Group Blog
 
 
กุมภาพันธ์ 2555
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
26272829 
 
28 กุมภาพันธ์ 2555
 
All Blogs
 
O แนวคิด .. การเวียนว่ายตายเกิดมาจากไหน ? O

.


ถามคำถามนี้ขึ้นมาในสังคมที่ผู้คนจำนวนมากมักไม่รู้เหนือรู้ใต้ .. ว่าแต่ละอย่างมีที่มาอย่างไร ผ่านมาสู่ปัจจุบันได้อย่างไร .. และที่หลับหูหลับตาเชื่อถือศรัทธาอยู่นั้นถูกต้องเพียงใด ?


แนวคิด .. การเวียนว่ายตายเกิดมาจากไหน
ต้องตอบว่าอิทธิพลความคิดมาจาก ศาสนาพราหมณ์ที่มีถิ่นกำเนิดเดียวกันกับศาสนาพุทธ คือ ชมพูทวีป

มาว่ากันที่ต้นตอคือพราหมณ์ก่อนเลย...


ค่อนข้างยาวอยู่สักหน่อย .. เอาเป็นว่าใครขี้เกียจอ่าน ก็ข้ามส่วนสีเขียวไปก่อนเลย .. เพราะยกเอามาจาก วิกิพีเดีย .. แล้วไปอ่านส่วนความเห็นกันเลยโดยตรงก็ได้

................................................................................................



ประวัติศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู
ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูมีแหล่งกำเนิดในเอเชียใต้ แถบประเทศอินเดียและประเทศปากีสถาน เป็นศาสนาที่เก่าแก่มากที่สุดในโลกศาสนาหนึ่ง มีอายุมากกว่า 4,000 ปี ผู้ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดูถือว่าศาสนาของตนไม่มีจุดกำเนิดและไม่มีจุดสิ้นสุดจะคงอยู่คู่โลกนิรันดร

ศาสนาพราหมณ์หรือศาสนาฮินดูเป็นศาสนาเดียวกัน คำว่า ศาสนาพราหมณ์ มีความหมายว่า“ศาสนาของพระพรหม” ต่อมาได้ปฏิรูปให้เป็น ศาสนาฮินดู คำว่า “ฮินดู” เป็นคำที่ใช้เรียกชาวอารยันที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานในลุ่มแม่น้ำสินธุซึ่งอยู่ในประเทศปากีสถานในปัจจุบัน ชนชาวอารยันได้พัฒนาศาสนาพราหมณ์โดยการปฏิรูปคำสอนเดิมและเพิ่มเติมคำสอนใหม่ๆ ลงไปผสมกับความเชื่อดั้งเดิมของชนพื้นเมืองหรือชาวมิลักขะหรือทัสยุ แต่ไม่ได้เรียกศาสนาใหม่ว่า “ฮินดู”เพียงแต่เรียกว่า “สนาตนะธรรม” หรือกฎธรรมชาติที่นิรันดร

ต่อมาชาวตะวันตกจึงเรียกศาสนาของคนแถบแม่น้ำสินธุว่า “ศาสนาฮินดู” เพราะฉะนั้นศาสนาพราหมณ์จึงมีอีกชื่อในศาสนาใหม่ว่าฮินดู ปัจจุบันนี้ศาสนิกชนพราหมณ์-ฮินดูส่วนมากอยู่ในประเทศอินเดีย ส่วนหนึ่งจะอาศัยอยู่ในประเทศอื่นๆ เช่น ศรีลังกา บาหลี อินโดนีเซีย ไทย และแอฟริกาใต้ โดยทั่วไป ถือว่าชาวฮินดูเชื่อว่ามีเทพเจ้าสูงสุด 3 องค์ คือ พระพรหม ซึ่งเป็นผู้สร้างโลก พระอิศวร หรือ พระศิวะ เป็นผู้ทำลาย และพระวิษณุ หรือ พระนารายณ์ เป็นผู้ปกป้องและรักษาโลก


ความเป็นมา
ศาสนาฮินดูมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนานมากกว่า 4,000 ปี เป็นศาสนาที่ไม่มีศาสดาเป็นผู้ประกาศศาสนา เป็นศาสนาของชาวอารยะ(ภาษาบาลีเรียกว่าชาวอริยกะ)ซึ่งเชื่อกันว่าอพยพมาจากยุโรป เข้ามาสู่อินเดียเมื่อราว 4,000 กว่าปีมาแล้ว ชาวฮินดูเชื่อว่าศาสนาฮินดูสืบทอดมาจากคัมภีร์พระเวทซึ่งเชื่อว่าฤาษีในสมัยก่อนได้รับ โดยตรงจากพระเป็นเจ้าจึงมีชื่อเรียกรวมๆว่า คัมภีร์ศรุติ (Śruti) จากหลักฐานทางโบราณคดีทำให้เราทราบว่าชาวพื้นเมืองเดิมที่บริเวณลุ่มแม่น้ำสินธุ

เป็นเจ้าของวัฒนธรรมซึ่งเรียกกันว่า อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ (ราว 2047-1357ปี ก่อน พ.ศ.) เป็นอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองเพราะมีการสร้างเมืองที่มีผังเมืองเป็นระเบียบ ประชาชนมีการอาบน้ำตามพิธีทางศาสนาเคารพบูชาเทพเปลือยกายที่มีเขาและมีสัตว์แวดล้อม กราบไหว้เทพที่สิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ นับถือสัตว์คล้ายวัวมีเขาหนึ่งเขา ศาสนาของชาวพื้นเมืองเดิมแตกต่างจากศาสนาของชาวอารยะที่อพยพเข้ามาในภายหลังที่มาตั้งรกรากยุคแรกๆที่ลุ่มแม่น้ำสินธุ ชาวอารยะยุคแรกๆเคารพนับถือเทพหลายองค์ที่เป็นพลังอยู่เบื้องหลังธรรมชาติซึ่งยังไม่มีรูปร่างแบบรูปร่างมนุษย์อย่าง ชัดเจนเหมือนเทพในศาสนาฮินดูยุคหลัง ยุคที่ชาวอารยะเข้ามานั้นอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุได้ล่มสลายไปแล้ว แต่ศาสนาของชาวพื้นเมืองเดิมก็ยังคงมีผู้นับถือต่อมาและได้มีอิทธิพลต่อศาสนาของชาวอารยะในสมัยหลัง

ศาสนาพราหมณ์หรือฮินดูเป็นศาสนาที่เก่าแก่มากที่สุดในโลกศาสนาหนึ่ง มีอายุกว่า 4,000 ปี เนื่องจากศาสนา นี้มีวิวัฒนาการ อันยาวนานผ่านขั้นตอนทางประวัติศาสตร์หลายขั้นตอนตั้งแต๋โบราณกาลถึง ปัจจุบัน จึงเป็นการยากในการศึกษาเรื่องราวต่างๆ ให้แจ่มแจ้งชัดเจนยิ่งกว่าศาสนาอื่นๆ ไม่มีใครกำหนดได้ว่าศาสดาคือใคร จนต้องถือว่าไม่มีศาสดา หรือผู้ก่อตั้งศาสนา คิดว่าเกิดจาก การได้ยินได้ฟังต่อๆ กันมา หรือเกิดจากประสบการณ์ทางศาสนา ของชาวฮินดูร่วมกัน เกิดเป็นคำสอน เป็นคำภีร์ขึ้นจนผู้นับถือศาสนา มีความเชื่อและแนวทางปฏิบัติต่างกันมากมาย ทั้งในสมัยเดียวกัน และสมัยต่างกัน แม้แต่ชื่อของศาสนาเอง ก็ยังเรียกต่างกันไปตาม กาลเวลา


สัญลักษณ์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู



คือ อักษรเทวนาครี อ่านว่า “โอม” ตัวอักษรที่อ่านว่า โอม มาจาก อ + อุ + มะ เป็นแทนพระตรีมูรตีเทพ คือ อ แทนพระนารายณ์หรือพระวิษณุ อุ แทนพระพรหมา ม แทนพระศิวะ หรือพระอิศวร เมื่อรวมกันเข้าเป็นอักษรเดียวกลายเป็นอักษร โอม แทนพระปรมาตมัน พระเจ้าสูงสุด ไม่มีตัวตน สัญลักษณ์นี้ทุกนิกาย ทุกลัทธิ ในศาสนาพราหมณ์ฮินดู ต้องใช้เป็นประจำ สัญลักษณ์รองลงมาคือ เครื่องหมายสวัสดิกะ เป็นสัญลักษณ์ที่ทุกนิกาย ทุกลัทธิใช้กันมาก เป็นเครื่องหมายแทนพระพิฆเนศวร หรือพระคเณศ หมายถึงเป็นมงคลทุกด้าน ทุกมุม ปราศจากอุปสรรคทั้งปวงรองลงมามีเครื่องหมายสัญลักษณ์หลายอย่าง

