*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 
สภา Congress สหรัฐฯ และ Cyberspace crime

หัวข้อเรื่องวันนี้ (๒๐ มกราคม ๔๙) ความจริง ไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกันมากนัก เพียงแต่อยากจะบันทึกเรื่องที่ฟัง อ่าน และพบมา ไว้เท่านั้นครับ

เรื่องแรก คือ เมื่อคืนก่อน (๑๙ มกราคม ๔๙) ผมไม่ได้ฝันบ้า ๆ บอ ๆ อีกหรอกครับ .... (เขาว่ากันว่า คนเราฝันทุกคืน ๆ ละหลายเรื่อง แต่เราจำไม่ได้) แต่ผมดูรายการโทรทัศน์ C-SPAN2 <ท่านที่สนใจ ลองเข้าชมที่เวปไซต์ c-span.org ได้ครับ> ซึ่งเป็นรายการที่ถ่ายทอดการดำเนินการของสมาชิกรัฐสภาสหรัฐ หรือ สภา Congress จึงมีเรื่องมาเขียนเล่าให้ฟังกัน

สำหรับรายการดังกล่าวนี้ คณะกรรมาธิการของรัฐสภา ที่ศึกษาเกี่ยวกับการปกป้องเด็กและเยาวชน ได้เชิญ ผู้แทนสำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง หรือ F.B.I. และ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด (Attorney General) รวมทั้งผู้แทนของบริษัทเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการให้บริการทางอินเตอร์เน็ต เช่น บริษัทอเมริกันออนไลน์ (A.O.L.) ไปร่วมชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการตามกฎหมายในเรื่องต่าง ๆ เรื่องที่ผมดู เป็นเรื่อง การดำเนินการตามกฎหมาย เพื่อการป้องกันเด็กและเยาวชน จากการถูกแสวงประโยชน์ทางเพศ ไม่ว่าเป็นเรื่อง การเผยเผยแพร่ภาพโป๊ของเด็ก หรือสื่ออื่นๆ ที่มีกิจกรรมทางเพศมาเกี่ยวข้องกับเด็ก ทั้งบนโลกอินเตอร์เน็ต หนังสือปลุกใจเสือป่า ภาพ หรือ สิ่งอื่น ๆ ในทำนองเดียวกัน

ตามกฎหมายสหรัฐฯ การเผยแพร่ภาพเด็ก ในทำนองจะสื่อไปในทางเพศ เป็นเรื่องต้องห้าม และมีความผิดร้ายแรง การต้องห้ามนี้ รวมไปถึง ภาพการ์ตูนที่เป็นเด็กด้วย ผู้กระทำการผลิต ตัดต่อ เผยแพร่ ภาพดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นภาพเด็กจริง ๆ หรือ ภาพโป๊ของเด็กที่เป็นภาพการ์ตูน หรือภาพจินตนาการ รวมไปถึงผู้ช่วยเหลือ และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตที่มีส่วนเผยแพร่สิ่งลามกดังกล่าว ล้วนมีความผิดตามกฎหมายอย่างร้ายแรงทั้งสิ้น

หลังจากมีการรายงานผลการดำเนินการโดยผู้แทนฝ่ายรัฐฯ แล้ว คณะกรรมาธิการ เพื่อเด็กและเยาวชนของสหรัฐฯ ได้ไต่ถาม ความต้องการของอัยการ (ซึ่งในสหรัฐ อัยการสูงสุดสหรัฐฯ เป็นฝ่ายการเมือง ต่างจากอัยการสูงสุดในไทย ที่เป็นข้าราชการประจำ) และเจ้าหน้าที่ F.B.I. ว่า มีความต้องการให้รัฐสภา ออกกฎหมายใดเป็นการเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินการหรือไม่ มีอุปสรรคใด ในการดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ ฯลฯ

กระบวนการออกกฎหมายของสหรัฐฯ นี้ นับว่าแตกต่างจากประเทศไทยอย่างมาก เพราะรัฐสภาของไทย โดยคณะกรรมาธิการคณะต่าง ๆ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าปัจจุบัน มีจำนวนเท่าใด (น่าจะเกือบ ๓๐ คณะ) แทบจะไม่เคยแสดงบทบาทใด ๆ ในการบัญญัติกฎหมาย เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานฝ่ายบริหาร ซึ่งเป็นฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย ได้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย ประเทศไทย จะรอให้หน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ เสนอกฎหมายเข้าไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา จากนั้น คณะรัฐมนตรี อาจจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอมา หลังจากตัวแทนจากหน่วยงานที่เสนอกฎหมาย ก็ไปชี้แจงต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่ากฎหมายมีความจำเป็นอย่างไร ฯลฯ กว่าจะผ่านออกมาได้ ก็ใช้เวลาค่อนข้างนานมาก ๆ บางทีหมดวาระไปก่อน หากรัฐบาลใหม่เข้ามา แล้วไม่เล่นด้วยละก็ ผลก็คือ ร่างกฎหมายเก่านั้นก็ตกไป แม้จะผ่านการรับรองของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว แต่ยังไม่ครบถ้วนกระบวนความตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ตรงกันข้ามกับรัฐสภา หรือ หน่วยงานระดับมลรัฐ ของสหรัฐฯ มาก สภา congress หรือ สภาของมลรัฐ จะมีหน่วยงานผู้ชำนาญการในการร่างกฎหมาย และตอบสนองความต้องการของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายอย่างรวดเร็ว ไม่ต้องรอให้หน่วยงานใด เสนอมาแบบไทย ๆ ซึ่งหน่วยงานราชการไทย ส่วนใหญ่เอง ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับนักกฎหมายเท่าไหร่ เพราะเป็นงานที่ไม่มีหน้าไม่มีตา เช่นหน่วยงานตำรวจ งานกฎหมาย เสมือนงานปิดทองหลังพระ ไม่สร้างภาพลักษณ์ที่โดดเด่นแบบงานป้องกันปราบปราม งานสืบสวน จับกุมร้าย นายตำรวจใหญ่บางท่าน ถึงกับขนาดกล่าวว่า ไม่ต้องสนใจงานหนังสือ หรืองานกฎหมาย ใส่ใจงานจับผู้ร้าย รายสำคัญ ๆ ก็พอ ....

ผมเห็นแตกต่างอย่างมาก เพราะ หากจับได้ แต่ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย หลักฐานไม่เพียงพอที่จะลงโทษผู้ร้ายได้แล้ว การลงทุน ติดตามจับกุมผู้ร้าย ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก แต่รัฐบาลไทยในอดีตไม่เคยตั้งงบประมาณแผ่นดินให้ตำรวจไปติดตามจับกุมผู้ร้าย ที่อาจจะหลบหนี ไปต่างจังหวัด ซ่อนตัว อยู่ตามที่ต่าง ๆ แรมเดือน แรมปี ... ตำรวจที่มุ่งมั่น ก็อาจจะลงทุน ใช้เงินส่วนตัว ติดตามจนสามารถจับกุมผู้ร้ายนั้นได้ แต่การลงทุนนั้น จะสูญเปล่าทันที หากสุดท้าย ไม่มีพยานหลักฐานในการลงโทษจำเลยนั้น

ผมฝันของผมว่า อยากเห็นรัฐสภาไทย มีคุณภาพ มีความกระตือรือร้นในการออกกฎหมายดี ๆ เพื่อบ้านเมือง กฎหมายบางเรื่อง เช่น ภาษีมรดก หรือ ภาษีบ้านเรือนของคนรวย ๆ ที่มีเนื้อที่ดินเยอะ ๆ เช่นว่า ใครมีที่ดินเยอะ ก็ควรจะเสียภาษีเยอะ โดยเฉพาะคนที่มีที่ดิน เพื่อเก็งกำไร ไม่ได้ทำประโยชน์ให้เกิดความงอกงามทางเศรษฐกิจใด ๆ ก็ควรจะเสียภาษีเยอะ คณะกรรมาธิการ สมาชิกรัฐสภา และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องของไทย ก็ควรเร่งดำเนินการให้เป็นจริงเป็นจังให้ได้ ไม่อยากเห็นการตั้งคณะกรรมาธิการต่าง ๆ ของรัฐสภาไทย ทำเพื่อเป็นเกียรติ หรือ จับผิดฝ่ายบริหารเท่านั้น

