 |
|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 |
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
 |
|
|
๔. ภาวิตปัญญา: มีปัญญาที่ได้พัฒนาแล้ว ลักษณะสำคัญที่เป็นพื้นฐานทางปัญญาของผู้บรรลุนิพพาน คือ การมองสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น หรือ เห็นตามเป็นจริง เริ่มต้นตั้งแต่การรับรู้อารมณ์ทางอายตนะ ดัวยจิตใจที่มีท่าทีเป็นกลางและมีสติไม่หวั่นไหว ไม่ถูกชักจูงไปตามความชอบใจ ไม่ชอบใจ สามารถตามดูรู้เห็นอารมณ์นั้นๆ ไปตามสภาวะของมัน ตั้งแต่ต้นจนตลอดสาย ไม่ถูกความติดพัน ความข้องขัดขุ่นมัว หรือความกระทบกระแทกที่เนื่องจากอารมณ์นั้นฉุดรั้งหรือสะดุดเอาไว้ให้เขวออกไปเสียก่อน ทั้งนี้ ต่างจากปุถุชนที่เมื่อรับรู้อารมณ์ใด ก็มักไปสะดุดอยู่ตรงจุดหรือแง่ที่กระทบความชอบใจไม่ชอบใจ แล้วเกาะเกี่ยวพัวพันอยู่ตรงนั้น สร้างความตริตรึกคิดปรุงแต่งผันพิสดารขึ้นตรงนั้น แล้วไถลหรือเขวออกไปจากทางแห่งความเป็นจริง เกิดความรู้ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน คือ รู้เห็นไปตามอำนาจกิเลสที่ปรุงแต่ง ไม่รู้เห็นตามความเป็นไปของสิ่งนั้นๆ เรื่องนั้นๆ เช่น เรื่องราวมีสาระอย่างเดียวกัน คนหนึ่งมาพูดโดยเสริมคำเยิรยอผู้ฟัง ประกอบเข้าด้วย ผู้ฟังนั้นเห็นคล้อยไปตาม แต่อีกคนหนึ่งมาพูดโดยไม่เสริมแต่งเลย ผู้ฟังเดียวกันนั้นกลับไม่เห็นชอบด้วย หรือข้อความอย่างเดียวกัน คนที่ผู้ฟังรักใคร่ชอบใจนำมาพูด ผู้ฟังชมว่าถูกต้องเห็นดีเห็นงามไปตาม แต่คนที่ผู้ฟังเกลียดชังนำมาพูด ผู้ฟังเห็นเป็นสิ่งผิดพลาดเสียหาย ไม่อาจยอมรับได้ ดังนี้ เป็นต้น ลึกซึ้งลงไปอีก คือ ปัญญาที่รู้เท่าทันสังขาร รู้สามัญลักษณะที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้เท่าทันสมมติบัญญัติ ไม่ถูกหลอกให้หลงไปตามรูปลักษณ์ภายนอกของสิ่งทั้งหลาย และยอมรับความจริงทุกด้าน มิใช่ติดอยู่เพียงแง่ใดแง่หนึ่ง ความรู้เห็นตามที่มันเป็น หรือรู้เห็นตามความเป็นจริงขั้นนี้ จะช่วยแก้ความเข้าใจผิดที่ว่า พระพุทธศาสนาเป็นลัทธิมองแง่ร้ายได้โดยสิ้นเชิง เช่น ผู้เข้าถึงพุทธธรรมรู้ว่าขันธ์ ๕ มิใช่เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยส่วนเดียว รู้ว่า “ความอยากย้อมใจที่เกิดจากความนึกคิดของคน (ต่างหาก) เป็นกาม, อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลก หาชื่อว่ากามไม่ ... อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลก ย่อมตั้งอยู่ตามสภาพของมันอย่างนั้นเอง ดังนั้น ธีรชนทั้งหลายจึงเปลื้องออกไป (เพียง) ความติดใจชอบในอารมณ์เหล่านั้น” (องฺ.ฉกฺก.22/334/460)