ซึ่งแต่ละนิกายและลัทธิ ใช้กันประจำนิกาย และลัทธิ เช่น นิกายไศวะ ใช้รูปตรีศูล นิกายไวษณพ ใช้รูปจักร เป็นต้น ในประเทศไทย เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ ใช้ทั้งตรีศูล และตัวอักษร โอม เป็นสัญลักษณ์ ทางสมาคมฮินดูสมาชเอาตัวอักษรโอม เป็นสัญลักษณ์ สมาคมฮินดูธรรมสภา เอารูปโอม ล้อมรอบด้วยสวัสดิกะ และจักร ในรูปวงกลมเป็นสัญลักษณ์ ทั้งสามสถาบัน รวมกันเรียกว่า องค์การศาสนาพราหมณ์ฮินดู ซึ่งมัสัญลักษณ์ร่วมคือ ตัวโอม อยู่ระหว่างตรีศูล นอกจากนี้ยังมีรูปดอกบัว สังข์ คฑา ช้าง โค พระอาทิตย์ นกยูง สิงโต งู คันไถ และอื่น ๆ ใช้เป็นสัญลักษณ์ประจำนิกาย และประจำลัทธิด้วย แต่ต้องมีตัวโอมอยู่เสมอ


การแบ่งยุคสมัยของศาสนาพราหมณ์ –ฮินดู
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เกิดก่อน ค.ศ.ประมาณ 1,500 ถึง 2,000 ปีหรือก่อน พ.ศ.ประมาณ 957 ถึง 1,457 ปี คิดตามชนชาติอารยันยกมาสู่อินเดีย ศาสนานี้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับสามารถแบ่งเป็น 4 สมัยได้ดังนี้

1.สมัยอริยกะ
2.สมัยพระเวท
3.สมัยพราหมณกะ
4.สมัยอุปนิษัท-ฮินดู


สมัยอริยกะ
เริ่มตั้งแต่พวกอริยกะอพยพจากอิหร่านเข้ามาสู่อินเดีย เดิมพวกอริยกะซึ่งยังอยู่รวมกันในอิหร่าน ยังนับถือ อหุรมัศดา เป็นเทพเจ้าของตนอยู่ ต่อมาอริยกะพวกหนึ่งเกิดสร้างพระอินทร์ขึ้นมานับถือ แข่งกับพระ อหุรมัศดา จึงเกิดการแตกแยกกันอย่างรุนแรง จึงอยู่ด้วยกันไม่ได้ พวกพระอินทร์จึงอพยพมาประเทศอินเดีย ต้องต่อสู้กับพวกเจ้าถิ่นซึ่งเรียกว่า ทัสสยุหรือมิลักขะ พวกที่อพยพมาอยู่ที่อินเดียได้สร้างเทพเจ้าขึ้นอีกหลายองค์ เช่น พระสาวิตร (ตะวัน) พระวรุณะ (ฝน,น้ำ) พระยม (ผู้กำหนด , ผู้ทำลาย) กับเทพอรยะมันมิตระ โสม (อหริมัน มิถระ โหม ในศาสนาปรฺชี) รวมเป็น 4 องค์ เป็นเทพผู้รักษาโลกทั้ง 4 ทิศ และได้กล่าวถึงการสร้างโลกของพระอินทร์ว่า พระอินทร์เป็นผู้จัดที่ และยกภูเขาเป็นหลังคาโลก พระยมปักเสาไม้ค้ำไว้

หลังคาโลกคือฟ้าในสมัยอริยกะนี้ คำสั่งสอนมักปนอยู่ในคำสวด คำบูชาสรรเสริญเทพเจ้าจึงเป็นเรื่องต่างคนต่างทำ และในสมัยนี้เทพเจ้าไม่มีกำเนิด คือมีขึ้นมาเอง เทพเจ้าในสมัยนี้มี 2 พวก คืออยู่บนโลกกับอยู่บนฟ้า ผู้ทำหน้าที่สวดบูชา อ้อนวอนติดต่อกับเทพเจ้า เรียกว่า พราหมณ์ และพราหมณ์ประจำตระกูล เรียกว่า ปุโรหิต พวกอริยะถือว่าคนตายแล้ว วิญญาณยังอยู่ ยังวนว่ายตายเกิดอยู่ ดังนั้นจึงต้องทำพิธีสังเวยวิญญาณ พวกเจ้าถิ่นนั้นมีความเจริญทางการก่อสร้าง ทางความคิดและทางวัฒนธรรมมาแล้ว แต่รบสู้พวกอริยกะไม่ได้ แต่พวกอริยกะได้ยอมรับความคิดของเจ้าถิ่น ผสมกันกับความคิดของตน เป็นเหตุให้เกิดพระเวท และเริ่มสมัยพระเวท


สมัยพระเวท
เวท แปลว่ารู้ สมัยพระเวทมีคัมภีร์อยู่ 3 เรียกว่า ไตรเพท คือ “ฤคเวท” เป็นฉันท์ สำหรับสวดอ้อนวอนและสรรเสริญเทพเจ้า “ยชุรเวท” เป็นคำร้อยแก้วว่าด้วยพิธีทำพลีกรรมและบวงสรวง “สามเวท” เป็นคำฉันท์สวดในพิธีถวายของแก่เทพเจ้าและขับกล่อมเทพเจ้าและต่อมามีการเพิ่ม อถรรพเวท อันเป็นเรื่องคาถาอาคม มนต์ขลัง นำศิริมงคลมาสู่ตน นำความร้ายไปสู่ผู้อื่น และวิธีแก้อาถรรพต่างๆ

แม้จะมี 4 คัมภีร์ดังกล่าวแล้วนั้น แต่ก็ยังเรียกไตรเพท เดิมทีนั้นมีฤคเวทยชุรเวท แยกเป็นคำสวดที่เป็นคำฉันท์ ว่าด้วยวิธีถวายของบูชาแก่เทพเจ้าและฉันท์สำหรับขับกล่อมเทพเจ้าเป็นคัมภีร์สามเวท ส่วนที่เหลือจึงคงเป็นฤคเวท (ฤค แปลว่า คำฉันท์, สามแปลว่า สวด) ฤคเวทนี้ พระวิศิษฐฤษี กับวิศวามีตรฤษี เป็นผู้ได้สดับจากพระพรหม เรียกว่า ศรุติ แต่วยาสฤษี เป็นผู้เขียนคัมภีร์ไตรเพทเป็นคนแรก

ในสมัยนี้มีการแบ่งชนชั้นโดยบัญญัติเรื่องวรรณะขึ้น 4 วรรณะ โดยกำหนดสีของผิวกาย พวกอริยกะมีผิวสีขาว พวกเจ้าถิ่นมีผิวสีดำ พวกผิวขาวซึ่งเป็นผู้ชนะ เป็นชนชั้นปกครอง จึงดูหมิ่นพวกแพ้ผู้มีผิวดำ จึงแบ่งเป็นวรรณ คือ ชั้น ด้วยอาศัยผิวเป็นเครื่องกำหนด และสร้างกฏมีเกณฑ์เกี่ยวกับชั้นให้ซับซ้อน ดังนี้

1. วรรณกษัตริย์ เป็นนักรบ นักปกครอง นักบริหารบ้านเมือง
2. วรรณพราหมณ์ เป็นผู้นำทางศาสนา ทางวิทยาการ เป็นผู้สอน เป็นผู้รับทักษิณา เป็นผู้ประกอบพิธีบูชา
3. วรรณแพศย์ เป็นพวกพ่อค้า
4. วรรณศูทร เป็นพวกกรรมกร ผู้ใช้แรงงาน
วรรณะที่ 1-2 ต่างก็ถือว่าตนเป็นใหญ่เป็นอันดับหนึ่ง

ในสมัยอริยกะ เทพเจ้าเกิดขึ้นมาลอยๆไม่มีผู้ให้กำเนิด แต่สมัยพระเวทต้องสร้างผู้ให้กำเนิดแก่เทพเจ้าทั้งหลาย โดยเรียกว่าเป็นเทพบิดร และสมัยพระเวทได้สิ้นสุดลงด้วยความสับสน พร้อมกับกำเนิดสมัยพราหมณะ


