แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
 

'Securitized Bonds' ผลตอบแทนสูง เสี่ยงต่ำ กว่าหุ้นกู้

'Securitized Bonds' ผลตอบแทนสูง เสี่ยงต่ำ กว่าหุ้นกู้

ในขณะที่ "ช่องทาง" ลงทุนดอกเบี้ยขาลงมีไม่มากนัก.. "Securitized Bonds" หรือการแปลงสินทรัพย์จากการใช้ลูกหนี้ ไม่ว่าสินเชื่อบ้าน ลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้บัตรเครดิต ให้เป็น "ตราสารหนี้" เพื่อการลงทุน อาจเป็น "ตัวเลือก" ลงทุนรูปแบบใหม่ที่น่าจับตาในระยะอันใกล้



ไม่ใช่แค่ผลตอบแทนที่ "จูงใจ" แต่ความเสี่ยงยังต่ำกว่าหุ้นกู้ จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการความมั่นคงในการลงทุน..


ถ้าพูดถึงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือตราสารหนี้ (Securitized Bonds) อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักลงทุนรายย่อยในบ้านเรา แม้ว่าจะเคยได้ยินคำว่า Securitization หรือการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนมาบ้างก็ตาม

ในมุมของนักลงทุนแล้ว.. ตราสารหนี้ประเภทนี้ คือ โอกาสลงทุนใหม่

ขณะที่ผู้ประกอบการก็จะได้รับประโยชน์จากการระดมทุน ด้วยการออกตราสารหนี้ประเภท Securitization อย่างมหาศาล เพราะนั่นเท่ากับเป็นช่องทางระดมทุนใหม่ที่มีต้นทุน "ต่ำ" แตกต่างจากแหล่งเงินทุนเดิมๆ อย่างการระดมทุนในตลาดหุ้น ที่ปัจจุบันระดมทุนได้ยากลำบาก หรือจะกู้เงินจากแบงก์พาณิชย์ ก็ยังเป็นต้นทุนที่สูงอยู่แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับลงแล้วก็ตาม

ความจริงแล้ว "Securitized Bonds" ในไทย มีมานานแล้วตั้งแต่มีพ.ร.บ.นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ได้ผ่านความเห็นชอบในปี 2540 โดยมีคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

แต่ที่ผ่านมา..การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ยังไม่เปิดกว้างมากนัก ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในตลาด (โอทีซี) ขณะนี้ จะเป็นบริษัท "เช่าซื้อ" เป็นผู้ออกเสนอขายให้แก่นักลงทุน

กระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม 2548 ตลาดเริ่มเปิดในวงกว้างมากขึ้น หลังจาก ก.ล.ต.ได้อนุญาตให้นิติบุคคลเฉพาะกิจสามารถแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ สามารถออกตราสารหนี้เพื่อขายให้แก่ประชาชนทั่วไปได้

แต่ปริมาณสินค้าในตลาดจะยังมีให้เลือกลงทุนไม่มากนัก ..

ขณะที่นักลงทุนรายย่อยทั่วไป ยังไม่เข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์แนวนี้เท่าไรนัก เนื่องจากลักษณะสินค้าค่อนข้างเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ซึ่งมีรูปแบบ "แตกต่าง" จากการออกตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ ที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน

คำอธิบายง่ายๆ สำหรับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ก็คือ วิธีการระดมทุนโดยการใช้ "หนี้" ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ลูกหนี้เช่าซื้อ หนี้เงินกู้ หนี้บัตรเครดิต จากสถาบันการเงินหรือบริษัทต่างๆ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แล้วนำมาออกเป็นตราสารหนี้ เพื่อเสนอขายให้แก่นักลงทุนทั่วไป

"ขั้นตอนในการออกตราสารหนี้ประเภทนี้ จะเริ่มจากบริษัทหรือสถาบันการเงินต้องการเงินทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจ (ไม่มีหลักทรัพย์เป็นที่ดินมาค้ำประกัน) แต่มีพอร์ตลูกค้าสินเชื่อ เช่น บัตรเครดิต เงินกู้ หรือเรียกว่า "The Originator/Seller" ก็นำพอร์ตลูกหนี้มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการออกตราสารหนี้ ซึ่งอาจจะเป็นสินทรัพย์ชิ้นเดียว หรือเป็นกลุ่มของสินทรัพย์ก็ได้ " "ชวาลา เทียนประเสริฐกิจ" ผู้อำนวยการฝ่ายบริการตรวจสอบบัญชี และผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ บริษัท ดีลอยท์ ทูช โธมัทสุ กล่าว

จากนั้นก็ขายพอร์ตลูกหนี้ หรือโอนสิทธิไปยังบริษัทกลางที่จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ออกตราสารหนี้ หรือเรียกว่า "นิติบุคคลเฉพาะกิจ" (SPV) แทนบริษัทอีกที

"เอสพีวี" จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดกองทุนสินทรัพย์ ให้เหมาะสมกับตราสารหนี้ที่จะออกขายให้กับนักลงทุนทั่วไปต่อไป อาจมีการจ้างที่ปรึกษาการเงินหรืออันเดอร์ไรเตอร์ รวมถึงผู้ทำหน้าที่ในการจัดเก็บเงินและชำระเงิน จากนั้นเอสพีวีจะนำเงินที่ได้จากการขายตราสารหนี้คืนให้แก่ผู้ขาย

ในส่วนของนักลงทุนที่ลงทุน ก็จะได้รับผลตอบแทนเป็น "ดอกเบี้ย" โดยผลตอบแทนที่จ่ายให้แก่นักลงทุนนี้ จะมาจากการเก็บเงินสดจากพอร์ตลูกหนี้ ที่เซลเลอร์หรือผู้ขายจะยังทำหน้าที่เป็นผู้เก็บเงินจากลูกค้าสินเชื่อตามปกติ

"โดยปกติสินทรัพย์ที่จะนำมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ จะมี 2 ประเภท อย่างแรก.."Asset- Back Securities"(ABS) ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหนี้บัตรเครดิต เช่าซื้อรถยนต์ ลูกหนี้อื่นๆ ที่สามารถประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตได้ ส่วนแบบสอง.."Mortgage-Back Securities"(MBS) จะเป็นลูกหนี้เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย เช่น สินเชื่อบ้าน" "โชติอาภา ส่วนพงษ์" ผู้บริหารทีม ฝ่ายบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ส่วนบริหารตลาดการเงินและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าว

เทียบเคียงความต่างของตราสาร Securitized Bonds กับหุ้นกู้ทั่วไปแล้ว โชติอาภากล่าวว่า ความต่างอยู่ที่ความเสี่ยง โดยความเสี่ยงของหุ้นกู้ จะขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งจะเป็นแหล่งที่มาของรายได้และการจัดอันดับเครดิต หากบริษัทเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ก็จะทำให้เงินลงทุนของผู้ลงทุนสูญหาย

