 |
|
|
| 1 | 2 | 3 | 4 |
5 | 6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 |
12 | 13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 |
19 | 20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 |
26 | 27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
 |
|
|
๑. ภาวิตกาย: มีกายที่ได้พัฒนาแล้ว ดังได้กล่าวแล้วว่า ถึงแม้ในพระไตรปิฎกจะมีพุทธพจน์ที่ตรัสถึงภาวิตกาย เป็นต้น หลายแห่ง แต่ไม่มีคำอธิบาย เหมือนว่าผู้ฟังรู้เข้าใจอยู่แล้ว แต่บางครั้ง มีคนภายนอก โดยเฉพาะพวกเดียรถีย์นิครนถ์ยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดตามความเข้าใจของเขา จึงเป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าตรัสอธิบาย ในพระสูตรชื่อว่ามหาสัจจกสูตร มีเรื่องที่เป็นเหตุปรารภทำนองนี้ จึงขอยกมาเล่าเป็นตัวอย่าง และในพระสูตรนี้ มีเฉพาะภาวิตกาย มากับภาวิตจิต (เพราะฝ่ายที่ยกเรื่องขึ้นมา พูดเฉพาะ ๒ ภาวิตนี้) เรื่องมีว่า เช้าวันหนึ่ง สัจจกะ นิครนถบุตร ผู้มีชื่อเสียงเด่นดังมาก (เป็นอาจารย์สอนบุตรหลานของเจ้าลิจฉวี แห่งแคว้นวัชชี อรรถกถานิยมเรียกว่าสัจจกนิครนถ์) เดินมาที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ได้พบและสนทนากับพระพุทธเจ้า เขาเริ่มต้นโดยยกเอาเรื่องกายภาวนา (การพัฒนากาย) และจิตตภาวนา (การพัฒนาจิต) ขึ้นมาพูด และกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ตามความคิดเห็นของเขา เหล่าสาวกของพระองค์เอาแต่ขะมักเขม้นประกอบจิตตภาวนา แต่ไม่ประกอบกายภาวนา (เอาแต่พัฒนาจิต ไม่พัฒนากาย) การที่สัจจกนิครนถ์แสดงทัศนะขึ้นมาอย่างนี้ อรรถกถาบอกภูมิหลังว่า เพราะเขาเห็นพระภิกษุพากันหลีกเร้นอยู่ในที่สงบ ไม่มีการทรมานร่างกาย เมื่อเขาแสดงความเห็นออกมาอย่างนี้ พระพุทธเจ้าก็ตรัสถามว่า แล้วตามที่เขาเรียนรู้มา กายภาวนา (การพัฒนากาย) คืออย่างไร สัจจกนิครนถ์ก็ยกตัวอย่างการบำเพ็ญตบะถือพรตต่างๆ ในการทรมานร่างกาย (อัตตกิลมถานุโยค) ว่านั่นแหละคือ กายภาวนา พระพุทธเจ้าตรัสถามต่อไปว่า แล้วจิตตภาวนาล่ะ เขาเรียนรู้มาว่าเป็นอย่างไร ตรงนี้ สัจจกนิครนถ์ไม่สามารถอธิบายได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า แม้แต่กายภาวนาที่เขาบอกมาก่อนนั้น ก็ไม่ใช่กายภาวนา หรือการพัฒนากายในแบบแผนของอารยชน (อริยวินัย) นี่แม้แต่กายภาวนาเขายังไม่รู้ แล้วเขาจะรู้จักจิตตภาวนาได้จากที่ไหน จากนั้น จึงตรัสบอกให้สัจจกนิครนถ์ฟังคำที่จะทรงอธิบายว่า อย่างไรไม่เป็นภาวิตกาย ไม่เป็นภาวิตจิต และอย่างไรจึงจะเป็นภาวิตกาย อย่างไรจึงจะเป็นภาวิตจิต ดังจะยกความตอนที่เป็นสาระสำคัญมาดู “แน่ะอัคคิเวสสนะ (ชื่อโคตร/นามสกุลของสัจจกนิครนถ์) อย่างไรจึงจะเป็นภาวิตกาย และเป็นภาวิตจิต ? อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ผู้ได้เรียนสดับ มีสุขเวทนาเกิดขึ้น ถึงจะได้สัมผัสกับสุขเวทนา เขาก็ไม่ติดใคร่ใฝ่กระสันในสุข ไม่ถึงความเป็นผู้ติดใคร่ใฝ่กระสันในสุขเวทนา (ครั้น) สุขเวทนานั้นดับไป เพราะสุขเวทนาดับไป มีทุกขเวทนาเกิดขึ้น เขาสัมผัสกับทุกขเวทนาเข้าแล้ว ก็ไม่เศร้าโศก ไม่ฟูมฟาย ไม่รำพัน ไม่คร่ำครวญ ไม่ตีอก ไม่ถึงความฟั่นเฟือนเลือนหลง “อย่างนี้แหละ อัคคิเวสสนะ เพราะเหตุที่ได้พัฒนากายแล้ว สุขเวทนานั้น ถึงแม้เกิดขึ้น ก็หาได้ครอบงำจิตตั้งอยู่ไม่, เพราะเหตุที่ได้พัฒนาจิตแล้ว ทุกขเวทนา ถึงแม้เกิดขึ้น ก็หาได้ครอบงำจิตตั้งอยู่ไม่. “นี่แน่ะอัคคิเวสสนะ สำหรับอริยสาวกผู้หนึ่งผู้ใด