The Bicentennial Man&Other Stories มนุษย์ 200 ปี และรวมเรื่องสั้นรางวัลฮิวโก & เนบิวล่า




มนุษย์ 200 ปี และรวมเรื่องสั้นรางวัลฮิวโกและเนบิวล่า 
(The Bicentennial Man & Other Stories)

โดย Isaac Asimov, Frederik Pohl, Thomas F.Monteleone, Larry Niven 

สนพ.คุณพ่อ แปลโดย ชัยคุปต์

เล่มนี้เป็นการอ่านรอบที่ 2 ของผม ครั้งที่แล้วสัก 2-3 ปีที่แล้วไม่ได้รีวิวไว้ เห็นช่วงนี้ สนพ.เวลา จะจัดพิมพ์ฉบับปกแข็งใหม่ก็เลย หยิบจับมาอ่านใหม่อีกครั้ง คราวนี้ไม่ได้อ่านเรียงลำดับ อ่านเรื่องที่ 2-4 ก่อนแล้วค่อยมาอ่านเรื่องสั้นของ Asimov ต่อ อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ด้วยกระมังและไม่ได้เน้นความสนุกเป็นหลัก เลยรู้สึกว่าเรื่องที่ 2-4 ดังกล่าว สนุกขึ้น มีคุณค่ามากขึ้น ไม่โดนกลบโดยเรื่องสั้นของ Asimov จนจำได้แค่เลาๆว่าไม่สนุก ในเล่มประกอบด้วยเรื่องสั้น 4 เรื่อง ตามนี้เลย

มนุษย์ 200 ปี (The Bicentennial Man)
โดย Isaac Asimov
ชนะเลิศรางวัล Hugo และ Nebula Award ปี 1977

ผมคือหุ่นยนต์รับใช้มนุษย์ประจำครอบครัว "มาร์ติน" หมายเลขประจำตัว NDR... อะไรไม่รู้ แต่คุณหนู เรียกผมสั้นๆง่ายว่า "แอนดรู" สมาชิกในครอบครัวของคุณหนู มีท่าน คุณนาย และคุณหญิง จึงเรียกผมตามนั้น

ผมเป็นหุ่นยนต์รุ่นแรกๆที่สมองโปรซิตรอนของผมมีความยืดหยุ่น ไม่ได้จำกัดหน้าที่เฉพาะอย่างเหมือนหุ่นยนต์รุ่นหลังๆผม แต่ผมยังอยู่ภายใต้กฎ 3 ข้อ

ผมไม่รู้ว่าความรักคืออะไร แต่มันน่าจะเป็นแบบนี้ล่ะมั้ง...

"ท่านก็ไม่ว่าอะไร...ท่านรักคุณผู้หญิงและคุณหนูมาก มากกว่าที่คุณนายรักเสียอีก และแอนดรูก็รักเธอทั้งสองด้วย ความจริงแอนดรูไม่เข้าใจคำว่า "รัก" นักหรอก แต่เขาคิดว่า ความรู้สึกของเขาที่มีต่อเธอทั้งสองนั้น คือสิ่งที่มนุษย์เรียกกันว่า "รัก" ละ"

ผมสร้างสรรค์งานแกะสลักไม้ได้ ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ จนวันหนึ่งผมก็โหยหาอิสรภาพจากท่าน

"อิสรภาพตีราคาเป็นเงินไม่ได้ครับ ท่าน"
...
"แม้แต่โอกาสที่จะมีอิสรภาพก็คุ้มกับเงินทั้งหมดแล้วครับ"
...
"...มนุษย์เท่านั้นที่จะมีอิสรภาพได้ แต่ผมรู้สึกว่า เฉพาะมนุษย์บางคนที่ปรารถนา อิสรภาพเท่านั้น ที่จะมีอิสรภาพได้ ผมปรารถนาอยากจะได้อิสรภาพนั้นครับ"

ผมไม่รู้ว่าความอยากเป็นมนุษย์ก่อตัวขึ้นในจิตใจ...เอ่อ...น่าจะความคิดในสมองผมเมื่อไหร่ อุปสรรคของผมคือ มนุษย์ยังคงกลัวหุ่นยนต์อยู่...

"ถ้าคนเรามีสิทธิ์ที่จะสั่งหุ่นยนต์ให้ทำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ คนเราก็น่าจะมีความคิดดีพอที่จะไม่ออกคำสั่งอะไรให้ หุ่นยนต์ทำในสิ่งที่เป็นอันตรายต่อหุ่นยนต์เอง ยกเว้นในกรณีที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของมนุษย์ เมื่อมีอำนาจมหาศาล ก็ต้องมีความรับผิดชอบอย่างสำคัญด้วย และถ้าหุ่นยนต์มีกฎสามข้อที่ปกป้องมนุษย์ มันจะเป็นการร้องขอที่มากเกินไปหรือที่จะให้คนเรามีกฎสักหนึ่งหรือสองข้อเพื่อปกป้องหุ่นยนต์"

จากรุ่นสู่รุ่นของครอบครัวมาร์ติน จากท่านสู่คุณหนูสู่คุณหนูน้อย ผมเองก็ยังทำใจให้คุ้นชินกับความตายที่พรากพวกเขาไปไม่ได้ ท่ามกลางชีวิตที่หลากหลายรูปแบบของผม แต่มนุษย์ก็ยังไม่เปลี่ยนทัศนคติต่อความเป็น "มนุษย์" ของผม

"น่าอัศจรรย์ทีเดียว แอนดรู..."

"เมื่อคิดถึงอิทธิพลหรือบทบาทของเธอต่อประวัติศาสตร์หุ่นยนต์ งานศิลปะของเธอทำให้ผู้สร้างหุ่นต้องสร้างหุ่นที่มีความสามารถเฉพาะงานตามกำหนด ออกนอกลู่นอกทางไม่ได้ ความเป็นอิสระของเธอทำให้มีการออกกฎหมายสิทธิของหุ่นยนต์ และความต้องการของเธอที่อยากได้ร่างกายแบบเดียวกับมนุษย์ ทำให้ผู้สร้างหุ่นหันไปหานโยบายการแยกสมองของหุ่นออกจากร่างกาย"

นี่คือเรื่องราวของผม จากหุ่นยนต์รับใช้ สู่ความเป็น "มนุษย์"ผ่านกาลเวลาอันยาวนานกว่า 200 ปี

"ผมได้เลือกเอาทางใดทางหนึ่งแล้ว ระหว่างความตายของร่างกาย กับความตายของความใฝ่ฝันและความปรารถนา..."

...แอนดรู มาร์ติน มนุษย์ 200 ปี...

Asimov เขียนเรื่องนี้ได้สุดยอดมากๆ คู่ควรกับการกวาด 2 รางวัลนั้นเป็นอย่างยิ่ง คุณค่าของความเป็นมนุษย์ ใช่เพียงเนื้อหนังมังสาที่ทำให้เรามีความเป็นมนุษย์หรอก

เราจะนิยามคำว่า "มนุษย์" อย่างไรล่ะ สิ่งไม่มีชีวิตอย่าง หุ่นยนต์แอนดรู พยายามหรือมีความเข้าใจในความเป็นมนุษย์ ซึ่งบางทีอาจจะมากกว่ามนุษย์อย่างเราเสียอีกที่บางครั้งหลงลืมความเป็น "มนุษย์" ที่แท้จริงไป

"ตลอดชั่วชีวิตอันยืนยาวของเธอ..."
"เธอยังพยายามจะใช้เหตุผลกับมนุษย์อีกหรือ แอนดรู ผู้น่าสงสาร อย่าโกรธฉันเลย แต่มันเป็นเพราะเจ้าความเป็นหุ่นในตัวเธอนั่นแหละที่ทำให้เธอเป็นอย่างนั้น"