แต่สำหรับความเสี่ยงของตราสารหนี้ Securitized Bonds จะขึ้นอยู่กับกระแสรายได้หรือเงินสด ซึ่งจะมาจากการจัดกองสินทรัพย์เป็นหลัก ตลอดจนความเสี่ยงด้านเครดิตของตราสารหนี้

"ความเสี่ยงของเครดิต จะมาจากคุณภาพของสินทรัพย์ ซึ่งจะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ว่ามาจากอะไร" โชติอาภากล่าว

ความน่าลงทุนของตราสารหนี้ประเภทนี้ จึงอยู่ที่มีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย ทำให้มีผลตอบแทนให้เลือกตามความต้องการ ตามการจัดกองสินทรัพย์

ขณะที่อัตราผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ ในทางกลับกันความผันผวนจะต่ำกว่าหุ้นกู้ เนื่องจากมีอันดับเครดิตเรทติ้งที่มั่นคงมากกว่า

"ถ้ามองในมุมของนักลงทุน ตราสารหนี้ประเภทนี้จัดว่ามีความน่าสนใจลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยง โดยผู้ลงทุนมีทางเลือกลงทุนมากมาย ซึ่งผลตอบแทนก็ขึ้นอยู่กับการจัดกองทุนสินทรัพย์หรือประเภทของตราสารหนี้ที่เสนอขาย

และตราสารหนี้ยังมีความเสี่ยงการลงทุนลดลง เนื่องจากการได้รับอันดับเครดิตเรทติ้งที่สูง"

ในมุมมองของภาคเอกชน "ชวาลา" บอกว่า ถ้ามองในแง่ผู้ลงทุน จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ ขณะที่ความเสี่ยงมีน้อยมากเทียบเท่าพันธบัตรรัฐบาล เพราะการจัดอันดับเครดิตเรทติ้งจะสูงมาก ส่วนใหญ่อันดับเครดิตลูกหนี้จะอยู่ในระดับ AAA ซึ่งผู้ลงทุนก็ควรเลือกลงทุนในอันดับเรทติ้งสูงไว้ก่อน เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่สนใจลงทุน จะต้องทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ที่ "ซับซ้อน" กว่าการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไปหรือหุ้นกู้ นักลงทุนจึงต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการลงทุนมากกว่า แต่ผลตอบแทนการลงทุนก็น่าจูงใจกว่าพันธบัตรมาก เพราะมีรายได้จากกระแสเงินสดที่สูงนั่นเอง

"ความเสี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทนี้ของนักลงทุน จะอยู่ที่อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ ซึ่งจะบอกความเสี่ยงของตราสาร รวมถึงความเสี่ยงในการจ่ายชำระหนี้ก่อนครบกำหนดของลูกหนี้สินเชื่อ ที่นำมาใช้แปลงเป็นหลักทรัพย์ ตลอดจนความผกผันของราคาตราสารหนี้ต่ออัตราดอกเบี้ย และความเสี่ยงในการขายเปลี่ยนมือตราสารหนี้ให้แก่นักลงทุนรายอื่น" ชวาลากล่าว

แล้ว..กลยุทธ์ลงทุนของนักลงทุนรายย่อย ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร..

โชติอาภาบอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างราคาตราสารหนี้กับอัตราดอกเบี้ยนั้น ปกติหากมีการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลง นักลงทุนควรจะ "ซื้อ" หรือ "ถือ" ตราสารหนี้ไว้ เพราะเมื่อดอกเบี้ยลดลง ราคาตราสารหนี้จะปรับตัวสูงขึ้น ฉะนั้นเมื่อดอกเบี้ยลดลง ก็ย่อมเป็นผลดีต่อผู้ที่ถือตราสารหนี้ไว้ในมือ

ในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยถูกคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น นักลงทุนก็ควรจะรีบ "ขาย" ตราสารหนี้ออกไป เพราะเมื่อดอกเบี้ยขึ้น ราคาตราสารหนี้จะลดลง

"การจะลงทุนให้ได้กำไรเมื่อดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศ หากดอกเบี้ยในตลาดเป็นขาขึ้น ก็ควรถือตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นๆ แต่ถ้าหากดอกเบี้ยเป็นขาลง ก็ควรจะเพิ่มอายุตราสารหนี้ให้ยาวขึ้น" โชติอาภากล่าว

โชติอาภาบอกว่า ในแง่ของนักลงทุนรายย่อย ควรถามตัวเองด้วยว่า เป็นนักลงทุนประเภทไหน เช่น หากเป็นนักลงทุนแบบซื้อแล้วถือ (Buy&Hold) ควรจะลงทุนด้วยเงินเย็น เลือกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยให้ถือตราสารหนี้ไปจนครบอายุ ซึ่งผลตอบแทนประมาณ 15% ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีแล้วสำหรับนักลงทุนประเภทนี้

แต่หากเป็นผู้ที่ชอบเล่นสั้น หรือ Trading เดี๋ยวซื้อเดี๋ยวขาย ต้องยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ และต้องปรับการลงทุนตามภาวะดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ในตลาดการแปลงสินทรัพย์เป็นตราสารของบ้านเรา ยังมีสินค้าให้เลือกลงทุนน้อยมาก ในระยะอีก 2-3 ปีนี้ คาดกันว่าจะมีตราสารหนี้รูปแบบนี้ออกมาให้เลือกลงทุนมากขึ้น

"ตอนนี้ตลาดบ้านเรายังเล็กมาก มีสินค้าในตลาดน้อยมาก คิดเป็นมูลค่าเพียงระดับหมื่นล้านเท่านั้น คาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า มีความเป็นไปได้มากที่จะมีสินค้าออกมาให้เลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ธอส. ที่จะออกตราสารหนี้แนวนี้ หรือกรณีแบงก์กรุงเทพ กสิกรไทย กรุงไทย ซึ่งมีลูกหนี้จำนวนมาก น่าจะระดมทุนด้วยวิธีนี้

หรือแม้แต่ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งทยอยออกมาแล้ว ก็เชื่อว่า ตลาดนี้จะเติบโตอีกมาก และหวังว่าใน 10 ปีข้างหน้า มูลค่าซื้อขายจะเพิ่มเป็นแสนล้านได้" ชวาลากล่าว

นักลงทุนเองก็จะมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้นอีกด้วย...




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 20:02:01 น.   
Counter : 1166 Pageviews.  


