*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
Advanced Criminal Law : บทนำ

พ.ต.ท.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ
JSD. University of Illinois



เอกสารนี้ เป็นเอกสารเสริมจาก Study Material ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนหน้านี้ ซึ่งประกอบด้วย ในส่วนของแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับหลักกฎหมายอาญา ตามแนวคิด Principle of Legality และ หลักการใช้กฎหมายอาญา เช่น การห้ามใช้กฎหมายที่มีผลร้ายย้อนหลัง เนื่องจากกฎหมายที่กำหนดโทษหรือที่มีผลร้ายใด ๆ จะต้องมีการประกาศให้ประชาชนได้รับทราบไว้ล่วงหน้า โดยกฎหมายนั้น จะต้องมีความชัดเจน ไม่คลุมเครือ เมื่อประชาชนคนธรรมดาทั่วไปอ่านกฎหมาย ก็จะสามารถเข้าใจในทันทีได้โดยง่ายว่า ตนเองมีหน้าที่อย่างไร ห้ามกระทำการใด ฯลฯ และจะผลร้ายอย่างไร หากฝ่าฝืน นอกจากนี้ กฎหมาย จะต้องบังคับใช้เป็นการทั่วไป ไม่มุ่งบังคับเฉพาะกลุ่ม โดยในทางกฎหมายอาญานั้น จะมีข้อบังคับที่มีรายละเอียดเพิ่มเติมขึ้นไป เช่น การห้ามใช้กฎหมายประเพณีหรือหลักกฎหมายทั่วไปในในการตีความขยายความรับผิดทางอาญาด้วย ผู้เขียนเห็นว่า เอกสารดังกล่าวเขียนเป็นภาษาอังกฤษ อาจจะมีประโยชน์เฉพาะกลุ่มเท่านั้น หากมีการนำมาสรุปในภาษาไทย อย่างน้อยบางส่วน ก็อาจจะมีประโยชน์มากขึ้น

คำนำ

ก่อนอื่น ผู้เขียนของขอบคุณคณาจารย์ที่ได้สั่งสอนผู้เขียนมา โดยเฉพาะที่ College of Law, the University of Illinois ได้แก่ Professor Andrew Leipold, Professor Bruce P. Smith, Professor J. Steven Beckett, และมากที่สุด คือ ท่าน Professor Thomas S. Ulen อย่างไรก็ตาม หากมีข้อผิดพลาดประการใด เป็นความรับผิดชอบของผู้เขียนเอง สำหรับกฎหมายอาญาในสหรัฐฯ นั้น เช่นเดียวกับกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน ดังนั้น กฎหมายอาญา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้ประกาศให้ทราบล่วงหน้า ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่เรียกกันว่า principle of legality ซึ่งเป็นหลักการยืนยันว่า จะไม่มีกฎหมายใด ๆ ที่มีผลร้ายถูกบังคับใช้ย้อนหลังได้ ในการศึกษากฎหมายอาญาอเมริกันนั้น คำถามแรกที่ ผู้ศึกษาจะต้องเรียนรู้คือ การกระทำใดบ้างที่ควรจะบัญญัติเป็นโทษทางอาญา บนพื้นฐานอะไร และมีขอบเขตกว้างขวางเพียงใด และเหตุใด จึงจะต้องมีการลงโทษผู้กระทำผิดข้อห้ามทางอาญา

ในเอกสารภาษาอังกฤษข้างต้น ยังได้กล่าวถึง White Collar Crime ผู้เขียนยังไม่ได้แปลทั้งหมดในเอกสารนี้ ซึ่งแท้จริงในสหรัฐอเมริกา จะไม่ได้นำเอาเนื้อหา White Collar Crime มาสอนรวมกับวิชากฎหมายอาญา เพราะมีเนื้อหามาก จึงได้แยกออกเป็นวิชาเอกเทศ แต่ผู้เขียนเห็นว่าสำคัญและผู้เขียนยังไม่ได้มีโอกาสสอนวิชาเหล่านั้นอย่างเป็นเอกเทศ จึงได้นำเนื้อหามารวมไว้ในวิชานี้ รวมถึงเนื้อหาในส่วนของ Cyberspace Law ซึ่งได้พัฒนาไปไกลมากในสหรัฐอเมริกา โดยมีการพัฒนาเอาแนวคิดเกี่ยวกับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามาพัฒนาหากมีการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในโลก Cyber ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่า การพัฒนาทางเทคโนโลยี ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนารูปแบบการประกอบธุรกรรมในโลกปัจจุบัน ทำให้รูปแบบการประกอบอาชญากรรมได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นเงาตามตัวไปด้วย นักกฎหมายสมัยใหม่จึงต้องเรียนรู้ รูปแบบการประกอบอาชญากรรมที่แตกต่างจาก street crimes ทั่วไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แรงจูงใจในการกระทำผิดอาญาแบบทั่วไป หรือ street crime อาจจะเกิดความยากจน รูปแบบการกระทำผิดจึงไม่ยากที่จะติดตามสืบสวนมากนัก แต่สำหรับการกระทำผิดในรูปแบบ White Collar Crime หรือ Cyberspace จะมีรูปแบบที่แตกต่าง ผู้กระทำผิดมักจะเฉลียวฉลาดในการกระทำผิดและซับซ้อนกว่าปกติ เช่น การกระทำผิดของนิติบุคคล และใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องมือ ผู้กระทำผิดอาจจะอยู่ห่างไกลออกไป ทำให้มีปัญหาทางกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจการสืบสวนสอบสวน และการฟ้องร้องดำเนินคดี (Jurisdiction) เป็นต้น

