*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 

แจ้งความเท็จ มรดกทางความคิดที่แตกต่าง ระหว่างอังกฤษ และสหรัฐ

เมื่อประมาณเดือนกว่าที่ผ่านมา มีสาวอเมริกันนางหนึ่ง ได้ออกป่าวประกาศว่า ขณะที่ตนกำลังเอร็ดอร่อยกับแฮมเบอร์เกอร์ ที่ผลิตโดยร้าน Wendy's ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐ California มีนิ้วมือของมนุษย์ปนอยู่ ทำให้เธอได้รับความเสียหายทางจิตใจ (Emotional distress damage) ถึงกับกินไม่ได้นอนหลับ จึงต้องการเรียกร้องค่าเสียหาย

เหตุการณ์นี้ ทำให้ผมนึกถึงเรื่องทำนองเดียวกันในประเทศไทย ที่มีนิ้วมือปนเปื้อนอยู่ในแหนมสดที่ผลิตโดยโรงงานแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ในภาคใต้ตอนเหนือ เด็กนักเรียนหญิงกินไปแล้วต้องอ๊วกแตกอ๊วกแตนออกมา ร้อนไปถึงแพทย์หญิงคนเก่งต้องตรวจพิสูจน์ DNA ว่าเป็นของมนุษย์จริงหรือไม่ ซึ่งจากภาพนี่มันชัดเจนมากว่าเป็นนิ้วมือมนุษย์

จริง ๆ ขนาดคนที่โง่ที่สุดในโลกก็รู้ว่ามันคือนิ้วมือมนุษย์ ผมจึงไม่เข้าใจว่า ทำไมต้องเสียค่าตรวจ DNA ทีละหลายพันบาทอีก เนื่องจากแท้จริงแล้ว การตรวจ DNA จะต้องมีการตรวจพิสูจน์เปรียบเทียบกับวัตถุตัวอย่าง กับสิ่งที่ต้องการเปรียบเทียบว่ามีลักษณะตำแหน่งทางพันธุกรรมตรงกันหรือไม่ แต่กรณีดังกล่าว ไม่ได้ตรวจเปรียบเทียบกับตำแหน่งพันธุกรรมตัวอย่าง เพราะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนงานที่ถูกตัดนิ้วในขณะทำแหนม คือ ผู้ใดกันแน่ เฮ้อ เมืองไทยเรา ก็เป็นซะอย่างนี้




รายของสาวอเมริกันนี้ ท้ายที่สุดกลายเป็นเรื่อง “โอละพ่อ” ไป เพราะท้ายที่สุดเธอยอมรับ ที่กล่าวไปทั้งหมด เธอแค่ล้อเล่น ไม่มีนิ้วมืออะไรทั้งนั้น แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ Wendy's บาดเจ็บสาหัสปางตายเลย เธอจึงถูกดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จไปในที่สุด อีกรายหนึ่งเป็นกรณี “เจ้าสาวที่กลัวฝน” เหตุเกิดที่ Georgia เธอกำลังจะแต่งงานกับแฟนหนุ่ม ที่มั่นหมายกันเรียบร้อย พร้อมกำหนดวันลั่นระฆังวิวาห์ เธอกลับกลัวอะไรในตัวแฟนหนุ่มขึ้นมาก็ไม่อาจทราบได้ เธอวิ่งหนี แต่ไม่ได้วิ่งหนีตัวเปล่า เธอแจ้ง 911 (หรือ 191 ในประเทศไทย) ว่าเธอลักพาตัว (Abduction) ไป โดยหญิงชายคู่หนึ่ง พร้อมกับร้องห่มร้องไห้ปางตาย เพื่อขอความช่วยเหลือ หลังเกิดเหตุ FBI และตำรวจท้องถิ่น ได้ออกตรวจสอบจุดโทรศัพท์ และข้อมูลต่าง ๆ ในการเดินทาง ก็พบว่าเธอแต่เพียงผู้เดียวที่ซื้อตั๋วรถทัวร์เดินทางโดยลำพัง ไม่มีผู้ใดลักพาตัว ท้ายที่สุด ก็โดยดำเนินคดีฐานแจ้งความเท็จ (False Statements) ไปเรียบร้อยตามตำรา

เรื่องการแจ้งความเท็จนี้ ในสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะ ทรัพยากรในการทำงานของรัฐมีจำกัด ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น ที่อยากจะพูดอะไรก็พูดเรื่อยเปื่อย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐได้ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดที่ร้ายแรง ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทเป็นเรื่อง ๆ ไป เช่น แจ้งความเท็จเกี่ยวกับภาษีอากร ก็จะกลายเป็นคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็อาจจะได้รับโทษร้ายแรงถึงจำคุกยี่สิบปี หรือ ถูกปรับเป็นเงินหลายล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นการกระทำของนิติบุคคลแล้ว ยิ่งรับโทษหนักยิ่งขึ้นไปอีก (ซึ่งผมจะกล่าวไว้ในหัวข้อ White Collar Crime เป็นการเฉพาะต่อไป) ในสหรัฐจึงไม่มีปัญหาเท่าไหร่ แต่ในอังกฤษสมัยเมื่อซักเกือบร้อยปีที่แล้ว ก็เคยมีปัญหาทำนองนี้ เกี่ยวกับการแจ้งความเท็จเหมือนกัน โดยขณะนั้น รัฐสภาอังกฤษไม่ได้ตรากฎหมายกำหนดเป็นความผิดอาญาฐานแจ้งความเท็จไว้ แต่คดีก็ขึ้นอยู่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีอาญา (Court of Criminal Appeal) เมื่อปี ค.ศ. 1932 ในคดี Rex v. Manley, 1 K.B. 529 [1933]. เพราะแม่นาง Elizabeth Manley ได้แจ้งความต่อตำรวจว่า “เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 1932 ได้มีคนร้ายเป็นชายชกต่อยเธอและกระชากกระเป๋าถือของเธอไป พร้อมทรัพย์สินมีค่ามากมาย” ขอให้ตำรวจดำเนินคดีกับชายคนดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

เรื่องกล่าวเป็นว่า “โอละพ่อ” เพราะเธอบอกว่า “ล้อเล่น” อยากรู้ว่าตำรวจจะมี “น้ำยา” สืบสวนไหมว่าไม่จริง เปรียบแล้วเหมือน “หมวยไฮโซ” ชาวฮ่องกง ที่แจ้งความว่า เธอถูกสามล้อ “สามัคคีแทงหวย” เธอ โดยเธอไม่เต็มใจ

ภายใต้การปกป้องและคุ้มครองของท่านปวีณา 24 ชั่วโมง เรื่องก็กลายเป็นโอละพ่อไป แต่รายของ Elizabeth Manley เธอหัวหมอไม่เบา เธอต่อสู้คดี และยกภาษิตละตินโบราณขึ้นมาอ้างว่า “Nullum crimen, nulla poena sine lege” คือ ไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย รัฐสภาอังกฤษไม่เคยตรากฎหมายเรื่องแจ้งความเท็จไว้ แล้วศาลจะลงโทษเธอได้อย่างไร

ฝ่ายรัฐอ้างว่า ก็แม่นาง Manley มาเล่นตลกบนค่าใช้จ่ายสาธารณะซึ่งมีอย่างจำกัดเพื่อสาธารณชนอย่างนี้ ทำให้ทั้งตำรวจและฝ่ายอื่น ๆ จะต้องระดมสรรพกำลังเพื่อการตามคำล่อเล่นของเธอ การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะโดยรวม (she did unlawfully effect a public mischief.)

