Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2559
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
10 ตุลาคม 2559
 
All Blogs
 

O ขันธ์ 5 ..ในพุทธวจนะ .. O

.
.
.
ความหมาย ..

ขันธ์๕ - เบญจขันธ์ องค์ประกอบทั้ง๕ที่ทางพุทธศาสน์ถือว่า เป็นปัจจัยของมีชีวิต อันมี ..
..รูปขันธ์,
..เวทนาขันธ์,
..สัญญาขันธ์,
..สังขารขันธ์,
..วิญญาณขันธ์





[๒๘๙] พระนครสาวัตถี.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมที่ควรกำหนดรู้ ความกำหนดรู้ และบุคคลผู้กำหนดรู้แล้ว แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง.

[๒๙๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมที่ควรกำหนดรู้เป็นไฉน ?
คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ.(ขันธ์ทั้ง ๕)
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ธรรมที่ควรกำหนดรู้.

[๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความกำหนดรู้เป็นไฉน?
(ความกำหนดรู้เพื่อ)ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า ความกำหนดรู้. (จึงควรกำหนดรู้ยิ่งในขันธ์ทั้ง ๕ ก็เพื่อความสิ้นไปดังกล่าว)

[๒๙๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้กำหนดรู้แล้วเป็นไฉน?
บุคคลผู้กำหนดรู้แล้ว ควรจะกล่าวว่าพระอรหันต์ กล่าวคือ ท่านผู้มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่างนี้.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เรียกว่า บุคคลผู้กำหนดรู้แล้ว.
(พระไตรปิฎก เล่มที่๑๗/๒๘๙)

.........................................................................

ขันธ์ ๕ หรือเบญจขันธ์ องค์ประกอบสำคัญทั้ง ๕ ที่ทางพุทธศาสน์ถือว่า เป็นเหตุ คือสิ่งทั้ง ๕ ที่มาเป็นปัจจัยปรุงแต่งเป็น ชีวิต ขึ้น, เป็นเหตุปัจจัยที่เมื่อประชุมปรุงแต่งกันขึ้นจนเป็นสังขารคือสิ่งปรุงแต่ง ที่เรียกกันโดยสมมติในภาษาไทยว่า ชีวิต, ชีวิตจึงประกอบด้วยขันธ์ที่หมายถึงฝ่ายหรือกองต่างๆ ดังนี้ รูปขันธ์, เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์, สังขารขันธ์, วิญญาณขันธ์ และมักเรียกกันทั่วไปสั้นๆว่า รูป, เวทนา, สัญญา, สังขาร, วิญญาณ

กล่าวโดยย่อ ชีวิตเกิดขึ้นแต่เหตุคือขันธ์ทั้ง ๕ มาเป็นปัจจัยกัน ในชั่วขณะระยะเวลาหนึ่งๆ นั่นเอง

ควรรู้เข้าใจอีกด้วยว่า ขันธ์ ๕ หรือชีวิตนี้ เมื่อมีเหตุปัจจัยประชุมปรุงแต่งกันขึ้นแล้วนั้น ย่อมหมายถึงต้องมีการประสานทำงานที่เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน หรือการเป็นปัจจัยแก่กันและกันระหว่างขันธ์หรือระหว่างกองทั้ง ๕ อยู่ตลอดเวลา ตราบเท่าที่ยังดำรงขันธ์คือชีวิตอยู่

ซึ่งพระองค์ท่านแบ่งขันธ์หรือชีวิตออกเป็นส่วนหรือเป็นกองทั้ง ๕ ที่มาประกอบกันเป็นเหตุปัจจัยกันจนเป็นชีวิตหรือสังขารตัวตนที่ประกอบด้วยจิตวิญญาณ ก็ล้วนเพื่อยังประโยชน์ในการวิปัสสนาเพื่อให้เกิดปัญญาจากการไปรู้เห็นตามความเป็นจริงที่เป็นไปของชีวิต เพื่อให้เกิดนิพพิทาญาณอันเป็นไปเพื่อความคลายกำหนัด(ตัณหา) จึงคลายความยึดมั่น(อุปาทาน) เพื่อความปล่อยวาง อันเป็นสุข สะอาด สงบ บริสุทธิ์ยิ่ง