ความจริงแล้ว เมื่อพูดถึงอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ในประเทศไทย ก็ได้มีการพูดถึงกันนานแล้ว สักราว ๆ 20 ปีที่ผ่านมา นับแต่มีการจัดตั้งหน่วยงาน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.สศก.) ขึ้นมา ประมาณปี พ.ศ.2535 จนมาเปลี่ยนชื่อเป็น กองบังคับการปราบปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยี (ปศท.) ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเราอาจจะคุ้นเคยเฉพาะความผิดเกี่ยวกับการเงินการธนาคาร ความผิดฐานฟอกเงิน หรือความผิดเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งในสหรัฐอเมริกา จะมีการกำหนดโทษปรับและจำคุกที่รุนแรงมาก เช่น จำคุกถึง 20 ปี ปรับถึง 25 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากจะเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังมีความผิดที่บัญญัติขึ้นเพื่อต่อสู้กับองค์กรอาชญากรรมเป็นการเฉพาะ เรียกว่า RICO ซึ่งมีลักษณะพิเศษ สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนกระบวนการกระทำผิดที่เกี่ยวข้องกับการนำเงินที่สกปรกมาใช้ในการประกอบธุรกิจที่บริสุทธิ์ การใช้อิทธิพลเพื่อกรรโชกเอาทรัพย์มาจากธุรกิจ ในลักษณะคล้าย ๆ กับการเก็บค่าคุ้มครองของไทย หรือ การสมคบกันกระทำความผิด ในลักษณะที่เป็น RICO หากความผิดเกิดขึ้นในลักษณะที่เป็น Pattern ต่อเนื่องยาวนานในระยะเวลาพอสมควร (ซึ่งปกติจะประมาณ 1 ปี ) สำหรับการกระทำนั้น ย้อนหลังไปได้ 10 ปี เป็นต้น

ในเอกสารฉบับภาษาอังกฤษ ยังได้กล่าวถึง cyberspace law ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการพัฒนาของ internet และการเชื่อมโยงของโลกเสมือนจริง โดยในระยะแรกนั้น นักกฎหมายไม่สนิทใจที่จะมีหลักกฎหมายนี้ขึ้น โดยเห็นว่า สามารถนำหลักกฎหมายดั้งเดิมนั้นมาบประยุกต์ได้ ซึ่งก็ได้สร้างปัญหาโต้แย้งขึ้น อันสืบเนื่องจากหลักกฎหมายเดิมไม่สอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาในยุคคลื่นแห่งข่าวสาร ทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับเขตอำนาจศาล ปัญหาการบังคับกฎหมายกับสิทธิในทรัพย์สินในโลกเสมือนจริง หรือ การทำสัญญา หรือ กิจกรรมทางการค้าอื่น ๆ รวมถึงการขโมยเอกลักษณ์บุคคล (identity theft) และ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล (privacy rights) เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตาม หลักกฎหมายนี้ ก็ยังไม่ได้ตกผลึกทั้งหมดเสียทีเดียว ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาและหาข้อสรุปต่อไปในอนาคต

ส่วนที่ ๑
กฎหมาย กฎหมายอาญา และการควบคุมทางสังคม
LAW & CRIMINAL LAW AND SOCIAL CONTROL


มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีแนวโน้มจะอยู่ร่วมกันในสังคม โดยการสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อให้สังคมดำรงชีวิตอยู่ได้ กฎเกณฑ์นั้น อาจจะเป็น norms และ rules เพื่อควบคุมการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในสังคมและแก้ไขปัญหาระหว่างกัน แต่กฎเกณฑ์จะเป็นอย่างไรนั้น ก็จะแตกต่างกันไปตาม social value ของแต่ละสังคม โดยจะมีมาตรการทางสังคมและทางกฎหมายที่จะบังคับให้สมาชิกเคารพและเชื่อฟังกฎเกณฑ์ฯ ให้ความประพฤติอยู่ในกรอบที่เหมาะสมและยอมรับได้ โดยปกติ กฎเกณฑ์เหล่านั้นจะอยู่บนพื้นฐานของศีลธรรม แต่เมื่อสังคมมีความสลับซับซ้อนขึ้น กฎเกณฑ์ทางศีลธรรมอาจะไม่เพียงพอ จึงต้องมีกฎเกณฑ์ทางกฎหมายและมีค่าบังคับเป็นการลงโทษในรูปแบบต่าง ๆ ขึ้น สำหรับบุคคลที่ละเมิดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่กำหนดขึ้น

