ไปกด Link ได้ที่แฟนเพจ https://www.facebook.com/skymantaf หรือ Follow ได้ที่ Twitter https://twitter.com/skymantaf หรือที่ http://www.thaiarmedforce.com นะครับ
Group Blog
 
<<
มกราคม 2551
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
5 มกราคม 2551
 
All Blogs
 

JAS-39 Gripen: บทความกริเพนของแฟนพันธุ์แท้เครื่องบินรบ สรศักดิ์ สุบงกช

บทความนี้ พี่โต ....... สรศักดิ์ สุบงกช แฟนพันธุ์แท้เครื่องบินรบ ....... บุคคลพลเรือนคนที่สอง แต่เป็นคนแรกที่ไม่ได้ติดยศที่ได้ทำการบินกับ F-16 ....... เขียนลงในมติชนสุดสัปดาห์เมื่อปลายปีที่ผ่านมาครับ ........ ข้อมูลในบทความ ผ่านการค้นคว้าและเรียบเรียงมาอย่างดี สามารถนำไปอ้างอิงได้ครับ ผมเห็นว่ามีประโชน์มาก จึงขออนุญาตพี่โต นำมาลงเอาไว้ให้ทุกท่านได้อ่านกัน ณ ที่นี้ครับ




JAS 39 ความจำเป็นและเหตุผล
สรศักดิ์ สุบงกช


ระหว่างที่กองทัพอากาศของเรากำลังจะจัดหาเครื่องบินขับไล่ใหม่ ทดแทนเครื่องบินขับไล่ F5 แบบเดิมที่ใช้มาตั้งแต่สมัยสงครามเวียตนามและกำลังทยอยปลดประจำการ ก็เกิดกระแสความคิดไปได้หลากหลายทั้งแง่ดีและไม่ดี ในแง่ดีก็คือดีใจที่เราจะได้มีเขี้ยวเล็บใหม่มาเสริมความแข็งแกร่งให้กองทัพ จะได้มีของใหม่มาใช้พร้อมกับเทคโนโลยีรวมทั้งความปลอดภัยในชีวิตนักบิน เชื่อว่ามันต้องดีกว่าเครื่องบินเดิมที่มีอยู่คือ F16,Alpha Jet,L 39 แล้วยังเลยเถิดไปถึงว่ามันต้องบรรทุกระเบิดได้มากกว่า บินได้ไกลกว่าเพื่อเอาไว้ข่มขู่ประเทศเพื่อนบ้านแล้วจะได้ดำเนินนโยบายทางการทูตแบบแข็งกร้าวเสียที หลังจากใครอยากได้อะไรเราก็ยอมเป็นเบี้ยล่างมานาน

อีกกระแสความคิดก็คือเราไม่ได้รบกับใคร ไม่เห็นต้องหาอะไรมาทดแทน เครื่องบินแบบเดิมก็ยังบินกันได้ไม่เห็นจำเป็นต้องไปหาเครื่องบินแบบใหม่มาใช้ ไม่สำคัญว่าใครผลิต ลงท้ายก็วกกลับเข้าสู่เรื่องเดิมๆอีกคือรายการนี้ต้องมี”คอมมิสชั่น”แน่ พวกบิ๊กๆในกองทัพอากาศคงรับทรัพย์มหาศาลร่ำรวยไปตามๆกัน ส่วนทหารระดับปฏิบัติการก็คงได้แต่อาวุธมือสองหรือสภาพแย่ๆมาใช้ ซ่อมบำรุงยากอะไหล่ก็แพง ใช้ได้ไม่กี่ปีก็คงจอดไว้ในพิพิธภัณฑ์แล้วคงมองหาเครื่องบินแบบใหม่มาเพื่อแสวงหาประโยชน์เข้าตัวและพวกพ้องกันต่อไป

นั่นคือความคิดของคนไทยทั่วไปที่ยังไม่ได้ศึกษาหาความรู้ ยังไม่มีข้อมูลในสิ่งที่กองทัพจะเอาเงินภาษีของตนไปใช้ เป็นเพียงการคาดคะเนเอาจากสิ่งที่เคยเป็นมาแต่ครั้งอดีต แต่เหตุผลที่แท้จริงในการจัดหายุทโธปกรณ์ทดแทนนั้นน้อยคนที่จะรู้ เมื่อวัฒนธรรมของชาติเราไม่ได้สนับสนุนการอ่าน การสืบค้นข้อมูลเพื่อติดอาวุธทางความคิดจึงเป็นเรื่องน่าเบื่อ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่จะพัฒนาไปในอนาคตเราจึงเลือกจะถามหรือคาดเดา ซึ่งง่ายกว่า เร็วกว่า แต่ขาดหลักความจริงรองรับ มีโอกาสผิดพลาดมากและอาจส่งผลกระทบกระเทือนต่อนโยบายการป้องกันประเทศถ้า”ความเชื่อ”นั้นกลายเป็น”กระแส” แพร่ไปในในสื่อมวลชนและผู้มีอำนาจในการพิจารณา แต่ไม่เคยสนใจข้อมูลทางเทคนิคและยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ

ถ้าเป็นการจัดหาแบบครั้งที่แล้วๆมาผมคงไม่อยากแสดงความคิดเห็น แต่ครั้งนี้เรากำลังจัดหาอาวุธหรือพูดให้เจาะจงลงไปก็คือ”เครื่องบินรบ”จากชาติอื่นนอกจากสหรัฐฯ เป็นความแตกต่างอันเด่นชัดในประวัติศาสตร์ของกองทัพ ผมจึงอยากชี้จากมุมมองของประชาชนเจ้าของภาษีที่ตามรายละเอียดเรื่องนี้ และอยากเสนอความคิดให้คนทั่วไปได้เข้าใจด้วยคำพูดง่ายๆ ใช้ศัพท์แสงทางวิชาการให้น้อยที่สุด ขอย้ำว่าไม่ได้เขียนเชียร์เพราะถึงอย่างไรกองทัพอากาศก็ตัดสินใจซื้อไปแล้ว เชียร์ไปก็เท่านั้น แต่เป็นการแบ่งปันข้อมูลเพื่อให้ชาวไทยอุ่นสบายใจว่าของที่เราหามาใช้นั้นไม่ใช่ของด้อยคุณภาพ เราได้ของดีเพียงแต่มันมาช้าไปนิดเท่านั้น

กองทัพของเราโดยเฉพาะกองทัพอากาศ เท่าที่เคยเป็นมานั้นผูกพันอยู่กับระบบอาวุธของสหรัฐฯ แรกๆก็เพราะได้รับความช่วยเหลือทางทหาร เราช่วยเขารบทั้งสงครามเกาหลีและสงครามเวียตนาม โดยเฉพาะสงครามเวียตนามนั้นเราเป็นกันชนให้พร้อมเป็นฐานบิน ให้เครื่องบินอเมริกันไปถล่มทั้งเวียตนามเหนือ(ขณะนั้น)และเขมร อเมริกา”ให้เปล่า”หรือขายอาวุธราคาต่ำให้ในรูปความช่วยเหลือ แต่สิ่งแอบแฝงมาคือการให้เราเป็นพันธมิตรช่วยรบ สนองนโยบายของรัฐบาลอเมริกันในการดำรงตนเป็นตำรวจโลก

ของฟรี,ของมือสองราคาถูกหรือของผ่อนดอกเบี้ยต่ำ พร้อมทั้งกรอบแนวความคิดในการทำสงครามของอเมริกัน ทำให้เราพึ่งพาเขา เกิดการหยั่งรากลึกทั้งแนวความคิดและเทคโนโลยี เราจำต้องจ่ายแพงเพื่อให้ได้ของไว้ใช้ โดยเฉพาะระบบอาวุธที่ต้องพึ่งพาอเมริกา ถ้าจะซื้ออาวุธใหม่ระบบของมันก็ต้องเข้ากับของเดิมได้ “ของเดิม”ของใคร ตอบได้ว่า”ของอเมริกา” ถ้าจะให้เข้ากันได้สนิทมันก็ต้อง”อาวุธอเมริกัน”