ขอย้อนกลับมาเรื่องที่สอง ตามหัวเรื่อง คือเรื่อง Cyberspace crime หรือ อาชญากรรมที่เกิดขึ้นในโลกของอินเตอร์เน็ต หากจะพูดกันจริง ๆ แล้ว กฎหมายที่ครอบคลุมในประเด็นนี้ ในสหรัฐเอง ก็เพิ่งจะมีการศึกษาอย่างจริงจัง ในช่วงปี ค.ศ.๑๙๙๐ ที่ผ่านมานี่เอง และหลายเรื่อง ก็ยังไม่มีคำพิพากษาตัดสินไว้เป็นคดีบรรทัดฐาน และไม่มีการบัญญัติกฎหมายไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรด้วย หากคดีประเภทนี้เกิดขึ้นในสหรัฐฯ ก็คงจะต้องสู้กันมันส์หยดแน่ ๆ ระหว่างผู้ถูกฟ้องกับผู้ฟ้องคดี

ตัวอย่างของการกระทำบนโลกอินเตอร์เน็ต เช่น สมมุติว่าเราเล่นเกมส์ออนไลน์ เราเล่นเก่ง สามารถสะสมอาวุธได้อย่างมากมาย ในขณะที่คนอื่นเล่นไม่เก่ง แต่อยากได้อาวุธจากเรา อาวุธ ในเกมส์ออนไลน์ ก็เป็นเพียงข้อมูลที่มีการบันทึกโดยระบบคอมพิวเตอร์ ปัญหาคือ วันดีคืนดี มีมือดี เก่งกาจทางคอมพิวเตอร์ เข้ามาขโมยอาวุธของเราไป โดยไม่ยอมซื้อหาจากเราโดยดี การกระทำดังกล่าวจะมีผิดทางอาญาหรือไม่ หรือ อย่างน้อย เราจะเรียกร้องในทางแพ่งได้หรือไม่ อันนี้ คือ ปัญหาที่น่าสนใจสำหรับสังคมของเรา ที่นับวันอินเตอร์เน็ตจะเข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของเรามากขึ้นทุกวัน

เรื่องในทำนองที่กล่าวมาข้างต้นนี้ เคยเกิดขึ้นในประเทศจีน ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๒๐๐๕ นาย Qui Chengwei ได้จ้วงแทงนาย Zhu Caoyuan ที่หน้าอก เพราะนาย Zhu ได้ขอยืมอาวุธเสมือนจริงที่เล่นได้จากเกมส์ออนไลน์ จากนาย Qui โดยอ้างว่า จะนำไปใช้ในการต่อสู้ในเกมส์นั้น แต่ปรากฎว่า นาย Zhu ได้แอบเอาอาวุธนั้นไปขาย ได้เงินมาถึง ๗,๐๐๐ หยวน หรือ ประมาณ ๔๗๓ ปอนด์ โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนาย Qui แถมยังไม่ยอมแบ่งให้นาย Qui อีกด้วย (มันน่าเจ็บใจไหมละครับ)

เมื่อนาย Qui ล่วงรู้ จึงได้ไปแจ้งความกับตำรวจในข้อหา "ยักยอก" โดยนาย Zhu ได้ครอบครองข้อมูลที่เสมือนเป็นอาวุธดาบ (virtual sword) ของตน แล้วเบียดบังเป็นของตนเอง พร้อมนำไปขาย โดยที่ไม่ได้รับอนุมัติจากนาย Qui เลย ตำรวจจีน ท่านไม่รับแจ้งความ โดยบอกว่า ยังไม่มีกฎหมายกำหนดให้การกระทำดังกล่าวของนาย Zhu เป็นความผิดทางอาญา เป็นเหตุให้นาย Qui เดือดดาลเป็นยิ่งนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อนาย Zhu ที่แต่แรกเริ่มเดิมที ยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนด้วยแล้ว นาย Qui จึงเลิกพูดถึงดาบเสมือนจริง (virtual sword) ที่ตนเอง นั่งหลังขดหลังแข็งต่อสู้จนได้มาอีกต่อไปแล้ว แต่นาย Qui คิดถึงแต่ดาบจริง ๆ แล้วเขาก็เอาดาบจริง ๆ ฝากไว้บนอกของนาย Zhu เข้าให้ ปัจจุบัน นาย Qui จึงถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิตเพราะการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา แต่ให้ชะลอการประหารชีวิตไปก่อน (หากท่านผู้ใดสนใจจะอ่านรายละเอียดโปรด คลิ๊กที่นี่ ได้เลยครับ)

ในทางตรงกันข้าม เรื่องทำนองนี้ หากเกิดขึ้นในเกาหลีใต้แล้ว ย่อมไม่รอดเป็นแน่แท้ ตำรวจเกาหลี ได้ตั้งหน่วยสืบสวนสอบสวนคดีทาง Technology ลักษณะนี้โดยตรง มาหลายปีแล้ว เช่น ในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ มีการรายงานคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดในโลกของอินเตอร์เน็ตนี้ ประมาณ ๔๐,๐๐๐ คดี ในรอบ ๖ เดือน โดยครึ่งหนึ่ง เป็นคดีที่เกิดขึ้นและเกี่ยวกับเกมส์ออนไลน์ เนื่องจากเกาหลีใต้ตระหนักว่า การซื้อขายสิ่งของต่าง ๆ บนอินเตอร์เน็ต มีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง โดยเปรียบเทียบกับเงินในบัญชีของเราที่ฝากธนาคารไว้ แท้จริง ก็คือ ข้อมูลที่บันทึกไว้เท่านั้น หาใช่ตัวเงินจริง ๆ ที่ธนาคารได้รวบรวมไว้เสียที่ไหนเล่า ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลบนเกมส์ออนไลน์ ก็ควรได้รับการคุ้มครองด้วย (หากผู้ใดสนใจ โปรด คลิ๊กที่นี่ ได้เลยครับ)

หากเราจะพิจารณาปัญหาในเรื่องนี้ คงจะต้องมองกลับไปถึงปัญหาพื้นฐานในทางกฎหมาย ที่จะต้องพิจารณาก่อนว่าข้อมูลเหล่านี้ เป็นทรัพย์ หรือเป็นเพียงแค่ข้อมูลในโลกไซเบอร์ ที่ไม่ใช่ "ทรัพย์" ตามกฎหมาย หากเป็น "ทรัพย์" ตามนิยามกฎหมายแล้ว ก็จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอาญา หากมีผู้ใดมาล่วงละเมิดสิทธิของเจ้าของทรัพย์นั้น แต่หากมองเป็นเพียงข้อมูลที่บันทึกในโปรแกรมคอมพิวเตอร์แล้ว ก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอาญา

ในทางกฎหมายนั้น "ทรัพย์" จะต้องมีรูปร่าง จับต้อง และถือเอาได้ อาวุธเสมือนจริง (Virtual sword) นั้น ไม่อาจจับต้องได้ ไม่มีรูปร่าง จึงไม่เข้านิยามของคำว่า "ทรัพย์" ที่ได้กล่าวไปแล้ว ครั้นจะเหลียวมองไปยังกฎหมายอื่น ๆ โดยเฉพาะกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะครอบคลุมเรื่องลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร และเครื่องหมายการค้าเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลที่เป็นอาวุธเสมือนจริง (Virtual sword) หรือ ทรัพย์สินเสมือนจริงในโลกไซเบอร์ ก็ไม่อยู่ขอบข่ายกฎหมายดังกล่าวอีก จึงไม่ได้รับการคุ้มครองใด ๆ ตามกฎหมายอาญา

ไม่ทราบว่าเมืองไทยเรา ได้คิดไปถึงไหนแล้ว โดยเฉพาะองค์กร อย่างเนคเทค ที่มีหน้าที่โดยตรงในการเสนอกฎหมายนี้ ได้เสนอกฎหมายที่ครอบคลุมประเด็นดังกล่าวไปครบถ้วนหรือไม่ เพราะไม่อยากให้ประชาชนรู้สึกว่า พึ่งพากฎหมายไม่ได้ แล้วหันไปช่วยตัวเอง โดยใช้หลักตาต่อตา ฟันต่อฟัน ดีกว่า ....

