อ่านเรื่อยๆ มาเรียง ๆ ทุกวันของ หนี่งหน่อง นะครับ

หนุ่มๆ ฮือฮา แน๊ต เกศริน โพสต์ถือเพศพรหมจรรย์ครบ 1 ปี

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ นางแบบและนักแสดงสาวแซ่บ แน๊ต เกศริน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เจ้าตัวถือเพศพรหมจรรย์ครบ 1 ปี ท่ามกลางหนุ่มๆ ที่เข้ามาคอมเมนต์เพียบ 
 
เรียกว่าสวยเก่งครบเครื่องมากๆ สำหรับ แน๊ต เกศริน ซึ่งใครจะเชื่อว่าความเซ็กซี่ร้อนแรงแบบนี้จะยังไร้หนุ่มเคียงกาย โดยล่าสุดเจ้าตัวโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “อีก 2 วันฉลองครบรอบแบบว่า การถือเพศพรหมจรรย์ครบ1ปี แบบไร้คนเคียงข้าง รักษาศีลทั้งกาเม และ อะพรัหมะจริยารวมถึงไม่มีแม้กระทั่งคู่นอนด้วย ไม่ใช่ไม่มีเข้ามา แต่อาจเพราะทำงานมากเกินไป จนลืมคิดเรื่องนี้ไปเลย” 
 
สำหรับ แน๊ต เกศริน ผลิตผลงานเซ็กซี่ออกมาให้ติดตามกันตลอด แม้พักหลังเธอจะทิ้งช่วงงานแสดงไป และหันมาเอาดีด้านการเป็นนางแบบ รับงานโชว์ตัว เป็นส่วนใหญ่ แต่ด้วยชื่อเสียงในอดีตก็ทำให้หนุ่มๆ หลายคนยังคงตามไปให้กำลังใจไม่ห่าง 
 
     สวย เซ็กซี่ไม่เปลี่ยนแบบนี้ ไม่แปลกที่ยืนหนึ่งเรื่องความแซ่บมายาวนาน
 
 
 
 
 
ที่มา : หนุ่มๆ ฮือฮา แน๊ต เกศริน โพสต์ถือเพศพรหมจรรย์ครบ 1 ปี (sanook.com)




 

Create Date : 30 พฤษภาคม 2566    
Last Update : 30 พฤษภาคม 2566 12:07:18 น.
Counter : 450 Pageviews.  

ภาพทายนิสัย คนไหน “ฉลาดที่สุด” คำตอบสะท้อนตัวตนและความคิดของคุณ

                                  
ภาพทายนิสัยของเราวันนี้ เป็นภาพของชาย 4 คนที่นั่งอยู่บนต้นไม้ ในมือแต่ละคนก็มีเลื่อยคนละปื้น และกำลังตัดกิ่งไม้ตรงหน้าของแต่ละคน นอกจากจะดูเป็นภาพที่แสดงพฤติกรรมแปลก ๆ ของชายทั้ง 4 แล้ว ภาพนี้ยังสามารถสะท้อนตัวตนและความคิดของคุณได้เช่นกัน ลองมองดูการกระทำของทั้ง 4 คน คุณคิดว่าชายคนไหน “ฉลาดที่สุด” คำตอบที่คุณเลือกจะบอกลักษณะนิสัยของคุณ 
                                    ถ้าเลือกได้แล้ว ไปดูคำตอบกันเลย 

                                 ชายคนที่ 1 

คุณเป็นคนมองโลกในแง่ดี และทำตามเสียงหัวใจของตัวเองอยู่เสมอ คุณไม่ชอบการทำตามคำสั่งของใคร หรือเดินตามรอยเท้าของใครทั้งนั้น สำหรับคุณแล้ว การสร้างทางเดินสู่ความสำเร็จของตัวเองคือสิ่งสำคัญที่สุด นอกจากนี้ คุณยังไม่ชอบฟังคนอื่น คุณใช้เสียงหัวใจของตัวเองเป็นที่ตั้งเสมอ ซึ่งหลายครั้งก็ทำให้คุณกลับมานั่งเสียใจ ดังนั้น แม้ลักษณะนิสัยนี้ของคุณจะเป็นสิ่งที่ดี แต่ฟังเสียงเตือนของคนรอบข้างบ้าง ก็ไม่เสียหายอะไรหรอก  

