บริหาร การจัดการ การตลาด พัฒนาตนเอง พัฒนาความคิด กลยุทธ์ ธรรมะ จักรราศี ฯลฯ
จัดตั้งธุรกิจ ปรับปรุงกิจการ | ไขความลับสมองเงินล้าน | การเขียนแผนธุรกิจ | บริหารคน บริหารงาน | พัฒนาความคิด
พระไตรปิฎกฉบับหลวง | แด่องค์กรที่แสนรัก | สุขใจกับเด็กสมาธิสั้น
Group Blog
 
 
มกราคม 2551
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
11 มกราคม 2551
 
All Blogs
 
สุขใจกับเด็กสมาธิสั้น - การเสริมทักษะส่วนตัวที่จำเป็น

บทที่ 3 ทักษะส่วนตัว


การแบ่งเวลา


เด็กปกติอายุน้อยมักแบ่งเวลาไม่เป็น แต่จะเรียนรู้ได้จากการสังเกตและเลียนแบบพฤติกรรมการแบ่งเวลาของผู้ใหญ่ เป็นการเรียนรู้โดยการถ่ายทอดแบบอย่างจากพ่อแม่โดยอัตโนมัติ การให้เด็กอยู่ในกรอบกติกาสม่ำเสมอนานพอสมควร ช่วยให้เด็กซึมซับกติกานั้นจนสามารถกำหนดกรอบเวลาของตนเองได้

ในเด็กสมาธิสั้นการเรียนรู้เรื่องการแบ่งเวลามักไม่ง่าย เนื่องจากพฤติกรรมของเขาขึ้นอยู่กับสิ่งเร้า มากกว่ามาจากการวางแผนในใจ ดังนั้นถ้าปล่อยให้เด็กสมาธิสั้นทำอะไรโดยอิสระ เขาจะไม่ค่อยคิดใส่ใจเรื่องเวลา มีพฤติกรรมตามใจตนเอง ไม่เป็นไปตามที่ผู้ใหญ่คาดหวัง การฝึกทักษะข้อนี้ เริ่มต้นจากสิ่งที่ทำได้ง่ายคือ การจัดตารางเวลา

วิธีการฝึกการจัดตารางเวลา


พ่อแม่มีการวางแผนร่วมกันกับเด็กว่า เวลาไหนควรทำอะไร เริ่มตั้งแต่ตื่นนอน ควรตกลงกันว่าจะตื่นนอนตรงเวลาทุกวัน ตื่นนอนแล้วทำอะไรบ้าง ให้เป็นไปตามลำดับอย่างชัดเจน เช่น เก็บที่นอนให้เป็นที่ อาบน้ำแปรงฟัน แต่งตัว กินข้าว เมื่อกลับมาจากโรงเรียนก็มีตารางเวลาชัดเจนเช่นกัน ตารางเวลานี้ควรเขียนออกมาให้ชัดเจน เหมือนตารางสอนที่โรงเรียน แล้วแสดงไว้ในที่ๆมองเห็นได้ง่าย และสามารถอ้างอิงถึงได้ตลอดเวลา ในตารางเวลานี้ ควรให้มีกิจกรรมที่สนุกสนานสลับกับเวลาที่เกี่ยวกับการเรียน งานบ้าน หรือการบ้าน ระยะแรกอาจจัดเป็นช่วงสั้นๆ สลับกัน กิจกรรมสนุกๆนั้นไม่ควรยาวเกินไป หรือสนุกเกินไป และพ่อแม่ต้องคอยกำกับให้เด็กกลับมาเรียนหรือทำงานได้จนเสร็จ การมีช่วงเวลาที่เด็กได้เล่นนั้น เพื่อจูงใจให้เด็กทำ และจะทำให้การฝึกง่ายในระยะแรก

ตัวอย่างตารางเวลาที่บ้าน เวลาเด็กเปิดเทอม
06.00 น. ตื่นนอน อาบน้ำ แปรงฟัน แต่งตัว

06.30 น. รับประทานอาหารเช้า

07.00 น. ออกจากบ้านไปโรงเรียน
อยู่ในโรงเรียน

17.00 น. กลับถึงบ้าน ทำการบ้าน เล่น กีฬา

18.00 น. อาบน้ำ กินข้าวเย็น

19.00 น. ดูทีวี

20.00 น. อ่านหนังสือ ทบทวนบทเรียน

20.30 น. นอน

ในกรณีที่เด็กเผลอลืมทำตามข้อตกลง ให้พ่อแม่เตือนสั้นๆ เพียงครั้งเดียว ถ้ายังไม่มีทีท่าว่าจะทำจริงๆ ให้พ่อแม่พาไปทำหรือกำกับให้ทำทันที วิธีนี้มักได้ผลถ้าเริ่มฝึกตั้งแต่เด็กยังเล็ก เพราะเด็กจะเรียนรู้ว่าเราเอาจริง และจะยอมอยู่ในกติกาได้ง่ายกว่า ถ้าปล่อยไว้นานจนถึงวัยรุ่น การกำกับให้ทำมักเป็นปัญหา ทำได้ยาก เด็กไม่ค่อยร่วมมือและอาจมีปฏิกิริยาตอบโต้รุนแรง ในวัยรุ่นวิธีที่ได้ผลมักต้องชักจูงใจให้เด็กร่วมมือกับพ่อแม่ โดยใช้การพูดกันดีๆ มีเหตุผล มีการประนีประนอมยอมรับฟังโอนอ่อนเข้าหากันบ้าง จะได้ผลกว่า

ในบางช่วงเวลาที่เปลี่ยนไปจากปกติ เช่นเวลาปิดเทอม พ่อแม่ลูกควรมาร่วมกันวางแผน และจัดตารางเวลากันใหม่ เพื่อให้ใช้เวลาว่างที่มีมากขึ้นได้อย่างเป็นประโยชน์ การให้เด็กมีส่วนร่วมนั้นช่วยจูงใจให้เด็กร่วมมือมากขึ้น และเป็นการฝึกให้เด็กเรียนรู้การวางแผนก่อนการกระทำ นั่นคือการฝึกให้คิดก่อนทำนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามการมีส่วนร่วมนี้ขึ้นอยู่กับอายุของเด็กด้วย เด็กโตมีส่วนร่วมในการวางแผนนี้มากกว่าเด็กเล็ก ในแผนการนั้นจะมีกิจกรรมที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งกิจกรรมสนุก และกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ หรือกิจกรรมฝึกทักษะที่สำคัญที่เด็กยังขาดอยู่ ในเวลาปิดเทอม ตารางเวลาและกิจวัตรประจำวันไม่ควรต่างจากเวลาเปิดเทอมนัก โดยเฉพาะเวลานอน และเวลาตื่นนอน เพราะจะทำให้ติดนิสัย พอเปิดเทอมให้กลับมาตื่นนอนเช้าเหมือนเดิมได้ยาก

