กาแลกซี่ 8 รวมเรื่องสั้นนิยายวิทยาศาสตร์




กาแลกซี่ 8 โดย หลากหลายนักเขียน (1983)
แปลโดย หลากหลายผู้แปล
ชุมนุมวิชาการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เล่มนี้เป็นรวมรื่องสั้นนิยายวิทยาศาสตร์ ซึ่งในชุดกาแลกซี่นี้มีอยู่ 9 เล่ม เล่มนี้เป็นเล่มที่ 8 ซึ่งเรื่องเด่นๆดีๆเพียบ

1.สู่นิรันดร์กาล Flight To Forever (1950) 
โดย Poul Anderson แปลโดย อธิพันธ์ ณ นคร

ปี 1973 มาร์ติน ซอนเดอร์สและแซม ฮูล ต้องเดินทางไปกับยานเวลา เพื่อค้นหาสาเหตุ เพราะอะไรจึงไม่มีใครย้อนกลับมาจากการเดินทางไปอีก 100 ปีข้างหน้าอีกเลย

เมื่อพวกเขาเดินทางข้ามเวลาไป 100 ปี กลับยิ่งไม่พบสาเหตุ พอจะย้อนเวลากลับไปก็พบว่า พลังงานที่มีไม่เพียงพอที่จะย้อนเวลากลับมายังปีที่เขาจากมา ยิ่งย้อนกลับ ยิ่งต้องใช้พลังงานมหาศาลจนถึงระดับอนันต์ จึงต้องบังคับยานไปข้างหน้า เผื่อคนในอนาคตอาจจะมีวิธีหรือพบสาเหตุของมันก็ได้ 

พวกเขาผ่านเวลาหลายศตวรรษ  พานพบกับอารยธรรมที่รุ่งเรือง ล่มสลาย  ผ่านสงคราม พบเจอกับเอเลี่ยน เป็นวัฏจักรวนเป็นวงจร จนท้ายที่สุดเวลาก็ล่วงเลยผ่านไป จากร้อยสู่พันข้ามผ่านหมื่นปีจนล่วงเข้าพันล้านปี...

พวกเขาต้องเดินทางไปอีกไกลแค่ไหน จะได้ย้อนกลับมายังวันเวลาที่พวกเขาจากมา จะได้มีวันย้อนกลับมายังบ้านอันคุ้นเคยและพบเจอคนรักที่รอเขาอยู่หรือเปล่า

"ทุกคนทราบดีว่า สิ่งต่างๆเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ยังมีคนดีคนชั่วในอนาคตอยู่ดี ที่ว่า 'และพวกเขาก็อยู่กันอย่างมีความสุขตลอดไป' นั่นเป็นแค่นิทานหลอกเด็กโดยแท้ทีเดียว สรรพสิ่งได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่องและไม่รู้จักจบสิ้น"

ถึงแม้จะ Poul Anderson พ่อตาของ Greg Bear จะเขียนเรื่องนี้ไว้นานเกินครึ่งศตวรรษแล้ว ประเด็นที่สอดแทรกเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นการหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านจากยุครุ่งเรืองของแต่ละอารยธรรมสู่การล่มสลายวนเวียนกันไป เป็นเช่นนี้ตลอด ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไปอย่างยาวนาน สิ่งเหล่านี้ก็เปรียบดังจุดเล็กๆให้เราเพียงเป็นผู้สังเกต ไม่ทุกข์ร้อนไปกับมันและการทำสงครามก็ไม่เคยให้อะไรแก่มวลมนุษย์ โดยผ่านการเดินทางข้ามเวลา ผ่านสายตาของมาร์ติน ซอนเดอร์ส ก็ยังคงไม่ล้าสมัย 

และเฉลยตอนจบได้เป็นอย่างดี ว่าเขากลับมายังปีที่เคยอยู่ได้อย่างไร มีเอื่อยๆหน่อย แค่ช่วงที่รบกันระหว่างดวงดาว