ถ้าจะซื้ออาวุธยุโรปซึ่งคุณภาพไม่ด้อย เขาก็มีระบบรองรับของเขาซึ่งการเราต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อทั้งระบบอีกมากมายมหาศาล ไม่ใช่แค่มีเงินแล้วจะซื้ออะไรมาใช้ก็ได้ ระบบอาวุธปัจจุบันอันซับซ้อนนั้น ประกอบด้วยฮาร์ดแวร์(ตัวอาวุธ)และซอฟต์แวร์(ชุดคำสั่งควบคุม) และเทคโนโลยีอื่นที่ช่วยให้มันแม่นยำสมสมรรถนะซึ่งราคามหาศาลหากต้องซื้อกันใหม่ทั้งระบบ โดยเฉพาะเครื่องบินรบซึ่งเป็นระบบอาวุธอีกสายพันธุ์ แตกต่างจากปืนกล,ปืนใหญ่หรือรถถัง การทำงานของมันในปัจจุบันใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง(Network Centric Operation NCO)เพื่อนักบินหยั่งรู้สถานการณ์ได้เร็วที่สุด บินขึ้นต่อสู้รวดเร็วและใช้อาวุธ(ราคาแพงและมีจำกัด)ได้แม่นยำ อันเป็นผลจากข้อมูลที่ถูกส่งผ่านทั่วถึงกันตลอดทั้งสามมิติ(เครื่องบิน น้ำ และกำลังภาคพื้นดิน) เคลื่อนที่เข้าต่อตีได้รวดเร็วทันการณ์ มีกำลังน้อยเสมือนมีกำลังมาก

เราจำต้องใช้อาวุธอเมริกันเพราะใช้มานาน จนคุ้นเคย ยึดติด แม้ถูกมัดมือชกด้วยเงื่อนไขต่างๆก็ยังต้องใช้ ทั้งที่อาวุธนั้นออกแบบมาเพื่อโครงสร้างกองทัพใหญ่อย่างสหรัฐฯ ใช้เงินทอง,อุปกรณ์,บุคคลากรเพื่อดำรงสภาพมหาศาลขณะที่งบป้องกันประเทศของเรามีน้อย การพึ่งพาทำให้เราใช้อาวุธแพงมานานแม้จะไม่เข้ากับยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจ ระหว่างที่อเมริกาใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกด้วยงบประมาณมาก ไทยกลับใช้ยุทธศาสตร์เชิงป้องกันแต่ด้วยงบประมาณงบประมาณน้อย ที่สำคัญคือเราจำต้องทำเพราะยังขาดตัวเลือก หรือมีตัวเลือกแต่ราคาก็แพงจนรับไม่ไหว

ระบบอาวุธเดิมที่พ้นสมัยทำให้กองทัพอากาศต้องจัดหาของใหม่มาทดแทน ความจริงก็คือเครื่องบินแบบ F5 ที่เราใช้มาตั้งแต่ยุคสงครามเวียตนามนั้นพ้นสมัยไปแล้วสำหรับการรบด้วยระบบเครือข่าย พิสัยบินของมันใกล้ ติดอาวุธได้จำกัด ปรับปรุงอย่างไรก็ไม่คุ้มเพราะวัสดุและระบบอื่นๆไม่เอื้ออำนวยต่อการอยู่รอดในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังไม่นับถึงสายการผลิตที่ปิดไปแล้วกับค่าบำรุงรักษาที่นับวันจะไม่คุ้มค่า ทุกครั้งที่ F5 ตกแล้วเราสูญเสียนักบิน ความคิดแรกที่เกิดในสาธารณชนและสื่อต่างๆคือ”เครื่องบินเก่า” ทั้งที่ปัจจัยในการตกนั้นไม่ได้จำกัดอยู่ที่ความ”เก่า”อย่างเดียว เครื่องบินตกหนึ่งลำเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งลม,นก,เครื่องยนต์หรือแม้แต่เกิดจากตัวนักบินเอง

เมื่อของมันเก่า หมดสภาพ ใช้ไปก็เสี่ยงตาย ปกป้องอธิปไตยหรือใช้เป็นเครื่องมือหนุนนโยบายการทูตก็ไม่ได้ จะทนใช้อยู่อีกหรือ? หรือจะให้นักบินที่ใช้ทั้งเวลาและงบประมาณมหาศาลสร้างมาต้องตายอีกกี่นาย แน่นอนว่าเราต้องหาของใหม่มาใช้ ขณะนี้เครื่องบินขับไล่ที่ทันสมัยที่สุดของกองทัพอากาศคือ F16 ถ้ามองแบบง่ายๆเครื่องบินที่จะมาแทน F5 ก็น่าจะเป็น F16รุ่นใหม่ๆ หรืออะไรที่ดีกว่านั้น ตามที่มีข่าวในช่วงปีสองปีก่อนกองทัพอากาศมองเครื่องบินขับไล่ทดแทนไว้ 3 แบบคือ F16 รุ่น CและDของสหรัฐฯ(ของ Lockheed Martin),SU-30 MK(ของSukoi)จากรัสเซีย และ JAS39(ของ SAAB)จากสวีเดน มีการพิจารณาอยู่นานถึงความเหมาะสมสุดท้ายก็เหลือแค่ JAS 39 ของ SAAB ที่ไปกันได้กับยุทธศาสตร์และสถานภาพทางเศรษฐกิจของเรามากที่สุด

แต่ก่อนจะเข้าถึงรายละเอียดว่าทำไมถึงไม่เลือก F16 C-D หรือSU30 ต้องกล่าวถึงความเป็นมาของกองทัพอากาศสวีเดน เพื่อให้เข้าใจถึงรายละเอียดและการพัฒนาอากาศยานรวมทั้งแนวความคิดก่อนจะมาเป็น JAS39 GRIPEN(กริปเปน)
กองทัพอากาศสวีเดนหรือ Flygvapnet(Flight Weapon) คือเหล่าหนึ่งของกำลังทหารเพื่อป้องกันประเทศแห่งราชอาณาจักรสวีเดน ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 1926 โดยการผนวกกันระหว่างหน่วยบินกองทัพบกและหน่วยบินกองทัพเรือ เป็นเหล่าทัพที่ตั้งขึ้นหลังจากเมฆหมอกของสงครามโลกครั้งที่ 1 จางลงและยุโรปยังไร้เสถียรภาพ การแย่งชิงอาณานิคมและเขตการค้ารวมถึงความไม่เป็นธรรมในสนธิสัญญาแวร์ซายล์ คือเชื้อประทุพร้อมก่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทุกขณะ ช่วงทศวรรษ 1930 นั้นเองที่ความไม่แน่นอนของยุโรปทำให้สวีเดนต้องจัดอัตรากำลังใหม่ เพิ่มฝูงบินจาก 4 ฝูงเป็น 7 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ระเบิดขึ้นในปี 1939 แม้สวีเดนจะเป็นกลางไม่ถูกเยอรมันยึดครอง แต่กองทัพอากาศได้ถูกขยายออกไปอีก ความวุ่นวายในยุโรปทำให้โครงการชะงักอยู่จนสิ้นสงคราม

ถึงสวีเดนจะไม่เคยเข้าสงคราม ไม่เคยถูกรุกรานและไม่เคยรุกรานใครแต่กองทัพอากาศขนาดใหญ่เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อยับยั้งภัยคุกคามอันอาจมีได้ทุกเมื่อ เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็นยิ่งจำต้องมีกองทัพอันแข็งแกร่งเพื่อป้องกันการรุกรานในฐานะประเทศหน้าด่าน ถูกล้อมรอบด้วยประเทศกติกาสัญญาวอร์ซอว์ ทั้งที่ยังขยายไม่เสร็จแต่ก็น่าทึ่งที่ภายในปี 1945 อันเป็นปีสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 กองทัพอากาศสวีเดนมีเครื่องบินพร้อมรบ(combat-ready)ถึง 800 เครื่อง รวม 15 กองพลบินขับไล่ เป็นกองทัพอากาศที่ใหญ่เมื่อเทียบกับประชากรไม่ถึง 10 ล้านคนเมื่อ 60 กว่าปีก่อน

กองทัพอากาศใหญ่ก็จริงแต่เครื่องบินต้องใช้เชื้อเพลิง ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งที่เป็นกลางไม่ได้ใช้เชื้อเพลิงทำสงคราม แต่การอยู่ใกล้ชิดประเทศที่ถูกรุกรานจึงไม่สามารถพึ่งพาน้ำมันเชื้อเพลิงได้เต็มที่ ทางออกคือต้องคิดค้นเชื้อเพลิงใช้เอง โชคดีที่สวีเดนถึงจะไม่มีแหล่งน้ำมันดิบแต่มีแหล่งหิน”เชล”(oil shale)อุดมสมบูรณ์ เมื่อให้ความร้อนในปริมาณเหมาะสมหินนี้จะให้สารเคโรเจน(kerogen)นำมาผลิตเป็นไฮโดรคาร์บอนเหลวได้

มันยังไม่ใช่น้ำมันดิบเสียทีเดียว แต่เป็นสารที่นำมาผ่านกรรมวิธีไพโรไลซิส(pyrolysis)ได้น้ำมันดิบสังเคราะห์ ก่อนจะไปกลั่นเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์อีกขั้น จะเผาออยล์เชลโดยตรงก็ยังได้เพื่อให้ได้เชื้อเพลิงคล้ายถ่านหิน ใช้ได้ทั้งเพื่อให้ความร้อนหน้าหนาวตามบ้านเรือนและเป็นเชื้อเพลิงโรงงานผลิตไฟฟ้า สวีเดนมีเทคโนโลยีของตัวเองเพื่อสร้างน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินจากหินเชล โดยพึ่งพาน้ำมันจากเพื่อนบ้านน้อยมากตั้งแต่เมื่อเกือบ 70 ปีแล้ว!

