อ่านเรื่อยๆ มาเรียง ๆ ทุกวันของ หนี่งหน่อง นะครับ
บุเรงนอง ที่ได้ฉายาว่า “ผู้ชนะสิบทิศ” ชนะใคร? ที่ไหน? มาบ้าง

บุเรงนอง ถือได้ว่าเป็นตัวบุคคลที่มีความสามารถในการรักษาและแผ่ขยายอำนาจของอาณาจักรพม่า จนกระทั่งได้รับสมญาว่า “ผู้ชนะสิบทิศ” [1] 
                                     
บุเรงนอง เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ครองกรุงหงสาวดีช่วง ค.ศ. 1551-1581 ตลอดรัชกาล 30 ปี ได้ปราบปรามนครรัฐต่างๆ ในลุ่มแม่น้ำอิระวดี สะโตง สาละวิน เจ้าพระยา และกรุงล้านช้างทางลุ่มแม่น้ำโขงตอนบน ได้ราบคาบสมกับพระนาม “มหาราช” ที่ถวายให้ท่าน 

ตามพระราชประวัติในพงศาวดารหลวงของพม่าฉบับหอแก้ว ท่านเกิดที่เมืองพุกาม [2] ราชธานีเก่า พ่อเลี้ยงชีวิตด้วยการปีนตาลขาย เมื่อเด็กมีชื่อว่า “จะเด็ด” แปลว่า ปลวก ชีวิตของพ่อแม่แร้นแค้นจึงอพยพมาอยู่เมืองหงสาวดี เคยอาศัยวัดซึ่งกลายเป็นอารามหลวง เพราะเจ้าอาวาสเป็นที่โปรดปรานนับถือของกษัตริย์ บุเรงนองจึงได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในวังหลวง

และด้วยการสนับสนุนของรัชทายาทซึ่งต่อมา คือ พระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ บุเรงนองจึงได้เสกสมรสกับพระพี่นาง จึงได้รับการขนานนามว่า พระเชษฐา หรือ บุเรงนอง ในภาษาพม่า 
 

เมื่อกล่าวถึงพระเจ้า บุเรงนอง แห่งพม่า พวกเราจะเข้าใจหรือทราบกันดีถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ในด้านการรบ กล่าวได้ว่าชื่อเสียงของพระองค์นั้นเป็นไปในด้านการแผ่แสนยานุภาพมากกว่าด้านใด พระองค์ทรงมีอานุภาพมากกว่ามังตรา หรือพระเจ้าตะเบงชเวตี้ สามารถปราบได้ไทยใหญ่ ล้านนา ล้านช้าง อยุธยา แม้แต่ลังกา อินเดีย และปอร์ตุเกส ก็ยินดีที่จะทำไมตรีด้วย [3]

พงศาวดารมอญพม่าก็กล่าวยกย่องไว้ในทำนองเดียวกันว่า พระเจ้าฝรั่งมังตรีมีอานุภาพมาก ได้เป็นใหญ่ในประเทศทั้ง 4 คือ รามัญประเทศ พุกาม สยาม และลาวประเทศ รามัญเรียกว่า ตะละพะเนียเธอเจาะ ซึ่งมีความหมายว่า พระเจ้าชนะสิบทิศ [4]

บทบาทของบุเรนองทางด้านการรบนั้น ใช่ว่าจะปรากฏต่อเมื่อสถาปนาเป็นกษัตริย์แล้วไม่ หากปรากฏมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้แล้ว ดังปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า 

“…นายทหารเอกของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้นั้นคือพระพี่เขย…นามจะเด็ด ทรงเป็นกะยอเฉ่ง (หรือกะยอดินนรธา คือ กฤษฎานุรุธ)…แม่ทัพนั้นได้ทรงยศเป็นบุเรงนอง (พระราชเชษฐาภาดา) เป็นเครื่องหมายแห่งรัชทายาท…บุเรงนองมีอำนาจในการบงการราชการต่างพระองค์แทบจะสิทธิขาดทุกประการ” [5]

นอกจากนี้แล้ว F.S.R. Dannsion ได้กล่าวว่าความสำเร็จของพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ในการเข้าครอบครอง พะโค เมาะตะมะ แปร ไว้ในอำนาจได้ก็โดยมีพระพี่เขยร่วมอยู่ด้วยคือ บุเรงนอง [6]

การกล่าวถึงบทบาทในการขยายพระราชอาณาเขตของบุเรงนองในลุ่มแม่น้ำทั้งห้านั้น ผู้เขียนจะกล่าวรวมกันไปตามลำดับ เพราะเรื่องราวสาเหตุแห่งการเข้ายึดครองในลุ่มแม่น้ำเหล่านั้นต่อเนื่องกันโดยตลอด

ลุ่มแม่น้ำทั้งห้าในที่นี้ผู้เขียนหมายถึงลุ่มแม่น้ำดังต่อไปนี้คือ

1. ลุ่มแม่น้ำอิระวดี ได้แก่ เมืองอังวะ แปร และรัฐไทยใหญ่ หรือรัฐชานหรือรัฐเงี้ยวทั้งหลาย

2. ลุ่มแม่น้ำสะโตง ได้แก่ เมืองหงสาวดี เมืองตองอู

3. ลุ่มแม่น้ำสาละวิน ได้แก่ เมืองเมาะตะมะ

4. ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ ล้านนา กรุงศรีอยุธยา

5. ลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ ล้านช้างหรือกรุงศรีสัตนาคนหุต 
                                                     บุเรงนอง ยึดเมืองตองอู 
 

เมื่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ไม่สามารถเอาชนะไทยได้ใน ค.ศ. 1547 กลับไปก็ไม่เอาใจใส่ในการปกครองบ้านเมือง พวกมอญเริ่มแสดงความกระด้างกระเดื่อง หัวเมืองต่างๆ ภายในราชอาณาจักรได้แยกตัวออกไป เช่น พสิม ทะละ สัลยิน เมาะตะมะ ทำให้บุเรงนองต้องยกทัพไปปราบ มีแต่ตองอูและแปรเท่านั้นที่ไม่มีการกบฏ ทั้งนี้เพราะมีพม่ามากกว่ามอญ เมื่อบุเรงนองออกจากหงสาวดี ทางหงสาวดีก็ได้ปลงพระชนม์พระเจ้าหงสาวดีตะเบ็งชเวตี้ ใน ค.ศ. 1550 ผู้ที่ขึ้นครองต่อมา คือ สมิงสอตุต [7]

