Group Blog
 
<<
กุมภาพันธ์ 2556
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
2425262728 
 
4 กุมภาพันธ์ 2556
 
All Blogs
 
O ชาติก่อน .. ชาตินี้ .. ชาติหน้า .. ? ? O

.


ชาติก่อน .. ชาตินี้ .. ชาติหน้า

เกิดมาในสังคมไทย .. คงได้ยินคำที่จั่วหัวมาจนนับครั้งไม่ถ้วน ..

จริงไหม ?

ไม่ยกเว้นแม้แต่ในสมาคมของผู้จบปริญญาตรี โท เอก แบบทางโลก .. !

และร้อยทั้งร้อย ไม่รู้หรอกว่ามันมีจริงไหม ไอ้ชาติก่อนกับชาติหน้าน่ะ .. รู้แต่ชาตินี้ที่ยืนหายใจอยู่นี่เท่านั้น

ดังนั้น ..
มันจึงเป็นเรื่องของความเชื่อตามๆกันมาเพียงอย่างเดียว .. ไม่มีอย่างอื่น !

คำถามก็มีว่า ..

ทำไมจึงเชื่อกันแบบนี้ ?

เรื่องราวจำนวนมาก ในโลกนี้ หากไม่เห็นกับตาแล้วมีคนมาบอกมาพูดให้ฟัง .. คนในยุคปัจจุบันที่คิดว่าอยู่ในสังคมโลกที่เจริญแล้ว ยังไม่ยอมเชื่อกันง่ายๆ .. แต่เรื่องชาติก่อน ชาติหน้า .. ดูเหมือนจะเชื่อกันแทบทั้งนั้น และแทบทุกศาสนา !

แปลกดีไหม ?

ต้องพูดว่า .. ในบริบทของความเชื่อนั้น ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ !

ทุกอย่างเป็นไปได้ .. ด้วยความเชื่อเพียงอย่างเดียว !

และนี่คือ การคิดไปเอง การปรุงแต่งไปเองของจินตนาการส่วนตัวของแต่ละคน .. และบริบทนี้คำพระท่านใช้คำว่า "สังขาร" (โง่ๆ)
.
.
แล้ว สาเหตุ ที่ที่มาของความเชื่อคือสิ่งไหน ?

ชาติก่อน .. ชาตินี้ .. ชาติหน้า ..
ทั้ง 3 คำ มีความแตกต่างในมิติไหนบ้าง ?
ตอบได้ว่า ..

1. เรื่องของช่วงเวลา
2. เรื่องของรูปกายภายนอก
3. เรื่องของสถานภาพทางสังคม

และทั้ง 3 คำ มีความเหมือนกัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในมิติไหนบ้าง ?
ตอบได้ว่า ..

1. ความเป็น"ตัวตนเดิมเดียว"
2. วัฏฏะวงรอบเดิม

ทีนี้เมื่อถามต่อว่า ทั้ง 3 คำ สืบทอดภาวะถึงกันได้ด้วยอะไร ?
ตอบได้ว่า ..

1. วิญญาณ
2. วิบากกรรม

อย่างไร ?
ตอบได้ว่า ..

วิบากกรรมคือผลจากการกระทำด้วยเจตนาแห่งจิตวิญญาณ ย่อมตรึงติดกับจิตวิญญาณนั้นไปตลอด ไม่ว่าร่างกายจะแตกดับแล้วอุบัติใหม่อย่างไร ทั้ง 2 สิ่งนี้ถูกระบุแน่นอนแล้วว่าจักอยู่ด้วยกันชั่วฟ้าดินดับ .. หรือจนกว่ากรรมบทที่เป็นสัมมาทิฏฐิจะทำลายกรรมบทเดิมที่เป็นมิจฉาทิฏฐิลงได้โดยสิ้นเชิง ..

