แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
"โลจายะ" ทุนใหม่ฟื้น.."เอเวอร์แลนด์" เหล้าเก่า-ขวดใหม่ โปรด!!! เขย่า "ก่อนดื่ม"

"โลจายะ" ทุนใหม่ฟื้น.."เอเวอร์แลนด์" เหล้าเก่า-ขวดใหม่ โปรด!!! เขย่า "ก่อนดื่ม"

เส้นทางเติบโตของ "บริษัท เอเวอร์แลนด์ (EVER)" ในชื่อเดิม บริษัท คันทรี่ (ประเทศไทย) ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์บ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ ขนาดเล็ก กำลังก้าวเดินอย่างน่าติดตาม...


หลังได้ผู้ลงทุนกลุ่มใหม่ "ตระกูลวรวรรณ-โลจายะ" (กลุ่มเดียวกัน) รวมถึงกลุ่มนักลงทุนรายอื่นๆ ที่ชักชวนเข้ามา อย่างตระกูล "อัตตะนันท์-เที่ยงธรรม" ร่วมเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายใหม่ โดยเทคโอเวอร์กิจการมาจากเจ้าของเดิมกลุ่ม "สดาวุธ เตชะอุบล" จนดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ และออกจากหมวด "รีฮาฟโก้" เข้าซื้อขายครั้งแรก เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2549 ที่ผ่านมา หลังจากหยุดการซื้อขายมาตั้งแต่ปี 2541

โครงสร้างการถือหุ้นใหม่ของเอเวอร์แลนด์ ประกอบด้วย กลุ่มวรวรรณ โดย "ม.ร.ว.ศศิจุฑา วรวรรณ" มารดาของ "สวิจักร์-ขุมทรัพย์-จอมทรัพย์ โลจายะ" และพี่น้อง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนรวมกัน 35%

รองลงมา "กลุ่มอัตตะนันท์" ถือหุ้นโดย "นาวสาวพิมพฤดา อัตตะนันท์" 10.05%, "กลุ่มเตชะอุบล" เจ้าของเดิม ยังเหลือหุ้นในนาม "นาวสาวหลุยส์ เตชะอุบล" และ "นายเบน เตชะอุบล" บุตรสาวและบุตรชายของ "นายสดาวุธ เตชะอุบล" รวมกัน 8.46% ส่วนพันธมิตรร่วมลงทุนอื่น จากตระกูล "เที่ยงธรรม" ในนาม "น.ส.ปณิสรา เที่ยงธรรม" และ "นายนพสิทธิ์ เที่ยงธรรม" นักแสดง ถือหุ้นรวมกัน 8.33% และบรรษัทสินทรัพย์ไทย(บสท.) อีก 7.83%

สิ่งที่น่าจับตาสำหรับเอเวอร์แลนด์ หุ้นอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กที่มีทุนจดทะเบียน 300 ล้านบาท ภายใต้กลุ่มผู้ถือหุ้นใหม่ ในภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มชะลอตัว ก็คือ..."ไส้ใน" ของเอเวอร์แลนด์ที่ "ซ่อนเร้น" ที่ดินในมือมูลค่ากว่า "พันล้าน" รอการพัฒนาในปีนี้และอนาคต และเป็นหนทางที่จะทำให้บริษัทก้าวเดินอย่างมั่นคง

"เรามีที่ดินเปล่าที่รอการพัฒนาในเขตสุวินทวงศ์ ซึ่งเป็นที่ดินเดิมที่มีต้นทุนต่ำและอยู่ในทำเลที่ดีจำนวน 640 ไร่ ต้นทุนเฉลี่ย 4-5 แสนบาทต่อไร่ ขณะที่ราคาตลาดในปัจจุบันอยู่ที่ 1.2 ล้านบาทต่อไร่ รวมถึงที่ดินเดิม จังหวัดเชียงใหม่อีก 170 ไร่ " สวิจักร์ โลจายะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเวอร์แลนด์ กล่าว

เขากล่าวว่า ที่ดินเปล่าที่รอการพัฒนาดังกล่าว จะสามารถรองรับธุรกิจในอนาคตได้ถึง 5 ปี

หลังจากกลุ่มทุนใหม่ได้มีการปรับโครงสร้างหนี้และล้างขาดทุนสะสมจำนวน 1.4 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่ปี 2547 จนล่าสุดเมื่อไตรมาส 3/2548 บริษัทมีกำไรสะสมแล้ว 183.45 ล้านบาท

โดยโครงการในมือปัจจุบันมีทั้งสิ้น 5 โครงการมูลค่ารวม 3,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอการขายในปี 2549 ประกอบด้วยโครงการบ้านเดี่ยว "มายโฮม ประชาชื่น" มูลค่าโครงการ 220 ล้านบาท โครงการวิลล่า บางนา เป็นอาคารสำนักงาน มูลค่า 436 ล้านบาท และห้องชุดพักอาศัย มูลค่า 383 ล้านบาท, โครงการทาวน์เฮ้าส์ "มายโฮม เทพารักษ์" มูลค่า 552 ล้านบาท โครงการบ้านเดี่ยว "มายโฮม สุวินทวงศ์" มูลค่า 800 ล้านบาท และโครงการมายโฮม เชียงใหม่ มูลค่าโครงการ 450 ล้านบาท