                              ชายคนที่ 2 

คุณเป็นคนมุ่งมั่นตั้งใจ บางคนถึงกับเรียกคุณว่าเป็นพวก “หัวแข็ง” คุณไม่เชื่อหรือคล้อยตามใครง่าย ๆ ตราบใดที่คุณยังไม่ได้พิสูจน์หรือสัมผัสด้วยตัวเอง อย่ามีใครมาบอกให้คุณทำอะไรเชียว เพราะคุณจะไม่มีวันทำตามคำสั่งของใคร อย่างไรก็ตาม แม้การไม่ยอมก้มหัวให้ใครจะเป็นเรื่องที่ดี แต่อย่าหัวแข็งเสียจนคนอื่น ๆ ไม่อยากอยู่ใกล้ หรือปล่อยให้นิสัยที่ว่านี้ปิดกั้นคุณจากการเห็นว่าการการกระทำของคุณก็มีผลกระทบกับชีวิตของคนอื่นเช่นกัน  

                                ชายคนที่ 3 

ความรอบคอบคือชื่อเล่นของคุณ คุณมักจะตัดสินใจตามหลักเหตุและผลเสมอ คุณไม่ยอมใช้อารมณ์ความรู้สึกมาเกี่ยวข้อง เมื่อเป็นเรื่องที่คุณต้องตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง คุณเป็นคนระมัดระวังตัว เพราะคุณรู้ว่าถ้าทำพลาดสักครั้งเดียว ก็อาจส่งผลกระทบให้กับตัวเองและคนอื่นเป็นวงกว้าง แม้นิสัยแบบนี้จะเป็นเรื่องดี แต่มันก็อาจจะปิดกั้นคุณจากการได้เป็นตัวเอง บางครั้งลองปล่อยจอยเสียบ้างก็ได้ ลองสนุกไปกับสิ่งที่ชีวิตหยิบยื่นมาให้ก็ดีเหมือนกันนะ 

                               ชายคนที่ 4 

คุณเป็นคนรักอิสระและรักความสนุกสนาน คุณคือคนที่มักจะทำอะไรสวนทางกับคนอื่นอยู่เสมอ คุณคือพวกหัวขบถ ที่มีความคิดของตัวเอง อะไรผิด คุณก็กล้าลุกขึ้นมาประท้วงและเรียกร้องความยุติธรรม คุณไม่ปล่อยให้คนทำผิดลอยนวลไปได้ คุณยึดอุดมการณ์ของตัวเองเป็นที่ตั้ง แล้วคุณก็เกลียดเผด็จการเป็นที่สุด เมื่อไรที่คุณรู้สึกว่าถูกบังคับ คุณจะลุกขึ้นสู้ทันที แต่การวิ่งชนอย่างเดียวก็ทำให้คุณรู้สึกเหนื่อยได้เหมือนกัน ดังนั้น เรียนรู้ที่จะปล่อยวางกับบางเรื่องเสียบ้างก็จะเป็นผลดีกับคุณเอง 

ที่มา :  ภาพทายนิสัย คนไหน “ฉลาดที่สุด” คำตอบสะท้อนตัวตนและความคิดของคุณ (sanook.com)




 

Create Date : 30 พฤษภาคม 2566    
Last Update : 30 พฤษภาคม 2566 11:50:36 น.
Counter : 319 Pageviews.  

ชวนเล่น Peridot เกมเลี้ยงสัตว์ ที่จะทำให้คุณอยากออกนอกบ้าน

            Peridot ฟักไข่สัตว์เลี้ยงแล้วพาออกไปท่องโลก 

เปิดให้บริการมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือน กับเกม Peridot เกมเลี้ยงสัตว์แบบ Virtual Pet จากค่าย Niantic ผู้พัฒนาเกมมือถือสุดดังอย่าง Pokémon GO คราวนี้มาพร้อมกับคาแรกเตอร์และเรื่องราวที่สร้างขึ้นมาใหม่เองโดยไม่ได้ใช้ IP ดัง ๆ แต่หน้าตาและกลิ่นอายของตัวเกมเรียกได้ว่าชวนให้คุ้นเคยทีเดียว ลองมาดูว่าตัวเกมมีอะไรน่าสนใจ 
 

                            สัตว์เลี้ยงที่มากับเทคโนโลยี AR 

สำหรับธีมหลักคือเกมเลี้ยงสัตว์เสมือนจริงที่มีรูปลักษณ์หน้าตาแฟนตาซี ที่เราสามารถให้อาหาร เล่นด้วย และมีปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น ลูบหัว ลูบตัว เรียกให้มาหา คล้าย ๆ เล่น Tamagotchi ในเวอร์ชันที่น้อง ๆ มีความสมจริงมากกว่า และมีฟังก์ชันให้ทำหลากหลายกว่า 
 