บุเรงนองเมื่อกลับมาจากการปราบปรามเมืองพสิม เห็นว่ากำลังของตนยังน้อย คงจะหาทางยึดหงสาวดีคืนได้ยาก จึงคิดไปตั้งตัวที่ตองอู จะพบได้ในพงศาวดารพม่าซึ่งกล่าวไว้ว่า

“…มาตรว่าบุเรงนองจะเชื่อว่าตัวมีชื่อเสียงดี ทั้งมีฤทธิ์ ก็ยังไม่พ้น ต้องชะงักอยู่หลายวัน แต่ขุนนางพม่า เตลง และเงี้ยว ผู้มีกำลังยังพากันนับถือความสามารถ ความกรุณาปรานี และบุญบารมีอยู่เป็นอันมาก มหายุวราชบุเรงนองจึงค่อยมีใจจะคิดการตั้งตนเป็นใหญ่ต่อไปได้ บุเรงนองรู้สึกตัวว่ามหาชนชาวเตลง ชาวหงสาวดีพากันเกลียดชังคิดจะทำร้ายอยู่จึงหวนคิดจะล่าไปสู่เมืองตองอู…[ 8]

ตองอูอยู่ริมฝั่งแม่น้ำสะโตง ได้ตั้งขึ้นมาก่อนเสียกรุงพุกามเมื่อ ค.ศ. 1280 และเริ่มมีความสำคัญ เมื่อพม่าถอยตัวลงมารวมกันที่นี่ [9] ตองอูอยู่ระหว่างลุ่มแม่น้ำอิระวดีและสาละวิน [10]

เมื่อไปถึงเมืองตองอู สีหะสุอนุชาบุเรงนอง ซึ่งครองต่อจากบิดาบุเรงนอง (คือสีคะสุ) ไม่ยอมให้เข้าเมือง บุเรงนองจึงต้องไปซุ่มเป็นกองโจรอยู่ที่ชายเขา หมู่ข้าราชการพม่ารามัญทั้งฝ่ายพลเรือนและเจ้าเมืองกรมการต่างๆ ได้พาบริวารมาสมัครอาสาเข้ากับบุเรงนองมากขึ้น เมื่อบุเรงนองเห็นว่ามีกำลังมากพอแล้ว จึงยกทัพไปคุกคามเมืองตองอู พระอนุชาได้ยอมออกมาอ่อนน้อม บุเรงนองก็ให้อภัยโทษและโปรดให้ครองตองอูตามเดิม ซึ่ง Donnison ได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในตอนนี้ว่า

“...ความตั้งใจอย่างแน่วแน่อันดับแรกของบุเรงนองคือการเข้ายึดตองอูให้ได้ และต่อไปคือการยึดหงสาวดีคืนมาจากพวกมอญ…” [11] 
                                                      ยึดเมืองแปรคืนจากมอญ 
 

ในระหว่างที่ บุเรงนอง ซ่องสุมกำลังอยู่ที่ชายเขาแขวงเมืองตองอู ทางเมืองหงสาวดีได้เกิดความแตกแยกกันระหว่างสมิงเตารามะกับสมิงสอตุต สมิงเตารามะได้เข้ายึดบัลลังก์จากสมิงสอตุตและขึ้นครองทรงพระนามว่า พระเจ้าชัคคะลีมินทร์ หลังจากนั้นได้เข้ามายึดเมืองแปร ผู้ครองเมืองแปรระยะนั้นคือ สัลหวุ่นเมงตรา หรือพระเจ้าสะโดธรรมราชา อนุชาของบุเรงนอง

เมืองแปรนี้ได้ตั้งตัวเป็นอิสระภายหลังการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ เมื่อพระเจ้าชัคคะลีมินทร์มารุกราน สัลหวุ่นเมงตราได้หนีไปยังเมืองพสิม ซึ่งบุเรงนองให้อนุชา คือ มังสุระสิงคะกะ ครองอยู่ และขอความช่วยเหลือมายังบุเรงนอง บุเรงนองจึงยกทัพไปยึดเมืองแปรกลับคืนมาได้และให้สัลหวุ่นครองเป็นเมืองออกตามเดิม [12]

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่าบุเรงนองได้ซ่องสุมผู้คนได้เป็นกำลังพอ ก็ยกไปตีเมืองแปรและได้อาณาเขตขึ้นไปถึงเมืองพุกาม [13]

ส่วนทางพงศาวดารพม่ากล่าวไว้ว่า เมื่อบุเรงนองให้เมืองตองอูมาอ่อนน้อมได้แล้วก็ตกลงพระทัยจะไปเอาเมืองแปร ซึ่งอนุชาอีกองค์หนึ่งได้เป็นกษัตริย์ครองเมืองออกต่อพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ กลับประกาศเป็นเอกราชเมื่อสิ้นแผ่นดินแล้ว แต่หนีกบฏออกจากเมืองแปรนั้นก็ให้ตามอนุชามาอภิเษกให้เป็นกษัตริย์ครองฉันเมืองออกไปตามเดิม บรรดาผู้เป็นใหญ่หัวเมืองทั้งปวง…จนกระทั่งกรุงพุกามต่างก็มาอ่อนน้อม [14]

สรุปได้ว่าการที่บุเรงนองได้ยกทัพไปยึดเมืองแปรกลับคืนมานั้น อาจจะเพื่อช่วยอนุชากับต้องการได้เมืองแปรคืนมาจากพวกมอญด้วย และมีผลทำให้ได้ขยายอาณาเขตถึงพุกามด้วย 
                                                      ยึดเมืองหงสาวดีกลับคืน 
 

เดือนธันวาคม ค.ศ. 1551 บุเรงนองได้ทำการต่อสู้กับกษัตริย์เตลงคือสมิงเตารามะ และสามารถยึดเมืองหงสาวดีคืนได้