เช่นนั้นแล้ววัฏฏะจักถูกหักลง .. หยุดลงได้ .. และเช่นนั้นแล้วคือการที่จิตวิญญาณนั้นๆจักสามารถก้าวผ่านไปสู่ความหลุดพ้นได้

วิญญาณ .. จึงเป็นตัวสืบทอดภาวะระหว่างช่วงต่างของกาลเวลาของตัวตนหนึ่งๆ .. วิญญาณ หรือ มนัส ตัวนี้จึงไม่มีวันแตกดับทำลาย เปลี่ยนไปแต่รูปขันธ์เท่านั้น .. วิญญาณ หรือ ดวงมนัส นี้จึงถือว่า เที่ยงแท้ เป็นตัวอัตตา !

และนี่คือแก่นแกนจาก อุปนิษัท ของพราหมณ์

และความคิดนี้เกิดจากการปรุงแต่งขึ้นเองล้วนๆ !
เพราะมันสามารถใช้รับรองแนวคิดของ ชาติก่อน ชาตินี้ ชาติหน้า ได้อย่างลงตัวกลมกลืน !


และสิ่งนี้ เชื่อกันฝังหัวคนในชมพูทวีป มาก่อนยุคพุทธกาลนานหนักนาแล้ว !

แต่สิ่งนี้ เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ออกแสวงหาโมกขธรรม ท่านกลับมองเป็นเรื่องเหลวไหล ที่ไม่อาจนำพาจิตวิญญาณไปสู่หลุดพ้นจากกองทุกข์ หรือ ถอนอาสวะออก ได้ !

แล้วพระองค์ก็หลุดออกนอกกรอบ แห่งอัตตาเที่ยงแท้นี้ได้ในที่สุดหลังจากวิเคราะห์วิจัย ใคร่ครวญ ทดสอบทดลองมาตลอด 6 ปี .. แห่งการแสวงหาหนทาง

ว่า .. ความเชื่อรกรุงรังหาเหตุผลไม่ได้นี้เองที่เป็นกรอบกักอิสรภาพของจิตวิญญาณให้ไปไหนไม่รอด จากเพียงแค่ความคิดปรุงแต่งของใครสักคนเมื่อหลายพันปีมาแล้ว ที่ส่งผลทำให้คนส่วนใหญ่เชื่อตามๆกันมา จนถึงปัจจุบันนี้ !


เหตุเพราะแนวคิดนี้ ลงกันได้กับ ลักษณะพื้นฐานของ"จิตที่มืดบอด"อันเป็นธรรมชาติฝ่ายเด่น ฝ่ายเกิดง่าย ฝ่ายมีมาก ของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ .. ที่ไม่ต้อง"ฝืน" เราสามารถเรียกรวมๆได้ว่า "ฝ่ายศรัทธาจริต" ก็คงได้ !


ทีนี้ลองมาดู "วิญญาณแบบที่พระพุทธองค์กล่าวถึง" ดูบ้าง


เรื่องภิกษุสาติ เกวัฏฏะบุตร




ภิกษุทั้งหลาย นำเรื่องความเห็นผิดเกี่ยวกับวิญญาณของภิกษุสาติ ผู้เป็นบุตรชาวประมง ทูลกับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้า ตรัสให้เรียกภิกษุสาติมาแล้ว ตรัสถาม ว่า

สัจจัง กิระ เต สาติ เอวะรูปัง ปาปะกัง ทิฏฐิคะตัง อุปปันนัง ตะถาหัง ภะคะวะตา ธัมมัง เทสิตัง อาชานามิ ยะถา ตะเทวิทัง วิญญาณัง สันธาวะติ สังสะระติ อนัญญันติ, สาติ !
จริงหรือ ตามที่ได้ยินว่า เธอมีทิฏฐิอันลามกเกิดขึ้นแล้ว อย่างนี้ ว่า เราย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคแสดงแล้ว ว่า วิญญาณนี้นี่แหละ ย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป หาใช่สิ่งอื่นไม่,

เอวัง พฺยา โข อหัง ภันเต ภะคะวะตา ธัมมัง เทสิตัง อาชานามิ ยะถา ตะเทวิทัง วิญญาณัง สันธาวะติ สังสะระติ อนัญญันติ,
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์ย่อมรู้ทั่วถึงธรรม ตามที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแล้วเช่นนี้ ว่า วิญญาณนี้นี่แหละ ย่อมแล่นไป ย่อมท่องเที่ยวไป หาใช่สิ่งอื่นไม่,