เอาละครับ วันนี้เอาเรื่องวุ่น ๆ มาถ่ายทอดให้ฟังเพียงเท่านี้ หากใครมีเวลาว่าง ขอเสนอให้อ่านบทความเรื่อง A Rape in Cyberspace ได้ที่นี่ครับ .... คลิ๊กเลยครับ



ปล.๑ ความเห็นผมนะครับ ... ผมว่าบทความเรื่อง A Rape in Cyberspace นี้ ใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ยากมาก ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ครับ (ขอสารภาพ)

ปล.๒ ขอถามความเห็นเพื่อน ๆ ว่า ถ้าเราสมัครใจเล่นเกมส์ออนไลน์ มีผู้เข้าร่วมเกมส์ ไล่ติดตาม จะข่มขืนเรา โดยใช้วาจา เสียง ฯลฯ ที่น่ากลัว จนในที่สุด ข่มขืนเราได้ในโลกอินเตอร์เน็ต การกระทำนั้น ควรจะมีการบัญญัติให้เป็นความผิดตามกฎหมายอาญาหรือไม่ ครับ (ข้อเท็จจริง มาจากบทความเรื่อง A Rape in Cyberspace นั่นแหละครับ)

ปล. ๓ เกมส์ออนไลน์ เป็นเพียงตัวอย่างในปัญหาทางกฎหมายของโลกอินเตอร์เน็ต แต่จริง ๆ ยังมีปัญหาอื่น ๆ มากมาย เช่น การทำสัญญาค้าขายโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ การเข้าถึงข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต การฉ้อโกงทางอินเตอร์เน็ต ฯลฯ เป็นต้นครับ ปัญหานี้ ในเมืองไทยเรา อาจจะดูยังไม่ยิ่งใหญ่นัก เพราะ เมืองไทยเรายังมีกิจกรรมบนอินเตอร์เน็ตในลักษณะดังกล่าวน้อย แต่ไม่ใช่ว่าไม่สำคัญครับ



Create Date : 21 มกราคม 2549
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:35:22 น. 22 comments
Counter : 787 Pageviews.

 
เข้ามาลงชื่อก่อนเลยครับ เดี๋ยวขึ้นไปทีหลัง


โดย: jamba_juice IP: 12.178.137.231 วันที่: 21 มกราคม 2549 เวลา:11:50:59 น.  

 
เจอกันหลังไมค์ วันนี้กำลังฟัดกะ stat อยู่อะพี่


โดย: iconoclast IP: 69.237.21.201 วันที่: 21 มกราคม 2549 เวลา:11:59:44 น.  

 
ถ้าเปลี่ยนจากอาวุธในเกมส์เป็นข้อมูลทางธุรกิจซึ่งก็เป็นข้อมูลดิจิตอลเหมือนกัน หรือยิ่งถ้ามีการแฮกกิ้งข้อมูลสำคัญ เขาจะตัดสินยังไงครับนี่

ที่เกาหลีใต้มีการรับมือกับกรณีแบบนี้ได้เต็มที่อาจเป็นเพราะเรื่องธุรกิจทาง cyberspace อย่างพวกเกมส์ออนไลน์ของเขาเองค่อนข้างเฟื่องฟู ถ้าเทียบกับแถบเอเชียด้วยกันจริง ๆ ด้วยนะครับ อย่างพวกเกมส์ออนไลน์ก็มาจากทางนั้นซะเยอะเลย

ส่วนผลงานจากเนคเทคเมืองไทยนอกจากโปรแกรมดิกชันนารี, การสนับสนุนซอฟท์แวร์เสรีอย่าง Open Office และการแจ้งข่าวไวรัสคอมพิวเตอร์แล้วผมก็ไม่ค่อยเห็นอะไรที่กุมใจชาวไอทีได้เท่าไหร่ (เช่น โครงการสมาร์ทการ์ดที่ช่วงแรกออกมาแล้วก็ล่ม แต่ไม่รู้ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว - -") ไม่รู้ว่าสาเหตุหนึ่งคือปัญหาเรื่องงบประมาณรึเปล่านะครับ

ส่วน ปล.๒ นี่คิดยากเหมือนกันแฮะ ผมว่าอาจจะขึ้นอยู่กับสัญญาของทางบริษัทเกมส์ออนไลน์นะครับ ว่ามีการให้การคุ้มครองสมาชิกหรือกำหนดสิทธิ กฎเกณฑ์ของผู้เล่นมากน้อยแค่ไหน .. หรือถ้ามองว่าการโดนข่มขู่ข่มขืนแล้วมันมีผลกระทบต่อจิตใจ ซึ่งอาจจะเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ปัญหาอื่นของผู้เล่น (เช่น สุขภาพ?) แบบนี้ก็ควรจะผิดมั้งครับ .. คือจะว่าไปก็คล้าย ๆ กับการข่มขู่ในโลกของความเป็นจริงนะครับ แต่เปลี่ยนมาเป็นข่มขู่ผ่านสื่อออนไลน์แค่นั้นเอง

เอาเข้าจริง ๆ ผมก็ไม่ความรู้ทางกฎหมายซะด้วยครับ พอคิดต่อไปต่อมาเลยเริ่มงง ไม่รู้ว่ากรณีไหนจะผิดไหม หรืออะไรเป็นอะไรกันแน่ล่ะ T-T


โดย: dio ฯ IP: 220.245.178.134 วันที่: 21 มกราคม 2549 เวลา:13:46:51 น.  

 
ผมขอนอกเรื่องเสียหน่อย โดยขอนำเอาบทความเรื่อง "ข้อควรคำนึ่งในการเรียกร้อง "รัฐบาลพระราชทาน"" ซึ่งเขียนโดย อ. ชัชพล ไชยพร แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาโพสต์ไว้ ณ ที่นี้ เผื่อใครสนใจอ่านครับ

วิถีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยเรานั้น มีที่มา วิวัฒนาการ และคุณลักษณะพิเศษต่างไปจากบ้านเมืองอื่นอยู่หลายประการ

ด้วยเหตุนี้ หลายต่อหลายครั้ง เมื่อเกิดความขัดแย้งยุ่งยากใดๆ ในเมืองไทย อันก่อให้เกิดอารมณ์ที่ขุ่นหมองขึ้นในหัวจิตหัวใจ คนจำนวนไม่น้อยจึงหวังอ้างเอาพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่ง

จนในบางโอกาส อาจลืมนึกถึงหลักการตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นระบอบที่เราเลือกใช้ และนิยมนับถือกันว่าดีที่สุดนั้น มีวิถีทางเฉพาะอย่างไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต่อหลักการที่เรายอมรับกันโดยทั่วไปว่าพระมหากษัตริย์ทรงวางพระองค์เป็นกลาง และทรงสถิตเป็นหลักชัยอยู่เหนือการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง

จะด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ ในระยะนี้ ได้เกิดกระแสเรียกร้องรัฐบาลพระราชทานและนายกรัฐมนตรีพระราชทานขึ้นอย่างหนาหู เมื่อฟังเผินๆ ก็ดูคล้ายจะเป็นการแสดงออกซึ่งน้ำใจจงรักภักดี

เช่น การกล่าวอ้างว่าสมควรจะถวายพระราชอำนาจคืนไปยังพระมหากษัตริย์ เพื่อจักได้พระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยชี้ชัดเลือกสรรบุคคลผู้สมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐบาล สุดแต่พระราชอัธยาศัยทุกประการ

ท่ามกลางกระแสดังกล่าว ก็เกิดประเด็นสงสัยขึ้นในใจใครหลายคนว่า สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ เป็นจลาจลวุ่นวายถึงขั้นเรียกได้ว่าหมดหนทางเยียวยา กระทั่งกฎหมายสิ้นสภาพบังคับ ถึงขนาดว่าต้องรบกวนเพราะยุคลบาลให้พระองค์ต้องทรงตัดสินพระราชหฤทัย มีพระบรมราชวินิจฉัยชี้ขาดในทางการเมืองแล้วกระนั้นหรือ?

