*** พื้นที่ส่วนตัวของ พันตำรวจเอก ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นี้ จัดทำขึ้นเพื่อยืนหยัดในหลักการที่ว่า คนเรานั้นจะมีความเป็นมนุษย์โดยสมบูรณ์ได้ ก็ต่อเมื่อมีเสรีภาพในการแสดงความคิดโดยบริบูรณ์ และความเชื่อที่ว่าคนเราเกิดมาเสมอภาคและเท่าเทียมกัน ไม่มีอำนาจใดจะพรากความเป็นมนุษย์ไปจากเราได้ ไม่ว่่าด้วยวิธีการใด ๆ และอำนาจผู้ใด ***
*** We hold these truths to be self-evident, that all men are created equal, that they are endowed by their Creator with certain unalienable rights, that among these are life, liberty and the pursuit of happiness. That to secure these rights, governments are instituted among men, deriving their just powers from the consent of the governed. That whenever any form of government becomes destructive to these ends, it is the right of the people to alter or to abolish it, and to institute new government, laying its foundation on such principles and organizing its powers in such form, as to them shall seem most likely to effect their safety and happiness. [Adopted in Congress 4 July 1776] ***
Group Blog
 
All Blogs
 

คณะลูกขุน ลงโทษ นาย Moussaoui จำคุกตลอดชีวิต จากเหตุการณ์ 9/11

วันนี้ (๓ พฤษภาคม ๒๕๔๙) ทาง CNN.com (คลิ๊ก) ได้ลงข่าวสำคัญ คือ นาย Moussaoui จำเลยในคดีก่อการร้าย ถล่มตึก World Trade และสถานสำคัญอื่น ๆ เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๑ หรือ คดี 9/11 ถูกคณะลูกขุนตัดสินว่าเขาได้กระทำผิดจริง และพิพากษาให้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยไม่มีโอกาสที่จะได้รับ Probation หรือทัณฑ์บน จึงขอนำข่าวมาเล่าให้ฟัง และบันทึกเหตุการณ์สำคัญนี้ไว้ด้วยครับ



Zacarias Moussaoui is the only person convicted in the U.S. of playing a role in the 9/11 attacks.





ข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามข่าว CNN.com





หลังจากที่ คณะลูกขุน (a federal jury) ได้ประชุมลับนานถึง ๔๑ ชั่วโมง ของช่วงสัปดาห์ก่อน ก็สามารถลงมติ (Jury Deliberation) ว่า พนักงานอัยการโจทก์ ได้นำสืบโดยปราศจากสงสัย ว่านาย Zacarias Moussaoui สมาชิกผู้ก่อการร้าย Al Qaeda ได้กระทำผิดจริง ในฐานะผู้มีส่วนในการการก่อการร้าย และก่อให้มีผู้เสียชีวิตกว่า ๓,๐๐๐ คน เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๙ และประกาศว่า (Return verdict) ว่าเขาสมควรได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต โดยปราศจากโอกาสที่จะได้รับปล่อยตัวโดยมีทัณฑ์บน (probation)

หลังจากที่คณะลูกขุนประกาศดังกล่าว นาย Moussaoui ก็ตะโกนกู่ก้องว่า อเมริกา "คุณแพ้" "ผมชนะ" ("America, you lost.") พร้อมตบมืออย่างกึกก้องในห้องพิจารณา พร้อมตะโกน "I won." อีกหลายครั้ง ท่ามกลางความโศกเศร้าของญาติผู้สูญเสียในเหตุการณ์ดังกล่าว

เหตุที่ทำให้เขาประกาศก้องเช่นนั้น ก็เพราะว่า ทางอัยการสหรัฐ ได้พยายามแสดงหลักฐานให้ศาลเห็นว่า นาย Moussaoui ควรจะได้รับโทษประหารชีวิตเท่านั้น และในคดีนี้ คณะลูกขุน ก็มีทางเลือกเพียง ๒ ทาง คือ ตัดสินเขาควรได้รับโทษประหารชีวิต ( death by injection) หรือ จำคุกตลอดชีวิต แต่พนักงานอัยการก็ไม่ประสบความสำเร็จในการจูงใจให้คณะลูกขุนลงโทษประหารชีวิตเขาได้

พนักงานอัยการ ได้นำพยานหลักฐานมาเสนอต่อลูกขุน ในช่วงเดือนก่อน ในขั้นตอนว่า Penalty phase เขาควรได้รับการลงโทษสถานใด เช่น นำเทปบันทึกเสียงของบุคคลผู้เคราะห์และอยู่ในเหตุการณ์ 9/11 ที่ร้องเรียกขอความช่วยเหลือ ก่อนจะเสียชีวิต ทั้งในตึก World Trade และเครื่องบินของ United Airlines สายการบินที่ 93 มาเปิดในห้องพิจารณาหลาย ต่อหลายครั้ง รวมถึงเหตุการณ์ความสูญเสียที่ ตึก Pentagon ที่ตั้งอยู่ ทางเหนือของ Virginia ด้วย

นอกจากนี้ พนักงานอัยการยังได้นำเสนอเทปบันทึกเสียงของนาย Moussaoui ที่พูดว่า เขามีความยินดีปรีดาที่จะได้ฆ่าชาวอเมริกันทุกเมื่อ หากมีโอกาส ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด และเมื่อใด

จากการนำสืบพยานของอัยการ นาย Moussaoui อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ September 11 ซึ่งมาเขาได้ให้การรับสารภาพ (pleaded guilty) ว่าเขาได้ร่วมวางแผนและสมคบกันกับผู้อื่นเพื่อกระทำผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายในครั้งนี้ (terrorism conspiracy)

คำรับสารภาพเขา ทำให้เขาต้องรับโทษประหารชีวิต ใน ๓ ข้อกล่าวหา จากทั้งหมด ๖ ข้อกล่าวหา กล่าวคือ กระทำการก่อการร้าย ในดินแดนของสหรัฐฯ ทำให้เครื่องอากาศยานสำหรับขนส่งคนโดยสารให้เสียหาย และใช้อากาศยานนั้น เป็นเครื่องมือในการทำลายล้าง ซึ่งมีผลดังเช่น อาวุธร้ายแรงอื่น

จากการไต่สวนเพื่อกำหนดโทษนาย Moussaoui คณะลูกขุนได้พบว่า นาย Moussaoui ให้การอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน (federal investigators) ก่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 เป็นเวลา ๑ เดือน ทำให้เกิดเหตุการณ์ร้ายดังกล่าวขึ้นในเวลาต่อมา และสมควรได้รับโทษประหารชีวิตในการกระทำผิดนี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนลงโทษประหารชีวิต คณะลูกขุนจะต้องชั่งน้ำหนักและเหตุปัจจัยในการบรรโทษและเพิ่มโทษเข้าด้วยกันก่อน เช่น ปัจจัยในเรื่อง ความเกลียดชังระหว่างชนชาติหรือผิวสี (the heinousness of the crime) และ ผลกระทบต่อญาติของเหยื่อผู้เคราะห์ร้าย กับ ประวัติและสุขภาพจิต (background and mental health) ของนาย Moussaoui

พนักงานอัยการ ได้นำสมาชิกครอบครัวของเหยื่อในเหตุการณ์ 9/11 กว่า ๓๐ ครอบครัว มาแถลงว่า ผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ ทำให้ชีวิตของเขาต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร ทั้งสามีที่ต้องสูญเสียภรรยา ภรรยาที่ต้องสูญเสียสามี พ่อแม่ที่ต้องเสียลูก รวมถึงเพื่อน ๆ ที่ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ถูกเรียงร้อยเป็นเรื่องราวของความสูญเสียที่ไม่อาจเยียวยาว

เสียงร้องของผู้คนโดยสารที่ถูกบันทึกไว้ใน the cockpit voice recorder จากสายการบิน United Airline เที่ยวบินที่ 93 ที่แสดงถึงความห้าวหาญที่จะปกป้องประเทศชาติและขัดขืนต่อการถูกยึดเครื่องบิน ก่อนที่เครื่องจะพุ่งโหม่งพื้นโลกที่ชายแดนของ Shanksville ในรัฐ Pennsylvania ได้ถูกถ่ายทอดในห้องพิจารณานั้นด้วย



ภาพจำลอง โดย CNN.com


กลับมาดูทางฝ่ายจำเลย ศาล ได้ตั้งทนายให้แก่นาย Moussaoui เพื่อต่อสู้คดีในศาลด้วยเช่นกัน ทนายจำเลย ได้ยกข้ออ้างเรื่อง mental illness ของจำเลย โดยอ้างว่า สุขภาพจิตของนาย Moussaoui ไม่ปกติ โดยทนายจำเลยให้ขอให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบ แล้วให้การว่า จำเลยเจ็บป่วยทางจิต โดยเป็นโรค A delusional paranoid schizophrenic หรือ โรคจิตที่ทำให้ตนเองแปลกแยกจากสังคมอย่างร้ายแรง โดยเขาได้มีปัญหาพื้นฐานมาจากครอบครัวที่มีปัญหาร้ายแรง เพราะถูกบิดาทำร้ายจนต้องประสบกับปัญหาเจ็บป่วยทางจิต

เพื่อน ๆ ของนาย Moussaoui ทั้งจาก ฝรั่งเศส และอังกฤษ ซึ่งร่วมชั้นเรียนใน business school ในช่วงต้นทศวรรตที่ 1990 ได้บรรยายว่า เมื่อก่อนนี้ นาย Moussaoui เป็นคนร่าเริงมาก แต่หลังจากที่นาย Moussaoui ได้ประกาศตนเป็นมุสลิมแล้ว เขาได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่นเดียวกับคำให้การของ มุสลิม อื่น ในมัสยิด ที่ London's Brixton

