"แจ๊ส....ฉัน"
Group Blog
 
<<
ธันวาคม 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
3 ธันวาคม 2554
 
All Blogs
 
40 ปีแห่งอิสรภาพไร้ขีดจำกัด Bitches Brew….(1)



หลังจากที่อัลบัมฟิวชันเขย่าโลก Bitches Brew ได้ออกวางจำหน่าย อดีตศิษย์ก้นกุฏิในยุคนั้น จอห์น แม็กลอฟลิน, แจ็ก ดิจอห์นเน็ต, เดฟ ฮอลแลนด์ และอีกหลายคนได้มาสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในครั้งนั้น

วันจันทร์ที่ 18 สิงหาคม 1969 เวลาสิบโมงเช้า จิมมี เฮนดริกซ์เพิ่งเสร็จจากวู้ดสต็อก มิวสิกแอนด์อาร์ตส เฟสติวัลกับเพลง Hey Joe บลูส์เก่าๆ ที่เขาเอามาแปลงร่างใหม่จากความโศกเศร้าเหงาหดหู่ แทนที่ด้วยความโก้หร่านในชัยชนะ, โน้ตแตกพร่า ด้วยสี่เพลงก่อนหน้านี้ เขาก็ได้แปลงร่าง Star Splangled Banner ออกมาฟังง่ายกว่าที่เคย ด้วยกีตาร์ที่เลียนเสียงระเบิดและเสียงกรีดร้องของทุ่งสังหาร เหยื่อสงครามเวียตนาม ซึ่งมือกีตาร์ร็อกผิวสีคนนี้ป่าวร้องให้กับเพื่อนร่วมชาติได้รับรู้ กลุ่มแฟนเพลงเริ่มถอยทัพกลับไปบ้างแล้ว หลังจากวันคืนผ่านไป จากฝูงชนคลาคล่ำร่วม 500,000 คนเหลือเพียงประมาณ 100,000 คน แต่พวกแฟนเพลงเดนตายก็หาได้ย่อท้อไม่ หากแต่จะดีใจเสียด้วยซ้ำที่ขยับเข้าใกล้ศิลปินขวัญใจได้มากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้นคนเหล่านี้ยังได้เป็นประจักษ์พยานแห่งดนตรีไร้พรมแดน จากร็อกแอนด์โรลเสียงแตกพร่า ก้าวย่างเข้าสู่คีตปฏิภาณแห่งแจ๊ส

อีกยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังจากนั้น พรมแดนที่แบ่งช่องว่างระหว่างดนตรีก็ยิ่งกระชับเข้าหากันมากกว่าเดิมเสียอีก เมื่อเช้าวันอังคารที่ 19 เวลาสิบโมง ไมล์ส เดวิสรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ นักดนตรีภายใต้สังกัดโคลัมเบีย เร็คคอร์ดส สตูดิโอบีในแมนฮัตตัน บันทึกเสียงอัลบัม Bitches Brew วงวู้ดสต็อกของเฮนดริกซ์ในชื่อ ยิปซีแบนด์ แอนด์ เรนโบว์สใช้กีตาร์ไฟฟ้าหนึ่ง, เบสไฟฟ้าหนึ่ง, กลองหนึ่ง และเพอร์คัสชันอีกสอง ส่วนวงดนตรีของไมล์ส เดวิสนั้นเล่าก็มีเหมือนๆ กับยิปซี แอนด์ เรนโบว์ส แต่ที่เพิ่มเข้ามาก็คือ มือกลองอีกหนึ่ง, คีย์บอร์ดสอีกสอง, มืออะคูสติกเบสอีกหนึ่ง, ทรัมเป็ตอีกหนึ่ง, แซ็กโซโฟนอีกหนึ่ง และเบสคลาริเน็ตอีกหนึ่ง ทั้งสองวงต่างก็มีลูกวงทั้งผิวขาวและดำ สวมเสื้อผ้าแบบเดียวกัน หลักๆ ต้องมีผ้าคาดผม, พู่, เสื้อกั๊กหนัง, ผ้าพันคอ, กางเกงยีนส์ และเครื่องประดับสไตล์เสรีชนในยุค 1969 ด้วยรูปแบบการเล่นด้วยเครื่องดนตรีที่ใช้ไฟฟ้าของลูกวงอย่าง จอห์น แม็กลอฟลิน, ฮาร์วีย์ บรูกส์ (เบส), ชิก คอเรีย (คีย์บอร์ดส) และโจ ซาวินัล (กลอง) อัลบัม Bitches Brew นี้ดูไม่มีอะไรที่เหมือนกับ Kind of Blue เอาเสียเลย