ผู้ที่จะตรัสรู้ได้ ต้องเข้าใจทั้งส่วนดีหรือส่วนที่น่าชื่นชม (อัสสาทะ) ส่วนเสียหรือส่วนที่เป็นโทษ (อาทีนพ) และทางปลอดพ้น (นิสสรณะ) ของกาม ของโลก ของขันธ์ ๕ มองเห็นส่วนดีว่าเป็นส่วนดี มองเห็นส่วนเสียว่าเป็นส่วนเสีย มองเห็นทางปลอดพ้นว่าเป็นทางปลอดพ้น แต่ที่ละกาม หายติดใจในโลก เลิกยึดขันธ์ ๕ เสีย ก็เพราะมองเห็นทางปลอดพ้นเป็นอิสระ (นิสสรณะ) ซึ่งจะทำให้อยู่ดีมีสุขได้โดยไม่ต้องขึ้นต่อส่วนดีและส่วนเสียเหล่านั้น อีกทั้งเป็นการอยู่ดีมีสุขที่ประเสริฐกว่า ประณีตกว่า อีกด้วย ความรู้เท่าทันสมมติบัญญัตินั้น รวมไปถึงการรู้เข้าใจวิถีทางแห่งภาษา ที่เรียกว่าโวหารโลก รู้จักใช้ภาษาเป็นเครื่องสื่อความหมาย โดยไม่ยึดติดในสมมติของภาษา ดังพุทธพจน์ว่า “ภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมไม่กล่าวเข้าข้างกับใคร ไม่กล่าวทุ่มเถียงกับใคร, อันใดเขาพูดกันในโลก ก็กล่าวไปตามนั้น ไม่ยึดถือ” “ภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ ... จะพึงกล่าวว่า ฉันพูด ดังนี้ก็ดี เขาพูดกับฉัน ดังนี้ก็ดี เธอเป็นผู้ฉลาด รู้ถ้อยคำที่เขาพูดกันในโลก ก็พึงกล่าวไปตามโวหารเท่านั้น" “ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ขัดแย้งกับโลกดอก โลกต่างหากขัดแย้งกับเรา; ธรรมวาที (ผู้กล่าวธรรม, ผู้พูดตามธรรม) ย่อมไม่ขัดแย้งกับใครในโลก, สิ่งใดบัณฑิตในโลกสมมติกันว่าไม่มี เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่าไม่มี, สิ่งใดบัณฑิตในโลกสมมติกันว่ามี เราก็กล่าวสิ่งนั้นว่ามี” "เหล่านี้เป็นโลกสมัญญา เป็นโลกนิรุติ เป็นโลกโวหาร เป็นโลกบัญญัติ ซึ่งตถาคตใช้พูดจา แต่ไม่ยึดถือ”
เมื่อเกิดปัญญารู้เห็นสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น เห็นอาการที่มันเกิดจากเหตุปัจจัยอาศัยกันและกันจึงมีขึ้น ก็เข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง เรียกว่าเกิดมีโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ถูกต้อง ความยึดถือ ทิฏฐิ ทฤษฎีทั้งหลายในทางอภิปรัชญา รวมทั้งความสงสัยในปัญหาต่างๆ ที่เรียกว่าอัพยากตปัญหา (ปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์) เช่นว่า โลกเที่ยง หรือไม่เที่ยง เป็นต้น ก็พลอยหายหมดไปด้วยพร้อมกันอย่างเป็นไปเอง ดังบาลีว่า “ภิกษุทั้งหลาย เพราะอวิชชา จางหายดับไปไม่เหลือ ความเห็นขัดแย้งกันไปต่างๆ การถือดื้อดึง ความเห็นที่พล่านสับสน อย่างหนึ่งอย่างใดก็ตามว่า สังขารเป็นไฉน สังขารเหล่านี้ของใคร, สังขารก็อย่างหนึ่ง เจ้าของสังขารก็อย่างหนึ่ง, ตัวชีวะกับสรีระเป็นอันเดียวกัน