นอกจากนี้ ยังเป็นการสมควรแล้วหรือไม่ที่เราจะปลุกกระแสเรียกร้องขอรัฐบาลพระราชทานจากพระมหากษัตริย์โดยไม่ขวนขวายหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นใดตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ?

รวมทั้งเกิดมีข้อควรคำนึงว่าการพระราชทานรัฐบาลในภาวะวิกฤต เฉกเช่นอดีตสมัยนั้น เป็นพระบรมราชวินิจฉัยที่พระราชทานมาเองในยามที่ทรงพระราชดำริเห็นสมควร มิใช่ธุระของผู้หนึ่งผู้ใดในการรบเร้าร้องขอ เช่นนั้นหรือไม่?

การเรียกร้องรัฐบาลเช่นว่านั้น จะส่งผลดีต่อพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐของพวกเราชาวไทยหรือไม่ ...เป็นเรื่องที่น่าคิดคำนึง และยิ่งน่ากังวลใจ เมื่อพิจารณาอุทาหรณ์ในหลายประเทศ (ที่ไม่ได้ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย) เช่น บรูไน ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้ตั้งคณะรัฐบาลได้โดยพระราชอัธยาศัยของพระองค์เอง จะพบว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการตรวจสอบ หรือวิจารณ์รัฐบาลก็ดำเนินไปได้อย่างไม่ใคร่สะดวก

และแน่นอนว่าเมื่อใดบุคคลที่ได้รับมอบหมายตามพระราชอัธยาศัยให้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในคณะรัฐบาลดำเนินนโยบายผิดพลาด หรือถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผลใดๆ ก็ดี พระเดชานุภาพแห่งพระเจ้าแผ่นดินของประเทศเหล่านี้ก็ถูกกระทบกระเทือนโดยตรงเมื่อนั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงวางบรรทัดฐานการวางพระองค์ของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทยเรานั้น ทรงถึงพร้อมด้วยพระปรีชาสามารถ แม้จะทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจตามกฎหมายและตามราชประเพณีหลายประการ แต่ก็ทรงบริหารพระราชอำนาจนั้นอย่างมีขอบเขต

หากไม่จำเป็นอย่างยิ่งยวดแล้ว ก็หาได้ทรงนิยมใช้พระเดชเชิงบัญชาสั่งการทางการเมือง ตามลักษณะ 'โองการ' ของเทวราชผู้ทรงอำนาจ หากแต่ทรงใช้พระคุณ โดยเฉพาะพระปัญญาคุณ และพระมหากรุณาธิคุณในลักษณะของธรรมิกราชผู้ทรงธรรมในการพระราชทานคำแนะนำและคำตักเตือนแก่ฝ่ายบริหารเป็นการภายใน เพื่อฝ่ายบริหารจะได้รับใส่เกล้าฯ มาพิจารณาเป็นแนวทางและใช้สติสำนึกในการปฏิบัติ

นับเป็นจุดเชื่อมประสานวิถีประชาธิปไตยกับการมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้อย่างสมานสนิทลงตัว และเป็นหนทางที่ทำให้ทรงดำรงความเป็นกลางในทางการเมืองไว้ได้เสมอมิมีด่างพร้อย

ในรัชกาลปัจจุบัน แนวพระราชดำริต่อหลักการที่ว่าในระบอบประชาธิปไตยนั้น พระมหากษัตริย์ทรงวางพระองค์เป็นกลางทางการเมือง ปรากฏในพระราชดำรัสที่พระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้สื่อข่าวในรายการพิเศษเรื่อง 'The Soul of the Nation' ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ บีบีซี ไว้เมื่อพุทธศักราช 2522 ความว่า

'เราพยายามวางตัวให้เป็นกลาง และร่วมมือโดยสันติวิธีกับทุกฝ่าย เพราะเชื่อว่าความเป็นกลางนี้จำเป็นสำหรับเรา...'

ส่วนแนวพระราชดำริในหลักการที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมืองนั้น ปรากฏแจ้งชัดในคราวที่มีการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 ซึ่งได้ระบุให้ประธานองคมนตรี เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา

ในครั้งนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน บันทึกพระราชกระแสเรื่องร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2517 มีเนื้อความในข้อ 2 แสดงให้เห็นชัดเจนว่าทรงยึดถือตามหลักที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง ทั้งยังไม่ทรงต้องพระราชประสงค์ที่จะให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ทรงเลือก หรือทรงแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย ไปเกี่ยวข้องพัวพันเสมือนหนึ่งองค์กรทางการเมือง

ขออัญเชิญความตอนหนึ่ง จากบันทึกพระราชกระแสดังกล่าวที่เคยตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์สยามรัฐฉบับวันที่ 7 ตุลาคม 2517 มาเพื่อพิจารณาเป็นแนวทางใส่เกล้าฯ ดังต่อไปนี้

'ตามมาตรา 107 วรรค 2 แห่งร่างรัฐธรรมนูญนี้ บัญญัติให้ประธานคณะองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภานั้น ไม่ทรงเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะประธานองคมนตรีเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัยตามความในมาตรา 16 เป็นการขัดกับหลักที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง (ในระบอบประชาธิปไตย) ทั้งจะทำให้ประธานองคมนตรีอยู่ในสภาพเหมือนเป็นองค์กรทางการเมือง ซึ่งขัดกับมาตรา 17 ด้วย'

เพียงแนวคิดที่จะให้ประธานองคมนตรีซึ่งเป็นบุคคลที่พระองค์ทรงเลือกและแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัยเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในการแต่งตั้งบุคคลทางการเมือง เช่น สมาชิกวุฒิสภา นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังไม่ทรงเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ดังนี้ ผู้ที่กำลังเรียกร้องให้มีรัฐบาลพระราชทานอาจไม่ทันฉุกคิดก็เป็นได้ว่า 'รัฐบาล' ตามวิถีทางแห่งระบอบประชาธิปไตย นั้นก็คือองค์กรทางการเมืององค์กรหนึ่ง ซึ่งย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกเพ่งเล็งสงสัย และถูกตรวจสอบซักฟอกได้ หากมีข้อผิดพลาดในการตัดสินใจก็ดี หรือในปฏิบัติการใดๆ ก็ดี ความรับผิดชอบทั้งนั้นย่อมตกแก่คณะรัฐบาล

'รัฐบาลพระราชทาน' ย่อมอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่จะต้องถูกเพ่งเล็งวิพากษ์วิจารณ์ได้โดยสาธารณชนดุจกันแล้วเราท่านไม่กังวลกันบ้างหรือว่า คำวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐบาลพระราชทานหรือบุคคลในรัฐบาลนั้นๆ อาจจะกระทบกระเทือนล่วงละเมิดไปถึงองค์พระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็นหลักชัยของประเทศ อันจะขัดต่อความในมาตรา 8 แห่งรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า 'องค์พระมหากษัตริย์ ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้'