หลังจากปี 1945 สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ก้าวเข้าสู่ยุคสงครามเย็นระหว่างโลกเสรีกับคอมมิวนิสม์ กองทัพอากาศสวีเดนเร่งรัดปรับปรุงขนานใหญ่เพื่อป้องกันตนจากภัยคุกคาม ระบบสาธารณูปโภคทั้งหมดที่ถูกสร้างในยามนี้ล้วนต้องเอื้ออำนวยต่อการป้องกันประเทศ จำนวนคนที่น้อยและกองทัพเล็กบีบให้เน้นประสิทธิภาพมากกว่าปริมาณ เบื้องแรกเมื่ออุตสาหกรรมอากาศยานยังไม่สามารถรองรับความต้องการของกองทัพสมัยใหม่ได้ จึงต้องจัดหายุทโธปกรณ์จากต่างชาติ ด้วยเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์ใบพัด P-51D”Mustang”จากสหรัฐฯและเครื่องบินขับไล่เครื่องยนต์เจ็ต de Havilland “Vampire” จากอังกฤษ

กองทัพอากาศสวีเดนจัดหาเครื่องบินนำเข้าเร่งด่วนไป พร้อมกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบินของตน SAAB J29”Tunnan”คือเครื่องบินขับไล่เจ็ตของสวีเดนที่เผยโฉมในปี 1950 เป็นเครื่องบินขับไล่แบบที่สองต่อจาก SAAB 21R เครื่องบินเจ็ตขับไล่ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบเจ็ต เดอ ฮาวิลแลนด์ ก็อบลิน 3 ของอังกฤษที่พัฒนาแผนแบบมาจาก SAAB 21 เครื่องบินใบพัดเดี่ยวท้ายเครื่อง ทั้งหมดนี้พัฒนาและผลิตในสวีเดน ใบพัดท้ายของรุ่นนี้เอื้ออำนวยให้ติดตั้งอาวุธได้เหมาะสมกับการใช้งานที่หัวเครื่อง แต่ข้อเสียคือนักบินจะถูกดูดเข้าใบพัดท้ายได้ง่ายขณะปีนจากที่นั่งเมื่อจะสละเครื่อง จึงเป็นแนวคิดให้สร้าง SAAB21 แบบเจ็ตและที่นั่งดีดตัวในเวลาต่อมา

21R บินครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 1947 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบแล้ว 2 ปี เข้าประจำการในเดือนสิงหาคม 1950 ด้วยวัตถุประสงค์เดิมคือให้เป็นเครื่องบินขับไล่ แต่หลังจากมันเผยโฉมได้เพียงปีเดียว SAAB J29 ก็ถูกเข็นออกมาอีกในเดือนตุลาคม 1948 ด้วยจำนวนที่ลดจากแผนเดิม 120 เหลือเพียง 60 เครื่อง 21R จึงถูกเปลี่ยนบทบาทไปเป็นเครื่องบินโจมตีสนับสนุนการรบภาคพื้นดินแทนด้วยรหัส A 21 RA

ความน่าสนใจของ SAAB J29 คือเป็นผลผลิตจากความต้องการกองทัพอากาศเทคโนโลยีสูง เน้นคุณภาพแต่ไม่เน้นปริมาณของสวีเดน โครงการ”JxR”เพื่อการนี้เริ่มขึ้นในช่วงปลายปี 1945 ระหว่างสถานการณ์ในยุโรปเริ่มสงบจากความพ่ายแพ้ของเยอรมัน เครื่องบิน 2 แบบที่เสนอกองทัพเบื้องแรกเกิดจากความคิดของทีมวิศวกรอากาศยานนำโดยลาร์ส บริซิ่ง แบบแรกมีรหัสว่า R101 ลำตัวยาวและป่องคล้ายซิการ์ราวฝาแฝดกับ P-80 Shooting Star ของสหรัฐฯ แต่ผู้ชนะการคัดเลือกกลับกลายเป็น R1001 ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าเร็วและคล่องตัวกว่า

ต้นแบบของJ 29 คือ R1001 เดิมถูกออกแบบให้ปีกตรง แต่หลังจากวิศวกรสวีเดนได้เข้าถึงข้อมูลการวิจัยเรื่องปีกลู่(sweep-wing)จากเยอรมันเมื่อครั้งสร้างเครื่องบินขับไล่เจ็ตที่นั่งเดี่ยวต้นแบบ Messerschmidt Me P.1101(ต้นแบบที่ถูกดัดแปลงมาเป็น Bell X-5 เครื่องบินทดสอบของสหรัฐฯและใช้รูปแบบเดียวกันในเครื่องบินรุ่นหลังคือ F-111และ F14 Tomcat) ในโครงการเครื่องบินขับไล่เจ็ตเร่งด่วนปลายสงครามโลกครั้งที่ 2

SAAB พบว่าปีกลู่ช่วยเพิ่มพื้นที่ยกตัวมากขึ้น จึงปรับแผนแบบใหม่ให้เครื่องบินของตนปีกลู่แบบเดียวกันด้วยมุม 25 องศา สวีเดนจะได้ข้อมูลมาอย่างไรโดยไม่ได้รบกับเยอรมันยังเป็นความลับ เพราะเอกสารการวิจัยเดิมของเยอรมันตกอยู่ในมือรัสเซียและอเมริกัน

เมื่อวิจัยและพัฒนาเสร็จ SAAB J29 เครื่องต้นแบบเริ่มบินครั้งแรกเมื่อ 1 กันยายน 1948 ด้วยลักษณะสำคัญคือปีกลู่,ที่นั่งเดี่ยวมีช่องintake(ช่องดูดอากาศเข้า)เดี่ยวใต้ที่นั่งนักบิน เช่นเดียวกับเครื่องบินเจ็ตรุ่นแรกๆหลังสงครามฯ คือ F84 ของสหรัฐฯและ Mig-15 ของโซเวียตรัสเซีย นักบินทดสอบคือโรเบิร์ต เอ.”บ็อบ”มัวร์ซึ่งต่อมาได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของ SAAB GB จำกัดแห่งอังกฤษที่ก่อตั้งในปี 1960 มัวร์พูดถึงเครื่องบินสัญชาติสวีเดนแบบนี้ว่า”มันดูขี้เหร่มากเมื่อจอด แต่ปราดเปรียวเหลือเชื่อในอากาศ” เพราะรูปร่างตลกๆเหมือนถังไม้โอ๊คนี้เอง J29 จึงมีชื่อเล่นว่า”ถังไม้ติดปีก”(Flygande Tunnan ในภาษาสวีดิช)
“ถังไม้ติดปีก”ถูกผลิตออกมารวม 661 เครื่องระหว่างปี 1950-1956 เป็นเครื่องบินรบที่ผลิตมากที่สุดของ SAAB

นอกจาก J29 จะเป็นเครื่องบินรบปีกลู่แบบแรกของ SAAB ที่ทั้งเร็ว,ทัศนวิสัยยอดเยี่ยมและคล่องตัวสูง มันยังสร้างสถิติโลกด้วยในปี 1954 บินเร็วที่สุดในโลกด้วยความเร็ว 977 ก.ม./ช.ม.ในพื้นที่ทดสอบเป็นวงรอบยาว 500 ก.ม. ก่อนจะถูก F-86 Sabre เครื่องบินขับไล่/สกัดกั้นของสหรัฐฯโค่น ด้วย SAAB J29 เป็นส่วนใหญ่นี้เอง กองทัพอากาศสวีเดนจึงครองสถิติกองทัพอากาศที่ทรงเวหานุภาพอันดับ 4 ของโลกในช่วงเวลาสั้นๆของทศวรรษ 1950

ด้วยประชากรไม่ถึง 10 ล้านและใช้เครื่องบินผลิตในประเทศล้วนๆ สวีเดนทำได้อย่างไร!

