JAS-39 Gripen: กริเพน กับ Datalink
Datalink ........ คำนี้ ได้ยินบ่อยครับ ความจริงมันเป็นเรื่องที่กองทัพชั้นนำของโลกทั้งหลาย ปรับปรุง และพัฒนากันมานานแล้ว แต่ภูมิภาคเรา (โดยเฉพาะประเทศเรา) เพิ่งเริ่มนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในกองทัพแต่ละชาติ
ฉะนั้น คร่าว ๆ ครับ ........ บทความนี้จะเกี่ยวกับ ระบบ Datalink และประโยชน์ของมันครับ
เชิญชมครับ
Datalink คืออะไร
หลักการของ Datalink นั้นมันคือไอเดียของสงครามเครือข่าย (Network Centric Warfare) ที่เน้นการเชื่อมโยงการปฏิบัติการของแต่ละหน่วยเข้าด้วยกันเพื่อลดความผิดพลาดในการโจมตีกันเอง (Blue On Blue: Friendy Fire) และเพิ่มประสิทธิภาพในการรบด้วยการใช้ข้อมูลล่าสุดที่ได้จากหลาย ๆ หน่วยมาช่วยในการตัดสินใจหรือการดำเนินกลยุทธ์ครับ โดยข้อมูลที่ได้รับ จะเป็นข้อมูลในเวลาจริง (Real Time)
ระบบ Datalink ไม่ได้มีเพียงแต่อากาศยานเท่านั้น แต่ยังสามารถติดตั้งในเรือรบ รถถัง ไปจนถึงพลทหาร โดยใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับแต่ละหน่วย เพื่อส่งข้อมูลให้กับผู้บังคับบัญชา ทำการตัดสินใจต่อไป
ความสำเร็จของการใช้ Datalink ในหลักการของ Network Centric Warfare ถูกพิสูจน์ประสิทธิภาพ ในสงครามอ่าวครั้งแรก (Operation Dessert Strom) ซึ่งกองทัพพันธมิตร เชื่อมต่อแต่ละหน่วยเข้าด้วยกันเป็นเครือข่าย ทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินกลยุทธและการวางยุทธวิธีเป็นอย่างมาก นำมาซึ่งการสูญเสียที่น้อยลง
ระบบป้องกันภัยทางอากาศไทย
ระบบป้องกันภัยทางอากาศไทย หรือ RTADS (Royal Thai Air Defense System) เป็นเครือข่ายการป้องกันภัยทางอากาศ ซึ่งกองทัพอากาศ กำลังทำการติดตั้งอยู่ โดยเมื่อเสร็จสมบูรณ์ ระบบจะครอบคลุมพื้นที่ของประเทศไทยทั้งหมด งานส่วนมาก จะเป็นการแทนที่ระบบเรด้าร์ ที่เก่า และล้าสมัย ด้วยระบบเรด้าร์ที่ใหม่กว่า รวมถึงมีการจัดสร้างสถานีเรด้าร์ใหม่ในบางจุด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจจับ
โครงการ RTADS เริ่มขึ้นในปี 2542 และแบ่งเป็น 3 Phase ดังนี้
- Phase 1: ครอบคลุมพื้นที่ภาคกลาง ภาคอีสานตอนล่าง และภาคตะวันออก - Phase 2: ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน และภาคตะวันตก - Phase 3: ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ทั้งหมด
... ... ...
รายละเอียดของ RTADS มีดังนี้
ระบบ RTADS ประกอบด้วย
1. ศูนย์ยุทธการทางอากาศ (AOC) หรือ ศยอ. 1 ศูนย์ ตั้งอยู่ที่กรมควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ กองบัญชาการยุทธทางอากาศ (คปอ.บยอ.) ดอนเมือง กรุงเทพฯ
2. RTADS เฟสที่ 1
2.1 ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ (SOC) 1 ศูนย์ คือ ศคปอ.กรุงเทพฯ (ดอนเมือง)
2.2 สถานีรายงาน (RP) 4 สถานี คือ สร.เขาเขียว (นครนายก), สร.บ้านเพ (ระยอง), สร.เขาพนมรุ้ง (บุรีรัมย์) และ สร.อุบลฯ
2.3 สถานีภาคพื้นของระบบเชื่อมโยงข้อมูล (data-link) แบบ TADIL-A (Tactical Digital Information Link-A) หรือ Link-11A ตั้งอยู่ที่ ศคปอ.กรุงเทพฯ
3. RTADS เฟสที่ 2
3.1 ศูนย์ควบคุมและรายงาน (CRC) 1 ศูนย์ คือ ศคร.ดอยอินทนนท์ (เชียงใหม่)
3.2 สถานีรายงาน 5 สถานี คือ สร.เขาใหญ่ (กาญจนบุรี), สร.พิษณุโลก, สร.ภูหมันขาว (เลย), สร.อุดรฯ และ สร.ภูเขียว (สกลนคร)
4. RTADS เฟสที่ 3
4.1 ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ 1 ศูนย์ คือ ศคปอ.สุราษฎร์ธานี
4.2 สถานีรายงาน 3 สถานี คือ สร.สมุย (สุราษฎร์ธานี), สร.ภูเก็ต และ สร.หาดใหญ่ (เขาวังชิง สงขลา)
4.3 สถานีภาคพื้นของระบบเชื่อมโยงข้อมูล แบบ TADIL-A ตั้งอยู่ที่ สร.สมุย และ สร.ภูเก็ต
(ข้อมูล ขอขอบคุณคุณ rinsc_seaver ครับ .... รูปนี้ เป็นการคาดคะเนระยะตรวจจับของเรด้าร์คร่าว ๆ ไม่แนะนำให้เอาไปอ้างอิงครับ)

แล้วสองอย่างนี้มันเกี่ยวกันยังไง?