ตารางเวลา คือบทเริ่มต้นของการควบคุมตนเอง




การ จัดการกับเวลา


เด็กสมาธิสั้นไม่ค่อยมีการจัดการกับเวลาเวลา และทำตามแผนที่ตั้งใจไว้
ลำดับแรก ควรให้เด็กเห็นความสำคัญของเวลา พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีของการใช้เวลา เอาจริงเอาจังกับการทำอะไรเป็นเวลา มีการวางแผนเกี่ยวกับเวลา และทำตามแผนการนั้นอย่างสม่ำเสมอ

ลำดับที่สอง ควรฝึกให้เด็กรู้จักและวางแผนแบ่งเวลา โดยเฉพาะเวลาที่เกี่ยวกับกับการเรียน ต่อไปควรฝึกให้เด็กมีการจัดการกับเวลานั้น โดยกำหนดรายละเอียดย่อยว่าในแต่ละช่วงเวลานั้น มีกิจกรรมใด ใช้เวลาเท่าใด ตัวอย่างเช่น

การทบทวนบทเรียนหรือเวลาทำการบ้าน ที่กำหนดไว้ทุกวันเวลา 19.00-19.30 น. (ระยะเริ่มต้นควรให้เป็นช่วงเวลาสั้นๆก่อน เพื่อให้เด็กสมาธิสั้นทำได้ง่าย ) ในช่วงเวลานั้นอาจแบ่งเป็นช่วงสั้นๆ2-3 ช่วงย่อยๆ ช่วงละ10-15 นาที พอที่จะทำเสร็จ เมื่อทำได้ยาวดีแล้วจึงค่อยขยายเวลาให้ยาวขึ้นทีละน้อย

ตัวอย่างเช่น เวลาอ่านหนังสือทั้งหมด 30 นาที อาจแบ่งเป็นเวลาช่วงแรก 15 นาที(ระหว่าง 19.00-19.15 น.) ให้พยายามทำงานให้เสร็จส่วนนี้ก่อน แล้วอนุญาตให้พักได้1-2 นาที หลังจากนั้น ให้กลับมาทำต่ออีกที่เหลือ จนจบที่เวลา 19.30 น. ตามที่วางแผนไว้

ลำดับที่สาม คือการกำกับให้เด็กทำตามแผนเวลา หรือตารางเวลา การฝึกเรื่องนี้ทำได้ โดยการให้เด็กรู้จักการดูเวลา กะเวลา แบ่งเวลาเป็นกิจกรรมย่อยๆ และเตือนตัวเองเรื่องเวลาให้ได้ ในการจัดแบ่งเวลาย่อยๆนี้เด็กสมาธิสั้นยังกะเวลาไม่ค่อยเป็น โดยเฉพาะเวลาสนุกเพลิดเพลินกับกิจกรรมอะไรที่ถูกใจอยู่มักหยุดยาก บางทีอาจลืมนัดหมายที่สำคัญ หรือลืมไปว่าต้องกลับมาทำงานต่อให้เสร็จ ดังนั้นเวลาให้เด็กพักสั้นๆ อย่าอนุญาตให้เด็กไปเล่นอะไรสนุกสนานมาก หรืออย่าให้พักกับกิจกรรมที่ใช้เวลายาว เพราะจะกำกับให้กลับมาทำงานต่อได้ยาก ในระยะแรกๆพ่อแม่อาจเตือนเอง หรือใช้นาฬิกาปลุก ตั้งเวลาเลิกกิจกรรมให้เด็ก ต่อไปฝึกให้เขาตั้งนาฬิกาปลุกด้วยตัวเอง หลังจากนั้นลองให้กำหนดใจตัวเองให้เลิกก่อนนาฬิกาปลุก1-2 นาที เมื่อฝึกได้สม่ำเสมอดีแล้ว ลองให้เตือนตัวเองด้วยการเหลือบมองนาฬิกาในจังหวะที่คิดว่าน่าจะถึงเวลานั้นแล้ว และหยุดกิจกรรมนั้นให้ตรงเวลา เมื่อทำได้แล้วเลิกใช้นาฬิกาปลุก

พ่อแม่คอยช่วยให้เด็กตรงเวลา โดยการกำกับให้เริ่มตรงเวลา เลิกตรงเวลา ถ้ามีกำหนดนัดหมาย ต้องมีการกะเวลาเผื่อไว้ เพื่อให้ไปทันเวลาเสมอ โดยทั่วไปควรฝึกให้เด็กไปก่อนนัดหมายประมาณ 15 นาที หรืออาจให้มีการเผื่อเวลาไว้ในบางกรณีที่มีความสำคัญพิเศษ ที่ไม่ควรให้สายอย่างยิ่ง เช่น เวลาที่นัดกันเป็นกลุ่มไปทัศนศึกษานอกโรงเรียน ควรไปก่อนนัดประมาณครึ่งชั่วโมง หรือการไปขึ้นเครื่องบิน ควรไปก่อนเวลาอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมง เป็นต้น ในการไปรอคอยก่อนนัดหมายเช่นนี้ พ่อแม่ควรทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดีด้วยเช่นกัน

ในทุกขั้นตอน เมื่อเด็กทำได้ดีตามที่วางแผนไว้ พ่อแม่อย่าลืมชมด้วย


วางแผนแล้วต้องกำกับให้เป็นไปตามนั้น




การแบ่งงานเป็นชิ้นเล็กๆ


เด็กสมาธิสั้นมากท้อใจง่ายกับงานที่ตัวเองไม่ชอบไม่สนใจ ในแต่ละช่วงเวลา การแบ่งงานให้เป็นชิ้นเล็กๆ พอทำได้ในเวลาสั้นๆจะช่วยให้เด็กมีกำลังใจที่จะทำให้เสร็จ พอเสร็จแล้วอาจมีเวลาพักสั้นๆ หลังจากนั้นให้พ่อแม่กำกับให้เด็กกลับมาทำต่อในช่วงต่อไป พยายามให้เสร็จเป็นช่วงๆ เพื่อให้เด็กรู้สึกว่าทำได้สำเร็จ และมีกำลังใจที่จะทำต่อ

ตัวอย่างเช่น เด็กมีการบ้านเป็นเลข 10 ข้อ ถ้าบอกให้ทำให้เสร็จคราวเดียวกันทั้ง 10 ข้อ เด็กจะท้อ ไม่อยากทำ

พ่อแม่ควรช่วยแบ่งให้เป็น 2 หรือ 3 ช่วง ช่วงละ 3 ถึง 5 ข้อ เมื่อทำเสร็จ ช่วงแรก ให้พัก2-3 นาที แล้วทำต่อ จนกว่าจะเสร็จสมบูรณ์

