กาแลกซี่ 7 รวมเรื่องสั้นนิยายวิทยาศาสตร์




กาแลกซี่ 7

หนังสือรวมเรื่องสั้นนิยายวิทยาศาสตร์ของชุมนุมวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

ในเล่มประกอบด้วยเรื่องสั้น 5 เรื่อง

1.คนเก่ง Superiority (1951) โดย Arthur C.Clake
แปลโดย ยรรยง เต็งอำนวย

คำแก้ต่างของผู้บังคับการกองเรือยานอวกาศของดวงดาวแห่งหนึ่ง ถึงความพ่ายแพ้อันยับเยินในสงครามระหว่างดวงดาวกับศัตรูจากที่ได้เปรียบ ทั้งกองกำลังและอาวุธอย่างมากมายจนแทบไม่เคยพ่ายแพ้ 

แต่เพียงเพราะแค่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามคำแนะนำของหน่วยวิจัยของกองทัพ
ผู้เชี่ยวชาญทางวิทยาศาสตร์ในการที่จะพัฒนาเทคโนโลยีทางอาวุธใหม่ๆทันที ยกเลิกการสร้างอาวุธในแบบเดิมๆอีกต่อไป 

Clarke เขียนเรื่องนี้ในแนวจิกกัดนิดๆว่า ในระหว่างอยู่ในสนามรบอย่าเพิ่งเปลี่ยนเทคโนโลยีกะทันหัน ลองโน่น ลองนี่ เพราะมันไม่ใช่เวทีทดลอง กลยุทธไหนที่ยังได้เปรียบอยู่ ก็อย่าเพิ่งไปเลิกตามคำแนะนำ เพียงเพราะแค่เค้าเป็นผู้เชี่ยวชาญที่ดูน่านับถือ เพราะคนลงสนามไปรบคือเรา 

และบอกพวกเรากลายๆอีกว่า คนตัวเล็กๆ ประเทศ เล็กๆ ดวงดาวเล็กๆ มีเทคโนโลยีที่ด้อยกว่า มีกำลังน้อยกว่า ก็มีวิถีหนทางในแบบของพวกเขา ที่จะหาหนทางเอาชัยชนะได้ เหมือนที่เราเองก็เห็นกันบ่อยๆ

7.5/10

2.ไอ้โม่งกับมนุษย์ติงต๊อง "Repent Harlequin!" Said The Ticktockman (1965)
โดย Harlan Ellison แปลโดย นพดล วัฒนาคงทอง

โลกในยุคนี้ที่ทุกคนจะมีแผ่นชีวิตและบัตรเวลาถูกเก็บไว้ที่สำนักงานของ "มนุษย์ติงต๊อง" ซึ่งเป็นชื่อที่ไม่มีใครกล้าเรียกต่อหน้าเขา ยามเมื่อใครๆอยู่ต่อหน้าเขา ทุกคนจะเรียกเขาว่า "เจ้านายแห่งกาลเวลา" 

ทุกอย่างดำเนินไปอย่างตรงเวลา ตรงเผง ไม่มีบิดพลิ้วราวกับหุ่นยนต์ ไม่มีใครกล้ามาสาย ไม่ตรงต่อเวลาเพราะชีวิตจะสั้นลงไปตามเวลาที่มาสาย 

แต่มี "ไอ้โม่ง" คนหนึ่งที่กล้าท้าทายต่อระบบนี้ การไล่ล่าตัวเขาจึงเกิดขึ้น

Ellison เขียนเรื่องนี้ได้ตลก ขบขัน แถมตอนจบ จิกกัดผู้ปกครองได้อย่างเจ็บแสบมาก นำเสนอสังคมที่ให้ความสำคัญกับเวลามากจนเกินไป ราวกับว่าเวลาเป็นผู้ใช้ชีวิตเรา ไม่ใช่เราที่เป็นผู้ใช้เวลา 

เป็นเรื่องที่ไอเดียดีมาก ไม่แปลกใจที่ชนะทั้ง 2 รางวัล Hugo และ Nebula และมักจะติดอันดับเรื่องสั้นที่สมควรอ่านในแนวนี้เสมอๆ

8.5/10

3.ผจญภัยบนดาวนิวตรอน Neutron Star (1966) 
โดย Larry Niven 
แปลโดย นพดล วัฒนาคงทอง เรียบเรียงโดย กวิน ชุติมา