บรรทัดฐานทางสังคม หรือ Social Norms

Social Norms เป็นเรื่องที่ยากในการให้คำนิยามแต่เราก็พบเห็นทั่วไป โดยทั่วไปเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นทางการ เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามมาตรฐานความประพฤติ ซึ่งอาจจะเปลี่ยนแปลงไปได้ และโดยปกติ จะไม่มีค่าบังคับตามกฎหมาย แต่ประชาชนยินยอมที่จะปฏิบัติอย่างเต็มใจ ผู้ที่ละเมิดจะถูกบทลงโทษทางสังคม เช่น การติฉินนินทา (gossip) การหลีกหนีไม่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย (shunning) การถูกขับไล่ (ostracism) หรือ อาจจะถูกรุมทำร้ายทางกายภาพ ( physical violence) บรรทัดฐานทางสังคมอาจจะเปลี่ยนแปลงแตกต่างกันไปอย่างช้าเว้นแต่จะกฎเกณฑ์ที่กลายเป็นผลร้าย (pernicious rule) อย่างไรก็ตาม บรรทัดฐานทางสังคม จะควบคุมความประพฤติของสมาชิกได้ดีโดยเฉพาะในที่เกี่ยวกับ การกระทำโดยประมาทและการละเมิดรวมถึงกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการควบคุมความประพฤติที่มีโทษทางอาญา ดังนั้น บรรทัดฐานทางสังคม จึงเป็นพื้นฐานที่ทำให้การลงโทษในทางอาญามีความเหมาะสม และได้ความเหมาะสม (“fit”& “proportionate”) บรรทัดฐานทางสังคม จึงมีบทบาทสำคัญในการสร้างความสงบเรียบร้อยให้แก่สังคม (public order) หากไม่มีบรรทัดฐานที่ดีในการควบคุมความประพฤติ หมู่ชนใดที่ไร้กฎเกณฑ์ใครจะทำอะไรก็ได้ตามใจ ก็ไม่ถือว่าเป็นสังคม และถือว่าสังคมนั้นได้ถึงแก่หายนะ

ประเภทของ Social Norms

Social Norms อาจจะแบ่งตามระดับความเข้มข้น ตั้งแต่ระดับต่ำสุด ได้แก่ Folkways ซึ่งเป็นวิถีประชาที่สังคมพร้อมจะปฎิบัติตามอย่างใจโดยไม่รู้สึกว่าเป็นภาระ เช่น วิธีการกิน การนอน การเดิน การแต่งกาย การแสดงความเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย Mores or Moral rules หรือ กฎเกณฑ์ทางศีลธรรม จะถือว่ามีค่าบังคับมากขึ้น ที่จะห้ามมนุษย์ฆ่ากันเอง หรือ มีเพศสัมพันธ์กับญาติใกล้ชิด (incest)

Laws. เป็นระดับสูงสุด ที่สร้างขึ้นมา เพื่อกำหนดวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคม ทั้งนี้ ยังได้กำหนดสถาบันทางสังคมขึ้นมาเพื่อบังคับใช้และตัดสินคดี เมื่อสังคมมีความเจริญรุ่งเรืองและสลับซับซ้อนขึ้น โดยกฎหมายที่บัญญัติเกี่ยวกับความประพฤตินั้น จะต้องเป็นการกำหนดเกี่ยวกับการกระทำ ไม่ใช่เพียงความคิด และไม่ใช้สำหรับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยไม่อาจเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม บนพื้นฐานของเชื้อชาติ (race) กลุ่มพันธุ์ (ethnics) หรือ ศาสนา (religions) ในทางวิชาการ เป็นที่ยอมรับว่า ที่ใดมีสังคมที่นั่นมีกฎหมาย ตามหลักสุภาษิตละตินว่า “Ubi Societas ibi jus” และสังคมใดที่ไม่เคารพเชื่อฟังกฎหมาย สังคมก็จะถึงกาลล่มสลายในที่สุด เพราะกฎหมายคือกลไกลในการปกครองและแก้ไขข้อพิพาท ไม่ได้ขึ้นกับผู้ปกครองเป็นคนดีหรือเลวเพียงใด สังคมที่ยอมรับหลักหลักกฎหมายเป็นใหญ่ ซึ่งอาจจะเรียกว่า Rule of Law, Due Process of Law หรือ Legal State จึงยืนยันว่า กฎเกณฑ์ของกฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะต้องควบคู่ไปกับกฎเกณฑ์ของประชาธิปไตย ดังนั้น กฎหมายจึงเป็นทั้งที่มาของอำนาจและเป็นเครื่องจำกัดอำนาจปกครองของผู้นำ หากไม่มีระบบกฎหมายที่มีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลย์ที่ดี คนในสังคมได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม คนย่อมไม่เชื่อฟังกฎหมาย และนำไปสู่หายนะของสังคมนั้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ประชาชนทั้งหลาย ไม่อาจจะอ้างว่าตนไม่รู้กฎหมาย ในรัฐชาติสมัยใหม่ ผู้ใช้กฎหมายคือ ผู้แทนของปวงชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย ในการออกบทบัญญัติบังคับให้คนในสังคมให้เป็นไปตามกฎหมายที่ผู้แทนของตนเองตราขึ้น กฎหมายจึงเปรียบเสมือนสิ่งที่แสดงถึงความประสงค์และคุณค่ารวมกัน (common value) โดยเฉพาะกฎหมายอาญา จะต้องประกอบด้วยสิ่งต่าง ๆ ดังนี้

1. กฎหมายเป็นคำสั่งของรัฐ ที่บังคับกับคนทั่วไป (people as a whole)

2. กฎหมายต้องตราขึ้นโดยผู้แทนของประชาชนผู้ทรงอำนาจอธิปไตย (sovereignty)

3. กฎหมายอาญา ควบคุมความประพฤติ (Conduct) ไม่ใช่จิตใจ (Mind)