ตัวชีวะก็อย่างหนึ่ง สรีระก็อีกอย่างหนึ่ง, ความเห็นเหล่านั้นทั้งปวง ย่อมถูกละหมดไป...” และเมื่อภิกษุรูปหนึ่งทูลถามว่า “อะไรเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้อริสาวก ผู้ได้เรียนสดับแล้ว ไม่เกิดความสงสัยในเรื่องที่พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์?” พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “เพราะทิฏฐิดับไป อริยสาวกผู้ได้เรียนสดับแล้ว จึงไม่เกิดความสงสัย ในเรื่องที่เราไม่พยากรณ์ ... ปุถุชนผู้มิได้เรียนสดับ ย่อมไม่รู้ชัดซึ่งทิฏฐิ ไม่รู้ชัดเหตุเกิดแห่งทิฏฐิ ไม่รู้ชัดปฏิปทาการดับทิฏฐิ ไม่รู้ชัดที่ดำเนินไปสู่ความดับแห่งทิฏฐิ ทิฏฐินั้นจึงพอกพูนแก่เขา เขาย่อมไม่พ้นจากชาติ ชรามรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ” ลักษณะทางปัญญาอีกอย่างหนึ่งของผู้เข้าถึงสัจธรรมแล้ว คือ ไม่ (ต้อง) เชื่อ ไม่ (ต้อง) มีศรัทธาหรือไม่ต้องอาศัยศรัทธา เรียกตามคำบาลีสั้นๆ ว่า “อัสสัทธะ” ลักษณะนี้ต่างกันอย่างตรงข้ามกับความไม่เชื่อ หรือ ความไม่มีศรัทธา ตามความหมายสามัญขั้นต้น ซึ่งหมายถึงไม่รู้ไม่เห็น จึงไม่เชื่อ หรือไม่เลื่อมใสในตัวผู้พูด หรือดึงดื้อถือรั้น เป็นต้น จึงไม่ยอมเชื่อ แต่ในที่นี้ไม่ต้องเชื่อ เพราะรู้เห็นสิ่งนั้นๆ แจ้งประจักษ์กับตนเองแล้ว รู้เองเห็นเองแล้ว ไม่ต้องรู้เห็นผ่านคนอื่น ไม่ต้องอาศัยความรู้ของคนอื่น (ศรัทธา คือ การยอมขึ้นต่อความรู้ของผู้อื่น ในเมื่อยังไม่รู้เห็นประจักษ์ด้วยตนเอง) ในเมื่อรู้เห็นอยู่แล้วว่าเป็นอย่างนั้น จะต้องไปเชื่อใครอีก หรือ จะต้องไปเอาใครมาบอกให้อีก เรียกว่าเป็นขั้นที่ยิ่งกว่าเชื่อ หรือเลยเชื่อไปแล้ว อยู่เหนือความเชื่อ ดังที่ท่านอธิบายว่า “เกี่ยวกับธรรมที่รู้แน่อยู่ด้วยตนเอง ประจักษ์กับตนเอง (เธอ) ไม่เชื่อต่อใครๆ อื่น ไม่ว่าจะเป็นสมณะ หรือ พราหมณ์ เทวดา มาร หรือพรหม คือ ไม่เชื่อต่อใครๆ เกี่ยวกับธรรมที่รู้แน่อยู่เอง ประจักษ์กับตัวว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงมิใช่เป็นตัวตน เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี ฯลฯ หรือที่พระสารีบุตรทูลพระพุทธเจ้าว่า “ในเรื่องนี้ ข้าพระองค์มิใช่ถือไปตามด้วยศรัทธาต่อพระผู้มีพระภาค... เรื่องนี้ ข้าพระองค์ทราบแล้ว เห็นแล้ว รู้ชัดแล้ว ทำให้ประจักษ์แจ้งแล้ว สัมผัสแล้วด้วยปัญญา จึงไม่มีความสงสัย ไม่มีความคลางแคลงใจ"