พระยาอนุชิต กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ไว้ใน พระเจ้าชนะสิบทิศ ว่า

…เมื่อบุเรงนองยึดเมืองแปรได้ ก็เคลื่อนทัพเข้าสู่แคว้นพะโค หัวเมืองรายทางแสดงความอ่อนน้อมด้วย” [15]

สมิงเตารามะได้หนีไปอาศัยที่เมืองเมาะตะมะ บุเรงนองให้มังสินทยายกทัพติดตามไปจับพระเจ้าชัคคะลีมินทร์และยึดเมืองเมาะตะมะได้ บุเรงนองให้มังสินทยาครองเมาะตะมะขึ้นกับหงสาวดีตามเดิม [16]

พงศาวดารพม่ากล่าวว่า พระเจ้าชัคคะลีมินทร์ถูกจับสำเร็จโทษ และบุเรงนองได้ตั้งอนุชาองค์หนึ่งในเหล่าอนุชาต่างพระมารดาให้ไปเป็นกษัตริย์ครองเมืองออก ครองเมืองเมาะตะมะ องค์บุเรงนองเองก็เฉลิมพระนามาภิไธยเป็นมหากษัตริย์ ทรงพระสมมตนามว่า พระเจ้าสิริสุธรรมราชา [17]

จากการยึดหงสาวดีทำให้ได้เมาะตะมะเข้ามาไว้ในอำนาจได้อีก เมื่อมาถึงในช่วงนี้บุเรงนองสามารถยึดเมืองต่างๆ เข้ามาไว้ในพระราชอำนาจได้ดังนี้คือ ตองอู แปร หงสาวดี และเมาะตะมะ ซึ่ง Dannison บอกว่า ค.ศ. 1551 บุเรงนองสามารถเข้าครอบครองอาณาเขตซึ่งแต่เดิมเป็นของพระเจ้าตะเบ็งชเวตี้ไว้ได้ทั้งหมด และ ค.ศ. 1555 ก็ตามมาด้วยชัยชนะเหนือเมืองอังวะและดินแดนทางตอนเหนือ [18] 
                                 บุเรงนอง ปราบหัวเมืองเงี้ยว ลุ่มน้ำอิระวดีตอนบน 
 

Daw M. Sein กล่าวว่า บรรดารัฐไทยใหญ่ทั้งหลาย ถูกลดอำนาจลงไปด้วยการรณรงค์กับบุเรงนองเพียงสามครั้งเท่านั้นเอง [19]

1. การยึดอังวะ เมืองอังวะอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี ตรงเมืองจะเก็มทัมเหนือพุกามเก่าประมาณ 5 วัน พม่าเรียกว่าปะกัน รามัญเรียกว่าอังวะ ไทยเรียกว่าพุกาม [20]

บุเรงนองเมื่อยึดเมืองหงสาวดี และจัดการภายในเรียบร้อยแล้วก็คิดที่จะยกทัพใหญ่ไปโจมตีกรุงอังวะ เพราะระยะนี้กษัตริย์ที่ครองอังวะอ่อนแอ คือในสมัยของขุนเมืองแงซึ่งครองได้ 3 ปี ก็สวรรคต โอรสได้หันไปพึ่งบุเรงนอง เจ้าเงี้ยวเมืองยางที่มาประกาศเป็นกษัตริย์แห่งเมืองสะกายได้เข้ามาครอบครองอังวะ เมื่อ ค.ศ. 1552 ทรงพระนามว่า พระเจ้านระบดี [21]

พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า บุเรงนองดำริที่จะมาตีกรุงศรีอยุธยา แต่ข้าราชบริพารคัดค้านว่าอยุธยาเป็นเมืองใหญ่ที่มีกำลังมาก ที่ตั้งชัยภูมิก็มั่นคง ควรจะทำการปราบปรามหัวเมืองใกล้เคียงก่อนดีกว่า บุเรงนองเห็นด้วยจึงยกทัพไปตีอังวะ [22]

G.H. Harvey กล่าวว่า ค.ศ. 1555 บุเรงนองได้มุ่งไปตีอังวะ โดยกองทัพบางส่วนขึ้นไปทางหุบเขาสะโตงไปยังเมืองแอมยิน (Yamethin) และบางส่วนเป็นทัพเรือไปทางแม่น้ำอิระวดี [23] ทั้งนี้บุเรงนองได้ยึดเมืองสะกายของเงี้ยว และใช้เป็นฐานทัพ นัดหมายกับตองอูที่จะเข้าโจมตีอังวะและบุเรงนองทราบว่าพวกพม่าอังวะไม่พอใจกษัตริย์เงี้ยวที่บุเรงนองยึดได้ก็เพราะพวกพม่าชาวอังวะเปิดประตูรับ [24]

เมื่อกองทัพของอังวะพ่ายแพ้กษัตริย์อังวะถูกส่งไปหงสาวดี บุเรงนองโปรดให้พระราชบุตรเขยครองอังวะทรงพระนามว่าพระเจ้าสะโดเมงสอ [25]

2. การรวมรัฐไทยใหญ่ครั้งแรก รัฐไทยใหญ่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำอิรวะดีตอนบน สาเหตุเบื้องหลังการรวมมาจาก ค.ศ. 1557 เจ้าฟ้าธีบอหรือสีป้อ (Hsipaw) ปกครองเมืองอุนบองเล (ธีบอ) ถึงแก่พิราลัย ซึ่งเจ้าฟ้าธีบอองค์นี้ยอมอ่อนน้อมต่อบุเรงนอง ทำให้เจ้าเมืองเงี้ยวอื่นๆ ต่างไม่พอใจ เมื่อถึงแก่พิราลัย พวกนี้เตรียมกำลังที่จะชิงราชสมบัติไม่ให้อุนบองเลตกเป็นของหงสาวดีอีก