Lord Hewart, Chief Justice. ท่านพิพากษาว่า สิ่งแรกที่ศาลต้องวินิจฉัย คือ มีข้อหาก่อให้เกิดความเสียหายต่อสาธารณะหรือไม่ (Misdemeanor of committing an act tending to the public mischief) ซึ่งศาลฟันธงลงไปทันทีว่า มีมานานแล้ว เพราะศาลอังกฤษได้ตัดสินไว้ในคดี Rex v. Higgins [1901] 2 East 5: 21 ว่า “All offences of a public nature, that is, all such acts or attempts as tend to the prejudice of the community, are indictable.” พูดง่าย คือ การกระทำอะไรก็แล้ว ก่อให้เกิดภัยต่อสาธารณะ เป็นการกระทำที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้หมด และการกระทำของแม่นาง Manley ที่บังอาจแจ้งความเท็จนี้ ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายตามแนวคำพิพากษาข้างต้น ติดคุกเรียบร้อยไป

ถ้าเราพลิก มาตรา 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญาของไทย ก็จะมีหลักการสำคัญ คือ การไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมายระบุว่าการกระทำใดเป็นความผิดและอัตราโทษไว้อย่างแน่ชัด แต่กรณีตามแนวคำพิพากษาอังกฤษนั้น เป็นการตีความขยายความผิด (Analogy) ที่โดยหลักแล้วเป็นการกระทำที่ต้องห้าม เพราะกฎหมายอาญาต้องตีความเป็นคุณเท่านั้น หลักการที่ว่ากฎหมายต้องประกาศบังคับใช้ล่วงหน้า และเปิดเผยมีมานมนานตั้งแต่อดีต ที่ชัดเจน คือ ยุคกฎหมาย 12 โต๊ะ ที่มีการนำกฎหมายไปประกาศไว้กลางตลาดให้คนทั่วไปได้รับรู้ อย่างแจ้งชัด

กฎหมายสมัยหลัง ๆ จึงยอมรับในหลักการที่เรียกว่า Principle of Legality นี้ ตลอดมา โดยหลักการนี้ อยู่บนพื้นฐานมรดกทางความคิดของยุโรป ที่ท่าน Montesquieu ได้สร้างไว้ในคำสอนของท่าน คือ Separation of Powers. ซึ่งยืนยันมาโดยตลอดว่า รัฐสภาเท่านั้นที่คู่ควรในการสร้างกฎหมาย ไม่ใช่ศาล แต่ตามหลักกฎหมายอังกฤษและศาลอังกฤษหาได้ยึดหลักการดังกล่าวไม่ เพราะอังกฤษก็หยิ่งในเกียรติและศักดิ์ศรีของตน ไม่อาจจะยอมรับแนวคิดของยุโรปและฝรั่งเศสได้

ตรงกันข้ามกับแนวคิดกฎหมายอาญาของสหรัฐฯ ที่รับเอาแนวคิดเรื่อง Principle of Legality มาใช้กฎหมายอาญาแบบเต็ม ๆ และยึดมั่นมาโดยตลอด ศาลในสหรัฐอเมริกา จึงจำกัดขอบเขตในการตีความกฎหมายอาญาอย่างเคร่งครัดเสมอมา หากจะตีความถ้อยคำกฎหมาย ก็จะต้องกลับไปดูรายงานการกระชุมของรัฐสภาฯ และตีความให้สอดคล้องกับความต้องการของมหาชน ที่ผู้แทนปวงชนเป็นทรงอำนาจอธิปไตย เพราะศาลสำนึกอยู่ตลอดเวลาว่า ตนหาได้อยู่บนในตำแหน่งที่เหมาะสมในการสร้างหลักกฎหมายไม่

สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ มีพื้นฐานที่เป็น Common law เหมือนกัน แต่พัฒนาแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะในด้านกฎหมายอาญา ด้วยเหตุนี้ การล่อเล่นในสหรัฐ หากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ ก็ไม่อาจจะถือว่าเป็นความผิดทางอาญาได้ แต่หากการกระทำใดที่ใคร ๆ ก็ทราบว่าเป็นความผิดอย่างชัดแจ้ง เช่น การทำร้ายคนอื่น หรือ การฆ่าคนตาย บางรัฐ ถือว่า แม้นไม่มีกฎหมาย กำหนดไว้ ก็ลงโทษได้ ซึ่งก็คือ การอุดช่องโหว่ของกฎหมายโดยศาลอเมริกัน




 

Create Date : 12 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:32:19 น.
Counter : 889 Pageviews.  

จริยธรรมของนักกฎหมาย: Lewinsky v. Clinton

วิชาชีพกฎหมาย ได้รับการยกย่องตั้งแต่ในยุคโรมันว่ามีลักษณะพิเศษ ที่เรียกว่าเป็นวิชาชีพ (Professional) ในลักษณะเดียวกับวิชาชีพทางการแพทย์ ที่มีแต่ผู้เคารพนับถือ และกลุ่มวิชาชีพนี้ ก็จะมีลักษณะเป็นสถาบันที่มั่นคง มีการเก็บรักษาความลับในทางวิชาชีพไว้ในวงจำกัดเฉพาะสมาชิกเฉพาะกลุ่มนักกฎหมายด้วยกัน การที่บุคคลทั่วไปจะเข้ามาสู่วิชาชีพกฎหมาย จึงต้องผ่านการฝึกอบรมทั้งด้านวิชาการและด้านจริยธรรมเป็นอย่างดี ทั้งนี้ด้วยเหตุที่ว่า ศาสตร์ทางกฎหมายมีลักษณะเฉพาะที่ได้รับการยอมรับว่าถูกต้องและเป็นนิรันดร์ (Dogmatic) ซึ่งไม่มีผู้ใดจะมาถกเถียงได้อีกต่อไป มีถ้อยคำและการตีความหมายที่เฉพาะเจาะจง มีกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้เฉพาะ ซึ่งบุคคลทั่วไปที่ได้ร่ำเรียนและฝึกฝนมาโดยเฉพาะย่อมไม่อาจจะปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง

วิชาชีพกฎหมาย จึงผูกขาดอยู่เฉพาะกลุ่มนักกฎหมาย โดยกลุ่มนักกฎหมาย จะกำหนดกฎเกณฑ์การเข้ามาสู่วิชาชีพนี้ หลายประการด้วยกัน เช่น การผ่านการสอบเพื่อขออนุญาตประกอบวิชาชีพกฎหมาย และหาบุคคลทั่วไป ที่แม้มีความรู้ทางกฎหมาย แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพทนายความแล้ว บังอาจมาเขียนคำร้องหรือประกอบวิชาชีพแข่งแล้ว การกระทำเหล่านี้ ย่อมเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายของกลุ่มวิชาชีพเฉพาะนี้ สำหรับประเทศไทยของเราก็มีกฎเกณฑ์ในทำนองเดียวในพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ.๒๕๒๘ นี้

ด้วยเหตุที่วิชาชีพกฎหมาย ได้รับการยกย่องว่าเป็น Professional ซึ่งสามารถให้คุณให้โทษแก่ประชาชนทั่วไปซึ่งไม่มีความรู้ทางกฎหมาย นักกฎหมายสามารถใช้วิชาความรู้ที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างนี้ใช้แสวงประโยชน์บนความไม่รู้ของประชาชนได้โดยง่าย พูดอะไรลูกความก็เชื่อ เพราะตนไม่มีความรู้เพียงพอ โดยหลักการจึงต้องมีการควบคุมจรรยาบรรณและวิชาชีพนักกฎหมายอย่างเคร่งครัดและจริงจัง ในประเทศไทย สภาทนายความ ก็ได้ออกข้อบังคับฯ ว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 เพื่อควบคุมจรรยาบรรณทนายความ และส่งเสริมวิชาชีพกฎหมายให้ได้รับการยอมรับนับถือจากประชาชนและเป้นที่พึ่งของประชาชนได้ โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการฯ มรรยาททนายความขึ้น เพื่อทำการสืบสวนสอบสวนข้อร้องเรียน อันเนื่องมาจากการที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการกระทำที่ไม่เหมาะสม ผิดจรรยาบรรณทนายความ หากพบการกระทำผิดก็จะมีการลงโทษ ตั้งแต่เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพหากเป็นการกระทำผิดที่ร้ายแรง หรือว่ากล่าวตักเตือนหากเป็นการกระทำผิดที่ไม่ร้ายแรง

หลักปรัชญาในการควบคุมวิชาชีพกฎหมาย

เหตุผลในการควบคุมวิชาชีพกฎหมาย (Legal Professional) อยู่บนหลักการพื้นฐานของปรัชญากฎหมาย (Philosophy of law) และประโยชน์ของมหาชนหรือประโยชน์สาธารณะ (Public interest) เพราะความประพฤติของนักกฎหมาย มีผลกระทบต่อประชาชนและสังคมอย่างกว้างขวาง หลักการสากล องค์กรวิชาชีพกฎหมาย เช่น ทนายความ จึงต้องประสบกับการควบคุมทั้งจากองค์กรวิชาชีพเดียวกันและองค์กรที่เป็นกลาง เช่น องค์กรศาล ที่คุ้มครองสิทธิประโยชน์ของมหาชนและประโยชน์สาธารณะอันสืบเนื่องมาจากการให้บริการของวิชาชีพทนายความอันจะต้องให้ความเป็นธรรมแก่สังคม เพราะหากทนายความประพฤติตนอยู่ในกรอบแห่งจรรยาบรรณ กฎหมายและศีลธรรมอันดี สังคมย่อมจะได้รับความผาสุก แต่หากทนายความประพฤติไม่ถูกต้องแสวงประโยชน์บนความโง่เขลาเบาปัญหาทางกฎหมายของปวงชนแล้วแล้ว สังคมย่อมได้รับความเดือดร้อนเป็นการทั่วไปทุกหย่อมหญ้า เพราะวิชาชีพกฎหมายต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (Specialized knowledge) และต้องได้รับอนุญาตประกอบวิชาชีพ วิชาชีพกฎหมาย จึงมีลักษณะเป็นการผูกขาด (Monopoly) ที่มีการสร้างกฎเกณฑ์ของตนเองเพื่อกีดกันการประกอบวิชาชีพทนายความจากสังคมภายนอก

ด้วยเหตุผลของการอ้างตนเป็น Professional องค์กรวิชาชีพทนายความ จึงอ้างความชอบธรรมที่จะต้องมีกฎเกณฑ์ในการควบคุมตนเอง (Self-regulating) เพื่อตัดการควบคุมโดยองค์กรของรัฐ เช่นว่า รัฐไม่มีความรู้เชี่ยวชาญเพียงพอในการควบคุมจรรยาบรรณและความประพฤติของทนายความได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว ข้ออ้างดังกล่าวไม่อาจอยู่เหนือประโยชน์แห่งมหาชนได้ ในหลายประเทศ รัฐและองค์กรศาลจึงเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมจรรยาบรรณและความประพฤติของทนายความเสมอ

สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ทุกรัฐจะออกกฎหมายรับรองมาตรฐานความประพฤติของทนายความตามข้อเสนอของเนติบัณฑิตอเมริกัน (American Bar Association) เนื่องจากวิชาชีพทนายความต้องเสนอบริการทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ถือได้ว่าเป็นบริการสาธารณะ(public service)ประการหนึ่ง ที่จะต้องมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นและมีมาตรฐานที่สูงกว่าองค์กรที่ไม่ได้มีลักษณะเป็นองค์กรวิชาชีพ เนติบัณฑิตอเมริกันประจำรัฐและฝ่ายบริหารของรัฐ จึงเข้ามาบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีมรรยาทของทนายความเสมอ โดยต้องดำเนินการสอบสวนและเสนอคำฟ้องไปยังศาลเพื่อลงโทษทนายความที่กระผิดจรรยาบรรณ (Ethics) ต่อไป และโดยส่วนใหญ่แล้ว คดีมรรยาทจะมีการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยในศาล เช่นเดียวกับการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป

การดำเนินคดีมรรยาททนายความในสหรัฐ จึงมีกระบวนการเกี่ยวกับคดีที่โปร่งใสและเป็นสาธารณะ ประชาชนเข้ารับฟังได้ ทั้งนี้เพื่อปกป้องประโยชน์ของประชาชนทั่วไป ที่ไม่มีความรู้ทางกฎหมาย ได้รับการบริการที่ดีและเป็นธรรม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบเพราะการเป็นผู้มีวิชาชีพเหนือกว่าของทนายความ เพราะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า หากองค์กรวิชาชีพทนายความถูกควบคุมตรวจสอบน้อยเพียงใด ประชาชนผู้รับบริการจากทนายความ ก็จะยิ่งมีทางเลือกน้อยงลงเพียงนั้น

