ไปกด Link ได้ที่แฟนเพจ https://www.facebook.com/skymantaf หรือ Follow ได้ที่ Twitter https://twitter.com/skymantaf หรือที่ http://www.thaiarmedforce.com นะครับ
Group Blog
 
<<
พฤษภาคม 2549
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
 
4 พฤษภาคม 2549
 
All Blogs
 
เรื่องราวของกระสุนหัวยูเรเนียม (ภาคจบ)

หมายเหตุ: บทความนี้ผมนำมาจากเว็บของร.ร.วิทยาศาสตร์ทหารบก ซึ่งเป็นบทความที่ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ทหารบกเล่มปีที่ 18 ฉบับที่ 2 ประจำเดือนกรกฎาคม-ธันวาคม 2541 เห็นว่าน่าสนใจดี เลยขออนุญาตินามาให้ได้อ่านกันครับ อาจจยาวซักนิดนึง แต่เชื่อว่าคุ้มค่าครับ


อันตรายจากกระสุนหัวยูเรเนียมด้อยไอโซโทป

พ.อ.หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล



การใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยไอโซโทปในสงครามอ่าวเปอร์เซีย

กองทัพสหรัฐฯ ใช้กระสุน DU ในการรบเป็นครั้งแรกในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปี 2534 ทอ.ยิงจากเครื่องบิน แบบ เอ-10 ทบ.ยิงจากรถถัง แบบ เอ็ม 1 เอ 1 นอกจากนี้ ทบ.อังกฤษยังยิงกระสุน DU จากรถถัง แบบ ชาแลนเจอร์ รถถังสหรัฐฯ สามารถยิงรถถังอิรัก แบบ ที-72 ผลิตในโซเวียต ทะลุจากระยะ 3 กิโลเมตร ส่วนรถถังอังกฤษสามารถยิงทะลุจากระยะ 5 กิโลเมตร เนื่องจากปืนใหญ่รถถังของอังกฤษมีเกลียวภายในลำกล้อง เมื่อยิงแล้วทำให้ตัวเจาะเกราะหมุนและทรงตัวได้ดีกว่า ในจำนวนรถถังอิรัก 3,๗๐๐ คันที่ถูกทำลาย 1,400 คันถูกยิงด้วยกระสุน DU นอกจากนี้ยังมีการใช้กระสุน DU ยิงรถเกราะ รถสายพาน และบังเกอร์

ในระหว่างการรบ กระสุนเจาะเกราะธรรมดายิงจากรถถังอิรักที่ห่างออกไปเพียง 400 เมตรไม่สามารถเจาะเกราะ DU ของรถถังสหรัฐฯ ได้ แต่กระสุนเจาะเกราะ DU สามารถยิงทะลุเกราะ DU ของรถถังได้ ดังในเหตุการณ์ฝ่ายกองกำลังสหประชาชาติยิงกันเองด้วยความเข้าใจผิด การตรวจวัดรังสีพบว่ามีรังสีในรถถังและรถอื่นของฝ่ายกองกำลังสหประชาชาติที่ถูกพวกเดียวกันยิงด้วยกระสุน DU ประมาณ 3 ถึง 6 สัปดาห์ (ทหารผ่านศึกให้ปากคำไม่ตรงกัน) หลังซากรถคันแรกถูกนำมาไว้ที่ซาอุดีอาระเบีย ทบ.สหรัฐฯ ส่งเจ้าหน้าที่แต่งกายด้วยชุดป้องกันรังสีและสวมหน้ากากป้องกันมาทำการตรวจวัดรังสีด้วยเครื่องมือวัดรังสี ผลการปรากฏว่าซากรถ 29 คัน (รถถัง แบบ เอ็ม 1 เอ 1 จำนวน 6 คัน และรถรบทหารราบ/ทหารม้า แบบ เอ็ม 2/เอ็ม 3 จำนวน 15 คัน ถูกพวกเดียวกันยิง รถถัง แบบ เอ็ม 1 เอ 1 จำนวน 6 คัน เกิดอุบัติเหตุไฟไหม้ขณะมีกระสุน DU อยู่ในรถ และ รถถัง แบบ เอ็ม 1 เอ 1 จำนวน 2 คัน ถูกทำลายเพื่อป้องกันข้าศึกยึด) ในจำนวน 200 กว่าคัน แผ่รังสีในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และเจ้าหน้าที่ติดป้ายการเปื้อนพิษกัมมันตรังสีไว้ที่ซากรถดังกล่าว เจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงที่ปฏิบัติงานกับซากรถได้รับคำสั่งให้สวมเครื่องแต่งกายป้องกันเคมีทุกครั้งที่จะเข้าไปในซากรถเหล่านั้น ในจำนวนซากรถ 29 คันที่แผ่รังสี รถรบ 6 คันถูกฝังไว้ที่ซาอุดีอาระเบีย เนื่องจากมีระดับรังสีสูง ซากรถที่เหลือได้รับการทำลายล้างพิษก่อนส่งกลับสหรัฐฯ และในจำนวนนี้ 16 คันต้องทำลายล้างพิษใหม่ที่สหรับฯ 6 คันต้องฝังไว้ในที่ฝังกากกัมมันตรังสี มลรัฐเซาท์แคโรไลนา