รัชทายาทธีบอได้ขอความช่วยเหลือไปยังอังวะ อังวะก็ขอความช่วยเหลือจากหงสาวดี บุเรงนองจึงคิดปราบพวกนี้ให้ราบคาบ พงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาบอกว่า เมื่อบุเรงนองตีอังวะได้แล้ว ก็ยกไปตีหัวเมืองไทยใหญ่ เพราะเหตุที่พวกไทยใหญ่มาช่วยอังวะ [26] เมื่อส่งทหารไปรักษาเมืองอุนบองเลแล้ว พระองค์ก็ได้เสด็จปราบหัวเมืองเงี้ยวทั้งหลายไว้ในอำนาจ

พงศาวดารพม่าบอกว่า พระเจ้าบุเรงนองปราบหัวเมืองเงี้ยวทั้งปวงในเวิ้งแม่น้ำอิระวดีตอนบน กระทั่งถึงเขาปัตกอยซึ่งเป็นเขาบรรทัดแยกภาคพม่าและอาซัมจากกันนั้นได้เรียบราบ [27] และกล่าวว่า เจ้าฟ้าเมืองฆ้อง (โมคอง – Mogaung) และเมืองยาง (โมนยิน – Mohnyin) อันเป็นเจ้าผู้มีอำนาจยิ่งใหญ่ในหัวเมืองไทยใหญ่ทั้ง 2 องค์มาอ่อนน้อม [28]

เมื่อบุเรงนองกลับคืนสู่หงสาวดีแล้ว ปีต่อไปต้องกรีธาทัพไปปราบเจ้าฟ้าเมืองหน่าย ซึ่งรุกเขตแดนธีบอ ซึ่งไม่เฉพาะเมืองหน่าย (Mon’e) เท่านั้น เมืองยางห้วย (Yawnghwe) ลอกศอก (Lawksawk) และเมืองหนองหมื่นก็ยอมอ่อนน้อมด้วย [29] ทั้งนี้เพราะเมื่อเจ้าฟ้าเมืองหน่าย (นาย) เมื่อถูกปราบปรามได้หนีไปอาศัยเมืองเหล่านี้อยู่ตามลำดับ นอกจากนี้ยังได้ส่งสาสน์ไปขอความช่วยเหลือจากเชียงใหม่ว่า

“…เมืองชุมสาย [30] เป็นเมืองขึ้นของเมืองนายมาแต่ก่อน เจ้าฟ้าบยินนองแห่งหงสาวดีได้แต่งตั้งผู้กินเมืองชุมสาย เจ้าฟ้าเมืองนายได้กำจัดผู้กินเมืองชุมสายนั้นเสีย พระเจ้าหงสาวดีจึงยกกองมาปราบขอให้พระเจ้านครเชียงใหม่ [31] แต่งรี้พลโยนกมาช่วย…” [32]

เชียงใหม่ได้ส่งกองทัพจากเชียงดาวไปช่วยแต่ไม่ทัน เจ้าฟ้าเมืองนายยอมอ่อนน้อม [33] ในขณะเดียวกัน บุเรงนองได้ส่งสาสน์มายังพระเจ้าเมกุฏิว่า ถ้าเจ้าฟ้าเมืองนายหนีมาพึ่งเชียงใหม่ ขออย่าให้พระเจ้าเชียงใหม่รับไว้ให้ส่งตัวไปยังหงสาวดี [34]

ซึ่งการอ่อนน้อมของเจ้าฟ้าเมืองเงี้ยวกับบุเรงนองนี้ คงจะเป็นการเอาตัวรอดไปชั่วคราวก่อน จะเห็นได้ว่าในภายหลังพวกนี้ก่อเรื่องให้บุเรงนองต้องดำเนินการปราบปรามอีก

3. การรวมรัฐไทยใหญ่ครั้งสอง สาเหตุที่บุเรงนองต้องปราบปรามเป็นครั้งที่สองนั้น เนื่องมาจากเมื่อบุเรงนองจัดทัพที่จะมาตีเมืองเชียงใหม่ครั้งแรกนั้น ได้เอาบรรดาเจ้าฟ้าเมืองเงี้ยวทั้งหลายเข้าร่วมเป็นกำลังด้วย แต่เจ้าฟ้าเมืองเงี้ยวทั้งหลายอ้างว่าป่วยไม่สามารถยกทัพมาช่วยได้

เมื่อยกทัพกลับไปปรากฏว่า เจ้าฟ้าเมืองเงี้ยวเหล่านั้นได้มารุกรานกองทัพที่คุมเมืองนาย และได้ทำลายสะพานที่ข้ามแม่น้ำสาละวิน เจ้าฟ้าเมืองเงี้ยวเหล่านั้น ได้แก่ เมืองนาย เมืองยางห้วย และลอกศอก บุเรงนองจึงต้องตัดสินพระทัยยกทัพไปปราบพวกหัวเมืองเงี้ยวเหล่านี้ให้ราบคาบ ในปี ค.ศ. 1559 [35] ประหารชีวิตเจ้าฟ้าเมืองเงี้ยวต่างๆ ลงสิ้น และให้เจ้าฟ้าเมืองเงี้ยวที่ไว้ใจได้ครองต่อมา

เข้าใจว่าเจ้าฟ้าเมืองเงี้ยวคิดว่า บุเรงนองคงจะตีเอาเชียงใหม่ไม่ได้ ด้วยเป็นเมืองใหญ่เลยแข็งเมือง 
                                     บุเรงนอง ยกทัพรุกรานลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 
                                                         การรุกรานเชียงใหม่ 

 

เมื่อบุเรงนองปราบรัฐไทยใหญ่ทั้งหลายได้แล้ว มีพระราชปรารภว่าจะเสด็จไปที่แสนหวีหรือเชียงใหม่ แม่ทัพนายกองได้เสนอความเห็นว่า ควรยกทัพไปปราบเชียงใหม่ เพราะพม่าได้รัฐไทยใหญ่ไว้ในอำนาจแล้ว แสนหวีคงจะมาอ่อนน้อมเอง เชียงใหม่เป็นเมืองใหญ่ มีพรมแดนติดกับหัวเมืองสำคัญ อาจจะใช้ตั้งทัพเพื่อไปโจมตีเชียงรุ้ง เชียงตุง รวมทั้งอยุธยาได้ โดยถือสาเหตุจากที่พระเจ้านครเชียงใหม่ได้ช่วยเหลือเมืองนายต่อสู้กับบุเรงนอง [36]