คำโปรยที่ใช้ก่อนเข้าเรื่องของทีมผู้แปล โดยใช้ผลงานของ ส.ศิวรักษ์ ก็ทำให้เห็นภาพโดยรวมของเรื่องได้เป็นอย่างดี

"ขอบเขตมิได้จำกัดอยู่ตายตัว เวลามิได้คงที่อยู่นิ่ง ไม่มีอะไรคงทนถาวร และไม่มีอะไรเป็นจุดสุดยอด จะยึดเอาว่านี่จุดเริ่ม นี่จุดสุดท้าย หาได้ไม่ คนฉลาดเห็นใกล้และไกล ว่าดุจเดียวกัน มิมิได้ถูกของเล็ก หรือยกย่องของใหญ่ เพราะมาตรฐานการวัดแตกต่างอยู่เสมอ จะเปรียบเทียบได้อย่างไร"

อ่านเรื่องสั้นของเขามา 2 เรื่องแล้ว ชอบมากทั้งคู่ (อีกเรื่อง คือ Call Me Joe)  เสียดายไม่มีแปลเรื่องยาวๆเด่นๆของเขาไว้เลย อยากอ่านทั้ง Tau Zero และ 
The Boat Of Million Years ที่มีธีมเรื่องคล้ายๆกันจังแฮะ

9/10

2.คืนชีพ Lazarus Rising (1982)
โดย Gregory Benford แปลโดย วศิน เพิ่มทรัพย์

เมื่อเขาคืนสติฟื้นขึ้นมาในที่ลึกลับ ซึ่งเขาจำอะไรแทบไม่ค่อยได้ เขาพยายามขยับตัว เพื่อหลีกหนีให้พ้นจากบรรยากาศที่เขารู้สึกว่ามันน่ากลัว

เขาคือ คาร์ลอส ฟาเรนเดซ ชายวัย 87 ปี

ในยุคนี้ที่การมีอายุยืนยาวนั้น มีราคาของมัน รัฐจะทดสอบสภาวะการทำงานของร่างกายและจิตใจของคุณ 

ถ้าคุณผ่านการทดสอบก็จะได้รับการดูแลรักษาร่างกายต่อไปอีก 3 ปี แต่ถ้าคุณไม่ผ่าน มีเพียง 2 ทางเลือก นั่นคือ การตายโดยสมัครใจ หรือการถูกแช่แข็งรอวันที่วิทยาการในอนาคตจะมาซ่อมแซมร่างกายของคุณได้ ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่...
คุณอาจจะถูกแช่แข็งอย่างถาวร ไม่มีการปลุกให้ฟื้น จนเสมือนตายไปแล้วก็ได้

นี่คือชะตาของเขา เขาจึงพยายามดิ้นรนหนีให้พ้นจากศูนย์การแพทย์แห่งนี้

ถือว่าเป็นผลงานเขียนเรื่องแรกที่อ่านงานของ 1 ใน 3 B's ร่วมกับ David Brin, 
Greg Bear ซึ่งสานต่อร่วมกันเขียนนิยายชุด Foundation ต่อจาก Isaac Asimov

เรื่องสั้น เรื่องนี้ถ้าไม่บอกเงื่อนไขดังกล่าว ก็น่าจะเป็นเรื่องสั้นระทึกขวัญ ลึกลับได้ แต่พอกำหนดกรอบ สร้างโลก มีที่มาที่ไปและเหตุผลรองรับ ก็จัดเข้าหมวดนิยายวิทยาศาสตร์ได้

Benford เอาคนอ่านอยู่หมัด ยอดเยี่ยมทีเดียว แค่ฉากคนไข้อยู่บนเตียง แค่นี้ก็นำมาแต่งเป็นเรื่องสั้นได้  และที่สำคัญยังทำให้เราลุ้นทีละช็อตๆด้วยว่าเขาจะหนีรอดไหม ผลทดสอบคืออะไรนะ แถมตอนจบยังมีเซอร์ไพร์ส หักมุมเล็กๆด้วย

