อ่านเรื่อยๆ มาเรียง ๆ ทุกวันของ หนี่งหน่อง นะครับ
‘ทำไมคนชอบฟังเรื่องผี?’ กับ 4 เหตุผลทางจิตวิทยา และสังคม

‘ทำไมคนชอบฟังเรื่องผี?’ กับ 4 เหตุผลทางจิตวิทยา และสังคม 

                

เดี๋ยวนี้การฟังเรื่องผีกลายมาเป็นกิจกรรมทั้งในยามว่าง และยามไม่ว่างของหลายคน ภาพลักษณ์ของเรื่องผีที่เป็นเรื่องสยองขวัญถูกปรับเปลี่ยนตามค่านิยมตามยุคใหม่ และถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างความบันเทิงในมุมมองใหม่ และยังคงมอบความสยองขวัญ แต่ในรูปแบบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ แม้ว่าจะเป็นคนกลัวผีก็ตาม

เห็นได้จากยอดการเติบโตของเหล่า เดอะโกสเตอร์ จากช่อง The Ghost Radio หรือช่องจำนวนมากที่ผลิตรายการเล่าเรื่องผีออกมามากมาย เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์การฟังเรื่องผีในทุกที่ทุกเวลา เวลาขับรถ เวลาทำงาน หรือแม้แต่ก่อนนอน จากเดิมที่รายการผีตามโทรทัศน์จะต้องมาหลังละครหลังข่าวจบ พร้อมกับความรู้สึกกลัว และอยากดูในเวลาเดียวกัน

สิ่งที่น่าสนใจของปรากฏการณ์นี้ คือ เรื่องสยองขวัญ เรื่องผี เรื่องคุณไสยมนตร์ดำ และเรื่องลี้ลับเหนือธรรมชาติในสังคมไทยสามารถเติบโตไปพร้อมวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ที่มาพร้อมกับคนเจเนเรชันใหม่ได้อย่างลงตัว ว่าแต่ทำไมเรื่องผีที่เคยน่ากลัวจนต้องหลับตาปิดหูถึงกลายมาเป็นเรื่องที่สามารถฟังได้ทุกที่ทุกเวลาแบบนี้กันนะ บทความนี้รวบรวมทฤษฎีด้านจิตวิทยา และสังคมที่มีคนอธิบายเกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้ได้อ่านกัน 
                                         4 เหตุผลที่อธิบายว่าทำไมคนชอบฟังเรื่องผี 
                                                                 A Ghost Story (2017)  
คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกหลงใหลในเรื่องราวอันแปลกประหลาดที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ จนบางครั้งอาจเรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่ขัดกับหลักเหตุผล หรือถูกเรียกว่าไร้สาระเลยก็ว่าได้ ซึ่งทฤษฎีทางจิตวิทยา และองค์ความรู้ด้านสังคมวัฒนธรรมอาจใช้ในการอธิบายเหตุการณ์นี้ได้ 
                                              เหตุผลที่ 1: ความกระหายใคร่รู้ที่ไม่ถูกเติมเต็ม 

ความอยากรู้อยากเห็นในสิ่งต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ถูกฝังอยู่ในดีเอ็นเอของมนุษย์ ที่ทำให้เราศึกษา และเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จนวิวัฒนาการได้เร็วกว่าสัตว์อื่น ซึ่งเรื่องลึกลับที่มนุษย์คุ้นเคยมาแต่โบราณก็เป็นหนึ่งในความกระหายใคร่รู้ของมนุษย์ที่ไม่เคยถูกเติมเต็มด้วยการพิสูจน์ หรืออธิบายได้อย่างชัดเจน มนุษย์ทำได้เพียงตั้งสมมติฐาน และทฤษฎีต่าง ๆ ออกมาในรูปแบบของปรัชญา เรื่องเล่า หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ว่าผีคืออะไร? โลกหลังความตายมีจริงรึเปล่า?