"คุณสามารถมองเห็นความเกลียดชังต่อคนอื่นที่มีอยู่บนใบหน้าของเขา" นาย Abdul Haqq Baker ประธานมัสยิด กล่าวในวิดิโอเทป ที่แสดงต่อคณะลูกขุน

"เขาช่างกระตือรือต้นในการที่จะปฏิบัติและอุทิศตนเองไปตามแนวทางที่จะมุ่งไปสู่แนวคิดของ jihad" นาย Abdul Haqq Baker กล่าวต่อไป

ในช่วงการให้การของนาย Moussaoui เขากล่าวว่า เขารู้ถึงแผนการก่อการร้ายในครั้งนี้ ล่วงหน้าเป็นอย่างดี โดยตัวเขาเอง ได้ถูกมอบหมายให้ทำการปล้นและยึดเครื่องบินลำที่ ๕ เพื่อที่จะพุ่งชนทำเนียบขาว (White House) ร่วมกับนาย Richard Reid ซึ่งรู้จักกันในนาม the shoe bomber

ในขณะที่ นาย Reid ได้ถูกฟ้องร้อง และรับโทษจำคุกตลอดชีวิตไปแล้วในข้อหา พยายามวางระเบิดเครื่องบินโดยสาร ที่เขาซ่อนระเบิดไว้ในรองเท้า (sneakers) ของเขาเอง ของสายการบินจาก Paris ฝรั่งเศส เพื่อมุ่งหน้าไปยัง Miami รัฐ Florida แต่เขาได้ถูกจับเสียก่อน ทำให้ผู้โดยสารทุนคนปลอดภัย พร้อมกับเครื่องบินที่เปลี่ยนที่หมายไปลงที่สนามบิน Boston รัฐ Massachusetts

นาย Moussaoui ไม่เคยแสดงความเสียใจ (remorse) จากการกระทำผิดครั้งนี้ที่ให้มีคนตายจำนวนมากมาย เขาได้พูดในชั้นศาลว่า เขามีความเสียใจประการเดียว คือ การโจมตีครั้งนี้ ไม่ได้ผลร้ายแรงเพียงพอ ตามที่เขาตั้งใจไว้ เขายังพูดต่อไปว่า

"ข้าพเจ้า ปรารถนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงนี้ ไม่ใช่แค่ในวันที่ ๑๑ หรอก โดยข้าพเจ้าหวังว่าจะมีเหตุการณ์ ในวันที่ ๑๒, ๑๓, ๑๔, ๑๕, ๑๖, ๑๗ พวกเรา (ผู้ก่อการร้าย) จะดำเนินการต่อไปครั้งแล้วครั้งเล่า" เขากล่าวต่อไปว่า "เราจะทำดังเช่นคำกล่าวที่ว่า ไม่มีความเจ็บปวด เราก็ไม่มีทางที่จะได้รับประโยชน์ที่เราหวัง" (Like they say, no pain, no gain.")

แม้เขาจะกล่าวถึงเพียงนี้ .... ทนายของเขา ก็ยังได้ร้องขอต่อคณะลูกขุนว่าอย่าตัดสินให้เขาต้องรับโทษประหารชีวิตเลย และให้เขาประสบความทุกข์ทรมาน เพราะความเชื่อของเขาเอง (Al Qaeda martyr)

ตลอดเวลาในการพิจารณาคดีนี้ สมาชิกของครอบครัวผู้สูญเสีย ได้เฝ้าสังเกตการณ์และเข้างฟังการพิจารณาโดยตลอด ทั้งในห้องพิจารณาและจากโทรทัศน์วงจรปิดถ่ายทอดการพิจารณาโดยตลอด ซึ่งศาลได้จัดไว้ให้มีไว้ที่ Alexandria courthouse และ ศาลระดับ federal courthouses ใน Manhattan และ Long Island เมือง New York City รวมถึงการถ่ายทอดสดการพิจารณาไปยังเมือง Newark รัฐ New Jersey และ เมือง Philadelphia รัฐ Pennsylvania รวมถึงที่ Boston ด้วย

ได้มีเสียงวิจารณ์ว่า "ผมมั่นใจว่า เขาไม่ได้บ้า ตามที่กฎหมายกำหนด เพราะเขาสามารถแยกแยะระหว่างความชั่วและความดี ได้อย่างชัดเจน" นาย Hamilton Peterson ญาติผู้ตายในสายการบิน เที่ยว 93 กล่าว




ความเห็นเพิ่มเติม เกี่ยวกับกระบวนพิจารณาของศาลสหรัฐ





กระบวนการพิจารณาของศาล

ผมขอเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระบวนพิจารณาของศาลอเมริกัน สักนิดหนึ่งแล้วกัน การพิจารณาคดีของศาลอเมริกัน ทั้งในระดับ State และ Federal จะมีความคล้ายคลึงกันตรงที่ว่า มีคณะลูกขุน (Jury) มาตัดสินก่อนว่า จำเลยได้กระทำผิดจริงหรือไม่ เพื่อคานอำนาจของรัฐ ไม่ให้ฟ้องใครโดยไม่จำเป็น หรือกลั่นแกล้งกัน โดยไม่จำเป็น ซึ่งระบบนี้ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะคดีส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นฐานของสีผิว และชนชั้น ทำให้บางครั้ง คดีไม่ค่อยเป็นไปตามหลักกฎหมายและความยุติธรรมที่แท้จริง ดังเช่นเกิดขึ้นในคดีของ O.J. Simson ที่มีข้อหาว่า เป็นเพราะ Jury เป็นคนดำ ทำให้เขารอดพ้นจากการลงโทษในคดีฆ่าภรรยาตนเอง

ขั้นตอนทั่วไป

หากว่าคณะลูกขุน ได้ฟังการสืบพยานของอัยการ และทนายจำเลยแล้ว หากลงมติว่า Not guilty เป็นอันว่า คดีจะถูกจำหน่ายออกจากศาลโดยปราศจากเงื่อนไขใด ๆ และรัฐไม่อาจนำคดีฟ้องใหม่ได้ ซึ่งมีข้อยกเว้นน้อยมาก เช่นว่า การพิจารณาของคณะลูกขุน (Jury deliberation) ได้รับอิทธิพลจากภายนอก ตัวอย่างเช่น การข่มขู่ หรือ มี Bias เพราะเป็นญาติ เพราะโดยปกติ การพิจารณาของ Jury นั้น ถือเป็นความลับอย่างยิ่ง ซึ่งศาลจะไม่อาจเข้าตรวจสอบได้

ในทางกลับกัน หากคณะ Jury ประชุมแล้ว แล้ว Return verdict ว่า Guilty แล้ว โดยปกติแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นกระบวนการพิจารณากำหนดโทษ (Sentencing) มีข้อยกเว้นน้อยมาก ที่ศาลจะเห็นว่า การพิจารณาของ Jury ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลก็จะกำหนดให้มีการนำคดีจะเข้าสู่การพิจารณา (Trial) อย่างเป็นทางการต่อไป ในขั้นตอนการพิจารณานี้ ศาลจะเป็นผู้พิจารณาว่าผิดในข้อหาใดบ้าง ตามฟ้องของอัยการโจทก์ แต่โดยปกติแล้ว พนักงานอัยการจะมีหน้าที่สืบพยานหลักฐานในชั้นไต่สวน (Trial) เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

ขั้นตอนพิพากษา

ในขั้นตอนนี้ พนักงานอัยการจะต้องนำสืบว่า จำเลยได้กระทำผิดในข้อหาใด ตามฟ้องของอัยการนั้น ขั้นตอนนี้ จะแยกจากขั้นตอนการกำหนดโทษ (Sentencing) กฎหมายของรัฐ อาจจะให้ Jury เข้ามากำหนดพิจารณากำหนดโทษด้วย แต่บางรัฐ ก็ให้อำนาจแก่ผู้พิพากษาที่พิจารณาคดีตัดสินคดี ทำการกำหนดโทษด้วยตนเอง ไม่ต้องฟังความเห็น หรือ ไม่ต้องให้ Jury เข้ามายุ่งเกี่ยวอีก หลักการทั่วไปในคดีอาญา คือ โจทก์ (พนักงานอัยการ) จะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบต่อคณะลูกขุน หรือ ต่อศาล จนคณะลูกขุน หรือศาล (กรณีจำเลยขอสละสิทธิ์ในการมีคณะลูกขุน) เชื่อว่า จำเลยกระทำผิดจริง โดยปราศจากสงสัยตามสมควร หรือ ที่เราคุ้น ๆ กันในชื่อว่า Prove beyond reasonable doubt ครับ ส่วนในคดีแพ่ง ก็เป็นไปตามหลักที่ว่า ใครกล่าวอ้างข้อเท็จจริงใด ย่อมต้องนำสืบต่อศาล ให้ศาลเห็นว่า คำกล่าวอ้างนั้น น่าเชื่อถือ ตามหลัก preponderance test แต่ไม่ต้องพิสูจน์ถึงขนาดให้ศาลเชื่อจนปราศจากสงสัยแบบในคดีอาญา

ขั้นตอนกำหนดโทษ (sentencing)

การพิจารณาพิพากษาว่ากระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ จะแยกจากการกำหนดโทษ คดีระดับ Federal ส่วนใหญ่แล้ว จะมี Jury เข้ามาเกี่ยวข้องในขั้นตอนการกำหนดโทษด้วยเสมอ โดยพนักงานอัยการจะต้องนำเสนอ aggravating factors และ mitigating factors คือ ข้อเท็จจริงที่จะทำให้ จำเลยรับโทษเพิ่มขึ้น หรือ น้อยลง เช่นว่า จำเลยฆ่า บิดามารดา ฆ่าเจ้าพนักงาน ก็จะทำให้จำเลยได้รับโทษหนักขึ้น โดยมี Sentencing Guideline เป็นตัวกำหนด ระหว่างตัว Mitigating factors และ Aggravating factors กับ ประวัติของจำเลยในอดีตที่ผ่านมา เป็นตารางที่แน่นอน