กะตะมันตัง สาติ วิญญาณันติ,
สาติ ! วิญญาณ เป็นอย่างไร ?,

ยฺวายัง ภันเต วะโท วะเทยโย ตัตระ ตัตระ กัลญาณปาปะกานัง กัมมานัง วิปากัง ปฏิสังเวเทตีติ,,
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! นั่นคือสภาพที่เป็นผู้พูด ผู้รู้สึก ซึ่งเสวยวิบากแห่งกรรมดีกรรมชั่วทั้งหลาย ในภพนั้นๆ,

กัสสะ นุ โข นามะ ตฺวัง โมฆะปุริสะ มะยา เอวัง ธัมมัง เทสิตัง อาชานาสิ,
โมฆะบุรุษ ! เธอรู้ทั่วถึงธรรมที่เราแสดงแล้วอย่างนี้ เมื่อแสดงแล้วแก่ใครเล่า ?

นะนุ มะยา โมฆะปุริสะ อเนกะปริยาเยนะ ปะฏิจจะสมุปปันนัง วิญญาณ วุตตัง อัญญัตระ ปัจจะยา นัตถิ วิญญาณัสสะ สัมภะโวติ,
โมฆะบุรุษ ! เรากล่าวว่า วิญญาณเป็นปฏิจจสมุปปันนะธรรม คือวิญญาณเป็นสิ่งที่อาศัยปัจจัยแล้วเกิดขึ้น โดยปริยายเป็นอันมาก, ถ้าเว้นจากปัจจัยแล้ว ความเกิดแห่งวิญญาณ มิได้มี มิใช่หรือ,

อะถะ จะ ปะนะ ตฺวัง โมฆะปุริสะ อัตตะนา ทุคคะหิเตนะ อเมหะ เจวะ อัพภาจิกขะสิ อัตตานัญจะ ขนสิ พหุญจะ อปุญญัง ปะสะวะสิ,
โมฆะบุรุษ ! เมื่อเป็นอย่างนั้น เธอชื่อว่า ย่อมกล่าวตู่เราด้วยถ้อยคำที่ตนเองถือเอาผิดด้วย ย่อมขุดตนเองด้วย ย่อมประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมากด้วย,

ตัญหิ เต โมฆะปุริสะ ภะวิสสะติ ทีฆรัตตัง อหิตายะ ทุกขายาติ,
โมฆะบุรุษ ! ข้อนั้น จักเป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เธอตลอดกาลนาน ดังนี้.

แล้วตรัสกับภิกษุทั้งหลาย ว่า พวกเธอจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร ภิกษุสาติ เกวัฏฏะบุตรนี้ ยังพอจะนับว่าเป็นพระเป็นสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ได้บ้างไหม ?

ภิกษุทั้งหลายตอบว่า จะเป็นได้อย่างไร พระเจ้าข้า ! หามิได้เลย พระเจ้าข้า !

เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลตอบแล้วอย่างนี้ ภิกษุสาติก็นิ่ง เงียบเสียง เก้อเขิน คอตก ก้มหน้า ซบเซา ไม่มีปฏิภาณ

สาติ ! เธอจักปรากฏด้วยทิฏฐิอันลามกนั้น ของตนเองแล เราจักสอบถามภิกษุทั้งหลายในที่นี้

ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายย่อมรู้ทั่วถึงธรรมตามที่เราแสดงแล้ว เหมือนกับที่ภิกษุสาติกล่าวตู่เรา ขุดตนเอง และจะประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมาก เพราะทิฏฐิที่ตนถือเอาผิดหรือ

ข้อนี้มีไม่ได้เลย พระเจ้าข้า เพราะวิญญาณอาศัยปัจจัยจึงเกิดขึ้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายโดยปริยายเป็นอันมาก ว่า ปราศจากปัจจัยแล้ว ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ มิได้มี.

ดีละ ! ดีละ ! เธอทั้งหลายรู้ทั่วถึงธรรมตามที่เราแสดงแล้ว...ฯ...แต่ภิกษุสาติ บุตรชาวประมงนี้ กล่าวตู่เรา ขุดตนเอง และประสบกับสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมากด้วย เพราะทิฏฐิที่ตนถือเอาผิด ความเห็นอย่างนั้น ของบุรุษนั้น จะเป็นไปเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์ และเป็นไปเพื่อความทุกข์ตลอดกาลนาน.

