The God Themselves ข้าคือพระเจ้า




ข้าคือพระเจ้า The God Themselves (1972) 
โดย Isaac Asimov 
สนพ.สี่เกลอ แปลโดย สุเมธ

"มันเป็นการผิดพลาด...ที่จะถือว่าคนทั่วไปต้องการให้ใครมาปกป้องสิ่งแวดล้อมหรือขีวิตของเขา แล้วคิดว่าพวกเขาจะรู้สึกซาบซึ้งในบุญคุณของคนที่ลงทุนต่อสู้เพื่อสิ่งดังกล่าว สิ่งที่คนทั่วไปต้องการได้แก่ ความสะดวกสบายส่วนตัวของแต่ละคน เรามีประสบการณ์อย่างดีในเรื่องนี้จากวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในศตวรรษที่ยี่สิบ เมื่อเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า บุหรี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งในปอด วิธีแก้ที่เห็นกันโทนโท่ก็คือ เลิกสูบบุหรี่ แต่วิธีแก้ที่คนต้องการคือ บุหรี่ชนิดที่ไม่ทำให้เกิดมะเร็งในปอด หรือเมื่อเป็นที่แน่ชัดว่าเครื่องยนต์ที่มีสันดาปในตัวเป็นเป็นตัวการเพิ่มมลภาวะในอากาศอย่างน่ากลัว วิธีแก้ที่เห็นได้ชัดๆก็คือ เลิกใช้เครื่องยนต์ประเภทนั้นเสีย แต่ที่คนต้องการกลับเป็นการพัฒนาเครื่องยนต์ที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ"

..............................................................

บนโลกเมื่อ ดร.เฟรเดอริก ฮัลลัม นักเคมีด้านรังสีวิทยา ค้นพบว่า ทังสเตน-186 ในขวดโหลที่ห้องทำงานของเขาเปลี่ยนแปลงไปหลังจากถามไถ่ใครๆแล้วไม่ได้รับคำตอบ เขาจึงลองทดสอบดู ก็ปรากฏว่า มันกลายเป็นพลูโตเนียม -186 ซึ่งมีไอโซโทปที่เป็นไปไม่ได้เลยตามกฏของจักรวาลนี้ แถมยังแผ่กัมมันตภาพรังสีออกมาอีกในภายหลัง ทั้งๆที่ตอนแรกมันอยู่ในสภาพคงที่ เขาสรุปว่าต้องมีการถ่ายเทอิเลคตรอนและโปรตรอนระหว่างกัน รวมถึงกฎของจักรวาลกับจักรวาลข้างเคียงด้วย การค้นพบของเขานำไปสู่การสร้างอิเลคตรอนปัมพ์ ถ่ายเทสารตั้งต้นอย่าง ทังสเตน -186 กับจักรวาลข้างเคียง เพื่อให้ได้พลูโตเนียม-186 กลับมา ก่อกำเนิดพลังงานชนิดใหม่ที่ไม่มีวันหมดและบริสุทธิ์ให้แก่โลกใบนี้ ซึ่งมาพร้อมกับชื่อเสียงอันโด่งดังของเขา 

แต่ภายหลังมีอยู่ผู้หนึ่งที่ไม่เชื่อว่าการแหกกฎของจักรวาลนี้จะไม่มีผลกระทบตามมา เขาคือ ดร.ปีเตอร์ ลามันต์ นักฟิสิกส์ประจำสถานีปัมพ์ สเตชั่น วัน ซึ่งเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงอิเลคตรอนจะทำให้สมดุลของอวกาศเปลี่ยนจนอาจนำไปสู่การระเบิดของดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ต่างๆในระบบสุริยะได้ เขาพยายามทำทุกทาง ทั้งการพบปะและโน้มน้าวผู้คนใหญ่ๆโต รวมถึงการขอใช้เทคโนโลยีบนดวงจันทร์เพื่อพิสูจน์สมมติฐาน แต่ไม่มีใครเชื่อและปฏิเสธให้ความช่วยเหลือต่างๆ 

ในขณะที่จักรวาลข้างเคียงที่ประกอบด้วย ดาวเคราะห์  7 ดวง ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์ของจักรวาลเราและมีดวงอาทิตย์ที่กำลังเย็นลงเรื่อยๆ สิ่งมีชีวิตรูปทรงไม่แน่นอนมีทั้งตัวแข็งและตัวนิ่มต่างก็ต้องใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นแหล่งอาหาร ตัวนิ่มนั้นมีทั้งฝ่ายเหตุผล (ซ้าย) ฝ่ายอารมณ์ (กลาง) ฝ่ายพ่อแม่ (ขวา) ซึ่งทั้ง 3 ฝ่ายจะใช้ชีวิตร่วมกันยามมีเพศสัมพันธ์ในรูปแบบ "ไตรแอด "เพื่อผลิตลูกๆในแต่ละฝ่าย ก่อนที่จะพัฒนาตัวเองไปเป็นตัวแข็งที่มีภูมิความรู้ที่เพียบพร้อม ซึ่งประชากรของสิ่งมีชีวิตนี้กำลังลดลงเรื่อยๆตามสภาพพลังงานที่ถดถอยลงของดวงอาทิตย์ แต่เมื่อจักรวาลนี้ค้นพบและสร้างเครื่องโพซิตรอนปัมพ์เพื่อถ่ายเทโปรตรอนไปยังจักรวาลข้างเคียงเช่นกัน ก่อเกิดพลังงานชนิดใหม่และความหวังอันเรืองรองของพวกเขาที่อาจจะมาพร้อมกับการดับสูญของมนุษย์ 

หลังจากผ่านไปอีกหลายปี บนดวงจันทร์ที่เทคโนโลยีและวิทยาการต่างๆก้าวหน้าไม่หยุดนิ่งเหมือนดาวราหู นักวิทยาศาสตร์ต่างอพยพกันมามากมาย หนึ่งในนั้น คือ ดร.บารอน เนวิลล์ ที่พยายามผลักดันและทดลองให้ อิเลคตรอน ปัมพ์ เกิดขึ้นบนนี้ให้ได้ เพียงแต่เขาไม่สามารถติดต่อจักรวาลข้างเคียงได้ ทั้งๆที่บนนี้ยังมีพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพมากและเหลือเฟือให้ใช้แล้วก็ตาม ด้วยเขามุ่งหวังให้อาณานิคมดวงจันทร์ปลดปล่อยเป็นอิสระจากดาวราหูเป็นจุดหมายสูงสุด

โครงการลึกลับของเขาเป็นที่จับตามองของข้าหลวงใหญ่จากดาวราหูอย่าง คอนราด กอตต์ชไตน์และลูซ มอนเตซว่า เขาทดลองอะไรกันแน่ ทั้งสองยังพยายามเสาะหาเรื่องร่ำลือเกี่ยวกับ "ญาณสังหรณ์" ที่ว่ากันว่า อาจจะมีคนที่มีญาณแบบนั้นหลงเหลืออยู่บนดวงจันทร์ หลังจากที่มีกฎหมายข้อห้ามการใช้ เจนิติก เอนจิเนียริ่ง-พันธุวิศวกรรมกับมนุษย์อีกต่อไป

และเมื่อนักเคมีรังสีตกอับ ผู้เคยจุดประกายให้ฮัลลัมค้นพบพลังงานชนิดนั้นโดยบังเอิญอย่าง ดร.เบนจามิน อัลแลน เดนิสัน ซึ่งอพยพมายังดวงจันทร์ ได้พยายามหาหนทางและทำการทดลองที่จะพิสูจน์ว่า อิเลคตรอน ปัมพ์ นั้นอันตราย โดยมี
มัคคุเทศน์ผู้ลึกลับที่เกิดบนดวงจันทร์อย่าง เสลนี ลินด์สตรอม คู่นอนของดร.บารอน เนวิลล์ ซึ่งส่งเธอมาเป็นผู้ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆและให้สืบว่าเขามาทำอะไรบนดวงจันทร์กันแน่

การทดลองพิสูจน์ของเดนิสัน ไม่เพียงแต่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริง แต่ผลของมันอาจจะนำมาซึ่งทางออกเป็นทางเลือกที่ 3 อย่างที่ไม่มีใครคาดคิด อันจะเป็นความหวังอันน้อยนิดที่จะนำพาความอยู่รอดของมนุษย์และจักรวาลนี้...

