แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
′ไฟแนนเชียลไทมส์′ วิเคราะห์ "น้ำท่วมไทย"กระเทือนซัพพลายเชน"ทั่วโลก" (ตอน 1)

ไฟแนนเชียลไทมส์ ได้ตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมในประเทศไทยต่อระบบซัพพลายเชนโลก โดยเบน แบลนด์และโรบิน กว่อง สองผู้เขียนบทความ "ซัพพลายเชนหยุดชะงัก: จุดหมายที่จมอยู่ใต้บาดาล" แผ่นดินไหวญี่ปุ่นและวิกฤติน้ำท่วมไทยกระเทือนชิ้นส่วนการผลิตทั่วโลก ("Supply chain disruption: sunken ambitions" Fallout from Japanese quake and Thai floods is causing global parts shortages) ชี้ว่า


มหันตภัยน้ำท่วมซึ่งร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปีคราวนี้ ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทั้งชีวิตของผู้คนและระบบเศรษฐกิจ คนมากกว่า 400 คนเสียชีวิต คนอีกนับแสนต้องอพยพย้ายที่อยู่ พื้นที่ปลูกข้าว 1 ใน 4 ของประเทศซึ่งส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลกอย่างไทยถูกน้ำท่วมเสียหาย นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ถึง 7 แห่งจมน้ำ ซึ่งยังผลให้ประชากรกว่า 7 แสนคนต้องไร้งานทำ

ความเสียหายที่เกิดขึ้นช่วยให้เห็นความสำคัญของบรรดาประเทศในเอเชีย ที่กำลังกลายมาเป็นศูนย์กลางการผลิตโลก อันเนื่องมาจากปริมาณอุปสงค์ที่สูงขึ้นในภูมิภาคนี้ รวมไปถึงการเป็นแหล่งผลิตราคาถูก




"โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หลายแห่งต้องจมอยู่ในน้ำซึ่งท่วมสูงประมาณ 2 เมตร ผู้ผลิตหลายรายต่างพยายามจ้างนักประดาน้ำเพื่อกู้เครื่องจักรที่มีราคาแพงและยากแก่การเปลี่ยน"

แม้ว่าบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เรื่อยไปถึงโรงงานผลิตสินค้าเฉพาะกลุ่มล้วนมีแผนรับมือกับภัยธรรมชาติและความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง อันเห็นได้จากการที่คำว่า "การบริหารความเสี่ยงของระบบห่วงโซ่อุปทาน" (“supply chain risk management”) ได้ถูกบรรจุลงในคลังคำศัพท์ของวิชาการบริหาร อย่างไรก็ดี โรงงานมากกว่า 1,000 แห่งที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่า ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจะมีความรุนแรงถึงเพียงนี้

"ไม่มีใครเคยนึกถึงความเป็นไปได้ของการเกิดความเสียหายในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด" สมบูรณ์ ประสิทธิ์จุตรากุล ประธานบริษัท ดีเคเอสเอช ประเทศไทย จำกัด กล่าว

แหล่งผลิต 3 แห่งของดีเคเอสเอชในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถูกน้ำท่วมทั้งหมด ทั้งโรงงานผลิตกางเกนยีนส์ยี่ห้อลีวายส์ โรงงานผลิตยา และศูนย์กระจายสินค้าที่มีขนาดใหญ่เท่าสนามฟุตบอล 3 สนาม ซึ่งทำหน้าที่จัดส่งสินค้าให้ผู้ค้าปลีกทั่วประเทศ "ในอนาคต เราจำเป็นต้องทบทวนเรื่องความเสี่ยงจากอุทกภัยเสียใหม่ เราต้องกลับมาพิจารณาว่า ควรจะยกพื้นที่ตั้งโรงงานให้สูงขึ้น หรือควรจะไปหาทำเลที่ตั้งโรงงานซึ่งมีการป้องกันภัยพิบัติที่ดีกว่านี้แทน" สมบูรณ์กล่าว

เช่นเดียวกับเมื่อครั้งภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ที่ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเงินภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆด้วย "ไม่กี่ปีที่แล้ว คนที่เป็นผู้จัดการซัพพลายเชนอาจจะแค่เดินเข้าไปหาหัวหน้า และอธิบายว่าวิกฤติน้ำท่วมในไทย เป็นเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการได้ล่วงหน้า และเป็นสิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้ แต่ทุกวันนี้ คุณไม่สามารถอ้างเหตุผลดังกล่าวได้อีกต่อไปแล้ว" เดเนียล คอร์สเตน ผู้เชี่ยวชาญด้านซัพพลายเชนของสถาบันสอนธุรกิจไออีในมาดริดกล่าว




