บันไดเซน..สู่ซาโตริ

เย็นย่ำวันอาทิตย์ ตั้งใจว่าจะออกไปจิบกาแฟ เริงร่ากับรสกาแฟที่คุ้นเคยและกลิ่นหอมรัญจวนใจเพื่อจะได้มีเรี่ยวมีแรงใช้ชีวิตขึ้นมาบ้าง.. แต่มันก็ไม่เป็นไปตามคาด เพราะหัวใจที่นิ่งไม่พอ ล่องลอยไปไหนต่อไหนจนยากจะเรียกกลับ ทำให้ต้องกลับมาตั้งสติอีกครั้ง พร้อมกับการหยิบหนังสือเล่มโปรดที่ฉันอ่านค้างไว้หลายวัน

พุทธบูรณา ชีวประวัติพุทธทาส ฉบับท่าพระจันทร์ เขียนโดย สุวืนัย ภรณวลัย เป็นหนังสือที่หยิบมาอ่าน เล่มหนากว่าห้าร้อยหน้า อ่านง่าย ไม่ต้องคิดมาก แค่เปิดใจให้กว้างและมองเรื่องราวที่อ่านอย่างตั้งใจ ฉันเชื่อเหลือเกินว่ามันจะนำมาซึ่งความเบิกบาน

ฉันเลือกความตอนหนึ่งมาเล่าสู่กันฟัง เพราะขณะที่ฉันอ่านตามทีละตัวอักษร ทีละบรรทัด มันทำให้ฉันมีแรงบันดาลใจอย่างประหลาดที่จะหยิบยกความตอนนี้มาเล่าสู่กันฟัง ประกอบกับการเหลือบไปเห็นเพื่อนคนหนึ่งที่ขึ้นหัว MSN ไว้ว่า “การให้ธรรมะเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง” ... ฉันหวังว่าคนที่แวะเวียนเข้ามาอ่านคงจะได้รับประโยชน์กลับไปจากการให้ครั้งนี้ของฉันบ้าง

บันไดเซน..สู่ซาโตริ ซาโตริแปลว่า บรรลุแล้ว ฉันคิดว่ามันเหมือนกับคำว่า “ยูเรก้า” หรือที่อะคิทิดิส ได้ค้นพบวิธีการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของมงกุฎทองของกษัตริย์ในขณะที่กำลังอาบน้ำอยู่ในอ่าง แล้ววิ่งแก้ผ้าออกไปบนถนนด้วยความดีใจ ตะโกนร้องว่า ยูเรก้า ยูเรก้า...ยังไงอย่างงั้น ฉันคิดว่าในขณะนั้นท่านพุทธทาสก็คงรู้สึกแบบนั้นเช่นเดียวกัน………………

ความตอนหนึ่งในหนังสือกล่าวว่า “สิ่งที่เขาแสวงหามาตลอดทั้งชีวิตนั้นที่แท้มันเป็นสิ่งที่ติดอยู่ที่หน้าผากของเขามาตลอดเวลาอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นก่อนหน้านี้ไม่ว่าเขาจะวิ่งค้นหามันเท่าไหร่ อย่างไรก็ไม่เคยพบ เพราะมันไม่เคยไปไหน มันอยู่กับเขาตลอดเวลาอยู่แล้ว”

เพื่อไม่ให้การนำเสนอผิดแผก หรือตีความผิดไปจากต้นฉบับ ฉันขอคัดลอกมาให้อ่านในบางช่วงบางตอนดังต่อไปนี้ (คัดลอกในหน้า 176 – 18

ที่แท้การปฏิบัติธรรมเพื่อลุถึงสิ่งสูงสุดนั้น คือการไม่ต้องปฎิบัติเพื่อบรรลุธรรมะอะไรเลยแม้แต่นิดเดียว แค่เขา “ตื่น” ขึ้น และ “ตระหนักรู้” ในธรรมชาติแห่งพุทธะของตัวเองอยู่ตลอดเวลา และใช้ชีวิตของตนตามมโนภาพแห่งความตระหนักถึงความเป็นพุทธะของตนอยู่ทุกลมหายใจเข้าออกเท่านั้น.....