๑. รูปขันธ์ หรือรูป หมายถึง กองหรือส่วนของรูปร่างหน้าตา หรือร่างกาย หรือฝ่ายตัวตน รูปขันธ์ ถ้ายังไม่กระจ่างว่าเป็นอย่างไรกันแน่ ก็ให้นึกภาพของคนที่เพิ่งตายใหม่ๆที่มีร่างกายสมบูรณ์อยู่ยังไม่แตกสลาย นั่นแหละส่วนหรือกองของรูปหรือรูปขันธ์แท้ๆล้วนๆ ที่เมื่อยังไม่อิงหรือไม่เป็นเหตุปัจจัยประชุมร่วมกับขันธ์อื่นๆทั้ง ๔ ขันธ์ก็จะมีสภาพเป็นเพียงกลุ่มก้อนมายาของเหตุปัจจัยของธาตุทั้ง ๔ ซึ่งเป็นเพียง"สรีระยนต์" ที่นอนเป็นท่อนเป็นก้อนเฉยอยู่นั่นเอง,

อายตนะภายในทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือทวาร ๖ อันคือประตูหรือช่องทางที่ใช้ติดต่อกับโลกภายนอกทั้ง ๖ ต่างก็ล้วนต้องแฝงอาศัยอยู่หรือเป็นส่วนหนึ่งของกองรูปขันธ์นี้นี่เอง (สมองก็เป็นส่วนหนึ่งของรูปขันธ์นั้น แต่ก็เป็นหทัยวัตถุ คือเป็นส่วนหนึ่งของใจหรือจิต คือเป็นวัตถุหรือเหตุปัจจัยอันหนึ่งของจิต แต่ก็ยังไม่ใช่จิต เพราะยังต้องประกอบด้วยเหตุอื่นๆ มาเป็นปัจจัยกันอีกด้วยนั่นเอง)

พึงระวังสับสน ที่ในภายหน้าบางครั้ง เมื่อกล่าวถึงการทำงานประสานกันของขันธ์หรือก็คือกระบวนธรรมของขันธ์ ๕ แล้ว มีคำว่า รูป ที่อาจหมายถึง สิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จิตใช้เป็นอารมณ์คือเป็นที่กำหนดในขณะนั้น จึงอาจหมายถึงใน รูป รส กลิ่น เสียง โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทั้ง ๖ ใดๆก็ได้(คือสิ่งที่ถูกรู้หรือสัมผัสได้โดยอายตนะภายใน) จึงครอบคลุมได้ถึง รูปหรือภาพที่เห็นด้วยจักษุ หรืออาจหมายถึงเสียงที่ได้ยินนั้น หรือกลิ่นที่ได้ดมนั้น หรือรสที่ได้ลิ้มสัมผัสนั้นๆ ฯ. ได้เช่นกัน


๒. เวทนาขันธ์ การเสวยอารมณ์, ความรู้สึก, ความรู้สึกที่เกิดจากการรับรู้ในรสของอารมณ์(Feeling) คือความรู้สึกรับรู้ที่ย่อมเกิดขึ้นจากสิ่งที่จิตกำหนดหมาย หรือยึด หรือกระทบนั้นๆ จึงหมายถึง กองหรือหมวดหมู่ของชีวิตที่ทำหน้าที่ เสพเสวยในรสชาดของสิ่งต่างๆที่เป็นอารมณ์ กล่าวคือ ความรู้สึกที่ย่อมต้องเกิดขึ้น จากการเสพเสวยหรือรับรู้ในสิ่ง(อารมณ์)ต่างๆที่กระทบสัมผัส(ผัสสะ) พระองค์ท่านแบ่งความรู้สึก(Feeling)ของเวทนา ออกเป็น ๓ อันมี