สมัยพราหมณกะ
สมัยนี้สร้างพระพรหมขึ้นนับถือบูชา กล่าวว่าพราหมณ์มาจากพระพรหม และยกย่องไว้เหนือพระอินทร์ โดยให้พระพรหมเป็นผู้สร้างทุกอย่าง พวกผู้นำศาสนาเรียกตัวเองว่า พราหมณ์ แปลว่า วงศ์พรหม คือสืบเชื้อสายจากพระพรหม พวกพราหมณ์ แบ่งเป็น สมณพราหมณ์คือพราหมณ์นักบวชที่ไม่มีครอบครัว และคฤหบดีพราหมณ์ คือพราหมณ์นักบวชที่มีครอบครัว

ในมานวธรรมศาสตร์ จัดพราหมณ์เป็น 4 อาศรม คือ

1. พรหมจารี หมายถึง นักศึกษา ก่อนจะเข้าศึกษา สมณพราหมณ์ จะทำพิธีเศกมนตรบนตัวนักศึกษา และคล้องด้วยศักดิ์สิทธิ์เรียกว่า ยัชโญประวีต คือ สายคุรำ หรือสายมงคล เฉวียงบ่าให้แล้วจึงเริ่มเรียน ตอนคล้องด้ายนั้น พราหมณ์ถือว่า เกิดอีกครั้งหนึ่งเป็นทวิช คือเกิดสองครั้ง

2. คฤหัสถ์ หมายถึงพราหมณ์ผู้อยู่บ้าน มีครอบครัว เป็นหัวหน้า ทำหน้าที่อ่านคัมภีร์ สอน บูชาเอง และช่วยผู้อื่นบูชา

3. วนปรัสถ์ พราหมณ์อยู่ป่า ละชีวิตในบ้าน ละครอบครัวบำเพ็ญตะปะในป่า มีชื่อเรียกต่างๆ คือ
ฤษี(ผู้แสวงหาโมกษ)
โยคี(ผู้บำเพ็ญโยคะ)
ตาปส (ผู้บำเพ็ญตปะ ทรมานกาย)
มุนี (ผู้สงบ บำเพ็ญตปะ นุ่งห่มสีเหลือง)
สิทธา (ผู้สำเร็จได้ฌานสมาบัติ)
นักบรต (ผู้บวชบำเพ็ญพรตพรหมจรรย์ ตามแบบพราหมณ์)
ชฎิล (ผู้มุ่นผมสูงเป็นชฎา)

ทั้ง 7 ทำบรรณศาลา คือ กระท่อมใบไม้อยู่ และถ้าอยู่หลายคนรวมกันในศาลาเดียวกันเรียกว่า อาศรม นักบวชเหล่านี้นุ่งหุ่มเปลือกไม้หรือหนังสัตว์ เลี้ยงชีพด้วยผลไม้ รากไม้ ใบไม้ในป่า จึงเกิดมีคัมภีร์อารัณยกะ สำหรับให้นักบวชเหล่านี้ได้ศึกษา

4. สันยาสี หมายถึงพราหมณ์ผู้ท่องเที่ยว เลี้ยงชีพด้วยภิกขาจาร ใจมุ่งตรงต่อพระมหาพรหม

คัมภีร์พราหมณะ เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์พระเวทว่าด้วยพิธีกรรมเป็นคัมภีร์ว่าด้วยความรู้เกร็ดเกี่ยวกับกฏในการทำพิธี การออกเสียงในเวลาขับ พราหมณ์ต่างนิกายต่างมีคัมภีร์นี้เป็นของตนเองและปกปิดพราหมณ์ต้องศึกษาคัมภีร์นี้ร่วมกับคัมภีร์ไตรเพทด้วย

ศาสนาพราหมณ์ยิ่งขยายกว้างยิ่งวิปริต ยิ่งยึดถือเรื่องวรรณ จนบางนิกายสามีรับประทานอาหารกับภรรยาไม่ได้ ลดความสำคัญของเทพเจ้าบางองค์ เช่น พระอินทร์ ยกเทพเจ้าบางองค์ซึ่งเคยต่ำให้สูง เช่น พระวิษณุ พระศิวะ และมีบัญญัติอะไรอีกมาก รวมทั้งหาทางสู้กับพระพุทธศาสนา สิ่งเหล่านี้เป็นเหตุให้ศาสนาพราหมณ์กลายเป็นฮินดู


สมัยอุปนิษัท-ฮินดู
เกิดขึ้นหลังพุทธกาล ราว 200 ปี เกิดขึ้นจากการปรับปรุงศาสนาพราหมณ์ จนกลายเป็นศาสนาฮินดู ได้ปรับปรุงด้วยการอนุโลมตามความชอบของประชาชนกับด้วยวิธีรวมเอามาเป็นของตน เช่น พระพรหมเดิมไม่มีตัวตน ไม่มีเพศ ก็ให้มีตัวตนเป็นเพศชาย มีสี่หน้า สี่กร มีชายาชื่อพระสรัสวดี ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งสติปํญญาข้อนี้เป็นการปรับปรุงอนุโลมตามความชอบของประชาชน

ยุคนี้มีการเพิ่มเทพอีกมาก และสับสนมาก ในสมัยพระเวท พระวิษณุเป็นเทพชั้นต่ำ มาสมัยฮินดูกลายเป็นเทพชั้นสูง กลายเป็นผู้ให้กำเนิดพระพรหม ในระหว่าง พ.ศ. 861-1190 ศาสนาฮินดูแตกแยกนิกายมาก บางนิกายมีความประพฤติทราม ส่งให้เกิดคัมภีร์ปุราณะ

คัมภีร์ปุราณะ เป็นคัมภีร์หลังสุด ที่พราหมณ์ได้แต่งขึ้น หลังจากที่ได้สร้างเทพเจ้าประจำสิ่งต่างๆไว้มาก จึงต้องแต่งคัมภีร์เป็นฐานรับรองความสำคัญ โดยเฉพาะพระวิษณุกับพระศิวะ และกล่าวว่าเทพเหล่านี้ได้เสด็จลงมาโปรดมนุษย์ โดยอวตารเป็นบุคคลนั้นๆ คัมภีร์นี้แต่งเป็นกาพย์ ฉันท์ปนกัน คัมภีร์ทุกคัมภีร์มีการอ้างว่าผู้แต่งเป็นมุนิตนใดตนหนึ่ง โดยได้รับศรุติมาจากเทพเจ้า


ประวัติคัมภีม์พระเวท หรือไตรเพท
ประวัติศาสตร์การเริ่มต้นของพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์ในประเทศอินเดีย คือดินแดนที่เป็นต้นกำเนิดของลัทธิศาสนาที่สำคัญมากมาย อาทิ ศาสนาพราหมณ์ ซึ่งภายหลังวิวัฒนาการมาเป็นศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธ ศาสนาเชน เป็นต้น ชาวอินเดีย เป็นชาติที่มีศรัทธาเลื่อมใสในศาสนาอย่างแรงกล้า มีลัทธิพิธีบูชาสังเวยพระเป็นเจ้าในศาสนา หรือการปฏิบัติศาสนกิจที่แปลกน่าสนใจอย่างมากมาย

ชาวอินเดียยอมรับกันอย่างมากว่าลัทธิความเชื่อในศาสนาเป็นปัจจัยในการครองชีวิตความเป็นอยู่และในจิตใจของตนเชื่อว่าศาสนาคือโครงสร้างที่สำคัญของสังคมอินเดียจึงเกิดการ ปกครองที่มีระเบียบแบบแผน ยังมีความหมายถึงสิ่งที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตซึ่งพิธีกรรมต่าง ๆ ของศาสนาจะเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตลอดเวลา ลัทธิศาสนาในอินเดียยุคโบราณประกอบด้วย ศาสนาหลัก และศาสนาย่อยลงมาแยกเป็นลัทธิสาขาต่าง ๆ ออกไปอีกมากมายประวัติศาสตร์อินเดียสมัยโบราณกล่าวถึง ศาสนาพราหมณ์ว่าเป็นศาสนาดั้งเดิมของชาวอินเดียที่ประกอบไปด้วยการเคารพบูชาพระเป็นเจ้าต่าง ๆ วิวัฒนาการของศาสนาพราหมณ์ มีวิวัฒนาการหรือพัฒนาการมาจากการบูชาธรรมชาติ นับถือผีสางเทวดา ซึ่งเป็นศาสนาดั้งเดิมสุด (ช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ของอินเดีย) ความเชื่อนี้เรียกว่า ลัทธิบูชาธรรมชาติ มีการบูชาต้นไม้ สัตว์ รูปเคารพที่เป็นมนุษย์ “สมัยนี้เรียกสมัยพระเวท (คัมภีร์พระเวท)” ซึ่งศาสนาที่กำเนิดขึ้นมาในช่วงนี้เรียก ศาสนาพราหมณ์ในสมัยพระเวท

