แหล่งรวบรววมวิธีเล่นหุ้น
 
Value Way : จำกัดความเสี่ยง (2)

Value Way : จำกัดความเสี่ยง (2)

วิบูลย์ พึงประเสริฐ
บทความที่แล้ว ได้กล่าวถึงการ ”จำกัดความเสี่ยง” จากการลงทุนในตลาดหุ้น ด้วยการลงทุนในกองทุนดัชนี (Index Fund) ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นให้เป็นไปตามดัชนีตลาดหุ้น


แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราคงไม่สามารถทำให้ความเสี่ยงที่มีนั้นหมดไปได้ ดังคำกล่าวที่ว่า “ความเสี่ยงจากการลงทุนนั้นไม่สามารถ "กำจัด” ได้ แต่เราสามารถ "จำกัด” ได้” อาทิตย์นี้จะกล่าวถึงวิธีการในการ ”จำกัดความเสี่ยง” จากการลงทุนอีกหนึ่งวิธี

ในทางทฤษฎีการลงทุน มักกล่าวถึง "ความเสี่ยง" ว่าเป็นเรื่องของ "ราคาหุ้น” ที่มีราคาเปลี่ยนแปลงไปมาอยู่ตลอดเวลาของการซื้อขาย ถ้าหุ้นนั้นมีนักลงทุนขายออกมามาก ราคาหุ้นจะลดลง ในทางกลับกันถ้าหุ้นนั้นมีคนซื้อมาก ราคาหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้น การเข้าซื้อหุ้นของนักลงทุนในตลาดหุ้นมักเรียกกันว่า “แรงซื้อ” ส่วนการขายเรียกกันว่า “แรงขาย”

ในเวลาปกติ ถ้า ”แรงซื้อ” มากกว่า ”แรงขาย” หุ้นจะขึ้น แต่ถ้า ”แรงขาย” มากกว่า ”แรงซื้อ” หุ้นนั้นจะมีราคาลดลง นักเก็งกำไรในตลาดหุ้นได้ใช้หลักการของ ”แรงซื้อ” และ “แรงขาย” ในการ ”จำกัดความเสี่ยง” ในการลงทุน

นักเก็งกำไรมักมอง ”เทรนด์” หรือ ”แนวโน้ม” ของตลาดหุ้นเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเมื่อใดที่แนวโน้มหุ้นเป็น ”ขาขึ้น” เนื่องจากมี ”แรงซื้อ” เข้ามามาก นักเก็งกำไรจะทำการ ”ซื้อ” หุ้น และถือไว้ตราบที่แนวโน้มตลาดยังเป็นขาขึ้นอยู่ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ตลาดเริ่มมี ”แนวโน้ม” เป็น ”ขาลง” แล้ว นักเก็งกำไรจะ ”ขาย” หุ้นที่ถืออยู่และออกจากตลาดไปชั่วคราว

กลยุทธ์ในการลงทุนเช่นนี้ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องง่ายๆ แต่ในทางปฏิบัติแล้วถือว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ ”ยาก” พอสมควร โดยเฉพาะนักลงทุนมือใหม่ เพราะการมองแนวโน้มของหุ้นนั้น จำเป็นต้องใช้ประสบการณ์อย่างมาก บางครั้งนักลงทุนคิดว่าแนวโน้มหุ้นเริ่มเป็น ”ขาลง” แล้วจึง ”ขาย” หุ้นออกไป แต่เมื่อขายไปแล้ว ราคาหุ้นกลับยังปรับตัวสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ในตลาดหุ้นเรียกอาการนี้ว่าเป็นการ ”ขายหมู” ขายหุ้นทีไร หุ้นกลับวิ่งทุกที

เมื่อเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น นักลงทุนส่วนใหญ่มักคิดว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวตลาดคงปรับตัวลดลงและราคาหุ้นคงลดลงกลับมาที่เดิมใหม่ แต่ในความเป็นจริง บางครั้ง ราคาหุ้นไม่ลดลงอย่างที่นักลงทุนคิด แถมปรับตัวขึ้นไปอีกเรื่อยๆ จนเมื่อถึงระยะหนึ่ง นักลงทุนกลัวว่าตนเองจะ ”ตกรถไฟ” จึงกลับไปซื้อหุ้นอีกครั้ง แต่ไม่ทันไร ราคาหุ้นกลับลดลง จนทำให้ ”ขาดทุน” ได้

เรื่องเช่นนี้ไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่คู่กับตลาดหุ้นทั่วโลกมาโดยตลอด มีเรื่องเล่าว่า ในปี ค.ศ.1720 เซอร์ไอแซค นิวตัน นักฟิสิกส์ที่ฉลาดที่สุดคนหนึ่งของโลกในยุคนั้น ถือหุ้นของบริษัทเซาท์ซี (South Sea Company) ซึ่งเป็นหุ้นที่ร้อนแรงที่สุดในอังกฤษ นิวตันได้ตัดสินใจขายหุ้นบริษัทนี้ออกไปโดยได้กำไรถึง 100 เปอร์เซ็นต์ รวมเป็นเงิน 7,000 ปอนด์

อย่างไรก็ตาม ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา เมื่อนิวตันถูกครอบงำโดยความกระตือรือร้นแบบสุดขั้วของตลาดหุ้น เขากลับเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทเซาท์ซีอีกครั้ง ในระดับราคาที่สูงกว่าเดิม ซึ่งเป็นผลให้เขาต้องขาดทุนมากกว่า 20,000 ปอนด์ (คิดเป็นเงินกว่า 3 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน) ตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ เขาจะห้ามไม่ให้ใครพูดว่า “เซาท์ซี” ให้เขาได้ยิน

จากตัวอย่างดังกล่าว จะเห็นว่าการขาดทุนจากตลาดหุ้นถือว่าเป็นเรื่อง ”ปกติ” ของนักลงทุน ดังนั้นการมีประสบการณ์ในการมอง "แนวโน้ม” หุ้นให้ถูกต้อง ถือว่าเป็นการ "จำกัดความเสี่ยง” ในการลงทุนวิธีหนึ่งโดยเฉพาะนักเก็งกำไร



Create Date : 12 กรกฎาคม 2550
Last Update : 12 กรกฎาคม 2550 19:53:15 น. 0 comments
Counter : 521 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

hoon_vi
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




เป็นนักลงทุนมือใหม่ กำลังหาวิธีการเหมาะสำหรับตัวเอง ชอบการถ่ายรูป ท่องเที่ยว เขียนบทความ
[Add hoon_vi's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com