จุดเด่นที่ไม่พูดถึงไม่ได้คงเป็นเทคโนโลยี Augmented Reality หรือ AR ที่เราสามารถเปิดกล้องมือถือ แสดงผลสถานที่จริง ๆ ที่เราอยู่ แล้วเรียกน้องมาเล่นกับเราเหมือนกับว่าน้องอยู่ในห้องเดียวกับเราได้ด้วย ตัวระบบมีเซนเซอร์ตรวจจับระดับความสูงต่ำของพื้นผิว น้องจึงสามารถมายืนบนโต๊ะ บนตัก หรือลงไปเล่นที่พื้นได้ด้วย 

                                                       อะไรคือ Peridot 

สำหรับคอนเซ็ปต์หลักของเกม คือการรับไข่สัตว์เลี้ยงที่ชื่อว่า Peridot หรือจะเรียกสั้น ๆ ว่า Dot ก็ได้ จากนั้นก็ฟักออกมาเพื่อสุ่มรับสัตว์เลี้ยงหน้าตาน่ารักแตกต่างกันออกไป เราสามารถตั้งชื่อ เลี้ยงดู และพาไปทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงแต่งตัวใส่คอสตูมให้น้อง ๆ ได้ด้วย 
 
เช่นเดียวกับเกมแนวสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ คือ Dot ของเราสามารถเติบโตและเจ้าของสามารถนำสัตว์เลี้ยงของตัวเองมาผสมกันเพื่อฟักไข่ Peridot สายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่มีรูปลักษณ์ใหม่ ๆ ไม่ซ้ำต่อไปได้เรื่อย ๆ 
จุดเด่นของ Peridot คือ เมื่อเราเปิดโหมด AR สัตว์เลี้ยงของเราจะสามารถรับรู้ถึงสภาพพื้นที่ สภาพแวดล้อมบริเวณรอบ ๆ เช่น ระดับสูง-ต่ำของพื้นดิน (ดังที่กล่าวไป) ลักษณะพื้นที่แตกต่างกัน เช่น หญ้า ทราย แหล่งน้ำ และน้อง ๆ แต่ละตัวนอกจากรูปลักษณ์จะต่างกันแล้ว ลักษณะนิสัยก็แตกต่างกันด้วย 

                                            พาน้อง ๆ ท่องโลกกว้าง 

อีกหนึ่งจุดเด่น เมื่อเกมมีระบบ AR คือ เราสามารถเล่นกับสัตว์เลี้ยงด้วยฉากหลังที่เป็นสถานที่ที่เราอยู่จริง ๆ ดังที่กล่าวไปข้างต้นว่าตัวเกมจะรับรู้ได้ถึงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ จึงมีระบบสนุก ๆ อย่างการพาน้องไปตามหาไอเทม หรือสมบัติ ที่มักจะอยู่ในสภาพแวดล้อมเฉพาะเจาะจง เช่น ผลไม้ชนิดนี้จะพบได้ตามแหล่งน้ำ เราก็ต้องพาน้อง ๆ ไปใกล้ ๆ แหล่งน้ำเพื่อหาไอเทม อะไรแบบนี้ ทำให้เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับทั้งสัตว์เลี้ยงและสถานที่จริง และอยากออกไปเดิน ตามหาสถานที่ที่เควสต์หรือตัวเกมกำหนดเพื่อค้นพบสิ่งใหม่ ๆ ด้วย จัดว่าเป็นเกมเลี้ยงสัตว์ที่กระตุ้นให้ผู้เล่น (เจ้าของ) ได้ออกจากบ้านเลยล่ะ 
 
นอกจากนั้น ผู้เล่นยังสามารถถ่ายภาพบันทึกความน่ารัก บันทึกความทรงจำกับเจ้า Dot ทั้งหลายแล้วแชร์อวดเพื่อน ๆ ได้ด้วยนะ 

                                                 ดาวน์โหลด  

       https://play.google.com/store/apps/details?id=com.nianticlabs.peridot  
       https://apps.apple.com/app/peridot/id6445801028  
ที่มา : ชวนเล่น Peridot เกมเลี้ยงสัตว์ ที่จะทำให้คุณอยากออกนอกบ้าน - #beartai


 




 

Create Date : 30 พฤษภาคม 2566    
Last Update : 30 พฤษภาคม 2566 11:39:55 น.
Counter : 315 Pageviews.  