กระสุน DU ของสหรัฐฯ ที่จำหน่ายในสงครามอ่าวเปอร์เซียมีดังนี้ กระสุนปืนกลอากาศขนาด 30 มิลลิเมตร 940,000 นัด (ในจำนวนนี้สูญเสียเพราะไฟไหม้คลังกระสุน 9,720 นัด) กระสุนปืนใหญ่รถถัง 14,000 นัด (ในจำนวนนี้ใช้ซ้อมยิง 7,000 นัด สูญเสียเพราะไฟไหม้หรืออุบัติเหตุ 3,000 นัด และยิงสู้รบ 4,000 นัด) ทำให้มี DU ตกค้างอยู่ในอิรักและคูเวตคิดเป็นน้ำหนักประมาณ 280 และ 75 เมตริกตัน ตามลำดับ

การใช้กระสุนยูเรเนียมด้อยไอโซโทปในยูโกสลาเวีย

เครื่องบิน แบบ เอ 10 ของสหรัฐฯ ใช้กระสุน DU ขนาด 30 มิลลิเมตร ยิงทำลายยานเกราะในการรบที่บอสเนีย-เฮอเซโกวีนา ปี 2537-38 และในยุทธการพายุบอลข่าน เพื่อปราบทบ.ยูโกสลาเวีย ที่บริเวณเมืองโคโซโว ประเทศยูโกสลาเวีย ปี 2542 เฉพาะที่โคโซโวใช้กระสุนไปประมาณ 31,000 นัด คิดเป็นน้ำหนัก DU ประมาณ 9 เมตริกตัน

สหรัฐฯ ใช้อาวุธปล่อยบินโจมตีภาคพื้นดินแบบโทมาฮอว์ก ที่มีหัวรบรุ่นใหม่ แบบ WDU-36 เป็นครั้งแรกในปี 2538 ที่บอสเนีย-เฮอเซโกวีนา และยิงใส่เป้าหมายที่โคโซโว ในปี 2542 ประมาณ 1,500 ลูก อาวุธปล่อยบินแบบโทมาฮอว์กแต่ละลูกมี DU หนักประมาณ 3 กิโลกรัมในหัวรบ รวมเป็นน้ำหนัก DU 4.5 เมตริกตัน

การเจ็บป่วยของทหารผ่านศึก

หลังสงครามอ่าวเปอร์เซียและการรบที่คาบสมุทรบอลข่าน (บอสเนียและโคโซโว) ซึ่งมีการใช้อาวุธ DU มากมาย (รายละเอียดดูตอนที่ 2 ของเรื่องนี้ในวารสารวิทยาศาสตร์ทหารบก ฉบับประจำเดือน ม.ค. – มิ.ย.44) ทหารผ่านศึกหลายชาติ โดยเฉพาะทหารอเมริกันและทหารอังกฤษร้องเรียนรัฐบาลของตนว่าเกิดการเจ็บป่วยเรื้อรังที่มีอาการต่าง ๆ นา ๆ ไม่ทราบสาเหตุ สงสัยว่าจะเกิดจากการรับเอา DU เข้าสู่ร่างกาย ขอให้รัฐบาลช่วยเหลือ

ภาพแผนที่แสดงพื้นที่ซึ่งมีการใช้อาวุธ DU ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย


แถบสีเข้มคือบริเวณที่มีการใช้กระสุนยิงจากเครื่องบิน เครื่องหมายดาวคือบริเวณที่มีการยิงกระสุนปืนใหญ่รถถัง


//www.geocities.com/chmschl/


เจอรี วีท (Jerry Wheat) เป็นทหารผ่านศึกสงครามอ่าวเปอร์เซีย อดีตพลขับฯ รถรบแบรดลีของ พล.ม.3 รถของเขาถูกฝ่ายเดียวกันยิงด้วยกระสุน DU เจอรีได้รับบาดเจ็บจากการถูกสะเก็ด DU ที่ด้านหลังของศีรษะ เกิดเป็นแผลไหม้ความรุนแรงขั้นที่สองและขั้นที่สาม และมีชิ้นส่วนของ DU ฝังในหนังศีรษะ หลังปลดประจำการเมื่อสงครามยุติ เจอรีมีอาการปวดทั่วตัว ปวดศีรษะรุนแรงบ่อยครั้ง และน้ำหนักลดจาก 100 กิโลกรัม เหลือ 70 กิโลกรัม แพทย์โรงพยาบาลทหารผ่านศึกหาสาเหตุไม่ได้ แปดปีต่อมาชิ้นส่วน DU จากบาดแผลและจากยุทธภัณฑ์ประจำกายยังคงแผ่รังสีอยู่ กองทัพบกสหรัฐฯ ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ DU ในบาดแผลของเจอรี แพทย์ทหารกล่าวว่าปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพของเขามีสาเหตุจากความเครียดจากการวิตกกังวลหลังได้รับบาดเจ็บ (post traumatic stress) แต่บุตรชายคนโตของเจอรีป่วยหนักจากระบบการหายใจผิดปกติจนต้องเข้าโรงพยาบาลเมื่อเขานำยุทธภัณฑ์ประจำกายจากสนามรบเข้าบ้าน บุตรชายคนเล็กที่เกิดหลังสงครามมีแผลพุพองที่มือโดยไม่ทราบสาเหตุ ภรรยาแท้งบุตร และตัวเขาเองต้องรับการผ่าตัดเนื้องอก ทุกวันนี้เขากังวลว่าจะเป็นมะเร็ง