4. กฎหมายอาญา มักจะมีบทลงโทษสำหรับผู้ละเมิดมาด้วยเสมอ

5. ที่สำคัญที่สุด กฎหมายจะต้องมีการประกาศใช้ล่วงหน้า ตามหลักการ Principle of Legality และจะต้องประกาศโดยองค์กรนิติบัญญัติที่ได้รับมอบอำนาจจากประชาชน และหลักการแบ่งแยกอำนาจ ศาลจึงไม่อาจจะประกาศย้อนหลังได้ว่า การกระทำใดจะถือว่าเป็นความผิดกฎหมายอาญาได้

บ่อเกิดของกฎหมาย หรือ Sources of Laws

ตามหลักนิติปรัชญาแล้ว คำว่ากฎหมาย อาจจะมีนิยามแตกต่างกันไป ตามสำนักความคิด (School of thought) เช่น สำนักงานกฎหมายธรรมชาติ (natural law) เชื่อว่า มีกฏเกณฑ์ที่ถูกต้องเป็นนิจนิรันดร์ตามธรรมชาติ แม้ฝ่ายรัฐจะไม่ได้บัญญัติเอาไว้ ก็ถือเป็นกฎหมาย และรัฐจะบัญญัติกฎหมายใดที่ขัดต่อ Natural Law ไม่ได้ ส่วนสำนักกฎหมายบ้านเมือง (positive law) นั้นเชื่อว่า เจตน์จำนงของประชาชนเท่านั้นที่จะกำหนดกฎหมายได้ หากผู้แทนปวงชนไม่ได้บัญญัติกฎหมายไว้เป็นการเฉพาะ ย่อมไม่ถือเป็นกฎหมาย ส่วนสำนักประวัติศาสตร์กฎหมาย เชื่อว่า แต่ละสังคมมีพัฒนาการตามแนวคิดทางกฎหมายที่แตกต่างกันในแต่ละสังคม จึงไม่มีกฎเกณฑ์ที่เป็นสากล (Universal rule) เป็นต้น

ในทางกฎหมายในปัจจุบัน จะศึกษาระบบกฎหมายใหญ่ ได้แก่ ระบบกฎหมายจารีตประเพณี หรือ Common law กับ ระบบกฎหมายแบบประมวลกฎหมาย หรือ Civil law. ซึ่งประเทศไทย ได้รับเอาทั้งสองระบบเข้ามาใช้ในความคิดกฎหมายไทยอย่างมาก เช่น ประมวลกฎหมายอาญาของไทย ก็มีที่มาจากหลายประเทศ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญและ ป.วิ.อาญา ของไทยในส่วนเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาและบทบัญญัติว่าด้วยศาล ได้รับเอาแนวคิดของสหรัฐอเมริกามา แต่รับมาแต่ผิว ไม่ได้รับเอาสาระและข้อยกเว้นต่าง ๆ มาด้วย

1. ลักษณะทั่วไปของ Common Law

Common Law คือ ระบบ “Judge Made Law” เป็นระบบที่ ผู้พิพากษามีอำนาจที่จะประกาศว่าอะไรคือ Crime ที่ต้องห้ามกฎหมาย นักวิชาการส่วนใหญ่เป็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมที่จะให้อำนาจประกาศว่าสิ่งใดเป็นกฎหมายดังกล่าว อย่างก็ตาม ผู้พิพากษาในระบบนี้ จะปฎิเสธว่าตนเองไม่ได้สร้างกฎหมาย เป็นแต่ผู้ประกาศว่ากฎหมายใดที่มีอยู่นานแล้วนั้นให้ปรากฎแก่ประชาชนในสังคมทราบเท่านั้น ผู้พิพากษาจึงไม่ได้สร้างกฎหมายขึ้นตามอำเภอใจแต่ประการใด ในระบบคอมมอนลอว์ดั้งเดิม ผู้พิพากษาจึงตีความกฎหมายของรัฐสภาให้แคบที่สุด เพื่อมิให้มีผลเป็นการจำกัดอำนาจของศาลนั่นเอง

2. ลักษณะทั่วไปของ Civil Law

ระบบประมวลกฎหมาย หรือ Civil Law กำเนิดจากภาคพื้นยุโรป ได้รับอิทธิพลดั้งเดิมจาก Law of Twelve Table ในยุคโรมันโบราณ (450 B.C.) โดยประมวลกฎหมายที่เก่าแก่และได้รับการยอมรับมากที่สุด ได้แก่ประมวลกฎหมายของ Justinian Emperor (535 A.D.). ระบบประมวลกฎหมายในยุคหลังได้มีการพัฒนาแนวคิดจากยุคฟื้นฟูอันรุ่งโรจน์ หรือ “Enlightenment movement” ที่ได้เรียนรู้ว่า การปกครองโดยเผด็จการและผู้นำเพียงคนเดียว จึงได้มีแนวคิดเรื่องแบ่งแยกอำนาจ หรือ “Separation of Powers” ขึ้น ทั้งยังได้สร้างแนวคิดเรื่อง “Principle of Legality” ที่ว่า การบังคับใช้กฎหมายจะต้องเป็นธรรม ดังนั้น กฎหมายจึงจะต้องได้รับการประกาศให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบล่วงหน้าก่อน ห้ามบัญญัติขึ้นบังคับสำหรับการกระทำที่ผ่านไปแล้ว (retroactive) ซึ่งตรงกับสุภาษิตละตินว่า “Nulla Poena Sine Lega,” แปลได้ว่า “No Crime, Without the Law.” หรือ การไม่โทษโดยไม่มีกฎหมายนั่นเอง ตามแนวคิดนี้ จึงไม่ยอมรับการสร้างหรือประกาศ Crime โดยผู้พิพากษา ตามแนวทางของ common law แต่สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกานั้น แม้จะได้รับอิทธิพลจาก common law ของอังกฤษก็ตามแต่อเมริกา ได้สร้างหลักการโดยรับเอาหลักการแบ่งแยกอำนาจและหลักความชอบด้วยกฎหมาย มาเป็นแนวทางการบัญญัติและบังคับใช้กฎหมาย การสร้างฐานความผิดใด ๆ จึงต้องประกาศเป็นกฎหมายเป็นการล่วงหน้าโดยอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติเสมอ ไม่มีการประกาศบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นอันขาด