น่าสังเกตว่า ในครั้งพุทธกาล คนคงสนใจใส่ใจเรื่องมหาบุรุษกันมาก จึงมีเรื่องราวในพระไตรปิฎกกล่าวถึงคำนี้หลายแห่ง นอกจากเรื่อง มหาปุริสลักษณะ คือลักษณะของมหาบุรุษ ที่พราหมณ์ทั้งหลายทำนายเจ้าชายสิทธัตถะตามตำรับตำราที่สืบมาแต่โบราณของเขาแล้ว ที่น่าสนใจกว่านั้นอีกก็คือ ในแง่หลักธรรม เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว เสด็จเที่ยวทรงสั่งสอนธรรม ก็ทรงพบผู้ทูลถามเรื่องนี้ว่า บุคคลอย่างไรจึงเรียกได้ว่าเป็นมหาบุรุษ แสดงว่ามหาบุรุษยังเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของคนทั่วไป และยังมีการถกเถียงกันอยู่ ขอยกตัวอย่าง ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า และได้ทูลถามว่า “ที่เรียกว่า มหาบุรุษๆ ดังนี้ ด้วยเหตุผลแค่ไหนเพียงไร บุคคลจึงจะเป็นมหาบุรุษ” พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “ดูกรสารีบุตร เราเรียกว่า มหาบุรุษ เพราะเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นแล้ว, เพราะเป็นผู้มีจิตยังไม่หลุดพ้น เราหาเรียกว่าเป็นมหาบุรุษไม่” ตามพุทธดำรัสที่ตรัสตอบนี้ แสดงว่า พระพุทธเจ้าทรงให้ถือว่า พระอรหันต์ คือท่านที่เป็นภาวิต ทั้ง ๔ ด้าน ดังที่ได้พูดมาแล้วนั่นเอง เป็นมหาบุรุษ แต่เป็นการตรัสสั้นๆ แบบสรุปหรือรวบรัด ตัดเอาแต่จุดตัดสินสุดท้าย คือการที่จิตหลุดพ้นแล้ว ซึ่งก็คือได้พัฒนาจบภาวนาทั้ง ๔ จนเกิดปัญญาที่ทำให้จิตหลุดพ้นไปได้ และก็หมายความว่า ไม่ว่าบุคคลไหนๆ จะเก่งกาจอย่างใดก็ตาม ถ้าจิตใจยังไม่เป็นอิสระจากกิเลสและความทุกข์แล้ว ก็เป็นมหาบุรุษจริงยังไม่ได้ พูดง่ายๆ ว่า จะต้องขึ้นไปให้ถึงความมีอิสรภาพทางจิตปัญญาอย่างแท้จริง ปัญญาต้องถึงขั้นทำให้จิตปลอดพ้นกิเลสไร้ทุกข์ได้ เช่นว่ามีความคิดเป็นอิสระ ก็มิใช่หมายความแค่ว่าจะคิดอย่างไรก็ได้อย่างใจปรารถนา ไม่มีใครมากั้นมาห้ามหรือมาบีบบังคับอย่างไรได้ ไม่ใช่เท่านั้น แต่ต้องไปให้ถึงขั้นที่ว่าปัญญาทำงานเป็นอิสระ โดยไม่อยู่ใต้ความบงการกำกับของตัวตนข้างใน ไม่ใช่คิดอะไรตามใจอยาก แล้วแต่ตัณหา มานะ หรือทิฏฐิของตัวนั่นแหละจะมาชักจูงลากพาหรือบัญชาให้เป็นไป อย่างไรก็ตาม ความหมายของ “มหาบุรุษ” ข้างต้นนี้ ดังที่ว่าแล้ว ตรัสลัดสั้น คงเป็นเพราะตรัสแก่พระสารีบุตร ซึ่งเป็นพระอัครสาวกที่เจนจบสูงสุดทางปัญญาแล้ว จึงตรัสชี้ไปที่ตัวตัดสินสุดท้ายเลย แล้วก็ตรัสโยงต่อไปยังหลักสติปัฏฐาน อย่างนี้ก็ได้แง่มองไปแบบสูงสุดเลยทีเดียว แต่ที่น่าสนใจสำหรับคนทั่วไป ซึ่งช่วยให้มองเห็นความหมายแบบขยายความสักหน่อย ดูได้จากพระดำรัสในคราวที่ตรัสตอบแก่อัครมหาเสนาบดีแห่งแคว้นวัชชี เรื่องมีว่า คราวหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่เวฬุวนาราม