คอร์สเตนกล่าวต่อว่า บริษัทจะถูกมองว่าเป็นจำเลยจากการกระทำที่ "ไร้ความรับผิดชอบ" ในสายตาลูกค้าและผู้ถือหุ้นของบริษัทถ้าหากว่า "บริษัทเหล่านั้นไม่มีการเตรียมการเพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด"

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้กลายมาเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รวมทั้งชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ที่ตั้งของโรงงานผลิตเหล่านั้นกระจุกอยู่รวมกันในพื้นที่ตอนกลางของประเทศ ที่ตอนนี้แลดูเหมือนทะเลสาบขนาดยักษ์

ไล่มาตั้งแต่ "ฮอนด้า" โรงงานผลิตรถยนต์สัญชาติญี่ปุ่นซึ่งจมอยู่ใต้บาดาลมาตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เรื่อยมาถึง "เอเซอร์" บริษัทผลิตคอมพิวเตอร์ซึ่งมีโรงงานผลิตฮาร์ดดิสส์ไดรฟ์ในประเทศไทย และบริษัทข้ามชาติรายใหญ่อื่นๆซึ่งได้ประมาณการไว้ว่า ยอดขายและผลกำไรของบริษัทจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภัยพิบัติในครั้งนี้ จากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนทำให้ฮอนด้าต้องลดจำนวนการผลิตรถยนต์ในประเทศต่างๆทั่วโลก ตั้งแต่ฟิลิปปินส์ไล่ไปถึงเมืองสวินดอนในสหราชอาณาจักร

นอกจากนี้ ช่วงเวลาของการเกิดภัยพิบัติก็ช่วยซ้ำเติมความเสียหายให้สาหัสขึ้นไปอีก อุทกภัยครั้งนี้เกิดขึ้นเพียง 6 เดือน ภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่นซึ่งส่งผลกระทบต่อการผลิตในประเทศ ขณะเดียวกัน บริษัทจากประเทศญี่ปุ่นก็มีสัดส่วนการลงทุนจำนวนมากในประเทศไทย บริษัทเหล่านี้ต้องรับกับความเสียหายอีกครั้ง จากการที่โรงงานมากกว่า 450 โรงจากทั้งหมด 2,000 โรงถูกน้ำท่วม




และน้ำจะยังไม่หายไปไหนในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า จากการคาดการณ์สถานการณ์น้ำที่มองใน "แง่บวก" ที่สุด ส่งผลทำให้ผู้บริหารยังไม่สามารถประมาณการตัวเลขความเสียหายทั้งหมด รวมถึงเงินทุนที่จะต้องใช้สำหรับการฟื้นฟูโรงงานได้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประเมินไว้ว่า วิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อจีดีพีมากกว่า 1.7 เปอร์เซ็น เทียบกับความเสียหาย 0.3 เปอร์เซ็นของจีดีพีเมื่อช่วงเหตุการณ์สึนามิของประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2547 และมูลค่าความเสียหาย 0.1 เปอร์เซ็นของจีดีพีในเหตุการณ์แผ่นดินไหวในญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ นักลงทุนชาวต่างชาติจะย้ายการลงทุนออกนอกประเทศไทยหรือไม่? บรรดาผู้ผลิตจะเปลี่ยนแผนธุรกิจจาก "โมเดลการผลิตที่เน้นต้นทุนต่ำ" ในปัจจุบัน ที่ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และลูกค้าอยู่บริเวณใกล้กันทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนการผลิต รวมทั้งเปลี่ยนจากการผลิตแบบ "ทันเวลาพอดี" หรือ "just-in-time production" [หมายเหตุ การผลิตแบบ "just-in-time" (JIT) โรงงานจะทำการผลิตสินค้าให้เสร็จและจัดส่งออกไปเมื่อมีการขายเกิดขึ้นเท่านั้น และวัตถุดิบ ส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ใช้ในการผลิตสินค้า ก็จะถูกนำมาผลิตและประกอบตามจำนวนความต้องการของลูกค้า วัตถุดิบและวัสดุต่าง ๆ ก็จะถูกสั่งซื้อเข้ามาก็ต่อเมื่อมีความต้องการเท่านั้น] ไปยังแผนธุรกิจที่เน้นการกระจายความเสี่ยงกว่านี้หรือไม่? บริษัทควรจะหันมาลงทุนเพื่อการป้องกันภัยพิบัติ ซึ่งใช้เงินลงทุนมหาศาล หรือจะเพียงแค่ก้มหน้ายอมรับว่า ภัยพิบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่อาจคาดการณ์ได้?


Create Date : 06 พฤศจิกายน 2554
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2554 7:17:56 น. 0 comments
Counter : 631 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com