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ว่า

“…เจ้าเมืองนายเป็นญาติกับพระเจ้าเมกุฏิ ขอกองทัพเชียงใหม่ไปช่วย เมื่อบุเรงนองตีเมืองนายได้แล้วจึงยกเลยเข้ามาตีเชียงใหม่ เมกุฏิเห็นสู้ไม่ได้ก็ยอมอยู่ในอำนาจพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง…” [37]

Htin Aung บอกว่า ค.ศ. 1558 บุเรงนองได้โปรดให้ทำสะพานข้ามแม่น้ำสาละวิน และมีชัยชนะเหนือเมืองเชียงใหม่ [38]

พงศาวดารพม่าก็กล่าวทำนองเดียวกันคือ

“…ทำสะพานเชือกข้ามน้ำแม่สาละวิน ไปเหยียบชานนคร…พระสารพระเจ้านครเชียงใหม่…เห็นการจำเป็นต้องยอมจึงออกมาเฝ้าอ่อนน้อมถวายเมือง และถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาเป็นเมืองราชไมตรี…และสัญญาว่าจะส่งส่วย” [39] 
                                                      การรบเชียงใหม่ครั้งที่ 2 
 

บุเรงนองได้หาสาเหตุโดยที่พระเจ้าเมกุฏิไม่คุมเสบียงอาหารไปเอง แต่ให้พระยาแสนหลวงและพระยาสามล้านคุมไป โดยอ้างว่าป่วย [40] ในคราวตีกรุงสยามครั้งแรกการณ์นี้ปรากฏในพงศาวดารพม่าว่า

…พระเจ้านครเชียงใหม่ เมื่อได้รับศุภอักษรก็ซ่อมเรือตามรับสั่ง…ไม่เชื่อว่าพม่าจะเอาชัยกรุงศรีอยุธยาได้ เกรงภัยฝ่ายสยามเท่ากับกลัวพม่า จึงไม่ยกกองทัพลงมาตามรับสัง…ให้เจ้าเมืองอินทคิรีและเจ้าเมืองพรหมคิรี คุมเรือบรรทุกเสบียง…ล่องลงมา” [41]

พงศาวดารโยนกได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า

..ณ ปีชวด ฉศก จุลศักราช 926 พระเมกุฏิเจ้านครพิงค์เชียงใหม่กับพระยากมลผู้ครองเชียงแสน ร่วมคิดแข็งเมืองต่อกรุงหงสาวดี พระเจ้าหงสาวดียกกองทัพหลวงมาตีเมืองเชียงใหม่ได้เอาตัวพระเมกุฏิและพระยากมลส่งไปไว้ ณ หงสาวดี แล้วตั้งราชาเทวีเป็นเชื้อสายเจ้าเชียงใหม่แต่ก่อน ทรงพระนามว่าพระวิสุทธิเทวี” [42]

พงศาวดารพม่ากล่าวว่า

…ข้างพระเจ้านครเชียงใหม่พอทราบว่าทัพใหญ่พม่าปราบกรุงศรีอยุธยาปราชัย และยกมหาขบวนขึ้นมาสู่หริภุญชัยก็ตกพระทัยหนีไปอาศัยพระบารมีพระเจ้ากรุงล้านช้างพักอยู่…เผอิญเกิดกบฎของพวกเงี้ยวในหงสาวดี พระเจ้ากะยอดินนรธา ได้ทราบข่าว…ก็ใครรับเสด็จกลับคืนมหานคร…ให้พวกแสนท้าวพระยาลาวในนครเชียงใหม่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาถวาย ตรัสให้พระมหาเทวีปกครองนคร” [43]

ไทยรบพม่าได้กล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนี้ว่า พระเจ้าหงสาวดียกกองทัพมาตีเชียงใหม่ในปลายปีชวด พ.ศ. 2103 [ค.ศ. 1560] เกณฑ์พระธรรมราชาให้ยกกองทัพขึ้นไปช่วยกัน เจ้าเชียงใหม่ยอมอ่อนน้อม พระยาน่าน พระยาแพร่ และพระยาลำปาง ได้หนีไปพึ่งพระเจ้าไชยเชษฐาแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุตที่เวียงจันทน์ [44]

พระเจ้าชนะสิบทิศของพระยาอนุชิตกล่าวว่าบุเรงนองเข้าเชียงใหม่ ตั้งพระนางจิรประภาครองต่อมา และจับพระเจ้าเมกุฏิกับพระยาเชียงแสนไปหงสาวดี [45]

จากการรบเชียงใหม่ครั้งที่ 2 นี้กล่าวได้ว่าพระเจ้าเมกุฏิได้เอาใจออกห่างจากพม่า โดยร่วมมือกับเจ้าเมืองล้านนาทั้งปวง บุเรงนองจึงยกมาปราบ โดยอ้างสาเหตุจากการที่ไม่คุมเสบียงไปส่งในคราวรบกรุงสยามครั้งแรก คราวนี้โปรดให้จับพระเจ้าเมกุฏิส่งไปหงสาวดี และให้พระนางจิรประภาหรือพระวิสุทธิเทวีปกครองเชียงใหม่ต่อมา

บี อาร์ เพิร์น กล่าวว่า ล้านช้างพยายามช่วยเชียงใหม่แต่ไม่สำเร็จ และการที่พม่ายึดเชียงใหม่ได้ย่อมเป็นช่องทางให้มีโอกาสโจมตีล้านช้าง หรืออยุธยาต่อไป [46] 
                                                       โจมตีกรุงศรีอยุธยา 
 

เมื่อบุเรงนองมีพระเกียรติยศมากมายแล้ว แต่ยังขาดเพียงช้างเผือกที่จะเข้ามาสู่พระบารมีและทราบว่า ทางอยุธยามีช้างเผือกเข้ามาสู่พระบารมีมาก จึงมีพระราชสาสน์ขอช้างเผือก เพื่อจะได้เป็นเหตุที่จะเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา [47]