การฟังเรื่องผีได้นำพามนุษย์ล่องลอยไปในห้วงความไม่รู้ที่ไม่รู้จบ ซึ่งนั่นเพิ่มความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์มากขึ้นกว่าเดิมจนกลายเป็นความหลงใหล อีกด้านหนึ่งเรื่องราวสยองขวัญมักมีปม และการหักมุมบางอย่างที่ทำให้เรื่องราวดูน่าสนใจ น่าติดตาม และอาจเป็นอีกผลหนึ่งที่หลายคนฟังเรื่องผีได้ตลอดเวลา 
                                  เหตุผลที่ 2: สารเคมีในสมองเมื่อเกิดความกลัว  

ความกลัวเป็นอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อเราได้ฟังเรื่องผี เมื่อตัวละครในเรื่องเล่าสยองขวัญเจอกับวิญญาณมักจะต้องเผชิญกับความกลัว ตื่นตระหนก และสับสนเกินจินตนาการ เหงื่อออก ตัวเย็น ก้าวขาไม่ออก ไปจนถึงการเป็นลมล้มพับไป

ซึ่งการฟังเรื่องผีช่วยให้คุณเผชิญกับเหตุการณ์ที่มีคนมาเล่าโดยที่คุณไม่ต้องไปเผชิญกับความอันตรายที่ลึกลับนั้นด้วยตัวเอง เมื่อถึงจุดที่เกิดความตื่นเต้นสมองของเราจะหลั่งสารสื่อประสาท อย่างอะดรีนาลีน (Adrenaline) ออกมาทำให้หัวใจเต้นเร็ว เลือดสูบฉีดมากขึ้น รู้สึกลุ้นระทึก เลือดไหลเวียนไปที่สมองมากขึ้นเพื่อหาทางออกร่วมกับตัวละคร

เมื่อช่วงเวลานั้นผ่านพ้นไปได้ สมองเราจะหลั่งสารโดปามีน (Dopamine) หรือฮอร์โมนแห่งความสุขออกมาเพื่อเฉลิมฉลองการรอดพ้นจากช่วงเวลาที่น่ากลัวมาได้ ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย และโล่งใจ การฟังเรื่องผีจึงเหมือนโรลเลอร์โคสเตอร์ทางอารมณ์ที่ทั้งแม้ระทึก และน่ากลัว แต่กลับทำให้ตื่นเต้น กระชุ่มกระชวย และรู้สึกดีอย่างบอกไม่ถูก แม้ว่าในช่วงเวลาที่ฟังจะรู้สึกกลัวมากก็ตาม 

                          เหตุผลที่ 3: ความเชื่อเรื่องจิตวิญญาณที่ฝังลึก 

หากพูดถึงความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติ คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลกอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะความเชื่อเรื่องผี ศาสนา หรือความเชื่อเรื่องอื่น ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้หยั่งรากลึกอยู่ในวิถีชีวิตของเราทุกคน เราเห็นศาลพระภูมิทุกครั้งที่ออกจากหมู่บ้าน เราชื่นชอบการดูดวง เราทำพิธีศพตามหลักศาสนา แม้ไม่ได้มีความเชื่อเรื่องศาสนา เราจะนึกถึงน้ำแดง ผ้า 3 สี ชุดสไบ และตุ๊กตานางรำในทันทีที่พูดว่า ‘ต้นไทร’ ทั้งที่ต้นไทรก็เป็นไม้ใหญ่ชนิดหนึ่งที่พบได้ในประเทศร้อนชื้น 
                                    ต้นไทร ต้นไม้เกี่ยวกับความเชื่อของคนไทย

ในทฤษฎีการสื่อสาร มีสิ่งที่เรียกว่า ‘Field of Experience’ หรือ ‘พื้นฐานประสบการณ์’ ซึ่งช่วยให้คนที่มีประสบการณ์ร่วมกันสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนที่มาเล่าเรื่องผีก็เป็นคนไทยที่เล่าเรื่องผีด้วยคติความเชื่อแบบไทย ผู้รับสารก็เป็นคนไทย จึงทำให้ผู้ฟังสามารถผสานตัวเองเข้ากับเรื่องราวของผู้เล่าได้อย่างไร้รอยต่อ

นอกจากวัฒนธรรมความเชื่อที่ฝังลึกแล้ว ตึกรามบ้านช่อง ถนนหนทาง และวิถีปฏิบัติแบบไทย ๆ ก็เป็นสิ่งที่คนไทยด้วยกันเองสามารถเชื่อมต่อ เข้าถึงได้ และจินตนาการได้ไม่ยาก แม้จะเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน 
                         เหตุผลที่ 4: หลีกหนีความเป็นจริงสู่ความบันเทิงของเรื่องเล่า 

การฟังเรื่องผี หรือเรื่องลี้ลับเหมือนกับการดูหนัง ฟังเพลง หรืออ่านหนังสือที่จะช่วยพาคุณหลบหนีจากโลกความเป็นจริงที่แสนเครียด หรือชวนให้อารมณ์หม่นหมอง ไปสู่สิ่งที่อยู่ในโลกของสื่อ โลกของจินตนาการที่คุณไม่ต้องเครียด ไม่ต้องตัดสินใจ แถมยังสนุกอีกด้วย