J 29 ความปลอดภัยสูงตามมาตรฐานยุโรป แม้จะเป็นเจ็ตขับไล่รุ่นแรกแต่สถิติตกนั้นน้อยมาก อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากนักบินผู้ไม่คุ้นเคยกับเครื่องบินความเร็วสูงปีกลู่ มันถูกใช้ในภารกิจขับไล่จนถึงปี 1965 ก่อนถูกปลดแล้วเปลี่ยนหน้าที่มาเป็นเป้าลวงแบบลากจนถึงปี 1974 บินแสดงครั้งล่าสุดเมื่อสิงหาคมปี 1976 ในงานแอร์โชว์ฉลองครบรอบ 50 แห่งการก่อตั้งกองทัพอากาศสวีเดน

SAAB J29 คือตัวจักรสำคัญในการพัฒนากองทัพอากาศสวีเดน ผลพวงจากการพัฒนาอากาศยานและสงครามเย็นทำให้กองทัพอากาศสวีเดนต้องเร่งพัฒนาทั้งเครื่องบิน กำลังพลและวางยุทธศาสตร์ให้เหมาะสมกับภูมิประเทศที่ตั้งประจันหน้ากับกลุ่มประเทศกติกาสัญญาวอร์ซอว์ ด้วยแนวความคิดที่ได้จากเยอรมนีในช่วงนั้นทำให้ต้องพัฒนาทั้งอากาศยานและระบบสาธารณูปโภคให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะถนนสายหลักที่จะกลายเป็นรันเวย์ยามสงคราม

ฐานทัพอากาศถูกสร้างเพิ่มเติมพร้อมกับถนนหลวงที่ต้องใช้งานได้สองวัตถุประสงค์ คือเพื่อสัญจรแต่ขณะเดียวกันต้องให้เครื่องบินรบร่อนลงได้พร้อมวางจุดส่งกำลังบำรุงซ่อนพรางไว้ตามภูมิประเทศ เมื่อความเป็นกลางไร้ความหมาย ประเทศถูกรุกราน ฐานบินถูกทิ้งระเบิด ทางเลือกคือต้องจอดบนถนนให้ได้ เครื่องบินขับไล่ของสวีเดนยุคสงครามเย็นและหลังจากนั้นจึงถูกสร้างขึ้นด้วยหลักนิยมที่สอดคล้องกันคือ
• เล็ก,ความคล่องตัวสูง
• ใช้ระยะทางวิ่งขึ้นและร่อนลงสั้น
• ปฏิบัติงานเป็นเครือข่ายด้วยระบบส่งผ่านข้อมูลทันสมัย แจ้งเตือนล่วงหน้าได้รวดเร็ว
• ค่าใช้จ่ายต่ำ ปรนนิบัติบำรุงด้วยบุคลากรจำนวนน้อย
• ผลิตและซ่อมแซมได้ภายในประเทศ


ระหว่างสงครามเย็นงบประมาณกลาโหมของสวีเดน(ซึ่งส่วนหนึ่งถูกกันไว้เพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์) ถูกดึงมาพัฒนากองทัพอากาศและอากาศยานภายในประเทศ จนครองอันดับกองทัพอากาศทรงอานุภาพดังกล่าว ช่วงทศวรรษ 1950 นี้เช่นกันที่สวีเดนโดยเฉพาะ SAAB ได้ผลิตเครื่องบินขับไล่ดีๆออกมาใช้มากมาย ทั้ง SAAB J29 Tunnan,SAAB A32 Lansen,SAAB J35 Draken

การบอกเล่าเรื่องของกองทัพอากาศสวีเดนจะสมบูรณ์ไม่ได้หากไม่พูดถึง SAAB(ซาบ) บริษัทผลิตอากาศยานแห่งชาติที่เติบโตมาพร้อมกับกองทัพอากาศ และผลิตเครื่องบินป้อนกองทัพมาตลอด

ในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์และอากาศยานของยุโรป เป็นที่ทราบกันดีว่าSAABนั้นไม่เป็นรองใคร บริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1937 ในชื่อเต็มว่าSvenska aeroplanaktiebolaget" (บริษัทอากาศยานแห่งสวีเดน จำกัด) ตั้งได้ 2 ปีก็เข้าร่วมกิจการกับบริษัท ASJA มีสำนักงานใหญ่ในเมืองลินเคอปิง หลังจากเปลี่ยนผู้ดำเนินกิจการในช่วงทศวรรษ 1990 ซาบได้ชื่อใหม่เป็น SAAB AB

ด้วยชื่อเสียงของบริษัทที่เน้นอากาศยาน ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของ SAABจึงเป็นเครื่องบินและชิ้นส่วนอุปกรณ์เกี่ยวกับอากาศยาน แต่ก็ผลิตรถยนต์จำหน่ายด้วยแบรนด์เดียวกัน มีรถยนต์แบรนด์ SAAB วิ่งอยู่ในถนนบ้านเราจำนวนหนึ่ง คุณภาพของมันเป็นไปตามมาตรฐานยุโรป คือแกร่ง ทน ดูดีมีสง่า ไม่เพียงแต่รถยนต์นั่งส่วนบุคคล ซาบยังควบรวมกิจการกับบริษัทผู้ผลิตรถบรรทุก Scania-Vabisในปีค.ศ.1969 ระหว่างนั้นจนถึงค.ศ. 1995 ก็เปลี่ยนชื่อเป็น SAAB-Scania AB แต่เจเนอรัล มอเตอร์สบริษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯได้เข้ามาถือหุ้นถึง 51 เปอร์เซ็นต์ในแผนกยานยนต์ตั้งแต่ ค.ศ. 1990 แล้ว และซื้อหุ้นส่วนที่เหลือทั้งหมดในอีกสิบปีถัดมา

แล้วเครื่องบินล่ะ SAABมีผลงานอะไรเข้าตากรรมการบ้าง? ถ้าติดตามข่าวอุตสาหกรรมอากาศยานบ่อยๆก็จะทราบว่าเครื่องบินขับไล่ SAAB 32 Lansen(ลันเซน,หลาว)คือเครื่องบินโจมตีสองที่นั่งที่SAABผลิตให้กองทัพอากาศสวีเดนตั้งแต่ค.ศ. 1955 ถึง 1960 ตัวถัดมาคือSAAB 35 Draken(ดราเคน,Dragon,มังกร) เครื่องบินรบทันสมัยในช่วงนั้นที่เข้ามาทดแทน SAAB J 29 Tunnan(ทุนนัน ถังไม้ติดปีก)

ในช่วงสงครามเย็น ”ดราเคน”เป็นเครื่องบินรบความเร็วเหนือเสียงส่งออกที่ประสบความสำเร็จมากของสวีเดน แม้ปัจจุบันมันจะถูกปลดประจำการไปแล้ว แต่ดราเคนก็ยังเป็นต้นแบบให้ SAAB พัฒนาเครื่องบินขับไล่รุ่นต่อมา

เครื่องบินขับไล่เจ็ตเด่นๆของSAABนอกจากลันเซน,ดราเคนแล้วต่อไปคืออะไร? SAAB JA 37 Viggen(วิกเกน,Thunderbolt,สายฟ้า)คือคำตอบ มันเป็นเครื่องบินขับไล่ที่นั่งเดี่ยวพิสัยใกล้และปานกลาง เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของสวีเดนอันคล้ายคลึงกับไทยคือเน้นการป้องกัน จึงไม่ต้องการเครื่องบินขับไล่พิสัยไกล “วิกเกน”ทำได้ทั้งการครองอากาศ โจมตีภาคพื้นดิน จะให้บินลาดตระเวนถ่ายรูปหรือใช้เป็นเครื่องบินฝึกเปลี่ยนแบบ 2 ที่นั่งก็ยังได้

วิกเกนรับใช้สวีเดนอยู่ระหว่างค.ศ.1970 ถึง 1990 เป็นยี่สิบปีที่มันสร้างชื่อไว้มากจากนวัตกรรมด้านอากาศยาน มีปีกเล็กหรือ”แคนาร์ด”(Canard)เหมือนกริปเปนเพื่อช่วยการลดระยะการตีวงเลี้ยว ช่วยให้ได้เปรียบข้าศึกในยุทธเวหาระยะประชิด(dogfight) สมรรถนะอันโดดเด่นของปีกเล็กหัวเครื่องบินจาก SAABได้กลายเป็น”เทรนด์”ของเครื่องบินขับไล่ค่ายยุโรปไปแล้วนับแต่นั้น ยูโรไฟเตอร์ก็มีปีกเล็ก แม้เครื่องบินขับไล่ประจำชาติของอิสราเอลคือ”Kfir”(คฟีร์)ก็มีปีกชนิดนี้ด้วย