สุขเวทนาถึงแม้เกิดขึ้น ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้พัฒนากายแล้ว, ทุกขเวทนาถึงแม้เกิดขึ้น ก็ไม่ครอบงำจิตตั้งอยู่ เพราะเหตุที่ได้พัฒนาจิตแล้ว, ครบทั้งสองข้าง อย่างนี้แล อัคคิเวสสนะ บุคคลจึงเป็นภาวิตกาย และเป็นภาวิตจิต.” * ดังได้กล่าวแล้วว่า กายภาวนา (การพัฒนากาย) นี้ ความหมายหลักบอกว่า เป็นการพัฒนาปัญจทวาริกกาย คือ กายด้านผัสสทวาร ๕ หรือ อินทรีย์ ๕ (ตา หู จมูก ลิ้น ผิวกาย) พอพูดถึงตรงนี้ การพัฒนากายก็แทบจะเป็นคำเดียวกับการพัฒนาอินทรีย์ หรือว่า กายภาวนาก็น่าจะได้แก่ อินทรียภาวนา นั่นเอง การพัฒนาอินทรีย์ ก็เริ่มด้วยหลักอินทรียสังวร ที่พระพุทธเจ้าตรัสเน้นอย่างมากในการศึกษาของผู้เข้ามาบรรพชาในพระธรรมวินัยนี้ เรียกว่าเป็นการฝึกขั้นต้น ต่อเนื่องไปกับการฝึกด้านศีล (ในยุคอรรถกถานิยมเรียกเป็นศีลหมวดหนึ่งว่า อินทรียสังวรศีล) จึงขอให้ดูหลักขั้นเบื้องต้นนี้ก่อน ดังตัวอย่างพุทธพจน์ว่า ดูกรมหาบพิตร อย่างไร ภิกษุจะชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ? ดูกรมหาบพิตร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปด้วยตาแล้ว ไม่ถือติดนิมิต (ภาพรวม) ไม่ถือติด อนุพยัญชนะ (ส่วนย่อย) เธอปฏิบัติเพื่อสำรวมอินทรีย์คือจักษุ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันทราม คือ อภิชฌา (ความติดใคร่ชอบใจ) และโทมนัส (ความขัดเคืองเสียใจ) ครอบงำ เธอรักษาจักขุนทรีย์ เธอถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์; ฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ... (เช่นเดียวกัน). ภิกษุนั้น ผู้ประกอบด้วยอินทรียสังวร อันเป็นอริยะนี้ ย่อมได้เสวยสุขอันล้วนไร้ระคน (ไม่เจือกิเลส) ในภายใน อย่างนี้แล มหาบพิตร ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.” อินทรียสังวรนี้ยังเป็นขั้นของผู้ฝึก หรือเริ่มศึกษา ยังไม่ใช่ขั้นของพระอรหันต์ ซึ่งเป็น “ภาวิตินทรีย์” (ผู้มีอินทรีย์อันได้พัฒนาแล้ว ที่จะจัดเป็นภาวิตกาย) แต่นี่ยกมาให้ดูเพื่อได้รู้เห็นตามลำดับ ยังมีอินทรียสังวรที่ลึกลงไป หรือที่ตรัสอีกแนวหนึ่ง ก็ขอยกมาให้ดูเพื่อเทียบกันด้วย (อินทรียสังวรนี้ เมื่อทำให้มากแล้ว จะทำสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์, สุจริต ๓ นั้น ทำให้มากแล้ว จะทำสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์, สติปัฏฐาน ๔ นั้น ทำให้มากแล้ว จะทำโพชฌงค์ ๗ ให้บริบูรณ์ และโพชฌงค์ ๗ นั้น ทำให้มากแล้ว จะทำวิชชา และ วิมุตติที่เป็นผลานิสงส์สุดท้าย ให้บริบูรณ์)
เรื่องนี้ ตรัสแก่กุณฑลีย์ ปริพาชก ผู้ได้มาเฝ้าที่อัญชนวัน ในเขตเมืองสาเกต มีความตอนนี้ว่า “ดูกรกุณฑลีย์ อินทรียสังวร อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้วอย่างไร จะยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์ ? ดูกรกุณฑลีย์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เห็นรูปที่น่าชอบใจด้วยจักษุแล้ว ไม่ติดใคร่ ไม่เหิมใจ ไม่ก่อราคะให้เกิดขึ้น และกายของเธอก็คงตัว จิตก็คงตัว มั่นคงดี ในภายใน ปลอดพ้นไปด้วยดี, อนึ่ง เธอเห็นรูปที่ไม่น่าชอบใจด้วยจักษุแล้ว ก็ไม่ขัดเขิน ไม่กระด้างใจ ไม่บีบใจ ไม่ขุ่นเคืองแค้นใจ และกายของเธอก็คงตัว จิตก็คงตัว มั่นคงดี ในภายใน ปลอดพ้นไปด้วยดี. อีกประการหนึ่ง ภิกษุฟังเสียงด้วยหู ... ดมกลิ่นด้วยจมูก ... ลิ้มรสด้วยลิ้น ... ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ... (เช่นเดียวกัน) ...