ในคดีนี้ ฝ่ายโจทก์ได้นำเสนอหลักฐานต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยไม่ได้แสดงถึงความรู้สึกผิดชอบชั่วดี แต่มีความรู้สึกภูมิใจที่ได้เข่นฆ่าชาวอเมริกา รวมถึงความเสียของญาติผู้ตายต่อคณะลูกขุน อันถือเป็น Aggravating factors ที่เขาต้องได้รับโทษประหารชีวิต ตามกฎหมายเรื่องก่อการร้าย และการฆาตรกรรม

ในขณะที่ทนายจำเลย ได้นำเสนอ mitigating factors เช่นว่า ประวัติของจำเลยที่ถูกบิดา Abuse ระหว่างวัยเยาว์ จะทำให้เขาต้องเป็นโรคแตกแยกจากสังคมอย่างร้ายแรง หรือ อาการเจ็บป่วยทางจิตอย่างร้ายแรง ที่ทำให้เขาไม่ต้องรับโทษหนักขึ้น และควรได้รับโทษน้อยลง




หมายเหตุ: เป็นอันว่า พนักงานอัยการ

ไม่อาจทำให้คณะลูกขุนเชื่อว่าเขาควรได้รับโทษประหารชีวิต ......

ถ้าเพื่อน ๆ เป็นลูกขุน จะตัดสินอย่างไรครับ.....







 

Create Date : 04 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:40:37 น.
Counter : 1035 Pageviews.  

การดำเนินคดีกับผู้บริหารระดับสูงของรัฐ: Illinois Gov. George Ryan



อดีตผู้ว่าการรัฐ Illinois นาย George Ryan อายุ ๗๒ ปี


เมื่อวันที่ ๑๗ เม.ย. ๔๙ ที่ผ่านมา ที่สหรัฐฯ มีข่าวใหญ่และเป็นที่น่าสนใจของนักการเมือง และนักกฎหมายทั่วไป เพราะนาย George Ryan อดีตผู้ว่ารัฐอิลลินอยส์ ได้ถูกคณะลูกขุน ของศาลระดับ Federal court ได้ประกาศว่าได้กระทำผิดในข้อหาฉกาจฉกรรจ์เกี่ยวกับคอรัปชั่น และความผิดต่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรัฐฯ หลังจากที่คณะลูกขุนได้ประชุมต่อเนื่องยาวนานถึง ๑๐ วัน

คดีเรื่องนี้ ทางอัยการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนสอบสวนระดับสูงของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้สืบสวนและฟ้องร้องนาย Ryan หลังจากที่เขาพ้นตำแหน่งผู้ว่าการรัฐฯ ในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ แล้ว เนื่องจากระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่ง ได้มีการทุจริตคอรัปชั่นหลายประการ เช่น ใช้อำนาจในทางไม่ชอบเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มผลประโยชน์และเพื่อนพ้องของนาย Ryan ที่สนับสนุนเขาในการลงรับสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐฯ มีโครงการประมูลงานขนาดยักษ์จำนวนมาก ที่นาย Ryan ได้ช่วยเหลือให้พวกพ้องได้รับประโยชน์ไปจำนวนมหาศาล และมีการรับเงินจำนวนก้อนโต เพื่อนำไปใช้ในทางส่วนตัว

เขาได้ถูกฟ้อง ในข้อหา สมคบเพื่อกระทำผิดฐาน Racketeering conspiracy ฉ้อโกงโดยวิธีการทางจดหมาย ( Mail frau) ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่สรรพากร ( Obstructing the Internal Revenue Service) การฉ้อโกงภาษี (Tax fraud) และ การให้การอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวน (Lying to the FBI) โดยเขาได้กระทำผิดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยดำรงตำแหน่ง เป็น Secretary of state ในช่วงทศวรรต 1990 ต่อเนื่องมาถึงขณะดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์

สิ่งที่ผมได้นำมาเผยแพร่นี้ เป็นผลงานการเขียนของ Thomas B. Edsall และ Kari Lydersen ผู้สื่อข่าวประจำ Washington Post ฉบับวันอังคารที่ ๑๘ เม.ย. ๒๐๐๖ ปรากฎในหน้า เอ ๐๓ ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการกระทำผิดของนาย Ryan ที่มีการนำมาเสนอให้ทราบทางหน้าหนังสือพิมพ์ทั่วไป




- คำแปล ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในข่าว -





"คณะลูกขุนประจำ Federal Court ที่ Chicago ได้ลงมติว่า นาย Ryan อดีตผู้การรัฐอิลลินอยส์ และผู้ซึ่งได้ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Nobel Prize ได้กระทำผิด (guilty) จำนวน ๑๘ ข้อหา ในฐานความผิดฐานสมคบเพื่อกระทำไม่ชอบแสวงประโยชน์ ใช้ทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่ชอบตามกฎหมายอาชญากรรมทางเศรษฐกิจหลายประการ (Racketeering) การฉ้อโกงโดยใช้จดหมายเป็นเครื่องมือในการกระทำผิด ( Mail fraud) ให้การเท็จหรือสร้างเอกสารเท็จกับพนักงานสอบสวน (Making false statements to FBI agents) และ กระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยภาษีรายได้ (Income tax violations)

นาย Ryan ปัจจุบันอายุ ๗๒ ปี ผู้ซึ่งครั้งหนึ่งได้รับการกล่าวขานและจับตาโดยชาวโลก ในปี ค.ศ. ๒๐๐๓ ในฐานะที่เขาได้ประกาศพักการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาด จำนวน ๑๖๗ คน เนื่องจากเขามาต้องโทษในขณะที่สูงอายุแล้ว เขาจึงได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิต หากการอุทธรณ์ในคดีนี้ ไม่ประสบผลสำเร็จ

นาย Ryan เป็นผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์ คนที่ ๓ ที่ถูกฟ้องคดีและได้รับโทษทางอาญา ในช่วงทศวรรตที่ผ่านมา โดยนาย Daniel Walker ดำรงตำแหน่งระหว่าง ๑๙๗๓ ถึง ๑๙๗๗ ซึ่งได้รับสารภาพในปี ๑๙๘๗ ว่าเขาได้กระทำผิดฐานฉ้อโกงธนาคาร (Bank fraud) แต่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตำแหน่งหน้าที่ของเขาในฐานะผู้ว่าการรัฐฯ เป็นคนแรกที่ได้รับโทษ นาย Otto Kerner ดำรงตำแหน่ง ในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๖๑ ถึง ๑๙๖๘ ได้รับโทษจำนวน ๑๗ ฐานความผิด รวมถึงการรับสินบนและการฉ้อโกงด้วย

แต่ข้อหาส่วนใหญ่ที่นาย Ryan ถูกฟ้องร้องนั้น ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในสมัยตำรงตำแหน่ง Secretary of State โดยเขามีพฤติการณ์ การเรียกสินบน เพื่อเป็นการตอบแทนการให้บริการของเขา (Licenses for bribes) ตัวอย่างเช่น การซื้อขายใบอนุญาตขับขี่ เป็นต้น

นาย Ryan ได้ต่อสู้คดีว่า ข้อกล่าวหาของฝ่ายรัฐบาลกลางนั้น เป็นข้อหาที่เลื่อนลอย ปราศจากพยานหลักฐานที่หนักแน่น เป็นเพียงพยานแวดล้อม ที่ไม่มีพยานบุคคลหรือพยานหลักฐานอื่น มาพิสูจน์ความผิดที่กล่าวหาว่าเขาได้รับสินบนจริง

หลังมีคำตัดสินแล้ว นาย Ryan ได้กล่าวอย่างขมขื่น แม้จะพยายามยิ้มออกมาแบบเจื่อน ๆ ว่า การตัดสินคดีในครั้งนี้ เป็นการตัดสินคดี ที่ไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เขาได้กระทำลงไปในฐานะผู้ให้บริการสาธารณะ (Public service) ให้แก่ประชาชนชาวอิลลินอยส์ มาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง ๔๐ ปี

เขายังกล่าวต่อไปด้วยว่า "ไม่ต้องสงสัยเลย ตนเองรู้สึกผิดหวังต่อผลการตัดสินคดีครั้งนี้มาก แต่อย่างไรก็ตาม ตนมั่นใจในกระบวนการอุทธรณ์คำพิพากษา และจะมีการอุทธรณ์คำพิพากษาในเร็ว ๆ วันนี้"

ผลของคดีนี้ ไม่เพียงนาย Ryan เท่านั้นที่ต้องได้รับโทษทางอาญาอย่างหนักหน่วง นาย Larry Warner ซึ่งเป็นนัก Lobbyist และเป็นเพื่อนของนาย Ryan ยังต้องรับผิดด้วย จำนวน ๑๒ ข้อหา ในความผิดที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งรวมถึง การฉ้อโกงโดยใช้วิธีการทางไปรษณีย์หรือจดหมายเป็นเครื่องมือ (Mail fraud) การกรรโชกทรัพย์ (Extortion) ความผิดฐาน Racketeering และการ ฟอกเงิน ( Money laundering)