ความต้องการของบุเรงนองนั้นต้องการช้าง 2 เชือก สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงปฏิเสธ เมื่อสิ้นฤดูฝนการรุกรานได้เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1563 กองทัพพม่าได้ยกทัพข้ามแม่น้ำสะโตงไปยังเชียงใหม่ระหว่างทางกำแพงเพชร สุโขทัย ได้ยอมอ่อนน้อม (ค.ศ. 1563-1564) [48]

Htin Aung บอกว่า ค.ศ. 1563 บุเรงนองยกทัพข้ามแม่น้ำสาละวินและสามารถเอาชนะกำแพงเพชร และสุโขทัยอย่างง่ายดาย และยังกล่าวว่าลูกเขยของกษัตริย์ไทยที่ครองที่พิษณุโลกก็มาอ่อนน้อมด้วย [49]

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่า เมื่อไทยปฏิเสธเรื่องช้างเผือกพม่าก็ยกกองทัพเข้ามาทางตาก และตีหัวเมืองฝ่ายเหนือตัดกำลังที่จะส่งไปช่วยอยุธยา [50]

การตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยโดยพม่า ปรากฏในพงศาวดารพม่าดังนี้

“…พ.ศ. 2106 (ค.ศ. 1563) พม่ายกทัพจากหงสาวดีไปยังเมืองตองอูใช้เป็นที่ประชุมพล ยกไปทางเมืองเมาะตะมะ…ไปทางด่านเมืองกำแพงเพชร…ซึ่งพยายามจะต่อสู้ แต่รี้พลมีน้อย…พม่าก็ตีเอาเมืองได้โดยมิต้องรบเท่าไรนัก…” [51] เมื่อไปที่เมืองสุโขทัย

“…ก็ยกกองทัพออกมาต่อยุทธ์ด้วยที่ศึกนอกเมือง…แต่ต้องล่าถอยเข้ารักษาเมือง…พม่าก็ปล้นเอาเมืองได้” [52] ส่วนทางเมืองพิษณุโลก “…พระมหาอุปราชผู้ครองเมืองพิษณุโลกตั้งป้องกันเมืองเตรียมต่อสู้แข็งแรง…พม่าเข้าปล้นจับได้พระธรรมราชา…เจ้าเมืองสวรรคโลกไม่สู้รบกลับพาของถวายมาต้อนรับกองทัพพระเจ้ากะยอดินนุรธา…พม่าก็มาตั้งมั่นที่สวรรคโลก…” [53]

จากที่กล่าวมาแล้วจะเห็นได้ว่า หัวเมืองฝ่ายเหนือของไทยมีแต่เมืองสวรรคโลกเพียงเมืองเดียวที่ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี

ผลของสงครามกับไทยครั้งแรก ค.ศ. 1563 นี้ พระเจ้าชนะสิบทิศของพระยาอนุชิตบันทึกไว้ว่า พระมหาจักรพรรดิยอมมาอ่อนน้อม และจะส่งส่วยช้างปีละ 300 เชือก เงิน 300 ชั่ง และส่งตัวพระยาจักรี พระสุนทรสงคราม กับช้างพลายเผือก 4 เชือกให้ [54]

ในพงศาวดารพม่าปรากฏว่า

“…ราชบรรณาการซึ่งกรุงศรีอยุธยาจะต้องส่งประจำปีนั้น กำหนดช้าง 30 เชือก เงิน 300 ชั่งพม่า (ชั่งละ 100 บาท) และเงินภาษีปากเรือ ท่าเมืองตะนาวศรีด้วย…” [55]

พระเจ้าหงสาวดีขอช้างเผือกไปแล้วเว้น 4 ปี ก็เกิดศึกหงสาวดีมาตีไทยอีก ค.ศ. 1568 ซึ่งสืบเนื่องมาจากสงครามคราวก่อน ด้วยพระเจ้าหงสาวดียังไม่ได้ไทยเป็นเมืองขึ้น จึงพยายามทำให้ไทยแตกเป็น 2 พวก โดยใช้อุบายยกย่องพระมหาธรรมราชาให้มีอำนาจขึ้นทางภาคเหนือ [56]

สาเหตุของสงครามอาจจะเนื่องมาจากกรณีที่พระมหินทร์ไม่พอใจพระมหาธรรมราชา จึงคิดกำจัดเสียโดยชักชวนไปยังพระไชยเชษฐาให้ยกทัพกรุงศรีสัตนาคนหุต มาตีเมืองพิษณุโลก และทางอยุธยาทำทีจะยกทัพไปช่วย และจับพระมหาธรรมราชา พระไชยเชษฐานั้นก็ทรงแค้นพระมหาธรรมราชาเรื่องพระนางเทพกษัตรี จึงยกทัพมาทำทีจะตีกรุงศรีอยุธยา ให้คนทั้งหลายเข้าใจว่าจะตีเมืองพิษณุโลกก่อน เพราะเป็นเมืองหน้าด่านทางเหนือ [57]

พระมหาธรรมราชาได้ขอความช่วยเหลือจากอยุธยา รวมทั้งขอกำลังจากหงสาวดีให้มาช่วยอีกด้วย แผนการของพระมหินทร์ล้มเหลว เพราะพระยาสีหราชเดโชชัยทรยศ นำความไปกราบทูลพระมหาธรรมราชา พระมหินทร์คิดว่าทางหงสาวดีคงจะยกทัพมาตีอยุธยาอย่างแน่นอน [58]

ลุศักราช 930 ปีมะโรง สัมฤทธิศก พระเจ้าหงสาวดีให้เกณฑ์กองทัพพม่า รามัญ ไทยใหญ่ กระแซ และลื้อลาวล้านนาไทยทุกหัวเมือง รวมกันมารบกรุงพระนครศรีอยุธยา [59] ศึกครั้งนี้กรุงศรีอยุธยาเอาพระนครเป็นที่มั่นต่อสู้ข้าศึก ทั้งนี้เนื่องจากหัวเมืองทางภาคเหนือเป็นกบฏไปเข้าข้างข้าศึกเสียทั้งหมด [60] ซึ่งยุทธวิธีการต่อสู้ข้าศึกของไทยครั้งนี้ ปรากฏในพงศาวดารพม่าดังนี้

