630521 ภาวะซึมเศร้าที่ช่วยกันแก้ไขได้

630521 ภาวะซึมเศร้าที่ช่วยกันแก้ไขได้ by พรรณี
ในโลกที่สับสนวุ่นวาย ความเครียดประเดประดังเข้ามาหาตัว การปรับตัวให้อยู่รอดเป็นสิ่งสำคัญ บางคนพร้อมลุย บางคนรี ๆ รอ ๆ จะเอาอย่างไรกันดี บางคนร้องเพลง “ถอยดีกว่า”
คนที่ถอยหนีอย่างเดียว อาจดูดีในสายตาบางคน ก้มหน้าก้มตายอมรับคำสั่ง ทำตามอย่างหงอยเหงา
ในใจเขาล่ะ อาจเพิ่มความเศร้าขึ้นมาทีละนิด จากภาวะซึมเศร้าที่ค่อย ๆ กัดกร่อน จนกลายเป็นโรคซึมเศร้า
ดร.เดเร็ก ซัมเมอร์ฟิลด์ จิตแพทย์บอก “คนไข้จะหายจากโรคซึมเศร้าได้ เมื่อเขาพยายามแก้ปัญหาสังคมที่ส่งผลต่อตัวเขา มันไม่ใช่อาการจากสมองเพียงอย่างเดียว”
ฮารีบอก “ความรู้สึกหวาดหวั่นต่อความไม่มั่นคงของอนาคต ทำให้พวกเขาเหนื่อยล้า การขอให้เขาสู้ต่อในช่วงที่เขาสู้จนหมดแรงแล้วนั้น แทบไม่ต่างอะไรกับการเยาะเย้ยถากถางดี ๆ นี่เอง”
ความเศร้าเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องของอารมณ์ความรู้สึก มีรักได้ ผูกพันได้ เจ็บปวดได้ และร้องไห้เป็น
ความเศร้ามีระยะเวลาของมัน สั้นบ้างยาวบ้าง แต่ถ้าไม่รู้จักกำจัดหรือลดทอนให้เจือจาง ปล่อยให้มันอยู่กับเราเนิ่นนานนี่แหละ จะจบไม่ค่อยสวย
คนจำนวนมากที่หาหนทางก้าวเดินต่อไม่เจอ มีแต่ทางตัน พร้อมจะเป็นโรคซึมเศร้าได้ ถ้าไม่มีใครยื่นมือเข้าช่วย รัฐสวัสดิการจึงจำเป็น ขอย้ำ ไม่ใช่ไล่แจกตะพึดตะพือกับทุกผู้คนถ้วนหน้า การสอนให้เขารู้จักวิธีเผชิญหน้าและมีหนทางที่สวยงามรออยู่ คือสิ่งจำเป็นที่ผู้มีอำนาจจะพึงทำอย่างเร่งด่วน
ตู้ปันสุขเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่หยิบยื่นความมีน้ำใจให้แก่กัน โดยผู้รับไม่รู้สึกกระดากใจมากนัก จากผู้คนที่ไม่มีอำนาจ แต่มีน้ำใจล้นเหลือ อันที่จริงไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนจนเท่านั้นที่มารับ แต่ละคนมีต่างกัน ให้สิ่งที่มี รับสิ่งที่ขาด เหมือนยุคก่อน บ้านใครมี มาแลกเปลี่ยนสิ่งของกัน
การแบ่งปันจะช่วยให้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่รู้สึกจะจมน้ำตาย มองเห็นก้อนฟางที่จะเข้าไปพยุงตัวได้ แต่ถ้าผู้มีอำนาจหาหนทางให้ขอนไม้ และช่วยเขาถึงริมฝั่ง อาจดีที่สุด
Cr ‘โลกซึมเศร้า’ หนังสือของโยฮันน์ ฮารี โดย คาลิล พิศสุวรรณ