ตัวอย่างคดีมรรยาทในสหรัฐที่น่าสนใจ คือ คดี “อมของหลวง”

สืบเนื่องมาจากกรณีรัฐสภาอเมริกันได้ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อดำเนินกระบวนการ Impeachment ประธานาธิบดี Clinton กับ น.ส. Lewinsky ที่มีการกระทำผิดฐาน“อมของหลวง” (เพราะของหลวงตกน้ำไม่ไหล ตกไฟก็ไม่ไหม้) จึงเกิดเรื่องราวใหญ่โต ข้อเท็จจริงคดีมรรยาทนี้ เป็นคดีระหว่างนาย Jame A. NEAL ประธานคณะกรรมาธิการว่าด้วยจรรยาบรรณและความประพฤติแห่งศาลสูงสุดของรัฐอาคันซอ (Executive Director of the Arkansas Supreme Court Committee on Profession Conduct) กับนาย William Jefferson CLINTON ซึ่งในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีประเทศสหรัฐ ว่าได้ประพฤติผิดต่อวิชาชีพนักกฎหมาย โดยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้ส่งคำร้องไปยังคณะกรรมาธิการว่าด้วยจรรยาบรรณฯ ประจำรัฐอาคันซอ ที่นายคลินตัน เคยเป็นทนายความและพนักงานอัยการประจำอยู่ในรัฐนั้น โดยกล่าวหาว่านายคลินตัน ให้การเท็จต่อผู้พิพากษาฯ อันเป็นการกระทำผิดมรรยาททนายความ

ประธานาธิบดีคลินตัน ได้ให้การเท็จต่อศาลในเกี่ยวกับความประพฤติอันไม่เหมาะสมทางเพศกับนางสาว Lewinsky ในคดีที่ประธานาธิบดีคลินตัน ตกเป็นจำเลยในคดีแพ่งที่ Ms. Paula Jones เป็นโจทก์ฟ้อง (โปรดดูรายละเอียดคดีที่ Jones v. Clinton, No. LR-C-94-290 (E.D.Ark.).) ซึ่งในที่สุดศาลในคดีมรรยาทนี้ ได้พิพากษาว่า แม้ว่าในขณะทำผิดมรรยาททนายความ นายคลินตันจะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และได้รับอนุญาตให้ระงับการประกอบวิชาชีพว่าความในระหว่างการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่นายคลินตันในฐานะที่เคยเป็นทนายความ ก็ยังต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของหลักจรรยาบรรณและความประพฤติของนักกฎหมายอยู่ตลอดเวลา เมื่อนายคลินตัน จงใจละเมิดกฎหมายว่าด้วยจรรยาบรรณ (Arkansas Model Rules of Professional Conduct) ศาลจึงพิจารณาให้พักใบอนุญาต (Suspended) การประกอบวิชาชีพกฎหมายเป็นเวลา 5 ปี และปรับเป็นเงิน 25,000 เหรียญสหรัฐ นับแต่วันที่ 19 มกราคม ค.ศ.2001 เป็นต้นมา (ดูรายละเอียดคดี ที่ 2000 Westlaw (WL) 34355768 (Ark.Cir.))

หากจะพิจารณาย้อนกลับมาดูกฎหมายทนายความในประเทศไทย แล้วนับว่าแตกต่างกับการควบคุมจรรยาบรรณทนายความในสหรัฐเป็นอย่างมาก ประเทศไทยได้ตราพระราชบัญญัติทนายความ พุทธศักราช 2528 จัดตั้งสภาทนายความขึ้น โดยได้ตัดการควบคุมโดยองค์กรอื่นออกไปอย่างสิ้นเชิง ก่อนกฎหมายฉบับนี้ ทนายความ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของเนติบัณฑิตสภา และองค์กรศาลยุติธรรม แต่ปัจจุบัน สภาทนายความ แต่เพียงผู้เดียวในการควบคุมมรรยาททนายความ มาตรการภายนอกที่จะควบคุมจรรยาบรรณฯ ในกรณีที่ทนายความประพฤติมิชอบหรือ ไม่มีคุณภาพ หรือผิดกฎหมายหรือผิดจรรยาบรรณและศีลธรรม (Malpractice) ออกไปโดยสิ้นเชิง ผลดีผลเสียจะเป็นอย่างไร จะได้นำมาเสนอในคราวต่อไป




 

Create Date : 11 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:31:59 น.
Counter : 3389 Pageviews.  

White Collar Crime ในประเทศสหรัฐอเมริกา

White Collar Crime เรียกกันในภาษาไทยแบบเว้ากันซื่อว่า อาชญากรรมเสื้อคอปกขาว หรือเพราะหน่อย ก็เรียกว่า อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ




นาย Edward Sutherland นักอาชญาวิทยาและนักสังคมวิทยา เป็นบุคคลแรกที่ใช้คำ ๆ นี้ โดยให้นิยามตั้งแต่ ปี ค.ศ.๑๙๓๙ ว่าเป็นอาชญากรรมที่กระทำโดยบุคคลมีสถานทางสังคมระดับสูงและเป็นที่เคารพนับถือ โดยอาศัยโอกาส หรืออาชีพของตนในการกระทำผิด ซึ่งรวมถึงการกระทำผิดโดยบริษัท หรือนิติบุคคลอื่นด้วย

คำนิยามดังกล่าว ซึ่งเกิดจากมุมมองเฉพาะในตัวแบบอาชญาวิทยา (Criminology) ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ถูกต้องนัก เพราะจำกัดขอบเขตของผู้กระทำผิดโดยอาศัยข้อมูลพื้นฐานในทางสังคมและทางเศรษฐกิจของตัวผู้กระทำผิดเป็นสำคัญ เช่น พิจารณาเฉพาะ Family background และ ความระดับร่ำรวยของบุคคลคนนั้น ซึ่งในทางข้อเท็จจริงแล้ว บุคคลที่กระทำผิดนั้น ไม่ได้เป็นบุคคลที่มีพื้นฐานทางครอบครัวที่ดี หรือเป็นผู้มีฐานะร่ำรวยเสมอไป และผู้กระทำผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่มีอำนาจในทางการบริหารขององค์กรนั้นๆ เท่านั้น คำนิยามข้างต้น จึงถือว่าค่อนข้างล้าสมัยไปแล้ว

ประชาชนในประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เริ่มหันมาให้ความสนใจกับการฟ้องร้องคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นใน ปีช่วงปี ค.ศ.๑๙๗๐ เป็นต้นมา และได้มีการให้คำนิยามเกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจใหม่ ที่แตกต่างจากที่ Sutherland ได้กล่าวไว้ เช่น คดีเกี่ยวกับการกระทำผิดเกี่ยวกับภาษี (tax fraud) หรือความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์ (Securities fraud) ก็พบว่า บุคคลที่ทำผิดไม่จำเป็นต้องบุคคลที่มีสถานะทางสังคมที่สูงแบบที่ Sutherland ให้คำนิยามไว้แต่ประการใด แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า white collar crime ก็ช่วยให้เราเข้าใจได้ว่าเป็นการกระทำผิดที่ไม่ใช่การกระทำผิดกรณีทั่วไป ที่เรียกว่า street crime ซึ่งได้แก่คดี ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฯลฯ เป็นต้น

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐ (Department of Justice) ได้นิยาม white collar crime ว่าหมายถึง

“Nonviolent crime for financial gain committed by means of deception by persons whose occupational status is entrepreneurial, professional or semi-professional and utilizing their special occupational skills and opportunities; also, nonviolent crime for financial gain utilizing deception and committed by anyone having special technical and professional knowledge of business and government, irrespective of the person’s occupation.”