ขั้นต่อไปพ่อแม่พยายามฝึกให้เด็ก รู้จักการเตือนตัวเองให้กลับมาทำงานต่อให้เสร็จ ระยะแรกเอาแค่ทำงานให้สำเร็จเป็นช่วงๆให้ได้ก่อน แม้ผลงานจะไม่เรียบร้อยก็ไม่เป็นไร หลังจากนั้นพ่อแม่อาจจะให้เด็กคิดและวางแผนเองว่าจะกลับมาทำเวลาใด พ่อแม่ช่วยกระตุ้นเตือนถ้าเขาลืม พยายามให้เขาหาวิธีเตือนตนเองที่ได้ผล เช่น ตั้งนาฬิกาปลุก ให้เพื่อนช่วยเตือน มีสมุดโน้ตเตือนความจำ มีการเขียนแผนการไว้ในที่ๆเห็นได้ชัดเจน หรือมีตารางเวลา พ่อแม่คอยชื่นชมเมื่อเขาทำได้ตามที่แบ่งงานไว้

แต่เมื่อใดก็ตามที่เด็กเผลอไม่กลับมาทำต่อ พ่อแม่ต้องรีบจัดการให้กลับมาทำ โดยสงบ ไม่ต้องพูดมากบ่นมาก ทำเช่นนี้ซ้ำๆจนกว่าจะเป็นนิสัย ทำโดยอัตโนมัติไม่ต้องมีการเตือน แสดงว่าเด็กสามารถเตือนตนเองได้จึงจะปล่อยให้ควบคุมตัวเอง

การเตือนที่ดี ควรเตือนให้เด็กเตือนตนเอง มากกว่าพ่อแม่เตือนเขาตรงๆ เช่น ควรเตือนว่า
“ตอนนี้เวลาอะไรแล้วนะลูก” ดีกว่า “เวลานี้ต้องไปอาบน้ำแล้วลูก”

คำพูดให้เด็กเตือนตนเองแบบอื่นๆที่น่าใช้ ได้แก่
“ตอนนี้น่าจะเป็นเวลาทำอะไรนะ”

“ลูกวางแผนไว้ว่าเวลานี้น่าจะทำอะไรนะ”

“ลูกลืมไปหรือเปล่าว่าตอนนี้น่าจะทำอะไรจ๊ะ”

บางทีพ่อแม่อาจใช้วิธีส่งสัญญาณเตือนแทน เช่นชี้ที่นาฬิกา ชี้ที่ตารางเวลาที่เขียนติดไว้ที่ผนัง เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ปล่อยเด็กให้ควบคุมตัวเองได้แล้ว พ่อแม่ควรคอยติดตามสุ่มตรวจสอบดูความสม่ำเสมอเป็นครั้งคราว เพราะบางทีพอปล่อยสักระยะหนึ่งเด็กอาจลืม กลับไปเป็นแบบเดิมอีก

งานชิ้นเล็กๆ ช่วยให้เด็กมีกำลังใจทำ




การฝึกการวางแผนล่วงหน้า


เด็กสมาธิสั้นส่วนมากมักมีจุดอ่อนเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญมาก คือทักษะในการวางแผนล่วงหน้า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะเด็กสมาธิสั้นไม่ค่อยมีความสามารถในการจดจ่อต่อการคิดล่วงหน้า ไม่เห็นประโยชน์ของการวางแผนล่วงหน้า ในชีวิตจริงของเขามักไม่มีการวางแผนล่วงหน้าเหมือนกัน เขาจะทำอะไรตามสิ่งเร้าที่ผ่านมามากกว่าสิ่งที่คิดไว้ล่วงหน้า ลักษณะเฉพาะตัวอีกอย่างหนึ่งก็คือ เขาขาดการยั้งคิดว่าต้องทำอะไรบ้าง และทำให้เกิดปัญหามากเวลาต้องทำอะไรตามแผนการที่กำหนดไว้

การฝึกทักษะนี้สามารถทำได้ โดยเริ่มต้นจากการพยายามให้มีการวางแผนล่วงหน้า ในทุกกิจกรรมเท่าที่สามารถทำได้ ข้อนี้พ่อแม่ฝึกได้โดยการชวนให้เขาคิดล่วงหน้า แม้แต่เรื่องง่ายๆในชีวิตประจำวัน เช่น พรุ่งนี้จะทำอะไรบ้าง ไล่ไปตามลำดับตั้งแต่เช้า การกระตุ้นให้เด็กสมาธิสั้นวางแผนบ่อยๆในเรื่องนี้ เมื่อฝึกนานๆจะกลายเป็นนิสัยซึมซับเข้าไปเป็นระบบการคิดวางแผนล่วงหน้าในเวลาต่อมา การให้เด็กช่วยวางแผนด้วย เป็นกลยุทธที่จูงใจให้เด็กทำเอง ไม่ได้รู้สึกเหมือนถูกบังคับให้ทำ ในการวางแผนนั้น ถ้าเด็กคิดดีวางแผนเองได้ดี ควรชมเชยด้วยเพื่อเป็นการให้แรงเสริมทางบวกแก่พฤติกรรมที่พึงประสงค์ พฤติกรรมนั้นจะเพิ่มมากขึ้นได้ง่าย

การวางแผนนี้เมื่อทำเสร็จแล้ว ควรส่งเสริมให้เด็กเขียนบันทึกเพื่อเตือนความจำไว้ด้วย

ขั้นตอนต่อมา คือการพยายามฝึกให้เด็กทำตามแผนการนั้นให้ได้ ในระยะแรกๆผู้ใหญ่อาจต้องคอยกำกับให้เป็นไปตามนั้นก่อน ต่อมาเมื่อใดที่เห็นเด็กเริ่มทำได้ด้วยตัวเอง อย่าลืมชมเชยด้วยเช่นกัน การวางแผนล่วงหน้านี้ตอนแรกๆ เริ่มจากเหตุการณ์ใกล้ตัวก่อน เช่น พรุ่งนี้จะทำอะไรบ้าง ต่อมาอาจขยายเพิ่มเป็นวันต่อๆไปเป็นอีกสองสามวันข้างหน้า เสาร์อาทิตย์ที่จะถึงนี้ สัปดาห์หน้า เดือนหน้า ปิดเทอมหน้า หรือ ปีหน้า ก็ได้ แล้วแต่สถานการณ์ แต่เมื่อวางแผนแล้ว ผู้ใหญ่ต้องช่วยกำกับให้เป็นไปตามนั้นจริงๆ คำแนะนำสำหรับการฝึกข้อนี้ คือเริ่มต้นจากการวางแผนง่ายๆ และทำได้จริงก่อน อย่าพยายามทำหลายๆเรื่องพร้อมๆกัน