คัมภีร์สำคัญของศาสนาพราหมณ์ที่ต่างก็รู้จักเป็นอย่างดีนั่นคือ คัมภีร์พระเวท คำว่า “พระเวท (Vedas)” หมายถึง ความรู้ศักดิ์สิทธิ์ คัมภีร์พระเวทนั้นถือเป็นแหล่งอันสูงสุดในการพิจารณาตัดสินปัญหาในทางปรัชญาและศาสนา ชาวอารยันได้รวบรวมบทสวดอ้อนวอนเทวะที่ใช้กันมาในวงศ์ตระกูลขึ้นเป็นหมวดหมู่ คัมภีร์เหล่านี้เรียกว่า “เวท” หรือ “วิทยา” ได้แก่ความรู้ซึ่งถือเป็น ศรุติ ๓ หมายถึง วิทยาที่ได้รับฟังมาจากเทวะ คือ ความรู้ที่พระผู้เป็นเจ้าแสดงให้ปรากฏ โดยบรรดา ฤษี รับการถ่ายทอดมาโดยตรง แล้วนำมาเผยแผ่ด้วยการท่องจำแบบปากเปล่าในเฉพาะหมู่ของพวกพราหมณ์ ความรู้เช่นนี้จะเรียนกันเฉพาะหมู่ของบุคคลที่เลือกสรรแล้ว

คัมภีร์พระเวทนี้ก็ยังมีแยกย่อยลงไปอีกเป็น ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท อาถรรพ์เวท การบูชาพระเป็นเจ้าในสมัยพระเวท จากคัมภีร์ต่างๆ ที่ค้นพบกล่าวไว้ดังนี้ คัมภีร์ฤคเวท เชื่อว่าเป็นหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดียกล่าวถึงบทสวดสรรเสริญพระเป็นเจ้า และลักษณะการบูชาสังเวยพระเป็นเจ้าด้วยสิ่งต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์ พระเป็นเจ้าในคัมภีร์ฤคเวท อาทิ พระอัคนี หรือไฟ, พระวรุณ เทพแห่งท้องฟ้า, พระอินทร์ พระวายุ เทพแห่งลม, พระสุริยะ เทพแห่งตะวัน การบูชา พระเป็นเจ้า

ในคัมภีร์ฤคเวทกล่าวถึงการบูชาไฟ ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่เด่นที่สุด เพื่อขอพรจากพระเป็นเจ้าให้ทรงมอบความสุขและความโชคดีให้แก่ผู้ที่บูชานั้น เครื่องสังเวยที่ใช้ในการบูชาไฟของพราหมณ์ คือ บูชาด้วยอาหารที่หุงต้มแล้ว โดยจัดทำภายในบ้านประกอบด้วย น้ำนม เมล็ดข้าว เนยแข็ง เหล้าโสม (กลั่นจากต้นไม้) ดอกไม้ เป็นต้น เมื่อทำพิธีกรรมให้นำอาหารเหล่านี้ใส่ลงไปในกองไฟ พร้อมสวดสรรเสริญพระเป็นเจ้า บูชาสังเวยไฟด้วยชีวิต เครื่องสังเวยชีวิต เป็นต้นว่าสัตว์ ๔ เท้า หรือสัตว์ปีก รวมถึงมนุษย์ ซึ่งเป็นวิวัฒนาการของศาสนาพราหมณ์ในช่วงต้นคริสต์ศักราช เรียกในนามศาสนาฮินดู สัตว์ที่ใช้ในพิธีกรรม เช่น แพะ แกะ ควาย ไก่ นก เป็นต้น โดยการนำเลือดสด ๆ ใส่ลงไปในกองไฟที่กำลังลุกไหม้ บูชาสังเวยด้วยน้ำโสม (เหล้าโสมที่กลั่นจากต้นไม้ชนิดหนึ่ง)

การเตรียมสถานที่ทำพิธี พระฮินดูผู้ทำพิธีจะพิจารณาเลือกสถานที่ ๆ จะก่อไฟศักดิ์สิทธิ์ (เรียกว่า กองกูณฑ์) โดยจะใช้มีดปลายแหลมหรือไม้ ทำการขีดลงบนพื้นดิน ๓ ขีด เพื่อเลือกสถานที่หลังจากนั้นก็จะขุดดินบริเวณนั้นให้เป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสตกแต่งผิวรอบ ๆ ให้เรียบจากนั้นก็จะนำน้ำศักดิ์สิทธิ์มาเทราดในบริเวณนั้นแล้วรอจนแห้งสนิทก่อนที่จะเริ่มพิธีกรรมบูชาไฟ ในอินเดียเวลามีการทำพิธีกรรมบูชาไฟ เครื่องสังเวยที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ หญ้าคา เชื่อว่าเป็นหญ้าศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวข้องกับพระเป็นเจ้า จึงต้องนำเอาหญ้าคามาเป็นเครื่องสังเวยด้วย หญ้าคา ในทางศาสนาพราหมณ์มีความเกี่ยวข้องกันคือ อาสนะที่ประทับของพระศิวะบนเขาไกรลาสทำด้วยสิ่งนี้ ชาวฮินดูลัทธิไศวะนิกายที่นับถือพระศิวะเป็นเทพสูงสุด จะนำหญ้าคามาเพื่อเป็นเครื่องบูชา


คัมภีร์ฤคเวท
เชื่อว่าเป็นหนังสือที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดีย กล่าวถึงบทสวดสรรเสริญพระเป็นเจ้า และลักษณะการบูชาสังเวยพระเป็นเจ้าด้วยสิ่งต่าง ๆ ในศาสนาพราหมณ์ บรรจุเรื่องราวสภาพสังคม และการใช้ชีวิตของคนในสมัยนั้น กล่าวกันไว้ว่าคัมภีร์นี้ได้ออกจากพระโอษฐ์ของพระพรหม และเหล่าฤาษีได้นำมาสั่งสอนมวลมนุษย์อีกที คัมภีร์นี้เป็นบทสรรเสริญบนบานต่อเทพเจ้าเพื่อขอให้ช่วยกำจัดภัยทั้งหลายทั้งมวล นับเป็นคัมภีร์เล่มแรกในวรรณคดีพระเวท เป็นตำราทางศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก ประกอบไปด้วยบทสวดที่วางท่วงทำนองในการสวดไว้อย่างตายตัว กล่าวถึงบทสรรเสริญคุณ อำนาจแห่งเทวะ และประวัติการสร้างโลก รวมถึงหน้าที่ของพระพรหมผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่ง ซึ่งจะใช้ในพิธีการบวงสรวงเทพเจ้าต่าง ๆ ของชาวอารยัน ตามประเพณีของฮินดูแล้ว การแบ่งหมวดหมู่ของคัมภีร์พระเวทนี้ วยาส ( ผู้แต่งมหากาพย์ มหาภารตะ ) เป็นผู้ทำขึ้นโดยรับคำสั่งจากพระพรหม การจัดรวบรวมบทสวดในคัมภีร์ฤคเวทนี้ เรียกว่า ฤคเวทสังหิตา


คัมภีร์ยชุรเวท
เป็นคัมภีร์ใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของพราหมณ์ กล่าวถึงลักษณะและความสำคัญของพิธีกรรมบูชาไฟ และพิธีกรรมต่าง ๆ แสดงถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ทั้งการบูชาและการบวงสรวง เป็นคัมภีร์ที่พวกพราหมณ์อัธวรรยุ ๔ ใช้ในการทำพิธีบูชา รจนาขึ้นราว ๑-๒ ศตวรรษหลังจากฤคเวท โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งได้มาจากฤคเวท นำมาดัดแปลงและเรียบเรียงขึ้นใหม่ อีกส่วนเป็นบทร้องกรองที่ใช้ในพิธีบูชาโดยเฉพาะ ยชุรเวทนี้แบ่งออกเป็น ๒ ชนิดคือ

๒.๑ ไตติริยะสังหิตา หรือ “พระกฤษณะ” หรือ “ยชุรเวทดำ” เป็นยชุรเวท เดิมที่ยังไม่ได้มีการแบ่งแยก

๒.๒ วาชเนยิสังหิตา หรือ “ศุคล” หรือ “ยชุรเวทขาว” คือยชุรเวทที่แบ่ง เฉพาะโศลกไว้พวกหนึ่ง และร้อยแก้วไว้อีกพวกหนึ่งในการทำพิธีบูชายัญนั้น พิธีที่สำคัญคือ ทศปุรณมาส เป็นการกระทำพิธีในคืนพระจันทร์เต็มดวง และ อัศวเมธ คือการทำพิธีบูชายัญด้วยการถวายม้า