กล่าวโดยสรุปก็คือ การเรียกร้องรัฐบาลพระราชทานนั้นอาจทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ ต้องพัวพันเกี่ยวข้อง และรับผิดชอบโดยตรงในการตัดสินใจทางการเมือง ประหนึ่งเป็นองค์กรทางการเมืององค์กรหนึ่งไปเสียโดยไม่จำเป็น

การใช้พระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีพระราชทาน ในภาวะวุ่นวายทางการเมืองเช่นที่เคยมีมาในอดีตนั้น ล้วนบังเกิดด้วยพระราชญาณทัศนะอันรอบคอบและแยบคาย เพื่อแก้ไขภาวะจลาจลของบ้านเมืองที่จำเป็นเฉพาะหน้า

เช่น เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ หากจะรอให้มีการซาวเสียงกันในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็จะเนิ่นช้าไป เพราะเหตุการณ์ในบ้านเมืองขณะนั้นยังวุ่นวายไม่น่าไว้วางใจนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีประธานสภานิติบัญญัติลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

การตัดสินพระราชหฤทัยพระราชทานนายกรัฐมนตรีในภาวะวิกฤตเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชวินิจฉัยสอดส่องเห็นสถานการณ์ล่อแหลมอันตรายของประเทศ ในเวลาที่สภาพการบังคับใช้กฎหมายตกอยู่ในภาวะปั่นป่วน เป็นสุญญากาศทางการเมือง แล้วจึงทรงแสดงพระราชบริหารในการนั้นออกมาด้วยดุลพินิจของพระองค์เอง เพื่อผลประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ มิได้เป็นด้วยกระแสรบเร้า 'ตั้งเรื่อง' ขึ้นไปขอพระราชทานรบกวนเบื้องพระบรมบาทยุคล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงสุดของพวกเราชาวไทยทั้งหลายนั้น ทรงเป็นรัตตัญญูผู้รู้ราตรีนาน ทรงมีประสบการณ์ได้ทอดพระเนตรเห็นความเป็นไปในด้านการเมืองการปกครองของไทยในยุคสมัยประชาธิปไตยมามากที่สุด เพราะทรงพบพานกับสถานการณ์ทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ มาตลอดระยะที่ทรงดำรงอยู่ในมไหสูรยราชสมบัติ นับถึงบัดนี้ได้ 60 ปี เนิ่นนานกว่ารัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่เพียงผ่านมาแล้วก็ผ่านไปในระยะเวลาอันสั้น

อาณาราษฎรผู้ได้อาศัยพระบรมโพธิสมภารเป็นที่พึ่งจึงพึงตระหนักในความจริงข้อนี้ เพื่อให้เกิดความอบอุ่นใจและมั่นใจว่า เมื่อได้ทรงพระราชดำริตริตรองด้วยพระราชอัจฉริยภาพทั้งด้านนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์อันสุขุมคัมภีรภาพแล้วว่าบ้านเมืองเดือดร้อนแสนสาหัสถึงขนาด

หากทรงพระราชดำริเห็นสมควรที่จะทรงแสดงพระราชบริหารในการใดไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อความผาสุกของประชาชน พระพ่อเมืองของพวกเราย่อมไม่ทรงดูดาย

และด้วยเดชะพระบารมีธรรม และพระราชอำนาจที่ยังทรงมีบริบูรณ์อยู่ตามนัยแห่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กับทั้งพระบรมราชกุศโลบายอันล้ำเลิศ แน่นอนว่า สมเด็จพระบรมธรรมิกมหาราชาธิราชเจ้า พระองค์นั้น ย่อมทรงตัดสินพระราชหฤทัยได้ด้วยพระองค์เอง ที่จะเสด็จลงมาทรงบำราบยุคเข็ญ แก้ไขวิกฤตการณ์นานาได้ ตามสถานและกาลสมัยอันเหมาะสม ดังที่เคยปรากฏมีกรณีตัวอย่างให้เห็นประจักษ์อยู่แล้ว


โดย: POL_US วันที่: 21 มกราคม 2549 เวลา:15:44:55 น.  

 
อ่านจนเหนื่อยเลยครับ น่าสนใจมากๆพี่ เม้นท์ไม่ออกเลย เพราะไม่มีความรู้ด้านนี้อะครับ แหะๆ


โดย: พ่อน้องโจ วันที่: 21 มกราคม 2549 เวลา:15:53:00 น.  

 
แพ้ 0 - 2 ค่ะ


โดย: rebel วันที่: 21 มกราคม 2549 เวลา:23:23:14 น.  

 
ในความเห็นผม ผมว่าเราต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของสามัญสำนึกนะครับ ขืนกฎหมายไปบ้าตามเกมออนไลน์ก็หมดกัน

คนเรามันจะฆ่ากันซะอย่าง เดินเหยียบเงากันก็ฆ่ากันได้ครับ เกมมันก็แค่สิ่งเร้าภายนอกเท่านั้น


โดย: praphrut608 วันที่: 22 มกราคม 2549 เวลา:0:07:37 น.  

 
สวัสดีครับ
แหมวันนี้ท่านพี่พลพูดแต่เรื่องหนักกบาลทั้งนั้นเลย พูดถึงเรื่องฝันแล้ว ฝันยังไงก็คงฝันได้ ฝันดี ฝันร้าย ฝันบอกหวย ขออย่างเดียว อย่าฝันเปียกก็แล้วกัน เหอๆๆ

ว่าแต่ว่า พี่ไปเยี่ยมบล๊อกผมบ่อยๆหน่อยแล้วกัน...ครับ

ปล.ตอนนี้ผมกำลังจะเป็นหมอยา...เอ้ย หมอความแล้วนะครับ


โดย: แจ้น IP: 202.133.176.101 วันที่: 22 มกราคม 2549 เวลา:1:09:03 น.  

 
มาเยี่ยมค่ะ เพิ่งเคยมาครั้งแรก ตามมาจากบล๊อคของคุณกุมภีน สวัสดีปีใหม่ค่ะ ขออนุญาตมาเป็นแฟนประจำบล๊อคด้วยคนนะคะ จะติดตามเรื่อยๆเลยค่ะ


โดย: ตึกโป๊ะ...ตึกตึก วันที่: 22 มกราคม 2549 เวลา:1:54:27 น.  

 
เพิ่งได้แหล่งที่มา ของบทความ อ.ชัชพล ไชยพร ... เลยเอามาโพสต์เพิ่มเติมครับ

//www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01act01120149&day=2006/01/12

เพื่อใครศึกษาทางประวัติศาสตร์ จะได้ใช้เป็นแหล่งอ้างอิงต่อไปได้ครับ

ปล. สงสัยบล๊อกนี้ เป็นบล๊อกไล่แขกแหง ๆ คงจะหนักสมองไป ก็ไม่มีใครให้ความเห็นเพิ่มเติมเลย ...แหะ แหะ


โดย: POL_US วันที่: 22 มกราคม 2549 เวลา:2:03:31 น.  