8/10

3.เจน Feminine Intuition (1969)
โดย Isaac Asimov แปลโดย วัชรกฤษณ์ นพคุณ

คลินตัน แมนดาเรียน ขึ้นรับตำแหน่ง หัวหน้านักจิตวิทยาหุ่นยนต์แทนซูซาน แคลวิน ที่เกษียณไป เขาริเริ่มโครงการเจเอ็น สร้างหุ่นยนต์ชนิดใหม่  หุ่นยนต์ที่ทำนายพฤติกรรมไม่ได้และมีความคิดสร้างสรรค์ ์หรือที่พวกเขาเรียกว่า "หุ่นยนต์ที่มีลางสังหรณ์" ซึ่งจะนำมาใช้ในวิเคราะห์ความเป็นไปได้และหาความสัมพันธ์ต่างๆของดาวเคราะห์ที่ดูจะเหมาะสมและเอื้ออำนวยให้มนุษย์สามารถไปอยู่อาศัยได้ อันจะนำไปสู่การประหยัดเงินได้อย่างมหาศาลมากกว่าการที่จะโจนด้วยยานความเร็วสูงอย่าง
สะเปะสะปะ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายมากมายกว่ากันถึง 100 เท่าและสิ้นเปลืองพลังงานอย่างสูง ทั้งยังไม่ตอบโจทย์ทางวิทยาศาสตร์และตอบคำถามถึงความคุ้มค่าแก่ประชาชนไม่ได้

ท่ามกลางความไม่ไว้ใจต่อหุ่นยนต์ของประชาชน เขาและปีเตอร์ โบเกิร์ต ผอ.ฝ่ายค้นคว้าวิจัย จึงจำเป็นต้องสร้างหุ่นยนต์เพศหญิง นามว่า "เจน" เพื่อลดกระแสต่อต้าน เนื่องจากสังคมยังคิดว่า ผู้หญิงมีสติปัญญาที่ด้อยกว่า โครงการดำเนินลุล่วงจนประสบความสำเร็จ หลังจากการทดลอง ลองผิดลองถูก จนกระทั่งออกมาเป็น 
"หุ่นยนต์ เจน-5" จนได้

เขาจึงนำเจน-5 เดินทางไปยัง แฟลกสตัฟฟ์ ศูนย์กลางความรู้ด้านดาวเคราะห์วิทยาของโลก เพื่อทดสอบและปฎิบัติงานจริง

เมื่อผ่านไป10 วัน เจน-5 ก็ให้คำตอบแก่เขา นั่นคือ ชื่อดวงดาว 3 ดวง ที่มีความเป็นไปได้ แต่ในระหว่างเดินทางกลับของพวกเขา เครื่องบินที่ใช้เดินทางก็เกิดระเบิดแหลกเป็นจุณ 

ซูซาน แคลวินถูกดึงมาช่วยสอบสวนเบาะแส ถึงขัอมูลความเป็นไปได้ของดวงดาวที่ เจน-5 ทิ้งไว้ ทั้งๆที่เจ้าหน้าที่แฟลกสตัฟฟ์ทุกคน ยืนยันว่าไม่มีเคยได้ยินข้อมูลเช่นนั้น หรือแมนดาเรียนจะกุข้อมูลขึ้นมาเองและถ้ามันเป็นจริงตามคำยืนยันของแมนดาเรียน ใครกันล่ะที่ได้มันไป...