การวางแผนที่เด็กจะร่วมมือง่ายที่สุด มักเป็นการวางแผนในเรื่องที่เด็กชอบ และพอใจที่จะทำด้วย อาจเริ่มจากเรื่องที่เขาสนใจอยู่แล้ว จากนั้นค่อยๆขยายต่อไปเรื่องอื่นๆที่ยากขึ้น

การวางแผนล่วงหน้า อาจมีทั้งระยะสั้นและยาว หลังจากวางแผนแล้วต้องพยายามทำให้ได้ตามแผนด้วย เมื่อทำได้สำเร็จตามแผนการที่ตั้งใจไว้ ให้พ่อแม่อย่าลืมชมเป็นระยะๆ จะช่วยเพิ่มกำลังใจแก่เด็กที่จะทำต่อไป

การวางแผน เป็นการฝึกให้คิดก่อนทำ




การฝึกให้รู้จักเตือนตนเอง คิดทบทวน


จุดอ่อนของเด็กสมาธิสั้นที่พบได้บ่อยๆ อีกประการหนึ่ง คือขี้ลืม เช่น ลืมของ ลืมทำการบ้าน ลืมสิ่งที่ครูสั่งให้เอาไปโรงเรียน ลืมส่งงาน ไม่ทบทวนงานเวลาทำงานเสร็จ ลืมเรื่องที่เพิ่งถูกดุมา ไม่เรียนรู้จากประสบการณ์ ได้หน้าลืมหลัง วันนี้เรียนอะไรมาจำได้พรุ่งนี้ลืมหมด

การลืมง่ายนี้เกิดจาก การรับรู้จากสิ่งกระตุ้นของเด็กสมาธิสั้นนั้น(เช่น คำสั่ง ความรู้ )เกิดขึ้นผิวเผินมาก สมองส่วนนอกที่ทำหน้าที่รับสิ่งเร้าหรือตัวกระตุ้นเหล่านั้นเข้าไปรวบรวมเป็นความจำ ทำหน้าที่ไม่เต็มที่ ความจำที่เกิดจึงไม่เข้าไปลึกถึงจุดที่จะจำได้นาน เรียกว่าความจำแบบผิวเผิน ทั้งนี้เพราะขณะที่สมองรับตัวกระตุ้นนั้น ยังไม่ได้ใส่ใจรับข้อมูลเต็มที่ เช่น เวลาที่ครูสั่งงาน ใจยังลอยคิดถึงเรื่องเล่นอย่างอื่นอยู่ เลยจำสิ่งที่ครูสั่งไม่ได้

การแก้ไขการลืมนี้ พ่อแม่สามารถช่วยได้ด้วยการฝึกให้เด็กรู้จัก การเตือนตัวเอง โดยแนะนำเด็กดังนี้

ก่อนที่เด็กจะออกจากบ้านไปโรงเรียนทุกวัน ให้เด็กหยุดคิดและสำรวจตัวเองหนึ่งนาที ว่าลืมอะไรหรือไม่ การแต่งตัวเรียบร้อยหรือยัง ขาดอะไรอีก ถ้านึกขึ้นได้ให้คำชม และรีบให้เด็กจัดการแก้ไขด้วยตัวเองให้ครบทันที ก่อนเด็กจะออกจากโรงเรียนกลับบ้านก็ฝึกเช่นเดียวกัน คือให้คิดทบทวนว่าลืมเอาอะไรกลับหรือไม่ การบ้านมีอะไรบ้าง พรุ่งนี้คุณครูให้เอาอะไรมาเป็นพิเศษ มีของใช้ส่วนตัวอะไรที่ลืมทิ้งไว้ที่โรงเรียนบ้าง

หลังจากทำการบ้านเสร็จ ควรฝึกให้เด็กหัดทบทวน ระยะแรกที่เริ่มต้นฝึกอาจให้สุ่มทบทวนสั้นๆ เช่นทบทวนเลข1-2ข้อก็พอ ถ้าพบว่าผิดพลาดให้แก้ไขทันที ต่อไปให้ทบทวนมากขึ้นเป็นข้อเว้นข้อ เมื่อทำได้มากขึ้นค่อยให้ทบทวนทุกข้อ ถ้าฝึกได้ผลดีเวลาสอบ เด็กจะทบทวนเมื่อทำข้อสอบเสร็จได้ด้วยตัวเอง

เวลาเด็กจะไปไหน ให้เด็กจัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวเอง เช่น ไปค่าย ไปเที่ยวต่างจังหวัด เมื่อจัดเตรียมแล้วให้หัดทบทวนว่าลืมอะไรอีกบ้าง

ฝึกให้เด็ก จดบันทึกสิ่งที่สำคัญ เช่น คุณครูสั่งอะไรบ้าง จะต้องทำอะไรในวันพรุ่งนี้ ขอยืมของเพื่อนอะไรมาบ้าง จะคืนเมื่อไร อะไรที่จำยากให้จดให้หมด และวางแผนให้เด็กดูสิ่งที่จดเป็นเวลาเสมอ เช่น
ครั้งที่ 1 ดูก่อนออกจากบ้านไปโรงเรียน

ครั้งที่ 2 ดูเมื่อถึงโรงเรียน

ครั้งที่ 3 ดูก่อนออกจากโรงเรียน

ครั้งที่ 4 ดูเมื่อกลับถึงบ้าน

ครั้งที่ 5 ดูเมื่อจัดตารางสอน ก่อนนอน

การดูหลายๆครั้ง นอกจากป้องกันการลืมแล้ว ยังช่วยให้จำสิ่งที่จดได้ด้วย การท่องศัพท์สามารถฝึกได้ด้วยวิธีการนี้เหมือนกัน คือให้จดไว้ แล้วนำมาดูบ่อยๆ จะจำได้เอง

เมื่อเด็กเริ่มจดบันทึกแล้ว พ่อแม่คอยตรวจสอบดูด้วยว่าได้จดและทำตามที่วางแผนสม่ำเสมอหรือไม่ มีการเอาสิ่งที่จดมาดูเป็นระยะๆหรือไม่ ได้ประโยชน์จากการจดเพียงไร และอย่าลืมชมที่เด็กจดด้วย

เมื่อเด็กลืม หรือมีความผิดพลาดจากการลืม พ่อแม่ต้องหัดมองลูกแบบเข้าใจ อย่าไปโกรธหรือดุด่าเขาก่อน ให้ทบทวนว่าที่ทำพลาดไปนั้นเกิดจากอะไร ลืมขั้นตอนใดที่จะช่วยไม่ให้ลืม ครั้งต่อไปจะป้องกันไม่ให้ลืม หรือมีวิธีเตือนตัวเองอย่างไร

