เถียง ๒๕๒๘ ตอน เรื่องราวหนองซูด...หนองน้ำที่ใหญ่ที่สุดของบ้านเรา
     ในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวของวันนี้ทำให้นึกถึงสมัยเป็นเด็กเรามีวิธีการคลายร้อยกันอย่างไรบ้าง จริงมันก็ไม่ได้ร้อนบ่าร้อนบอกันแบบทุกวันนี้นะ ซึ่งไม่ได้เข้าใจเหมือนกันว่ามันร้อนอะไรกันนักหนา เอ้าจะไปไปเล่นในหนองน้ำกันก็แล้วกัน คลายร้อนกันเสียบ้าง COVID ก็ยังไม่หาย ร้อนก็ร้อน ไปลุยหนองกัน....
      วันนี้เลยถือโอกาสเล่าเรื่องราวของหนองน้ำหรือแหล่งน้ำของหมู่บ้านแห่งหนึ่งให้ฟังจะได้เห็นภาพว่าเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้วพวกเรายอู่กันอย่างไรและแบบไหน หนองน้ำนี่เป็นหนองน้ำที่ใหญ่ที่สุดของหมู่บ้าน แต่ไม่ใช่แห่งเดียวนะมีอีกสองสามแห่งแต่ลักาณะจะต่างกันไปค่อยๆเล่าให้ฟังก็แล้วกัน
       หนองนี้ชื่อว่า "หนองซูด" เป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง ทำนาไม่ได้ คนดั้งเดิมเลยกำหนดให้เป็นหนองน้ำสาธารณะเอาไว้ประจำหมู่บ้านของเรา เป็นหนองน้ำที่มีน้ำเฉพาะหน้าฝนและหน้าหนาว พอหน้าแล้งมาก็แห้งหมดละ เอาไว้เลี้ยงสัตว์ เอาไว้หาปลา บางคนก็ไปขุดสระไว้ ขุดบ่อไว้ บางคนก็ทำนา มีการฟ้องร้องกันว่าบุกรุกที่สาธารณะ บุกรุกที่หนองน้ำ ต้องสู้กันอยู่หลายปี จนตอนนี้ก็ตายกันไปหมดแล้วทุกคนฟ้อง คนถูกฟ้อง ไม่รู้ศาลตัดสินว่าอย่างไรบ้าง สมัยนั้นเด็กอยู่ไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่
       หนองซูดแห่งนี้ ได้รับการพัฒนาขุดลอกให้เป็นหนองน้ำขนาดสัก 5 ไร่ รูป 4 เหลี่ยมผืนผ้า ลึก 1 เมตรเท่ากันหมด เอาดินมากั้นเป็นคัน มีทางเข้าหรือปล่อยเป็นช่องน้ำเข้าออก 1 ทาง แต่ไม่ขุดนะ ปล่อยเอาไว้ระดับเดิมนั้นละ เพราะมันเป็นที่ลุ่มอยู่แล้ว เป็นหนองน้ำที่เกิดจากการใช้แรงงานคนขุด สมัยนั้นเรายังเด็กมาก ได้ยินคนใหญ่เขาว่า "เงินผัน" เป็นเงินผันนี้ละที่ทำให้ชาวบ้านได้ใช้แรงงงานรับจ้างขึ้นคิดเป็น "คิว" กว้าง 1 เมตร ลึก 1 เมตร ยาว 1 เมตร  ราคาคิวละกี่บาทอันนี้เราก็ไม่รู้นะ สมัยนั้นเด็กมากเกินไป ได้แต่ไปเล่นดิน มองเขาดู แบบคลับคล้ายคลับครานะว่าเคยไปดูเขาขุด 