“ตราด” ชื่อนี้มาจากไหน เมืองตราดพบในบันทึกตั้งแต่เมื่อใด

ต้นกราด หรือ ต้นยาง ภาพจากหนังสือประวัติศาสตร์เมืองตราด (ที่มา: ผศ.ดร. เภสัชกรหญิงสุดารัตน์ หอมหวล) 
ตราด เป็นชื่อของจังหวัดสุดเขตแดนตะวันออกของประเทศ ที่ครั้งหนึ่งถูกยึดครองโดยฝรั่งเศส (หลังจากที่ฝรั่งเศสถอนกำลังออกจากเมืองจันทบุรี) และทางการไทยต้องสละสิทธิ์ในดินแดนมณฑลบูรพา อันประกอบด้วย พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เพื่อแลกกับ “ตราด” ซึ่งเป็นเมืองยุทธศาสตร์สำคัญทางทะเลเมืองหนึ่งของชาติกลับมา 

                                         ชื่อว่า “ตราด” มาจากไหน  

แม้ชื่อจังหวัด “ตราด” ไม่ปรากฏที่มาอย่างชัดเจน แต่มีข้อสันนิษฐานที่น่าเชื่อถือ ที่คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุฯ เรียบเรียงไว้ใน “วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดตราด” (กรุงเทพฯ : คุรุสภา, 2543) ดังนี้

พระครูคุณสารพิสุทธิ์ [พระวิมลเมธาจารย์ (เจ้ง จันทสโร)] สันนิษฐานไว้ว่า ตราด เพี้ยนมาจากคำว่า ‘กราด’ เนื่องจากที่ตั้งเมืองในปัจจุบันเป็นท่าราบว่างเปล่า แม่น้ำบางพระได้พัดพาเอาต้นกราดมาติดที่ดอนนี้ จึงมีผู้นำมาตั้งเป็นชื่อเมือง เรียกว่า เมืองกราด”  [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

ส่วนพระราชเขมากร (ปกรณ์ เขมากโรทัย) เจ้าคณะจังหวัดตราด ได้สันนิษฐานว่า ได้รับคำบอกเล่าจากพระผู้ใหญ่รูปหนึ่งว่า คำว่า ‘ตราษ’ เป็นภาษาเขมร หมายถึงไม้ยาง ซึ่งเป็นไม้พื้นเมืองที่มีขึ้นอยู่ทั่วไป ในสมัยก่อนในท้องที่ของจังหวัดตราดมีไม้ยางอยู่มาก [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม] 
เมื่อสืบค้นในพจนานุกรม Dictionaire Vieux Khmer-Francais-Anglais on old Khmer-French-English Dictionary ปรากฏคำว่า “ตฺราจ” ในภาษาเขมรโบราณ และภาษาเขมรปัจจุบันว่า “ตฺราจ” เป็นชื่อต้นไม้ที่มีน้ำยางเรียกว่าต้นตราจ
                                                     พบชื่อเมืองตราด เมื่อใด  

ชื่อเมือง “ตราด” ปรากฏหลักฐานเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ใน “พระทำนูน (พระธรรมนูญ)” ซึ่งเป็นพระไอยการหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง กฎหมายพระทำนูนนี้ตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อมหาศักราช 1544 ตรงกับพุทธศักราช 2167 ระบุว่า

ตราเจ้าพญาธรรมราชเดชชาติอำมาตยานุชิดพิพิทวรวงษพงษภักตยาธิเบศวะราธิบดี ศรีรัตนราชโกษาธิบดีอไภยพิริยบรากรมภาหุได้ใช้ตราบัวแก้ว ถ้ามีพระราชโองการให้ข้าราชการผู้มีความชอบไปรั้ง ไปครองเมืองณะหัววเมืองขึ้นแก่โกษาธิบดี คือ เมืองจันทบูรรณ เมืองตราด เมือง ระยอง เมืองบางลมุง เมืองนนทบุรี เมืองสมุทประการ เมืองสมุทสงคราม เมืองสาครบุรี มีตราไปตั้งเจ้าเมืองปะหลัดรองปะหลัดณะหัววเมืองซึ่งขึ้นแก่โกษาธิบดีนั้น แลมีตราไปเอากิจราชการ แลกิจศุขทุกขถ้อยความณะหัววเมืองซึ่งขึ้นแก่โกษาธิบดีนั้น แลนำตราเจ้าพนักงานไปตั้งกรมการ แลตั้งนายอากอรนายขนอนทังปวง” [เน้นโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม] 
  ชื่อเมือง “ตราด” ปรากฏหลักฐานเก่าแก่ที่สุดตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ใน “พระทำนูน (พระธรรมนูญ)” ซึ่งเป็นพระไอยการหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง กฎหมายพระทำนูนนี้ตราขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง เมื่อมหาศักราช 1544 ตรงกับพุทธศักราช 2167 ระบุว่า