ภิกษุทั้งหลาย ไฟที่ปรากฏขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยใดๆ ก็นับว่าไฟตามปัจจัยนั้นๆ ..
ไฟที่ปรากฏขึ้นเพราะอาศัยไม้ ก็นับว่า ไฟปรากฏจากไม้
ไฟที่ปรากฏขึ้นเพราะอาศัยป่า ก็นับว่า ไฟปรากฏขึ้นจากป่า
ไฟที่ปรากฏขึ้นเพราะอาศัยหญ้า ก็นับว่า ไฟปรากฏขึ้นจากหญ้า
ไฟที่ปรากฏขึ้นเพราะอาศัยมูลโค ก็นับว่า ไฟปรากฏขึ้นจากมูลโค
ไฟที่ปรากฏขึ้นเพราะอาศัยแกลบ ก็นับว่า ไฟปรากฏขึ้นจากแกลบ
ไฟที่ปรากฏขึ้นเพราะอาศัยหยากเยื่อ ก็นับว่า ไฟปรากฏขึ้นจากหยากเยื่อ แม้ฉันใด,

วิญญาณ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน วิญญาณที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยปัจจัยใดๆ ก็นับว่าวิญญาณตามปัจจัยนั้นๆ

วิญญาณที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยตาและรูปเป็นอารมณ์ ก็นับว่าจักขุวิญญาณคือวิญญาณทางตา

วิญญาณที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยหูและเสียงเป็นอารมณ์ ก็นับว่า โสตะวิญญาณคือวิญญาณทางหู

วิญญาณที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยหจมูกและกลิ่นเป็นอารมณ์ ก็นับว่า ฆานะวิญญาณคือวิญญาณทางจมูก

วิญญาณที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยลิ้นและรสเป็นอารมณ์ ก็นับว่า ชิวหาวิญญาณคือวิญญาณทางลิ้น

วิญญาณที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยกายและสัมผัสเป็นอารมณ์ ก็นับว่า กายะวิญญาณคือวิญญาณทางกาย

วิญญาณที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยใจและธรรมารมณ์เป็นอารมณ์ ก็นับว่า มโนวิญญาณคือวิญญาณทางใจ.

ที่มา ..
มู. ม. ๑๒ / ๔๗๕ - / ๔๔๒ -. อริย. ๑๐๐๖.
//www.rakangdham.com/page7.html



........................................


ข้อความข้างบนนี้ชัดเจนมากว่า .. วิญญาณ แบบที่พระพุทธองค์สอนนั้นเป็นแบบ ปัจจยาการ เท่านั้น .. ไม่มีวิญญาณเที่ยงแท้ถาวร เกิดดับ เวียนว่ายในวัฏฏะสงสาร ข้ามภพข้ามชาติ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

ทั้งสงฆ์ ทั้งฆราวาส ที่ไม่ได้พูดตามคำพระพุทธองค์ ย่อมถือเป็น "โมฆะบุรุษ" ทั้งสิ้น ! ..

และกับเหล่าโมฆะบุรุษ แล้ว ย่อมไม่คู่ควรต่อการกราบไหว้แต่อย่างใด ..

เพราะอะไร

ชาวพุทธ ที่ไหน จะไปกราบไหว้อิหม่ามของศาสนาอิสลาม หรือ บาทหลวงของศาสนาคริสต์ รวมทั้งพราหมณ์ของฮินดู

จริงไหม ?

"ภิกษุสาติ เกวัฏฏะบุตรนี้ ยังพอจะนับว่าเป็นพระเป็นสงฆ์ในธรรมวินัยนี้ได้บ้างไหม ?"

หลักคิดแบบฮินดู ที่ฝังหัวสงฆ์ไทยจำนวนมากมาย .. สงฆ์เหล่านั้นจะยังนับเป็นสงฆ์อยู่หรือไม่ ?

หากว่าไม่


แปลว่าไม่ใช่สงฆ์


แปลว่าไม่คู่ควรการกราบไหว้ !