Reverse ไอเดีย "เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป" "วิชา พูลวรลักษณ์" สร้างโมเดลธุรกิจ...สเต็ปก้าว "เวอร์ชั่

Reverse ไอเดีย "เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป" "วิชา พูลวรลักษณ์" สร้างโมเดลธุรกิจ...สเต็ปก้าว "เวอร์ชั่นที่ 5"

กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ทบทวนบิซิเนสโมเดลทั้ง 4 ระยะของ "เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์" ในรอบกว่าทศวรรษ นับตั้งแต่ปี 2537 จาก Stand Alone สู่โรงหนังในศูนย์การค้า โรงหนังต่างจังหวัด และโรงหนังใกล้บ้าน...วันนี้ "วิชา พูลวรลักษณ์" ปะทุไอเดียใหม่ หากคิดจะก้าวต่อไป เมเจอร์จะต้อง Reverse กลับไปสู่โมเดลแรก..อีกครั้ง



การ Reverse ไอเดีย หมายถึง การหันหลังกลับ หรือการย้อนกลับไปทบทวนอดีต เพื่อฟื้นอนาคตครั้งใหม่ให้กับ บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป

ภายใต้ตำแหน่ง "ผู้นำ" ที่ต้องแข่งขันกับตัวเอง

นั่นคือการสร้างไซส์ธุรกิจ..ก้อนเค้ก ที่ใหญ่ขึ้น มากกว่าการรุกเพื่อแย่งชิงมาร์เก็ตแชร์จากคู่แข่งขัน

ภารกิจครั้งนี้..พ่อมดแห่งโลกบันเทิง "วิชา พูลวรลักษณ์" จำเป็นต้องปรับโมเดลธุรกิจอีกครั้ง ครั้งนี้ถือเป็น "เวอร์ชั่นที่ 5" ในยุคที่ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเน้นความเป็นครอบครัวมากขึ้น

วิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป อธิบายกระบวนการสร้างอาณาจักรโรงภาพยนตร์ของเครือเมเจอร์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 4 โมเดล หรือ 4 สเต็ป

"สเต็ปแรก" เริ่มจากการสร้างโรงภาพยนตร์แบบ Stand Alone ต่อด้วย "สเต็ปที่ 2" ด้วยวิธีขยายโรงภาพยนตร์เข้าไปในศูนย์การค้า แต่หลังจากที่ขยายเข้าไปจนแทบจะไม่มีศูนย์การค้าใหม่ให้เข้า

จึงเริ่มสู่ "สเต็ปที่ 3" กับการขยายออกไปต่างจังหวัด โดยเกาะไปกับดิสเคาท์สโตร์อย่างเทสโก้-โลตัส และบิ๊กซี

ตามด้วย "สเต็ปที่ 4" โรงภาพยนตร์ใกล้บ้าน (Convenience) โดยเน้นความร่วมมือกับสยามฟิวเจอร์ (บริษัทย่อย) ทำโรงภาพยนตร์ประมาณ 6-7 โรง

รวมถึงการเทคโอเวอร์โรงภาพยนตร์ "อีจีวี" กระทั่งปัจจุบัน เมเจอร์สามารถก้าวขึ้นมากุมส่วนแบ่งตลาดโรงหนังได้ถึงประมาณ 75% จากมูลค่าตลาดปี 2550 ที่วิชาเชื่อว่าจะเติบโตขึ้นไปถึงตัวเลข 4,500-5,000 ล้านบาท เทียบกับปี 2549 ที่มีมูลค่าตลาดประมาณ 3,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นปีที่ไม่ดีสำหรับธุรกิจนี้

จนเกิดคำถามตามมาว่า..ธุรกิจโรงหนังเริ่มเกิด "โอเวอร์ ซัพพลาย" แล้วใช่หรือไม่ ?

ขณะที่วิชาได้แก้เกมธุรกิจ โดยทำโปรเจคสำคัญเมื่อปี 2549 อย่าง "พารากอน ซีนีเพล็กซ์" และ "เอสพลานาด ซีนีเพล็กซ์" (Esplanade) และเขาก็ได้มุมมองเพิ่มว่า..ยังคงมีช่องว่างที่อุตสาหกรรมนี้จะสามารถโตขึ้นไปได้อีกมาก

วิชากล่าวว่า สาขาใหม่ทั้ง 2 แห่งนี้ จะเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยเร่งให้ผลประกอบการของเมเจอร์เติบโตอย่างมากในปี 2550 นี้

...โดยเฉพาะเอสพลานาด (แบบ Stand Alone) แม้จะทำโรงหนังไว้เพียงแค่ 12 โรง แต่หลังการเปิดมาเพียง 4-5 เดือน ตัวเลขรายได้ทะยานขึ้นมามาก จนเป็นสาขาที่ทำรายได้ติด "อันดับ 5" จากสาขาทั้งหมด 35 แห่ง (อันดับ 1 สาขารัชโยธิน) และเป็นโลเคชันที่ทำให้เมเจอร์ได้ตลาดใหม่เข้ามาค่อนข้างมาก

"นี่คือคำตอบของ Cycle ที่กำลังจะวนกลับไปยังสเต็ปแรก..อีกครั้งหนึ่ง หลังจากหลายปีที่ผ่านมา เมเจอร์ไม่ได้ทำโรงหนังประเภท Stand Alone มานาน เพราะไปผูกยุทธศาสตร์อยู่กับศูนย์การค้า และชอปปิงมอลล์เป็นส่วนใหญ่" วิชากล่าว

พร้อมทั้งอธิบายต่อไปว่า..."เมื่อเมเจอร์ขยายไปทำเอสพลานาด ทำให้ผมได้รู้ว่า (เงิน) มันอยู่ข้างหน้าเรานี่เอง และถือเป็นสัญญาณว่ายังมีพื้นที่สำหรับ Stand Alone อีก ที่จะให้เราทำ"

วิชาเชื่อว่า ถ้าทำตลาดหนังให้เป็น "เอ็นเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์" เราก็จะได้ตลาดอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามาค่อนข้างมาก..อย่างที่เอสพลานาด ถือว่าตอบโจทย์ของหลายคนที่มองกันว่าตลาดโรงหนังล้นแล้วหรือยัง ? และชี้ให้เห็นสัญญาณว่าเมเจอร์กำลังจะขยับไปตรงไหน

วิชาวิเคราะห์อนาคตเครือเมเจอร์ต่อไปว่า แนวคิดการทำโรงหนังแบบ Stand Alone ในปัจจุบัน จะทำตัวเลขได้ดีกว่าโรงหนังในศูนย์การค้า..โดยเฉพาะในแง่ของ "มาร์จิน" ที่สูงกว่า เพราะไม่ต้องจ่ายค่าเช่า และยังมีโอกาสที่ดีกว่าในรอบดึก (รอบหลัง 3 ทุ่ม) ตลอดจนยังสามารถปรับไลฟ์สไตล์ของสถานที่ได้คล่องกว่า

แต่ต้องเป็นแหล่ง (Area) ที่มีตลาดใหญ่พอ ซึ่งแหล่งประเภทนี้..เรากำลังมองๆ อยู่

โดยเฉพาะในปี 2551-2552 เราจะต้องทำอะไรมากขึ้น เพียงแต่นโยบายการขยายการลงทุนจะยังอยู่ที่ "โรงหนัง" แต่เวลาที่เราจะบุก..ก็จะบุกทั้ง 4 โมเดล เมื่อเห็นว่าโมเดลไหนเป็นกระแส มันจะถูกนำมาใช้อีกครั้ง

ซึ่ง "คีย์ ออฟ ซัคเซส" ของเมเจอร์ นับจากนี้จะอยู่ที่ "การหากลุ่มลูกค้าใหม่" เข้ามา

"ธุรกิจที่คิดหาแต่ฐานลูกค้าเดิมๆ มันไม่พอ และที่เมเจอร์เราจะคิดตลอดเวลา โดยวางโพสิชั่นไว้เลยว่า เมื่อลูกค้าเข้ามาที่สาขาใหม่จะต้องเป็นลูกค้าเก่าเท่าไร และลูกค้าใหม่เท่าไร...ถ้าเป็นกลุ่มลูกค้าเดิม 90% และเป็นกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยมาแค่ 10% ย่อมเท่ากับว่าพอร์ตไม่ดี..คือไม่แข็งแรง อนาคตเช่นนี้ธุรกิจจะไม่มี Growth" วิชาให้ข้อคิด พร้อมเผยอนาคตต่อว่า

สเต็ปต่อไป (สเต็ปที่ 5) ของเมเจอร์ จากตรงนี้จะต้องมองไปที่ "ตลาดใหม่" (New Market) คือ "ศิลปิน" (Artist) และ "แฟมิลี่" โดยทุกจุดที่เมเจอร์ขยายเข้าไป เราพยายามที่จะโฟกัสในจุดนี้

ที่สำคัญ ยุทธศาสตร์ที่เรามองออกไป..จะต้องมองเป็นภาพกว้างคือ "ทั้งประเทศ" ไม่ใช่แค่เฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น เพราะโอกาสใหม่ มันมีอยู่ทั่วประเทศ

วิชากล่าวถึงแผนการลงทุนในปี 2550 ว่า เมเจอร์จะยังไม่มีการลงทุนขนาดใหญ่ แต่จะใช้เงินลงทุนประมาณ 600-700 ล้านบาท เพื่อสร้างสาขาใหม่ที่พัทยา (8 โรง พร้อมกับฟิตเนส) ชลบุรี (4 โรง) และอยุธยา (6 โรง) ซึ่งทุกแห่งจะมีโบว์ลิ่งเข้าไปเช่นกัน

ส่วนเงินลงทุนอีกส่วน จะใช้ไปกับการ Renovate (ฟื้นฟู) ครั้งใหญ่ เพื่ออัพเกรดสาขารัชโยธินขึ้นมาทั้งในส่วนของโรงหนังและโบว์ลิ่ง หลังเปิดให้บริการมากว่า 8 ปี

ยิ่งตอนนี้ บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาพื้นที่ข้างเคียงสาขารัชโยธิน เป็นโครงการก่อสร้าง "ชอปปิงมอลล์" สไตล์เหมือนที่สาขาทองหล่อ (15,000 ตร.ม.) แต่ที่รัชโยธินเรามีพื้นที่ถึง 40,000 ตารางเมตร "ใหญ่กว่ากันมาก"

เมื่อสร้างเสร็จ สาขารัชโยธิน จะยังคงเป็น "หมายเลข 1" ของเมเจอร์ จากที่จอดรถที่มากขึ้น ร้านค้ามากขึ้น และอาจจะมีโรงเรียนสอนเปียโน เต้นรำ และแอโรบิก ซึ่งจะทำให้ได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ที่เป็น "แฟมิลี่" เข้ามามากขึ้น

เพราะฉะนั้น ผลประกอบการของทั้งกลุ่มในปี 2550 จึงมีโอกาสโตขึ้นกว่า 30% หรือมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 6,500 ล้านบาท เทียบกับรายได้ ณ สิ้นปี 2549 ที่มีรายได้ 5,452 ล้านบาท

"เป้าหมายนี้ ยังน่าจะเป็นไปได้..ไม่ยากเท่าไร"

โดยเฉพาะ "หนังไทย" กำลังมีกระแสค่อนข้างดี ยิ่งตอนนี้ (เรื่อง) อะไรก็ได้ตังค์หมด โดยเฉพาะต่างจังหวัดมันเป็นฐานหนังไทยทั้งนั้น และตลาดโรงหนังต่างจังหวัดก็ขยายตัวอย่างมาก หลายจังหวัดที่ไม่เคยมีโรงหนัง ตอนนี้โรงหนังเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นที่โคราช อุดรธานี และอุบลราชธานี ฯลฯ

และสัดส่วนรายได้หนังไทย (เทียบกับหนังฝรั่ง) ปีนี้น่าจะ 45% จากเดิม 35-40% ซึ่งจะทำให้อุตสาหกรรมนี้แข็งแรงมากขึ้น จะเห็นว่าทุกกลไกของอุตสาหกรรมล้วนแต่ลงไปข้างล่าง..ที่ฐานพีระมิดทั้งหมด

เพราะแค่เพียงไตรมาสแรก เมเจอร์ทำเงินไป 1,598 ล้านบาท คิดเป็นกำไรสุทธิ 197 ล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนจากหนังฟอร์มยักษ์ "ตำนานสมเด็จพระนเรศวร" ทั้งภาค 1 และ 2 เป็นจำนวน 535 ล้านบาท

ส่วนไตรมาส 2 จะถือเป็นไตรมาสทำเงินของ "หนังฝรั่ง" ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง "Spiderman 3" (180 ล้านบาท) "Pirates of The Carribbean" และ "Fantastic Four 2" ซึ่งเป็นหนังที่ได้ลุ้น 80-100 ล้านบาทขึ้นไป

ก่อนที่ไตรมาส 3 หนังไทยจะกลับมาแรงอีกครั้ง โดยจะมี "Harry Potter" เข้ามาฉายในไตรมาสเดียวกัน

ย้อนมามองที่งบการเงินของเมเจอร์ ณ สิ้นไตรมาส 1 วิชาบอกว่า เหลือสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (ดี/อี) เพียง 0.3 เท่า แค่นั้น

"ต้องบอกว่าปีนี้..ฐานะของเราแข็งแรงมาก และยังจะมีเงินอีกส่วนจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ มูลค่าประมาณ 2,400 ล้านบาท ..แต่เงินส่วนนี้จะเข้ามาที่เมเจอร์จริงๆ ประมาณ 1,000 ล้านบาท

หมายความว่า ปี 2551 เมเจอร์จะต้องลงทุนมากกว่าปี 2550 อย่างแน่นอน!!"

ซีอีโอเมเจอร์ระบุต่อว่า ตอนนี้เขามีโครงการอยู่ในใจเรียบร้อย..ส่วนจะตั้งงบลงทุนเท่าไหร่ ยังต้องรอขออนุมัติจากที่ประชุมกรรมการเสียก่อน

"เชื่อผมเถอะ! อุตสาหกรรมหนังยังเติบโตได้อีกมาก และอยู่ในวิถีที่เราจะสามารถขยายโรงหนังได้" วิชากล่าวอย่างเชื่อมั่น

-------------------------




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 20:00:12 น.   
Counter : 737 Pageviews.  


กูรูหุ้นพันล้าน ตอนที่ 6 พายเรือตามน้ำ

กูรูหุ้นพันล้าน ตอนที่ 6 พายเรือตามน้ำ

: วิชัย วชิรพงศ์
สมมติว่า ขณะนั้น SET กำลัง "นิยม" หุ้นกลุ่มไหน เราก็ต้องจับตามองหุ้นกลุ่มนั้น เพราะการ "ฝืนกระแส" จะทำให้เรา "เสี่ยงสูง" ที่จะขาดทุน


หลักการเล่นหุ้นข้อหนึ่งที่ วิชัย วชิรพงศ์ พยายามย้ำ...ในการเล่นหุ้นให้ชนะตลาด "เราต้องพายเรือตามน้ำ อย่าพายเรือทวนน้ำ"

"หลักการเล่นหุ้น..คุณอย่าพยายามฝืนภาวะตลาด" เสี่ยยักษ์ เน้นย้ำ..

จากประสบการณ์..ในตลาดหุ้น 20 ปี เซียนหุ้นพันล้านแนะนำว่า หุ้นที่เล่นแล้วได้กำไรมากกว่าขาดทุน จะเป็นหุ้นที่กำลังอยู่ในกระแสนิยมของตลาดในช่วงเวลานั้นๆ

...เราต้องพยายามอ่านหลักจิตวิทยาของตลาดว่า คนอื่นเขาคิดอย่างไร..? กับหุ้นตัวที่เราจะเล่น อย่าพยายาม "คิดเอง-เออเอง" คนเดียว

"สมมติว่า ขณะนั้น SET กำลัง "นิยม" หุ้นกลุ่มไหน เราก็ต้องจับตามองหุ้นกลุ่มนั้น เพราะการ "ฝืนกระแส" จะทำให้เรา "เสี่ยงสูง" ที่จะขาดทุน"

วิชัยบอกว่า การเล่นหุ้นฝืนทิศทางตลาด..เล่นแล้วมันเหนื่อย !!! เหมือนการขึ้นรถผิดคัน ทำไม! รถคันนี้มันถึงไม่ออกจากท่ารถสักที เรารอแล้วรออีก คันนี้ก็ไป คันนั้นก็ไปก่อน

คำเปรียบเทียบที่เซียนหุ้นรายนี้บอกให้ฟัง การเล่นหุ้นที่จริงมันเป็นแฟชั่น คุณไปเที่ยวทะเลคุณต้องใส่ขาสั้นไป ถ้าคุณใส่กางเกงยีนส์สวมรองเท้าบูต มันไม่เข้ากัน ถ้าวันไหนอากาศหนาว (สภาวะตลาดไม่ดี) จะขึ้นเหนือก็ต้องใส่เสื้อแจ๊คเก็ต ระวังตัวเอาไว้หน่อย แต่เราดันใส่ขาสั้นไปเที่ยวเหนือตอนอากาศหนาว..มีแต่เจ๊ง!

"เราต้อง Follow the Trend หรือซื้อตามแนวโน้มตลาด"

คำว่า "รู้จริง" จะต้องเข้าใจทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ การที่คุณอ่านหนังสือ เท่ากับรู้แค่ทฤษฎี ยังถือว่า "รู้ไม่จริง" ต้องเอา 2 อย่างนี้มาใช้ร่วมกัน เพื่อสร้างประสบการณ์แห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น

ประเด็นนี้ วิชัยมองว่า ประสบการณ์ชีวิตของนักเล่นหุ้นแต่ละคน บางครั้งก็อาจจะเป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จ เพราะทัศนคติที่ติดตัวมาในอดีตของแต่ละคน เมื่อเข้าสู่ตลาดหุ้น มักจะมีผลต่อพฤติกรรมการลงทุน ทำให้ปฏิกิริยาในการตัดสินใจของนักลงทุนแต่ละคนแตกต่างกันคนละขั้ว ทั้งๆ ที่เรียนรู้มาจากตำราเล่มเดียวกัน

เพราะฉะนั้น นักเล่นหุ้นที่ประสบความสำเร็จ...คุณต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตามเหตุการณ์ เมื่อวานนี้..คุณอาจจะมองว่าหุ้นตัวนี้ดี วันนี้..คุณอาจจะมองหุ้นตัวเดียวกันว่ามันไม่ดีแล้วก็ได้ อย่าคิดว่าคุณเป็นคนที่ไม่มีหลักการ

"ในเมื่อสถานการณ์มันเปลี่ยน...วิธีคิดก็ต้องเปลี่ยน ทำไมคน 2 คน มาจากพื้นฐานเดียวกันทุกอย่าง คนหนึ่งเล่นหุ้นได้กำไร อีกคนหนึ่งเล่นหุ้นขาดทุน ก็เพราะทัศนคติของคน 2 คนนี้ แตกต่างกัน" เขาวิเคราะห์ให้ฟัง

แม้ว่าวิธีคิดของคนเรา "เปลี่ยนยาก" ก็จริง แต่เราสามารถพัฒนาตัวเองได้ สำคัญที่สุดเราต้องยอมรับความผิดพลาดของตัวเราเอง..อย่าโทษใคร?

เสี่ยยักษ์ย้ำว่า ประสบการณ์ที่ผิดพลาดจะเป็นบทเรียนสอนคุณเอง..ถ้าคุณยอมรับมัน และพร้อมที่จะแก้ไข คุณจะก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้ามัวแต่นั่งโทษคนนั้นคนนี้ โทษไอ้นั่น โทษไอ้นี่ คุณจะไม่มีวันพัฒนาตัวเอง...

"ผมมีประสบการณ์จริงเรื่องหนึ่งจะเล่าให้ฟัง มีลุงคนหนึ่งเล่นหุ้นอยู่โบรกเกอร์เดียวกับผม ลุงคนนี้มีอายุ 70 ปีแล้ว ในอดีตแกประสบความสำเร็จจากการดำเนินชีวิตอย่างมาก จนมีเงินมีทองหลายสิบล้านบาท

...เชื่อมั้ยว่าแกมาเล่นหุ้น เล่นไปเล่นมา เหลือพอร์ตอยู่ 3 ล้านบาท ไปเอาทุนมาเติมอีก ตอนนี้เหลือเงินอยู่ล้านกว่าบาท"

"ผมเคยบอกแกว่า อาเจ็ก..เลิกเถอะ! อย่ามาเล่นอีกเลย อยู่บ้านเถอะ แกก็บอกว่า เออ!น่าไม่เป็นไร คือเขามีเงินหลายสิบล้านบาท เล่นไปเล่นมาเหลืออยู่ล้านกว่า แกก็ยังทู่ซี้เล่น นั่นคือแกไม่รู้จักพัฒนาตัวแกเอง