ในเขตพระนครราชคฤห์วัสสการพราหมณ์ มหาอำมาตย์แห่งแคว้นมคธเข้าไปเฝ้า ครั้นแล้ว พราหมณ์ใหญ่นั้นทูลว่า ตามหลักของพวกเขา ถือว่า บุคคลที่เป็นมหาบุรุษ มีปัญญายิ่งใหญ่ ประกอบด้วยธรรมคือคุณสมบัติ ๔ อย่าง ได้แก่ เป็นพหูสูต รอบรู้เรื่องราวข่าวสาร หยั่งรู้อัตถะ แยกแยะได้ว่าเป็นความหมายของอันไหนๆ, เป็นผู้มีสติ ทรงจำรำลึกการที่ทำคำที่กล่าวแล้วแม้นานได้, เป็นผู้มีทักษะ ไม่ปล่อยปละเกียจคร้านในกิจกรณีย์ที่เป็นเรื่องของชาวบ้านชาวเมือง, และเป็นผู้มีปัญญาไตร่ตรองรู้จักหาวิธีดำเนินการ สามารถทำ สามารถจัดการให้เป็นไป เมื่อแสดงหลักของเขาแล้ว วัสสการพราหมณ์ก็ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า หลักที่เขากล่าวมานั้น พระองค์จะทรงเห็นชอบด้วย หรือจะทรงคัดค้าน พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์มิได้ทรงเห็นชอบ และก็มิได้คัดค้าน แต่พระองค์ทรงวางหลักว่า บุคคลที่เป็น “มหาบุรุษ” มีปัญญายิ่งใหญ่ ประกอบด้วยคุณสมบัติ ๔ อย่าง ดังต่อไปนี้ ๑. บุคคลนั้น เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขแก่พหูชน ทำให้ประชาชนดำรงอยู่ในทางดำเนินแห่งอารยชน กล่าวคือ ความมีกัลยาณธรรม ความมีกุศลธรรม ๒. บุคคลนั้น ประสงค์จะคิดความคิดใด ก็คิดความคิดนั้น ไม่ประสงค์จะคิดความคิดใด ก็ไม่คิดความคิดนั้น ประสงค์จะดำริตริเรื่องใด ก็ดำริตริเรื่องนั้น ไม่ประสงค์จะดำริตริเรื่องใด ก็ไม่ดำริตริเรื่องนั้น เป็นผู้ถึงความมีอำนาจเหนือจิต ในคลองแห่งความคิดทั้งหลาย ๓. บุคคลนั้น เป็นผู้มีปรกติได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยากไม่ลำบากเลย ซึ่งฌาน ๔ อันเป็นสภาวะแห่งอภิจิต ที่เป็นเครื่องอยู่มีความสุขอย่างประจักษ์เป็นปัจจุบัน ๔. บุคคลนั้น เพราะอาสวะสิ้นไป ได้ประจักษ์แจ้งด้วยปัญญารู้ตรงด้วยตนเอง ซึ่งเจโตวิมุตติ (ภาวะพ้นเป็นอิสระแห่งจิต) และปัญญาวิมุตติ (ภาวะพ้นเป็นอิสระด้วยปัญญา) อันไร้อาสวะ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน” พุทธพจน์ตรัสตอบแสดงความหมายของความเป็นมหาบุรุษนี้ มีหลายแห่ง แต่เพราะทรงตอบให้เหมาะกับผู้ถาม และมักมาในคาถา เนื้อความจึงมักรวบรัด หรือไม่ก็ลึกลงไปในแง่ที่เน้น ในที่นี้ เห็นว่าพระดำรัสแก่มหาอำมาตย์ข้างต้นนี้ ทรงตอบแก่ผู้ถามซึ่งอยู่ในสถานะใหญ่กว้าง โยงไปถึงคนทั้งหลายได้ทั่ว และเป็นความร้อยแก้ว แยกเป็นข้อๆ กำหนดง่าย จึงยกมาแสดงเป็นหลักตัวอย่าง ถือว่า ความเป็นภาวิต ๔ ด้าน ก็รวมอยู่ในคุณสมบัติ ๔ ข้อนี้ หรือว่าคุณสมบัติของมหาบุรุษ ๔ ประการนี้ เป็นการสำแดงนัยอีกแนวหนึ่งของภาวิต ๔ นั้น