Asimov ยังยอดเยี่ยมเหมือนเดิม พอเริ่มอ่านงานของเขามากขึ้น ก็ยิ่งเข้าใจถึงความอัจฉริยะของเขา ไม่เพียงแค่แนวคิด แต่ยังรวมถึงตัวอักษรที่ถ่ายทอดออกมา เอาคนอ่านติดตรึงไปกับความน่าสนใจของเรื่องราวไปตลอดทั้งเรื่องเลย นี่คือความเหนือกว่านักเขียนคนอื่นในแนวนี้อย่างชัดเจนที่สุด

แถมยังใช้การสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์ธรรมดาอย่างพวกเรานี่แหละ เป็นตัวเฉลยคำตอบที่พวกเรามักจะมองข้ามเสมอๆ รวมถึงจิกกัดสังคมในยุคนั้นที่ผู้หญิงยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าไหร่ผ่านการออกแบบหุ่นยนต์อีกด้วยและทำให้ผมยิ้มออกมาถึง 2 ครั้งเลยทีเดียวกับการจิกกัดของ Asimov

9/10

4.เพกแมน Peg-Man (1982)
โดย Rudy Rucker แปลโดย อัทธา เอี่ยมวนานนทชัย

เรท เจ้าหน้าที่ดูแลร้านเกมแห่งหนึ่งที่ชอบเล่นเกมทั้ง สตาร์ คาสเซิ่ลและเพกแมน 
วันหนึ่งเขาก็คุยโวโอ้อวดว่าเขาเห็นประธานาธิบดี โผล่มาคุยกับเขาบนหน้าจอเกม

พอลลี่และดร.ฮอร์วาธอาจารย์ของเธอสนใจในคำพูดของเขา จึงลองให้ท้าพิสูจน์เขาเล่นเกมเพกแมนให้ได้ 20 เกม

มันไม่ใช่แค่การเล่มเกมธรรมดา แต่มันคือการรบระหว่างดวงดาว พร้อมกับความลับบางอย่างที่ถูกเปิดเผย...

เรื่องนี้ไม่ค่อยมีอะไรเท่าไหร่ อ่านได้เพลินๆ ธีมเรื่องบางส่วนคล้ายๆ Ender's Game ของ Orson Scott Card แต่ไม่ได้ซับซ้อน ชวนอ่านขนาดนั้น ออกจะเป็นเรื่องที่เห็นบ่อย เมื่อมนุษย์กลายร่างเป็นมนุษย์ต่างดาว มันเฝือไปนิดนึง

Rudy Rucker เพิ่งเคยอ่านผลงานเขานี่แหละ ผลงานของเขาส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่ออกแนว Cyberpunk มนุษย์เชื่อมต่อเข้าสู่โลกเรียลลิตี้ อินเตอร์เน็ต เครือข่าย 
ประมาณนั้นมั้ง

6.5/10

5.ส่งข่าวจากหลุมดำ Old-Fashioned (1976)
โดย Isaac Asimov แปลโดย อนิรุทธิ์ รัชตะวราห ์

เมื่อยานของนักขุดแร่ในบริเวณแถบดาวเคราะห์น้อยของ เบน เอสเตสและฮาร์เวย์ ฟันนาเรลลี่ ถูกไทดัล เอฟเฟกต์ ซึ่งเป็นแรงดึงดูดของหลุมดำทำให้เสียหายและพวกเขาได้รับบาดเจ็บ 

ระบบสื่อสารและคอมพิวเตอร์ของยานพังหมด ขณะที่พวกเขาเหลืออากาศและอาหารให้สามารถดรงชีพอยู่ได้เพียง 2 สัปดาห์ ฐานอวกาศเวสตาที่ใกล้ที่สุดก็ห่างออกไปเป็นกี่ล้านกิโลเมตรก็ไม่รู้ 

พวกเขาทั้งสองต้องแข่งกับเวลาค้นหาวิธีสื่อสารขอความช่วยเหลือให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ท่ามกลางอวกาศเวิ้งว้างไกลโพ้นและมีหลุมดำทีมีแรงดึงดูดมหาศาลอยู่ใกล้ตัว

Asimov นำเสนอประเด็นการแก้ไขปัญหาในยามที่อุปกรณ์การสื่อสารของเราพังได้อย่างยอดเยี่ยมมาก ใช้ความรู้วิธีธรรมดาง่ายๆที่บางทีเวลาเราเจอปัญหาที่ยุ่งยากแล้ว เรามักจะมองข้ามมันไป