นาย Ryan ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐฯ ในช่วง ๑๙๙๙ ถึง ๒๐๐๓ คงจะรู้ชะตากรรมดี เขาจึงได้ว่าจ้างนายโจรที่เก่งกาจที่สุด ผู้มีชื่อเสียงในการช่วยให้จำเลยหลุดพ้นคดีอาญา และเคยเป็นอัยการ รวมทั้งยังเป็นอดีตผู้ว่าการรัฐ รวมถึงอัยการสูงสุดของสหรัฐฯ อย่างนาย Jim Thompsonและ Dan K. Webb มาแก้ต่างคดีให้ตนเอง ซึ่งทำให้การไต่สวนและพิจารณาคดีอาญาที่มีการพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องยาวทุกวัน กินเวลายาวนานถึง ๖ เดือน
ภายหลังการตัดสินคดี นาย Webb ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "ผมพูดได้เลยครับ ว่าผมรู้สึกผิดหวังกับการตัดสินคดีนี้เป็นอย่างมาก" เพราะว่า "นาย Ryan ไม่เคยได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาแม้แต่น้อยเลย"

นาย Ryan เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เป็นเป้าหมายของพนักงานสอบสวนว่าเป็นผู้กระทำผิดในคดีที่เรียกว่า "Operation Safe Road" ซึ่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนได้ค้นหาข้อเท็จจริงซึ่งถูกกล่าวหาว่า มีการออกใบอนุญาตให้แก่รถยนต์อย่างผิดปกติ

ในส่วนของฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยอัยการสูงสุดของสหรัฐฯ คือ Patrick J. Fitzgerald และผู้ช่วยอัยการสูงสุดสหรัฐฯ คือ Patrick Collins ได้กล่าวว่า การที่ที่นาย Ryan ได้รับโทษจำคุกในครั้งนี้ ถือว่าเป็นชัยชนะของความพยายามที่ทำงานเป็นทีม ในการสอบสวนดำเนินคดีกับผู้บริหารระดับสูงในข้อหาฉกรรจ์ข้างต้น ซึ่งนับเป็นความสำเร็จร่วมกันของ หลายฝ่าย รวมถึง เจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากร (IRS) เจ้าหน้าที่องค์การไปรษณีย์ (Postal Service) เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบก (Department of Transportation) และเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง (FBI)

การสืบสวนสอบสวนครั้งนี้ ใช้เวลายาวนานถึง ๘ ปี เป็นเหตุให้พนักงานสอบสวนที่ทำหน้าที่ฝ่ายสืบสวน จะต้องชะลอการเกษียณอายุราชการเพื่อทำการสืบสวนสอบสวนคดีนี้ให้สำเร็จลงให้จงได้ จนในที่สุด ได้รวบรวมตัวผู้กระทำผิดจนศาลลงโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคดี Operation Safe Road ได้ถึง ๗๕ คน จากจำเลยจำนวน ๗๙ คน ซึ่งสองคนในจำนวนนี้ ได้หลบหนีไป อีกคดีนี้หนึ่งพักการพิจารณาคดีชั่วคราว และอีกหนึ่งคดีศาลพิพากษายกฟ้อง"

อัยการสูงสุดของสหรัฐฯ รายงานว่า "เราไม่ได้มีความสุขที่เราชนะคดี แต่เราภูมิใจที่ผลสำเร็จเกิดขึ้นจากความพยายามทำงานเป็นทีมของทุกฝ่าย" จนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานจากคดีเริ่มต้น อยู่ในวงจำกัดเพียงเรื่องการออกใบอนุญาตที่ไม่ชอบมาพากล แต่กลายเป็นคดีฉกรรจ์หลายคดีในที่สุด

รองอัยการสูงสุดกล่าวว่า แม้เราจะรวบรวมได้เพียงพยานแวดล้อม แต่เราก็เห็นว่า คดีมีมูล โดยมีพยานหลักฐานที่หนักแน่นมาก ซึ่งท้ายที่สุด คณะลูกขุน ก็เห็นด้วยกับเรา เพราะไม่มีใครจะเห็นว่า การทุจริตคอรัปชั่น จะเป็นผลดีต่อประเทศชาติโดยรวม เพราะประชาชนส่วนใหญ่ก็พบเห็นว่า คดีคอรัปชั่นเกิดขึ้นตลอดเวลาเป็นการทั่วไป


เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนของรัฐอิลลินอยส์ ให้การว่า เขาถูกสั่งห้ามมิให้ทำการสืบสวนสอบสวนคดี ที่เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตไม่ชอบ ตั้งแต่ในปี ค.ศ. ๑๙๙๔ ในขณะที่นาย Ryan ดำรงตำแหน่งสำคัญ ในช่วงนั้น ในช่วงดังกล่าว มีคดีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างมาก มีคนตายจำนวนมาก ซึ่งภายหลังพบว่า ผู้ได้รับใบอนุญาตขับขี่ส่วนใหญ่ ไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ เช่น นาย Ricardo Guzman ได้รับอนุญาตโดยการจ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐ

ตามคำให้การของนาย Guzman นั้น เขาไม่อาจจะพูดภาษาอังกฤษได้ด้วยซ้ำ แต่เขาได้ใบอนุญาตมาก็เพราะเขาได้เสียค่าใช้จ่ายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไป เขาไม่เข้าใจป้ายสัญญาณ ฯลฯ อะไรทั้งนั้น จนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติมีผู้เสียชีวิตหลายคนเกิดขึ้น เพราะการฝ่าฝืนกฎหมายจราจรของเขา

นาย Webb ทนายของนาย Ryan กล่าวว่า เขาจะต้องทำให้คำพิพากษานี้ ถูกกลับให้ได้ เพราะเขาเห็นว่า การลงมติของคณะลูกขุน ไม่ปกติ (Unusual developments during jury deliberations)

ในคดีเดียวกันนี้ ก่อนหน้า คณะลูกขุนจำนวน ๒ คนได้ถูกผู้พิพากษา Rebecca Pallmeyer ปลดออกจากการปฏิบัติหน้าที่ เพราะเขาปกปิดประวัตการต้องโทษคดีอาญา ภายหลังจากที่หนังสือพิมพ์ Chicago Tribune ได้ตีแผ่ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้"




- ความเห็นเพิ่มเติม -





ที่จริงยังมีข้อเท็จจริงอื่น ๆ อีกมาก แต่ขอยกมาเป็นเพียงตัวอย่างว่า ในสหรัฐฯ นี่ แท้จจริง มีเรื่องทุจริต คอรัปชั่นในวงการราชการจำนวนมาก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของมลรัฐ ในเกือบทุกแขนง ตั้งแต่ ผู้ว่าการรัฐฯ ศาล อัยการ ตำรวจ ฯลฯ ล้วนมีเรื่องทุจริต อื้อฉาว จำนวนมาก

แต่ในสหรัฐฯ จะมีปรากฎการณ์ที่ค่อนข้างแปลก คือ เจ้าหน้าที่ของระดับรัฐบาลกลาง (Federal government) ไม่ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง (FBI) พนักงานอัยการ (Federal prosecutor) ศาลระดับ Federal Judges แทบจะไม่เคยได้ยินเรื่องทุจริตคอรัปชั่นเลย

นักวิชาการหลายคน ตั้งข้อสมมุติฐานว่า ในระดับรัฐบาลกลาง เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้รับเงินเดือนสูงกว่าระดับรัฐบาลมลรัฐมาก ๆ และในขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูง ได้รับการคัดเลือกอย่างเข้มข้น โดยระบบกฎหมายคุ้มครองข้าราชการพลเรือน ที่ไม่ให้ถูกปลดจากตำแหน่งโดยง่าย หลังจากเปลี่ยนจากระบบ Common law ที่ผู้บริหารสามารถสั่งปลดเจ้าหน้าที่ได้ตามอำเภอใจ (At will employment) มาเป็นการถูกปลดเฉพาะเมื่อมีเหตุอันสมควร (For cause) เท่านั้น

เจ้าหน้าที่ระดับรัฐบาลกลางในระดับสูง ส่วนใหญ่ ประธานาธิบดี จะเป็นผู้อำนาจเด็ดขาดในการแต่งตั้ง หรือเสนอแต่งตั้ง รวมไปถึงผู้พิพากษาระดับศาลอุทธรณ์ และศาลสูงสุดสหรัฐ ก็ล้วนแต่มาจากอำนาจตาม appointment clause แห่งรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่ยกอำนาจนี้ของประธานาธิบดีทั้งสิ้น แม้จะมีที่มาจากฝ่ายบริหาร แต่ปรากฎการณ์ที่แปลกสำหรับเมืองไทย และนักวิชาการไทยไม่เชื่อว่าจะเป็นจริงได้ คือ บุคคลที่ฝ่ายบริหารแต่งตั้งเหล่านี้ สามารถทำงานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเอาจริงเอาจัง เป็นอิสระ ซึ่งผมคิดว่า การที่เขาทำงานได้ดีนี้ ก็เพราะคนเหล่านี้ มีสำนึกในหน้าที่ และมีกฎหมายที่ดีเป็นหลักประกันความมั่นคงในอาชีพให้กับเขาเป็นอย่างดี

เรื่อง อำนาจประมุขฝ่ายบริหารนี่ เป็นเรื่องใหญ่ในสหรัฐฯ ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ และศาลสูงสุดสหรัฐฯ ยอมรับว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารที่จะกำหนดกลไกในการบริหารรัฐกิจ อย่างค่อนข้างอิสระ การแต่งตั้งบุคคลสำคัญหรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงในสหรัฐฯ จึงเป็นเอกสิทธิ์ของประธานาธิบดีเท่านั้น ศาล ไม่อาจจะเข้าแทรกแซง รวมถึง สภา Congress ก็ไม่อาจจะออกกฎหมาย มาจำกัดไม่ให้ประธานาธิบดี แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ในอดีตที่ผ่านมา มีความพยายามของ Congress จะออกกฎหมายในการแต่งตั้งบุคคลสำคัญ โดยให้ฝ่ายรัฐสภา เข้ามามีส่วนร่วมในการใช้อำนาจ ตาม Appointment clause นี้หลายครั้ง แต่ศาลสูงสุดสหรัฐ ก็ประกาศว่า กฎหมายนั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น (Unconstitutional)

เรื่องความสุจริตของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของระดับรัฐบาลกลางนี่ ต้องยอมรับว่า แตกต่างจากเจ้าหน้าที่ระดับมลรัฐ อย่างมาก เพราะมีข่าวเนืองว่า ผู้พิพากษา อัยการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ รับสินบน หรือใช้อำนาจไม่ชอบ ส่วนหนึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่ามีกฎหมายคุ้มครองน้อยกว่า ซึ่งกฎหมายเหล่านี้ จะเป็นไปตามกลไกของมลรัฐต่าง ๆ และได้เงินเดือนน้อยกว่าเจ้าหน้าที่ระดับรัฐบาลกลางอย่างมาก เช่นว่า การเข้าสู่ตำแหน่งของ ผู้ว่าการรัฐฯ อัยการสูงสุดของรัฐ ผู้พิพากษาของศาลมลรัฐส่วนใหญ่ ต้องมาจากการเลือกตั้ง การเข้าสู่ตำแหน่ง จึงใช้เงินจำนวนมาก ในการรณรงค์การเลือกตั้ง เมื่อลงทุนมาก ก็ถอนทุนมากเช่นกัน

นาย Ryan นี่ ก็เช่นกัน มาจากพรรค Republican ได้มีกลุ่มผลประโยชน์ (Interest group) สนับสนุนทางการเงินจำนวนมาก ตั้งแต่ขณะดำรงตำแหน่ง Secretary of State จนกระทั่งเขามารณงค์การเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการรัฐฯ โดยมีเพื่อนรู้ใจ เป็นนายหน้าให้ ความโลกไม่ปราณีใคร แต่เวรกรรมก็เดินตามเหมือน ล้อเควียนหมุนตาม รอยเท้าของโค ที่ลากมันไปไม่หยุดหย่อน

แม้ว่านาย Ryan จะพยายามสร้างภาพว่าเป็นผู้รักสันติ โดยหยิบประเด็นเรื่องโทษประหารชีวิต (Death Penalty) ขึ้นมาเบี่ยงเบนความสนใจเรื่องอื้อฉาวที่เขาทำไว้ แต่เรื่องชั่ว ก็ยังคงชั่วอยู่เยี่ยงนั้นครับ เขาได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาการปฏิรูปกฎหมาย เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต ในรัฐอิลลินอยส์ แต่เสียงในสภาของเขาไม่เห็นด้วย ทำให้โทษประหารชีวิตของอิลลินอยส์ ยังดำเนินต่อไป

ครั้งหนึ่งนาย George Ryan ได้เคยไปกล่าวสุนทรพจน์ ที่ Northwestern University Law School ไว้ว่า เขามีเจตจำนงค์แน่วแน่ที่จะยกเลิกโทษประหารชีวิตให้ได้ เพราะประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ซึ่งความผิดพลาดร้ายแรงจำนวนมากของการลงโทษประหารชีวิต เขาจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาศึกษาและปฎิรูปกฎหมายเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตในรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งเป็นปรากฎที่ตรงข้ามกับ รัฐ Massachusetts ที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปนานแล้ว ตอนนี้ ได้รื้อฟื้นมันขั้นมาใหม่เรียบร้อยแล้ว .....

ผลงานของเขาเกี่ยวกับเรื่องเกี่ยวกับการเสนอยกเลิกโทษประหารชีวิตนี้ เขาจึงได้รับการเสนอชื่อเพื่อชิงรางวัล Nobel Prize เลยทีเดียว แต่ว่า เขาก็หนีไม่พ้นสิ่งที่เขาทำเอาไว้ นี่แหละครับ ความชั่วกับความดี ต้องแยกจากกัน ต้องแยกแยะให้ออก ครับ ไม่งั้นวุ่นไปหมด ดีก็ต้องว่าดี ชั่วก็ต้องว่าชั่ว ไม่ใช่อะไรก็ชั่วไปหมด ..............




หมายเหตุ

(๑) สนใจอ่าน ข่าวภาคภาษาอังกฤษ ในเรื่องนี้ โปรด คลิ๊กที่นี่

(๒) สนใจจะอ่าน สุนทรพจน์ของนาย Ryan ที่ Nortwestern Law School โปรด คลิ๊กที่นี่




เพื่อน ๆ ว่า ประเทศไทย เราจะมีเหตุการณ์แบบนี้ไหมในอนาคต ... ผู้บริหารระดับสูง จะถูกดำเนินคดีอย่างจริงจัง หากกระทำผิด ทุจริตคอรัปชั่น ต่อแผ่นดินครับ




 

Create Date : 21 เมษายน 2549    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:40:20 น.
Counter : 1075 Pageviews.  

เหยื่อของ PHISHING SCAM

วันนี้ (๒ เม.ย.๔๙ ) เป็นวันเลือกตั้งของประเทศไทย รู้สึกจะเป็นการแข่งขันระหว่าง สองพรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคไทยรักไทย กับ พรรคไม่เลือกใคร .... ก็ต้องลุ้นกันต่อไปว่าจะเป็นไงต่อไป เอ่อ ...ผมไม่ได้ตั้งใจ เขียนเรื่องการเมืองไทยหรอก ปวดหัวใจครับ ... แต่ขอแค่แถมท้ายนิดหน่อยก็พอ




ผมตั้งใจจะมาเล่าเรื่อง Phishing Scam คือ การฉ้อโกง อย่างหนึ่งครับ ไม่ใช่เรื่องการเมืองโดยเด็ดขาด ผมคิดว่า ทุกคนคงเคยได้รับอีเมลล์ประเภท ว่าต้องการความช่วยเหลือในการโอนเงิน แล้วให้เรากรอกข้อมูล รายละเอียดเกี่ยวกับตัวบุคคลของเราเอง และเลขบัญชีธนาคาร เพื่อโอนเงินของเขา มายังบัญชีของเรา ประมาณนั้น ..... แล้วเขาจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งให้เรา ในจำนวนที่สูงมาก

พอเราแจ้งไปจริง ๆ ข้อมูลของเรา ก็จะถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด นอกจากส่วนเงินส่วนแบ่งที่เขาสัญญาไว้ เราจะไม่ได้รับแล้ว เงินในบัญชีของเราที่สะสมมาแทบตาย ก็จะไม่เหลือแม้เพียงเซ็นต์เดียวครับ .... ปัญหานี้ เกิดขึ้นมาในสหรัฐฯ และมีคนจำนวนไม่น้อย หลงกล เพราะความโลภเช่นนี้ เยอะเลยครับ

หากจะเปรียบเทียบกับปัญหาในไทย ก็คงจะเหมือน "แก๊งค์ตกทอง" ที่ปรากฎอยู่เนือง ๆ ไม่น่าเชื่อครับ ที่อยู่ดี ๆ มีคนเอาทองหนัก ๑๐ บาท แต่ต้องการได้ทองเส้นเล็ก ๆ ของเราที่หนักเพียง ๑ บาท โดยมีเงื่อนไขว่า หากเรายินดีจะแลกแล้ว เราต้องจ่ายเงินส่วนต่างของราคาทองหนัก ๑๐ บาท กับหนัก ๑ บาท อีกเล็กน้อย ด้วยความโลภ เราก็เลยแลกไป .... พร้อมจ่ายเงินค่าทองปลอม ไปอีกก้อนหนึ่ง ..... ทั้ง ๆ ที่เราก็น่าจะรู้อยู่แล้วว่า ธุรกิจนี้ มันช่างเป็นไปไม่ได้เสียเลย แต่ก็ยังมีคนไม่น้อย หลงเชื่ออีก.... กลุ่มคนที่ถูกหลอกนี้ ก็จะก็ไปบอกตำรวจว่า เขาถูกป้ายยาอะไรก็ไม่รู้ ทำให้สมองมึนงง ... แบบ มึนตึ๊บ มึนตึ๊บ จนยอมแลกทองที่มีน้ำหนักและมูลค่าแตกต่างกันมากมายขนาดนั้นไปได้ ...

โ อ๊ ะ โ อ ว ...แ ล้ ว ค ร า ย จ ะ เ ชื่ อ ล ะ ค ร๊ า บ ....


ถ้ามีเรื่องประเภทนี้ ก็ระวังด้วยกันนะครับ .... ในสหรัฐ กำลังมีกฎหมายเสนอต่อต้านการกระทำแบบนี้ คือ กำหนดให้การส่งอีเมลล์ ไปหลอกถามข้อมูลบุคคล เป็นความผิดกฎหมายอาญา ครับ โดยใช้ประกอบกฎหมายที่มีอยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น The Credit Card Fruad Act: 18 U.S.C. § 1029, The ID Theft Act: 18 U.S.C. § 1028, The State Anti-Fraud Laws และ ร่างกฎหมาย The Anti-Phishing Act of 2005 ที่ขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาในสาระคัญอยู่

หันกลับมามองปัญหานี้ .... ประเทศไทย เรายังไม่มีอะไรคืบหน้า ไม่ว่าจะเป็นอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์โดยตรง หรือ กฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมที่กระทำบนคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตทั้งหลาย คงต้องรอให้เกิดเรื่องวุ่นวายขึ้นก่อนนั่นแหละ ตามสไตล์ พี่ไทยของเรา แล้วค่อยหาทางแก้ไขกันต่อไป

ส่วน Link ด้านล่างนี้ ถ้าไม่สนใจก็ไม่ต้องคลิ๊กไปอ่านหรอกครับ ผมแค่เขียนถึงปัญหานี้เล็ก ๆ น้อย กับตัวบทกฎหมายของสหรัฐฯ พร้อมเอาบทความที่เกี่ยวกับ Phishing Scam ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษมารวมไว้ แต่หากสนใจ ก็จะเป็นประโยชน์นะครับ เพราะหน่วยงานของสหรัฐฯ ได้เสนอวิธีการในการป้องกันตนเองในกรณีที่ถูกหลอกลวง และหลงเชื่อไปแล้ว จะทำไงดี .... รวมถึงข้อแนะนำให้เราแจ้งข้อความไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยอีเมลล์ไป เพื่อให้หน่วยงานดังกล่าว สืบสวนสอบสวน ที่มาของอีเมลล์ดังกล่าวด้วย




ประเด็นที่สองครับ ขอย้อนกลับมาเหตุการณ์ทางการเมืองสักเล็กน้อยครับ





ตอนนี้ ผมมีข้อกังวลทางกฎหมายเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งเหมือนกันว่า ถ้าประชาชนลงคะแนนไม่เลือกผู้ใด สูงกว่าตัวแทนพรรคการเมือง และ แม้จะตัวแทนพรรคการเมืองที่ได้รับเลือกจะได้คะแนนเกิน ๒๐ % แล้ว ในทางกฎหมาย จะมีผลทางกฎหมายอย่างไร .... ผู้สมัครท่านนั้น จะถือว่าเป็น สส. โดยชอบธรรม ได้หรือไม่ ...

ผมว่า ประเด็นนี้น่าสนใจ และจะต้องมีการโต้แย้งกันถึงผลทางกฎหมายในประเด็นนี้แน่ ๆ ผมคิดเล่น ๆ ว่า หลักเรื่องคะแนนอย่างที่ได้รับเลือกต้องอย่างน้อย ๒๐ เปอร์เซ็นต์ นี่ มันน่าคิดว่า จะสอดคล้องกับสถานการณ์ และเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการมีกฎหมายมาตรานี้หรือไม่

หากจะพิจารณากันจริง ๆ สิ่งที่จะนำมาใช้ในการพิจารณาประการหนึ่ง ก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะต้องย้อนดูประวัติศาสตร์หรือที่มาของการร่างมาตรานี้ เพื่อประกอบการตีความกฎหมายในมาตรานี้ ว่าแท้จริงแล้ว มันมีเจตนารมณ์ที่แท้จริงอะไรซ่อนอยู่ แล้วจะปรับประยุกต์กับเหตุการณ์ปัจจุบันอย่างไร

หากว่าผู้ร่างมีเจตนาว่า อย่างน้อย คะแนนเสียง ควรจะต้องได้มากกว่าคะแนนไม่ประสงค์จะเลือก ... ก็ย่อมจะหมายความว่า ประชาชนส่วนใหญ่ เห็นว่า ไม่ใครเหมาะสมจะเป็นผู้แทนของของเขา กรณีนี้ ผมคิดว่า ควรจะต้องเคารพในเจตนารมณ์ของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ จึงเห็นว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เฉพาะในเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาข้างต้น ก็ไม่น่าจะเป็นการเลือกตั้งที่ชอบธรรม .. และควรดำเนินการแก้ไขต่อไปครับ

อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องเคารพเจตนารมณ์ของเสียงข้างมาก ที่ไม่ละเลยเสียงข้างน้อย เช่นกัน หากประชาชนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพวกบ้านนอกคอนา หรือไม่ใช่คนในเมือง ที่เลือกรัฐบาลเก่า เราก็ต้องเคารพ จะไปดูถูกว่า มันเป็นเสียงของบ้านนอก ที่ถูกมอมเมาด้วยนโยบายทุนนิยม ก็คงไม่สวยเช่นกัน ..... ทางที่ดีที่สุด คือ จะประนีประนอม กันอย่างไร ... ผมภาวนาว่า ทุกฝ่ายจะหันหน้าเข้าหากัน แล้วลองหาทางออกที่ดีที่สุดกันสักตั้งครับ ... รักประเทศไทยกันบ้างเถอะ ..... แค่นี้ ประเทศไทย ก็บอบช้ำสุด ๆ แล้ว

สุดท้ายของสุดท้าย .... ได้เห็นข่าวของ คุณไชยันต์ ที่มี ดีกรี ดอกเตอร์ จากอังกฤษ เป็นอาจารย์ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ฉีกบัตรเลือกตั้ง แล้วมีคนจำนวนมาก ให้กำลังใจส่งเสริม การกระทำผิดกฎหมายของเขา โดยอ้างเป็น "อารยะขัดขืน" แล้ว เศร้าใจ ... ทั้ง นิติ มธ. ฯลฯ หาเหตุผลบิด ๆ เบี้ยว ทางกฎหมายมาอ้างกันเข้าไป ... ผมว่า การหาเหตุผลบิดเบี้ยว ๆ มาอ้างเพื่อให้รอดพ้นการกระทำผิดกฎหมาย ก็คงไม่ต่างจาก กรณีที่ นิติบริกร กระทำการให้รัฐบาลเลย ... มันเข้ากับสำนวน "ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง หรือเปล่า"

ผมเรียนตามตรงเลย ผมเป็นคนหนึ่ง ที่ไม่ขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมให้ประชาชนทำผิดกฎหมาย ไม่ยกย่อง และไม่เป็นกำลังใจ กับการกระทำแบบนี้ .... อยากรู้จริง ๆ ว่า ถ้าเป็น ตาสี ยายสา ตามี ยายมา ทำแบบนี้ หลายคน จะยังชื่นชม หรือ สนับสนุน หรือไม่ ... พวกสนับสนุน ถามใจตัวเอง ไม่ต้องตอบคำถามผม ... ขออย่าโกหก ตัวเองก็พอ ... นอกจากผมจะไม่ยกย่อง แล้วผมยังขอประณามการกระทำผิดของคุณไชยันต์ ด้วยครับ ...




Click to Read in English.






 

Create Date : 03 เมษายน 2549    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:39:59 น.
Counter : 1137 Pageviews.  

คำสาบาน สาบานกับใครละ

ตอนที่แล้ว ได้เข้ามาทำตามคำสัญญา คือ แปลคำปฏิญาณตนของนักกฎหมายเป็นภาษาไทย บางท่านชมว่าสละสลวยดี ดีครับ ให้กำลังใจกันดี เหอ เหอ ...

มีหลายท่าน ตั้งคำถามไว้น่าสนใจมาก เช่น ถ้าทนายดีจริง ไฉนเลยจึงไปช่วยเหลือคนผิดละ ... คำสาบานตนนี้ ถือว่าสาบานต่อพระเจ้าหรือไม่ ผมได้ตอบปัญหานี้ในบล๊อกก่อนไปแล้ว แต่ขอยกคำตอบนั้น มา ณ ตรงนี้ เพราะเห็นว่ามีหลายประเด็นน่าสนใจ บล๊อกนี้ จึงขอเรียนเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวคิดในการควบคุมวิชาชีพนักกฎหมาย และแนวคิดในการดำเนินคดีในศาลที่เรายึดถือ ซึ่งมักจะขัดใจเรา ๆ ท่าน ๆ เสมอ เพราะมันเหมือนกับว่า ใครรวย ก็จะมีโอกาสชนะคดี คุกมีไว้ขังหมาเท่านั้น อะไรทำนั้นครับ




เรื่องการสาบานนี้ ผมว่า มันเหมือนสิ่งที่ทำให้เราระลึกว่าครั้งหนึ่ง เราเคยให้สัตย์ปฎิญาณไว้อย่างไร เท่าที่ผมเข้าใจ ตามที่ได้พูดคุยกับคณาจารย์ ผมคิดว่า เขาไม่ได้ปฏิญาณต่อพระผู้เป็นเจ้าอะไรหรอกครับ ... เพราะมันขัดต่อหลักเสรีภาพในการนับถือศาสนา ละเอียดอ่อนมากครับ บางคนไม่มีพระเจ้า ไม่นับถือ เยซูคริสต์ หรือ นับถือศาสนาอื่น ๆ การบังคับให้ต้องสาบาน ต่อพระเจ้า ฯลฯ จึงกระทำไม่ได้โดยเด็ดขาดครับ

จากประโยคสุดท้ายของคำปฏิญาณ จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า เหล่านักกฎหมายจะปฏิญาณ ด้วยศักดิ์ศรี และเกียรติศักดิ์ของความเป็นมนุษย์ของเขาเอง .... คือ หากเขาไม่รักษาคำปฏิญาณ เขาก็ย่อมเท่ากับทำลายเกียรติศักดิ์หรือเกียรติยศแห่งตัวตนเขาเอง อเมริกา สอนให้คน ๆ ของเขา มี Sefl-esteem คือ ความภูมิใจในตัวเอง ไม่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นโดยไม่จำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ลอกข้อสอบโดยเด็ดขาด อย่างโรงเรียนกฎหมายจะมี Code of Honor หากกระทำผิดใด ๆ แล้ว จะต้องมีการรายงานตนต่อโรงเรียนกฎหมายด้วยตนเอง (Self-report) หากไม่รายงานจับได้ ไล่ออกคือโทษที่จะตามมา แต่รายงานแล้วก็ใช่ว่าจะจบแค่นั้น ทางโรงเรียนจะรายงานไปยัง Bar หรือ เนติบัณฑิต ประจำรัฐ