... ... ...
เกี่ยวสิครับ เพราะมันคุยกันด้วย Datalink 
Gripen และ ERIEYE กับ Datalink
Gripen มีระบบ CDL39 (Communication and Data Link 39) ซึ่งเป็นระบบที่ควบคุมการสื่อสารทั้งหมดของ Gripen โดยจะส่งข้อมูลผ่าน TIDLS (Tactical Information Datalink System) ซึ่งจะจ่ายข้อมูลให้กับหมู่บินของ Gripen อื่น ๆ ทำให้เครื่องบินแต่ละลำ สามารถทราบสถานะ รวมไปถึงการชี้เป้าหมาย ให้เครื่องบินในหมู่บิน จำนวน 4 ลำ ซึ่่งจะสร้างโครงข่ายของเครื่องบินในหมู่บิน หมายความว่า เครื่องบินเพียงเครื่องเดียว ทำการเปิดเรด้าร์จับเป้าหมาย แต่อีก 3 เครื่องสามารถปิดระบบเรด้าร์ได้ โดยจะเป็นกลยุทธในการพรางทางอิเล็กทรอนิค (Electronically Stealth) หมายความว่า่ เครื่องบินจะไม่ปล่อยสัญญาณเรด้าร์ หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าออกมา ซึ่งก็เป็นผลให้ระบบ RWR (Radar Warning Reciever) ของเครื่องบินข้าศึก ไม่สามารถตรวบพบได้ (แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า เรด้าร์ของข้าศึก จะจับไม่ได้นะครับ อันนั้นเป็นอีกประเด็นที่ต้องคุยกัน ซึ่งเกียวกับภาคตัดขวางเรด้าร์ และประสิทธิภาพของเรด้าร์แต่ละตัว)
เมื่อเข้าสู่ระยะยิงเกือบไกลสุด ของอาวุธปล่อยนำวิถีระยะไกล ทั้ง 4 เครื่อง ก็สามารถเปิดเรด้าร์พร้อมกัน และยิงอาวุธปล่อยเข้าหาเป้าหมาย จากนั้น ก็อาจจะทำการเลี้ยวกลับ เพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับเครื่องบินข้าศึก เป็นการลดความเสี่ยงในการถูกโจมตี
ในสถานการณ์สงคราม มีความเป็นไปได้สูงที่เครื่องบินของฝ่ายเราอาจจะถูกรบกวนการปฏิบัติการ ด้วยระบบสงครามอิเล็กทรอนิคของข้าศึก ทั้งการก่อกวนสัญญาณ (Jamming) และมาตราการต่อต้านสงครามอิเล็กทรอนิคส์ (Electronic Counter Measure: ECM) ....... Gripen ของกองทัพอากาศฮังการี ใช้ระบบ Datalink ในการหลบเลี่ยง หรือลดโอกาสที่ระบบเรด้าร์ของฝ่ายตน จะถูกก่อกวนด้วยระบบสงครามอิเล็กทรอนิคของข้าศึก ..... ซึ่งแม้ว่าข้าศึกจะมีระบบก่อกวนสัญญาณต่อเครื่องบินฝ่ายเรา แต่ก็มีความเป็นไปได้ ที่เครื่องบินลำอื่นในหมู่บิน จะไม่ถูกก่อกวน หรือถูกก่อกวนในระดับที่ต่างกัน
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า Gripen จะเป็นอมตะ ไม่ถูกยิงตกนะครับ เพราะ เครื่องบินลำอื่น ก็สามารถยิง Gripen ตกได้เช่นกันครับขึ้นอยู่กับยุทธวิธีด้วย
มี RTADS แล้ว ทำไมต้องมี ERIEYE