.
.
.

เมื่อมีทิฏฐิที่ตั้งไว้ผิด เยี่ยงภิกษุ สาติ เกวัฏฏะบุตร นี้แล้ว .. ผู้ที่พระพุทธองค์ถึงกับตรัสเรียว่า "โมฆะบุรุษ" - บุรุษผู้เสียเวลาเปล่า ..

จิตนั้นๆก็ย่อม .. "จักเป็นไปเพื่อความทุกข์ ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เธอตลอดกาลนาน"

ดังนั้นคำพูดประเภทที่มักเนื่องกับความหมายของ "การเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในวงรอบแห่งวัฏฏะสงสาร" ย่อมแสดงถึงภูมิปัญญาในการไตร่ตรองข้อธรรมว่า อ่อนด้อยเพียงใด และ ขาดเหตุผลเพียงใด ..

และนั่น .. ไม่ใช่พุทธเลย


คำพูดในลักษณะแสดงถึงความเป็น "สัสสตทิฏฐิ" จึงย่อมไม่ใช่แนวทางแห่งพุทธธรรม ..


สัสสตทิฏฐิ .. คำนี้แปลว่าอย่างไร ?


สัสสตทิฏฐิ - ความเห็นว่าเที่ยง คือความเห็นว่า อัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป เช่น เห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไป เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง; ตรงข้ามกับ อุจเฉททิฏฐิ


ดังนั้น .. หากธรรมะชัยโย พูดว่าทำบุญกับอาตมา หรือ วัดธรรมกาย มากๆนะจ๊ะ .. ชาติหน้าจะได้สุขสบายด้วยทรัพย์สมบัติ บริวาร พร้อมทั้งเกียรติยศยิ่งนัก แล้วล่ะก็ ..

พึงรู้ไว้ว่า คำพูดเช่นนั้น คือคำพูดที่มีนัยะเป็น สัสสตทิฏฐิ หรือนัยะเช่นเดียวกับคำของภิกษุ สาติ เกวัฏฏะบุตร ในยุคพุทธกาลนั่นแล ..

ดังนั้น .. ผู้พูดเยี่ยงนั้นย่อมได้ชื่อว่า กล่าวตู่คำของพระพุทธองค์ ดังพุทธวจนะที่ว่า ..

"โมฆะบุรุษ ! เมื่อเป็นอย่างนั้น เธอชื่อว่า ย่อมกล่าวตู่เราด้วยถ้อยคำที่ตนเองถือเอาผิดด้วย ย่อมขุดตนเองด้วย ย่อมประสบสิ่งมิใช่บุญเป็นอันมากด้วย"

โมฆ-, โมฆะ [โมคะ-] ว. เปล่า, ว่าง; ไม่มีประโยชน์, ไม่มีผล, เช่น สัญญาเป็นโมฆะ; (กฎ) เสียเปล่า ไม่มีผลบังคับหรือผูกพันตามกฎหมาย. (ป., ส.).


แปลว่า คนพูดคือ .. โมฆะบุรุษ !


ต่อให้บวชเป็นพระยาวนานจนตายคาผ้าเหลือง .. หากยังมีทิฏฐิที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ อยู่อย่างนั้น ก็ย่อม .. เสียเวลาเปล่า .. สูญเวลาเปล่า .. สมองกลวงเปล่า !


โลกจึงว่างจากพระอรหันต์ มานับพันๆปี เพราะเนื้อร้ายจาก คัมภีร์วิสุทธิมรรค นั่นเอง !




Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2556
Last Update : 19 พฤศจิกายน 2556 5:52:09 น. 6 comments
Counter : 2614 Pageviews.

 
จะแวะมาอ่านต่อค่ะ

ขอบคุณนะคะ


โดย: วลีลักษณา วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:22:38:42 น.  

 
สวัสดีครับคุณวลี

เป็นหนึ่งในความพยายามผันน้ำออกจากสระบัว .. อิๆๆ
เพื่อเจริญปัญญาแห่งตน ขอรับ


โดย: สดายุ... วันที่: 6 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:14:44:03 น.  