 
กลับมาอีกครั้ง สงสัยบล๊อกนี้ของป๋าพลคงหนักเกินไปจริงๆนั่นแหละ เรียกว่า ตีแผ่เรื่องหนักกบาลของคนใหญ่คนโตในวังหลวง เอ้ย ของคนเรียนกฎหมายได้ไหมนี่ 55555

ส่วนตัวผมมีความเห็นว่า คนที่เขียนเรื่องยากๆให้อ่านรู้เรื่องได้นั้นเก่ง แต่คนที่เขียนเรื่องยากๆให้อ่านสนุก เบาสมองนั้น "เก่งกว่า" ครับ

เพราะลำพังการเขียนหนังสือยากๆให้อ่านรู้เรื่องนั้น ถ้ามองกันจริงๆแล้วไม่ยากเย็นอะไรเลย แค่มีความคิดที่ชัดและเคลียร์ในเรื่องที่ตัวเองจะเขียน รู้จักเรียบเรียงลำดับก่อนหลัง เรื่องใดควรมาก่อนมาหลัง อธิบายพรรณนาไปอย่างเป็นลำดับ ผสมกับการตีความและหาตัวอย่างมาประกอบเล็กๆน้อยๆ ก็พอแล้ว ถ้าจะเวียนกันอ่านในหมู่นักวิชาการด้วยกันเท่านั้น

แต่คนที่เขียนเรื่องยากให้อ่านได้สนุกแล้ว นอกจากจะมีความรู้ในเรื่องที่ตัวจะเขียนเป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องมีความรู้ในศาสตร์ต่างๆอย่างกว้างขวาง และที่สำคัญมีมุข หรือ "คลังคำ" มากๆมาหยอดนิด เสริมหน่อย ทำให้งานนั้นอ่านสนุกและได้ความรู้ครบถ้วนบริบูรณ์เหมือนอ่านจากเอกสารทางวิชาการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก แต่ผมว่าคงไม่ยากเกินปัญญาป๋าพลหรอกครับ

เรื่องแรกของป๋าเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการออกกฎหมายในสหรัฐเปรียบเทียบกับกระบวนการนิติบัญญัติในประเทศไทย

เรื่องที่สองของป๋า เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายในรูปแบบใหม่ ที่มีความจำเป็นแค่ไหน เพียงไรต่อการตามทันโลกของเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าไป

ว่าเรื่องแรกก่อน เดี๋ยวงง
ในความคิดของผมนั้น กระบวนการออกกฎหมาย หรือกระบวนการนิติบัญญัตินั้น ผมว่าเราไม่ควรจะเอามาเปรียบเทียบกันให้เหมือนๆกันทุกกระเบียดนิ้ว แล้วมาว่าเอาเมืองไทย ว่าทำไมทำไม่ได้เหมือนอย่างเขา ทำไมเมืองไทยไม่เป็นอย่างอเมริกา ซึ่งผมเห็นว่า มันเปรียบเทียบกันไม่ได้ตลอด เราไม่อาจลอกกฎหมายหรือระบบการเมืองการปกครองของอเมริกามาใช้ที่บ้านเราได้อย่าง "เป๊ะๆ" นั่นเป็นเพราะอะไร สาเหตุมันต้องมากไปกว่าเมืองไทยไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของชาติไหนมาก่อนแน่ๆ แต่มันน่าจะเป็นเพราะคำๆว่า "ต้นทุนทางสังคม" "มรดกทางวัฒนธรรม" เบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ สังคม วัฒนธรรมที่แตกต่างกันแน่นอน ซึ่งเป็นความรู้เริ่มต้นของการศึกษาการเมืองเปรียบเทียบ หรือกฎหมายเปรียบเทียบนั่นเอง ที่ว่าการสร้างกฎหมายขึ้นมาใหม่ โดยดูตัวแบบจากประเทศต่างๆ อย่าง อเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ ฯลฯ แล้วเอามาผสมๆประมวลๆคลุกเคล้าเข้าด้วยกัน ชิมรสว่าถูกปากหรือไม่ เฮ้ย ไม่ใช่ทำอาหารนี่ เอาเป็นว่า หยิบจากประเทศโน้นนิด ประเทสนี้หน่อย แล้วมาสร้างเป็นรธน.ของเราเอง ข้อดีของมันก็มี ก็คือทำให้เราเห็นจุดอ่อน ปัยหาที่เกิดขึ้นของประเทศต่างๆว่ามีปัญหาอะไรเกิดขึ้นหลังจากนำ กม.ตัวนี้มาใช้ เราจะได้หลีกเลี่ยง ไม่ใช้ตาม พูดง่ายๆก็คือ เป็นการเรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่นนั่นเอง

แต่ข้อเสียของมันก็น่าจะมี นั่นคือ การหยิบเอาระบบกม.หรือระบบการเมืองของประเทศต่างๆมาใช้นั้น กม.ของประเทศเขาก็ย่อมบัญญัติเพื่อให้เหมาะสมกับประเทศเขา ไม่เหมาะกับประเทศเราเสียทีเดียวนัก เพราะมีบริบท หรือ "สภาพแวดล้อมทางสังคม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม" ที่แตกต่างกันนั่นเอง

ตัวอย่างพื้นฐานที่สุด ก็คือ ระบอบประชาธิปไตย เหมาะสำหรับประเทศที่ประชาชนทุกคนมีการศึกษาสูงพอสมควรเท่านั้น(อันนี้ผมพูดเอง) เพราะว่ามันจริง เพราะทุกคนมีอิสระ ต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่ และ ฯลฯ อีกจิปาถะ ซึ่งคนที่ได้รับการศึกษาในระดับหนึ่ง ไม่ต้องขั้นปริญญาตรี แค่ม.ต้น ก็ควรจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพในเรื่องของ ประชาธิปไตย ฯลฯ อะไรเหล่านี้แล้ว พอประชาชนมีความรู้ ก็จะรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ อะไรที่กม.บัญญัติไว้ว่า "ห้ามทำ ให้ทำ ทำได้" ประชาธิปไตยก็จะทำหน้าที่ของมันไปได้อย่างไม่ติดขัด(แปลว่าติดขัดน้อย) เพราะปชต.ก็คือการปกครอง โดยประชาชน (ธิปไตย,อธิปัตย์ คือ อำนาจสูงสุด ปกครองสูงสุด ไม่ใช่ ซังกุงสูงสุดของประเทศนะเหอๆๆ ส่วนประชา คือ ประชาชน)

แต่ทว่า ประชาชน ได้รับอธิปไตย มาอยู่ในมืออย่างไม่รู้อิโหม่อิเหน่ หลังคืนวันที่ 24 มิถุนายน 2547 อำนาจสูงสุดมาสู่ประชาชน(ที่ไม่รู้อะไรมากไปกว่า การทำนา เลี้ยงควาย อันเป็นอาชีพเกษตรกรรมพื้ยฐานของชาติ และมีความรู้น้อย อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ รู้จักว่าประชาธิปไตย คือ คนๆนึงที่จะมาปกครองแทนพระมหากษัตริย์ ฯลฯ) พูดง่ายๆ คือ ประชาชนยังไม่พร้อมจะมีประชาธิปไตย(ที่ไป"ก๊อปปี้"เอามาจากเมืองนอกทั้งดุ้น ในสมัยนั้น)

ยกตัวอย่างที่ง่ายกว่าข้างบน ที่ออกจะวกวนเยิ่นเย้อและเข้ารกเข้าพงไปหน่อย

ก็เหมือนกับการเอาพืชเมืองหนาวมาปลูกในเมืองไทยนั่นแหละครับ พืช หรือสัตว์เมืองหนาว ถูกธรรมชาติ "ออกแบบ" มาให้เหมาะสมกับภูมิอากาศหนาวๆในเมืองนอกเท่านั้น ต้องกินอาหารในเมืองหนาวที่เมืองร้อนไม่มี ฯลฯ พอเอามาเลี้ยงในเมืองร้อน ก็เลี้ยงไม่ได้ หรือถ้าเลี้ยงได้ ก็ต้องยกเครื่องปรับภูมิอากาศกันใหม่ เช่น เลี้ยงในห้องแอร์ อาหารอิมพอร์ตจากนอก ปรับอุณหภูมิให้เหมือนเมืองนอกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มันเป็นการสิ้นเปลืองงบฯโดยใช่เหตุ อันเป็นหายนะ ของการ "รับเค้ามาทั้งดุ้น โดยไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างเลย"

ซึ่งก็เหมือนกับความคิดพี่พลในขณะนี้ ผมอ่านแล้วดูเหมือนว่า พี่จะเห็นว่าของๆเขาดีกว่าของๆไทย เสียทุกอย่าง ทุกประตู เมืองไทยจะพัฒนาได้ ต้องเอาอย่างอเมริกา สุดลิ่มทิ่มประตู ก๊อปมาทั้งหมดเลย นั่นแหละ


โดย: แจ้น IP: 202.133.176.101 วันที่: 22 มกราคม 2549 เวลา:3:31:16 น.  