ประวัติของลุงคนนี้แกเคยทำธุรกิจประสบความสำเร็จมาก่อน การจะตัดสินใจ Cut Loss ครั้งละ 5 ล้าน 10 ล้าน เขาจะไม่กล้า จะมีความรู้สึกว่าติดไว้ก่อนไม่เป็นไร วิธีคิดแบบนี้แสดงว่าแกไม่เป็นมืออาชีพ แต่แกมานั่งเล่นหุ้นเป็นอาชีพ วิธีการมันผิด"

วิชัยบอกว่า หลักการที่ถูกต้อง เราต้องกำหนดจุด Stop Loss (จุดหยุดขาดทุน) พอขาดทุนถึงจุดนี้ ก็ต้อง Cut Loss ตัดขายทิ้ง

"หุ้นเวลาเป็น "ขาลง" (Bearlish Down Trend) เราต้องตัดทิ้ง อย่าถือ และอย่าซื้อถัวเฉลี่ย"

วิชัย เปรียบเทียบคนที่ติดหุ้นไว้อย่างเจ็บปวดว่า เปรียบเสมือนคนที่เคยไปกินอาหารป่า ร้านที่เขามีเนื้อตะพาบน้ำขาย

"ผมจะอธิบายลักษณะของคนที่ "ติดหุ้น" อย่างเจ็บแสบที่สุดให้ฟัง"

สมมติว่าร้านอาหารป่ามีตะพาบน้ำไว้ขายลูกค้าอยู่ตัวหนึ่ง วันนี้ผมไปสั่งตะพาบน้ำผัดเผ็ด 1 จาน ตะพาบน้ำตัวนี้มันใหญ่ผัดทั้งตัวไม่หมด พ่อครัวก็จะเฉือนเอาเนื้อข้างๆ แต่ตะพาบตัวนั้นมันยังไม่ตาย มันก็ทุรนทุราย เอามาผัดให้เรากินจานหนึ่ง

สภาพของตะพาบน้ำตัวนั้น มันหงายท้องนอนพะงาบๆ ลืมตาอยู่แต่มันยังไม่ตาย นี่คืออาการของคน "ติดหุ้น"

"นี่ผมพยายามจะเล่าให้เห็นภาพชัดเจนที่สุด"

วันที่ 2 ไม่มีคนมากิน ตะพาบก็พะงาบๆ อยู่อย่างนั้น เหมือนคนติดหุ้นที่รอวันตาย แต่มันไม่ตาย มันทุรนทุราย ชีวิตไม่มีความสุข เครียดไปหมด

วันที่ 3 พอมีคนมาสั่งเนื้อตะพาบน้ำผัดเผ็ดอีก 1 จาน พ่อครัวคนเดิมก็เฉือนเนื้อของมันอีกข้างหนึ่ง มันก็ยังไม่ตายอีก แต่คราวนี้มันเจ็บเจียนตาย สภาพของคนติดหุ้นจะเป็นอย่างงั้นจริงๆ

"ผมอยากจะให้กำลังใจว่า ตั้งแต่ผมเป็นนักลงทุนรายย่อย จนมาเป็นนักลงทุนรายใหญ่อย่างทุกวันนี้ได้ ผ่านมาหมด หลายๆ คนบอกว่าเป็นรายใหญ่ได้เปรียบ จริงๆ ไม่ใช่เลย รายย่อยต่างหากที่ได้เปรียบรายใหญ่

...คุณซื้อหุ้น 1 ครั้ง คุณได้หุ้นเต็มพอร์ต คุณขาย 1 ครั้ง คุณขายได้หมดพอร์ต

ถ้าเกิดเป็นรายใหญ่ เขาจะซื้อขายกันทีเป็น "ร้อยล้านหุ้น" ผมก็เคยมีหุ้นร้อยกว่าล้านหุ้น แล้วจะขายได้ยังไงหมด อย่างกรณีของหุ้นไออาร์พีซี (IRPC) มี Bid เสนอซื้ออยู่ 3 ช่อง ขายทีเดียว 3 ช่อง ยังไม่หมดเลย เพราะรวมกัน 3 ช่อง มี Bid แค่ 10 กว่าล้านหุ้น เพราะฉะนั้นนักลงทุนรายย่อยใครว่าเสียเปรียบ...ไม่จริงเลย"

สัปดาห์หน้า..โปรดติดตามตอน "ไปจ่ายตลาดช่วงไหน..ผีไม่ดุ"




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 19:59:25 น.   
Counter : 552 Pageviews.  


ตรวจแถว...พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ ผลตอบแทนเฉียด 8%

ตรวจแถว...พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ ผลตอบแทนเฉียด 8%

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปี อยู่ที่ 2.75-3% ต่อปี ลงทุนในหุ้นให้ผลตอบแทนจากเงินปันผล 4% ต่อปี แต่การใส่เงินลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (Property Funds) กลับให้ผลตอบแทนเฉลี่ยมากถึง 7.67% ต่อปี จัดเป็นตัวเลือกลงทุนที่โดดเด่นที่สุดในขณะนี้



สำรวจตรวจแถวผลตอบแทนกองทุนรวม "อสังหาริมทรัพย์" หรือพร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ ที่จดทะเบียนซื้อขายอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ทั้งหมด 12 กองทุน แต่ประกาศจ่ายปันผล 9 กองทุนสำหรับผลการดำเนินงานงวดสิ้นปี 2549 พบว่า ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) เฉลี่ย 7.67%

เรียกว่าผลตอบแทนของกองทุนอสังหาฯ ดึงดูดใจอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเทียบกับผลตอบแทนจากเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น หรือ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี

"ผลตอบแทนเฉลี่ย 7.67% ต่อปี ถือว่าน่าสนใจลงทุนสำหรับผู้มีเงินลงทุนระยะยาว ถ้าเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ปรับตัวลดลง หรือผลตอบแทนปันผลจากตลาดหุ้นเพียง 4% ต่อปี ขณะที่อัตราเงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ ลงทุนในกองทุนอสังหาฯ จึงอยู่ในระดับสูงน่าจูงใจกว่ามาก" เทอดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้อำนวยการวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส ให้ความเห็น

ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนของเงินปันผลในตลาดหุ้นรอบปี 2549 อยู่ที่ 4% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 12 เดือนของแบงก์พาณิชย์ใหญ่อยู่ที่ 2.75-3% ต่อปี ขึ้นอยู่กับวงเงินที่ฝาก

กองทุนรวม "อสังหาริมทรัพย์" จึงให้ผลตอบแทนจากเงินปันผล "สูงกว่า" เงินฝาก หรือปันผลจากหุ้นเกือบ 2 เท่าตัว ทีเดียว

ไล่เรียงผลตอบแทนกันเป็นรายกองทุน พบว่า พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ ที่ให้ผลตอบแทนจากปันผล "เหนือกว่า" ค่าเฉลี่ยที่ 7.67% มี 5 กองทุน ขณะที่อีก 3 กองทุนให้ผลตอบแทนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนอีก 1 กองทุนให้ผลตอบแทนไล่เลี่ยกับค่าเฉลี่ย

