ยินดีต้อนรับสู่บล็อกเรื่อยๆ เปื่อยๆ ของโอ้โฮค่ะ

^o^... คู่มือลิขสิทธิ์สำหรับนักเขียน ...^o^

.



จัดทำโดย
คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการคุ้มครองลิขสิทธิ์วรรณกรรมและงานที่เกี่ยวข้อง
สำนักงานลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์







บทนิยาม

นักเขียน หมายถึง ผู้แต่งหรือผู้ประพันธ์งานเขียนประเภทต่างๆ ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น นวนิยาย เรื่องสั้น สารคดี ตำรา บทความ ความเรียง กวีนิพนธ์ ฯลฯ



สิ่งที่ได้รับความคุ้มครอง

สิ่งที่จะได้รับความคุ้มครองคืองานที่นักเขียนได้สร้างสรรค์ขึ้น ส่วนชื่อเรื่อง แนวความคิด ข้อมูล สถิติ ข้อเท็จจริง ข่าว หรือบทบัญญัติของกฎหมายเป็นสิ่งที่ไม่มีลิขสิทธิ์




การคุ้มครองงานลิขสิทธิ์

นักเขียนจะได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติจากกฎหมายลิขสิทธิ์ทันทีที่สร้างสรรค์ผลงานโดยไม่ต้องไปจดทะเบียน หรือไปจดแจ้งต่อหน่วยงานใด


แม้นักเขียนจะได้รับความคุ้มครองสิทธิ์ในผลงานของตนเองโดยทันที แต่นักเขียนสามารถนำผลงาน (หนังสือหรือแผ่นซีดี) มาแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ที่กรมทรัพสินทางปัญญาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น และกรมทรัพย์สินทางปัญญาจะออกหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ซึ่งสามารถใช้เป็นหลักฐานเบื้องต้นในการแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ ขณะเดียวกันยังสามารถใช้เป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ ตามนโยบายแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นทุนได้ด้วย


นอกจากนี้ นักเขียนยังอาจแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในผลงานของตนโดยแสดงข้อความ เช่น “สงวนลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 โดย........” หรือแสดงสัญลักษณ์ ©



สิทธิของนักเขียน

นักเขียนจะมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในงานเขียนของตนที่จะทำการใดๆ ดังต่อไปนี้


1. ทำซ้ำ เช่น การทำสำเนา การดาวน์โหลดลงเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือจัดพิมพ์งานเป็นรูปเล่ม เป็นต้น


2. ดัดแปลง เช่น การนำงานวรรณกรรมไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศ หรือนำไปจัดทำเป็นบทละครโทรทัศน์ หรือบทภาพยนตร์ เป็นต้น


3. เผยแพร่ต่อสาธารณชน เช่น การเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ต่างๆ และการจำหน่าย จ่าย แจกงานเขียน เป็นต้น


4. อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ์ ได้แก่ อนุญาตให้สำนักพิมพ์นำไปจัดพิมพ์ จัดจำหน่าย อนุญาตให้ดัดแปลง หรืออนุญาตให้นำไปดาว์โหลดและเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ต่างๆ


5. ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น ได้แก่ การโอนผลตอบแทนที่ได้จากค่าลิขสิทธิ์ให้แก่บุคคลอื่น




การแสดงข้อมูลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์


นักเขียนควรระบุข้อมูลเกี่ยวข้องกับงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น เช่น ชื่อผลงาน ชื่อผู้สร้างสรรค์ ชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ชื่อสำนักพิมพ์ ปีที่สร้างสรรค์ ปีที่พิมพ์/โฆษณา ปริมาณที่อนุญาตให้ใช้งานได้โดยไม่ต้องขอความยินยอม เพื่อให้ผู้อื่นได้รับยรู้ข้อมูลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และเพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่ประสงค์จะใช้งาน ในการติดต่อขออนุญาตใช้สิทธิ์ในงานนั้น



อายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์

ลิขสิทธิ์งานเขียนจะมีตลอดอายุของนักเขียนผู้นั้นนับแต่สร้างสรรค์ผลงาน และต่อไปอีก 50 ปี นับแต่นักเขียนผู้นั้นเสียชีวิต


ข้อมูลเพิ่มเติมจากเอกสารการบรรยายของ
ศ. (พิเศษ) สุชาติ ธรรมาพิทักษ์กุล


(1) ลิขสิทธิ์มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์และจะมีอยู่ต่อไปอีก เป็นเวลา 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย


(2) ในกรณีมีผู้สร้างสรรค์ร่วมกันมากกว่า 1 คน ลิขสิทธิ์จะมีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ร่วมและมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลา 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ความตาย


(3) ถ้าผู้สร้างสรรค์ตายเสียก่อนที่ได้มีการโฆษณางานนั้น ลิขสิทธิ์จะอยู่เพียง 50 ปีนับแต่ที่ได้มีการโฆษณา (แต่ต้องโฆษณาก่อนหมดอายุลิขสิทธิ์ คือ ก่อนครบ 50 ปี หลังผู้สร้างสรรค์ตาย)


*** ขยายความในข้อ (3) คือ ถ้านักเขียนสร้างสรรค์งานไว้แล้วตายก่อนมีการเผยแพร่หรือโฆษณางาน (เช่น พิมพ์แจก พิมพ์ขาย หรือโพสต์ลงเว็บไซต์ต่างๆ) อาจอยู่ในรูปการจดบันทึก พิมพ์ใส่ไฟล์ไว้อ่านเอง ไม่มีใครรู้ แล้วบังเอิญทายาท (บุตร บิดา มารดา ญาติพี่น้อง) มาพบเจอเข้า นำไปจัดพิมพ์เผยแพร่ ลิขสิทธิ์จะเป็นของทายาทไปอีก 50 ปี แต่การนำไปจัดพิมพ์เผยแพร่นั้นต้องก่อนครบ 50 ปี หลังนักเขียนตายนะคะ ถ้าพบหลังจาก 50 ปีที่นักเขียนตายไปแล้ว งานสร้างสรรค์นั้นก็ไม่ถือว่ามีลิขสิทธิ์ค่ะ




การกระทำอย่างไรที่เรียกว่าละเมิดลิขสิทธิ์


การละเมิดลิขสิทธิ์มีได้หลายรู้แบบเช่น

- นำผลงานของนักเขียนไปรวมเล่ม (อาทิ นำงานของนักเขียนหลายคนมารวมเล่ม) โดยไม่ได้รับอนุญาต


- นำผลงานไปเผยแพร่ลงในอินเตอร์เน็ตโดยไม่ได้รับอนุญาต


- นำผลงานไปจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มโดยไม่ได้รับอนุญาต


- นำผลงานไปดัดแปลง (อาทิ ใช้เนื้อเรื่องเดิม ใส่ชื่อเรื่องใหม่) โดยไม่ได้รับอนุญาต

ฯลฯ




เมื่อถูกละเมิดลิขสิทธิ์ นักเขียนควรทำอย่างไร


เมื่อนักเขียนถูกละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องดำเนินการดังนี้


1. ในเบื้องต้นนักเขียนจะต้องตรวจสอบผลงานของตนเองกับงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ว่า มีการทำซ้ำกันหรือไม่ อย่างไร โดยตรวจสอบอย่างรอบคอบและระมัดระวัง เนื่องจากปัจจุบันมีงานเขียนที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเป็นจำนวนมาก


2. เมื่อพบว่ามีการทำซ้ำ จนมั่นใจว่าถูกละเมิดลิขสิทธิ์แล้ว หากงานที่ถูกละเมิดนั้นเป็นตัวหนังสือ ให้แจ้งไปยังสำนักพิมพ์ที่จัดพิมพ์เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบ และต้องแจ้งแก่ผู้กระทำละเมิดในทันที


3. เจรจากับสำนักพิมพ์และผู้กระทำการละเมิดว่าจะชดใช้ค่าเสียหายอย่างไร


4. หากไม่สามารถเจรจาตกลงกันได้ อาจทำหนังสือถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าว (ไม่มีค่าใช้จ่ายใด)



หากดำเนินการตามข้อ 3 และข้อ 4 ไม่บรรลุผล อาจเลือกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

1) คู่กรณีอาจนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวรการอนุญาโตตุลาการ กรมทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อตัดสินชี้ขาด คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการถือเป็นที่สุด ไม่สามารถดำเนินคดีในชั้นศาลได้อีก (เว้นแต่เป็นคำชี้ขาดที่ขัดต่อกฎหมาย)


