เพราะปัญญาที่รู้เข้าใจความจริง มาเป็นตัวปรับพฤติกรรม นั่นคือ พฤติกรรมของเราจะพอดีได้ ก็เพราะมีปัญญาเป็นตัวปรับให้เข้ากับจุดมุ่งหมาย
 
     เพราะฉะนั้น  ทางสายกลางจึงเป็นทางที่พอดี  ที่จะนำไปสู่จุดหมายที่ถูกต้อง ที่จะทำชีวิตให้ดีงามไร้โทษไร้ทุกข์นั่นเอง นี้คือทางสายกลางในความหมายง่ายๆ 
 
 


Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2567
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2567 6:48:16 น. 0 comments
Counter : 209 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space