คำนิยามข้างต้น ให้ความสำคัญกับการใช้วิธีการโกง เป็นเครื่องมือในการกระทำผิด อย่างไรก็ตาม ตามคำนิยามนี้ ผู้กระทำผิดอย่างน้อง จะต้องเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญเป็นพื้นฐาน (Semi-professional) หรือ มีทักษะ (special technical and professional knowledge) แต่ในทางข้อเท็จจริงผู้กระทำผิดหรือผู้ร่วมกระทำผิดไม่จำเป็นต้องมีความรู้พิเศษหรือทักษะเฉพาะดังกล่าวเลย คำนิยามดังกล่าว จึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ยังแคบเกินไป

ผู้ที่ในวงวิชาชีพผู้ใช้กฎหมาย โดยเฉพาะ ศาล อัยการ และทนายความ จึงได้พยายามให้คำนิยามคำนี้ เพื่อแยกแยะความแตกต่างจาก อาชญากรรมทั่วไป (street crime) ไว้เชิงปฏิเสธ (โดยไม่ได้ให้นิยามเฉพาะเจาะจง) ดังนี้

“White Collar Crime as crime that does not:
(a) necessarily involve force against a person or property;
(b) directly relate to the possession, sale, or distribution of narcotics;
(c) directly relate to organized crimes activities;
(d) directly relate to such national policies as immigration, civil rights, and national security; or
(e) directly involve “vice crimes” or the common theft of property.

การนิยามข้างต้น จึงเป็นการนิยามเชิงปฏิเสธที่กว้างขวางมาก คดี White Collar Crime ในสหรัฐจึงค่อนข้างกว้างขวาง ในบางกรณีคดีอาญาทั่วไป ผู้กระทำผิดอาจจะถูกดำเนินคดีได้ทั้งแบบคดีอาญาทั่วไป และคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจขึ้นอยู่กับว่าลักษณะข้อเท็จจริงและเหตุผลธรรมชาติของการกระทำผิดนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานสมคบ (conspiracy) กรรโชก (extortion) การขัดขวางกระบวนการยุติธรรม (obstruction of justice) เป็นต้น

ในการดำเนินคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปัจจุบัน คลอบคลุมกฎหมายหลายร้อยฉบับ โดยองค์กรที่ดำเนินคดีจะเป็นหน่วยงานทั้งระดับรัฐบาลกลาง (Federal Government) ได้แก่ F.B.I และพนักงานอัยการ หรือ หน่วยงานทางภาษีอากร (IRS) กับอัยการ ได้ร่วมกันดำเนินการสืบสวนสอบสวน และจะต้องดำเนินการไต่สวนผ่านขณะลูกขุนใหญ่ (Grand Jury) เพื่อให้คณะลูกขุนออกคำรับรองให้ฟ้องคดีต่อศาล (Indictment) ต่อไป คดี

อาชญากรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาที่สำคัญ ๆ จะประกอบไปด้วยการกระทำผิด เหล่านี้

๑. ความผิดของบริษัทหรือนิติบุคคลอื่น และปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท
๒. ความผิดฐานสมคบ (Conspiracy) ที่เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ โดยผู้ที่สมคบกัน จะมีความผิดทันที ตั้งแต่มีการตกลงกันโดยบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป
๓. ความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงโดยวิธีการทางจดหมาย (Mail Fraud) การฉ้อโกงเงินผ่านระบบธนาคาร (Wire Fraud) การฉ้อโกงธนาคาร (Bank Fraud) การฉ้อโกงประกันภัย (Health Care Fraud) และการฟ้องคดีอันเป็นเท็จ (False Government Claims) การแจ้งล้มละลายอันเป็นการฉ้อโกง (Bankruptcy Fraud)
๔. การฉ้อโกงหลักทรัพย์ (Securities Fraud)
๕. อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ (Computer crime)
๖. ความผิดเกี่ยวสิ่งแวดล้อม (Environmental Crimes) ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการสารพิษ (Hazardous Wastes) การก่อมลพิเศษต่อน้ำ (Water Pollution) การก่อมลพิษทางอากาศ (Air Pollution)
๗. การติดสินบนเจ้าพนักงาน (Bribery and Gratutities)
๘. ความผิดฐานกรรโชก (Extortion)
๙. การแจ้งความอันเป็นเท็จ (False Statements) โดยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับภาษีและการฟอกเงิน
๑๐. การเบิกความทันเท็จต่อศาล (Perjury)
๑๑. ความผิดฐานขัดขวางกระบวนการยุติธรรม (Obstruction of Justice) ตัวอย่างเช่น การการกระทำใดที่กระทบต่อการดำเนินคดีของศาล เช่น ให้เงินแก่พยานเพื่อไม่ให้ไปเบิกความต่อศาล ไปจนถึง ฆ่าพยาน เป็นต้น
๑๒. การกระทำผิดเกี่ยวกับทางภาษี (Tax Crimes)
๑๓. การกระทำผิดเกี่ยวกับการรายงานธุรกรรมทางการเงิน (Currency Transaction Reporting Crimes) ซึ่งเป็นมาตรการที่เกี่ยวน้องกับความผิดในฐานฟอกเงิน
๑๔. ความผิดฐานฟอกเงิน (Money Laundering) กฎหมายฟอกเงินของสหรัฐนี้ ต่างจากกฎหมายฟอกเงินของไทยอย่างมาก เพราะกฎหมายฟอกเงินของสหรัฐ ไม่ได้กำหนดประเภทของการกระทำผิดมูลแบบของไทย โดยกำหนดเพียงแต่ว่า หากมีการใช้เงินในลักษณะกระทำธุรกิจทางด้านเงินตรา (Monetary transaction)ที่ได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย (lawful activity) โดยรู้ว่าเงินนั้นเกี่ยวพันและเป็นดอกผลมาจากการกระทำผิดนั้น ผ่านสถาบันทางการเงินฯ หรือ มีการทำธุรกรรมทางการเงิน (Financial transaction) ที่ได้มาจากการกระทำผิดใด ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการกระทำผิดนั้น หรือ ซ่อนเร้นแหล่งที่มาของเงินฯ ก็เป็นความผิดฐานฟอกเงิน ไม่จำเป็นต้องมีการกระทำผิดพื้นฐานที่เฉพาะเจาะจงแค่ ๘ ความผิดมูลฐานแบบกฎหมายฟอกเงินของไทย
๑๕. ความผิดฐาน RICO (Racketeer Influenced and Corrupt Organizations) ซึ่งเป็นกฎหมายที่รัฐสภาสหรัฐ ออกมาบังคับใช้ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ เพื่อเสริมมาตรฐานเกี่ยวกับกฎหมายควบคุมการกระทำขององค์กรอาชญากรรม (Organized Crime Control Act ค.ศ.๑๙๗๐ สำหรับกฎหมาย RICO กล่าวโดยย่อ คือ เป็นกฎหมายที่ควบคุม (๑) การนำเงินที่ได้มาจากธุรกิจผิดกฎหมายไปลงทุนในธุรกิจปกติ (๒) การนำเงินผิดกฎหมายมาใช้แทรกแซงและควบคุมธุรกิจผู้อื่นที่ถูกกฎหมาย เพื่อแสวงกำไรอันไม่ควรได้ (๓) การนำกลไกธุรกิจที่ถูกกฎหมายมาใช้บังหน้าหรือเป็นเครื่องมือในการดำเนินการธุรกิจผิดกฎหมาย (๔) การสมคบกันกระทำผิด ตามข้อ (๑) ถึง (๓)