เท่านั้นยังไม่พอ นอกจากที่ไมล์ส เดวิสเลือกที่จะใช้เครื่องดนตรีที่อิงไปในรูปแบบของจิมมี เฮนดริกซ์แล้ว เขายังขยับก้าวไปไกลจากแม่แบบที่มือกีตาร์ร็อกหนุ่มใช้ แผ่นกระดาษที่เดวิสส่งต่อให้กับลูกวงเป็นต้นร่างของเพลงที่บอกการเปลี่ยนคอร์ดสองสามคอร์ด, เบสไลน์อีกนิดหน่อย แล้วก็วัตถุดิบในการเล่นสไตล์มินิมอลิสต์ ผลงานมาสเตอร์พีซของเดวิสเมื่อปี 1959 เขาเป็นผู้ริเริ่มทั้งจุดเริ่มต้น, ฟิลลิง และช่องว่างเปิดมากมากมายที่จะสอดแทรกไอเดียลงไป สีสรรของเสียงและจังหวะมีความแตกต่างกันอยู่ในตัว แต่มีรูปแบบการเล่นแบบโมดัลเหมือนกัน Bitches Brew ไม่ได้มีความเป็นร็อกมากไปกว่าผลงานคลาสสิกอย่าง Porgy and Bess หรือผลงานฟลาเมงโกเทียบชั้นอย่าง Sketches of Spain ช่องว่างที่แตกต่างระหว่างแจ๊สกับร็อกถูกกระถดให้แนบชิดยิ่งขึ้น แต่ดนตรีทั้งสองแขนงนี้ก็ไม่ได้หลอมรวมเข้าด้วยกันโดยสิ้นเชิงเสียทีเดียว “ไม่ว่ารูปแบบไหนที่เขาเลือกใช้ ไมล์สก็ยังเป็นไมล์สอยู่เสมอ” แม็กลอฟลินให้ความเห็น “Kind of Blue เป็นคอนเซ็ปต์ที่ไมล์สคิดค้น กิล เอแวนส์กับบิล เอแวนส์ก็ใช่ด้วย แต่ว่าไมล์สเป็นคนผสมผสานมันเข้าไว้เป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์แบบ เหมือนอย่างที่เขาทำในอัลบัมสแปนิช Miles Ahead เขาก็ได้เริ่มต้นวิถีแบบ “ฟิวชัน” ไปบ้างแล้วกับผลงานช่วงปี 1957-59 อัลบัมBitches Brew เขาได้รวบรวมเอาองค์ประกอบต่างๆ ที่มีอยู่ แล้วก็สร้างสรรค์ออกมาในแนวทางใหม่ บอกได้เลยว่า เครื่องดนตรีกับจังหวะมีความแตกต่างกันในผลงานทั้งสามชุด แต่วิธีการเล่นเหมือนกัน ฟังได้จากเฟรสซิงใน Bitches Brew ที่ไมล์สเคยใช้มาแล้วในปี 1957 แต่ว่าในรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน”

สี่ทศวรรษได้ก้าวล่วงผ่านไปตั้งแต่ Bitches Brew ออกวางจำหน่ายครั้งแรกในปี 1970 และสังกัดโคลัมเบีย เร็คคอร์ดสก็ได้บันทึกความสำเร็จเอาไว้ด้วยการออกจำหน่ายบ็อกเซ็ต Bitches Brew: 40th Anniversary Collector’s Edition บ็อกเซ็ตชุดนี้ประกอบด้วยซีดีสองแผ่น ที่บรรจุผลงานสำคัญในแบบต้นฉบับแปดเพลงจากสตูดิโอ เพิ่มเติมด้วยเพลงหลายๆ เทค และซิงเกิล เวอร์ชัน หน้าตาออกมาคล้ายแผ่นเสียง 180 กรัมแบบต้นฉบับที่เป็นแผ่นคู่ ส่วนที่เหลือเป็นดีวีดีคอนเสิร์ตในโคเปนเฮเกนปี 1969, ซีดีบันทึกการแสดงที่แทงเกิลวู้ดในปี 1970, บุคเล็ต และบันทึกต่างๆ ที่น่าสนใจ นอกเหนือไปจากหกเพลงต้นฉบับแล้ว เพลงที่เพิ่มเติมเข้าไปก็ไม่ได้เป็นการซ้ำซ้อนกับอัลบัม The Complete Bitches Brew Sessions ที่โคลัมเบียเคยนำออกมาวางขายก่อนหน้านี้ (อยู่ในซีรีส์เลกาซีที่ยังคงมีวางจำหน่ายอยู่ ซึ่งประกอบด้วยซีดีสองแผ่นและดีวีดีคอนเสิร์ต)