10/10

โอ้...ลูก! (The Meeting) 
โดย Frederik Pohl & C.M.Kornbluth
ชนะเลิศรางวัล Hugo Award ปี 1973

แฮร์รี่ วลาเด็ก เข้าร่วมประชุมผู้ปกครองและอาจารย์กับทางโรงเรียนสำหรับเด็กพิเศษ ซึ่งเขาเพิ่งนำ ทอมมัส ลูกชายวัย 9 ขวบของเขาเข้าเรียนได้ประมาณ 1 เดือน ลูกชายของเขามีแนวโน้มที่ดีขึ้น หลังจากก่อนหน้านี้เขาตระเวนเปลี่ยนโรงเรียนเป็นว่าเล่น 

หลังจากกลับถึงบ้าน หมอที่ติดตามเคสของเขา ได้โทรมาเนื่องจากมีเด็กอีกคนที่พร้อมจะผ่าตัดเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อของทอมมัส โดยมีกำหนดเวลาแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น

เขาและภรรยา จะต้องตัดสินใจ ว่าจะทำอย่างไรดี ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องเลือกระหว่างลูกที่เป็นตัวตนของเขาในสภาพเด็กพิเศษ ที่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น แต่ไม่มีทางหาย หรือจะช่วยเด็กอีกคนที่พวกเขาจะได้เพียงส่วนหนึ่งของทอมมัสในร่างของเด็กอีกคนหนึ่งที่มีสิทธิ์ปกติกลับมาแทน 

Pohl เล่าเรื่องไม่ได้โดดเด่นมาก เรียบๆ ด้วยความยาวเพียง 12 หน้าเอง แต่ตอนจบทิ้งประเด็นคำถามที่่พ่อแม่ทุกคนต้องตัดสินใจลำบากแน่ๆ 

7.5/10

แม่ฝาก (Breath's A Ware That Will Not Keep)
โดย Thomas F.Monteleone
เข้าชิงรางวัล Nebula Award ปี1977

ณ นครชิคาโก มนุษย์ถูกคัดเลือกประเภท สายพันธุ์ ว่าจะให้ออกมาเป็น 
นักวิทยาศาสตร์ นักปกครอง คนงาน ศิลปิน และทุกประเภทที่สังคมต้องการ ไม่มีคนมีปัญหาและไม่สมประกอบอีกต่อไป โดยกำเนิดคลอดเลี้ยงดูตัวอ่อนผ่าน "แม่ฝาก" ซึ่งมีลักษณะคล้ายอะมีบา เธอเกิดมาจากเนื้อเยื่อที่ถูกเลี้ยงขึ้นมา เสมือนร่างของมนุษย์ที่พองขยายตัว ลอยนิ่งอยู่ในน้ำยาขาวขุ่นคล้ายวุ้นอยู่ในถังเพาะ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลประจำแต่ละถังเพาะ

"แม่ฝาก" เฟแรกซียา ซึ่งเป็นแม่ฝากรุ่นที่ 3 รุ่นใหม่ ที่เริ่มมีพลังจิต (Psi Power) ติดต่อสื่อสารกับผู้ดูแลได้ เธอเริ่มผูกพันกับเจ้าหน้าที่ดูแลเธอ คือ เบนจามิน ซิปริอา-โน่ มากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่เธอกำลังตั้งครรภ์ ความผิดปกติก็เกิดขึ้น ไม่เป็นดังความคาดหวังของทางศูนย์การปรับปรุงพันธุ์มนุษย์...