โดยยกเด่นขึ้นมาในส่วนที่แสดงถึงความสามารถอันยิ่งใหญ่อย่างพิเศษ ที่ตระหนักได้ว่าเป็นสิ่งอันยากสำหรับคนทั่วไปจะทำได้ คุณสมบัติข้อแรกของมหาบุรุษ บอกจุดเน้นแห่งคุณของบุคคลผู้บรรลุนิพพาน ที่ว่า จบกิจแห่ง พรหมจริยะ ไม่มีอะไรที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป แม้แต่การที่จะต้องศึกษาเพื่อฝึกตนเอง ต่อแต่นี้ จึงมุ่งบำเพ็ญกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน บรรจบกับจุดหมายแห่งการดำเนินชีวิตของพระอรหันต์และการมีอยู่ของพรหมจริยะคือพระพุทธศาสนาทั้งหมด ซึ่งปรากฏในพุทธดำรัส อันตรัสเน้นอยู่เสมอ ที่ว่า “พหุชนหิตายะ พหุชนสุขายะ โลกานุกัมปายะ” กล่าวคือ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่พหูชน เพื่อความสุขของพหูชน เพื่อเกื้อการุณย์แก่ชาวโลก เมื่อบรรยายมาถึงจุดบรรจบนี้ ภาวะของผู้บรรลุนิพพานก็บอกด้วยถึงความบรรจบแห่งสุขของบุคคล ที่จะเป็นไปเพื่อความสุขของมวลชนทั้งโลก คุณสมบัติของผู้บรรลุนิพพาน ไม่ว่าจะพูดพรรณนาในลักษณะใด ตลอดจนที่จัดเป็นภาวิต ๔ ดังที่อธิบายมานั้น รวมแล้ว ก็ตั้งอยู่บนฐานของธรรม ๓ ประการ มีธรรม ๓ อย่างนั้น เป็นหลัก เป็นแกน คือ ปัญญา ที่เรียกจำเพาะว่าวิชชา ความหลุดพ้นเป็นอิสระที่เรียกว่าวิมุตติ และกรุณา ที่เป็นพลังแผ่ปรีชาญาณออกไปทำให้ผู้อื่นพลอยได้วิชชา และถึงวิมุตติด้วย ถ้าเปรียบปุถุชนเหมือนคนถูกมัด วิชชาก็เป็นมีดตัดเครื่องผูกขาดออกไป วิมุตติ ก็คือการหลุดพ้นออกไปจากเครื่องผูกมัด เป็นอิสระเสรี กรุณา ก็แสดงออกมาว่า เมื่อหายเดือดร้อนวุ่นวายกับเรื่องของตัวเองแล้ว มองกว้างออกไป เห็นคนอื่นๆ ถูกมัดอยู่ ตัวเองไม่มีอะไรต้องวุ่นพะวงอีกแล้ว ก็เอาแต่เที่ยวแก้มัดคนอื่นต่อไป ในทางหลักวิชา ถือว่าวิชชาเป็นมรรค ส่วนวิมุตติเรียกคร่าวๆ ว่าเป็นผล แต่ตามตำรา ท่านแยกวิมุตติละเอียดออกไปเป็นสองตอน คือ เป็นทั้งมรรค และทั้งผล กิริยาที่หลุดหรือพ้นออกไปหรือขณะที่หลุดพ้น ท่านว่าเป็นมรรค ภาวะที่เมื่อหลุดพ้นออกไปแล้ว มีความเป็นอิสระเสรีอยู่เป็นปกติ เรียกว่าเป็นผล ลำพังการบรรลุนิพพาน ย่อมเสร็จสิ้นเพียงแค่วิชชาและวิมุตติ ส่วนกรุณาเป็นเรื่องของการทำเพื่อผู้อื่นต่อไป พูดอีกอย่างหนึ่งว่า เรื่องส่วนตัว (อัตตัตถะ) สำเร็จที่วิชชาและวิมุตติ ส่วนเรื่องที่จะทำเพื่อคนอื่น (ปรัตตถะ) เป็นกิจของกรุณารับช่วงต่อไป อนึ่ง พึงสังเกตว่า ในบรรดาองค์ธรรมทั้งสาม คือ วิชชา วิมุตติ และกรุณานั้น วิมุตติเป็นภาวะฝ่ายผล พูดอีกอย่างหนึ่งว่า เป็นภาวะเสร็จงาน และเป็นภาวะเอื้ออำนวยแก่การทำงานต่อไป ไม่ใช่เป็นตัวการทำงานเอง ส่วนปัญญากับกรุณา