เท่าที่ได้เรียบเรียงมานี้คือความเป็นมาอย่างสังเขปของกองทัพอากาศสวีเดน เครื่องบินรบและบริษัท SAAB ผู้ผลิตที่ส่งมอบเครื่องบินสมรรถนะสูงให้กองทัพอากาศสวีเดนมาอย่างสม่ำเสมอ เครื่องบินรบก่อนหน้า JAS39 ยังไม่ถูกส่งออกหรือส่งออกน้อย ไม่ใช่ระบบอาวุธของสวีเดนไม่ดีหรือราคาแพงแต่เขาเน้นความพอเพียง สร้างเครื่องบินไว้พอใช้ป้องกันชาติ

ถ้าจะถามว่ายุทโธปกรณ์ของเขาทำไมเป็นที่รู้จักน้อยกว่าของอเมริกา ต้องดูกันถึงรายละเอียด ปืนใหญ่และปืนกลหนักโบฟอร์ส(Bofors ก่อตั้งเมื่อปี 1873 )ที่ติดตั้งบนเรือรบใหญ่น้อยทั่วโลกผลิตจากสวีเดน ระบบโทรคมนาคมทั้งทางทหารและพลเรือนแบรนด์อีริกสัน(Ericsson ก่อตั้งเมื่อปี 1876)ที่เราคุ้นเคยก็ของสวีเดน เป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าทางยุโรปนั้นเก่งงานแต่ไม่เก่งเรื่องการตลาด สินค้าจากยุโรปส่วนใหญ่คุณภาพสูงพอๆกับราคา แต่ซื้อไว้แล้วก็ใช้กันจนลืม

สวีเดนอาจไม่มีชื่อเสียงเด่นดังด้านอาวุธเป็นชิ้นใหญ่ๆ แต่ระบบการทำงานที่ดีของมันล้วนมาจากประเทศนี้ รวมถึงประเทศกลุ่มสแกนดิเนเวียเช่นฟินแลนด์,เดนมาร์กและนอร์เวย์

ถ้าศึกษาสภาพภูมิศาสตร์สวีเดนให้ดีจะพบว่านี่คือชาติยุโรปที่เล็ก ประชากรกระจายกันอยู่ทั่วประเทศอย่างหลวมๆ จำนวนชาวสวีดิชที่สำมโนประชากรในเดือนเมษายนปี 2007นี้คือ 9 ล้านกว่าคน เป็น 9 ล้านกว่าที่แน่นไปด้วยคุณภาพ กองทัพเคยมีทหารทั้งหมด 1 ล้านนายในช่วงสงครามเย็นแล้วลดลงเหลือเพียง 6 หมื่นในปัจจุบัน เป็น 6 หมื่นที่เพียงพอจากการป้องกันประเทศ คล่องตัวจากเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นเองและปรับปรุงต่อเนื่องให้ทันสมัยเสมอ โดยเฉพาะเทคโนโลยีสื่อสารแบบเครือข่าย

กล่าวถึงกองทัพอากาศสวีเดนและเครื่องบินแบบต่างๆจาก SAAB แล้ว ก็ต้องพูดถึง JAS39 Gripen (ยาส 39 กริปเปน)ที่กำลังจะประจำการในบ้านเรา มันได้ชื่อนี้มาจากชื่อย่อของภารกิจในภาษาสวีดิช โดย J คือ Jakt หรือการครองอากาศ A คือ Attack หรือโจมตีต่อเป้าหมายภาคพื้นดิน ตัวสุดท้ายคือ S ก็คือ Spaning หรือการลาดตระเวน ตัวเลข 39 คือเครื่องบินลำดับ39ที่เข้าประจำการในกองทัพอากาศประเทศสวีเดน

แล้ว Gripen ล่ะมาจากไหน? ที่มาคือชื่อของสัตว์ในเทพนิยายยุโรปโบราณ ตัว Griffin(กริฟฟิน)หรือ Griphon(กริฟอน) ในภาษาอังกฤษเป็นสัตว์ครึ่งนกครึ่งสิงโต ตัวเป็นสิงโตแต่มีหน้าตาและปีกเหมือนนกอินทรี งามสง่าและทรงอำนาจ เป็นสัญลักษณ์ของพลังเหนือธรรมชาติ กริปเปนคือตราแผ่นดินประจำจังหวัดโอสเตอร์โกตลันด์ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่บริษัทSAAB(เมืองลินเคอปิงในจังหวัดนั้น)
เปรียบลักษณะของตัว”กริปเปน”กับเครื่องบินขับไล่ ก็คือเครื่องบินรบทวิภารกิจ(multi role aircraft)แบบเดียวกับ F16 พร้อมจะสร้างความวายวอดให้เป้าหมาสยได้ด้วยเขี้ยวเล็บและพละกำลังอันมหาศาลดุจสิงโตติดปีก

ในการออกแบบกริปเปน SAAB ได้แผนแบบไว้มากเพื่อคัดเลือก ในที่สุดก็มาจบที่แบบมีปีกเล็กเพื่อช่วยในการเลี้ยวกลางอากาศ ช่วยยกตัวและเบรกขณะกำลังแล่นขึ้นและร่อนลงเพื่อกินระยะทางน้อยที่สุด ประกอบกับชุดเบรกอัตโนมัติที่จะคำนวณน้ำหนักการกดของผ้าเบรกให้พอดีและปลอดภัย

นอกจากปีกใหญ่และเล็กที่ช่วยด้านการบิน/แล่นขึ้น/ลงจอด ระบบอีเลคทรอนิกส์อากาศยาน(avionics)รูปแบบใหม่ยังช่วยทำให้มันกลายเป็นอากาศยาน”สั่งได้”(programmable) ห้องนักบินถูกสร้างขึ้นตามแนวคิด”ไม่ต้องการ ไม่แสดง” ข้อมูลแสดงเป็นภาพบนจอหน้าที่นั่งนักบิน ลดการติดต่อสื่อสารด้วยวิทยุอันก่อให้เกิดการแผ่คลื่นวิทยุตรวจจับได้ง่าย ลดความเครียดของนักบินในการจดจำข้อมูลมากมาย มาเหลือแค่ภาพปรากฏด้านหน้าซึ่งมีทุกสิ่งที่ต้องการหมด
นักบินจึงมุ่งปฏิบัติภารกิจและเอาตัวรอดในสภาพสู้รบโดยไม่ต้องพะวงกับข้อมูลมากมายที่รายงานเข้าสู่เครื่องตลอดเวลา กระบวนการลดภาระของนักบินช่วยให้หยั่งรู้เท่าทันสถานการณ์(situation awareness) มีเวลาเพิ่มสำหรับการตัดสินใจทางยุทธวิธี บังคับเครื่องบินและใช้ระบบอาวุธได้เต็มประสิทธิภาพ


กริปเปนบังคับการบินแบบ Fly-by-Wire พื้นบังคับทุกชิ้นถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เช่นเดียวกับเครื่องบินรบชั้นนำของโลก(F16,F18,F22 ฯลฯ) ถึงจะควบคุมด้วยระบบดิจิตอล 3 แชนเนล ก็ยังมีระบบสนับสนุนอนาล็อกพร้อมไว้หากดิจิตอลชำรุด ทำงานแทนกันได้โดยอัตโนมัติ เป็นเครื่องบินที่ถูกออกแบบมาเพื่อทำสงครามอีเลคทรอนิกส์ด้วยอุปกรณ์ ECM (Electronic Counter Measure)เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน พร้อมเรดาร์ระยะไกล Ericsson PS-50/A แบบ X-band ให้ภาพคมชัดพร้อมระบบต่อต้านการทำสงครามอีเลคทรอนิกส์ ECCM(Electronic Counter- Counter Measure) ตรวจจับได้ทั้งเป้าหมายภาคพื้นดินและผิวน้ำ ใช้สั่งการจรวดนำวิถีพิสัยกลางที่กองทัพอากาศไทยมีแล้วคือ AMRAAM ได้

ความต้องการขยายตลาดยุทโธปกรณ์ทำให้ SAAB ต้องหาทางลดราคาเครื่องและค่าบำรุงรักษาให้ต่ำลง แต่ยังต้องคงมาตรฐานไว้ให้ได้เพื่อสู้กับการแข่งขันในตลาดซึ่งอเมริกาครองอยู่ หนทางหนึ่งคือให้กริปเปนเป็นเครื่องบินขับไล่เอนกประสงค์ และมีค่าใช้จ่ายปฏิบัติการต่ำกว่าแบบก่อนๆ ค่าใช้จ่ายของกริปเปนมีเพียง 2 ใน 3 ของ JA 37 Viggen เทียบกับ F16 แล้วยิ่งถูกกว่า