การนำเอาดีวีดีคอนเสิร์ตเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายนปี 1969 ออกมาเผยแพร่ ซึ่งเป็นการแสดงในเดนมาร์กหลังจากที่บันทึกเสียง Bitches Brew ไปแล้ว แต่ยังคงไม่ได้วางจำหน่าย การแสดงเต็มเวลา 69 นาทีที่พวกเขาบรรเลงสามเพลงจาก Bitches Brew บวกกับอีกห้าเพลงในสไตล์เดียวกัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ วิธีการแต่งองค์ทรงเครื่องของแจ็ค ดิจอห์นเน็ตในชุดอิสรชนยุค 1969 ด้วยเสื้อยืดสวมหัวลายทางสีน้ำตาล ผมหยิกฟูฟ่องแบบอะโฟร และเคราแพะกระจุกเล็กๆ บวกกับการตีกลองของเขาที่เป็นแรงขับเคลื่อนให้กับทั้งวง จริงๆ แล้วแจ็คชื่นชอบมือกลองร็อกอย่าง จิงเจอร์ เบเกอร์และมิตช์ มิตเชล อีกทั้งฝีกลองที่หนักแน่นชัดเจนของเขาส่อให้เห็นถึงอิทธิพลที่รับมาอย่างเด่นชัด




แต่เมื่อวงของเดวิสเล่นไปเรื่อยๆ จึงเห็นเจตนารมณ์ที่แท้จริงของแจ็คว่าไม่ได้อยากจะยึดจังหวะ 4/4 เป็นสรณะอย่างเคย เขาเล่นโซโลอย่างต่อเนื่องด้วยความหนักแน่นและสวิงสวาย ให้จังหวะที่ไม่ได้ใช้แค่สแนร์เท่านั้น แต่ว่าถือเป็นยุคทองของมือกลองแจ๊สอย่างเขาเลยก็ว่าได้ ซาวด์ของแจ็คไม่ได้ผูกติดอยู่กับร็อกน้อยไปกว่ามือกลองสายฟรีแจ๊สอย่าง เอ็ด แบล็กเวล, ราชีด อาลี และแอนดรูว์ ซีริล หรือมือกลองโพสต์บ็อปเข้มๆ อย่าง เอลวิน โจนส์ และโทนี วิลเลียมส์ ซึ่งถือเป็นมือกลองในวงของเดวิสรุ่นก่อนหน้าเขา “มือกลองสามารถให้คุณหรือให้โทษก็ได้” แจ็คยืนยันอย่างนั้นในวันนี้ “มือกลองที่เรียกกำลังภายในจากเพื่อนร่วมวงได้ จะสามารถผลักดันให้วงเล่นอะไรก็ตามที่ไม่เคยเล่น ในฐานะที่ผมเล่นเปียโนด้วย ผมรู้ดีว่าที่พูดนี่หมายถึงอะไร ตอนที่เล่นคอนเสิร์ต เราก็เป็นแค่วงดนตรีควินเต็ต ไม่ใช่วงรวมดาวนักเล่นบันทึกแผ่นเสียง เราพยายามสำรวจความมีชีวิตชีวาของการแสดงสดกันอยู่ทุกค่ำคืน แล้วก็เล่นให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เรามีโอกาสเพียงแค่หนเดียว นั่นคือความครื้นเครงสำหรับผม”

