ถนนราชดำเนิน
ถนนราชดำเนิน
 
ราชดำเนิน ถนนสายประวัติศาสตร์ ทั้งด้านดีที่ควรค่าแก่การจดจำ และด้านที่หลายคนอยากลืมเลือนและลบไปจากหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ความเป็นประชาธิปไตยที่มีคนนับเรือนแสนยอมสละชีพเพื่อแลกกับการปกครองที่ตนคิดว่าควรส่งต่อและมอบให้แก่ลูกหลาน ด้วยการแสดงออกถึงอำนาจในการต่อต้านชนชั้นปกครอง
ฝ่ายใดผิดฝ่ายใดถูก ค่อยไปคุยถกเถียงกันเองก็แล้วกัน
           
ก่อกำเนิดมาเป็นถนนราชดำเนิน
ชื่อว่าถนนราชดำเนิน ต้องรู้ว่า ราชย่อมาจากราชา ดำเนินหมายถึงเดิน
ถนนนี้สร้างขึ้นในรัชกาลที่ 5 เป็นถนนที่กว้างที่สุดในสมัยนั้น ตึกรามใหญ่โตสองฟากฝั่งถนนสง่างามมาจนถึงทุกวันนี้ เป็นถนนที่อลังการที่สุดในยุคสมัยนั้น และน่าจะอลังการที่สุดจนถึงยุคปัจจุบัน เพราะคงไม่มีถนนสายใดในเมืองที่กว้างเท่านี้อีกแล้ว มีถึง 10 เลนทีเดียว
นับว่าพระองค์ทรงมีวิสัยทัศน์ที่เลอเลิศและกว้างไกลยิ่งนัก และทรงพระปรีชาที่สามารถยอดยิ่ง ที่ทำให้เป็นถนนที่คู่บ้านคู่เมืองมาได้ยาวนาน
 
ถนนแห่งการเรียกร้องประชาธิปไตย
ถนนราชดำเนินเป็นถนนสายการเมืองที่ผู้คนมายึดพื้นที่ถนนและฟุตบาท เพื่อเรียกร้องสิทธิแห่งการเป็นพลเมืองไทยในการปกครองระบอบประชาธิปไตยมากที่สุด ต่อมาเปลี่ยนแผนการต่อสู้ เป็นบริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ สะพานผ่านฟ้าลีลาศ และหน้าทำเนียบรัฐบาล
ในที่สุดยึดทำเนียบรัฐบาลซะเลย ทำให้รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่มีโอกาสเข้าไปทำงานถึงจะได้เป็นรัฐบาลก็ตามที
เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ผู้นำการเมืองรุ่นต่อมา ไม่เห็นประโยชน์ของการยึดพื้นที่บริเวณนี้
ถนนราชดำเนินจึงหมดความสำคัญลงในฐานะถนนแห่งการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย
ผู้นำรัฐบาลปล่อยให้การชุมนุมยืดเยื้อ อยากประท้วงก็ประท้วงไป
ผู้นำการต่อต้านรัฐเห็นว่า ถนนราชดำเนินไม่ทำให้ผู้นำรู้สึกรู้สม จึงเปลี่ยนไปจับจองพื้นที่ถนนแถวราชประสงค์แทน สร้างความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจที่เป็นหัวใจการค้า ลามไปจนถึงการปิดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ
โถ ๆ ทำเนียบยังยึดได้ นับประสาอะไรกะอีแค่สนามบิน ทำไมจะทำไม่ได้
ขอนอกเรื่องสักหน่อย การเดินขบวนเพื่อเรียกร้องนี้ น่าจะนะ กลายเป็นต้นแบบของการเดินขบวนไปทั่วโลกหรือเปล่า คนฮ่องกงเดินขบวนตั้งนานไม่ได้ผล ตอนนี้ยกระดับไปปิดสนามบินเหมือนบ้านเราซะแล้ว ผิดถูกค่อยว่ากันทีหลัง ขึ้นอยู่กับใครเป็นพวกใคร มีใครหนุนหลัง
 
