เวหนวิษุวัต





เวหนวิษุวัต 
สนพ.เวลา แปลโดย เรืองเดช จันทรคีรี 

เล่มนี้เป็นการรวบรวมผลงานนวนิยายขนาดสั้นในแนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่เคยแปลไว้ในนามปากกา "เวหน วิษุวัต" หรือก็คือนามปากกาของคุณเรืองเดช จันทรคีรี เจ้าสำนักสนพ.รหัสคดีนั่นเอง 

ในเล่มประกอบด้วย 3 นวนิยายขนาดสั้น 

.............................................................................

1.วัฏจักรเวลา (By His Bootstraps) 
โดย Robert A.Heinlein (1941)

"ไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน"
"คุณให้หนูเป็นอาหารแก่แมว แล้วถลกหนังแมวเอาตับไตไส้พุงให้หนูกิน - หนูซึ่งกลายมาเป็นอาหารเลี้ยงแมวอีกครั้ง นี่คือการเลี้ยงสัตว์ที่มีกระบวนการต่อเนื่องไปจนนิรันดร"
"ถ้าพระเจ้าสร้างโลก แล้วใครสร้างพระเจ้า"
"ใครเป็นคนเขียนสมุดบันทึก ใครเป็นคนเริ่มต้นวัฏจักร" 

บ๊อบ วิลสัน กำลังนั่งทำวิทยานิพนธ์อยู่ในห้องแห่งหนึ่ง จู่ๆก็มีชายคนหนึ่งที่เรียกตัวเองว่า "โจ" มาอยู่ในห้องพร้อมกับประตูเวลาลอยอยู่กลางห้อง ซึ่งมาชักชวนให้เขาไปช่วยทำภารกิจ สักพักหนึ่งก็มีชายอีกคน รูปร่างหน้าตาคล้ายกับบ๊อบ โผล่ออกมาจากประตูเวลาอีกคน แต่มาห้ามไม่ให้เขาเข้าประตูเวลาไปตามคำชักชวน ท้ายที่สุดทั้ง 3 คนก็ชุลมุนเป็นพัลวันกัน จนบ๊อบหลุดเข้าไปประตูเวลาจนได้ วัฏจักรแห่งเวลาก็เริมต้นขึ้น...

เรื่องนี้ถึอได้ว่าเป็นเรื่องคลาสสิก เรียกได้ว่าเป็นต้นแบบของแนว Time Paradox ความขัดแย้งของเวลา นำเสนอแนวคิดนี้ผ่านเรื่องสั้นขนาดยาวได้อย่างชัดเจนและ เข้าใจง่าย (หรือเปล่าน้อ? ผมอ่านเป็นครั้งที่ 2 แล้ว) ... ตอนอ่านจบเล่มนี้ ก่อนจะเขียนรีวิว ได้ไปลองอ่านเรื่องสั้น "ไอ้พวกผีดิบ" All You Zombies ของ Heinlein เช่นกัน จากเว็บฟุ้ง Bookvirus (ซึ่งแปลได้ครบถ้วนกว่า "งูกินหาง" ที่อยู่ในเล่มห้องอนาคต) ที่ถือว่าอยู่ในแนวเดียวกันเพื่อเปรียบเทียบกัน เรื่อง "วัฏจักรเวลา" เข้าใจได้ง่ายกว่าครับ (หนัง Predestination ที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้น All You Zombies ก็ไม่ควรพลาด ถ้าสนใจแนวนี้ให้ภาพชัดเจนกว่าเรื่องสั้น) 

กลับมาที่ตัวเนื้อเรื่องกับคำถามที่เรื่องสั้นต้องการจะสื่อ คือ ถ้าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ ตัวตนไหนล่ะ คือ ตัวตนที่แท้จริงของเราล่ะ พร้อมกับอีกหนึ่งคำถามว่า เรามีเจตจำนงอิสระ (Free Will) อย่างแท้จริงในการเลือกตัดสินใจที่จะทำอะไรต่างๆหรือไม่ ขนาดในจิตสำนึกของเราเตือนตัวเราว่า อย่าเลือกแบบนั้น แต่สุดท้ายเราก็ดันตัดสินใจในแบบนั้นจนได้