ไม่ว่ากฎหมายจะมีที่มาอย่างไร เพื่อความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย จึงต้องห้ามมิให้มีการออกกฎหมายบังคับให้มีผลย้อนหลังเสมอ เว้นแต่ กฎหมายนั้น จะเป็นคุณมากกว่า หรือ เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับวิธีพิจารณาความ และ วิธีการเพื่อความปลอดภัย ซึ่งจะต้องตีความอย่างเคร่งครัดเสมอ ไม่ใช่ว่า จะตีความกฎหมายที่กำจัดสิทธิหรือกำหนดโทษย้อนหลังให้กลายเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยไปได้

อาชญากรรม (Crime) คือ อะไร ?

ท่าน Cesare Beccaria, ได้เขียนไว้ในหนังสือที่มีชื่อว่า On Crimes and Punishment, 64 ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1764 ว่า “The true measure of crimes is the harm done to society.” ซึ่งได้ถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาว่า อะไรที่สังคมควรกำหนดให้มีโทษทางอาญาบ้าง และ ควรจะมีขอบเขตสักเท่าไหร่โดยเฉพาะในการกำหนดโทษทางอาญา หรือการลงโทษนั้น นักวิชาการส่วนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า อาชญากรรมได้เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะกฎหมายอ่อนแอ ดังนั้น หากกฎหมายเข้มแข็ง ลงโทษรวดเร็ว และรุนแรงพอ ก็จะทำให้อาชญากรรมลดลง ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามเห็นว่า จะไม่เป็นธรรมหากกำหนดกฎหมายรุนแรงเกินสมควร

เมื่อเรากล่าวถึง “อาชญากรรม” ตามสามัญสำนึก เราก็จะนึกการกระทำที่ผิดจากที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยผู้กระทำประสงค์ที่จะกระทำ ด้วยหัวใจที่ชั่วร้าย ในขณะที่การกระทำผิดทางแพ่ง เป็นเรื่องที่ใกล้เคียงกับอุบัติเหตุ (accident) เช่น ขับขี่รถยนต์เฉี่ยวชนกับรถยนต์อื่นโดยไม่ได้เจตนาจะทำให้ทรัพย์ผู้อื่นเสียหาย หรือทำให้ผู้อื่นตาย อาชญากรรม ในทางอาญา จึงเป็นการก่อให้เกิดภัยแก่สังคม และแก่ปัจเจกชนที่ได้รับผลกระทบไปพร้อม ๆ กัน ในทาง Law & Economics จึงเห็นว่า การจะกำหนดให้สิ่งใดเป็นอาชญากรรม จะต้องอยู่บนพื้นฐานที่ว่า เมื่อได้กำหนดไปแล้ว จะยับยั้งการกระทำบางประการ ซึ่งจะมีผลเป็นการเพิ่ม social welfare แก่สังคมโดยรวม และการลงโทษ ก็เพื่อทำให้เพิ่ม social welfare ด้วย ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการลดต้นทุนของสังคม (social cost) ด้วย ในทางศีลธรรม อาชญากร ควรได้รับการลงโทษ เพราะเขามีการกระทำที่ชั่วร้าย มีความผิดจากมาตราฐานทางศีลธรรม การกระทำของเขาเป็นสิ่งที่ควรถูกตำหนิติเตียน แม้แนวคิดในเรื่องศีลธรรมกับกฎหมายในปัจจุบัน อาจจะมีเส้นแบ่งระหว่างกัน แต่ในทางความเป็นจริงแล้ว หากกฎหมายใดที่ไม่ได้มีพื้นฐานจากศีลธรรม กฎหมายนั้นก็จะมีค่าบังคับไม่มากนัก และอาจจะได้รับการเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยง่าย

หากการกระทำใด น่าตำหนิติเตียน หรือ ควรจะต้องรับผิดตามความหมายของกฎหมายอาญาแล้ว สิ่งนั้น จะต้องมีพื้นฐานมาจากการกระทำที่อาชากร มีจิตใจที่ชั่วร้าย (criminal’s guilty mind) หรือ จะต้องมี Mens rea หรือ บางกรณีก็เรียกว่า criminal intent.