ดร. เดิร์ก โร๊ก (Dr. Dough Rokke) ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐอลาบามา เมืองแจคสันวิลล์ และเป็น พ.ต. ทหารกองหนุน อดีตเป็น ร.ท.ในหน่วยบัญชาการเวชศาสตร์ป้องกัน ทบ.สหรัฐฯ ถูกส่งไปปฏิบัติหน้าที่ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย เป็นหัวหน้าชุดทำลายล้างพิษผู้ป่วยและยานเกราะที่เปื้อนพิษเพราะถูกยิงด้วยกระสุนเจาะเกราะหัว DU (ถูกฝ่ายเดียวกันยิง) มีผู้ใต้บังคับบัญชาประมาณ 15 นาย ปัจจุบันเดิร์กมีสุขภาพย่ำแย่และผู้ร่วมงาน 2 นายเสียชีวิตไปแล้ว เนื้อเยื่อปอดของเขาเป็นแผล ทำให้การหายใจผิดปกติ ถ้าต้องหายใจแรงและถี่ เช่น เมื่อออกกำลังกาย จะมีของเหลวคั่งในปอด นอกจากนี้ระบบประสาทยังผิดปกติ มีปัญหาเกี่ยวกับนัยน์ตาและสายตา เป็นโรคไต และมีผื่นขึ้นตามผิวหนังบ่อยครั้ง แพทย์หัวหน้าคลีนิคทหารผ่านศึกสงครามอ่าวเปอร์เซีย เมืองเบอร์มิงแฮม มลรัฐอลาบามา ลงความเห็นว่าอาการของเดิร์กสอดคล้องกับอาการยูเรเนียมและโลหะหนักเป็นพิษ ในปี 2540 เดิร์กได้รับหนังสือจากกระทรวงพลังงาน (รับผิดชอบด้านนิวเคลียร์) แจ้งผลการตรวจร่างกายว่ามียูเรเนียมอยู่ภายในร่างกายสูงกว่าระดับที่ยอมให้รับได้ 5,000 เท่า การยอมรับอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ว่าอาการป่วยเป็นอาการของยูเรเนียมเป็นพิษนับเป็นชัยชนะครั้งสำคัญ

กห.สหรัฐฯ ยอมรับว่าก่อนสงครามอ่าวเปอร์เซียไม่ได้ให้ความสำคัญกับการชี้แจงให้ทหารทราบถึงวิธีปฏิบัติกับกระสุน DU และอันตรายที่อาจเกิด ทำให้มีทหารหลายพันนายสัมผัสกับอันตรายจาก DU โดยไม่จำเป็น ภายหลังมีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอาการป่วย กห.สหรัฐฯ ศึกษาหาสาเหตุตามการร้องเรียน โดยตรวจและติดตามเฝ้าสังเกตอาการในทหารผ่านศึกจำนวนหนึ่งที่เคยสัมผัสกับหรือได้รับอันตรายจากกระสุน DU รายงานผลการศึกษาหลายสิบฉบับไม่สามารถระบุได้แน่นอนว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของการป่วยของทหารผ่านศึกเหล่านั้น

ภาพแผนที่ทวีปยุโรปแสดงประเทศที่มีทหารผ่านศึกได้รับอันตราย ซึ่งคาดว่ามีสาเหตุจากการใช้อาวุธ DU ในการรบที่คาบสมุทรบอลข่าน