โดดเด่นสุด ต้องยกนิ้วให้แก่ค่าย "บลจ.ไอเอ็นจี" เจ้าตลาดกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ที่มีกองทุนภายใต้การบริหารมากสุดถึง 5 กองทุน

กองทุนรวมอสังหาฯ "ฟิวเจอร์พาร์ค" (FUTUREPF) ของบลจ.ไอเอ็นจี ที่จ่ายปันผลเป็นครั้งแรก 0.10 บาท คิดเป็นผลตอบแทนสูงถึง 10.09% ต่อปี รองลงมาคือ กองทุนรวมอสังหาฯ "ไทยอินดัสเตรียล" (TIF1) จ่ายเป็นเงิน 0.85บาท คิดเป็น 8.42% ต่อปี ถัดมา กองทุนรวมอสังหาฯ "ไทคอน " (TFUND) จ่าย 0.84 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 8.32% ต่อปี

ติดตามด้วยอันดับ 4 เป็นของกองทุนรวมอสังหาฯ "CPN รีเทล โกรท" (CPNRF) ของค่ายบลจ.ทหารไทย จ่ายปันผลงวดปี 2549 เท่ากับ 0.78 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 7.81% ต่อปี

ไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด อันดับ 5 เป็นของค่ายบลจ.อ็มเอฟซี ได้แก่ กองทุนรวมอสังหาฯ "มิลเลียนแนร์" (MIPF) จ่ายปันผล 0.81 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 7.79% ต่อปี

ส่วนกองทุนรวมอสังหาฯ "บ้านแสนสิริ" (SIRIPF) ที่ให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย ที่ 7.40% ต่อปี หรือจ่ายปันผล 0.74 บาทต่อหน่วย

"กองทุนที่ให้ดีวิเด้นท์ยีลด์เกิน 7% น่าสนใจ โดยเฉพาะกองทุนที่ถือครองกรรมสิทธิ์อย่าง TFUND และ SIRIPF ซึ่งเป็นกองทุนที่มีขนาดใหญ่พอควร และมีสภาพคล่องการในการซื้อขาย นอกจากนั้น SIRIPF ยังจุดเด่นในเรื่องการคุ้มครองเงินต้นให้กับผู้ถือหน่วยลงทุนโดยมีสิทธิขายสินทรัพย์ออกไป" นักวิเคราะห์จากบล.เอเซียพลัส กล่าว

ขณะที่กองทุนรวมที่ให้ผลตอบแทน "ต่ำกว่า" ตลาดมีอยู่ 3 กองทุน ประกอบด้วย กองทุนรวมอสังหาฯ "ยูโอบี" (UOBAPF) จ่ายปันผล 0.48 บาท ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าปี 2548 จ่ายที่ 0.51 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 6.87% ต่อปี

กองทุนรวมอสังหาฯ "บางกอก" (BKKCP) ของบลจ.วรรณ จ่ายปันผล 0.57 บาท เป็นผลตอบแทน 6.28% ต่อปี

สุดท้าย กองทุนรวมอสังหาฯ "เอ็มเอฟซี-นิชดาธานี" (MNIT) ของบลจ.เอ็มเอฟซี ที่จ่ายปันผล 0.56บาท ต่ำกว่างวดปี 2548 ที่จ่าย 0.58 บาท คิดเป็นผลตอบแทน 6.07% ต่อปี

แม้ผลงานของ 3 กองทุนจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในเกณฑ์รับได้ เนื่องจากเป็นผลตอบแทนที่สูงกว่าผลตอบแทนจากเงินปันผลหุ้น และดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนราว 2-3%

ส่วนนักลงทุนจะเลือกลงทุนในกองทุนประเภทไหนนั้น ประเด็นที่น่าจะให้ความสำคัญมาเป็นอันดับต้นๆ ควรพิจารณาสินทรัพย์ที่กองทุนลงทุนว่า มีความ "มั่นคง" และต่อเนื่องของรายได้ที่มาจากค่าเช่า ซึ่งจะส่งผลให้การจ่ายปันผล หรือจะทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากกองทุนมีความต่อเนื่องในระยะยาว

และต้องพิจารณาว่ากองทุนลงทุนในสินทรัพย์แบบสัญญาการเช่า (Lease Hold) หรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ (Free Hold)

"เราชอบ Free Hold มากกว่า Lease Hold เพราะกองทุนเหล่านี้จะหารายได้จากสินทรัพย์ไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด และหากต้องขายสินทรัพย์ออกไป ก็สามารถทำได้ โดยเงินที่ได้รับจะนำมาคืนให้แก่ผู้ถือหน่วย ขณะที่กองทุนที่ได้สิทธิการเช่าจะมีอายุสัญญาเช่าประมาณ 20-30 ปี เมื่อหมดสัญญาก็จะหมดรายได้ ซึ่งผู้ที่ลงทุนในกองทุนแบบได้สิทธิการเช่าน่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า เพราะต้นทุนจะต่ำกว่าการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ ปัจจุบันกองทุนที่อยู่ในตลาด ให้ผลตอบแทนที่ไม่ต่างกัน เราจึงเห็นว่า การซื้อกองทุนอสังหาแบบซื้อขาด น่าจะให้ผลตอบแทนที่คุ้มกว่าในระยะยาว" เทอดศักดิ์ บอก

ขณะที่ราคาซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดยังไม่สูงเกินไป...สามารถ "ซื้อ" เพื่อลงทุนได้

เทอดศักดิ์ บอกว่า ถ้าจะซื้อหน่วยลงทุนในตลาดขณะนี้คงต้องพิจารณา "Yield" หรือ ผลตอบแทนเป็นหลัก หากราคาที่ซื้อให้ผลตอบแทนจากปันผลที่คุ้มค่าก็น่าสนใจ

"เราคาดว่า ผลตอบแทนจากปันผลกองทุนอสังหาฯ ปีนี้ (2550) น่าจะใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เพราะแหล่งรายได้จากอาคาสำนักงานให้เช่า อาคารโรงงาน เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ หรือศูนย์การค้า ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงหวือหวา

ปกติจะเปลี่ยนแปลงสูงสุดไม่เกิน 2% เท่านั้น จึงเชื่อว่าผลตอบแทนสุทธิไม่น่าเปลี่ยน แต่อาจมีการปรับอัตราค่าเช่าเพิ่มขึ้น คาดว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนปีนี้เฉลี่ยน่าจะใกล้ 8% ต่อปี " นักวิเคราะห์รายหนึ่ง กล่าว

นอกจากนั้น นักวิเคราะห์รายนี้ยังมองว่า การลงทุนในกองทุนอสังหาฯ มีความผันผวนของราคาค่อนข้างต่ำ

ขณะที่อัตราการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ ทำให้กองทุนประเภทนี้เป็นทางเลือกที่โดดเด่น แต่ต้องเป็นการลงทุนระยะยาว ถึงจะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ

"หากคิดจะลงทุนในกองทุนอสังหาฯ คงต้องเป็นเงินเย็น และที่สำคัญต้องถือลงทุนระยะยาว อย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนจากการจ่ายปันผลที่คุ้มค่า" นักวิเคราะห์รายเดิม กล่าว

++++++++




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 19:58:36 น.   
Counter : 759 Pageviews.  