ในขณะที่มือกลองผู้เร่าร้อนอย่างวิลเลียมส์พบว่าตัวเองได้มาเผชิญกับความสง่างามที่สุขุมเยือกเย็นในแบบเฮอร์บี แฮนค็อก และรอน คาร์เตอร์ ตัวแจ็ค ดิจอห์นเน็ตเองก็ได้โคจรมาพบกับความเยือกเย็นของชิก คอเรีย และเดฟ ฮอลแลนด์ในโคเปนเฮเกน ในดีวีดีแผ่นนี้ คอเรียสวมผ้าคาดศีรษะสีฟ้าทับผมยาวสีน้ำตาล นั่งอยู่หลังเฟนเดอร์ โรดส์ที่ให้เสียงออกลำโพงมาคลับคล้ายสพินนิท เปียโน (ซึ่งเป็นเปียโนตั้งตรงขนาดเล็ก) เขาเล่นเป็นภาคให้จังหวะที่ค่อยๆ ขยับเข้าสู่ความเฉียบคมอันต้องจดจำไม่ลืม เข้าคู่แห่งความสุดยอดกับกลองของดิจอห์นเน็ต ส่วนเดฟ ฮอลแลนด์ผมหยิกเป็นวงทรงกลดเรืองแสงสีส้มแดงกับหนวดเคราตามใบหน้าจู่โจมแฟนเพลงด้วยเสียงอะคูสติกเบสอันร้อนแรง

มีแต่เพลงบัลลาดอย่าง I Fall in Love Too Easily เท่านั้นที่ภาคริธึมของวงแทบไม่ได้หยุดมือเลย ราวกับว่าพวกเขาทั้งสามได้โชว์เดี่ยวตลอดทั้งเพลง ส่วนไมล์ส เดวิสสวมเสื้อกั๊กลายปะสีสันสุดแสบทับเสื้อเชิ้ตสีฟ้า เล่นตามลูกวงไป มือเป่าอีกสองคนตอบรับด้วยเสียงร้องโหยหวนจากแตรของเครื่องเป่าทองเหลืองด้วยเฟรสซิงที่เฉียบขาด, สั้นกระชับ, หยุดกระชากกระชั้นในบางขณะ “เขาให้โอกาสกับเราเยอะ” ฮอลแลนด์รำลึกถึงความหลังครั้งทำงานกับเดวิส “ซึ่งเราก็ใช้มันคุ้มค่าแห่งความเป็นอิสระเลยทีเดียว เวลาที่พวกเราคนใดคนหนึ่งเป็นคนโซโล เราก็ถือโอกาสที่จะลองเล่นไปทุกทิศทุกทาง มีอยู่หลายครั้งในการแสดงที่ยุโรป เราจะเอาฟลู้ตออกมาเล่น หรือชิกมาตีกลอง แล้วแจ็คไปเล่นเปียโน เราทดลองเล่นเครื่องรับส่งสัญญาณเสียงเอ็กโคเพล็กซ์, วาห์วาห์ แล้วก็อุปกรณ์ใหม่ๆ ทุกอย่างที่มีออกมา เปิดหูฟังทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นโคลเทรน, ซีซิล เทย์เลอร์, จิมมี เฮนดริกซ์, ครีม, ดนตรีอิเล็กโทรนิก ไมล์สใช้ทุกอย่างเป็นองค์ประกอบในดนตรีของเขา ซึ่งผมว่ามันยอดเยี่ยมมากเลยล่ะ”

ตำนานอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ Bitches Brew ก็คือเสียงเล่าลือว่าผลงานชุดนี้ทำกันในสตูดิโอกันตลอดทั้งกระบวนการ แม้ในวันนี้ฮอลแลนด์จะยืนยันหนักแน่นว่า เขาไม่เคยเพลงเหล่านั้นมาก่อนที่จะเข้าสตูดิโอเลย แต่จริงๆ แล้วมีแผ่นบู๊ตเล็กหลายแผ่นของไมล์ส เดวิส ควินเต็ต ซึ่งก็มีเดฟ ฮอลแลนด์เล่นอยู่ในเพลงอย่าง Miles Runs the Voodoo Down, Sanctuary และ Spanish Sky หลายเดือนก่อนการบันทึกเสียง Bitches Brew แถมยังมีซาวด์คล้ายๆ กันกับที่พวกเขาเล่นที่โคเปนเฮเกนในช่วงปลายปีนั้น เห็นได้ชัดว่าอัลบัมนี้ไม่ได้แปลกแยกออกมาจากการเล่นในแบบที่เป็นอยู่ แต่ตรงกันข้าม ทิศทางของการเล่นกลับได้รับการพัฒนาและเติบโตจากการเล่นแบบเดิมๆ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ เกิดขึ้นเมื่อดนตรีเปลี่ยนมือมาสู่สิทธิในกำมือของสังกัดโคลัมเบีย สตูดิโอ ซึ่งคนฟังเพียงกลุ่มเดียวที่มีก็คือ เทโอ มาเซโร และกลุ่มวิศวกรหลังแผ่นกระจกบานใหญ่ในห้องบันทึกเสียง อย่างหนึ่งคือ วงควินเต็ตที่ตระเวณเดินสายด้วยกันนั้น จะมีนักดนตรีเพิ่มเข้ามาอีกเจ็ดคนด้วยกัน คือ ซาวินัล, แม็กลอฟลิน, บรู๊กส์, เลนนี ไวต์ (กลอง), เบนนี เมาพิน (เบสคลาริเน็ต), ดอน อะเลียส์ (เพอร์คัสชัน) และจิม ไรลีย์ (เพอร์คัสชัน) ไม่ใช่ว่ามีเครื่องขยายเสียงแล้วจะให้ซาวด์ที่แตกต่างเท่านั้น มันยังอยู่ที่จำนวนของผู้เล่นอีกด้วย วงบิ๊กแบนด์กับชิ้นเครื่องดนตรีที่หลากหลาย ไม่ต้องสงสัยให้เมื่อยตาตุ่มเลยว่าจะได้ซาวด์ที่แตกต่างเยี่ยงวง Myth Science Arkestra ของซัน รา




สิ่งที่เป็นที่น่าสนเท่ห์อีกอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อมีลูกวงเพิ่มขึ้นมา ไม่ใช่แค่จังหวะที่ช้าลงจากตอนเล่นสด ซึ่งเป็นสิ่งที่พอจะคาดเดาได้ แต่ว่าตัวดนตรีจะไม่เข้มข้นเท่า นั่นเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึง ในการแบ่งพื้นที่ให้กับแขกรับเชิญ ส่วนมากก็เพิ่งมาเล่นให้กับเดวิสเป็นครั้งแรกแบบสดๆ ซิงๆ ส่วนควินเต็ตชุดออกทัวร์นั้นก็สะกดกลั้นการเล่นเพื่อเปิดพื้นที่ให้กับคนหน้าใหม่มากจนเกินไปเนื่องจากความที่ยังไม่คุ้นเคยกัน นี่ไม่ใช่สิ่งที่บังเอิญเกิดขึ้น สำหรับตัวเดวิสแล้ว เขากำกับนักดนตรีในสตูดิโอด้วยวิธีการที่แตกต่างจากการเล่นสดบนเวที ถึงแม้ว่าบทบาทของเขาจะไม่ได้รับการกล่าวถึงนัก แต่ว่าพวกเขาก็ยังคงสร้างพื้นที่เปิดที่ Bitches Brew กับ Kind of Blue ใช้ร่วมกันอยู่ “ไมล์สเขาจะมีต้นร่างกับเบสไลน์ แล้วก็กรูฟ” ดิจอห์นเน็ตยัน “แต่มันไม่ใช่เรื่องของเหตุผล มันเป็นการเล่นออกมาตรงๆ ไมล์สจะเป็นคนชี้ว่าใครเล่นหรือใครหยุด ทิศทางของเขาคือความรู้สึกคร่าวๆ แต่ว่ามันสัมพันธ์กัน เขาอาจจะชี้มาที่ผมเพื่อให้หยุดเล่นครู่หนึ่ง หรือว่าให้เล่นดังขึ้น พวกเราคนเล่นเพอร์คัสชันจะเล่นกันเป็นทีม เราจะหยุดฟังคนอื่นเล่น แล้วก็เล่นสนุกไปกับมัน เพราะงั้นดนตรีก็จะยึดเกี่ยวกันและกัน”

“ไมล์สเหมือนเป็นศาสดาแห่งเซนในเวลาที่เขาทำงานสตูดิโอ” แม็กลอฟลินให้ข้อสังเกต “เขาจะมีวิธีการให้นักดนตรีเล่นในสิ่งที่พวกเขาไม่คิดว่าตัวเองจะเล่นได้ เขาจะถามคำถามหรือใช้คำพูดที่กำกวม ซึ่งผมคิดว่ามันเหมือนกับปรัชญาปัญหาเซน พอมีคนบอกให้เราเล่นสิ่งที่เราไม่รู้ว่าจะเล่นยังไง แล้วเราก็อยู่ในสตูดิโอ ใครๆ ก็รอให้เราทำอะไรสักอย่างอยู่ จากนั้นเราก็จะเข้าสู่อีกภาวะสติหนึ่ง เล่นสิ่งที่ปกติจะไม่เคยเล่นเลย ผมเห็นไมล์สทำแบบนี้กับนักดนตรีหลายคน แล้วก็ได้ผลเสียด้วย”