คัมภีร์สามเวท
ประกอบด้วยโคลงบทสวด สำหรับพราหมณ์ใช้สวดทำพิธีสังเวยบูชาเทพเจ้า และการบูชาด้วยน้ำโสมเนื้อหาส่วนใหญ่ของสามเวทนี้จะได้มาจากฤคเวท นำมาร้อยกรองเป็นบทสวด เป็นเนื้อหาในส่วนที่ใช้ในการแสดงกลศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์ รวมถึงสังคีตอันเป็นบทสวดสรรเสริญคุณและฤทธิ์ของเทวะ ใช้เฉพาะในหมู่ของพวกพราหมณ์อุทคาตรี ๔ สำหรับการทำพิธีบูชาน้ำโสม สังหิตาของสามเวทนี้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน คือ “อรชิต” มีบทร้อยกรอง ๕๘๕ บท และ“อุตตรารชิต” มีบทร้อยกรอง ๑,๒๒๕ บท คัมภีร์พระเวทสามเล่มแรกนี้ หมายถึง ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท นับเป็นสามเล่มหลักรวมเรียกว่า ไตรเวท หรือ ไตรเพท


คัมภีร์อาถรรพ์เวท
เป็นพระเวทที่สี่ซึ่งเขียนขึ้นมาในภายหลัง ประกอบด้วยบทสวดคาถาเกี่ยวกับไสยศาสตร์ เป็นพระเวทชนิดพิเศษเรียกว่า “ฉันท์” อันมิได้ถูกจัดอยู่ในไตรเพทเพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีบูชายัญแต่อย่างใด อาถรรพ์เวทนี้ถือว่าเป็นความรู้ที่ปรากฏแก่พวกพราหมณ์อัธวรรยุ พระเวทตอนนี้มีความเกี่ยวของกับไสยศาสตร์บทสวดต่าง ๆ อันมีจุดประสงค์เพื่อขจัดโรคและภัยพิบัติ ทั้งกล่าวรวมถึงหน้าที่ของกษัตริย์และสัจธรรมขั้นสูง

คัมภีร์พระเวทแต่ละคัมภีร์นั้นจะแบ่งออกเป็น ๒ ตอนใหญ่ ๆ คือ มันตระ และ พราหมณะ “มันตระ” หรือ “มนต์” จะรวบรวมบทสวดที่กล่าวถึงเทพเจ้าแห่งปัญญา สุขภาพ ความมั่งคั่ง และความมีอายุยืน รวมถึงบทสวดอ้อนวอนเพื่อขอทาสบริวาร สัตว์เลี้ยง บุตร ชัยชนะในสงคราม หรือแม้กระทั่งการของให้ยกเลิกซึ่งบาปทั้งปวงอันได้กระทำลงไป บางทีก็เรียกว่า สังหิตา หมายถึง บทสวดหรือมนต์ที่ใช้ในการทำพิธีบูชานั่นเอง ส่วนขยายเนื้อหาของคัมภีร์อาถรรพ์เป็นส่วนว่าด้วยมนต์พระเวทเกี่ยวกับอาถรรพ์ต่าง ๆ เช่น
- การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ
- การกำจัดภัยร้ายจาก พยาธิภัย หรือมรณะภัย
- การใช้เสกสิ่งต่าง ๆ เข้าในตัวหรือฝังรูปฝังรอย หรือเสน่ห์ยาแฝด เป็นต้น

คัมภีร์ฤคเวท มันตระ จะเรียกว่า “ฤค” อันเป็นร้อยกรองที่มีใจความในการสรรญเสริญพระเจ้า เป็นท่วงทำนองเพื่อการอ่านออกเสียงในการทำพิธีบรวงสรวง คัมภีร์ยชุรเวท มันตระ เรียกว่า “ยชุส” เป็นร้อยแก้ว ที่ใช้สวดออกเสียงค่อย ๆ ในการประกอบศาสนพิธี คัมภีร์สามเวท มันตระ จะเรียกว่า “สามัน” อันเป็นบทสวดมีทำนอง แต่ใช้เฉพาะในพิธีบูชาน้ำโสม ส่วนใน อาถรรพ์เวทนั้น มันตระ ไม่มีชื่อเรียกโดยเฉพาะ นอกเหนือจากคัมภีร์สำคัญ ๔ คัมภีร์ที่กล่าวข้างต้นแล้ว เหล่าพราหมณ์ได้ช่วยกันสร้างพระเวทขึ้นอีก ๔ ส่วน เรียก อุปเวท คือตำราต่าง ๆ ในส่วนที่เฉพาะเจาะจงไปในแต่ละสาขา ประกอบด้วย

๑. อายุรเวท คือตำราแพทย์ศาสตร์ ว่าด้วยการใช้สมุนไพร และเวทมนต์ในการรักษาโรค โดยมีเทวดาประจำ คือ ฤาษีทั้ง ๗ (ไม่ปรากฏนาม)
๒. คานธรรพ์เวท คือตำราดนตรี นาฏศิลป์ หรือการฟ้อนรำ และการขับร้องโดยมีเทวดาประจำ คือ พระนารทฤาษี หรือฤาษีนารอท หรือพระปรคนธรรพ
๓. ธนุรเวท คือตำราวิชายิงธนู และการใช้อาวุธในสงคราม เรียก ยุทธศาสตร์ เทวดาประจำ คือ พระขันทกุมาร
๔. สถาปัตยเวท คือตำราวิชาก่อสร้าง (ปัจจุบันเรียกสถาปัตยกรรม) เทวดาประจำ คือ พระวิษณุกรรม

จากอดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการบูชาเทพเทวดาผู้ดูแลตำราคัมภีร์ทั้ง ๔ นี้โดยตลอด ดังจะเห็นจากการทำพิธีไหว้ครูของศิลปินแขนงต่าง ๆ พราหมณะ เป็นส่วนที่อธิบายถึงวิธีและรายละเอียดในการจัดศาสนพิธิที่ต้องสวดมันตระ และอธิบายเรื่องราวต่าง ๆ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับมันตระ คัมภีร์พระเวทเฉพาะตอนของ พราหมณะ นี้ ยังสามารถแยกออกเป็นแขนงสำคัญได้อีก ๒ แขนงคือ อารัณยกะ และ อุปนิษัท อารัณยกะ แปลว่า บทเรียนผู้อยู่ในป่า เป็นบทคำสอนการดำเนินชีวิตของพราหมณ์ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งออกจากป่าบำเพ็ญเพื่อบรรลุโมษะ การปฏิบัติตามบทเรียนนั้นๆ เรียกว่า การเข้าสู่อาศรม คัมภีร์อารัณยกะนี้มีลักษณะการพัฒนาทางจิตอันก้าวไปได้ไกลมากในพัฒนาการของแนวความคิดทางศาสนาของชาวอินดู อาศรมแห่งการบำเพ็ญเพียร ประพฤติตนให้เป็นพราหมณ์ ดำเนินความตามคัมภีร์อารัณยกะแห่งพราหมณะมีอยู่ “อาศรม ๔” หรือ ๔ ลำดับแห่งการบำเพ็ญตน คือ

๑. พรหมจารี แปลว่า ผู้ประพฤติพรหมจรรย์
๒. คฤหัสถ์ แปลว่า ผู้ครองเรือน
๓. วนปรัสถ์ แปลว่า ผู้อยู่ป่า
๔. สันยาสี แปลว่า ผู้แสวงหาธรรม

อาศรมทั้ง ๔ ( Stages of Life ) นับเป็นแนวทางปฏิบัติอันเป็นต้นรากแห่งชีวิตของพราหมณ์ ถือว่าเป็นธรรมประจำตัวของชาวฮินดู ผู้มุ่งต่อโมษะที่เป็นไปในเบื้องหน้า อุปนิษัท แต่งขึ้นโดยยึดคัมภีร์พระเวทเป็นหลัก แปลตามตัวพยัญชนะว่า “เข้าไปนั่งลง” ตามความหมายว่า บทเรียน ซึ่งได้แก่บทเรียนอันเป็นส่วนลึกลับ ( Esoteric Doctrine ) เป็นปรัชญาเกี่ยวกับเรื่องดวงวิญญาณอันเนื่องด้วยพรหม นับเป็นคัมภีร์สำคัญหมวดหนึ่งของชาวฮินดู เป็นอรรถาธิบายความของคัมภีร์พระเวท (ส่วนสุดท้ายคือ เวทานตะ) ๕ แต่งเป็นบทร้อยกรองที่มีความลึกซึ้งทางจิตใจ อธิบายเกี่ยวกับเนื้อหาทางศาสนาและปรัชญามีจำนวนมากกว่า ๒๐๐ บท แต่มีเพียง ๑๒ บท ที่ยอมรับกันว่าเป็นอุปนิษัทหลัก

เนื้อหาในคัมภีร์อุปนิษัทนี้นับเป็นฐากฐานให้กับระบบปรัชญาและศาสนาของชาวฮินดู และถือเป็นคัมภีร์สุดท้ายแห่งการศึกษาเล่าเรียนเพื่อถึงที่สุด จึงนับเป็น เวทานตะ อันหมายถึง ที่สุดแห่งพระเวท ในสมัยต่อมา มีคัมภีร์ใหม่เกิดขึ้นอีกเล่มหนึ่งคือ “อิติหาส” หรือบางทีก็เรียกว่าเป็น ”พระเวทที่ ๕” ประกอบด้วยบทร้อยกรอง เรื่องราวเก่าแก่ และปุราณะ นอกจากนี้ยังมีพระเวทชั้นสองที่เรียกว่า “อุปเวท” เป็นคัมภีร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรี ยารักษาโรค ฯลฯ


ที่มา .. //www.thaigoodview.com/node/12137
................................................................................................