ดูกรกุณฑลีย์ อินทรียสังวร อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมยังสุจริต ๓ ให้บริบูรณ์.”* ทีนี้ก็มาดูการฝึกยิ่งขึ้นไปอีก ตอนนี้แหละเรียกว่าอินทรียภาวนา เป็นหลักที่ตรัสไว้ในอินทรียภาวนาสูตร ในพระสูตรนี้ ต่อจากตรัสการปฏิบัติแล้ว ยังตรัสให้เห็นความแตกต่างที่พึงเทียบกัน ระหว่าง ”เสขปาฏิบท” คือพระอริยะผู้ยังฝึก กับ “ภาวิตินทรีย์” คือพระอรหันต์ผู้ฝึกเสร็จแล้ว ที่เป็นภาวิตกาย ขอยกมาให้ดูพอรู้รูปเค้า เรื่องมีว่า สมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับที่ป่าไผ่ ในกชังคลนิคม อุตตรมาณพ ศิษย์ของปาราสิริยพราหมณ์ เข้าไปเฝ้า พระองค์ตรัสถามเขาว่า ปาราสิริยพราหมณ์สอนหลักอินทรียภาวนาแก่เหล่าสาวกใช่ไหม เมื่อเขารับว่าใช่ พระองค์ก็ตรัสถามว่า ปาราสิริยพราหมณ์สอนการพัฒนาอินทรีย์อย่างไร เขาทูลตอบว่า ปาราสิริยพราหมณ์สอนอินทรียภาวนาโดยไม่ให้เอาตาดูรูป ไม่เอาหูฟังเสียง พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่า ถ้าถือตามหลักที่พราหมณ์นี้สอน คนตาบอด คนหูหนวก ก็เป็นภาวิตินทรีย์ (ได้พัฒนาอินทรีย์แล้ว) ละสิ
จากนั้น พระองค์ตรัสว่า การพัฒนาอินทรีย์อย่างที่ปาราสิริยพราหมณ์สอนนั้น เป็นคนละอย่าง ต่างจากอินทรียภาวนาอย่างยอดเยี่ยม ในแบบแผนของอารยชน (อริยวินัย) พระอานนท์จึงทูลขอให้ทรงแสดงหลักอินทรียภาวนาอย่างยอดเยี่ยม ในอริยวินัยนั้น และได้ตรัสดังรวมใจความมาดังนี้ (ความอุปมายาวๆ ได้ละเสีย) ๑. อินทรียภาวนา: “ดูกรอานนท์ ก็อินทรียภาวนา อย่างยอดเยี่ยม ในวินัยของอริยชน เป็นอย่างไร ? ดูกรอานนท์ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ สภาพที่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น สภาพที่ไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น สภาพที่ทั้งน่าชอบใจและไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น แก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้, เธอรู้ชัด (รู้เท่าทัน) อย่างนี้ว่า สภาพที่น่าชอบใจ สภาพที่ไม่น่าชอบใจ สภาพที่ทั้งน่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ เกิดขึ้นแล้วแก่เราเช่นนี้ ก็แต่ว่า สภาพน่าชอบใจ สภาพไม่น่าชอบใจ สภาพทั้งน่าชอบใจและไม่น่าชอบใจนั้นแล เป็นภาวะปรุงแต่ง เป็นของหยาบ อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น สภาวะนี้จึงสงบ สภาวะนี้จึงประณีต กล่าวคืออุเบกขา (ใจเฉยโดยตระหนักรู้อยู่ในดุล) , สภาพน่าชอบใจ สภาพไม่น่าชอบใจ สภาพทั้งน่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ ที่เกิดขึ้นแก่เธอนั้น ก็ดับหาย อุเบกขาตั้งได้ที่สนิท. ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปหนึ่งรูปใด ที่สภาพน่าชอบใจ สภาพไม่น่าชอบใจ สภาพทั้งน่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับหาย อุเบกขาตั้งได้ที่สนิท โดยเร็ว โดยพลันทันที โดยไม่ยากลำบาก เหมือนดังบุรุษมีตาดี ลืมตาแล้วหลับตา หรือหลับตาแล้วลืมตา ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่า อินทรียภาวนาในรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุ อันยอดเยี่ยม ในวินัยของอริยชน; “ดูกรอานนท์ ข้ออื่นยังมีอีก เพราะได้ยินเสียงด้วยหู ... เพราะดมกลิ่นด้วยจมูก ... เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น ... เพราะต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย ... เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ (ทำนองเดียวกับข้อก่อน) ... ดูกรอานนท์ ภิกษุรูปหนึ่งรูปใด ที่สภาพน่าชอบใจ สภาพไม่น่าชอบใจ สภาพทั้งน่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ เกิดขึ้นแล้ว ก็ดับหาย อุเบกขาตั้งได้ที่สนิท โดยเร็ว โดยพลันทันที โดยไม่ยากลำบาก เหมือนดังบุรุษมีกำลัง เอาหยาดน้ำสองหรือสามหยาด หยดลงในกระทะเหล็กที่ร้อนจัดตลอดทั้งวัน การหยดลงไปแห่งหยาดน้ำนั้นยังช้า (ไม่ทันที่) หยาดน้ำนั้นจะถึงความเหือดหาย หมดสิ้นไปฉับพลันทันใด โดยแน่แท้ ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่า อินทรียภาวนาในธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยใจ อันยอดเยี่ยม ในวินัยของอริยชน; “ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล เป็นอินทรียภาวนา อันยอดเยี่ยม ในวินัยของอริยชน. ๒. ก) เสขปาฏิบท (ผู้ยังฝึกศึกษา): “ดูกรอานนท์ ก็พระเสขะ ผู้ยังปฏิบัติอยู่ เป็นอย่างไร ? ดูกรอานนท์ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ สภาพที่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น สภาพที่ไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น สภาพที่ทั้งน่าชอบใจและไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น แก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้, เธออึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจ ด้วยสภาพน่าชอบใจ สภาพไม่น่าชอบใจ สภาพทั้งน่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้วนั้นๆ, เพราะได้ยินเสียงด้วยหู... เพราะดมกลิ่นด้วยจมูก... เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น... เพราะถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย... เพราะรู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ... เธออึดอัด เบื่อหน่าย รังเกียจ ด้วยสภาพน่าชอบใจ สภาพไม่น่าชอบใจ สภาพทั้งน่าชอบใจและไม่น่าชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้วนั้นๆ; ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล ชื่อว่าพระเสขะ ผู้ยังปฏิบัติอยู่. ๒. ข) ภาวิตินทรีย์ (ผู้ศึกษาพัฒนาจบแล้ว): “ดูกรอานนท์ ก็พระอริยะ ผู้ภาวิตินทรีย์ (ได้พัฒนาอินทรีย์แล้ว) เป็นอย่างไร ? ดูกรอานนท์ เพราะเห็นรูปด้วยจักษุ สภาพที่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น สภาพที่ไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น สภาพที่ทั้งน่าชอบใจและไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น แก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้, เธอนั้น หากจำนงว่า เราจะหมายรู้ในสิ่งปฏิกูล ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ ก็เป็นผู้มีความหมายรู้ในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้, หากจำนงว่า เราจะหมายรู้ในสิ่งไม่ปฏิกูลว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ ก็เป็นผู้มีความหมายรู้ในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ได้, หากจำนงว่า เราจะหมายรู้ในสิ่งทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ ก็เป็นผู้มีความหมายรู้ในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของไม่ปฏิกูลอยู่ได้, หากจำนงว่า เราจะหมายรู้ในสิ่งทั้งไม่ปฏิกูลและปฏิกูล ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ ก็เป็นผู้มีความหมายรู้ในสิ่งนั้นๆ ว่าเป็นของปฏิกูลอยู่ได้, หากจำนงว่า เราจะเว้นคำนึงทั้งปฏิกูลและไม่ปฏิกูล ทั้งสองอย่าง มีอุเบกขาอยู่โดยมีสติสัมปชัญญะ ก็มีอุเบกขาในสิ่งนั้นๆ อยู่โดยมีสติสัมปชัญญะได้; “ดูกรอานนท์ ข้ออื่นยังมีอีก เพราะได้ยินเสียงด้วยหู ... เพราะดมกลิ่นด้วยจมูก ... เพราะลิ้มรสด้วยลิ้น ... เพราะถูกต้องด้วยกาย ... เพราะรู้ด้วยใจ ... สภาพที่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น สภาพที่ไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น สภาพที่ทั้งน่าชอบใจและไม่น่าชอบใจก็เกิดขึ้น แก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้, เธอนั้น ... หากจำนงว่า เราจะเว้นคำนึงทั้งปฏิกูล และไม่ปฏิกูล ทั้งสองอย่าง มีอุเบกขาอยู่โดยมีสติสัมปชัญญะ ก็มีอุเบกขาในสิ่งนั้นๆ อยู่โดยมีสติสัมปชัญญะได้; “ดูกรอานนท์ อย่างนี้แล ชื่อว่าพระอริยะ ผู้ภาวิตินทรีย์ (ได้พัฒนาอินทรีย์แล้ว).” *
เมื่อมองความหมายของกายภาวนา และภาวิตกายขยายออกไปอีกแบบหนึ่ง หรือเหมือนเปลี่ยนจุดกำหนด คือแทนที่จะมองตรงผัสสทวารหรืออินทรีย์เอง ก็มองที่โลกหรือสิ่งภายนอกซึ่งเข้ามาเกี่ยวข้องกับอินทรีย์ หรือเป็นอารมณ์ที่อินทรีย์จะรับรู้ แล้วก็ไปจับจุดเน้นที่สิ่งเหล่านั้นแยกเป็นพวกๆ เป็นประเภทๆ ไป ก็จะได้ความหมายทำนองที่บอกไว้อีกอย่างหนึ่งว่า กายภาวนาเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ หรือจำพวกวัตถุ (ตลอดจนแม้แต่ตัวบุคคลในแง่ที่เป็นวัตถุแห่งการรับรู้) แล้วก็จะเห็นว่า ของจำพวกหนึ่งที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องสัมพันธ์มาก ก็คือปัจจัย ๔ ได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยาบำบัดโรค ตลอดจนสิ่งของเครื่องมือเครื่องใช้ วัตถุใช้สอย สิ่งที่เสพอาศัยใช้ทำงานทำการทั้งหลาย ซึ่งเป็นแดนใหญ่ที่ชีวิตเกี่ยวข้อง ที่จะต้องฝึกต้องพัฒนาชีวิตนั้น ดังที่ท่านจัดเป็นปัจจัยปฏิเสวนศีล หรือปัจจัยสันนิสิตศีล และก็อาจจัดปัจจัยปฏิเสวนานั้นตามอินทรียสังวร เข้ามาไว้ในกายภาวนานี้ด้วย การสัมพันธ์กับวัตถุทั้งหลายที่เป็นปัจจัยยังชีพและหล่อเลี้ยงชีวิตนี้ ในพระธรรมวินัยก็ถือเป็นเรื่องสำคัญในการศึกษา ที่จะต้องฝึกฝนพัฒนาตลอดเวลาในชีวิตประจำวัน ดังที่ฝึกกันตั้งแต่เข้ามาบวช ให้เสพปัจจัยสี่โดยพิจารณา หรือให้บริโภคด้วยปัญญา โดยรู้จักประมาณ ให้ได้ความพอดี ที่จะเกิดคุณค่าแท้จริงที่ชีวิตต้องการ มิใช่แค่บริโภคอย่างมืดมัวด้วยโมหะเพียงที่จะสนองความอยากเสพด้วยตัณหา ดังความที่ตรัสว่า “ดูกรจุนทะ เรามิใช่แสดงธรรมแก่เธอทั้งหลาย เพื่อปิดกั้นบรรดาอาสวะ (ความเสียหายหมักหมม) ที่เป็นไปในปัจจุบันอย่างเดียวเท่านั้น, อีกทั้งเราก็มิใช่แสดงธรรมเพื่อป้องกันบรรดาอาสวะ ที่จะเป็นไปในเบื้องหน้าเท่านั้น, หากแต่ว่า เราแสดงธรรม ทั้งเพื่อปิดกั้นบรรดาอาสวะที่เป็นไปในปัจจุบัน และเพื่อป้องกันบรรดาอาสวะที่จะเป็นไปในเบื้องหน้าด้วย; “ดูกรจุนทะ เพราะฉะนั้นแล จีวรใด อันเราอนุญาตแล้วแก่เธอทั้งหลาย จีวรนั้น ควรแก่พวกเธอ เพียงเพื่อเป็นเครื่องป้องกันหนาว ป้องกันร้อน ป้องกันสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อเป็นเครื่องปกปิดอวัยวะอันยังความละอายให้กำเริบ; “บิณฑบาตใด อันเราอนุญาตแล้วแก่เธอทั้งหลาย บิณฑบาตนั้น ควรแก่พวกเธอ เพียงเพื่อความดำรงอยู่แห่งกายนี้ เพื่อยังกายนี้ให้เป็นไป เพื่อระงับความ(ขาดอาหารอันจะ)เบียดเบียนชีวิต เพื่อเกื้อหนุนพรหมจริยา (โดยรู้ว่า) ด้วยการปฏิบัติดังนี้ เราจักบรรเทาเวทนาเก่าได้ ทั้งจักไม่ยังเวทนาใหม่ให้เกิดขึ้นด้วย และเราก็จักมีชีวิตที่ดำเนินไปราบรื่น