ทางเนติบัณฑิต ก็จะดำเนินการตามมาตรฐานที่เห็นสมควร เช่นว่า ขับรถในขณะเมาสุรา แล้วถูกจับดำเนินคดี ทางเนติฯ อาจจะขึ้นบัญชีไว้ หากหลายครั้ง ก็จะไม่อนุญาตให้สอบเป็นสมาชิกเนติบัณฑิต .... นั่นหมายความว่า เขาจะไม่อาจจไม่ประกอบอาชีพทนายความได้เลย หลักการง่าย ๆ คือ เหมือนกับว่า เราไม่มีใบรับรองในวิชาชีพ ก็ห้ามว่าความ ห้ามให้คำปรึกษาใด ๆ เป็นต้น

ส่วนเรื่องที่ว่า เป็นทนายความแล้ว จะต้องไม่ช่วยเหลือคนผิดนั้น ... ผมยอมรับเลย เมื่อก่อนก็คิดเช่นนั้นว่า หากมันผู้ใดทำผิดกฎหมายแล้ว ก็สมควรได้รับการลงโทษ และทนายความ หากเป็นคนดีจริง ก็ต้องไม่ให้ความช่วยเหลือใด ๆ กับมันผู้นั้น แต่จริง ๆ ตามหลักการมันไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับ เขาผู้นั้น ก็คือ คนธรรมดา ที่สามารถมีรัก โลภ โกรธ หลงได้ ทำผิดได้ ทำพลาดได้ และเขาเองก็มีสิทธิในความยุติธรรมตามกฎหมาย คือ การต่อสู้คดีในระบบที่เรายึดถือ คือ ระบบกล่าวหา (Adversary System)

ระบบกล่าวหา มีหลักการง่าย ๆ ว่า ฝ่ายรัฐมีหน้าที่พิสูจน์ว่า ผู้ถูกกล่าวหา ได้กระทำผิดจริง โดยปราศจากสงสัยตามสมควร ฝ่ายรัฐจึงมีหน้าที่นำพยานหลักฐานที่รวบรวมโดยตำรวจ หรือ อัยการ เสนอต่อศาล เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลย ได้กระทำผิดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้จริง ๆ ไม่ได้กลั่นแกล้งกันเล่น ๆ ในขณะเดียวกัน ฝ่ายจำเลย ก็มีสิทธิต่อสู้คดีภายใต้ระบบกล่าวหาเช่นกัน คือ สามารถนำพยานหลักฐานเสนอให้ศาลเห็นว่า "เขาไม่ได้ทำผิด" หรือ "เขาทำผิด แต่มีเหตุบรรเทาโทษ" หรือ "ไม่รับรองว่าทำผิดจริงหรือไม่ แต่พยานหลักฐานฝ่ายรัฐอ่อน พยานหลักฐานได้มาจากการกระทำผิดกฎหมาย ฯลฯ" ว่าง่าย ๆ คือ จำเลยสามารถเสนอหลักฐาน เพื่อทำลายหลักการ "Prove beyond reasonable doubt" ว่าฝ่ายรัฐไม่อาจพิสูจน์โดยปราศจากสงสัยได้

ศาลก็มีหลักการง่าย ๆ คือ ความเป็นกลาง ..เป็นผู้รักษากติกาของการต่อสู้คดี หากมีความสงสัยว่าจำเลยจะกระทำผิดหรือไม่ ก็ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย โดยการยกฟ้องและปล่อยตัวจำเลยไป เพราะคิดว่า "ปล่อยคนผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษคนบริสุทธิ์เพียงคนเดียว"

หลักการตามระบบนี้ ก็จะถูกโจมตีเสมอว่า ความยุติธรรม ขึ้นอยู่กับความรวย และความสามารถของทนายความ หากคนรวย ก็มีปัญญาที่จะจ้างทนายความเก่ง มาสู้คดีให้ตนเองได้ เหมือนการเล่มเกมปาหี่สักอย่าง ไม่มีความยุติธรรมจริงใดเกิดขึ้นในโลก และเงินตราบันดาลได้ทุกสิ่ง

ก็จริงอย่างนั้นเหมือนกันครับ แต่เขาคงคิดว่าไม่มีระบบใดจะดีกว่านี้ เมื่อก่อนในยุโรป ให้ศาลทำหน้าที่ไต่สวนคดีเอง กล่าวง่าย ๆ คือ ให้ศาลค้นหาความจริงเอง สืบสวนสอบสวนคดีเอง โดยมีตำรวจและอัยการเป็นคนช่วยเหลือ แม้แต่ทนายความจำเลย ก็ไม่อาจจะทำหน้าที่ต่อสู้คดีให้จำเลยได้ แต่ความจริง คือ ความจริง ครับ อำนาจทำให้คนลุ่มหลง ..... ศาลก็ไม่อาจดำรงความยุติธรรมได้อย่างแท้จริง เพราะเมื่อตนเข้าไปพัวพัน ก็จะมีอารมณ์ร่วมอย่างรุนแรง มีอคติในใจตั้งแต่ต้น ก็อาจจะทำให้ตัดสินใจผิดพลาดได้ครับ

การปฏิญาณตน จึงเป็นเพียงเครื่องเหนี่ยวรั้งจิตใจ และเตือนสติว่า ครั้งหนึ่งเราเคยสาบานด้วยเกียรติศักดิ์และเกียรติยศของความเป็นคน ของเราเองไว้อย่างไร คำปฏิญาณไม่อาจจะทำให้ทุกอย่างดีได้ โดยปราศจากระบบอื่น ๆ เข้ามาควบคุมตรวจสอบ ระบบการควบคุมวิชาชีพนักกฎหมายในสหรัฐฯ จึงมีองค์กรศาลและคณะกรรมการวิชาชีพประจำเนติบัณฑิตของแต่ละรัฐเข้ามาควบคุมด้วย มีกฎระเบียบตามที่ American Bar Association - ABA หรือ เนติบัณฑิตอเมริกัน กำหนดไว้

หลักจริยธรรมของ ABA นี้ สำคัญนัก เพราะศาลทุกศาลได้ยอมรับเอาไปใช้ในเป็นหลักกฎหมายในการพิจารณาคดีมรรยาททนายความ กรณีทนายถูกร้องเรียนฯ โดยมี หลักการที่สำคัญที่ทนายจำเลยในสหรัฐฯ จะต้องยึดถืออย่างมาก คือ จะใช้เทคนิคทางกฎหมายอย่างไร ได้เต็มที่ แต่ทนายต้องไม่มีส่วนช่วยเหลือทั้งทางตรงและทางอ้อม หรือ หรี่ตาข้างหนึ่งแล้วยินยอมให้ลูกความโกหกต่อศาล หากทนายเคยสอบถามข้อเท็จจริงแล้ว ต่อมาจำเลยให้การกลับไปกลับมา โดยมีแนวโน้มกว่าเป็นเท็จ หลักจริยธรรมในสหรัฐฯ คือ ทนายต้องไม่ช่วยนำพยานหลักฐานที่น่าจะเป็นเท็จเข้าสู่กระบวนพิจารณาของศาล

นอกจากนี้ ทนายความ จะต้องเสนอพยานหลักฐานที่จะพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง เช่น ลูกความเอาปืนมาให้แล้วสารภาพว่าฆ่าคนตายจริง สิ่งนี้จะต้องถูกเปิดเผยต่อศาล ไม่งั้นทนาย หมดอาชีพแน่ ๆ ในขณะเดียวกัน ฝ่ายรัฐฯ ก็มีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลที่จะอาจจะทำให้จำเลยมีโอกาสหลุดพ้นการลงโทษต่อศาลด้วย ... ในกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูล ซึ่งกันและกัน

ที่สำคัญที่สุด คือ เมื่อทนายด้วยกัน พบทนายอื่นกระทำผิดกฎระเบียบดังกล่าว ไม่ว่าจะนอกหรือในศาล ก็ต้องรายงานต่อองค์กรควบคุมวิชาชีพนั้น ซึ่งอันนี้ น่าจะถือว่าเป็นระบบตรวจสอบซึ่งกันและกัน อันจะถือได้ว่าเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีระบบ Self-regulated organization อย่างแท้จริง เป็นต้น

การควบคุมวิชาชีพนักกฎหมายของสหรัฐฯ ต่างจากไทยมาก เพราะในประเทศไทยนั้น ให้สภาทนายความ ควบคุมกันเอง แน่นอนที่สุด อำนาจเป็นสิ่งหอมหวาน และเต็มไปด้วยผลประโยชน์ ตำแหน่งนายกสภาทนายความ หรือคณะกรรมการสภาทนายความ ย่อมนำมาซึ่งอำนาจบารมี การสร้างอำนาจบารมี ประการหนึ่ง ก็คือ การทำทาน โดยการช่วยเหลือกันเองนี่แหละ เรื่องร้องเรียนเข้าสู่สภาทนายความ กล่าวหาว่าทนายความทำผิดจรรยาบรรณในไทย จึงเป็นเรื่องที่ไร้สาระไป เพราะร้องอย่างไร ก็คงจะไม่มีผล เพื่อน ๆ ในองค์กรแห่งนี้ และทำงานให้กับองค์กรแห่งนี้ บอกว่า บางส่งเรื่องมา ๕ ปี สภาทนายความ ยังไม่เคยเหลียวหันกลับไปมองเลยด้วยซ้ำ แล้วเรื่องนั้น มันก็หายไปตามกาลเวลา .....