แค่นี้คงพอสำหรับข้อมูลเกี่ยวกับ ไตรเภท ของพราหมณ์

“…พวกอริยะถือว่าคนตายแล้ว วิญญาณยังอยู่ ยังวนว่ายตายเกิดอยู่ ดังนั้นจึงต้องทำพิธีสังเวยวิญญาณ…”

จะเห็นได้ว่ามันมีร่องรอยของ”ความเชื่อ” นี้มาตั้งแต่ ”สมัยอริยกะ” โน่นแล้ว....ซึ่งเป็นยุคสมัยแรกของพราหมณ์-ฮินดูเลยทีเดียว...

สมัยนั้นเป็นสมัยก่อนพุทธกาลอยู่ประมาณ 1,400 ปีโดยประมาณ ...แปลว่า เมื่อมาถึงยุคพระพุทธเจ้าแนวคิดหรือความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดของวิญญาณ มีมาแล้วไม่ต่ำกว่า 1,300 ปี !

และหากแนวคิดนี้ถูกต้อง...เจ้าชายสิทธัตถะแห่งกรุงกบิลพัสด์ ก็คงไม่ต้องออกบวชแสวงหาทางหลุดพ้นในแนวทางที่แตกต่างออกไป....ทีนี้เมื่อพระองค์ท่านออกบวชแสดงว่าแนวคิดดั้งเดิมในส่วนที่เป็นหลักใหญ่ใจความย่อมลงกันไม่ได้ ... หรือพูดได้ว่าเป็นสิ่งที่พระองค์ทรงปฏิเสธ...

และเมื่อพิจารณาแนวคิดหลักที่มีความแตกต่างระหว่างพุทธ กับ พราหมณ์ (หรือ ฮินดู) แล้ว ก็พบว่าคือหลัก อัตตา ของพราหมณ์ กับหลัก อนัตตา ของพุทธ ที่ขัดแย้งตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง !

หลัก อัตตา ของพราหมณ์มีว่า..วิญญาณ หรือตัวรับรู้ในคนนี้หลังจากร่างกายแตกดับแล้วในชาตินี้ก็จะเคลื่อนออกไปสู่ ”ภาวะใหม่” เพื่อรอ “อุบัติ” ในภพชาติใหม่ (คือการเกิดจากท้องแม่ในภาวะทารก) ..แล้วยังคงนับเนื่องเป็นคนคนเดิมเดียวกันกับคนที่ร่างกายแตกดับไป...ทั้งความดีความชั่วที่เคยทำไว้จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดใหม่ในสถานภาพที่เหมาะควรสมกับภาวะการณ์ที่เคยกระทำเอาไว้ (กรรม)

การนับเนื่องเป็นคนคนเดียวกัน แบบนี้ คือ การกำหนดให้ภาวะถาวรได้ดำรงอยู่ โดยที่จะเปลี่ยนไปแต่รูปกายภายนอกเท่านั้น ....เปรียบได้กับเสื้อผ้าที่สวมใส่จนเก่าแล้วก็ทิ้งไปแล้วหาเสื้อผ้าใหม่มาใส่ต่อ วิญญาณก็เหมือนเนื้อตัว..ขณะที่ร่างกายแต่ละภพชาติเปรียบเหมือนเสื้อผ้าที่จะถูกเปลี่ยนออกไปทุกๆ 70-80 ปี ตามอายุขัย

ความคิดแบบนี้แพร่หลายอยู่ก่อนแล้วในสมัยพุทธกาล...ไม่ใช่เรื่องใหม่

แต่พระพุทธองค์ไม่เห็นด้วย !


คำพูดใดในคัมภีร์อรรถกถาชั้นหลังที่อธิบายเรื่องราวไปในทำนองนี้ เราเรียกว่าเป็นคำพูดแบบ สัสสตทิฐิ

สัสสตทิฐิ น. ลัทธิที่ถือว่าโลกและวิญญาณเป็นของเที่ยงไม่เสื่อมสูญ.
(ป. สสฺสตทิฏฺ??).



ส่วนหลัก อนัตตา นั้นมีว่า .. ไม่มีบุคคล ตัวตน เราเขา ใดๆ ที่จะคงอยู่ถาวรให้นับเนื่องได้

วิญญาณ นั้น คือ ภาวะรับรู้ของอวัยวะภายในร่างกาย คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (ตัวนี้คือความรู้สึกนึกคิด .. ไม่ใช่ก้อนเนื้อหัวใจที่เต้นสูบฉีดเลือดอยู่..) ทั้งหกแรกนี้เรียกว่า อายตนะภายใน มีการสัมผัสกับ รูป รส กลิ่น เสียง การลูบไล้ และ ธรรมารมณ์ (เรื่องราวที่มีความหมายต่อความนึกคิด) ทั้งหกหลังนี้เรียกว่า อายตนะภายนอก

ทั้งอายตนะภายใน และภายนอก รวมเรียกว่า สฬายตนะ

ตา เห็น รูป – รูปนั้นๆต้องมีความหมายด้วย เช่น ตาชายหนุ่ม เห็น รูปหญิงสาวใส่ชุดรัดรูปอวดเรือนร่าง – อย่างนี้ย่อมมีความหมายให้เกิด ผัสสะ ที่จะทำงานต่อไป

ตา เป็นปัจจัยที่ 1
รูป เป็นปัจจัยที่ 2
2 อย่างนี้ยังไม่สามารถสร้างปัญหาใดๆขึ้นมาได้...ยังต้องมี...ตัวรับรู้ทางตา เรียกว่า จักษุวิญญาณ เป็นปัจจัยที่ 3 เข้ามาร่วมกระบวนการด้วย….ผัสสะ หรือ การกระทบกันจึงครบองค์ประชุมจึงเกิดขึ้นได้

หากว่า ตาชายหนุ่มเห็น เม็ดกรวดเล็กๆข้างทางสักก้อน จะมีความหมายอะไรต่อจิตใจไหม ?
ตอบว่า - ไม่มี...
และ กรณีเช่นนี้ถึงจะ มีตาชายหนุ่มที่มองเห็นได้.. มีรูปคือก้อนกรวดเล็กๆข้างทาง... แต่ไม่มี จักขุวิญญาณ จึงไม่ครบองค์ประชุม ผัสสะก็ไม่เกิด

วิญญาณชนิดนี้ เกิดได้ทั้ง 6 ทางอย่างที่แจกแจงมา...และเกิดแล้ว ตั้งอยู่ แล้วดับไป ในที่สุด ขณะที่วิญญาณตัวอื่นก็จะเกิดขึ้นมาบ้าง หากเกิดสัมผัสด้านนั้น หากว่าการปรุงแต่ง(สังขาร) ในทุกครั้งเจ้าตัวยังไม่สามารถควบคุมได้อยู่เช่นนั้น

เมื่อ ผัสสะไม่เกิด .. เวทนาก็ไม่เกิด ..ตัณหาก็ไม่เกิด ..อุปาทานก็ไม่เกิด ..
เมื่อ อุปาทานไม่เกิด ทุกข์ก็ย่อมเกิดไม่ได้

การควบคุม “ผัสสะ” จึงสามารถฝึกฝนได้ในชีวิตประจำวันที่เราเรียกว่า การถือ”ศีล” นั่นเอง เพื่อ ไม่ให้ลุกลามไปเป็นทุกข์ตามสาย ปฏิจจสมุปบาท

เอาแค่พื้นฐานคือ ศีล 5 ก่อนก็พอ

ไม่ฆ่าสัตว์ .. อันนี้ย่อมรวมทั้งการทำร้าย ทำให้บาดเจ็บทั้งทางกาย ทั้งทางใจ รวมทั้งแม้ในทางความคิดที่คนอื่นรู้ไม่ได้ แต่ตัวเราเองย่อมรู้ – คือ ความอาฆาตมาดร้าย โกรธ เกลียด อคติด้านลบ ทั้งหมด

ยากไหม ?