.........................................................................

นิยายที่ทำให้ Isaac Asimov ได้รับรางวัลทั้ง Hugo Award ในปี ค.ศ.1973 และ Nebula Award ใน ปี ค.ศ.1972 ซึ่งเป็นรางวัลใหญ่ของวงการนิยายวิทยาศาสตร์และแฟนตาซีที่เขาได้รับเป็นครั้งแรกอย่างไม่น่าเชื่อ ไม่ว่าจะในประเภทไหน ทัังเรื่องสั้นหรือเรื่องยาว Asimov ไม่เคยได้รางวัลเลย ก่อนที่เขาจะได้เพิ่มเติมอีกในภายหลัง ยิ่งถ้าเทียบกันกับคนอื่นใน Big Three ของวงการนี้อย่าง Arthur C.Clarke ที่ชนะรางวัล Hugo ในประเภทเรื่องสั้น ตั้งแต่ปี 1956 เช่นเดียวกันกับ Robert A.Heinlein ที่ได้รับจากประเภทนิยายในปีเดียวกัน ทั้งๆที่ทั้ง 2 รางวัลก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1953 และ 1966 ตามลำดับแล้ว

สาเหตุสำคัญอาจจะเป็นเพราะนิยายชุดอันโด่งดังที่สุดของเขาอย่างสถาบันสถาปนา โดยเฉพาะเล่ม 1-3 หรือไตรภาคนั้นเขียนก่อนการก่อตั้งรางวัล Hugo และเขาไม่ได้เขียนนิยายเรื่องยาวในยุค '60s เลย เน้นไปทางสารคดีเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถ้ารางวัลทั้งสองต้องการยกย่องให้เกียรติ Asimov ก็ถือว่า เลือกเรื่องได้ถูกและคู่ควรแล้วที่กวาดรางวัลทั้งสอง ถึงแม้ระดับ Asimov คงไม่ต้องอาศัยรางวัลใดๆมาการันตีแล้วก็ตาม 

นิยาย The God Themselves เรื่องนี้ก็ถือได้ว่า เป็นนิยายวิทยาศาสตร์เรื่องยาวของเขาในรอบ 15 ปีได้เลย ถ้าไม่นับชุด Lucky Starr ที่เขียนขึ้นเพื่อให้เยาวชนอ่านและ Fantastic Voyage ที่ดัดแปลงจากบทภาพยนตร์ เรียกได้ว่านับตั้งแต่ The Naked Sun ในปี 1957 เลยทีเดียว 

ให้ข้อมูลมาพอสมควรแล้ว...กลับมาที่ตัวเนื้อเรื่อง ผมเดาเอาเองว่านิยายเรื่องนี้ช่างเขียนขึ้นเหมาะกับในยุคสมัยนั้นมาก เพราะเกิดวิกฤตพลังงาน (Oil Crisis) ในยุค '70s พอดีหรือแม้แต่ในยุคนี้ นิยายเรื่องนี้ก็ยังทันสมัยกับเหตุการณ์ Climate Change ที่โลกกำลังร้อนขึ้นจาการใช้พลังงานอย่างสิ้นเปลืองและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆของมนุษย์อย่างเราๆ (ณ ช่วงที่ผมเขียนรีวิว เพียงสังเกตอากาศรอบๆตัว ก็ยังรู้สึกร้อนมากมาหลายวันแล้ว หน้าหนาวใน กทม.ก็มีน้อยวัน หน้าฝนก็ไม่เต็มฤดูกาล) เรียกได้ว่าเป็นนิยาย วิทยาศาสตร์รักษ์โลกที่ส่งเสริมระบบนิเวศน์ รักษาสิ่งแวดล้อมก็ว่าได้ (ถ้าใครสนใจแนวนี้มีนิยาย วิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจอีกตามลิ้งค์นี้ //scifilists.sffjazz.com/books_ecological.html