 
สวัสดีค่ะคุณสดายุ

บัวอยู่ได้เพราะมีน้ำ ในระดับที่เหมาะสม ต้องผันน้ำออกจากสระบัวแปลว่าตอนนี้ระดับน้ำสูงจนบัวยืดก้านดอกไม่พ้นน้ำกระมัง จึงเหลือแต่ผักบุ้งโหลงเหลง

ไม่อยากคิดแต่ก็อดไม่ได้ที่เห็นพื้นที่ป่าไม้ ภูเขา ถูกแปรสภาพเป็นวัด ใหญ่โตมโหฬาร

หากอ้างว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมก็ปลูกป่าสิ หรือว่าภูเขาเป็นลูกๆนั้น ซื้อขายได้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย อันนี้ไม่รู้จริงๆค่ะ

อีกหน่อยบ้านเราคงมีวัตถุสถานไว้ให้กราบไหว้ขอสวรรค์บนภูเขาทุกลูกกระมัง

หลักการของพุทธคือสอนให้ละอัตตา ไม่ให้ยึดครองแม้แต่ตัวตนมิใช่หรือ



โดย: วลีลักษณา วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:15:08:20 น.  

 
คุณวลี

ในรูปที่เลื่อนทางขวามือด้านบนนั้น .. ใช้เปรียบกับระดับภูมิปัญญาแห่งคน ว่ามี 3 ระดับ
- ใต้น้ำติดโคลน
- ปริ่มระดับผิวน้ำเกือบโผล่
- ชูก้านเชิดดอกรับแสง

การผันน้ำออกจากสระจะทำให้ระดับบัวปริ่มน้ำได้มีโอกาสโผล่พ้นน้ำรับแสง .. ส่วนระดับติดโคลนคงลำบากจนต้องวางอุเบกขา ครับ

ส่วนเรื่องวัดรุกที่ป่าสงวน เป็นเรื่องการบกพร่องต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบครับ .. อันนี้ต้องวิพากย์เชิงรัฐศาสตร์ที่ผมจะเขียนใน รัฐวิภาษ

"หลักการของพุทธคือสอนให้ละอัตตา ไม่ให้ยึดครองแม้แต่ตัวตนมิใช่หรือ" คำพูดนี้ถูกต้องแล้วครับ .. แต่คนไทยพุทธส่วนใหญ่ไม่เข้าใจศาสนาได้ถูกต้องมากนัก .. เพราะไม่รู้จะเอาอะไรเป็นหลักไว้ตรวจสอบ

วัด หรือ พระสงฆ์ ที่คอยเรียกปัจจัยปลูกสร้างโน่นนี่ จึงเป็นผู้ไม่รู้ ไม่เข้าใจ หน้าที่ของผู้สละโลก .. กลับทำตรงกันข้ามคือผู้สร้างโลก กอดเกี่ยวกับโลกไว้แน่น ..

และพระสงฆ์ประเภท "นักสร้าง" ทั้งหลายหากเอาพระพุทธวจนะมาจับต้องใช้คำว่า "โมฆะบุรุษห่มเหลือง" ขอรับ


โดย: สดายุ... วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:16:36:54 น.  

 
สวัสดีค่ะ

เห็นด้วย - ในกรณีที่หากการทำทานหรือกุศลใดๆ เป็นไปจากการมี”ตัวตน”เป็นที่ตั้ง ทำเพื่อตัวตน มิใช่เพื่อ ลด ละ ถอน ทอน มิจฉาทิฐิ ตัวตน แล้วนั้น .. นั่นมิได้มีประโยชน์ในความเป็นไปเพื่อการออกจากกิเลส กองทุกข์เลย หากจะรึงรัดมัดตัวตนให้หนาแน่นยิ่งขึ้น

เนื่องจาก .. ที่ผ่านมานั้น เห็นถึงความพยายามและเจตน์จำนงชี้หนทาง”สัมมา” และหนทางเจริญปัญญา ในพระพุทธศาสนา แต่ .. มาสะดุดเล็กน้อยในประเด็นทึ่กล่าวถึง “ความพยายามผันน้ำออกจากสระบัว”

บัวสามเหล่า – ความสามารถในการแทงทะลุปลักโคลนตม ทะลุน้ำ มาโผล่ชูช่อเบิกบานรับแสง
– และนัยยะสำคัญของระดับน้ำ อันเป็นที่มาของการผันน้ำ (?) อย่างไรหรือคะ แบบนี้ไหม?