สุขเวทนา ความรู้สึก สุขสบาย ถูกใจ สบายใจ ชอบใจ จึงครอบคลุมทั้งฝ่ายกายและจิต หรือที่เรียกความรู้สึกชนิดนี้กันโดยทั่วไปว่า สุข นั่นเอง

ทุกขเวทนา ความรู้สึก ลำบาก, ความรู้สึกเจ็บปวด, ความรู้สึกเป็นทุกข์, การเสวยอารมณ์ที่ไม่สบาย ไม่ถูกใจ ไม่ชอบใจ อันครอบคลุมทั้งกายและจิตเช่นกัน หรือที่เรียกความรู้สึกชนิดนี้กันโดยทั่วไปว่า ทุกข์ นั่นเอง

อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึก ไม่สุขไม่ทุกข์ คือ เฉยๆ เรียกกันอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา

พระไตรปิฏกในภายหลัง พระอรรถกถาจารย์ได้จำแนกแตกธรรมออกเป็น ๕ ก็มี เพื่อแยกแยะให้เห็นเวทนา เป็นฝ่ายกายและฝ่ายจิตให้ชัดเจนขึ้น จึงได้จำแนกเพิ่มเติมเป็น สุข-สบายกาย๑ ทุกข์-ไม่สบายกาย๑ โสมนัส-สบายใจ๑ โทมนัส-ไม่สบายใจ๑ และอุเบกขา-เฉยๆ๑

เวทนาในภาษาธรรม จึงไม่ใช่ความหมายในภาษาไทยหรือในทางโลก(โลกิยะ)ที่หมายถึง ความสงสาร, ความเจ็บปวด


๓. สัญญาขันธ์ หมายถึง ส่วนหรือกองของชีวิตที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ ความจำได้ ความทรงจำ ตลอดจนครอบคลุมถึงการหมายรู้ การกำหนดหมาย ปัญญา การประเมินข้อมูล ฯ. จึงย่อมเกิดจากการสั่งสม จดจำประมวลผลตั้งแต่อดีตหรือแต่อ้อนแต่ออกจวบจนปัจจุบัน อันย่อมใช้สมองส่วนหนึ่งในการบันทึกเก็บจำ ซึ่งย่อมมีข้อมูลอย่างมากมายมหาศาล จนเกินกว่าที่จำได้ทั้งปวงในขณะจิตหนึ่งๆ สัญญาหรือฝ่ายความจำได้,หมายรู้จึงต้องทำงานหรือเกิดขึ้นในลักษณะเกิดดับ..เกิดดับๆ...ดังนี้อยู่เสมอๆ กล่าวคือ เกิดคือจำขึ้นมาได้ แล้วก็ดับคือลืมลงไปนั่นเอง เป็นไปดังนี้เสมอๆ ดังเช่นผู้เขียนเอ่ยคำว่าแม่ ท่านก็เกิดสัญญาจำได้ในแม่ขึ้นมาทันที ตั้งอยู่ระยะหนึ่ง แล้วก็ดับไป จึงเกิดแล้วดับ เกิดดับๆๆ..ในลักษณาการนี้อยู่เสมอๆ, ดังนั้นสมองอันเป็นส่วนหนึ่งหรืออาศัยอยู่ในรูปขันธ์ จึงถูกจัดเป็นหทัยวัตถุอันเป็นเหตุปัจจัยอย่างหนึ่งของจิต แต่ก็อย่าเข้าใจผิดไปว่าจิตคือสมอง เพราะจิตก็ไม่ได้เกิดแต่เหตุคือสมองแต่อย่างเดียว เพราะจิตก็ยังเกิดแต่มีเหตุอื่นๆมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งอีกเช่นกัน

น่าสังเกตุว่าการเกิดคือชาติของสัญญาขันธ์หรือสัญญานั้น เป็นไปได้หลายลักษณะ ดังเช่น เจตนาด้วยตนเองขึ้นมาบ้าง๑ เกิดขึ้นเมื่อมีการผัสสะคือกระทบกับสิ่งนั้นๆคือสิ่งเร้าบ้าง๑ หรือแม้แต่ผุดลอยขึ้นมาเองบ้าง๑ ทั้ง ๓ ต่างล้วนเป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติอย่างหนึ่งของชีวิต และจำเป็นยิ่งในการดำเนินชีวิตหรือดำรงขันธ์อีกด้วย ไม่มีเสียก็อยู่ไม่ได้ตามปกติเสียอีกด้วย


