JAS-39 Gripen: ขอโต้เถียงข้อมูลในหนังสือพิมพ์ ภาค 2 เรื่องราคา Gripen
วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10838
เผยราคาบินรบกริพเพน4ปท. กังขา"รบ.สุรยุทธ์"ซื้อแพงเว่อร์
กังขารัฐบาล"สุรยุทธ์"อนุมัติซื้อเครื่องบินรบ"กริพเพน"แพงผิดปกติ แฉข้อมูลเปรียบเทียบ 4 ประเทศ ระบุโรมาเนียต่างกับไทยเกือบครึ่ง ขณะที่"สวีเดน"แถมอุปกรณ์เสริมเขี้ยวเล็บให้เพียบ ยอมรับคุณสมบัติ-สมรรถนะเยี่ยม เผยสาธารณรัฐเช็ก เจอสื่อปูดเงินสินบน 5 พันล้าน
แหล่งข่าวเปิดเผยเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ว่า รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี อนุมัติให้กองทัพอากาศจัดซื้อเครื่องบินรบกริพเพน จากประเทศสวีเดน ในราคาลำละ 84.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (2,875 ล้านบาท) ราคาแพงผิดปกติ เมื่อเปรียบเทียบกับราคาที่สวีเดนขายให้กับประเทศอื่นๆ อาทิ โรมาเนีย สาธารณรัฐเช็ก โครเอเชีย และประเทศแอฟริกาใต้ โดยเฉพาะประเทศโรมาเนีย ซึ่งสั่งซื้อ "กริพเพน" จำนวน 4 ฝูง ในราคาลำละ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกลำละ 1,700 ล้านบาท (คิดตามอัตราแลกเปลี่ยน 34 บาทต่อหนึ่งเหรียญสหรัฐ)
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กองทัพอากาศเสนอให้รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ตัดสินใจซื้อเครื่องบินรบกริพเพนรุ่นใหม่ผลิตโดยบริษัทซาบ แห่งสวีเดน และระบบ เตือนภัยล่วงหน้าทางอากาศ (Erieye airborne early warning system aircraft) จำนวน 12 ลำ พร้อมทั้งอุปกรณ์และบริการที่เกี่ยวข้อง รวมมูลค่า 34,400 ล้านบาท (1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยให้เหตุผล ว่า กริพเพนเป็นเครื่องบินรบหลากภารกิจ ทั้งนี้ เพื่อทดแทนเครื่องบินเอฟ-5 บี/อี
แหล่งข่าวระบุว่า รัฐบาลดซื้อเครื่องบินกริพเพนในราคาที่สูงมาก อาจจะกล่าวได้ว่าสูงผิดปกติ เพราะ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รัฐบาลสวีเดนเคยเสนอขายเครื่องบินกริพเพนรุ่นเดียวกันจำนวน 20 ลำ ลำละ 14 ล้านเหรียญ (476 ล้านบาท) และยังมีข้อสัญญาด้านการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรกรของไทยกับสวีเดน
แหล่งข่าวระบุว่า ประเทศอื่นๆ ที่จัดซื้อเครื่องบิน กริพเพน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับที่ประเทศไทย จัดซื้อ ปรากฏว่าถูกกว่ากันมาก ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ กองทัพอากาศโครเอเชีย พิจารณาจัดซื้อเครื่องบิน กริพเพน รุ่น JAS-39 เป็นรุ่นเดียวกับที่ประเทศ ไทยซื้อ จำนวน 12 ลำ หรือ 1 ฝูง มูลค่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลำละ 66 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทย ตกลำละ 2,244 ล้านบาท