 
(...โฮ่ ทำไมผมเขียนเยอะยังงี้อ่ะ ผิดพลาดยังไงชี้แนะด้วยนะท่านพี่พล)
มาเรื่องที่ 2 ที่ว่าด้วยความครอบคลุมของกม.ปัจจุบัน กับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ปัญหาหลักๆ ที่สำคัญที่สุดของประเด็นนี้ น่าจะเป็นการให้คำนิยาม ความหมายของคำๆ หนึ่ง ให้เป็นที่เข้าใจร่วมกัน หรือเข้าใจตรงกันระหว่างผู้บัญญัติ ผู้บังคับใช้ และผู้ที่ได้รับผลของกฎหมายนั่นเอง

ทำให้นึกถึง ฎีกาที่ว่า ลักไฟฟ้าเป็นการลักทรัพย์หรือไม่ ปรากฎว่าไม่ใช่การลักทรัพย์ เพราะ ไฟฟ้า"จับต้องไม่ได้" เหอๆๆ จนไปถึงการจูนคลื่นมือถือ ว่าเป็นการลักทรัพย์ หรือไม่
การใช้ความหมายเก่าๆ ที่บัญญัติไว้เมื่อสัก 20-30 ปีก่อน มาใช้ในปัจจุบันนี้ มาใช้บังคับกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน มันเป็นความไม่ทันสมัย(เชย) และเป็นช่องโหว่ อันเบ้อเริ่มต่อการบังคับใช้กฎหมาย
เราเลยไม่อาจ "ฟันธง" ได้เลยว่า การลักอาวุธ ในเกมส์ออนไลน์ ถือเป็นการลักทรัพย์ได้หรือไม่ ????

คราวนี้ เลยอยากถามพี่พล ว่าถ้าเราจะหาทางออกให้กับคดีนี้ โดยยึดตามกม.ที่บัญญัติไว้ว่า

"เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเปรียบเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป"

จะสามารถวินิจฉัยได้หรือไม่ ว่า "ดาบอิเลกทรอนิกส์" "เงินอิเลกทรอนิกส์" ในเกมส์ออนไลน์ เป็น ทรัพย์ รึเปล่า


โดย: แจ้น IP: 202.133.176.101 วันที่: 22 มกราคม 2549 เวลา:3:50:29 น.  

 

ขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมบล็อกนะครับ


โดย: Hematite วันที่: 22 มกราคม 2549 เวลา:13:02:30 น.  

 
โอย.. พยายามเพ่งอ่านค่ะ .. แต่ก็ไม่เก็ททั้งหมด.. แต่เดี๋ยวนี้โลกออนไลน์ทำไปทำมามันจะเหมือนโลกเสมือนจริง หรือ โลกใบที่สอง ของคนเราเข้าไปเรื่อยๆ แล้วนะคะ จนบางคนยังไปเปิดอาชีพขาย item บนโลกออนไลน์ได้รายได้เป็นกอบเป็นกำ จนกลายเป็นอาชีพหลักไปก็มี .. คิดว่าอีกหน่อยถ้า VR ออกมาขายเกลื่อนเหมือนเกมส์เพลย์ อาจจะมีวัยรุ่นตายกับมันเยอะเหมือนกัน .. เพราะแค่นี้ก็ติดกันงอมแงมไม่กินข้าวกินปลา ..
ยังไม่ได้อ่าน A rape in Cyberspace แต่ถ้ามีกฏหมายออกมา ยังงี้ คนที่ขายภาพตัวเองผ่านเว็บแคม เผื่อแลกกับบัตรเติมเงิน ก็ถือว่าเป็นโสเภณีด้วยหรือป่าวหนอ สำหรับประเทศที่การค้าประเวณีถือว่าผิดกฏหมายอ่ะค่ะ .. (แค่สงสัยอ่ะค่ะ แหะๆ เพราะเห็นเพื่อนๆ บางคน ยอมลงทุนตื่นตอนตีสามมาดูน้องเปิ้ล น้องมด น้องส้ม ช่วยตัวเองผ่านเว็บแคม เพื่อแลกเงินเติมโทรศัพท์ -_-" )

เม้นท์ซะยาวเลย .. เอาเป็นว่า แวะมาเยี่ยมค่ะ :D


โดย: chirala (chirala ) วันที่: 22 มกราคม 2549 เวลา:18:08:58 น.  

 
ขอบคุณคุณ POL_US ที่แวะมาเยี่ยมตึกโป๊ะนะคะ แล้วตึกจะมาติดตามบล๊อคบ่อยๆเลยค่ะ


โดย: ตึกโป๊ะ...ตึกตึก วันที่: 22 มกราคม 2549 เวลา:21:13:28 น.  

 
เรื่องวันนี้มีประโยชน์มากครับ ขอบคึณครับที่ส่งข่าวไปให้ได้เข้ามาอ่าน

เรื่องคณะกรรมาธิการเห็นด้วยมากๆครับว่ามีกันเปราะเลอะเทอะมากๆ หลายคณะที่ตั้งขึ้นมาไม่มีตัวชี้วัดเลยว่าทำงานได้ดีซักแค่ไหน มิหนำซ้ำ บางท่านผู้ทรงเกียรติยังเอาตรงนี้ไปใช้ในการเบ่งแบบน่าเกลียดมากๆ แม้กระทั่งอนุกรรมาธิการที่ได้รับการแต่งตัวก็ยังทำตนยิ่งกว่าสว.ซะด้วยซ้ำ

เรื่องของคดีไอเทมเกมส์ออนไลน์ผมก็ได้ตามติดเหมือนกันครับ ตอนที่รู้ว่ากฎหมายจีนตามไม่ทันค่อนข้างแปลกใจ เพราะรัฐบาลจริงพยายามส่งเสริมเรื่องนี้อย่างมากมาตั้งแต่สองปีก่อน แต่ไม่ทำกฎหมายให้ทันกับเรื่องที่ตนเองจะส่งเสริม?

ประเทศเราไม่ใช่ว่าไม่มีเรื่องแบบนี้ ปีก่อนเห็นรเป็นเรื่องเป็นราวออกทีวีหลายรอบเลยครับ ไม่รู้ว่ามีกฎหมายเท่าทันหรือยัง ไม่ต้องไปเปรียบกับเกาหลีที่เป็นผู้นำทางด้านนี้หรอก

ขอบคุณที่ให้ได้มาอ่านข้อเขียนดีๆนะครับ


โดย: นายเบียร์ วันที่: 23 มกราคม 2549 เวลา:7:54:32 น.  

 
อ่านแล้วได้ความรู้ดีครับพี่ มาอ่านความเห็น สะดุดอยู่ที่ความเห็นคุณแจ้นตอนท้ายนิดหนึ่งที่เกี่ยวกับ"ทำให้นึกถึง ฎีกาที่ว่า ลักไฟฟ้าเป็นการลักทรัพย์หรือไม่ ปรากฎว่าไม่ใช่การลักทรัพย์ เพราะ ไฟฟ้า"จับต้องไม่ได้" เหอๆๆ จนไปถึงการจูนคลื่นมือถือ ว่าเป็นการลักทรัพย์ หรือไม่
การใช้ความหมายเก่าๆ ที่บัญญัติไว้เมื่อสัก 20-30 ปีก่อน มาใช้ในปัจจุบันนี้ มาใช้บังคับกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน มันเป็นความไม่ทันสมัย(เชย) และเป็นช่องโหว่ อันเบ้อเริ่มต่อการบังคับใช้กฎหมาย
เราเลยไม่อาจ "ฟันธง" ได้เลยว่า การลักอาวุธ ในเกมส์ออนไลน์ ถือเป็นการลักทรัพย์ได้หรือไม่ ????