ในอดีต เมื่อสังคมไม่สลับซับซ้อน บรรทัดฐานทางสังคมอาจจะควบคุมความประพฤติได้ หรือ อาจจะชดใช้ทางแพ่งก็อาจจะเพียงพอหากผู้เสียหายพอใจ การลงโทษทางอาญาก็ดูจะไม่จำเป็น แต่การกระทำบางประการ การใช้ค่าเสียหายในทางแพ่ง ไม่สามารถทำให้สังคมกลับมาอยู่ในสภาพเรียบร้อยได้ดังเดิม สังคมมีต้นทุนอันเกิดจากการกระทำบางประการ การกำหนดโทษทางอาญา จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะกฎหมายอาญามุ่งคุ้มครองทั้งประโยชน์ของเอกชนที่เสียหายในรูปตัวเงิน และในขณะเดียวกันก็ยังประสงค์จะคุ้มครองประโยชน์สาธารณชน คือ ความสงบเรียบร้อยของสังคมด้วย แม้จะมีการชดใช้เป็นตัวเงินจนเหยื่อพอใจแล้ว รัฐก็ยังคงต้องดำเนินการลงโทษจำเลยที่กระทำผิดให้เหมาะสมต่อไป ทั้งนี้ เนื่องจากเชื่อว่า การลงโทษจะสามารถยับยั้งการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของสมาชิกอื่นในสังคมด้วย

ในทาง Law & Economics เชื่อว่า หากผสมผสานปัจจัยทั้งหลายได้แก่ ต้นทุนที่เกิดจากการละเมิดกฎหมาย (cost) ระดับความผิดของผู้ละเมิด (guilty) ความสามารถในการจับกุมผู้กระทำผิด (apprehension) และประสิทธิภาพในการลงโทษและอัตราการลงโทษ (efficiency of punishment and conviction) หากกระทำได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ประกอบกันแล้ว ก็จะสามารถยับยั้งการกระทำที่ผิดกฎหมาย ในทางตรงกันข้าม หากจำเลยสามารถคาดเห็นได้ว่า เขาจะหลีกหนีการถูกจับกุม หรือ การลงโทษได้โดยง่าย อัตราการลงโทษต่ำ ไม่ว่าจะเป็นเพราะการมีเจ้าหน้าที่ที่ไร้ประสิทธิภาพ หรือระบบกฎหมายที่ยากต่อการแสวงหาพยานหลักฐานหรือยากต่อการลงโทษ เขาก็จะไม่เชื่อฟังกฎหมาย และพร้อมจะละเมิดกฎหมายได้เสมอ

แนวคิดข้างต้น เป็นไปตามทฤษฎี Rationale Choice ซึ่งเชื่อว่า มนุษย์เป็นผู้มีเหตุผลและสติปัญญา จะคำนวณ ประโยชน์ (benefit) กับ ผลเสีย (Cost) ที่เขาจะได้รับ หากฝ่าฝืนกฎหมาย หากประโยชน์สูงกว่าผลเสียหายหรือต้นทุนที่จะมีต่อเขาอย่างมากแล้ว เขาก็จะตัดสินใจลงมือกระทำผิด ซึ่งทฤษฎีนี้ จะมีจุดอ่อน ตรงที่ว่า ไม่อาจจะประยักษ์ใช้กับความผิดประเภทบันดาลโทสะ หรือ ความผิดที่ไม่ใช่เกี่ยวกับตัวเงินโดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีทำให้เราเห็นว่า รัฐควรจะต้องลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญา แม้จะมีการชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งแล้วจนเป็นที่พอใจแก่เหยื่อแล้วก็ตาม เพราะค่าชดเชยทางแพ่ง มักจะไม่เพียงพอในการระงับยับยั้งการกระทำผิดในทางอาญา และการกระทำดังกล่าว จะกระทบต่อสิทธิของประชาชนโดยรวม ซึ่งก็คือ ผลประโยชน์สาธารณะนั่นเอง

ท้ายที่สุด การที่รัฐจะกำหนดว่าการกระทำใดเป็นความผิดทางอาญาหรือไม่นั้น ก็อาจจะต้องพิจารณาหลายปัจจัยที่จะต้องพิจารณาอย่างกว้างขวาง เช่น ปัจจัยด้าน การเมือง สังคม เศรษฐกิจ การปกครอง จิตวิทยา และ ปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับคุณค่าทางสังคมแต่ละสังคมที่แตกต่างกันไป แต่การลงโทษ จะต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการลงโทษ ไม่ว่าจะเป็น การยับยั้งเป็นการทั่วไป (General deterrence) หรือ ยับยั้งเป็นการเฉพาะ (specific deterrence) รวมถึง วัตถุประสงค์อื่น ๆ ที่อาจจะกล่าวได้โดยย่อ ดังนี้

วัตถุประสงค์การลงโทษ ได้แก่ (1) การแก้แค้นทดแทน - retribution; (2) การยับยั้งการกระทำผิด -deterrence; (3) การทำให้ผู้กระทำผิดหมดความสามารถในการกระทำผิดอีกต่อไป - incapacitation; และ (4) การแก้ไขฟื้นฟู - rehabilitation.

The retributive function. ทฤษฎีแรก หากจะเปรียบเทียบ ก็เหมือนทฤษฎี ตาต่อตา ฟันต่อฟัน เป็นการลงโทษให้สาสมกับการกระทำที่จำเลยได้กระทำไป ซึ่งทฤษฎี เป็นการลงโทษ เพื่อแก้แค้นทดแทน บนพื้นฐานของกรรมที่ต้องตอบสนองในสิ่งที่ได้กระทำไปแล้ว