นอกจากนี้ในสถานการณ์จริงของชีวิต พ่อแม่ก็สามารถนำมาพูดคุยกับเด็กได้เสมอ กระตุ้นให้เขาได้คิดว่า เหตุการณ์ที่ผ่านไปแล้วนั้น ได้เรียนรู้อะไรบ้าง ถ้าแก้ไขได้อยากจะแก้ไขอย่างไร บางครั้งเด็กทำผิด เมื่อเด็กสงบลงแล้ว ควรถามว่าเขาจะป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นใหม่ได้อย่างไร การฝึกเช่นนี้ช่วยให้เกิดการยั้งคิด คิดล่วงหน้า คิดถึงผลที่ตามมา และยั้งใจไม่ทำผิดก่อนกระทำ

ฝึกให้เตือนตัวเองเสมอ ก่อนและหลังกิจกรรม




การฝึกให้ควบคุมตนเอง


เด็กสมาธิสั้นมักขาดการควบคุมตนเอง ทำอะไรตามใจหรือตามสิ่งเร้า ทำให้มักมีปัญหากับคนรอบข้างได้เสมอ ในครอบครัวพ่อแม่มักตามใจเด็กเมื่อเด็กเอาแต่ใจ ไม่ยอมทำตามกฎเกณฑ์กติกาในบ้าน บางคนกลัวปฏิกิริยาของเด็ก ไม่กล้าขัดใจเด็ก บางคนตามใจเพราะตัดรำคาญ เมื่อยอมตามใจเด็กได้ครั้งหนึ่ง เด็กสมาธิสั้นเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วว่าเขาสามารถ “จัดการ” กับผู้ใหญ่ได้แล้ว ครั้งต่อไปเขาจะเอาแต่ใจตัวเองเช่นนั้นอีก เมื่อเด็กเข้าโรงเรียน เด็กสมาธิสั้นอาจมีปัญหาในการปรับตัวกับเพื่อนๆ เพราะเอาแต่ใจตัวไม่ยอมโอนอ่อนเข้าหาคนอื่น การฝึกเรื่องการควบคุมตัวเองนี้ จึงเป็นประโยชน์กับเด็กเองในระยะยาวอย่างมาก

การฝึกการควบคุมตนเองจะเริ่มจาก การฝึกให้เด็กรู้จักการรอคอย การ ฝึกเรื่องนี้สามารถทำได้ตั้งแต่เด็กอายุน้อย เริ่มเมื่อเด็กอายุ 6 เดือนไปแล้ว พ่อแม่สามารถฝึกให้เด็กรู้จักการรอคอย เช่นเวลาหิว ให้รอได้เล็กน้อย แม่ควรบอกเด็กสั้นๆว่า “รอนิดนึงนะ แม่ขอเวลาเตรียมสัก 2-3 นาที” เด็กจะเรียนรู้ว่าต่อไปพอหิว นมอาจยังไม่มาทันที แต่ได้นมในเวลาต่อมาแน่นอน การฝึกอาจยืดเวลาให้รอนานได้มากขึ้นช้าๆ จนเมื่ออายุครบ 1 ขวบ อาจให้เด็กรอได้นานถึง 5 นาที การฝึกเช่นนี้ไม่ได้ทำให้เด็กหิวหรือเดือดร้อนเกินไป ในทางตรงกันข้าม เด็กจะหัดปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป การไม่ฝึกเป็นปัญหามากกว่า เพราะเด็กไม่เรียนรู้ที่จะรอคอย ต่อไปจะรอคอยอะไรไม่เป็น พ่อแม่อย่าลืมว่าชีวิตจริงของเด็กต่อไปนั้นต้องเผชิญกับการรอคอยไม่มากก็น้อย พ่อแม่บางคนคิดว่าไม่เป็นไรยอมได้ แต่เมื่อเด็กโตขึ้น เขาจะต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น ที่อาจไม่ตามใจเขาเหมือนพ่อแม่ เด็กจะปรับตัวลำบากมาก และในที่สุดไม่เป็นที่รักของคนอื่นๆ

นอกจากการ ฝึกให้เด็กรู้จักรอคอยอาหารเมื่อรู้สึกหิวแล้ว เด็กอายุมากกว่า 6 เดือนยังปรับตัวได้กับการรอคอยเรื่องอื่นๆได้อีกเช่นกัน เช่น เมื่อเด็กเปียกฉี่เปื้อนอึ เมื่อเด็กต้องการได้อะไร หรือเมื่อเด็กจะให้พ่อแม่อุ้ม การฝึกใช้หลักการเดียวกัน คือให้เด็กรอคอยพร้อมกับบอกสั้นๆ ว่าจะได้ในเวลาอีกไม่นาน เมื่อตอบสนองความต้องการแล้วควรชมเด็กด้วยสีหน้ายิ้มแย้มที่เขารอได้ แม้เด็กฟังคำพูดไม่รู้เรื่อง แต่เขาเรียนรู้จากสีหน้า รอยยิ้ม ท่าทาง และจะรอคอยได้มากขึ้นเรื่อยๆ

ขั้นตอนต่อไป ในขวบปีที่ 2 ควรฝึกในเรื่อง การทำกิจกรรมให้อยู่ในกรอบกติกาสังคม เช่น การมีกิจวัตรประจำตัว การทำตามตารางเวลา กฎเกณฑ์ของกิจกรรมในครอบครัวและสังคม ที่ต้องไม่ทำให้ข้าวของเสียหาย ไม่เป็นอันตรายต่อตนเอง และไม่เป็นอันตรายหรือละเมิดผู้อื่น การฝึกให้ตัวเองต้องปรับตัวเช่นนี้ ช่วยให้เด็กสมาธิสั้นมีการควบคุมตนเองดีขึ้น วิธีฝึกควรเริ่มต้นจากกิจกรรมง่ายๆที่ฝึกการควบคุมกล้ามเนื้อและ สายตา เช่น การเล่น กีฬา ดนตรี ศิลปะ หรือกิจกรรมอื่นๆ (ยกเว้นเกมกด วีดิโอเกม หรือเกมคอมพิวเตอร์ ไม่ได้ช่วยให้ควบคุมตนเอง) ถ้าเริ่มจากกิจกรรมที่เด็กชอบหรือมีความถนัด เด็กรู้สึกสนุกฝึกได้ง่าย หลังจากนั้นพ่อแม่ส่งเสริมให้เด็กทำติดต่อกันสม่ำเสมอ แล้วยืดระยะเวลาที่เด็กทำให้ยาวขึ้นตามลำดับ ถ้าสามารถฝึกด้วยกิจกรรมหลายรูปแบบจะยิ่งได้ผลดี