๔. สังขารขันธ์ หมายถึง กองหรือส่วนของผล ที่เกิดขึ้นจากขันธ์ต่างๆมาเป็นเหตุปัจจัยกัน กล่าวคือเกิดผลเป็นการกระทำต่างๆขึ้น กล่าวคือ เป็นสิ่งปรุงแต่งทางใจให้เกิดการกระทำ(กรรม)ทางกาย, วาจา, ใจ กล่าวคือ เกิดเจตนาที่จะกระทำหรือกรรมทางกาย วาจา ใจต่างๆขึ้นมา เช่นการกระทำทางกายทุกๆอย่างคือกายสังขาร เช่นเดิน นอน กิน นั่ง อุจจาระ ปัสสาวะ ฯ. ทางวาจาหรือวจีสังขาร เช่นการพูด การคุย การอุทานต่างๆ การด่าทอต่อว่า ฯ. หรือทางใจที่เรียกกันว่ามโนสังขารบ้าง จิตสังขารบ้าง เช่น ความคิด ความนึกต่างๆนาๆขึ้น อันล้วนย่อมป็น ผล ที่เกิดขึ้นจากการเป็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันร่วมกับขันธ์อื่นๆ หรือจากการผัสสะต่างๆขึ้นนั่นเอง, อนึ่งพึงระวังความสับสนจากความเคยชินในภาษาไทย ที่มักใช้คำว่า สังขารในความหมายว่าสังขารกายหรือร่างกายด้วย


๕. วิญญาณขันธ์ ความรู้แจ้งในอารมณ์ พอที่จะกล่าวแสดงในแบบทางโลกให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นได้ว่า หมายถึงกองหรือหมวดหมู่ของระบบประสาททั้งปวงนั่นเอง กล่าวคือ วิญญาณมีหน้าที่ ในการรับรู้ คือรู้แจ้งในอารมณ์คืออายตนะภายนอกทั้งหลายที่จรหรือเกิดการกระทบนั้น ก็คือเป็นสิ่งที่ทำหน้าที่ดั่งระบบประสาทในการสื่อสารต่อเหล่าอายตนะภายนอกทั้งหลายที่จรมากระทบ และแม้แต่ถ่ายทอดข้อมูลต่างๆของชีวิตคือระหว่างขันธ์ต่างๆทั้ง ๕ ด้วยกัน กล่าวคือ ขันธ์ต่างๆล้วนมีการเชื่อมสื่อสารประสานสัมพันธ์หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างขันธ์ด้วยกัน และทั้งต่อเหล่าอายตนะภายนอกทั้งหลายที่จรมากระทบด้วย ก็ล้วนต้องอาศัยวิญญาณนี้นี่เองเป็นตัวเชื่อมประสาน

การรู้แจ้งในอารมณ์ ของวิญญาณนั้น ต้องทำความเข้าใจกันเล็กน้อย การรู้แจ้งนี้ มิได้หมายถึงความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งทางด้านปัญญาแต่ประการใด เป็นเพียงแค่การรับรู้ ในภาพ ในเสียง ในกลิ่น ในรส ฯ.(อายตนะภายนอก)ที่มากระทบต่างๆเท่านั้น