ช่วงจบของเรื่องสั้น เมื่อเดินทางข้ามเวลาไปไกลโพ้น ให้บรรยากาศของเรื่องคล้ายๆกับเรื่อง Time Machine ของ H.G.Wells และ Heinlein ให้มุมมองที่ว่า โลกแบบที่สุขสบายเกินไปจะทำให้คนเราขาดแรงจูงใจในการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ 

"ความเป็นเหตุเป็นผลในที่ว่างซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นและไม่ถูกจำกัด ด้วยความเข้าใจเกี่ยวกับช่วงเวลาของคนเรา" 

8.5/10
..............................................................................

2.ปราสาทแห่งสุดท้าย (The Last Castle) 
โดย Jack Vance (1966)  ชนะรางวัล Hugo และ Nebula

"ทีนี้ใครกันแน่ยัดเยียดความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ใส่ให้พวกมัน"
..."ในเมื่อไม่มีใครรู้แน่ การยัดเยียดอย่างหนึ่งก็ ไม่ได้ไร้สาระมากไปกว่าอีกอย่างหนึ่ง"

พิภพโลกที่ถูกทิ้งร้างไปเกือบ 3 พันปี หลังจากสงครามระหว่างดวงดาวทั้งหก ได้กลับมาฟื้นฟูสภาพขึ้นใหม่ภายใต้การปกครองของปราสาททั้ง 9 แห่ง โดยพวกที่เรียกว่า สุภาพชน 

หลังจากผ่านการฟื้นฟูมาแล้วกว่า 700 ปี พวกเขาเป็นพวกที่เรียกได้ว่าเป็นชนชั้นนำ มีอารยธรรม เป็นต้นธารในการก่อกำเนิดทฤษฎีต่างๆ เป็นนักคิด มีข้าทาสอย่าง
เผ่าพันธุ์ "เม็ค" ที่มีลักษณะคล้ายแมลงสาบผสมลิงคล้ายคนซึ่งพวกเขานำมาจาก
ดาวอีตามิน 9 และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมรวมถึงการกินของมัน ใช้ให้เป็นนักปฏิบัติ ลงมือลงแรงแทนพวกเขา โดยมีพวกชาวนาและพวกเร่ร่อนที่เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมถูกเรียกมาใช้แรงงานบ้างเป็นครั้งคราว ขณะที่พวกผู้ชำระความผิด (คล้ายๆนักบวช) พยายามที่จะไม่ยุ่งเกี่ยวกับกลุ่มใดๆทั้งสิ้น 

เมื่อเผ่าพันธุ์เม็คเกิดการก่อกบฏขึ้น ปราสาททั้งหลายก็สั่นสะเทือนล่มสลาย เหลือเพียงปราสาท "แฮกเกดอร์น" พวกสุภาพชนจะรับมือกับภาวะวิกฤตนี้เช่นไร

Vance ใช้ธีมการถูกกดขี่โดยชนชั้นนำ การเป็นทาส ไม่มีสิทธิ์มีเสียง ซึ่งเป็นธีมที่ไม่ได้ใหม่ แต่ที่มันแปลกที่การสร้างบรรยากาศของเรื่องที่น่าสนใจ ชวนอ่านและอ่านสนุก ถึงแม้ตัวละครจะเยอะ และเรียกชื่อได้ยากไม่คุ้นปาก แต่ผ่านไปสักพักเราก็จะชิน อารมณ์เหมือนเวลาอ่านนิยายแฟนตาซี

และที่สำคัญออกจะจิกกัดสังคม แม้กระทั่งในยุคปัจจุบันนี้ก็ตาม ที่พวกเรามักจะยกย่องนักคิด ผู้บริหาร ผู้มีอำนาจในการตั้งกฎกันซะเป็นส่วนใหญ่ แต่เรามักจะลืมแรงงานที่มีฝีมือ ลืมคนท้องถิ่น ผู้ตั้งรกรากมาแต่ดั้งเดิมอยู่ก่อนแล้ว กลายเป็นพลเมืองที่ถูกลืมเลือนไป

ถือว่าเป็นเรื่องที่ยอดเยี่ยม สมกับที่กวาดไปทั้ง 2 รางวัล อ่านจบแล้วอยากอ่านเรื่องยาวๆของ Jack Vance เลย...เสียดายไม่มีแปลซักเรื่อง

"แต่ปราสาทคือชีวิตของพวกเรา!"
..."ที่สำคัญ...เราจะอยู่กันอย่างไรโดย ปราศจากปราสาท อยู่อย่างพวกสัตว์ป่า อย่างพวกเร่ร่อนกระนั้นหรือ"

..."เราจะอยู่อย่างมีชีวิต"...