หลังจากนั้น พ่อแม่ค่อยๆให้แบบฝึกหัดที่ยากขึ้น คือการกระตุ้นและกำกับให้เด็กทำในกิจกรรมที่ไม่ชอบหรือไม่ถนัดบ้าง เช่นการบ้าน การทบทวนบทเรียน ให้เป็นไปตามตารางเวลาที่วางแผนไว้

การฝึกระดับที่ยากที่สุดเห็นจะเป็นการฝึกความคิด โดยให้เด็กรู้จักการควบคุมความคิดของตน ให้จดจ่ออยู่กับอิริยาบถที่ทำอยู่ ให้ได้ยาวนานที่สุด ถ้าอยู่เฉยๆไม่ได้ทำอะไร ให้ฝึกจิตใจจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออก ดังนี้
  • · เมื่อหายใจเข้าให้นึกถึงลมหายใจที่เข้า


  • · เมื่อหายใจออกให้นึกถึงลมหายใจออก ตลอดเวลา


  • · ถ้าใจวอกแวกไปคิดเรื่องอื่นเมื่อใด ก็ให้ดึงสติกลับมารู้ตัวให้ได้โดยเร็ว รีบกลับมาจดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้าออกอย่างเดิม

หลักการดูง่ายๆ แต่เวลาทำจริงๆไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แม้คนปกติก็ยังคุมจิตใจแบบนี้ได้ไม่นานเหมือนกัน การฝึกเรื่องนี้จึงค่อนข้างยากในเด็กสมาธิสั้น ในการฝึกระยะแรกถึงแม้ใจไม่นิ่ง แต่ร่างกายที่สงบนิ่งมากกว่าเดิม ก็แสดงว่ามีการควบคุมร่างกายก็เกิดขึ้นบางส่วนแล้ว

การรู้จักสำรวมร่างกาย การควบคุมการเคลื่อนไหวไม่ให้มากเหมือนเดิม แม้ได้ผลช้าแต่เป็นประโยชน์ต่อเด็กสมาธิสั้นไม่มากก็น้อย เรื่องการฝึกสตินี้ ควรหาผู้สอนที่มีความรู้ และเข้าใจเด็กสมาธิสั้นด้วย เพราะเด็กบางคนฝึกยากหรือช้ามาก หรือไม่ค่อยร่วมมือในระยะแรกๆ ผู้ใหญ่จึงไม่ควรคาดหวังสูงในระยะเริ่มต้น ไม่ควรเปรียบเทียบผลการฝึกของเด็กสมาธิสั้นกับเด็กทั่วไป แต่ให้เปรียบเทียบกับตัวเด็กเองในระยะยาว จึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน

การฝึกสติช่วยให้ควบคุมจิตใจตัวเองได้ง่าย




การฝึกให้เด็กรู้จักการ “กะ” และ การประมาณ


การคาดคะเน คาดการณ์ หรือการ “กะ” ของเด็กสมาธิสั้นมักไม่ดี โดยเฉพาะการกะเวลา ทำให้เป็นปัญหาเวลาพ่อแม่บอกให้เด็กสมาธิสั้นหยุดเล่นตามเวลาที่กำหนด เช่น พ่อแม่อาจบอกว่า ให้เล่นอีกสิบนาที แล้วไปอาบน้ำ เมื่อครบสิบนาทีเด็กสมาธิสั้นมักไม่รู้ตัวเอง ไม่เลิกเล่น ในที่สุดลงเอยด้วยการถูกดุถูกว่าบ่อยๆ

วิธีการฝึกควรทำดังนี้
  • . ให้เด็กนั่งนิ่งๆ หลับตา บอกเด็กว่า ให้ลองกะเวลาเองในใจ เมื่อครบ 1 นาที แล้วลืมตาขึ้นได้ พ่อแม่จับเวลาด้วย เมื่อเด็กลืมตา ให้บอกว่าเวลาผ่านไปจริงๆเท่าใด ระยะแรกๆเด็กมักกะเวลาไม่ถูก มักสั้นกว่าเวลาจริง ลองฝึกใหม่หลายๆครั้ง จดบันทึกการฝึกทุกวัน ในที่สุดเด็กจะกะเวลาแม่นยำมากขึ้น การฝึกนี้อาจทำให้เหมือนการเล่นเป็นกลุ่มในหมู่พี่น้อง หรือพ่อแม่เล่นด้วยก็ได้ อาจเล่นเป็นเกม มีรางวัลเล็กน้อย พร้อมกับคำชม


  • . ให้เด็กตักถั่วเขียวขึ้นมากจากชาม หนึ่งช้อนชา ลองให้เด็กทายว่าในช้อนนี้มีถั่วเขียวกี่เม็ด ทายเสร็จแล้วให้เด็กลองนับดูด้วยตัวเอง ชมเด็กเมื่อทายได้ใกล้เคียงขึ้น ลองทำหลายๆครั้งเช่นเดียวกัน หรือลองเปลี่ยนเป็นช้อนที่ใหญ่ขึ้น แล้วทายใหม่


  • . ให้เด็กหยิบเหรียญขึ้นมาหนึ่งกำมือ ลองทายน้ำหนัก หรือจำนวนเหรียญ


  • . หยิบกระเป๋าสตางค์ขึ้นมา ลองทายว่าขนาดกว้างยาวเท่าใด


  • . ลองให้กะว่าตอนนี้เป็นเวลาเท่าใด


  • . หลังจากเดินสักครู่ ลองให้กะระยะทางที่เดิน


  • . ให้ลองกะระยะทางจากบ้านไปโรงเรียน เทียบกับระยะทางที่ได้จากการวัดโดยรถยนต์

พ่อแม่สามารถฝึกเด็กได้ทุกสถานการณ์ โดยใช้สิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับ เวลา ปริมาณ จำนวน น้ำหนัก ความยาว ระยะทาง ให้เป็นประโยชน์

ฝึกให้ “กะ” หรือ “ประมาณ”จากเหตุการณ์รอบตัว




การฝึกให้รู้จักรอคอยรางวัลหรือผลดีที่ตามมา


จุดอ่อนข้อหนึ่งของเด็กสมาธิสั้น คือ การขาดการรอคอย เวลาทำอะไรที่สนุกสนานตื่นเต้นแล้วได้ผลตอบแทนทันทีจะพอใจ อะไรที่ทำแล้วไม่เห็นผลทันทีจะเบื่อง่าย เกมคอมพิวเตอร์ทั้งหลายจึงเป็นที่ถูกใจเด็กสมาธิสั้นมาก เพราะมีการตอบสนองเร็ว ได้รางวัลเร็ว แต่ในชีวิตจริงรางวัลที่ได้ไม่ได้มาเร็วเหมือนในเกม เช่น ผลการเรียน พ่อแม่จึงควรฝึกให้เด็กสมาธิสั้นฝึกการรอคอยรางวัล หรือผลตอบแทน ด้วยวิธีการต่อไปนี้