         พอมาค้นข้อมูลว่า โครงการ "เงินผัน" มันคืออะไร ก็คำตอบว่าสมัยรัฐบาลยุตนั้นมีการกระจายสวัสดิการหรือเศรษฐกิจลงพื้นที่ลงชุมชน เช่น การจ้างงาน รักษาฟรี ยกระดับคนจน ฯลฯ จนเกิด 1 ในโครงการเงินผันนี่ละ เป็นรัฐบาล ฯณฯนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ น่าจะเป็นโครงการแบบสวัสดิการแบบทั่วถึงยุคแรกๆของไทยเรานะ  ชาวบ้านเลยติดคำว่า "เงินผัน" กันมาตั้งแต่นั้น หนองซูดก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของผลผลิตที่เหลืออยู่จนทุกวันนี้และใช้ประโยชน์ได้จริงๆ
         สมัยนั้นการไปหนองมันไกลๆนะกว่าจะเดินไปถึง กว่าจะได้เล่นน้ำ ได้หาปลา ก็ต้องอาศัยเวลามากและการเดินไป หากหน้าฝนนี้แทบไม่ได้ไปเลย น้ำระหว่างทางมันลึก กลัวปลิง กลัวจรเข้ กลัวผี ส่วนหน้าหนาว หลังเกี่ยวข้าวพอได้แต่ก็ลุยน้ำขัง ลุยโคลนกันไป ดีหน่อยตอนหน้าแล้ง สบายๆ  จำได้ว่ามีคันแทใหญ่ให้เดินไป มีทางเกวียนให้เดินไป เป็นทรายบ้าง เป็นโคลนบ้าง ลุยๆกันไป ระหว่างทางไปมี "๖้นหมากเม่าเล็ก" เอาไว้ให้กินต้นหนึ่ง มี "หมากหัวลิง" ให้กินระหว่างทางหลายต้นหน่อย มีต "ต้นหว้า" ให้ปีนกินหรือเก็บกิน ระหว่างทาง 
        หนองน้ำนี้มีกฎในการใช้ของมันอยู่ แม้จะเป็นสาธารณะ เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียมกันและเก็บรายได้เข้าหมู่บ้าน เช่น
        ห้ามไม่ให้มีการมาหาสัตว์น้ำในหนองน้ำ เช่นการวางตาข่าย การทอดแห แต่หากเป็นใส่เบ็ด หากอบ หาเขียด แบบนี้ได้ จริงหากไม่ห้ามก็ไม่มีคนมาลงหากินในหนองเพราะจอกแหนจะขึ้นเต็มไปหมดเต็มหนองเลยทีเดียว ผักตบชวา ผักบุ้ง หญ้าอีก คนไม่กี่คนคงหากินลำบาก
          วันที่เปิดให้หากินได้เราจะกำหนดกัน โดยแต่ละปีจะมีการ "เนาว์" ในช่วงหน้าร้อน เพื่อเป็นโอกาสให้ทุกคนได้มาหาสัตว์น้ำกัน คิดราคาจากอุปกรณ์การหา เช่น แห สวิง สุ่ม ก็คนละราคา เงินที่ได้จะเอาเข้าหมู่บ้าน ในหนึ่งปีจะมีเพียงวันเดียวเท่านั้น ถือว่าเป็นการ "เปิด" ให้หาสัตว์น้ำอย่างเป็นทางการ พอผ่านพ้นวันนนี้ไปแล้วทุกคนก็สามารถมาหากินหาสัตว์น้ำได้เลยไม่มีห้าม ในวันเนาว์คนจากหมู่บ้านต่างๆจะพากันมา "ลงหนอง" หากหนองไหนที่เคยมีประวัติว่าหาปลาได้มากคนก็จะมาก หากหนองไหนหาปลาได้น้อยก็จะมีคนน้อย แต่อย่างน้อยคนหมู่บ้านเราก็จะเต็ม ถือว่าเป็นเจ้าภาพ แถมวันที่เนาว์จะมีการนิมนต์พระมาฉันเพลริมหนองเพื่อให้คนมาลงหนองได้ทำบุญกัน โดยเอาปลาจากทุกคนมาทำกิน มาทำเลี้ยงพระ และข้าวเหนียวจากทุกคนมาเฉลี่ยๆกัน มาถวายพระ เมื่อเลี้ยงพระเสร็จพวกเราก็มากินข้าวด้วยกัน เป็นวง ต้มปลา ปิ้งปลา น้ำพริก หัวหอม ส้มตำ ประมาณนี้ก็สุดยอดของวันแล้ว บางคนได้มาก บางคนได้น้อย ก็สนุกสนานกันไป 