ตราเจ้าพญาธรรมราชเดชชาติอำมาตยานุชิดพิพิทวรวงษพงษภักตยาธิเบศวะราธิบดี ศรีรัตนราชโกษาธิบดีอไภยพิริยบรากรมภาหุได้ใช้ตราบัวแก้ว ถ้ามีพระราชโองการให้ข้าราชการผู้มีความชอบไปรั้ง ไปครองเมืองณะหัววเมืองขึ้นแก่โกษาธิบดี คือ เมืองจันทบูรรณ เมืองตราด เมือง ระยอง เมืองบางลมุง เมืองนนทบุรี เมืองสมุทประการ เมืองสมุทสงคราม เมืองสาครบุรี มีตราไปตั้งเจ้าเมืองปะหลัดรองปะหลัดณะหัววเมืองซึ่งขึ้นแก่โกษาธิบดีนั้น แลมีตราไปเอากิจราชการ แลกิจศุขทุกขถ้อยความณะหัววเมืองซึ่งขึ้นแก่โกษาธิบดีนั้น แลนำตราเจ้าพนักงานไปตั้งกรมการ แลตั้งนายอากอรนายขนอนทังปวง” [เน้นโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม] 

ต่อมารัชกาลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏชื่อ “เมืองตราษ” ในจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 จ.ศ. 1206 (พ.ศ. 2387) เรื่อง “หนังสือไปถึงเมืองตราษว่าด้วยเกลือไม่ส่งไปเมืองพนมเปน” และจดหมายเหตุรัชกาลที่ 3 จ.ศ. 1207 (พ.ศ. 2388) เรื่อง “ใบบอกเรื่องราชการลับเมืองเขมร” โดยเรียกว่า “เมืองตราษ”

ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏการใช้คำว่า “ตราษ” และ “ตราด” ดังปรากฏในราชกิจจานุเบกษารัชกาลที่ 4 ซึ่งพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2401-2402 และในประชุมประกาศรัชกาลที่ 4

ครั้นถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ชื่อของ “เมืองตราด” ยังคงมีการใช้ว่า “เมืองตราด” หรือ “เมืองกราด”

จนถึงปี พ.ศ. 2470 ในสมัยที่พระยาอินทราบดีเป็นสมุหเทศาภิบาล จึงใช้ชื่อ “เมืองตราด” เพียงชื่อเดียว ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น “จังหวัดตราด” และใช้สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน 
หมายเหตุ  บทความนี้เขียนเก็บความจาก รศ.ดร. ศานติ ภักดีคำ. ประวัติศาสตร์เมืองตราด, เจ้าของลิขสิทธิ์และผู้อำนวยการจัดทำ นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ, จัดทำโดย กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม บมจ.มติชน, พ.ศ. 2565




 

Create Date : 30 พฤษภาคม 2566    
Last Update : 30 พฤษภาคม 2566 11:05:04 น.
Counter : 260 Pageviews.  

“ไม้สัก” มีค่าถึงขั้นเป็น “ส่วย” แทนทองคำ ทั้งยังเกี่ยวพันกับการตั้ง “กรมป่าไม้”

ซุงไม้สักที่มัดเป็นแพล่องลงมาตามแม่น้ำ (ภาพจาก "Twentieth Century Impressions of Siam")  

ไม้สัก เป็นพืชเศรษฐกิจของไทยมานับร้อยๆ ปี และครั้งหนึ่งก็เคยมี “ส่วยไม้สัก” ที่หัวเมืองเหนือส่งให้กรุงเทพฯ แทนทองคำ แสดงถึงบทบาทของไม้สักในฐานะของมีค่า นอกจากนี้ ไม้สักก็ยังมีความเชื่อมโยงกับการก่อตั้ง “กรมป่าไม้” ที่รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาขึ้นเมื่อ 18 กันยายน พ.ศ. 2439 และโปรดฯ ให้สังกัดกระทรวงมหาดไทย อีกด้วย 

ในอดีต บทบาทของไม้สักตามข้อมูลที่ ดร.สุรีย์ ภูมิภมร ค้นคว้าและเรียบเรียงเกี่ยวกับต้นไม้ต่างๆ รวมทั้งต้นสักไว้ใน “พรรณพืชในประวัติศาสตร์ไทย” กล่าวถึงต้นสักหรือไม้สักตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงยุครัตนโกสินทร์ สรุปได้ดังนี้  

เริ่มจากสมัยสุโขทัย ต้นสักเป็นพืชที่ปลูกได้ทั่วไป แต่ศิลาจารึกสุโขทัยกลับบันทึกถึงต้นไม้อื่นเป็นส่วนใหญ่ โดยมากเป็นต้นโพธิ์และไม้ผลต่างๆ มีเพียงศิลาจารึกวัดเสมา สุโขทัย ที่บาทหลวงสมิธค้นพบ ซึ่งกล่าวถึงไม้สักไว้ตอนหนึ่งว่า “ต้องการไม้สักตำลึงหนึ่งเพื่อบูชาครู” นอกจากนี้ก็พบไม้สักในรายการเครื่องราชบรรณาการที่ส่งไปประเทศจีน