ยังไม่ประกอบไปด้วยความรู้,ความเข้าใจต่างๆใดๆที่หมายถึงปัญญาในสิ่งที่ไปกระทบนั้นๆ, และวิญญาณมักถูกเข้าใจแบบโลกิยะคือแบบโลกๆแต่ฝ่ายเดียว จึงมักถูกเข้าใจผิดด้วยมายาของจิตมาตั้งแต่เริ่มรู้ความ และด้วยตำนานเล่าขานที่ถ่ายทอดสืบต่อกันอย่างแรงกล้ามาอย่างช้านาน จนเป็นทิฏฐุปาทานและสีลัพพตุปาทานของปุถุชนกล่าวคือ เมื่อกล่าวถึงวิญญาณ มักจะเข้าใจในวิญญาณโดยนัยไปว่า เป็นดังเจตภูต หรือปฏิสนธิวิญญาณ ที่หมายถึงวิญญาณที่ลอยละล่องท่องเที่ยวหาที่เกิด หรือหมายถึง วิญญาณที่ท่องเที่ยวไปในภพน้อยใหญ่และปรภพในลักษณะสัมภเวสี หรือโอปปาติกะ หรือกายทิพย์ หรือเทวดา ฯ.

วิญญาณในขันธ์ ๕ หรือปฏิจจสมุปบาทธรรม เป็นวิญญาณที่ต้องกล่าวกันอย่างโลกุตระหรือภาษาธรรม มิฉนั้นจะไม่สามารถเข้าใจในธรรมอย่างปรมัตถ์หรือโลกุตระได้เลย กล่าวคือเมื่อพิจารณาธรรมในลักษณะธัมมวิจยะอันจัดเป็นสัมมาทิฏฐิของอริยะอันควรปฏิบัติยิ่ง, วิญญาณนั้นหมายถึง สิ่งที่ทำหน้าที่ในการสื่อสารเชื่อมสัมพันธ์กันภายในขันธ์ทั้ง ๕ หรือระบบประสาทดังกล่าวข้างต้น

ดังนั้นจึงเรียกชื่อของวิญญาณเฉพาะเจาะจงแตกต่างกันไปตามอายตนะภายในอันที่เป็นที่เกิดหรือแดนเกิด กล่าวคือในผู้ที่ยังดำรงขันธ์หรือชีวิตอยู่ วิญญาณย่อมเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อมีการกระทบกันของอายตนะภายนอกกับอายตนะภายใน เป็นสภาวธรรมหรือธรรมชาติของชีวิตหรือชีวิตตินทรีย์ที่เป็นปรกติ ที่ย่อมต้องเป็นไปเช่นนี้เองเป็นธรรมดา เป็นอสังขตธรรมอันเที่ยงแท้และทนต่อกาล อยู่อย่างนี้เอง จึงนำมาเขียนเป็นกระบวนธรรม เพื่อให้พิจารณาได้ง่าย ได้ดังนี้ว่า


อายตนะภายนอก + อายตนะภายใน -> วิญญาณ


จึงมีวิญญาณทั้งสิ้น ๖ แบบ ตามอายตนะภายในทั้ง ๖ ที่เป็นแดนเกิดนั่นเอง จึงเรียกรวมกันว่า วิญญาณ ๖ , การเรียกชื่ออย่างเฉพาะเจาะจงลงไปโดยสมมตินั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังพระดำรัสที่ตรัสแสดงไว้ในฉฉักกสูตร หรือในมหาตัณหาสังขยสูตร ความดังนี้ว่า


[๔๔๔] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ

วิญญาณ อาศัยจักษุและรูปทั้งหลาย เกิดขึ้น(ชาติ) ก็ถึงความนับว่าจักษุวิญญาณ (ได้เกิดขึ้น กล่าวคือเกิดการรู้แจ้งในอารมณ์อันคือรูป หรือรับรู้ในรูปนั้นๆ)

วิญญาณ อาศัยโสตและเสียงทั้งหลาย เกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าโสตวิญญาณ (เกิดการรู้แจ้งในอารมณ์อันคือเสียง หรือรับรู้ในเสียงนั้นๆ)

วิญญาณ อาศัยฆานะและกลิ่นทั้งหลาย เกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าฆานวิญญาณ (เกิดการรู้แจ้งในกลิ่น หรือรับรู้ในกลิ่นนั้นๆ)

วิญญาณ อาศัยชิวหาและรสทั้งหลาย เกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่าชิวหาวิญญาณ (เกิดการรู้แจ้งในลิ้น หรือรับรู้ในรสนั้นๆ)