บันไดแห่งการเข้าถึงเซนจึงไม่ต่างไปจากเรื่องเล่าที่เป็นอุปมาอุปไมยของคนเลี้ยงวัว ที่ออกตามหาวัวของตนซึ่งหนีเตลิดไป คนเลี้ยงวัวเป็นตัวแทนของจิตที่มีปัญญาวัวพยศสีดำทะมึน เป็นตัวแทนของจิตที่ประกอบด้วยกิเลสเต็มที่ของปุถุชน ที่มีความพยศ ความฟุ้งซ่าน ความหยิ่งยโส แต่ที่จมูกวัวยังมีเชือกร้อยอยู่ หมายความว่ายังพอมีลู่ทางในการตามจับมันคืนมาได้ แต่ก่อนอื่นคนเลี้ยงวัวต้องติดตามสะกดรอยไปจนพบตัววัวให้ได้เสียก่อน(ขั้นที่ 1 ติดตามสังเกต)

ขั้นต่อมา คือการที่คนเลี้ยงวัวสามารถจับตัววัวด้วยการคว้าเชือกร้อยจมูกวัวได้ เชือก หมายถึง วิชาโยคะ หรือการฝึกกรรมฐานแบบใดแบบหนึ่ง สำหรับผูกจิตของตนกับอารมณ์กรรมฐานนั้น กรรมฐานที่ดีคือกรรมฐานที่เกิดอย่างธรรมชาติ รู้เท่าธรรมชาติ ใช้วิธีง่าย ๆ ตามหลักธรรมชาติไปเอาชนะธรรมชาติ จึงจะสามารถกำหนดอารมณ์ได้แน่วแน่ และสามารถพิจารณามันได้อย่างทะลุปรุโปร่ง (ขั้นที่ 2 เริ่มการฝึก)

ขั้นต่อมา คนเลี้ยงวัวผู้มีปัญญาค่อย ๆ เริ่มฝึกวัวด้วยความอดทนจนจูงมันไปได้ เขาฝึกมันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่วู่วาม วัวเองก็เริ่มให้ผู้ฝึกจูงจมูก แต่คนเลี้ยงวัวยังคงกุมเชือกมั่น เขาระมัดระวังที่จะไม่เผลอ แต่ก็พยายามไม่ให้รู้สึกเหนื่อยใจในการระวังตัว วัวเองก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบริเวณส่วนหัวของวัวดำทะมึนตัวนั้นเริ่มเปลี่ยนเป็นสีขาวแล้ว (ขั้นที่ 3 รับการฝึก)

ขั้นต่อมา เมื่อคนเลี้ยงวัวอดทนฝึกวัวได้นานพอ จิตวัวก็เริ่มเปลี่ยนนิสัย สิ้นความป่าเถื่อนและพิษสงทุกอย่าง แต่คนเลี้ยงวัวผู้ฝึกก็ยังไม่ยอมมอบความไว้วางใจโดยสิ้นเชิง เขายังคงผูกวัวไว้กับต้นไม้ และคอยดูแลเชือกที่ผูกให้เรียบร้อยอยู่เสมอ ขณะที่ตัววัวเองก็เริ่มมีสีขาวที่บริเวณไหล่และขาหน้าทั้งสองข้างแล้ว (ขั้นที่ 4 เปลี่ยนนิสัย)