         หลังจากเราเปิดให้ลงหนองได้แล้ว ทุกคนก็สามารถหากินที่หนองนี้ได้จนกว่าจะถึงหน้าฝนอีกครั้งหนึ่งก็จะเลิกลงหนอง ความจริงเพื่อให้ปลามาอยู่มาเพาะพันธ์ุเพื่อจะเอาไว้ลงหนองในคราต่อไปไม่งั้นตอนลงหนองปลาจะไม่มาก ที่สำคัญ วัชพืชต่างๆก็ขึ้นมาเยอะแยะเต็มหนองเลยเลิกหากินโดยปริยาย อีกอย่างการหากินตามนาก็มีปลามีสัตว์น้ำให้กินและง่ายกว่า หากินในหนองนะ 
      มีหลายครั้งที่พวกเรารวมกลุ่มกันกับผู้ใหญ่ไปหาปลากันไปกันเป็นสิบคน เอาแหไปทอด ไปตาข่าย เอาอวน ไป ซึ่งเขาไม่ว่าเพราะเปิดหนองแล้ว ได้ปลาคนตัวสองตัวก็คุ้มมื้อแล้ว แต่ไม่ได้มากเพราะปลามันเหลือน้อยแล้ว กับ คนไปน้อย ปลามันก็หลบไปได้ ต่างกันวันลงหนองที่คนมาก ปลามาก ปลาหลบไม่พ้น จึงได้ปลามาก แม้จะได้น้อยหรือบางคนบางครั้งได้เลยก็ไม่ว่ากันถือว่าเราไปเล่นน้ำคลายร้อนก็แล้วกันหรือถือว่า "ไปเที่ยวทุ่ง" ไปเที่ยวหนอง      
      ตอนที่พวกเราร้อนๆจะพากันไปเล่นน้ำที่หนองซูดนี่ ริมหนองจะมีต้น "กระโดน" หรือ ต้นจกน้ำต้นหนึ่ง สูงประมาณ 3 เมตรได้ อยู่ริมน้ำพอดี  เป็นต้นที่ใบเล็กๆยอดเล็กๆไม่ใช่กระโดนบกหรือกระโดนใหญ่ที่เกิดตามไร่ หรือเขาขุดมาเป็นไม้ประดับตามปั้มน้ำมันทุกวันนี้ พวกเราเด็กจะปีนตามต้นกระโดนขึ้นไปเอาความสูงที่ตนเองรับเสียวได้แล้วกระโดดลงมา สมัยนั้นสนุกสานมาก ว่ายน้ำในหนอง ดำน้ำ เล่นไล่จับ ว่ายน้ำแข่งกัน ส่วนน้ำที่ว่าด้วยความลึก 1 เมตร มันไม่ใสเรียก ขุ่น แต่เราก็ไม่ถือ เพราะว่ามันสนุกงัย
        พอเล่นน้ำเสร็จพวกเราก็หากิน "กระทกรก" ที่เป็นเครือๆๆ ลูกเล็กๆ เลื้อยพันตามต้นไม้ใหญ่ไม้เล็กหรือเป็นพุ่ม พวกเราจะมองหาลูกที่มัสุกสีส้มสีแดงสีเหลือง เก็บมาเอาตาข่ายที่หุ้มมันออก มันเป็นตาข่ายหรือฝอยๆห่อมเอาไว้ เปลือกแบบแข็ง บางกรอบ ประมาณนั้น แล้วบีบเอาเม็ดในดูดกิน หวาน หอม ส้ม ในลูกเดียวกัน แต่ก็ต้องแย่งกับพวกหนู กระรอก กระแต นก มด ที่มันมาเจาะกินกับเรานะ บางคนเรียกตำลึงป่า เป็นไม้ที่ขึ้นง่าย ตายง่าย แตกหน่อง่าย นอกจากเรากินลูกสุกมันแล้ว ก็เด็ดเอายอดมัน ยอดอ่อนๆ เหมือนผักตำลึงนั้นละมา "นุ่ง" กินกับ "ป่นปลา" หรือ นึ่งคู่กับนึ่งปลาใน "หวด" หรือ "ซึง" เดียวกัน ก็อร่อยอย่าบอกใครเลย  คล้ายกับ "ผักหวานบ้าน" ที่เคยเล่าให้ฟังนั้นละ นึ่งกับปลาข่อ ปลาเนื้ออ่อน นี่อร่อยสุดๆ   