เป็นองค์ธรรมฝ่ายทำงาน ปัญญาเป็นตัวทำงานให้การบรรลุนิพพานซึ่งเป็นเรื่องของตนเองสำเร็จ กรุณาเป็นตัวทำงานให้เรื่องของคนอื่นสำเร็จ ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงถือว่า ปัญญากับกรุณา เป็นพระคุณหลักของพระพุทธเจ้า ปัญญาเป็นแกนนำของ อัตตัตถะ หรืออัตตหิตสมบัติ กรุณาเป็นแกนนำของ ปรัตถะ หรือปรหิตปฏิบัติ ในคัมภีร์มากหลาย จึงนิยมย่อพุทธคุณลงเป็นข้อหลัก ๒ อย่าง คือ อัตตหิตสมบัติ มีปัญญาเป็นตัวทำการ และปรหิตปฏิบัติ มีกรุณาเป็นตัวทำการ แต่อัตตหิตสมบัติ และปรหิตปฏิบัติ ทั้งสองอย่างนั้น มีความหมายและเป็นของแท้จริงได้ ก็เพราะมีวิมุตติยืนยันเป็นพยาน วิมุตตินั้น เป็นเครื่องส่องแสดงถึงการเข้าถึงนิพพานแล้ว เรียกว่าเป็นอาการสำแดงหรือลักษณะสำคัญด้านหนึ่งของนิพพาน จัดเป็นไวพจน์ข้อหลักของนิพพาน ดังที่กล่าวแล้ว วิมุตติแสดงความหมายสำคัญของนิพพาน ซึ่งเน้นในด้านความหลุดพ้น เป็นอิสระเสรี เมื่อโยงกับคุณสมบัติสำคัญ ๒ ประการ ที่เนื่องด้วยการถึงวิมุตติ หรือบรรลุนิพพานนั้น คือปัญญา และกรุณา ก็เรียกบุคคลผู้บรรลุนิพพานนั้น ด้วยคำไทยที่ชาวบ้านพอจะเข้าใจไม่ยากว่า เป็นอิสรเสรีชน ผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญา และทำการด้วยกรุณา นอกจากวิมุตติที่ยืนเป็นหลักแล้ว ยังมีไวพจน์แสดงลักษณะด้านต่างๆ ของนิพพานอีกมากมาย ดังยกมาให้ดูแล้วข้างต้น บรรดาไวพจน์เหล่านั้น มีอยู่อย่างน้อยสองคำ ที่ใช้เป็นคำสามัญในภาษาไทย และเป็นลักษณะที่สำคัญด้วย คือ วิสุทธิ และสันติ วิสุทธิ คือ ความบริสุทธิ์ หรือสะอาด หมายถึงภาวะปราศจากกิเลสที่จะทำให้สกปรกเศร้าหมองหรือขุ่นมัว จึงใสและมองเห็นอะไรๆ ชัดเจน สันติ คือ ความสงบ หมายถึง ภาวะที่หายวุ่น หายพลุ่งพล่านกระวนกระวาย ปราศจากความทุรนทุรายเร่าร้อนแห่งกิเลส หมดสิ่งที่จะกวนให้ไหวกระเพื่อม จึงเรียบ ซึ้ง สงบ เย็น ทุกอย่างเข้าที่ เป็นสภาวะของตัวเอง สามารถเสวยผลต่างๆ ได้บริบูรณ์ที่สุด และมีความพร้อมมากที่สุดที่จะทำการทั้งหลายอย่างถูกต้องสมบูรณ์ จากไวพจน์เหล่านี้ จึงวางหัวข้อบทไว้ว่า วิชชา วิมุตติ วิสุทธิ สันติ นิพพาน ถ้าจะแปลง่ายๆ คงได้ความว่า สว่าง อิสระ สะอาด สงบ หรือ นิพพาน ใครพอใจไวพจน์อื่นใด จะเติมต่อเข้ามาอีกก็ได้ เช่นว่า วิชชา วิมุตติ เกษม วิสุทธิ สันติ ปรมัตถ์ บรมสัจจ์ นิพพาน เป็นต้น ก็อยู่ในขอบเขตความหมายของนิพพานอยู่นั่นเอง.
Create Date : 27 พฤษภาคม 2567 |
Last Update : 28 พฤษภาคม 2567 7:41:22 น. |
|
0 comments
|
Counter : 146 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|