ลองมาดูเรื่องที่ไกล..ไกลตัวออกไป - - เช่น

ก) การที่เด็กได้คะแนนมากหรือน้อย อยู่ที่หลายปัจจัย เช่น การเรียนการสอน ความสามารถของครูผู้สอน ความสามารถในการถ่ายทอด ความสามารถในการเรียนรู้และรับสื่อของเด็ก - - - และ/หรือ การตัดเคิร์ฟหรือเกณฑ์คะแนน ซึ่งหากตัดให้ต่ำลง เพื่อให้เด็กสอบผ่านได้มากขึ้น จะเรียกว่า ปล่อยเกรด หรืออะไรก็ตามแต่ เป็นต้น
ในกรณีหลังสุด จะเป็นตัวบอกหรือชี้วัดได้แค่ไหน หากเปรียบกับการผันระดับน้ำ?

หรือ - -
ข) การที่ค่าเงินแข็งหรืออ่อนตัวลง นั้น - - บอกได้จริงแค่ไหนกับความสามารถหรือศักยภาพหรือความแข็งแกร่งที่แท้จริงในการเจริญเติบโตของกิจการ
หากค่าเงินบาทอ่อนตัว - - บริษัทผู้ส่งออกมีมูลค่าทางบัญชีเพิ่มขึ้น มีผลกำไรสูงขึ้นอันเนื่องมาจากค่าเงินอ่อนตัวลง แต่พอมาดูที่ยอดขายแล้วกลับไม่เพิ่มขึ้น บางกรณีกลับต่ำลงก็มี - - เช่นนี้ จะกล่าวว่ากิจการนั้นมีความแข็งแกร่งอย่างแท้จริงไหม หรือขายของได้มากขึ้นไหม

หากเข้าใจอะไรผิดไป ขออภัยนะคะ
ขอบคุณนะคะที่เปิดรับ ความเห็น
ออกไปไกลเลย .. กลับฐานก่อนดีกว่า
สวัสดีค่ะ

(ปล – เห็นหัวเรื่องที่หน้าการศึกษา – น่าสนใจค่ะ)


โดย: มาย IP: 124.120.121.97 วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:21:11:57 น.  

 
มาย
สวัสดีครับ .. ที่จริงเรื่อง บัว 3 จำพวกนั้น .. ท่านเอาไว้เปรียบกับระดับปัญญาคน

ทีนี้คนส่วนใหญ่มักสับสนระหว่าง ปัญญา กับ ปริญญา ..

ขณะที่ตัว"ปัญญา"มุ่งไปที่ความเข้าใจในสภาพธรรมตามที่เป็นจริง โดยเป็นเรื่องนามธรรมในจิตเป็นสำคัญ ..

ส่วน "ปริญญา" หมายถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่กำหนดขึ้นมาเป็นหลักสูตรการเรียนรู้เพื่อประกอบอาชีพ ..

ดังนั้น "ระดับความเข้าใจในธรรม" คือความหมายของ บัว 3 จำพวก

การผันน้ำออกจากสระ เป็นเพียงคำพูดเชิงโวหาร .. คือหมายถึงคำพูดเชิงท้าทาย ตั้งคำถามให้คิด สำหรับชนระดับ "บัวปริ่มน้ำใกล้โผล่" คือระดับความเข้าใจในธรรมที่ยังมัวซัว ไม่แจ่มชัดนัก ต้องใช้ความพยายามมากขึ้นอีกในการไตร่ตรองข้อธรรม

ซึ่งชนกลุ่มนี้หากโชคดีไปสนใจการสอนธรรมของ สัมมาทิฏฐิสงฆ์ ก็จะเข้าใจได้ในที่สุด .. แต่หากไปสนใจพวก มิจฉาทิฏฐิสงฆ์เช่นธรรมกาย .. จิตก็คงยากจะมีพัฒนาการต่อไปได้ เพราะพื้นฐานความคิดมันเป็นศรัทธา
ไม่ใช่ปัญญา

หากน้ำยังอยู่ระดับเดิม "บัวปริ่มน้ำ-ระดับ2"ก็จะไม่ได้รับแสงแดด (เปรียบเหมือนปัญญา) แต่หากช่วยทำให้ระดับน้ำลดลง หรือช่วยดึงก้านดอกให้ยืดขึ้นพ้นน้ำ .. ดอกก็จะโผล่รับแสง (เปรียบเหมือน ช่วยกันทำให้เข้าใจหลักธรรมในแนวทางที่ถูกต้อง) ..