“…พระเจ้ากรุงสยามเมื่อทรงทราบว่ากองทัพใหญ่…ก็ไม่กล้าแต่งทัพออกไปสกัดข้าศึกพ้นพระนครไปเหมือนครั้งก่อน เป็นแต่ให้กวาดคนและเสบียงอาหารเข้าพระนคร ตระเตรียมทหารและปืนใหญ่ขึ้นมาประจำหน้าที่ป้อมปราการเชิงเทิน… ” [61]

เหตุการณ์การเสียกรุงศรีอยุธยา ผู้เขียนไม่ขอกล่าวถึง ขอสรุปสั้นๆ ว่าเมื่อบุเรงนองยกทัพมาไทยได้แตกแยกความสามัคคี อันเป็นช่องทางให้พม่ายึดพระนครศรีอยุธยาได้ใน พ.ศ. 2112 (ค.ศ. 1569) [62] เมื่อยึดได้แล้วได้ให้พระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิษณุโลกครองราชสมบัติกรุงพระนครศรีอยุธยาต่อมา [63] 
                                                        การรุกราน ลุ่มแม่น้ำโขง 
                                                     การโจมตีกรุงศรีสัตนาคนหุต 

 

บี อาร์ เพิร์น กล่าวว่าเมื่อกรุงศรีอยุธยาสงบศึกกับพม่าแล้ว (ค.ศ. 1563) บุเรงนองได้หันไปโจมตีเวียงจันทน์และยึดได้ [64] เคยกล่าวมาข้างต้นแล้วว่าพระยาหัวเมืองเหนือต่างๆ ที่พยายามตีจากบุเรงนอง ได้เคยหนีไปอาศัยกรุงศรีสัตนาคนหุตอยู่ และบุเรงนองให้พระมหาอุปราชกับกษัตริย์อังวะไปติดตามเอาตัวมา

พระเจ้าไชยเชษฐาได้หลบอยู่ในป่า แต่งทัพแบบกองโจรคอยซุ่มโจมตีจนพม่าขัดสนเสบียงอาหารต้องเลิกทัพกลับไป [65] โดยนำพระอนุชาพระมเหสีไชยเชษฐาไปด้วย ค.ศ. 1563 พระเจ้าไชยเชษฐาแห่งศรีสัตนาคนหุตได้ทำสัมพันธ์ไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา และได้ย้ายเมืองหลวงจากหลวงพระบางมาเวียงจันทน์ เพื่อรักษาไมตรีอันดีกับไทยและเพื่อหลีกเลี่ยงพม่า [66]

ในระหว่างที่พม่ามาโจมตีอยุธยาครั้งที่ 2 พระไชยเชษฐาก็มีบทบาทร่วมด้วย ดังจะเห็นได้จากพงศาวดารของพม่าคือ

“…พระศรีชิต (หรือพระชนะสี่ทิศ หรือพระไชยเชษฐาธิราช) เจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต ได้รับพระราชสาสน์สมเด็จพระจอมศรีอยุธยาเชิญเสด็จกรีธาทัพมาช่วย…” [67]

บุเรงนองได้ตั้งปณิธานว่าจะเสด็จไปปราบเมืองล้านช้างให้ได้ ลุวันศุกร์เดือน 12 แรม 6 ค่ำ พ.ศ. 2112 [ค.ศ. 1569] ก็เสด็จออกจากพระมหานครศรีอยุธยาขึ้นไปทางเมืองพิษณุโลก เดินทางไปในทิศอีสานและตั้งค่ายทหารที่ฝั่งขวาแม่น้ำโขงตรงข้ามเวียงจันทน์ โปรดให้ต่อเรือขนานเป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงทำให้พระศรีชิตทิ้งพระนครเข้าป่าได้ทัน และ พ.ศ. 2113 บุเรงนองก็ยกทัพกลับหงสาวดี โดยที่ยึดกรุงศรีสัตนาคนหุตไม่ได้ [68]

บี อาร์ เพิร์น ได้สรุปไว้ในประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ว่าพม่าในสมัยบุเรงนองมีเมืองขึ้นมาก โดยปกครองเมืองพะโคซึ่งเป็นดินแดนมอญโดยตรง ส่วนเมืองขึ้นอื่นๆ เช่น แปร ตองอู อังวะ เชียงใหม่ ฯลฯ บุเรงนองก็ส่งญาติหรือคนที่ไว้ใจได้ปกครอง สำหรับล้านช้างนั้นบุเรงนองพยายามโจมตีหลายครั้งได้เมือง แต่จับพระไชยเชษฐาไม่ได้ และทหารก็อ่อนเพลียเบื่อหน่ายจากการรบ เมื่อบุเรงนองสิ้นพระชนม์ใน ค.ศ. 1581 [69] อาณาจักรของพระองค์ก็เริ่มแตกแยกกันอีก 
                   ก็ขอยุติบทบาทของบุเรงนองในลุ่มแม่น้ำทั้งห้าแต่เพียงเท่านี้ 
 

เชิงอรรถ :

[1] ฉลาดชาย รมิตานนท์และคณะ. พม่า : อดีตและปัจจุบัน. ไม่ปรากฏสถานที่พิมพ์ 2526 หน้า 27

[2] ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอิระวดี ในพม่าตอนบนเจริญรุ่งเรืองมากในคริสต์ศตวรรษที่ 11

[3] ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยา. เที่ยวเมืองพม่า แพร่พิทยา 2514 หน้า 58

[4] ศิลปากร, กรม. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 1. พงศาวดารพม่า ฉบับคุรุสภา 2506 หน้า 42

[5] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ พระราชพงศาวดารพม่า, โรงพิมพ์คุรุสภา พิมพ์ครั้งที่ 1, 2505 หน้า 131

[6] Dannison, F.S.R., Burma. Printed in Great Britain London 1970 p. 53

[7] สมิงเป็นคำมอญ สอ คงเป็นคำไทยคือเจ้า สมิงสอดุต ก็คือสมิงเจ้าตุต การที่นิยมเอาคำของทั้งสองชาติมาใช้ร่วมกัน ก็เป็นเครื่องชี้ว่า มอญและไทยร่วมวัฒนธรรมกันอย่างใกล้ชิดหลายร้อยปีมาแล้ว