ในแผนการปรับลดกำลังรบของกองทัพอากาศ หลังภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี 2540 มีการระบุถึงการปิดจุดอ่อนของ RTADS ด้วยเครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือน (AEW&C) เนื่องจากว่า แม้ระบบ RTADS จะเป็นระบบที่สามารถตรวจจับได้ครอบคลุมทั้งประเทศ แต่เนื่องจากภูมิประเทศในบางพื้นที่ อาจจะมีภูเขาหรือสิ่งกีดขวางตามธรรมชาติบางอย่าง ที่อาจจะบังการตรวจจับของเรด้าร์ ทำให้เกิดจุดบอดตามที่ต่าง ๆ บางจุด ที่ระบบเรด้าร์เข้าไปไม่ถึง การปิดจุดบอดเหล่านั้น อาจจะทำได้โดย การตั้งสถานีเรด้าร์เพิ่มในจุดบอดทุกจุด หรือการจัดหาเครื่องบิน AEW&C ครับ ......... แต่การใช้เครื่องบิน AEW&C มีความได้เปรียบกว่าตรงที่ เราไม่ต้องตั้งสถานีเรด้าร์เพิ่มจำนวนมาก และมีความคล่องตัวสูง เนื่องจากเครื่องบิน AEW&C สามารถเดินทางไปได้ทั่วประเทศตามภารกิจ และการส่งคลื่นเรด้าร์ลงมาจากฟ้า ก็จะมีประสิทธิภาพมากกว่าการส่งจากพื้นดินในแง่ของการปิดจุดบอด ที่เรด้าร์ภาคพื้นดินไปไม่ถึง แต่ว่าเรด้าร์ของเครื่องบิน AEW&C ก็มักจะมีระยะตรวจจับที่น้อยกว่าเรด้าร์ภาคพื้นดิน และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบิน มากกว่าระบบเรด้าร์ภาคพื้น ฉะนั้น การใช้ทั้งสองระบบควบคู่กันไปตามแต่สถานการณ์ จะมีประสิทธิภาพมากกว่าครับ
แผนของทอ.
//www.rtaf.mi.th/news/a00/rtafnextstep/rtafnextstep.html
การสื่อสารระหว่าง Gripen กับ F-16
Gripen มีระบบ CDL39 (Communication and Data Link 39) ซึ่งเป็นระบบที่ควบคุมการสื่อสารทั้งหมดของ Gripen โดยจะส่งข้อมูลผ่าน TIDLS (Tactical Information Datalink System) ซึ่งจะจ่ายข้อมูลให้กับหมู่บินของ Gripen อื่น ๆ
F-16 สามารถติดตั้งระบบ JTIDS (Joint Tactical Information Distribution System) ได้ ซึ่งจะทำหน้าที่ส่งข้อมูลให้กับเครือข่ายของ บ. ได้ โดยอาจจะติดตั้งระบบ Link16 ซึ่งเป็นระบบ Datalink ให้กับตัว บ. ได้ และมันก็จะสื่อสารกันได้ด้วยตัวของมันเอง
และสองระบบนี้ จะคุยกันโดยใช้ TIDLS และ JTIDS ซึ่งเป็นระบบมาตราฐานนาโต้ ฉะนั้น ประเด็นตอนนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่า Gripen ได้อะไรมาครับ เพราะ CDL39 กับ TIDLS มีอยู่แล้วใน Gripen แต่ขึ้นอยู่กับว่า การทำ MLU ของ F-16 จะมีระบบอะไรติดมาด้วยครับ
ซึ่งอาจจะอีกสักพักใหญ่ ๆ (ใหญ่จริง ๆ ) กว่าเราจะทราบสถานภาพของโครงการ MLU ที่จะทำกับ F-16 ครับ เนื่องจากเงินยังไม่ค่อยมี
ทั้งนี้ การทำ MLU (Mid-Life Upgrade) เป็นการปรับปรุง F-16 ให้มีความทันสมัยขึ้น และยืดอายุการใช้งานเครื่องบินออกไปครับ
หวังว่าทุก ๆ ท่านคงจะได้รับความรู้เกี่ยวกับ Datalink ไปไม่มากก็น้อย สำหรับวันนี้ จลบเพียงเท่านี้ สวัสดีครับ
Create Date : 27 มกราคม 2551 |
|
16 comments |
Last Update : 3 เมษายน 2551 11:33:49 น. |
Counter : 7111 Pageviews. |
|
 |
|