9/10
..............................................................................

3.เหนือพระเจ้า (Behold The Man) 
โดย Michael Moorcock (1966) ชนะรางวัล Nebula

"เรากำลังทำลายความเชื่อปรัมปราที่ทำให้โลกหมุน"
..."แล้วเราจะหาอะไรมาทดแทนสิ่งเหล่านี้"...
"คุณไม่เคยมองอะไรอย่างมีเหตุผล - รวมทั้งมองตัวเองด้วย" 
"เรื่องอะไรล่ะ คุณคิดว่าความเชื่อปรัมปรา ไม่สำคัญละสิ"
"ความจริงที่สร้างมันขึ้นมาต่างหากสำคัญ"
"จุงรู้ว่าความเชื่อปรัมปราสามารถสร้างความจริงขึ้นมาได้เช่นกัน" 

เมื่อยานยัอนเวลาของคาร์ล กลอเกอร์ นักจิตวิเคราะห์มือสมัครเล่น ผู้ที่เกิดในยุค 1940s เกิดเสียหาย ระหว่างที่เขาย้อนเวลามายังยุค ค.ศ.28  มาเป็นประจักษ์พยานด้วยสายตาของตนเอง เพราะอีกเพียง 1 ปีเท่านั้น เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์กำลังจะเกิดขึ้น นั่นคือ จีซัสจะถูกตรึงไม้กางเขน เขาจะมีส่วนร่วมกับ เหตุการณ์นี้ในแบบที่ไม่มีใครคาดคิดแม้กระทั่งตัวเขาเอง

Moorcock ใช้บางส่วนของคัมภีร์ไบเบิ้ล เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องได้อย่างแนบเนียนกลมกลืนไปกับเนื้อเรื่องเป็นอย่างดี พร้อมทั้งให้ตัวเอกสวมยูนิฟอร์มความคิดแบบนักจิตวิเคราะห์ชื่อดังอย่าง คาร์ล กุสตาฟ จุง (ถ้าอ่านและค้นข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวความคิดของจุงที่มีต่อศาสนาน่าจะทำให้กระจ่างชัดมากขึ้น สนุกขึ้น สมบูรณ์ขึ้น แต่เพียงเท่าที่มีในเนื้อเรื่องก็อ่านได้ไม่สะดุดละ ไปค้น wikipedia  มาคร่าวๆ...จุงมองว่าจิตใจของมนุษย์ "เลื่อมใสในศาสนาโดยธรรมชาติ')

ประเด็นสำคัญของเรื่องนั้น ตั้งคำถามระหว่าง ความจริงกับความเชื่อ วิทยาศาสตร์กับศาสนา บางทีสมมติฐานสูงสุดของแต่ละส่วนต่างหากที่ทำให้คนเราต่างคนต่างปักใจเชื่อในส่วนของเรา จนบางทีอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งในระดับบุคคลและสังคมได้ 

ถือว่าเป็นเรื่องที่เล่นกับประเด็นศาสนาที่อาจจะหมิ่นเหม่อยู่บ้าง มีความเป็นไซไฟแบบเจือจาง เน้นปรัชญามากกว่า แต่เขียนได้เยี่ยมทีเดียว 

ส่วนปี 1945 ทำไมพระเจ้าถึงตายแล้ว ที่ปรากฎในคำโปรยบนปกหลังของหนังสือ ไม่มีเฉลยในเรื่องหรอกครับและไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญอะไร Moorcock น่าจะสื่อถึงปีที่ระเบิดนิวเคลียร์ลงที่ญี่ปุ่นทั้ง 2 ลูกนั่นแหละครับ