โปรตุเกส เสียชีวิต 1 นาย
ฝรั่งเศส ป่วยเป็นโรคมะเร็งในเม็ดโลหิต 4 นาย
เบลเยียม เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง 5 นาย
เนเธอร์แลนด์ ป่วยเป็นโรคมะเร็งในเม็ดโลหิตหลายนาย
อิตาลี เสียชีวิตจากโรคมะเร็งในเม็ดโลหิต 8 นาย
สาธารณรัฐเช็ก เสียชีวิตจากโรคมะเร็งในเม็ดโลหิต 1 นาย
กรีซ กำลังสอบสวนหาสาเหตุ
สหราชอาณาจักรฯ ทหารมีอาการ “ป่วยจากการรบที่คาบสมุทรบอลข่าน”
สเปน มีรายงานการป่วยด้วยโรคมะเร็งอย่างน้อย 8 นาย
ในปี 2539 เควิน รัดแลนด์ (Kevin Rudland) ทหารช่าง ทบ.อังกฤษ ถูกส่งไปรบในบอสเนียนาน 6 เดือน หลังจากนั้นเขาป่วยเป็นโรคกระดูกข้ออักเสบเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ ฟันผุ เป็นโรคเครียด และผมร่วงมาก จนต้องรับการรักษาทางจิตเวช กระทรวงกลาโหมอังกฤษแถลงว่ายังไม่มีหลักฐานว่าอาวุธ DU ทำให้ทหารที่ไปรบในบอสเนียและโคโซโวป่วยหรือเสียชีวิต ขณะนี้กำลังรอผลการสอบสวนของราชสมาคม (Royal Society) ซึ่งเป็นหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ชั้นแนวหน้าของประเทศและเป็นหน่วยงานอิสระไม่ขึ้นกับรัฐบาล ขณะที่รัฐมนตรีจากหลายชาติในยุโรปเรียกร้องให้มีการสอบสวนอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างการป่วยที่อ้าง โดยเฉพาะสถิติการเกิดโรคมะเร็งและมะเร็งในเม็ดโลหิต กับการใช้อาวุธ DU ของกองกำลังรักษาสันติภาพของนาโต

การศึกษากรณีการรับเอา DU เข้าร่างกายและการเจ็บป่วยของทหารผ่านศึก

ในจำนวนทหารอเมริกัน 50 นายที่ได้รับบาดเจ็บจากชิ้นส่วนกระสุน DU ในปี 2536 มี 33 นายที่ยินยอมเข้ารับการตรวจร่างกายโดยคณะแพทย์ของศูนย์การแพทย์ทหารผ่านศึก เมืองบัลติมอร์ ในโครงการติดตามผลเพื่อหาสาเหตุของอาการป่วยจากการรบในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ในจำนวนนี้มี 22 นายที่ยังมีเศษ DU ฝังอยู่ในร่างกาย การศึกษานอกจากการตรวจร่างกายอย่างละเอียด การทดสอบทางประสาทจิตเวช และการทดสอบทางรังสีแล้ว ยังมีการตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะ ตรวจหายูเรเนียมในปัสสาวะ ตรวจวิเคราะห์สารเคมีในโลหิต และตรวจระบบต่อมไร้ท่อ

ผลการตรวจพบว่า ผู้ที่มีเศษยูเรเนียมอยู่ในร่างกายมีระดับยูเรเนียมในปัสสาวะสูงผิดปกติ แต่ไม่มีอาการโรคไตที่เป็นผลจากพิษของยูเรเนียม ไม่พบว่าทารกที่เกิดจากบิดาที่เข้ารับการตรวจร่างกายในโครงการนี้มีความผิดปกติใด ๆ นอกจากโครงการดังกล่าวแล้วองค์การทหารผ่านศึกสหรัฐฯ ยังรับตรวจทางคลีนิคและตรวจวิเคราะห์ปัสสาวะเพื่อหายูเรเนียมในร่างกายของทหารผ่านศึกสงครามอ่าวเปอร์เซียตามความสมัครใจ และพบว่าในจำนวนทหารผ่านศึก 20,000 นายที่สมัครใจรับการตรวจ มี 25 นายที่ได้รับฝุ่น DU เข้าสู่ร่างกายและป่วยเป็นโรคไตอย่างร้ายแรง

การสำรวจทหารผ่านศึกสงครามอ่าวเปอร์เซียกว่า 10,000 นาย ซึ่งรายงานว่ามีอาการเจ็บป่วยไม่ทราบสาเหตุ (เจ็บปวดกล้ามเนื้อและกระดูกข้อ เหนื่อยง่าย ระบบภูมิคุ้มกันถูกกด ระบบประสาทผิดปกติ ความจำเสื่อม เกิดภาวะไวต่อสารเคมี มีผื่นแดง ฯลฯ) พบว่า ร้อยละ 82 เคยเข้าไปในยานเกราะของอิรักซึ่งถูกทำลายและเปรอะเปื้อนฝุ่น DU ทหารผ่านศึกบางรายรายงานว่าเคยสูดดมควันจากยานเกราะที่ลุกไหม้อันเป็นผลจากการถูกยิงด้วยกระสุน DU นอกจากนี้ยังมีกำลังพลสายแพทย์ที่อาจได้รับฝุ่น DU จากเสื้อผ้าและบาดแผลของผู้ป่วย การที่กำลังพลจำนวนมากไม่ได้ระมัดระวังอันตรายจาก DU เป็นความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ได้แจ้งให้กำลังพลทราบเกี่ยวกับพิษสงของ DU จึงมีกำลังพลจำนวนมากปีนป่ายหรือเข้าไปในยานเกราะของอิรักที่ถูกทำลายด้วยกระสุน DU โดยไม่ได้สวมเครื่องแต่งกายป้องกัน เพราะไม่ทราบว่าซากรถเหล่านั้นเปื้อนพิษ DU หรือไม่ทราบว่า DU ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย

นอกจากนี้องค์การทหารผ่านศึกและ กห.สหรัฐฯ ยังให้การอุปถัมภ์การศึกษาวิจัยอีกหลายครั้ง อาทิ เกี่ยวกับสถิติการเสียชีวิต และสถิติการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผลปรากฏว่าความเกี่ยวข้องกับ DU ล้วนมีนัยสำคัญทางสถิติ

กองทัพปฏิเสธว่าการใช้อาวุธ DU ละเมิดกฎนิรภัยเกี่ยวกับสุขภาพ

พล.อ. เวสลีย์ คลาก (General Wesley K. Clark) ผู้บัญชาการทหารสูงสุดฝ่ายพันธมิตรนาโต (NATO’s Supreme Allied Commander) ที่ประสบชัยชนะในการรบที่โคโซโว ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนใจความสำคัญตอนหนึ่งสรุปว่า นาโตยึดมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยทางรังสีกำหนดโดยทบวงพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency - IAEA) และหน่วยงานอื่นคล้ายกัน สหสัมพันธ์ระหว่างระดับรังสีของ DU และความเสี่ยงเป็นสิ่งที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ไม่ปรากฏว่าระดับรังสีขนาดนี้ก่อให้เกิดผลอันตรายเฉพาะ ฉะนั้น การใช้ DU จึงอยู่ภายในขอบเขตของความปลอดภัยที่ยอมรับได้ ปฏิบัติการของนาโตอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และพยายามหลีกเลี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะไม่เคยโจมตีเป้าหมายซึ่งคาดว่าเป็นที่เก็บอาวุธเคมีของพวกเซิร์บ เป็นที่ทราบกันดีมานานแล้วถึงผลอันตรายของ DU ความฮือฮาในยุโรปเกี่ยวกับ DU น่าจะมีที่มาจากการร้องเรียนของฝ่ายเซิร์บซึ่งเริ่มในปี 2534 เมื่อครั้งนาโตทิ้งระเบิดลูกแรกใส่กองกำลังฝ่ายเซิร์บในบอสเนีย เป็นการโฆษณาชวนเชื่อเพื่อหวังผลทางการเมือง จนถึงปัจจุบันการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ที่ได้ทำไปแล้วไม่เคยแสดงให้เห็นว่าการเจ็บป่วยของทหารหรือพลเรือนในสมรภูมิมีสาเหตุจากการใช้อาวุธ DU ข้อกล่าวหาต้องมีผลการศึกษาวิจัยอย่างละเอียดทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน ไม่ใช่ข้อกล่าวหาทางการเมืองหรือเป็นการฉวยโอกาสเรียกร้องผลประโยชน์ส่วนตน นาโตออกคำเตือนทหารที่ปฏิบัติการรบในโคโซโวในปี 2542 เพราะไม่ต้องการให้ทหารรับเอา DU เข้าภายในร่างกาย ซึ่งจะก่ออันตราย โดยเตือนไม่ให้ทหารเข้าไปอยู่ในพื้นถูกโจมตี ไม่ว่าจะด้วยอาวุธ DU หรืออาวุธอื่น เพราะอาจมีกระสุนวัตถุระเบิดด้านหลงเหลืออยู่ ซึ่งล้วนเป็นอันตรายต่อชีวิต ถ้าทหารจะเข้าไปตรวจยานเกราะที่ถูกทำลายแล้ว อย่างน้อยจะต้องสวมหน้ากากป้องกันและถุงมือป้องกัน เพื่อป้องกันไม่ให้อนุภาค DU เข้าสู่ร่างกาย ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย มีทหารอเมริกันที่ถูกพวกเดียวกันโจมตีด้วยกระสุน DU เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ผู้รอดชีวิตจำนวนหนึ่งมีเศษ DU อยู่ในร่างกาย กองทัพเฝ้าติดตามผลอันตรายตลอดเวลา จนบัดนี้ยังไม่พบว่านายใดป่วยเป็นมะเร็งในเม็ดโลหิตหรือเสียชีวิต แต่ในการรบที่คาบสมุทรบอลข่าน ไม่มีทหารนาโตนายใดอยู่บนพื้นดินใกล้เป้าหมายขณะเป้าหมายถูกโจมตี เพราะนาโตใช้เครื่องบินรบโจมตี คำกล่าวหาของทหารอิตาลีที่ว่าสูดดมเอากลุ่มควันยูเรเนียมไดออกไซด์จึงไม่เป็นความจริง อาวุธที่ใช้เป็นปืนกลอากาศ หัวกระสุนปืนกลเป็นกระสุนเจาะเกราะ DU หัวกระสุนไม่ระเบิด มีการใช้กระสุน DU จำนวน 31,000 นัด ในห้วงเวลา 2 เดือน ภายในพื้นไม่เกิน 4,000 ตารางไมล์