The deterrence function: ทฤษฎีที่สอง แบ่งเป็น special deterrence และ general deterrence. ทฤษฎีมุ่งหวังว่า ถ้ามีการลงโทษผู้กระทำผิดแล้ว จะทำให้ผู้ถูกลงโทษนั้น เฉพาะรายสำนึกและไม่กระทำผิดอีก (Special deterrence) และ ทำให้ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นว่าบุคคลที่กระทำผิดจะต้องถูกลงโทษ ก็จะหวาดกลัวไม่กระทำผิดด้วย ซึ่งจะมีผลเป็นการรวม (General deterrence) ซึ่งจะมีผลเช่นนั้นได้ ก็ต่อเมื่อ บุคคลที่กระทำผิดหรือประชาชนที่มีแนวโน้มจะกระทำผิดได้คำนวณผลดีผลเสียแล้ว เห็นว่าต้นทุนที่จะเสียไม่คุ้มกับประโยชน์ที่จะได้รับนั่นเอง แต่สำหรับวัตถุประสงค์ในการลงโทษเฉพาะรายนั้น อาจจะยืดหยุ่นได้ตามลักษณะเฉพาะตัวของจำเลยเป็นสำคัญ

Incapacitation. ทฤษฎีที่สาม เห็นว่า ถ้าเราจำกัดเสรีภาพของคนชั่วไว้ในที่คุมขัง เขาก็จะไม่อาจจกระทำผิดได้ โดยเฉพาะผู้กระทำผิดติดนิสัย ยากที่จะกลับตัวเป็นคนดี การลงโทษแบบนี้ ก็จะเหมาะสม แต่ก็มีข้อโต้แย้งมากมายด้วยเช่นกัน

Rehabilitation. ทฤษฎีนี้ Karl Menninger ได้อธิบายว่าคนทำผิด เหมือนเป็นคนไข้ จำต้องหาทางเยียวยา เช่น การใช้วิธีการทางจิตวิทยา การใช้ไฟฟ้า หรือ ยาในการรักษาทำให้เขาเป็นคนดีดังเดิม รวมทั้ง ได้พยายามพัฒนาเทคนิควิธีการต่าง ๆ เพื่อให้จำเลยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในด้านแรงกระตุ้นและความพึงพอใจในการดำรงชีวิต แต่วิธีการเหล่านี้ ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากเช่นกัน .

ตัวแบบหรือกระบวนการควบคุมทางสังคม - Social Control:
นักกฎหมายและนักอาชญาวิทยา จะได้ยินตัวแบบการควบคุมทางสังคม ได้แก่ Due Process of Law กับ Crime Control Model เสมอ แต่แท้จริงแล้ว ยังมีตัวแบบอื่น ๆ เช่น ตัวแบบในการคุ้มครองสิทธิของเหยื่อ เป็นองค์ประกอบทั้งด้าน จำเลย รัฐ และ สิทธิของเหยื่อควบคู่เข้าไปในตัวแบบ แต่ผู้เขียน ไม่ได้นำมากล่าวในที่นี้ด้วย

Herbert Packer ได้อธิบายว่า กระบวนการดำเนินคดีอาญานั้น จะต้องคำนึงถึงคุณค่าทางสังคมที่มุ่งคุ้มรอง ได้แก่ freedom และ liberty ของปัจเจกชน กับ อีกคุณค่าหนึ่ง คือ ความสงบเรียบร้อยของสังคม (public order of the society) โดยส่วนรวม รัฐจึงต้องจัดการให้สมดุล เพราะการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐ มักจะต้องก้าวล่วงล้ำเข้ามาในดินแดนของเสรีภาพของประชาชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ตัวแบบที่กล่าวถึง จึงเป็นไปในทางตรงกันข้าม ได้แก่ Crime Control Model กับ Due Process of Law โดยตัวแบบ Crime Control Model เน้นที่ประสิทธิของกระบวนการดำเนินคดี และสันนิษฐานว่าเจ้าหนี้ของรัฐบริสุทธิ์ใจ เชื่อถือได้ คนที่ถูกจับจึงได้รับการสันนิษฐานว่ากระทำผิดจริง พยานหลักฐานที่ได้มา หากน่าเชื่อถือหรือเป็นจริงแล้ว ก็จะรับฟังได้ ไม่ถูกตัดออกจากการเป็นพยานหลักฐาน เช่น ใน ค.ศ.ที่ 12 พยานหลักฐานทั้งปวง แม้จะได้มาจากการทรมาน ก็ยังสามารถรับฟังได้ กฎเกณฑ์ในเรื่อง การเน้นถึงความน่าเชื่อและคุณค่าของพยานหลักฐานนั้น สามารถรับฟังได้ ก็ยังคงใช้ได้ในประเทศ civil law countries ในปัจจุบัน

ในทางตรงกันข้าม due process of law เป็นตัวแบบที่มุ่งคุ้มครองสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของปัจเจกชนทุกคน ที่ไม่ถูกล่วงละเมิดในเสรีภาพ โดยปราศจาเหตุผลอันสมควรและเหตุที่จะอ้างได้ตามกฎหมาย กฎเกณฑ์นี้ จึงห้ามมิให้รัฐละเมิดสิทธิของประชาชนโดยปราศจากระบวนการทางกฎหมายที่ชอบ นักวิชาการมองว่า ตัวแบบนี้ ยับยั้งความสามารถของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ เพราะจะต้องดำเนินการตามกระบวนการตามกฎหมายวิธีพิจารณาความ และ กฎหมายสันนิษฐานว่าผู้ถูกจับเป็นผู้บริสุทธิ์ (Presumption of innocent) หากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ละเมิดกฎเกณฑ์ตามกฎหมายในการแสวงหาพยานหลักฐาน พยานหลักฐานที่ได้มา ย่อมถูกตัดออกจากการเป็นพยานหลักฐาน ตามกฎการตัดพยานหลักฐาน (Exclusionary Rule) เพราะถือว่า ไม่เป็นธรรมต่อจำเลย