ไม่ง่ายเหมือนข้อความ ที่ท่องจำกันมาแค่ ไม่ฆ่าสัตว์ จริงไหม ?

การฆ่าน่ะ ผิดกฎหมาย เฉพาะที่กฎหมายห้ามเท่านั้นด้วย เช่นฆ่าคน ฆ่าช้างป่า ฆ่าสัตว์ป่าสงวน...ซึ่งปกติคนทั่วไปก็ไม่ทำกันอยู่แล้ว...แต่ความโกรธ เกลียด นี่ไม่ผิดกฎหมายจริงไหม ?

แต่ในทางศีลธรรมแล้ว นั่นคือการควบคุมผัสสะ ที่ล้มเหลว และชาววัดที่ถือศีลแบบศรีธนนชัยนี้เป็นสัดส่วน ถึง 80-90% เพราะการนิยามศีลข้อ 1 ไม่ครอบคลุมสมบูรณ์เพียงพอ

เช่นเดียวกับข้อ มุสา....
หากจะเอาเนื้อหากันให้ครอบคลุมแล้ว....บรรดา “โวหารภาพพจน์” ล้วนเป็นมุสาวาท ทั้งสิ้น !

เพราะเจตนาผู้พูดนั้นเพื่อเบี่ยงประเด็นที่ควรตรงไปตรงมา มาเป็น แบบ พูดให้ฟังดูดี พูดให้มองดูดี พูดให้คิดในแง่ดี ซึ่งมักไม่ตรงกับข้อเท็จจริงทีเดียว..ทั้งสิ้น !


ทีนี้การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของวิญญาณทั้ง 6 ชนิด คือภาวะที่ไม่ถาวร คือภาวะที่เปลี่ยนแปลง คือภาวะที่ไม่เป็นตัวเป็นตน คือภาวะของการประชุมกันชั่วคราวขององค์ประกอบแห่งการเกิดผัสสะ.....จึงเรียกว่าหลัก อนัตตา คือ ไม่เป็นอัตตาใดๆ...ทุกอย่างเป็นเพียงภาวะชั่วคราว แต่ เกิดดับ ไม่จบไม่สิ้น จากการปรุงแต่งของจิตที่ปราศจากความรู้เรื่องอริยสัจจ์



การเกิดดับ ไม่จบไม่สิ้นของการปรุงแต่งของจิตที่ปราศจากความรู้ในอริยะสัจจ์นี้เอง ที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงทนไม่ได้...จึงเสด็จออกแสวงหาทางหลุดพ้น

การเกิดดับ ไม่จบไม่สิ้นของการปรุงแต่งของจิตที่ปราศจากความรู้ในอริยะสัจจ์นี้เอง ที่เรียกว่า การเวียนว่ายในวัฏฏะสงสารของวิญญาณ (ทั้ง6)…ซึ่งสามารถฝึกฝน ควบคุม ให้ระมัดระวัง การกระทบกันของปัจจัยคู่ (ตากับรูป .. หูกับเสียง ..ฯ)


คำพูดอย่างนี้จึงนับเป็น สิ่งที่สามารถรู้ได้ด้วยตนเอง ที่เรียกว่า สันทิฏฐิโก


คำพูดอย่างนี้จึงนับเป็น สิ่งที่ไม่ขึ้นกับกาลเวลาใดๆ ไม่ว่าอดีต ไม่ว่าอนาคต ที่เรียกว่า อกาลิโก


ทีนี้ลองมาดูการบันทึกในส่วนการตรัสรู้ของพระพุทธองค์กันบ้าง


............................................................................................


ตรัสรู้ แปลว่า รู้แจ้ง รู้อย่างแจ่มแจ้ง รู้ชัดเจน ใช้เป็นคำเฉพาะสำหรับพระพุทธเจ้า "ตรัสรู้" ของพระพุทธเจ้า คือตรัสรู้ ญาณ ๓ ได้แก่

1.บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในอดีตได้ คือระลึกชาติได้

2.จุตูปปาตญาณ ความรู้ในจุติและอุบัติเกิดของสัตว์ทั้งหลาย เรียก ทิพพจักขุญาณ หรือ ทิพยจักษุญาณ บ้าง

3.อาสวักขยญาณ ความรู้ในการกำจัดอาสวกิเสส

ตรัสรู้ อีกนัยหนึ่งคือรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค (คือปฏิจจสมุปบาท นั่นเอง ทั้งรูปแบบเกิดขึ้น ทั้งรูปแบบดับลง) พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เมื่อทรงพระชนม์มายุ ๓๕ พรรษา


จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

......................................

มาลองพิจารณาแต่ละหัวข้อดู

1.บุพเพนิวาสานุสสติญาณ ความรู้เป็นเหตุให้ระลึกถึงขันธ์ที่เคยอาศัยอยู่ในอดีตได้ คือระลึกชาติได้

ระลึกชาติได้ แปลว่า...มีชาติต่างๆในอดีตที่ผ่านมาแล้วมากมาย...ที่สามารถนับเนื่องเป็น"ตัวตนเดิมเดียว" ....ซึ่งหากพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นว่า"ผู้บันทึกข้อความ"นี้ บันทึกในแนวทางของ สัสสตทิฐิ (ลัทธิที่ถือว่าโลกและวิญญาณเป็นของเที่ยงไม่เสื่อมสูญ)...ซึ่งสอดรับกับหลัก "อัตตาเที่ยง" ของพราหมณ์....นี้ประการที่หนึ่ง


2.จุตูปปาตญาณ ความรู้ในจุติ(การเคลื่อนย้ายภาวะ - การแตกดับทำลาย) และอุบัติ(การเกิด) ของสัตว์ทั้งหลาย เรียก ทิพพจักขุญาณ หรือ ทิพยจักษุญาณ บ้าง

ข้อนี้มีนัยะแห่งการสืบเนื่องของ...การสิ้นสุด และ การเกิดใหม่ ของสัตว์ ที่รับผลสืบเนื่องจากอำนาจส่งของการกระทำจากอดีต หรือ เจตนารมย์แห่งกรรมบทของจิตจากอดีต หรือที่เรียกว่า วิบากกรรม - อันเป็นความหมายของตัวตนเดิมเดียวที่สืบเนื่องมา เป็นการบันทึกอย่างเป็น สัสสตทิฐิ อีกเช่นกัน....นี้ประการที่สอง


ท่านพุทธทาสจึงชี้แนะไว้ว่า...
ความหมายของการตรัสรู้แบบที่สอง คือการรู้แจ้งในปฏิจจสมุปบาท นั้นที่ควรถือเอาเป็นที่สุดเพราะลงกันได้กับแนวคิดของการทำลายอัตตา คือรู้ว่าทุกข์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร...และทุกข์ดับลงได้อย่างไร...อันเป็นหลักใหญ่ใจความของสิ่งที่พระองค์ทรงสอนตลอดพระชนม์ชีพ...

ขณะที่นัยะของการตรัสรู้ ที่บันทึกไว้ว่า พระองค์ทรงรู้แจ้งเรื่อง"วิชชา3 หรือ ญาณ3" นั้น ค่อนข้างมีกลิ่นอายไปทาง ฤทธิ์เดช ปาฏิหารย์ มากอยู่สักหน่อย นอกเหนือไปจากความเป็นนัยะแห่งตัวตนเดิมเดียวที่สืบเนื่องกันมา...อันเป็นแนวคิดแบบ สัสสตทิฐิ หรือ อัตตาเที่ยง ซึ่งไม่น่าจะถูกต้องแล้วนั้น...


เนื่องจากเราไม่สามารถทราบเจตนา หรือ แนวคิดของผู้บันทึกข้อความนี้ได้ ...แต่เรารู้ได้อย่างแน่นอนว่า ข้อความอันเป็น สัสสตทิฐิ เช่นนี้ขัดกับหลัก อนัตตา ของพุทธอย่างตรงกันข้าม...จึงมีความเป็นไปได้ที่จะ "ไม่ถูกต้อง"


การตรัสรู้ในคืนเดือนเพ็ญ แห่งวิสาขะมาส ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชลา เมื่อ 2555+45 = 2600 ปีที่แล้วนั้น จึงควรเป็นว่า.... พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ ปฏิจจสมุปบาท เป็นหลักใหญ่ใจความ....ทรงพิจารณาทั้งด้านเกิดขึ้นแห่งทุกข์ และด้านดับลงแห่งทุกข์ อยู่อย่างละ 4 ชั่วโมง รวมเป็น 8 ชั่วโมง และใน 4 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนสว่างพระองค์พิจารณาทั้งสองด้านพร้อมกันไป.....อย่างที่ท่านพุทธทาสท่านว่าไว้ .....ที่ควรเป็นสิ่งที่"ถูกต้อง"ที่สุด


ดังนั้น...
เมื่อพิจารณาด้วยหลัก ไตรลักษณ์ อันเป็น 3 เสาหลักของศาสนาพุทธคือ
ทุกขัง...น. ความยากลําบาก, ความไม่สบายกายไม่สบายใจ.
อนิจจัง...ว. ไม่เที่ยง, ไม่แน่นอน, เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ.
อนัตตา...ว. ไม่ใช่อัตตา, ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน.