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นยุคทองของ “ไม้ฝาง” ลูกค้าสำคัญในเวลานั้นคือญี่ปุ่น ที่ใช้ไม้ฝางทำเฟอร์นิเจอร์และสีย้อมผ้าไหม รายงานของแคมป์เฟอร์บันทึกเกี่ยวกับไม้ฝางว่า โกดังสินค้าของชาวดัชต์มีแต่ไม้ฝางกองอยู่มาก ในช่วงนั้นตลาดมีความต้องการไม้ฝางมาก ส่วนไม้สักนั้นในยุโรปนำไปทำเฟอร์นิเจอร์แล้ว แต่การส่งออกไม้สักของอยุธยามีน้อยมาก 
การค้า “ไม้สัก” เริ่มเฟื่องฟูในสมัยกรุงธนบุรี มีคนพม่าเข้ามาทำไม้ในภาคเหนือของไทย โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าครองนคร เนื่องจากพม่าปิดป่าไม้สัก ช่วงนี้เองที่ฝรั่งจากพม่าและอินเดียเข้ามาทําไม้ในเมืองไทย แต่คนยุโรปก็ยังรู้จักเฉพาะไม้สักอินเดีย การทําไม้สักยุคนี้มีข้อจํากัดและระเบียบที่ยุ่งยากจากฝ่ายรัฐบาลและเจ้าครองนคร ช่วงเริ่มต้นการทําไม้สัก ฝรั่งจึงว่าจ้างคนจีน คนพม่า และคนเหนือ มาช่วยดําเนินงานแทน 

ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ การทําไม้สักยังคงอยู่ในมือของคนจีนและคนพม่า ธุรกิจการค้าไม้สักเป็นของคนจีน ส่วนการทําไม้ การชักลากไม้ เป็นของคนพม่า โดยในปี 2326 การค้าขายไม้สักของไทยมีมูลค่าปีละไม่เกิน 630,000 บาท เพราะเทคโนโลยีที่ใช้ยังล้าสมัย เงินทุนมีจํากัด และยังไม่มีการส่งออก

ต่อมาไม้สักมีราคาสูงขึ้น บริษัทยุโรปจึงสนใจที่จะทําไม้เสียเอง จนบางครั้งเกิดการแย่งป่าสัมปทาน ต้องแบ่งป่าสัมปทานให้เล็กลง จนสร้างปัญหาให้ผู้ได้รับสัมปทาน ขณะที่ผู้ได้รับสัมปทานก็ทําไม้เกินกําลังผลิตของป่า มีการตัดไม้ออกมากจนยากที่ผู้ครองนครจะควบคุมได้

พ.ศ. 2372 สมัยรัชกาลที่ 3 จดหมายเหตุฉบับที่ 1/1191 ระบุว่า ได้ตั้ง “ขุนจําเริญรักษา” เป็นเจ้าภาษีไม้ขอนสัก โดยครอบคลุมถึงไม้ตะแบก ตะเคียน ยาง และไม้อุโลก สะท้อนถึงความสำคัญของไม้สักในฐานะพืชสร้างมูลค่า 

ต่อมาในปี 2388 หัวเมืองฝ่ายเหนือส่งไม้สักเป็น “ส่วย” แทนทองคําให้กรุงเทพมหานคร นับว่าไม้สักมีคุณค่าสูงขึ้นมาก นอกจากนี้ จดหมายเหตุ ฉบับที่ 16/1204 มีบันทึกเรื่องการติดสินบนเจ้าพนักงานของฝรั่งที่เมาะลําเลิง เพื่อขอตัดไม้ขอนสักที่อยู่ปลายเขตแดนเมืองเชียง ใหม่ เมืองลําพูน เมืองตาก และเมืองระแหง

เวลานั้นป่าส่วนใหญ่ที่มีการทําไม้เป็นป่าของเจ้าครองนคร เช่น เจ้าทิพไกสร เป็นเจ้าของป่าเมืองปายและป่าแม่ฮ่องสอน เจ้ามะโหตรประเทศ เป็นเจ้าของป่าขุนยวมและป่าเมืองยวม พระเจ้าอินทวิชยานนท์ เป็นเจ้าของป่าแม่แหยะ ป่าท่าตาฝัง และป่าท่าสองยาง ใครที่เข้าไปตัดไม้ในเขตป่าเหล่านี้จะต้องจ่ายเงินค่าตอต้นละ 3-5 รูปี (การทํากิจกรรมไม้ในช่วงนั้นจะจ่ายเงินอินเดีย) หากเจ้าของป่ามีอันเป็นไป ก็จะตกเป็นของลูกหลาน 