บีโอวัฟ เชฟเฟอร์ อดีตหัวหน้านักบินตกอับของสายการบินนากามูระ ซึ่งกำลังร้อนเงิน จึงตกลงรับการจ้างวานจากกองผลิตสามัญของดาว "เราทำได้" (We Made It) ให้เขาทำการทดลองนำยาน "ประดาฟ้า" บินใหม่อีกครั้ง ไปยังดาวนิวตรอน BVS-1 ซึ่งเป็นดาวนิวตรอนดวงแรกที่เพิ่งถูกค้นพบ เพื่อหาสาเหตุการคร่าชีวิตของปีเตอร์และซอนย่า ลาสกิน 2 นักบินของยาน เมื่อครั้งที่พวกเขาได้นำยานไปสำรวจเฉียดใกล้ดาวนิวตรอนดวงนี้เป็นครั้งแรก

Niven เขียนเรื่องนี้ในช่วงที่กระแสเรื่องเกี่ยวกับการค้นพบดาวนิวตรอนกำลังมาแรงในยุคนั้น ซึ่งหลังจากนั้นเพียงปีเดียว ก็มีการค้นพบดาวนิวตรอนจริงๆ ก่อนที่จะรู้จักกันเป็นวงกว้างในเวลาต่อมา 

ถือว่าเป็นแนว Hard Scifi ได้เลย อธิบาย เฉลยคำตอบของการที่ผู้โดยสารของยานหายไปไหนได้เป็นวิทยาศาสตร์มากๆ แต่มันยากเกินเข้าใจไปหน่อยสำหรับผมนะ 55

เรื่องนี้ชนะรางวัล Hugo ด้วย และอยู่ในจักรวาล Known Space ของ Niven ที่มี Ringworld อยู่ในจักรวาลนี้ด้วย อันถือเป็นผลงานเด่นของเขา 

8.0/10

4.ยุคทอง Second Dawn (1951) โดย Arthur C.Clarke 
แปลโดย ยรรยง เต็งอำนวย

"...เราภาคภูมิในปรัชญา ในคณิตศาสตร์ ในคีตกวี และการระบำของเรา แต่คุณเคยหยุดคิดบ้างไหม อีริส ว่าอาจจะมีแนวทางอื่นที่อารยธรรมจะสามารถพัฒนาขึ้นไปได้เป็นแนวทางที่เราไม่เคยแม้จะนึกฝันมาก่อน? มันอาจจะมีแรงหรือพลังอย่างอื่นในเอกภพที่นอกเหนือไปจากพลังสมองก็เป็นได้" 

บนดาวที่มีดวงอาทิตย์ 2 ดวง มีเผ่าพันธุ์อเธเลนี และเผ่าพันธุ์มิทธราเนียน ซึ่งมีรูปร่างคล้ายๆยูนิคอร์น มีความสามารถทางจิตและสมองสูงมาก แต่ไม่มีความสามารถทางด้านการใช้มือในการประดิษฐ์สิ่งต่างๆแม้แต่น้อย อันเนื่องมาจากรูปร่างของพวกเขาที่ไม่เอื้ออำนวย 

ด้วยอาหารที่มีจำกัดและประชากรของทั้งคู่ มีแต่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆสงครามระหว่างพวกเขาจึงบังเกิด เป็นสงครามที่สู้รบด้วยอาวุธทางร่างกายและพลังจิตของพวกเขา แม้สงครามจะยุติลงชั่วคราว แต่ยังมีร่องรอยแห่งความคุกรุ่นอยู่ พร้อมกับอนาคตที่ยังไม่แน่นอน 

จนเมื่อมาพบกับเผ่าพันธ์ุพีเลนี ที่ไม่มีความสามารถทางจิตแม้แต่น้อย แต่เชี่ยวชาญในการประดิษฐ์สิ่งต่างๆได้

ยุคทองของดาวดวงนี้จึงบังเกิดขึ้น

Clarke น่าจะมุ่งเน้นถึงความสมดุลที่มนุษย์จะต้องมี ทั้งการพัฒนาจิตใจและการลงมือ ทำประดิษฐ์สิ่งต่างๆในการพัฒนาทางวัตถุ ซึ่งต้องควบคู่กันไป คิดอย่างเดียว โดยไม่ลงมือทำ หรือลงมือทำ อย่างเดียวโดยไม่ล่วงรู้ถึงสิ่งที่มุ่งหมายจะทำ คงไม่สามารถนำพามนุษย์ไปสู่ยุคทอง ค้นพบดินแดนอันสมบูรณ์แสนสงบอันเป็นหนทางแห่งการหลีกเลี่ยงสงครามได้

เป็นเรื่องสั้นที่น่าจะจับไปขยายเป็นนิยายเรื่องยาวมากๆ 

"แนน่อนว่า สิ่งที่เราจะเรียนรู้ได้จากธรรมชาติ คงไม่มีอะไรที่จะเลวร้ายไปกว่าความน่าสะพรึงกลัวที่เราค้นพบได้ในจิตใจของเราเอง"