ส่วนเลนนี ไวต์มีอายุเพียงแค่ 19 ปีในตอนที่เขาถูกเรียกตัวมาร่วมงาน เด็กหนุ่มจากควีนส์ที่มักจะถูกแซวเสมอว่า จะต้องได้มาเล่นกับไมล์ส เดวิสแน่ๆ เพราะเขาไปตีกลองให้กับแจ็กกี แม็กคลีน เหมือนกับที่วิลเลียมส์และดิจอห์นเน็ตก็เคยอยู่ในวงจรนี้มาก่อนเขา ไวต์ยังเคยตีกลองกับราชีด อาลี ผู้บุกเบิกอิสรภาพแห่งดนตรีและแนวตีกลองที่ไม่ตายตัว อันเป็นแนวทางที่ดิจอห์นเน็ตนำเอามาใช้กับวงควินเต็ตของเดวิสในตอนนั้น ไวต์พบกับสมาชิกร่วมวงที่บ้านของเดวิสก่อนวันที่จะเริ่มบันทึกเสียง Bitches Brew เพียงแค่วันเดียว “ผมงงเลย” ไวต์ย้อนอดีต “ผมอยู่ที่บ้านของไมล์สกับศิลปินเหล่านี้ ที่ผมฟังแต่ผลงานของพวกเขามานานนับปี แล้ววันหนึ่ง เราก็ได้มาอยู่ในสตูดิโอเดียวกัน แถมยังเป็นการบันทึกเสียงครั้งแรกในชีวิตของผมอีก พวกเราก็งงด้วยกันทั้งนั้น ไมล์สก็ชี้ไปที่จอห์น แล้วบอกว่า “คุณเล่น” เราก็จะเบาภาคริธึมลง เขาชี้ไปที่เวย์น แล้วบอกว่า “คราวนี้ตาคุณเล่น” โจ ซาวินัลเอางานเขียนเพลงสองสามชิ้นเข้ามาเล่น ไมล์สก็มองดูพลางบอกว่า “ไม่ต้องเล่นทั้งหมดก็ได้” เขาก็เลยตัดออกเหลือเพียงแค่ชิ้นเดียว

“ซาวด์ที่ได้ออกมาปลอดสารพิษทีเดียว มันไม่ใช่สถานการณ์ที่แจ็คจะเล่น แล้วผมก็เล่นต่อ ทุกๆ คนล้วนแต่เล่นกันหมดเลย ไมล์สสอนผมไว้ว่า “แค่คิดถึงหม้อใบใหญ่ที่มีส่วนผสมหลากหลายอยู่ในนั้น ผมอยากให้คุณเป็นเกลือ แจ็คจะเล่นริธึม ผมอยากให้คุณเล่นล้อไปกับริธึมของแจ็ค” ดังนั้น ผมก็เลยมองหาที่ที่ผมจะทำอะไรสักอย่างได้ มีแจ็ค, ผม, ดอน และจูมา แนวคิดของผมก็คือ อยากจะให้พวกเรามือกลองเล่นออกมาเหมือนคนที่มีแปดมือแปดขา”





Create Date : 03 ธันวาคม 2554
Last Update : 3 ธันวาคม 2554 14:28:34 น. 0 comments
Counter : 1382 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nunaggie
Location :
City of Angels, Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




คุยเฉพาะเรื่องเพลง :D

"I still find each day too short for all the thoughts I want to think, all the walks I want to take, all the books I want to read, and all the friends I want to see." John Burroughs

Follow my twitter @nunaggie :)

"มีเรื่องราวอีกมากมายให้ชีวิตต้องเดินทางไปค้นหา เราคงไม่ค้นพบทุกอย่างได้ เพียงแค่ชั่วชีวิตเดียว"
Creative Commons License
© Supada Luangsirimongkol 2015.
qrcode
Friends' blogs
[Add nunaggie's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.