[8] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 166

[9] ฉลาดชาย รมิตานนท์และคณะ. อ้างแล้ว หน้า 21

[10] อนุชิต, พระยา. พระเจ้าชนะสิบทิศ. เขษมบรรณกิจ 2500 หน้า 75

[11] Dannison, F.S.R. อ้างแล้ว หน้า 43

[12] อนุชิต, พระยา. เพิ่งอ้าง หน้า 522-525

[13] ดำรงราชานุภาพ, กรมพระยา. พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ตอนที่ 1 เล่มที่ 1 โรงพิมพ์ชาญชัย, 2495 หน้า 554

[14] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 168

[15] อนุชิต, พระยา. อ้างแล้ว หน้า 541

[16] อนุชิต, พระยา. เพิ่งอ้าง หน้า 541

[17] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 164

[18] Dannison, F.S.R. อ้างแล้ว หน้า 53

[19] Daw, Mya Sein, The Administration of Burma. Oxford University Press, 1973 p. 10

[20] ศิลปากร, กรม. อ้างแล้ว หน้า 31

[21] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 170

[22] ดำรงราชานุภาพ, กรมพระยา. อ้างแล้ว หน้า 554-555

[23] Harvey, G.E. History of Burma. Thomas Nelsons Printed Ltd. London, 1967 p. 164

[24] อนุชิต, พระยา. อ้างแล้ว หน้า 554-555

[25] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 173

[26] ดำรงราชานุภาพ, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 555

[27] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 174

[28] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. เพิ่งอ้าง หน้า 175

[29] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. เพิ่งอ้าง หน้า 175

[30] อนุชิต, พระยา. อ้างแล้ว หน้า 555 บอกว่าคือเมือง อุนบองเล

[31] อนุชิต, พระยา. เพิ่งอ้าง หน้า 564 บอกว่าเป็นอนุชาของเจ้าฟ้าเมืองนาย และดำรงราชานุภาพ, กรมพระยา. อ้างแล้ว หน้า 556 บอกว่าเจ้าฟ้าเมืองนายกับพระเจ้าเมกุฏิ เป็นญาติกัน

[32] ประชากิจกรจักร, พระยา. พงศาวดารโยนก, โรงพิมพ์รุ่งวัฒนา พิมพ์ครั้งที่ 6, 2515 หน้า 395

[33] อนุชิต, พระยา. อ้างแล้ว หน้า 572

[34] ประชากิจกรจักร, พระยา. อ้างแล้ว หน้า 396

[35] Harvey, G.E. อ้างแล้ว หน้า165

[36] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 176-177

[37] ดำรงราชานุภาพ, กรมพระยา. อ้างแล้ว หน้า 556

[38] Htin Aung, A History of Burma. Columbia University Press, New York, London, 1967 p. 116

[39] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 177

[40] อนุชิต, พระยา. อ้างแล้ว หน้า 649

[41] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 185

[42] ประชากิจกรจักร, พระยา. อ้างแล้ว หน้า 401

[43] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 205-206

[44] ดำรงราชานุภาพ, กรมพระยา. ไทยรบพม่า, แพร่พิทยา พิมพ์ครั้งที่ 6 2514 หน้า 45

[45] อนุชิต, พระยา. อ้างแล้ว หน้า 651

[46] บี อาร์ เพิร์น. ประวัติศาสตร์เอเชียอาคเนย์ จีรวัฒน์ จักรพันธุ์, ม.ร.ว. แปล โรงพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่ง ประเทศไทย, 2511 หน้า 57

[47] ดำรงราชานุภาพ, กรมพระยา. อ้างแล้ว หน้า 557

[48] Hall, D.G.E. A history of South-East Asia, St. Martin’s Press, “New York, Third Edition, 1968 p. 267

[49] Hin Aung, M. อ้างแล้ว หน้า119

[50] ดำรงราชานุภาพ, กรมพระยา. อ้างแล้ว หน้า 557

[51] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 184-185

[52] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. เพิ่งอ้าง หน้า 187

[53] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. เพิ่งอ้าง หน้า 187

[54] อนุชิต, พระยา. อ้างแล้ว หน้า 625

[55] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 198

[56] ดำรงราชานุภาพ, กรมพระยา. อ้างแล้ว หน้า 44

[57] ดำรงราชานุภาพ, กรมพระยา. เพิ่งอ้าง หน้า 44

[58] ดำรงราชานุภาพ, กรมพระยา. เพิ่งอ้าง หน้า 50

[59] ประชากิจกรจักร, พระยา. อ้างแล้ว หน้า 402

[60] ดำรงราชานุภาพ, กรมพระยา. อ้างแล้ว หน้า 56

[61] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 224

[62] วิจิตรมาตรา, หลวง. หลักไทย. โรงพิมพ์อักษรบริการ, 2506 หน้า 138

[63] ประชากิจกรจักร, พระยา. อ้างแล้ว หน้า 402

[64] ดำรงราชานุภาพ, กรมพระยา. อ้างแล้ว หน้า 573

[65] บี อาร์ เพิร์น. อ้างแล้ว หน้า 57

[66] Hall, D.G.E. อ้างแล้ว หน้า 265

[67] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. อ้างแล้ว หน้า 232

[68] นราธิปประพันธ์พงศ์, กรมพระ. เพิ่งอ้างหน้า 250, 252, 253

[69] ปี อาร์ เพิร์น. อ้างแล้ว หน้า 58

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “บุเรงนอง ในลุ่มแม่น้ำทั้งห้า” เขียนโดย ซิลวี่ ฮอลลิงก้า ศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม 2532

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 มิถุนายน 2565 
 




Create Date : 13 มีนาคม 2566
Last Update : 13 มีนาคม 2566 13:11:34 น. 0 comments
Counter : 565 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

หนี่งหน่อง
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 33 คน [?]




pub-1485477287124314
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add หนี่งหน่อง's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.