ถนนราชดำเนินเริ่มต้นเป็นถนนสายการเมืองเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ซึ่งต่อมาผู้คนทั่วไปเรียกวันนี้ว่า “วันมหาวิปโยค” นับเป็นครั้งแรกที่มีปวงประชามารวมตัวกันใช้ถนนราชดำเนินเป็นเวทีแห่งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย
คงเป็นครั้งแรกที่ผู้ต่อต้านรัฐบาลเป็นเพียงนิสิตนักศึกษา ผู้ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีพลังมากมายชนิดที่มดตัวเล็ก ๆ จะล้มช้างเจ้าป่าตัวใหญ่ได้ หรือเป็นเพราะเจ้าป่าเห็นมดไร้น้ำยา จึงบี้ได้เป็นบี้ หารู้ไม่ มดเมื่อรวมตัวกันมีพลังมากมายเกินคาดคิด
จากน้ำผึ้งเพียงไม่กี่หยด ทหารกุมอำนาจนาน 15 ปี การทุจริตในรัฐบาล การพบซากสัตว์ป่าจากเฮลิคอปเตอร์ทหารในทุ่งใหญ่ เริ่มด้วยการประท้วงกลุ่มเล็ก ๆ และ 13 คนโดนจับกุม ขยายเป็นราชดำเนินทั้งถนนเนืองแน่นไปด้วยผู้คน
 ยุคนี้ผู้เริ่มก่อการคือนิสิตนักศึกษามารวมพลังกัน ใช้ความเป็นหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีอุดมการณ์ต่อสู้กับอำนาจรัฐ และมีประชาชนมาร่วมด้วยในภายหลัง
รุนแรงที่สุดคงเป็นวันที่ 14 ตุลา 2516 หนุ่มสาวในเครื่องแบบนิสิตนักศึกษากว่า 5 แสน รวมทั้งผู้คนทั่วไปที่ต้องการเห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่อยู่ในกำมือของคนไม่กี่คน
กลุ่มผู้ประท้วงจบชีวิตอย่างไม่มีใครคาดว่า ผู้มีอำนาจจะกล้าลงมือ วันที่ 14-15 ตุลา ตายไป ประมาณ 77 บาดเจ็บ 857 และสูญหายนับไม่ได้จำนวนหนึ่ง
ความกล้าบ้าบิ่นของหนุ่มสาวที่ไม่กลัวตายหรือไม่คิดว่าจะต้องตาย ความต้องการเห็นบ้านเมืองไม่ตกอยู่ในกำมือของบางคนและเกิดการโกงกินกันยกใหญ่ ทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดที่ต้องจารึกในประวัติศาสตร์
 
ตามมาติด ๆ อีก 3 ปีต่อมาในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มีการรวมพลังของนิสิตนักศึกษาอีกครั้ง ผลที่ตามมาเช่นเดียวกัน มีผู้เสียชีวิตที่ปรากฏหลักฐานชัดเจน 39 ราย
จริงหรือเปล่าไม่รู้ เขาเล่าลือกันว่าน่าจะมากกว่า 500 ราย ลือกันถึงขนาดว่า มีรถบรรทุกมาขนศพออกไปทิ้งต่างจังหวัด น่าจะเป็นเพียงข่าวลือไม่ใช่ข่าวจริง จำนวนที่บาดเจ็บ ไม่รู้เช่นกัน สูญหายไป 3,094 ราย ซึ่งก็คงเป็นพวกหลบหนีเข้าป่าไป ไม่รู้ว่าป่าไหนบ้าง แต่ป่าหนึ่งก็คือเขาค้อผีดุ
บางส่วนยังใช้ชีวิตเช่นคนปกติแต่ไม่ได้ไปขอยกเลิกการเป็นบุคคลสูญหาย
หนุ่มสาวรุ่นนั้นที่เป็นพวกหัวก้าวหน้าได้เข้าร่วมชุมนุมต่อต้านผู้มีอำนาจรัฐ หลังจากที่แพ้ภัยทางการเมืองได้หลบหนีการจับกุมเข้าป่าเตลิดเปิดเปิงกันไป จนทางการได้ประกาศอภัยโทษให้ จึงกลับมาอยู่เยี่ยงคนไทยทั่วไปอีกครั้ง
ปัจจุบันพวกที่หนีเข้าป่าและยังคงหลงเหลืออุดมการณ์ทางการเมืองได้ต่อสู้กับอำนาจอันไม่ชอบธรรมในสังคมแต่ในรูปแบบที่แตกต่างไปจากเดิม 
ที่น่าแปลกใจเป็นอย่างมาก บางคนเคยเป็นถึงแกนนำนักศึกษาต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชา
ธิปไตย ปัจจุบันกลับแปรพักตร์ไปเป็นพวกรัฐบาลเผด็จการเสียนี่ เขาถึงว่าสายน้ำยังเปลี่ยนทิศได้นับประสาอะไรกับจิตใจคนย่อมคิดเห็นแตกต่างกันในวัยที่เปลี่ยนไปได้
 