พร้อมทั้งความไร้โทษ และความอยู่สำราญ; “เสนาสนะใด อันเราอนุญาตแล้วแก่เธอทั้งหลาย เสนาสนะนั้น ควรแก่พวกเธอ เพียงเพื่อเป็นเครื่องป้องกันหนาว ป้องกันร้อน ป้องกันสัมผัสเหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลาน เพียงเพื่อเป็นเครื่องบรรเทาอุตุอันตราย เพื่อเป็นที่มีความรื่นรมย์ในการหลีกเร้น; "คิลานปัจจัยเภสัชบริขารใด อันเราอนุญาตแล้วแก่เธอทั้งหลาย คิลานปัจจัยเภสัชบริขารนั้น ควรแก่พวกเธอ เพียงเพื่อเป็นเครื่องบำบัดเวทนาทั้งหลาย อันเนื่องจากอาพาธต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อความเป็นผู้ไม่มีทุกข์ยากเป็นอย่างยิ่ง ฉะนี้” บรรดาปัจจัย ๔ นี้ ข้อที่ ๒ เสนาสนะ (แปลตามศัพท์ว่า “ที่นั่ง และที่นอน”) คือที่อยู่อาศัย เป็นปัจจัยใหญ่ ทั้งเป็นที่ตั้งอาศัย และครอบคลุมปัจจัยข้ออื่นๆ จะปรุง จะรับประทาน จะเก็บอาหารเสื้อผ้า จะนุ่งห่มแต่งตัว ฯลฯ แทบทุกอย่างทุกประการ ก็อาศัยเสนาสนะทั้งนั้น จนกระทั่ง ในการถวายทาน พระพุทธเจ้าเคยตรัสแสดงความสำคัญไว้ว่า “ผู้ให้ข้าวน้ำ ชื่อว่าให้กำลัง ให้เสื้อผ้า ชื่อว่าให้ผิวพรรณ ให้ยานพาหนะ ชื่อว่าให้ความสะดวกสบาย ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่าให้จักษุ ส่วนผู้ใดให้ที่พักพาอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้ทุกอย่าง แลผู้ใดสั่งสอนธรรม ผู้นั้นชื่อว่าให้อำมฤต” (สํ.ส.15/138/44) สำหรับพระสงฆ์ เสนาสนะมีความหมายโยงขยายออกไป ตั้งแต่กุฎีที่อยู่ส่วนตน จนถึงที่อยู่อาศัยร่วมกันอันรวมเป็นวัด ที่มีคำเรียกเดิมตามพระพุทธนุญาตว่า “อาราม” (แปลสามัญว่าสวน) และวัดคืออารามนั้น ก็เกิดขึ้นมาจากป่าคือวนะ และหรืออุทยาน ดังเห็นได้ชัดจากกำเนิดของวัดแรกในพระพุทธศาสนา ที่พระเจ้าพิมพิสาร ที่พระเจ้าพิมพิสารถวายแด่พระพุทธเจ้า คือเวฬุวัน อุทยาน (เวฬุวนํ อุยฺยานํ) และวัดสำคัญที่ประทับยาวนานที่สุด คือ อุทยาน ที่มาเป็นเชตวนาราม (“เชตสฺส ราชกุมารสฺส อุยฺยานํ” มาเป็น “เชตวเน อนาถปิณฺฑิกสฺส อาราเม”) * จากอารามคือวัดในวนะ อันเป็นป่าย่อยในถิ่นใกล้บ้านย่านใกล้เมืองและชายป่าใหญ่ ที่อยู่อาศัยของพระสงฆ์ก็ขยายกระจายออกไปสู่ถิ่นห่างไกลในป่าใหญ่ที่เรียกว่าอรัญ (“อรญญ”) อันรวมทั้งถ้ำ เงื้อมเขา บนบรรพตคีรี และในที่สุด เสนาสนะคือที่อยู่อาศัยนั้น ก็โยงพระสงฆ์เข้ากับป่าดงพงไพร ขุนเขา และถิ่นบ้าน แดนเมืองทั้งหมด จนถึงโลก อันรวมทั้งสิ่งแวดล้อมทั้งมวล เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย ถิ่นแดน สิ่งแวดล้อมทั้งหมดนี้ ก็คือสิ่งรอบตัวที่จะรับรู้ ติดต่อ เกี่ยวข้อง สื่อสารสัมพันธ์ ด้วยปัญจทวาร คือผัสสทวาร หรืออินทรีย์ทั้ง ๕ นั้นเอง ดังนั้นโลกรอบตัวที่ว่ามานี้ จึงเป็นแดนแห่งกายภาวนา ที่จะฝึกฝนพัฒนากาย คือพัฒนาความสัมพันธ์ทางอินทรีย์เหล่านั้น ลักษณะความสัมพันธ์ที่ต้องการ ซึ่งมีอยู่ตลอดทุกเวลาในชีวิตของพระภิกษุ หรือผู้ศึกษา ปรากฏตั้งแต่ในถ้อยคำพื้นฐานที่กล่าวแล้วนั้น และโยงไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีงามกว้างออกไปๆ โดยก้าวหน้าไปกับการพัฒนาในการฝึกการศึกษานั้น เริ่มด้วยคำหลักที่เป็นพื้นมาในชีวิตของพระภิกษุคำแรกที่กล่าวแล้วนั้น คือ อาราม ที่แปลง่ายๆ ว่า “สวน” หรือแปลตามศัพท์อย่างที่นิยมพูดกันมาว่า “ที่มายินดี” คำว่า อาราม หรือที่มายินดีนี้ บอกความสัมพันธ์พื้นฐานของผู้ศึกษา เริ่มจากถิ่นที่อยู่อาศัย (คือวัด) ว่าเป็นที่ (มีสภาพธรรมชาติ พืชพรรณ กบไก่นกกา ฯลฯ) ที่ชวนใจให้มายินดี