สำหรับในคราวต่อไป จะกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับกฎหมายสำคัญ ๆ ดังกล่าวข้างต้น ต่อไป




 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:31:32 น.
Counter : 9226 Pageviews.  

สิทธิที่จะอยู่หรือตาย ใครควรจะเป็นผู้เลือก

Terri Schiavo died a "calm, peaceful and gentle death" around 9 a.m. ET Thursday, cradled by her husband and legal guardian, Michael, said attorney George Felos. (CNN April 1,05)

ระยะเวลาที่ผ่านมา ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีประเด็นทางกฎหมายที่โด่งดังหลายประเด็น เช่น ประเดสิทธิการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน ซึ่งถือเป็นประเด็นในทางการเมืองโดยแท้ เพราะทั้งฝ่าย Republican & Democrat ก็ใช้เป็นประเด็นในการหาเสียงทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยมีพื้นฐานแนวคิดทางศาสนาเป็นพื้นฐานฯ อีกเรื่อง ก็คือ การละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน ในเรื่องอนุสัญญาว่าด้วยการไม่ทรมาน (International Convention against torture) ซึ่ง กลายเป็นว่า กม.ระหว่างประเทศ เป็นอะไรไปไม่ทราบ ไม่มีความหมาย ในสายตาของท่านผู้นำไป

ท่านบุช พี่ใหญ่ ท่านว่า หากท่านต้องการทำอะไร ท่านก็ทำ รัฐบาลของท่าน ได้แถลงนโยบายแจ้งชัดใน Bush Administration ว่า สนธิสัญญาดังกล่าว ไม่ผูกพันประเทศสหรัฐ ทั้ง ๆที่มันเป็นกฎหมายบังคับเด็ดขาด (Jus Cogent) กล่าวคือ แม้จะไม่ได้ให้การรับรองและให้สัตยาบันก็มีพันธกรณีทางกฎหมายต้องปฏิบัติตาม แต่ท่านบอกว่า “ไม่ผูกพัน” สุดท้าย ก็ไม่มีใครกล้าหือ แต่ประเด็นที่ผมจะขอกล่าวในที่นี่ คือ Right to die ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการเป็นมนุษย์ (Fundamental rights) (เล่ามา ก็เผื่อว่า จะปลงกันได้บ้างครับ )




มาเข้าเรื่องที่ต้องการพูดดีกว่า ... คือ เรื่องสิทธิที่จะอยู่หรือจะตาย ... ประเด็นนี้ ศาลสูงสุดของสหรัฐ ได้ตัดสินมานานพอสมควรแล้วว่า คนไข้สามารถร้องขอให้แพทย์ยุติการรักษาและการให้อาหารตนเอง เพื่อจะได้ตายให้พ้น ๆ ไปเสียทีได้ แต่เรื่องจะให้แพทย์ช่วยเหลือให้ตายไว ๆ นั้น เป็นเรื่องต้องห้าม และถ้าหากแพทย์ช่วยเหลือโดยการให้สารเคมี ฯลฯ ก็ถือว่ามีเจตนาฆ่าผู้อื่น เป็นการกระทำผิดอาญา

สำหรับเรื่องที่จะกล่าวต่อไปนี้ ก็มีอยู่ว่า ในรัฐฟอร์ริดา มีสามีภรรยาคู่หนึ่งที่อยู่ด้วยกันมานาน ต่อมา Terri Schiavo ผู้เป็นภรรยาหกล้มและกลายเป็นสภาวะเป็นผัก ซึ่งสามีก็ดูแลเธมานาน ๑๕ ปี เมื่อสองปีก่อน สามีก็ร้องขอให้ศาลสั่งให้ ถอดเครื่องช่วยให้สารอาหารแก่ภรรยา โดยอ้างว่า เขารับรู้ได้ว่า ภรรยาของเขาต้องการตายฯ และจากไปอย่างสงบ จึงได้มีเศรษฐี ให้เงิน ๑ ล้านเหรียญ เพื่อดูแลภรรยาต่อไป สองปีให้หลัง คือ ปีนี้ เขาร้องขอให้ศาลสั่งอีกครั้ง (เข้าใจว่า เงิน ๑ ล้าน ที่ได้มาก็ยังไม่หมด) คราวนี้ สำเร็จ เพราะหมอฯ เป็นผู้เชี่ยวชาญมาวินิจฉัย ยืนยันว่า ภรรยาฯ ไม่รับรู้อะไรแล้ว สมองตายเต็มที่ฯ ไม่มีปฎิกริยาใด ๆ พูดง่าย ๆ ก็คือ สมควรตายได้แล้ว ศาลก็สั่งตามที่ร้องขอฯ