แหล่งข่าวระบุว่า กองทัพอากาศโครเอเชียต้องการซื้อเครื่องบินกริพเพนเพื่อทดแทนเครื่องบิน มิก-21 จากรัสเซีย ซึ่งโครเอเชียจะปลดประจำการในอีก 3 ปีข้างหน้า โดยระหว่างการพิจารณาจัดซื้อ ทางสหรัฐเสนอขายเครื่องบินรบ เอฟ-16 ในราคาลำละ 85 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 2,266 ล้านบาท) แต่โครเอเชียปฏิเสธข้อเสนอ เพราะราคาแพงมาก และพื้นที่น่านฟ้าโครเอเชียไม่ได้กว้างขวางใหญ่โตมากนัก ทางโครเอเชียเห็นว่า กริพเพนสามารถทำการรบในพิสัยระยะสั้นๆ 4,000 กิโลเมตร ได้ดี
ส่วนประเทศโรมาเนีย จัดซื้อเครื่องบินกริพเพน รุ่น JAS-39 จำนวน 48 ลำหรือ 4 ฝูง ในราคา 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 81,600 ล้านบาท) ตกลำละ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1,700 ล้านบาท กองทัพอากาศโรมาเนียให้เหตุผลคล้ายๆ กับโครเอเชีย คือต้องการเครื่องบินที่สามารถทำการรบในพิสัยการบินไม่เกิน 1,200 กิโลเมตร ความ เร็ว 2 มัค ทั้งนี้ ทางกริพเพนจะติดตั้งปืนกลเมาเซอร์ ขนาด 27 มิลลิเมตร, ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ ไอริส-ที หรือแอมแรม, ขีปนาวุธ ไมก้า ( Meteor air-to-air missiles), ระเบิดนำวิถีด้วยแสงเลเซอร์ เอจีเอ็ม-65 มาเวอร์ริก , ขีปนาวุธ ต่อต้านเรือ
แหล่งข่าวระบุว่า สาธารณรัฐเช็ก จัดซื้อเครื่องบิน กริพเพน 12 ลำ ในราคาลำละ 68 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับ 2,312 ล้านบาท โดยรัฐบาลสวีเดน ให้ข้อเสนอมากมาย เช่น เครื่องจำลองการฝึกบิน, ส่งเจ้าหน้าที่ร่วมฝึกทางอากาศ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเช็กใช้เวลาพิจารณาจัด ซื้อเครื่องบินรบกริพเพนนานถึง 4 ปี ตั้งแต่ปี 2545-2549 สื่อมวลชนในสวีเดน ประโคมข่าวว่า ช่วงระหว่างปี 2545 มีการมุบมิบจ่ายเงินให้กับ เจ้าหน้าที่ของสาธารณรัฐเช็กที่มีอำนาจพิจารณา จัดซื้อเครื่องบินรบกริพเพนเป็นเงินถึง 106 ล้าน ยูโร (ราว 5,300 ล้านบาท)
สำหรับรัฐบาลแอฟริกาใต้ พิจารณาจัดซื้อเครื่องบินรบกริพเพนของสวีเดน จำนวน 28 ลำหรือ 2 ฝูง ในราคาลำละ 54 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น เงินไทย 1,836 ล้านบาท โดยรัฐบาลสวีเดนและบริษัทซาบ แห่งสวีเดน ตกลงให้ความช่วยเหลือทางด้านความร่วมมือสนับสนุนทางด้านอุตสาหกรรมแก่รัฐบาลแอฟริกา ใต้ เป็นมูลค่าถึง 8.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ
แหล่งข่าวระบุว่า ข้อดีของเครื่องบินรบกริพเพน รุ่น JAS-39 มีสมรรถนะสูง อุปกรณ์การรบที่ทันสมัย และสามารถขึ้นลงในเส้นทางสั้นๆ เพียง 400-500 เมตร ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบการบำรุงรักษา หรือค่าใช้จ่ายในการฝึกซ้อม ถูกกว่าเครื่องรบ เอฟ-16 ของสหรัฐ หรือซู-30 จากรัสเซีย เกือบครึ่งต่อครึ่ง เช่น ค่าใช้จ่ายในการบิน กริพเพน ชั่วโมงละ 2,500 เหรียญสหรัฐ (85,00 บาท) เอฟ 16 อยู่ที่ 3,700 เหรียญสหรัฐ ต่อชั่วโมง แต่ข้อเสียของกริพเพนคือ ยังไม่เคย ใช้ในการปฏิบัติการรบ ผิด กับเอฟ 16 ที่ปฏิบัติภารกิจการรบทางอากาศมานานและเห็นผลมาแล้วในหลายพื้นที่ทั่วโลก
หน้า 1
//www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0117121150&day=2007-11-12§ionid=0101
---------------------------
- โรมาเนีย โครเอเชีย ยังไม่ได้แม้แต่จะประกาศเลือก Gripen เลยครับ - ราคา Gripen แอฟริกาใต้ผิดพลาดครับ - ราคาที่ไทยสนใจตอนรัฐบาลทักษิณผิดพลาด เพราะถ้าจริง Gripen จะถูกกว่า J-10 ของจีน เท่ากับ JF-17 ของจีน/ปากีสถาน เป็นไปไม่ได้ครับ - โรมาเนียยังไม่ได้เลือกแบบเลยครับ แต่สำหรับ Gripen นั้น เราจะเอาแบบโรมาเนียไหมล่ะครับ เพราะเขาจ่ายถูก แต่ได้ตัวถังมือสอง? - Package ของไทย มี Gripen 12 ลำ+ERIEYE 2ลำ+Saab 340 1 ลำ+RBS-15+โน้นบวกนี่ แต่ในบทความกลับเอาราคาของสัญญาทั้งหมด 34,000 ล้านหารด้วย Gripen 12 ลำ ........ ผิดครับ ถ้าจะเล่นประเด็นนี้ ขอบอกว่าไม่เนียนครับ- การคิดราคา ต้องดูทั้ง Package ครับ เพราะดูตัวเปล่าไม่ได้ แทบไม่มีใครเขาซื้อเครื่องบินแต่ตัวครับ และถึงแม้จะดูตัวเปล่า ราคาที่แต่ละประเทศจัดซื้อก็ไม่เท่ากันอยู่แล้วครับ เพราะความต้องการของแต่ละประเทศต่างกัน กรุณาอย่าสับสนกับการซื้อรถจากโชว์รูมครับ
ไม่รู้แหล่งข่าวเป็นใคร ไม่ยักกะเปิดเผยตัว เรื่องอย่างงี้ทำไมต้องกลัวครับ พวกผมช่วยกันเอาราคามาผ่ากันตั้งหลายอาทิตย์แล้ว ยังเปิดเผยตัวได้เลย - ทอ.สวีเดนมีตัวถัง (Air Frame) ของรุ่น A/B เก่าที่ไม่ใช้แล้วจำนวนราว 50 ลำครับ.......ทางโรมาเนียต้องการจัดหาเครื่องบินขับไล่ไหม เขาเลยสนใจที่จะใช้ตัวถังพวกนั้นมาดัดแปลงเป็นรุ่น C/D มาตราฐานนาโต้ครับ ซึ่งข้อเสนอนี้ต้องแข่งกันกับ F-16 มือสองเช่นกันครับ ...... แต่เอายังประเมินค่าอยู่ ยังไม่ได้เลือกแบบครับ การเลือกแบบน่าจะทำในปีหน้าครับ
ทางโรมาเนียเขาไป Gripen Center ที่ F7 Wing วันที่ 16 - 17 พ.ค. 49 พอวันที่ 18 พ.ค. 49 ทีมประเมินค่าของไทย (ที่มีผบ.ทอ.นำทีม) ก็ไปเยี่ยมครับ
- เห็นนักข่าวชอบใช้ Wikipedia มาอ้างอิงประจำ ทั้ง ๆ ที่เชื่อถือได้ไม่เต็มร้อย งั้นผมก็เอามั๊งครับ อิอิอิ
ลูกค้าของ Gripen
- ส่วนโครเอเชียกับโรมาเนีย อยู่ในส่วนของ Potential Sale ครับ ...... ลูกค้าที่เป็นไปได้ในอนาคต .......... อ๋อ เข้าใจแล้วครับ ทำไมแหล่งข่าวถึงเปิดเผยชื่อไม่ได้ ......... ก็คงเพราะไม่รู้ว่าใครมาเขียนใน wikipedia นั้นเอง
- ข้อความในข่าว....