กระบวนการอนุญาโตตุลาการมีค่าใช้จ่าย ดังนี้





2) นักเขียนอาจฟ้องร้องให้ดำเนินคดีต่อศาล ซึ่งทำได้ 2 กรณี คือ


2.1 การฟ้องร้องดำเนินคดีอาญา นักเขียนสามารถฟ้องร้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์เป็นคดีอาญาได้ หรืออาจใช้สิทธิในทางอาญาโดยการแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจจะเป็นผู้ดำเนินการสอบสวน สรุปสำนวนคดี และเสนอพนักงานอัยการเพื่อฟ้องร้องดำเนินคดีแก่ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไป


2.2 นักเขียนฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเพิ่มเติมจากการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นๆ ได้อีก ในกรณีที่ค่าเสียหายในคดีอาญาไม่คุ้มกับความเสียหายที่เกิดขึ้น
อย่างไรก็ดี หากนักเขียนไม่ประสงค์จะฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ละเมิด นักเขียนอาจจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในคดีแพ่งอย่างเดียวก็ได้



อายุความในการดำเนินคดีละเมิดลิขสิทธิ์

เมื่อถูกละเมิดลิขสิทธิ์ นักเขียนจะต้องฟ้องร้องดำเนินคดีภายใน 3 ปี นับตั้งแต่ที่รู้ว่ามีการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำการละเมิด แต่ต้องไม่เกิน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ กรณีที่นักเขียนต้องแจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีต่อผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ นักเขียนจะต้องแจ้งความร้องทุกข์ภายใน 3 เดือน นับแต่รู้ว่ามีการละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิด




เขียนหนังสืออย่างไรไม่ให้ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น


การสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์

การสร้างสรรค์งานลิขสิทธิ์ ผู้สร้างสรรค์จะต้องสร้างสรรค์ผลงานด้วยตัวเองคือไม่ลอกงานของผู้อื่น กรณีของงานเขียนก็เช่นกัน นักเขียนจะต้องเขียนงานจากความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง โดยไม่ลอกเลียนตัดต่อหรือดัดแปลงงานเขียนของบุคคลอื่น


การคัดลอกหรืออ้างอิงผลงานของผู้อื่น

กรณีการคัดลอกหรืออ้างอิงงานเขียนของผู้อื่นบางตอนซึ่งทำได้ตามสมควร แต่ต้องระบุที่มาและชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ผลงานที่คัดลอกให้ชัดเจน เพื่อรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว โดยการคัดลอกหรืออ้างอิงจะทำได้ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น คือจะต้องไม่ขัดต่อการแสวงหาผลประโยชน์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร (กรณีดังกล่าวศาลเท่านั้นจะเป็นผู้ตัดสิน) หากไม่แน่ใจว่าการคัดลอก อ้างอิงดังกล่าวอยู่ในขอบเขตของกฎหมายหรือไม่ ก็ควรขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน เพื่อป้องกันข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นในอนาคต




เมื่อถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องทำอย่างไร


เมื่อมีผู้ถูกล่าวหาว่างานเขียนของท่านละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นนักเขียนจะต้องปฏิบัติดังนี้ คือ


1. รวบรวมผลงานต้นฉบับที่เขียนไว้ในแต่ละครั้ง เพื่อใช้เป็นหลักฐานแสดงว่าได้เขียนผลงานด้วยตัวเองไม่ได้ลอกเลียน ตัดต่อ คัดลอก หรือดัดแปลงงานของผู้อื่น


2. รวบรวมเอกสารหลักฐานการตีพิมพ์ครั้งแรกของหนังสือเล่มที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดลิขสิทธิ์


3. จัดเตรียมและตรวจสอบสัญญาของการอนุญาตให้ใช้งานลิขสิทธิ์ (ถ้ามี) ว่าขอบเขตสัญญาที่ตกลงกันไว้มีแค่ไหน อย่างไร


4. จัดหาพยานบุคคลที่อ้างอิงได้ว่าผู้เขียนเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานนั้นจริง


5. ตรวจสอบและเปรียบเทียบงานเขียนของท่านว่าละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้กล่าวหาหรือไม่


6. คู่กรณีอาจนำข้อพิพาทเข้าสู้กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทโดยทำหนังสือถึงกรมทรัพทย์สินทางปัญญา


7. กรณีที่ไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ คู่กรณีอาจนำข้อพิพาทเข้าสู่อนุญาโตตุลาการเพื่อตัดสินชี้ขาด





*****************


นักเขียนที่มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์
สามารถขอคำแนะนำหรือปรึกษาได้ที่
สำนักลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา
โทรศัพท์หมายเลข 02 – 547 – 4633, 02 – 547 – 4634
หรือ www.ipthailand.org








Create Date : 06 เมษายน 2550
Last Update : 11 กันยายน 2553 10:11:53 น. 9 comments
Counter : 3760 Pageviews.