        อาหารโปรดอีกอย่างของหนองซูดคือผักกระโดน ต้นที่เราปีนโดดน้ำนั้นละ ที่พอมันออกยอดอ่อนๆมาก็เก็บกันมากินกับ "ป่น" ซึ่งผักนี้ถือว่าเป็นของหายากนะ สมัยนั้นมีไม่มาก ไม่ได้เอามาปลูกเหมือนสมัยนี้ เลยนานทีกว่าจะได้กินและต้องไปเก็บให้ทันเพื่อนด้วย ดังนั้นต้นกระโดนต้นนนี้จึงไม่ค่อยมีใบ 555 เพราะโดนเก็บตั้งแต่ยอดอ่อนๆ แต่มันก็โตและอยู่มาได้โดยตลอดนะไม่ตาย อาจจะเป็นช่วงหน้าฝนที่มันเติบโตเต็มที่ ซึ่งคนไม่เข้าไปเก็บ หากจะไปหนองหน้าฝนต้องลุยน้ำไป ไปลำบาก เลยรอดงัย 
        นอกจากหาปลาหาผักแล้วหนองซูดยังเป็นที่นิยมให้พวกเราไปหาสัตว์อื่นๆอีกนะ พวกนกน้ำต่างๆ ไปดักซ่อมยิงนกที่มากินปลาหรือทำรังหรือหากินตามหนองตามคันหนอง เช่น นกเจ่า นกคุ้ม นกเป็ด นกน้ำ ใช้ทั้งหนังสติกหรือกระสุน หรือปืนแก้บ แล้วแต่ใครมีอะไร หากเป็นกลางคืนก็จะออกไปยิงหนูพุก หนูนา ที่มาเจาะรูทำรัง หรือมาหากินตามคันหนอง ไปส่องนกคุ้ม นกกิเฟืองรอบๆนั้นก็พอได้ 
         หลายครั้งที่เราเล่นว่าวแล้วว่าวมันขาดหรือมันลง ก็จะตามไปทางหนองซูดนี่ละ เดินลุยกันไปตามทุ่ง "นาผาย" หรือ "นาหว่าน" เพราะลมไปทางนั้นพอดี  
         ปัจจุบันหนองซูดก็ยังคงเป็นหนองน้ำให้กับบ้านของเราอยู่นะ แต่ไม่ได้ไปนานมากแล้ว กลับบ้านแต่ละทีเวลาก็จำกัดมากเลยได้แต่มองเห็นใกล้ ไม่ไกลเหมือนเก่า สงสัยโตขึ้น ...."หนองซูด"...      
    



Create Date : 02 เมษายน 2563
Last Update : 4 เมษายน 2563 17:58:38 น.
Counter : 438 Pageviews.

0 comments
สงกรานต์หรรษา จันทราน็อคเทิร์น
(18 เม.ย. 2567 11:24:41 น.)
Day..10 โฮมสเตย์ริมน้ำ
(11 เม.ย. 2567 08:25:45 น.)
ep 4 ขับรถบนถนนเริ่มจะประมาท โอพีย์
(10 เม.ย. 2567 05:03:14 น.)
ถนนสายนี้มีตะพาบ ประจำหลักกิโลเมตรที่ 349 : วันใดที่เธอรู้สึกเหมือนไม่มีใคร โปรดมองมาทางนี้ ฯ The Kop Civil
(10 เม.ย. 2567 16:44:58 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

D-chang.BlogGang.com

Dr Chang
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]

บทความทั้งหมด