8.5/10

5.กู้ภัย Rescue Party (1946) โดย Arthur C.Clarke 
แปลโดย สุพจน์ สุตัณฑวิบูลย์ 

ยานสำรวจกาแลกติก เอส 9000 ของอัลเวอรอนและเผ่าพันธุ์ของเขา ซึ่งเป็นเผ่าพันธุ์ที่บริหารจักรวาลนี้  ได้รับคำสั่งจากฐานให้ละภารกิจสำรวจไว้ก่อน แล้วมุ่งตรงสู่ระบบสุริยะแห่งหนึ่ง ซึ่งดวงอาทิตย์ของระบบนี้กำลังจะระเบิดเป็นโนวา ภายใน 6-8 ชั่วโมงนี้แล้ว เพื่ิอช่วยเหลือสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงที่ 3 ของระบบสุริยะนี้ที่มีดาวเคราะห์ทั้งหมด 10 ดวง

ดาวดวงที่ 3 ที่เมื่อ 4 แสนปีก่อน เผ่าพันธุ์ของพวกเขาเคยมาสำรวจแล้ว ไม่พบสิ่งมีชีวิตมีภูมิปัญญาเลย แต่เมื่อเร็วๆนี้ ราว 2 ศตวรรษที่แล้ว พวกเขาจับและรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้จากสถานี วิทยุที่ส่งออกมาจากดาวดวงนี้ได้ ราวกับมีอารยธรรมบังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเกินคาดอย่างไม่น่าเชื่อ

แต่เมื่อลงไปสำรวจกลับไม่พบสิ่งมีชีวิตมีปัญญาใดๆทั้งสิ้น เหลือทิ้งไว้เพียงอารยธรรมและยังคงมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ยังส่งโปรแกรมอยู่ แต่มันส่งไปที่ใดล่ะ แล้วสิ่งมีชีวิตหายไปไหนกันหมด 

พวกเขามากู้ภัยหรือจะต้องถูกกู้ภัยเองกันแน่!

เรื่องแรกของ Clarke ที่เขาขายได้ แต่ไม่ใช่เรื่องแรกที่ได้รับการตีพิมพ์ (เรื่องแรกที่ได้ตีพิมพ์คือ Loophole) ผมเคยอ่านอีกสำนวนของคุณนพดล เวชสวัสดิ์ ซึ่งใช้ชื่อ "หน่วยกู้ภัย"มาก่อนนานมากและจำอะไรไม่ได้แล้ว

Clarke มองโลกในแง่ดีพร้อมกับความหวังอันเรืองรองว่า ต่อให้เกิดวิกฤตต่อโลกมนุษย์ในระดับสะเทือนดวงดาวและระบบสุริยะ มนุษย์น่าจะพัฒนาเทคโนโลยีให้รอดจากวิกฤตเหล่านี้ได้ แต่แอบมีจิกกัดธรรมชาติของมนุษย์นิดนึงในตอนจบ 

9.0/10

.....................................................................

สรุป เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่น่าสนใจ อ่านเพลิน ถึงแม้จะไม่โดดเด่นเท่ากาแลกซี่ 8 แต่ก็ไม่ด้อยไปกว่ากันเท่าไหร่ 

ยิ่งอ่านเรื่องของ Clarke ยิ่งชอบในแนวคิดของปู่มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้เรื่องราวอาจจะไม่ได้สนุกสุดยอด แต่มีอะไรให้คิดตามเสมอ 

ส่วนของ Harlan Ellison นี่เป็นผลงานชิ้นแรกเลยที่เคยอ่าน ไอเดียดีมาก เสียดสี จิกกัดได้แสบมาก แต่เป็นนักเขียนที่ไม่ได้มีนิยายเรื่องยาวมากมายเท่าไหร่ ส่วนมากเน้นเรื่องสั้น ที่น่าสนใจนอกจากเรื่องนี้ก็เช่น I Have No Mouth, and I Must Scream และ A Boy And His Dog (ไม่รู้มีแปลหรือยัง) แต่ที่ทำให้เค้าโด่งดังก็คือ การเป็น บก.หนังสือเรื่อง Dangerous Visions นั่นเอง 

เรื่องสั้นของ Larry Niven เป็นเรื่องที่ 2 ที่ได้อ่าน ผลงานของเขา ถึงจะไม่โดดเด่นมากในระดับประทับใจสุดๆ ถ้าเทียบกับ Poul Anderson (อ่านเท่ากัน 2 เรื่อง) แต่ก็ยังอยากอ่าน Ringworld นิยายของเขาอยู่ดี เสียดายไม่มีผู้ใดแปล

คะแนน 8.2/10




Create Date : 11 เมษายน 2560
Last Update : 11 เมษายน 2560 16:00:03 น.
Counter : 1453 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 755059
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]



New Comments
เมษายน 2560

 
 
 
 
 
 
1
2
3
5
6
7
8
9
10
12
13
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog