แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
'Securitized Bonds' ผลตอบแทนสูง เสี่ยงต่ำ กว่าหุ้นกู้

'Securitized Bonds' ผลตอบแทนสูง เสี่ยงต่ำ กว่าหุ้นกู้

ในขณะที่ "ช่องทาง" ลงทุนดอกเบี้ยขาลงมีไม่มากนัก.. "Securitized Bonds" หรือการแปลงสินทรัพย์จากการใช้ลูกหนี้ ไม่ว่าสินเชื่อบ้าน ลูกหนี้เช่าซื้อ ลูกหนี้บัตรเครดิต ให้เป็น "ตราสารหนี้" เพื่อการลงทุน อาจเป็น "ตัวเลือก" ลงทุนรูปแบบใหม่ที่น่าจับตาในระยะอันใกล้



ไม่ใช่แค่ผลตอบแทนที่ "จูงใจ" แต่ความเสี่ยงยังต่ำกว่าหุ้นกู้ จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการความมั่นคงในการลงทุน..


ถ้าพูดถึงการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ หรือตราสารหนี้ (Securitized Bonds) อาจเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักลงทุนรายย่อยในบ้านเรา แม้ว่าจะเคยได้ยินคำว่า Securitization หรือการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนมาบ้างก็ตาม

ในมุมของนักลงทุนแล้ว.. ตราสารหนี้ประเภทนี้ คือ โอกาสลงทุนใหม่

ขณะที่ผู้ประกอบการก็จะได้รับประโยชน์จากการระดมทุน ด้วยการออกตราสารหนี้ประเภท Securitization อย่างมหาศาล เพราะนั่นเท่ากับเป็นช่องทางระดมทุนใหม่ที่มีต้นทุน "ต่ำ" แตกต่างจากแหล่งเงินทุนเดิมๆ อย่างการระดมทุนในตลาดหุ้น ที่ปัจจุบันระดมทุนได้ยากลำบาก หรือจะกู้เงินจากแบงก์พาณิชย์ ก็ยังเป็นต้นทุนที่สูงอยู่แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับลงแล้วก็ตาม

ความจริงแล้ว "Securitized Bonds" ในไทย มีมานานแล้วตั้งแต่มีพ.ร.บ.นิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ได้ผ่านความเห็นชอบในปี 2540 โดยมีคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ

แต่ที่ผ่านมา..การแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ยังไม่เปิดกว้างมากนัก ส่วนใหญ่ที่มีอยู่ในตลาด (โอทีซี) ขณะนี้ จะเป็นบริษัท "เช่าซื้อ" เป็นผู้ออกเสนอขายให้แก่นักลงทุน

กระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม 2548 ตลาดเริ่มเปิดในวงกว้างมากขึ้น หลังจาก ก.ล.ต.ได้อนุญาตให้นิติบุคคลเฉพาะกิจสามารถแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ สามารถออกตราสารหนี้เพื่อขายให้แก่ประชาชนทั่วไปได้

แต่ปริมาณสินค้าในตลาดจะยังมีให้เลือกลงทุนไม่มากนัก ..

ขณะที่นักลงทุนรายย่อยทั่วไป ยังไม่เข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์แนวนี้เท่าไรนัก เนื่องจากลักษณะสินค้าค่อนข้างเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ซึ่งมีรูปแบบ "แตกต่าง" จากการออกตราสารหนี้ เช่น พันธบัตร หุ้นกู้ ที่มีอยู่ในตลาดปัจจุบัน

คำอธิบายง่ายๆ สำหรับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ ก็คือ วิธีการระดมทุนโดยการใช้ "หนี้" ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อที่อยู่อาศัย ลูกหนี้เช่าซื้อ หนี้เงินกู้ หนี้บัตรเครดิต จากสถาบันการเงินหรือบริษัทต่างๆ มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน แล้วนำมาออกเป็นตราสารหนี้ เพื่อเสนอขายให้แก่นักลงทุนทั่วไป

"ขั้นตอนในการออกตราสารหนี้ประเภทนี้ จะเริ่มจากบริษัทหรือสถาบันการเงินต้องการเงินทุนไปใช้ในการขยายธุรกิจ (ไม่มีหลักทรัพย์เป็นที่ดินมาค้ำประกัน) แต่มีพอร์ตลูกค้าสินเชื่อ เช่น บัตรเครดิต เงินกู้ หรือเรียกว่า "The Originator/Seller" ก็นำพอร์ตลูกหนี้มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในการออกตราสารหนี้ ซึ่งอาจจะเป็นสินทรัพย์ชิ้นเดียว หรือเป็นกลุ่มของสินทรัพย์ก็ได้ " "ชวาลา เทียนประเสริฐกิจ" ผู้อำนวยการฝ่ายบริการตรวจสอบบัญชี และผู้เชี่ยวชาญด้านการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ บริษัท ดีลอยท์ ทูช โธมัทสุ กล่าว

จากนั้นก็ขายพอร์ตลูกหนี้ หรือโอนสิทธิไปยังบริษัทกลางที่จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ออกตราสารหนี้ หรือเรียกว่า "นิติบุคคลเฉพาะกิจ" (SPV) แทนบริษัทอีกที

"เอสพีวี" จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดกองทุนสินทรัพย์ ให้เหมาะสมกับตราสารหนี้ที่จะออกขายให้กับนักลงทุนทั่วไปต่อไป อาจมีการจ้างที่ปรึกษาการเงินหรืออันเดอร์ไรเตอร์ รวมถึงผู้ทำหน้าที่ในการจัดเก็บเงินและชำระเงิน จากนั้นเอสพีวีจะนำเงินที่ได้จากการขายตราสารหนี้คืนให้แก่ผู้ขาย

ในส่วนของนักลงทุนที่ลงทุน ก็จะได้รับผลตอบแทนเป็น "ดอกเบี้ย" โดยผลตอบแทนที่จ่ายให้แก่นักลงทุนนี้ จะมาจากการเก็บเงินสดจากพอร์ตลูกหนี้ ที่เซลเลอร์หรือผู้ขายจะยังทำหน้าที่เป็นผู้เก็บเงินจากลูกค้าสินเชื่อตามปกติ

"โดยปกติสินทรัพย์ที่จะนำมาแปลงเป็นหลักทรัพย์ จะมี 2 ประเภท อย่างแรก.."Asset- Back Securities"(ABS) ส่วนใหญ่จะเป็นลูกหนี้บัตรเครดิต เช่าซื้อรถยนต์ ลูกหนี้อื่นๆ ที่สามารถประมาณการกระแสเงินสดในอนาคตได้ ส่วนแบบสอง.."Mortgage-Back Securities"(MBS) จะเป็นลูกหนี้เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัย เช่น สินเชื่อบ้าน" "โชติอาภา ส่วนพงษ์" ผู้บริหารทีม ฝ่ายบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ส่วนบริหารตลาดการเงินและเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าว

เทียบเคียงความต่างของตราสาร Securitized Bonds กับหุ้นกู้ทั่วไปแล้ว โชติอาภากล่าวว่า ความต่างอยู่ที่ความเสี่ยง โดยความเสี่ยงของหุ้นกู้ จะขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งจะเป็นแหล่งที่มาของรายได้และการจัดอันดับเครดิต หากบริษัทเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ก็จะทำให้เงินลงทุนของผู้ลงทุนสูญหาย

แต่สำหรับความเสี่ยงของตราสารหนี้ Securitized Bonds จะขึ้นอยู่กับกระแสรายได้หรือเงินสด ซึ่งจะมาจากการจัดกองสินทรัพย์เป็นหลัก ตลอดจนความเสี่ยงด้านเครดิตของตราสารหนี้

"ความเสี่ยงของเครดิต จะมาจากคุณภาพของสินทรัพย์ ซึ่งจะเป็นแหล่งที่มาของรายได้ว่ามาจากอะไร" โชติอาภากล่าว

ความน่าลงทุนของตราสารหนี้ประเภทนี้ จึงอยู่ที่มีทางเลือกการลงทุนที่หลากหลาย ทำให้มีผลตอบแทนให้เลือกตามความต้องการ ตามการจัดกองสินทรัพย์

ขณะที่อัตราผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ ในทางกลับกันความผันผวนจะต่ำกว่าหุ้นกู้ เนื่องจากมีอันดับเครดิตเรทติ้งที่มั่นคงมากกว่า

"ถ้ามองในมุมของนักลงทุน ตราสารหนี้ประเภทนี้จัดว่ามีความน่าสนใจลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการรับความเสี่ยง โดยผู้ลงทุนมีทางเลือกลงทุนมากมาย ซึ่งผลตอบแทนก็ขึ้นอยู่กับการจัดกองทุนสินทรัพย์หรือประเภทของตราสารหนี้ที่เสนอขาย

และตราสารหนี้ยังมีความเสี่ยงการลงทุนลดลง เนื่องจากการได้รับอันดับเครดิตเรทติ้งที่สูง"

ในมุมมองของภาคเอกชน "ชวาลา" บอกว่า ถ้ามองในแง่ผู้ลงทุน จะได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้ ขณะที่ความเสี่ยงมีน้อยมากเทียบเท่าพันธบัตรรัฐบาล เพราะการจัดอันดับเครดิตเรทติ้งจะสูงมาก ส่วนใหญ่อันดับเครดิตลูกหนี้จะอยู่ในระดับ AAA ซึ่งผู้ลงทุนก็ควรเลือกลงทุนในอันดับเรทติ้งสูงไว้ก่อน เพราะเป็นการลงทุนระยะยาว

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนที่สนใจลงทุน จะต้องทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ที่ "ซับซ้อน" กว่าการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไปหรือหุ้นกู้ นักลงทุนจึงต้องเป็นผู้ที่มีความพร้อมในการลงทุนมากกว่า แต่ผลตอบแทนการลงทุนก็น่าจูงใจกว่าพันธบัตรมาก เพราะมีรายได้จากกระแสเงินสดที่สูงนั่นเอง

"ความเสี่ยงการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทนี้ของนักลงทุน จะอยู่ที่อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ ซึ่งจะบอกความเสี่ยงของตราสาร รวมถึงความเสี่ยงในการจ่ายชำระหนี้ก่อนครบกำหนดของลูกหนี้สินเชื่อ ที่นำมาใช้แปลงเป็นหลักทรัพย์ ตลอดจนความผกผันของราคาตราสารหนี้ต่ออัตราดอกเบี้ย และความเสี่ยงในการขายเปลี่ยนมือตราสารหนี้ให้แก่นักลงทุนรายอื่น" ชวาลากล่าว

แล้ว..กลยุทธ์ลงทุนของนักลงทุนรายย่อย ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างไร..

โชติอาภาบอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างราคาตราสารหนี้กับอัตราดอกเบี้ยนั้น ปกติหากมีการคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลง นักลงทุนควรจะ "ซื้อ" หรือ "ถือ" ตราสารหนี้ไว้ เพราะเมื่อดอกเบี้ยลดลง ราคาตราสารหนี้จะปรับตัวสูงขึ้น ฉะนั้นเมื่อดอกเบี้ยลดลง ก็ย่อมเป็นผลดีต่อผู้ที่ถือตราสารหนี้ไว้ในมือ

ในทางกลับกัน หากอัตราดอกเบี้ยถูกคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น นักลงทุนก็ควรจะรีบ "ขาย" ตราสารหนี้ออกไป เพราะเมื่อดอกเบี้ยขึ้น ราคาตราสารหนี้จะลดลง

"การจะลงทุนให้ได้กำไรเมื่อดอกเบี้ยเปลี่ยนทิศ หากดอกเบี้ยในตลาดเป็นขาขึ้น ก็ควรถือตราสารหนี้ที่มีอายุสั้นๆ แต่ถ้าหากดอกเบี้ยเป็นขาลง ก็ควรจะเพิ่มอายุตราสารหนี้ให้ยาวขึ้น" โชติอาภากล่าว

โชติอาภาบอกว่า ในแง่ของนักลงทุนรายย่อย ควรถามตัวเองด้วยว่า เป็นนักลงทุนประเภทไหน เช่น หากเป็นนักลงทุนแบบซื้อแล้วถือ (Buy&Hold) ควรจะลงทุนด้วยเงินเย็น เลือกตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยให้ถือตราสารหนี้ไปจนครบอายุ ซึ่งผลตอบแทนประมาณ 15% ถือว่าอยู่ในระดับที่ดีแล้วสำหรับนักลงทุนประเภทนี้

แต่หากเป็นผู้ที่ชอบเล่นสั้น หรือ Trading เดี๋ยวซื้อเดี๋ยวขาย ต้องยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นได้ และต้องปรับการลงทุนตามภาวะดอกเบี้ยที่เปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม ในตลาดการแปลงสินทรัพย์เป็นตราสารของบ้านเรา ยังมีสินค้าให้เลือกลงทุนน้อยมาก ในระยะอีก 2-3 ปีนี้ คาดกันว่าจะมีตราสารหนี้รูปแบบนี้ออกมาให้เลือกลงทุนมากขึ้น

"ตอนนี้ตลาดบ้านเรายังเล็กมาก มีสินค้าในตลาดน้อยมาก คิดเป็นมูลค่าเพียงระดับหมื่นล้านเท่านั้น คาดว่าในช่วง 3 ปีข้างหน้า มีความเป็นไปได้มากที่จะมีสินค้าออกมาให้เลือกลงทุน ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ธอส. ที่จะออกตราสารหนี้แนวนี้ หรือกรณีแบงก์กรุงเทพ กสิกรไทย กรุงไทย ซึ่งมีลูกหนี้จำนวนมาก น่าจะระดมทุนด้วยวิธีนี้

หรือแม้แต่ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งทยอยออกมาแล้ว ก็เชื่อว่า ตลาดนี้จะเติบโตอีกมาก และหวังว่าใน 10 ปีข้างหน้า มูลค่าซื้อขายจะเพิ่มเป็นแสนล้านได้" ชวาลากล่าว

นักลงทุนเองก็จะมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้นอีกด้วย...



Create Date : 12 กรกฎาคม 2550
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 20:02:01 น. 0 comments
Counter : 1166 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com