คราวนี้ เลยอยากถามพี่พล ว่าถ้าเราจะหาทางออกให้กับคดีนี้ โดยยึดตามกม.ที่บัญญัติไว้ว่า

"เมื่อไม่มีบทกฎหมายที่จะยกมาปรับคดีได้ ให้วินิจฉัยคดีนั้นตามจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่น ถ้าไม่มีจารีตประเพณีเช่นว่านั้น ให้วินิจฉัยคดีอาศัยเปรียบเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง และถ้าบทกฎหมายเช่นนั้นก็ไม่มีด้วย ให้วินิจฉัยตามหลักกฎหมายทั่วไป"

จะสามารถวินิจฉัยได้หรือไม่ ว่า "ดาบอิเลกทรอนิกส์" "เงินอิเลกทรอนิกส์" ในเกมส์ออนไลน์ เป็น ทรัพย์ รึเปล่า"
คิดว่าพี่พลคงตอบคำถามนี้ได้ดีกว่าผม ไม่รู้ว่าทางอเมริกาหลักที่ว่า nullum crimen nulla poena sine lege ตีความกันอย่างไร ถ้าอยางในเยอรมันก็อยางที่พี่คงทราบว่าหลักนี้ตีความอย่างเคร่งครัด ผมเคยถูกโปรเฟสเซอร์ท่านหนึ่งถามโดยให้ยกตัวอย่างประกอบกับหลักดังกล่าวในวิชากฎหมายอาญา ผมก็ยกเรื่องลักกระแสไฟฟ้า แล้วพูดถึงคำพิพากษาฎีกาไทย ท่านก็ถามว่าแล้วฝ่ายนิติบัญญัติเมืองไทยทำอะไรอยู่หรือ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญและเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของประชาชนทำไมไม่การออกหรือแก้กฎหมายให้มีความชัดเจน ผมก็ได้แต่ยิ้มๆครับ


โดย: bierbauch IP: 134.76.62.65 วันที่: 25 มกราคม 2549 เวลา:14:40:01 น.  

 
สวัสดีครับ พ่อแม่ พี่น้องที่เคารพรัก ทุกท่าน สงสัยจะเป็นบล๊อกไล่แขกจริง ๆ มีคนคอมเม้นท์ น้อยมาก จริง ๆ ( แต่จะว่าไป บล๊อกผม คนเข้ามาก็ไม่ค่อยคอมเม้นท์ อยู่แล้วนี่ครับ ไม่เห็นต้องบ่นว่าน้อยเลย)

เรื่องข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์นี้ รัฐบาลไทย ควรจะต้องออกกฎหมายมาคุ้มครองเสียที ไม่งั้น จะยุ่งเหยิงกันใหญ่ เพราะในขณะที่รัฐบาลไทย พยายามจะส่งเสริม e-commerce และขยายระบบการติดต่อสื่อสาร โดยระบบอินเตอร์เน็ต การเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับทางการค้า หรือ ข้อมูลทางการด้านเงิน หรือ ข้อมูลใดที่ถูกสงวนไว้เป็นความลับ ก็อาจจะถูกเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูล ทำให้เกิดความเสียหายได้

ประมวลกฎหมายอาญาไทย ก็ลอกมาจากญี่ปุ่น จีน เยอรมัน ฯลฯ แน่นอน เรายึดหลักอย่างเดียวกัน คือ การไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย ดังนั้น เมื่อคำนิยามเรื่องทรัพย์ เขียนไว้ชัดเจน ว่าต้องเป็นกรณีที่มีรูปร่าง และการลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมาย นั้นต้องแย่งการครอบครอง คือ ต้องเอาทรัพย์นั้นไป ...แต่การเข้าถึงข้อมูล แล้วเอาไปใช้ ข้อมูลก็ยังอยู่เหมือนเดิม ...จะถือว่า แย่งการครอบครอง ก็ไม่ได้อีก

ประมวลกฎหมาย ในเรื่องลักทรัพย์ หรือ ยักยอก จึงยังเข้าไม่ถึง ลงโทษไม่ได้ ส่วนกรณีที่ ท่านแจ้น ถามมานั้น การใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาใช้ตีความขยายกฎหมายอาญา นั้นย่อมขัดหลักการตาม มาตรา ๒ ประมวลกฎหมาย และหลักการว่าด้วยการไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย เพราะกฎหมายอาญา ต้องตีความเคร่งครัด ห้ามตีความขยาย และ ห้ามนำกฎหมายประเพณี มาใช้ เพื่อตีความเป็นโทษ อีกทั้ง จะใช้กฎหมายที่มีผลร้ายบังคับย้อนหลังไปกับการกระทำที่เคยเกิดขึ้นแล้วให้เป็นโทษก็ไม่ได้อีก หากมีการบัญญัติกฎหมายที่คลุมเครือ มีผลย้อนหลังในลักษณะดังกล่าว ย่อมขัดกับหลักการ ที่เรียกว่า Legality Principle กฎหมายนี้ย่อมขัดต่อรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญา

ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย ควรจะต้องไตร่ตรอง และดำเนินการอย่างเร่งด่วนเสียทีนะครับ อย่าปล่อยให้เกิดภาวะ ประชาชน ต้องช่วยตัวเอง จนอ่อนระโหยโรยแรง ฆ่าฟันกัน เพราะ กฎหมายไม่อาจพึ่งพาได้


โดย: กระผมเองครับ IP: 12.221.102.248 วันที่: 25 มกราคม 2549 เวลา:15:31:20 น.  

 
ขอเสริมอีกนิดหน่อยแล้วกันครับ ว่ากันจริง ๆ แล้ว หากใครเรียนฟิสิกส์มา ก็อาจจะเข้าใจได้ว่า จริง ๆ มวลสารทุกอย่างประกอบด้วยอนุภาคเล็ก ๆ ที่เรียกอะตอม ดังนั้น หากจะนำวิชาฟิสิกส์มาใช้ตีความ กรณีกระแสไฟฟ้า หรือ ข้อมูล ที่ต้องใช้กระแสไฟฟ้า ก็น่าจะพอใช้ได้นะครับ ในกระแสไฟฟ้า ก็มีประจุ ย่อมถือว่ามีรูปร่าง และย่อมถือว่าเป็นทรัพย์ได้ แม้เราจะมองไม่เห็นรูปร่างกระแสไฟฟ้าโดยตรงก็ตาม

ในเมืองฝ่ายนิติบัญญัติไทย ไม่ค่อยจะชอบทำงาน ก็คงจะต้องอาศัยการตีความกฎหมาย และนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการตีความไปก่อนนะครับ (แต่ไม่รู้จะเป็นที่ยอมรับมากน้อยขนาดไหน)


โดย: กระผมเองครับ IP: 12.221.102.248 วันที่: 25 มกราคม 2549 เวลา:15:36:01 น.  

 


โดย: ... IP: 202.5.87.3 วันที่: 2 เมษายน 2549 เวลา:1:51:52 น.  

 
Hello!
I'm webmaster of [url=//apron.xddme.com/]Apron[/url] site ( //apron.xddme.com/ ).
Let's change links with your site!
My link code:
apron
or
apron

Thank you!


โดย: Servantu IP: 89.112.4.96 วันที่: 22 พฤศจิกายน 2549 เวลา:9:38:05 น.  

 
อยากทราบว่า ทำไมกระแสไฟฟ้า สัญญาณโทรศัพเป็นทรัพย์สิน


โดย: 16 IP: 202.28.25.69 วันที่: 15 สิงหาคม 2551 เวลา:15:10:38 น.  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.