การฝึกให้สะสมเงิน


ควรฝึกตั้งแต่เริ่มให้เงินค่าขนมครั้งแรกๆ โดยเมื่อให้เงินควรพูดคุยเป็นการกระตุ้นให้เด็กคิดด้วยว่า จะวางแผนการใช้เงินอย่างไร จะซื้ออะไร ตอนไหน รวมแล้วเป็นเงินเท่าไร เก็บเงินค่าขนมวันนี้เท่าไรดี เมื่อเด็กทำได้อย่างที่วางแผนหรือเก็บได้มากกว่า ควรชื่นชม และส่งเสริมให้หยอดกระปุกออมสิน เมื่อเต็มแล้วพาไปฝากธนาคาร อธิบายว่าเมื่อฝากไว้ยิ่งนานก็จะได้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เก็บไว้ยิ่งนานจะเป็นเงินก้อนใหญ่ขึ้น อาจเอาไปซื้ออะไรที่ราคามากขึ้นได้ เป็นการจูงใจให้อยากสะสม และ “รอ” ผลที่จะตามมา ไม่ใจร้อนรีบใช้เงินทันที

บางครั้งการให้รางวัลเพิ่มเติมจากยอดเงินที่เด็กสะสมได้ อาจช่วยเพิ่มแรงจูงใจ เช่น เมื่อเด็กสะสมได้ถึง 100 บาท พ่อแม่อาจให้เพิ่มอีก 10 บาทเป็นรางวัล ไม่ควรให้มากเกินไปนัก เพราะเด็กอาจมีเงินเก็บมากจนอาจเอาไปใช้จ่ายอย่างเกินตัว อาจเป็นปัญหาได้

เมื่อเด็กมีเงินเก็บของตนเอง ควรมีวิธีการป้องกันการใช้จ่ายเกินตัว ด้วยการมีกติกาควบคุมที่ช่วยกันสร้างขึ้น เช่น ก่อนใช้เงินที่เก็บนี้ ต้องมีการวางแผนก่อน มีการปรึกษาหารือ กำหนดว่าใช้ซื้อของเล่นได้เท่าไร เป็นการฝึกให้เด็กคิด และควบคุมตนเอง ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

เมื่อเด็กมีความต้องการอยากได้อะไร ควรฝึกให้มีการบอกพ่อแม่ ขออนุญาตพ่อแม่อย่างเป็นเรื่องเป็นราว เพื่อวางแผนการหาเงิน และการใช้เงิน ในเด็กรายได้ที่มีทางเดียว คือจากพ่อแม่ ดังนั้นเมื่ออยากได้อะไรที่ไม่จำเป็น ควรกระตุ้นให้เด็กเก็บเงินค่าขนม หรือเงินที่อาจได้จากผู้ใหญ่อื่นๆ พ่อแม่อาจช่วยบ้างแต่ไม่ควรให้หมด เด็กจะได้เรียนรู้การรอคอย

การฝึกให้อดทน รอคอย


เด็กสมาธิสั้นมักรอคอยอะไรไม่ค่อยได้ เวลารอมักหงุดหงิดงอแง ทำให้พ่อแม่หลายคนตัดรำคาญ ไม่ค่อยฝึกให้เด็กรอคอย บางคนไม่อยากให้เด็กหงุดหงิด กลัวเด็กเครียดหรือโวยวาย การฝึกให้เด็กรอคอยทีละน้อย เริ่มจากการรอคอยสิ่งง่ายๆ ไม่นานเกินไปนัก จะช่วยให้เด็กคุ้นเคยกับการรอคอยมากขึ้น การให้เหตุผลสั้นๆ อาจช่วยให้เด็กเข้าใจการรอคอยตามเหตุผลได้บ้าง แต่ถ้าเด็กยังมีปฏิกิริยาบ้าง ขอให้พ่อแม่อดใจอย่าเผลอไปโต้ตอบ เมื่อเด็กโตขึ้นการควบคุมตัวเองจะดีขึ้นตามวัยด้วยเช่นกัน การแนะนำให้เด็กรู้จักใช้เวลาระหว่างรอคอยให้เป็นประโยชน์หรือสนุกได้ระหว่างรอ เช่นการอ่านหนังสือ หรือมีเกมที่เล่นคนเดียวเงียบๆได้

การฝึกให้เด็กสมาธิสั้นเล่นกับเด็กอื่นได้นั้น มีส่วนช่วยให้เด็กรู้จักการรอคอยได้เหมือนกัน เด็กสมาธิสั้นมักเล่นกับเด็กอื่นได้ยาก ด้วยเหตุผลหลายประการ เช่น อาการสมาธิสั้นทำให้ไม่รู้จักการรอคอย ไม่ยับยั้งใจตนเอง ไม่โอนอ่อนผ่อนตามผู้อื่นบ้าง และบางทีเอาแต่ใจตนเองไม่รักษากติกาของกลุ่ม ในการเล่นเป็นกลุ่มนั้นย่อมต้องมีกติกา การไม่รู้จักคอยให้ถึงคิวของตนเองทำให้เพื่อนมองว่าไม่เคารพกติกา จึงไม่มีใครอยากเล่นด้วย การฝึกให้เด็กรู้จักการรอบ้าง ยอมคนอื่นบ้าง จึงเป็นสิ่งจำเป็น

การฝึกให้รอคอยเป็นพื้นฐานของการควบคุมตนเอง


ในสถานการณ์ที่เด็กต้องรอคอยจริงๆ เช่นการไปรอพบแพทย์ ควรแนะนำให้เด็กเตรียมกิจกรรมที่เด็กชอบ และใช้เป็นการเล่นฆ่าเวลา เช่น กระดาษวาดรูป ของเล่นที่ชอบเล่น(และสามารถพกพาไปได้ ยกเว้นเกมกดไม่แนะนำ) ตัวต่อ แท่งรูบิก(แท่งลูกบาศก์ที่ฝึกให้เด็กหมุนจนทุกด้านเป็นสีเดียวกัน) ปริศนาอักษรไขว้ หนังสือที่ชอบ(การ์ตูนก็ได้) ระหว่างทีรออาจใช้เวลาพูดคุยชวนสนทนาให้เด็กเพลิน หรืออาจมีเกมเล่น พยายามหากิจกรรมให้เด็กทำให้เป็นประโยชน์ และทำให้เด็กไม่ได้อยู่นิ่งๆ เช่นให้เดินไปซื้อของ เดินสำรวจสถานที่ วาดแผนที่ของสถานที่ไป ฯลฯ