การขออนุญาตทําไม้สักนั้น ผู้ขออนุญาตจะติดต่อกับเจ้าของป่า หากตกลงกันได้ก็ทำหนังสือสัญญาไว้ในใบลาน สัญญาทําไม้จะระบุพื้นที่ที่ให้ทําไม้เท่านั้น มิได้ระบุปริมาณไม้สักที่จะอนุญาตให้ตัด ผู้รับอนุญาตจึงพยายามที่จะกอบโกยผลประโยชน์กันอย่างเต็มที่ ส่วนการชําระเงินค่าตอของการทําสัมปทาน เงินที่ได้จะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ เจ้าครองนครได้ส่วนหนึ่ง, เจ้าของป่าได้อีกส่วนหนึ่ง และเจ้าพนักงานที่ไปเก็บเงินค่าตออีกส่วนหนึ่ง

รูปแบบของการเก็บค่าตอยังคงถือปฏิบัติเรื่อยมา จนปี 2416 มีการปรับปรุงค่าตอเสียใหม่ เมื่อพระนริทราชเสนี ข้าหลวงเมืองเชียงใหม่ ขอขึ้นค่าตอเพื่อมอบให้รัฐบาลกลาง เช่น ที่ป่าแม่ยวมจะมีขึ้นอีก 3 สลึง ส่วนป่าแม่ปาย, ป่าท่าตาฝัง, ป่าท่าสองยาง และป่าแม่เมยให้ขึ้นอีก 2 รูปี 
   หลังจากนั้นมา รัฐบาลกลางที่กรุงเทพฯ ก็ค่อยๆ เข้ามามีบทบาทในการทำป่าไม้มากขึ้น 

ปี 2417 สมัยต้นรัชกาลที่ 5 มีการตราพระราชบัญญัติรักษาเมือง จ.ศ. 1236 ว่าด้วยการอนุญาตทําป่าไม้สัก ในปีเดียวกันนั้น รัชกาลที่ 5 ทรงให้ตราพระบรมราชโองการว่าด้วยการภาษีไม้ขอนสักและไม้กระยาเลย จ.ศ. 1236 ว่าด้วยการออกอนุญาตไม้และจัดเก็บภาษีให้ได้ระเบียบและมาตรฐานเดียวกัน โดยให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ

หากมีผู้ใดสนใจทําไม้สักให้ติดต่อผู้รักษาเมือง หรือเจ้าครองนคร และขอสัตยาบันจากรัฐบาล เพื่อให้การเก็บเงินเข้าพระคลังมหาสมบัติเป็นไปอย่างมีระบบ ทางรัฐบาลกลางได้แต่งตั้งข้าหลวงใหญ่เมืองเชียงใหม่ทําหน้าที่เก็บค่าตอ ขณะที่การทําไม้สักได้ขยายตัวมากขึ้น รัฐบาลก็ได้ประกาศพระบรมราชโองการเรื่อง “ซื้อไม้ขอนสัก” พ.ศ. 2427, 2430 
                          ขณะเดียวกัน กระแสการอนุรักษ์ป่าไม้ก็เริ่มเกิดขึ้น  

ปี 2432 พระยาดํารงค์ราชพลขันธ์ ราชทูตสยามประจํากรุงเบอร์ลิน เสนอให้มีการปรับปรุงกิจกรรมป่าไม้เสียใหม่ ไม่ควรให้มีการทําไม้มากเกินไป และเสนอให้มีการจัดการป่าไม้และในพื้นที่ว่างเปล่า ปลูกป่าขึ้นมาใหม่เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้

ปี 2435 พระยาสุรเดช ข้าหลวงใหญ่รักษาการมณฑลพายัพ กําหนดให้แก้ไขสัญญาสัมปทานไม้สักใหม่อีกครั้ง ร่างสัญญาใหม่นี้ได้ระบุเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ตัดไม้สัก 1 ต้น จะต้องปลูกไม้สักชดเชย 4 ต้น นับว่าสัญญานี้เริ่มมองเห็นความจำเป็นในการปลูกไม้สักขึ้นแทนไม้ที่ตัดไป แม้ในทางปฏิบัติจะค่อนข้างหละหลวม

ในช่วงนี้อังกฤษได้จ่ายเงินลงทุนในกิจกรรมทําไม้สักถึง 14 ล้านบาท ขณะนั้นสัดส่วนการทําไม้สักเป็นบริษัทไทยร้อยละ 48 บริษัทอังกฤษร้อยละ 42 และอีกร้อยละ 10 เป็นของบริษัทที่ฝรั่งเศสหนุนหลัง ขณะเดียวกันราชสำนักสยามก็เริ่มใช้ชาวต่างชาติในกิจการป่าไม้