ตามสเปค JAS39 ถูกกำหนดให้ขึ้นและลงได้จากรันเวย์กว้างเพียง 9 เมตรยาว 800 เมตร SAAB แก้ปัญหาระยะทางด้วยการขยายขนาดแอร์เบรก(air brake) ใช้พื้นบังคับทั้งหมดเพื่อกดเครื่องบิน ช่วยให้เบรกล้อกดพื้นสนิทจากการกดปีกเล็กลง จนทำหน้าที่เหมือนแอร์เบรกเพื่อหยุดเครื่องบินด้วยระยะสั้นกว่าเครื่องบินขับไล่ทั่วไป

การนำเครื่องขึ้นและลงบนถนนหลวงได้นั้นคือจุดเด่นของกริปเปน อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ของสวีเดน เมื่ออยู่บนพื้นแล้วมันก็สามารถติดอาวุธพร้อมเติมเชื้อเพลิงได้ด้วยเจ้าหน้าที่เพียง 5 นายและรถเพียง 2 คัน(เชื้อเพลิงและอาวุธอย่างละคัน) ไม่ต้องใช้รถยกอาวุธหรืออุปกรณ์พิเศษเพราะอุปกรณ์ติดตั้งมีอยู่แล้วกับเครื่องบิน กระบวนการทั้งติดอาวุธและเติมน้ำมันใช้เวลาเพียง 10 นาทีก่อนขึ้นบินจากตรงนั้น

ด้วยเครื่องยนต์ Volvo Aero RM12 เพียงตัวเดียวที่พัฒนามาจากเครื่องยนต์ของเจเนอรัล อีเลคทริก GE F404 (เครื่องยนต์เดียวกับ F/A18 Hornet ที่ใช้ 2 เครื่อง แต่ปรับเปลี่ยนใบพัด,สันดาปท้าย,ท่อท้ายและอุปกรณ์ปลีกย่อยอื่นๆ ให้เหมาะสมกับเครื่องบินเครื่องยนต์เดียวเช่นกริปเปน) กำลังขับของมันสูงพอที่จะยกทั้งเครื่องบินและอาวุธจากพื้นได้สบายๆ

ระบบอาวุธของกริปเปนตอบสนองได้กว้าง ทั้งจากสหรัฐฯยุโรปและอิสราเอล ปืนใหญ่อากาศใช้กระสุน 27 ม.ม.ของเมาเซอร์(Mauser)จากเยอรมนีควบคุมด้วยเรดาร์ ที่น่าสังเกตคือปืนใหญ่อากาศสหรัฐฯใช้กระสุนเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 ม.ม. รัสเซียใช้ 30 ม.ม. แต่สวีเดนเลือกอยู่ตรงกลางด้วยประสิทธิภาพสูงสุดคือ 27 ม.ม. และเลือกใช้ปืนจากเยอรมนี !

กริปเปนเลือกใช้อาวุธนำวิถีอากาศสู่อากาศได้ทั้ง Rb 74 หรือ AIM-9L ใต้ปีกติดตั้งจรวดนำวิถีอากาศสู่อากาศพิสัยไกล้ได้เช่น Rb74 และ MICA จนถึง AIM-120AMRAAM,Maverick,DWS 39 ติดตั้ง Rbs-15 เพื่อใช้โจมตีเรือผิวน้ำก็ได้ ระยะยิงคือ 48 ไมล์ทะเลหรือ 90 ก.ม.(ประมาณกรุงเทพฯ-ชลบุรี) ระบบอาวุธดังกล่าวนี้ส่วนใหญ่กองทัพอากาศไทยมีอยู่แล้ว เท่าที่กล่าวนี้คือบางส่วนของระบบอาวุธที่ใช้กับกริปเปนได้

ยิ่งเทคโนโลยีทันสมัยการทำสงครามยิ่งต้องเร็วขึ้น นักบินที่จะอยู่รอดได้ต้องเข้าสู่กระบวนการทั้ง 4 อย่างรวดเร็วคือ Observe,Orientation,Decide และ Action(รวมเรียกวงรอบแห่งกระบวนการนี้ว่า OODA Loop) ตามแนวความคิดของนาวาอากาศเอกจอห์น บอยด์แห่งสหรัฐฯ ผู้วางทฤษฎีพื้นฐานไว้ว่านักบินที่มองเห็นเป้าได้ก่อน ปรับตัว-ตัดสินใจและใช้อาวุธได้เร็วกว่าย่อมอยู่รอด เครื่องบินขับไล่ยุคปัจจุบันจึงพยายามทุกวิถีทาง เอื้อให้นักบินดำเนินกระบวนการดังกล่าวเร็วที่สุดเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ นอกจากสภาพเครื่องบินที่ต้องออกแบบให้ความคล่องตัวสูง ยังต้องมีเครือข่ายการติดต่อสื่อสารเข้ามาสนับสนุน เพื่อสิ่งนี้และประสิทธิภาพในการบัญชาการและควบคุม(Command and Control) รวมทั้งการประสานงานทั้งสี่เหล่า(บก-เรือ-อากาศ-นาวิกฯ)ในกรณีรบร่วม
การจะให้เครื่องบินจำนวนน้อยสามารถประสานงานกันเองและเหล่าอื่น ทำงานเป็นทีมเสมือนมีกำลังมากต้องใช้ระบบการสื่อสารและส่งผ่านข้อมูลทรงประสิทธิภาพ การมาของกริปเปนไม่ได้มาแค่เครื่องบิน 12 ลำและระบบอาวุธ แต่สิ่งที่ติดมาด้วยคือสถานีเครือข่าย 3 สถานีที่จะเชื่อมสัญญาณเข้ากับเครือข่ายเดิม(Link11)ของกองทัพไทย เทคโนโลยีนี้คือการเชื่อมต่อระบบเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆได้ทันเวลาจริง(Real Time) ให้แต่ละหน่วยหยั่งรู้เท่าทันสถานการณ์เพื่อให้ปฏิบัติการร่วมสัมฤทธิ์ผล ทั้งหมดรวมเป็น Tactical information Data-link System รับส่งข้อมูลได้ไกล 496 ก.ม. ทั้ง 3 สถานีของกริปเปนรุ่น CและDเชื่อมต่อสัญญาณได้กับเครือข่ายเดิมของไทย และยังรองรับ Link 16 ของนาโตได้ด้วย

ด้วยระบบนี้เครื่องบินจะทำหน้าที่ทั้งตัวรับและแพร่สัญญาณอีกทางหนึ่ง มันรับสัญญาณได้ระหว่างอยู่ในรัศมี และสามารถส่งสัญญาณเข้ามายังสถานีได้เมื่ออยู่บริเวณขอบ เท่ากับเป็นตัวเพิ่มระยะกวาดจับให้สถานีไปด้วย โดยจะรับข้อมูลจากหน่วยบัญชาการและควบคุมตามนี้คือ
- ข้อมูลตำแหน่งอากาศยานและหน่วยภาคพื้นดินฝ่ายเดียวกัน
- ข้อมูลเป้าหมายทางอากาศและภาคพื้นดินของข้าศึก
- ข้อมูลสั่งการหรือเปลี่ยนแปลงภารกิจของอากาศยานเครื่องนั้น


เครื่องบินจึงเปิดเรดาร์เพียงเครื่องเดียวเพื่อลดการแพร่คลื่นให้ถูกตรวจจับ ส่งข้อมูลได้ระหว่างเครื่องบินด้วยกันหรือจากหน่วยภาคพื้นดิน หรือกับเครื่องบินควบคุมและแจ้งเตือนในอากาศก็ได้ ทั้งหมดจะรวมกันปรากฏบนจอภาพในห้องนักบิน ด้วยเรดาร์นี้เช่นกันที่จะกวาดจับเป้าแล้วจัดลำดับความสำคัญของเป้าให้กับนักบินในฝูงเพื่อแยกกันต่อตี เข้าสู่กระบวนการOODA Loopเร็วที่สุด การใช้เรดาร์เพียงเครื่องเดียวนอกจากจะลดการแพร่สัญญาณ อุปกรณ์ของเครื่องบินที่เหลือยังสามารถส่งสัญญาณรบกวนเครื่องบินข้าศึกได้ด้วยระหว่างเครื่องบินในฝูงเข้าต่อตีเป้าหมาย