วิญญาณ อาศัยกายและโผฏฐัพพะทั้งหลาย เกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่ากายวิญญาณ (เกิดการรู้แจ้งในกาย หรือรับรู้ในกายสัมผัสนั้นๆ)

วิญญาณ อาศัยมนะและธรรมารมณ์ทั้งหลาย เกิดขึ้น ก็ถึงความนับว่ามโนวิญญาณ (เกิดการรู้แจ้งในธรรมารมณ์ หรือรับรู้ในธรรมารมณ์นั้นๆ)

เปรียบเหมือนไฟอาศัยเชื้อใดๆ ติดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยเชื้อนั้นๆ
ไฟอาศัยไม้ ติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟไม้
ไฟอาศัยป่าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟป่า
ไฟอาศัยหญ้าติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟหญ้า
ไฟอาศัยโคมัยติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟโคมัย
ไฟอาศัยแกลบติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟแกลบ
ไฟอาศัยหยากเยื่อติดขึ้น ก็ถึงความนับว่า ไฟหยากเยื่อ ฉันใด

ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ฉันนั้นเหมือนกันแล วิญญาณอาศัยปัจจัยใดๆ เกิดขึ้น ก็ถึงความนับด้วยปัจจัยนั้นๆ


ดังนั้นการโยนิโสมนสิการในขันธ์ ๕ หรือปฏิจจสมุปบาทธรรม หรือในธรรมใดอย่างปรมัตถ์หรือโลกุตระแล้ว วิญญาณย่อมต้องหมายถึงความเป็นวิญญาณ ๖ ดังพระสูตรข้างต้น

อย่าได้ไปตีความไปในลักษณะของเจตภูต หรือปฏิสนธิวิญญาณที่ลอยละล่องแสวงหาที่เกิด หรือภูตผีปีศาจ หรือสัมภเวสี หรือโอปปาติกะ ดังความเข้าใจโดยทั่วๆไปอย่างโลกิยะ อันย่อมจะไม่สามารถโยนิโสมนสิการจนเกิดธรรมสามัคคคีให้แจ่มแจ้งในธรรมนั้นๆได้เลย


กล่าวคือ ในผู้ที่ยังดำรงขันธ์หรือชีวิตอยู่ วิญญาณนั้นๆเกิด(ชาติ)ขึ้นจากเหตุปัจจัยของ อายตนะภายนอก กระทบกับ อายตนะภายใน ใดๆ ก็ย่อมเกิดวิญญาณของอายตนะภายในนั้นๆขึ้นเป็นธรรมดาหรือตถตา กล่าวคือย่อมเกิดวิญญาณตามอายตนะภายในนั้นๆคือ จักษุวิญญาณ โสตวิญญาณ ฆานวิญญาณ ชิวหาวิญญาณ กายวิญญาณ มโนวิญญาณ หรือกล่าวได้ว่า จิตหนึ่งย่อมมีการเกิด(ชาติ)ขึ้นเป็นธรรมดา ในกิจนั้นๆ

เมื่อพิจารณาโดยแยบคาย ก็จะพบความจริงยิ่งไปอีกว่า วิญญาณจึงมีสภาวะผลัดกันเกิดๆดับๆอยู่ตลอดเวลา เป็นอนัตตาไม่มีตัวตนแท้จริง เหมือนดั่งเงา กล่าวคือเมื่อมีเหตุปัจจัยครบ ก็เกิดขึ้น จึงเกิด(ชาติ)วิญญาณขึ้นเมื่อมีการกระทบกันของอายตนะภายนอกและภายใน และเป็นวิญญาณที่เกิดขึ้นเฉพาะกิจนั้นๆ แล้วก็ดับไป จริงหรือไม่จริง? (บางทีก็จำแนกแตกธรรมว่า จิต คือวิญญาณขันธ์ นี้นี่เอง)

ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ ทำงานประสานสัมพันธ์กันอย่างแนบแน่น กล่าวคือขันธ์ต่างๆอันเป็นคนละกอง คนละส่วนกันนั้น เมื่อจะสื่อสารติดต่อสัมพันธ์กันได้ แม้แต่การสื่อกับเหล่าอายตนะภายนอกคือ รูป รส กลิ่น ฯ. ก็ด้วยต้องอาศัยสื่อหรือตัวกลางเป็นสำคัญ

