แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
มูลค่าที่ยั่งยืน 2

มูลค่าที่ยั่งยืน 2
Value Way
มนตรี นิพิฐวิทยา

คุณๆไม่ต้องแปลกใจถ้าอ่านจบแล้วอาจจะคิดว่าคอลัมน์นี้ยังเป็นเรื่องของการลงทุนอยู่หรือเปล่า จริงๆแล้วไม่ได้เปลี่ยนไปเป็นเรื่องของการจัดการใดๆทั้งสิ้น เพียงแต่การลงทุนในหุ้นนั้นคือการลงทุนในกิจการที่ประกอบธุรกิจ ดังนั้นหากเราต้องการจะเป็นนักลงทุนที่ดีเราต้องเข้าใจธุรกิจครับ

การลงทุนในหุ้นสำหรับมือใหม่ที่ไม่ค่อยประสีประสาอะไรนัก คือเห็นการลงทุนเป็นการเล่นหุ้น เป็นการเก็งกำไร ทำไมจะต้องไปรู้ไปเข้าใจธุรกิจด้วย ครับถ้าท่านตั้งตัวเป็นนักเก็งกำไรก็คงไม่จำเป็นครับ แต่ถ้าท่านต้องการลงทุนในกิจการที่ดีและเพื่อรอรับผลตอบแทนจากธุรกิจผ่านมูลค่าของกิจการแล้วละก็ เรื่องลึกๆในธุรกิจนั้นสำคัญอย่างมาก

ในการจะเจาะลึกถึงแก่นแท้ในการดำเนินธุรกิจนั้น เราในฐานะนักลงทุนต้องเข้าใจ Business model ของบริษัทนั้นให้ดี เพราะBusiness Model นี้จะเป็นตัวที่บอกเราเกือบทั้งหมดเกี่ยวกับกิจการ รวมไปถึงผู้บริหาร และวัฒนธรรมขององค์กรนั้นๆเลยที่เดียว Business Model นั้นจะเป็นกิจกรรมต่างๆที่บริษัทใช้ในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินสด ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การผลิต การตลาด รวมทั้งต้องรวมถึงช่วงเวลาที่บริษัทดำเนินการด้วยครับ ถ้าทำผิดเรื่องผิดเวลา ก็เละ

คุณเคยสังเกตไหมว่าในแต่ละอุตสาหกรรมนั้นจะมีบริษัทที่เป็นผู้นำ และถ้าเอาบริษัทที่เป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรมมาจัดเรียงกันโดยใช้ Return on Assets (ROA) และ Return on Cash flow (ROCF) เราก็จะเห็นว่าในแต่ละอุตสาหกรรมนั้นมีค่าตามตัววัดต่างๆนั้นมากน้อยไม่เท่ากัน บางอุตสาหกรรมจะมีค่าตัววัดทั้งสองสูง บางอุตสาหกรรมจะต่ำ แม้ว่าบริษัททั้งหมดนั้นเป็นผู้นำของอุตสาหกรรมของตัวเอง

คุณๆเคยคิดไหมครับว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น? ตามธรรมดาบริษัทชั้นยอดในแต่ละอุตสาหกรรมนั้นๆควรจะมีค่าวัดที่สูงอยู่แล้ว แต่เมื่อเทียบกับอุสาหกรรมอื่นอาจจะดีหรือด้อยกว่า ทั้งนี้เพราะในแต่ละอุตสาหกรรมนั้นต้องเผชิญกับ “แรงกดดันจากการแข่งขันที่แตกต่างกัน” ถ้าคุณๆสนใจเรื่องนี้ผมแนะนำให้หาเรื่อง “แรงกดดันจากพลังทั้งห้า (Five Forces Model)” มาศึกษากันนะครับ ผมเคยเขียนไปแล้วถ้าจะสรุปก็คือ ในแต่ละอุตสาหกรรมนั้นต้องเผชิญกับแรงกดดันจาก ผู้ขายวัตถุดิบ ลูกค้า ผู้มาใหม่ที่มีศักยภาพ สินค้าทดแทน และการแข่งขันภายในอุตสาหกรรมเอง เป็นหน้าที่ของผู้บริหารจะต้องจัดการกับแรงกดดันทั้งหมดให้ได้ เพื่อที่บริษัทจะสร้างรายได้ และควบคุมต้นทุนให้บริษัทมีกำไร และคุ้มกับการลงทุนต่างๆนอกจากแรงกดดันทั้งห้าดังที่กล่าวมาแล้ว บริษัทจะต้องเผชิญกับ “ตัวผลักดันมูลค่าที่สำคัญของอุตสาหกรรมนั้น (Critical Industry Value Driver)” ซึ่งองค์ประกอบนี้จะเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อสถานะ (Position) ของบริษัทมาก เช่นบริษัทเป็นต้องการที่จะเป็นผู้นำในด้านต้นทุน สิ่งที่เป็นตัวผลักดันมูลค่าที่สำคัญของอุตสาหกรรมนั้นคือการที่จะต้องทำให้เกิดความประหยัดจากขนาดให้ได้ การจัดซื้อ จัดจำหน่าย หรือการใช้กำลังการผลิตจะต้องถูกจัดการให้เกิดต้นทุนที่ต่ำ บางบริษัทต้องการที่จะเป็นผู้นำที่สร้างความแตกต่าง (Differentiation) ตัวผลักดันมูลค่าที่สำคัญของอุตสาหกรรมนั้นคือ การสร้างนวัตกรรมทั้งด้านการจัดการ ผลิตภัณฑ์และบริการ การจัดหาวัตถุดิบ การจำหน่าย การผลิต ในปัจจุบันนี้เกิดแนวคิดมาใหม่คือ “การสร้างพื้นที่ใหม่ที่ไม่ต้องกังวลเรื่องการแข่งขัน” หรือ Blue Ocean Strategy ซึ่งจริงๆแล้วก็ไม่ใช่ของใหม่ มันคือการสร้างความแตกต่างให้เกิดในตัวสินค้าหรือบริการ รวมไปถึงการบริหารต้นทุนที่ต่ำ หรือ สินค้าต้องแตกต่างและเป็นผู้นำด้านต้นทุนด้วย และจะต้องทำก่อนใครเพื่อไม่ให้คู่แข่งขันรายอื่นเลียนแบบและตามได้ทัน

ในบทความต่อๆไปผมจะนำเรื่องราวเหล่านี้มาขยายแยกกันเป็นส่วนๆ นำเสนอต่อคุณๆต่อไปครับ



Create Date : 12 กรกฎาคม 2550
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 20:35:26 น. 0 comments
Counter : 621 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com