ขั้นต่อมา คนเลี้ยงวัวไม่ต้องผูกล่ามวัวแล้ว เขาสามารถปล่อยวัวให้เที่ยวตามใจชอบในตอนกลางวัน พอตกเย็นวัวก็มาหาเจ้าของ และเดินตามกลับบ้าน ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ตัวเองสามารถไว้วางใจจิตของคนได้อย่างเต็มที่แล้วว่า ทำอย่างไรเสียก็จะไม่เกิดเป็นพิษขึ้นมาอีก ต่อให้จิตรับอารมณ์เป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอันใดตามใจชอบบ้าง ก็ไม่มีการหลงติดมัวเมา ยังคงมีสติอยู่ในร่องรอยของธรรมะอยู่ตามเดิม เพราะจิตติดธรรมเหมือนวัวติดเจ้าของแล้ว ในขั้นนี้วัวมีสีขาวไปจนถึงตะโพกแล้ว เป็นสัญลักษณ์ของการไม่อาจจะถอยกลับไปสู่ความดำอีก มีแต่จะขาวผ่องเรื่อยไปจนถึงที่สุด แต่คนเลี้ยงวัวผู้ฝึกก็ยังมีเชือกและแส้ถืออยู่ในมือ ยังคงความเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ (ขั้นที่ 5 ฝึกราบคาบ)



Create Date : 18 พฤษภาคม 2552
Last Update : 20 พฤษภาคม 2552 20:38:21 น. 4 comments
Counter : 902 Pageviews.

 
ขั้นต่อมา บัดนี้หมดภาระแล้ว พักได้แล้วทั้งวัวและผู้ฝึก ทั้งคู่พักอยู่ในลานหญ้าเขียวซึ่งเป็นวิหารธรรมของจิตที่ลุถึงสภาพอันใหม่นี้แล้ว บัดนี้ทั้งคู่อยู่ในภาวะผ่อนคลายสบายตัวสบายใจยิ่งกว่าเคยเป็นมา เพราะไม่มีอะไรต้องห่วงกังวลเหมือนแต่ก่อน ไม่ต้องฝึกวิธีไหนอีกต่อไป คนเลี้ยงวัวนั่งเป่าขลุ่ยเสียงกังวานด้วยความสุขสันต์ ด้วยความอิ่มใจ ดุจการเสวยวิมุตติสุขหลังจากการบรรลุมรรคผลขั้นนั้น ๆ แล้ว ขณะที่ตัววัวก็มีสีขาวเกือบทั้งตัว ยังเหลือสีดำอยู่แค่ท่อนหางนิดเดียวเท่านั้น วัวเองก็ตั้งใจสดับเสียงขลุ่นอย่างมีความสุขอยู่เช่นกัน (ขั้นที่ 6 หมดปัญหา)

ขั้นต่อมา บัดนี้คนเลี้ยงวัวผู้ฝึกสามารถวางมือในหน้าที่ของเขาได้แล้ว แม้จะงีบหลับไปบ้างก็ยังได้ บรรยากาศเต็มไปด้วยความสงบเยือกเย็น ตะวันบ่ายคล้อยลงแล้วกระแสน้ำในลำธารส่งเสียงอันระรื่น ประหนึ่งเสียงของเหล่าทวยเทพ ที่แซ่ซ้องสาธุการในความสำเร็จของผู้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท แสงสีของท้องฟ้าในยามนี้ทำให้หญ้าในท้องทุ่งดูงามสะพรั่ง เหมือนความงามของแดนสุขาวดีอันสมบูรณ์ไปด้วยอาหารใจและความเป็นทิพย์ คนเลี้ยงวัวหลับไปเสียนาน เพื่อให้คุ้มกับความเหน็ดเหนื่อยที่เขาได้ปลุกปล้ำมาด้วยความเข้มแข็งเป็นเวลานาน เขานอนหลับสนิทสิ้นห่วงใยในสิ่งทั้งปวง เพราะรู้ความที่จิตหมดกิเลสอันเป็นเหตุให้กังวล แต่ถึงจะหลับ เจาก็หลับอย่างมีสติตื่นทุกเมื่อ (ขั้นที่ 7 วางมือหมด)