Monteleone สื่อเรื่องนี้ไปในทางโลกดิสโทเปีย ถึงวิทยาการจะก้าวหน้าขึ้น ขนาดคัดเลือกประเภทคนได้ แต่ความสุขใช่จะมากขึ้น ออกแนวความสุขจอมปลอม รวมถึงการก่อกำเนิดคงไม่ใช่แค่ผลผลิต แต่ในระหว่างนั้นมันมีความผูกพัน สายใยแห่งความรู้สึก ชวนให้ตระหนักถึงว่ามนุษย์ปัจจุบันก่อกำเนิดมาได้อย่างไร

8.5/10

โลกคลั่ง (Inconstant Moon) 
โดย Larry Niven 
ชนะรางวัล Hugo Award ปี 1972

เมื่อดวงจันทร์ยามดึกของเมืองลอสเแองเจลีส ส่องแสงสว่างจ้าผิดปกติกว่าทุกคืน ราวกับว่าถึงวาระสุดท้ายที่โลกจะล่มสลายลงแล้ว

สแตน นักเขียน สังเกตเห็นมันจากระเบียงห้องพัก จึงชักชวน เลสลี คู่ควงของเขาออกไปหาอะไรทำกันในคืนที่อาจจะเป็นคืนสุดท้ายของชีวิต แม้นดวงตะวันยามเช้า พวกเขาก็อาจจะไม่มีโอกาสได้เห็นมันอีกครั้งหนึ่งก็ได้ ไม่ต้องมานั่งกังวลอีกต่อไปว่า เงินจะมีความหมายไหม ความอ้วนจะเป็นปัญหาหรือไม่ มันจะเกิดจากดวงจันทร์ถล่ม ดวงอาทิตย์เกิดโนวาระเบิด หรือจะเกิดจากโซลาร์แฟลร์ก็ไม่สำคัญอีกต่อไป

"ใครจะเชื่อว่าความสงบสุขจะมาถึงเวียดนามและเขมร ภายในชั่วเวลาคืนเดียว
...
แน่นอนเหลือเกิน ประเทศเยอรมันคงจะรวมกันได้เรียบร้อยแล้ว เพราะกำแพงเบอร์ลินคงจะพังไปแล้ว อิสราเอลและอาหรับก็คงจะวางอาวุธกันหมดแล้ว การแบ่งแยกผิวในแอฟริกาก็คงจะจบสิ้นกันเสียที" 

Niven เขียนเรื่องนี้ในปี 1972 ประโยคที่ยกมาจึงเป็นเหตุการณ์ในช่วงนั้นที่คุกรุ่นอยู่ พร้อมกับตั้งคำถามว่า ถ้าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของมวลมนุษย์ล่ะ ความกังวลและปัญหาใดๆทั้งปวงคงไม่สำคัญอีกต่อไป เราจะทำอะไรล่ะในวันสุดท้าย เราจะหวนกลับไปทำอะไรที่เราไม่กล้าทำในภาวะปกติอย่างมีความสุขไร้กังวลไหม เฉกเช่น 
เลสลีที่กินไอศกรีมราดช็อกโกแลตร้อน โดยไม่ต้องกลัวอ้วนเหมือนที่ผ่านมา

8/10

ป.ล.มนุษย์ 200 ปี มีฉบับปกแข็งพิมพ์ใหม่ของสนพ.เวลา เป็นการรวมเรื่องสั้นนอกจาก "มนุษย์ 200 ปี" แล้ว ยังรวมเรื่องสั้นอีก 10 เรื่องของอาซิมอฟ +บทความของดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล ต่างจากเล่มที่ผมรีวิวนะครับ

www.mowojo.com/product/34/มนุษย์สองร้อยปี-และเรื่องสั้นอื่นๆ

หรือรองานหนังสือแวะบูธรหัสคดีก็ได้ครับ บอกกล่าวเอาไว้สำหรับท่านที่สนใจครับ

คะแนน 9.0/10



Create Date : 21 กันยายน 2559
Last Update : 21 กันยายน 2559 22:54:00 น.
Counter : 1882 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 755059
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]



New Comments
กันยายน 2559

 
 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
8
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
22
23
24
25
26
27
29
30
 
 
All Blog