วิญญาณ 6 ที่เกิดขึ้น..ตั้งอยู่..ดับไป
ย่อมลงกันได้กับ ทุกขัง..อนิจจัง..อนัตตา..อย่างไม่ขัดแย้งกันแม้แต่น้อย...

ในขณะที่ วิญญาณ แบบที่ล่องลอยจากร่างที่ตายแล้ว ที่จำต้องสืบภาวะจากผลการกระทำที่ผ่านมาจากอดีตนั้นจะไม่เที่ยง ไม่แน่นอน ได้อย่างไรกัน...
ก็ในเมื่อยอมรับว่าเป็นสิ่งเดียวกันสืบเนื่องกันมา ก็แปลว่าไม่เปลี่ยนแปลง...ก็ลงกันไม่ได้กับหลักอนิจจัง...

และเมื่อยอมรับว่าเป็นจิตวิญญานเดิมที่สืบเนื่องกันต่อมา..ย่อมนับเป็นตัวเป็นตนที่ไม่อาจลงกันได้กับหลัก อนัตตา ด้วย !



หมายความว่า...วิญญาณแบบล่องลอยออกจากร่างหลังสิ้นลมหายใจ แล้วเวียนว่ายตายเกิดออกจากร่างเก่าเข้าร่างใหม่นั้น-เป็นแนวคิดที่เป็น มิจฉาทิฏฐิ ในพุทธศาสนา...

เป็นสิ่งแปลกปลอมที่แทรกเข้ามา...และเป็นแนวคิดของพวก เดียรถีย์ .. !

และ .. ทีนี้รู้หรือยัง ว่าที่ตัวเองหลับหูหลับตาเชื่ออยู่นั้น .. เป็นความเชื่อของศาสนาใด ? ..

พุทธ หรือ พราหมณ์ ..

ทีนี้ .. ก็ไปแก้ในทะเบียนบ้านซะให้ถูกต้อง

สาธุ





Create Date : 28 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 11 พฤษภาคม 2557 18:30:14 น. 2 comments
Counter : 6349 Pageviews.

 


"O ขลุกคอยสมาคม..กับตมโคลน
ดอกก้านโอนเอนอยู่..ราวรู้ว่า-
แสงบนสรวงลิบพู้นเกื้อกูลมา
ไม่อาจฝ่ามืดดำกลางน้ำริน"


โดย: บุษบามินตรา IP: 79.221.129.253 วันที่: 29 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:21:12:21 น.  

 


ศรัทธาภายใต้การหลับหูหลับตาอย่างมืดบอด..
ก็เหมือนบัวจมโคลนที่โคนต้น

ความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทยสามารถมองผ่าน
ความเชื่ออย่างงมงายไร้เหตุผลในประเด็นศรัทธานี้ได้ค่อนข้าง
ชัดเจนที่สุด

ในวัยที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา...
..การลอกคำตอบผู้อื่น ไปตอบครู
..การแสวงหา"คำตอบสำเร็จรูป" ที่ไม่ต้องการความเข้าใจลึกซึ้งอะไรมากนัก แค่เพียงเพื่อให้มัน"จบๆไป"นั้น ...มีอยู่เป็นปกติ...
ทำนองเดียวกับประเด็นศรัทธานี้แล...
.
.
.

ดังนั้น การวิภาษ ในหลักการเกี่ยวกับประเด็นที่เป็นเรื่องของส่วนรวมต่างๆ จึงกระทำได้ยากนักในสังคมนี้

วิภาษ ก. พูดแตกต่าง, พูดแย้ง. (ส. วิ + ภาษฺ).

จากประเด็นข้อกฎหมาย...ความเป็นธรรมในสังคม...กลับมีคำตอบสำเร็จรูปเป็นกำปั้นประเคนบนใบหน้า อ.วรเจต ไปได้ ! ซึ่งบ่งบอกได้ชัดเจนว่าสังคมนี้มีพื้นที่ทางความคิดที่ คับแคบมาก จนน่าอึดอัด....จาก...พวกสอพลอ และ เสแสร้ง !


ที่ควรเป็นนั้น...
หัวก้าวหน้าทางการเมือง ย่อมควรต้องมีท่วงทำนองเดียวในการใช้เหตุผล เหมือนกับความเป็นหัวก้าวหน้าในทางสัจจธรรม...คือต้องมีเหตุผลไม่งมงาย...และยึดหลักการในการตรวจสอบความบิดเบือน


หาไม่แล้ว...หัวก้าวหน้าทางการเมืองพวกนั้น จักเป็นกลุ่มก้อนที่..พลอยฉวยโอกาสห้อยโหนกระแสการสำแดงความคิดเห็นออกมาเท่านั้นเอง..


หากว่าในทางสัจจธรรมยังมีพฤติแห่งจิตแบบเดิมๆ...
แบบที่คลุกโคลนอยู่โคนต้นบัวพวกนั้น...!


โดย: สดายุ... วันที่: 1 มีนาคม 2555 เวลา:8:29:25 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สดายุ...
Location :
France

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 151 คน [?]









O ใช่แน่หรือ ? .. O






O หรือธรรมชาติผ่านเวียน .. คอยเปลี่ยนโลก ?
ทั้งสุขโศกเร่งรุดยากหยุดไหว
หรือกำหนดยุดยื้อจากมือใด
จัดการให้แปลกแยกได้แทรกตัว
O หรือพบกันครั้งแรก, ความแตกต่าง
ถูกบ่มสร้างเหมาะควรอย่างถ้วนทั่ว
แต่ตา-รูป .. สบกัน, ที่สั่นรัว-
แรกที่หัวใจคน .. เริ่มอลเวง
O ละห้อยเห็นในยามห่างนามรูป
แต่ละวูบเนรมิตคอยพิศเพ่ง
งามทุกงามจารจรดเยี่ยงบทเพลง
พร้องบรรเลงด้วยมือช่วยยื้อยุด
O ย่อมเป็นมือสร้างเหตุแทรกเจตนา
ผ่านรูปหน้าอำนวยเข้าฉวยฉุด
ร้างไร้ความกริ่งเกรง, หากเร่งรุด
แทรกลงสุดหัวใจเพื่อไขว่คว้า
O แน่นอนว่ายากเว้น .. อยากเห็นรูป
และชั่ววูบวาบเดียวที่เหลียวหา
หวังทุกหอมรินไหลผ่านไปมา
ทั้งหางตาที่ชม้อยเหลือบคอยปราย
O โลกย่อมงามพร่างแพร้วเมื่อแผ้วผ่าน
ด้วยอ่อนหวานอ่อนโยนที่โชนฉาย
แม้นมิอาจโยกคลอนให้ผ่อนคลาย
ก็อย่าหมายโยกคลอนให้ผ่อนลง
O จะกี่ครั้งกี่ครา, ความอาวรณ์
เวียนรอบตอนจับจูงจนสูงส่ง
ด้วยรูปนามเทียบถวัลย์อย่างบรรจง
แตะแต้มลงผ่านจริตจนติดตรึง
O ความรู้สึกในอกย่อมยกตัว
หวานถ้วนทั่ว, รสประทิ่น, ถวิลถึง
เหมือนรุมล้อมหยอดย้ำลงคำนึง
ให้เสพซึ้งรสงามของ .. ความรัก
O วัฏฏจักรแห่งธรรม .. ย่อมย่ำผ่าน
เข้าขัด-คาน จับจูงความสูงศักดิ์
ของอาวรณ์หลบเร้น เพื่อเว้นวรรค
ที่เข้าทักทายทั่วทั้งหัวใจ
O หรือแท้จริงตัวตนถูกค้นพบ
การบรรจบ .. รูป-จริต แล้วพิสมัย
ปรารมภ์ของฝั่งฝ่าย .. นั้น-ฝ่ายใด
เพิ่งยอมให้เรื่องเฉลย .. ยอมเผยความ ?



Friends' blogs
[Add สดายุ...'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.