(วิธีการที่พวกเขาทำนั้นก็คือการใช้หลุมดำ ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการออกจากยาน ไปรวบรวมก้อนหินที่ลอยอยู่ในแถบดาวเคราะห์น้อยนี่แหละ ขว้างเข้าไปในหลุมดำ เพื่อให้เกิดรังสีเอ็กซ์ เผื่อสถานีอวกาศบางแห่ง บนโลกจะตรวจจับเจอการเปลี่ยนแปลงรังสีบนท้องฟ้า...

แต่ยังมีปัญหาอีกอย่าง มันจะเรียกความสนใจได้อย่างไร เพราะการตรวจจับเจอการเปลี่ยนแปลงของรังสีเป็นเรื่องปกติ...สุดท้าย พวกเขาจึงขว้างก้อนหินเป็นรหัส 
S.O.S.นั่นเอง)

8.5/10

6.ปฐมภพ Mother Earth (1949)
โดย Isaac Asimov 
แปลโดย วศิน เพิ่มทรัพย์ และอนิรุทธฺิ์ รัชตะวราห์ 

ในยุคที่พิภพรอบนอกอย่างพิภพดาวออโรร่า ดาวเทธิส ดาวเรีย และดาวอื่นๆรวมกัน 50 พิภพ มีมนุษย์ไปบุกเบิกอาศัยอยู่นานจนแปลกแยก รู้สึกแตกต่างทั้งทางสังคม ความเป็นอยู่ เทคโนโลยี มีการใช้หุ่นยนต์กันเป็นนิจ ยีนและสภาพร่างกายของผู้คน ก็แตกต่างจากดวงดาวปฐมภพอย่างโลกมากมาย สถานะของโลกเปรียบเสมือนลูกไล่ ไม่อยู่ในความทรงจำดั่งบรรพบุรุษที่ถูกลืม 

โลกที่มีคนอยูอาศัยอย่างแออัด ทรัพยากรเริ่มไม่เพียงพอ พวกเขาพยายามจะแก้ปัญหาโดยการอพยพไปยังดาวดวงอื่น แต่เทคโนโลยีของพวกเขายังล้าสมัย ถูกกีดกันจำกัดโควต้าและที่สำคัญถูกรังเกียจจากพิภพรอบนอก 

จู่ๆก็เกิดข่าวลือไปทั่วทั้งบนโลกและพิภพรอบนอกว่า บนโลกมีปฏิบัติการลึกลับ "โครงการแปซิฟิค" ที่ไม่มีใครล่วงรู้ว่าคืออะไร พิภพรอบนอกตีความว่ามันคือแผน ก่อสงครามของโลกหรืออาจจะเป็นแผนที่รบกวนเสถียรภาพความมั่นคงของพิภพรอบนอกก็เป็นได้ ขณะที่บนโลกต่างลือกันไปนานาประการ 

บุคคลบนโลกอย่าง นักจัดรายการชื่อดัง เออร์เนสต์ คีลลีน ซึ่งมีความเห็นว่า โลกยังมีวิธีแก้ปัญหาความแออัด ด้วยการนำเข้าและใช้หุ่นยนต์ เพิ่มผลผลิตให้เพียงพอรวมถึงการคุมกำเนิด ไม่จำเป็นต้องอพยพคนเพียงอย่างเดียว เขาคิดที่จะเผยแพร่ความคิดนี้ รวมถึงความคิดที่ว่า โครงการแปซิฟิค เป็นโครงการอุปโลกน์ของรัฐบาล กุข่าวขึ้นมาเพื่อก่อสงครามกับพิภพรอบนอกเพียงเท่านั้น หลังจากนั้นเขาก็ถูกควบคุมตัว 