นอกจากความสนุก และความผ่อนคลายที่ได้จากเรื่องผีแล้ว คุณยังเพลินไปกับสไตล์การเล่าของผู้เล่าแต่ละคน ความแปลกใหม่ของเรื่องราว ไหวพริบในการแก้ไขปัญหา เกร็ดความรู้ รวมไปถึงแง่คิดบางอย่างที่สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้อีกด้วย ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้หลายคนชอบฟังเรื่องผี 
                                       ทำไมการฟังเรื่องผีช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น?  

หากพอดแคสต์ และเสียงฝนไม่ตอบโจทย์ในเรื่องของการกล่อมนอน เรื่องผีอาจพอช่วยได้ หากไปดูในช่องคอมเมนต์ หรือสอบถามคนที่ชอบฟังเรื่องผีบางคนจะพบว่าคนเหล่านั้นเปิดฟังเรื่องระทึกขวัญเหล่านี้ในช่วงก่อนนอน ซึ่งดูเหมือนว่าจะทำให้บางคนหลับได้ง่ายขึ้น

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่เฉพาะเจาะจงที่บอกว่าทำไมเรื่องผีที่น่าจะทำให้กลัวจนนอนไม่หลับถึงทำให้บางคนหลับได้ง่ายกว่าเดิม แต่อาจพออธิบายได้ด้วยทฤษฎีง่าย ๆ อย่าง ASMR หรือระบบของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเสียงเล่าที่มีความดังพอดี ประกอบกับดนตรีในเรื่องเหล่าที่คลอไปอาจช่วยผ่อนคลายความคิดในช่วงก่อนนอน และพาให้ผู้ฟังเข้าสู่นิทราได้

อีกเหตุผลอาจมาจากการเปิดเสียงอะไรก็ตามไว้ใกล้ตัวในช่วงก่อนนอนจะช่วยตัดเสียงรบกวนจากภายนอก เช่น เสียงรถบนถนน เสียงพูดคุยจากห้องถัดไป และทำให้หลับได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

ในขณะเดียวกันทฤษฎีเหล่านี้อาจนำมาใช้อธิบายว่าทำไมบางคนถึงฟังเวลาทำงานได้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งเสียงการเล่าจะช่วยตัดปัจจัยภายนอกที่รบกวนสมาธิ ช่วยให้คุณโฟกัสงาน และเสียงเรื่องเล่าเพียงสองอย่างเท่านั้นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ควรมีการศึกษาเพื่อหาเหตุผลที่แท้จริงว่าทำไมเรื่องผีถึงสร้างความสงบ สมาธิ และความผ่อนคลายให้กับสมองได้

จากทั้งหมดนี้พอจะเห็นได้ว่าเรื่องผี และเรื่องเล่าเหนือธรรมชาตินั้นเชื่อมโยงกับมนุษย์ในหลายด้าน ทั้งในด้านความเชื่อ วัฒนธรรม จิตวิทยา และการใช้ชีวิต ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าทำไมคนถึงชอบฟังเรื่องผี และสามารถฟังได้ทุกที่ทุกเวลาอย่างที่เราได้เห็นกันแบบทุกวันนี้ นอกจากเหตุผลเหล่านี้แล้ว การฟังเรื่องผียังสามารถเชื่อมผู้คนที่เข้าหากันด้วยเรื่องเล่าที่เคยฟังเหมือนกัน เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เกิดการพัฒนาด้านความสัมพันธ์ทางสังคมได้ด้วย

สุดท้ายนี้ การฟังเรื่องผีจึงเป็นกิจกรรมที่กลายเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับคนยุคนี้ ไม่ต่างจากการฟังเพลง หรือดูหนัง และสามารถผ่อนคลายความเครียดได้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ควรฟังอย่างมีวิจารณญาณ และฟังเพื่อความบันเทิงเท่านั้น 

                                                        ที่มา: 12345  

 

                                                     พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส

 

 


 


Create Date : 30 มกราคม 2567
Last Update : 30 มกราคม 2567 11:09:32 น. 0 comments
Counter : 337 Pageviews.
(โหวต blog นี้) 

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนี่งหน่อง
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]




pub-1485477287124314
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add หนี่งหน่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.