กห.อังกฤษแถลงว่า กองทัพอังกฤษซ้อมยิงกระสุน DU ในพื้นที่ฝึกยิงอาวุธทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอังกฤษและในสก็อตแลนด์ ตั้งแต่ปี 2534 และหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบด้านสุขภาพและความปลอดภัยได้เฝ้าติดตามผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด ไม่พบหลักฐานว่าเกิดอันตรายกับทหาร ประชาชนพลเรือน หรือสัตว์ป่า การซ้อมยิงกระสุน DU เป็นกิจกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย ปฏิบัติภายในกรอบของกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ กองทัพอังกฤษใช้อาวุธ DU ในสงครามอ่าวเปอร์เซียและคาบสมุทรบอลข่าน กห.ตระหนักดีว่ามีความเสี่ยงอย่างจำกัดจากอนุภาคยูเรเนียมออกไซด์ แต่ยังไม่มีหลักฐานจากการศึกษาวิจัยว่าเกี่ยวข้องโดยตรงหรือเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยของทหารผ่านศึก

ผลการศึกษาขององค์การสหประชาชาติและองค์การอนามัยโลก

เมื่อปี 2544 โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UN Environmental Programme – UNEP) ส่งนักวิทยาศาสตร์ไปตรวจพื้นที่ในโคโซโว 11 แห่งที่ถูกกองกำลังนาโตโจมตีด้วยอาวุธ DU ผลการตรวจพบว่าพื้นที่ 8 แห่งมีพื้นดินเปื้อนพิษกัมมันตรังสีเล็กน้อย ก่อนหน้านี้นาโตแจ้งให้สหประชาชาติทราบว่าเมื่อปี 2543 กองกำลังทางอากาศของนาโตใช้อาวุธ DU โจมตีเป้าหมายในพื้นที่ 112 แห่งในโคโซโว คณะนักวิทยาศาสตร์สหประชาชาติเก็บตัวอย่างดิน น้ำ และพืชพรรณ ไปตรวจ นอกจากนี้ยังตรวจซากอาคารและยานพาหนะที่ถูกโจมตี กัมมันตภาพรังสีที่ตรวจพบเป็นรังสีบีตา พบบริเวณรูที่หัวกระสุน DU เจาะ และที่เศษชิ้นส่วนของหัวกระสุน DU ซึ่งกระจายอยู่ใกล้กับเป้าหมาย คาดว่าสหประชาชาติจะแถลงผลการตรวจตัวอย่างเก็บจากโคโซโวประมาณกลางปี 2545

คณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) แถลงเมื่อเดือนมกราคม 2545 ว่า ไม่ค่อยมั่นใจว่าอาวุธ DU ที่นาโตใช้ในคาบสมุทรบอลข่านจะเป็นสาเหตุให้ทหารผ่านศึกป่วยเป็นมะเร็ง จากการศึกษาและหลักฐานขององค์การอนามัยโลก คณะผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ทหารจะมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคมะเร็งในเม็ดโลหิตซึ่งมีสาเหตุจากการได้รับรังสีจากอาวุธ DU ในโคโซโว รวมถึงทหารอเมริกันและทหารชาติอื่นที่เคยรบในบอสเนียภายใต้กองกำลังสหประชาชาติและนาโต ผู้เชี่ยวชาญด้านชีวอนามัยขององค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ผลการศึกษาเมื่อปีที่แล้วแสดงว่า แม้ในเหตุการณ์เลวร้ายสุด ทหารจะได้รับรังสีจาก DU เพียงครึ่งหนึ่งของผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยูเรเนียม โดยทั่วไปแล้ว จะต้องใช้เวลา 10-15 ปี หลังได้รับรังสีที่ทำให้แตกตัวเป็นไอออน จึงจะสามารถตรวจทางคลีนิคพบอาการของโรคมะเร็งในเม็ดโลหิต ผู้เชี่ยวชาญอีกท่านหนึ่งกล่าวว่า จนถึงปัจจุบันผลการศึกษาที่โรงพยาบาลที่โคโซโวไม่พบว่าโรคมะเร็งในเม็ดโลหิตมีสถิติสูงขึ้นในหมู่ประชากรเชื้อสายอัลเบเนียของจังหวัดเซอร์เบีย การศึกษาอย่างละเอียดจำเป็นต้องมีข้อมูลที่สมบูรณ์เกี่ยวกับจำนวนทหารที่ได้สัมผัสกับ DU ปริมาณ DU บนผิวพื้น และปริมาณ DU ที่จมอยู่ในดิน