"ความจริงก็ยังคงมีอยู่ว่าศาสนาไม่อาจยอมรับท่าทีโดยพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และแน่นอนว่า วิทยาศาสตร์จะโจมตีหลักการพื้นฐานของศาสนา พื้นที่เดียวที่ไม่มีความแตกต่างและไม่จำเป็นต้องทำสงครามกันก็คือ ในสมมติฐานขั้นสูงสุด คนเราอาจจะสันนิษฐานหรือไม่ก็ได้ว่า มีสิ่งเหนือธรรมชาติที่เรียกว่าพระเจ้า แต่ทันทีที่ใครคนหนึ่งตั้งต้นหาข้ออ้างสนับสนุนสมมติฐานของตน การโต้แย้งย่อมเกิดขึ้น" 

9/10
..............................................................................

สรุป เป็นหนังสือที่รวบรวมเรื่องสั้นขนาดยาวที่คุ้มค่ามากทีเดียวทั้ง 3 เรื่อง มีประเด็นที่จะสื่ออย่างชัดเจน มีการเล่าเรื่องที่ราบลื่น อ่านได้สนุก อ่านไม่ยากเท่าไหร่ ที่สำคัญก่อนที่จะมีการจัดพิมพ์ใหม่ มันค่อนข้างหายากมากทีเดียว ผมเคยเจอวัฏจักรเวลา ไม่น่าจะเกิน 3 ครั้ง (แต่หลังพิมพ์แล้วเจอบ่อยขึ้น) ปราสาทแห่งสุดท้าย ไม่เกิน 2 ครั้ง ส่วนเหนือพระเจ้า ไม่เคยเจอแม้แต่ซักครั้งเดียวครับ แค่ในแง่ประหยัดเวลาในการที่เราจะต้องไปเสาะหาหนังสือเก่าๆ ก็คุ้มค่าแล้วล่ะ สมกับชื่อ สนพ.เวลา จริงๆ ยิ่งถ้าใครสนใจแนวนี้เป็นอีกเล่มที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงครับและทั้งยังได้สนับสนุน สนพ.ที่เพิ่งเริ่มตั้งไข่ แทงราก รอวันและเวลาผลิใบ ให้นิยายวิทยาศาสตร์เบ่งบานซักวันหนึ่งในบรรณพิภพนี้ซักทีหนึ่ง ...ถึงแม้จะเป็นต้นเดียวในป่าใหญ่ก็ตาม

ป.ล.อยากรู้จริงๆว่าชื่อตัวละคร กลายส์ มธุตฤณเขต ชื่อภาษาอังกฤษเป็นแบบนี้เลยหรือเปล่าน้อ ชื่อแปลกดีแฮะ กับอีกคำ "สโธรส" แปลว่าอะไรน้อ...จากเรื่องของ Jack Vance

อ้อ...อีกอย่าง คุณเรืองเดช น่าจะแปลนิยายวิทยาศาสตร์อีกนะครับ

คะแนน 8.6/10



Create Date : 04 เมษายน 2560
Last Update : 4 เมษายน 2560 18:02:31 น.
Counter : 1935 Pageviews.

2 comments

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณProphet_Doll

  
น่าอ่านทุกเรื่องเลยค่ะ

ถึงกับต้องเซิร์สหาชื่อ สนพ. ไม่รุ้จะไปออกบูธงานหนังสือป่าวน้อ
โดย: Prophet_Doll วันที่: 5 เมษายน 2560 เวลา:16:44:00 น.
  
ใช่ครับ อ่านแล้วอ่านซ้ำได้อีกเลยครับ

ถ้าสนใจมีขายในงานครับที่ บูธสโมสรหนังสือดี G14 แพลนารี่ฮอลล์ กับ สมมติ R52 โซน C2 ครับ
โดย: leehua (สมาชิกหมายเลข 755059 ) วันที่: 6 เมษายน 2560 เวลา:13:56:15 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 755059
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]



New Comments
เมษายน 2560

 
 
 
 
 
 
1
2
3
5
6
7
8
9
10
12
13
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
4 เมษายน 2560
All Blog