ปัญหาทางกฎหมาย ก็คือ ลูกเขามีพ่อมีแม่เหมือนกัน ทางพ่อแม่ของ Terri Schiavo ก็ร้องคัดค้าน พ่อแม่ของเธอบอกว่า ถ้าสามีไม่ต้องการดูแล ทำไมไม่ส่งให้พวกเขาดูแลแทน จึงร้องขอไปยังศาลคัดค้านคำสั่ง การหยุดให้สารอาหารฯ แก่เธอ โดยยื่นคำร้องอุทธรณ์กันไปตั้งแต่ศาลระดับท้องถิ่น ศาลมลรัฐ และ ศาลในระดับ Federal Court แต่สุดท้าย ก็ไม่สำเร็จ เพราะศาลระดับมลรัฐเลือกที่จะเชื่อ Expert ซึ่งก็คือ หมอ ฝ่ายสามีฯ แต่ไม่เชื่อ Expert ซึ่งก็เป็นหมอที่ได้รับการว่าจ้างจากบิดาและมารดาผู้ป่วยรายนี้ Experts ทั้งสองคนนี้ ก็เป็นหมดทางประสาทวิทยาเหมือนกัน ได้รับการรับรองความรู้ความสามารถไม่แพ้กัน แต่หมอสองคนนี้ กลับวินิจฉัยตรงกันข้ามโดยสมบูรณ์แบบ นักข่าวและนักการเมือง รวมถึงนักวิชาการ ก็เลยวิพากษ์วิจารณ์ ความรู้ทางการแพทย์กันใหญ่ว่า แท้จริงแล้วมันเป็นศาสตร์ที่น่าเชื่อถือหรือไม่ หรือว่า เป็นวิชาการที่ขึ้นอยู่สถานการณ์ ที่แล้วแต่ว่า ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายจ้างให้มาตรวจสอบและเบิกความฯ เพราะฝ่ายสามีก็จ้างหมอฯ ฝ่ายบิดามารดาผู้ป่วยก็จ้างหมอทางประสาทวิทยามาเบิกความต่อต่อศาลเหมือนกัน แล้วฉไน ความเห็นจึงต่างกันราวกับฟ้าเหว

ประเด็นปัญหา จึงเป็นเรื่อง ของการใช้ดุลพินิจของศาลหรือผู้พิพากษาว่าจะเลือกเชื่อฝ่ายใด และคำว่า “ดุลพินิจ” นี้แหละที่เป็นปัญหา ที่ทำให้การอุทธรณ์ คัดค้าน ไม่ได้ดำเนินการได้ หากไม่พบว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยบิดผัน (Abuse of Discretion) จนถึงขนาดที่เรียกได้ว่าผิดพลาดอย่างร้ายแรงและชัดเจน (plain error) ศาลระดับสูงกว่า ก็จะไม่ทำการทบทวน โดยเฉพาะศาลในระดับ Federal court แล้ว ยิ่งมีอำนาจจำกัดมาก หากว่าศาลระดับท้องถิ่น ตัดสินคดีอะไรโดยไม่ได้อ้าง รัฐธรรมนูญของสหรัฐ แต่อ้างเฉพาะรัฐธรรมนูญของรัฐตนเองฯ และกฎหมายของรัฐนั้น ๆ เพียงอย่างเดียวแล้ว เรียกได้ว่าไม่มีทางอุทธรณ์อะไรได้เลย คดีนี้ เมื่อสิ้น ๗ วัน ผู้ป่วย ซึ่งไม่ได้รับน้ำ และอาหาร ก็ตายไป ฝ่ายบิดามารดาของผู้ตาย ก็ร้องขอให้ศาลสั่งให้ ผู้เชี่ยวชาญของตน ทำการตรวจพิสูจน์ศพ ทันที ถ้าเป็นเมืองไทย ประชาชนคนไทยเรา ก็ต้องนึกถึง แพทย์หญิง คนหนึ่งเป็นหลัก เพราะท่านมีภาพลักษณ์ที่เก่งกาจกว่าใครในหล้า แต่สำหรับสหรัฐฯ ศาลไม่เล่นด้วย ไม่มีใครจะเป็นฮีโร่เหนือดวงใจใครได้ นอกจากหลักการแห่งกฎหมาย ก็เป็นอันว่า ผู้ตาย ได้ตายเพราะการร้องขอให้ยุติการให้อาหารและน้ำ โดยการร้องขอผ่านสามีของตนเอง เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการจะอยู่หรือจะตาย ซึ่งโดยปกติแล้ว ผู้ที่ต้องการจะตายเท่านั้น ที่จะต้องต้องร้องขอเอง หรือถ้าผู้อื่นร้องขอแทน ก็ต้องแสดงหลักฐานอย่างชัดแจ้งว่าเธอต้องการจะตายจริง ๆ ซึ่งในที่ ก็คือ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญนั่นแหละครับ

รัฐสภาสหรัฐ ดำเนินการอย่างไร กับเรื่องนี้ เรื่องนี้ ผู้แทนในสภา Congress พยายามอย่างสุดกำลัง ที่จะเข้ามาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของผู้พิพากษา ทั้งระดับ มลรัฐและรัฐบาลกลาง แต่ท้ายที่สุด คงเห็นว่าจะเป็นการแทรกแซงการใช้อำนาจอิสระของฝ่ายตุลาการ จึงไม่มีการดำเนินการอะไรต่อไป การแทรกแซงฝ่ายตุลาการนี้ ในสหรัฐฯ นี่ หากจะทำกันจริง ๆ นี่ ทำได้ง่ายมาก โดยมีตัวอย่างให้เห็น ก็คือ ในราว ค.ศ. ๑๙๓๒ ฝ่ายบริหารเสนอแผน New Deal เพื่อฟื้นฟูสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของสหรัฐฯ Supreme Court ตีกฎหมายเหล่านี้ ตกไปหมด บอกว่าขัดรัฐธรรมนูญ ฝ่ายบริหาร จึงหันไปมองที่รัฐธรรมนูญฯ และบอกว่า ไม่เป็นไร ..หากศาลไม่ให้ความร่วมมือในการฟื้นฟูประเทศ ฝ่ายบริหาร ก็จะทำการขยายองค์คณะศาลสูงจาก ๙ นาย เป็น ๑๕ นาย โดยจะแต่งตั้งคนที่รัฐบาลควบคุมได้ เข้าไปเป็นศาลแทนฯ เท่านั้นเอง ศาลสูงเปลี่ยนท่าทีทันที ยอมรับว่า New Deal Plan เป็นการใช้อำนาจแทรกแซงทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เกี่ยวกับ Fundamental rights ตามที่ระบุไว้รัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉะนั้น ฝ่ายบริหารมีอำนาจดำเนินการตามที่เห็นสมควรทุกอย่าง เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกอย่างก็จบอย่างมีความสุข แผนการแทรกแซงฝ่ายตุลาการของฝ่ายบริหาร ก็ยุติไป ศาลสูงเอง ก็หนาว ๆ ร้อน ๆ ในการตีความกฎหมาย และการดำเนินการของฝ่ายบริหารฯ ปัจจุบัน ศาลสูงจึงจำกัดบทบาทในการตีความและสร้างหลักกฎหมายพอสมควรฯ เลยครับ




การตัดปัญหา ก็น่าจะมีทำพินัยกรรมหรือหนังสือรับรองให้ชัดเจนไว้ล่วงหน้ากันไปเลยนะครับว่า ถ้าเกิดในอนาคตแล้ว ไปประสบอุบัติเหตุ แล้วต้องอยู่แบบผักแล้ว ต้องการให้ผู้อยู่เบื้องหลังทำอะไร ตายหรืออยู่ดี เอาให้แจ้งชัดไปเลยดีกว่า




 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:31:19 น.
Counter : 1064 Pageviews.  