ขณะที่บนดาวออโรร่า ไอออน มอเรียนู นักการเมืองคนสำคัญถูกไต่สวนลงโทษโดยสภา หลังจากที่สภามีความคิดเห็นว่า เขาทรยศและเป็นสายลับร่วมมือกับชาวโลก ซึ่งเขาเป็นคนหนึ่งที่คิดว่าโครงการแปซิฟิคเป็นกลลวง พิภพรอบนอกไม่ควรทำสงครามกับโลกโดยเด็ดขาด 

โครงการแปซิฟิค คืออะไรกันแน่ ทำไมพิภพรอบนอกจึงหวาดหวั่นกันมาก มีจริงหรือเป็นข่าวลวงของโลกที่ปล่อยออกมาเพื่อหวังผลต่อสิ่งใดกันแน่ ทำไมใครคนไหนที่พยายามจะแฉโครงการนี้ถึงโดนเก็บเข้าซังเตจนหมด แล้วใครล่ะที่อยู่เบื้องหลังมัน ซึ่งพยายามผลักดันให้เกิดสงครามให้ได้ โลกจะได้ประโยชน์หรือมลายสูญหายจากสงครามหรือไม่ 

เรื่องนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุดหุ่นยนต์ได้ เรื่องราวจะเกิดก่อนเล่มแรกของชุด
หุ่นยนต์ นั่นคือ ก่อน นครโลหะ (The Caves Of Steel) เนื้อหาเกี่ยวกับการวางแผนอันแยบยล และเล่ห์เหลี่ยมทางการเมืองเป็นหลัก เพื่อเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตของชาวโลก

อ่านแล้วก็ทึ่งกับคำอธิบายแผนการแปซิฟิคที่ Asimov เขียนได้เฉียบคมหลักแหลมมากๆ ช่างใช้เงื่อนไขที่ตัวเองตั้งขึ้นมาอย่างสุดคุ้มละเอียดยิบจริงๆ และถ้าเรื่องเจน (Feminine Intuition) สังเกตพฤติกรรมระดับบุคลได้เยี่ยมยอดแล้ว เรื่องนี้ก็สังเกตพฤติกรรม ระดับสังคมได้สุดยอดมาก

"ถ้าพวกเขารู้สึกเหนือกว่า หมายถึง เหนือกว่าจริงๆแล้วนะ มันจำเป็นด้วยหรือที่เขาจะต้องสนใจเรื่องนี้อยู่เรื่อยๆ ความเหนือกว่าในแบบไหนกันล่ะที่เขาจะต้องคอยเน้นย้ำซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยการใช้คำว่า 'มนุษย์วานร' 'สัตว์มนุษย์' 'พวกครึ่งคนครึ่งสัตว์แห่งโลก' และอื่นๆ นั่นไม่ใช่การรับรองถึงความเหนือกว่าที่มีอยู่ในใจโดยแท้จริงเลย ถ้าเป็นคุณ คุณจะยอมเสียเวลามาตั้งชื่อให้กับเจ้าพวกไส้เดือนดินรึ ไม่มีทางหรอก มันต้องมีอะไรมากกว่านั้น"

9.5/10

คุ้มค่ามากๆกับหนังสือที่พิมพ์ออกมาในช่วงยุคทองของการแปลนิยายวิทยาศาสตร์ของไทยในสมัยนั้น ช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจผมที่หาอ่านนิยายวิทยาศาสตร์แปลได้ยากเหลือเกินในวงการหนังสือบ้านเรายุคนี้

ป.ล.ก่อนเข้าเรื่องมีข้อความจากหนังสือ "มนุษย์แท้" ของ ส.ศิวรักษ์ และ Illusions ของ Richard Bach ซึ่งน่าสนใจ จนอยากหามาอ่านเลย

คะแนน 8.9/10



Create Date : 29 พฤศจิกายน 2559
Last Update : 29 พฤศจิกายน 2559 23:34:35 น.
Counter : 2992 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 755059
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]



New Comments
พฤศจิกายน 2559

 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
30
 
 
All Blog