กรรมเก่า คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.เป็นเจ้าบทบาทเดิม จากนั้น การศึกษาอาศัยปรโตโฆสะ ซึ่งมีคติว่า "คนเป็นไปตามสภาพแวดล้อมที่ปรุงปั้น" และโยนิโสมนสิการ ซึ่งมีคติย้อนกลับว่า "ถ้าเป็นคนรู้จักคิด แม้แต่ฟังคนบ้าคนเมาพูด ก็อาจสำเร็จเป็นพระอรหันต์"
space
space
space
<<
มกราคม 2565
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
space
space
23 มกราคม 2565
space
space
space

อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ (๑๕)



บทต่อไป

   อะนุตตะโร ปุริสะทัมมะสาระถิ  เป็นผู้ฝึกคนที่พอฝึกได้ ไม่มีใครเป็นผู้ฝึกที่พอฝึกได้ยิ่งกว่า คำว่า สารถี แปลว่า ผู้ให้แล่นไป โดยการเป็นผู้ฝึกฝนด้วยการทรมาน คำว่า ปุริสะทัมมะ คือ คนที่พอฝึกสอนได้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า เวไนยสัตว์    เวไนยะ  คือสัตว์ที่พอจูงไปได้ พอแนะนำได้ อะนุตตะโร หมายความว่า ผู้ฝึกดี อาการที่ฝึกก็ดี ไม่มีที่อื่นยิ่งกว่า อธิบายดังต่อไปนี้

   คงทราบว่าการฝึกม้า  เป็นการฝึกที่ออกหน้าออกตามากในอินเดียนั้น  ฉะนั้น  คำว่า “สารถี” จึงนำมาเป็นนามพระพุทธเจ้า  มีความหมายว่า ผู้ฝึกคนเพื่อให้เข้าใจง่าย
แต่บุรุษที่พอฝึกได้  นี้หมายความว่า  พระองค์ฝึกได้แต่บางคนเท่านั้น  ผู้ที่ฝึกไม่ได้ก็เพราะเขาไม่ยอมรับคำสั่ง ยังคงมี เช่น เดียวกันกับม้าบางตัวที่ฝึกไม่ได้
มีเรื่องเล่าไว้ในคัมภีร์ว่า  พระองค์สนทนากับนายควาญม้าคนหนึ่ง  พอที่จะให้ทราบปฏิปทาของพระองค์ได้ดี  นายเกสีควาญม้านั้น  ฝึกม้าด้วยอุบายอันละเอียด คือ ปลอบโยนบ้าง และอุบายหยาบคือเฆี่ยนตีบ้าง ด้วยอุบายทั้งละเอียดและหยาบทั้งสองอย่างนี้ คือ ปลอบโยนบ้าง และเฆี่ยนตีบ้าง ก็สอนมาได้ดี  แต่ถ้าได้ฝึกถึงอย่างนี้แล้ว  ม้านั้นยังใช้การไมได้  ก็ฆ่าเสีย เพื่อรักษาชื่อเสียงของตนไว้ ฉันใด ก็ดี
พระองค์ฝึกบุรุษด้วยอุบายอันละเอียด คือแสดงสุคติสวรรค์  อุบายหยาบ คือ แสดงทุคตินรก และอุบายทั้งละเอียดทั้งหยาบ คือ ทั้งสุคติ และทุคติปนกัน  สัตว์ใดฝึกอย่างนี้แล้ว  ยังรับไม่ได้ ก็ทรงฆ่าเสีย โดยไม่ว่ากล่าวสั่งสอนอีกต่อไป ฉันนั้น  การฆ่าของพระองค์คือไม่สอนต่อไป คือพระองค์และเพื่อนพรหมจรรย์ถือว่าผู้นี้ไม่ควรว่ากล่าวสั่งสอนอีกต่อไป  เรียกว่า  การฆ่าในอริยวินัย

   สำหรับการฝึก  ควรทราบตามนัยแห่งเกวัฏฏสูตร สีลวรรค ทีฆนิกาย ที่ตรัสไว้ว่า ทรงพอพระทัยฝึกฝนทรมานคนด้วย อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ พร่ำสอนด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ทรงพอใจสอนเขาด้วยอิทธิปาฏิหาริย์ คือแสดงฤทธิ์ให้ดู  เพราะไปพ้องกับวิทยาของคนโบราณชื่อ “คันธารี” กลัวจะถูกกล่าวหาว่าเล่นกล   พระองค์ไม่ชอบแสดงฤทธิ์เดช  ไม่ชอบข่มขู่ใคร แต่ใช้วิธีการอบรมสั่งสอน ค่อยพูดค่อยจา   ถ้าไปแสดงฤทธิ์  เดี๋ยวเขาจะว่าไปเอาวิชาที่ชื่อ “คันธารี” มาใช้ และไม่พอพระทัยที่จะใช้อาเทศนาปาฏิหาริย์ คือ ตักใจได้ทุกท่า เพราะไปพ้องกับมนต์ “มณิกา” ของเก่าเหมือนกัน  กลัวจะถูกครหาว่าเล่นมนต์นี้  หาใช่ญาณหรือวิชชาที่ประเสริฐไม่
เพราะฉะนั้น  พระองค์จึงทรงสั่งสอนโดยใช้เหตุผลมาแสดง  จนกระทั่งเขาเห็นจริงด้วยความมหัศจรรย์ใจ แล้วปฏิบัติตามด้วยความเต็มใจ การทรมานนั้น จึงเป็นผลดี และสงบเรียบร้อย เป็นการทรมานที่ไม่มีการทรมานใดยิ่งไปกว่า เพราะพระองค์ไม่ใช้วิธีการพระเดช ทรงใช้แต่พระคุณ ทรงชี้นำแนะแนว ชี้ช่องทางให้ปฏิบัติ เอาพระคุณเข้าใช้ คนฟังฟังไปเรื่อยด้วยเหตุผลที่เข้าใจได้เอง ผลที่สุดก็เป็นคนเชื่อง  เรียกว่า  ได้รับการฝึกฝนแล้วอย่างดี

 
   ข้อที่ว่า ไม่มีใครยิ่งกว่า  ในส่วนตัวผู้ฝึกคือพระองค์นั้น  พอจะรู้ได้จากคำสรรเสริญของนายปุสสะ ที่กราบทูลว่า  การฝึกสัตว์เดรัจฉานนั้นมันง่าย ซื่อ ตรงไปตรงมา อาการจากภายนอกและใจตรงกัน พอจะสังเกตรู้  ส่วนมนุษย์นั้น ปากอย่างใจอย่าง จึงฝึกยาก แต่พระองค์กลับมาฝึกได้ดี โดยไม่ต้องใช้การเฆียนตีอย่างใดเลย.

    อีกอย่างหนึ่ง ตามที่ฝึกสัตว์นั้นก็เพื่อค่าจ้างและชื่อเสียงหรือเพื่อใช้สอยกันก็เพื่อประโยชน์ตน
ส่วนการฝึกของพระองค์ไม่ได้อะไรตอบแทน  นอกจากจะเป็นประโยชน์สุขกับผู้ถูกฝึกเองเท่านั้น นี้แสดงให้เห็นว่า พระองค์เป็นสารถีที่หาตัวจับได้ยาก

   ข้อที่ว่า “สัตว์ที่พระองค์ฝึกแล้วไม่มีอื่นยิ่งกว่า”  นั้น  รู้ตามนัยแห่งสฬายตนวิภังคสูตรกล่าวไว้ว่า สัตว์ธรรมดา เช่น ม้า เป็นต้น ฝึกแล้วก็ทำได้เท่าที่เขาฝึกไว้เท่านั้น  ถึงจะได้หลายอย่างกต้องทีละอย่าง  ส่วนคนที่พระองค์ฝึกแล้วทีเดียวทำได้หลายอย่าง แล่นไปได้ในแปดทิศ รูปฌานอรูปฌาน สัญญาเวทยิตนิโรธ แล่นไปสู่พระนิพพานอันเป็นสถานที่ถึงได้โดยยาก.  ทรงกล่าวไว้ใน ธัมมบทขุททกนิกายว่า มนุษย์ที่ฝึกดีแล้ว ย่อมประเสริฐกว่าม้าอัสดร ม้าอาชาไนย ม้าสินธพ ช้างกุญชร ช้างมหานาค แม้จะฝึกดีแล้ว มันจะไปสถานที่ที่มันไม่เคยไป เหมือนกับคนที่ฝึกแล้วหาได้ไม่ คือสัตว์ฝึกเท่าไรๆ มันก็ไปนิพพานไม่ได้ ไม่เหมือนคนที่ฝึกดีแล้วสามารถบรรลุพระนิพพานได้ จึงนับว่าเป็นการฝึกที่ได้ผลมาก

   
   
   พวกเราทั้งหลาย ผู้ดำเนินรอยตามพระองค์ในข้อนี้ ควรมีปัญญาแนะนำในการสอนผู้อื่นในสิ่งที่ตนเคยทำมาจนรู้และเข้าใจดีแล้ว ไม่เห็นแก่ประโยชน์ตน นอกจากจะตั้งเมตตากรุณาเป็นหลักไว้ในใจก่อนแล้ว พวกที่มีหน้าที่แนะนำสั่งสอนคนทำตัวดังนี้ ก่อนที่จะมีการสอนนั้น ก่อนการสอนคนอื่น เราต้องสอนตัวเราเองเสียก่อน ต้องทรมานตนเองก่อน
ถ้ายังไม่ฝึกสอนตนเองแล้วการสอนก็ไม่มีราคา พูดแล้วคนมันยิ้มเยาะ นึกในใจว่าดีแต่สอน ดีแต่พูด ว่าแต่เขาอิเหนาเป็นเอง มันเป็นไปคนละเรื่อง เพราะฉะนั่น คนที่จะไปสอนเขา ควรที่จะอบรมสั่งสอนตนเองอยู่ตลอดเวลา
ใครจะสอนคนอื่น ต้องสอนตนเองด้วย เช่น เราเป็นครูมีหน้าที่สอนศิษย์ เราจะต้องสอนตัวเองอยู่ด้วยตลอดเวลา เพื่อให้ประพฤติตนเรียบร้อย เป็นตัวอย่างแก่ศิษย์ทั้งหลาย เพราะการเดิน การพูด การทำอะไรของครูนั้น ย่อมเป็นแบบอย่างที่ศิษย์จะถ่ายทอดไปจากครูตลอดเวลา ครูทำอะไรไม่ดีเด็กก็เอาไป ทำดีเด็กก็เอาไป
พ่อแม่ก็เหมือนกัน เพราะพ่อแม่ก็เป็นครูคนแรกของบุตรธิดา  เพราะฉะนั้น  พ่อแม่ทำอะไรก็จะติดไปถึงบุตรธิดา  ถ้าทำดีมันติดเป็นภาพอยู่ในใจของเด็ก ทำเสียมันก็เป็นภาพอยู่ในใจของเด็ก


   การเป็นพ่อเป็นแม่คนก็ดี   เป็นครูเป็นอาจารย์สอนคนก็ดี  ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เรื่องยาก  มันยากตรงไหน ?  มันยากตรงที่จะทำตนให้เป็นตัวอย่าง  การทำตัวให้เป็นตัวอย่างนี้มันยาก
ถ้าจิตใจไม่เข้มแข็งพอแล้วก็ไม่สามารถจะทำให้เป็นตัวอย่างเขาได้ จึงไม่สามารถจะเป็นครูที่ดีได้ เป็นได้แต่เพียงลูกจ้างสอนหนังสือให้เขาเท่านั้นเอง  รับจ้างสอนไปวันหนึ่งๆ เสร็จแล้วก็ไปตามเรื่อง  ครูตามโรงเรียนเดี๋ยวนี้รุ่มร่าม  ผมเผ้ารุ่มร่ามเหมือนอะไรดี ไม่มีระเบียบ  แล้วจะไปบอกเด็กให้ตัดผมให้เรียบร้อยได้อย่างไร  จะบอกให้เด็กแต่งตัวให้เรียบร้อยได้อย่างไร เพราะครูรุ่มร่าม ไม่น่าจะเป็นครูเลยก็มี เห็นมาอย่างนั้น นี่แหละเรียกว่า เป็นครูไม่ได้เต็มที่  ครูต้องฝึกฝนตนเองให้ดีก่อนแล้วจึงจะไปฝึกฝนอบรมเด็ก สอนผู้อื่น

ยิ่งพระเรายิ่งสำคัญใหญ่  การไปเทศน์ให้ชาวบ้านฟัง  ไม่ว่าในงานใด  ต้องจำไว้ว่า เราพูดอะไรกับเขา สอนเขาอย่างไรแล้วเราก็ต้องทำอย่างที่สอนเขาด้วย  ถ้าเราไม่ทำตามที่เราสอนเขา ชาวบ้านเขาจะว่า ว่าอยู่หยกๆ เราทำอย่างนั้นแล้ว  การสอนนั้นก็เป็นหมันไป หมดราคาไป การนับถือการกราบไหว้ก็ลดหย่อนลงไป   ทำให้เกิดการเสียหายแก่ฐานะที่กำลังเป็นอยู่  นี่เป็นเรื่องสำคัญ นี่เป็นเรื่องที่เราจะได้สำเหนียกอยู่ตลอดเวลา  เรามีหน้าที่อันใดที่จะไปทำอะไรกับใครแล้ว ต้องทำตนเป็นตัวอย่างแก่เขาเสมอ  ไม่อย่างนั้นแล้วก็จะเกิดการเสียหายแก่เราผู้ปฏิบัติ และผลงานมันก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย


Create Date : 23 มกราคม 2565
Last Update : 23 มกราคม 2565 8:16:44 น. 0 comments
Counter : 901 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 
space

สมาชิกหมายเลข 6393385
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]






space
space
[Add สมาชิกหมายเลข 6393385's blog to your web]
space
space
space
space
space