ทุกสิ่งบนโลกนี้มีมูลค่าของมัน มีเหรียญ 2 ด้านเสมอ อยู่ที่เราจะรู้จักใช้คุณค่าของมันอย่างคุ้มค่าแค่ไหน ใช่ว่าเราจะมีทางเลือกที่ 3 หรือว่าหาทางออกเจอเสมอไป พรัอมกับที่ Asimov ออกจะเตือนกลายๆว่า สิ่งที่คนทั้งโลกใช้มันอย่างสะดวกสบายด้วยความคุ้นชิน อยู่ดีๆจะหักดิบให้เลิกใช้เลยคงเป็นไปไม่ได้ แม้ผลของการใช้มัน จะนำพามาซึ่งอันตรายก็ตาม อีกทัังต่อให้เป็นบุคคลที่คนทั้งโลกยกย่องคิดค้นสิ่งใดๆขึ้นมาได้ แต่ไม่ใช่ว่าเราจะไม่เห็นด้วยไม่ได้ เราต้องมองให้รอบด้านแล้วพิสูจน์มันถึงแม้มันจะยากลำบากเพียงใด

ถามว่าอ่านได้สนุกไหม ตอบได้เลยว่า Asimov ไม่เคยทำให้ผิดหวังจริงๆ ถึงแม้พออ่านส่วนที่ 2 เริ่มเกิดข้อสงสัย หริอว่าเรื่องนี้จะเป็นเรื่องแรกของเขาที่ทำให้ผิดหวังน้อ กำลังสนุกกับส่วนแรกอยู่ ตัดฉับมาส่วนที่ 2 ที่ดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันเลย แถมตัวเอเลี่ยน จินตนาการตามยากมากในช่วงแรก ต้องค่อยๆละเลียดไปจนพ้น 50 หน้าแรกของส่วนที่ 2 นี่แหละ ความสนุกก็กลับมา จริงๆ Asimov ฉลาดและอัจฉริยะมากๆ เพราะ ในส่วนแรกเขาทิ้งเศษขนมปังไว้แล้วด้วยคำเกี่ยวกับสถานที่ ราวกับเป็นข้อเกี่ยวให้ส่วนที่ 2 และ 3 รวมเป็นภาพใหญ่ของนิยายอย่างที่เขาต้องการ เพียงแต่เราจะสังเกตเห็นมันหรือเปล่า

อ่านรีวิวของฝรั่งที่ว่า มักจะมีคำวิจารณ์ว่า Asimov ไม่เคยเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับเอเลี่ยนจริงๆจัง รวมถึงการพูดถึงเรื่องเซ็กซ์อย่างโจ๋งครึ่ม เขาก็เลยใช้ส่วนที่ 2 นี่แหละพิสูจน์ว่าเขาเขียนเกี่ยวกับทั้ง 2 เรื่องนั้น ได้อย่างมีชั้นเชิงพร้อมกับสอดแทรกทัศนคติเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์ได้อย่างลึกซึ้ง จากการแบ่งเอเลี่ยนเป็น 3 ฝ่ายนั่นเอง การที่เราจะมีเซ็กซ์ที่จะทำให้เราพัฒนาขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญญานั้น เราต้องมีเหตุผล + อารมณ์+ความรับผิดชอบที่จะเป็นพ่อแม่ ผสมกันนั่นเอง ทั้งยังมองเห็นว่า ถ้าฝ่ายชายซึ่งมีแต่เหตุผล รู้จักมีความรู้สึกเรื่องอารมณ์เพิ่มเติมและฝ่ายหญิง ซึ่งมีแต่อารมณ์รู้จักมีเหตุผลเพิ่มเติม ความวิเศษของสิ่งมีชีวิตนี้อย่างพวกเราก็จะพิเศษเป็นอย่างยิ่ง 

แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเหมาะกับผู้ที่เริ่มอ่านนิยายวิทยาศาสตร์เป็นเล่มแรกเลยหรืออ่านงานของ Asimov เป็นเรื่องแรก คงบอกได้เลยว่า ไม่น่าจะเหมาะเพราะเป็นเป็นแนว Hard Scifi อธิบายเยอะทีเดียวและมันไม่ได้เล่าเรื่องเป็นเส้นตรง เริ่มเรื่องก็เริ่มที่บทที่ 6 เลย (งงเด้ 55) ก่อนจะค่อยๆย้อนเข้าสู่เหตุการณ์และการเชื่อมต่อของแต่ละส่วนต้องถอยหลังออกมาถึงจะเห็นภาพใหญ่ว่ามันคือเรื่องเดียวกันทั้งหมด 

ขอเพิ่มเติมเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกนิดทิ้งท้าย ชื่อเรื่องของนิยายได้มาจากคำคมของบทละครเรื่อง The Maid Of Orleans ของ Friedrich Schiller ที่ว่า "Against stupidity the gods themselves contend in vain" และ Asimov ได้ไอเดียเรื่อง พลูโตเนียม-186 จากการพูดคุยกับ Robert Silverberg นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชื่อดังอีกคน จนนำมาสู่การเขียนนิยายเรื่องนี้นั่นเอง 

ถ้าเรื่องสั้น Neutron Star ของ Larry Niven ใน กาแลกซี่ 7 เขียนเกี่ยวกับดาวนิวตรอนที่กำลังเป็นกระแสในช่วงนั้น เรื่องนี้ของ Asimov ก็สอดแทรกเรื่อง เควซาร์ ที่เพิ่งค้นพบในช่วงนั้นไม่นานและยังไม่เป็นที่เข้าใจนักเข้ามาในนิยาย ซึ่งเป็นคุณค่าทางวิทยาศาสตร์อีกแง่นึงด้วย (ใครสนใจเรื่อง เควซาร์ ชมสารคดีมิติโลกหลังเที่ยงคืน ชุดท่องจักรวาล ตอน เขตมรณะของไทยพีบีเอสเพิ่มเติมได้ที่นี่)


อาจจะเขียนยาวไปนิด แต่ถือว่าเป็นการใช้รีวิวยกย่อง Isaac Asimov ให้สมกับผลงานการเขียนเรื่องแรกของเขาที่ได้รางวัลละกันครับ 

ขอส่งท้ายด้วยคำพูดเกริ่นนำของอนิเมะเรื่อง แขนกลคนแปรธาตุ (Fullmetal Alchemists  ภาคแรกที่ไม่ได้ดำเนินเรื่อง 
เหมือนมังงะอย่าง Brotherhood) เพราะมันวิ่งเข้ามาในความคิดในระหว่างที่อ่านเลยซึ่งน่าจะเข้ากันมากๆกับนิยายเรื่องนี้ ...

"มนุษย์....ไม่สามารถได้อะไรมาโดยไม่สูญเสียสิ่งใดไปเลย การที่จะได้อะไรมานั้น จำเป็นจะต้องจ่ายสิ่งที่มีค่าเท่าเทียมกันออกไป นี่ก็คือ "กฎการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม" ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกได้ว่า มันเป็นสัจจะของโลก"

ป.ล.ใช้เวลาเขียนรีวิวยาวที่สุด (3 วัน) และยากที่สุด นับตั้งแต่เขียนมาเลยครับ

คะแนน 9.3/10



Create Date : 26 พฤษภาคม 2560
Last Update : 27 พฤษภาคม 2560 16:31:11 น.
Counter : 3824 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สมาชิกหมายเลข 755059
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 21 คน [?]



New Comments
พฤษภาคม 2560

 
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
27
28
29
30
31
 
 
All Blog