"แนวทางการดำเนินธุรกิจของเราในอนาคตจะเน้นการสร้างบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ระดับราคา 3-4 ล้านบาท เนื่องจากมองว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการที่อยู่อาศัยมากกว่ากลุ่มอื่น ขณะที่จุดเด่นเรามีที่ดินจำนวนมากและมีต้นทุนต่ำในทำเลที่ดีติดถนนใหญ่ทั้งหมด และอยู่ใกล้กับสนามบินสุวรรณภูมิ"

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปี 2549 ประมาณการว่า จะมีรายได้เติบโตจากปี 2548 อย่างก้าวกระโดด เนื่องจากจะรับรู้รายได้จากการปิดขายโครงการมายโฮม ประชาชื่น, โครงการมายวิลล่า บางนา และโครงการมายโฮม เทพารักษ์ ส่วนผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2548 มีรายได้รวม 460 ล้านบาท (รวมปรับโครงสร้างหนี้ 108 ล้านบาท) กำไรสุทธิ 156 ล้านบาท และมีส่วนผู้ถือหุ้น 480 ล้านบาท

สวิจักร์ วางเป้าหมายการดำเนินธุรกิจว่าในอนาคตขอขึ้นเป็นผู้นำในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปีข้างหน้าในแง่ของการทำกำไรที่ดี และเติบโต โดยทำให้แบรนด์ของบริษัทเป็นที่รู้จักของผู้ซื้อ

"ผู้นำของเราไม่ได้หมายถึงต้องการให้บริษัทมีขนาดใหญ่และเป็นเบอร์ 1 เช่น แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ แต่ต้องการทำธุรกิจแล้วมีกำไรที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องมีรายได้มากที่สุดในอุตสาหกรรม"

สำหรับการเข้าฟื้นฟูกิจการของเอเวอร์แลนด์ และถือหุ้นใหญ่นั้น สวิจักร์ มั่นใจว่า กลุ่มทุนใหม่จะสามารถคืนทุนจากการเข้ามาลงทุนในบริษัทนี้ในระยะเวลาไม่นานนัก

"การที่เราเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพราะมั่นใจในแนวโน้มเศรษฐกิจจะดี แม้เงินเฟ้อจะทำให้ราคาบ้านแพง แต่ก็จะผลักดันในอุตสาหกรรมเติบโตไปด้วย เพราะจะทำให้ราคาที่ดินสูงขึ้นไปอีก กำไรของบริษัทก็จะดีตามไปด้วย

เราจึงเชื่อว่าการคืนทุนของกลุ่มจะใช้เวลาไม่นานประมาณ 1-2 ปี เนื่องจากมีสินทรัพย์เป็นที่ดิน ที่ราคามีโอกาสปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งการเข้าเทคโอเวอร์ เอเวอร์แลนด์บริษัทได้ตีทรัพย์ชำระหนี้ไปแล้ว และขอซื้อทรัพย์นั้นคืนในราคาส่วนลด 30% ทำให้บริษัทได้เปรียบ และมีต้นทุนที่ต่ำกว่าบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกัน และมีกำไรขั้นต้นที่ดีกว่า"

สวิจักร์ กล่าวย้อนหลังถึงการเข้ามาของกลุ่มวรวรรณในเอเวอร์แลนด์ว่า เดิมไม่ได้ตั้งใจเข้ามาเพื่อเทคโอเวอร์โดยตรง แต่เริ่มแรกเข้ามาในฐานะเป็นบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินและกฎหมาย ในนาม "บริษัท มีชัย ไทยแลนด์" ให้กับกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม "สดาวุธ เตชะอุบล" ซึ่งขณะนั้นกำลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจและมีหนี้สินจำนวนมาก

แต่หลังจากได้ศึกษาบริษัท และเห็นแนวโน้มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่จะสามารถพลิกฟื้นได้ดีและเร็วกว่าธุรกิจอื่น

"ที่เราสนใจในบริษัทนี้ หลังจากเห็นว่าน่าจะทำมูลค่าที่ดีให้แก่ผู้ลงทุนและสินทรัพย์ที่ดินที่มีอยู่สามารถพัฒนาต่อได้อีกมาก แม้ว่าช่วงแรกจะเหนื่อยมากเพราะมีผลขาดทุนสะสมถึง 1.4 หมื่นล้านบาท"

ภายหลังจากที่บริษัทออกจากแผนฟื้นฟูกิจการ และตั้งกรรมการชุดใหม่อาจจะมีการประชุมคณะกรรมการของบริษัท เพื่อหารือจ่ายเงินปันผลงวดปี 2548 เลย โดยมีนโยบายจ่ายเงินปันผล 50% ของกำไรสุทธิ

ถ้าย้อนดูข้อมูลหุ้น ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) ของตระกูลโลจายะ มาเปรียบเทียบกับเส้นทางการกลับมาของหุ้น เอเวอร์แลนด์ (EVER) นักลงทุนอาจต้อง "เขย่าขวด..ก่อนดื่ม" เพราะนี่คือ "เหล้าเก่า" ใน "ขวดใหม่" เหมือนกันไม่มีผิด



Create Date : 20 เมษายน 2549
Last Update : 20 เมษายน 2549 19:11:47 น. 0 comments
Counter : 3848 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com