ขั้นต่อมา ปรากฎการณ์ใหม่เกิดขึ้นแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างขาวไปหมดจนทอตา วัวขาวผ่องทั่วทั้งตัวยืนอยู่ท่ามกลางเมฆขาว แสงจันทร์ขับความขาวลงปกคลุมพื้นพิภพจนทุกสิ่งพลอยขาวไปหมด และขับกันเองให้ขาวยิ่งขึ้นจนถึงที่สุดแห่งความขาว ขณะที่ทั้งคนเลี้ยงวัวและวัวต่างสงบเย็นไร้สิ่งรบกวนใจ สิ้นความกังวล ไม่มีความอยาก ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นความเป็นตัวตนในสิ่งใด เมื่อคนเราไม่มีความยึดถือแล้ว จะดำหรือขาวก็ย่อมไร้ความหมายหรือความแตกต่างกัน มีแต่สิ่งที่เหมือนกัน เพราะล้วนเป็นของปรุงแต่งเปลี่ยนแปลงไม่คงที่ด้วยกันทั้งสิ้น (ขั้นที่ 8 หมดลักษณะสมมติ)

ขั้นต่อมา บัดนี้วัวซึ่งขาวถึงที่สุดทั้งตัวแล้วนั้นได้เข้าถึงความว่าง อันตรธานไปจากความเป็นวัวโดยไม่ทิ้งร่องรอยใน ๆ ยังเหลืออยู่แต่ “ตัวตนที่เป็นอิสระ” เป็น “เอกบุรุษ” ในสากลจักรวาล ผู้เป็นนายเหนือเวลา ไม่มีอะไรที่มีค่าหรือมีความหมายสำหรับคนประเภทนี้ เขาจึงไม่อยากและไม่ยึดถือในสิ่งใด เขาไม่มีอะไรผูกพันในแง่ใดทั้งหมด เขาเป็นอิสรชนผู้สามารถยิ้มเย้ยสิ่งทั้งปวง ด้วยการตบมือร้องเพลงท่ามกลางแสงจันทร์อันเยือกเย็น ซึ่งเป็นรสแห่งวิมุตติสุข (ขั้นที่ 9 ผู้เด่นอยู่โดดเดี่ยว)

ขั้นต่อมา บัดนี้เหลืออยู่แต่ความว่าง ทั้งคนทั้งวัวว่างไป ไม่มีร่องรอยเหลือให้เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือแต่ประการใด แสงจันทร์ก็พลอยไม่รู้ว่าจะส่องอะไรหรือส่องเพื่อใครอีกต่อไป เมื่อไม่มีอะไรรับการส่อง ก็ไม่เกิดเงาสะท้อนขึ้นมาให้เป็นมายาอย่างนั้นอย่างนี้อีก (ขั้นที่ 10 ดับทั้งคู่)

ขั้นต่อมา คนเลี้ยงวัวปรากฏกายขึ้นมาอีกครั้ง เขาหวนกลับไปใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนร่วมโลกของเขา คราวนี้เขามีชีวิตอย่างตื่นรู้อย่างเต็มที่ อย่างไร้ตัวตน การกระทำและปฏิบัติการต่าง ๆ ของเขาดุจจันทราในวารีที่สะท้อนแสงให้กับหยาดน้ำทุกแห่งทุกที่ ดวงจันทร์ไม่ปรารถนาจะสะท้อนแสงก็จริง แต่ด้วยธรรมชาติของมันจึงปรากฎเป็นแสงสะท้อนออกมาเอง เขาอยู่กับโลกใบนี้อย่างเรียบง่ายและถ่อมตน เพื่อทุกคนมิใช่เพื่อตนเอง (ขั้นที่ 11 คืนสู่สามัญ)

ยาวหน่อยนะ...แต่ตั้งใจพิมพ์ให้อ่านด้วยความบริสุทธิ์ใจ
พระคุ้มครอง

18 พฤษภาคม 2552
บ่ายสามโมงห้านาที


โดย: Stand by bowky วันที่: 18 พฤษภาคม 2552 เวลา:15:05:13 น.  