ทั้งสองตัวแบบนี้ แตกต่างกัน ตัวแบบแรก Presumption of guilt จะเกิดขึ้นเมื่อมีการจับกุม จำเลยต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเอง แต่สำหรับทฤษฎีที่สองนั้น ผู้ถูกจับจะได้รับการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ ตามหลัก Presumption of Innocent จนกว่า รัฐจะหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์จนปราศจากสงสัยได้ว่าจำเลยกระทำผิดจริง เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่อาจจะละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนหรือผู้ต้องสงสัยได้โดยปราศจากกฎหมายให้อำนาจหรือมาตรการป้องกันเช่น จะต้องได้รับหมายจากศาลก่อน สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับสองตัวแบบข้างต้น สามารถหาอ่านได้จาก หนังสือของท่าน Herbert Packer ใน The Limits of the Criminal Sanction, 283-84 (1968)

คำถาม คือ ท่านเห็นว่าอย่างไร ตัวแบบไหนควรจะนำมาใช้บ้าง หรือควรจะผสมผสานให้เกิดความสมดุลกันในการดำเนินคดีอาญาอย่างไร

สำหรับหลักเกณฑ์เรื่อง ความชอบด้วยกฎหมาย : PRINCIPLE OF LEGALITY หลัก Principle of Legality ในปรากฏในรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา ใน clause (3) ของ Article I § IX บัญญัติว่า “No bill of attainder or ex post facto law shall be passed,” และได้บัญญัติซ้ำใน clause (1) ของ Article I, § 10, ความว่า “No state shall enter into any treaty,…; pass any bill of attainder, ex post facto law, or law impairing the obligation of contract, or grant any title of nobility.” หมายความว่า ทั้งรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ และ รัฐบาลท้องถิ่น ห้ามออกกฎหมายให้มีผลย้อนหลังโดยเด็ดขาด กฎเกณฑ์เดียวกัน ก็ได้ประกาศไว้ในกฎหมายของทุกประเทศ เช่น มาตรา 2 ของประมวลกฎหมายอาญาของไทย

กฎเกณฑ์นี้ สรุปความได้ว่า กฎหมายที่มีโทษในทางอาญา หรือกฎหมายใด ๆ ที่เป็นผลร้ายจะต้องมีการกำหนดนิยามไว้ล่วงหน้าโดยกระบวนการทางนิติบัญญัติ โดยถ้อยคำนั้น จะต้องมีความชัดเจนเพียงพอที่จะให้ประชาชนทั่วไปธรรมดาสามัญเข้าใจได้ว่า อะไรคือ สิ่งที่ต้องห้ามสำหรับประชาชน และกฎหมายดังกล่าว จะต้องบัญญัติและประกาศให้ทราบทั่วกันเป็นการทั่วไปล่วงหน้าด้วย ทั้งนี้ เพื่อ

1. มิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ จะต้องตีความและบังคับใช้กฎหมายเอาเองตามใจชอบหรือตามอำเภอใจ เช่น การกระทำอะไรที่ถือว่าขัดต่อความสงบเรียบร้อย หากกฎหมายบัญญัติกว้างขวางเกินไป ไม่ได้ระบุรายละเอียดให้เพียงพอ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะใช้ดุลพินิจของตนเอง ซึ่งอาจจะแคบหรือกว้างแตกต่างกันอย่างชนิดคาดไม่ถึงเลยก็ได้

2. ป้องกันมิให้ประชาชนรู้สึกไม่เป็นธรรม สำหรับการกระทำที่ได้สำเร็จไปแล้ว และไม่เคยต้องห้ามตามกฎหมาย กลับกลายเป็นความผิดทางอาญาไปได้ ก็จะเกิดผลร้ายต่อสังคม เพราะประชาชนจะต่อต้าน และรู้สึกว่ารัฐเลือกปฏิบัติ หรือออกกฎหมายเพื่อกลั่นแกล้งตนเอง หรือกลุ่มของตนเอง

หลักเกณฑ์เรื่อง Principle of Legality ยังเป็นพื้นฐานในการบัญญัติกฎหมายว่าจะต้องมีความชัดเจนเพียงพอ ไม่มีลักษณะที่คลุมเครือ (Constitutional vagueness) ซึ่งทำให้ประชาชนไม่อาจจะเข้าใจได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ต้องห้าม ฯลฯ กฎหมายเช่นนี้ ก็ขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย เป็นต้น นอกจากนี้ กฎเกณฑ์นี้ ยังขยายไปถึงว่า กฎหมายอาญาต้องชัดเจน ดังนั้น จะนำกฎหมายทั่วไป หรือกฎหมายจารีตประเพณีมาขยายความเพื่อลงโทษจำเลยไม่ได้ จะตีความขยายความรับผิดทางอาญาก็ไม่ได้ สุดท้าย ศาลควรจะมีบทบาทในการตีความกฎหมาย แต่ไม่ใช่ประกาศว่าการกระทำใด ถือเป็นอาชญากรรม ฝ่ายนิติบัญญัติเท่านั้น ที่จะต้องพิจารณาและบัญญัติกฎหมายให้ทันสมัย





Create Date : 04 พฤศจิกายน 2552
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:44:00 น. 0 comments
Counter : 1591 Pageviews.

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.