เมื่อรอคอย ให้หาอะไรทำเพลินๆ ช่วยให้ไม่เบื่อ




การฝึกให้เด็กมองเห็นข้อดีตนเอง


เด็กสมาธิสั้นมักมองเห็นแต่ข้อเสียของตนเอง เนื่องจากถูกดุ ถูกว่า ถูกตำหนิ ถูกลงโทษ จากทั้งที่บ้านและที่โรงเรียนเสมอๆ ถ้าปล่อยทิ้งไว้เด็กจะขาดความภาคภูมิใจตนเอง ขาดแรงจูงใจที่ในการทำความดี ขาดแรงจูงใจในการเรียน ผลการเรียนที่ไม่ดีทำให้เด็กขาดความมั่นใจในตนเอง เรียนไม่สนุก ไม่รู้เรื่อง เบื่อเรียน เด็กสมาธิสั้นมักมองไม่เห็นข้อดีอื่นของตนที่ยังมีอยู่ เช่น การเคลื่อนไหวมากกว่าเด็กอื่นๆ อาจนำไปใช้ในการทำตัวให้เป็นประโยชน์ในการทำงานช่วยเหลือส่วนรวม และในที่สุดได้รับคำชมจากครู ได้การยกย่องยอมรับจากเพื่อนๆ
  • . การฝึกให้เด็กคิดดีกับตัวเองนั้นต้องเริ่มจากการที่พ่อแม่มองลูกในทางที่ดี


  • . พ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกทำดี บางสถานการณ์พ่อแม่และครูอาจกำหนดให้เขามีการทำงาน เพื่อให้ได้โอกาสได้รับการยกย่องชมเชยบ้าง


  • . พ่อแม่มีวิธีแก้ไขปัญหาพฤติกรรมลูก ที่ไม่ใช่การดุด่าว่ากล่าว


  • . พ่อแม่ไม่หงุดหงิดกับพฤติกรรมบางอย่างที่แก้ไขไม่ได้ และไม่ใช่เรื่องใหญ่ เช่น การนั่งไม่เรียบร้อย ยุกยิก อยู่ไม่นิ่ง การพูดมากบ่นมากในเรื่องนี้ ทำให้เด็กสมาธิสั้นมองตัวเองไม่ดี


  • . มีโอกาสชวนคุยให้เขามองตัวเองดี เช่น


  • “วันนี้ลูกทำอะไรที่รู้สึกดีๆบ้าง”

    “ที่โรงเรียนมีอะไรที่ทำให้ลูกภูมิใจตัวเองบ้าง”

    “ครูชมลูกอย่างไรบ้าง”

    “เพื่อนชมลูกเรื่องอะไรบ้าง”

    “ลูกอยากให้คนอื่นชื่นชมตัวลูกอย่างไร”

    “ลูกคิดจะทำอะไรบ้าง ที่จะทำให้คนอื่นชื่นชม”



การมองตนเองดีเป็นพื้นฐานอารมณ์ที่ดี และความภูมิใจตนเอง




การรู้จักเอกลักษณ์ตนเอง


เมื่อเด็กสมาธิสั้นโตขึ้นเข้าสู่วัยรุ่น ควรส่งเสริมให้เด็กค้นหาตัวเองว่า มีความชอบความถนัด ค่านิยม ความเชื่อ นิสัยใจคอ ข้อดีข้อด้อยของตนเอง รวมถึงความต้องการอยากเรียนอะไร อยากทำงานอะไรในอนาคต เด็กสมาธิสั้นที่มีเป้าหมายของตนเองแล้ว จะมีแรงจูงใจในการเรียนจากภายในจิตใจของตน ไม่ต้องให้พ่อแม่คอยเคี่ยวเข็ญให้เรียนอีกต่อไป ควรกระตุ้นให้วัยรุ่น กำหนดเป้าหมายของตน วางแผนชีวิตของตนเองมากขึ้น และพยายามทำให้ไปถึงเป้าหมายด้วยตัวเอง เมื่อมีปัญหา อุปสรรค ก็ควรหัดให้เด็กแก้ไขด้วยตัวเองก่อน

การฝึกให้เด็กมีการเรียนรู้จักตนเองเช่นนี้ ทำให้เด็กมีเอกลักษณ์เฉพาะตน ที่แตกต่างไปจากคนอื่นๆ ลักษณะที่ดี จะเห็นชัดเจนขึ้นและถ่ายทอดไปยังเด็กอื่นๆ

วัยรุ่นที่เริ่มรู้ว่าตนเองชอบอะไร ถนัดอะไร มักมีเป้าหมาย มีความใฝ่ฝันของตนเอง มีแรงจูงใจในการเรียนรู้ และทำอะไรที่มีทิศทางชัดเจน แรงจูงใจจากภายในที่เกิดขึ้นนี้ทำให้สมาธิในการเรียนยาวขึ้น วัยรุ่นจึงดีขึ้นได้ด้วยตัวเอง

พ่อแม่สามารถช่วยส่งเสริมให้ลูกรู้จักตนเอง มีความมุ่งมั่นในชีวิต เข้าใจตนเอง



Create Date : 11 มกราคม 2551
Last Update : 27 ธันวาคม 2551 21:34:07 น. 1 comments
Counter : 1208 Pageviews.

 
ขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง


โดย: แก๊ปปี้ IP: 118.173.11.90 วันที่: 21 เมษายน 2551 เวลา:19:47:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

wbj
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 210 คน [?]




ต้องการสอบถาม กรุณาติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com หรือ 062 641 5992, 062 826 1544

วิทยากรเชิงกิจกรรม

วิทยากรกระบวนการ

ที่ปรึกษาธุรกิจ

ด้านการบริหารจัดการ

การตลาดและการประชาสัมพันธ์

การบริหารทรัพยากรมนุษย์

การวางแผนกลยุทธ์

วิจัยธุรกิจ

IT Dashboard



ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้...
ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย
และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด



<< Main Menu >>



ดวงถาวร


ดวงตามวันเกิด



ดวงตามปีเกิด






;b[^]pN 06' ไรินนื ่นนืเ "รินนื ๋นนืเ c:j06'

ต้องการสอบถาม โทร 062-641-5992, 062-826-1544
ติดต่อทางเมล์ที่ wbjoong@gmail.com
Line ID : wbjoong

ที่ปรึกษาธุรกิจ ด้านการบริหารจัดการ การตลาดและการประชาสัมพันธ์ การบริหารทรัพยากรมนุษย์ และ การวางแผนกลยุทธ์ วิทยากรเชิงกิจกรรม, วิทยากรกระบวนการ นักวิจัยการดำเนินงานธุรกิจ Executive & Management Coach

ไม่ได้ ไม่มี ไม่ดี ไม่ได้... ต้องได้ ต้องดี ต้องมี ต้องง่าย และ ทำให้ดีกว่าดีที่สุด
<< Main Menu >>
Friends' blogs
[Add wbj's blog to your web]
Links
 
MY VIP Friends


 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.