บทสรุป

ทั้งรัฐบาลและทหารชาติต่าง ๆ ตระหนักดีว่า การทำให้ DU แพร่กระจายเป็นสิ่งไม่ดี เป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม และกัมมันตภาพรังสีของ DU มีมากพอที่ทำให้จำเป็นต้องกำจัดสิ่งที่เปื้อนพิษ DU ด้วยความระมัดระวัง รวมถึงดินจากโรงงานผลิต ดินจากพื้นที่ทดลองหรือฝึกยิงอาวุธ แม้แต่ซากยานเกราะที่ถูกยิงด้วยกระสุน DU ยังต้องทำลายล้างพิษ มีบันทึกของสถาบันนโยบายสิ่งแวดล้อมกองทัพบก (Army Environmental Policy Institute – AEPI) สหรัฐฯ ฉบับหนึ่ง เตือนว่า ความห่วงใยของสาธารณชนเกี่ยวกับผลอันตรายจากการใช้อาวุธ DU อาจทำให้อาวุธ DU ไม่เป็นที่ยอมรับทางการเมือง เป็นผลให้ถูกห้ามใช้ในที่สุด

มีผู้ศึกษาและรายงานไว้ก่อนการใช้อาวุธ DU ในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ปี 2534 ว่า ภายหลังการใช้อาวุธ DU จะมีปัญหาตามมาเกี่ยวกับพื้นที่การรบและสุขภาพในระยะยาวของทหารผ่านศึกและชนพื้นเมืองในพื้นที่การรบ และจะมีปัญหาเกี่ยวกับการยอมรับการใช้อาวุธ DU ต่อไปในอนาคต แม้การใช้อาวุธ DU ทุกครั้งจะอยู่ภายในกรอบของกฎระเบียบทั้งทางกฎหมายและทางการแพทย์/สาธารณสุข อันตรายในพื้นที่การรบภายหลังการใช้อาวุธ DU เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ จำเป็นจะต้องหาทางกำจัด ถ้าวันหนึ่งมีการพิสูจน์ได้ว่า DU เป็นสาเหตุของอันตรายที่มีในสนามรบและที่เกิดกับทหารผ่านศึกและคนพื้นเมืองแล้ว จะต้องมีผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย รวมถึงกรณีทุพพลภาพและการดูแลสุขภาพระยะยาวตลอดอายุขัย และจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการกำจัดอันตรายให้หมดไปจากพื้นที่ คิดเป็นเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ

เมื่อปี 2539 คณะอนุกรรมการป้องกันการเหยียดหยามและปกป้องชนกลุ่มน้อยแห่ง
สหประชาชาติ (UN Subcommission on Prevention of Discrimination and Protection of Minorities) ผ่านข้อมติซึ่งมีใจความตอนหนึ่งว่า “ เรียกร้องให้ทุกรัฐใช้นโยบายแห่งชาติเป็นเครื่องกำหนดความจำเป็นที่จะต้องระงับการผลิตและการแพร่อาวุธทำลายล้างมวลมนุษย์หรืออาวุธที่ทำอันตรายไม่เลือก โดยเฉพาะอาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี ระเบิดเชื้อเพลิง-อากาศ นาปาล์ม ระเบิดพวง อาวุธชีวะ และ อาวุธที่มียูเรเนียมด้อยไอโซโทป ”

คำถามสุดท้ายเป็นของกองทัพ เมื่อเลิกใช้อาวุธ DU แล้วจะมีอาวุธอะไรที่มาทดแทน โดยไม่มีอันตรายจากรังสีตามที่สาธารณชนเป็นห่วง แต่มีอานุภาพเท่ากันและมีราคาไม่แพงกว่า มีผู้อ้างว่าในอนาคตโลหะผสมทังสเตนจะผลิตเป็นตัวเจาะเกราะที่มีอานุภาพเทียบเท่าหรือดีกว่า DU ขณะเดียวกันจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายในสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม การเพิ่มความเร็วให้ตัวเจาะเกราะทังสเตนเพื่อให้มีอานุภาพเทียมเท่า DU จะทำได้ต่อเมื่อปืนใหญ่รถถังที่ใช้กันอยู่ได้รับการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแบบให้สามารถยิงกระสุนออกไปด้วยความเร็วสูงกว่าปัจจุบัน และต้องไม่ลืมว่าแม้โลหะทังสเตนจะไม่แผ่รังสีแต่อนุภาคของมันก็เป็นพิษต่อร่างกาย