ในขันธ์ ๕ หรือชีวิต สื่อหรือตัวกลางนั้นก็คือกอง วิญญาณ นี้นี่เอง เป็นสภาวธรรมของชีวิต กล่าวง่ายๆก็คือ มีชีวิตหรือขันธ์อยู่ได้ ก็เพราะกระบวนการทำงานของขันธ์ทั้ง ๕ นี้นี่เอง ที่ทำงานกันอย่างเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันตามหลักปฏิจจสมุปบันธรรม ซึ่งเมื่อขันธ์ใดแม้ขันธ์หนึ่งไม่ทำงานประสานสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยกันเมื่อใด ก็เป็นเวลาของการอาพาธเจ็บป่วย แม้จนถึงกาละหรือความตายได้นั่นเอง

อันอุปมาได้ดั่งรถ ที่ย่อมประกอบด้วยขันธ์ที่แปลว่ากองหรือส่วนต่างๆ ดังเช่น ส่วนตัวถัง ส่วนเครื่องยนต์ ส่วนระบบขับเคลื่อน ส่วนระบบล้อ ส่วนระบบเบรค ส่วนระบบไฟฟ้า ฯ. ที่เมื่อยังไม่เป็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งหรือประกอบกันขึ้น ก็ยังไม่เรียกว่ารถ แต่เมื่อนำมาประกอบกัน กล่าวคือ เมื่อเป็นเหตุปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นแล้วจึง เกิดหรือชาติ สิ่งที่เรียกกันโดยสมมติทางโลกว่า รถ

แต่ถ้าสิ่งที่ปรุงแต่งกันเหล่านั้นไม่ทำงานประสานสอดคล้องเนื่องสัมพันธ์กันอย่างดีงามเสียแล้ว รถ นั้นก็ย่อมไม่สามารถทำงาน คือย่อมแล่นไม่ได้ ที่เรียกกันโดยสมมติว่า รถเสีย รถดับ หรือรถตาย, ขันธ์ ๕ ก็เป็นไปเฉกเช่นนั้นเอง ถ้าขันธ์ทั้ง ๕ ไม่ทำงานประสานเนื่องสัมพันธ์กันอย่างถูกต้องดีงามก็ย่อมเป็นเวลาของการอาพาธเจ็บป่วย หรือตายนั่นเอง


ด้วยความสำคัญยิ่งดังนี้ของขันธ์ทั้ง ๕ ดังกล่าว พระองค์ท่านจึงตรัสไว้ว่าขันธ์ ๕ เป็นธรรมที่ควรกำหนดรู้ ตลอดจนเกี่ยวข้องพัวพันกับความรู้สึกสุขทุกข์โดยตรงอีกด้วย จึงแสดงกระบวนธรรมหรือกระบวนการทํางานของขันธ์ทั้ง ๕ โดยทั่วๆไปเป็นพื้นฐาน แสดงในลักษณะรูปแบบของกระบวนการเนื่องสัมพันธ์กันดังปฎิจจสมุปบาทธรรม หรือดังทางวิชาเคมีที่เล่าเรียนกันในทางโลก แล้วขอเรียกว่ากระบวนธรรม เหตุเพราะทำให้ง่ายต่อการพิจารณาไล่เรียง ให้เห็นความจริงของขันธ์ทั้ง ๕ อย่างปรมัตถ์เท่านั้น เพื่อจักได้เกิดความแจ่มแจ้งในธรรมต่างๆในภายหน้า เพื่อใช้ไปในการวิปัสสนา เพื่อให้เกิดปัญญาญาณเพื่อการดับทุกข์อย่างถูกต้อง

.
.
.



ที่มา ..




 

Create Date : 10 ตุลาคม 2559
0 comments
Last Update : 18 สิงหาคม 2566 20:56:24 น.
Counter : 2515 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.