โครงสร้างของสหรัฐอเมริกา เกี่ยวกับระบบการปกครองและระบบกฎหมาย

ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับระบบกฎหมายแบบจารีตประเพณี(Common law) ตามระบบกฎหมายอังกฤษ แต่การพัฒนาของประเทศสหรัฐอเมริกาแตกต่างจากแนวคิดของอังกฤษเป็นอย่างมาก อย่างหนึ่งที่สหรัฐฯ ยอมรับนับถือ คือ Separation of Powers Doctrine

ระบบนี้ มีมรดกความคิดจากยุโรป ที่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลการ จึงจำกัดบทบาทของตนเองอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะในเรื่องการบังคับใช้และการตีความกฎหมายอาญา แต่ก็ยังให้อิสระแก่ศาลในการตีความและสร้างหลักกฎหมายที่เกี่ยวกับแนวคิดทางกฎหมายแพ่งโดยแท้ เช่น สัญญา (Contract) และละเมิด (Torts)

ระบบกฎหมายอาญาของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ละรัฐจะมีอิสระในการบัญญัติกฎหมายอาญาของตนเอง โดยรัฐบาลกลาง (Federal Government) จะไม่แทรกแซงในเรื่องของการกำหนดว่าการกระทำใดจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ อย่างไร และมีหลักเกณฑ์ในการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับวิธีพิจารณาความอย่างไร ซึ่งมีที่มาจากเหตุผลพื้นฐานทางประวัติศาสตร์ในการรวมตัวเป็นสหรัฐอเมริกาในอดีตที่ไม่ต้องการให้รัฐบาลกลาง มีอำนาจมากเกินไปจนถึงขนาดที่จะเข้ามาควบคุมรัฐบาลของมลรัฐได้ ในอดีตนั้น จึงยอมรับกันว่ารัฐบาลแห่งมลรัฐเท่านั้นที่ควรจะทำหน้าที่ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน โดยมีหลักฐานที่เด่นชัด คือ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐที่เขียนแบ่งแยกอำนาจอย่างชัดเจนทั้งในแนวราบ และแนวดิ่ง โดยในแนวราบที่ว่า ก็คือ การแบ่งแยกอำนาจตามหลักการ Separation of Powers ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ ส่วนในแนวดิ่ง ก็จะแบ่งแยกอำนาจระหว่างรัฐบาลมลรัฐ และรัฐบาลกลาง อย่างชัดเจนเช่นกัน

รัฐบาลกลางจะมีอำนาจในการออกกฎหมายที่มุ่งควบคุมกิจกรรมของรัฐบาลในระดับมลรัฐได้ในเฉพาะสิ่งที่กำหนดไว้ ซึ่งเรียกว่า Enumerated Powers ซึ่งกำหนดไว้คร่าว ๆ ว่า อำนาจใดที่ไม่ได้กำหนดให้เป็นอำนาจของรัฐบาลกลางสหรัฐ ย่อมเป็นอำนาจของมลรัฐทั้งสิ้น โดยอำนาจที่ถือว่าเป็นอำนาจของรัฐบาลกลางเช่น เช่น อำนาจเกี่ยวกับการจัดทำถนนหนทาง อำนาจทางการฑูต และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อำนาจเกี่ยวกับการไปรษณีย์ อำนาจทางทหาร และอำนาจเกี่ยวกับการควบคุมการค้าระหว่างมลรัฐ หรือ Interstate Commerce ซึ่งอำนาจข้างต้น ล้วนแต่เป็นอำนาจที่สำคัญมาก โดยรัฐสภาได้ออกกฎหมายอาญาต่าง ๆ โดยอาศัยอำนาจข้างต้น เช่น การฉ้อโกงผู้อื่นโดยอาศัยวิธีการทางจดหมาย (Mail Fraud) หรือ การกระทำผิดที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ( White Collar Crime) เช่น Computer Fraud, Money Laundering, Wire Fraud, RICO ก็อาศัยหลักการพื้นฐานที่ว่า การกระทำผิดข้างต้น จะก่อให้เกิดผลกระทำต่อการค้าระหว่างมลรัฐ (Interstate Commerce) รัฐสภาสหรัฐ ก็จะอาศัยหลักการพื้นฐานที่ว่า การกระทำผิดข้างต้น จะก่อให้เกิดผลกระทำต่อการค้าระหว่างมลรัฐ (Interstate Commerce) ในการออกกฎหมายในระดับ Federal เพื่อบังคับใช้ในระดับมลรัฐด้วย การดำเนินคดีอาญาในสหรัฐ จึงเป็น Dual System คือ ระบบบคู่ขนานระหว่างมลรัฐและรัฐบาลไปพร้อม ๆ กัน และไม่มีปัญหาในเรื่อง Double Jeopardy หรือ การดำเนินคดีอาญาซ้ำ เพราะเป็นการดำเนินคดีต่างระดับกัน สำหรับอำนาจอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ เช่น อำนาจที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement) และการจัดตั้งหน่วยงานในการบังคับใช้กฎหมายทั้งหลาย ตั้งแต่องค์กรตำรวจ และ Sheriff รวมถึงองค์กรอัยการนั้น จึงเป็นเรื่องที่มลรัฐมีอำนาจดำเนินการทั้งสิ้น โดยรัฐบาลกลางจึงได้จัดตั้งหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย เช่น F.B.I หน่วยงานทางสรรพากร (IRS) อัยการ และศาลในระดับรัฐบาลกลาง ขึ้นเพื่อดำเนินการบังคับใช้กฎหมายนั้น ๆ

ในสหรัฐฯ จึงมีปัญหาที่โต้แย้งกันเสมอว่า รัฐบาลกลางควรเข้ามาแทรกแซงรัฐบาลมลรัฐมากน้อยเพียงใด และมีคดีทางรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ เป็นอย่างมาก ในปัจจุบัน ข้อสรุปที่เกิดขึ้นจากแนวคำพิพากษาของ The U.S. Supreme Court จึงได้วางหลักว่า กิจการใด ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการแทรกแซงสิทธิขั้นพื้นฐาน (Fundamental Rights) ของประชาชนแล้ว รัฐบาลกลางย่อมสามารถดำเนินการได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลกลางสหรัฐสามารถดำเนินการควบคุมเกี่ยวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ทั้งหมด




 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2548    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:31:00 น.
Counter : 9876 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.