ในอดีต ประเทศไทยเราให้ เนติบัณฑิตสภา เป็นผู้ควบคุมวิชาชีพนักกฎหมาย ตอนนี้ มีอำนาจแต่เพียงตัวอักษร ในฐานะผู้ให้ใบรับรอง การเป็นสมาชิกวิสามัญ เนติบัณฑิตยสภา รับเงินจากการเป็นสมาชิกวิสามัญ แต่ไม่มีบทบาทอะไรเลยในการรับรู้เกี่ยวกับความประพฤติ การปฏิบัติบัติของทนายความที่ตนเองให้คำรับรองฐานะการเป็นสมาชิกนั้น มีเพียงองค์กรสภาทนายความ โดยคณะกรรมการมรรยาททนายความ ที่จะคอยดูแล ....คือ ดู กับ แล ...ครับ

ใครมีอำนาจวาสนา อยากจะให้วิชาชีพเหล่านี้ดีขึ้น คงจะต้องใช้อำนาจทางการเมืองเข้าไปจัดการแก้ไขปัญหา เพราะรอให้องค์กรวิชาชีพเมืองไทย แก้ไขปัญหากันเอง คงต้องรอกันสัก ๑๐ ชาติมั๊ง ดูอย่างองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนซิครับ มีหลักจรรยาบรรณอย่างสวยหรู ไม่เพิ่มเติมข่าว เป็นกลาง ไม่แทรกอารมณ์ ฯลฯ เห็นมีแต่ถ้อยคำหรู ๆ ที่ปรากฎบนกระดาษเท่านั้น หาได้มีอะไรเกิดขึ้นจริงไม่เลยครับ




 

Create Date : 26 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:39:21 น.
Counter : 959 Pageviews.  

สัญญามีไว้ให้รักษา! เลยต้องมาทำตามสัญญา!

บล๊อกที่แล้ว ได้นำคำปฎิญาณของนักเรียนกฎหมายสหรัฐฯ มาโพสต์ไว้เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งผมก็สัญญาว่า จะกลับมาแปลเป็นภาษาไทยในโอกาสหน้า

เพื่อนท่านหนึ่ง มาโพสต์ในความเห็นไว้ว่า สัญญามีไว้เพื่อรักษา ... ไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องที่ผมตั้งใจหรือสัญญาไว้ (คือ จะกลับมาแปลเป็นไทยนี่แหละ) หรือไม่ แต่มันช่างเป็นคำที่ยิ่งใหญ่จริง ๆ เลยต้องรีบกลับมาทำครับ

ถ้าผมแปลไม่ไพเราะก็ต้องขออภัยนะครับ เพราะปกติ จะอ่านภาษาอังกฤษแบบมั่ว ๆ ไป คือ ไม่ค่อยจะได้แปลตามตัวอักษรเท่าไหร่ ปีก่อน ๆ เคยติววิชากฎหมายให้เพื่อน ๆ คนไทย แล้วก็ต้องแปลเป็นภาษาไทย เพื่อน ๆ ก็หัวเราะกับคำที่ผมใช้ .... เวรกรรมครับ .... ไม่เข้าใจเหมือนกัน ... ฉะนั้น หากอ่านแล้ว ไม่ได้เรื่องเลย ก็ขอได้โปรดอภัยครับ




"As I begin the study of law, I acknowlege and accept the privileges and reponsibilities inherent in becoming a lawyer, and the high standards and ideals that accompany such an undertaking.

ในฐานะที่ข้าพเจ้าจะเริ่มต้นชีวิตนักเรียนกฎหมาย ข้าพเจ้าได้ตระหนักและยอมรับถึงสิทธิประโยชน์และความรับผิดชอบต่อหน้าที่ที่สถิตย์อยู่ในตัวตนแห่งข้าพเจ้าที่จะมาเป็นนักกฎหมาย อีกทั้ง ข้าพเจ้ายังได้ตระหนักและยอมรับถึงมาตรฐานและอุดมคติแห่งวิชาชีพ ซึ่งข้าพเจ้าจะต้องยึดถือในการจะดำรงตนในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพนักกฎหมายด้วย

Accordingly, I pledge that I will at all times conduct myself with the dignity befiting an advocate and counselor in a learned profession.

ฉะนั้น ข้าพเจ้าขอให้สัตย์ปฎิญาณว่า นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจะดำรงอย่างมีศักดิ์ศรี ในขณะที่ยังเป็นนักเรียนในวิชาชีพกฎหาย เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่อาชีพในฐานะทนายความ และผู้ให้คำปรึกษาทางกฎหมายในอนาคตต่อไป

I commit myself to service without prejudice, integrity without compromise, and the diligent performance of my duties with the utmost good faith.

ข้าพเจ้าขอให้พันธสัญญาว่า ข้าพเจ้าจะให้บริการทางกฎหมายโดยปราศจากอคติ และบริสุทธิ์ยุติธรรม โดยปราศจากการสมยอม อีกทั้ง ยังจะให้บริการทางกฎหมายด้วยความขยันขันแข็งในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าพเจ้า ด้วยหัวใจที่บริสุทธิ์ผุดผ่องตามหลักสุจริต

I acknowledge that I will be a zealous advocate, but will act with courtesy and cooperation toward others, and I will at all times behave in a professional manner.

ข้าพเจ้ายอมรับถึงภารกิจอันสำคัญว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ทนายความด้วยความขยันขันแข็งและเอาจริงเอาจัง แต่จะให้เกียรติและร่วมมือในการปฏิบัติหน้าที่ของทนายความของคู่ความอื่นเช่นกัน อีกทั้ง จะปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ ข้างต้น บนมาตราฐานวิชาชีพตลอดเวลาที่ดำรงตนเป็นทนายความ

I will remember that my responsibilities to the legal profession permeate my actions both as a student of the law and, thereafter, as a member of the bar.

ข้าพเจ้าจะตระหนักอยู่ตลอดเวลาถึงหน้าที่ความรับผิดชอบต่อหลักวิชาชีพนักกฎหมาย ที่ฝังแน่นและแผ่ซ่านอยู่ในความประพฤติและการปฏิบัติของข้าพเจ้า ตั้งแต่ยังดำรงฐานะนักเรียนกฎหมาย และภายหลังจากนั้น ในฐานะผู้เป็นสมาชิกเนติบัณทิตยสภา (ผู้ควบคุมมาตรฐานวิชาชีพกฎหมาย)

I accept my new status as a legal professional, and will approach my colleagues and adversaries alike with the same integrity, professionalism and civility, which I expect from them.

ข้าพเจ้า ยอมรับสถานะใหม่ของข้าพเจ้าในฐานะผู้มีวิชาชีพนักกฎหาย และจะยอมรับสถานะของเพื่อนร่วมวิชาชีพนักกฎหมาย รวมถึงจะยอมรับสถานะทนายฝ่ายคู่กรณี ในฐานะที่เท่าเทียมกันในศักดิ์ศรี วิชาชีพ และฐานะพลเมือง เฉกเช่นเดียวกับสิ่งที่ข้าพเจ้าปรารถนาที่จะได้รับการยอมรับจากผู้อื่นเช่นกัน

This pledge I take freely and upon my honor."


ข้าพเจ้าขอรับรองว่า ถ้อยคำสัตย์ปฎิญาณข้างต้น ข้าพเจ้าได้เปล่งวาจาออกไปด้วยเจตนารมณ์อันเป็นอิสระ และด้วยเกียรติศักดิ์ของข้าพเจ้าทุกประการ




ที่กล่าวข้างต้น คือ คำแปลของคำปฏิญาณที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสปฎิญาณตนก่อนที่เริ่มศึกษาวิชาชีพกฎหมายในโรงเรียนกฎหมายสหรัฐฯ .... ผมชอบวิธีการนี้ครับ แม้มันจะไม่มีผลบังคับในทางกฎหมาย แต่มันก็อาจจะใช้เตือนใจเราในฐานะผู้ประกอบวิชาชีพที่สำคัญ ที่ประชาชนสามารถควบคุมได้น้อยมาก แต่การกระทำของเรา มีผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาได้มากที่สุด อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

ผมยังจำคำ ๆ นี้ จากผู้ที่รักเคารพได้เสมอครับ ... "คนเราเกิดมาเพื่อช่วยเหลือกัน" วิชาชีพ ทนายความ ตำรวจ อัยการ หมอ ฯ เหล่านี้ น่าจะมีโอกาสที่จะกระทำความดี และช่วยเหลือชาวประชาได้อย่างมากมายกว่าอาชีพอื่น ... อาชีพและชีวิตที่เลือกได้ เช่นนี้ คงมีไม่มาก หากยึดมั่นในคุณธรรมและคำปฏิญาณแล้ว ความวุ่นวายในสังคม ก็จะลดน้อยลงครับ

ปล. ผมกลับมารักษาสัญญาแล้วนะครับ แปลเรียบร้อยแล้วครับ




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 18 มิถุนายน 2553 8:37:45 น.
Counter : 1374 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  

POL_US
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 82 คน [?]




คลิ๊ก เพื่อ Update blog พ.ต.อ.ดร. ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ได้ที่นี่
https://www.jurisprudence.bloggang.com






รู้จักผู้เขียน : About Me.

"เสรีภาพดุจดังอากาศ แม้มองไม่เห็น แต่ก็ขาดไม่ได้ "










University of Illinois

22 Nobel Prize & 19 Pulitzer Prize & More than 80 National Academy of Sciences (NAS) members







***คำขวัญ : พ่อแม่หวังพึ่งพาเจ้า

ครูเล่าหวังเจ้าสร้างชื่อ

ชาติหวังกำลังฝีมือ

เจ้าคือความหวังทั้งมวล



*** ความสุข จะเป็นจริงได้ เมื่อมีการแบ่งปัน :

Happiness is only real when shared!














ANTI-COUP FOREVER: THE END CANNOT JUSTIFY THE MEANS!






Online Users


Locations of visitors to this page
New Comments
Friends' blogs
[Add POL_US's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.