มีแนวโน้มสูงว่าสิ้นปี 2546 รถถังชาเลนเจอร์-2 ของ ทบ.อังกฤษจะใช้กระสุนพลังงานจลน์ต่อสู้ยานเกราะเพียงชนิดเดียว สำหรับปืนใหญ่รถถังขนาด 120 มิลลิเมตรมีเกลียวในลำกล้อง คือ กระสุน แอล 27 เอ 1 (CHARM 3) ซึ่งเป็นกระสุนเจาะเกราะแบบสลัดเปลือกหุ้มทิ้งเองรักษาทิศทางด้วยหาง (APFSDS) มีตัวเจาะเกราะเป็นโปรเจ็คไตล์รูปลูกดอกทำด้วย DU ทั้งนี้เพราะกระสุน แอล 23 ที่มีโปรเจ็คไตล์รูปลูกดอกทำด้วยทังสเตนจะถูกปลดประจำการทั้งหมดในปี 2546 เนื่องจากดินส่งกระสุนหมดอายุ ประกอบกับการใช้กระสุน แอล 23 เป็นความเสี่ยงที่ ทบ.อังกฤษยอมรับไม่ได้อีกต่อไป เนื่องจากจะต้องนำรถถังเข้าไปใกล้รถถังข้าศึกมากจึงจะยิงทะลุ อันเป็นการยอมเสียสละความได้เปรียบด้านระยะยิงซึ่งปืนใหญ่รถถังอังกฤษสมัยใหม่ถูกออกแบบมาให้ยิงได้ไกลกว่าปืนใหญ่รถถังของชาติอื่น การใช้กระสุน แอล 27 เอ 1 จะไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงหรือใช้อาวุธไม่เต็มขีดความสามารถ แม้บริษัทเอกชนของอังกฤษจะเริ่มพัฒนากระสุนเจาะเกราะหัวรบทังสเตนให้มีอานุภาพดีขึ้น เรียกว่า แอล 28 แต่ ทบ.อังกฤษยังคงเห็นว่ามีอานุภาพด้อยกว่ากระสุน DU อยู่ดี ทางออกสุดท้ายคงจะเป็นการพัฒนาปืนใหญ่รถถังขึ้นมาใหม่หรือทำโปรเจ็คไตล์ด้วยโลหะชนิดใหม่





Create Date : 04 พฤษภาคม 2549
Last Update : 5 พฤศจิกายน 2550 13:08:16 น. 7 comments
Counter : 7009 Pageviews.

 


โดย: โสมรัศมี วันที่: 4 พฤษภาคม 2549 เวลา:15:26:16 น.  

 
แล้วกระสุนชนิดนี้ยังมีการนำมาใช้อยู่อีกหรือป่าวครับ


โดย: จับฉ่าย IP: 58.9.16.100 วันที่: 4 พฤษภาคม 2549 เวลา:18:34:54 น.  

 
ใช้อยู่เรื่อย ๆ ครับ


โดย: Skyman IP: 203.121.187.3 วันที่: 4 พฤษภาคม 2549 เวลา:22:44:38 น.  

 
ประเทศไทยก็มีกระสุน DU ใช้งานในกองทัพหรือครับพี่สกายแมน


โดย: S e m a k u t e k ! IP: 203.118.74.30 วันที่: 4 พฤษภาคม 2549 เวลา:23:52:10 น.  

 
ไม่อยากให้ใช้กันเลย แม้จะเป็นconvensional weapon แต่ก็มีหลายๆอย่างที่เดี๋ยวนี้มีอันตรายมากขึ้น ซึ่งแม้กระทั่งระแวกนี้ก็...

ผมน่ะชอบเทคโนฯอาวุธสงครามครับ แต่ถ้าใช้การใช้สู้กับพวกเอเลี่ยนดีกว่า
ปล. อยากให้โลกนี้สงบสุข


โดย: MSTN IP: 203.209.41.12 วันที่: 5 พฤษภาคม 2549 เวลา:11:06:58 น.  

 
ผมแวะเข้ามาเยี่ยมเยียนบล๊อกของพี่นะครับ
หลากหลายความรู้ ได้สาระดีครับ
ชอบตรงเรื่อง ดิวทีเรี่ยม ยูเรเนียม
ชอบตรงที่คัดเรื่อง อันตรายของมันมาด้วยครับ
เรื่องนี้ ผมก็เคยเอามาทำเป็น รายงานตอนเรียนวิชารังสีวิทยา สมัยที่เรียนมหาวิทยาลัย
กระสุน DU แม้จะมีอำนาจการทำลายสูง แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับมันโดยเฉพาะ ทหารที่ใช้มันในสงคราม หากรอดชีวิตกลับมาได้ ก็อาจจะป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดได้ เหมือนกัน


โดย: ลุงหมี IP: 58.9.127.115 วันที่: 6 พฤษภาคม 2549 เวลา:6:40:16 น.  

 


โดย: เบิร์ด IP: 58.10.87.7 วันที่: 19 เมษายน 2550 เวลา:18:27:02 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Analayo
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 56 คน [?]




หากโลกนี้มีความยุติธรรม เราคงไม่ต้องมีศาล ไม่ต้องมีทหาร ไม่ต้องมีตำรวจหรอก/Skyman
@ จ่อยน้องลิง @
@ จ่อยหัวหอม @
X
X



free counters


Friends' blogs
[Add Analayo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.