สิ่งที่อยากจะชี้คือ .. ให้สนใจใน"พระพุทธวจนะ" .. ไม่ใช่คำสอนแบบ"ว่าเอาเอง"ของบรรดาหลวงพ่อ หลวงพี่ ทั้งหลายที่บิดเบือนและมีส่วนโดยตรงทำให้หลักธรรมฟั่นเฟือน อย่างที่ไปสอนว่า นิพพานเป็นอัตตา ของลัทธิธรรมกายนั่นแหละ

แต่เนื่องจากเราๆในปัจจุบันคงไปอ่านภาษาบาลีในพระไตรปิฎกโดยตรงไม่รู้เรื่อง .. จึงต้องอ่าน"การอธิบาย .. การตีความหลักธรรม" ของหลวงพ่อ หลวงพี่ ต่างๆ แทน ..

ทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่า การตีความแบบไหน ถึงควรจะถือเอาเป็นข้อยุติ .. ก็เอาหลักใหญ่ใจความของพุทธธรรมมาจับ เช่น หลักไตรลักษณ์ .. ที่มี

อนิจจัง .. ความที่ไม่มีอะไรคงที่ได้ - เปลี่ยนแปลง
ทุกขัง .. ความที่การยึดมั่น ถือมั่น ในสิ่งที่เปลี่ยนแปลงเป็นทุกข์
อนัตตา .. ความที่ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตนให้ยึดถือครอบครอง - เป็นเพียงสมมุติที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

หากคำสอนใด .. มีการตีความลงกันได้กับหลักการใหญ่ทั้ง 3 นี้ได้ .. สามารถพิจารณาได้ว่าคำสอนนั้นถูกต้อง ไม่ขัดแย้งกับหลักการใหญ่

ทีนี้ลองพิจารณาเรื่อง วิญญาณล่องลอย ออกจากร่างหลังตายเข้าโลง .. แล้วอุบัติใหม่ในครรภ์หญิงท้อง .. แล้วยังนับเนื่องเป็นคนเดิม (การเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏะสงสาร) ว่า .. อย่างนี้ลงกันได้กับหลัก ..

อนิจจังไหม ?
อนัตตาไหม ?

การเปลี่ยนแปลงแต่รูปขันธ์ภายนอก .. แต่ดวงจิตหรือดวงมนัส หรือวิญญาณ ยังเป็นคนเดิม .. คือแนวคิดของ ความเที่ยงแท้ที่ไม่เปลี่ยนแปลง(หมายถึงส่วนดวงจิต) .. ขัดกับหลักอนิจจัง

เมื่อยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นคนๆเดิม .. ก็คือแนวคิดของความเป็นตัวตน - อัตตา .. ขัดกับหลักอนัตตา

ธรรมที่พระพุทธองค์สั่งสอน ย่อมไม่ขัดแย้งกัน .. ดังนั้น "วิญญาณล่องลอย" จึงไม่ใช่แนวคิดที่พระพุทธองค์สอน .. แต่เป็นแนวคิดของลัทธิพราหมณ์(ฮินดู ปัจจุบัน) จากช่วงปฏิรูปคำสอนในยุค อุปนิษัท

และพระพุทธโฆษาจารย์ ผู้แต่งคัมภีร์วิสุทธิมรรค เมื่อประมาณ พศ.1000 เอามาจับลงอธิบายหลัก ปฏิจจสมุปบาท ซึ่งผิด .. แต่ฝังหัวคนไทย พม่า ลังกา ลาว มานานเป็นพันปี จึงลบล้างยาก ..



โดย: สดายุ... วันที่: 10 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา:7:18:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.