คำว่าอารามนี้ บอกความสัมพันธ์ทางจิตใจที่พึงประสงค์ ซึ่งภิกษุหรือผู้ศึกษาพึงมีเป็นพื้นฐานต่อสถานที่อยู่อาศัยอันเหมาะนั้น แล้วขยายออกไปให้ถิ่นแดนที่ตนเกี่ยวข้อง เป็นอารามที่มายินดี มิใช่เท่านั้น คำว่าอารามโยงภิกษุหรือผู้ศึกษานั้น ลึกเข้าไปทางด้านความเป็นอยู่และการปฏิบัติธรรมด้วย คือโยงต่อเข้าไปถึงแดนของอินทรีย์ใหญ่ภายใน อันได้แก่ใจ ให้มีอารามคือความมายินดีในเรื่องต่างๆ ขยายต่อออกไป อันที่เป็นหลักๆ เช่น ปวิเวการาม (มีความสงัดวิเวกเป็นที่มายินดี) ปฏิสัลลานาราม (มีความหลีกเร้นเป็นที่มายินดี) แล้วก็ลึกลงไปถึง ปหานาราม (มีการแก้ไขละเลิกอกุศลเป็นที่มายินดี) ภาวนาราม (มีการเจริญคือพัฒนากุศลธรรมเป็นที่มายินดี) * อารามเป็นอาการความรู้สึกในจิตใจของภิกษุ หรือผู้ศึกษา ที่พึงมีต่อสิ่งอันเหมาะที่จะสื่อสารสัมพันธ์นั้นโดยตรง และเท่ากับว่าผู้ศึกษาเองมีหน้าที่จะพึงทำให้สิ่งที่ตนเกี่ยวข้องสัมพันธ์นั้น เป็นอารามอันจะเป็นที่มายินดีด้วย ตั้งแต่วัดที่อยู่อาศัยของตนเองที่มีชื่อให้เรียกว่าอย่างนั้นอยู่แล้ว และพึงแผ่ขยายอารามนี้ออกไปให้ทั่วรอบ ขณะที่คำว่า “อาราม” แสดงความรู้สึกในใจที่สัมพันธ์หรือมีต่อสถานที่ถิ่นฐานสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ก็มีอีกคำหนึ่งที่ปรากฏมากมายเหลือเกินในชีวิตของพระสงฆ์หรือผู้ศึกษา ตลอดถึงท่านผู้จบการศึกษาแล้วในพระธรรมวินัยนี้ (น่าจะมาก น่าจะบ่อยกว่าอารามเสียอีก) คือคำว่า “รมณีย์” ที่แปลว่าน่ารื่นรมย์ คำนี้ชี้บอกไปที่สภาพของบรรยากาศที่ชื่นชูใจ อันพึงประสงค์ยิ่งสำหรับผู้ศึกษา ที่จะเกื้อกูลให้เจริญงอกงามก้าวไปด้วยดีในการศึกษาพัฒนากุศลธรรม และสำหรับท่านผู้จบการพัฒนาแล้ว ก็จะสัมผัสพบสภาพรมณีย์นี้ได้ง่ายดายหรืออย่างพร้อมทันที เพราะมีสัมผัสที่ไม่มีกิเลสแฝงงำ หรือกั้นบัง กับทั้งท่านเองนั่นแหละเป็นผู้พร้อมที่จะทำให้ถิ่นฐานสิ่งที่แวดล้อมเป็นรมณีย์ คือเป็นที่รื่นรมย์ ทั้งแก่องค์ท่านเอง และแก่ผู้อื่นทั้งหลายที่เข้ามาใกล้ชิดหรือแวดล้อมด้วย “รมณีย์” ภาวะที่น่ารื่นรมย์ จึงเป็นคำที่ปรากฏทั่วไปในพระไตรปิฎก เหมือนเป็นบรรยากาศหนึ่งของพระไตรปิฎกนั้นด้วย เริ่มตั้งแต่ในพุทธประวัติก่อนตรัสรู้ เมื่อพระโพธิสัตว์เสด็จเที่ยวทรงแสวงหาสถานที่อันเหมาะที่จะทรงบำเพ็ญเพียร ในที่สุดทรงพบที่อันเหมาะเช่นนั้น ณ อุรุเวลาเสนานิคมดังคำตรัสในวาระนั้นว่า "ภาคพื้นภูมิสถานถิ่นนี้ เป็นที่รื่นรมย์จริงหนอ (รมณีโย วต) มีไพรสณฑ์ร่มรื่น น่าชื่นบาน ทั้งมีแม่น้ำไหลผ่าน น้ำใส เย็นชื่นใจ ชายฝั่งท่าน้ำก็ราบเรียบ ทั้งโคจรคามก็มีอยู่โดยรอบ เป็นสถานที่เหมาะจริงหนอที่จะบำเพ็ญเพียร สำหรับกุลบุตรผู้ต้องการทำความเพียร’ ภิกษุทั้งหลาย เรานั้นแล ได้นั่งลงแล้ว ณ ที่นั้น โดยตกลงใจว่า ‘ที่นี่ละ เหมาะที่จะบำเพ็ญเพียร’” พระพุทธเจ้า และเหล่าพระสาวก เมื่อเสด็จไปประทับหรือไปอยู่ และผ่านไปในที่ต่างๆ โดยเฉพาะตามป่าเขาแดนไพร มีคำบันทึกไว้ว่า ท่านได้กล่าวถึงสถานที่นั้นๆ ว่าเป็นที่รื่นรมย์ บางทีก็พรรณนาไว้ด้วยว่ารื่นรมย์อย่างไร ดังตัวอย่าง พระเอกวิหาริยเถระกล่าวถึงบรรยากาศในถิ่นที่ท่านไปอยู่ วิเวกเป็นคาถาความว่า “... เมื่อลมเย็นพัดมา พากลิ่นดอกไม้หอมฟุ้งไป เรานั่งอยู่บนยอดเขา จักทำลายอวิชชา ณ เงื้อมผาที่ดารดาษไปด้วยดอกโกสุม มีภาคพื้นเยือกเย็นในแดนป่า เราผู้เป็นสุขแล้วด้วยวิมุตติสุข จะรื่นรมย์อยู่ในถ้ำแห่งขุนเขาอย่างแน่นอน.” พระมหากัสสปะกลับจากบิณฑบาต เดินขึ้นภูเขา