Value way : Temple Boxing School - Revisit

Value way : Temple Boxing School - Revisit

มนตรี นิพิฐวิทยา montri@thaivi.com
สืบเนื่องจากการที่ผมได้ไปเป็นวิทยากรในงาน Money Expo ที่ผ่านมา แล้วบังเอิญได้รับคำแนะนำดีๆ จากท่านผู้ติดตามอ่านคอลัมน์ ท่านบอกว่า คอลัมน์ของผมนั้นอ่านแล้วยังไม่ง่าย ซึ่งผมก็เข้าใจดี และก็พยายามอย่างที่สุดที่จะให้อ่านกันเข้าใจง่ายๆ แต่ทั้งนี้ท่านผู้อ่านควรจะต้องหาความรู้เพิ่มเติม หรือ เขียน E-mail มาคุยกับผมได้ครับ


ผมเคยเขียนเรื่อง Temple Boxing School ไปเมื่อสองปีก่อนเห็นจะได้ วันนี้เพื่อให้เกิดบรรยากาศความง่ายขึ้นผมจึงขอพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะขณะนี้เรื่องๆ นี้กลายเป็นหนังสือฉบับกระเป๋า ซึ่งท่านผู้เขียนเรื่องนี้มิได้ตั้งใจให้เป็นหนังสืออะไรหรอกครับ เพียงแต่ท่านนั่งเขียนประสบการณ์อันยาวนาน พร้อมด้วยวิธีการเอาตัวรอดในตลาดหุ้นของท่านด้วยสำนวนกวนๆ ขำๆ ลงในเวบบอร์ด พอนานๆ เข้าเรื่องราวก็มากขึ้นจนเพื่อนฝูงเห็นว่ามันมีประโยชน์และอ่านมันส์ดีจึงเอามารวมเป็นเล่มขนาด184หน้า ราคาย่อมเยา 175 บาท

ถ้าท่านจำ "คลายเครียดเรโช” ได้ ท่านก็น่าจะนึกถึงเนื้อหาเด่นๆ ของ “สำนักมวยวัด” ได้ จากการที่ท่านผู้เขียนนั้นออกตัวก่อนว่าท่านเป็นเพียง "มนุษย์หุ้น" ที่เอาตัวรอดในตลาดหุ้นมานานหลายสิบปี ฉะนั้นเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในหนังสือนั้นมิได้เป็นหลักวิชาการแต่อย่างใด แต่น่าจะเป็น "หลักวิชาเกิน" เสียมากกว่า ทั้งนี้เพราะมันเกินกว่าจะเอามาเป็นหลักการได้

คราวนี้เราเข้ามาเยี่ยมเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้กันเสียหน่อย เพื่อเป็นการเรียกน้ำย่อยของคุณๆ และเพื่อให้เข้ากับชื่อเรื่อง

สำนักมวยวัดจัดคนเล่นหุ้นออกเป็นสามสายพันธุ์ตามความโลภและความรู้ คือ แมลงเม่าหุ้น มนุษย์หุ้น เซียนหุ้น คุณๆ ลองไปอ่านดูว่าแต่ละสายพันธุ์มักจะมีนิสัยอันเป็นประโยชน์และโทษต่อการลงทุนอย่างไร

เนื่องจากบัดนี้ได้เกิดคำว่า”เซียนเต่า”เกิดขึ้นในตลาดหุ้นไทย ซึ่งนั้นน่าจะหมายถึงท่าน ดร.นิเวศน์ value investor ชั้นยอดของบ้านเรา แต่สัตว์ที่ตรงข้ามกับเต่าก็คือกระต่าย และกระต่ายมักจะตื่นตูม ฉะนั้นสำนักมวยวัดจึงจัด “ดิวิชั่น”ของกระต่ายออกเป็นสามลำดับตามความน่ารัก(ท่านเขียนว่า “น่าร๊าก”)คือ

ดิวิชั่นสอง กระต่ายตื่นตูม (ไม่ต้องหันไปมองใครหรอก คุณนั้นแหละ!) อาวุธประจำตัวคือ "หลวงพ่อโกย วัดหน้าตั้ง" รุ่น "เผ่นก่อน คิดทีหลัง" ดิวิชั่นหนึ่ง กระต่ายตื่นตัว อาวุธร้ายประจำตัวคือ “หลวงพ่อโกย วัดหน้าตั้ง”เหมือนกันแต่ได้อัพเกรดขึ้นมาหน่อยเป็น "หลวงพ่อโกย วัดหน้าตั้ง" รุ่น "คิดก่อน เผ่นทีหลัง" กระต่ายดิวิชั่นนี้มักจะหันกลับไปดูโคนมะพร้าวก่อนว่า "มะพร้าวลูกใหญ่แค่ไหน" พวกแมลงเม่า กับพวกกองทุนเผ่นกันหรือเปล่า ถ้าเขาเผ่นกันเราก็เอามั่ง

และกระต่ายดิวิชั่นสุดท้ายคือ กระต่ายพรีเมียร์ลีก หรือกระต่ายเจ้าเล่ห์ กระต่ายดิวิชั่นนี้ร้ายมาก ชอบสับขาหรอกดิวิชั่นอื่น ชอบแกล้งทำเป็นตื่นตูมเสียเอง หรือทำให้กระต่ายตัวอื่นตื่นตูม อาวุธร้ายประจำตัวคือ "หลวงพ่อโกย วัดหน้าตาย" รุ่น "สับขาหลอก"และน่าจะมีหลายเวอร์ชั่นด้วยกันแล้วแต่โอกาสจะอำนวย

และยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมาก เช่น การเปรียบเทียบการเข้ายึดตลาดหุ้นไทยของ "บักสีดา" (นักลงทุนต่างชาติ”กับการที่ "บักซิหยาม" อย่างเราเข้ายึดตลาดหุ้นลาว เรื่อง ราคาหุ้น นาฬิกาหุ้น คลายเครียดเรโช ข่าวลือ ข่าววงใน คือเครื่องมือในการเล่นเกมล่าส่วนเกินทุน และเรื่องราวที่เป็นประสบการณ์จริงที่เกิดกับใครแล้วอาจจะหัวเราะไม่ออกแต่ท่าน "คลายเครียด" ผู้เขียน ท่านทำให้เป็นเรื่องที่เป็นเรื่องไม่เครียด อ่านไปยิ้มไป(แอะ...นั่นมันเรานี่หว่า) และเป็นบทเรียนในการลงทุนได้เป็นอย่างดี

ผมแนะนำให้คุณๆ หาซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านไปพลางๆ ก่อนที่ผมจะหาวิธีเขียนเนื้อหาที่ยากๆ ให้เข้าใจง่ายได้ก่อนละกันนะครับ




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2550   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 19:57:53 น.   
Counter : 566 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com