หมอเอ็ม.เอ. ชิค (Dr.M.A. Cheek) ชาวอเมริกัน นายแพทย์ที่ทำกิจการป่าไม้จนร่ำรวย หมอชิคมีความผูกพันกับรัฐบาลสยาม และได้รับมอบหมายให้ดําเนินการค้าไม้สักไทยในตลาดต่างประเทศ และชักชวนให้บริษัทในยุโรปเข้ามาทํากิจกรรมป่าไม้สัก ได้เอาเงินในพระคลังเข้าทํากิจกรรมป่าไม้ แต่การบริหารหย่อนยานจนต้องริบไม้ที่ทําเป็นของหลวง จนเป็นที่มาให้เกิดความคิดที่จะให้กิจกรรมป่าไม้ทั้งหมดเป็นของรัฐ

นายเอฟ. เดอ แคสเตน สกอยด์ (Mr.F. de Castenskiold) ครูชาวเดนมาร์กของกองทหารวัง รัฐสยามจ้างให้ช่วยจัดการเก็บไม้และทําป่าไม้ที่ล้มเหลวของหมอชิค ไปช่วยพิจารณาจัดการกิจกรรมป่าไม้ภาคเหนือ แต่สิ้นชีวิตระหว่างการเดินทางเสียก่อน 
ปี 2438 รัฐสยามว่าจ้าง นายเอช.เอ. เสลด (Mr.H.A. Slade) นายเสลดสำรวจป่าไม้ของไทยอยู่ 4 เดือน 29 วัน และเขียนรายงานถวายกรมหมื่นดํารงราชานุภาพ มีข้อความที่น่าสนใจว่า 
“…ป่าไม้ทั้งหลายนั้นควรต้องถือว่าเป็นทุนทรัพย์ของหลวงที่ได้ลงทุนไว้แล้วในกาลก่อนช้านาน เพื่อให้เป็นผลประโยชน์แก่คนที่เกิดในชั้นหลัง เพราะฉะนั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานป่าไม้จะต้องระวังรักษาทุนทรัพย์ของเดิมนี้ไว้ให้ดี จัดให้ได้ประโยชน์เป็นกําไรให้ได้มากตามแต่จะจัดได้ เก็บกินแต่กําไรไปเท่านั้น ไม่มีอํานาจที่จะจับต้องทุนทรัพย์ของเดิมนั้นได้เลย…” 
                                  

นายเอช. เอ เสลด ผู้เสนอให้ตั้งกรมป่าไม้ และอธิบดีกรมป่าไม้คนแรก (ภาพจาก”พรรณพืชในประวัติศาสตร์ไทย”) 

นายเสลดแนะนําให้ตั้งกรมป่าไม้และเก็บค่าตอ ให้ออกพระราชบัญญัติป่าไม้ ยุติการรับเช่าทําไม้นอกจากจะจําเป็นจริงๆ

ในวันที่ 18 กันยายน ปี 2439 รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขา ฉบับที่ 62/385 ถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ เมื่อครั้งดํารงพระยศเป็นกรมหมื่นดํารงราชานุภาพ ทรงเห็นว่าความคิดของนายเสลดนั้นเป็นความถูกต้องดีแท้ทุกประการ ทรงเสนอว่า เรื่องกรมป่าไม้นั้นเป็นตกลงให้ตั้ง และให้นําร่างพระราชบัญญัติการป่าไม้เสนอที่ประชุมรัฐมนตรี

เพราะ “ไม้สัก” จึงนำสู่การก่อตั้ง “กรมป่าไม้” สํานักงานอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ดูแลรับผิดชอบการทําไม้สัก ภายหลังกรมป่าไม้จึงย้ายมาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร 

                                                ข้อมูลจาก :  

ดร.สุรีย์ ภูมิถาวร. พรรณพืชในประวัติศาสตร์ไทย, สำนักพิมพ์มติชน มกราคม 2548

 




 

Create Date : 30 พฤษภาคม 2566    
Last Update : 30 พฤษภาคม 2566 10:54:11 น.
Counter : 331 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  30  31  32  33  34  35  36  37  38  39  40  41  42  43  44  45  46  47  48  49  50  51  52  53  54  55  56  57  58  59  60  61  62  63  64  65  66  67  68  69  70  71  72  73  74  75  76  77  78  79  80  81  82  83  84  85  86  87  88  89  90  91  92  93  94  

หนี่งหน่อง
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]




pub-1485477287124314
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add หนี่งหน่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.