DU ก่ออันตรายสูงสุดต่อสุขภาพมนุษย์เมื่อถูกสูดหายใจหรือกลืนกินเข้าไป วิธีที่ DU เข้าร่างกายอาจเกิดจาก
การสูดหายใจเอาควันที่มีอนุภาค DU การเข้าทางปากผ่านมือที่จับต้องรถเปื้อนอนุภาค DU มาก่อน การสูดหายใจหรือกลืนอนุภาค DU ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศจากการถูกทำให้ฟุ้งใหม่ การดื่มกินน้ำหรืออาหารที่ปนเปื้อน DU ฝุ่น DU เข้าบาดแผล บาดแผลที่เกิดจากสะเก็ด DU
ทบ.สหรัฐฯ ชี้แจงว่าทหารมีโอกาสมากที่สุดที่จะได้รับ DU เข้าสู่ร่างกายในกรณีต่อไปนี้
เข้าไปภายในหรือใกล้กับยานเกราะซึ่งเป็นเป้าหมายที่ถูกทำลายด้วยกระสุน DU เข้าไปภายในหรือใกล้กับรถถังชนิดมีเกราะ DU และรถคันนั้นถูกยิงทะลุด้วยกระสุนชนิดใดก็ได้ เข้าไปใกล้ไฟซึ่งลุกไหม้กระสุน DU เข้าไปภายในรถซึ่งถูกยิงด้วยกระสุน DU หรือมีเกราะ DU ซึ่งถูกยิงทะลุหลายครั้ง แต่รับว่าทหารที่ไปจับต้องแกนลูกกระสุน DU พบในสนามรบมีโอกาสได้รับรังสีในปริมาณที่มีนัยสำคัญ (แต่เตือนว่าทหารไม่ควรจับต้องเศษชิ้นส่วนหรือซากยุทโธปกรณ์ใดในสนามรบ เว้นแต่จะได้รับคำสั่ง) ส่วนทหารบาดเจ็บที่มี DU ฝังอยู่ในบาดแผล แพทย์ทหารปฏิบัติต่อการบาดเจ็บเช่นเดียวกับการบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดทำด้วยโลหะอื่น และการศึกษาทหารที่ได้รับบาดเจ็บจาก DU ยังไม่พบว่ามีผลต่อสุขภาพ โดยเฉพาะที่มีสาเหตุจากสมบัติทางกัมมันตรังสีหรือทางเคมีของ DU
ทบ.สหรัฐฯ กล่าวว่ากระสุน DU ที่อยู่ในหีบห่อหรือยังไม่ยิงมีอันตรายจาก DU น้อยมาก ทหารอาจอุ้มกระสุนต่อสู้รถถังขนาด 120 มม.ที่มีตัวเจาะเกราะทำด้วย DU ได้นานถึง 940 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับรังสีเกินกว่าปริมาณกำหนดสมมูลสูงสุดที่ยอมให้รับได้ 5 เร็มต่อปีสำหรับการรับรังสีทั่วร่างกาย และแม้ว่าแกนลูกกระสุน DU ที่ถูกยิงไปแล้วจะมีอันตรายสูงกว่ากระสุนที่ยังไม่ได้ยิงก็ตาม ทหารจะต้องถือแกนลูกกระสุน DU ด้วยมือเปล่าเป็นเวลานานกว่า 250 ชั่วโมง จึงจะได้รับรังสีเกินปริมาณกำหนดสมมูลสูงสุดที่ยอมให้รับได้ 50 เร็มต่อปีสำหรับผิวหนังหรืออวัยวะที่ห่างลำตัวที่สุด (มือและเท้า)
ทบ.สหรัฐฯ ยอมรับว่าพิษทางเคมีของ DU เป็นอันตรายสำคัญ แต่ทหารไม่สามารถทำอะไรได้เมื่อยานเกราะของตนถูกยิงด้วยกระสุนหัว DU หรือเมื่อเกราะ DU ของรถถูกยิงทะลุ