พูดถึงตัวกริปเปน C และ D ทั้ง12 เครื่องพร้อมระบบอาวุธแล้ว ในแพคเกจจากสวีเดนนั้นเราจะได้อะไรบ้าง ที่ได้แน่ๆก็คือ
- สถานี Tactical Information Data-Link 3 สถานี
- ระบบควบคุมและแจ้งเตือนในอากาศ(Airborne Early Warning and Control System) ประกอบด้วยเครื่องบิน SAAB 340 ติดตั้งเรดาร์ Erieye 2 ลำ
- เครื่องบิน SAAB 340 เพื่อใช้ฝึกนักบิน พร้อมดัดแปลงเป็นเครื่องบินทำฝนเทียม 1 ลำ
- ดัดแปลงเครื่องบินลำเลียง C-130 เป็นเครื่องบินเติมน้ำมันกลางอากาศ เพื่อเพิ่มพิสัยบินของกริปเปน
- เชื่อมต่อระบบควบคุมและแจ้งเตือนการป้องกันภัยทางอากาศ(RTADS)ของไทย
โดยเฉพาะระบบแจ้งเตือนในอากาศที่ใช้เครื่องบิน SAAB 340 นั้นถือว่าเป็นของที่อยากได้มานาน รอจัดซื้ออย่างเดียวก็ยังไม่เห็นอนาคต ได้มาพร้อมกับกริปเปนจึงถือว่าเป็นจังหวะที่ดีมากๆ สถานีแจ้งเตือนการป้องกันภัยทางอากาศอาจจะสนองความต้องการได้ในระดับหนึ่ง แต่การมีเครื่องบินแจ้งเตือนจะลดปัญหาได้มากโดยเฉพาะกรณีที่ฝ่ายตรงข้ามบินเกาะภูมิประเทศหลบเรดาร์ การกวาดจับจากเบื้องบนจะลดโอกาสหลุดรอดสัญญาณภาคพื้นดินได้เกือบหมด


ตามข้อมูลระบุว่า Erieye(อีรีอาย) บน SAAB340 เป็นเรดาร์ระบบ Active Phased-Array Pulse-doppler ใหม่กว่าและแม่นกว่าที่ใช้ใน E-2C Hawkeye ของสหรัฐฯ รัศมีใกล้กว่าก็จริงแต่ก็เหมาะสมกับประเทศเล็กๆอย่างไทย ติดตั้งบนเครื่องบินลำเลียงได้หลายแบบไม่จำเป็นต้องใช้ SAAB รัศมีการตรวจจับคือ 450 ก.ม.รอบทิศทาง 360 องศา ในสถานการณ์สงครามอีเลคทรอนิกส์จะลดเหลือ 350 ก.ม. ตรวจสอบเป้าหมายได้ว่าเป็นมิตรหรือศัตรู ตรวจจับได้ทั้งเป้าหมายในทะเลและบนบก ปฏิบัติการและต่อต้านสงครามอีเลคทรอนิกส์ได้ ติดต่อสื่อสารและส่งผ่านข้อมูลผ่าน Data Link รวมทั้งมีระบบป้องกันตนเองและทำงานร่วมกับระบบบัญชาการและควบคุมของนาโตได้

อีกอย่างที่ไม่คิดว่าจะได้ก็คือการดัดแปลงเครื่องบินลำเลียง C-130 ให้เติมน้ำมันกลางอากาศได้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มพิสัยบินของเครื่องบินลาดตระเวนออกไปอีก ช่วยให้บินได้นานขึ้นโดยไม่ต้องเสียเวลากลับมาเติมน้ำมันที่ฐานบินเหมือนแต่ก่อนเมื่อรับภารกิจต่อเนื่อง

นอกจากตัวเครื่องบินและระบบต่างๆที่มาพร้อมกัน สิ่งสำคัญที่สุดที่เราไม่เคยได้จากอเมริกาเลยก็คือ Source Code Data เทคโนโลยีสำคัญที่อเมริกาเหนียว ไม่ยอมถ่ายทอด ติดเงื่อนไขหยุมหยิมมากมาย อธิบายให้เข้าใจง่ายที่สุดสำหรับบุคคลทั่วไปได้ว่าเป็นซอฟต์แวร์ชนิดหนึ่ง ถ้าเครื่องบินเป็นคอมพิวเตอร์ Source Code Data ก็เป็นเสมือนระบบปฏิบัติการหรือวินโดว์ส เป็นพื้นฐานให้เราอัพเกรดหรือใส่แอพพลิเคชั่นอะไรลงไปก็ได้ แต่ปัญหาใหญ่สำหรับเครื่องบินอเมริกันที่ใช้อยู่ตอนนี้ก็คือเราไม่มี”วินโดว์ส”ของตัวเอง อยากจะติดตั้งอาวุธอะไรใหม่ให้กับF16ก็ต้องขอ Source Code Data จากอเมริกา ยกตัวอย่างเช่นถ้าจะติดอาวุธของอเมริกันเพิ่มก็ต้องทำเรื่องขอไปยังบริษัทผู้ผลิต คนมากมายจะเข้ามาร่วมพิจารณาว่าจะขายอาวุธชิ้นนี้พร้อม Source Code Data ทั้งจากบริษัทผู้ผลิต,รัฐสภา,กระทรวงกลาโหม(เพนทากอน) เพื่อดูว่าสถานภาพของไทยตอนนี้ควรจะติดอาวุธชนิดนี้ได้กี่ชิ้น? ซื้อแล้วจะเอาไปเก็บไว้ที่ไหน? จำเป็นแค่ไหนที่จะซื้อ? ซื้อแล้วจะเอาไปยิงใคร?

ขั้นตอนยังยุ่งยากรุงรังขึ้นไปอีกถ้าอาวุธที่หามาได้ไม่ใช่ของอเมริกา(เรียกว่า Third Party) เพราะเพนทากอนต้องการตรวจสอบ รวมทั้งไทยต้องทำเรื่องขอ Source Code Data ของเครื่องบินลำนี้มาเพื่อติดตั้งอาวุธต่างชาติ ยุ่งหนักกว่าเก่าเพราะต้องตรวจสอบทั้งรัฐสภาสหรัฐฯ เพนทากอน บริษัทผู้ผลิตเครื่องบิน(ที่เป็นอเมริกัน) บริษัทผู้ผลิตอาวุธ(ที่ไม่ใช่อเมริกัน)และกองทัพอากาศไทย หากพิจารณาแล้วไม่เหมาะสม(อาจเป็นภัยกับสหรัฐฯในอนาคต) เราก็ไม่ได้ Source Code Data มาติดตั้งให้อาวุธตัวนั้น ไร้ซึ่ง Source Code Data เครื่องบินก็เหมือนเศษเหล็ก หรือมีอาวุธดีๆก็ติดไม่ได้

การไม่มี Source Code Data จึงเสมือนตัดหนทางพัฒนาเทคโนโลยี ทำให้เราต้องพึ่งพาสหรัฐฯตลอดพร้อมกับต้องเสียเงินทุกครั้งเพื่อแลกกับสิ่งนี้
แต่สวีเดนให้ Source Code Data มาพร้อมกับเครื่อง รวมทั้งเงื่อนไขว่าถ้าเราพัฒนาอะไรใหม่ๆได้ เขายินยอมเสียเงินซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำกลับไปพัฒนาเครื่องบินของตัวเอง ! เราจะนำมันไปใช้กับระบบอาวุธใดๆก็ได้ในโลก ไม่ต้องขออนุญาต SAAB รัฐสภาสวีเดนไม่ต้องเข้ามาก้าวก่าย ไม่ต้องตรวจสอบหยุมหยิมอีกมากมาย

ก่อนกองทัพอากาศตกลงปลงใจกับกริปเปนก็มีกระแสว่าต้องการ F16 C/D เพราะเรามี A/Bอยู่แล้วจึงน่าจะได้เครื่องบินตระกูลเดียวกันมาทดแทน แต่ความจริงก็คืออเมริกาให้เราได้แต่ตัวเครื่องไม่มี Source Code Data ติดปลายนวมมาด้วย ไม่มีแพคเกจใดๆ ขอย้ำว่ามีแต่ตัวเครื่องบินจริงๆ ถ้ามีโอกาสเลือกได้เราจะเลือกอะไรระหว่างการได้ของแพงแล้วต้องพึ่งพาเจ้าของแบรนด์ตลอด กับของราคาสูสีแต่มีโอกาสเรียนรู้เพื่อซ่อมแซมและปรับปรุงของให้ดีขึ้นในอนาคตด้วยตัวเอง ยิ่งกว่านั้นเจ้าของแบรนด์ยังพร้อมซื้อลิขสิทธิ์จากเราด้วยถ้าคิดอะไรใหม่ๆได้ !
เครื่องบินอีกแบบที่ทำท่าว่าจะมาแรงเพราะราคาต่อลำเมื่อเทียบกันแล้วถูกกว่าก็คือ SU-30 MK เครื่องบินขับไล่โจมตีขนาดใหญ่ของรัสเซีย ตัวเครื่องราคาถูกนั้นจริง แต่ระบบอาวุธเป็นของรัสเซียได้มาจริงคงสร้างปัญหาอีกมากเหมือนประเทศเพื่อนบ้าน เขาใช้เครื่องบินแบบนี้ น่าอิจฉา แต่ปัญหาอะไหล่ก็มาก ลำใหญ่และกินน้ำมันจุ กว่าจะปลดประจำการต้องเปลี่ยนเครื่องยนต์ถึง 6 เครื่อง เสียเงินทองจำนวนมหาศาล เขาจำต้องใช้เพราะหมายตามองหมู่เกาะสแปรดลีย์และต้องดูแลดินแดนของตัวเองอีกฟากของแหลมมาลายู ต้องบินไกล แต่เราล่ะจำเป็นขนาดนั้นเลยหรือ?