เว้นช่วงไปนานหน่อยราชดำเนินถนนสายประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยได้เกิดนองเลือดอีกครั้งเรียกว่า “วันพฤษภาทมิฬ” ระหว่างวันที่ 17 – 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2535 มีผู้เสียชีวิต 52 ราย บาดเจ็บนับพันราย และสูญหายอีก 69 ราย
จากวันนั้น คนไทยส่วนมากคิดว่าคงจะหมดเรื่องหมดราวกันเสียที  ที่ไหนได้ความร้าวฉานเกิดขึ้นอีกครั้งในรูปของคนต่างความคิด คิดเห็นต่างขั้วกันอย่างสิ้นเชิง
บางคนเรียกการต่อสู้นี้ว่า กีฬาสี ซึ่งไม่รู้จักแพ้ชนะและให้อภัยเหมือนกีฬาสีในโรงเรียน หลังเกมเลิก ต้องมาจับมือคืนดีกัน
สีใครสีมัน ไม่มีวันปรองดองกันได้ จนกว่าจะตายจากกันกระมัง ทั้งที่เป็นไทยเหมือนกัน
คราวนี้ไม่มีนิสิตนักศึกษาเป็นแกนนำ กลายเป็นคนรุ่นเดอะ ที่คงจะเคยเดินขบวนสมัยตุลา 16 มาร่วมรื้อฟื้นความหลังกันอีกครั้ง เรียกว่าคนรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ชอบเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยการเดินขบวนชุมนุมทางการเมือง
บางคนบอกเหตุผลที่คนรุ่นนี้ชอบเดินขบวนประท้วง คือ ผลผลิตจากหลักสูตรการศึกษาพุทธศักราช 2503 ที่เน้นให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องราวของประชาธิปไตยสูงสุดและเปิดโอกาสให้มีสภานักเรียนในโรงเรียน มีการเลือกตั้งจำลองแบบสังคมใหญ่เลยทีเดียว ประธานนักเรียนหลายคนกลายมาเป็นแกนนำในการเรียกร้องประชาธิปไตยในสังคมยุคต่อมา
 
การเมืองไทยเริ่มยุ่งเหยิงและอึมครึมอีกครั้งจากการรวมตัวกันของกลุ่มก้อนเสื้อสีเหลืองต่อต้านรัฐบาลทักษิณ และตามมาด้วยการปฏิวัติรัฐประหาร ซึ่งก็เป็นเรื่องเหลือเชื่ออีกเช่นกัน
หลายคนคิดว่าการปฏิวัติคงจะสูญพันธุ์ไปนานแล้วแต่ยังโผล่ออกมาให้เห็นอีกจนได้ในยุคที่บ้านเมืองเจริญก้าวหน้าขนาดนี้
หลังจากปฏิวัติรัฐประหาร วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 ทหารมีอำนาจ ผู้คนส่วนหนึ่งไม่พอใจ คงเป็นพวกกลุ่มเสื้อสีแดงนั่นแหละ ครั้งนี้ดูเหมือนกลุ่มเสื้อสีเหลืองได้รับชัยชนะไป
กลุ่มเสื้อสีแดงคิดว่า กลุ่มเสื้อสีเหลืองผลักดันให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้มาเป็นรัฐบาล จึงลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์
คิดเอาเองว่าเกิดมาเป็นรัฐบาลนี่น่าลำบากใจเหมือนกันนะ มีแต่คนต่อต้าน ยิ่งเป็นรัฐบาลในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยด้วยยิ่งแล้วไปกันใหญ่
พวกเขาคิดว่า ความหมายของประชาธิปไตย คือ ประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน แล้ววันนองเลือดได้เกิดขึ้นอีก 2 ครั้ง ในเดือนเมษายน 2 ปี ต่อเนื่องกัน คือ พ.ศ. 2552 และ 2553 
ในปี พ.ศ. 2553 กลุ่มเสื้อสีแดงตายไป 88 ราย บาดเจ็บนับพันเช่นกัน  ที่น่าเศร้าสลดกว่าทุกครั้งที่ผู้ตายตายด้วยอาวุธสงครามที่ยังไม่รู้ว่าเป็นฝีมือของฝ่ายใดกันแน่
อาวุธสงครามเป็นของที่หาซื้อได้ง่ายในตลาดมืด ใช่ว่าจะมีแต่เฉพาะบางกลุ่มในหน้าที่
คนรุ่นเดอะจะรู้จักเหตุการณ์เดือนตุลากับการเมืองเป็นอย่างดี บางคนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง บางคนแค่ติดตามอยู่ที่บ้านเฝ้าหน้าจอทีวีและคอยลุ้นระทึกว่าจะจบลงอย่างไรและเช่นไร
 
ถนนราชดำเนินในวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2553 เหมือนกับถนนราชดำเนินในหลายปีที่ผ่านมา เกิดจลาจลวุ่นวายด้วยความคิดที่ต่างกันของผู้คนที่อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินเดียวกัน 
เลือดไหลนองแผ่นดิน คนไทยฆ่าคนไทยด้วยกันเอง ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร ใครทำใคร คงต้องรอให้กาลเวลาผ่านเลยไปอีกหลายสิบปีสักหน่อย ภาพหลายภาพอาจจะชัดเจนขึ้น
ไม่ใช่สงครามกลางเมือง แต่เกิดจากความขัดแย้งของคนต่างสี โดยกลุ่มเสื้อสีแดง ที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ปักหลักชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และแยกราชประสงค์ เรียกร้องให้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศยุบสภา ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม 2553 แล้ว
ก่อนเหตุการณ์นองเลือด ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมซึ่งกันและกัน นานนับเดือน สุดท้าย เจ้าหน้าที่ทหารปฏิบัติการขอคืนพื้นที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศตั้งแต่ช่วงบ่ายถึงช่วงค่ำวันที่ 10 เมษายน
ครั้งนี้มีผู้สังเวยชีวิต 26 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย และพลเรือน 21 ราย
พลเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม รองเสนาธิการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และนักข่าวชาวญี่ปุ่นของสำนักข่าวรอยเตอร์ส นายฮิโรยูกิ มูราโมโตะ โดนกระสุนของชายชุดดำ ปริศนาคือเป็นคนของฝ่ายใดกันแน่ ข้อกล่าวหาว่าเป็นกองกำลังต่อสู้ของกลุ่มผู้ชุมนุมและมีอาวุธหนักตอบโต้เจ้าหน้าที่รัฐ
 
วันนี้ภาพของนักศึกษาที่คิดจะต่อสู้ คงไม่ต้องมารวมตัวกันบนถนนราชดำเนินอีกต่อไปแล้ว
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสามารถใช้เนตเรียกกระแสต่อต้านได้มากกว่าเดิมเสียอีก
ราชดำเนินวันนี้คงไม่มีภาพหนุ่มสาวประชาชนมารวมตัวเกิน 5 แสนเพื่อเรียกร้องความชอบธรรมอีกแล้วกระมัง แต่เพลง “ประเทศกูมี” 1 เพลงสามารถเรียกให้คนไปดูได้นับหลายล้าน แล้วเพลงนี้จะจบลงที่ใด แต่คงไม่ใช่ราชดำเนินกระมัง
นี่คือตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงโลก ที่ทำให้ทุกสิ่งต้องเปลี่ยนตาม
ราชดำเนินถนนสายประวัติศาสตร์คงเป็นได้เพียงตำนานให้กล่าวขานถึงในยามบ้านเมืองไม่สงบสุขเท่านั้นกระมัง และคงเป็นเครื่องเตือนใจว่า
อย่างไรเสียคนไทยก็คือคนไทย มีความเป็นไทยเต็มหัวใจ  ชาวบ้านไม่เกลียดกันถึงกับเข่นฆ่ากันอย่างโหดร้าย และอยากย้ำอีกครั้งว่า ชาติไทยก็เหมือนชีวิต คงต้องมีบ้างที่ผ่านทุกข์และสุขร่วมกัน คิดเห็นเหมือนกันหรืออาจจะคิดเห็นต่างกัน
มันเป็นธรรมดา เมื่อผ่านร้อนจะเจอหนาว เมื่อผ่านหนาวจะเจอร้อน เราคนไทยคงไม่เกลียดกันจนเข้ากระดูก ชนิดไม่ดูดำดูดีต่อกัน เพราะมันผิดวิสัยของคนไทยและความเป็นไทย 
ลิ้นกับฟันย่อมกระทบกระทั่งกัน แต่ลิ้นกับฟันยังอยู่ร่วมกันได้ จริงไหม
เมื่อวันเวลาผ่านเลยไป ความขัดแย้งจะเลือนหายไปจากใจ แล้วเราจะกลับมารักกันเหมือนเดิม เป็นเช่นนี้มานานและคงจะเป็นเช่นนี้อีกตลอดไป

 



Create Date : 29 สิงหาคม 2562
Last Update : 29 สิงหาคม 2562 17:36:48 น.
Counter : 1135 Pageviews.

0 comments
พี่น้องชาวไทยและกัมพูชาបងប្អូនខ្មែរ-ថៃ jiab bangkok
(23 มิ.ย. 2568 00:35:37 น.)
ภาพประวัติศาสตร์ไทย II อากง สมาชิกหมายเลข 7115969
(31 พ.ค. 2568 19:05:56 น.)
เต้าหู้เสฉวน @ Street Gourmet ซีคอน บางแค แมวเซาผู้น่าสงสาร
(4 มิ.ย. 2568 15:54:27 น.)
19 พ.ค. 68 งานรำลึก 15ปีเมษาพฤษภา53 แยกราชประสงค์ sunmachon
(20 พ.ค. 2568 16:12:42 น.)
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Drpk.BlogGang.com

สมาชิกหมายเลข 4665919
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]

บทความทั้งหมด