"ส่วนประเทศโรมาเนีย จัดซื้อเครื่องบินกริพเพน รุ่น JAS-39 จำนวน 48 ลำหรือ 4 ฝูง ในราคา 2,400 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 81,600 ล้านบาท) ตกลำละ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1,700 ล้านบาท กองทัพอากาศโรมาเนียให้เหตุผลคล้ายๆ กับโครเอเชีย คือต้องการเครื่องบินที่สามารถทำการรบในพิสัยการบินไม่เกิน 1,200 กิโลเมตร ความ เร็ว 2 มัค ทั้งนี้ ทางกริพเพนจะติดตั้งปืนกลเมาเซอร์ ขนาด 27 มิลลิเมตร, ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ ไอริส-ที หรือแอมแรม, ขีปนาวุธ ไมก้า ( Meteor air-to-air missiles), ระเบิดนำวิถีด้วยแสงเลเซอร์ เอจีเอ็ม-65 มาเวอร์ริก , ขีปนาวุธ ต่อต้านเรือ"
เหอ ๆ เจอ Bug ตัวเป้ง ๆ 3 ที่แหนะ
ที่แรกครับ...... ขีปนาวุธอากาศสู่อากาศ ไอริส-ที หรือแอมแรม, ..... IRIS-T กับ AMRAAM เป็นคนละแบบ คนละรุ่น คนละเรื่องเลยครับ IRIS-T เป็นจรวดอากาศสู่อากาสพิสัยใกล้ ผลิตโดยยุโรป ส่วน AMRAAM เป็นจรวดอากาศสู่อากาสพิสัยกลาง ผลิตในสหรัฐ
ระเบิดนำวิถีด้วยแสงเลเซอร์ เอจีเอ็ม-65 มาเวอร์ริก
สองอันนี้ไม่เหมือนกันจ๊ะ เรียกผิดนะจ๊ะ
ขีปนาวุธ ไมก้า ( Meteor air-to-air missiles)
เอ๊ะยังไง....เขียนว่า ไมก้า (MICA) แต่ดันวงเล็บว่าเมธิเออร์ (Meteor)
- สุดท้าย ขออนุญาตคัดลอกความเห็นของคุณ juldas ในกระทู้ //www.pantip.com/cafe/wahkor/topic/X6012054/X6012054.html มาให้ได้อ่านกันครับ
ความคิดเห็นที่ 67
กระทู้นี่แร๊ง แรง.... คงต้องใจเย็น ๆ กันล่ะครับ...ในเรื่อง ตรวจสอบราคา ความโปร่งใส ก็ตรวจสอบกันไปครับ...แต่เรื่องการยกเลิกการสั่งซื้อ หรือยกเลิกโครงการ ก็ไม่สมควรเช่นกันครับ...เพราะความจำเป็นที่ต้องมี บ.ฝูง ใหม่ ประจำการทดแทน บ.ที่ต้องปลดประจำการ มันจำเป็นต้องมีจริง ๆ...และราคาอาวุธ มันจะมีการปรับเปลี่ยนไปมีแต่แพงขึ้น ไม่มีถูกลง...ในคุณสมบัติของ บข.20 jas-39 ที่มาพร้อมกับ บ.เตือนภัยทางอากาศ ซึ่งระบบการป้องกันประเทศ ในเกือบทุกประเทศ ที่มีความเจริญในระดับหนึ่ง และประชาชน มีระดับการศึกษาที่สูง จะต้องมี 2 สิ่งนี้ ปฎิบัติการควบคู่กันไป...เพราะบุคคลากร ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ และประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง ในส่วนหนึ่ง ก็ยอมรับว่า มันเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมาก เหมาะสมกับ GDP โอกาส และความเสี่ยงในการสูญเสีย บ.ขับไล่ ที่เป็นระบบการป้องกันประเทศ จะอยู่ในเกณฑ์ต่ำ...ซึ่งมันคุ้มค่ากับงบประมาณที่ต้องเสียไปกับระบบการป้องกันประเทศ.... ส่วนในข้อสงสัย และที่ถกเถียงกันในเรื่องราคา ก็เป็นเรื่องที่สามารถตรวจสอบได้ เมื่อมีการส่งมอบและเมื่อมีการชำระเงิน เช่นเดียวกับในหลาย ๆ กรณีที่มีการตรวจสอบอยู่ในขณะนี้... การดำเนินการ คงต้องดำเนินการต่อไป...การตรวจสอบ ก็ตรวจสอบไป...ให้ทุกระบบมันทำงานด้วยตัวของมันเอง...แล้วมันจะเติบโตไปด้วยกันได้ทั้ง 2 ฝ่าย...อย่าใช้ "เป็นเหตุให้เชื่อว่า" เป็นสิ่งตัดสินเลยครับ... อาวุธ ก็เหมือน ประกันชีวิต ที่เราไม่ทราบว่า จะเกิดอุบัติเหตุกับเราเมื่อไหร่ แต่ถ้าเรามีไว้ มันก็จะเป็นประโยชน์ เพราะมันคือ การซื้อความเสี่ยง.... ส่วนทหาร ก็เหมือนกับ ตัวแทนขายประกันชีวิต ถ้าได้ตัวแทน ที่ดี ก็ดีไป...ความคุ้มครองของกรมธรรม์ ก็จะตรงกับความต้องการ...แต่ถ้าได้ตัวแทน ที่ไม่ดี เราก็ต้องแจ้งไปยังบริษัท (รัฐบาล ที่มาจากเลือกตั้ง) ให้ตรวจสอบ ตัวแทนว่า เขาไม่ดีจริงหรือไม่ เขาเก็บเบี้ยประกันเกินกับความคุ้มครอง หรือไม่...แต่ไม่ได้หมายถึงว่า เราจะไม่ทำประกันชีวิต....(มันไปกันได้ยังไงเนี่ยยยยย...5 5 5 5)