ระบบอาวุธของรัสเซียของ SU-30 ทำให้ต้องซื้อและสร้างทุกอย่างใหม่หมดเพื่อรองรับ ในเมื่อมันสวมกับระบบอาวุธของอเมริกันเดิมที่เราใช้อยู่ไม่ได้ บินได้ไกลจริงแต่ไม่จำเป็นเลยสำหรับยุทธศาสตร์เน้นป้องกันของไทย เราไม่เคยคิดว่าต้องบินไปถล่มกัวลาลัมเปอร์ของมาเลย์หรือเนปิดอของพม่า ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องบินขนาดนั้น

เท่าที่ผมยกมาทั้งหมดนี้ คือความคิดเห็นตามที่ได้ศึกษาข้อมูลทันทีที่ทราบว่ากองทัพอากาศจัดหายุทโธปกรณ์ใหม่ ถึงไม่ได้เป็นนักบินหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับครอบครัวท่านเหล่านั้นที่เสียชีวิตเพราะเครื่องตก แต่ผมไม่สบายใจเลยเมื่อได้ยินข่าวเครื่องบินตกที่นั่นที่นี่ ถึงปัจจัยแห่งการตกจะมีหลายอย่างแต่คนทั่วไปมักจะโทษความ”เก่า”ของเครื่องบินมากกว่าปัจจัยอื่น และความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้ก็คือเครื่องบินรบของเรามันเก่าจริง เก่าจนเลยเวลาปลดประจำการ สมควรจะปลดประจำการแล้ว จะลากใช้มันไปอีกกี่ปีหรือต้องสังเวยชีวิตนักบินที่ใช้งบประมาณมหาศาลสร้างมาอีกกี่คน? ยังไม่นับชีวิตของมนุษย์ที่ประมาณค่ามิได้และอาจต้องเสียไปอีกเพียงเพราะกองทัพปล่อยปละละเลย ด้วยคำตอบง่ายๆคือ”ไม่มีงบ”
ถ้ามีโอกาสในตอนนี้ก็น่าจะจัดหาของใหม่มาใช้ ทั้งเพื่อทดแทนในสมรรถนะสูงกว่าเดิม และเพื่อเป็นพื้นฐานการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพึ่งพาตัวเองต่อไปในอนาคต

ลองคิดดูว่าถ้าคุณเป็นคนทำงานมีรายได้พออยู่เป็นเดือนๆ รถยนต์เก่าหมดสภาพแต่ต้องใช้มันทำมาหากิน ต้องซื้อรถใหม่ จะเลือกอะไรระหว่างแบรนด์ที่ให้คุณแต่ตัวรถ จะติดล้อแม็กใหม่ก็ต้องโทรถามศูนย์อะไหล่ว่าจะขายให้หรือไม่ ขายให้ได้ก็แค่สองล้อเพราะอีกสองล้อยังดูดีอยู่ วิธีซ่อมบำรุงก็ไม่บอกแถมศูนย์บริการก็ไกล เปรียบเทียบกับอีกแบรนด์ที่ยินดีให้คุณทุกอย่าง นอกจากตัวรถคุณภาพดีเท่ากันแล้วยังแถมจักรยานเสือภูเขากับเสือหมอบให้อีกอย่างละคัน แถมคู่มือซ่อมให้อีกเล่มพร้อมซอฟต์แวร์ แล้วยังมาตั้งศูนย์บริการใกล้บ้านอีก
ลองเปรียบเทียบดูนะครับระหว่างเครื่องบินรบกับรถยนต์ แค่นี้ก็น่าจะเห็นภาพ

และที่อยากจะบอกหลังจากทุกท่านอ่านบทความมาถึงตรงนี้ ก็คือผมไม่มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไรกับSAABหรือกริปเปน ถ้าเป็นเครื่องบินรบแบบอื่นที่ดีเหมาะสมกับยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจของเรา ผมก็จะค้นคว้าหาข้อมูลมาบอกเล่าเพื่อความเข้าใจอันถูกต้อง นี่จึงไม่ใช่การเชียร์เพราะชอบหรือเพราะได้รับผลประโยชน์จากใครมา กองทัพอากาศได้ตัดสินใจแล้ว ข้อเขียนของผมจึงสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆมิได้ นอกจากจะให้ความกระจ่างแก่ผู้ข้องใจ สงสัย และต้องการทราบรายละเอียด นั่นคือวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของบทความนี้

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ
สรศักดิ์ สุบงกช แชมป์รายการ”แฟนพันธุ์แท้”หัวข้อ”เครื่องบินรบ”ปี พ.ศ. 2547 พลเรือนคนแรกที่บินกับเครื่องบินขับไล่ความเร็วเหนือเสียง F16 B ขับโดยนาวาอากาศโทระวิน ถนอมสิงห์ ปัจจุบันยึดอาชีพนักเขียนอิสระ เขียนบทความสารคดีและแปลให้กับสำนักพิมพ์และนิตยสารต่างๆ




 

Create Date : 05 มกราคม 2551
7 comments
Last Update : 5 มกราคม 2551 1:36:52 น.
Counter : 10172 Pageviews.

 

คุณพ่อพี่โจ๊กช่ายม๊ะค่ะ

 

โดย: นางน่อยน้อย 5 มกราคม 2551 6:17:06 น.  

 

ใช่เลย

 

โดย: Skyman (Analayo ) 5 มกราคม 2551 8:34:03 น.  

 

มีคนเชื่อสนิทใจด้วยแระพี่

 

โดย: นางน่อยน้อย 5 มกราคม 2551 14:16:55 น.  

 


เชิญชวนค่ะ

... แวะไปร่วมแจม

บอกที่มาของล็อคอินหน่อยนะคะ

....ความเป็นมาเป็นไปของล็อกอินของคุณค่ะ...



คลิก
เพื่อร่วมแจมบอกที่มาของล็อกอินค่ะ



ขอบคุณค่ะ



 

โดย: โสดในซอย 5 มกราคม 2551 16:02:26 น.  

 

มีคนเชื่อสนิทใจด้วยแระพี่

...
...
...

ใครเชื่อง่ะ

 

โดย: Skyman (Analayo ) 5 มกราคม 2551 16:06:53 น.  

 

อ่านแล้วอาย ครับประชากร 10 ล้านสร้างเครื่องบินขับไล่ ทันสมัยติดอันดับโลก ประเทศ
สารขันฑ์ ประชากร 65 ล้านในน้ำมีปลา ในนามีข้าวแต่ในหัวสมองประชากร
มีอะไรอยู่

 

โดย: กระสวยบูราน (กระสวยบูราน ) 14 พฤศจิกายน 2551 20:44:45 น.  

 

เอาแค่การไปดูงาน ลองไปอ่านประวัติ พลเอกยามาโมโต้ ของพี่ยุ่นเขา
ตอนไปเรียนที่อเมริกา พี่แกตระเวณ ดูอเมริกา อุตสาหกรรมจนทะลุปรุโปร่ง ทำให้เข้าใจถึงความยิ่งใหญ่ของอเมริกา
นายพล ประเทศสารขัน เวลาไปดูงาน ดนคอมเม้นครับ

 

โดย: กระสวยบูราน 14 พฤศจิกายน 2551 20:48:51 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


Analayo
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 56 คน [?]




หากโลกนี้มีความยุติธรรม เราคงไม่ต้องมีศาล ไม่ต้องมีทหาร ไม่ต้องมีตำรวจหรอก/Skyman
@ จ่อยน้องลิง @
@ จ่อยหัวหอม @
X
X



free counters


Friends' blogs
[Add Analayo's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.