ก็กล่าวคาถาประพันธ์ชื่นชมความรื่นรมย์ในแดนป่า ดังที่มีบันทึกไว้ยืดยาว เช่นตอนหนึ่งว่า “ภาคพื้นภูผา เป็นที่ร่าเริงใจ มีต้นกุ่มมากมาย เรียงรายเป็นทิวแถว เสียงช้างร้องก้องกังวาน เป็นรมยสถาน ถิ่นขุนเขาทำใจเราให้รื่นรมย์ ขุนเขาสีทะมึนดุจเมฆ งามเด่น มีธารน้ำเย็นใสสะอาด ดารดาษด้วยผืนหญ้าแผ่คลุม มีสีเหมือนแมลงค่อมทอง ถิ่นขุนเขาทำใจเราให้รื่นรมย์ ยอดภูผาสูงตระหง่านเทียมเมฆ เขียวทะมึน มองเห็นเหมือนเป็นปราสาท กัมปนาทด้วยเสียงช้างคำรนร้อง เป็นที่ร่าเริง ถิ่นขุนเขาทำใจเราให้รื่นรมย์” รวมความ ดังได้กล่าวแล้ว พระอรหันต์ได้พัฒนาอินทรีย์แล้ว เป็นภาวิตินทรีย์ ท่านเอง นอกจากพร้อมที่จะสัมผัสบรรยากาศที่รื่นรมย์ได้โดยพลันแล้ว ถึงแม้ถ้าที่นั้นไม่น่ารื่นรมย์ ท่านก็มองหรือวางใจรื่นรมย์ได้ เมื่อไปในที่รื่นรมย์ ก็รื่นรมย์โดยไม่มีอะไรกีดกั้น แม้ไปในที่วุ่นวาย ก็กลายเป็นทำสถานที่นั้นให้รื่นรมย์ คนใดมาใกล้หรือได้แวดล้อม ก็พลอยรื่นรมย์ใจ ดังคาถาที่ว่า “ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม ไม่ว่าที่ดอน (พระอรหันต์) ท่านผู้ไกลกิเลส อยู่ที่ไหน ที่นั้นไซร้ เป็นภูมิสถาน อันรื่นรมย์” กายภาวนาเป็นการพัฒนาพื้นฐานขั้นต้น ซึ่งจะสำเร็จผลสมบูรณ์เป็นจริง ก็ต่อเมื่อได้พัฒนาจบสิ้น คือบรรลุผลของปัญญาภาวนา แต่เมื่อพัฒนาจบสิ้นสมบูรณ์แล้ว ภาวิตกายก็เป็นด้านที่แสดงผลออกมา ซึ่งปรากฏก่อนนำหน้า หรือที่คนทั่วไปจะสัมผัสได้ง่าย แต่พร้อมกันนั้น ก็มีผลสำแดงอย่างอื่นที่เทียบคล้าย ซึ่งคนทั่วไป ผู้ที่ตนเองมิได้พัฒนาจิตปัญญาศีลและกาย อาจเข้าใจผิด เหมือนถูกพาให้หลงไปได้โดยง่ายเช่นเดียวกัน
.................
* ม.มู. ๑๒/๔๐๕/๔๓๗; อรรถกถาอธิบายว่า ในที่นี้ กายภาวนา เป็นวิปัสสนา, จิตตภาวนา เป็นสมาธิ คือสมถะ (ม.อ.2/192)
* ม.อุ. 14/853/541 คำว่า “ปฏิกูล” ไม่พึงมองความหมายแคบๆ อย่างที่มักเข้าใจทำนองว่าสกปรก ยกตัวอย่างตามที่ท่านอธิบายไว้ เช่น คนหน้าตาไม่ดี มีกิริยาอาการไม่งาม เรามองด้วยเมตตา หรือของไม่สวย เรามองตามสภาวะของธาตุ ให้เห็นเป็นน่าชื่นชมหรือสบายตา ก็เรียกว่า หมายรู้ในของปฏิกูลเป็นไม่ปฏิกูล คนหรือของที่เห็นกันว่าสวยงาม เรามองด้วยอนิจจตา หรือตามสภาวะของธาตุ ก็กลายเป็นไม่สวยงาม อย่างนี้ก็เรียกว่า หมายรู้ในของไม่ปฏิกูลเป็นปฏิกูล (ดูคำอธิบายใน ขุ.ปฏิ.31/690/599)
* ที.ปา.11/113/142 บางแห่ง ตรัสเป็นคำสอนเชิงปฏิบัติให้พิจารณาในเวลาที่จะเสพบริโภค อย่างที่มีคำเริ่มต้นทุกข้อว่า “ปฏิสงฺขา โยนิโส” ขอยกตัวอย่างมาเฉพาะข้อพิจารณาอาหารบิณฑบาต ซึ่งมีความเพิ่มเติมในตอนเริ่มต้นดังนี้ “ข้าพเจ้าพิจารณาแล้วโดยแยบคาย จึงฉันอาหารบิณฑบาต (โดยรู้ตระหนักว่า) มิใช่เพื่อสนุกสนาน มิใช่เพื่อติดรสหลงมัวเมา มิใช่เพื่ออวดโอ่โก้เก๋ มิใช่เพื่อประดับประดา แต่เพียงเพื่อความดำรงอยู่แห่งกายนี้...” (ต่อจากนี้ เหมือนข้างบน),
* พุทธานุญาตให้มีวัด ซึ่งปรารภการถวายเวฬุวันอุทยานของพระเจ้าพิมพิสารนั้น ว่า “อนุชานามิ ภิกฺขเว อารามํ”, วินย.4/63/71
* อารามด้านตรงข้ามที่พึงละเว้นก็มี เช่น นิททาราม (มีการหลับเป็นที่มายินดี) กัมมาราม (มีงานยุ่งเป็นที่มายินดี) ภัสสาราม (มีการพูดคุยเป็นที่มายินดี) สังคณิการาม หรือสังสัคคาราม (มีการคลุกคลี หรือมั่วสุมเป็นที่มายินดี) ตลอดจน รูปาราม สัททาราม (มีรูป มีเสียงเป็นที่มายินดี) ฯลฯ
Create Date : 26 พฤษภาคม 2567 |
Last Update : 26 พฤษภาคม 2567 17:02:15 น. |
|
0 comments
|
Counter : 140 Pageviews. |
 |
|
|
|
|
 |
|
|
|