 
โอ้โฮได้อ่านเอกสารเผยแพร่เรื่อง "คู่มือลิขสิทธิ์สำหรับนักเขียน" ที่จัดทำโดย คณะอนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาการคุ้มครองลิขสิทธิ์วรรณกรรมและงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานลิขสิทธิ์ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ เห็นว่ามีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักเขียนในยุคปัจจุบันที่มีความตื่นตัวกันมากเรื่องลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญา


จึงขอนำเนื้อหาทั้งหมดมาเผยแพร่ในบล็อก ด้วยหวังว่าจะเป็นอีกหนึ่งช่องทาง (เล็กๆ) ที่ประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ให้นักเขียนและผู้ที่เกี่ยวข้องมีจิตสำนึกด้านลิขสิทธิ์ รักษาสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง และเคารพสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น




ปล. ยังมีเอกสารอีกหลายฉบับที่น่าสนใจ จะทยอยนำมาบอกกล่าวกันค่ะ


โดย: O-HO วันที่: 6 เมษายน 2550 เวลา:11:48:34 น.  

 
อ่านะ ไปฟังมาด้วยกัน
เป็นข้อมูลที่ดีมากๆ



โดย: YUI_MUNMOO วันที่: 6 เมษายน 2550 เวลา:11:53:55 น.  

 
ฮ่าๆ เดี๋ยวขออนุญาตทำลิงก์มาที่บล็อกพี่อ้อนะคะ


โดย: สายลมโชยเอื่อย วันที่: 6 เมษายน 2550 เวลา:13:56:16 น.  

 
ดอกพุทธก็ขอเอาไปไว้ที่บล้อกด้วยนะค่ะ ขอทำลิ้งอ่ะค่ะ

ขอบคุณนะค่ะ



โดย: ดอกพุทธ (ดอกพุทธ ) วันที่: 6 เมษายน 2550 เวลา:14:29:56 น.  

 
ได้ความรู้เพิ่มเติมมากเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ


โดย: ปุณณัตถ์ IP: 124.120.26.168 วันที่: 6 เมษายน 2550 เวลา:17:28:21 น.  

 
ดีจังเลยค่ะ


โดย: ศรีสุรางค์ วันที่: 14 เมษายน 2550 เวลา:14:41:48 น.  

 
ผมเป็นนักอยากเขียนมาแล้วหลายปีดีดัก ผลงานได้ลงตีพิมพ์บ้างลงตะกร้าบ้าง ได้เงินค่าเรื่องบ้างไม่ได้บ้าง คิดว่าไม่มีผลงานชิ้นใดน่าประทับใจให้ใครๆเขาละเมิดลิขสิทธิ์เป็นแน่แท้ทีเดียวเชียว

แต่ถือว่าได้รับประโยชน์มหาศาลจากข้อมูลที่ได้อ่าน
ว่างๆแวะไปเยี่ยมกันหน่อยนะครับ


โดย: tidken วันที่: 25 พฤษภาคม 2550 เวลา:12:40:14 น.  

 
ขอบคุณมากๆ เลยค่ะ เพราะเป็นประโยชน์มากจริงๆ เลยค่ะ ขอแอ๊ดบล๊อกด้วยนะคะ มีประโยชน์กับนักเขียนหลายๆ ท่านเลยค่ะ โชคดีจริงๆ ที่ได้อ่าน


โดย: Second impact (Second impact ) วันที่: 7 ธันวาคม 2550 เวลา:9:14:42 น.  

 
ข้อมูลเป็นประโยชน์ และน่าสนใจมากค่ะ


โดย: มีร่าห์ วันที่: 9 สิงหาคม 2552 เวลา:14:20:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

O-HO
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





บล็อกนี้มีอะไร

Oh! My Diary - บันทึกเรื่อยๆ เปื่อยๆ

Oh! My Trip - ภาพ/เรื่องเล่าจากการเดินทาง

คู่มือลิขสิทธิ์สำหรับนักเขียน












Group Blog
 
<<
เมษายน 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
2930 
 
6 เมษายน 2550
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add O-HO's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.