จากคุณ : juldas (juldasone) - [ 13 พ.ย. 50 07:50:17 ]
ผมได้ทำการวิเคราะห์ราคาของเครื่องก่อนหน้าข่าวนี้มาได้หลายอาทิตย์แล้วครับ ท่านสามารถอ่านเปรียบเทียบได้ครับ และขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของท่านครับ
JAS-39 Gripen: กรณีศึกษาราคา Gripen ทั่วโลก
ส่วนด้านล่างนี้เป็นคำชี้แจงของกองทัพอากาศครับ
ทอ.ยันจัดซื้อ"กริพเพน"โปร่งใส เผยอยู่ในขั้นต่อรองยังไม่จัดซื้อ
น.อ.มณฑล สัชฌุกร รองเจ้ากรมกิจการพลเรือนกองทัพอากาศ และรองโฆษกกองทัพอากาศ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน กรณีมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับราคาเครื่องบินกริพเพนของสวีเดน ที่เสนอขายให้กับรัฐบาลไทยสูงกว่าที่ขายให้อีก 4 ประเทศที่ซื้อเครื่องบินกริพเพนว่า จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นที่มีการนำเสนอ พบว่าข้อมูลที่สื่อนำเสนอมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนอยู่หลายประการ โดยเฉพาะที่ระบุว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ลงนามอนุมัติให้กองทัพอากาศจัดซื้อ จำนวน 34,000 ล้านบาทนั้น ข้อเท็จจริงนายกรัฐมนตรียังไม่มีการลงนามจัดซื้อเครื่องบินดังกล่าว เพราะต้องดำเนินการตามขั้นตอนจัดซื้อแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล
น.อ.มณฑลกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการของกองทัพอากาศกับสวีเดนอยู่ และอยู่ระหว่างการต่อรองราคาดูรายละเอียด ยังไม่ถึงขั้นลงนามระหว่างรัฐบาลไทยและสวีเดน รวมถึงข้อมูลที่ระบุว่าในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีมีการเสนอเครื่องบินกริพเพน จำนวน 20 ลำ ราคาลำละ 476 ล้านบาทนั้น กองทัพอากาศยังไม่เคยได้ยิน ทางสวีเดนเพิ่งเสนอมาครั้งแรก และกองทัพอากาศเพิ่งจะมาตกลงใจในรัฐบาลชุดนี้
น.อ.มณฑลกล่าวว่า นอกจากนี้ รายชื่อบางประเทศที่เสนอขอซื้อเครื่องบินกริพเพนจากสวีเดน ก็ไม่ตรงตามความจริง เพราะประเทศโรมาเนียกับโครเอเชียไม่เคยซื้อเครื่องบินกริพเพน ส่วนประเทศเช็กก็ไม่ได้ซื้อเป็นเพียงเช่าเครื่องบินเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การจัดซื้อเครื่องบินของแต่ละประเทศอาจมีราคาไม่เท่ากัน เพราะบางประเทศไม่ได้ซื้อแบบรัฐต่อรัฐ อาจจัดซื้อโดยการแลกเปลี่ยนสินค้าทางการเกษตร หรือบางประเทศมีการนำเสนอซื้อสินค้าที่ไม่ตรงกันมีออปชั่นต่างกัน ดังนั้น เอาหลักเกณฑ์ราคาแต่ละรุ่นมาเป็นเครื่องเปรียบเทียบไม่ตรงกัน
"ขอยืนยันว่ากองทัพอากาศไม่มีนอกมีใน ทุกขั้นตอนมีความโปร่งใส ยืนยันว่าราคานี้เป็นราคาที่ต่อรองเหมาะสมกับประเทศชาติ และอยู่ระหว่างการต่อรองภายใต้ข้อเสนอที่กองทัพอากาศเสนอไป" รองโฆษกกองทัพอากาศกล่าว
//matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01p0123131150&day=2007-11-13§ionid=0101
Create Date : 14 พฤศจิกายน 2550 |
Last Update : 22 มีนาคม 2551 20:15:31 น. |
|
5 comments
|
Counter : 4475 Pageviews. |
|
|
|