 
ขอได้รับความขอบคุณอย่างสูงครับ
อ่านแล้วรู้สึกดีจริงๆ
เป็นธรรมมะเปรียบเทียบที่เข้าใจง่ายมากเลยครับ
ไม่ต้องใช้ศัพท์ทางพระพุทธศาสนาอธิบาย
ก็เข้าใจได้ง่ายครับ
ขอบคุณที่แบ่งปันธรรมมะดีๆให้นะครับ



โดย: เฟอร์นันโด ตอร์เรส IP: 117.47.60.76 วันที่: 19 พฤษภาคม 2552 เวลา:1:21:04 น.  

 
สวัสดีค่ะ

เล่มนี้อ่านแล้วเข้าใจดีนะคะ
มีเล่มหนึ่งที่อ่านเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ คือ กุญแจเซ็น

แต่จำได้บทหนึ่งค่ะ

ขุนเขายืนยง คงขุนเขา
สายนทียังคง ดำรงไหล

ขอบคุณนะคะ


โดย: รยา (raya-a ) วันที่: 21 พฤษภาคม 2552 เวลา:11:54:14 น.  

 
เข้ามาโดยบังเอิญจากการที่กำลังนึกสงสัยเรื่อง
"วัวหาย" ในภาคภาษาญี่ปุ่น จึงลองค้นภาษาไทยดู ต้องขอเชยชมว่าเรื่องที่นำมาลง เป็นประโยชน์ ได้ความรู้ ดีเยี่ยม


โดย: อ็องเซน IP: 114.162.141.11 วันที่: 20 กรกฎาคม 2552 เวลา:11:11:15 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Stand by bowky
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







ความเหงาคือความรู้สึก
เหมือนมีช่องว่าง
ที่ถมไม่เต็ม
ระหว่างตัวตนภายใน
ของเรา
กับสิ่งที่เราคิดว่า
เป็นตัวตนของคนอื่นๆ
มันไม่ได้ก่อรูปขึ้น
จากความไร้ญาติขาดมิตร
หากเกิดจากการพบปะ
ปฏิสัมพันธ์กับผู้คน
ที่เรารู้สึกแปลกแยก
ทางความรู้สึกนึกคิด
ต่างหาก



เวลาที่คุณอยากบอกใคร
สักคนว่าคุณชอบ
และเกลียดกลัวสิ่งไหน
หรืออยากทำอะไร
ในชีวิต
แล้วเขาไม่เข้าใจ
สิ่งที่คุณพูด
คุณจะอ้างว้างหนาวใจ
ขึ้นมาติดหมัด
ในแง่นี้
การถวิลหาความรัก
ก็คือ
การค้นหาทางออก
จากสถานการณ์ดังกล่าว




เราอยากมีใครสักคน
ที่คอยบอกว่า
ฉันเข้าใจว่า
คุณรู้สึกอย่างไร
ไม่ใช่เพราะ
คุณบอกออกมา
แต่ฉันเอง
ก็รู้สึกอย่างเดียวกัน
กับคุณ

การบรรจบอารมณ์
ความรู้สึกนี่แหละ
ที่ทำให้
เราเรียกเพื่อนสนิท
หรือคนรักว่า"คนรู้ใจ"



คนรู้ใจไม่ต้องรอ
ฟังคำอธิบายอันยืดยาว
ก็เข้าใจทุกอย่าง
ที่คุณอยากจะบอก
เพราะเขาเอง
ก็เคยผ่านประสบการณ์
ทางอารมณ์
แบบเดียวกันมาแล้ว
เมื่อมองจากมุมนี้

เราก็เข้าใจได้ทันทีว่า
เพราะเหตุใดมิตรภาพ
จึงถือเป็นความรัก
อีกสายพันธุ์หนึ่ง



จากความลับในความรัก
conditions of love
แปลโดย
จีระนันท์ พิตรปรีชา

Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2552
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
18 พฤษภาคม 2552
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add Stand by bowky's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.